แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ ผมจะได้พูดถึงสมาธิภาวนาที่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ ปฏิลาภะ คือการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะต่อไป เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความสำคัญอยู่ตรงที่คำว่าญาณทัสสนะนั้นมีความหมายกำกวมที่สุด โดยทั่วไปที่เข้าใจกันอยู่ คำว่าญาณทัสสนะก็คือความรู้ความเห็น แล้วก็เป็นรู้ธรรม เห็นธรรม ตามที่เป็นจริงทุกชั้นทุกระดับ นี้เรียกว่าความหมายของคำ ๆ นี้ในกรณีทั่วไป
ทีนี้ในกรณีแห่งสูตรอันว่าด้วยสมาธิภาวนานี้มิได้หมายความอย่างนั้น แต่หมายถึงการฝึกฝนจิตชนิดหนึ่ง เพื่อให้เกิดแสงสว่างเหมือนกลางวันหรือยิ่งกว่ากลางวันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องทิพย์ เป็นตาทิพย์ เป็นอะไรไปในทางวัตถุ ตัวหนังสือแสดงไปในทางวัตถุ แต่อาจจะแสดงได้ในทางนามธรรม คือว่าเห็น เห็นธรรม ซึ่งมันไม่มีกลางวันหรือกลางคืนนี้ก็อย่างหนึ่ง คือที่มาในสูตรนี้
ทีนี้ที่มาในสูตรอีกสูตรหนึ่งซึ่งแปลกไปจากนี้ก็คือในสามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย คำว่าญาณทัสสนะนั้นหมายถึงเห็นสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ใช้คำว่าวิญญาณเฉย ๆ แล้วก็มีอยู่ในกายคือมหาภูตรูปนี้ แล้วก็มองเห็นวิญญาณนั้นชัดเจนอย่างยิ่ง ใสแจ๋วอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าแก้วไพฑูรย์ แก้วมณีใสสะอาดนี้ แล้วก็เจาะรู มีเส้นด้ายร้อยอยู่ในแก้วมณีนั้น ทีนี้บุรุษที่มีตาดี คือตาไม่บอด เขาย่อมจะเห็นเส้นด้ายที่สอดอยู่ในแก้วมณีนั้น จะเป็นด้ายดำ ด้ายแดง ด้ายเขียว ด้ายขาว เขาก็เห็นชัดซึ่งเส้นด้ายนั้น ภิกษุก็เห็นกายคือมหาภูตรูป แล้วก็มีวิญญาณชัดเจนอยู่ในนั้น ใช้คำว่าตั้งอยู่ในนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าญาณทัสสนะ
ทีนี้ที่สอบดูแล้วมันก็มีเพียง ๓ ชนิดเท่านี้ ญาณทัสสนะในกรณีทั่วไปคือเห็นธรรม เห็นไอ้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความจริงของสังขารทั้งปวงนี้ก็เรียกว่าญาณทัสสนะ จะต้องทำฌานสมาธิให้เกิดก่อนหรือไม่ สามารถทำญาณ ทำฌานสมาธิให้เกิดก่อน ก็ยังมีทางที่จะมีญาณทัสสนะได้ เป็นญาณทัสสนะวิสุทธิ ในวิสุทธิ ๗ อย่างนี้ ก็เป็นการเห็นธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม ด้วยญาณไปตามลำดับ นี้เป็นคำทั่วไปในความหมายทั่วไป ความหมายที่พิเศษก็มีอยู่ ๒ อย่าง คืออย่างแรก อย่างในสูตรนี้ ทำความสำคัญเป็นกลางวัน เป็นแสงสว่างเหมือนแสงแดดไปตลอดเวลา หรืออย่างที่เป็นพิเศษอย่างที่สองคืออย่างในสามัญญผลสูตร เห็นวิญญาณอยู่ในกายนี้ เช่น ที่เรียกว่าคนตาดีเห็นเส้นด้ายที่ร้อยอยู่ในแก้ว ในก้อนแก้วที่เขาเจาะรูร้อยด้าย
ความหมายอย่างที่หนึ่งคือเห็นธรรม นี้ก็เป็นธรรมดามาก และก็เข้าใจกันดีอยู่แล้ว เกือบจะไม่ต้องอธิบายอะไร มันมีวิธีปฏิบัติเฉพาะ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเรื่อยไป ในนามรูปจนเห็นเกิดญาณทัสสนะ แต่ข้อที่อธิบายไว้ในสูตรนี้ คือทำอาโลกสัญญา ทิวาสัญญานี้ก็ดี ข้อที่กล่าวไว้ในสามัญญผลสูตร เห็นวิญญาณอยู่ในกาย ประกอบด้วยธาตุสี่นี้ก็ดี มันเป็นของประหลาด
ทีนี้สำหรับ อ้า, ในสามัญญผลสูตรนั้น มันเป็นอันที่ ๑ ของวิชชา ๘ ประการนะ ผู้ที่เคยเรียนนักธรรมมาแล้วก็พอจะเคยได้ยินมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วว่าวิชชา ๘ ประการนี้ ก็ขึ้นด้วยญาณทัสสนะเป็นข้อที่ ๑ เห็นกาย แล้วก็มีวิญญาณอยู่ในกาย นี้ผมก็สะดุดมาตั้งแต่แรกอ่านเห็น พบในสามัญญผลสูตร มันมีลักษณะคล้าย ๆ กับว่าเป็นอัตตา คล้าย ๆ ว่าวิญญาณที่วิจิตนั้นเป็นอัตตา ก็เลยไม่ค่อยจะสนใจ ก็คงสนใจแต่ญาณทัสสนะอย่างที่เราเคยทราบทั่ว ๆ ไปนี้
แต่ทีนี้ในวันนี้ ในกรณีของการบรรยายครั้งนี้นะ มัน มันเล็งถึงญาณทัสสนะ กล่าวถึงในสูตรนี้ ซึ่งเราจะได้พิจารณาก่อน ตามลำดับเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ ๒ เป็นสมาธิภาวนาที่ ๒ ของสมาธิภาวนาทั้ง ๔ ตามที่มีอยู่ในสูตรนี้ พระบาลีเกี่ยวกับสมาธิภาวนาอย่างที่ ๒ นี่ คือ ญาณทสฺสนปฺปฎิลาภาย สํวตฺตติ นี่ก็คือบาลีที่ว่า อาโลกสญฺญํ มนสิ กโรติ ภิกษุนั้นย่อมกระทำในใจซึ่งอาโลกสัญญา คือทำสัญญาเป็นแสงสว่าง คือแสงแดดนี้ ทิวาสญฺญํ อธิฏฺฐาติ ย่อมอธิษฐานซึ่งทิวาสัญญา ทำความสำคัญว่าเป็นกลางวัน จนกระทั่งว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ กลางวันเป็นอย่างไร กลางคืนก็เป็นอย่างนั้น ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา กลางคืนเป็นอย่างไร กลางวันก็เป็นอย่างนั้น ก็สรุปความว่า