แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวันสำหรับผู้บวชใหม่ในวันนี้ ผมก็จะได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ต่อไปอีก และในวันนี้ก็จะได้พูดโดยหัวข้อว่า พรหมจรรย์ไม่ใช่ปรัชญาและเป็นข้าศึกกันกับปรัชญา การที่เอาเรื่องปรัชญามาพูด ก็เพราะเป็นที่เห็นกันอยู่ทั่วไปแล้วว่าในสมัยนี้ กำลังนิยมสิ่งที่เรียกว่าปรัชญากันอย่างหนาแน่น พูดภาษาชาวบ้านโสกกะโดก ก็ว่าปรัชญากำลังขึ้นสมองของคนในโลกในสมัยนี้ อะไรก็ปรัชญา นิยมปรัชญา อะไรก็อ้างปรัชญา จะเอาปรัชญาเป็นที่พึ่งเพื่อจะแก้ปัญหาทุกอย่าง โดยเหตุที่เกรงไปว่าจะมีความคิดไปว่าพรหมจรรย์ก็คือปรัชญาอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน หรืออาจจะคิดไปว่าจะประพฤติพรหมจรรย์จนบรรลุถึงผลสุดท้ายได้ด้วยปรัชญา หรือด้วยวิธีการแห่งปรัชญา นี่จึงได้เอาเรื่องนี้มาพูดเสียในตอนต้นๆ นี้
ก็อย่าให้เสียเวลา ไปหลงเข้าใจผิดอยู่ให้มันนานไป หรือบางทีนี้คงมีประโยชน์แก่บางองค์ บางคนที่เป็นนักศึกษา หรือกำลังเป็นผู้สอนในเรื่องอันเกี่ยวกับปรัชญา ว่าที่จริงเรื่องนี้ก็เคยพูดมาบ้างแล้วว่าตัวแท้หรือเนื้อตัวแท้ๆ ของพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ปรัชญา มันเป็นศาสนาอยู่นั่นเอง ถ้าจะเปรียบเทียบกันในระหว่าง สองสิ่ง คือ สิ่งที่เรียกว่าปรัชญา กับ สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันดียู่แล้วว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันทำหน้าที่ต่างกัน มีวัตถุประสงค์ก็ต่างกัน ถ้าเอามาเป็นคู่เปรียบกันสองอย่าง อย่างนี้แล้วพุทธศาสนาจะอยู่ในฝ่ายที่เป็นวิทยาศาสตร์คือไม่เป็นปรัชญา ขอให้จำหัวข้อนี้ไว้สำหรับศึกษาพิจารณาหาข้อเท็จจริงอีกต่อไปข้างหน้าซึ่งจะมีมาก
ถ้าจะสรุปโดยสั้นๆ ว่าวิทยาศาสตร์เอาสิ่งที่รู้จักได้ รู้สึกได้โดยประจักษ์มาเป็นวัตถุสำหรับค้นคว้าทดลอง แล้วก็ทำให้ได้ผลสุดท้ายตามที่ต้องการ ส่วนเรื่องของปรัชญานั้นเป็นเรื่องเอาสิ่งที่ไม่ได้รู้สึกอยู่จริงหรือไม่อาจจะรู้สึกได้ทางอายตนะนั้นมาเป็นวัตถุสำหรับค้นคว้าทดลอง แล้วก็เพื่อผลชนิดที่ยังไม่มีใครต้องการหรือไม่จำเป็นจะต้องการ แต่โดยเหตุที่มันหลงรักในความรู้หรือว่าหลงรักในความจริง หลงรักในความถูกต้อง เมื่ออยากที่จะรู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรเป็นความรู้ตะพึดไป ทั้งที่สิ่งนั้นมันไม่มีตัวตนมาให้เป็นวัตถุสำหรับค้นคว้าและทดลองมันจึงต้องใช้การคำนึงคำนวณไว้ด้วยเหตุผล และก็ลงไปบนสิ่งที่ไม่ได้มีตัวตนอันประจักษ์อยู่ที่นั่น นั่นแหละเป็นเรื่องของปรัชญา ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นก็มีเรื่องเฉพาะ มีปัญหาเฉพาะ มีวัตถุเฉพาะที่จะค้นคว้าทดลองจนได้ผลจากสิ่งนั้นจริงๆ นั้นเขาจึงแนะให้สังเกตความต่างกันในระหว่างปรัชญากับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ที่ประยุกต์ อาจจะจำกันได้เป็นหลักง่ายๆ ว่าถ้าปรัชญามันก็สัจจะเพื่อสัจจะเอง ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ก็เป็นสัจจะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นี่ปรัชญาเป็นประโยชน์แก่ปรัชญา คือสัจจะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัจจะเอง ไม่ต้องมีใครได้รับประโยชน์ ไอ้สิ่งที่ว่าจริงนั้นก็ยังไม่รู้อะไรกันแน่ ยังเป็นปัญหาอยู่เรื่อยไป จะหาความจริงอันไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนวิทยาศาสตร์ไม่ต้องการจะให้ไปมากถึงขนาดนั้น จะเอาแต่ปัญหาเฉพาะหน้าต้องการอะไร หรือจะต้องการจะแก้ปัญหาอะไร ก็เอาสิ่งนั้นมาทำให้สำเร็จประโยชน์และเกิดประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง ไม่ใช่ประโยชน์แก่สัจจะเหมือนกับวิถีทางของปรัชญา นั้นทางปรัชญาอาจจะตั้งปัญหาหรือว่าตามปกติก็ตั้งปัญหา เช่นว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าความสุขนี้มันเป็นสิ่งที่ควรมี ควรได้แน่แล้วหรือ คุณคิดดูว่ามันบ้าเท่าไหร่ แล้วจะตั้งปัญหาว่าไอ้ความดับทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำแน่แล้วหรือ หรือว่าถ้าเราหิวแล้วเราต้องกินข้าวนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำแน่แล้วหรือ ถ้าอย่างนี้มันเป็นปัญหาทางปรัชญา มันไม่ยอมเชื่ออะไรหมด ไม่ยอมลงเห็นด้วย มีแต่จะตั้งปัญหาแล้วพิสูจน์ไปตามการคำนึงคำนวณเรื่อยไป ในที่สุดก็เป็นความจริงที่ไม่มีที่สิ้นสุดเสียโดยมาก มันจะตั้งปัญหาขึ้นว่าไอ้ความสุขนี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้แน่แล้วหรือ ไม่ตั้งปัญหาว่าความสุขนี้ควรจะได้มาด้วยวิธีนี้ ด้วยวิธีอย่างไร ไปตั้งปัญหาควรจะได้แน่แล้วหรือ พอคิดไม่ออกขึ้นมา มันก็ไปคิดว่าความสุขคืออะไร มันก็มีแต่ปัญหาเรื่อยไป ว่าไอ้ที่เรียกว่าความสุขนั้นมันไม่ใช่ความสุขแน่ ไม่ใช่ความสุขก็ได้ หรือเหมือนอย่างที่ผู้แสดงธรรมเมื่อตะกี้นี้พูดว่า ถ้าไปตั้งปัญหาขึ้นว่าถ้านิพพานกันหมด แล้วโลกนี้มันจะแย่ไหม ถ้าอย่างนี้เป็นปัญหาทางปรัชญา ถ้าจะตั้งปัญหาว่าจะนิพพานได้ด้วยวิธีปฏิบัติอย่างไรนี้ จึงจะเป็นเรื่องทางศาสนาหรือมาในทางของวิทยาศาสตร์ แม้นว่าจะเป็นเรื่องทางจิต เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต
ผมเชื่อว่าคุณจะไม่เข้าใจโดยกระจ่างในเรื่องนี้ คือความต่างระหว่างปรัชญากับวิทยาศาสตร์หรือว่าปรัชญากับศาสนา ซึ่งอยู่ในฝ่ายวิทยาศาสตร์ เพราะว่าคนที่เขาลูบคลำกันอยู่กับเรื่องปรัชญาอยู่เกือบจะทุกวัน มันก็ยังเข้าใจถึงที่สุดไม่ได้ เพราะว่าเรื่องปรัชญามันสลัวเรื่อยไป แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องพูด จะต้องทำความเข้าใจ อย่างน้อยก็พอเป็นรั้วกั้นเอาไว้ว่าอย่าให้มันออกไปนอกรั้วนั้น มันจะเสียเวลามากเกินไป ก็ลองเปรียบเทียบกันเองก็แล้วกันว่าจะตั้งปัญหาถึงขนาดไหนว่าความสุขมันควรจะเป็นสิ่งที่ควรจะได้ หรือความดับทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่อย่างนี้ ก็แสดงว่ามันมีความคิดลึกซึ้ง ละเอียดลออแยบคายมากจนอาจจะเกินยิ่งกว่าเกินก็ได้ แต่แล้วเราก็ยังยอมรับว่าไอ้เรื่องของปรัชญานี้เป็นปัญญาหรือเป็นวิธีการที่ใช้ปัญญาอย่างยิ่งกัน อย่างสูงสุด มันละเอียดถี่ยิบไปหมด และก็เป็นปัญญาซะจริงๆ ด้วย แต่มันเป็นปัญญาที่เกินหรือที่เฟ้อ นี่เป็นปัญญาเพื่อประโยชน์แก่ปัญญาซะเอง ไม่เป็นปัญญาที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ เหตุการณ์อย่างนี้มีมากในครั้งพุทธกาลคือทิฐิ หรือความเห็นหรือปัญหาต่างๆ ที่มีคนตั้งขึ้น และมาทูลถามพระพุทธเจ้าด้วยปัญหานั้นๆ ท่านบอกไม่พูด ไม่พูด ไม่พูด คือจัดเป็นอัพยากตปัญหา ปัญหาที่ไม่ยอมตอบ เช่นถ้าถามว่าถ้าตายแล้วเกิดหรือไม่อย่างนี้เป็นต้น ไม่เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการดับทุกข์ ซึ่งนี่เรียกว่าไม่ใช่อาทิพรหมจรรย์ ไม่ใช่จุดตั้งต้นสำหรับการดับทุกข์ เป็น อนัตถะสันหิโก (นาทีที่ 13.12) ไม่มีประโยชน์คุ้มค่า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่คุ้มค่า ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเพื่อนิพพาน นี่มีมากเป็นปัญหาในรูปของปรัชญาทั้งนั้น แต่ถ้ามาทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะดับทุกข์อย่างไรหรือจะเสนอทูลให้ท่านเทศน์ตอบเฉพาะเรื่อง เฉพาะคน นี่ท่านจะยินดีตอบหรือสนทนาด้วย เพราะเป็นปัญหาที่ควรจะตอบเป็นไปเพื่อประโยชน์ อย่าเข้าใจว่าเขาไม่เคยรู้เรื่องปรัชญามาตั้งแต่พุทธกาลหรือก่อนพุทธกาล รู้ยิ่งกว่ารู้ และโดยเฉพาะพุทธศาสนานี่ ไม่ใช้วิธีการอย่างปรัชญาและไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่เป็นตัวปรัชญา ตัวพุทธศาสนาแท้ๆ นั้นคือตัวพรหมจรรย์ ที่กำลังพูดถึงมา ๒-๓ วันแล้ว ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ประพฤติถูกต้อง ประพฤติประเสริฐแล้วก็ดับทุกข์ลงไปเต็มที นี้คือพรหมจรรย์ไม่เป็นปรัชญา ซึ่งยังไม่รู้จะไปจบลงที่ไหนคือสัจจะเพื่อสัจจะเสียเรื่อยไป ไม่ใช่สัจจะที่แคบในวงจำกัด ที่จะดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้
ถึงแม้มนุษย์เราในสมัยปัจจุบันนี้ที่เรียนมากขึ้นๆ สติปัญญาก็แตกฉาน เฉียบแหลม คมคาย ละเอียดลออ สุขุม มากขึ้น แต่แล้วก็ไม่ได้เอาไปใช้เพื่อจะแก้ปัญหาโดยตรงที่เกี่ยวความดับทุกข์ ไปใช้ในทางปรัชญาที่ไกลออกไป ไกลออกไปเสียมาก เลยมันเป็นเรื่องที่เรียกว่ารู้มากยากนาน ถ้านักปรัชญาเต็มโลกก็ไม่สามารถจะทำโลกนี้ให้มีสันติภาพได้ ต้องเป็นนักศาสนาปฏิบัติโดยถูกต้องลงไป โดยไม่ต้องมีปัญหาอะไรมากมาย มันจะมีปัญหาน้อยมากที่จะทำอย่างไรเราจึงจะมีจิตใจอย่างนี้ แล้วเย็นสบายโลกเรา แล้วคนชนิดนี้ไม่มีเบียดเบียนใคร เพราะอย่างนี้โลกนี้จึงมีสันติภาพ เราไม่ทำกันอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ใช้วิธีทางปรัชญาให้ชวนกันคิดเรื่อยไปไม่มีจุดจบ แล้วก็ยิ่งสนุก ก็ยิ่งรักที่จะคิดว่า รักที่จะรู้ไกลออกไปๆ เพราะมันตรงกันที่สุดแล้วกับคำว่า Philosophy ซึ่งคำๆ นี้โดยตัวหนังสือแล้วแปลว่ารักที่จะรู้ หรือรักความรู้ ไม่ได้มุ่งหมายประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นมรรคผลอะไร แต่ได้ความรู้แล้วก็พอใจแล้วก็รักที่จะรู้
