แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๑๖ วันนี้เป็นวันสำหรับการบรรยายต่อไปจากที่ได้บรรยายค้างไว้ อันว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมที่ยังไม่จบ ในครั้งที่แล้วมาได้พูดถึงสภาวธรรมประเภทสังขตะ คือมีปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกสำหรับผู้ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ความสำคัญเรื่องนี้มันมีมากก็จริงแต่มันไม่ชวนให้สนใจ มันชวนให้รำคาญมากกว่า เหมือนอย่างเมื่อเราจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง ก็ไปรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องสร้างบ้านมากองไว้เกะกะ ไม่น่าดู น่ารำคาญอย่างยิ่ง แต่มันก็ต้องทำหรือว่าทนทำ ทนรำคาญ และทนลำบากด้วย กว่ามันจะเป็นบ้านที่น่าดู การศึกษาเรื่องสภาวธรรมนี้ก็คล้ายๆ กับอย่างนั้น มันต้องทน ศึกษาทำความเข้าใจรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ที่แล้วมาได้กล่าวถึงเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุดของพวกสังขตธรรมคือเรื่องธาตุที่เป็นสังขตธาตุ หรือธาตุทั้งหลายที่มีปัจจัยปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย แยกออกไปเป็น นามธาตุ รูปธาตุ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัตถุธาตุกับมโนธาตุที่ประกอบกันอยู่เป็นคนๆ หนึ่ง คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ อย่างนี้เป็นรูปธาตุ ส่วนอากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ๒ อย่างนี้เป็นนามธาตุ พวกนี้เป็นสรรพชื่อบ้าง โดยที่เป็นธาตุของจิตใจที่ไม่มีรูปร่างบ้าง การที่ธาตุ ๖ ธาตุนี้ประกอบกันขึ้นเป็นคนๆ หนึ่ง เมื่อยังไม่ได้ทำอะไรมันก็มีค่าเหมือนกับยังตายอยู่ ตามแบบของชีวิตที่ยังไม่อยู่ในขณะที่ทำหน้าที่อะไร อย่างมากก็เพียงแต่ว่า ทรงอยู่ หายใจอยู่อะไรอยู่อย่างนี้ มันยังไม่มีความหมาย จนกว่าจะถึงเวลาหนึ่งซึ่งมันทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งข้างนอก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเอง ทางใดทางหนึ่ง คราวละทางไม่ใช่ทีเดียวทั้ง ๖ ทาง ธาตุเหล่านั้นก็ประกอบปรุงกันขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ ซึ่งก็มี ๖ ตามเรื่องหรือว่าตามความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีอยู่ในโลก หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ ในเวลานั้นมันมีสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ เราก็รู้เรื่องอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูก็เป็นเรื่องที่น่ารำคาญ ที่จะศึกษา แต่กลับเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด นี่เราจะต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับอายตนะว่ามันมีอะไรมากน้อยเท่าไรและไปถึงไหนกัน ถ้ามันไม่มีเรื่องเกี่ยวกับอายตนะเหล่านี้แล้วมันก็เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร คนที่อยู่ในโลกทุกคนไปพิจารณาดูให้ดีว่า มันมีเรื่องที่เกี่ยวกับอายตนะมันจึงมีเรื่องต่างๆ ในโลก อย่างที่มันกำลังเป็นกันอยู่นี้ มันเป็นตัวปัญหาสำคัญที่สุดก็อยู่ที่ตรงเรื่องอายตนะทั้ง ๖ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่ามันเป็นทั้งหมด ทุกๆ เรื่องท่านใช้คำว่า สัพพัง สิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงคืออะไร ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของคู่กัน สิ่งทั้งปวงมีเพียงเท่านั้น ผู้ที่ไม่เคยศึกษาอาจจะอวดดี ค้านคำพูดข้อนี้ก็ได้ที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีเพียงเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาไปก็จะเห็นด้วยว่าสิ่งทั้งปวงมันมีเพียงเท่านั้น กระทั่งต้องชี้ให้เห็นว่าไอ้ที่เรียกว่า นรก มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่า สวรรค์ มันก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลานั้น ทีนี้คนที่ยังไม่รู้อะไร หรือจะเรียกว่าคนโง่ ก็จะหาว่าด่าอีก มันจะไปเอานรกหรือสวรรค์กันที่อื่น มันก็ต่อตายแล้ว เข้าโลงไปแล้ว จึงจะไปได้นรกหรือไปได้สวรรค์ ตามใจของมันก็ไม่เข้าใจทีว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมันไม่ได้อย่างใจ ร้อนเป็นไฟ มันก็เป็นนรก เมื่อได้อย่างที่ต้องการ สนุกสนานสะดวกสบายมันก็เป็นสวรรค์ นี้จริงกว่า แน่นอนกว่าแต่ถ้าได้นรกชนิดนี้ที่นี่แล้วตายไปถ้ามันมีอีกมันก็จะต้องได้นรกอีก สวรรค์ก็เหมือนกัน ถ้ามันทำให้ได้อย่างนี้ที่นี่แล้ว ตายไปมันก็ยังคงได้อีกถ้ามันมีอีก ถ้ามันไม่มีมันก็เลิกกัน มันไม่แน่นอนเหมือนกับที่นี่ เดี๋ยวนี้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ แล้วถ้าคนเราจะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน มันก็ต้องชนะไอ้สิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ให้ได้ จัดการเรื่องนี้ให้มันสิ้นสุดลงไป ก็มีนิพพานปรากฏออกมาได้ด้วยการจัดการให้ถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็อย่าไปเป็นทาส ทาสนี้หมายถึงทาสขี้ข้า อย่าไปเป็นทาสเป็นบ่าวของอายตนะคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เลยรู้เสียด้วยว่าไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นก็เป็นธาตุ คือ เป็น ธา-ตุ ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น ธาตุกาย ธาตุใจ แต่คนมันโง่เข้าไปเป็นทาส เป็นบ่าว เป็นขี้ข้าของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติปรุงแต่งกัน มันเป็นสภาวธรรมที่จำเป็นจะต้องศึกษาให้ดี ขอร้องให้ทนลำบากทนความรำคาญในการที่จะศึกษาเรื่องนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเป็นอายตนะ หมายความว่ามันพร้อมแล้วที่จะรับสัมผัสทางใดทางหนึ่ง กล่าวคือเมื่อมีการสัมผัสทางนั้น ยกตัวอย่างเช่นว่าทางตา เมื่อมีรูปมาอาศัยกันเข้ากับตามันเนื่องกันเข้ากับตาก็เกิดการเห็นทางตา ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ สิ่งที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ หรือวิญญาณทางตาก็ได้เกิดขึ้น แม้นี่ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งคืออันใหม่ที่เกิดขึ้นมา การกระทบกันระหว่างตากับรูปกับวิญญาณทางตานี้ก็เรียกว่าผัสสะ คือการกระทบ และการกระทบนี้ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งประจวบกันเข้าระหว่างสิ่งทั้ง ๓ สิ่งนั้นเรียกว่าผัสสะ มิได้เล็งถึงกิริยาอาการโดยตรง เล็งถึงความรู้สึก ถ้าเล็งถึงกิริยาอาการโดยตรงเขาเรียกว่าผัสสะ และก็การกระทบความรู้สึกเขาเรียกว่าผัสสะที่เป็นความรู้สึกเป็นนามธรรม ทีนี้จากผัสสะนี่ก็ต้องมีเวทนาคือความรู้สึกออกมาอีกทีหนึ่งว่าเป็นอย่างไร รู้สึกถูกใจ หรือไม่ถูกใจ หรือว่าพูดไม่ได้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ เวทนานี้ก็เป็นความรู้สึกเป็นนามธรรมก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งออกมาอีก ทีนี้จะให้สิ่งอื่นออกมาตามลำดับจะต้องรู้ ๆ กำหนดจดจำไว้เสียทีก่อนว่าไอ้ตรงสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้สำคัญมากที่สุด คือมันจะเป็นปัญหาที่ตรงนี้ ปัญหาของมนุษย์มันอยู่ที่ตรงนี้ ความรู้สึกที่เป็นความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ รักหรือเกลียด รู้สึกเป็นสุขทางตาหรือเป็นทุกข์ทางตา นี่ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เหมือนกันนี่เรียกว่าเวทนาทั้งนั้น มันเป็นตัวปัญหาที่สุดสำหรับมนุษย์ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นก็เรียกว่ามีปัญหาทันที จะทนอยู่ไม่ได้สำหรับคนธรรมดาสามัญนี้จะต้องดิ้นรนไปตามเวทนานั้น ถ้าให้ถือว่าไอ้โลกทั้งโลกนี่มันมีปัญหาอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องส่วนตัวที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มันก็อยู่ที่ตรงนี้ตรงสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้ หรือว่าจะหากามารมณ์มันก็อยู่ที่ตรงนี้ จะหาเกียรติยศชื่อเสียงมันก็อยู่ที่ตรงนี้ หมายความว่าเอาเกียรติยศชื่อเสียงมาทำความสบายใจ นี้การที่เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลหรือระหว่างหมู่คณะเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาระหว่างหมู่คณะกระทั่งระหว่างประเทศชาติก็ได้รบราฆ่าฟันกันมันก็เพราะตรงนี้ พวกคุณอาจจะศึกษามามากเกินไปจนไปมุ่งแต่เรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจทางการเมืองทางการทหารอะไรอย่างนั้นมันมากเกินไปจนลืมหรือมองข้ามไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางการทหารเป็นต้น ถ้าพูดด่าอย่างชาวบ้านเขาเรียกว่ามันมองข้ามหัวแม่เท้าของตัวเองไปจนไม่เห็นอะไร ไปเห็นอะไร ๆได้ทั้งโลก แต่มันมองข้ามหัวแม่เท้าของตัวเองไปจึงไม่เห็นข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นเราจะต้องมองให้เห็นให้เข้าใจให้รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา ซึ่งเป็นนามธรรม มองไม่เห็นตัว สัมผัสได้ด้วยใจมันเป็นต้นตอทั้งหมดของเรื่องที่เกิด เรื่องเล็กเรื่องน้อย เรื่องใหญ่ เรื่องระหว่างโลกระหว่างชาติ กระทั่งเรื่องไปโลกพระจันทร์หรือจะไปอะไรต่อไปอีก มันก็มีใจความสำคัญอยู่ตรงสิ่งที่เรียกว่าเวทนาในจิตใจของมนุษย์ นี่ถ้าเราควบคุมอันนี้ไม่ได้หรือแก้ไขปัญหาส่วนลึกนี้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย เช่นเดี๋ยวนี้ประเทศใหญ่ๆ ที่มันรบราฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด มันยอมกันไม่ได้ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่า เกียรติ ตัวเดียวก็ได้ เป็นที่ตั้งแห่งเวทนาที่เขาสบายใจว่าเขาได้เกียรติชนะอย่างมีเกียรติ แม้แต่แพ้เขาก็ต้องแพ้อย่างมีเกียรติ แต่ที่ลึกไปกว่านั้นก็คือว่า ทุกฝ่ายทุกคนที่รวมกันเป็นฝ่ายนี้มันก็ต้องการผลคือเวทนา สุขเวทนา พอใจในเวทนา เช่น เรื่องเศรษฐกิจมันก็จะได้มีอะไรมาก ๆสำหรับบำรุงบำเรอไอ้ความรู้สึกที่เป็นเวทนา ถ้าพูดว่าเพื่ออย่างอื่นแล้วมันเป็นเรื่องโกหกกันซึ่งหน้า ว่าเพื่อเกียรติบ้างเพื่อความเป็นธรรมบ้างอะไรบ้างที่แท้มันเพื่อเวทนา