อิติ วิวเฏน เจตสา อปริโยนทฺเธน ด้วยทั้งจิตหรือมีจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรหุ้มห่อร้อยรัด สปฺปภาสํ จิตฺตํ ภาเวติ ย่อมเจริญซึ่งจิตอันเป็นไปกับด้วยแสงสว่างดังนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ ตามบาลีมีเท่านี้เอง เอาแต่ใจความสั้น ๆ ก็ว่า ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมกระทำในใจซึ่งอาโลกสัญญา ความสำคัญว่า แสงสว่าง ทิวาสญฺญํ อธิฏฺฐาติ ย่อมอธิษฐานซึ่งทิวาสัญญา ทำความสำคัญว่าเป็นกลางวัน โดยประการที่ว่ากลางวันเป็นอย่างไร กลางคืนก็เป็นอย่างนั้น กลางคืนเป็นอย่างไร กลางวันก็เป็นอย่างนั้น เธอนั้นครั้นเจริญซึ่งจิตอันมีแสงสว่าง ด้วยจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรหุ้มห่อร้อยรัดแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ นี้คือตัวบทโดยตรงของสมาธิภาวนานี้
ทีนี้ขอทบทวนไว้อีกทีหนึ่งว่า จะต้องนึกถึงไอ้ตัวสูตรทั้งหมด ที่เริ่มขึ้นด้วยข้อความว่า สมาธิภาวนามี ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ เป็นอย่างนั้น อย่างที่ ๒ เป็นอย่างนั้น อย่างที่ ๓ เป็นอย่างนั้น อย่างที่ ๔ เป็นอย่างนั้นเรื่อยไป มิใช่อย่างเดียวกัน เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงอย่างที่ ๒ คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอาโลกสัญญา ทิวาสัญญา คือเลยไปเลย มิได้ตรัสถึงว่าจะต้องทำรูปฌานทั้ง ๔ ให้เกิดก่อน ส่วนในสามัญญผลสูตร ญาณทัสสนะที่ทำให้เห็นไอ้วิญญาณในกายนั้นนะ มีระบุชัดว่าต้องทำรูปฌานทั้ง ๔ ให้เกิดก่อน อย่างน้อยทำจิตให้เป็นสมาธิชนิดที่ว่าเป็นสมาธิถึงฌานนั้นนะก่อน แล้วจึงน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อจะเห็นไอ้อย่างที่ว่า ส่วนในสูตรนี้มิได้กล่าวชัดอย่างนั้น แต่รู้ได้โดยนัยยะว่าการที่บุคคลจะทำอาโลกสัญญา ทิวาสัญญา ให้เห็นเป็นเหมือนกับแสงแดดจ้าอยู่ตลอดไป ไม่มีค่ำมืด ไม่มีขมุกขมัว นี้มันต้องมีจิตที่อบรมไว้ดีมากหรือแรงมาก จึงเป็นอันว่า เขาจะต้องมีจิตที่ฝึกให้เป็นสมาธิแล้วพอสมควร ที่เรียกว่า ยถา สมาหิเต ถ้า สมาหิเต มันก็ต้องไป สุทฺเธ กมฺมนิเย ตามแบบฉบับของความเป็นสมาธิ
นี่ก็ขอเตือนไว้เสมอว่า พยายามเข้าใจไว้เรื่อยว่า จะฌานหรือไม่ฌานจะไม่พูดถึงกันก็ได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วต้องประกอบด้วย ๓ อย่างนี้ คือว่า สมาหิเต ตั้งมั่น ปริสุทฺเธ บริสุทธิ์ กมฺมนิเย แคล่วคล่องว่องไวต่อหน้าที่ทางจิต เรียกว่าอ่อนโยน นิ่มนวลควรแก่การงาน ใช้คำว่าอย่างนั้น มันมีคำยืดยาวละ แต่รวมความแล้วเป็นคำสั้น ๆ คำเดียวว่า กมฺมนิเย คือเหมาะสมที่จะประกอบกิจกรรมในทางจิต ต้องมีจิตชนิดนั้นมันจึงจะเรียกว่ามีสมาธิ จะเป็นฌานหรือไม่เป็นฌานท่านก็ไม่ได้พูดไว้ เพราะเหตุว่าบุคคลบางคนมีจิตเป็นสมาธิได้ง่าย พอสักว่าน้อมไปมันก็เป็นลักษณะนั้นเสียเลย ส่วนบุคคลอันเป็นไปไม่ได้ ต้องปลุกปล้ำกันหลาย ๆ เอ้อ, หลาย ๆ มื้อ หลาย ๆ คราว นี้จนกว่าจะมีจิตใจเป็นชนิดนั้นได้ ดังนั้นจึงฝึกฝนในทางสมาธิก่อน แล้วจึงฝึกฝนในขั้นที่เรียกว่าญาณทัสสนะ
ถ้าอย่างนี้ก็ตรงตามแบบที่กล่าวไว้ในสามัญญผลสูตร ซึ่งจะกล่าวเลยลงไปถึงไอ้ธุดงค์ ถึงศีลไปเลย เผื่อภิกษุจะต้องถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนั้น ๆ แล้วก็เป็นผู้สันโดษ คือธุดงค์อย่างนั้น ๆ แล้วก็อินทรีย์สังวรอย่างนั้น ๆ แล้วจึงทำจิตให้เป็นสมาธิในชั้นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ครั้นอย่างนี้แล้วจึงน้อมไปเพื่อญาณทัสสนะอย่างที่ว่านี้ ก็จะเห็นกายนี้ ซึ่งทีแรกก็ดูไม่กะไรอยู่ คือเห็นกายนี้ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุก ขนมสด ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ถ่ายเข้า ถ่ายออกอะไรอยู่เป็นนิจ แต่ว่าในกายนี้มีสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณตั้งอยู่ด้วย เห็นวิญญาณนั้นชัดเจนใสแจ๋วเหมือนคนเห็นเส้นด้ายอยู่ในแก้วมณีสีใส โปร่งแสง อย่างนี้ระบุชัดเลยว่าต้องมีฌานหรือสมาธิประเภทรูปฌานเต็มที่ จึงจะเห็นไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณในกายนี้ได้
ส่วนในบาลีนี้ไม่พูดถึง ไอ้ฌาน ๔ นี้ ก็ที่เรียกว่าเจริญสมาธิภาวนาประเภทอาโลกสัญญา ทิวาสัญญาได้เลย พอมันสำเร็จมันก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไปตบแต่งเอาเองให้มีสมาธิพอสมควรก่อน ส่วนบุคคลผู้เจริญรูปฌานทั้ง ๔ เสร็จแล้วมันก็ทำได้โดยง่าย
ฉะนั้นเป็นอันว่าในสมาธิภาวนาที่ ๑ ที่มีความสุขอยู่ในทิฏฐธรรม คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นรูปฌานทั้ง ๔ แล้ว ถ้าทำอันนั้นสำเร็จมาแล้วมันก็ง่าย ที่จะมาทำในการได้ซึ่งญาณทัสสนะนี้ หมายความว่ามันต่อกัน แต่ถ้ามันไม่ต่อกันก็ต้องเอาเป็นว่า บุคคลทำไม่ได้ก็ต้องไปฝึกสมาธิมาก่อน ถ้าบุคคลทำได้ก็ฝึกต่อไปเลย นี้เป็นความลับอันหนึ่ง ซึ่งจะต้องทราบไว้ว่าบุคคลบางคนมันมีนิสัยอะไร มีบารมีอะไรที่สะสมไว้ในตน มีจิตเป็นสมาธิง่าย มีจิตที่จะเกิดปัญญาญาณทัสสนะอะไรได้ง่าย ซึ่งในหนังสือชั้นหลังใช้คำว่าอะไร อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ เขาแบ่งไว้เป็นชั้น ๆ อย่างนี้
ฉะนั้นพวกที่เป็นอุคฆฏิตัญญูนี้ จะทำอะไรก็คล้าย ๆ กับว่ามีทุนสำรองครบอยู่ในนั้น เพ่งสมาธิก็เป็นสมาธิ เพ่งปัญญาก็เป็นปัญญา คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงว่า ให้ทำฌานหรือสมาธิก่อน แล้วจึงทำทิวาสัญญาและอาโลกสัญญา
เท่าที่พูดนี้ก็คงจะเข้าใจกันได้แล้วว่า ญาณทัสสนะคำนี้มีความหมายกำกวมอย่างไร คือมันอาจจะยืดหยุ่นได้มาก ลงมาถึงญาณทัสสนะที่คิด ๆ นึก ๆ เอาด้วยสติปัญญาของบุคคลผู้มีปัญญาเฉียบแหลมเป็นอุคฆฏิตัญญูโดยกำเนิดอย่างนี้ มันก็มีญาณทัสสนะขั้นต้น ๆ ขั้นต่ำ ๆ ได้แล้ว มันก็เรียกว่าญาณทัสสนะได้เหมือนกัน จนกว่าจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กระทั่งนิพพิทา วิราคะ วิมุติไป ฉะนั้นก็ลองไปศึกษาดูจากเรื่องวิสุทธิ ๗
ทีนี้ญาณทัสสนะที่หมายถึงไอ้ทิวาสัญญา อาโลกสัญญานี้ก็อีกอย่างหนึ่ง ญาณทัสสนะที่ทำให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ตั้งอยู่ในกายนี้ นี่ก็อย่างหนึ่ง ทีนี้เมื่อมองดูออกไปข้างนอกพุทธศาสนา ก็จะมีพวกอื่น นิกายอื่น แม้แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาก็ต้องเรียกไอ้สิ่งที่เขาถือว่าถูกต้องนั้นนะว่า ญาณทัสสนะ คือเป็นญาณทัสสนะชนิดมิจฉาทิฏฐิตามแบบของเขาได้ เพราะว่าเราก็มีคำว่ามิจฉายานะ มิจฉาวิมุตินี่ ใช้อยู่ในฝ่ายพุทธศาสนา เป็นมิจฉัตตะ ๑๐ ประการ นับตั้งแต่มิจฉาทิฏฐิลงมาจนถึงกับมิจฉายานะ มิจฉาวิมุติ มันก็มีญาณทัสสนะที่เป็นมิจฉาอยู่ด้วยเหมือนกัน ก็เป็นฝ่ายอื่นเขาใช้ ส่วนในพุทธศาสนาเรามันก็มีอย่างที่ว่านี้ กำกวมอยู่อย่างนี้ นับตั้งแต่รู้เห็น ก็เข้ารูปเข้ารอยเป็น เรียกว่าญาณทัสสนะได้ กระทั่งเห็นเป็นแสงสว่างตลอดเวลาอย่างนี้ ก็ยังเรียกว่าญาณทัสสนะได้
ทีนี้จะเป็นปัญหาแก่ผู้ที่ยึดหลักที่เคยเล่าเรียนมาอย่างแน่นแฟ้น หรือว่ายึดหลักตามตัวหนังสือในทางฝ่ายปริยัติอย่างยิ่ง ก็จะเกิดความสงสัยขึ้นมาทันที คือเราจะสงสัยว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าญาณทัสสนะนั้นจะต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ศีลสิกขา ไม่ใช่สมาธิสิกขา ต้องเป็นประเภทปัญญาสิกขา คือความรอบรู้ จึงจะเรียกว่าญาณทัสสนะ แต่ในกรณีนี้ทำไมมาระบุแต่เพียงว่า เห็นเป็นแสงสว่างเฉย ๆ ไม่เกี่ยวกับความรู้ละ เห็นกลาง อ้า, ไม่มีกลางคืน มีแต่กลางวันจ้าอยู่ตลอดเวลานี้ ไม่เกี่ยวกับความรู้อะไร ทำไมจึงไปเรียกว่าญาณทัสสนะ ถ้าดูกันให้ดีแล้วมันจะเป็นพวกสมาธิ หรือสมถะสมาธินั้นมากกว่า ด้วยอำนาจของความเป็นสมาธินั้นมากกว่า แต่ท่านก็ไปเรียกว่าญาณ ความรู้ ทัสสนะ การเห็น แล้วก็ไม่ได้เห็นอะไรมากไปกว่าแสงสว่างจ้าเป็นกลางวันตลอดเวลา ขอให้ถือว่ามันยังมีคำบางคำที่เรายังไม่เข้าใจ ถ้าว่าพระบาลีเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่เดิม ไม่ใช่ของแก้ใหม่ เติมใหม่ ก็ต้องพยายามหาความเข้าใจให้เข้ารูปกัน ถ้าใครจะไปปฏิเสธที่ว่าบาลีนี้ผิด ของเติมใหม่ ก็ไม่ต้องพูดกัน ถึงจะยอมรับว่าพระบาลีนี้เป็นของถูกต้อง มีมาในพระไตรปิฏกมาแต่เดิมนี้ ก็ต้องหาทางที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมพียงแต่เห็นแสงสว่างเป็นกลางวันเฉย ๆ นี้ จะต้องเรียกว่าญาณทัสสนะเล่า เพราะฉะนั้นผมจึงเรียนท่านทั้งหลายทราบว่า คำว่าญาณทัสสนะนี้เป็นคำที่กำกวม ยังแก้ไม่ตก ด้วยการที่จะบัญญัติให้ตายตัวลงไป
ทีนี้มาถึงญาณทัสสนะในสามัญญผลสูตร พิจารณาเห็น มองเห็น น้อมจิตไปก็มองเห็นว่า กายนี้ประกอบอยู่ด้วยมหาภูตรูป จาตุมฺมหาภูติโก ประกอบอยู่ด้วยภูตรูป มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างนี้เรียกว่า พอจะเรียกว่าญาณทัสสนะได้ แต่พอมาถึงตอนที่ว่าเห็นวิญญาณตั้งอยู่ในกายนั้น ดุจจะดังว่าเส้นด้ายสอดอยู่ในแก้วมณีอย่างนี้ มันไม่มีลักษณะเป็นปัญญา หรือเป็นญาณอะไร มันก็จะเห็นด้วยตาอย่างนี้ แต่ก็ยังเรียกว่าญาณทัสสนะ นี่เป็นความ เป็นสิ่งที่ทำให้ฉงนหรือกำกวม เห็นอยู่นิ่ง ๆ ด้วยตา เหมือนกับเราเห็นไอ้ก้อนกรวดอยู่ในน้ำที่ก้นลำธารใส ๆ อย่างนั้นนะ มันก็ไม่ใช่ปัญญา มันเป็นเพียงการเห็นลงไป บาลีนี้ก็กล่าวชัดอย่างนี้ว่า เห็นสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณตั้งอยู่ในกายนี้ชัดเจน เหมือนคนเห็นเส้นด้ายสีนั้นสีนี้สอดอยู่ในลูกแก้ว ลูกปัดแก้ว ที่เขาร้อยไว้ด้วยด้ายนะ นี้ก็กำกวม