ทีนี้ก็อยากจะบอกซ้ำๆ อยู่เสมอด้วยว่า มันทำความยุ่งยากลำบากเกี่ยวคำพูด Philosophy แปลว่ารักที่จะรู้ แต่ปรัชญานี้แปลว่ารู้อย่างยิ่ง รู้อย่างสูงสุด ปรัชญาที่เป็นภาษาสันสฤตนี่ ตรงกับคำว่าปัญญาในภาษาบาลีแปลว่ารู้อย่างยิ่ง อย่างรอบด้าน อย่างถ้วนถึง อย่างสูงสุด ส่วนคำว่า Philosophy เป็นภาษากรีกนั้นมันเป็นเพียงว่ารักที่จะรู้ อยากที่จะรู้ คือยังไม่รู้ เพราะมันรู้ถึงที่สุดไม่ได้ มันก็ทำในเรื่องที่รู้ถึงที่สุดไม่ได้ ไอ้ความรักที่จะรู้ อยากจะรู้มันก็มีอยู่เรื่อย มันก็ไม่สิ้นสุด นั้นคือ Philosophy ที่มันก็เป็นความยุ่งยากลำบากที่ไปเอาคำว่าปรัชญาทางฝ่ายการออกภาษาอินเดียนี้ไปใช้ว่าแปล คำเป็นคำแปลง ว่าคำว่า Philosophy ต้องรู้ไว้ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นจะเวียนหัว เพราะคำว่าปรัชญานี้ในทางฝ่ายตะวันออกโดยเฉพาะในอินเดีย นั้นเขาหมายถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งรู้จริง รู้ถูกต้อง มีประโยชน์มีจุดจบโดยเร็ว ไม่ใช่ปรัชญาหรือไม่ใช่ Philosophy ซึ่งยังหาจุดจบไม่พบเพราะไปได้เรื่อย
ทีนี้ก็มาถึงพรหมจรรย์ไม่ใช่เรื่องปรัชญา เรื่องต้องการจะรู้เพื่อปฏิบัติทันทีหรือโดยด่วน เพราะว่าเราไม่มัวตั้งปัญหาว่าไอ้ความสุขที่เรา เรียกกันว่าความสุข หรือรู้สึกกันว่าเป็นความสุขนี้ มันเป็นสิ่งที่ควรปรารถนาแน่แล้วหรือ นี่มันไม่ถามอย่างนั้น เพราะมันรู้อยู่แล้วว่าถ้าเป็นความสุขคือไม่มีทุกข์แล้วก็รู้สึกได้ด้วยใจที่เราไม่มีความทุกข์ ก็ดับทุกข์ แต่เราก็เห็นอยู่ว่าเราดับได้ไม่หมด เพราะบางทีในบางกรณีเราก็ดับความทุกข์ไม่ได้ เราดับได้ในบางกรณี ปัญหามันจึงเหลือน้อยว่าจะดับทุกข์ลงไปอย่างไร อาจจะสังเกตเอาเองแล้วพบความดับทุกข์ หรืออาจจะถามครูบาอาจารย์ คนเฒ่าคนแก่เพียงไม่กี่คำพูด ก็รู้วิธีที่จะไปพยายามเพื่อจะดับทุกข์อันนั้นให้ได้ นี้เป็นเรื่องของศีลธรรม หรือของพรหมจรรย์ หรือของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา แต่ทีนี้มันมีข้อที่ทำให้ฉงน สับสน ยุ่งยากก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าปรัชญา สิ่งที่เรียกว่า Philosophy ดีกว่า ขอใช้คำที่มันตายตัวลงไป นั่นมันเอามาใช้พิจารณากับสิ่งใดก็ได้ พุทธศาสนาหรือพรหมจรรย์หรือการดับทุกข์ในพุทธศาสนานี้ เราจะยืมไปพูดอธิบายกันตามวิถีทางของปรัชญาก็ทำได้ แล้วก็ยิ่งสนุกดี ยิ่งสนุกดี ก็เลยไม่รู้จักจบ ผมเข้าใจว่าพวกคุณที่ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามาแล้วคงจะรู้ ว่าสิ่งที่เรียกว่า Philosophy นั้นเป็นวิถีทางการใช้ปัญญา ชนิดหนึ่ง ซึ่งเอาไปใช้กับอะไรก็ได้ แม้แต่ใช้กับก้อนหิน ก้อนนี้ก็ได้ เพื่อจะขุดค้นมาพูดให้หมดว่าที่เราเห็นว่าเป็นก้อนหินนี้ มันจริงหรือ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นก้อนหินจริงหรือ ถ้าไปคิดอย่างนี้ตั้งปัญหาอย่างนี้มันก็เป็นปรัชญา หรือวิธีการคิดอย่างปรัชญาที่จะมาใช้กับก้อนหินก้อนนี้ หรือว่าหินสองก้อนนี้ อ้าวนี้มันสองก้อนแน่แล้วหรือ มันอาจจะคิดมากไปจนถึงกับว่าหลายก้อนหรือว่าเคยเป็นก้อนเดียว หรือมันไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้เรียกว่า วิถีทางของ Philosophy ซึ่งเอาไปใช้กับอะไรก็ได้ และตัวมันเองก็มีอยู่อย่างนั้นเป็นหลักคิดที่คำนวณ Speculate ด้วยเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องคิดคำนวณเท่านั้น
แล้วสิ่งที่จะเอามาสำหรับเป็นวัตถุของปรัชญา ของ Philosophy ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่วัตถุ คนมักจะเอาเรื่องที่ไม่มองเห็นได้ด้วยตา ไม่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย คือเป็นเรื่องนามธรรมที่เรียกกันว่ายิ่งกว่าฟิสิกส์ หรือเรียกว่า Metaphysic นั้นล่ะก็เป็นวัตถุสำหรับปรัชญา ถ้ามันเป็นฟิสิกส์ ก็นับว่ามันก็เป็นวัตถุของวิทยาศาสตร์ นี้เป็นหลักใหญ่ที่จะ ถือไว้สำหรับเข้าใจ ประกันความฟั่นเฝือ สิ่งที่เป็นฟิสิกส์เราสัมผัสรู้สึกได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นวัตถุหรือเป็นอารมณ์ก็ได้ของวิทยาศาสตร์ที่จะค้นคว้าไปบนนั้น ที่นี้ไอ้เรื่องที่เป็นเพียงภาวนานาม เป็นนาม ไม่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า Metaphysic เป็นวัตถุหรืออารมณ์ของปรัชญา เช่น ความดี ความงาม ความจริง อย่างนี้ไม่รู้ตัวมันอยู่ที่ไหน แต่ได้แต่พูดกันอยู่ ปัญหามันก็เลยออกถึงคำพูด วิธีพูด ด้วยการพูดนั้นมันถูกหรือเปล่า ไอ้ตัวความจริง ความงาม ความถูกต้องนี้มันอยู่ที่ไหน ค้นต่อไปโดยวิถีทางของปรัชญา เอาไอ้พวก Metaphysic เป็นอารมณ์