หรือว่าเขาได้เกียรติมาเขาก็ได้พอใจที่เป็นเวทนาว่าเขาได้เกียรติ ว่าเขาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเขาก็ได้เวทนาคือความพอใจว่าเขาได้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม มันเป็นความหลอกหลอนของเวทนาทั้งนั้น คนที่เขามีความพอใจสูงขึ้นไปก็เป็นนักปราชญ์เป็นอะไรก็เหมือนกันแหละมันอยู่ที่เวทนา ที่เขาได้พอใจอย่างนั้น ความพอใจนั่นแหละระวังให้ดีๆ มันเป็นตัวเวทนาหรือออกมาจากเวทนาแล้วก็จูงจมูกคนไปที่ไหนก็ได้ สร้างปัญหาอย่างไรขึ้นก็ได้ นี่พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสย้ำลงไปที่เวทนานี้มาก มันเป็นจุดที่สำคัญเวทนาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะอะไร เพราะมันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัณหา แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าตัณหานี้ก็เรียกว่าสภาวธรรม ความรู้สึกอยาก มาจากความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันก็อยากไปตามความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะมันโง่มาแล้วตั้งแต่เมื่อมีการสัมผัส ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง เป็นต้น มันมีความโง่หรืออวิชชามาตั้งแต่ก่อนนั้นแล้ว เวทนาออกมาจากอวิชชา ตัณหาก็เป็นผลของอวิชชา เพราะฉะนั้นจึงอยาก อย่างเดือดพล่านอยู่ ที่จริงไม่ต้องอยาก ถ้ามันไม่โง่มันก็ไม่อยาก มันรู้ว่าควรจะทำอะไรมันก็ทำก็แล้วกันไม่ต้องอยาก ทำด้วยสติปัญญาด้วยความรู้สึกผิด ชอบชั่ว ดีก็ได้ แต่นี่มันโง่จึงก็ต้องทำด้วยความอยาก ความรู้สึกที่อยากที่ดิ้นรนมันก็เป็นความเร่าร้อนเป็นทุกข์ จะเป็นนรกหรือเป็นสวรรค์มันก็เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าความอยากนี่ อยากไม่เป็นก็เป็นนรก อยากเป็นก็เป็นสวรรค์ หรือได้สมอยากก็เป็นสวรรค์ ได้ไม่สมอยากก็เป็นนรก เพราะฉะนั้นเวทนาทำให้เกิดตัณหาเป็นสภาวธรรมที่สำคัญต่อออกมาอีก นี้ตัณหาแล้วก็ต้องมีความรู้สึกต่อออกไปอีกคือโง่หนักขึ้นไปอีกจนเป็นตัวกูผู้อยากสิ่งที่กูอยากขึ้นมา ก่อนนี้มันไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น คิดดูเดี๋ยวนี้ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ในจิตมันไม่ได้อยากอะไร ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูอยากอะไรหรือมีอะไรที่กูอยาก ต่อเมื่อมีอะไรมาทำให้โง่ ให้หลง ทางตา ทางหูเป็นต้น ก็เกิดความอยากขึ้นมา หลังจากนั้นก็เกิดความรู้สึกที่เป็นอุปาทาน มีตัณหาแล้วก็มีอุปาทาน อุปาทานนี้ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งออกมาจากตัณหา มันเป็นความรู้สึกรุนแรงมีตัวกูตัวฉันแล้วทีนี้อยากแล้ว แล้วมันก็ต้องมีสิ่งที่ถูกอยาก ถูกหมั้นหมาย นี้ดูไอ้ความเป็นของหลอกลวงมายาที่ตรงนี้ให้มาก ที่มันผิดไปจากที่คุณเคยได้ยินได้ฟังมาก็ตรงที่ว่าไอ้ผู้อยากนี้กลับจะเกิดทีหลังความอยาก นั่นแหละข้อเท็จจริงมันเป็นเสียอย่างนั้น เมื่อยังไม่อยากไม่รู้สึกอยากอย่างรุนแรง ความรู้สึกว่ากูผู้อยากมิได้มีอยู่ในใจ มันยังไม่มีตัวกูของกู มันก็ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นทุกข์ พอตากระทบรูป เป็นต้น เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหาความอยาก มันจึงจะปรุงความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก นี่แหละเป็นจุดสำคัญเป็นเคล็ดสำคัญที่สุดในการศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะไปเอาหลัก logic ของเด็กๆ มาก็ต้องมีผู้อยากก่อนสิจึงจะมีความอยากได้ นั่นมันเป็นเรื่องเด็กๆ เป็นเรื่องพูดตาม logic ของเด็กๆ มันต้องมีผู้อยากก่อนจึงจะอยากได้ แต่ข้อเท็จจริงของสภาวธรรมมันกลับเป็นการปรุงแต่งมาตามลำดับจนเกิดความอยากเสียก่อน แล้วจิตก็จะเกิดความรู้สึกที่วุ่นวายอยู่ในตัวกูผู้อยาก หรือสิ่งที่กูอยากหรือกูจะได้ นี่แหละความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูมันเป็นความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวจริงไม่ใช่มีอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นตัวเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะมีความทุกข์ เรียกว่าตัวกูของกูเป็นเพียงความรู้สึก เกิดทีหลังความอยาก ความอยากเกิดทีหลังเวทนา เวทนาเกิดทีหลังผัสสะ ผัสสะเกิดเพราะการกระทบกันระหว่างตากับรูป วิญญาณทางตาเท่านั้นเอง ถ้าดูมาอย่างนี้เห็นมาอย่างนี้เรียกว่าเห็นสภาวธรรมที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับจะศึกษาพุทธศาสนาก็ตาม สำหรับจะปฏิบัติเพื่อขจัดความทุกข์ก็ตาม แล้วตรงนี้จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตรา คืออาวุธที่มีคมคือธรรมะสำหรับจะตัดปัญหาหรือความทุกข์ออกไปได้ ต้องจับใจความนี้ให้ดีๆ ก็เรียกว่าเราจะต้องอาศัยใจความสำคัญนี้อธิบายออกไปโดยละเอียดอีกหลายอย่างหลายชั้น เมื่อมีอุปาทาน ความรู้สึกหมั้นหมายเป็นตัวกูของกูมันก็เกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นตัวกู ความเป็นตัวแห่งกูที่เรียกว่าภพ นี่ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเรียกว่าภพ เมื่อเบิกบานเต็มที่ก็เรียกว่า ชาติ นี่ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเรียกว่าชาติ คือความเกิด ก็มีชราความแก่ มรณะความตาย ไปตามลำดับ ล้วนแต่เป็นสภาวธรรม แล้วในบางกรณีมันก็มีความรู้สึกที่เรียกว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส โสมนัส อุปายาส ยุ่งกันไปมากมายเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดเป็นสภาวธรรมเบ็ดเตล็ดมีความหมายว่ามันไหลไปเองตามเหตุตามปัจจัย ที่มีความไม่เที่ยงแล้วก็ไหลไปเป็นความเปลี่ยนแปลงเรียกว่า สภาวธรรม นี่กล่าวเฉพาะข้างใน ในตัวคน ในความรู้สึก ในจิตใจของคน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าถูกความทุกข์ที่เป็นตัวปัญหามันอยู่ที่นั่น มันไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ถ้าข้างในมีการปรุงแต่งผิดไปในทางเป็นทุกข์มันก็เป็นทุกข์ ถ้าปรุงแต่งไปในทางรู้สึกเป็นสุขมันก็เป็นสุข แต่ว่าไปยึดถือไปรู้สึกในความสุขเข้าก็กลายเป็นทุกข์อีก สำคัญอยู่ทีความยึดถือในเวทนานั้นๆ เอามาเป็นปัญหาเป็นอุปาทานแล้วก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เนี่ยสภาวธรรมที่สำคัญที่ควรจะรู้จักมันเป็นอย่างนี้
อย่างความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ๔ อย่างนี้ที่เขาว่าเป็นทุกข์ มันพูดอย่างสะเพร่า หรือว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ในนั้นแล้วไม่เข้าใจ ความเกิดจะเป็นทุกข์ก็เมื่อถูกยึดถือว่าเป็นความเกิดของกู ความแก่จะเป็นทุกข์ก็เมื่อมีการยึดถือว่าเป็นความแก่ของกู ความเจ็บไข้ก็เหมือนกันจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อไปรู้สึกว่ากูเจ็บไข้หรือความเจ็บไข้ของกู ความตายก็จะเป็นทุกข์จะคุกคามจิตใจก็เมื่อเราไปถือเอาว่าเป็นความตายของเราอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสภาวธรรมที่ไม่ถูกยึดถือมันก็ไม่เป็นอะไร ยังไม่เป็นทุกข์ พอถูกยึดถือก็เป็นทุกข์ไปหมดอย่างน้อยก็เป็นของหนัก เมื่อหนักมันก็ต้องเรียกว่าทุกข์ ก็ไปยึดถือเข้ามันก็หนัก ถ้าไม่ยึดถือวางเสียมันก็ไม่หนัก มันเกินกว่าเบาไปเสียอีกเพราะไม่ได้ยึดถือ พอยึดถือเข้าก็เป็นของหนัก ถ้าของนิดหน่อยน้ำหนักน้อยแต่ว่ายึดถือคือหิ้วไว้เรื่อยมันก็เป็นของหนักมากขึ้นเรื่อย ให้ดูที่ความยึดถือเป็นตัวกูและเป็นของกูจะถือตัวกูหิ้วตัวกูไว้ก็หนัก จะถือของกูหิ้วของกูไว้มันก็หนัก นี่ก็เรียกว่าสภาวธรรม แต่ละอย่างละอย่าง เดี๋ยวนี้คุณก็พอจะเข้าใจได้แล้วว่ามันมีมากอย่างแต่นับชื่อกันไม่ไหว ไอ้ตาก็เป็นสภาวธรรม ไอ้รูปก็เป็นสภาวธรรม วิญญาณทางตาก็เป็นสภาวธรรม รวมกันเป็นผัสสะก็เรียกว่าสภาวธรรม เป็นเวทนาออกมาก็เป็นสภาวธรรม ตัณหาก็เป็นสภาวธรรม อุปาทานก็เป็นสภาวธรรม ภพก็สภาวธรรม ชาติก็เป็นสภาวธรรม ความรู้สึกที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ ก็เป็นสภาวธรรม เพราะฉะนั้นจึงมากมายนับไม่ไหว แม้แต่จะนับชื่อก็นับไม่ค่อยจะไหวอยู่แล้ว ในชื่อเดียวกันมันเกิดซ้ำๆ ซ้ำๆก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง อันหนึ่ง ก็นับไม่ไหวยิ่งนับไม่ไหว นี่รู้จักสภาวธรรมในลักษณะอย่างนี้กันก่อน หรือจำคำบางคำไว้ให้ดีๆ อย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่ใช่เรื่องเด็กเล่น สำหรับทางธรรมะทางพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องเด็กเล่น อะไรๆ จะไปอยู่ที่นั่นหมดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วคู่ของมันก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๖คู่ ก็เป็นสิบสองอย่างแล้ว เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุด นี้ออกมาเป็นวิญญาณมันก็ ๖ พอมาเป็นผัสสะมันก็ ๖ เป็นเวทนามันก็ ๖ เป็นตัณหามันก็ ๖ แม้เป็นอุปาทานก็ตามจำนวน ๖ แต่เขาแจกเป็นอย่างอื่นตามกิริยาอาการของการยึดถือเป็นอย่างอื่นไปอีกก็ยิ่งมาก มากชื่อ นี่เรียกว่าอายตนะ ๖ จากธาตุทั้ง ๔ หรือ ธาตุทั้ง ๖มาเป็นอายตนะ๖ ฉะนั้นจำคำว่าอายตนะไว้ด้วย ข้างในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทีนี้มันยังมีการรวมกลุ่มที่น่าสนใจอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ผู้ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์ ศึกษาอะไรมาใหม่ ๆ อย่างสมัยใหม่พอได้ยินคำว่าขันธ์ ๕ ก็ส่ายหน้าว่าเป็นของครึคระของคนหลายพันปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงไม่รู้พุทธศาสนา เมื่อเขาตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างหนึ่งว่าในขณะที่คนเรากำลังเป็นคนโดยสมบูรณ์มันมีอะไร เมื่อกำลังเป็นคนโดยสมบูรณ์มันมีอะไร ก็ตอบว่ามีขันธ์ ๕ ไง คนไม่ได้มีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา มันมีเป็นคราวๆ เมื่อมีขันธ์ ๕ เมื่อไร เมื่อนั้นเรียกว่าเป็นคน ความเป็นคนโดยสมบูรณ์ เมื่อยังไม่มีขันธ์ ๕ มันก็เหมือนคนตายอยู่ชนิดหนึ่ง คือมันตายเดินได้ ตายหายใจคือมันไม่ทำอะไรได้ คือมีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณมากองรวมกันอยู่ที่นี่ เช่นเวลาหลับอย่างนี้ ทำอะไรไม่ได้แล้วเวลาหลับนั้นไม่ได้มีขันธ์ ๕ อย่างที่คนบางคนเข้าใจเพราะฟังมาผิดหรือสอนกันผิด หรือเมื่อเราไม่ได้คิดนึกอะไร หรือนั่งซึมกะทืออยู่นี่มันไม่ได้มีขันธ์ ๕ จะมีขันธ์ ๕ ก็ต่อเมื่อมันลุกขึ้นมาทำงานพร้อมกันตามหน้าที่ของมันครบถ้วน เช่น ร่างกายที่เรียกว่ารูปนี้มันยังไม่มีจนกว่าไอ้ร่างกายนี้มันทำหน้าที่ของรูป เช่น ทำหน้าที่ให้เป็นตาสำหรับจะรู้สึกอะไรทางตาขึ้นมา หรือแม้แต่เป็นเนื้อหนังร่างกายอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ แต่ถ้าทำหรือไม่ทำหน้าที่ หรือไม่ถูกใช้ให้ทำหน้าที่ ไม่เป็นการกระทำหน้าที่ ถือว่ามันมิได้มี มันมีต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ทำการหน้าที่ มี function เต็มรูปของมันจึงจะเรียกว่ามันมีร่างกายหรือเรากำลังมีร่างกายที่มีความหมาย มีอะไรเป็นร่างกาย เช่น ตาทำหน้าที่ให้ประสาทตารู้สึกอะไรเกิดวิญญาณทางตาขึ้นมาได้อย่างนี้เรียกว่ามีรูปกาย มีรูปขันธ์ กองรูปแจกกันไปเป็นกี่อย่างก็ตามแต่ เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอะไรก็สุดแท้ เป็นกองรูป หมวดรูป กลุ่มรูป ได้เกิดขึ้นในขณะนั้นเมื่อตาเห็นรูป ที่นี้เกิดผัสสะการเห็นทางตาแล้วเกิดเวทนามีกองเวทนาได้เกิดขึ้น รวบมาตั้งแต่ผัสสะตั้งแต่เวทนามาถึงเวทนา ทีนี้พอมีเวทนารู้สึกอะไรลงไปแล้วมันก็มีกองที่เรียกว่าสัญญา ความจำได้ว่าอะไร ความสำคัญมั่นหมายลงไปว่าอะไร นี่เรียกว่าสัญญาขันธ์ เมื่อมันมีสัญญาลงไปว่าอย่างไรแล้วมันก็มีความคิด สัญญาคือความมั่นหมายลงไปอย่างไรแล้ว ทีนี้มันก็มีความคิดเป็นเรื่องเป็นราวไป จะเอาอย่างไร จะจัดการอย่างไร จะทำอย่างไร จะหาเงินอย่างไร จะหาเมียอย่างไรนี่ มันเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ กองสังขาร สังขารในที่นี้หมายถึงความคิด สังขารนี่ไม่ใช่กองวัตถุไม่ใช่กองร่างกาย สังขารในกรณีนี้หมายถึงความคิดที่คิดเป็นความคิดปรุงแต่งเป็นสายเป็นอะไร เป็นรูปมโนกรรม มีความคิดกระทำอยู่ในจิตใจ ทีนี้กองสุดท้ายเรียกว่าวิญญาณขันธ์ อาจจะรู้แจ้งในความคิดนั้นอีกทีหนึ่งว่าคิดอย่างไร อะไรอย่างไร นี่ก็เรียกวิญญาณขันธ์ได้ แต่วิญญาณขันธ์ได้ตั้งต้นมาตั้งแต่เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณแล้ว ไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณนี้ทำหน้าที่หลายหน เป็นทอดทอดไป ฉะนั้นเราจึงมีครบ คือ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คุณจะได้ยินคำว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ชินหูแต่คุณไม่สนใจ ชอบเห็นเป็นคำพูดในวัด คำพูดครึๆ คระๆ มาตั้ง สองสามพันปีแล้ว ไม่สนใจคำว่าขันธ์๕ เลยไม่รู้ว่าอะไร ไม่รู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเขาเรียกว่าขันธ์๕ ถ้าสนใจก็สนใจอย่างผิวเผิน ฟังกันมาผิดๆ ว่าเรามีขันธ์๕อยู่ตลอดเวลา นี้มันก็ผิดหมด การศึกษาก็เป็นไปไม่ได้มันผิดหมด ถ้าใครเข้าใจว่าขันธ์๕ มีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาหลับอย่างนี้ ไปคิดดูใหม่เถอะมันผิดหมดแล้ว มันจะมีเฉพาะเมื่อมันมีการทำหน้าที่ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทั้ง ๖ ทาง เช่น จิตหรือใจหรือมโนนี่อันสุดท้ายนะ อายตนะที่ ๖ มันแปรความจำในอดีต สัญญาในอดีตมานึกคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่แล้วมา เมื่อชั่วโมงที่แล้วมาก็ได้ เมื่อวานก็ได้ เมื่อปีกลายก็ได้ เอามาคิดแล้วเรื่องนั้นมันก็กลายเป็นวัตถุคือธรรมารมณ์ ใจไปอาศัยกันทะ ว่าเกิดมโนวิญญาณ รู้แจ้งทางใจขึ้นมาในเรื่องที่แล้วมาแต่หนหลังโน้น ก็นั่นคือผัสสะทางมโน ก็คือเวทนาเกิดขึ้น สบายใจหรือไม่สบายใจเพราะความคิดนั้น นี่ก็เป็นเวทนา ก็เกิดตัณหาความอยาก เกิดอุปาทานยึดมั่นในความหมายนั้น ในเวทนานั้น นี่มันก็เป็นได้อย่างนี้ จึงพูดว่าแม้แต่ใจมันก็เพิ่งเกิด ใจในความหมายที่เป็นอายตนะนี่ก็เพิ่งเกิด ขันธ์๕ จึงมีอาการเกิดดับอยู่ตามอารมณ์ที่มากระทบ กระทบตา กระทบหู กระทบอะไรก็แล้วแต่ นี่ขันธ์๕ มันก็มีการเกิดขึ้นแล้วมีการดับไปเป็นเรื่อง เรื่อง เรื่อง เรื่อง วันหนึ่งหลายเรื่อง ที นี้ไม่ต้องมีอะไร ธรรมดาเราก็นั่งอยู่อย่างนี้ตามันก็ลืมอยู่มันก็เห็นรูปนั่นรูปนี้ก็มีความรู้สึกประเภทที่เรียกว่าสามัญ ใช้คำว่าสามัญคือไม่ใช่พิเศษ เดี๋ยวนี้ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ ตาก็ลืมอยู่ก็เห็นต้นไม้นี้ สมมติว่าเห็นต้นไม้นี้ แต่ตาก็มีขึ้นมาเรียกว่ามีจักษุวิญญาณขึ้นมา มีต้นไม้เป็นรูปสำหรับจักษุนั้น ก็เกิดวิญญาณทางตาเห็นต้นไม้นี้ ทั้งหมดนี่เรียกว่าผัสสะ แล้วเวทนาเกิดเช่นว่าเห็นนี้แล้วมันก็พอสบายตาบ้าง แต่มันเพียงเท่านั้น มันไม่ถึงกับเกิดตัณหาหรือความอยากเกี่ยวกับต้นไม้ภาพนี้ที่เราเห็น นี่รู้จักแยกกันอย่างนี้ เรื่องมันก็จบไปแค่นั้น รู้ไว้อย่างดีว่าจะเกิดเวทนาขันธ์ สบายตามันก็ไม่ถูกยึดถือ เกิดสัญญาขันธ์ว่าต้นไม้จำได้มันก็ไม่ถูกยึดถือ วิญญาณก็เกิดขึ้นแล้วความคิดอาจจะเกิดขึ้นได้ว่าต้นไม้นี่เป็นอย่างไร คิดนึกไปทางการศึกษาก็ยังได้ จะเรียกว่าขันธ์ทั้ง๕ ได้เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับต้นไม้นี้ก็ได้ แต่ไม่ได้ถูกยึดถือ ไม่มีเรื่องไม่มีความหมาย ไม่เป็นเรื่องคือไม่มีเรื่อง เป็นได้เป็นกรณีพิเศษสำหรับคนบางคนที่เห็นต้นไม้เข้าแล้วมันมีเรื่อง สำหรับคนทั่วไปเราไปดูตัวอย่างอย่างอื่นดีกว่าที่มันจะถูกยึดถือ พอเห็นสิ่งที่น่ารักน่าเกลียดน่ากลัวอันใดอันหนึ่งขึ้นมานั่นแหละมันจะมีเรื่อง ก็สมมติผู้ชายเห็นผู้หญิงเห็นผู้ชายโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว มันไม่เหมือนกับเห็นตันไม้แล้ว เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ มันก็เกิดเหมือนกัน แต่มันเกิดในลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือโดยไม่ทันรู้ตัว เหมือนกับคนหนุ่มเห็นหญิงสาวเดินมา ก็เกิดตา อายตนะทางตาเกิดขึ้น และอาศัยรูปคือหญิงสาวคนนั้น แล้วเกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตาต่อหญิงสาวคนนั้น สามประการนั้นเรียกว่าผัสสะ นี่มันผิดกันแล้วกับที่เห็นต้นไม้นี่ คือมันมีเรื่องของอวิชชา ความโง่ ไม่รู้ตามที่เป็นจริงในสิ่งเหล่านั้น ได้เข้าไปผสมอยู่แล้วในผัสสะนั้น หรือว่าจะผสมต่อเมื่อเห็นว่าสวยว่างามแล้วก็ได้ โดยปกติมันพร้อมกัน มันเร็วมาก มันก็มีเวทนาในการเห็นทางตา คือสบายตา ถูกตา ถูกใจเป็นเวทนาที่มีความหมายมากก็เกิดตัณหาคือความอยาก นี้ก็เรียกว่ามันเกิดสัญญา มั่นหมายลงไปเป็นคนสวย เป็นอะไร สัญญาขันธ์เกิดจากเวทนา เกิดสังขารขันธ์คิดนึกเป็นตุเป็นตะไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นที่เคร่งเครียด แล้วก็รู้สึกต่อความคิดนึกนี้อยู่ เป็นวิญญาณที่เคร่งเครียดด้วยความยึดมั่นถือมั่น มันก็เลยเกิดรูปเวทนาสัญญา สังขารวิญญาณ ที่เป็นความยึดถือ อย่างนี้เขาเรียกว่าขันธ์ที่ถูกยึดถือ ไม่ใช่ขันธ์ล้วนๆ ทีนี้ยกตัวอย่างอีกทีหนึ่งว่าถ้าสุนัขมันเห็นหญิงสาวคนนั้น มันก็มีความรู้สึกได้เหมือนกันแหละ ครบทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ความยึดถือเกิดขึ้นในใจของสุนัขไม่ได้มันไม่มีความหมายอะไรมันไม่ใช่ใจของชายหนุ่ม อารมณ์อันเดียวกันพฤติอย่างเดียวกัน มันมีความยึดถือก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้าเราเห็นต้นไม้ เห็นก้อนหินอยู่นี่ เห็นแล้วจะรู้สึกเป็นเวทนาสัญญา สังขารวิญญาณอะไรก็ได้ มันไม่ยึดถือ เขาเรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่ไม่ถูกยึดถือ นี่ไม่มีเรื่องไม่เป็นทุกข์ แต่สมมติว่าถูกยึดถือ เห็นก้อนหินแล้วถูกยึดถือมันก็มีทุกข์เหมือนกัน มีความทุกข์เหมือนกับชายหนุ่มเห็นหญิงสาวเหมือนกัน เลยต้องแยกไอ้ขันธ์นี้ออกเป็น ๒ พวก ว่าขันธ์ที่ถูกยึดถือ หรือไม่ถูกยึดถือ ถูกยึดถือหมายความว่ามีความโง่เข้าไปผสมตั้งแต่ทีแรกเมื่อมีผัสสะ เมื่อมีเวทนา มีอวิชชาเข้าไปปนแล้ว มันถูกยึดถือ ถ้ารูปขันธ์เฉยๆ ก็ไม่ถูกยึดถือ ถ้าเรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ ก็คือถูกยึดถือ มันมีอยู่ ๕ด้วยกัน ถ้าถูกยึดถือก็เป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ แต่ถ้าไม่ถูกยึดถือก็เป็นขันธ์ ๕เฉย ๆ ถ้าถูกยึดถือก็ถูกเรียกว่า อุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นตามธรรมดาไม่ถูกยึดถือก็ไม่เป็นตัวทุกข์ พอไปยึดถือเข้าก็เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ นี่สภาวธรรมที่เป็นปัญหา เรียกว่า สภาวธรรม ที่ถึงขนาดที่เป็นปัญหาที่ทำให้คนเป็นทุกข์ ต้องรู้เรื่องรู้จักทุกๆ ส่วนเพื่อจะป้องกันความทุกข์ที่จะเกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่จะเป็นธรรมศาสตราอย่างยิ่ง เป็นอาวุธที่คมอย่างยิ่งที่จะตัดปัญหาหรือความทุกข์ เพราะรู้เรื่องความยึดถือในขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดถือหรือขันธ์ ๕ที่ไม่ถูกยึดถือ คุณจะศึกษาจากหนังสือไม่ได้ จะศึกษาจากคำพูดที่ผมกำลังพูดก็ไม่ได้ มันเพียงแต่ได้ยินได้ฟังจำได้ ต้องไปศึกษาจากเรื่องจริงที่มันเกิดอยู่จริงๆ สำหรับคุณจะไปบิณฑบาตไปเห็นผู้หญิงเข้าแล้วก็ศึกษาอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานอะไรอย่างนี้ แสดงถึงความรู้สึกที่เป็นกิเลสและเป็นความทุกข์ เมื่อได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้ม ได้อะไรอื่นๆ อีกก็เหมือนกัน ต้องศึกษาจากไอ้สิ่งนั้นๆ จริงๆ เดี๋ยวนี้มามัวแต่ท่องเรื่องขันธ์ ๕ เวทนารูป เวทนาสังขาร วิญญาณแล้วเข้าใจผิด ๆ ว่าเกิดอยู่ตลอดเวลาแล้วปรับให้มันว่าเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ก็ว่าเอาเองทั้งนั้น คือไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วต้องรู้จักตัวจริงของขันธ์ ๕ ว่าเกิดมาเมื่อไรและถูกยึดถือหรือไม่ถูกยึดถือ ถ้าถูกยึดถือก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไปยึดถือวันหนึ่งกี่ครั้งหรือกี่เรื่องก็เป็นทุกข์กี่เรื่อง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นทุกข์น้อยๆ เรื่องมากๆ ก็เป็นทุกข์มากๆ นี่กำลังปรารมภ์ อะไรอยู่ ในบางวันให้เป็นทุกข์มากๆ เหมือนว่าตกนรก