แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๕ นี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า สภาวธรรม ในส่วนที่เป็นอสังขตธรรม คือว่าการบรรยายของเรายังคงเป็นเรื่องสภาวธรรม ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสี่เรื่อง หรือ สี่ส่วนของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ขอให้ทบทวนดูให้เข้าใจ หรือเห็นชัดเจนอยู่เสมอว่าเรากำลังพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมในสี่ความหมาย เพื่อจะให้เข้าใจคำว่า ธรรมศาสตร์ หรือ ธรรมศาสตรา ให้ถึงที่สุดนั่นเอง ธรรมอยู่ในธรรมศาสตร์ หรือว่าธรรมศาสตร์อยู่ในธรรม นี่มันแล้วแต่ว่าผู้นั้นมองเห็นสิ่งที่เรียกว่าธรรมนิดเดียว หรือว่าเห็นทั้งหมด ถ้าเห็นสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งหมดก็จะเห็นว่า ธรรมศาสตร์นั้นมันนิดเดียว มันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรม ถ้าเห็นสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงนิดเดียว คือว่าส่วนที่เอามาเป็นธรรมศาสตร์เท่านั้นแล้ว ก็จะเห็นว่าธรรมมันนิดเดียว มันอยู่ในคำว่าธรรมศาสตร์ นี่แนะให้สังเกตดูให้ดีว่า ไอ้ธรรมมันอยู่ในธรรมศาสตร์ หรือ ธรรมศาสตร์มันอยู่ในธรรม เราควรจะเห็นชัดกันแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมันหมายถึงทุกสิ่ง จนกระทั่งต้องแบ่งออกเป็นสี่ความหมาย คือเป็นสภาวธรรม เป็นสัจธรรม เป็นปฏิปัติธรรม และเป็นปฏิเวธธรรม และเดี๋ยวนี้เราก็กำลังกล่าวถึงส่วนที่เป็นสภาวธรรม ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสี่ส่วน และแม้เพียงส่วนเดียวคือในส่วนที่เป็นสภาวธรรมก็ยังแยกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เป็นสังขตะ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในการบรรยายสองครั้งที่แล้วมา จึงเหลืออยู่แต่ในฝ่ายที่เรียกว่า อสังขตะ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่จะกล่าวในวันนี้ ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า ผมจะอาศัยคำว่าธรรมศาสตร์นี้เสมอไป สำหรับเป็นเครื่องทำความเข้าใจกันให้รอบด้านรอบตัวของคำๆ นี้ ซึ่งเป็นคำที่ไพเราะและมีความหมายดี และเป็นที่ระลึกแก่พวกคุณ ผู้ฟังชุดนี้ได้เป็นอย่างดีด้วย ความมุ่งหมายส่วนใหญ่ของเราก็มีว่ามนุษย์มีปัญหา ต้องการจะตัดปัญหา จึงได้ศึกษาและอบรม สิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ออกมาจากสิ่งที่เรียกว่าธรรม ธรรมที่จะใช้เป็นธรรมศาสตร์ในที่นี้ ในชั้นแรกก็หมายถึงความรู้ ธรรมะสำหรับรู้ ก็จะตัดปัญหาที่เกี่ยวกับความไม่รู้ได้ไปส่วนหนึ่ง ทีนี้ก็มาถึงธรรมที่เป็นการปฏิบัติ ก็อาจจะตัดปัญหาโดยตรงได้มากขึ้น ในเมื่อความ เมื่อการปฏิบัติมันขึ้นอยู่กับความรู้ เราก็พูดถึงเรื่องความรู้กันต่อไปให้เพียงพอเสียก่อน สำหรับสิ่งที่เรียกว่า สังขตธรรมนั้น ก็เป็นสภาวธรรมที่เป็นไปเอง เป็นไปได้เองตามธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่ามันมีปัจจัยปรุงแต่ง แตกเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธาตุ เป็นนามธาตุ เป็นดินน้ำไฟลม อากาศ วิญญาณ และก็มาเป็นธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ กระทั่งเป็นอายตนะ กระทั่งทำหน้าที่ให้เกิดเป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา อุปาทาน เป็นทุกข์ ในที่สุด นี้ก็เรียกว่า สังขตธรรม เป็นที่เข้าใจกันพอสมควรแล้ว เป็นความวุ่นวายอยู่ในมนุษย์เรา เป็นปัญหาที่ไม่รู้จักสิ้นสุด และเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพียงสังขตธรรม หรือเป็นเพียงสภาวธรรม ก็ไปเข้าใจเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา มันจึงเป็นที่ตั้งของกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็เป็นทุกข์ แล้วเราก็ได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันด้วยอำนาจของกิเลสนั้น นี่เรื่องของสังขตธรรมก็มีอย่างนี้ ผมเอาคำบางคำมากล่าว โดยการเลือกมา แล้วก็เลือกอธิบายให้มันเหมาะสมกับพวกคุณ ที่เป็นนักศึกษาโดยเฉพาะ ถ้าพูดกับชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ได้พูดโดยตรงอย่างนี้ ไม่ได้ยกตัวอย่างอย่างนี้ หรือไม่ได้ใช้ถ้อยคำที่เป็นระเบียบอย่างนี้ ขอให้สนใจให้ ให้ดี คือให้สำเร็จประโยชน์ ให้ตรงตามที่ตั้งใจ ทีนี้ก็จะพูดกันถึงฝ่ายที่ตรงกันข้าม คือฝ่ายอสังขตะ มีตัว อะ เติมเข้ามาตัวหนึ่ง ซึ่งแปลว่าไม่ คือไม่ใช่สังขตะ เป็น อสังขตะ ก็ทำในใจกันได้เลยว่า มันตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง จากฝ่ายที่เป็นสังขตะ แม้ว่าจะเป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ในฐานะที่เป็นสภาวธรรม นั้นเป็นเพียงว่ามันเป็นเอง เป็นอยู่เอง เป็นไปได้เอง แบ่งเป็นสองพวก คือพวกหนึ่งมันเป็นอยู่เองด้วยความเปลี่ยนแปลง ทีนี้อีกพวกหนึ่งมันเป็นอยู่เองโดยตรงกันข้าม คือไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีเหตุปัจจัยเป็นต้น นี่ทำในใจเป็นหลักกว้างๆ ไว้ทีก่อนว่ามันตรงกันข้ามด้วยประการทั้งปวง เมื่อพูดถึงสังขตธาตุ คุณก็นึกถึงที่พูดมาแล้ว หรือจดไว้ในกระดาษ ว่ามันเป็นรูปธาตุ เป็นอรูปธาตุ เป็นรูปและเป็นนาม ทีนี้พอมาถึงอสังขตธาตุนี่ มันไม่ใช่รูป มันไม่ใช่นาม แล้วมันจะเป็นธาตุอะไร มันต้องเรียกเป็นธาตุอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่รูปธาตุ นามธาตุ มันก็กลายเป็นไอ้อสังขตธาตุ หรือเป็นสุญญธาตุ สุญญตธาตุ นิโรธธาตุ นิพพานธาตุ ไปโน่น อาจจะมีคนบางคน หรือสำนักบางสำนัก ที่เขาสอนกันอยู่ว่า อสังขตะ หรือ อสังขตธาตุ นี้ เป็นนาม คือเป็นนามธาตุ นี้ผมเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ และก็ไม่สอนอย่างนั้น ไม่แนะนำอย่างนั้น ไอ้รูปธาตุ ไอ้นามธาตุ หรือที่เรียกว่า รูป ว่านาม นั้น เป็นพวกสังขตะล้วน ส่วนที่เป็นอสังขตะนี้จะเป็นรูปหรือเป็นนามไม่ได้ เพราะคำว่ารูปว่านาม นั้นหมายถึงมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง เดี๋ยวนี้มันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อยู่นอกเหนืออำนาจ นอกไปจากอำนาจที่ปรุงแต่ง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่รูป และไม่ใช่นาม ไม่ใช่รูปธาตุ ไม่ใช่นามธาตุ มีคำอื่นใช้คือคำว่าสุญญธาตุ หรือ สุญญตธาตุ มันเป็นธาตุแห่งความว่าง มันว่างจากรูป ว่างจากนาม เพราะว่าว่างจากเหตุ ว่างจากปัจจัย บางทีก็เรียกว่า นิโรธธาตุ คือธาตุเป็นที่ดับ นิโรธธาตุ แปลว่าธาตุเป็นที่ดับ เป็นแดนดับ เป็นเครื่องดับ ดับแห่งอะไร ก็ดับแห่งนามและรูปนั่นแหละ ดังนั้นมันจึงตรงกันข้าม ไม่ตรงกันข้ามมันก็ดับกันไม่ได้ บางทีก็เรียกว่านิพพานธาตุ ซึ่งก็แปลว่าดับอีกเหมือนกัน ดับแห่งนามและรูป ซึ่งเป็นของร้อน นิพพานธาตุเป็นที่ดับแห่งของร้อนเหล่านั้น มันจึงเย็น จึงมิใช่รูปไม่ใช่นาม ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่มโน ไม่ใช่กาย ไม่ใช่จิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ต้องเรียกว่าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็มีคำเรียกอยู่คำหนึ่งว่า อัพยากฤต อัพยากฤตแปลว่าไม่ได้กล่าวให้ชัดลงไปว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ดังนั้นขอให้นึกถึงคำว่า สุญญตะ ซึ่งแปลว่า ว่าง คำว่านิโรธะ หรือ นิพพานะ ซึ่งแปลว่าดับ เป็นธาตุว่าง คำนี้มีความสำคัญมาก เมื่อได้ยินคำว่า ว่าง คนทั่วไปเขาหมายถึงไม่มีอะไรเลย แต่คำว่าว่างในภาษาธรรมะ ชนิดนี้ หมายถึงว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน คือว่างจากการปรุงแต่งของเหตุและปัจจัย ว่างจากเหตุ ว่างจากปัจจัย มันไม่ใช่ความไม่มีอะไรโดยประการทั้งปวง แต่ว่ามันเป็นธาตุแห่งความว่าง อะไรไปถึงที่นั่นก็เลยจับปล่อยว่าง หรือว่าทำให้สิ่งต่างๆ มันว่างได้ ถ้าจิตมันรู้จัก ไอ้สุญญตธาตุ หรือธาตุแห่งความว่างนี้แล้ว มันจะกลายเป็นจิตที่ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีประโยคที่น่าสนใจอยู่ประโยคหนึ่งว่า นิพพานนี่เป็นของว่างอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นธาตุเดียวกัน สุญญตธาตุ ก็คือนิพพานธาตุ หรือ นิโรธธาตุ พูดถึงว่างก็คือว่างจากไอ้การปรุงแต่ง ที่สมมติว่าเป็นตัวตนหรือของตน ถ้าว่างก็คือไม่วุ่น ถ้าวุ่นก็คือไม่ว่าง ที่วุ่นก็คือการปรุงแต่ง ซึ่งเล็งถึงความยึดมั่นถือมั่นโดยเฉพาะ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา ว่าตัวตน ว่าของตน มันว่างจากไอ้การปรุงแต่งแบบนี้ เป็นคำที่เข้าใจยาก เพราะว่ามันไม่ใช่ภาษาที่มนุษย์ธรรมดาเขาพูดกัน เป็นภาษาที่ผู้รู้ธรรมะในขั้นนี้เขาใช้พูดกัน ทีนี้เราก็มีความลำบากบ้างที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย คือเมื่อเราไม่เห็นไอ้ความจริงข้อนี้ เราก็มีความรู้สึกเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวกู เป็นของกูนั้นอยู่เรื่อย นี่เรียกว่าไม่เห็นไอ้ธาตุว่าง ไม่เห็นสุญญตธาตุ หรือธาตุว่าง มันจะรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูอยู่เรื่อย พอเห็นไอ้ความจริงข้อนี้เรียกว่าเห็นธาตุว่าง เราจะหมดความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู ทั้งโลกเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าโลกนี้เป็นของว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความเป็นตัวตนและความเป็นของตน ประโยคนี้ช่วยจำไว้ให้ดี มันจะประกันความฟั่นเฝือ เพื่อจะศึกษาต่อไปข้างหน้า มันจะได้ไม่ฟั่นเฝือ คือเราจะได้วิจารณ์ หรือว่าถกเถียงกันแต่ในส่วนที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าโลกนี้ว่าง และก็ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน อย่าฟังสะเพร่าแล้วเข้าใจผิด ไปจน ไปตู่พระพุทธเจ้าว่าท่านตรัสว่าโลกไม่มีอะไร หรือโลกไม่มีอะไร หรือไม่มีโลกไป ท่านตรัสว่าโลกนั่นมันมีแต่มันว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากสิ่งที่จะเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ว่างจากค่า จากคุณสมบัติ จากความหมาย กายทุกอย่างที่ควรจะเรียกว่าตัวตน ว่าของตน ทีนี้ก็มาเทียบกันดูกับความรู้สึกตามธรรมดาของเรา เราไม่เคยเห็นว่าโลกมันว่างจากตัวตน จากของตน เพราะเรามันมีความรู้สึกเป็นตัวตนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก มีตัวเรา มีของเรา และเขาก็มีตัวเขา มีของเขา ดังนั้นทุกคนในโลกมันก็มีตัวตนของเขา แล้วก็มีตัวตนที่เรียกว่าอธิบายยาก แม้ที่สุดแต่ผีสางเทวดาที่ไม่เห็นตัวก็ ก็เรียกว่าตัวตนก็มี สิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ ถูกเรียกว่าเป็นตัวตน เป็นของตนไปก็มี นี่เพราะมันพูดชินกันแต่ในทางเป็นตัวตน สอนเด็กๆ ให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตน เช่นเด็กเขาเซไปศีรษะกระทบเก้าอี้หรือโต๊ะหรือประตูนี่ ก็ร้องอยู่ ไอ้คนเลี้ยงหรือบางทีก็พ่อแม่ ก็ไปตีโต๊ะ ตีประตู ตีอะไรให้ ว่า เอ้า นิ่งเสียสิ เราช่วยตีมันให้แล้ว นี่คือความหมายแห่งตัวตนมันได้เริ่มเกิดขึ้น ในความรู้สึกคิดนึกของเด็กๆ มีตัวตนได้แม้แต่ในโต๊ะ ในเก้าอี้ และที่แท้ไอ้ตัวเองน่ะไปชนกับเก้าอี้ แล้วยังต้องการให้ตีเก้าอี้ ในฐานะเป็นตัวตน คือเป็นศัตรูของเรา นี่เราจะถูกแวดล้อมให้มีความคิดนึกรู้สึกหรือว่ายึดถือกันมาอย่างนี้ จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตน ดังนั้นจึงเข้าใจคำว่าว่างไม่ได้ ไม่รู้จักสุญญตธาตุ คือธาตุที่แท้จริงอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในสิ่งทั้งปวง คือความที่มันว่างจากตัวตน เราเห็นแล้วเราจะพบได้ว่ามันเป็นของที่ละเอียดและลึกมาก คือในบรรดาไอ้สังขตธรรมทั้งหลายที่ได้กล่าวมาแล้วแต่หนหลัง ในบรรดาสังขตธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวตนหรือว่าไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตน นี่หมายความว่าไอ้ตัวสังขตธรรมนั้นมันไม่ใช่ตัวตน หรือว่าในสังขตธรรมเหล่านั้นมันมีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนอาศัยอยู่อย่างนี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ฉะนั้นไป ต้องไปทบทวนดูใหม่ว่าใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือในความรู้สึกคิดนึกใดๆ ก็ตาม เป็นวิญญาณ เป็นผัสสะ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรก็ตาม ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน เป็นเพียงสังขตธรรม คือสิ่งที่ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง กันมา ปรากฏออกมาเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วก็ดับไป ออกมาเป็นอย่างอื่นแล้วก็ดับไป เป็นสายไหลเป็นเกลียวไปอย่างนี้ ไม่มีส่วนไหนเป็นตัวตน ถ้าเรียกว่าตัวตนก็คือสมมติ เป็นนาย ก นาย ข นาย ง นี่มันก็โง่ ในเรื่องตัวตน มันก็ต้องสมมติว่าเป็นตัวตน ของคนนั้น คนนี้ นี่เป็นเหตุให้ยึดถือและเกิดกิเลส แล้วก็ทำให้ผู้นั้นก็เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็พลอยเป็นทุกข์ เพราะว่าไปเบียดเบียนเขา พอจะรู้ไอ้สิ่งที่รียกว่า อสังขตะ ก็ต้องจำคำว่า อสังขตธาตุ ไว้ อสังขตธาตุในฐานะเป็นคู่ตรงกันข้ามกับสังขตธาตุ ให้จำคำว่าสุญญธาตุ หรือ สุญญตธาตุ ไว้ในฐานะที่มันเป็นคำตรงกันข้ามกับคำว่าตัวตน คือคำว่านิโรธธาตุ ธาตุแห่งความดับ นิพพานธาตุ ธาตุแห่งความดับ เพื่อจะดับเสียซึ่งการปรุงแต่ง การไหลเวียนเปลี่ยนแปลง หยุดเสียได้ ที่เรียกว่านิโรธนั้นก็แปลว่า ดับ ธรรมชาติใดมันมีคุณสมบัติ มีอำนาจ มีหน้าที่ที่จะดับ เรียกว่านิโรธธาตุ นั้นมันเป็นธาตุฝ่ายหนึ่ง คืออยู่ฝ่ายที่เหนือกว่า ที่สูงกว่า ที่เก่งกว่า ที่ยิ่งยิ่งกว่าสูงสุด นี่ฝ่ายอสังขตะ มันเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะดับไอ้ฝ่ายที่เป็นสังขตะได้ ที่เรียกว่านิโรธธาตุนี่ เป็นธาตุแห่งความดับ เพื่อจะดับ ก็ดับความรู้สึกหรือค่าหรือความหมายของความรู้สึก ที่เขาจัดไว้เป็นสามชั้น ชั้นแรกเรียกว่ากามธาตุ ธาตุที่เป็นกาม ความรู้สึกที่เป็นความใคร่โดยเฉพาะ ก็หมายถึงเรื่องทางเพศที่ตรงกันข้าม นี่เรียกว่ากาม ความรู้สึกที่เป็นกามเขาเรียกว่ากิเลสกาม ทีนี้วัตถุสำหรับกิเลสกามนั้นเขาเรียกวัตถุกาม เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้เรียกว่าวัตถุกาม หรือกามวัตถุ หาใช่ตัวกามไม่ ทีนี้ความอยาก ความกำหนัด ความยินดี ความเพลินอะไรในสิ่งนั้น เขาเรียกว่ากิเลสกาม ความเป็นอย่างนั้นเรียกว่า กามธาตุ เป็นสังขตธรรม คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา เรียกว่ากามธาตุ กามธาตุนี้ก็ดับได้โดย นิโรธธาตุ นิโรธธาตุอาจจะดับไอ้กามธาตุนี้ได้ ให้มันหมดค่า หมดความหมาย หมดความรู้สึกอย่างนั้นไป ทีนี้สูงขึ้นมาอีก ไม่เกี่ยวกับกาม เขาเรียกว่ารูปธาตุ เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีมากเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นไปในทางกาม เป็นรูปล้วนๆ เป็นรูปบริสุทธิ์ ถ้าเกี่ยวกับความสุขก็หมายถึงความสุขที่เกิดมาจากการทำสมาธิ มีสิ่งที่มีรูปมีร่างนั่นเป็นอารมณ์ของสมาธิ เช่นสมมติว่าเอารูปพระพุทธรูปมาเป็นอารมณ์ ทำสมาธิสำเร็จ ได้รับความสุขขึ้นมา ความสุขนั้นเขาเรียกว่าความสุขที่เกิดมาแต่รูป ไม่ใช่เกิดมาแต่กาม มันสูงกว่า มันเหนือกว่า ประเสริฐกว่าไอ้ความสุขที่เกิดมาแต่กาม ก็แยกเรียกออกไปเป็นรูป ก็หลงใหลยินดีได้เหมือนกัน ความสุขที่เกิดมาแต่รูปบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ก็เรียกว่ารูปธาตุ รูปที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือก็เรียกว่ารูปธาตุ จะดับเสียได้ก็ด้วยนิโรธธาตุอีกเหมือนกัน ที่นี้สิ่งที่สามเขาเรียกว่า อรูป ไม่ต้องมีรูป เช่น บุญกุศล เกียรติยศชื่อเสียง นี้ไม่ต้องมีรูปมีร่าง ยึดถือเข้า ก็เป็นความทุกข์ได้เหมือนกัน ถ้าต้องการอยากจะละสละเสียจะดับเสีย ก็ต้องเอานิโรธธาตุนั่นแหละมาอีก แล้วนิโรธธาตุก็สามารถจะดับอรูปธาตุ สิ่งที่ไม่มีรูปที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนี้ได้ นี่กล่าวโดยย่อ มีอะไรอยู่อันหนึ่งเรียกว่านิโรธธาตุ ที่จะทำลายหรือดับเสียซึ่งค่าของกาม กามธาตุ หรือ รูปธาตุ หรือ อรูปธาตุ เพราะว่ากามธาตุ หรือ รูปธาตุ อรูปธาตุ นี่มันเป็นฝ่ายสังขตะ ฝ่ายที่หลอกลวง ที่มายา ที่เรียกว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง เรียกสั้นๆ ว่า กาม ว่า รูป ว่า อรูป อย่างนี้ก็ได้ ถ้าเรียกเต็มที่ก็เรียก กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ ทั้งสามอย่างนี้ดับเสียได้ด้วยนิโรธธาตุ มันยิ่งไม่รู้ว่าอะไรมากขึ้นไปทุกที ใช่ไหม ลองฟังดูให้ดี ไอ้สิ่งที่เรียกว่านิโรธธาตุ หรือสุญญธาตุ ไอ้สุญญตธาตุนี่ ถ้าไม่เข้าใจก็ลองคิดดูว่า เพราะคนมันลุ่มหลงในกาม มีความรู้สึกเป็นกาม ถ้ามีอะไรมาดับไอ้ความรู้สึกอันนั้นได้เสีย อันนั้นแหละคือนิโรธธาตุ แต่ยังไม่รู้จักตัวก็ตามใจ แต่อาจจะรู้สึกได้ เช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้าว่าตัวจริงมันอยู่ที่ตรงไหน แต่เรามาใช้ได้ตามสบาย ใช้เป็นแสงก็ได้ ใช้เป็นหมุนเครื่องเกิดกำลังงานก็ได้ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวไฟฟ้ามันอยู่ที่ไหน แต่เอามันมาใช้ได้อย่างมากมายนี่ มันจะทำนองอย่างนี้ แม้ว่าเราจะไม่รู้จักนิโรธธาตุชัดเจน แต่เราอาจจะประกอบหรือกระทำ เช่นการกระทำเจริญวิปัสสนาอะไรก็ได้ ทำให้เกิดธาตุอันนี้ออกมาดับความรู้สึก ที่เป็นกามหรือเป็นรูปหรือเป็นอรูปเสีย อย่างน้อยก็พอจะเชื่อได้ว่ามันมีอยู่จริง มันมีอยู่สิ่งหนึ่ง มีสิ่งนี้อยู่จริง ที่เขาเรียกว่า อสังขตะ นี่ มันได้มีอยู่จริง ในลักษณะที่เป็นสุญญตธาตุ หรือนิโรธธาตุ หรือ นิพพานธาตุ ถ้านิโรธธาตุมันก็มุ่งแต่จะดับ คือว่าดับให้มันหมดไปเลย แต่ถ้าเป็นนิพพานธาตุ เรียก เรียกชื่อเป็นนิพพานธาตุ มันก็มุ่งจะดับเหมือนกันแหละ แต่มันดับร้อน ให้หมดร้อน แล้วแต่จะเล็งกันถึงคุณค่าส่วนไหน ผมจึงยกมาให้ดูสักสามอย่างว่า เรียกว่าสุญญตธาตุก็ได้ นิโรธธาตุก็ได้ นิพพานธาตุก็ได้ เรียกว่าเป็นอสังขตะ รวมๆ กันก็ได้ อสังขตะ แปลว่าไม่มีอะไรปรุงแต่ง ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วมันจริง แล้วมันไม่เปลี่ยนแปลงหรือมันเที่ยง ไม่เหมือนธาตุที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จำคำคู่คู่นี้ไว้ให้ดี ไม่เที่ยงเพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงเรื่อยนี้เรียกว่าสังขตะ ที่มันตรงกันข้าม มันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันเที่ยงแต่มันเที่ยงชนิดที่มองเห็นไม่ได้ มันละเอียดเกินไป ก็เรียกว่า อสังขตะ การที่สิ่งนี้ละเอียดเกินไปมองเห็นไม่ได้นี่เป็นหลักที่ยอมรับ แม้ในบาลีก็มีไว้ชัดว่าไอ้สิ่งที่มองเห็นยากเข้าใจยากละเอียดเหลือเกินนั้นคือฝ่ายนี้ ฝ่าย อสังขตะหรือนิพพาน เรียกว่าทุฏถัสสัง(นาทีที่ 32:09) เห็นยาก สุทุฏถัสสังเห็นยากเหลือประมาณ เหลือเกิน เรียกว่า เอตัง สันตัง เอ ตัง ปะณีตัง อันนี้ละเอียดนัก อันนี้ประณีตนัก ยะทิทัง สัพพะสังขา ระสะมะโก สัพพูปะธิปะฏินิสสัคโค นัง นิพพานัง คือสิ่งที่มันจะดับเสียได้ซึ่งสังขารทั้งหลาย จะทำลายกิเลสเสียได้ กระทั่งเป็นนิพพานดับร้อนได้ นั่นคือสิ่งที่ละเอียดและประณีต สุขุม เห็นได้ยาก ส่วนที่ตรงกันข้ามคือสังขตธรรมนั้นเห็นได้ไม่ยาก ก็เห็นเห็นอยู่ ตำตาอยู่ด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายอสังขตะนี้เห็นยาก คุณไปคิดเอาเองว่านี่ผมเอาสิ่งที่มันไม่จำเป็น หรือไม่ถูกเรื่องถูกราวผิดฝาผิดตัวมาพูดให้คุณฟัง ในฐานะที่คุณเป็นนักศึกษา และก็มาพักอยู่ที่นี่ เพื่อจะขอศึกษาธรรมะ แล้วผมก็เอาเรื่องนี้พูดให้ฟัง มันจะเป็นเรื่องเกินไป มันผิดฝาผิดตัวหรืออะไรหรือไม่ ผมว่าไม่ผิด และเหมาะสมอย่างยิ่ง จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามันจะช่วยให้รู้ธรรมะได้จริง แต่คนโดยมากก็หาว่าผิด คือเขาพูดด่าว่าผมนี่เป็นคนไม่รู้ความพอดี ไม่รู้ประมาณ เอาไอ้เรื่องที่ไม่ควรจะพูดมาพูด หรือยากเกินไปหรือลึกเกินไป ไอ้เรื่องที่ถูกด่าอย่างนี้ถูกด่าอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่รู้จักเข็ด เพราะมองเห็นอยู่จริงๆ ว่า มันต้องเรียนเรื่องอย่างนี้ มันต้องรู้เรื่องอย่างนี้ มันจึงจะรู้ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ นี่เรากำลังเรียนเรื่องสิ่งที่สองที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่หนึ่ง คือสิ่งที่เรียกว่าอสังขตะ ที่มันตรงกันข้ามจากสิ่งที่เรียกว่าสังขตะ ถ้าจะเอาคำแปลเป็นไทยง่ายๆ มันก็มีเหมือนกัน สังขตะแปลว่าของปรุง