ส่วนญาณทัสสนะซึ่งเป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ หรือ ยถาภูตสัมมัปปัญญานั้นเป็นเรื่องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นปฏิจจสมุปบาทโดยเฉพาะ เรียกว่าญาณทัสสนะ แม้แต่เรื่องเห็นนามรูปตามที่เป็นจริงอย่างไร ก็เรียกว่าญาณทัสสนะได้ นี่คือความกำกวมของคำ ๆ นี้ มีอยู่หลายชั้นหลายระดับ ขอให้ช่วยจำเอาไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเถียงกันให้เสียเวลา คนนั้นก็ยึดมั่นอย่างนี้ คนนั้นก็ยึดถืออย่างนี้ แล้วก็ไปเถียงกันเกี่ยวกับคำ ๆ นี้ นี่ชี้ให้เห็นว่าพวกที่เขายึดถือตามปริยัติตัวหนังสือ คำว่าญาณก็แปลว่ารู้ ทัสสนะก็แปลว่าเห็น แล้วก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราวไป ไม่ใช่เห็นเหมือนกับเราเห็นด้วยตานิ่ง ๆ อย่างนี้
ทีนี้พวกที่ยึดถือหลักธรรมะ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญานี้ก็จะเห็นว่าญาณทัสสนะนี้ไม่ใช่ปัญญาเสียแล้ว เพราะมันเห็นสักว่าเห็น เหมือนกับเห็นด้วยตานี้ เห็นสิ่งที่ตั้งอยู่อย่างนั้น โดยไม่เกี่ยวกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วก็เป็นอันว่าเราจะยุติไว้แต่เพียงว่า คำว่าญาณทัสสนะนั้นมันกำกวม มันหลายชั้น เอาไปใช้กับชั้นไหนก็ได้ ขอแต่ให้เป็นการเห็น และการรู้ซึ่งทางก็แล้วกัน ถ้าถือเอาคำว่าเห็นเป็นหลักมันก็พอจะไปได้ แต่พอคำว่าญาณคือความรู้เป็นหลักแล้วมันก็ลำบากหน่อย นี่เพียงแต่จะได้เห็นอะไร ควรจะเห็นกับตานี้เป็นญาณไปนี้มันก็ลำบาก
ทีนี้เราก็จะพิจารณากันเฉพาะที่มันเกี่ยวกับสมาธิภาวนาที่ ๒ แห่งสูตรนี้ ให้มันครบเรื่องครบราวไป ก็จำเป็นที่จะต้องขอให้พิจารณาถ้อยคำทีละคำต่อไปอีก คำว่า อาโลกสญฺญํ มนสิ กโรติ ย่อมกระทำในใจซึ่งอาโลกสัญญา อาโลก แปลว่า แสงสว่าง ยืมไปจากคำว่าแสงแดด ขอให้เข้าใจว่า คำบาลีนี้เห็นได้ชัดเลยว่า ภาษาธรรมะชั้นลึกที่ยืมไปจากคำชาวบ้าน ตามบ้าน ตามเรือน ตามถนนหนทาง ในครัว ในหม้อนี้ ทั้งนั้นเลย บางท่านก็ทราบอยู่แล้ว บางท่านอาจจะไม่เคยทราบข้อเท็จจริงอันนี้ ฉะนั้นขอให้จำไปไว้ด้วยว่าคำบาลีนั้นมันจะมีลักษณะอย่างนี้ คือทั้งที่เป็นภาษาชาวบ้านและภาษาธรรมะชั้นสูงใช้คำ ๆ เดียวกัน แล้วก็ความหมายก็ตรงกันข้าม อันหนึ่งเป็นเรื่องวัตถุ อันหนึ่งเป็นเรื่องนามธรรม ยกตัวอย่างสั้น ๆ เช่นว่า คำสูงสุด คือคำว่านิพพาน เขาว่ามาจากคำว่าเย็น ของร้อน ๆ เย็นลง ก็เรียกว่านิพพาน พอพ้นเรื่องความเย็นทางจิตใจได้ ก็เอาคำว่าเย็นที่บ้าน ที่เรือน ที่ในครัว ในไฟ ในถ่านไฟนี้ ไปใช้เป็นชื่อของนิพพาน แล้วคำ เช่นหนทาง ถนนหนทางนี้ เอาไปเป็นคำว่ามรรค สำหรับปฏิบัติ คำว่ากิเลส เอาของสกปรกที่คนทั้งหลายรู้จักดีอยู่แล้ว ของเน่า ของสกปรกนี้ คำว่าอาสวะนี้เป็นชื่อของเชื้อหนองก็มี เชื้อหนองที่อมหนอง มันก็มี ภาษาชาวบ้าน ถ้าเป็นภาษาธรรมะก็หมายถึงกิเลส ประเภทที่ทำกันจนชินเป็นนิสัย ทีนี้คำว่าแสงแดดนี่ ก็ถูกเอาไปใช้เป็นคำหนึ่ง เช่นเดียวกับคำว่าลูกตาของคนเรานี้ เอาไปใช้เป็นชื่อของปัญญาที่เห็นธรรม บางทีใช้คำว่าจักษุเฉย ๆ ลูกตา แต่หมายถึงปัญญาที่เห็นธรรม อาโลก แสงแดด แสงสว่าง ก็เอาไปใช้เป็นชื่อของความรู้ ของความรู้แจ้งเห็นจริงนี้ อาโลโก จักษุ วิชชา ปัญญา ญาณ เป็นสิ่งเดียวกันหมด
ส่วนในที่นี้ ในกรณีของสมาธิภาวนานี้ หมายถึงแสงแดดธรรมดา ภาษาธรรมดา แสงแดดธรรมดา กระทำในใจซึ่ง อาโลกสัญญา ก็แปลว่าทำสัญญาว่าแสงแดดหรือแสงสว่างนี้ เหมือนกับเรานั่งอยู่ตรงนี้มันไม่มีแสงแดด ถ้าทำอาโลกสัญญา ก็กลายเป็นเหมือนกับว่าเราไปนั่งอยู่กลางแดด เวลาเที่ยง ๑๒ โมงนั้น ทำสัญญาอย่างนั้น ตรงนี้ก็อีกเหมือนกัน อยากจะขอแทรกอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยไป เพราะว่าได้เรียนให้ทราบแล้วว่า มีความประสงค์มุ่งหมายจะถวายความรู้รอบตัวแก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ไอ้ความรู้ที่เป็นแนวตลอดไปนั้นก็บรรยาย หรือมุ่งหมายที่จะบรรยายในความรู้เบ็ดเตล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวนี้ ก็มีอยู่เรื่อย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น คำว่าสัญญา ผมสังเกตเห็นว่ามักจะเข้าใจคำว่าสัญญาเป็นเพียงความจำได้หมายรู้ ก็จะต้องนึกถึงคำว่าสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจำได้หมายรู้ หมายถึงความสำคัญมั่นหมายเอาว่าเป็นอะไร คือเป็นสัญญาผิดก็ได้ สัญญาถูกก็ได้ แต่ถ้าสัญญาเฉย ๆ เพียงจำได้หมายรู้นั้นสัญญาทีแรก เช่น เหลือบตาไปก็จำได้ว่านี่อะไร เพราะเรามันเคยรู้มาก่อนแล้ว แล้วก็รู้จำ รู้โดยจำได้ว่านี้ต้นไม้นี้ชื่อนั้น นี้ต้นไม้ต้นนั้นชื่อนั้น ต้นไม้ต้นนั้นชื่อนั้น อย่างนี้ก็สัญญาคือจำได้หมายรู้ ส่วนสัญญาที่มันจะทับลงไปอีกทีหนึ่งว่า นี้สวยหรือไม่สวย นี้น่ารักหรือไม่น่ารัก นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยงอย่างนี้มันเป็นสัญญาอีกทีหนึ่ง อีกชั้นหนึ่ง นี่สัญญานี้นะสำคัญมาก เป็นตัวเรื่องราวที่จะทำให้เกิดกิเลส
