แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เนื่องในนววัสสิกาและกาลาภิลักขิตกาล คือ วันที่สมมติกันว่า จะเป็นวันสิ้นปี แล้วก็จะย่างขึ้นสู่ปีใหม่ในโอกาสนี้ เป็นธรรมเทศนา เนื่องด้วยความไม่ประมาท ตักเตือนท่านสาธุชนทั้งหลาย ให้ระลึกนึกถึงทุกสิ่งที่ควรจะระลึกด้วยความไม่ประมาท เนื่องด้วยวันที่สมมติว่า เป็นเครื่องกำหนดสิ้นปี แต่ละปีเช่นวันนี้ ในชั้นแรกนี้ โดยทั่วๆ ไปทุกปี ก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าเวลา สิ่งที่เรียกว่า เวลานั้น เป็นของใหม่ไม่ได้ แต่เราก็สมมติ เอ่อ, เป็นของใหม่หรือของเก่าไม่ได้ แต่เราก็สมมติให้เป็นของใหม่ หรือเป็นของเก่า ดังนั้น เราอย่าได้โง่ ไปตามความสมมติว่า มันเป็นปีเก่า หรือเป็นปีใหม่ แต่ให้รู้จักถือเอาประโยชน์แห่งการสมมติว่าควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน ด้วยกันทุกคน เวลานั้นไม่เป็นของเก่าไม่เป็นของใหม่ เพราะว่ามันเป็นเพียงกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดกาลนิรันดร ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเก่า เปลี่ยนแปลงใหม่ แต่เมื่อคนเอาอาการของความเปลี่ยนแปลงนั้น ไปจับเข้าที่อะไร เพื่อเป็นเครื่องกำหนดระยะแห่งการเปลี่ยนแปลง มันจึงดูเป็นเวลาที่ถูกกำหนดว่า เป็นเก่าหรือเป็นใหม่ เช่น ๓๖๕ วัน ที่กำลังจะล่วงไปให้เป็นปีเก่า และที่จะมาข้างหน้าให้เป็นปีใหม่ ส่วนเวลาที่แท้จริงนั้นไม่เก่าไม่ใหม่ หรือถ้าจะเรียกให้ถูกก็เรียกว่าเก่า ตลอดกาลก็ได้ เพราะมันเป็นอย่างนี้มาแต่กาลก่อน ในลักษณะที่เป็นนิรันดร คือเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไม่รู้ว่า ครั้งไหนคราวไหน คือไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อมนุษย์มากำหนดกันแต่ที่วัตถุสิ่งของที่สังเกตเห็นได้ด้วยตา หรือการกระทำใดๆ ที่เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงของเวลานั้น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่วัตถุทั้งหลาย เช่นต้นไม้ เช่นพื้นโลก ตัวอย่างเช่น ฤดูฝน ฤดูแล้ง อย่างนี้ป็นต้น ขอให้มองดูให้ทะลุสิ่งเหล่านั้นลงไปให้ผ่านทะลุฤดูฝน หรือว่าฤดูแล้ง ให้ทะลุวัน เดือนหรือปีลงไป ให้เห็นว่ามันเป็นสักแต่ว่า เวลา คือกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแปลก ถ้ามันแปลก ก็เพราะว่า เรามันยังไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น มันก็เป็นความโง่ของเราเองที่ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรแปลก เพราะว่าเรามันยังไม่รู้จัก ความไม่รู้จักของเราก็ต้องยกให้เป็นความโง่ของเรา ที่จริงควรจะถือว่าไม่มีอะไรใหม่ หรือไม่มีอะไรแปลก แม้แต่พระนิพพานเป็นที่สุด ก็ไม่ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นของแปลก แต่เราก็ต้องถือว่าแปลกอย่างยิ่ง เพราะว่าเรายังไม่เคยรู้จัก บางทีก็ไม่เคยได้ยินคำๆ นี้ด้วยซ้ำไป มันแปลกเสียตั้งแต่ได้ยินแล้ว ยิ่งเมื่อประพฤติธรรมให้บรรลุนิพพานจริงๆ ขึ้นมา ในระยะแรกๆ ก็จะเห็นเป็นของแปลก จะได้ของแปลก แต่ครั้นถึงเข้าจริง นิพพานก็ไม่เป็นของแปลก เพราะว่าคนที่จะมีจิตใจฉลาดลึกซึ้งถึงขนาดที่จะบรรลุพระนิพพานนั้น จะไม่เห็นอะไรเป็นของแปลก จะเห็นว่าทุกสิ่งก็เป็นไปตามกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นพวกสังขตะ คือมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราวของสิ่งที่เป็นสังขตะ คือ มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่แปลกอะไร ที่เป็นอสังขตะ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เช่น พระนิพพาน เป็นต้น มันก็ตั้งอยู่ในลักษณะที่เป็นอสังขตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังเป็นสักว่าธรรม ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็เลยไม่เห็นเป็นของแปลก คือเห็นว่าเป็นธรรม เสมอกัน ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเราหรือเป็นของของเรา เข้าในสิ่งนั้นๆ ทั้งที่เป็นสังขตะ และอสังขตะ สำหรับที่เป็นสังขตะมีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงนั้น เราก็กล่าวรวบยอดได้ทีเดียวเลยว่า มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนที่เป็นอสังขตะ ไม่มีเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เที่ยงและไม่เป็นทุกข์นั้นก็ยังกล่าวว่าเป็น อนัตตา ผู้ที่มองเห็นลึกซึ้งถึงขนาดนี้จึงพบว่า ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรแปลก เห็นสักว่าธรรม ตามธรรมชาติเสมอกัน ที่เสมอกันทั้งที่เป็นสังขตะ และอสังขตะ นั้น คือความหมายถือว่า นาลัง อภินิเวสายะ คือทุกสิ่งนั้น ไม่ควรที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเรา และของเรานั่นเอง นี้เรียกว่า ความไม่แปลกกันแม้แต่ที่เป็นสังขตะ และอสังขตะ สำหรับความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์นั้นเป็นลักษณะของฝ่ายสังขตะ ไม่เที่ยงก็คือเปลี่ยนแปลง เห็นได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย เพราะว่ามันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง ส่วนคำที่ว่าเป็นทุกข์นั้นมีอยู่ ๒ ความหมาย ความหมายที่กว้างขวางที่สุดที่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์อย่างนี้นั้น หมายความว่า มันน่าเกลียด สิ่งใดมีการเปลี่ยนแปลง แล้วมันก็คือ หลอกลวง เพราะฉะนั้นมองเห็นแล้วก็น่าเกลียด คำว่าทุกข์ในกรณีเช่นนี้ แปลว่า น่าเกลียด คือ ทุก แปลว่า น่าเกลียด ขัง ไอ้ สิกขะ อขะ นี่ แปลว่าดูหรือเห็น ดูแล้วมันน่าเกลียดเพราะมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันหลอกลวง ส่วนความทุกข์อีกความหมายหนึ่งนั้นแปลว่าทนยาก คือเจ็บปวด ลำบาก นี้หมายถึงความทุกข์ ที่ปรากฏในจิตใจของคนโง่ ที่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆ โดยความเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา สิ่งที่มันไม่เที่ยง ถ้าไม่ไปยึดถือเอาเป็นเรา เป็นของเรา มันก็ไม่ทำความทรมานแก่เรา คือ ไม่เป็นความทุกข์โดยนัยยะอันหลังที่ว่า เจ็บปวดหรือทรมาน แต่มันยังคงเป็นความทุกข์โดยนัยยะอันแรก โดยดูแล้วว่ามันน่าเกลียด หรือว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน เป็นต้น มันก็ไม่เที่ยง มันก็เปลี่ยนแปลง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หมายความว่า มันดูแล้วมันน่าเกลียด เป็นก้อนหินทั้งที ก็ยังรู้จักหลอกลวงคือ เปลี่ยนแปลงเรื่อยไปๆ จนหมดความเป็นก้อนหิน ผู้มีปัญญาควรจะสังเกตดู พิจารณาดู ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขตะ มันก็ไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ แล้วมันก็เป็นอนัตตา แต่ต่อให้เป็นอสังขตะ มันก็ยังคงเป็นอนัตตา คือ ไม่ควรจะถือว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่ามันเป็นธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือ ไม่ไปสำคัญมั่นหมายโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตน ทั้งที่เป็นสังขตะ และอสังขตะ ดังนี้ ถ้าพิจารณาเห็นตามนี้แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรแปลกเพราะว่าเป็นอนัตตาเสมอกัน แล้วก็ไม่มีอะไรใหม่ ไปจากความเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้มา ตั้งแต่กาลนิรันดรที่แล้วมาแต่หลัง แต่เราไม่มองเห็นอันนี้ เราก็โง่เอง จึงเห็นเป็นของแปลก จึงเห็นเป็นของใหม่ นี่คือสิ่งที่เตือนกันทุกปี เกี่ยวกับปีเก่าปีใหม่ มันจะเปลี่ยนไปตามความสมมติ ขอให้รู้จักใช้สมมติให้เป็นประโยชน์ แต่อย่าไปโง่ ถึงกับยึดถือสมมตินั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากลำบาก เป็นความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง นี้คือ การปรารภเกี่ยวกับปีใหม่ทุกปีที่แล้วมา ทีนี้ก็จะได้ อ้า, ดูกันต่อไปถึงข้อที่ว่า การหลงในสมมตินั้น มันเป็นการกระทำที่โง่เขลา ทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความทุกข์นานาประการ ไม่ว่าสมมติชนิดไหนหมด ถ้าหลงแล้วก็เป็นการเกิดปัญหาที่ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก เช่น เรื่องเก่าเรื่องใหม่นี้ เป็นต้น แม้สมมติเรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็เหมือนกัน มันเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลง ที่มีเหตุ มีปัจจัยปรุงแต่งไปตามนั้น ฉะนั้น มนุษย์ที่โง่เขลาก็ไปหลงในความเปลี่ยนแปลงเป็นของใหม่ เป็นของเก่า เป็นของดี เป็นของชั่ว เป็นการได้ เป็นการเสีย มากมายหลายคู่ ที่จะเอามาเปรียบกัน มนุษย์โง่ๆ เหล่านี้ มันจึงชอบเปลี่ยน ไม่ชอบของจริง คือ ไม่ชอบความหยุด หรือความสงบ ถ้ายังโง่อยู่เพียงใดก็ชอบเปลี่ยนอยู่เพียงนั้น เมื่ออาตมาเด็กๆ กุ้งไม่มีหางในจานกับข้าว เดี๋ยวนี้ในการ อ้า, จานกับข้าว กุ้งมันมีหาง คือมันติดหางมาด้วย ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องอะไรกัน คิดมานานแล้ว ก็ยัง เอ่อ, ไม่ค่อยจะแน่ใจว่า มันเป็นด้วยเรื่องอะไรกัน จะไปถามใครก็ละอายเขา เดี๋ยวนี้ก็เอามาพูดเสียให้มันสิ้นเรื่องสักที ถ้าโง่มันก็จะได้หายโง่ ว่ากุ้งทำไมมันถึงเปลี่ยนถึงขนาดที่ก่อนนี้มันไม่มีหาง เดี๋ยวนี้มันก็มีหาง ก็คงจะไม่มีอะไร เข้าใจว่าเพราะคนมันชอบเปลี่ยน เพราะคนมันโง่ หลงในสมมติ มันก็ชอบไอ้สมมติใหม่ๆ เกิดไปนิยมให้กุ้งยังมีหางติดมาด้วย มันคงเป็นเพราะคนนั้นมันชอบมีหาง คือ มันชอบหลอกนั่นเอง ชอบเอาหางกุ้งติดมา สำหรับหลอกกันว่า มันดี มันสวย แต่ถ้าหากว่า หางกุ้งนั้นมันกินเข้าไปด้วยแล้วมีประโยชน์กว่า อาตมาก็โง่เอง แต่เดี๋ยวนี้เชื่อว่า มันคงไม่มีประโยชน์อะไร