แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้เป็นวันที่ ๔ ของการบรรยาย ซึ่งผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า คำบัญญัติเฉพาะและการใช้คำนั้นๆในวิชาธรรมะ ขอให้ทบทวนไปถึงคำว่าวิชาธรรมะ ซึ่งได้พยายามชี้ให้เห็นมาตามลำดับว่าสำคัญกว่าวิชาชีพอย่างไร สรุปเป็นใจความให้เห็นชัดอยู่เสมอในความสำคัญของวิชาธรรมะนั้น ที่ว่าถ้าเปรียบก็เหมือนกับว่าชีวิต เหมือนกับรถหรือเกวียนนะซึ่งลากไปด้วยวัวหรือควายหรือม้า ๒ ตัว ไอ้ตัวที่สำคัญนั้นคือตัวที่มีความรู้ ตัวหนึ่งเป็นตัวแรง ความรู้ในที่นี้ก็สรุปความว่า ทำให้เกิดชัยชนะในทุกกรณีที่เรามีชีวิตอยู่ คนเข้าใจผิดกันอยู่มากๆ เกี่ยวกับคำพูด และก็ป้ายร้ายป้ายสีไปยังสิ่งที่ตัวเข้าใจผิด ที่พูดกันผิดอยู่มากในบ้านเราก็ เช่นคำว่า ธรรมะทำให้ต้องหนีไปจากโลก ไปหาที่อยู่ที่อื่นหรือแม้แต่คำว่า โลกุตระ ที่อยู่เหนือโลกนี่ เขาว่าคนมันแพ้แก่โลกแล้วก็หนีจากโลก มันก็ไปหา โลกุตระ อย่างนี้มันว่าเอาเอง เข้าใจคำ คำในวิชาธรรมะ นะผิดๆ ก็ถึงอยากจะพูดกันเสียให้เป็นที่เข้าใจบ้างตามสมควร ด้วยเรื่องคำบางคำที่มีความสำคัญ เช่นคำนี้เป็นต้นว่า ธรรมะ นี้ไม่ใช่สำหรับให้คนหนีโลก มันตรงกันข้าม ทำให้คนสามารถที่จะอยู่ในโลกอย่างที่เรียกว่ามีชัยชนะ กล้า กล้าท้าทายทุกสิ่ง วิชาธรรมะช่วยให้เกิดชัยชนะในทุกสิ่ง กล้าท้าทายทุกสิ่งที่จะอยู่ในโลกอย่างมีชัยชนะ กิริยาอาการอย่างนี้เรียกว่าเหนือโลก หรือ โลกุตระ คนบางคนเขาเข้าใจผิดเขาก็กลัวธรรมะ บางคนกล่าวหาผิดๆ มากเลยเถิดไปกันอีกว่าจะไปสอนเขาให้หนีโลก ให้ทิ้งลูกทิ้งหลานที่หน้าตาน่ารักออกไปเสียจากเด็กๆ เหล่านี้ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้มันเป็นความเข้าใจผิดเองแล้วว่าเอาเอง ถ้ายิ่งมีคนหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ธรรมะก็จะช่วยให้คนมีชัยชนะเผื่อคนเหล่านั้นด้วย เผื่อลูกเผื่อหลานเผื่ออะไรด้วย ไม่ใช่ว่าพ่ายแพ้แล้วก็หนีไป ทิ้งลูกทิ้งเมีย มันคนโง่พูดเอาเอง เพราะนั้นขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่าธรรมะเพื่อจะอยู่ในโลกโดยชนะในทุกกรณี มิได้หมายความว่าเฉพาะฆราวาสหรือเฉพาะบรรพชิต บรรพชิตก็ต้องชนะโลก ฆราวาสก็ต้องอยู่ในโลกด้วยชัยชนะต่อโลก ไอ้ส่วนที่จะเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิตนี่มันแล้วแต่ใจชอบ จะต่างกันอยู่บ้างก็แต่ว่าบรรพชิตนี่มันไปได้เร็ว มันเตรียมตัวสำหรับที่จะชนะได้เร็วๆ หรือมันเลือกเอาชนะเร็วๆ โดยความสะดวกในเพศของบรรพชิต
ขอสรุปความว่าธรรมะ วิชาธรรมะ หรืออะไรก็ตามนี้เพื่ออยู่ในโลกด้วยความชนะในทุกกรณี สามารถที่ว่าจะมีแต่ชัยชนะ นี่พูดแล้วก็ไม่น่าเชื่อ ไม่มีพ่ายแพ้ ขอให้มีธรรมะจริง เราเคยพูดข้อนี้โดยสรุปความไว้สั้นๆ ขอให้จำไปคิดตลอดกาลนานด้วย ว่าดูให้ดีก็มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ดูให้ดีหรือทำให้ดีก็มีแต่ได้ ไม่มีเสีย นั่นนะคือชนะทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นมันมีแต่ได้ ไม่มีเสีย ถ้าทำไม่เป็นแล้วไอ้ที่ได้ก็จะกลายเป็นเสียไปหมด ดูไม่ดี ทำไม่ดี แม้แต่ที่เรียกกันว่าได้ๆ นั้นก็กลายเป็นเสียไปหมด คนโง่ได้อะไรมาก็เพื่อจะให้ตนมันเลวลง ก็ยึดมั่นถือมั่นมาก มีความทุกข์ มีความเห็นแก่ตัวจัด มากไปกว่าเดิมเสียอีก นี่ได้มาเพื่อเสีย แม้แต่ได้มามันยังเป็นไปเพื่อเสีย ถ้าเสียเขาก็นั่งร้องไห้อยู่ แล้วคนมีธรรมะแล้วก็มันไม่มีเสีย ถ้าสมมติว่าได้อะไรมา ได้เงิน ได้เกียรติอะไรมา มันก็ไม่ทำให้เขาโง่หรือประมาท หรือหลงไปในทางเห็นแก่ตัว แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็ไม่ได้หลงใหลไม่ได้ยึดถือ อันลาภ สักการะ เกียรติยศอะไรมันก็ทำอันตรายเขาไม่ได้ ทีแรกสมมติว่าเขาเสียไป เสียเงิน เสียเกียรติ เสียอะไรไปโดยที่ว่ามันจะเป็นไปโดยบังเอิญ หรือโดยกลั่นแกล้ง หรือว่าโดยธรรมชาติแท้ๆ ก็ตาม เขาก็ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ร้องไห้ กลับใช้เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ความจริง มันกลายเป็นการศึกษาไป แม้ว่าเขาจะสูญเสียบุตรภรรยา สามี ก็กลายเป็นการศึกษา เป็นวิชาความรู้ช่วยให้เห็นแจ้งใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บรรลุมรรคผลได้เร็วไว นี่มันไม่เสียอย่างนี้ แม้ว่าเขาจะต้องตายโดยธรรมชาติ เขาก็รู้เรื่องของธรรมชาติไป ความเจ็บ ความไข้ ความตาย มาสอนให้เขาฉลาดไปเสียหมดทุกอย่าง ไม่ใช่ให้มานั่งเป็นทุกข์ หรือว่าตายแล้วก็ร้องไห้กันใหญ่เพราะความโง่ ถึงกับอยากจะร้องไห้โดยไม่ต้องร้องไห้ก็มี
ที่ว่า ดูให้ดีก็จะมีแต่ได้ไม่มีเสีย นั้นมันมีความหมายอย่างนี้ เพราะนั้นใครทำเป็นใช้ถูกก็จะได้มีประโยชน์ ความเจ็บความไข้ยิ่งมีประโยชน์ถ้าต้อนรับเป็น นี่ก็เรียกว่า รู้ ดูให้ดี มีแต่ได้ไม่มีเสียนะ ใช้ทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ มาอยู่ที่สวนโมกข์ มาหัดใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ผมว่าดีที่สุด แต่คุณจะทำได้หรือไม่นี้มันก็อีกเรื่องหนึ่ง เขาใช้อุจจาระปัสสาวะให้เป็นประโยชน์ได้ถ้าเขาฉลาด เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้แยกออกเป็นปุ๋ยอินทรียวัตถุ ขายได้แพง อุจจาระปัสสาวะมันยังทำให้ใช้เป็นประโยชน์ได้ กิเลสก็เหมือนกันนะ ถ้ารู้จักใช้มันก็ใช้กลายไปเป็นประโยชน์ได้ เมื่อไม่รู้จักใช้มันก็เป็นกิเลสหนักขึ้นๆ ถ้าใช้ถูกวิธีมันก็จะเป็นเหมือนกับว่าเราใช้อุจจาระปัสสาวะให้เป็นประโยชน์ โดยอาจจะพูดได้เลยว่ากิเลสก็เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง มันใช้ไปผิดจะทำยังไงได้ ที่ว่าถ้าว่าหลักเปลี่ยนให้ถูก ใช้ให้ถูกในลักษณะที่ว่ามันเป็น