ทีนี้เราทำความสำคัญว่าแสงแดด ทำความมั่นหมายว่าแสงแดด เราก็เคยรู้อยู่ว่าแสงแดดเป็นอย่างไร ทีนี้เรามานั่งเจริญอาโลกสัญญา กลางคืนมืดตื๋อ เที่ยงคืนเลย มืดมาก แต่ทำอาโลกสัญญา ราวกับว่าเรานั่งอยู่กลางแดดเวลาเที่ยงวัน ที่แดดเต็มที่ นี่คือคำว่าสัญญาเหมือนกัน ไม่ใช่จำได้หมายรู้ ถ้าจะเรียกว่าจำได้หมายรู้ก็โดยอ้อม คือว่าเราเคยนั่งกลางแดดเวลาเที่ยงวันมาแล้วอย่างไร เดี๋ยวนี้เรายังจำได้อยู่ว่าเป็นอย่างไร แล้วทำความสำคัญมั่นหมายที่กำลังมืดตื๋ออยู่นี้ ว่าเหมือนกับแสงแดดเวลาเที่ยงวันนั้น สัญญาอย่างนี้เรียกว่า ความสำคัญมั่นหมาย ทำความสำคัญว่าอาโลก คือแสงสว่างของดวงอาทิตย์ แล้วมันมีคำไวพจน์แทนกันได้คำหนึ่งคือว่า ทิวาสัญญา เพื่อประกอบให้ชัดยิ่งขึ้นไปอีก ทิวาแปลว่ากลางวัน รัตติงแปลว่ากลางคืน ทิวาสัญญา ก็สัญญาว่ากลางวัน แล้วก็อาโลกสัญญาทำความสำคัญว่า มีแสงแดด แสงอาทิตย์ เพราะเหตุว่ากลางวันนั้นบางทีมันมีเมฆ ไม่มีแสงอาทิตย์ก็มี คือเรานั่งอยู่ใต้ร่มไม้อย่างนี้มันก็ไม่มีแสงแดด มันจึงทำให้ชัดลงไปว่าอาโลกสัญญา ทิวาสัญญา กลางวันที่มีแสงแดดเต็มที่ เรานั่งอยู่ในที่มืดแล้วแถมหลับตาเสียด้วย ก็ทำความรู้สึกสัญญาได้ว่าเหมือนกับว่าเรานั่งอยู่กลางวัน เที่ยงวัน กลางแสงแดดจ้า นี่คือคำนี้ อาโลกสัญญา มนสิกโรติ ทิวาสัญญา อธิฏฺฐาติ ครั้งแรกใช้คำว่า มนสิกโรติ กระทำไว้ในใจ เอามาทำไว้ในใจ ส่วนคำหลัง อธิฏฺฐาติ นี้หนักขึ้นไปอีก แปลว่า ตั้งทัพ แปลเป็นไทย ๆ เราว่า อธิษฐาน อธิฏฺฐาติ นั้นคือ อธิษฐาน อธิษฐานแปลว่าตั้งทัพ หมายความว่า ให้มันหมดเลย ให้จิตนี่นะมันถูกกระทำลงไปด้วยความรู้สึกอันนั้นหมดเลย อย่างนี้ว่าอธิษฐานซึ่งทิวาสัญญา คำว่าตั้งทัพ หมายความว่า อื่น ๆ เอาออกไปหมด เหลืออยู่แต่สิ่งนั้นสิ่งเดียว ทำความสำคัญว่ากลางวันเต็มไปด้วยแสงแดด นี้คือหัวข้อของไอ้การปฏิบัติ ส่วนคำประกอบนั้น ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ตถา รตฺตึ ยถา ทิวา นี่ช่วยขยายความให้ชัด ไม่สำคัญอะไร คือราวกับว่า หรือเป็นอย่างว่า ถึงกับว่านี้ กลางวันก็เป็นอย่างไร กลางคืนก็เป็นอย่างนั้น คือสว่างจ้าเหมือนกลางวัน ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา นั่นเรียกว่าให้กลางคืนนั้นเป็นเหมือนกลางวันเสีย มันก็เลยเป็นอันว่าไม่มีมืดกันแล้ว ไม่มีกลางคืนแล้ว จิตไม่มีกลางคืนเลยในขณะนั้น ไม่มีความมืดใด ๆ เลย
ทีนี้คำสำคัญที่สุดก็ว่า วิวเฏน เจตสา อปริโยนทฺเธน นี้ เจตสาได้ทั้งจิต วิวเฏน อันบุคคลนั้นหรือภิกษุนั้นเปิดแล้ว อปริโยนทฺเธน ไม่มีอะไรมากลุ้มรุม หุ้มห่อ แวดล้อม รัดรึง นี่ตัวสำคัญที่แสดงผล มีจิตอันเปิดแล้ว น่าสนใจมาก เพราะว่าคำว่าเปิดแล้วในที่นี้ หมายถึงเปิดทางวัตถุนะ หรือเนื่องอยู่ด้วยทางวัตถุ ยังไม่ได้พูดถึงอวิชชา ซึ่งเป็นเหมือนหลังคาปิด แต่พูดว่าเปิดเฉย ๆ มันก็เปิดหลังคาธรรมดานี้ มันก็เป็นการเปิดด้วยอำนาจของสมาธิ แล้วก็เปิดนิวรณ์ซึ่งเป็นเหมือนหลังคาออกไป ถ้าว่าเป็นชั้นสูงสุด ชั้นบรรลุมรรคผลนิพพานกัน ต้องเปิดอวิชชาคือหลังคา เปิดหลังคาคืออวิชชา ก็เปิดออกไป อย่างนี้ก็หมดกิเลสกันไปเลย เดี๋ยวนี้เปิดอย่างนี้ไม่ได้หมายความถึงว่า เป็นพระอรหันต์หมดกิเลส มันจึงเป็นเพียงการอธิษฐานด้วยอำนาจของสมาธิ เปิดหลังคาเพียงนิวรณ์ทั้งหลายที่เคย ปริโยนทฺธา คือหุ้มรุม ห่อหุ้ม แวดล้อม รัดรึงจิต จิตถูกเปิดออกไปหมด โดยวิธีนี้ โดยวิธีของสมาธินี้ ก็แปลว่าไม่พูดถึงกิเลส ไม่พูดถึงความสิ้นกิเลส แต่พูดถึงว่าจิตเวลานั้นทำความสำคัญเป็นกลางวัน เป็นแสงสว่าง ไม่มีอะไรมาปิดบังเป็นเงาแม้แต่สักนิดหนึ่ง นี่มีจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรมาหุ้มห่อ รัดรึงแล้ว ทำจิตที่ประกอบด้วยประภาส หรือโอภาสคือแสงสว่าง ให้เจริญอยู่ ให้ปรากฏอยู่
ทีนี้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นว่า นี้มันเพื่อประโยชน์อะไร พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงสมาธิภาวนานี้ในลักษณะเช่นนี้ แล้วเพื่ออานิสงส์หรือประโยชน์อะไร ผมพิจารณาดูแล้วรู้สึกว่า ท่านกล่าวไว้เป็นกลางมาก แล้วแต่ใครจะให้มันเป็นแสงสว่างชั้นไหน ถ้าแสงสว่างชั้นนิวรณ์ถูกเปิดออกไป มันก็ยังเป็นของที่น่าอัศจรรย์อยู่ตรงที่ว่า เราสามารถเพิกนิวรณ์ออกไปจนจิตสว่างโล่ เหมือนกับอยู่กลางแสงแดดนี้ ไม่เกี่ยวกับตัดกิเลส อย่างนี้ก็เรียกว่าญาณทัสสนะชนิดหนึ่งได้แล้ว แต่เมื่อดูตามตัวหนังสือแล้ว มันไม่ใช่จำกัดไว้เพียงเท่านั้นก็ได้ ไม่มีนะตัวหนังสือตัวไหนที่จะจำกัดผูกขาดว่ามันอยู่แต่เพียงเท่านี้ เพราะเรายังมีคำว่าจิตอันเปิดแล้ว ไม่มีอะไรร้อยรัดหุ้มห่อแล้ว มีจิตประกอบด้วยโอภาสแล้วนี้ ก็เป็นอันว่าจะให้เลยไปถึงไอ้เรื่องของอวิชชาถูกเปิด ถูกเพิกถอนแล้ว อริยมรรคทุกชั้นทุกระดับก็ปรากฏ เป็นการบรรลุมรรคผล แม้อรหัตผลก็ได้ เนื้อความมันไปได้ถึงอย่างนั้น แต่ทำไมท่านจึงไม่ตรัสอย่างนั้น ถ้าตรัสอย่างนั้นเสีย ไอ้อย่างนี้มันก็ไม่ถูกนับเข้ามา ไม่ถูกรวบเข้ามา คือจะถูกคัดออกไปเสีย จึงเป็นอันว่าพูดตั้งแต่ชั้นสมาธิไปเลย ที่เพิกนิวรณ์ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเป็นเหมือนความมืดไปเสีย ให้มันถูกเพิกไปเสีย ก็เป็นแสงสว่าง เป็นแสงแดด หรือแสงสว่างในภาษาธรรม ภาษาธรรมะ
ฉะนั้นภิกษุอาจจะฝึกฝนสมาธิภาวนาข้อนี้ นับตั้งแต่ทำด้วยอำนาจจิต ด้วยอำนาจสมาธิ นั่งอยู่ในที่มืดก็ทำอาโลกสัญญา มีแสงสว่างเหมือนกับกลางวันได้ ถ้าเขาต้องการ แล้วภิกษุก็ควรจะต้องการเพียงเท่านั้น เพื่อว่าจะกวาดไอ้นิวรณ์ทั้งหลายให้มันเกลี้ยงไปเสียจากจิตนี่ ให้ถึงขนาดที่เรียกว่าไม่มาวี่แววกันอีก ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องมือที่รุนแรงถึงขนาด อาโลกสัญญา ทิวาสัญญาแล้ว มันรบกวนกันอยู่กับนิวรณ์ ซึ่งมันไม่ค่อยจะสิ้น สิ้นซากนะ ถ้าทำอย่างนี้ได้มันก็สิ้นซาก เหมือนแมลงหวี่ แมลงวันตอมตานี้ มัวแต่ไปปัดไปไล่มัน มันก็รบกวนอยู่นั่น เดี๋ยวก็มาตัวหนึ่งอีก ถ้าว่ากำจัดให้ตายหมดเลย มันก็รู้แล้วรู้รอดไป ภิกษุควรจะมุ่งหมายเพียงเท่านี้ เพราะใช้คำว่าภิกษุ อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในศาสนานี้ ย่อมกระทำในใจซึ่งอาโลกสัญญา ย่อมอธิษฐานซึ่ง ทิวาสัญญา
ทีนี้ถ้าว่าเขาไม่ได้เป็นภิกษุในศาสนานี้ ในธรรมวินัยนี้ เขาอาจจะใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งเป็นเรื่องฤทธิ์ เรื่องปาฏิหาริย์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แล้วก็ไม่ได้ใช้เพื่อละกิเลส ใช้เพื่อรบราฆ่าฟัน ใช้เพื่อเอาเปรียบผู้อื่น ใช้เพื่อแสดงปาฏิหาริย์ เอาประโยชน์จากผู้อื่นมาโดยวิธีทุจริต อย่างนี้ก็ไม่ใช่ภิกษุในพุทธศาสนานี้แล้ว ก็กลายเป็นพวกยักษ์ พวกมาร พวกวิทยาธร ฤาษี อะไรก็ไปพวกโน้นแล้ว ซึ่งเขาก็ใช้ทิวาสัญญา อาโลกสัญญาได้ แล้วข้อความที่อธิบายไว้ในหนังสือชั้นหลัง ๆ ก็อธิบายให้เห็นได้ว่า ไอ้อาโลกสัญญา ทิวาสัญญานี้มันทำให้มีตาทิพย์ อยากจะมีตาทิพย์เห็นตลอดโล่งไปนี้ ก็ต้องเจริญสิ่งนี้ ที่เรียกว่าทิวาสัญญา อาโลกสัญญา แล้วก็มักจะตั้งต้นมาด้วยเรื่องของกสิณ ใช้อาโลกกสิณนั้นโดยตรง แล้วก็เจริญสำเร็จเป็นฌาน เป็นสมาธิโดยกสิณนั้น ถึงขนาดที่เรียกว่ารูปฌาน แล้วจึงมาตั้งต้นให้มันเป็นไอ้ทิวาสัญญา อาโลกสัญญาในลักษณะนี้ แล้วก็มองดูไปทางไหนก็เห็นตามที่ตัวต้องการจะเห็น แล้วเป็นประโยชน์แต่ในทางโลก ๆ มีคนเคยยืนยันว่ายังมีคนที่มีตาทิพย์อย่างนี้เหลืออยู่ในอินเดียเมื่อไม่นานนี้ เขาระบุชื่อ คนที่ชื่อ ออโร บินโด โยคีคนนั้นมีคุณสมบัติอันนี้ แกบอกได้หมดว่าที่ไหนกำลังทำอะไร อยู่ที่เมืองนอก เมืองนา เมืองไหน กระทั่งบุรุษไปรษณีย์เข้ามาในเขตวัดแล้ว กำลังเอาจดหมายมาให้เท่านั้นฉบับ เท่านี้ฉบับ จากคนนั้น จากคนนี้บอกไปหมดเลยอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของตาทิพย์ ซึ่งมาได้โดยวิธีของอาโลกสัญญา ทิวาสัญญานี้ก็เหมือนกัน แต่คนนี้ก็ไม่ถูกฝรั่งจับขัง ในฐานะที่ว่าจะเป็นไอ้ผู้ร่วมมือกับกบฏ ต่อต้านฝรั่ง เมื่อคราวอังกฤษปกครองอินเดีย มันช่วยอะไรไม่ได้อย่างนั้นนะ ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อธรรมะ เพราะมันมีปาฏิหาริย์ไปในทางที่ให้คนเขาเห็นว่าเอาประโยชน์ แล้วเราก็ไม่พูดถึงดีกว่า เพราะว่าในพระบาลีนี้ไม่ได้พูดถึงไอ้หูทิพย์ตาทิพย์แบบนั้น แล้วก็เป็นอันว่าพูดถึงหูทิพย์ ตาทิพย์ แบบที่จะให้เห็นลึก ๆ ๆ เข้าไปในทางธรรม ในที่สุดก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็สนใจกันมาในทางฝ่ายนี้ มาในทางแง่นี้ เอาแต่เพียงว่ามันง่วงไม่ได้ก็แล้วกัน