ทีนี้ผมจะพูดให้เป็นการล่วงหน้า สำหรับคุณจะไปปะทะกันเข้ากับปัญหาที่ว่า ถ้าว่าปรัชญามีMetaphysic เป็นอารมณ์ แล้ววิทยาศาสตร์หรือศาสนามีฟิสิกส์เป็นอารมณ์ แล้วทำไมพุทธศาสนานี้จึงมีความทุกข์เป็นวัตถุหรือเป็นอารมณ์สำหรับการศึกษาค้นคว้า เพราะว่าความทุกข์เป็นนามธรรม เป็น Metaphysic ใช่ไหม แล้วก็บอกว่านั้นมันขุ่นว่า พระพุทธเจ้าท่านเก่งกว่านั้น คือไม่จำกัดขอบเขตอยู่แต่เพียงว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง แต่จะเอาใจด้วย อันที่ ๖ คือใจด้วย ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่เรารู้สึกอยู่กับใจ เราจึงไม่จัดสิ่งที่รู้สึกอยู่กับใจนี้ว่าเป็น Metaphysic คือนอกเหนือไปจากฟิสิกส์ ความทุกข์ที่เรารู้สึกอยู่กับใจนั้นล่ะมันเป็นฟิสิกส์ สำหรับเรื่องของศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนา แม้นว่าจะมิใช่วัตถุที่สัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ก็สัมผัสได้ด้วยใจแล้วมีความรู้สึกชัดเจนเหมือนกับที่เราสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายในสิ่งที่เป็นวัตถุ เพราะนั้นเราจึงมีประจักษ์ วัตถุที่ประจักษ์สำหรับเป็นอารมณ์ของการพินิจพิจารณาด้วยใจ เพราะฉะนั้นมันจึงมาอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิต มันเป็นฟิสิกส์ทางฝ่ายวิญญาณหรือฝ่ายจิต เพราะฉะนั้นความทุกข์นี้หาใช่ Metaphysicไม่ ไม่เหมือนกับความงาม ความจริง ความไม่ถูกต้อง ความดี ไอ้ที่มันเป็นเรื่องยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้ความทุกข์มันกำลังเผาอยู่ในใจ รู้สึกว่ารสชาติของมันเป็นอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ฉะนั้นจึงไม่ใช่ Metaphysic เป็นฟิสิกส์ หากแต่ว่าเป็นทาง Spiritual ไม่ใช่ทาง ฟิสิกส์ Physical มันเป็นทาง Spiritual ไม่ใช่ทาง Material แต่มันเป็นทาง Spiritual ที่ชัดเจนอย่างฟิสิกส์ทาง Material เหมือนกัน
เท่าที่ผมสังเกตเห็นที่มันเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้คือพวกไอ้นักศึกษาปรัชญาชั้นเยี่ยมยอด นั้นเขาจะให้ความทุกข์นี้มันเป็น Metaphysic เพราะถ้าพิจารณาเอาความทุกข์เป็นอารมณ์ สำหรับการพิจารณามันเลยจัดให้เป็นปรัชญาไปเสีย ถ้าเราบอกยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป ไม่ใช่อย่างนั้นอยู่เสมอ ซึ่งก็คือตายตัวเลย พุทธศาสนาโดยเฉพาะนี้จะไม่เป็นปรัชญา เพราะต้องการจะเอาความทุกข์ที่เกิดอยู่จริง คือความที่ต้องทนทรมานเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่ได้ตามต้องการ การยึดมั่นถือมั่น จนหนักอกหนักใจอยู่นี้ เอานี้เป็นตัวเรื่อง ก็เรียกว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่โดยประจักษ์ แล้วก็หาทางที่จะดับมันไปโดยเร็ว จะไม่มัวตั้งปัญหาถามว่าไอ้ที่ว่าความทุกข์นี้มันทุกข์จริงหรือ เพราะถ้าไปตั้งปัญหาอย่างนั้นเป็นปรัชญา เดี๋ยวนี้มันเป็นที่รู้สึกแม้นแต่สุนัขก็รู้สึกว่านี้มันเป็นความทุกข์ ต้องการจะพ้นจะออก ไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นจึงมีวิธีที่ตรงไปทันทีที่จะออกไปเสียจากความทุกข์นี้ มันจึงมีระเบียบปฏิบัติเลยที่เรียกว่าพรหมจรรย์ ลงไปเป็นแบบ แบบ แบบ แบบ แบบ แบบอย่างนั้นว่าจะดับความทุกข์นั้น ดับอย่างนี้ดับความทุกข์นี้ ดับอย่างนี้ดับความทุกข์นี้ ต้องดับอย่างนี้ หรือถ้าจะสรุปก็ให้หมดจดสิ้นเชิงมันก็คือ ทำลายความโง่ ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวเป็นตนนั้นแหละเสีย มันเป็นปรัชญาไปไม่ได้เพราะว่าพอเราทำลาย ความรู้สึก ประเภท selfish อะไรเหล่านี้ออกไปหมดแล้ว มันไม่มีความทุกข์เลย มันก็พิสูจน์อยู่ทันทีว่า อ้าวนี้มันถูกแล้ว ไม่ต้องถามว่าถูกหรือไม่ถูกอีก เพราะมันดับทุกข์จริง ก็เลยไม่ต้อง เลยไม่มีทางที่จะเป็นปรัชญา ไม่อยู่ในวิธีการของปรัชญา ถ้าทุกข์ก็ยังรู้สึกอยู่ว่าเป็นทุกข์ ถ้าดับทุกข์ได้มันก็เป็นเรื่องไม่มีทุกข์ ที่รู้สึกอยู่โดยประจักษ์เหมือนกันว่าไม่มีทุกข์ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะทำให้ทุกข์หายไปโดยวิธีใดก็ตาม นี้เรียกว่าพรหมจรรย์ คือตัวศาสนา มีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิธีการของปรัชญาและมิใช่เป็นปรัชญา นี้จึงบอกให้ทราบว่าพุทธศาสนา ตัวพุทธศาสนาโดยตรง ตัวพุทธศาสนาแท้ๆ หรือที่เรียกว่าพรหมจรรย์นี้ก็ตาม ไม่ใช่ปรัชญา ก็ยังเป็นข้าศึกกันกับปรัชญา คือไม่ยอมใช้วิถีทางของปรัชญา เพราะว่าปรัชญาจะพาไปให้ยาว ให้เรื่องยาวออกไปเป็นมากความยาวสาวความยืด ไม่มีที่สิ้นสุด แม้แต่ว่าความทุกข์นี้คืออะไรมันก็ตอบไม่ได้ สมมติฐานแห่งความทุกข์นี้แน่แล้วหรือ แน่แล้วหรือ แน่แล้วหรืออยู่นั่น มันจึงเป็นข้าศึกแก่กัน ถ้าใช้วิธีทางปรัชญาคือ Philosophy กับศาสนาหรือกับพรหมจรรย์ แล้วจะเป็นล้มละลายแน่ นี่มันลำบากสำหรับพูดใช่ไหม พวกพูดว่าปรัชญามันเป็นปัญญาที่ถูกต้องของจิตใจไปเสีย ต้องใช้คำว่า Philosophy อยู่เรื่อยไป จึงเป็นแต่เพียงความรักที่จะรู้อย่างยิ่งอย่างจะขาดใจ นั้นคือ Philosophy แล้วพอได้รู้อะไรออกไปนิดหนึ่ง ก็ดีใจเหลือประมาณ แล้วปัญหาเหลืออยู่อีกก็ไปต่อไปอีก ต่อไปอีก จนไม่รู้ว่าจะรู้อะไรกันแน่ ไปจบกันที่ไหน นี้เป็นวิธีปรัชญา