เห็นคนเขากัดทิ้งกันทั้งนั้น แต่ทำไมจึงต้องเปลี่ยน เพราะว่าไปหลงตามที่เขาสมมติกันว่าสวย คนไทยเรานี้ก็ไม่ใช่เล่น ก็พลอยหลงสมมติ ไปตามสมมติที่เห็นคนเขาทำอะไรแปลกๆ บางทีก็จะสมมติเอาเองก็ได้ เพื่อความเปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่า ถ้าโง่แล้วมันก็จะต้องถูกหลอก หลอกได้แม้กระทั่งตัวเอง หลอกตัวเองไม่ต้องมีใครมาหลอก แต่ที่เห็นๆ กันอยู่ก็ คือ การนิยมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความสมมติ ว่าสวย ว่างาม ว่าดี ว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าหากว่า เอ่อ, ไม่ได้เกี่ยวกับสมมติ มันก็ต้องเป็นเรื่องของคนขี้เกียจที่จะเด็ดหางกุ้งทิ้งไป มันก็ไม่ดีอยู่นั่นเองเพราะมันเป็นเรื่องของคนขี้เกียจ ถ้าผิดจากนี้ก็เป็นเรื่องของคนที่หลงในเรื่องสมมติอย่างนี้ เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างที่ว่า มนุษย์ อ้า, ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มันชอบเปลี่ยน ชอบความเปลี่ยน คือ การสมมติให้แก่สิ่งที่มันเปลี่ยนมาใหม่ๆ เพราะเขาไม่เข้าใจ เอ่อ, เพราะเขาไม่รู้ความจริงข้อนี้จึงตกเป็นเหยื่อของการสมมติ ทีนี้ ดูให้ดีอีกทางหนึ่งว่า ไอ้การสมมติอย่างนี้นั้นมันเป็นเรื่องหลอกลวงมากขึ้น เป็นศิลปะของการหลอกลวง ถ้าเราไปชอบเข้าก็แปลว่า เราก็เป็นคนโง่ที่ไปชอบหลอกลวงผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นหลอกลวงเรา รู้สึกตัวเสียได้ ก็คงจะทำให้ถูกต้อง หรือคงที่ ตามที่ควรจะทำ ถ้ายังขืนหลงใหลในทางที่หลอกลวงผู้อื่น ก็ต้องขอสมมติไว้ทีก่อนว่า ไอ้คนพวกนี้มันอยากจะมีหาง มีหางหมายความว่าอย่างไรก็ไปคิดเอาเองก็แล้วกัน ดูให้ไกลไปกว่านี้อีก ดูความไอ้ที่มนุษย์มันชอบเปลี่ยน เดี๋ยวก็ผมสั้น เดี๋ยวก็ผมเซิง เดี๋ยวก็โกนหัว เดี๋ยวก็มีผม ไอ้เป็นกระจุกอยู่ตรงกลาง เขาเรียกว่า ผมมหาดไทย หรือผมอะไรก็ไม่แน่ เอาแต่ว่ามันเคยเปลี่ยนมาแล้วที่บนหัวคนหลายแบบหลายอย่างตามยุคตามสมัย นี่อย่าได้เข้าใจว่า เวลามันเปลี่ยนหัวคนมันเปลี่ยน เพราะเป็นหัวของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของการสมมติ ถูกหลอกลวงด้วยการสมมติ การที่จะมีสติปัญญามากหรือน้อยเพียงไรที่จะเข้าใจในเรื่องที่สมมติ พระพุทธเจ้าทรงนิยมว่า ภิกษุควรจะหัวโล้น หรือโกนหัวเสีย ไม่มีปัญหาที่จะทำผมอย่างนั้นอย่างนี้ นี่จะฉลาดหรือไม่ฉลาดก็ลองคิดดู จะหลงอยู่ในสมมติมากหรือน้อยเพียงไรก็ อ้า, ควรจะคิดดูด้วย แต่เท่าที่รู้สึกนี่ รู้สึกว่ามันดี มันไม่ลำบากหรือมันสะดวก มันสบาย เพราะฉะนั้น ศีรษะของภิกษุในพุทธศาสนาจึงโล้นมาอย่างน้อยก็ ๒,๕๐๐ ปีแล้ว มันไม่เคยเปลี่ยน แต่ศีรษะของชาวบ้าน ทำไมมันเปลี่ยนเรื่อย เพราะว่าเขาไม่เคยมองให้มันลึกซึ้งจนไม่หลงไปตามไอ้สิ่งที่มันหลอกลวงคือสมมตินั่นเอง คนโง่เหล่านี้จึงเปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนทุกอย่างที่เขาอยากจะเปลี่ยน เปลี่ยนอาหาร การปรุงอาหาร การกินอาหาร วิธีการกินอาหารอย่างนี้ ก็เปลี่ยนเรื่อยมา การนุ่งห่มก็เปลี่ยนเรื่อยมา จะยุ่งยากลำบากเหน็ดเหนื่อยอย่างไรก็ยอม ยอมให้มันลำบากมากขึ้น ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านในเรือนมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนเพราะถูกหลอกลวงโดยคนพวกที่มันมีหาง คือ มันมีศิลปะแห่งการหลอกลวง เราจะต้องเปลี่ยนเหย้าเรือน เปลี่ยนเครื่องใช้ไม้สอยในบ้านเรือน กระทั่งแม้หยูกยาที่จะบำบัดโรค มันก็ยังเปลี่ยนไปในทางที่ให้มันเป็นของสำอางมากขึ้น คือ ไม่รู้สึกขมไม่รู้สึกเหม็น ถ้ายาขมยาเหม็นเดี๋ยวนี้คนไม่กิน สมัยก่อนนี้ก็เต็มใจกิน ยินดีกินทั้งขมทั้งเหม็น นี่มันเปลี่ยนไปตาม ไอ้ ความสมมติที่ว่า ติดในรสของความเอร็ดอร่อยหรือความสวยงาม เรื่องนี้ดูเอาเองก็ได้ไม่ยาก เข้าใจได้ทุกคน ทีนี้เมื่อคนมันเปลี่ยน กระทั่งเปลี่ยนการเป็นอยู่ การกินอยู่ การประพฤติกระทำนานาชนิดแล้ว ไอ้โรคภัยไข้เจ็บของคนมันก็เปลี่ยนให้ด้วย ให้สาสมกันทีเดียว โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ มันก็เกิดขึ้นมาให้ สำหรับคนที่เปลี่ยนอะไรใหม่ๆ นี่มันก็เป็นการไล่ล้างกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อโรคมันเปลี่ยนไอ้ยามันก็เปลี่ยน เมื่อยามันเปลี่ยน โรคมันก็เปลี่ยน หมายความว่า ยานี้มันแก้โรคนี้ เอ่อ, ไปได้พักหนึ่งไอ้คนมันก็เปลี่ยน ไอ้ยามันก็ต้องเปลี่ยน หรือว่าโรคมันก็เปลี่ยน มันก็ไล่กันไปไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ นี่ขอให้ดูให้ดีว่าไอ้เรื่องความเปลี่ยนนี่ อ้า, มันลึกซึ้งกี่มากน้อย เดี๋ยวนี้มันเรียกว่าโลกเปลี่ยนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงโลกก้อนดินที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ หมายถึงโลกมนุษย์ โลกคน หมู่สัตว์นี่มันก็เปลี่ยน