แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายถวายความรู้ในครั้งที่ ๖ นี้ ผมจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าสมาธิภาวนา ในอันดับที่ถัดไป คือ สมาธิภาวนาอย่างที่ ๔ ที่เรียกว่า สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ขอให้ทบทวนถึงชื่อของสมาธิภาวนาทั้ง ๔ นี้อีกครั้งหนึ่ง จะช่วยให้เข้าใจให้ง่ายขึ้น คือมันจะช่วยกำกับกันให้เห็นชัดได้ง่ายขึ้น แม้ที่สุดแต่คำว่าสมาธิภาวนาเองนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดอยู่เสมอ บางทีเวลาล่วงมาชั่วสองสามวันนี้ ความหมายบางอย่างมันเลือนไป ต้องเรียกกลับมาให้ชัดเจนอยู่ในใจ
คำว่าสมาธิภาวนา แปลว่า การทำจิตให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิภาวนา การทำจิตให้เจริญนี้ เป็นความหมายกว้าง คือรวมหมดในทุกอย่างของพระพุทธศาสนา อย่างคำสุดท้ายที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค ทำอาโยคะในอะธิจิต นี่คือ ทำจิตให้ยิ่งให้เจริญด้วยการกระทำชนิดที่มันเป็นระบอบที่สมบูรณ์ ทีนี้ เขาจะนึกถึงสิ่งที่เรียกว่าระบอบกันนี่มาก การพูดเปรยๆ จับต้นชนปลายไม่ได้ ไม่เป็นระบอบนี่ก็ได้รับความดูหมิ่น ว่ามันจะใช้เป็นที่พึ่งไม่ได้ ฉะนั้น หลักการสั่งสอนของท่านผู้ใดก็ตาม จะต้องเป็นระบอบ ระบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเห็นได้ว่าเป็นระบอบๆ ระบอบที่ชัดเจนเสมอ เป็นระบอบไป ระบบ หรือระบอบ ก็แล้วแต่จะเรียก
ระบอบของการทำจิตให้ยิ่งขึ้นไป กว่าจะถึงที่สุด เรียกว่า เจริญภาวนา ใช้ให้เป็นบาลี ก็ว่า ภาวนา เฉยๆ เรียกกันไป ก็หมายความว่า ทำให้เจริญ ทำอะไรให้เจริญ ก็คือทำจิตให้เจริญ ทำด้วยอะไร ก็ทำด้วยสมาธิภาวนา สมาธิภาวนาเป็นเครื่องมือ ทีนี้ ความเข้าใจอาจจะผิดกันไปในบางคนว่า สมาธิภาวนาเป็นตัวกรรมที่ถูกกระทำ คือทำสมาธิภาวนา อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน ความหมายมันเปลี่ยน การเจริญสมาธิภาวนา ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มันจิตเจริญ เราต้องมีความมุ่งหมายที่เป็นจุดหมายก่อนว่า การทำจิตให้เจริญ แล้วก็ทำด้วยอะไร ก็ทำด้วยวิธีที่จัดไว้เป็นระบบๆ ที่เรียกว่าสมาธิภาวนา ด้วยอำนาจของสมาธิ หรือสมาธิภาวนา
อย่างที่หนึ่ง เป็นไปเพื่อความสุขในจิตธรรม ได้ยกเอารูปฌาณ ๔ เป็นที่มุ่งหมาย
อย่างที่สอง ทำให้เกิดญาณทัสสนะ ไปยกเอา ทิวา สัญญา อาโลกสัญญา เป็นหลักปฏิบัติ
อย่างที่สาม เพื่อสติ สัมปชัญญะ นี่ก็เพื่อ อาจจะให้มีความสามารถในการมีสติ สัมปชัญญะ ในทุกกรณี แล้วกำหนดการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งเวทนา สัญญา และวิตก นี้ เป็นหลัก เป็นอันว่าได้อธิบายมาแล้ว ขอให้ทบทวน เอามาเพื่อเปรียบเทียบกับอันสุดท้าย เพื่อความเข้าใจอันสุดท้ายยิ่งดียิ่งขึ้นไปถึงที่สุด ซึ่งมีความมุ่งหมายว่า อาสวานํ ขยายะ (นาทีที่ 06:04) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ทีนี้ สำหรับตัวการปฏิบัตินั้น มีพระบาลีสั้นๆ ว่า อุทยัพพยานุปัสสี คือเป็นผู้มีปรกติ เห็นความตั้งขึ้น และความเสื่อมไป อยู่เป็นประจำ อิติ รูปํ ว่ารูปเป็นอย่างนี้ อิติ รูปสฺส สมุทโย ความตั้งขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม ความดับไปแห่งรูปเป็นอย่างนี้ นี่หมวดรูป
ทีนี้หมวดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีก ๔ หมวด ก็เหมือนกัน โดยหลัก ด้วย อิติ เวทนา เวทนาเป็นอย่างนี้ อิติ เวทนาย สมุทโย ความตั้งขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ อิติ เวทนาย อตฺถงฺคโม ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ อย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งอันสุดท้ายที่เกี่ยวกับวิญญาณ ว่า อิติ วิญฺญาณํ วิญญาณเป็นอย่างนี้ อิติ วิญฺญาณสฺส สมุทโย ความตั้งขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ อิติ วิญฺญาณสฺส อตฺถงฺคโม ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เราจึงได้ ไอ้สิ่งที่จะต้องทำ อนุปฺสสี คือเห็นอยู่เป็นประจำนั้น ในสิ่ง ๑๕ สิ่ง คือ ขันธ์ ๕ แล้วก็ห้าหนึ่งนะ มีสามๆ หนึ่งๆ มีสามๆ คือ รูปมีสาม เวทนามีสาม รวมกันเป็น ๑๕ ก็เห็นทั้งอุทยะ คือ ตั้งขึ้น รมยะ (นาทีที่ 07:53) คือ เสื่อมไป จะได้เป็น ๓๐ มันก็มี๓๐ สามสิบวัตถุที่จะต้องศึกษา
เอาละ ทีนี้ก็พูดอย่างธรรมดาสามัญกันดีกว่า เพราะว่าเข้าใจกันอยู่แล้วว่า การตามเห็นอยู่เป็นประจำเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ก็เห็นอุทยะ การก่อขึ้นมาอย่างไร รมยะ (นาทีที่ 08:31) แล้วก็เปลี่ยนไปอย่างไร จนกระทั่งดับในที่สุด มีเท่านี้เอง มันก็เหลืออยู่แต่ว่า จะพิจารณาอย่างไร จึงจะมีรูปร่างอย่างนี้ได้ ที่จริงก็ การมีลักษณะอย่างนี้ แล้วเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วดับไปอย่างนี้ มันก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นอุทยะ รมยะ (นาทีที่ 08:59) เมื่อใดมันเกิด เมื่อใดมันเสื่อมไป ก็ต้องเห็นอยู่ตลอดเวลา จึงจะชื่อว่า อนุปฺสสี คือ เห็นอยู่เป็นปรกติ ทีนี้คำอธิบายมันก็มีมาก ที่ว่า ขันธ์ ๕ นี่ มันคืออะไร แล้วมันจะยังมีได้เป็นอย่างที่ต่างกัน คือ ขันธ์ ๕ ล้วน กับ ขันธ์ ๕ ที่เป็น อุปาทานขันธ์ เมื่อไรเป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ หรือ เมื่อไรเป็นอุปาทานขันธ์ เมื่อเกี่ยวกับการปฏิบัติ มันก็ไม่มีที่จะต้องไปท่องบ่น หรือว่าอาศัยไอ้ตำราอะไรกันอีกแล้ว เพราะมันชัดเจนพอแล้ว ยังเหลืออยู่แต่ที่จะกำหนดพิจารณานี้ให้มันจริงจังเท่านั้นเอง คือ เราจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า เมื่อไรไอ้ขันธ์นี้ มันตั้งขึ้น คือ ก่อขึ้น ที่เรียกว่า สมุทัย ตั้งขึ้น ก่อขึ้นมา แล้วเมื่อไรมัน อัตถังธรรมะ (นาทีที่ 10:25) คือ ไม่ตั้งอยู่ คือ หายไป ดับไป ก็โดยตั้งปัญหา แล้วทำเป็นข้อๆ เป็นลำดับขึ้นมาว่า เดี๋ยวนี้ เรามีขันธ์ ๕ หรือไม่ คนทั่วไปที่ได้รับการสั่งสอนมาแต่ก่อน มักจะเข้าใจเป็นทำนองว่า เรามีขันธ์ ๕ อยู่ตลอดเวลา นั่นมันเป็นเรื่องของตัวหนังสือ แล้วก็ทำให้เข้าใจผิด โดยระบุว่า ไอ้รูปขันธ์ คือ มหาภูตรูป ๔ กับ อุปาทานรูป (นาทีที่ 11:11) นี่คือ รูปขันธ์ ถ้าเวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เป็นต้น สัญญาขันธ์ จำได้หมายรู้ในเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ สังขาร คือ คิดนึก ไปตามไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้ววิญญาณ ก็รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พูดเพียงเท่านี้ ทุกคนที่มีปัญญาตามธรรมดาสามัญ ก็จะเห็นได้ว่า มันจะมีพร้อมกันได้อย่างไร ความรู้สึกที่เป็นเวทนา มันก็อย่างหนึ่งต่างหาก ความรู้สึกที่เป็นสัญญา มันก็อีกอย่างต่างหาก มันมีพร้อมกันไม่ได้ โดยเนื้อแท้แล้ว มันก็ต้องผลัดกันทำหน้าที่ ทำหน้าที่อย่างหนึ่งเสร็จแล้ว อย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นมาแทนทำหน้าที่ มันต้องมีการดับไปของบางอย่าง แล้วเกิดขึ้นของบางอย่าง นี่เราจะต้องศึกษากันในข้อนี้ ว่าเดี๋ยวนี้ อะไร ขันธ์อะไรเกิดขึ้น กำลังเกิดอยู่ ที่จริงก็ได้พูดกันบ้างแล้วในวันแรกๆ ของการบรรยายนี้ และก็ได้อธิบายไว้ในการบรรยายครั้งอื่น ละเอียดละออมาก เฉพาะในการบรรยายถวายในครั้งนี้ จึงสรุปเอามาแต่ใจความว่า ตามหลักพระบาลีนั้น ขันธ์ หรือ ธาตุ หรือ อายตนะ ถ้าไม่มีการกระทำหน้าที่ของมันตามชื่อนั้นๆ แล้ว เรียกว่า มิได้มีอยู่ คือ มิได้เกิดขึ้น ต่อเมื่อใดมีการทำหน้าที่ตามความหมายของคำนั้นๆ ซึ่งเป็นชื่อของธาตุก็ดี ของอายตนะก็ดี ของขันธ์ก็ดี เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่า ขันธ์ หรืออายตนะ หรือแม้แต่ธาตุ ธาตุนั้นๆ มีอยู่ หรือตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นมา แล้วก็มีอยู่ ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ดับไป ไม่มีทางจะพูดว่าเรา ตลอดเวลา มีขันธ์ครบ ๕ ขันธ์อยู่ตลอดเวลา อยากจะพูดได้ ก็ว่า เรามีธาตุ ๖ นี้อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้พูดได้ แต่พูดว่าเรามีขันธ์ ๕ อยู่ตลอดเวลา มันพูดไม่ได้ แม้แต่จะพูดว่ามีอายตนะอยู่ตลอดเวลา ก็เกือบจะพูดไม่ได้ เพราะมันทำหน้าที่ทีละอย่าง ทีละคราว มันจะเห็นรูป กับฟังเสียง ดมกลิ่น พร้อมกันทั้ง ๖ อย่างนี้ มันไม่ได้ มันอาจจะได้ อย่างมากก็ ๒ อย่าง ๓ อย่าง อย่างนั้นก็ยังเรียกว่ามันไม่ครบทั้ง ๖ อย่าง แล้วมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ อยู่เป็นปรกติ เป็นประจำ อยู่ได้ แม้แต่สุดแต่ว่า เวลาที่นอนหลับ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังมีการตั้งอยู่ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอยู่ ไม่เน่า ไม่ทำลายไป วิญญาณธาตุนะ ไม่ใช่วิญญาณอายตนะ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ แต่เป็นเพียงวิญญาณธาตุ ธาตุแห่งวิญญาณ ก็มีอยู่ คือความรู้สึกแห่งจิต แห่งใจ จิตใจนี้ก็มีอยู่ อากาศธาตุ ที่ว่างสำหรับสิ่งเหล่านั้นจะได้ตั้งอยู่ได้ ก็มีอยู่ ฉะนั้น เมื่อเราหลับ ยังไม่ตาย อย่างนี้ ก็เรียกว่า ธาตุทั้ง ๖ ยังมีอยู่ครบ พร้อมกันอยู่ พูดได้ว่าเรามีธาตุทั้ง ๖ อยู่ตลอดเวลา เวลาหลับ มันอยู่นิ่งๆ ด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้ เวลาอื่นๆ ที่มันคล้ายหลับ มันก็อยู่นิ่งๆ อยู่ด้วยกันอย่างนั้น แต่ที่มันมีเวลาอื่น คือเวลาที่ตื่นอยู่นี้ ไอ้ธาตุมันไม่ได้นอนอยู่นิ่งๆ มันลุกขึ้นทำหน้าที่เป็นนั่นเป็นนี่ นับตั้งแต่เป็นอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มี สัมพันธ์กับสมรรถภาพในการทำหน้าที่ นี้เราเรียกว่ามีอายตนะเกิดขึ้น ตามเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบทางตา หรือทางหู เป็นต้น ทีนี้ จากอายตนะ กระทบ สัมผัส ปรุงแต่งกันทางอายตนะนี้ จึงจะเรียกว่า มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ เกิดขึ้น
ทีนี้ รูปขันธ์นี่ หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่กำลังทำหน้าที่ รวมกันทั้งธาตุ วิญญาณธาตุ ส่วนอากาศธาตุนั้น ก็เรียกว่า ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาดีกว่า ฉะนั้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรียกว่า รูปธาตุ มาเป็น จักษุอายตนะ เปลี่ยนแปลงจาก จักษุอายตนะ มาเป็น รูปขันธ์ ประกอบกันหลายสิ่ง แต่ในที่สุดก็มาเป็นรูปขันธ์ จักษุธาตุ หมายถึง ธาตุที่จะเป็นจักษุ ทำหน้าที่จักษุ แล้วก็ รูปธาตุ คู่กันกับ จักษุธาตุ นั่นคือ เอาไว้สำหรับจะได้เป็นอารมณ์ของจักษุ แล้วมีจักษุธาตุ รูปธาตุ มีโสตธาตุ มีสัททธาตุ มีฆานธาตุ มีคันธธาตุ มีชิวหาธาตุ มีรสธาตุ มีกายธาตุ มีโผฏฐัพพธาตุ มีมโนธาตุ มีธัมมธาตุ ครบคู่ นี่เรียกว่าธาตุ แล้วก็มักจะเรียกต่อเมื่อมันลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นอายตนะ แต่ด้วยเหตุที่ถือว่าธาตุเหล่านี้มีอยู่พร้อม ในความหมาย ในรูปร่างของธาตุทั้ง ๖ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ มันเปลี่ยนมาเป็นจักษุธาตุ กับรูปธาตุ หรือว่า โสตธาตุ กับ คันธธาตุ เป็นต้น แล้วมันกลายเป็นอายตนะขึ้นมา คือ เป็นจักขุอายตนะ มาเป็นรูปายตนะ เป็นโสตายตนะ เป็นสัททายตนะ คู่กันขึ้นมา เมื่อมันทำหน้าที่ต่อไปอีก คือ ตาเห็นรูปชัดเลย รูปก็เป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของตา หูก็ทำหน้าที่หูเต็มที่ ได้ยินเสียงเลย เสียงทำหน้าที่เป็นอารมณ์ของเสียง ก็กลายเป็นอายตนะแล้ว ทีนี้เมื่ออายตนะสองนี้กระทบกันเข้า ก็หมายความว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณธาตุนั้นแสดงตัวออกมาเต็มที่ เป็นจักษุวิญญาณบ้าง เป็นโสตวิญญาณบ้าง เป็นฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ ตามลำดับ อย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง ประจวบพร้อมกันสามประการนี้ เรียกว่า ผัสสะ คือ อายตนะภายใน เช่น ตา คือ ตา อายตนะภายนอก คือ รูป อาศัยกันแล้วเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ เรียกว่า ผัสสะ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะผัสสะนั้น มันเริ่มก่อขันธ์ ก่อสังขารขันธ์แล้ว มันจะเกิดความรู้สึกต่างๆ ไปตามลำดับ ไอ้รูปกาย กายนี้ ที่เป็นที่ตั้งแห่งตานี้ สมบูรณ์แล้วนี้ ก็เรียกว่า เป็นอายตนะอันหนึ่ง รูปที่มากระทบอันหนึ่ง รวมกันเข้าแล้วก็เป็นรูปที่มีคู่กระทบ มันก็เป็นรูปขันธ์ที่สมบูรณ์ ทีนี้กระทบแล้วมีวิญญาณเกิดขึ้น แล้วก็เป็นวิญญาณขันธ์ในอันดับแรก เกิดผัสสะขึ้นก็เป็นสังขารขันธ์ในอันดับครึ่งๆ กลางๆ จากผัสสะเกิดเวทนา เป็นเวทนาขันธ์เต็มที่ จากเวทนาขันธ์นั้น ทำให้เกิดสัญญาขันธ์ คือ สำคัญมั่นหมายลงไปว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร นี่ก็เรียกว่าสัญญาขันธ์เต็มที่ สัญญาขันธ์ที่ไม่เต็มที่ หรือเป็นแต่เพียงสงเคราะห์หรือโดยอ้อมนั้น คือ ความจำได้หมายรู้เมื่อตากระทบรูป จำรูปนั้นได้ว่ารูปอะไร เช่นว่า รูปต้นไม้ รูปสัตว์ รูปคน พวกนี้ สัญญาอย่างนี้ไม่ใช่สัญญาหรอก เป็นแค่ขันธ์โดยตรง เป็นสัญญาในความหมายทั่วไปว่าจำอะไรได้ ส่วนสัญญาในเบญจขันธ์โดยตรง ก็คือ สัญญาที่มีความสำคัญลงไปในเวทนานั้น ว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร เป็นที่ตั้งแห่งความรักความพอใจ สำคัญเป็นที่รักที่พอใจ สำคัญเป็นที่สุขเป็นทุกข์ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นอารมณ์แห่งความยึดมั่นถือมั่นไปเลย ความสำคัญมั่นหมายนี้ เรียกว่า สัญญา สัญญาขันธ์เต็มที่อย่างนี้ มันก็ติดเนื่องกันที่สุดกับสังขารขันธ์ พอมีสัญญามั่นหมายอย่างนั้นแล้ว มันก็เป็นสังขารขันธ์ คือ คิดนึกด้วยเจตนา จะเป็นมโนกรรม ออกมาเป็นกายกรรม วจีกรรม เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ หรือว่า หลังจากมีเวทนา และมีสัญญาแล้ว ก็มีความวิตกวิจารณ์ มีเจตนา มีสัญญเจตนา อย่างนี้ก็เรียกว่า สังขารขันธ์ทั้งหมดเลย ทั้งกลุ่มนั้นเรียกว่าสังขารขันธ์หมดเลย ทีนี้ วิญญาณขันธ์จะสมบูรณ์ครั้งสุดท้าย ก็คือว่า จิตกำหนดรู้สึกในเวทนา และสัญญานั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าเป็นอย่างไร หรือแม้แต่กำหนดรู้ว่า สังขารขันธ์กำลังคิดอยู่อย่างไร ด้วยเหตุที่ว่า เจตสิกธรรมทั้ง ๓ คือ เวทนา และสัญญา และสังขารนี้ เป็นอารมณ์แห่งมโนวิญญาณได้ ฉะนั้น มโนวิญญาณ เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายก็สมบูรณ์ เป็นวิญญาณขันธ์ที่สมบูรณ์ กำหนดเวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ หรือสังขาร ความคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ในฐานะเป็นอารมณ์ อย่างนี้ จึงจะเรียกว่ามีเบญจขันธ์ คือ ขันธ์ทั้ง ๕ เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า มันจะมีขันธ์ ๕ พร้อมกันไม่ได้ในขณะหนึ่งๆ มันมีได้แค่ ขณะหนึ่งจะมีขันธ์หนึ่งๆ คือ ขันธ์หนึ่งจะมีหลายๆ ขณะ หลายๆ ระยะ แล้วจะเกิดขันธ์อื่น รูปขันธ์นี้ หมายถึง รูป รูปธรรมนี้ กำลังทำหน้าที่ของรูปธรรม เช่น ทำหน้าที่ให้เกิดอายตนะ เป็นอายตนะ รู้สึกขึ้นมา คือถ้าข้างนอกมัวเป็นอารมณ์ ก็ต้องอายตนะจะรู้สึกขึ้นมา รูปขันธ์ข้างในนี้ ไอ้รูปข้างในนี้ รูปธาตุที่เรียกว่าเป็นรูปายตนะ เป็นจักขุอายตนะ เป็นต้น ข้างในนี้ ถ้ามันไม่ได้ของข้างนอก มันมีไม่ได้ มันจะเข้าใจว่า จักขุอายตนะนี้จะเกิดขึ้นมาได้ตามลำพังโดยที่ไม่มีรูปายตนะข้างนอก ดังนั้น จึงต้องเอามาบวกกัน อายตนะข้างใน คือ ตา เป็นต้น กับอายตนะข้างนอก คือ รูป เป็นต้น อาศัยกันแล้วเกิดจักษุวิญญาณ เกิดวิญญาณ เช่น จักษุวิญญาณ เป็นต้น นี่ถึงจะเรียกว่ามันเป็นของที่เต็มความหมายขึ้นมา ทั้งรูปขันธ์ และเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ ตามลำดับ เดี๋ยวนี้ สมาธิภาวนานี้ต้องการให้กำหนดรู้ว่า รูปเป็นอย่างนี้ สมุทัยของรูปเป็นอย่างนี้ อัตถังคมะของรูปเป็นอย่างนี้ หมายความว่า รูปได้ก่อขึ้นมาในลักษณะอย่างไร แล้วก็ตั้งอยู่ขณะหนึ่ง เปลี่ยนไปๆ จนกระทั่งอัตถังคมะ คือ ดับไปนี้อย่างไร แล้วก็มีว่า รูปเป็นอย่างนี้ๆ ข้อนี้สำคัญมาก คือว่ารูป ในที่นี้ คือ รูปขันธ์ เป็นอย่างนี้ๆ แต่แม้จะพิจารณามาตั้งแต่ว่า ไอ้รูปธาตุแท้ๆ ไอ้ที่กำลังเป็นอายตนะก็มี เป็นอย่างไร แล้วก็มาเป็นรูปขันธ์แท้ๆ เป็นอย่างไร ถ้าดูที่อาการที่มันเกิดขึ้น ก็เรียกว่านี่เป็นสมุทัยของรูปนั้น ถ้าดูที่กลุ่มของรูปนั้น ก็เรียกว่า รูปนี้ รูปเป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นรูป ไอ้สมุทัยของรูป ตัวทำอย่างไร รูปจึงตั้งขึ้นได้ลักษณะอย่างนี้ แล้วพอถึงมันดับกระจายไป มันจะดับสลายไปด้วยอาการอย่างนี้ เรียกว่านี่ อัตถังคมะของรูปนั้น มันก็ตามนัยที่แสดงเป็นตัวอย่างแล้วนั่นเอง เวทนาเป็นอย่างนี้ หมายความว่า หลังจากผัสสะแล้วก็มีเวทนาเกิดขึ้น เป็นอย่างนี้ๆ เพราะดูส่วนที่อาการเกิดขึ้น ก็เรียกว่า สมุทัยของเวทนาเป็นอย่างนี้ๆ ยกตัวอย่าง การที่ตากระทบกับรูป เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ เรียกว่า ผัสสะ จากผัสสะนั้น เกิดความรู้สึกที่เป็นเวทนา นั่นแหละคือสมุทัยแห่งเวทนา สมุทัยแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ เมื่อเวทนาดับไป ก็หมายความว่า พอเวทนารู้สึกอย่างนี้แล้ว จิตเปลี่ยนเป็นการกำหนดเวทนานั้นด้วยสัญญา แล้วเวทนาก็ดับไปในที่สุด สัญญาก็เหลืออยู่ สำคัญมั่นหมายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตั้งอยู่เป็นอารมณ์ของสังขารขณะหนึ่งแล้ว สัญญานั้นก็ดับไป สังขารก็คิดนึกปรุงแต่งไปตามความคิด ด้วยเจตนา หรือด้วยสัญญเจตนา เป็นต้น เพราะว่าสัญญาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ สังขารเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ไอ้ตัวร้ายที่สุดก็คือ วิญญาณ คืออย่างนี้ เกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วก็ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็ดับไปอย่างนี้ นี่ขอให้ทบทวนเอาเอง แล้วแจก แจกสูตรคูณ ว่าสำหรับรูปนี่เป็นอย่างนี้ มีสมุทัยอย่างนี้ มีอัตถังคมะอย่างนี้ สำหรับเวทนาเป็นอย่างนี้ มีสมุทัยอย่างนี้ มีอัตถังคมะอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ มีสมุทัยอย่างนี้ มีอัตถังคมะอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ สมุทัยของมันอย่างนี้ อัตถังคมะของมันอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ สมุทัยของมันอย่างนี้ อัตถังคมะของมันอย่างนี้ นี่เรียกว่าโดยอาการ ๑๕ อย่าง ก็เห็นสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ โดยอาการ ๑๕ อย่าง อย่างละสาม ๕ อย่าง รวมแล้วเป็น ๑๕
ทีนี้ เหลือแต่คำว่า อย่างนี้ ที่จะต้องพิจารณาต่อไป คือว่า รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ นั่นยังแจกออกเป็นว่า รูปนี้มีอุปาทาน มีอาสวะ มีอุปาทานเข้ายึดครองหรือไม่ เพราะคำว่าขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เช่นคำว่า รูป เป็นต้นนี้ มันต้องแยกเป็นสองความหมายเสมอ รูปขันธ์ล้วนๆ อย่างหนึ่ง รูปูปาทานขันธ์ คือ รูปขันธ์ที่มีอุปาทานยึดถืออย่างหนึ่ง ฉะนั้น คำว่า อย่างนี้ๆ รูปเป็นอย่างนี้ๆ ไม่ได้หมายความแต่เพียงว่ารูปขันธ์เฉยๆ หรือ รูปขันธ์ที่มีอุปาทานฝ่ายเดียว มันก็ต้องทั้งสองฝ่าย แต่ว่า แล้วแต่ว่าเวลาไหนมันเป็นอย่างไร ก็หมายความว่า บางเวลาเรามีรูปขันธ์เฉยๆ บางเวลาเรามีรูปูปาทานขันธ์ ใช้คำว่าเรานี้คือสมมุติ หมายความว่ากลุ่มสังขารนี้ บางเวลามันเป็นรูปขันธ์เฉยๆ บางเวลาเป็นรูปูปาทานขันธ์ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ผมขอร้องให้บรรดาพระวิปัสนาจารย์ทั้งหลายทำความเข้าใจให้ดีที่สุดที่จะดีได้ สำหรับไปทำความเข้าใจให้แก่ประชาชนต่อไป ที่ว่ารูปเป็นอย่างไรนี่ มันต้องให้รู้ลงไปว่ารูป ของรูปขันธ์ล้วนๆ หรือว่ารูปขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครอง นี่ก็เคยพูดกันมาก เตือนกันมาก ก็นับว่ายังเป็นของใหม่อยู่นั่นเอง มักจะพูดอย่างคลุมเคลือว่า ขันธ์ แล้วก็ขันธ์อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องแยกเป็นขันธ์ และอุปาทานขันธ์ ขอให้จำไว้ให้เป็นหลักให้ชัดเจนว่า มันมีบางขณะที่เป็นสักว่าขันธ์ ควรจะเรียกว่าขันธ์ และบางขณะมันเป็นถึงกับอุปาทานขันธ์ ถ้าการสัมผัส มันสัมผัสด้วยอวิชชาเต็มที่ มีตัณหาอุปาทานแล้ว ไอ้ขันธ์นั้นๆ จะกลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ไปหมด ถ้ามันสัมผัสตามปรกติ ไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เป็นขันธ์เฉยๆ เช่น ตาเห็นรูป ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น สัญญาก็มีได้ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง เป็นเวทนา ที่จะถึงกับยึดมั่นถือมั่น ไม่มีสัญญาที่สำคัญมั่นหมายอะไร เห็นแล้ว พอรู้ว่าอะไรแล้ว ก็เลิกกัน ทีนี้ขอให้ลองทอดสายตาดูไปตรงหน้า ที่หันหน้าไปทางไหนก็ดูไป ตาก็จะเห็นต้นไม้ เห็นใบไม้นี่ ก็จะเรียกว่าเห็นรูป ไอ้ตานี่ก็คือ เกิดเป็นอายตนะขึ้นมา ก็เห็นรูป รูปข้างนอก กับจักษุข้างใน อายตนะข้างใน รวมกันก็เกิดจักษุวิญญาณ แต่ก็ว่าเห็นรูป มันก็เกิดผัสสะ แม้จะรู้สึกว่าน่าดู สบายตาบ้าง มันก็เลิกกันแค่นั้น หรือว่าไม่น่าดู ก็เหลียวไปในทางอื่น ก็เลิกกัน มันไม่ถึงกับเป็นกรณีใดที่จะเกี่ยวกับความทุกข์ หรืออะไรขึ้นมา อย่างนี้ ก็จะต้องชื่อว่า ขันธ์ ขันธ์เฉยๆ แล้วก็พูดให้แน่นอนลงไปไม่ได้ว่า เวลาไหนมันจะเกิดอุปาทาน เพราะว่าไอ้สิ่งที่มองเห็นนั้นมันไม่เหมือนกันแก่ทุกคน บางคนมันเป็นผู้สนใจเรื่องอย่างนี้ เห็นเรื่องอย่างนี้แล้วก็สนใจมาก ยึดมั่นมาก บางคนไม่สนใจอะไรเลย ก็แล้วแต่บุคคลนั้น อย่างว่าผู้หญิงเห็นรูปผู้ชายก็มีความสนใจมาก ผู้ชายเห็นรูปผู้หญิงก็สนใจมาก ผู้หญิงเห็นรูปผู้หญิงด้วยกันก็ไม่ค่อยจะสนใจอะไรในทางที่จะเกิดอุปาทาน แต่ก็มีเหมือนกัน มันก็เป็นอย่างอื่นไป ที่ว่าว่าโดยส่วนใหญ่ อย่างว่าคนเห็นใบไม้อย่างนี้ มันก็เฉยๆ แต่ถ้าสัตว์บางชนิดเห็นใบไม้นี้ มันเป็นใบไม้ที่มันชอบกิน มันก็ไม่เฉยแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกมั่นหมายอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น ขอให้ศึกษาจากข้างใน ไม่ใช่จากหนังสือ ไม่ใช่จากคำพูด ว่าการเกิดขึ้นแห่งขันธ์นี้ ตามปรกติสามัญมันก็เป็นขันธ์ทั้งนั้น แต่บางกรณีเท่านั้นที่จะกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ คือ เมื่ออารมณ์นั้นมันดึงดูดมาก มันยั่วยวนมาก แล้วมันมีความหมายผูกพันกันอยู่ กับความรู้สึก หรือกิเลส หรืออะไรของบุคคลนั้น มันจึงจะค่อยเป็นปัญจุปาทานขันธ์เฉพาะบางกรณี ทีนี้ ถ้าเป็นปัญจุปาทานขันธ์ รู้ได้ง่าย ก็จะมีความทุกข์ร้อน หนักอกหนักใจขึ้นมาทันที อย่างนี้ก็เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ในรูปก็ได้ ในเวทนาก็ได้ ในสัญญาก็ได้ ในสังขารก็ได้ ในวิญญาณก็ได้ แต่ว่าโดยมาก ถ้ามันมีตั้งต้นด้วยอวิชชาสัมผัสมาตั้งแต่ทีแรกแล้ว มันก็จะยึดหมดเลย มากระทั่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หมดเลย เพราะอวิชชามันครอบครองหมดทั้ง ๕ ขันธ์ ได้ มีเหลืออยู่ก็แต่ว่าที่ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง โดยเฉพาะเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์นั้น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนั้นรุนแรง มันก็ไปอยู่ที่นั่น ดังนั้น ในบางกรณีมันไปแรงอยู่ที่เวทนา ในบางกรณีก็ไปแรงอยู่ที่สัญญา หรือสังขาร และในบางขณะ บางโอกาส มันก็ไปรุนแรงอยู่ที่วิญญาณ เป็นต้น ระบุออกไปว่า ไอ้ความยึดมั่นด้วยอุปาทานว่าตัวตนนั้น มันจะระดมไปที่วิญญาณมากกว่าขันธ์อื่น คนที่ยึดมั่นว่าของตนนั้น มันจะระดมไปที่เวทนา หรือสัญญา หรือรูป มากกว่า มันแล้วแต่ความโง่ของคนจะเป็นไปในรูปไหน แต่ว่าตามปรกติแล้ว คนจะไปยึดสิ่งที่เรียกว่าจิตที่คิดนึกได้นั่นแหละว่าตัวตน แล้วอะไรๆ ที่เข้ามาแวดล้อมจิตนั้น จะถูกยึดถือว่าเป็นของตน หรือเนื่องด้วยตน ความยึดถือมันมี ๒ อย่าง ยึดถือโดยความเป็นอัตตา เรียกว่าเป็นตัวตน ยึดถือโดยความเป็นอัตนียา เป็นของที่เนื่องกันอยู่กับตน คือของตนนั่นเอง ทีนี้ การยึดถือมันเป็นไปในขันธ์ทั้ง ๕ มันก็ย่อมต่างกันบ้าง ว่าขันธ์ไหนเหมาะที่จะยึดถือโดยความเป็นตัวตน ขันธ์ไหนเหมาะที่จะยึดถือโดยความเป็นของๆ ตน อย่างความรู้สึกเป็นสุขอย่างนี้ ก็รู้สึกได้มาก มันดึงดูดมาก มันยั่วยวนมาก ให้เป็นอดีตแล้ว บางทีก็ไปนึกถึง มันยังยึดถืออยู่ บางทียังนึกห่วงไว้ถึงอนาคต เวทนาอย่างนั้นจะมาอีก ก็เรียกว่า ยึดถือได้แม้ทั้งอดีต ทั้งอนาคต อย่างที่จำแนกไว้หลายอย่างในบทสวดเกี่ยวกับขันธ์ อะตีตานาคะ ตะปัจจุปปันนัง อัชฌัตตัง วา พะหิตธา วา โอฬาริกัง วา สุขุมัง วา ทีนัง วา ปะณีตัง วา ยัง ทูเร วา สันติเก วา อะไรก็ตาม มันเอามายึดได้ ถ้าไม่ยึดก็เป็นขันธ์เฉยๆ ถ้ายึดก็เป็นอุปาทานขันธ์ สิ่งเดียวกันนั้นแหละ ถ้ายึดจะมีคำต่อท้ายว่า สาสวา อุปาทานิยา ต่อท้ายเข้าไป ประกอบไปด้วย อาสวะ อุปาทานยึดถือ หรือ อุปาทานิยา เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เป็นไปก็ด้วยอุปาทาน ลองไปศึกษาเรื่องรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ว่ามีรายละเอียดอย่างไร แล้วถ้ามันมีอวิชชาเข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการสัมผัสแล้วก็จะไปยึดถือ ยึดถือแล้วก็ว่าเป็นอุปาทานขันธ์ไป ทีนี้ คำศัพท์ที่ว่า รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ มันมีความหมายกว้าง คือ มันกินความหมายกว้าง ไม่ใช่เพียงเหมือนกับว่า เหลือบดูไปเถอะ เป็นอย่างนี้ นี่มันพูดด้วยปาก มันนิดเดียว คำว่าอย่างนี้ มันก็หมายความว่า เป็นชนิดไหน ชนิดที่เป็นขันธ์ล้วนๆ หรือว่าชนิดที่เป็นอุปาทานขันธ์แล้ว ถ้าเป็นเพียงขันธ์ล้วนๆ เราก็จะดูเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความหมายแบบหนึ่ง เช่น ความทุกข์นี้เป็นไปในแบบที่ว่าดูแล้วน่าระอาใจ แต่มันไม่ทำความทรมาน มันไม่เจ็บปวด อนิจจังเห็นความเปลี่ยนของขันธ์ ทุกขังเห็นความที่มันน่าเกลียดน่าชัง น่าระอาใจ อนัตตาเห็นความที่ไม่มีตัวตนตรงไหน อย่างนี้ได้ แต่ถ้ามันเกิดเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นแล้ว คำว่า อนิจจังก็รุนแรงกว่านั้น คำว่าทุกขังยิ่งรุนแรง จนถึงทรมานใจ แผดเผาใจให้เดือดร้อนทีเดียว นี่แหละ คำว่าทุกข์ มี ๒ ความหมาย มันต่างกันอยู่อย่างนี้ อนัตตายิ่งเห็นชัด ว่ามันเล่นงาน มันแล้วแต่อัตตา...ได้อย่างไร (นาทีที่ 36:43) คำว่าทุกข์ ในกรณีทั่วไป ที่พูดว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างนี้ หมายถึง น่าเกลียด ไม่ได้หมายถึงอาการที่ทนทรมาน เจ็บปวดอยู่ เพราะว่าสิ่งใด เมื่อเป็นสังขตธรรมแล้ว ก็ไม่เที่ยงแล้ว ก้อนดิน เม็ดทราย ก้อนหินนี้ มันก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไร ทุกข์ในความหมายที่ว่า พิจารณาดูแล้ว มันๆ น่าเกลียด ทุ ว่า น่าเกลียด อิกขะ หรือ อักขะ (นาทีที่ 37:23) ว่า เห็น เห็นแล้วก็น่าเกลียด หรือว่า ทุ ว่า น่าเกลียด ขัง ว่า ว่าง ว่างอย่างน่าเกลียด ทุกข์อย่างนั้นยังไม่ทรมาน แต่ถ้าไปยึดถือไอ้สิ่งเดียวกันนั้นเข้า ยึดถือเม็ดทราย ก้อนดิน ก้อนหินนี้... (นาทีที่ 37:38) เข้า โดยความเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นของเราขึ้นมา ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่อยากให้เป็นอย่างนี้ นี่อย่างนี้เป็นต้น ดังนี้ ไอ้คำว่า ทุกข์ ก็กลายเป็นทนยากขึ้นมา กลายเป็นทรมาน ทนยาก เจ็บปวดแล้ว ไอ้อย่างหลังนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ด้วยลูกศรที่อาบยาพิษ ความทุกข์อย่างหลังนี้ ถูกไปแล้วทรมาน เหมือนลูกศรที่อาบยาพิษ ไอ้ทุกข์อย่างแรก คือ แต่ว่าน่าเกลียดไปตามธรรมชาติ ดูแล้วน่าเกลียด มันก็เหมือนกับลูกศรเฉยๆ ที่ไม่ได้อาบยาพิษ เฉียดหนังขาดบาดทะลุไป มันก็เจ็บปวดเท่านั้น แต่ถ้ามันมีลูกศรอีกลูกหนึ่งมา คือ อาบยาพิษตามมาอีก อีกลูกหนึ่งมา มันก็ตายแล้ว คือ มันมียาพิษ แล้วมันทำให้ตาย นี่แหละ คำว่าทุกข์ที่ถูกยึดถือ กับทุกข์ที่ไม่ถูกยึดถือ เป็นอย่างนี้ คือ ขันธ์ที่ถูกยึดถือ กับ ขันธ์ที่ไม่ถูกยึดถือนี้ ต่างกันมาก กระทั่งวิบากของมัน เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อย่างนี้เป็นต้น ถ้าถูกยึดถือ มันก็มีโทษมาก มีพิษมาก มันเป็นอุปาทานขันธ์อย่างหนึ่งไปด้วยเหมือนกัน ความเกิด ความแก่ ความตาย ตามธรรมดา ก็ไม่ได้เป็นความทุกข์ที่ทรมานอย่างนั้น เป็นแต่เพียงว่า ดูแล้วมันน่าเกลียดเหลือเกินเท่านั้น ในบางกรณี คำว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นี่ เข้าใจกันว่า ไอ้เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามธรรมดาเป็นทุกข์ มันควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า มันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่ยึดถือเอาว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรานี่ ก็ยึดถือถึงขนาดว่า เราไม่อยากแก่ เราไม่อยากตาย เราไม่อยากเกิด หรือ อะไรก็ล้วนแต่เป็นของเรา ถ้าอย่างนี้จะเป็นทุกข์ แบบที่ว่าทุกข์ทรมาน ถ้าเอาอย่างที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท ปัจจยาการ ๑๒ นั้น จะเห็นได้ว่า นี่เล็งถึงทุกข์ที่เป็นทุกข์ทรมาน เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทได้ตั้งต้นขึ้นจากอวิชชา อวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะ นี่มันหมายถึงจิตที่รู้สึก เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งตามลำดับๆ จนเกิดความทุกข์ เพราะอุปาทานนั้นมันชัดอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ทีนี้ เราก็ดูว่ามันเป็นอะไร ดูว่าเป็นรูป นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา อย่างไร ในกระแสแห่งปปฏิจจสมุปบาทนั้น ถ้าตาเห็นรูปแล้ว ทำหน้าที่เกิดจักษุวิญญาณเป็นต้นแล้ว นี่แหละรูปขันธ์ ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับว่าออฟฟิศทำงานเปิดขึ้นแล้ว สำหรับจะปรุงแต่งต่อไป ก็เป็นรูปขันธ์ เกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา ก็นี่แหละเวทนาขันธ์แหละ มันก็มาจากอวิชชาตั้งแต่ทีแรก ก็เลยเป็นเวทนาที่มาจากสัมผัสด้วยอวิชชา เป็นเวทนาที่เป็นพิษแล้ว ก็เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชนิดที่เป็นพิษ เป็นทุกข์ ก็เหลืออยู่แต่ว่า เราต้องดูให้ดีว่า ในการที่อายตนะสัมผัสไปครั้งหนึ่ง ทีหนึ่ง ในวันหนึ่งๆ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้นี้ มันเป็นปฏิจจสมุปบาทหรือไม่ หรือจะพูดให้ชัดว่า มันเป็นปฏิจจสมุปบาทที่ตั้งต้นด้วยอวิชชาหรือไม่ ทีนี้ ส่วนมากมันไม่ได้เกี่ยวกับอวิชชา หรือไม่เป็นอวิชชาขนาดที่จะปรุงตัณหา อุปาทาน ถ้าอย่างนั้น เราก็ตายเลย เพราะตาเราก็ลืมอยู่ หูเราก็ดีอยู่ ได้ยินอยู่ จมูกก็ต้องได้กลิ่นอยู่ ถ้ามันเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทประเภทที่มีอวิชชาไปหมด นี่ก็ต้องทนทรมานเหลือ จนตายๆ ไปในไม่กี่วันแหละ เหลือที่จะทนได้ ทีนี้ มันมีชนิดที่เป็นขันธ์ล้วนๆ จะเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มันก็เป็นปฏิจจสมุปบาทอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตั้งต้นขึ้นด้วยอวิชชา ตั้งต้นขึ้นเพียง...(นาทีที่ 42:10) สักว่าการสัมพันธ์เนื่องกัน ปรุงแต่งกันระหว่างธาตุเหล่านั้น ทีนี้ ก็อยากจะเรียนให้ทราบเสียเลยว่า ไอ้ตัวสูตร หรือ บทสูตร บทที่เป็นหลักเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาทนั้น ได้มีอยู่ ๒ รูป รูปหนึ่งที่เราสวดกันมากที่สุด นั่นชัดเจนว่านั่นมีอวิชชา ประกอบด้วยอวิชชา แล้วก็เป็นทุกข์ ชนิดที่มีกิเลส มีตัณหา มีอุปาทาน ส่วนปฏิจจสมุปบาทอีกแบบหนึ่ง อีกรูปหนึ่ง ซึ่งก็มีอยู่มากเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเอามาพูด หรือเอามาสอน หรือเอามาเขียนไว้ในตำราเรียน ปฏิจจสมุปบาทรูปนั้น จะขึ้นมาด้วยคำว่า จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย ซึ่งรูปด้วย ย่อมเกิดจักษุวิญญาณ ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส สังคติแห่งธรรม ๓ ประการนี้ เรียกว่าผัสสะ ไอ้การที่มาพร้อมกันแห่งธรรม ๓ ประการนี้ เรียกว่า ผัสสะ ทีนี้ ผัสสะปัจจะยา เวทนา เมื่อผัสสะเป็นปัจจัย ยังมีเวทนา เมื่อเวทนาเป็นปัจจัย ยังเกิดตัณหา ข้อความต่อไปนี้เหมือนกันกับปฏิจจสมุปบาทนัยแรก จนถึงเกิดทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทนัยหลังนี้ ไม่ได้พูดถึงอวิชชา ถ้าเกิดทุกข์ก็รู้ได้โดยนัยว่ามีอวิชชา แต่ถ้าว่าในกรณีที่ไม่เกิดทุกข์ ก็ไปหายเสียแค่เวทนา แค่ไม่เกิดตัณหาอย่างนี้ นี่ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทได้ทั้งนั้นแหละ เพราะว่าคำว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ หมายความเพียงว่า เพราะอาศัยสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นๆ ถ้ามันเกิดขึ้นไปตามอำนาจของอวิชชา ก็ไปสู่ความทุกข์ ถ้าอาศัยเกิดขึ้นไปตามทางแห่งวิชชา หรือความรู้ มันก็ไม่เกิดทุกข์ แต่ก็ยังคงเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แล้วก็พิจารณาดูให้ดีๆ ว่าการที่ตากระทบกับรูปในครั้งนี้ มันจะเป็นไปในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทอย่างไร หรือว่ารูปนี้เกิดขึ้นแล้ว เป็นสักว่ารูปขันธ์ล้วนๆ หรือรูปนี้เกิดขึ้นแล้ว เป็นรูปูปาทานขันธ์ คือเป็นรูปที่มีอุปาทานยึดครองแล้ว อย่างนี้เป็นต้น นี่คือบทพิจารณาในสมาธิภาวนาตอนนี้ว่า อิติ รูปัง รูปเป็นอย่างนี้ อิติ เวทนา เวทนาเป็นอย่างนี้ เป็นต้น เพื่อรู้ว่าขันธ์แต่ละขันธ์ๆ นี้ เป็นขันธืล้วนๆ หรือว่าเป็นอุปาทานขันธ์นั่นเอง นี่พูดมันก็ง่าย เข้าใจก็ไม่ยาก แต่พอจะปฏิบัติให้มีสติรู้ทันนี่ ก็ต้องเรียกว่ายาก ต้องเรียกว่ายากเหลือประมาณ แล้วก็เบื่อ ขี้เกียจ ที่นั่งคอยกำหนดว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เป็นขันธ์ล้วนๆ หรือเป็นอุปาทานขันธ์อย่างนี้เป็นต้น ก็มันไม่น่าสนุก ไปทำอย่างอื่น ไปคุยกันเสีย ไปนอนเสีย ยังจะสนุกกว่าที่จะมานั่งดูว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ เป็นขันธ์ล้วนๆ หรือว่าเป็นอุปาทานขันธ์ เป็นต้น
ฉะนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสข้อนี้ไว้เป็นข้อสุดท้าย เรียกว่า เป็นไปด้วยความสิ้นแห่งอาสวะ เมื่อทำภาวนาอยู่อย่างนี้ มันจะค่อยๆ เป็นไปด้วยความสิ้นแห่งอาสวะ เพราะเหตุว่า การที่มีสติอยู่อย่างนี้ มันไม่ได้โอกาสแก่อวิชชา คือ อาสวะ ก็ขอให้นึกถึงอาสวะ ๓ ที่เป็นหลักที่เข้าใจง่าย และเป็นอยู่เป็นประจำ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ มันมีขึ้นอย่างไร เมื่อไร เมื่อไปรักสักทีหนึ่งด้วยกาม นี่ก็เพิ่มกามาสวะเข้าไว้ทีหนึ่ง เมื่อเป็นนั่นเป็นนี่ มันก็เป็นภวาสวะทีหนึ่ง เมื่อเผลอไป โง่ไป ก็เป็นอวิชชาสวะทีหนึ่ง อย่าให้เกิดโอกาสแก่การที่จะเพิ่มอาสวะ อาสวะมันก็ถดถอยกำลังพร้อมที่จะหมักดองอะไรให้บูดเน่าแรงขึ้นๆ ก็ต้องคอยเติมเชื้อ เติมเชื้อของสิ่งนั้น เชื้อที่จะบูดเน่านั้นแหละ ให้มันเติมให้ทุกวันๆๆ เพื่อให้ความเน่า บูดเน่าที่มากขึ้น อาสวะนี่ก็เหมือนกัน การบูดเน่านี้ ถ้ามันขาดการเติมเชื้อบูดเน่า มันก็จางไปได้ นี่อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งเรียกว่า อนุสัย หมายถึง สิ่งเดียวกัน แต่ว่าเล็งไปถึงหน้าที่คนละอย่าง อนุสัยที่แปลว่านอนตาม คือ ความเคยชินแห่งกิเลสชื่อนั้นๆ ถ้าเราเรียกกิเลส ก็หมายถึงปัจจุบัน คือ ความเศร้าหมองอย่างนั้นๆๆ เรียกว่า กิเลส แต่ถ้าเราเรียกว่า อนุสัย ก็หมายถึง ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นของกิเลสชื่อนั้น อย่างนี้ เรียกว่า อนุสัย ความเคยชินของกิเลสชื่อนั้น เขาจะเป็นอย่างนั้นให้ง่ายขึ้น ให้เร็วขึ้น ให้แรงขึ้น อย่างนี้ เรียกว่า อนุสัย ตรงนี้ผมต้องขออภัยว่าผมไม่อาจอธิบายเหมือนกับที่เขาสอน หรืออธิบายกันอยู่ว่า อนุสัย คือกิเลสอันละเอียด นอนนิ่งอยู่ในสันดาน เพราะกิเลสธรรมดา กับกิเลสที่โผล่ออกมาทางทวาร เป็น อาวัจนะ (นาทีที่ 48:48) หยาบกว่านั้นก็ออกมาเป็น กิริยาอาการ เป็นกิเลสหยาบ การฆ่า การลัก การขโมย เป็นต้น ผมพิจารณาดูแล้ว ไม่อาจจะเข้าใจอย่างนั้น ไม่อาจจะเข้าใจว่า อนุสัย คือ กิเลสอันละเอียด นอนนิ่งอยู่ในสันดาน ไม่อาจจะเข้าใจอย่างนั้น ที่ว่า แม้แต่อนุสัย พระพุททธเจ้าท่านตรัสว่า มันเพิ่งเกิด ก็เพิ่งเกิด อวิชชามันก็เพิ่งเกิด เมื่อได้โอกาส มันจะเป็นกิเลสละเอียดนอนนิ่งอยู่ในสันดานไม่ได้ มันกลายเป็น สัสสตทิฐิ ที่ว่าจะมีอะไรนอนนิ่งอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีเกิด ไม่มีดับนี้ เป็นไปไม่ได้ พิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า อนุสัย นั้น ก็คือ กิเลส ในลักษณะที่เป็นความเคยชินของมัน ก็มีพระบาลีรับรองอยู่ว่า เพราะเสวยสุขเวทนา เกิดราคะ เกิดโลภะในทีหนึ่ง ก็เพิ่มราคานุสัยไปอีกทีหนึ่ง ถ้าไปเกิดทุกขเวทนา ขัดอกขัดใจ โกรธ เกลียดอะไรขึ้นมานี้ เป็นโทสะกิเลสนี้แล้วก็ มันจะเพิ่มปฏิฆานุสัยขึ้นตัวหนึ่ง อีกกำลังหนึ่ง แรงขึ้น ชินแรงขึ้น ทีนี้ นี่ถ้าเป็นอทุกขมสุขเวทนา ก็จะเพิ่มอวิชชานุสัย อวิชชานุสัยย่อมนอนตาม หรือ ย่อมเกิดเป็นความเคยชินขึ้นในสันดานนั้น เข้าใจได้ง่ายที่สุด ถ้าเรารักทีหนึ่ง ก็เพิ่มไอ้ราคานุสัยให้แก่กล้าขึ้นทีหนึ่ง ถ้าเราโกรธทีหนึ่ง ก็เพิ่มปฏิฆานุสัยให้มันแก่กล้า ถ้าเราโง่ หรือกลัว หรืออะไร วิตกกังวลอีกทีหนึ่ง ก็เพิ่มอวิชชานุสัย นี่ตั้งแต่เกิดจนตายนี่ มันก็มี ราคะ โทสะ โมหะ นับไม่ไหว มันก็เพิ่มไอ้อนุสัย สะสมอนุสัยมากขึ้น แน่นแฟ้นเป็นนิสัย มันจึงไวๆ เป็นยิ่งกว่าฟ้าแลบ ไวกว่าสายฟ้า ที่จะกำหนัด หรือโลภ เมื่ออารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด หรือโลภ เข้ามา ที่จะโกรธ หรือประทุษร้าย ในเมื่ออารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ เข้ามา ที่จะหลง ในเมื่ออารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เข้ามา นี่ก็ต้องเป็นสิ่งที่จะต้องดูว่า นี่ๆ คืออะไร ยังไง เพราะว่าขึ้นชื่อว่ากิเลส หรืออนุสัยก็ตามนี้ ถ้ามันจัดไว้ในฐานะที่เป็นสังขารธรรมชนิดหนึ่งด้วย ถ้ากิเลสเกิดขึ้นในรูปใดก็ตาม ก็เรียกว่า อิติ สังขารา นี่ สังขารหละ คือ สังขารธรรมชนิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นกิเลส ก็อยู่ในสมาธิภาวนาข้อนี้ด้วยเหมือนกัน ทีนี้ กิเลสเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ แล้วต่อมาก็ดับไปด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อผู้ทำสมณธรรม อยู่ในป่า ในที่สงบเงียบ เพื่อที่จะทำสมณธรรม สมณภาวนานี่ คล้ายๆ ว่า นั่งดูอยู่แต่อย่างนี้ เดี๋ยวอะไรเป็นอย่างไร เดี๋ยวอะไรเกิดขึ้นมา เดี๋ยวอะไรดับไป แล้วก็วนอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ในบางขณะก็เป็นขันธ์เฉยๆ บางขณะก็เป็นอุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้น ก็จะวนอยู่ใน ๑๕ อย่างนี้ แล้วก็เป็น ๓๐ อย่าง ด้วยเหตุที่ว่า เป็นขันธ์เฉยๆ ชุดหนึ่ง เป็นอุปาทานขันธ์ชุดหนึ่ง สำหรับเป็นบทเรียน แบบฝึกหัด ให้นักเรียนทำอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปสู่ที่สงัด ก็ยิ่งทำได้ละเอียดละออถี่ถ้วนดี ถ้าอยู่กันอย่างชุลมุนวุ่นวายคลุกคลีกัน ก็ทำได้ยากเหมือนกัน เพราะตา หู จมูก มันไปเสียทางอื่น จะไปอยู่ในที่สงัดมันก็กำหนดได้ง่าย นี้เป็นรูป นี้เป็นรูปสมุทัย นี้เป็นรูปอัสดง รูปขันทะมะ (นาทีที่ 53:34) ทุกๆ ขันธ์ไปได้ แล้วแต่อะไรมันจะเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ว่าไปนั่งท่องอยู่ ท่องบาลีนี้อยู่ แต่เฝ้าดูอยู่ว่า อะไรได้เกิดขึ้น อะไรได้เปลี่ยนไป อะไรได้ดับลง อะไรมีลักษณะอย่างไร เมื่อทำอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสี (อุทยะ วยะ อนุปัสสี) มีปรกติ ตามเห็นอยู่ซึ่งความตั้งขึ้น และความเสื่อมไป อยู่เป็นประจำ เมื่อทำสมาธิภาวนานี้อยู่ จักเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ เพราะมันเป็นการตัดทางเพิ่มของอาสวะ ตัดทางเพิ่มของอนุสัย มันก็เป็นไปโดยสิ้นอาสวะ เหมือนกับไม่เติมเชื้อบูดเบี้ยวลงไปอีก ไอ้สิ่งนั้นก็จะจืดจางไปในไม่กี่วัน ถ้าเราไปเติมเชื้อลงไปอีก มันก็ไม่รู้จักจืดจาง นี่เป็นใจความสั้นๆ ทีสุดของสมาธิภาวนา ชนิดที่ ๔ ถ้าทำแล้วเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ขอให้เหลือบตาเปรียบเทียบดูว่า อันแรกเป็นไปเพื่อความสุข ในทิฏฐธรรม(นาทีที่ 55:00) นี้
อันที่ ๒ สมาธิภาวนาที่ ๒ นี้ เพื่อ ญาณทัศนะ คือ การเห็นที่พิเศษไปกว่าที่คนธรรมดาจะเห็น มีลักษณะเหมือนกับตาทิพย์ ทิวาสัญญา อาโลกสัญญา ทำให้เห็นในสิ่งที่เห็นด้วยตาธรรมดาไม่ได้
อันที่ ๓ ทำให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ถึงขีดสุด ไม่มีบกพร่องเลย
อันที่ ๔ นี้ก็เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ
ตัวสมาธิ หรือว่าระบบของสมาธินั้นก็ต่างกัน อันหนึ่ง ทำฌาณ ๔ ให้เกิดขึ้น อันหนึ่ง ทำทิวาสัญญา อโลกสัญญาให้เกิดขึ้น อันหนึ่ง คอยควบคุมการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแห่งเวทนา สัญญา และวิตก นี่อีกอันหนึ่ง คอยเห็นชัดอยู่ซึ่งเบญจขันธ์ที่จะก่อตัวขึ้นมาเป็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง จนกระทั่งดับไป ไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ พอมันเป็นอย่างนี้ๆ คือ เป็นขันธ์ล้วนๆ หรือว่าเป็นขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานแล้ว แล้วกำลังเป็นทุกข์อยู่
ที่ขอร้องว่า อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ทำความเข้าใจ แล้วไปทำความเข้าใจ แก่ทายก ทายิการทั้งหลาย ก็เพราะว่า ความทุกข์นั้นมิได้เกิดจากสิ่งอื่นเลย ความทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นจากอุปาทานขันธ์เท่านั้น เพราะมันไม่เที่ยง ก็ไม่เที่ยงไปสิ มันเมื่อไม่เอามายึดถือ มันจะเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง นี่เราเห็นไม่เที่ยง แต่ไม่ได้เอามายึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ กลัวว่าจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่เอามายึดถือ ก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสให้เป็นหลักตายตัวลงไปว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ถ้ากล่าวโดยสังเขปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ มันก็เท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ประกอบด้วยอุปาทาน มันก็เป็นไอ้อย่างที่เรียกว่าน่าเกลียดไปเท่านั้น แม้แต่ความเจ็บปวดนี้ ถ้าเราไม่ยึดถือเป็นความเจ็บปวดของเรา มันก็ไม่ทุกข์ แต่เราบังคับใจไม่ได้ มันก็ยึดถือเสียว่า เจ็บนี้ของเรา เช่น ใครเอามีดมาเชือดเรานี้ คนธรรมดาก็ยังรู้สึกในทำนองว่า โอ้ย มันเป็นศัตรูของเรา มันเชือดเรา เราเจ็บ ยึดถือไอ้เนื้อหนังของเรา ยึดถือเป็นความเจ็บของเรา เราก็มีความทุกข์ชนิดที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ แต่ถ้าแยกออกจากกันเสียได้ มันก็ไม่ทุกข์ หรือว่าถ้าเขาทำให้มันแยกออกจากกันได้โดยวิชาทางวัตถุ เช่น เขาทำให้มันชาเสีย เช่น ฉีดยาให้มันชาเสีย ใครจะเอามีดเชือดเรา มันก็ไม่รู้สึกเจ็บ มันก็ไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่โกรธ มันเป็นความรู้สึกเกิดขึ้น จนกระทั่งเป็นอุปาทาน ยึดมั่นเป็นตัวเราผู้ถูกกระทำ หรือว่า ของเราถูกกระทำ แล้วมันจะเกิดแก่เรา มันล้วนแต่เราทั้งนั้นแหละ แก่เรา เพื่อเรา ในเรา โดยเรา อะไรก็ตาม มันก็เลยเป็นทุกข์ ขอให้เอ็นดูสงสารทายก ทายิกาทั้งหลาย ที่ไม่อาจจะเล่าเรียนอะไรได้มาก แต่ให้รู้ข้อนี้เถิด ข้อว่าอย่าไปยึดเข้าว่าเรา ว่าของเรานี้ ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ อยู่เรื่อย พอยึด มันก็เป็นอุปาทานขันธ์อยู่เรื่อย เป็นทุกข์อยู่เรื่อย เช่น วัวควายอยู่กลางนา เราก็ไม่มีเรื่องอะไร พอยึดว่าของเรา ก็มาอยู่บนหัวเรา มันหนักอยู่บนหัวเรา มันก็ทุกข์ มันทุกข์ เราก็ทุกข์ ควายวัวมาอยู่บนหัวเรา มันก็เป็นทุกข์ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ว่าพุทธบริษัททั้งหลายจะปลดเปลื้องความทุกข์ออกไปเสียได้ ก็โดยศึกษาในข้อที่จะไม่ยึดถือด้วยอุปาทาน ด้วยความเป็นเรา หรือเป็นของเรานั่นเอง
ฉะนั้น ขอให้เข้าใจว่า สมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ นี้ มีประโยชน์ที่สุด มีความจำเป็นที่สุดที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติ ขอให้ช่วยกันพยายามเผยแผ่สมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ นี้ เป็นอย่างยิ่ง ก็ได้ชื่อว่าช่วยกันทำหน้าที่ของพระสาวกของสมเด็จพระบรมศาสดาโดยด่วน โดยเร็ว โดยลึกซึ้ง สมแก่ฐานะทุกประการ
สมาธิภาวนาประเภทที่ ๔ มีใจความโดยสังเขปอย่างนี้
เวลาก็หมดแล้ว ผมขอยุติคำบรรยายถวายความรู้ในวันนี้ เพียงเท่านี้