ทีนี้พรหมจรรย์หมายถึงตัวการประพฤติปฏิบัติกระทำลงไป ไม่ใช่เพียงแต่คิดๆ นึกๆ ไม่ใช่เพียงแต่ทฤษฎี ไม่ใช่เพียงแต่เสียงหรือคำสั่งสอน หรือระบบการสั่งสอน ระบบการเล่าเรียนนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา เพราะนั้นยังไม่ใช่ตัวจริงของพุทธศาสนาเป็นเพียงเบื้องต้น หรือตระเตรียม หรือว่าไม่เกี่ยวกันเลยก็มี เช่นว่าพระไตรปิฎกตั้งมากมายนี้ ก็อาจจะเรียกว่าเป็นปริยัติศาสนา เป็นตัวของศาสนา แต่เป็นศาสนาด้วยคำพูดเรื่องปริยัติ ไม่ใช่ตัวพรหมจรรย์ ไม่ใช่ตัวศาสนาแท้ ตัวศาสนาแท้ต้องอยู่ที่การประพฤติหรือกระทำลงไปจริง ๆ เราจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ เราจะต้องปฏิบัติพรหมจรรย์ ขอให้พรหมจรรย์ก้าวหน้าไปตามลำดับจึงจะเป็นตัวศาสนา แล้วก็คำว่าปรัชญาหรือว่าปัญญามันอยู่ในนั้นด้วย ในตัวพรหมจรรย์นั้นด้วย แต่ต้องเป็นคำว่าปรัชญาหรือปัญญาที่มีความหมายอย่างในภาษาสันสกฤตในภาษาบาลี ซึ่งถูกยืมไปให้เป็นคำแปลของคำว่า Philosophy อย่างทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เอาล่ะเป็นอันว่าพุทธบริษัทนี้ยอมรับว่า Philosophy นั้นเป็นเรื่องของการใช้สติปัญญาอย่างเฉียบแหลม ลึกซึ้งเหลือประมาณ แต่ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่พรหมจรรย์ในพุทธศาสนาเป็นการใช้สติปัญญาที่เพ้อเจ้อ ที่เฟ้อที่เกิน ไม่มุ่งหมายที่จะเอาประโยชน์ทันทีในปัญหาเฉพาะหน้า มัวแต่จะไปหาความจริง หาความถูกต้อง หาความหมายของความดี ความอะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นนามธรรม ที่มิได้กำลังเป็นปัญหาอยู่ในจิตใจ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในจิตใจ ไม่เหมือนกับตัวความทุกข์ ซึ่งปรากฏอยู่ในจิตใจ และมีหลักที่ตายตัวลงไปว่าพุทธศาสนาต้องตั้งต้นที่ความทุกข์ หรือว่าถ้าเป็นศาสนากันจริง ๆ ไม่ว่าศาสนาไหนดีกว่า จะต้องตั้งต้นปัญหาลงไปที่ตัวความทุกข์ของเราหรือของสังคมอะไรก็ตาม มีความทุกข์นั้นมาเป็นตัวปัญหาและเห็นชัดอยู่ รู้สึกอยู่ก็หาวิธีทำลายไป ลงไปนี้จะเป็นตัวศาสนาซึ่งไม่ใช่คำสั่งสอน เป็นขั้นปฏิบัติลงไปอย่างถูกต้อง เดี๋ยวจะไปเอาความหมายว่าเป็นเพียงคำสั่งสอนตามคำว่าศาสนา ซึ่งแปลว่าคำสั่งสอนเสียอีก คำพูดทำยุ่ง นี้พุทธบริษัทหรือพระพุทธเจ้าก็ตามไม่ใช่นักปรัชญา ไม่ใช้วิธีการทางปรัชญาโดยเนื้อแท้ แต่ถ้าเขาต้องการให้เราพูดหรืออธิบายหลักธรรมะในพุทธศาสนาตามวิถีทางหรือวิธีการ จะเป็นเทคนิค หรือเทคนิคก็ตามใจของปรัชญาเราก็ทำได้ แต่ว่าเราไม่ทำเพราะมันเสียเวลา เราจะพูดกันแต่ในทางของศาสนา ของวิทยาศาสตร์เรื่อยไป เพื่อผลเร็วๆ อย่าลืมว่าไม่ว่าเรื่องอะไรทุกเรื่องเลย แม้แต่ก้อนหินก้อนหนึ่งก็เอาไปพูด ให้ไพเราะให้ลึกซึ้งให้สนุกสนานตามวิถีทางของปรัชญาได้ทั้งนั้น ฉะนั้น เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ก็ไปพูดอย่างปรัชญาได้ เรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้ก็พูดอย่างปรัชญาได้ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ก็ไปใช้พูดอย่างวิถีทางปรัชญาได้ แต่ไม่ต้องการ คือมันไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ก็ดึงมา ออกมาๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์หรือปฏิบัติกันเร็วๆ ในวิถีทางของวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิต ทางฝ่ายวิญญาณ แล้วก็เป็นตัวพรหมจรรย์ เป็นตัวพุทธศาสนาขึ้นมา แล้วดับทุกข์ได้ทันทีตามความประสงค์อย่างนี้มากกว่า ขอให้จำไอ้หลักที่มัน มันต่างกันอย่างที่ไม่มีทางจะเข้ากันได้นี้ไว้ให้แม่นๆ มันจะต้องเผชิญเข้าวันหนึ่งแน่ พรหมจรรย์เป็นการขูดเกลาอยู่อย่างเรียกว่า ขูดอย่างกรากๆ โกรกๆ แท้ๆ ขูดเนื้อร้ายขูดสิ่งร้ายให้ออกไปจะเป็นปรัชญาได้อย่างไร ไม่มี Speculation ที่ติดต่อกันยืดยาดเหมือนอย่างกับเรื่องของปรัชญา เพราะเราไม่เห็นว่าไอ้ตัวความทุกข์นี่เป็นนามธรรมชนิดที่ไม่อาจจะสัมผัสได้โดยประจักษ์ มันทุกข์อยู่มันเดือดร้อนอยู่รู้สึกอยู่กับจิต สำหรับวัตถุล้วน ๆ ที่จะอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่มันก็ต้องยังมีใจ ที่มันรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งบางสิ่งที่ไม่ต้องผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้สึกโดยประจักษ์ได้ด้วยจิตใจนั้นก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเป็นวัตถุสำหรับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตใจ ซึ่งต้องเรียกว่าวิทยาศาสตร์ เออวัตถุ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ คือมีวัตถุที่เป็นวัตถุของใจหรือสูงขึ้นไปกว่าใจ ก็ของสติปัญญา ก็เลยเรียกว่า เรื่องในระดับ Spiritual สูงขึ้นไปกว่าระดับ Mental ซึ่งธรรมดาก็สูงอยู่กว่าระดับ Material หรือ Physical อยู่แล้ว นี่เป็นเหตุจะให้พูดกันไม่รู้เรื่องกับพวกฝรั่งหรือนักปรัชญาที่เขาเรียนกันอย่างวิธีปรัชญาตะวันตก เป็น Philosophy จะพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วนักปรัชญาตะวันตกพวก Philosopher ตะวันตก พอมาแตะต้องพุทธศาสนาก็ตะครุบเอาไว้เป็นเรื่องปรัชญาเป็นเรื่อง Philosophy ไป จึงอธิบายกันมากที่สุดหรือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยพวกนักปรัชญาฝรั่งนี้มันเขียนพุทธศาสนาเป็นเรื่อง Philosophy ไปหมด ก็เลยไม่ถึงตัวพุทธศาสนาให้ทำจนตายเป็นฝูงๆ ไป ตลอดปีๆ มันก็ไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนาได้ เพราะพุทธศาสนามันเป็นตัวพรหมจรรย์ มีการประพฤติ กระทำลงไป ตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ นี้ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งแท้จริงอย่างยิ่งอันหนึ่ง ที่ว่าทำไมนัก Philosopher เหล่านั้นจึงไม่เหลือประโยชน์จากพุทธศาสนา เพราะเขาทำให้มันเป็น Philosophy ไปหมด ก็ไม่ได้รับประโยชน์ที่จะเป็นการดับทุกข์จริงๆ ตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา ไม่เบื่อหน่ายไม่คลายกำหนัด ไม่ปล่อยวาง ไม่ดับ ไม่นิพพาน ที่เราคนไทยสมัยนี้โดยเฉพาะ ไปตามหลังฝรั่ง ฝรั่งเขามีอะไร เขาชอบอะไร เขายกย่องสรรเสริญอะไร เราก็ไปตามเขา แล้วเราก็ไปเป็นนัก Philosophy ตามก้นเขา นั้นก็เลยเอามาทำอะไรกับพุทธศาสนาของตัวเองไม่ได้ วิธีที่เราจะสอนพุทธศาสนาให้ฝรั่งก็เป็นเรื่อง Philosophy ไปอีก ซึ่งฝรั่งอาจจะรู้ดีกว่าเราไปเสียอีก ที่ทำนายกันไว้ว่าไม่นานฝรั่งจะมาสอนพุทธศาสนาจริงแน่ แต่ฝรั่งจะสอนได้เพียงพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นปรัชญา มันมีอย่างนั้น ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้และมันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน ถ้าคุณยังไม่เข้าใจ คุณก็เข้าใจเสียทีว่าไม่ว่าอะไรเป็นเรื่องๆ หนึ่ง เป็น factor อันหนึ่ง นี้เราจะมองมันแล้วก็พูดมันในแง่ปรัชญาก็ได้ ในแง่วิทยาศาสตร์ก็ได้ กระทั่งในแง่ของจิตวิทยาหรือตรรกวิทยาหรือศิลปะ อะไรก็ได้ทั้งนั้น อย่างก้อนหินก้อนนี้คุณจะอธิบายมันในแง่ไหนก็ได้ ปรัชญาก็มีพูดกันได้ การคำนวณถึงไอ้ความที่ ภาวะที่มันไม่ได้เป็นอยู่จริง เกี่ยวกับก้อนหินก้อนนี้มันยังมีอีกมาก หรือจะดูกันในแง่ของจิตวิทยามันก็ไปในแง่ที่ไม่มีจิตหรือว่าไม่เกี่ยวกับจิต แต่มันก็เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายด้วยคำว่าจิต อธิบายเรื่องตรรก เหตุผลมันก็มี ไม่ใช่เป็นวัตถุล้วนๆ จะไปทางศิลปะมันก็มีศิลปะตามธรรมชาตินี้มันก็มี ถ้าเป็นเรื่องของคน สติปัญญาของคนรู้สึกคิดนึกของคนก็ยิ่งอธิบายได้มาก นั้นขอให้ทราบไว้ว่าพุทธศาสนามีมากแง่มากมุมแล้วแต่จะไปดู แล้วจะอธิบายกันในแง่อะไร อย่างพุทธศาสนาในฐานะที่เป็น Buddhism as นี้ ก็ as อะไร ก็ as Philosophy as Morality as Psychology แล้วแต่จะเอาพุทธศาสนานี้ไปพูดกันในแง่ไหน ที่ในเมืองไทยเราก็พูดถึงพุทธศาสนากันในแง่ของวรรณคดี หรือว่าอักษรศาสตร์เสียมากกว่าใช่ไหม มัวแต่พูดกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ในแง่ของอักษรศาสตร์ ภาษาบาลี ภาษา แม้แต่จะเรียนนักธรรมนี้แหละมันก็เรียนในแง่ของอักษรศาสตร์บ้าง ของจิตวิทยาบ้าง ของ logic บ้าง อะไรไปเสียมากว่าที่จะเป็นตัวพรหมจรรย์ลงไปโดยตรง
คุณมาบวชแล้วก็มาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในแง่ไหน คือต้องการพุทธศาสนาในฐานะจะช่วยเป็นอะไร อย่างน้อยที่สุดในฐานะที่เป็นศีลธรรมก็ยังดี ว่าเป็นพรหมจรรย์ในขั้นต้นๆ เป็นศีลธรรมที่จะประพฤติให้มันน่าดูในชั้นต้นๆ เป็นศีลธรรม แต่อย่าพูดกันในแง่ของปรัชญามันจะเป็นปรัชญาของศีลธรรมไป คำว่า Morals หรือ Morality หรือ Moralise นั้นมันหมายถึงศีลธรรม แต่ถ้าปรัชญาของศีลธรรมก็ไปเรียกเสียใหม่ว่าจริยธรรม หรือ Ethic ที่เรียกว่า Ethic นั้นน่ะคือปรัชญาอันนั้น คือปรัชญาของศีลธรรมไม่ใช่ตัวศีลธรรม ถ้าไปพูดถึง Ethic ก็กลายเป็น Philosophy เตลิงเปิดเปิงไปจนพูดกันไม่มีจบ ถ้าเราพูดกันในศีลธรรมโดยตรงมันก็เรื่องปฏิบัติทันที แต่เดี๋ยวนี้ทำยุ่ง ถ้าเราไปเปิดหนังสือศีลธรรมเรื่อง Morals ดูมันอธิบายอย่างปรัชญาอย่าง Ethic ทั้งนั้น เป็นศีลธรรมในรูปของปรัชญาทั้งนั้น ก็เลยไม่ต้องปฏิบัติกัน ไปมัวเถียงกันว่าอย่างไรกันแน่ อย่างไรกันแน่ อย่างไรกันแน่ มีแต่บัญญัติทั้งนั้นแหละ เอาล่ะทีนี้มาถึงตอนที่น่าหัวอย่างยิ่ง สมมติว่ามีการคำนึงคำนวณด้วยเหตุผลถูกต้องตามวิถีทางของปรัชญาโดยสมบูรณ์แล้วมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะมันปฏิบัติไม่ได้ เพราะบังคับจิตไม่ได้ พวกนักปรัชญา Philosopher ต่างๆ มาศึกษาพุทธศาสนาใช้วิถีทางปรัชญาจับพุทโธ พุทธศาสนาได้ถูกต้องตามหลักวิธีการของปรัชญานั้นแล้ว แต่มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเพราะมันปฏิบัติไม่ได้ เพราะบังคับจิตไม่ได้ คนเราบังคับกายวาจาไม่ได้มันจึงต้องมาหาพรหมจรรย์ แม้ในขั้นศีลธรรมแล้วก็สูงขึ้นไปจนถึงขั้นที่ปฏิบัติ ทำลายกิเลสให้หมดไปเลยนั้นจึงจะมีประโยชน์ นั้นศีลธรรมมันจึงเป็นตัวการประพฤติ กระทำ เป็นตัวพรหมจรรย์เป็นเนื้อแท้พุทธศาสนา ส่วนปรัชญานั้นก็ยังคงเป็นเพียงการคำนึงคำนวณตามวิถีทางของการใช้สติปัญญาชนิดที่ไม่มีที่สิ้นสุดเพราะรักจะรู้จนเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่ยอมนำตัวลงไปสู่การปฏิบัติ จะตั้งปัญญาสำหรับรู้เรื่อยไป
ทีนี้ก็มีอีกแง่หนึ่งซึ่งจะต้องทราบไว้ด้วยว่าไอ้ของทั้งสองนี้มันยังเกี่ยวข้องกันอยู่ ยังแยกกันไม่ได้สำหรับในชีวิตของมนุษย์เรา เพราะเรามีความรู้สึกคิดนึก และมีสติปัญญา ที่สติปัญญามันจะแยกไปทางไหน จะแยกไปทางปรัชญาหรือจะแยกมาทางศาสนาหรือทางพรหมจรรย์ก็ต้องใช้สติปัญญาเหมือนกัน มันเป็นสติปัญญาคนละแบบ เรามีเจตนาดีจะดับทุกข์แต่ในครั้งแรกเราอาจจะไม่ยอมเชื่อง่ายๆ เราอยากจะให้การสอบถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางสติปัญญานี้เป็นไปพอสมควรเสียก่อนเพราะว่าความทุกข์บางชนิดเรายังไม่รู้จัก เราจึงต้องใช้วิธีการทางปรัชญาบ้างตามสมควร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รู้จักอยู่แล้วไม่ต้องใช้เลย เช่นว่าความทุกข์นี้ถ้ารู้จักอยู่แล้วก็ไม่ต้องใช้วิธีปรัชญาเลย ใช้วิธีวิทยาศาสตร์ทางจิตใจฆ่ากิเลส ฆ่าตัณหากันลงไปอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นี้มันอยู่ในรูป ถ้าเข้าใจก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าผู้นั้นยังไม่เข้าใจก็กลายเป็น Philosophy หรือปรัชญา นั้นสิ่งที่คุณได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันมันจะเป็น Philosophy หรือว่าจะมาเป็นตัวศาสนามันก็แล้วแต่ว่าคุณเข้าใจหรือไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตัวเนื้อแท้ของพุทธศาสนาที่มีอยู่ว่า เมื่อตาเห็นรูปมันก็เกิดวิญญาณทางตาขึ้นมานี่เป็นปรัชญาหรือเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อตาเห็นรูปจะเกิดการเห็นทางตาขึ้นมา มันยังเป็นปรัชญาเป็น Philosophy หรือว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ทีนี้ไอ้ ๓ อย่างนี้ เราเรียกว่าผัสสะ มองเห็นไหม ตา รูป แล้วการเห็นทางตา สามอย่างมันถูกกันนี่เราเรียกว่าผัสสะ ที่ว่ามีผัสสะต้องมีเวทนาคือความรู้สึก จากเวทนาก็ต้องมีความอยาก อย่างใดอย่างหนึ่งไปตามอำนาจของเวทนา ถ้าน่ารักก็อยากได้ ไม่น่ารักก็อยากจะตีมันให้ตายอย่างนี้เป็นต้น พอมันมีความอยากแล้วก็จะเกิดความรู้สึกเป็นอุปาทาน มีฉันผู้อยากนี่ขึ้นมา แล้วมันก็มาหนักอยู่ที่ฉันก็เกิดความทุกข์ มีตัณหา มีอุปาทาน มีความทุกข์ ถ้ามันรู้สึกเป็นที่ประจักษ์แก่ใจมันก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางใจ แต่ถ้ามันเข้าใจไม่ได้ก็เป็นปรัชญา หรือเป็น Philosophy เรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้มันก็เป็น Philosophy แก่ผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่ว่าฝรั่ง ไม่ว่าไทย ไม่ว่าพระหรือว่าฆราวาส แต่พอเข้าใจมันก็เป็นเรื่องที่แบแฉ เห็นชัด เป็นวิทยาศาสตร์ไปทันที นั้นเรื่องนิพพานก็เป็นวิทยาศาสตร์ไปทันทีแก่ผู้ที่ถึงนิพพานคือพระอรหันต์ ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงและยังไม่เข้าใจแล้วมันก็ยังไกลเกินไป มันก็เป็นปรัชญาเป็น Philosophy อย่างคำนึงคำนวณไปตามวิถีทาง Philosophy นั้นจึงเป็นการยากที่จะดึงให้พวกฝรั่งนัก Philosopher มารู้จักนิพพานในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นศาสนา เขาก็ต้องไต่มาตามวิถีทางของปรัชญา แต่แล้วมันก็วิถีทางของปรัชญา มันก็ดึงไกลออกไป ไกลออกไป มันจะไปตั้งปัญหาว่ามีได้หรืออะไร จะเป็นไปได้หรืออะไร อย่างนี้เรื่อยไป เลยจับตัวเขามาเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้เร็วเท่าไรได้ก็ยิ่งดี บอกให้รู้ว่าเมื่อตากับรูปได้มาถึงกันเข้าก็เกิดการเห็นทางตา สรุปแล้วมันไม่ต้องพิสูจน์หรือคำนวณอะไรกันแล้วก็เขาเคยเห็น เห็นรูปด้วยตา แล้ว ๓ อย่างนี้มีการถึงกันเข้าเราเรียกว่าผัสสะอย่างนี้จะดึง