sublimate มันไม่เชิงเปลี่ยนตัวมัน มันก็เหมือนกับเปลี่ยน มันก็เป็นประโยชน์ได้ เพราะมันเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง สิ่งที่มีกำลังมีอำนาจให้มันจัดเสียใหม่ให้มันถูกทาง เหมือนกับช้างที่บ้าตกมันอย่างนี้เขาว่ายิ่งมีแรงมากก็เลยไปใช้ให้มันทำงานให้ถูกวิธี บังคับมันได้แล้วกลายเป็นได้ประโยชน์มากไปเสียอีก กิเลสนี้ก็เหมือนกันถ้า sublimate ได้ถูกวิธีก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ไป นี่เพราะเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่รู้จักใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์เราก็อาจจะไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้ คือ กิเลสมันจะเป็นนายครอบงำเราจนเราไม่มีที่อยู่ในโลกนี้ ที่เราจะเล่นไอ้ลูกไม้นี่ ขออภัยพูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ เพื่อประหยัดเวลานี่ว่า ตีกลับไปเลย ให้มันเป็นการที่มันมาสอนให้เราฉลาดทุกที กิเลสเกิดขึ้นทีไรให้มันมาสอนให้เราฉลาดทุกที รู้จักเข็ด รู้จักหลาบ รู้จักจำ รู้จักสำนึกบาป ก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่การศึกษาเพราะว่าธรรมะจริงนั้นเรียนไม่ได้จากหนังสือ เรียนไม่ได้จากคำพูดเช่น ที่ผมกำลังพูดอยู่ ธรรมะจริงต้องเรียนจากตัวจริงเสมอ ถ้าเรื่องกิเลสก็ต้องเรียนจากกิเลส มันต้องมีกิเลสมาให้เรียน ถึงแม้มันจะเจ็บปวด ก็กลาย ทำความเจ็บปวดให้กลายเป็นการศึกษา นี่เรียนจากกิเลส อย่างนี้จะรู้ธรรมะจริง จะได้ผลจากการเรียนธรรมะจริงๆ เราควรจะรู้จักใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ ใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ได้เท่าไร เมื่อไร ก็จะเป็นผู้ใกล้ต่อนิพพานหรือรู้จักนิพพานเมื่อนั้นและที่นั้น กล้าพูดอย่างนี้ เดี๋ยวนี้คนมันโง่กว่ากิเลส ถูกกิเลสใช้คนอยู่เสมอ แม้เป็นพระเป็นเณรมันก็ถูกกิเลสขี่คออยู่ ยิ่งเรียนยิ่งอวดดี ยิ่งจองหอง ยิ่งบันดาลโทสะเก่ง อย่างนี้ กิเลสมันก็ใช้คนอยู่เรื่อย ใช้ไม่เป็น ที่ว่าคนรู้จักใช้กิเลสเมื่อไรมันก็จะเป็นนิพพาน เป็นใกล้นิพพานหรืออย่างน้อยก็เป็นนิพพานชั่วคราวขึ้นมาเมื่อนั้น นิพพานชั่วคราวนี้อาจจะขยายกว้างออกไป กว้างออกไปจนเป็นนิพพานแท้จริงก็ได้ จึงอยากจะพูดฝากไว้ในความจำว่าระหว่างที่อยู่ที่สวนโมกข์นี่ศึกษาเรื่องใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ก็จะดี
แล้ววันนี้ก็เป็นวันสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของแบบเก่า บางประเทศก็ยังใช้วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่ก็มี เรานึกถึงคำว่าสงกรานต์แล้วก็ควรจะไปรับประโยชน์บ้าง เป็นวัฒนธรรมไทยอยู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เกี่ยวกับการจัดให้วันสงกรานต์นี้ให้มันเข้ากับความหมายของคำว่า สงกรานต์ ตัวหนังสือแปลว่า ก้าวไปพร้อมหรือหมด คือก้าวไปข้างหน้า ไอ้ กรานตะ นั้นแปลว่า ก้าวไป ไอ้ สง นั้นแปลว่า พร้อมหรือหมด วันสงกรานต์ก็คือว่า ก้าวไปทั้งหมด แต่เขาหมายถึงเวลาที่เขาสมมติขึ้นเป็นหนึ่งปี มันภาษาวัตถุ ภาษาธรรมดา ภาษาคน ลองเปลี่ยนให้เป็นภาษาธรรม ภาษาจิต ภาษาวิญญาณ มันก็ก้าวไปในทางวิญญาณ ก้าวใหญ่ คือผมก็ว่าไม่มีอะไรดีกว่าก้าวโดยวิชาธรรมะ รู้จักใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์กันเสียบ้าง นี่ก็จะเป็นสงกรานต์ที่ดี เป็นก้าว ก้าวใหญ่เลย ก้าวไปข้างหน้า ทิ้งไอ้ขั้นข้างหลังๆ ที่มันเก่าแก่เต็มที งมงายโง่เต็มทีเสีย ก้าวไป ก้าวไปข้างหน้า มันฉลาด นี่ความหมายของคำว่าสงกรานต์ วันนี้ก็เป็นวันสงกรานต์ สมมติว่าเป็นวันสงกรานต์ ให้มันมีความหมายตามนั้น มัวแต่ไม่สงกรานต์ มัวแต่ไม่สงกรานต์ไม่รู้จักสงกรานต์ ช่างไม่รู้จักสงกรานต์กันเสียเลย นี่ก็เป็นคนโง่ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าประมาท มัวประมาทอยู่ ไม่รู้จักก้าวหน้า จะถือเอาคำว่าสงกรานต์หรือคำอะไรก็ได้ ก้าวหน้าหรือเพื่อเลื่อนชั้นมันก็มีประโยชน์ แล้วก็สมมติบัญญัติให้เยอะแยะ วันนั้นที วันนั้นเป็น วันเปลี่ยนปีใหม่ เป็นตรุษ เป็นสงกรานต์กัน แล้วแต่จะบัญญัติกัน เราถือโอกาสทุกคราวไปที่จะก้าวหน้า นี่คือข้อที่แสดงให้เห็นว่าคำพูดนะมันมีความหมายมากกว่าที่เรารู้กันอยู่ เราพูดเป็นมาแต่เกิด บางคำ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันว่าอะไร เพราะนั้นขอให้รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า คำพูด นี่ ถูกต้อง ให้มันลึกซึ้ง ยิ่งขึ้นถึงที่สุด
ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะพูด เรื่องคำบัญญัติเฉพาะในวิชาธรรมะ นี้ บางคนอาจจะคิดว่าไม่มีสาระก็ได้ แต่ขอให้ฟังดูก่อน ไอ้การที่เราจะมาพูดกันถึงเรื่องคำพูด เกี่ยวกับคำพูด ถ้าเป็นคำใช้กันอยู่แล้วทั่วๆ ไป เราก็เรียกคำพูดทั่วไป คำพูดธรรมดา ถ้าคำพูดตั้งขึ้นใหม่ โดยเอาคำพูดเก่าเอามาใช้ให้มีความหมายพิเศษหรือเฉพาะ อย่างนี้เราเรียกกันว่า คำบัญญัติเฉพาะ ก็คุ้นเคยกันอยู่กับพวกคุณดีแล้วนะ Technical term นี่ชินหูกันทั่วๆ ไป คำบัญญัติเฉพาะเรื่องเฉพาะวิชา แต่กลัวว่ามันจะไม่เข้าถึงความหมายของคำนั้นๆ แม้แต่เรื่องทางวัตถุก็ยังต้องเรียนกันมาก ทีนี้เรื่องทางธรรมะแล้วจะยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งไม่รู้ความหมายของคำบัญญัติเฉพาะในทางฝ่ายธรรมะ จะรู้กันแต่ฝ่ายเรื่องโลกๆ เรื่องวัตถุที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียนโดยเฉพาะไอ้คำทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เดี๋ยวนี้เราจะต้องรู้แล้วสำหรับฝ่ายวิชาธรรมะ ว่ามีคำบัญญัติเฉพาะอย่างไร มีความหมายอย่างไร จะใช้กันเมื่อไร แม้ว่าจะพูดถึงคำบัญญัติเฉพาะ เราก็ต้องพูดถึงที่มาของคำทั่วไปกันเสียก่อน ภาษาพูดทั่วๆ ไปมันเกิดขึ้นในโลกอย่างไร แล้วก็ชักชวนทีเดียวกระโดดทีเดียว ถอยหลังไปตั้งแสนปีก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะเชื่อหรือสมมติกันว่ามนุษย์นี่มันเกิดขึ้นมาในโลกเมื่อไร สมมติประมาณสองแสนปี ก็คือเมื่อสองแสนปี ไอ้คำพูดได้เกิดขึ้นในโลก ก่อนนี้ก็ไม่มีคำพูด นี่มีความสำคัญมากตรงที่ว่าไอ้คำพูดหรือการพูดได้นั่นแหละ คือสร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ไอ้นก ไอ้หนู กระทั่งลิงค่างนั่นแหละ มันก็ออกเสียงได้ แต่มันไม่ใช่คำพูด แล้วคำพูดต้องหมายถึงคำที่มีความหมายเฉพาะ แล้วก็ทำเสียงได้เฉพาะเป็นคำๆ ไป เมื่อไรสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าลิงหรือคนนี้มันเกิดมีการกระทำเสียงที่มีความหมาย จนรู้กันเฉพาะๆ มากขึ้นพอสมควรแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่ามนุษย์เกิดแล้ว ถ้าไม่มีคำพูดอย่างนี้มันก็ไม่สามารถจะก้าวหน้าอะไรได้เลย ยังเหมือนกับลิง เพราะมันไม่สามารถจะถ่ายทอดความรู้สึกที่เป็นรากเหง้าของความฉลาดให้แก่กันและกันได้ เมื่อคนหนึ่งรู้อะไรแล้วก็ไม่สามารถจะให้คนหนึ่งรับช่วงรู้ไปเป็นทอดๆ ได้ถ้าไม่มีคำพูด มันก็เลยตายด้านกันอยู่เพียงนั้น ก็เกิดพูดได้ แม้จะเป็นคำพูดสักไม่กี่ร้อยคำนี่มันก็เริ่มการถ่ายทอด มนุษย์ก็มีความเป็นมนุษย์เพราะมีคำพูดที่มีความหมาย แล้วต่อมามันถ่ายทอดด้วยการจารึก มันก็ยิ่งเร็วใหญ่ มนุษย์เลยวิ่งเหมือนกับเหาะไปในความก้าวหน้า ส่วนสัตว์เช่น ลิง เป็นต้น ที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ แต่มันก็หยุดชะงักอยู่ที่นั่นเพราะมันพูดไม่ได้ มันถ่ายทอดกันไม่ได้ เพียงแต่ทำเสียงให้รู้นิดๆ หน่อยๆ ระหว่างกันและกันนี้มันก็ไม่ถ่ายทอดวิชาความรู้ได้ ก็เลยไม่เจริญ ชะงักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ส่วนมนุษย์นี้เพราะมีคำพูดจะโดยเหตุบันดาลอย่างไรก็สุดแท้ มันเกิดคำพูด ทำเสียงอย่างนั้นหมายความอย่างนั้น ทำเสียงอย่างนั้นหมายความอย่างนั้น จนกระทั่งมีครบหมด จะกิน จะยืน จะเดิน จะนอน ก็มีเสียงเรียกอิริยาบถเหล่านั้นและเรียกวัตถุสิ่งของ กระทั่งสามารถทำสิ่งที่วิเศษหรือพิเศษหรือสำคัญที่สุดได้อย่างหนึ่ง คือระบายความรู้สึกในใจออกมาได้เป็นคำพูด ก่อนนี้มันก็ต้องระบายในทางสีหน้าหรือกิริยาท่าทาง แสดงความรู้สึกในใจ ได้เพียงเท่านั้น เดี๋ยวนี้ระบายออกมาเป็นคำพูด เขียนเป็นหน้า หน้ากระดาษกันเลย หรือแม้ก่อนจะมีการเขียนก็เถอะ มันก็มีการระบายความรู้สึกออกมาทางคำพูด มันก็เป็นการก้าวหน้าทันที ถ่ายความรู้สึก ถ่ายวิชาความรู้ เพราะนั้นขอให้เข้าใจว่าคำพูดนะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องจุดตั้งต้นของมนุษย์ พูดได้เมื่อไรก็เป็นมนุษย์ ยังพูดไม่ได้ก็ยังไม่เป็นมนุษย์ เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งลิงอะไรอยู่ก็สุดแท้แล้วแต่จะเรียก เป็นว่าเดี๋ยวนี้คำพูดได้เกิดขึ้นแล้วโดยคน คนแรกๆ แล้วก็เรียกนั่น เรียกนี่ได้ เป็นคำพูดธรรมดา คำพูดเหล่านี้ไม่ต้องแปล หมายเอาสิ่งที่เขาหมายจะเรียกนะ ไม่ต้องแปล มันยังไม่ใช่คำบัญญัติอะไรมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ดี คำพูดคำหลังๆ นะมันอาศัยคำพูดคำแรกๆ เอาความหมายของคำหลังๆ มาเรียก ก็เลยเกิดคำคล้ายๆ คำบัญญัติน้อยๆ ขึ้นมา จนกระทั่งบัญญัติกันอย่างขนาดหนักเป็นวิชา คำพูดทั่วไปเราไม่อาจจะแปลเช่น แมว หมา ไก่ งู นี้ มันก็จะโดยบังเอิญมากกว่าเรียกสัตว์เหล่านั้นขึ้นมาโดยคำพูด ต่อมาไอ้สิ่งที่เรียกว่างูทีแรกนั้นนะ มันก็เป็นรากฐานของการที่จะใช้ สิ่ง เรียกสิ่งอื่นซึ่งมีรูปร่างคล้ายกันขึ้นมาเช่น คำว่า งู กับคำว่า งวงช้าง นี่คำเดียวกันในภาษาบาลี ก็คงจะได้เห็นงูมาก่อนเรียกงูไว้ก่อน พอเห็นไอ้งวงช้างมีอาการเหมือนงูก็เรียกว่างู เฉพาะที่ตรงงวง ก็ไอ้สัตว์มีงู อย่างนี้คำมันก็เจริญออกไป เจริญออกไป จนมาเป็นคำที่มีความหมายเต็มที่ เช่นคำว่า มนุษย์ แปลว่า ใจมันสูง นี่คำนี้เพิ่งเกิดทีหลังคำว่า คน หรือคำว่าอะไรซึ่งไม่ได้แปล คือเกิดจากคำว่า ใจ กับคำว่า สูง นี้ก็เป็นคำบัญญัติเฉพาะโดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติยังไม่เกี่ยวกับภาษาธรรมะโดยตรง แล้วต่อมาๆ ไอ้เรื่องทางจิต ทางวิญญาณ ซึ่งไม่เคยรู้ก็เกิดรู้ขึ้นมา จะเรียกสิ่งที่ตัวรู้ใหม่นี่แล้วพูดออกมาแล้วให้คนทั้งหลายฟังถูกด้วยนี่จะทำอย่างไร เขาก็เก่งมากก็ใช้คำที่มีอยู่แล้วนั่นแหละ เรียกสิ่งที่คิดได้ใหม่ ถ้าเป็น ฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับเอาคำว่า งู มาเรียกคำว่า งวงช้าง ซึ่งเห็นทีหลัง คำว่า ช้าง กับคำว่า งู ก็เลยเหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น ต่อมาก็พบไอ้เรื่อง ทางจิต ทางวิญญาณที่ลึกที่ไม่เคยพบมาก่อน ก็ต้องเอาคำธรรมดาที่มีอยู่แล้วมาใช้เรียกเพื่อให้ความหมายเฉพาะ นี่คือไอ้สิ่งที่ผมกำลังจะพูดวันนี้ ที่เรียกว่าคำบัญญัติเฉพาะในฝ่ายวิชาธรรมะ เพราะนั้นจะได้พูดเป็นคำๆ ไป ยกตัวอย่างล่วงหน้าเช่นคำว่า นิพพาน คำนี้ทีแรกก็ใช้อยู่ในครัว เพราะว่าในครัวมีไฟมีของร้อนแล้วต้องทำให้เย็นจึงจะเป็นนิพพานแล้วจะใช้กินได้อะไรได้ คำว่าเย็น เคยใช้อยู่ในครัว ไฟดับก็ว่าไฟนิพพาน ข้าวร้อนๆ เย็นลงก็เรียกว่าข้าวนิพพาน แล้วก็กินได้นี้ เป็นต้น ก็คำว่าเย็นนี่ไปใช้เป็นชื่อของนิพพาน ของกิเลส คือกิเลสดับก็เรียกว่า นิพพาน ความร้อนดับเรียกว่านิพพาน ความทุกข์ดับเรียกว่านิพพาน คือมันเย็นลง
ทีนี้จะพูดให้เห็น ให้เข้าใจ คำบัญญัติเฉพาะในภาษาธรรมสักจำนวนหนึ่งเท่านั้น พูดหมดไม่ไหว มันเป็นไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคำ แต่ถ้าเข้าใจบ้างแล้วทีหลังก็ไปเทียบเคียงเองได้ ข้อนี้ช่วยประหยัดในการที่จะเข้าใจธรรมะง่าย แต่ว่าลึกและเร็ว
คำแรกที่จะพูด เอ่ยถึงก่อนก็คงจะเป็นคำว่า พุทธะ พุทธะก็แปลว่า พระพุทธเจ้า แต่ทีแรกทีเดียวคำว่า พุทธะ นี้ก็แปลว่าตื่นนอน คำว่าตื่นนอนนี่ต้องถูกบัญญัติขึ้นใช้ตั้งแต่มนุษย์รู้จักคำว่าหลับและคำว่าตื่นนอนนะ ไอ้คำว่าตื่นนอนมันก็ใช้มาเรื่อยๆ จนถึงเกิดบุคคลเช่นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรก็เรียกว่า คนตื่นนอน นี่คำว่า พุทธะ มันแปลว่า ตื่นนอน ถ้าเป็นคนตื่นนอนก็คนมีความรู้สึกเพราะคนที่หลับมันไม่รู้สึกอะไร คนตื่นนอนมันก็รู้ เพราะนั้นคำว่า พุทธะ มันก็ตื่น ตื่นนอนอย่างที่เรานอนทุกคืนนี่ก็ได้ แต่ว่าตื่นนอนจากการหลับอันลึกซึ้งคือ การหลับของกิเลส เพราะนั้นกิเลสก็คือ ความหลับ ตื่นมาเสียได้จากความหลับมันก็คือพุทธะ คือพระพุทธเจ้า คือผู้ตื่นนอน ถ้าตื่นเอง ขวนขวายเอง ตื่นเองก็เรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ ไปเลย ถ้าเป็นสาวกก็เรียกว่า พุทธะ เฉยๆ ตื่นตาม อนุพุทธะ ตื่นตามพระพุทธเจ้า เพราะนั้นขอให้นึกถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้วก็จะเข้าใจคำว่า พระพุทธเจ้า นี่ดีขึ้นทันที เร็วขึ้นทันที แล้วเราก็จะพลอยตื่น เป็นผู้ตื่นนอนตามพระพุทธเจ้าได้ คำว่า พุทธะ ตัวหนังสือก็แปลว่า ตื่นนอน ความหมายต่อมาก็กลายเป็น ผู้รู้ คนป่าจะรู้จักคำว่า ตื่นนอน ก่อนคำว่า รู้ รู้ด้วยญาณ รู้ด้วยอะไร แต่พอรู้ด้วยญาณก็เลยเอาคำว่าตื่นนอนนะมาใช้เป็นคำว่า รู้ด้วยญาณ นี่คำว่า พุทธะ ก็แปลว่า ผู้ตื่นนอน พอตื่นนอนก็รู้ ต่อมาก็แปลว่า ผู้ปลุก คำว่า โพเธตา แปลว่า ผู้ปลุก ก็คือพระพุทธเจ้านั่นแหละ ถ้าเขาไม่ตื่นนอนก่อนเขาจะปลุกคนอื่นได้ยังไง เมื่อคนหนึ่งมันนอนกรนฟี้ๆ มันจะปลุกคนอื่นนี่มันเรื่องบ้า มันต้องตื่น และก็ตื่นจริงๆ ด้วยจึงจะปลุกคนอื่นได้นี่ พระพุทธเจ้ายังเป็นทั้งผู้ตื่น และเป็นทั้งผู้ปลุก ให้สัตว์ตื่นจากหลับคือกิเลสอีกทีหนึ่ง นี่รู้จักพระพุทธเจ้ากันโดยความหมายของถ้อยคำ นี่มันมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยอย่างนี้ นี่ดูไปอีกบางแง่ท่านก็เป็นผู้สอนนั่นแหละ ผู้ปลุกก็คือผู้สอน แล้วมีคำว่า สัตถา หรือคำว่า ศาสดา ในภาษาสันสกฤตก็แปลว่า ผู้สอน ก่อนนี้ผู้สอนก็สอนหนังสือ สอนไอ้เรื่องง่ายๆ ตามชาวบ้าน แต่นี่ สัตถา ผู้สอนก็กลายเป็นสอนให้ออกมาเสียจากความทุกข์ จากอำนาจของกิเลส คำว่า ครูมันก็เปลี่ยนความหมายมาสำหรับพระพุทธเจ้า นี่สอนให้คนตื่นจากหลับคือกิเลส เพราะนั้นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนทุกเรื่อง จะเป็นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรก็ตาม ก็จะเกี่ยวเนื่องอยู่กับการปลุกให้ตื่นออกมาเสียจากหลับคือกิเลสทั้งนั้น ที่แปลกออกไป ขยายตัวออกไป คำว่า พุทธะ ก็เป็นคำว่า ชินะ อะไรเป็นต้นขึ้นมา ชินะ ก็แปลว่า ผู้ชนะ อย่างเรียกภิกษุสงฆ์ที่แท้จริงว่า ชิโนรส นี่ โอรสของชินะ คือลูกของคนที่ชนะ ก็คือพระอรหันต์ ที่รู้ตามพระพุทธเจ้า หรือเดี๋ยวนี้ก็มาใช้เรียกพระสงฆ์ทั้งหลายว่าเป็น พุทธชิโนรส คำว่าชินะก็แปลว่าผู้ชนะ มันก็ตรงกับคำว่าแพ้ เอ่อ, ตรงข้ามจากคำว่าแพ้ เพราะท่านตื่นท่านจึงชนะ ท่านลุกขึ้นก่อน ก็ตื่นจากหลับคือกิเลส กิเลสหายไปหมดก็เป็นผู้ชนะกิเลส เรียกโดยสมมติก็ว่าชนะมาร เพราะสิ่งที่เป็นมารนั้นไม่มีอะไรยิ่งไปกว่ากิเลส พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่น คือชนะมารนั้นก็เลยเรียกว่าเป็นผู้ชนะ ทีความหมายมันยืดขยายออกไปอีกก็กลายเป็น ผู้เป็นที่พึ่ง คำว่า นาถะ แปลว่า ที่พึ่ง โลกนาถะ แปลว่า เป็นที่พึ่งของโลกก็คือพระพุทธเจ้านั่นแหละ เพราะท่านตื่น คนอื่นยังหลับอยู่ท่านก็ตื่นแล้วจะเคาะให้คนอื่นตื่นให้ออกมาเสียจากหลับคือกิเลส กิเลสคือความทุกข์ นี่ก็เลยเกิดไปเป็น พระโลกนาถ หรือ นาถะ ขึ้นมา แต่ท่านประกาศพระองค์ยังเป็นผู้ชี้ทาง อักขาตาโร เป็นผู้บอกทำนองมัคคุเทศก์ ท่านไม่ยกหูชูหางมากเหมือนคนสมัยนี้ รู้อะไรสักนิดหนึ่งก็คุยจ้อเป็นนั่นเป็นนี่ไปเรื่อย พระพุทธเจ้าท่านประกาศพระองค์ว่า อักขาตาโร ตถาคตา การกระทำเช่น การเดิน เป็นต้น ท่านทั้งหลายต้องเดินเอง ตถาคต เป็นแต่ ผู้ชี้ทาง ทำแทนกันไม่ได้ นี่คำบัญญัติเฉพาะคำแรกที่เราจะรู้กันคือคำว่าพุทธะ มาจากคำว่า ตื่นนอน แล้วก็ผู้ปลุก แล้วก็ผู้สอน แล้วผู้ชี้ทาง ให้ทุกคนออกมาเสียจากความหลับคือกิเลสแล้วเป็นผู้ชนะอย่างเดียวกัน ขอให้เข้าใจคำว่าชนะให้ดีๆ ว่าเราจะต้องอยู่ในโลกด้วยชัยชนะ ไม่ต้องหนีโลกไปไหน และจำเป็นที่สุดที่จะต้องอยู่ด้วยชัยชนะ มิเช่นนั้นจะต้องร้องไห้ หรือจะต้องฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งเป็นกันมากขึ้นๆ ทุกทีในประเทศไทยสมัยนี้ดูหนังสือพิมพ์
นี้คำที่ ๒ ก็เอาตามที่เราคุ้นเคยมากที่สุดก็คือคำว่า ธรรมะ แล้วคุณก็คงจะทายถูกว่าต่อไปผมคงจะพูดถึงคำว่า สังฆะ พุทธะ ธรรมะ สังฆะ คำว่า ธรรมะ นี้ก็มีเรื่องมากแน่ นี้เราสรุปเอาแต่ใจความว่าตามตัวหนังสือนี้แปลว่า ทรงตัว คนป่าสมัยนู้นคงจะรู้จักคำว่าทรงตัวคือไม่ล้ม คำที่ไม่ต้องล้มฟุบลงไป ทรงตัวอยู่ได้คำนั้นจะต้องเกิดขึ้นก่อน แล้วแต่เป็นภาษาอะไร ต่อมาคำนั้นจะมาเป็นคำว่า พระธรรม นี่ธรรมะ คำว่า ธรรมะ โดยรากศัพท์ก็แปลว่า ทรงตัวอยู่ได้ ถ้าจะรู้จักพระธรรมในความหมายว่าที่ลึกเข้าไปก็เลื่อนไปจากไอ้คำว่าทรงตัว ในภาษาธรรมดาสามัญที่สุด ไม่ล้มแล้วกลายเป็นทรงตัวสูงขึ้นไปในทางจิต ทางวิญญาณ คือ จิตหรือวิญญาณไม่ล้ม ร่างกายไม่ล้มจริง เดินได้ วิ่งได้ แต่ว่าในจิตมันล้มหมด คือ มันเลวหมด มันเต็มไปด้วยกิเลสมันเป็นทุกข์หมด อย่างนี้เรียกว่าล้มแล้ว ไม่ได้ทรงตัวอยู่ได้ ต้องมีวิชาความรู้ มีการปฏิบัติที่ว่าให้มันทรงตัวอยู่ได้ อันนั้นเรียกว่า ธรรมะหรือพระธรรม ถ้าพูดว่าธรรมะแล้วก็อย่าลืมนึกถึงคำว่าทรงตัวอยู่ได้ ไม่ต้องนั่งร้องไห้อยู่ในทางจิตทางวิญญาณ ทีนี้เมื่อทรงตัวอยู่ได้ก็หมายความว่าเป็นความปลอดภัย เป็นความรอด ถ้าเราล้มเราก็ไม่รอดหรือไม่ปลอดภัย มันก็มีความหมายเดินออกมาอันที่ ๒ ว่า ปลอดภัย คำว่า วิมุติ หลุดพ้น หรือว่า ความปลอดภัย ความเกษม อะไรต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว แล้วทำไมเราไม่ ไม่ชอบธรรมะ ก็อยากจะไปเที่ยวเสียมากกว่า แล้วเรายังจะอวดดีว่าเราจะใช้สิ่งอื่นแก้ปัญหาของมนุษย์ แก้ปัญหาในจิตใจของเราเอง เรายังจะคิดใช้สิ่งอื่นเช่น พวกเมาเทคโนโลยี มันก็จะคิดว่ากูจะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาทั้งหลาย มันก็จะแก้ปัญหาได้แต่เรื่องทางวัตถุข้างนอก ส่วนเรื่องข้างในคือจิตวิญญาณจะเอาเทคโนโลยีชนิดไหน ยังไม่ประสีประสากันที มันก็ยอมให้ใช้คำๆ นี้ว่าถ้าสามารถจะมีเทคโนโลยีทางจิตทางวิญญาณได้ก็เอามาแก้ปัญหากิเลสและความทุกข์ได้ก็จริง แต่นี่เรามันรู้แต่เรื่องทางวัตถุ มันก็ยังแก้ไม่ได้อยู่นั่นแหละ มันต้องเป็นเรื่องที่แก้ได้จึงจะเรียกว่าปลอดภัย ทรงตัวอยู่ได้แล้วก็ปลอดภัย แล้วก็รอดมาได้จากความตาย พอพูดถึงความตายก็มีทั้งตายทางร่างกายและตายทางจิตทางวิญญาณ นี่ค่อยพูดกันทีหลังก็ได้ ตายทางร่างกายก็เอาไปเผาไปฝัง แต่ตายทางจิตทางวิญญาณนี่เที่ยวอาละวาดทำตัวเดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนี่คือกำลังตายอยู่ในทางจิตทางวิญญาณ ธรรมะทำให้ไม่ตายในทางจิตทางวิญญาณ ก็เลยความหมายก็เลื่อนออกไปเป็นเรื่องรอด เรื่องเหนือโลก เหนือทุกข์ กระทั่งไม่ตายที่แท้จริง มีสิ่งที่ไม่ตายโดยแท้จริง เป็นอมตะ เป็นนิรันดร เป็นชีวิตนิรันดรเท่านั้น ทางธรรมะนี้ที่แท้จริงเป็นอมตะ เมื่อได้ยินคำว่าธรรมะก็ขอให้จิตใจมันแล่น ความรู้สึกมันแล่นไปตามแนวนี้ คือเราต้องทรงตัวอยู่ได้ ไม่เศร้าสร้อย ไม่ละห้อยละเหี่ย ไม่ลิงโลด ไม่อะไร ชนิดที่มันวนเวียน มีปรกติอยู่ได้แล้วก็ชนะ แล้วก็อยู่เหนือสิ่งต่างๆที่แวดล้อมเข้ามาสำหรับทำให้เราล้ม ขอให้ตั้งภาพพจน์ไว้อย่างนี้ก็แล้วกัน สิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเข้ามารอบด้านนี่มันจะมาทำให้เราล้ม แต่เรามีธรรมะเป็นเครื่องทรงตัว
แล้วก็เวลามันไม่มาก ก็จะพูดต่อไปเรื่อยๆ ถึงคำว่า สังฆะ คำว่า สังฆะ นี่มันเป็นหมู่ที่มั่นคงที่เป็นที่พึ่งได้ คำนี้มาจากคำว่า หมู่หรือฝูง ฝูงวัวฝูงควาย ฝูงอะไรก็ตามที่มันเป็นปึกแผ่นแน่นหนามั่นคงเป็นที่พึ่งได้ ถ้าทางวัตถุก็เป็นที่พึ่งอย่างวัตถุ ถ้าเป็นในเรื่องจิตก็เป็นที่พึ่งทางจิต แต่ว่าเป็นหมู่ที่แน่นหนามั่นคง คือไม่สูญพันธุ์ ถ้าไม่เป็นหมู่อย่างนี้มันสูญพันธุ์ได้ นี่พระสงฆ์ก็หมู่แห่งบุคคลที่รอดแล้วอยู่อย่างกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนามั่นคงเพื่อความไม่สูญพันธุ์ แบบนี้พระสงฆ์จึงมีไอ้ระเบียบอีกส่วนหนึ่งต่างหากเรียกว่า วินัย ที่ทำให้หมู่นี้อยู่ได้ไม่ ไม่รู้จักสิ้นสูญ เกิดเป็นหมู่ที่แน่นหนามั่นคงเป็นที่พึ่งได้ขึ้นมาสำหรับโลกคือ สัตว์ทั้งปวง นึกถึงโลกหรือสัตว์ทั้งปวง และก็นึกถึงหมู่คนหมู่หนึ่งซึ่งแน่นหนามั่นคงทั้งทางกายและทางจิต ที่จะต่อต้านอุปสรรคศัตรูทั้งหลายได้ ระบุชัดลงไปก็คือว่า หมู่แห่งบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นฆราวาสก็ได้ เป็นบรรพชิตก็ได้ อยู่ที่วัดก็ได้ อยู่ที่บ้านก็ได้ อยู่ที่ไหนก็แล้วแต่จะอยู่ได้ แต่มันเป็นหมู่แห่งบุคคลที่แน่นหนามั่นคงหรือสู้กิเลสได้ ถ้าสู้กิเลสไม่ได้มันก็ล้มละลายแล้ว มันก็ไม่แน่นหนามั่น คือไม่ตั้งเป็นหมู่อยู่ได้ ถ้าตั้งเป็นหมู่อยู่ได้อย่างแน่นหนามั่นคง ก็หมายความว่าสู้กิเลสได้ นั่นนะคือพระสงฆ์ ในพุทธศาสนาเราก็จำแนกเป็น พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นชั้นๆ ก็จริง แต่ว่าล้วนแต่เป็นผู้ที่แน่นอนว่าจะทนอยู่ได้ จะสู้กิเลสได้ ถ้าตั้งอยู่เป็นปึกแผ่นสืบๆ กันไปได้ไม่สูญหายไปจากโลกนี่คือ พระสงฆ์ หมู่แห่งบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จับกลุ่มหรือสัมพันธ์กันอยู่หมู่หนึ่งในโลกนี้ นี่คือ พระสงฆ์ ความหมายของคำว่า สังฆะ เป็นอย่างนี้ นี่ก็เป็นที่พึ่งได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเพียงบุคคลคนหนึ่ง แต่นี่ผู้ที่รับช่วงจากท่านและเป็นหมู่อันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ก็ช่วยบำรุงกันไว้เพื่อเป็นที่พึ่งในโลก ความหมายก็ขยายออกไปถึงคำว่า นาบุญ บุญเขต หรือ นาบุญ คือพระสงฆ์นั่นแหละเป็นนาบุญ ไอ้นาที่ทำนาเอาข้าวเปลือกก็รู้จักอยู่แล้วท้องนา นี้ไอ้นาบุญนี่คือ พระสงฆ์ ใครไปเพาะปลูกในนานี้ก็ได้บุญ ได้กุศล ได้ความรอด คำว่า นาบุญ ก็เกิดขึ้นมาในโลก เพราะมันได้มีพระสงฆ์เกิดขึ้นมาในโลก ก็เลยเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ควรเคารพ ควรเลี้ยงดู อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย นี่ก็เกิดคำเหล่านี้ขึ้นมาเป็นชื่อของพระสงฆ์หรือหมู่แห่งพระอริยเจ้าเกิดขึ้น ก็แปลว่าคนที่ชนะข้าศึกคือกิเลสอีกนั่นเองไปๆ มาๆ ก็พบคำว่า กิเลส อันเป็นตัวการ เป็นตัวปัญหา
พระพุทธเจ้า ก็คือ ผู้ชนะกิเลส
พระธรรม ก็คือ อุบายหรือวิธีหรือการชนะกิเลส
พระสงฆ์ ก็คือ หมู่แห่งบุคคลผู้ชนะกิเลสหรือกำลังชนะกิเลสเป็นอย่างน้อย มันรวมอยู่ที่คำว่ากิเลส
ทีนี้เราก็เลยพูดถึงคำว่า กิเลส เสียเลย คำว่า กิเลส นี่เป็นภาษาธรรมดา เป็นภาษาชาวบ้านก็แปลว่า ของสกปรก อะไรที่เป็นของสกปรกหรือเป็นเหตุให้เศร้าหมอง แปดเปื้อน เป็นความสกปรกนี้เขาเรียกกันว่า กิเลส อยู่แล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด คือเรียกของสกปรกเป็นกันอยู่แล้วตั้งแต่สมัยคนป่านู้นก็ได้ พอเกิดมีผู้ขวนขวายทางจิตทางวิญญาณรู้ว่าไอ้ของที่สกปรกอย่างยิ่งมันยังมีอยู่พวกหนึ่งคือสกปรกในใจ เขาก็พบ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ในใจนั่นแหละว่าตัวสกปรก ก็ยืมเอาคำว่าสกปรกภาษาชาวบ้านมาใช้เป็นคำว่าสกปรกภาษาธรรมะ เพราะนั้นกิเลสหรือของสกปรกจึงได้แก่ราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะต้องสะดุ้ง เมื่อเกิด ราคะ ขึ้นในใจนี่ ทีนี้ทำไมไม่สะดุ้ง กลับชอบไปเลยนี่ ก็เพราะไม่รู้จักไอ้คำว่าสกปรกซึ่งเป็นชื่อของกิเลส พอโกรธขึ้นมาก็ไม่รีบหยุดเสีย กลับชอบใจโกรธใหญ่ ด่าเขาใหญ่ นี่มันสบายดีไม่เห็นเป็นของสกปรก ยิ่งความโง่แล้วก็ยิ่งไม่ค่อยจะรู้จักมัน รู้จักมันได้ยาก เพราะนั่นจึงสกปรกอยู่ในใจได้นานกว่า ราคะ หรือ โทสะ ไอ้ โมหะ นี่มันจะสกปรกอยู่ในใจได้นานกว่า ราคะ หรือ โทสะ โมหะ นี่เรื่องของสกปรกมันเป็นอย่างนี้ นี่เรารู้จักแต่ของสกปรกนิดหน่อย ของสกปรกจริงๆ ก็ไม่ค่อยจะสนใจแม้แต่ทางวัตถุนี่ ครั้งหนึ่งผมไปพูดที่กรุงเทพ ที่พุทธสมาคม ว่าพวกคุณนี่ ไม่จริง ไม่ ไม่ทำจริงพูดจริง ที่ก้นสกปรก คุณชำระแต่นิดหน่อย ที่หน้าของคุณไม่ได้สกปรกแล้วคุณล้างแล้วล้างอีก ทำแล้วทำอีกไอ้ที่หน้า มีคนลุกขึ้นไปต่อหน้าผมเลย นี่ก็มาเล่าให้รู้ไว้ว่าไอ้คนมันไม่ชอบความจริง นั้นก็ล้วนแต่เป็นเรื่องสกปรกทางวัตถุกันทั้งนั้นแหละ ก็ยังไม่ค่อยรู้จัก ทีนี้สกปรกทางจิตทางวิญญาณข้างในคือ โลภะ โทสะ โมหะ ยิ่งไม่รู้จักยิ่งไม่สนใจจะล้าง จะชำระชะล้างเพราะนั้นเราต้องรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสให้ลึกถึงทางจิตทางวิญญาณ ความคิดชั่วร้ายทั้งหลายมารวมเป็นหมวดหมู่กันอยู่ได้ที่คำว่า ราคะ โทสะ โมหะ มันของสกปรก เรียกว่า กิเลส ในคำบัญญัติเฉพาะของวิชาฝ่ายธรรมะ
ทีนี้ไอ้สกปรกนี่มันก็ต้องมาจาก หลับอย่างนี้ คือไม่รู้ พอไม่รู้มันจึงทำความสกปรกได้ ความหลับนี่จะสกปรกมาก ดูให้ดี อย่าชอบนอนหลับนัก นอนหลับแต่เท่าที่จำเป็น นี่ทางร่างกาย นี่ทางจิตก็อย่าให้มันหลับ อย่าให้เกิดความโง่ ก็จะไม่สกปรก ทีนี้เขามามองกว้างออกไป ในแง่ที่มันยังเนื่องกัน มันสกปรกแล้วมันก็ทำให้เกิดความทุกข์ มันเลยเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ถ้าความทุกข์มันก็เป็นไฟเผาให้ร้อน หรือว่าเป็นของแหลมเสียบแทงให้เจ็บปวด หรือมันเป็นความผูกมัดรัดรึงเป็นเครื่องจำจอง เป็นโซ่ตรวนแก่จิตแก่วิญญาณ มันก็เลยหมายถึงทุกอย่างที่มันจะให้ผลเป็นเครื่องผูกมัด เป็นเครื่องทำการบีบคั้นให้เจ็บปวด เราก็เลยเรียกกันเสียอีกคำหนึ่งว่า บาป มันเป็นบาป คำว่า บาป นี้ต้องมีคำอะไรที่เป็นภาษาเดิมแท้ของไอ้มนุษย์สมัยแรก เดี๋ยวนี้ในภาษาบาลีแปลว่า ลามก คำนี้คนป่าคงยังจะไม่รู้จักใช้ก็ได้ มันคงจะมีคำง่ายๆ ที่เป็นความหมายของคำว่า บาปหรือลามก ในทางวัตถุทางร่างกายนี่ มันจะคล้ายๆ ว่าสกปรก เลอะเทอะ รกรุงรังนี้มากกว่า ต่อมาก็เป็นเรื่องทางจิต บาปก็มีทางวาจา ทางร่างกาย ออกมาเป็นบาป มาจากไอ้กิเลสทั้งนั้น แล้วที่น่ากลัวที่สุดก็คือว่า ผู้ฆ่าให้ตาย คำว่า มาระ มาร มาระนะแปลว่า ผู้ฆ่าให้ตาย และเป็นชื่อของกิเลส ไม่มีไอ้มารหรือกิเลสไหนจะยิ่งไปกว่ากิเลส มารคือผู้ฆ่าให้ตาย ไม่มีอันไหนยิ่งไปกว่ากิเลสที่เรียกว่า กิเลสมาร อย่าทำเล่นกับของสกปรก นี่รู้จักคำว่า กิเลส กันอย่างนี้บ้าง
ทีนี้ถ้าตรงกันข้ามก็เรียกว่า โพธิ คือ ไม่สกปรก สะอาดดี สว่างแจ่มใส ก็ตรงกันข้ามจาก กิเลส นี่กลายเป็นแสงสว่าง เป็นปัญญา เป็นความรู้ เป็นดวงประทีป เป็นสิ่งที่ทำให้สะอาดทั้งนั้น นี่เรียกว่าโพธิ ตรงกันข้าม ก็จะออกมาเป็นญาณ เป็นวิปัสสนา เป็นอะไรต่างๆ ก็หมดสกปรก หมดความร้อน หมดความเสียดแทง ก็เลยมีผลเป็นคำว่า นิพพาน คือเย็น ข้อนิพพานนี่จำความหมายว่า เย็น ไว้คำเดียวพอ แต่ว่าเป็นเย็นทางจิตทางวิญญาณ ถ้ากิเลสมาเมื่อไรเป็นร้อนเมื่อนั้น กิเลสไม่มาก็เย็นอยู่ตามปกติ นี่คือสภาพของนิพพาน ออกไปหมดแห่งความร้อน ดับนี่มันใช้สำหรับร้อน สิ่งที่ร้อน ไอ้ร้อนหรือเป็นไฟนี่เอาดับลงไปนี่ก็เรียกว่านิพพาน ก็เกิดการปฏิบัติที่จะให้ลุถึงนิพพาน ก็เอาไป ไปเอาคำว่า หนทาง มรรคา ภาษาไทยเรียกว่ามรรคา (มา-ละ-คา) หรือ มรรคา (มัน-คา) มาจากภาษาบาลีเรียกว่า มัคคะ แปลว่า หนทาง หนทางที่เดินอยู่ตามทุ่งนา ถนนหนทาง ก็ตามเอาคำนี้ ขอยืมมาใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ พอปฏิบัติแล้วใจมันก็เดินไปๆ ไปยังจุดหมายปลายทาง จากร้อนก็ไปสู่เย็น จากทุกข์ก็ไปสู่ความหมดทุกข์ สิ้นความทุกข์ ปฏิปทา ก็แปลว่า การเดิน การไต่ไป เดินด้วยเท้าก็เรียกว่าปฏิปทา เดินด้วยใจก็เรียกว่าปฏิปทา ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ก็เรียกว่าปฏิปทา เพราะมันไป ไอ้คำว่า ปะทะ มันแปลว่า ไป เดินไป การปฏิบัติก็คือการเดินไปเหมือนกับคนเดินทางไปถึงที่ปลายทาง เพราะนั้นเราปฏิบัติย่ำเท้าก็แย่ หรือปฏิบัติถอยหลังก็มี นี่ให้มันเป็นการก้าวไปข้างหน้า ทีนี้ก็มีหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็น สายกลาง ถ้าทางที่ถูกแท้ถูกต้องต้องสายกลางคือ ไม่มาก ไม่เกิน ไม่น้อย ไม่มาก ไม่หย่อน ไม่ขาด ไม่ ไม่ทุกอย่าง ให้มันอยู่พอดีนี่ ก็เรียกว่า ทาง นี่ตัวอย่างของคำบัญญัติเฉพาะ
ทีนี้ก็ไปถึงไอ้พวกที่ว่ามันลึกยิ่งขึ้นไปอีก เป็นภาษาที่ไม่ค่อยจะสังเกตกันที่พระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติขึ้นใช้ในขอบเขตของพุทธศาสนาเรา ไอ้ทุกคำนี่ก็หมายความว่าเขาใช้กันมาแล้วก่อนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านให้ความหมายที่ถูกต้องยิ่งขึ้น รุนแรงขึ้น จนถึงไม่มีใครให้ความหมายดีกว่านั้นได้ เช่นคำว่า นิพพาน นี่เขาเอาไอ้อย่างอื่นเป็นนิพพานกันมาตั้งพักหนึ่งแล้ว เอาความได้อย่าง อกอย่างใจในเรื่องเนื้อหนังเป็นนิพพานก็เคยมี เอาฌาน เอาสมาบัติ เป็นนิพพานก็เคยมี ต่อมาพระพุทธเจ้าท่านระบุ ทรงระบุไปยังความหมดแห่งกิเลสว่าเป็นนิพพาน ก็เกิดคำที่แปลกหรือลึกขึ้นมาในขอบในวงของพุทธศาสนา ยกตัวอย่างสองสามคำเช่นคำว่า สิ่งทั้งปวง พวกคุณก็เรียนมามากลองทายดูซิว่าสิ่งทั้งปวงคืออะไร สิ่งทั้งปวงคืออะไร ที่เรียนวิทยาศาสตร์ก็จะเล็งไปยังไอ้พวกธาตุ พวกปรมาณู พวกอะไรทำนองนั่น ก็เพราะพระพุทธเจ้าท่านใช้คำนี้สำหรับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่คู่กันอยู่กับ รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสัมผัสผิวหนัง ใจกับความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นในใจ นี่ก็คือ สิ่งทั้งปวง ไม่ได้เล็งไปถึงว่าไอ้จักรวาล สุริยะจักรวาล แล้วไม่รู้กี่ร้อยกี่หมื่นกี่แสนสุริยะจักรวาล หรือจะเรียกเป็นภาษาศาสนาว่า โลกธาตุ ไม่รู้ว่ากี่หมื่นโลกธาตุ สมมติว่าโลกธาตุหนึ่งคือสุริยะจักรวาลหนึ่ง มันก็ยังว่าไม่รู้กี่หมื่นโลกธาตุ นั่นนะคนจะเล็งไปถึงนั่นว่าสิ่งทั้งปวง นี่พระพุทธเจ้าท่านมาอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่คู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ว่านี่คือ สิ่งทั้งปวง แล้วก็ลองสังเกตดูความหมายของท่าน หรือวิธีพูดจาของท่าน หรือความประสงค์มุ่งหมายที่จะให้รู้อะไรท่านจึงตรัสอย่างนี้ สิ่งทั้งปวง เมื่อถ้าไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งทั้งปวงก็มีไม่ได้ ไอ้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เป็นหมันไปเอง แต่นี่มันอยู่ตรงที่เรามันมี ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ สิ่งอย่างนี้ สิ่งทั้งปวงมันอยู่ที่นี่ โลกทั้งปวงมันก็อยู่ที่นี่ จัดการกับสิ่งทั้งปวงให้ดีๆ อย่าให้มันเป็นอันตรายขึ้นมา คือจัดการกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มีค่าเท่ากับจัดการแก่สิ่งทั้งปวงทุกๆ หมื่นโลกธาตุหรือว่ากี่ระบบจักรวาลก็สุดแท้ ก็เลยอะไรๆ ก็มาอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมดโดยไม่ต้องอธิบาย นรกก็อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ตามแบบของพระพุทธเจ้า สวรรค์ก็อยู่ที่นี่ หรือแม้แต่นิพพานก็ต้องอาศัยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จัดไว้ดี ไม่ลุกเป็นไฟขึ้นมา ก็คำง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็เอามาไว้ที่นี่หมด เช่นคำว่า ทะเลอย่างนี้ คุณก็ว่าทะเลอยู่ที่ทะเล แต่ถ้าความหมายของคำว่า ทะเล หมายถึงอันตรายที่ตกลงไปแล้วตาย พระพุทธเจ้าท่านทรงเอาคำว่าทะเลนี่มาไว้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คุณตกลงไปใน ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ คือตกทะเล หรือตกสมุทร หรือตายเหมือนกับตกทะเล จมน้ำตาย อย่างนี้เป็นต้น ล้วนแต่มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าอยู่ในภายในตัวเรานั้น คำบัญญัติเฉพาะทั้งหลายกี่พันคำในพุทธศาสนาเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณทั้งนั้น ก็อยู่ข้างในตัวคน ก็แปลว่าเราพูดกันถึงเรื่องที่จะให้รู้จักสิ่งที่มีอยู่ในตัวคนในตัวเรานั้น เป็นอันว่ามันก็มีอยู่ในภายในนี้เป็นข้อแรก คำบัญญัติเฉพาะในวิชาธรรมะ ในวิชาศาสนานี่บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ในภายในโดยให้ชื่ออย่างเดียวกับสิ่งที่มีอยู่ในภายนอก เพราะนั้นรีบดูในภายในว่ามีอะไรบ้าง แล้วมันมีหน้าที่มีความหมายอย่างไร แล้วมันไปตรงกับไอ้เรื่องข้างนอกหรือสิ่งข้างนอกที่มีหน้าที่หรือความหมายอย่างนั้นๆ แล้วก็เลยใช้ชื่อๆ เดียวกัน เช่นไฟข้างนอกกับไฟข้างใน ความหมายมันเผาเหมือนกัน อันนู้นเผาเนื้อ เผาหนัง หรือเผาวัตถุมันก็เรียกว่า ไฟข้างนอก ส่วนไฟข้างในนี่มันเผาจิต เผาใจ เผาวิญญาณก็เลยเรียกว่า ไฟ แต่ว่า ไฟข้างใน นี่คำบัญญัติเฉพาะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ มาเป็นของข้างในหมด
แล้วก็น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีใช้คำพูดในภาษาธรรม โดยเฉพาะในพุทธศาสนานี่ก็จะเรียกว่า สิ่งนั้นมีต่อเมื่อมันกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ นี่เป็นประโยคที่ถ้าเข้าใจได้แล้วจะเข้าใจธรรมะที่ยากลำบากต่อไปข้างหน้าได้ จะถือว่าสิ่งนั้นมีต่อเมื่อสิ่งนั้นมันทำหน้าที่ของมันอยู่ นี่เป็นคำบัญญัติเฉพาะด้วย เป็นวิธีใช้คำบัญญัติเฉพาะอย่างยิ่งด้วยในพุทธศาสนาเช่น คุณจะถือว่าคุณมีตาของคุณอยู่ตลอดเวลา ว่าเรามีตาของเราอยู่ตลอดเวลานี่ แต่คำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น เรามีตาเฉพาะเมื่อตากำลังทำงานตามหน้าที่ของตาอยู่ เพราะนั้นท่านจึงใช้คำว่าเพิ่งเกิด ไอ้ตานี่ก็เพิ่งเกิดเมื่อตาทำหน้าที่ทางตา หูก็เหมือนกัน ในภาษาธรรมดาเราถือว่าเรามีตา มีหู มีจมูกอยู่ตลอดเวลา แต่ภาษาธรรมะไม่ถืออย่างนั้น เมื่อไรทำหน้าที่ เมื่อนั้นเรียกว่าสิ่งนั้นเกิด ทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ดับไป แล้วก็สิ่งอื่นเกิด เดี๋ยวตาเกิด เดี๋ยวหูเกิด เดี๋ยวจมูกเกิด นี่คำว่า ความเกิด มันก็ต่างกันอีก มันเกิดตามวิถีทางวิญญาณหรือเกิดวิถีทางวัตถุ เพราะนั้นเรามีร่างกายก็เมื่อร่างกายทำหน้าที่ กระทั่งว่ามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เหมือนกันมันแยกกันไปทำหน้าที่ เมื่อใดมันทำหน้าที่ของอะไรเรียกว่า เมื่อนั้นมีสิ่งนั้น นี่เราจะเข้าใจถึงคำว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อะไรต่อไปตามลำดับในโอกาสข้างหน้า เพื่อให้รู้วิธีก่อนว่าไอ้การบัญญัติเฉพาะทางธรรมนี่ จะเอา จะถือว่ามันมีอยู่ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นทำหน้าที่เช่น ประสาทตากระทบกันเข้ากับไอ้รูป ภาพอะไรที่มากระทบตานี้จึงจะเกิดตา หรือเกิดการเห็นทางตา เส้นประสาทตามันก็เป็นเส้นประสาทเนื่องกันอยู่กับสมอง ต่อเมื่อมีรูปมากระทบกันเข้าแล้วทำหน้าที่ตามเรื่องของมัน เมื่อนั้นจึงจะเรียกว่าตาได้เกิดขึ้น แล้วเราก็ เขาก็มีตา กำลังมีตาอยู่ชั่วขณะหนึ่ง กว่ามันจะดับไปอีก ไอ้ตามันจะดับไปอีก ก็เหลืออยู่แต่ประสาทตา หรือเนื้อหนังที่เป็นที่ตั้งของประสาทตา นี้จะเห็นได้ว่าเราให้ความหมายลึกกว่ากันมาก แม้แต่คำว่าตา ว่าหู ว่าจมูก เพราะนั้นจะต้องแยกคำว่า ตา หู จมูก นี่ออกไปเสียจาก ตา หูจมูก อย่างธรรมดา เมื่อพูดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็ตาม ธรรมดาความหมายก็อย่างหนึ่ง พอพูดตามแบบของพระพุทธเจ้าเป็นคำบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี้จะใช้คำเหล่านี้เฉพาะต่อเมื่อสิ่งนั้นได้ทำหน้าที่ของมันอยู่จริงๆ แค่นั้น เราก็เลยมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไร เรียกว่าไอ้โลกนี้เป็นโลกก็ต่อเมื่อไอ้จิตนี้มันสัมผัสโลกนี้ เพราะนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็จะมีชั่วขณะต่อเมื่อมันมากระทบกับอายตนะข้างใน ที่มันมีอยู่ตามธรรมดานั้นไม่ได้ถือว่ามี ถึงไม่ได้มีความหมายอะไรแก่เรา จนกว่ามันจะมากระทบเข้าที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา นี่เรียกว่ามีจริงเฉพาะเมื่อมันทำหน้าที่เป็นขณะๆ ทีนี้ดูความที่มันเป็นขณะๆ อย่างนี้ก็เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงความไม่เที่ยง เดี๋ยวตาเกิด เดี๋ยวหูเกิด เดี๋ยวจมูกเกิด ผลัดกันเกิดอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวรูป เดี๋ยวเสียง เดี๋ยวกลิ่น เดี๋ยวรส ผลัดกันอยู่อย่างนี้ ก็เลยเรียกว่า ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง แล้วก็ดูน่าเกลียดคือเป็นทุกข์ แล้วก็ไม่มีตัวตนอะไรที่ไหน นี่ความปรากฏแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเกิดได้ ต่อเมื่อเรารู้จักดูก็เข้าใจไอ้ความลึกลับของสิ่งต่างๆ ที่เราไปเรียกมันอย่างผิดๆ ไปถือเอาความหมายอย่างผิดๆ ไปพูดกันอย่างผิดๆ นี่มากกว่า ในที่สุดก็ช่วยให้รู้ว่ามันเป็น สักว่าสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไปจบลงที่คำๆ เดียวว่า มันเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ เรียกว่า ธาตุ ทั้งหลาย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อะไรก็ได้ จะเรียกว่า ธรรม รูปธรรม นามธรรม อะไรก็ได้ ล้วนแต่เป็นสักว่าธรรมชาติที่เป็นไปอยู่ตามธรรมชาติ จากคำว่าธรรมชาติเพียงคำเดียวนี้ก็มาเป็นไอ้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเปลี่ยนไปๆๆ สลับซับซ้อนกันอยู่ เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ดีเมื่อไรก็เรียกว่ารู้ รู้ธรรมะ รู้จักธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ กัน ก็จะเป็น เป็นเหตุให้มีธรรมะ มีธรรมะกันจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ไว้ จดไว้ในสมุด จดไว้ในสมุดนี่ก็เพียงช่วย จดไว้ในสมุดนี่ก็เพื่อช่วยให้เอาไปศึกษา ไปพิจารณา ไปย่อยให้ออกเป็นธรรมะจริง ที่เราจดไว้ในสมุดได้นั้นก็เป็นคำพูดภาษาคน ก็ไอ้ตัวหนังสือนี้มันเกิดขึ้นจากไอ้เรื่องของภาษาคน คำพูดตามภาษาคน วัตถุความหมายตามภาษาคน เพราะนั้นพอเราจดลงไปมันก็ไม่ได้ความหมายในภาษาธรรมอันลึกซึ้ง เว้นไว้แต่เราจะพิจารณาเข้าใจไอ้เนื้อที่ที่อยู่รอบๆ ตัวหนังสือ ที่เป็นความว่างๆ ที่เป็นกระดาษว่างๆ อยู่นั่น มันอมความหมายลึกๆ ไว้ในนั้น พอดูตัวหนังสือมันก็ติดอยู่แค่ภาษาคนที่บัญญัติไว้อย่างไร ต่อเมื่อเข้าใจมันก็ทะลุตัวหนังสือ ทะลุกระดาษ ทะลุอะไรออกไปยังความจริงตามธรรมชาติ ส่วนนั้นเป็นความหมายที่ถูกเก็บมาบัญญัติเฉพาะด้วยคำพูดเดียวกันแต่ให้ความหมายต่างกัน เช่นเดียวกับไอ้คำบัญญัติเฉพาะในวิชาอื่นๆ แต่ว่าคำบัญญัติเฉพาะในวิชาอื่นๆ กี่วิชาๆ กี่วิชา วิชาแพทย์ วิชากฎหมาย วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาไอ้ กี่วิชามันเป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น หรือเนื่องด้วยวัตถุ เนื่องด้วยภาษาคนพูดธรรมดา เว้นแต่เรื่องธรรมะในทางศาสนาเท่านั้นที่จะเป็นเรื่องทางจิตทางใจโดยตรง นี่เป็นเรื่องทางวิญญาณ นอกนั้นถ้าเป็นจิตก็จิตที่เนื่องอยู่ด้วยกับร่างกาย ยังไม่ใช่จิตโดยแท้จริงในความหมายแท้จริง จึงกล่าวได้ว่าไอ้คำบัญญัติเฉพาะที่ผมกำลังพูดนี้เป็นเรื่องทางวิญญาณเท่านั้น แล้วก็ใช้ต่อเมื่อไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนั้นมันเกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าเราคิดว่าเรามีอยู่นี้ ไอ้ตัวเรานั้นมันก็มีอยู่ นี่ความคิดอย่างเขลาๆ ธรรมดามันก็ไม่มี สำเร็จด้วยความคิด ถ้าคิดผิดมันก็ผิด คิดถูกมันก็ถูก มองเห็นว่าไม่มีตัวเรานี้มันก็ถูก มองเห็นว่ามีตัวเรานี้มันก็ผิด แต่ว่าจิตมันก็คิดไปตามที่เหตุปัจจัยมันจะปรุงแต่งให้คิด คิดผิด คิดถูก คิดผิดก็ต้องเป็นทุกข์ คิดถูกก็ไม่มีทุกข์ เรื่องมีเท่านี้เอง
ฉะนั้นขอให้สนใจกับคำพูดทุกคำในพุทธศาสนา แล้วก็ไปหาความหมายของคำนั้นๆ ที่บัญญัติไว้เฉพาะคำนั้นๆ ในทางฝ่ายศาสนา ก็จะช่วยให้เข้าใจศาสนาทุกศาสนาได้ง่ายขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพุทธศาสนาซึ่งมีความลึกซึ้งมาก นี่เวลาสำหรับการบรรยายในวันนี้ก็สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ นาฬิกานกเตือนแล้ว...