บางคนอาจจะปรารภเรื่องการศึกษา การสอบไล่ การที่จะต่อไปข้างหน้าก็ได้กำลังเป็นทุกข์อยู่ กำลังตกนรกอยู่ ทำไมจะต้องเป็นอย่างนั้น รู้ไหมมันไม่ต้องเป็นทุกข์ ควรทำอย่างไรก็รู้อยู่ ก็จัดการทำไปโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์นี่จะเป็นศาสตรา เป็นธรรมะศาสตรา อาวุธคือธรรมะที่จะช่วยตัดความทุกข์ออกไป ตัดปัญหาออกไป แล้วก็อยู่โดยมีความเจริญก้าวหน้า จะเรียนก็ได้ จะสอบไล่ก็ได้ ก้าวหน้าไปก็ได้ อย่าต้องเป็นทุกข์เพราะไม่ใช่เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ นี่คือ สภาวธรรม ที่เราต้องรู้จักโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความทุกข์ ซึ่งมาจากอุปาทาน มาจากตัณหา มาจากเวทนา ที่มันมีความหมาย ส่วนต่อไปจากนั้นมันเป็นอุปกรณ์ที่จะเกิดเวทนาคือผัสสะ คืออายตนะ คือวิญญาณอะไรเป็นต้น เรื่องมันตั้งต้นมีความสำคัญตรงที่เวทนา รู้สึกเป็นทุกข์หรือว่ายึดถือเอาความทุกข์มาเป็นของตัว แล้วก็นึกให้เป็นทุกข์กันได้เมื่อใดก็ได้ ถ้าโง่มากก็เก่งมากสำหรับที่จะนึกไปในทางที่จะเป็นทุกข์ นอกนั้นไม่ควรจะโง่ คือไม่ต้องนึกไปในทางที่จะเป็นทุกข์นึกไปในทางที่จะแก้ปัญหาให้ได้ นี่คือมีธรรมะศาสตรา คว้าเอามาได้สำหรับตัดปัญหา ตัดความทุกข์ออกไปได้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่สำคัญตรงนี้ก็คือเรื่อง ขันธ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วและก็ถูกยึดถือหรือไม่ ถ้าถูกยึดถือก็เป็นทุกข์ เวลาสวดทำวัตรเช้าก็จะต้องมีสวด รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ สญฺญูปาทานกฺขนฺโธ กระทั่ง วิญฺญาณูปาทานกฺขนฺโธ แต่มันน่าเสียดายที่สวดไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง สวดมาหลายเดือนหลายปีแล้วมันก็ยังเท่าเดิมไม่ได้ก้าวหน้าอะไรเลย ไม่ได้ธรรมในใจว่า รูปูปาทานกฺขนฺโธ คืออะไร อย่างไร เมื่อไร เป็นทุกข์อย่างไร นี้ขอให้ปรับปรุงกันเสียใหม่ ทั้งผู้บวชใหม่และผู้บวชเก่า เดี๋ยวนี้กำลังพูดสำหรับผู้บวชใหม่ให้รู้เรื่องสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา คือปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์เป็นความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์มนุษย์ก็ไม่มีปัญหาเดี๋ยวนี้มันทนอยู่ไม่ได้เพราะมันมีความทุกข์ ทุกข์โดยตรงๆ ก็มีมาก ทุกข์โดยอ้อมไม่ค่อยจะรู้สึกก็มีมากเลยแก้กันไม่ได้เพราะมันไม่รู้สึกไม่เข้าใจ ทีนี้เมื่อใดมีความรู้สึกที่ยึดถือในขันธ์ ๕ เป็นตัวกูเป็นของกูก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเข้าใจตรงนี้ให้ดีๆ หน่อยมันเป็นตอนที่สำคัญที่สุด ในตัวอย่างที่ว่าชายหนุ่มมองเห็นผู้หญิงสาวเกิดขึ้นเป็นผัสสะ เป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน ยึดมั่น มีความคิดเป็นไปในทางความยึดมั่น เขาเรียกว่ามีความยึดมั่น คือจิตใจมันไปหิ้วไปหอบไปยึดถือ ไปกอดรัดไว้ด้วยจิตใจก็เรียกว่ามันยึดถือ พอยึดถืออย่างนี้ก็คุณก็ตอบได้เองว่ามันว่างหรือไม่ว่าง คือจิตมันว่างหรือไม่ว่าง พอจิตมันได้ไปยึดถืออะไรเข้าแล้วจิตมันว่างหรือไม่ว่าง เมื่อเวลาที่มันไม่ยึดถือจิตมันว่างหรือไม่ว่างนี่ก็ตอบได้เอง พอยึดถือก็คือไม่ว่าง เมื่อไม่ได้ยึดถือมันก็เป็นว่าง พอยึดถือมันก็ไม่ว่างแล้วยังแถมเต็มไปด้วยความโง่ เมื่อยึดถือมันไม่ว่างแล้วมันหอบหิ้วมันหนักมันเป็นทุกข์ แล้วเวลานั้นมันเต็มไปด้วยความโง่เพราะฉะนั้นการคิดนึกศึกษาอะไรในเวลานั้นมันทำไม่ได้ เพราะจิตกำลังเป็นอย่างนั้นคุณอ่านหนังสือ ๒ ตัวก็ไม่รู้เรื่อง มันเต็มไปด้วยความโง่ อวิชชา และเต็มไปด้วยความร้อน คือตัณหาหรือความทุกข์อะไรต่างๆ นี่เรียกว่าจิตมันไม่ว่าง มันก็ตกนรกทั้งเป็นที่นั่นและเดี๋ยวนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาสลัดออกไปได้ ว่าง หรือไม่ยึดถือ ก็มีสติปัญญา จิตพอจะตั้งตัวได้สำหรับที่จะไม่ร้อนหรือไม่โง่ มันก็ทำอะไรไปได้ เรียกว่า ด้วยจิตที่ว่างจากความยึดถือ ทีนี้บางเวลาเราเป็นคนยึดถือมีจิตวุ่นวาย เร่าร้อน มันก็ตกนรกทั้งเป็น บางเวลาบางกรณีมันก็ว่าง ทีนี้ให้รู้ว่าเวลาอะไรเรียกว่า ว่าง จากความยึดถือหรือ ว่าง จากความหมายแห่งตัวกูของกู ทีนี้ดูอีกแง่หนึ่งก็ดูว่าเมื่อไรมันเป็นวัฏสงสาร เรื่องนี้ต้องคิดถึงคำพูดที่ว่า คนดีค้าใกล้ๆ คนบ้าใบ้ค้าไกลๆ คนโง่มันไปหวังแต่เรื่องตายแล้ว หลังตายแล้วทั้งนั้น ไอ้คนฉลาดมันจะต้องรู้เรื่องที่อยู่เฉพาะหน้านี่ ทีนี้การเวียนว่ายในวัฏสงสารมันเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ถ้าคุณได้ยินคำนี้มาก่อน แล้วเข้าใจเสียใหม่ว่าที่มันมีความหมายถูกต้องมันเป็นเรื่องเฉพาะหน้า พอเกิดกิเลส ตัณหา เป็นต้น แล้วก็มีการกระทำ มโนกรรมแล้วก็มีผลคือวิบาก แล้วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อยู่ในใจ อย่างนี้ก็เป็นวัฏสงสารรอบหนึ่งแล้ว ทีนี้กิเลสแล้วก็ทำกรรม แม้มโนกรรมและผลเกิดขึ้นเป็นความร้อนใจหรือสบายใจก็เป็นวัฏสงสารรอบหนึ่งแล้วมันอยู่ที่ตรงนั้นและทันควันกันมันอยู่ที่ตรงนั้น ส่วนวัฏสงสารยืดยาวทำอะไรในชาตินี้ตายแล้วไปรับผลในชาติหน้าแล้วทำต่อไปอีกในชาติโน้น