กระชากมาจากไอ้ความเป็นนัก Philosopher มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนา ก็มีเวทนา มีตัณหา มีอะไร จริงในใจมาทั้งนั้นเลย ต้องให้เขามองลงไปยังที่เขารู้สึกได้จริง แม้เคยรู้สึกมาก่อน เคยพบมาก่อนก็ได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ก็ยิ่งรู้สึกจริงยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นผู้ปฏิบัติพรหมจรรย์เข้าถึงตัวศาสนาในรูปของวิทยาศาสตร์ทางวิญญาณนั้นเลย นี่คือหลักเกณฑ์อันหนึ่งที่จะพูดได้กันว่า ถ้าไม่เข้าถึงธรรมะนั้น ธรรมะนั้นจะอยู่ในรูปของปรัชญาไปก่อน พอเข้าถึงธรรมะนั้น เรื่องนั้นก็จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป แต่โดยเนื้อแท้แล้วในพุทธศาสนานี้เรามุ่งหมายวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่ให้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และไม่เป็นเรื่องของปรัชญา เราจึงถือว่าตัวพรหมจรรย์แท้ๆ เป็นข้าศึกกันกับปรัชญา เพราะปรัชญาจะดึงไปในทางที่ไม่มีการปฏิบัติ มีแต่การคิดการคำนวณการหาความจริงเพื่อความจริงลึกขึ้นไป ลึกขึ้นไป ลึกขึ้นไป นั้นตัวพรหมจรรย์ที่จะดับทุกข์กันโดยเร็วราวกับว่าไฟไหม้อยู่ที่ศีรษะจะต้องรีบดับ หรือถูกยิงด้วยลูกศรเจ็บปวดอยู่จนต้องรีบดึงออก ถอนออก ถ้าต้องการให้ทันแก่เหตุการณ์อย่างนี้แล้วต้องใช้วิถีทางวิทยาศาสตร์คือศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ในทางฝ่ายวิญญาณคือพุทธศาสนา ถ้าไปหลงปรัชญาก็ไม่ต้องรักษากัน เช่นมีตัวอย่างในสูตร ว่าบุรุษคนหนึ่งเขาถูกยิงด้วยลูกศรเสียบคาอยู่ เจ็บปวดอยู่ นอนร้องครวญครางอยู่ เขาไม่ให้ทำอะไรหมดจะต้องตอบเขาให้รู้เสียก่อนว่าใครยิงเขา ยิงเขาทำไม ยิงด้วยลูกศรอะไร ชุบยาพิษอะไร สายศรทำด้วยอะไร คันศรทำด้วยอะไร ยิงจากทางทิศไหน เขาจะต้องการปัญหาอย่างนี้ก่อนไม่อย่างนั้นเขาไม่ยอมให้รักษา ทีนี้เขาก็ตาย เขาก็ตายเปล่าเป็นเรื่องปรัชญาไป ถ้าเป็นเรื่องพรหมจรรย์เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ต้องเอาออกเดี๋ยวนี้ไม่รู้มันจะทำด้วยอะไรก็ตามใจ ยาพิษอะไรก็ตามใจจะต้องออกเดี๋ยวนี้ต้องใส่ยา ต้องล้าง ต้องแก้ไขให้ทันแก่เวลา ให้มันหายเร็วที่สุด อุทาหรณ์อย่างนี้ก็มีเป็นคำบาลี เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าเขาไปพูดในแง่ของปรัชญานั่นเอง เลยไม่ต้องรักษากัน ถ้าคำถามตั้งมาในรูปของปรัชญาชนิดนี้พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ยอมตอบ มีมากมายหลายประเด็น หลายสิบประเด็นเรียกว่าอัพยากตปัญหาหรือ อัปพยากะละนะปัญหา (นาทีที่ 57.01) ปัญหาที่ไม่ยอมบอก ไม่ยอมพูด ไม่ยอมพยากรณ์ ไม่ยอมอธิบาย แต่พอถามว่าจะดับทุกข์เดี๋ยวนี้ที่เป็นอย่างนี้อย่างไรท่านจะตอบ ท่านจะพยายามตอบจะพยายามช่วยเหลือให้เขาดับทุกข์ได้นี้คือปัญหาที่ยินดีจะตอบหรือควรตอบ
วันนี้ก็เราพูดกันเรียกว่ามันไม่มีสาระอะไรก็ได้ แต่ว่าจะเป็นเรื่องที่คุณจะต้องเผชิญในอนาคตที่เราจะมีเพื่อนฝูงเป็นชาวต่างประเทศหรือว่าตัวเราเองนี้ไปหลงกลิ่นไอของปรัชญามาแล้ว ก็จะทำเรื่องนี้ให้ติดชะงักงัน โดยที่จะใช้วิถีทางปรัชญาว่าดับทุกข์ตามพุทธศาสนานี้มันเป็นไปไม่ได้ งั้นผมจึงพูดให้มันเป็นเหมือนกับตัดบทกันซะเลย หย่าขาดกันเสียเลย ว่าพรหมจรรย์ไม่ใช่ปรัชญาและเป็นข้าศึกแก่กันและกัน และขอให้พรหมจรรย์นี้เป็นวิทยาศาสตร์แต่ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ที่ลึกกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมดาทางวัตถุเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ทางวิญญาณ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็เพราะว่าไอ้ตัวความทุกข์นั้นเป็นที่ประจักษ์แก่ความรู้สึกแล้วไม่ต้อง Speculate อย่างไรกันอีกแล้ว ทีนี้เมื่อว่ามีการปฏิบัติลงไปแล้วมันก็พิสูจน์มันเองทันทีว่าไอ้ความรู้สึกอันนี้มันหายไป ความทุกข์อันนี้มันหายไปเพราะฉะนั้นมันจึงวิถีทาง เป็นวิถีทางวิทยาศาสตร์อยู่แต่ต้นจนปลาย ถ้าเขาถามว่าพุทธศาสนาเป็นอะไรก็บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์แต่เป็น Spiritual และเราจะไม่ถือว่าไอ้ความทุกข์นี้เป็น Metaphysic เหมือนที่ฝรั่งเขาจะถือว่ามันเป็น Metaphysic เราจะถือเป็นฟิสิกส์แต่เป็นทาง Spiritual ฟิลิกส์ก็เลยใช้หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ได้โดยสมบูรณ์ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งก็อยากจะพูดเสียให้มันเกลี้ยงเกลาไปเลย แล้วเราก็จะได้พูดเรื่องอื่นกันต่อไปอีกให้มันหมดปัญหาที่เป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรค ในการศึกษา ในการปฏิบัติเป็นเปลาะ ๆๆ ๆ ไป เวลาสำหรับพูดวันนี้มันก็หมดกันที