ก็มีคนมาถามผมเรื่อย อาจารย์วิปัสสนาก็มี ว่าทำอย่างไรพอเจริญสมาธิแล้วมันโงกงุบ มันหลับไปทุกทีนี้ เพราะมันไม่มีเชื้อแห่งทิวาสัญญา หรืออาโลกสัญญาเสียเลย ถ้าเราเคยอ่านพุทธประวัติ ตอนที่พระโมคลานะไปนั่งโงกอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องนี้ เรื่องทิวาสัญญา เรื่องอาโลกสัญญา ทีนี้ถ้าใครทำได้ในเรื่องนี้ถึงที่สุด มันก็เป็นอันว่าไม่ต้องง่วงกันอีกต่อไปแล้ว ที่จะไปนั่งสมาธิที่ไหนก็ตาม มันง่วงไม่ได้ แสงแดดมันจ้าอยู่รอบตัว
ฉะนั้นสำหรับผู้เจริญวิปัสสนาก็ถือเอาประโยชน์จากสมาธิภาวนาข้อนี้ก็คือว่า เพิกสิ่งที่มันมืดมัว ขมุกขมัว ยู่ยี่ ชวนง่วง ชวนมึน ชอนอะไรนี้ออกไปได้ ก็นับว่ามีประโยชน์มากอยู่
ทีนี้ก็ค่อยเขยิบออกไป ขึ้นไป ๆ ๆ จนถึงไอ้ทิวาสัญญา อาโลกสัญญาชนิดชั้นปัญญา เห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนไอ้ญาณทัสสนะ เห็นวิญญาณตั้งอยู่ในกายนี้ เหมือนเส้นด้ายสอดอยู่ในแก้วมณีนั้น ผมไม่สงสัย คือว่าเมื่อไม่เข้าใจ ไม่สนใจแล้วก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นไปในทางให้มีอัตตา มีตัวตน มันขัดกันอยู่กับในพระบาลีทั้งหลาย ที่อื่นอีกเป็นอันมาก ก็เลยทิ้งเสีย ไม่ไปสนใจ เพราะมันมีแห่งเดียวที่มันไม่เหมือนกับในที่อื่น ฉะนั้นจึงถือว่าตามตัวหนังสือนั้นจะไม่ใช่แล้ว ทีนี้จะเอาอย่างไรละ ถ้าว่าจะต่อรองกันบ้าง จะรักษาคำพูดนี้ไว้ว่ามีวิญญาณชัดเจนเด่นอยู่ในร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุสี่นี้ ก็เราลองพูดให้เป็นภาพพจน์ตามแบบภาษาธรรมดูบ้าง เพราะว่ามีพระพุทธภาษิต ซึ่งถูกต้องหรือว่าเชื่อถือไว้ใจกันตลอดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคน ที่ว่า ฉธาตุโร ภิกฺขเว อยํ ปุริโส คนเรานี้ประกอบอยู่ด้วยธาตุหก ธาตุหกคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้สี่ แล้วก็วิญญาณธาตุ อากาศธาตุ ไอ้วิญญาณธาตุนี้ มันได้อยู่ในกายที่ประกอบอยู่ด้วยมหาภูตสี่นี้อย่างไร ไอ้เราที่นั่งกันอยู่ที่นี่คงจะขมุกขมัวใช่ไหม เพราะวิญญาณนี้นะมันอยู่ในกายอันประกอบด้วยธาตุสี่นี้อย่างไร ที่อากาศธาตุมีอยู่ในกายนี้ก็พอจะฟังถูก เพราะมันมีส่วนเนื้อที่ว่างก่อนที่จะมีธาตุอะไรขึ้นมา มันมีธาตุขึ้นมามัน อันนั้นก็ยังรองรับอยู่ที่นั่น ส่วนวิญญาณธาตุนั้นมันอยู่ได้อย่างไรตลอดเวลา เพราะว่าในพระบาลีที่มาก มากแสนจะมากทั่วไปทั้งพระไตรปิฎกก็ว่า เมื่ออายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน ปฏิจจ คือเข้ามาเนื่องกัน มันจึง อุปฺปชฺชติ วิญฺญาณํ วิญญาณจึงจะเกิดขึ้น วิญญาณจึงจะเกิดขึ้น เมื่ออายตนะภายในกับภายนอกอาศัยกัน นี้คล้ายมันเพิ่งเกิด ส่วนสูตรนี้แห่งเดียว บาลีนี้แห่งเดียว สามัญผลสูตรหรือสูตรที่คัดลอกไปจากสูตรนี้ มันก็ว่ามีกาย แล้วก็มีวิญญาณ ไม่ใช้คำว่าธาตุ วิญญาณเฉย ๆ ตั้งอยู่ นอนอยู่ในมหาภูตรูปนั้น เดี๋ยวนี้ภิกษุนั้น เห็นชัด เหมือนกับเห็นเส้นด้ายที่ร้อยอยู่ในลูกแก้ว คนธรรมดาจะมองเห็นอย่างนั้นไม่ได้ เอาเราเองมองเห็นไม่ได้ เราจะต้องไปเจริญให้เกิดฌานสี่ แล้วน้อมจิตไปเพื่อจะเห็นสิ่งนี้ แล้วจึงเห็น ก็จะถือเอาความได้ว่า เห็นไอ้วิญญาณธาตุ ธาตุที่หก ซึ่งจะต้องมีอยู่ในร่างกายนี้ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นธาตุ เป็นสักว่าธาตุ แต่ไม่ได้หมาย แต่ไม่ต้องหมายความว่ามันเป็นหน่วย เป็นลูก เป็นอะไรชัดอยู่อย่างนั้น แต่มันมีอยู่อย่างชัดแจ้งอย่างนั้น และแน่นอนอย่างนั้น ส่วนคำว่าวิญญาณที่จะ อุปฺปชฺชติ คือเกิดขึ้นหลังจากการอาศัยกันของอายตนะภายใน นอกนั้นมันอีกวิญญาณหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง วิญญาณนั้นมันกลายเป็นวิญญาณขันธ์ไปแล้ว ส่วนวิญญาณที่ว่า เห็นนอนอยู่นี้เป็นวิญญาณธาตุไปแล้ว เป็นวิญญาณธาตุที่อยู่ในมหาภูตรูป ส่วนเป็นอายตนะแล้ว กระทบกันแล้วเกิดเป็นวิญญาณ วิญญาณนี้คือวิญญาณขันธ์ไปแล้ว แม้บาลีจะมีคำว่าวิญญาณ ๆ ๆ ลุ่น ๆ อย่างนี้ ก็ระวังให้ดี เพราะมันเป็นญาณ มันเป็นวิญญาณธาตุ ธาตุ หรือว่าวิญญาณอย่างอายตนะ หรือว่าวิญญาณอย่างขันธ์ คือวิญญาณขันธ์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ มันก็ป้องกันไอ้ความเข้าใจผิดที่ว่า นั่นคือตัวอัตตาได้
แม้ในกรุงเทพ อาจารย์บางคณะที่มีชื่อเสียง ก็สอนเรื่องว่ามีวิญญาณตัวเล็ก ๆ อยู่ในร่างกายนี้ ให้เพ่งให้ดีแล้วก็จะเห็น เห็นเป็นหน่วยใส ราวกับว่าเม็ดแก้วหรืออะไร คล้าย ๆ กับว่ายืมมาจากในบาลีนี้ก็มี ผมไม่เชื่อ ความคิดมันส่อไปในทางว่า มันคือวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุหนึ่งในบันดาลธาตุทั้งหก มันเข้าใจยาก มันสลัวเพราะมันเป็นนามธรรมอันหนึ่ง ถ้าว่าให้มันเป็นธาตุมันก็เป็นนามธาตุ มันไม่ใช่รูปธาตุ ฉะนั้นจึงยากที่จะเห็น ดังนั้นจะต้องเห็นด้วยปัญญา จะต้องทำให้มีแสงสว่างแรงกล้า แล้วก็มองเห็นวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นนามธาตุนี้ด้วยปัญญา จนชัดลงไปว่ามันมีอยู่แน่ ถ้าถือเอาความหมายอย่างนี้