นั้นมันไกลเกินไปจะไม่เอามาพูดในที่นี้ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเพราะเรากำลังมีความทุกข์อยู่ที่นี่ กำลังเวียนว่ายอย่างทนทรมานอยู่ที่นี่ต้องตัดมันที่ตรงนี้ วัฏสงสารคือความต้องการหรือความโง่ เรียกว่าความต้องการแล้วกระทำลงไป ได้ผลขึ้นมาแล้วต้องการต่อไปอีกแล้วทำลงไปแล้วได้ผลขึ้นมา แล้วเป็นเหตุให้ต้องการอีกแล้วทำลงไปได้ผลขึ้นมาแต่ต้องทำด้วยความโง่ เรียกว่าวัฏสงสารที่เป็นทุกข์ ถ้าทำด้วยสติปัญญาทำด้วยความเฉลียวฉลาดมันจะไม่เป็นวัฏสงสารมันจะตัดวัฏสงสารแต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันจะข้ามวัฏสงสารแต่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แม้สิ่งนี้ก็เรียกว่า สภาวธรรม ความต้องการ การกระทำและผลของการกระทำ เพราะฉะนั้นกิเลสคือความอยาก กรรมคือการกระทำ วิบากก็คือผลกรรม บางเวลามันหมุนเชี่ยวอยู่ในจิตของเรามันเป็นวัฏสงสาร บางเวลามันก็ว่าง ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นวัฏฎะไปเสียตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นคนก็เป็นบ้าเป็นโรคเส้นประสาทตายหมด ไอ้วัฏสงสารนี่มันให้เวลาที่มันว่างอยู่มากเป็นขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราว นี่เมื่อไรมันมีอาการแห่งวัฏสงสารอย่างนี้ก็เมื่อนั้นก็เรียกว่า สังขตธรรม กำลังปรากฏอย่างรุนแรง กำลังปรุงแต่งอย่างรุนแรงอยู่ในจิตนั้นที่เราเรียกว่า สังขตธรรม ที่กำลังไหลเชี่ยวเป็นเกลียวนั่นมันกำลังเป็นไปอย่างรุนแรงในขณะที่ว่ามันมีวัฏสงสารหมุนเชี่ยวอยู่ในจิต จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสังขตธรรม กันอย่างนี้ให้จริงด้วยและรุนแรงด้วย ทีนี้เมื่อเป็นอยู่อย่างนั้นก็พอจะบัญญัติกันได้ว่าเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นอัพยากฤต ถ้ามันให้ความสบายตามที่ต้องการพอจะเรียกว่าความสุขความสบายได้ว่าเป็นกุศล ถ้ามันให้ความลำบาก ยุ่งยาก ทุกข์ร้อนทนไม่ไหวก็เรียกว่าเป็นอกุศล ทีนี้มันเป็นการบัญญัติไปตามมนุษย์รู้สึก ไม่ใช่สภาวธรรม สภาวธรรมแท้ ๆ มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมัน มีกริยามีปฏิกิริยาแล้วมนุษย์ไปบัญญัติสภาวธรรมส่วนนั้นว่าเป็นกุศล ส่วนนั้นว่าเป็นอกุศล ส่วนนั้นว่าไม่เป็นทั้ง ๒ อย่างคืออัพยากฤต นี่มนุษย์บัญญัติตามความรู้สึกของตัวเรียกว่า บัญญัติ ที่นี้ที่เลวมากกว่านั้นก็คือมนุษย์สมมติตามความรู้สึก สมมติหรือสมมติโดยไม่รู้สึก ไม่รู้สึกว่าสมมติว่านี่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นี่เป็นเรา เขา นี่เป็นตัวกู นี่เป็นของกู นี่เป็นลูกของกู เป็นเมียของกูเป็นทรัพย์สมบัติของกู นี่คือความสมมติที่โง่ที่สุด เขาเรียกว่าสภาวธรรมเหมือนกันที่ถูกสมมติ ไอ้ความโง่นั่นก็เป็นสภาวธรรม ไอ้การสมมตินี่ก็เป็นอาการแห่งสภาวธรรมอันหนึ่ง ทีนี้มันยิ่งไกลจากความจริง ความสำคัญเอาด้วยอวิชชาหรือความโง่ เมื่อถูกสมมติก็เลยมีสัตว์ มีบุคคล ตัวตน เรา เขา ขึ้นมา เดี๋ยวนี้เราอยู่ด้วยความรู้สึกที่เป็นสมมติใช่ไหม นี่เรา เรา นี่ฉัน จะสอบไล่ได้ จะหางานดีๆ ทำ แล้วก็จะสนุกสนานกันใหญ่ อย่างนี้ก็เรียกว่าสมมติ ถึงที่สุด ก็เป็นสภาวธรรมเป็นผลแห่งสภาวธรรม เป็นกระแสแห่งสภาวธรรมเป็นฝ่ายสังขตะคือมีปัจจัยปรุงแต่งไหลเป็นเกลียวไปเลยนี่เรียกว่าสังขารธรรมก็ได้ นี่เรื่องสภาวธรรมฝ่ายที่เป็นสังขตะที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเป็นอย่างนี้ เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงโดยใกล้ชิดอยู่ในเนื้อ ในเลือด ในจิต ในใจอย่างนี้ ที่อยู่ข้างนอกไม่ต้องพูดถึง ไอ้ที่มันไปเป็นแผ่นดิน เป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์เป็นอะไรข้างนอกนั่นไม่ต้องพูดถึง จนกว่าเราจะไปยึดถือเอามาด้วยความสำคัญผิด ทางตา ทางหู ทางจมูก มันจึงจะเข้ามาข้างใน มาอยู่ข้างในแล้วเกิดเรื่องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราเอาข้างในที่รู้สึกอยู่อะไรที่มันมาเป็นอยู่ข้างใน โลกทั้งโลกนี้มาอยู่ในจิตใจได้ อะไรๆ ก็มาอยู่ในจิตใจได้ ทีนี้มาดูกันที่ตรงนี้แหละ ความรู้สึกในจิตใจที่เป็นผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เพราะฉะนั้นสังขตธรรมก็เป็นสภาวธรรมที่ต้องรู้เหมือนเราต้องเรียน ก ข ก กา ก่อน แล้วจึงจะอ่านหนังสือได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนเรื่องธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ต้องเรียนเรื่องอายตนะ ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ต้องเรียนเรื่องขันธ์๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เหล่านี้ เป็นต้น ก่อน เราจึงจะรู้เรื่องธรรมะเรื่อยไปจนกระทั่งสูงสุดรู้เรื่องนิพพาน ความรู้อันนี้จะตั้งอยู่ในฐานะเป็นธรรมศาสตรา ในฝ่ายความรู้ก่อน แล้วต่อไปจะเป็นธรรมศาสตราในฝ่ายการปฏิบัติมันจะตัดได้จริง แล้วเรื่องสภาวธรรมประเภทที่เป็นสังขตะนี่ ก็เป็นอย่างนี้ เราจะได้พูดถึงประเภทที่เป็นอสังขตะในคราวต่อไป วันนี้ก็พอกันที นาฬิกานกบอกเวลา