ที่เปลี่ยนอย่างยิ่งก็คือ วัฒนธรรมเปลี่ยน เปลี่ยนมา ตามยุคตามสมัย จนกระทั่งว่ามีวัฒนธรรมจริง วัฒนธรรมดีถึงที่สุด ทำมนุษย์ให้กลายเป็นอริยบุคคล นี่ก็เป็นผลของความเปลี่ยนเหมือนกัน แต่ว่ามันเปลี่ยนไปในทางที่ฉลาด คือรู้จักสมมติยิ่งขึ้น แล้วไม่ตกอยู่ใต้อำนาจความหลอกลวงของสมมติ คือเมื่อเปลี่ยนมาทางฉลาดอย่างนี้ มันก็เกิดอริยบุคคลขึ้นมาในหมู่มนุษย์ เปลี่ยนมาในทางที่ ไม่ค่อยมีกิเลส ไม่เห็นแก่ตัว จนกระทั่งหมดความรู้สึกว่าตัว คือ บรรลุนิพพาน แต่แล้วมันก็มีการเปลี่ยนอีก คือ มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทางวัตถุเข้ามาแทนที่ วัฒนธรรมของมนุษย์ ก็เปลี่ยนไปในลักษณะที่ถอยหลัง เหมือนกับปีเก่าปีใหม่ กลับไปกลับมา แต่ว่าระยะมันยาวมาก มันนานมาก เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมเปลี่ยนถอยไกลออกไปจากความเป็นพระอริยเจ้า คือ ยินดีที่จะมีความเห็นแก่ตัว มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง มากขึ้น มากขึ้นๆ ในสมัยปัจจุบัน นี่วัฒนธรรมเปลี่ยนมานิยมความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางเนื้อทางหนัง ซึ่งต้องหามาได้ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันไม่มีรส ไม่มีชาติ คือ มันไม่มีกิเลสที่จะมา มาหลอกลวงให้รู้สึกเอร็ดอร่อย อย่างนี้ เป็นต้น นี้เรียกว่า อ้า, มันเปลี่ยนกันทั้งโลกก็ว่าได้ คือเปลี่ยนจากความนิยมในเรื่องนามธรรมอันสงบมาเป็นเรื่องของวัตถุอันเร่าร้อน เดี๋ยวนี้คล้ายๆ กับ จะยิ่งนิยมว่า ยิ่งเห็นแก่ตัวนั่นแหละยิ่งดี ถ้าใครไม่เห็นแก่ตัวกลับจะหาว่าเป็นคนเซอะซะ โง่เง่า งมงาย เห็นว่า ยิ่งเห็นแก่ตัวนี่ยิ่งดี เป็นสิ่งที่ถูก เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ดังนั้น จึงเกิดบุคคลประเภทที่ทำไปด้วยกิเลส คือ ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ มีการก้าวก่ายกันในหน้าที่ คนโง่ก็อุตส่าห์เสือกไปทำหน้าที่ของคนฉลาด คนฉลาดก็มาทำหน้าที่ของคนโง่ เพราะว่าไม่รู้จักความฉลาด คือ มันมีการเปลี่ยนแปลงในความหมายของคำว่า ดี หรือถูกต้อง หรือฉลาด โลกนี้จึงมีไอ้สิ่งที่เรียกว่า โกลาหลวุ่นวาย มากขึ้นทุกที แล้วก็งง คือไม่รู้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไรดี แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีคนทำตนเป็นนักปราชญ์ เสนอวิธีการแก้ไขอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ดูเอาเองเถิดว่า มันมีผลอย่างไร ในเมื่อคนโง่ มันมาทำตัวเป็นคนฉลาดแล้วแก้ไข เพราะฉะนั้น คนโง่ที่มันไม่รู้จักความจริงคือ ความเปลี่ยนแปลงที่มีสมมติต่างๆ นี่แหละ มันเป็นคนที่ทำให้ยุ่งกันไปทั้งโลกทีเดียว จึงอยู่ในฐานะที่ช่วยไม่ได้ คือ มันจะต้องยุ่งกัน อ้า, มากยิ่งขึ้นไปอีก กว่าจะถึงวาระหนึ่งซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นมันแทรกเข้ามา เช่นว่ามันจะรู้จักเจ็บปวด เข็ดหลาบขึ้นมาบ้าง แล้วคิดหาหนทาง อ้า, กันใหม่ เดี๋ยวนี้ก็มีแต่แย่งกันเป็นนักปราชญ์ หรือผู้ฉลาด หรือผู้สามารถในการที่จะแก้ไขมนุษย์ หรือโลกให้ดีขึ้น เป็นสัปเหร่อเก็บซากศพ มันก็อวดดีว่าเป็นหมอที่จะรักษาผ่าตัดคนเจ็บให้หายไข้ อาการอย่างนี้กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย เป็นเหตุให้มันเปลี่ยน อย่างสับสนวุ่นวาย เข้าใจได้ยากยิ่งขึ้นสำหรับเด็กๆ การศึกษา ก็เปลี่ยนแปลงมาก คือว่า เจตนารมณ์ของการศึกษาไม่ได้ต้องการความเป็นสุภาพบุรุษ หรือเป็นมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยศีลธรรม การศึกษาก็เปลี่ยนไปในทางที่ทำให้คนฉลาดที่สามารถจะกอบโกยอะไรได้มากกว่าคนอื่น ก็ยั่วยุลูกเด็กๆ ให้นิยมหลงใหลในการที่จะกอบโกยให้ได้มากกว่าคนอื่น คือ ให้หลงไอ้การศึกษาชนิดนั้น หลงเล่าเรียนชนิดนั้น เล่าเรียนชนิดที่ให้สามารถกอบโกยได้มากกว่าคนอื่น การศึกษาในโลกในเวลานี้เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ต้องการจะสร้างมนุษย์ที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่ได้ต้องการจะสร้างแม้แต่สุภาพบุรุษที่เคยตะโกนเรียกหากันมาเมื่อศตวรรษก่อนๆ ศตวรรษที่แล้วมา การศึกษาก็มี อ้า, ความมุ่งหมายความเป็นสุภาพบุรุษ หรือเป็นคนที่ดี ที่เต็มเป็นหลัก เดี๋ยวนี้ก็หายไปแล้ว ไม่ได้ต้องการไอ้ความเป็นสุภาพบุรุษอย่างนั้น ต้องการไอ้ความสามารถในการกอบโกย แล้วเขาก็เรียกเสียใหม่ให้มันไพเราะว่า เป็นความสามารถทางเทคโนโลยี อะไรต่างๆ สารพัดอย่าง ที่มันล้วนแต่เป็นความฉลาดในการกอบโกย ก็แย่งกันกอบโกย ไอ้คนที่พ่ายแพ้มันก็ยากจนลง ไอ้คนที่ชนะมันก็ร่ำรวยขึ้นไปเกิน อ้า, ขีด ความเป็นอยู่ ก็แตกต่างกันจนเป็นข้าศึกศัตรูกัน จองเวรจองล้างซึ่งกันและกันไม่มีที่สิ้นสุด นี่เรียกว่าการศึกษามันเปลี่ยน แทนที่จะให้มีศีลธรรม มันเป็นการ อ้า, ช่วยให้ไม่มีศีลธรรมคือมุ่งแต่จะเห็นแก่ตัวมุ่งแต่จะได้ของตัว มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างที่กล่าวมาแล้ว คำว่ามนุษย์มันก็เลยเปลี่ยนความหมายไปทันที คำว่ามนุษย์นี้แต่เดิมมีความหมายว่า มีจิตใจสูง คือ มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ สูงเหนือกิเลส และความทุกข์จะครอบงำได้ เขาจึงเรียกว่ามนุษย์มีจิตใจสูงไปในทางนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดเปลี่ยนความหมายของมนุษย์ กลายเป็นผู้มีจิตใจสูงด้วยความตะกละ ไม่สูงทางไหนหมดนอกจากจะสูงในทางตะกละ ตะกละเรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องสนุกสนาน เรื่องเอร็ดอร่อย ไม่มีที่สิ้นสุดในเรื่อง ไอ้ ความสุขสนุกสนาน ทางเนื้อทางหนัง จนมนุษย์สมัยนี้มันไม่ใช่มนุษย์อย่างสมัยโน้น มนุษย์สมัยโน้นมันสูงด้วยจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ เหนือกิเลสและความทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้มันสูงด้วยความตะกละ มันจะทะเยอทะยานตะกละให้สูงกว่าคนอื่นไว้เรื่อยไป คือ มันจะกอบโกยให้ได้มากกว่า แล้วมันจะกินอยู่ให้สนุกสนานเอร็ดอร่อยกว่า มันตะกละกันแต่ในทางนี้ ดังนั้น ต้องถือว่ามนุษย์สมัยนี้มันก็มีใจสูงด้วยความตะกละ แต่คำว่าสูงอย่างนี้ มันก็ต้องเป็นสมมติอีกเหมือนกัน ตรงที่ว่ามันมากขึ้น มากขึ้นๆ ด้วยความตะกละ ไม่ใช่สูงด้วยศีลธรรม เมื่อก่อนนี้มันสูงด้วยศีลธรรม แต่เดี๋ยวนี้มันสูง หรือมากไปด้วยความไร้ศีลธรรม คือ ไม่มีศีลธรรมนั่นเอง คนสมัยก่อนมีจิตใจ เอ่อ, ที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ว่าคนสมัยนี้มีความรู้สึกว่า ตัวกูก็ตัวกู ตัวมันก็ตัวมัน ตัวมึงก็ตัวมึง ตัวใครก็ตัวใคร เพราะว่าการอบรม มันอบรมกันแต่อย่างนี้ มันทำให้เกิด ความแตกแยก เป็นเขา เป็นเรา เป็นพรรค เป็นพวก เป็นมึง เป็นกู เพราะว่ามันหลงที่จะเอาดีเอาเด่นกว่าคนอื่น จะเอาร่ำเอารวยกว่าคนอื่น จะเอาสวยกว่าคนอื่น จะสนุกสนานกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่อาจจะเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์สมัยนี้ ซึ่งไม่ควรจะเรียกว่ามนุษย์ แต่ก็ต้องเรียกว่ามนุษย์ เพราะมันเรียกอย่างอื่นไม่ได้ เขาฟังไม่ถูก ก็เลยเอาความสูงของจิตนี่ว่ามันสูงไปในทางที่เห็นแก่ตัว มันมากไปด้วยความเห็นแก่ตัว ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูว่ามันเร่าร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง โกลาหลวุ่นวาย เป็นนิมิตเครื่องหมาย อ้า, ของการที่มิคสัญญีจะมาถึง มิคสัญญี นี่เป็นคำพูด เป็นชื่อของยุคๆ หนึ่งที่ว่ามนุษย์จะเห็นแก่ตัวจัด จนถึงกับว่า ล้างผลาญชีวิตผู้อื่นได้เหมือนกับฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ หรือว่าฆ่ายุง เราฆ่ายุงให้ตายนี้ไม่ค่อยรู้สึกอะไร ต่อไปมนุษย์จะฆ่ามนุษย์กันเองได้ง่ายๆ เหมือนกับว่าฆ่ายุง ยุคอย่างนั้นมาถึงก็เรียกว่า ยุคมิคสัญญี เมื่อหลายสิบปีก่อนมานี้ เรารู้สึกว่ามันไม่คง อ้า, มันคงไม่มีได้ มัน มันคงไม่เป็นได้ หรือไม่มีมาได้สำหรับยุคชนิดนั้น แต่เดี๋ยวนี้เราก็เห็นชัดว่า มันมีได้ มันจะมีได้ หรือมันกำลังมี ที่มนุษย์เรามีความตะกละด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็ฆ่าผู้อื่นได้ เหมือนกับฆ่าเนื้อ ฆ่าปลา หรือฆ่ายุงในที่สุด เรียกว่าความเปลี่ยนในหมู่มนุษย์ ในส่วนที่เป็นผลของการกระทำที่เป็นความเปลี่ยนแปลงในชั้นที่เป็นต้นเหตุ เพราะมนุษย์หลง ไม่รู้จักความเป็นจริงของธรรมชาตินั่นเอง จึงต้องเตือนกันว่าอย่าไปหลงเรื่องเก่าเรื่องใหม่ เพราะมันเป็นเพียงเรื่องสมมติ จงรู้จักใช้สิ่งที่เรียกว่าสมมตินั้น ให้เป็นประโยชน์แก่ตน ถ้ารู้ว่าสมมติ เพื่อประโยชน์อะไร ก็จงทำให้สำเร็จประโยชน์ตามที่มุ่งหมายนั้น ที่สมมติว่าเก่าว่าใหม่ อย่างนี้เขาต้องการให้ทำอย่างไร คือ ประพฤติให้ถูกต้องตามความหมายของเวลาที่สมมติไว้ว่าเป็นอย่างไร มันก็เลยกลายเป็นความเฉลียวฉลาด เป็นความไม่ประมาท เป็นการประพฤติกระทำที่ให้ถูกต้อง ถ้าใหม่มันไม่ถูกต้องกว่าเก่า ก็เรียกว่ามันผิดแล้ว แล้วสิ่งใดที่มันผิด สิ่งนั้นก็ต้องละไป ทิ้งให้เป็นของเก่าไป ต่อไปจะทำของใหม่ให้มันถูกต้อง อย่างนี้จึงจะเรียกว่าปีใหม่ หรือขึ้นปีใหม่ ขึ้นศักราชใหม่ เป็นของใหม่ที่น่าชื่นใจ แต่ถ้ามันเป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม คือว่าปีใหม่ที่กำลังจะเข้ามาถึงนี้มนุษย์จะเลวลงไปกว่าเดิม จะฆ่าฟันกันยิ่งกว่าเดิม จะเบียดเบียนกันยิ่งกว่าเดิม แล้วมันจะเป็นปีใหม่ที่ตรงไหน มันเป็นการถอยหลังไปไหนทางที่เก่ากว่าปีกลาย นี้เรียกว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามความโง่ ความเขลา ความหลงใหล ในเรื่องของการสมมติ ไม่ใช้สมมติให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น จึงเอามาพูดกันในวันนี้อีก เพราะว่ามันเป็นระยะที่เราสมมติว่ามันใหม่กำลังจะมาต่อกับเก่า หรือเก่าจะสิ้นไปใหม่จะมา ที่ว่าใหม่ที่กำลังจะมานี้ จะมากันในลักษณะอย่างไรก็คอยดู
ทีนี้ จะได้กล่าวถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า สตญฺจ ธมฺโม น ชรํ อุเปติ ธรรมของสัตบุรุษไม่เข้าถึงความชรา หมายความว่า ธรรมของสัตตบุรุษนั้นเก่าไม่ได้ แก่ไม่ได้ มันเหมือนกับว่าใหม่อยู่เสมอ ธรรมของสัตตบุรุษนั้น จะมีอายุกี่ล้านปีมาแล้ว ก็ยังใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ นี่ควรจะคิดดูว่าทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสอย่างนี้ ว่าธรรมของสัตตบุรุษนั้นไม่เข้าถึงความชรา คือ ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะดับสูญ สัตตบุรุษคืออะไร คำว่าสัตตบุรุษในสมัยพุทธกาลนั้น มีความหมายผิดจากความหมายของคำว่าสัตตบุรุษในสมัย อ้า, นี้มากทีเดียว สำหรับสมัยนี้ ถ้าไปวัด รับศีล อะไรเสียเล็กๆ น้อยๆ ก็เรียกว่าสัตตบุรุษแล้ว ทำได้ไม่ยาก บางทีก็ทำแต่ท่าทางด้วยซ้ำไป ถ้าสัตตบุรุษอย่างสมัยเก่าแล้ว เขาก็พบว่า เล็ง หมายถึงพระอรหันต์ ในสมัย อ้า, พุทธกาล เรียกพระอรหันต์ว่า สัตตบุรุษ ปรากฏอยู่ในชื่อที่สลักไว้ที่ผอบหินบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์บางองค์ที่เขาขุดพบในสถูปครั้งกระโน้น ๒, ๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว เช่น สถูปสาญจี เป็นต้น ไอ้คำว่า สัปปุริสะ หรือสัตตบุรุษนั้น หมายถึง ผู้ที่สงบแล้ว สะ นี่คือสันตะ สันตะ นั้น แปลว่า สงบ ระงับแล้ว ผู้สงบ ระงับแล้วไม่มีใครยิ่งไปกว่าพระอรหันต์ หรือจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากความเป็นพระอรหันต์ หรือที่กำลังจะเป็นพระอรหันต์คือ เดินไปหาความสงบ เพราะฉะนั้นสัตตบุรุษจึงหมายถึงผู้สงบแล้ว ไม่มีไฟกิเลส ไม่มีไฟทุกข์ ลุกขึ้นมาเผาแล้ว นี่คือสัตตบุรุษ ธรรมของสัตตบุรุษไม่เข้าถึงความชรา ก็เพราะเหตุว่าสัตตบุรุษนั้น รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร รู้จักปล่อยวางสิ่งที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง โกหก หลอกลวง เหล่านั้น หมดจดสิ้นเชิงแล้ว ท่านจึงได้เป็นผู้สงบ หรือเป็นสัตตบุรุษ เพราะฉะนั้นท่านจึงรู้จักเลือกเอาสิ่งที่ไม่รู้จักชรา คือ ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น สัจธรรม เป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักชรา สัตตบุรุษเหล่านั้น รู้จักศึกษา รู้จักพินิจพิจารณา รู้จักเลือกให้ได้มาซึ่งสัจธรรมเหล่านั้น เช่นสัจธรรมที่แสดงว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เก่าไม่เป็น เปลี่ยนไม่ได้ มีอยู่ตลอดเวลา ตลอดกาลนิรันดร สัตตบุรุษชอบใจธรรมนี้เข้าถึงธรรมนี้ มีประโยชน์สำเร็จอันแล้วเพราะการได้บรรลุธรรมนี้ ดังนั้น ธรรมของสัตตบุรุษนั้น จึงไม่ชรา คือไม่เปลี่ยนแปลง หรือจะเรียกอีกทีหนึ่งว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ถ้าสรุปแล้วมันก็เหลือ เหลือเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรม คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเรา นี่เป็นธรรมที่สัตตบุรุษเห็นแล้ว พอใจแล้ว เลือกแล้ว ถึงแล้ว ธรรมของสัตตบุรุษจึงไม่เข้าถึงความเปลี่ยนแปลง คือไม่ชรา ทีนี้เราก็ควรจะเอาอย่างสัตตบุรุษเหล่านั้น คือให้ลุถึงสิ่งที่ไม่เข้าถึงความชรา คือ สัจธรรม นั่นเอง ขอให้สนใจ อ้า, ในสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรม คือ ความจริงอันไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือให้ได้รับประโยชน์จากความรู้นี้ จนกว่าชีวิต สังขารร่างกายนี้มันจะแตกสลายไป ถ้ามันยังมีอยู่ก็อย่าให้ต้องเป็นทุกข์เลย ให้มีความรู้สึกอยู่เหนืออำนาจของ อ้า, กิเลสและความทุกข์นั้น อย่างน้อยก็ควรจะรู้จักไอ้สิ่งที่มันเป็นต้นเหตุอันร้ายกาจสักอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่เรียกว่า อวิชชา เดี๋ยวนี้ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เอ่อ, รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาหรือเปล่า แต่ว่าเคยพูดเคยท่องกันมามากแล้ว สำหรับคำว่าอวิชชา แต่ก็ท่องไปอย่างนกแก้วนกขุนทอง หรือถ้าคิด ก็คิดไปอย่างละเมอเพ้อฝัน เพราะว่าไม่มีตัวอวิชชาที่แท้จริงมาปรากฏให้เห็น เพราะว่าเขามีอวิชชา อวิชชาจึงทำให้ไม่เห็นตัวอวิชชา เมื่อคนๆ นี้ มันเต็มอยู่ด้วยอวิชชา มันก็ไม่มีทางที่จะมองเห็นสิ่งที่เรียกว่าอวิชชานั้นว่าเป็นอย่างไร มันก็เอาอวิชชานี่แหละ เป็นตัววิชชาเสีย เอาความโง่เป็นความฉลาดเสีย เอาความชั่วความเลวมาเป็นความดีเสีย เอาความตะกละในกิเลสนั่นแหละมาเป็นความสูงของจิตใจเสีย ขอให้ช่วยกันระวังให้ดี อวิชชานี่มันเป็นจุดตั้งต้นของชีวิต ควรจะช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีๆ มันจะประหยัดได้มาก ว่าอวิชชานี้มันเป็นจุดตั้งต้นของชีวิต ชีวิตนั้นมี ๒ ความหมาย คือ ชีวิตตามธรรมชาติ ตาม ไอ้ ภาษาคนธรรมดาๆ เรียกว่า ชีวิต คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่ มันก็ความหมายหนึ่ง ในภาษาคนก็มาจากอวิชชา แต่คำว่าอวิชชาคำนั้น ควรแปลว่า สิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าอะไร อวิชชา คำนี้แปลได้ ๒ อย่าง แปลว่าความไม่รู้ก็ได้ แปลว่าสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ได้ ตัวหนังสือแปลได้อย่างนี้จริงๆ ถ้าเป็นชีวิตในภาษา อ้า, วัตถุ เช่น ต้นไม้ก็มีชีวิต สัตว์ก็มีชีวิต คนก็มีชีวิต คนก็มีเนื้อหนังร่างกายที่มีชีวิต เกิดมาจากท้องแม่ครั้งหนึ่งก็เริ่มต้นชีวิต กว่ามันจะตายไป ชีวิตทางวัตถุอย่างนี้ มันก็มาจากอวิชชา เพราะมันถอยหลังไปเรื่อย จนไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้จะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร แต่บางคนอาจจะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ แต่พวกพุทธบริษัทเขาจะเรียกสิ่งนี้ว่า อวิชชา คือ ธรรมะที่เรายังไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็แนะนำว่าอย่าไปสนใจกับมัน อย่าไปติดตามไอ้อวิชชาชนิดนี้ ซึ่งมันจะพบแต่คำว่าอวิชชา อวิชชาอยู่เรื่อย อวิชชาชนิดนั้นแหละ มันให้เกิดชีวิต ชนิดที่เป็นวัตถุ ทีนี้มันมีชีวิตอีกความหมายหนึ่งซึ่งคนละเรื่องกันทีเดียว มันเป็นชีวิตที่ตั้งต้นด้วยนามธรรม ตั้งต้นเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น เกิดผัสสะ อันนี้แล้วไม่มีความรู้จักต่อสิ่งเหล่านี้ นี่เรียกว่าอวิชชา คือความไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ไม่รู้จักตาไม่รู้จักรูป ไม่รู้จักวิญญาณ ไม่รู้จักผัสสะนั้นๆ อวิชชานั้นจะทำให้เกิดชีวิต ชนิดที่เป็นตัวกู ของกู ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมะชนิดนี้แล้วจะต้องถือว่า ชีวิตนี้มันเกิดทุกคราว ที่มีการกระทบทางอายตนะด้วยอำนาจของอวิชชา คือ ตากระทบรูปก็ได้ หูกระทบเสียงก็ได้ จมูกกระทบกลิ่นก็ได้ ลิ้นกระทบรสก็ได้ ผิวหนังสัมผัส อ้า, สัมผัสทางผิวหนังก็ได้ หรือว่าใจสัมผัสกับธัมมารมณ์ก็ได้ สัมผัสแล้วความรู้แจ้งในสิ่งนั้นๆไม่มี อันนั้นเรียกว่า อวิชชา อวิชชานี้จะให้เกิดชีวิต เป็นตัวกูของกู ขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ ทุกคราวไป เพราะฉะนั้น เราจึงมีชีวิตได้มากครั้งในวันหนึ่งๆ คือ เป็นตัวกูของกูขึ้นมาทีไร ก็เรียกว่ามีชีวิตครั้งหนึ่ง ชีวิตชนิดนี้ก็ตั้งต้นมาด้วยอวิชชา เกิดมาจากอวิชชา แต่ในความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือความไม่รู้ตามความที่เป็นจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร ไม่รู้ว่าตาคืออะไร หูคืออะไร รูปคืออะไร วิญญาณที่เกิดทางตานั้นคืออะไร ผัสสะทางตาคืออะไร อะไรก็แล้วแต่ ไม่รู้ ความรู้สึกมันจึงเกิดเป็นตัวกูขึ้นมา หรือของกูขึ้นมาครั้งหนึ่ง มีชีวิตขึ้นมาครั้งหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันก็ตายไปตามเหตุปัจจัยที่สิ้นไปในเรื่องของการเห็นรูป ก็เกิดคนใหม่ ชีวิตใหม่ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง หรือกลับไปทางตาอีกวนเวียนกันอย่างนี้ให้เข้าใจเถิดว่าชีวิตชนิดนี้มันตั้งต้นมาจากอวิชชาในความหมายที่ว่า มันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แยกให้เห็นชัดเสียว่า ชีวิตชนิดความหมายทางนามธรรมนี้มันมาจากอวิชชาคือ ความไม่รู้ว่าอะไร ชีวิต อ้า, ชีวิตในความหมายทางวัตถุนั้น มันมาจากอวิชชาเหมือนกัน แต่คือสิ่งที่เรายังไม่รู้จักว่าอะไร แล้วก็ไม่ต้องไปค้นด้วย ถ้าใครจะเรียกว่าพระเจ้า มาจากพระเจ้า ก็อย่าไปค้านเขา อย่าไปด่าเขา เราจะโง่เอง เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้านั้นก็คือสิ่งที่เขาก็ยังไม่รู้จักเหมือนกัน ว่าคืออะไร นี่มันปรุงแต่งสร้างสรรค์ไอ้วัตถุ มาตั้งแต่ครั้งใดก็ไม่รู้ด้วยกัน เมื่อรู้จักชีวิตใน ๒ ความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะเรียกว่ารู้สัจธรรมที่เป็นล่ำเป็นสัน เป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้มากทีเดียว คือ จะไม่หลงในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เพราะว่าขึ้นชื่อว่าชีวิตแล้วตั้งต้นด้วยอวิชชาทั้งนั้น ก็อย่าไปหลงในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เดี๋ยวนี้มันหลงในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตของกูแล้วกูจะให้มันดี ให้มันสวย ให้มันอร่อย ให้มันเจริญรุ่งเรือง มันจึงถูกหลอกได้ตลอดเวลา ถูกหลอกไปทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่เรื่องเก่า เรื่องใหม่ ชีวิตนี้มันจะเอาใหม่ มันจะได้ใหม่ มันจะให้มีความสวยงามอย่างใหม่ อะไรอย่างใหม่ หารู้ไม่ว่านั้นเป็นความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา ที่ปรุงชีวิตบ้าๆ บอๆ แปลก ประหลาดต่างๆ นี่ ไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือสัจธรรมที่ควรจะนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพวกเรา มันเป็นสัจธรรมที่ไม่รู้จักแก่ มันเป็นสัจธรรมของสัตตบุรุษ ที่เขาเคยรู้มาแล้วว่านี่มันเป็นอย่างนี้ ดังนั้น สัตตบุรุษทั้งหลาย จึงมิได้หลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต เหมือนอสัตตบุรุษ ซึ่งเดี๋ยวนี้มันมีหนาแน่นขึ้นมาในโลกยิ่งขึ้นทุกที พวกอสัตตบุรุษนั้น มันหนาแน่นขึ้นมาในโลกนี้มากยิ่งขึ้นทุกที ส่วนพวกสัตตบุรุษนั้นมันหายไปๆ แต่ว่าธรรมะของสัตตบุรุษไม่เข้าถึงความชรา เพราะฉะนั้นธรรมะนั้นจะยังอยู่ ถ้าผู้ใดเห็น หรือเข้าถึง ผู้นั้นก็จะกลายเป็นสัตตบุรุษ ดังนั้น ปีใหม่นี้ก็ขอให้เข้าถึงความเป็นสัตตบุรุษยิ่งขึ้นกว่าปีเก่าเถิด นี่เรียกว่ารู้จักใช้สมมติให้เป็นประโยชน์นั่นเอง อย่าได้หลงในสมมติเลย
ทีนี้ก็จะพูดกันถึงข้อที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ปีใหม่นี่ เป็นเวลาที่เข้าถึงความเป็นสัตตบุรุษยิ่งขึ้นไปกว่าปีเก่าเล่า ก็อาศัยพระพุทธภาษิตข้อที่ ๒ ที่เอามาตั้งเป็นหัวข้อแล้วว่า ธมฺมํ จเร สุจริตํ จงประพฤติธรรมะให้สุจริต น ตัง ทุจฺจริตํ จเร อย่าประพฤติธรรมะนั้นให้ทุจริต ฟังดูให้ดีว่า จงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต เพราะว่าธรรมนี้เป็นคำกลาง เป็นคำกลางๆ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็น อพยากต คือกล่าวไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลก็มี ถ้าจะประพฤติธรรมแล้วก็ขอให้ประพฤติไปในทางเป็นสุจริต คือ ประพฤติให้ดี อย่าให้เป็นทุจริต คือประพฤติเลว ประพฤติธรรมเป็นทุจริต นี่บางคนฟังไม่เข้าใจที่ว่าเป็นธรรมแล้ว จะเป็นทุจริตได้อย่างไร มันก็ยังมี คนประพฤติธรรมด้วยความหลอกลวงก็มี มีได้ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ประพฤติธรรมเพื่อความหลอกลวง อย่างนี้เรียกว่าประพฤติธรรมเป็นทุจริตแล้ว ไม่มีความซื่อตรงต่อธรรมะแล้ว ธรรมะก็ไม่เกิดขึ้น หรือไม่เป็นธรรมะขึ้นมาสำหรับบุคคลนั้น เพราะว่าเขาประพฤติธรรมะอย่างหลอกลวงธรรมะแล้ว ไม่ได้ประพฤติความจริง เป็นผู้มีเจตนาหลอกลวงโดยประการทั้งปวง หลอกลวงจะให้เขาเข้าใจว่าตัวเป็นนักปราชญ์ ตัวเป็นพระอรหันต์ หรือว่าตัวเป็นอะไรก็ได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องของการหลอกลวง อย่างนี้แม้จะประพฤติอยู่ จะสอนผู้อื่นอยู่ ก็เรียกว่าประพฤติธรรมะอย่างทุจริตคือ คดโกง ขืนทำอยู่อย่างนี้จะยิ่งไกลจากความเป็นสัตตบุรุษ ปีใหม่ขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะเพิ่มความเป็นอสัตตบุรุษให้มากกว่าปีเก่าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดต้องการจะใกล้ไปในทางของสัตตบุรุษ คือ พระนิพพานแล้วก็ จงประพฤติธรรมให้ตรง ให้บริสุทธิ์ ให้สุจริตเถิด นี้เป็นอุบาย เป็นวิธีอันหนึ่ง ที่ใช้ประโยชน์จากการสมมติทั้งหลายว่าสุจริต ว่าทุจริต ว่าได้ ว่าเสีย ว่าดี ว่าชั่ว อะไรก็ตาม ไม่หลงในสมมตินั้น แล้วก็ใช้สมมตินั้นให้เป็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ ให้มันเป็นไปในทางสะอาด สว่าง และสงบ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าไปตามทางของความสงบ คือ มีความเป็นสัตตบุรุษ บรรลุพระนิพพาน คำพูดนี้เป็นคำพูดกว้างๆ ย่อๆ บอกแนวทางว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนที่เป็นรายละเอียดนั้น ต้องไปขวนขวาย ต้องไปศึกษา ประพฤติกระทำให้ถูก ในทุกอย่าง ทุกประการ ในทุกเวลา ในทุกกรณีที่มันจะเกิดขึ้นแก่บุคคลแต่ละคนๆ ซึ่งมันไม่เหมือนกัน แต่มันจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ว่า ถ้าอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ก็จงมี สติ คือ ขนเอาความรู้ที่ถูกต้อง ที่เคยศึกษาอบรมมานั้น มาให้ทันท่วงที อย่าได้ไปหลงต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่มากระทบนั้นได้ นี่จะต้องทำเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือเป็นฆราวาส เป็นวิธีการปฏิบัติ หรือเป็นธรรมะ ในส่วนของการปฏิบัติของสัตตบุรุษที่ไม่รู้จักชราด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงนำมามอบให้อย่างกับว่าเป็นของขวัญ แก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันที่นี่ในวันนี้ เพื่อว่าจะจัดการกับการส่งปีเก่าไปดีๆ แล้วต้อนรับปีใหม่ให้ดีๆ ให้สำเร็จประโยชน์สมแก่การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา จงด้วยกันทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้