ข้อความในพระบาลีสามัญผลสูตรนั้น ถูกต้องที่สุดแล้ว เป็นญาณทัสสนะจริง ๆ ด้วย แต่พอถือผิดนิดเดียว วิญญาณนั้นเป็นอัตตาไปเลย เป็นอัตตาตัวตนที่จะมามีเรื่องมีราว เข้าออกกับร่างกายนี้ จุติไป สนธิกันไปทั้งนั้นเลย อย่างนี้ขอให้ระวัง ผมไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านจะไม่สอนอย่างนั้น จะไม่มีความหมายอย่างนั้น แต่ตัวหนังสือมันเขียนไว้กำกวมอย่างนั้น ไปพิจารณาดูเองก็แล้วกัน และก็สิ่งนั้นก็เรียกว่าญาณทัสสนะด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวจะเกิดเป็นพิษขึ้นมา สำหรับญาณทัสสนะ ไปเห็นอัตตาแล้วก็ยึดมั่นอัตตายิ่งขึ้นไปทุกที ๆ มีอัตตา มันผิดกับที่ว่าเราศึกษาอยู่ในข้อที่ไม่มีอัตตา สักว่าธาตุ เป็นไปตามธรรมชาติ ธาตุมตฺตํเอว ยถาปจฺจยํปวตฺตมานํ สักแต่ธาตุเท่านั้น กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ถ้าไปเห็นวิญญาณนั้นสักว่าธาตุเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ อย่างนี้แล้วก็ถูกแน่ แต่คำว่าวิญญาณเฉย ๆ นั้นคือวิญญาณธาตุ อย่างนี้ก็เป็นญาณทัสสนะได้
แต่ถ้าเป็นวิญญาณตัวตน มันก็กลายเป็นอะไร เป็น ชีโว อัตตา เจตภูติ อะไรทำนองนั้น แล้วก็ ตรงกันข้ามเลย มันผิดกันอย่างตรงกันข้ามเลย แล้วฝ่ายนู้นนะเขาอาจจะเรียกว่าเป็นญาณทัสสนะของเขา ตามแบบของมิจฉาทิฏฐิก็ได้ เขาถือว่าถูกต้องเป็นสัมมาทิฐิของเขาก็ได้ ที่มีอัตตาอย่างนั้น ทีฝ่ายเรานี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ที่ถ้ามีอัตตาอย่างนั้น แต่สิ่งนี้ เรียกในบาลีนี้ว่าวิญญาณ
เอาละเป็นอันว่า ระวังคำว่าญาณทัสสนะนี้ให้ดี ๆ ให้เจริญสมาธิภาวนา แล้วได้มาซึ่งญานทัสสนะที่เป็นประโยชน์ หรือถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่ว่าถึงญาณทัสสนะทั่ว ๆ ไป เพื่อเป็นรากฐานของการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นก็ได้ นั้นแหละถูกต้องที่สุดแล้ว หรือว่าแม้แต่จะเป็นเพียงญาณทัสสนะที่มาจาก อาโลกสัญญา ทิวาสัญญา คือจะเพิกถอนความขี้โงก ขี้ง่วง อะไรให้หมดไป ให้มันเหมือนนั่งอยู่กลางแดดจ้านี้ มันก็ยังมีประโยชน์ที่สุด แล้วก็เอาแต่เพียงเท่านั้น
ทีนี้ถ้ามันเลยขึ้นมาถึงว่า ไอ้คำว่ากลางวันหรือแสงแดดนี้หมายถึงแสงสว่างแห่งปัญญา ก็มาสู่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือปัญญา คือญาณทัสสนะที่จะทำให้เกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุติ แล้วมันก็ตรงไปยังจุดหมายปลายทาง แต่ถ้าพูดเลยไปถึงความสิ้นกิเลส สิ้นอาสวะแล้ว มันเกินหน้าที่ของไอ้สมาธิภาวนาที่สอง เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสมาธิภาวนาอันสุดท้าย คืออันที่สี่ไว้ว่า อาสวกฺขญาณํ ขญาย เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะมันมีอยู่ จึงเป็นสมาธิภาวนาอีกพวกหนึ่ง
เดี๋ยวนี้เอาเป็นว่ามืดที่มารบกวนจิตก็แล้วกัน เพิกออกไปได้ ส่วนมืดที่มารบกวนปัญญานั้นไว้พูดกันทีหลัง นี้คือญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาที่สอง ชนิดที่สอง ถือเอาความได้ตามตัวหนังสือนั้นว่าสมาธิภาวนา คือการกระทำจิตให้เจริญด้วยอำนาจแห่งสมาธิ เพื่อประโยชน์แก่ญาณทัสสนะ เป็นสมาธิภาวนาชนิดที่สอง มุ่งหมายแต่เพียงอาโลกสัญญา ทิวาสัญญา เป็นผู้มีจิตอันเปิดแล้ว เหมือนกับเปิดหลังคา เพื่อนิวรณ์ทั้งหลายที่หุ้มรุมจิต
ทีนี้จิตถูกเปิดจากนิวรณ์แล้วมันก็ สพฺพาสํ คือมีแสงสว่างออกมาในตัวมันเองตามธรรมชาติธรรามดาของจิต ที่เรียกว่าจิตนี้ประภัสสร ถือว่าจิตนี้มีรัศมี มีประภาส โอภาสอยู่ในตัว เหมือนกับแก้วมณี หรือเพชรนั้นนะ มันมีแสง ไอ้น้ำเพชรอยู่ในตัว ถ้ามีอะไรมาปิดไอ้น้ำเพชรนั่นก็ไม่แสดงตัวให้เห็น ฉะนั้นต้องฝนให้ขรุขระ ๆ ๆ ออกเสียให้หมด ไม่มีอะไรหุ้มมันแล้วมันก็แสดงไอ้น้ำวาว ๆ ของเพชรออกมา หรือว่าแม้เพชรที่มันเจียระไนจนแสงวาวแล้ว แต่ถ้าเอาไปทาโคลน ทาสีทาอะไรเสียมันก็ไม่แสดงได้เหมือนกัน ก็ต้องเช็ดไอ้นั้นออกเสียทีหนึ่ง มันก็มีโอภาส หรือประภัสสรแสดงออกมา อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้จิตประภัสสร เพราะการกระทำอย่างนี้ นับว่ามีผลคุ้มค่า จัดว่าเป็นสมาธิภาวนาที่มีค่ามีความหมายที่ควรสนใจอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกันนี้
ในวันนี้ผมก็ตั้งใจจะพูด สมาธิภาวนาข้อที่สองเพียงเรื่องเดียว เวลาก็หมดลงพอดี ขอยุติคำบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้.