และอสังขตะแปลว่าของที่ไม่ปรุง แต่คนที่ไม่เคยฟัง ฟังไม่ออกหรอก พูดอย่างนี้ก็ฟังไม่ออก เรียกว่าของปรุงกับของไม่ปรุงนั้นก็ยังฟังไม่ออก เว้นไว้แต่จะได้รับฟังคำอธิบายมาบ้าง คำว่าของปรุงก็หมายความมีอะไรหลายอย่างหลายสิ่งมาช่วยกันประกอบกระทำขึ้น ปรุงขึ้นมา เป็นของใหม่ขึ้นมา เหมือนแม่ครัวเขาปรุงกับข้าวขึ้นมาอย่าง จากของหลายๆ อย่าง นี้ก็เรียกว่าปรุง นั้นคำว่าปรุงมันมีความหมายอย่างนั้น บางทีจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คำภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า condition เหมือนกัน คำว่าปรุงมันคือคำว่า condition เป็นกิริยา ถ้าเป็น unconditioned ก็คือไม่ถูกปรุง ฉะนั้น สังขตะก็คือ conditioned และก็ อสังขตะ ก็คือ unconditioned ไปดูคำนี้ที่เขาอธิบายกันในปทานุกรมทางปรัชญาก็พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าปทานุกรมธรรมดามันหมายความอย่างอื่น แล้วทีนี้จะพูดถึงคำว่า อสังขตะ ต่อไปอีก โดยใช้ความหมายทีละความหมาย ถ้าเรียกว่าอสังขตะ อยากจะพูดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้งแก่จิตใจของตน สิ่งที่เรียกว่าอสังขตะนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้งแก่จิตใจของตน บางคนอาจจะนึกได้แล้วว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าบรรดาสิ่งที่เป็นสังขตะคือของปรุงนั้นมันแจ้งแก่จิตใจอยู่ตลอดเวลาเหลือประมาณจน จนเฟ้อ แต่ส่วนที่เป็นอสังขตะนี้ไม่เคยวี่แววเลยไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่เห็นหัวเห็นหางเลย จึงต้องตั้งต้นกันใหม่ พยายามกันใหม่ที่ทำให้มันแจ่มแจ้งแก่จิตใจของเรา โดยคิดโดยใคร่ครวญ โดยสุดแท้แต่จะทำได้ ให้เห็นสิ่งที่มันตรงกันข้ามจากไอ้สังขตะนั้น เพื่อจะได้เห็นไอ้ที่เที่ยง ที่จริง ที่ไม่หลอก ที่ไม่มีการไหลเวียนเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นการยากที่จะพูดให้เห็นได้ด้วยปาก ค่อยชี้วิธีให้ไปทำการพิจารณาเอาเอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นมาทีละนิดละนิด ว่าถ้ามันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้ามันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันก็ไม่มีอาการอย่างนั้น มันมีอยู่โดยไม่ต้องมีการเกิด มันมีอยู่โดยไม่ต้องมีการตั้งอยู่ ดังนั้นมันจึงไม่มีเกิด หรือตั้งต้นขึ้นมาแล้วมันก็ไม่มีการดับลงไปเมื่อไรนี้มันก็ไม่มี นี้เขาเลยเรียกว่านิรันดรบ้าง อนันตกาลบ้าง อมตะบ้าง ถ้าให้มีคุณสมบัติเป็นนิรันดร อนันตกาล อนันตะอะไรต่างๆ ก็ต้องเล็งถึงอสังขตะนี้ทั้งนั้น เมื่อไรสิ่งที่เป็นอมตะนี้จะมาปรากฏแก่จิตบ้าง ก็พยายามขวนขวายทำความเข้าใจกับไอ้สิ่งที่เรียกว่า อสังขตะ นี้ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งในฝ่ายอสังขตะ ที่ควรจะทำให้รู้จักกัน รู้จักกับสิ่งที่รู้จักยากที่สุด ถ้ารู้จักสิ่งนี้ก็คือรู้จักนิพพาน รู้จักสุญญตา รู้จักนิโรธ รู้จักนิพพาน หรือรู้จักสิ่งอื่นอีกมาก ชื่อมีอีกมาก แต่ว่าสิ่งนี้มันสิ่งเดียวนั่นแหละคืออสังขตะนั่นแหละ เป็นอันว่าในฐานะที่เป็นอสังขตะ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรารู้จักดี นี่เราต้องพยายามให้รู้จักมันขึ้นมาอีก อีกสิ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ทีนี้ในฐานะที่มันเป็นสุญญตา คือว่าง เป็นสุญญตธาตุ ธาตุว่าง หรือเป็นสุญญตา ความว่าง นี่ก็เล็งถึงอสังขตะ ...เสีย (นาทีที่ 40:48) แต่มองดูในแง่หนึ่ง มันออกมาในความหมายว่าว่าง ว่างจากการปรุงแต่ง ว่างจากตัวตน ว่างจากความไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เรียกว่า ว่าง ใช้คำว่า สุญญะ แปลว่า ว่าง สุญญตา แปลว่าความว่าง สุญญตธาตุ แปลว่า ธาตุแห่งความว่าง หมายความว่าว่างจากตัวตน ดังที่กล่าวมาแล้ว ในฐานะที่มันเป็นความว่างอย่างนี้ เราต้องมีสติให้เห็นอยู่เสมอ นี่เป็นคำสั่งของพระพุทธเจ้า ว่าเธอจงเป็นคนมีสติ เห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด ให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง คือเห็นความว่างจากตัวตนที่โลก และจงมีสติเห็นมันอยู่ทุกเมื่อเถิด นี่ก็หมายถึงสติ เธอจงเป็นผู้มีสติ อย่าเผลอสติ พอเผลอเมื่อไรก็จะเห็นเป็นไม่ว่างเมื่อนั้น เที่ยวไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว ไปอะไรเข้า เพราะขาดสติ ถ้ารักษาสติไว้ได้ เห็นความว่างจากตัวตนอยู่เสมอ จิตนี้ก็จะไม่ถูกปรุงให้เป็นไปตามทางของสังขตะ คือจิตจะไม่ถูกหลอกให้รัก ให้โกรธ ให้เกลียด ให้กลัว ให้วิตกกังวล ให้ขุ่นมัว ให้อะไรได้ ให้มีสติเห็นโลกด้วยความเป็นของว่าง จิตก็อยู่ในสภาพที่ว่างอย่างเดียวกันกับสุญญตธาตุ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรหรือไม่คิดอะไร ไม่รู้สึกอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น มันเห็น มันรู้ มันอะไรหมด มันมีสติเป็นที่พึ่ง แต่มันว่าง มันไม่จับอะไรเอามาเป็นตัวตน และไม่เห็นอะไรโดยความเป็นตัวตนที่จะจับเอามาเป็นตัวตนได้ ในฐานะที่อสังขตธรรมหรืออสังขตธาตุมันเป็นสุญญยตานี่ มันมีหน้าที่ที่จะต้องมีสติเห็นโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อ ทีนี้ความหมายที่สามคือนิโรธ ในฐานะที่อสังขตธรรมมันเป็นนิโรธธาตุ เป็นธาตุแห่งความดับ นี่เราจะต้องเห็นมันเป็นสิ่งที่เราจะเอามาเป็นธรรมศาสตร์ นี่พูดเพื่อให้คุณจำง่าย ถ้าเราเห็นนิโรธธาตุ ความหมายที่เป็นความดับ เป็นที่ดับ เป็นแดนดับแห่งสิ่งทั้งปวง ก็รีบเอามาใช้เป็นธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตรา แปลว่าอาวุธที่มีคม กล่าวคือ ธรรม ในฝ่ายที่เป็นอสังขตธรรม คือนิโรธธาตุ ธาตุนี้เข้าไปที่ไหน ก็เป็นอันว่าดับ เงียบไปที่นั่น เข้าไปที่กิเลสก็ดับกิเลส เข้าไปที่ความทุกข์ก็ดับความทุกข์ เข้าไปที่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท คือการปรุงแต่ง มันก็หยุดกระแสแห่งการปรุงแต่ง หยุดการไหลเวียน นี่พูดอย่างภาพพจน์เหมือนอุปมา เข้าไปที่ไหนน่ะดับที่นั่น กิเลสก็ดับ ความทุกข์ก็ดับ การปรุงแต่งให้เป็นกิเลสหรือปรุงแต่งให้เป็นความทุกข์มันก็ดับ ดับการปรุงแต่งนั้นเสียด้วย สิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยเพื่อการปรุงแต่งก็ถูกดับไปเสียด้วย การปรุงแต่งก็ถูกดับไปเสียด้วย ผลที่จะเกิดขึ้นมามันก็ถูกดับไปเสียด้วย นี่เป็นความหมายรวม เป็นความหมายใหญ่ของการตัดปัญหา ปัญหาของคนเราคือความทุกข์ ถ้าต้องการจะตัดปัญหานี้เสีย ก็มีสิ่งเดียวคือสิ่งที่เรียกว่านิโรธธาตุ แม้แต่จะดับของง่ายๆ หรือแม้แต่ความตายของไอ้สิ่งที่มีชีวิตนี้ ก็ดับลงไปได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่านิโรธธาตุนี้ได้เหมือนกัน แต่โดยส่วนใหญ่หรือโดยตรงนั้นเราหมายถึงเรื่องทางจิตใจของคนที่ยังไม่ตายนี่ ยังไม่ตายแท้ๆ นี่ ยังเป็นอยู่ ยังหายใจอยู่ ยังมีอายุอยู่อีกหลายปี ก็มีการดับ ดับอะไรที่ในนั้นน่ะที่ในจิตใจน่ะ ที่ควรจะดับได้ ก็ดับ ดับ ดับ แต่คนไม่ต้องตาย คือดับเฉพาะที่เป็นตัวปัญหาที่จะต้องดับเสีย เช่นความโง่ ก็ดับเสียได้ด้วยความรู้ อวิชชาก็ดับเสียได้ด้วยวิชชา มันมีของที่จะตรงกันข้าม ที่จะปราบกันอยู่อย่างนี้ โดยเฉพาะกิเลสหรือความทุกข์ก็จะดับเสียด้วยสิ่งที่เรียกว่านิโรธนี้ ไอ้ดับชั่วคราวก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง หรือมีคำเรียกอีกคำหนึ่งที่เรียกว่า อัตถังคมะ นี้ก็แปลว่าดับเหมือนกัน ที่เป็นพูดเป็นไทยๆ นี้เขาเรียกว่าอัสดง อัสดงนี้ก็แปลว่าดับ แต่ดับอย่างนี้ดับชั่วคราว ไม่เหมือนกับคำว่านิโรธ ที่แปลว่าดับ นี่มันดับสนิท ไม่กลับมาอีก ในเรื่องนั้น ในสิ่งนั้น ในกรณีนั้น ถ้า อัตถังคะโม นี่ก็แปลว่าดับเหมือนกันแต่ว่ามันดับชั่ว ไม่ได้ตั้งอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็โผล่มาอีก เพราะฉะนั้น อัตถังคะโม พวกนั้นมันอยู่ฝ่ายสังขตะ แต่ถ้านิโรธแล้วก็อยู่ฝ่ายอสังขตะ คือดับไปจริงๆ เอาความหมายว่าตัดออกไปเลย มีความหมายของคำว่าศาสตรา อาวุธที่มีคมตัดปัญหาให้หมดไปได้ โดยสิ่งที่เรียกว่านิโรธะ หรือ นิโรธธาตุ ทีนี้ในความหมายที่ ๔ สุดท้าย ว่า นิพพานธาตุ หรือนิพพาน นี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำจิตให้ลุถึงอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงที่สุด เพราะนิพพานแปลว่าดับ แปลว่าดับแห่งสิ่งร้อนให้กลายเป็นหมดร้อนคือเย็น หรือหมดทุกข์เหมือนกัน ความหมายที่แท้จริงก็ดับสิ้นเชิง ดับร้อนสิ้นเชิง ก็ต้องทำจิตให้ลุถึง เป็นสิ่งที่ต้องทำจิตให้ลุถึง ทีนี้มันมีข้อยกเว้นหรือว่าผ่อนผันว่าอย่างชั่วคราวก็ยังมี ที่ดับเย็นเป็นชั่วคราวไม่เด็ดขาดลงไปก็ยังมี เพราะว่าตามธรรมชาตินี่ ถ้าเรามันร้อนอยู่ตลอดเวลามันก็คงเป็นบ้าหรือตายแน่ มันต้องมีเย็น หยุดหรือเย็นอยู่เป็นระยะๆ จึงทนอยู่ได้ นี่ก็เป็นความหมายของไอ้นิพพานธาตุเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อย่างแท้จริง เป็นอย่างนั้นก็ยังดี มันยังช่วยให้เป็นอยู่ได้ ไม่ตายเสีย และยังเป็นเหมือนตัวอย่างสินค้าให้เราชิมลองดู ว่าเรามีความเย็นบางเวลา ที่ไฟคือความร้อนมันไม่ได้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะหมดไฟซะทีเดียว คือกิเลสนี่เปรียบเหมือนไฟ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ในจิตใจของมนุษย์ พอเกิดขึ้นก็เป็นร้อนแล้ว ราคะก็ร้อน โทสะก็ร้อน โมหะก็ร้อน เกิดทางตา ตาก็ร้อน เกิดทางหู หูก็ร้อน เกิดทางจมูก จมูกก็ร้อน เป็นนรกไปเลย นี่เราเรียกว่าไฟ มันก็ร้อน แต่มันโชคดีที่ว่ากิเลสนี่มีเกิดดับ เกิดดับ แล้วมันจึงมีเวลาที่มันไม่ได้เกิด ตอนนั้นก็มีอาการเหมือนกับว่ามันดับอยู่ ด้วยนิพพานชนิดชั่วคราว เราทำใจให้ดีดี กิเลสเกิดไม่ได้ มันก็เย็นอยู่ได้ พอทนได้ พอกิเลสเกิดก็ร้อน ร้อนก็รีบดับอีก ด้วยวิธีเอาไอ้นิพพานธาตุชั่วคราวนี้มาดับ แล้วได้ศึกษาวิชาอันลึกซึ้งนี้พร้อมกันไปด้วยเป็นการเพิ่มเติม ที่ตรงนี้ผมถือเอาเป็นที่สอนเรื่องนี้เพราะว่ามักจะมีคนพูดขึ้นหรือเอ่ยว่า แหมสบายจริง เย็นสบายบอกไม่ถูก ที่ตรงนี้พอเข้ามาถึงที่ตรงนี้ ทำไมสบายใจบอกไม่ถูก นี่คนที่มาแต่ที่ไกล เขาไม่สังเกตว่าเพราะเหตุไรเขาจึงรู้สึกสบายใจบอกไม่ถูก เพราะเขาก็ไม่เคยเรียนธรรมะธรรมโม เขาจึงบอกไม่ได้ ว่าพอมาถึงตรงนี้มันมีไอ้ธรรมชาติตามธรรมชาติของตรงนี้ ต้นไม้ต้นไร่ก้อนหิน มันช่วยดึงจิตใจเขาไปในทางที่ว่าลืมตัวกู ลืมของกู ที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูมันถูกระงับไปด้วยอิทธิพลของธรรมชาติที่ตรงนี้ คือเขาลืมที่บ้าน ที่การงาน ที่หน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่ข้างหลัง ที่บ้านที่เรือนน่ะ มันลืมหมด จิตมันมีความรู้สึกอย่างใหม่เกิดขึ้นเพราะไอ้ความลืมตัวกู ลืมของกู ลืมสิ่งเหล่านั้น มันเลยรู้สึกสบายใจบอกไม่ถูก นี้ก็คือดับเหมือนกัน มันดับแบบนิพพาน คือดับร้อนให้กลายเป็นเย็น มันเลยสบายบอกไม่ถูก นี่หมายถึงคนปกติธรรมดา ถ้ามาถึงตรงนี้ก็จะรู้สึกอย่างนี้ ก็ถือโอกาสศึกษาเรื่องนี้สั่งสอนเรื่องนี้กันไว้เสีย จะได้รู้จักความเย็นชั่วคราว หรือว่าตัวอย่างของนิพพาน บางทีก็เรียกว่าตัวอย่างสินค้าของพระพุทธเจ้า คือว่าสิ่งที่ดีที่สุดของพระพุทธเจ้าที่จะมีให้ก็คือเย็นอย่างนี้ แต่มันเย็นตลอดไป ไม่กลับไปกลับมาไม่เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้เราให้ตัวอย่างนิดหน่อย ชิมดูนิดหน่อย เพื่อเขาจะได้สนใจจะได้ติดตามไป ทำไปจนถึงกับที่สุดไม่มีความเปลี่ยนแปลง นี่เรียกว่านิพพาน หรือนิพพานธาตุ แปลว่าดับ ดับแห่งสิ่งที่ร้อน ส่วนคำว่านิโรธมันมีความหมายกว้างออกไปโน่น ดับไม่มีเหลือก็แล้วกัน ทีนี้ถ้าในฐานะที่อสังขตธรรมมันเป็นนิพพานนี่ ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา พึงทำให้ปรากฏแก่จิตให้ถึงที่สุด ถ้ามันไม่ถึงที่สุด ก็ให้มันมันนานมากๆ ให้มันบ่อยๆ ให้มันนานมากๆ คือให้มันเย็นอย่างนั้นมากๆ ปล่อยให้จิตนี่มันอยู่กับนิพพานธาตุมากๆ สักหน่อย แล้วก็บ่อยๆสักหน่อย ในวันหนึ่งคืนหนึ่งก็ยังดี จนกว่ามันจะถึงเต็มที่ คือถึงที่สุดไม่เปลี่ยนแปลง นั่นก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ทีนี้เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์นี่ก็พยายามให้มันเย็นมากๆ เข้าไว้ แล้วก็บ่อยๆ ให้ความรู้สึกหรือว่าไอ้ที่มันมีความเย็นน่ะมันยาวออกยาวออก อย่าให้ประเดี๋ยวประด๋าวเกินไปในวันหนึ่งๆ ให้เย็นขนาดที่เรียกว่าเย็นสนิทนะ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ เหมือนกับบางคนเขามานั่งตรงนี้ก็บอกมันสบายใจบอกไม่ถูก คือมันเย็นใจถึงที่สุดเหมือนกัน เมื่อมีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าสมมติว่าเกิดขึ้นแก่คนใดคนหนึ่งขอให้ถือโอกาสศึกษาให้ดีที่สุดทันที เป็นโอกาสที่ดีสุดที่จะศึกษาสิ่งที่เป็นของจริง การศึกษาที่ฟังจากผมพูดหรือจากอ่านจากหนังสือนั้นไม่จริง คือไม่ใช่ของจริง ไม่มีของจริงมาศึกษา มันต้องเอาความจริงมาศึกษา เช่นในขณะที่จิตมันกำลังเย็นนั่น เราก็เอาความเย็นในจิตนั่นออกมาศึกษาว่าทำไมมันจึงเย็น ก็จะรู้ว่า อ้าว! มันว่างไปจากไอ้ตัวกู ของกู ว่างจากอุปาทาน ว่างจากกิเลส มันเย็น มันจะเข้าใจทันที เข้าใจกิเลส เข้าใจความไม่มีกิเลส เข้าใจนิพพาน ไม่เหมือนกับว่าพูดด้วยปากหรืออ่านหนังสือนี้มันไม่มีทางจะทำได้ ต้องให้สิ่งนั้นรู้สึกอยู่ในใจจริงๆ จึงจะ จึงจะเรียกว่าเรียนรู้ มันเป็นสิ่งที่ต้องเรียนด้วยใจ แล้วก็เรียนจากของจริง จำไว้อย่างนั้น เรียนจากหนังสือหรือเรียนจากเสียงพูดนั้นไม่ได้ ยังไม่ได้ แม้ว่าเรียนแล้วจากคำแนะนำการพูดจา การอ่านนี่ก็ต้องเอาไปทำอีกทีหนึ่ง จนมันเกิดขึ้นในใจจริงๆ แล้วก็รู้จากไอ้ที่มันเกิดจริงๆ คือเรียนจากของจริงด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้มันเสียอยู่ที่ตรงนี้ว่า ที่พวกคุณหรือพระเณรทั้งหลายทั่วไปนั้นน่ะ ไม่สนใจที่จะเรียนจากของจริง พอมันเกิด เกิดกิเลส เกิดความร้อนก็ไม่เรียน ไม่เรียนไอ้ความร้อน มันไปบ้าเป็นผีอะไรเสียอีก พอมันเกิดความร้อนขึ้นในจิต ขุ่นมัวขึ้นในจิต หงุดหงิดขึ้นในจิต คือแทนที่จะให้มันถือโอกาสนั้นเรียนให้รู้จักกิเลส ไม่เรียน มันกลายไปโกรธไปอะไรต่อไปซะอีก ไม่เป็นนักเรียน เป็นคนบ้า หรือเป็นผีสิงเป็นอะไรไป กว่ามันจะหาย หายดับไปเองก็เลยไม่ต้องเรียนกันสิ ฉะนั้นถ้าเมื่อใดมันเกิดโกรธ เกิดรัก เกิดกลัว เกิดอะไรขึ้นมาก็รีบถือโอกาสเรียนจากของจริง ที่มันกำลังรู้สึกอยู่ในใจ เดี๋ยวนิโรธธาตุมันมาช่วยดับ ถ้าคุณเรียนอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะได้พบกันกับนิโรธธาตุที่จะเกิดขึ้นปรากฏขึ้นมาช่วยดับไอ้ปัญหานี้ได้ ช่วยตัดปัญหาได้ ฉะนั้นผมเรียกมันว่าธรรมศาสตรา คุณก็คงจะไม่คัดค้าน ธรรมศาสตรา ศาสตราคือธรรมะที่จะตัดปัญหา ที่จะดับไอ้สิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งต่อไปมันจะมีในชีวิตจิตใจเรื่อยๆ ไปในอนาคต จนกว่าจะตายจะเข้าโลงไป มันจะมีปัญหาอยู่เรื่อยๆ จะเอาอะไรมาตัดมัน มาดับมัน สิ่งนั้นคือนิโรธธาตุ คือนิพพานธาตุ หรือสุญญตธาตุ หรืออสังขตธาตุ เป็นสภาวธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามจากประเภททีแรกที่เรียกว่าสังขตะ นี่มันเป็นประเภทอสังขตะ มันจะเป็นคู่ปรับกันอย่างยิ่ง คือมันจะดับไอ้ที่เป็นปัญหาไปหมด ดับทั้งบุญ ดับทั้งบาป ดับทั้งดี ดับทั้งชั่ว ดับทั้งแพ้ ดับทั้งชนะ ดับทั้งมีและทั้งไม่มี มันน่าขันไหม มันดับได้ทั้งมีดับได้ทั้งไม่มี มันอยู่เหนือ เหนือไอ้ความที่มาถูกปรุงแต่ง ไอ้มีนี้ก็ปรุงแต่ง ไอ้ไม่มีนี้ก็ปรุงแต่ง มันต้องไม่ปรุงแต่ง มันก็ดับเสียหมดทั้งมีและทั้งไม่มี หรือทั้งสุขและทั้งทุกข์ ทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งแพ้ทั้งชนะ อย่าไปเข้าใจว่าไอ้อสังขตะนี้เป็นส่วนที่เป็นความสุข ที่คู่กันกับความทุกข์ ไอ้ความสุขที่คู่กับความทุกข์มันยังเป็นสังขตะ คือมันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นความสุขบ้างเป็นความทุกข์บ้าง ถ้ามันเป็นอสังขตะ มันต้องเพิกออกไปหมด ทุกชนิดที่มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ นี่เป็นสังขตะ มันก็จะเป็นการเปรียบเทียบ ลองนึกดูเล่นๆ ตามเวลาว่างๆ ให้รู้จักไอ้พวกสังขตธรรมทั้งหลาย ที่มันหลอกเราให้หลงใหลไป คือความหมายที่เป็นคู่ๆ คู่ๆ ล้วนแต่ถูกปรุงขึ้นมาทั้งนั้น เป็นความทุกข์ก็ปรุงขึ้นมา ความสุขก็ปรุงขึ้นมา การแพ้ก็เป็นการปรุงขึ้นมา การชนะก็เป็นการปรุงขึ้นมา การได้กำไรก็เป็นการปรุงขึ้นมา การขาดทุนก็เป็นการปรุงขึ้นมา กระทั่งว่ามันเป็น positive negative ก็เรียกว่ามีการปรุงเสมอกัน การมีการไม่มี ภาวะที่สมมติกันว่าเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย หรือทุกๆ คู่ที่มันล้วนแต่อยู่ในวงของการปรุงแต่งทั้งนั้น เราไม่เคยสนใจเราก็ไม่รู้จัก เดี๋ยวนี้ควรจะสนใจกันบ้าง ว่านี้คือไอ้พวกอสังขตะ คือปรุงแต่งขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัย อาศัยความไม่รู้ของเรามันจึงปรุงแต่งได้มาก ทีนี้เราเกิดรู้ขึ้นมา ไปรู้ฝ่ายที่ตรงกันข้าม มันจะไปปัดพวกเหล่านี้ออกไปเสีย ก็เรียกอย่างที่เรียก อสังขตะ บ้าง สุญญตะบ้าง นิโรธะบ้าง นิพพานะบ้าง นี่เป็นพวกอสังขตะ เมื่อมันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งถึงขนาดนี้ก็ไม่มีส่วนไหนที่จะเรียกได้ว่าตัวตน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะดับเสียซึ่งความรู้สึกเขลาๆ ไปว่าตัวตน เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน พวกอสังขตะก็เป็นของมายา ไม่มีตัวตน แม้พวกอสังขตะที่ว่านี้ก็ยังไม่ใช่ตัวตน แต่มันไม่ใช่มายา คือมันไม่ใช่หลอกลวง มันจริง มันแน่ มันเที่ยง แต่ถึงอย่างนั้นมันก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ มันก็ไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน การที่จะระงับความยึดถือว่าตัวตนนี้ระงับหมดสิ้นเชิงอย่างนี้ เพราะได้เห็นอสังขตธรรม เห็นสุญญตา เห็นอนัตตา นิโรธะ และนิพพาน นี่เราก็เลยพูดถึงเรื่องอสังขตะมา โดยใจความก็เรียกว่ามันมีเท่านี้แหละ เพราะมันมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแหละคือไม่ปรุงแต่ง ทีนี้เมื่อพวกที่เป็นสังขตะก็รู้ และพวกที่เป็นอสังขตะก็รู้ ทั้งสองพวกนี้ก็เรียกว่าสภาวธรรม ธรรมที่เป็นอยู่เองคือธรรมชาติ ในความหมายทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธศาสนานี้เมื่อพูดว่าธรรมชาติเพียงคำเดียวเท่านั้น ก็เท่ากับพูดว่าธรรมเพียงคำเดียว ก็หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอยู่เองนี้ ในฐานะที่เป็นธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ ปรากฏแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ก็เป็นสังขตะ ลิ้น กาย ใจ นี้ ที่ปรากฏแก่สติปัญญาลึกซึ้งนี้ก็เรียกอสังขตะ คุณจะมองอสังขตะด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามธรรมดาไม่ได้ คนธรรมดาตามธรรมดาก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กันอยู่ทุกคนนะ ก็ไม่มองเห็นไอ้สิ่งที่เรียกว่าอสังขตะนี้ได้ ไม่เห็นความว่างได้ ไม่เห็นความดับได้ ต้องอบรมปัญญาตามวิธีที่พระศาสดาได้แนะไว้จนเกิดสติปัญญาขนาดนั้น จึงจะเกิดธรรมจักษุหรืออะไรพวกนี้ เห็นแจ้งต่อสิ่งที่เรียกว่าอสังขตะ หรือสุญญตา หรือนิโรธ หรือนิพพาน ได้ เดี๋ยวนี้เราเอาแต่เพียงว่ารู้ไว้ว่าสภาวธรรมมันมีอยู่อย่างนี้ มีอยู่เป็นสองฝ่ายอย่างนี้ และสภาวธรรมนี้เป็นเพียงหนึ่งสิ่งในสี่สิ่ง คือยังมีสัจธรรม ปฏิปัติธรรม และปฏิเวธธรรม อย่างที่กล่าวมาแล้ว ขอให้จำคำเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ จะช่วยให้ศึกษาธรรมะได้โดยง่าย เพราะคำว่าโดยง่ายนี้ไม่ง่ายเปล่า สนุกด้วย เดี๋ยวนี้มันเหมือนกับกลิ้งครกขึ้นภูเขา เพราะมันทำไม่ถูกวิธี การศึกษาธรรมะจึงไม่รู้สึกว่าสะดวก หรือง่าย หรือสนุก ก็เพราะว่าไม่เข้าใจคำสำคัญบางคำนั่นเอง ที่แท้มันก็มีอยู่ไม่กี่คำหรอก แต่ถ้าไม่สนใจกับมัน มันก็ไม่เข้าใจได้เหมือนกัน จึงขอให้สนใจคำสี่คำแรกนี้ไว้ก่อน ว่า สภาวธรรม ว่าสัจธรรม ว่าปฏิปัติธรรม ว่าปฏิเวธธรรม และคำว่าสภาวธรรมก็เอามาแบ่งแยกเป็น สังขตธรรม และ อสังขตธรรม และก็มีรายละเอียดอย่างที่เราพูดกันมา สามครั้งแล้วนี่ นี่ถึงจะช่วยให้เกิดความง่ายดายต่อไปข้างหน้าขึ้นได้มาก ตั้งครึ่งตั้งค่อนทีเดียว ถ้ารู้จักสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมนี้ให้เพียงพอนั้นน่ะ การศึกษาธรรมะจะง่ายขึ้นมาตั้งครึ่งตั้งค่อน ฉะนั้นขอให้สนใจ วันนี้ก็หมดเวลาแล้ว ยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน