แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ของพวกเราที่นี่ เป็นอันว่าไม่ต้องบอกก็ได้แล้วว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู ไปตามเดิมทุกครั้งทุกคราว ผิดกันเพียงแต่ว่า เราพูดกันในแง่นั้นบ้างแง่นี้บ้าง เป็นรายละเอียดปลีกย่อยไปทีละแง่ละมุม แต่แล้วเราก็ควรจะดูพร้อม ๆ กัน ทุกแง่ทุกมุมทั่วไปเสียบ้างเป็นคราว ๆ เหมือนกับขึ้นเรือบินดูทีเดียวทั้งหมดเสียบ้างเป็นคราว ๆ หลังจากที่ได้ดูโดยรายละเอียดที่นั่นที่นี่ เมื่อทำซ้ำ ๆ อย่างนี้บ่อย ๆ มันก็เป็นอันว่าเข้าใจดีขึ้น
ในวันนี้ก็อยากจะพูดถึง สิ่งที่เรียกว่าปริทรรศน์หรืออะไรทำนองนั้นดี ทำไมเรียก เอ่อ, ไม่ทราบว่าจะเรียกเป็นภาษาธรรมดาสามัญว่าอย่างไร คือดูทั่ว ๆ ไปพร้อม ๆ กันอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะพูดเป็นศัพท์เป็นแสงก็ว่า ปริทรรศน์ของธรรมปาฏิโมกข์ หรือปาฏิโมกข์ เอ่อ, ธรรมปาฏิโมกข์ปริทรรศน์ เนื่องจากเห็นว่ามีหลายองค์เพิ่งมา ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
นี้ก็ขอทบทวนว่า ทุกเรื่องนี่มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าตัวตน คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ความทุกข์มันก็เกิดมาจากสิ่งนี้ ดับทุกข์ได้ก็เพราะดับสิ่งนี้เสีย ทีนี้ก็ปาฏิโมกข์ ก็คือหัวข้อสำคัญที่เราต้องทบทวนกันอยู่เสมอ เหมือนกับลงปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนในทางวินัย
นั่นมันหัวข้อทางวินัย แต่นี่เป็นหัวข้อทางธรรมะ คือสิ่งที่เราควรจะปฏิบัติเป็นส่วนตน ตามความพอใจ ไม่บังคับ มันก็เพื่อดับทุกข์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ความ เอ่อ, ไม่ใช่มุ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่คณะเหมือนกับวินัย หรือว่าเพียงแต่บังคับให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกันอยู่กับคนอื่น เช่นร่างกายของเรานี้ มันเกี่ยวกับคนอื่น ดังนั้นต้องมีร่างกายพร้อมเหมาะสมอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าจะเป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรม มันก็ยังเป็นเรื่องที่บังคับให้ทำเกี่ยวกับภายนอก เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมะมันจึงเป็นเรื่องภายในล้วน นี่ธรรมะกับวินัยมันก็ต่างกันอยู่อย่างนี้
นี้ธรรมะทั้งหมด มันสำหรับจะ สำหรับจะแก้ปัญหาในทางจิตใจอันลึกซึ้ง ที่เรียกว่าทางวิญญาณ เรื่องทั้งหมดมาสำรุป เอ่อ, มาสรุปได้ที่ ความรู้หรือไม่รู้อันเกี่ยวกับตัวตนและของตน นี้เราใช้คำว่าตัวกูหรือของกู นี่มัน เอ่อ, ฟังง่ายกว่า เพราะคนทุกคนจะเคยมีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกูอยู่แล้ว คำว่าตัวตนและของตนนั้น มันยังเลือน ๆ อยู่ ไม่ค่อยจะมาปรากฏชัดในจิตใจ ผมจึงได้ใช้คำว่าตัวกู-ของกู ทุกเรื่องอันเกี่ยวกับตัวกู-ของกูนี้ เป็นหัวข้อสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรมะ ดังนั้นเราจึงเรียกเรื่องนี้ เอ่อ, ทั้งหมดนี้ว่าธรรมปาฏิโมกข์ คือหัวข้อของธรรมะ
ทีนี้ก็จะขอร้องให้ทำความสังเกตต่อไป ติดตามไปว่า มันมีความสำคัญอย่างไร สำหรับเรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างไร ถ้าตั้งปัญหาอย่างนี้ เราก็มีทางที่จะตอบสรุปสั้น ๆ ว่า ถึงจะมีกินมีใช้ เอ่อ, มีกิน มีกาม มีเกียรติ มีอำนาจวาสนา มีอะไรทุกอย่างแล้ว ถ้าปราศจากธรรมะแล้ว คุณก็หาความสุขไม่ได้ หาความสงบสุขไม่ได้ พูดอย่างนี้มันก็สิ้นเชิง คือต่อให้เขามีอะไร ๆ หมด ขาดธรรมะแล้ว ก็หาความสุขไม่ได้ ทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม ส่วนสังคมด้วย นี้ก็ไปหารายละเอียดเอาเองว่ามันจำ มันสำคัญอย่างไร
เดี๋ยวนี้เราพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องการทหาร เรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ธรรมะ ก็เลยแก้ปัญหาไม่ได้ มีอันธพาลเต็มเมืองยิ่งขึ้นทุกที มีศีลธรรมเสื่อมลงทุกที เห็นอย่างชัด ๆ อยู่แล้ว เพราะไม่สนใจเรื่องธรรมะแม้แต่ในขั้นศีลธรรม ทั้งโลกจึงเป็นอย่างนี้ มีโรงเรียน มีวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัย มีอะไรต่าง ๆ จนทำอะไรได้เหมือนกับว่า มันเป็นพวกเทวดาทำ มันก็หาความสงบสุขไม่ได้ยิ่งขึ้น ยิ่งคล้ายเทวดามากเข้าเท่าไร มันยิ่งหาความสงบสุขไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น นี่ทางวัตถุมันก้าวหน้าไปมาก ก็ยังไม่ช่วยให้เกิดไอ้ความสงบสุขในส่วนจิตใจได้ เพราะมันคนละเรื่องกัน
ดังนั้นเราจึงได้สนใจธรรมะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพุทธบริษัท รู้สึกว่าเรื่องทางวัตถุมันเฟ้อหรือเกินไปแล้ว เกินยิ่งกว่าเกิน นี้ก็ไม่ทำให้โลกนี้มีความสงบสุขได้ และส่วนบุคคลก็หาความสงบสุขไม่ได้ ให้มาดูส่วนที่มันยังขาดกันดีกว่า ก็คือธรรมะนั่นเอง ในขั้นแรก ๆ ก็เป็นเรื่องศีลธรรม สูงขึ้นไปก็เป็นปรมัตถธรรมหรือสัจธรรมแล้วแต่จะเรียก
ศีลธรรมในขั้นตระเตรียมก็ยังเสียหายหมด คือไม่มี เพราะในโรงเรียนก็ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะ สอนแต่วิชาความรู้ ที่บ้านที่เรือนก็เหมือนกัน พ่อแม่สมัยนี้ไม่มีโอกาสที่จะคอยตักเตือนลูกหลานเรื่องธรรมะ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมันมีโดยไม่รู้สึกตัว แล้วมันอยู่ในระเบียบขนบธรรมเนียมประเพณี ในวัฒนธรรมประจำบ้านเรือน พ่อแม่ก็ไม่โลภมาก มีเวลาที่จะควบคุมลูกหลานให้มันรู้เรื่องทางจิตทางใจ ทางมรรยาท ทางอะไรออกมาเรื่อย ก็เลยเป็นมนุษย์ที่มันมีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที มีความอดกลั้นอดทน ทนจนน้ำตาไหลก็จะไม่ละเมิดศีลธรรม
นี้คนเดี๋ยวนี้ เขามันมีความคิดเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่ยอมทน เพราะมีเหตุผลแก้ตัวเพียงว่าว้าเหว่ขึ้นมา ก็ประพฤติกาเมสุมิจฉาจารอย่างนี้เป็นต้น มีเหตุผลเพียงเท่านั้นแหละ ไม่ ๆ ต้องถึงกับความอดทน เพียงแต่ว้าเหว่ขึ้นมา ก็ไม่อดทน ก็ชวนกันเลิกไอ้ศีลธรรมบางอย่างบางข้อไปทีละน้อย ๆ สิ่งที่เรียกว่าความอดทน ซึ่งเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรตนั้น มันยิ่งหายไป ๆ ในคำบอกวัตรที่เอามาบอกใช้สวดมนต์ทุกวัน จะมีย้ำเรื่องขันตีความอดทนนี้มาก เดี๋ยวนี้พระมันขี้เกียจ มันไม่ต้องมาบอกกัน ก็พอดีเหมือนกันในวัตรนี้ ขนฺติ พลํ ว ยตีนํ ขนฺติ หิตสุขาวหา ขนฺติ มูลํ ขนฺติโก นี้ไม่เอามาบอกกัน นี่ความเสื่อมมันก็ค่อย ๆ คลานเข้ามา
คนเราจะต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ทมะ บังคับตัวเอง ขันติ อดกลั้นอดทน และจาคะ ระบายสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวหรือในใจนั้นออกไปเสียเรื่อย ๆ นี้มันเป็นหลักทางศีลธรรม นี้ก็ไม่มีใครชอบ สัจจะก็ไม่มีใครชอบแล้วเดี๋ยวนี้ ยิ่งทมะก็ยิ่งไม่ชอบ เพราะมันไม่สนุก คือบังคับตัวเองนี้มันไม่ใช่เรื่องสนุก ต้องคนที่ดีมีความเข้าใจถูกต้องเท่านั้น จึงจะชอบบังคับตัวเอง
พอบังคับเข้า มันก็ต้องเจ็บปวดบ้าง มันก็ต้องทน ก็ต้องทนจนกว่าจะให้มันสำเร็จลุล่วงไป ทีนี้ก็คอยสละบริจาคไอ้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวมากขึ้น เอ่อ, อยู่บ่อย ๆ มันก็ไม่ต้องทนมาก ไม่ต้องบังคับมาก มันก็พอไปกันได้ นี้เรียกว่าเป็นเรื่องศีลธรรมทั่ว ๆ ไป ที่จะทำให้เด็ก ๆ เขากตัญญูซื่อสัตย์ต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ มีความอดกลั้นอดทน รักษาระเบียบวินัยไว้ได้ เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์กันตั้งแต่เด็ก
เดี๋ยวนี้มันก็เรียกอะไรดี เรียกว่าผีตัวกู-ของกู มันได้เปรียบ มันได้โอกาส มันครอบงำจิตใจคนในโลก ไม่ให้ ๆ นิยมศาสนา ให้พระเจ้าตายแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องพูดกัน ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว เมื่อมีเงิน มีวัตถุ มีอะไรมากแล้วก็ จะไปง้องอนอะไรกับธรรมะหรือกับศาสนา เขาคิดกันอย่างนี้ เป็นวัตถุนิยมจัดยิ่งขึ้นทุกที แล้วพร้อมกันทั้งโลก เพราะว่าคนมันเป็น ๆ ทาสของวัตถุ เป็นทาสของเนื้อหนัง คือความสุขทางเนื้อหนัง ทางวัตถุ เป็นกันทั้งโลก
ทีนี้คนที่เป็นเก่ง มันก็คือประเทศใหญ่ ๆ ที่มันทำได้เก่ง ประเทศเล็ก ๆ มันก็เดินตามก้นที่จะไปบูชาไอ้วัตถุเนื้อหนังนั้นอย่างเดียวกัน มันก็เป็นไปทั้งโลก มันก็มีโทษเกิดขึ้นหลายอย่าง คือหาความสุขในจิตใจไม่ได้ แล้วก็ทำให้วัตถุนั้นก็ปั่นป่วน ที่วัตถุจะไม่พอใช้ เพราะว่าเอาวัตถุมาล้างผลาญ หาความสนุกสนานทางเนื้อทางหนังกันหมด
ในแผ่นดิน ในโลกนี้ แทบจะไม่มีอะไรเหลือแล้วเดี๋ยวนี้ มีอะไรก็ขุดขึ้นมา ก็ใช้เพื่อวัต ทางวัตถุ เพื่อความสุขทางวัตถุ ซึ่งไม่จำเป็น เกินความจำเป็น มันก็หมดเร็วจนไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็เลยลำบากกันขึ้นมาเอง ไม่รู้จักแก้ปัญหาทางจิตใจ มันก็ ๆ ทำให้มีปัญหาทางจิตใจขึ้น คือไม่รู้จักควบคุมจิตใจ มันก็ละโมบเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรต่าง ๆ จนโลกนี้มันไม่อาจจะให้ความพอใจได้ มีแต่ความหิว ความกระหาย ความแย่งชิง แข่งขันทำลายกันยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้เรื่องว่าไม่มีธรรมะแม้ในขั้นศีลธรรม
ทีนี้ในขั้นสูงสุด คือขั้นปรมัตถธรรมนั้น แม้ว่าเราจะไม่มีปัญหาเหล่านี้ จะเป็นสุขสบายดี มันก็ยังมีปัญหาอย่างอื่น คือเรื่องทางจิตทางใจ ยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ พอได้อย่างใจก็ตะกละ พอไม่ได้อย่างใจก็โกรธ แล้วก็พะวงหลงใหลหรือว่าสงสัย สนใจไม่มีขอบเขตสิ้นสุด จนเกิดความกลัว เกิดความวิตกกังวลไม่รู้จักสิ้นสุด เขาเลยพูดกันเสียทีเดียว ให้มันตัดบทไปเลยว่า แม้แต่พวกเทวดาในสวรรค์ มันก็ยังมีความทุกข์ เพราะมันยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็จะหลงในบางสิ่งบางอย่างมากกว่ามนุษย์เสียด้วย
ดังนั้นเป็นอันว่า ถ้าไม่มีธรรมะ มันก็ยังมีส่วนที่ทำให้เกิดความทุกข์ ในชั้นสูงสุดมันก็จะต้องจัดการให้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่ ๓ คำนี้เบาบางไป แล้วก็สิ้นไปในที่สุด กิเลส ๆ หรือว่าไอ้ความชั่วทั้งหลาย จะมีกี่สิบชื่อกี่ร้อยชื่อพันชื่อก็ตามใจ มันมารวมอยู่ได้ในคำ ๓ คำว่า ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยเฉพาะคำว่าความหลง มันกว้างขว้างนัก มันบรรจุอะไรไว้ได้หมดเลย แม้แต่ความกลัว ความเกลียด ความอิจฉาริษยาถ้าไม่พลอยยินดีกับใคร อย่างนี้ก็ มันก็อยู่ในพวกนี้
ไอ้ความโลภหรือความโกรธ เราเห็นได้ง่าย แล้วความโกรธมันก็เนื่องกันอยู่กับความโลภ มันอยากได้ พอมันไม่ ๆ ได้ตามที่มันอยาก มันก็โกรธ มันก็มีเท่านั้นแหละ เฮ้ย, ถ้าอย่าอยากเสียอย่างเดียว มันก็ไม่มีเรื่องโกรธเหมือนกัน นี้เขาแยกออกจากกัน เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะความโลภ ยิ่งได้อย่างใจเท่าไร ก็ยิ่งหิวเป็นเปรตมากขึ้นไปอีกนี่ ความโลภก็เป็นทุกข์ ทีนี้พอไม่ได้อย่างใจ มันก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ อย่างกับเป็นนรกในใจชนิดหนึ่งขึ้นมา
ทีนี้มันยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือความหลง มันไม่รู้จะไปทางไหน ไม่รู้จะชอบใจอะไร เอ่อ, จึงจะเรียกว่ามันจะหยุดความต้องการเสียได้ มันจึงไม่สิ้นสุด ยังคิด เอ่อ, ยังแถมมีการคิดเก่ง คิดล่วงหน้า สำหรับจะกลัว สำหรับจะวิตกกังวล ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ก็เป็นกันมาก ก็นอนไม่หลับ นอนหลับยาก แล้วก็เริ่มเป็นโรคเส้นประสาทบ้าง กระทั่งเป็นโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคทุกอย่างที่มันจะเป็นได้ เพราะว่าเลือดลมมันไม่ปรกติ เพราะว่าคนนอนไม่ค่อยหลับ โรคร้าย ๆ ทุกอย่างก็พลอยเกิดตามมาทีหลัง
นี่เพราะไม่เห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บธรรมดาสามัญแท้ ๆ ก็ ๆ มาจาก เอ่อ, มี ๆ มูลเหตุมาจากการที่คนเรามันขาดธรรมะนั่นเอง เราจะดู วัว ควาย แมว สุนัขนี้ มันเป็นโรคภัยไข้เจ็บน้อย เพราะมัน ๆ กังวลวิตกอะไรไม่เป็น มันจึงมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มันจะเป็นโรคทางวัตถุล้วน ๆ แหละ เช่นว่าเชื้อโรคมาจริง ๆ แล้วเป็นโรคระบาด ทำให้วัวควายตาย สุนัขตาย เป็นโรคทาง ๆ ฟิสิกส์ล้วน ๆ
ไอ้มนุษย์นี่มันมีเรื่องทางจิตทางวิญญาณทางอะไรต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในระบบประสาท ในร่างกาย แล้วจึงเป็นโรคนั่นนี่ออกมาทางร่างกาย ก็ยังถือได้ว่าเพราะมันมีความบกพร่องทางสติปัญญา โรคทางร่างกายมันก็เกิดขึ้น เช่นคนสะเพร่าทำมีดบาดมืออย่างนี้ อย่าไปคิดว่ามันเพียงแต่มีดบาดมือ เป็นเรื่องทางวัตถุ ไม่ ๆ ๆ คิดดูเรื่องมันโง่ มันสะเพร่า มันไม่ระมัดระวัง สอนเท่าไรมันไม่จำ นี่มันมีสะเพร่าอยู่เรื่อย นั่นน่ะเขาเรียกโรคทางจิตทางวิญญาณ มีความสะเพร่า มันจึงเป็นเหตุให้ ๆ ๆ มีโรคทาง ๆ กาย คือมีดบาดมือ หรือเดินตกร่อง หรือว่าสุดแท้แต่ที่ว่า มันน่าหัวทั้งนั้น นี่พวกนี้เขาไม่คิดกันให้ครบถ้วนอย่างนี้ ก็เลยไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ
การที่คนมีใจคอปรกตินั้น จะปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้ และจะทำการงานได้ดี จะเป็นการศึกษาเล่าเรียนหรือการอาชีพอะไรต่าง ๆ จะทำได้ดีเพราะมีใจคอปรกติ ถ้าใจคอปรกติ ก็หมายความว่ามีธรรมะเพียงพอ เขาก็ไม่สนใจ จะแก้ปัญหาทางวัตถุเรื่อยไป นอนไม่หลับ ก็ทำยาให้หลับนอนกินเข้าไปอย่างนี้ มันจะแก้ปัญหาทางวัตถุเสียเรื่อย ถ้าไม่สบายใจขึ้นมา ก็ไปสูบกัญชาเสียอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นเรื่องไกลออกไปจากธรรมะหรือจากความสงบสุขอันแท้จริง
เดี๋ยวนี้เรามันพูดกันในฐานะที่ว่าเป็นพุทธบริษัท พุทธะนั้น แปลว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน หมายถึงฉลาด และหมายความถึงเบิกบานและแจ่มใส จึงนึกถึงเรื่องทางจิตทางวิญญาณตลอดมา ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนบัดนี้ ถึงศาสนาอื่น เขาก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน มันต่างกันบ้างก็ วิธีการข้างนอก แต่มุ่งหมายจะกำจัดไอ้ความรู้สึกที่ชั่วร้ายในจิตใจด้วยกันทั้งนั้น
นี้เรียกว่าไอ้ธรรมะคืออย่างนี้ จำเป็นอย่างนี้ ที่มนุษย์จะต้องมี ไม่อย่างนั้นมนุษย์จะไม่เป็นมนุษย์ คือมันมีจิตใจต่ำ มันก็ไม่เรียกว่ามนุษย์ ก็มีความทุกข์ทางใจ มีความทุกข์ทางกาย มีปัญหารอบด้าน ก็หม่นหมอง ก็ไม่ควรจะเรียกว่ามนุษย์ ก็เรียกว่าคน เป็นคนก่อน แล้วก็เป็นมนุษย์ทีหลัง เป็นมนุษย์กันต่อเมื่อจิตใจมันสะอาดเกลี้ยงเกลาจากกิเลส นอกนั้นก็เป็นคนธรรมดาสามัญ
นี่เค้าเงื่อนของคำว่าธรรมะ โดยส่วนใหญ่ ๆ หรือโดยสังเขป มันก็มีอยู่อย่างนี้ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ทำคนให้เป็นคนนั้น ไม่แน่ มันกำกวม เพราะเกิดมามันก็เป็นคน ก็มีคนพูดกันอยู่มากว่า ทำคนให้เป็นคน หรือว่าการศึกษาทำคนให้เป็นคน นี้เขาใช้คำว่าคน เดี๋ยวนี้ก็เป็นภาษาที่เขาใช้ง่าย ๆ ใช้สุ่ม ๆ ไป กำกวม ควรจะใช้คำว่าทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ คือทำคนให้เป็นมนุษย์ นี่แม้การศึกษาธรรมดาสามัญนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมะยิ่งชัดเลย ก็ทำคนให้เป็นมนุษย์ กระทั่งให้เป็นอริยมนุษย์ พระอริยบุคคล อย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงข้อที่ว่า มันมีปัญหาเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อย่างไร เราก็พลอยเนื่องกันอยู่กับไอ้โลกหรือสังคมโลก ดังนั้นต้องดูที่มนุษย์ธรรมดาสามัญทั่วไป คือคนธรรมดา มันก็ถูก ๆ แวดล้อมโดยไม่รู้สึกตัว ให้ละเลย ๆ ธรรมะมากขึ้น ๆ เห็นแต่ปากแต่ท้อง เห็นแต่สวยงาม แม้เรียกว่าวัฒนธรรม ก็วัฒนธรรมเรื่องสวยงาม เรื่องวัตถุ เรื่องเนื้อหนัง แม้จะเรียกว่าศิลปะ มันก็ศิลปะเนื้อหนังนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะการปรุงอาหาร การกินอาหาร วิธีกินอาหาร การจัดบ้านเรือน การจัดห้องนอน กระทั่งการจัดห้องน้ำ
เขาเรียกว่าเจริญแต่ความรู้ด้วยศิลป์ แต่มันทำให้เป็นมนุษย์ไม่ได้ คุณไปสังเกตดูเถิด มันยิ่งทำให้เป็นคนที่บ้ามากขึ้นเท่านั้นเอง เป็นมนุษย์ไม่ได้ คือไม่มีจิตใจสูง มันเป็นทาสของไอ้ความเอร็ดอร่อยสวยงามเหล่านั้นมากขึ้นทุกที จนเงินเดือนไม่พอใช้อยู่เรื่อยไป มันก็ไม่มี ๆ ส่วนที่จะเจียดออกมาช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน ไม่มีส่วนที่จะเจียดออกมาช่วยผู้อื่นได้ ใช้เองก็ไม่พอนี่ จะเอาที่ไหนมาเจียดมาช่วยผู้อื่นได้ มันคอยมุ่งจ้องแต่จะหาความบำรุงบำเรอไอ้ความหลงใหลของตัว
ทีนี้ดูที่นั่นแหละ จะพบไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูแก่จัดขึ้นทุกที ในมนุษย์เหล่านั้นหรือในคนเหล่านั้น ที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ก็มีตัวกู-ของกูมากขึ้นทุกที ลูกหลานก็ถ่ายทอดมรดก เอามาเป็นตัวกู-ของกูมากขึ้นทุกที ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนสมัยก่อน ก็มีส่วนคิดถึงธรรมะ คิดถึงศาสนา คิดถึงผู้อื่น คิดถึงโลกหน้า ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนสมัยนี้ มันก็คิดแต่จะทำประเทืองผิว ประ ตกแต่งร่างกายให้ไปสวยไปงามกันในสังคม ฉลองกันเลี้ยงกันอะไรในเรื่องหรูหราสวยงามนี่ มัน ๆ เปลี่ยนอย่างนี้ ดังนั้นเด็ก ๆ มันก็เปลี่ยน เอ่อ, จนยากที่จะ ๆ กลับตัว
ทีนี้ดูที่นั่นก็เห็น มีตัวกู-ของกูหนาขึ้น ๆ ๆ ในความเจริญแบบนั้น ในวัฒนธรรมแบบนั้น ยิ่งมีบ้านเรือนที่เต็มไปด้วยเคหศิลป์ตามความหมายสมัยนี้เท่าไร ก็ยิ่งมีตัวกู-ของกูมากเท่านั้น อุตส่าห์ทะนุถนอมให้มันสวย ให้มันงาม ให้มันอะไรยิ่งกว่าของอื่น เอ่อ, กว่าของคนอื่นแหละ ให้สวยกว่าคนอื่น เนื้อตัวของกูก็ต้องสวยกว่าคนอื่น บ้านเรือนของกูก็ต้องสวยกว่าคนอื่น จนไม่มีเหลือที่จะเจียดไปช่วยคนยาก
ขืนพูดไปเดี๋ยวก็หาว่านี่นิยมคอมมิวนิสต์ เพราะว่าไอ้พวกร่ำรวยไม่ ๆ คิดถึงคนยากจน ลัทธิคอมมิวนิสต์มันก็ฟักเชื้อขึ้นมาเอง เชื้อโรคนี้ไม่ต้องมาจากไหน มันฟักขึ้นมาได้ใน ๆ ๆ แผ่นดินนี้ ผมเคยถามหมอถึงเชื้ออหิวาต์คราวนี้ เพราะว่ามันเกิดขึ้นในประเทศไทย ถึงแม้มันไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย สมมติว่าเกิดมาจากประเทศอินเดีย แล้วประเทศอินเดียเอามาจากไหน มันก็ฟักขึ้นมา เช่นเชื้ออหิวาต์นี้มันเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แล้วแปลว่ามันเกิดขึ้นได้ในโลก โดยไม่ต้องมาจากโลกอื่น
นี้เรียกว่าไอ้ลัทธิที่ไม่พึงปรารถนา มันก็เกิดขึ้นมา เพราะว่ามนุษย์ปฏิบัติผิด ต่อพระเจ้า ต่อศาสนา ต่อธรรมะ พอคนมั่งมีเห็นแก่ตัวมากขึ้น มันก็ฟักเชื้อไอ้คนยากจนต่อสู้แย่งชิง ที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็สุด ๆ แท้ขึ้นมาทันทีเอง ไม่ต้องมาจากไหน นี่ธรรมะมันคุ้มครองไว้ไม่ให้มันเกิดอย่างนี้ แต่พอคนละทิ้งธรรมะ มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา หมายความว่าไอ้ ๆ วัคซีนที่มันจะช่วยป้องกันเชื้อโรคนี้ มันไม่มี โรคมันก็เกิดขึ้นมา
เดี๋ยวนี้คนก็มีตัวกู-ของกูจัดมากขึ้น ๆ เป็นโรคระบาดไปทั่วโลก ก็เลยมีปัญหาท่วมฟ้า เรียกว่าตัวกู-ของกู คือความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ ความหลง ความไม่รู้ ว่าตัวกู ว่าของกู แล้วก็เห็นแก่ตัวกู เห็นแก่ของกู มันก็เป็นกิเลสทั้งนั้น เป็นโลภก็มี เป็นความโกรธก็มี เป็นความหลงก็มี มันมีมูลมาจากไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกูหรือของกูอย่างเดียว
พอเด็ก ๆ เขาเกิดมาจากท้องมารดา ยังไม่รู้เรื่องตัวกู พอโตขึ้น ๆ สิ่งแวดล้อมทั้งหลายทำให้เขามีความเข้าใจไปในทำนองเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมาเรื่อย นี้มาสูงสุดกันเมื่อเขาได้รับความเอร็ดอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของกูนี่ แล้วอัสสาทะของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ทำให้เขาเกิดมีตัวกู เอร็ดอร่อยในสิ่งที่กูเอา ๆ ได้ อาจจะเอามาได้ คือเป็นของกู นี้กว่าจะเป็นหนุ่มเป็นสาว มันก็มีความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกูนี้แน่นแฟ้น ก็หนัก เอ่อ, แน่นแฟ้นมากขึ้น ๆ กระทั่งเป็นผู้ใหญ่ กระทั่งแก่เฒ่าก็มีนี่
ในบางกรณีที่ไม่พบธรรมะศาสนาเลย มันก็มีตัวกู-ของกูเข้มข้นมากขึ้นจนแก่เฒ่าเข้าโลงไปเลย ถ้าได้มาพบธรรมะ ได้มาพบศาสนา มาศึกษา มันก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันอาจจะถอยลงไปบ้างก็ได้ หรือว่าในที่สุดโชคดี ได้รู้จริง ได้ปฏิบัติจริง เอ่อ, ตัดกิเลสได้เป็นพระอริยเจ้าไปเสียก็มี นี้เรียกว่าตัวกู-ของกู มันถูกทำลายเบาบางไปจนหมดสิ้น ถ้าที่มันมีอยู่ ที่มันเหลืออยู่ มันก็มีความทุกข์
ดังนั้นคุณไม่ต้องไปดูที่ไหน ไม่ต้องอ่านหนังสือที่ไหน อ่านเอาจากจิตใจที่กำลังมีตัวกู มีของกูหรือไม่ มันมีได้ตลอดเวลา ในวันหนึ่ง ๆ มีได้มากมาย เป็นตัวกูเล็กบ้าง ตัวกูใหญ่บ้าง ถ้ามันมีความรู้สึกประเภทที่มันเนื่องกับตัวตนหรือของตน แล้วก็เรียกว่าตัวกู-ของกูทั้งนั้น เดี๋ยวก็หงุดหงิดรำคาญนั่นนี่ ก็ไม่รู้ว่ามันเรื่องอะไรเสียก็มี มันค้างมาแต่เวลาหลับมันก็มี ตื่นขึ้นมาก็หงุดหงิดแล้ว
นี่สังเกตดู ก็เรียกว่าเป็นตัวกู-ของกูอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ยกหูชูหาง คำนั้นสำคัญมาก ถึง ๆ ไม่ยกหูชูหางให้ใครเห็นข้างนอก มันก็ยกหูชูหางอยู่ข้างใน ๆ ใจนี้มาเป็นตัวกู-ของกู ความไม่ยอม ความไม่ยินดีด้วย หรือไม่อะไรทำนองนี้ มันจึงได้ดื้อ พอมันมีสิ่งที่เรียกว่าดื้อแล้วก็ ดูจะเห็นทันที
ดังนั้นอย่าอวดดีว่า บวชแล้วมันก็จะหมดตัวกู-ของกู บางทีมันมีเพิ่มขึ้นมาเพราะการบวชนี้ก็มี มีตัวกูของกูประเภทของนักบวชก็มี ของครูบาอาจารย์ก็มี เมื่อยังไม่เป็นครูบาอาจารย์ ไม่มีตัวกู-ของกูบางชนิด พอเป็นขึ้นมาก็มีบางชนิดหรือมีอะไรมากขึ้นไปอีก มันก็จะมีบางชนิด ๆ เพิ่มขึ้น
ถ้าว่าคุณมองไม่เห็นไอ้ข้อเท็จจริงอันนี้แล้ว ผมก็คิดว่าป่วยการ ที่จะศึกษาธรรมะให้ป่วยการ มันก็ทำงม ๆ งาย ๆ ลม ๆ แล้ง ๆ เพราะไม่รู้ว่ามัน อะไรมันเป็นตัวปัญหา อะไรมันเป็น ๆ ตัวปัญหาที่จะต้องชำระสะสาง มันไม่รู้นี่ อ่านจากในหนังสือ มันมองเห็นไม่ได้ ก็อ่านหนังสือมากี่มากน้อยแล้ว มันไม่เกิดความรู้สึกอันแท้จริงได้
ดังนั้นต้องเอากันที่ความรู้สึกในใจ ถ้าว่าความโลภก็โลภอยู่จริง ความโกรธก็โกรธอยู่จริง ความหลงก็หลงอยู่จริง เห็นตัวจริงของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูก็ได้ จะเรียกว่ากิเลสก็ได้ แล้วก็จะสังเวชทุกทีที่เห็น อันนี้มันจะเป็นเครื่องช่วย มันก็จะมีคำว่าสังเวชใช้กันมาแต่นมนาน สังเวชนียวัตถุอะไรก็ตาม สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เช่นไปป่าช้าเปิดโลงดูศพนี้ ก็เป็นโอกาสเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช หรือว่าจะไปที่ไหนก็ตามที่มันให้เกิดความสังเวช
ความสังเวช ภาษานี้ ภาษาไทยเรานี้ มันก็ตรงกับไอ้คำว่านิพพิทา เอ่อ, นิพพิทา วิราคะนั้นน่ะ ความเบื่อหน่าย ความคลายไอ้ความยึด เอ่อ, คลายจากความยึดมั่นถือมั่น นิพพิทา มันเบื่อ เบื่อหน่าย วิราคะ มันคลาย ๆ จากความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าคลายกำหนัด
จะพูดว่าคลายกำหนัด ก็ไม่ ๆ หมด ไม่หมดกระแสความ ท่านหมายถึงเรื่องกามารมณ์อย่างเดียวไปเสีย วิราคะในหลักธรรมะนั้น หมายถึงคลายจากความยึดมั่นถือมั่นทุกชนิด ยึดมั่นถือมั่นอะไรก็ได้ ถ้ามันคลายออกแล้วก็เรียกว่าวิราคะ คลายจริงก็เรียกว่าวิราคะจริง ดังนั้นจะเรียนธรรมะกันจริง ก็ต้องเรียนจากของจริง มองเห็นของจริงถึงขนาดที่จะเกิดความรู้สึกสังเวช
บางทีท่านก็ใช้คำว่าไม่ประมาท นี้เรามันหลงลืมตัวไป ก็คือประมาท ไม่เคยสังเวชตัวเองเลย ยกหูชูหางขึ้นไปบังไว้หมด จนไม่มองเห็นความน่าสังเวชของตัวเอง นี่ระวังให้ดี ยิ่งอายุพรรษามันมากขึ้น มันจะมีอันนี้มากขึ้น มันจะไม่ได้น้อยลง เพราะมันมีอะไรที่มาเพิ่มให้หรือมากระตุ้นให้เป็นไปในทางมากขึ้น ถ้าเราไม่ระวังจริง ๆ มันจะเพิ่มขึ้น คุณประมาทมากขึ้น ไอ้ความไม่ประมาท มันไม่ค่อยจะได้โอกาส ก็คือไม่มีธรรมะ
ไอ้คำว่าธรรมะนี้ มันก็กำกวม คือว่าธรรมะฝ่ายดี ฝ่ายถูก ฝ่ายเจริญ เราเรียกว่าธรรมะ นี้ธรรมะฝ่ายผิด ที่ควรจะเรียกว่าอธรรมะ ก็ไม่เรียก ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน เรียกธรรมะฝ่ายดำ ธรรมะฝ่ายผิด ถ้าพูดกันในภาษาชาวบ้านธรรมดา คำว่าธรรมะหมายถึงธรรมะฝ่ายขาว ธรรมะฝ่ายที่จะดับทุกข์ได้
นี่เราไม่ค่อยมีธรรมะเดี๋ยวนี้ จะไปมีธรรมะฝ่ายดำฝ่ายอธรรมเพิ่มขึ้น นั่นแหละคือตัวกู-ของกู ถ้าธรรมะฝ่ายถูกฝ่ายขาวนี้ ก็คือลดตัวกู-ของกู หรือว่าไม่เกิด กำลังไม่เกิดตัวกู-ของกู บางเวลาที่เราไม่เกิดตัวกู-ของกู ก็มีธรรมะ ก็มีได้โดยอัตโนมัติ พอเกิดตัวกู-ของกู คือกิเลสชนิดหนึ่งแน่นอนแล้ว ได้ ๆ มีแล้ว ก็เรียกว่าไม่มีธรรมะ ฝ่ายขาวมีธรรมะ ฝ่ายดำเป็นตัวกู-ของกู
ถ้าไม่มองเห็นข้อนี้แล้ว ก็จะไม่เกิดความสังเวช และการศึกษาธรรมะจะไม่ตั้งต้น ให้บวช ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา ๓๐ พรรษา มันก็ไม่มีธรรมะที่จะเจริญได้ ยังมีหงุดหงิดตลอดเวลา ฉุนเฉียวและหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าตัวกู-ของกู เป็นผีขนาดหนักขึ้นขี่คออยู่ตลอดเวลา ก็มองไม่เห็น ยังรักที่จะฉุนเฉียว รักที่จะหงุดหงิด รักที่จะโกรธ ไม่ให้อภัย โดยมากเป็นเสียอย่างนี้
เขาไม่มองเห็นว่า เราจะต้องกำจัดสิ่งนี้ออกไป เขากลับไปเข้าใจผิดอย่างโง่เขล่าว่า คนอื่นต้องไม่มาทำให้เราเกิดสิ่งนี้ ดูให้ดี มักจะไปโทษคนอื่นว่า มารบกวนบ้าง มา ๆ ด่าเราบ้าง อะไรเราบ้างอย่างนี้ นี้คนมันโง่ ว่าคนมาดูถูกเราบ้าง หรือแม้แต่แสดงอาการไม่เคารพสักหน่อยแล้วนะ ก็เอามาโกรธได้แล้ว นั้นมันบ้าเอง เพราะว่าอยู่ในโลกมันต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องหัวเราะเยาะให้สิ่งเหล่านั้น
ถ้าเด็ก ๆ มันมาดูหมิ่น มันก็ควรจะหัวเราะเยาะ ไม่ควรจะตบหน้ามัน หรือว่าเพื่อนกันมาดูหมิ่น มันก็ควรจะถือโอกาสศึกษาธรรมะ บังคับตัวเองให้ได้แล้วก็ไม่ต้องโกรธ แต่นี่กลับมาหา มายั่ว มายุ มาแกล้งอะไรก็มี แล้วก็ไปโทษคนอื่นทั้งนั้น ไอ้ความเลวของตัวเองไม่มองเห็นและก็ไม่โทษ นี้ขอให้ตั้งต้นด้วยข้อเท็จจริงอันนี้ แล้วจะศึกษาธรรมะได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว มันไม่มีทางที่จะเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ในการศึกษาธรรมะ
นี่วันนี้มันพูดชนิดที่เรียกว่า ครอบคลุมเป็นปริทรรศน์กว้าง ๆ ไม่ใช่ว่าตัวไหนอันไหน ให้เห็นทั่วไปพร้อมกัน ทั้งที่ว่ามีตัวกู หรือไม่มีตัวกู นี้ไอ้ตัวกู มันก็จะพลอยโยนบาปโยนความผิดให้ผู้อื่นเสมอว่า มาทำให้เราโกรธ ไอ้มันเลวเอง มันไม่มองเห็น แต่คอยที่จะโทษคนนั้นคนนี้ว่า มาทำให้เราลำบากบ้าง ให้เราโกรธบ้าง ให้เรากลัวบ้าง อะไรบ้าง
ทีนี้จะดูกันให้ละเอียดยิ่งลงไปอีกสักหน่อยว่า เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้จักตัวเอง คุณ ๆ ๆ ช่วยฟังให้ดีและจำให้แม่นยำด้วยว่า ผมกำลังพูดว่าไม่รู้จักตัวเอง แล้วคุณก็กำลังไม่เชื่อใช่ไหม เพราะมันไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร มันก็ไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็บอกว่าไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่ยอมเชื่อ แล้วก็จะเถียงว่า ทุกคนมันรู้จักตัวเอง หาว่าคนพูดนั่น พูดไป พูด เอ่อ, พูดบ้า ๆ บอ ๆ ไปเสียอีก
ถ้าว่าใครรู้จักตัวเอง คนนั้นมันก็ควรจะรู้ว่า เรานี้ต้องการอะไร เรานี้ควรจะต้องการอะไร เอ้า, ก็ลองถามตัวเองว่า คุณกำลังต้องการอะไร ผลสุดท้ายมันก็พร่า มันต้องการอะไร มันต้องการบ้าเท่านั้น มันต้องการจะได้ไอ้สิ่งที่มาหล่อเลี้ยงตัวกู-ของกูทั้งนั้น ที่อยู่ทุกวันนี้ ที่อยู่จริงกันจริง ๆ มันต้องการไอ้ที่สิ่งที่จะเป็นที่ชอบใจพอใจของตัวกู-ของกู มันก็ไม่ใช่ตัวเอง หรือมัน ๆ ไม่รู้ว่า ตัวเองต้องการสิ่งที่ไม่ควรจะต้องการ
เราไม่รู้ธรรมะของพระอริยเจ้า ก็เลยต้องปล่อยไปตามสัญชาตญาณ คือความรู้สึกที่มันเกิดได้เองตามธรรมชาติ มันก็ต้องการไปตามสัญชาตญาณ ซึ่งยังมีความโง่ มีอวิชชา คือมีความยึดมั่นเป็นตัวกู-ของกูแหละ ตัวกู-ของกูมันต้องการอะไร มันก็เลยเป็นต้องการอันนั้น เราคิดว่าเราต้องการ หรือเราที่แท้จริงต้องการ ที่จริงกิเลสมันต้องการ
ถ้าดูกันให้หมด คือว่าประมวลออกมาจากหลักธรรมะทั้งหลาย เราจะพอเห็นได้ว่า มันมีอยู่ ๒ แขนง คือตัณหาต้องการอย่างหนึ่ง และก็ทิฏฐิมันต้องการอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นตัณหาต้องการ ก็หมายความว่ามันต้องการอารมณ์ อารมณ์ของตัณหานั่นแหละ ถ้ากามตัณหา มันก็ต้องการความสุขอย่างมีกาม เอ่อ, เป็นไอ้รากฐาน ถ้าภวตัณหา ก็ต้องการความสุขอย่างมีรูปธรรมเป็นรากฐาน วิภวตัณหา ก็ต้องการไอ้ความสุขอย่างที่มีนามธรรมเป็นรากฐาน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับกาม
นี้เรียกว่าตัณหามันต้องการ นั่นคือต้องการของอารมณ์ ความต้องการอารมณ์ ต้องการทางเนื้อหนัง ทางร่างกาย ทางไอ้ ทางร่างกายต้องการ ถึงแม้ว่าจะมีจิตสำหรับรู้สึกที่ รูป เสียง กลิ่น รส นั้นมันก็ มันก็อยู่ใต้อำนาจของไอ้วัตถุหรือร่างกาย ความต้องการของร่างกาย ไอ้ระบบ Physical ระบบ Mental เหล่านี้ มันมารวมอยู่ที่คำว่าร่างกายหมด มันต้องเลยไปเป็นเรื่องจิตใจ เรื่อง Spiritual โน่น จึงจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ร่างกาย
นี้เราอยากอร่อย อยากไพเราะ อยากสวยงาม แล้วมาเอร็ดอร่อยนี้ มัน ๆ ยังเนื่องกับร่างกายนี้ วัตถุนี้เป็นหลัก แล้วความรู้สึก ระบบความรู้สึกและวิญญาณยังขึ้นอยู่กับร่างกาย อย่างนี้เราก็เรียกว่ามันเป็นความต้องการของตัณหา แม้คนยังเป็นคนบุถุชนธรรมดา ยังมีอวิชชา มีเนื้อหนัง เอ่อ, ร่างกายที่มีความรู้สึก แล้วก็ต้องการไปตามความรู้สึกอันนั้น อย่างนี้เรียกว่าตัณหามันต้องการ เป็นกามบ้าง เป็น เอ่อ, เป็นกามตัณหาบ้าง เป็นภวตัณหาบ้าง เป็นวิภวตัณหาบ้าง ทีนี้ได้มา ก็มาเป็นเหยื่อสำหรับเกิดอุปาทาน แล้วเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา นี่มีรายละเอียดเหมือนกับพูดกันหลายครั้งหลายหนแล้ว เกิดเวทนาที่มาตามอวิชชา ก็เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดความทุกข์ขึ้นมา
นี้ถ้าเป็นทิฏฐิต้องการ ก็หมายถึง ความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อ มันต้องการ เรียกว่าทิฏฐิต้องการ เรามีทิฏฐิความคิดเห็นอย่างไร เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเป็นสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ถ้าตามปรกติแล้ว บุถุชนก็มีสัมมา เอ่อ, มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นกลับกันเสียหมด แล้วมันก็เลยต้องการ ไอ้ทิฏฐินี้ มันไม่ได้ต้องการอารมณ์ มันต้องการเหตุผล มันต้องการไอ้เหตุผลสำหรับจะมาเชื่อ สำหรับจะมายึดมั่นถือมั่น ต้องการลัทธิ ต้องการคำสอน ต้องการแนวคิดอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าทิฏฐิมันต้องการ
ถ้าเรามีทิฏฐิอย่างไรแล้ว เราก็จะต้องการไปตามอำนาจของทิฏฐินั้น ที่เขาแปลว่า เอ่อ, มันมีมือ เปรียบเหมือนกับมันมีมืออยู่ ๒ มือ ที่จะไปจับฉวยอะไรเอามา คือตัณหา มันก็ไปคว้าเหยื่อของตัณหา ถ้าทิฏฐิ มันก็ไปคว้าเอาเหยื่อของทิฏฐิมา ดังนั้นตัณหากับทิฏฐิ ๒ อย่างนี้จำชื่อไว้ให้ดี ๆ สิ่งที่จะมัดบุคคลไว้ในวัฏสงสาร ก็คือตัณหาและทิฏฐิ นี้จะไปคว้าอะไร ไปลูบคลำอะไร ไปสนใจอะไร มันก็ด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิ
ตัณหาเป็นเรื่องอารมณ์เข้ามาหาไอ้ระบบร่างกายเนื้อหนัง ทิฏฐินั้นมันจะคว้าเอามาเป็นเรื่องของจิตของวิญญาณ สะสมไว้เป็นทิฏฐิอันแน่น ๆ แฟ้นถาวรต่อไป เรียกว่าเรามีทิฏฐิอย่างไร ดังนั้นมันไม่ ๆ ต้องการทิฏฐิ ไอ้ตัณหานี้มันก็ทำงานของมันได้ เพราะว่ามันรู้สึกได้เอง เพราะคนมันก็โง่มาแล้ว มีอวิชชาแล้ว มันอยากไปตามไอ้ความโง่นั้นได้ เพราะฉะนั้นตัณหาก็มีได้เองตามอวิชชา แต่ว่าทิฏฐินี้อาจจะสร้างขึ้นใหม่ได้ คุณลองไปเรียนลัทธินั้น ลัทธินี้ ลัทธิโน้นเข้าสิ มันจะเกิดทิฏฐิอันใหม่ แล้วมันจะเปลี่ยนความต้องการ แล้วมันก็จะไปกันอีกทางหนึ่ง เรียกว่าทิฏฐิ
เดี๋ยวนี้ไอ้ชีวิตของเรา มันถูกตัณหาและทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ลูบคลำอยู่เรื่อย เหมือนจมอยู่ในความทุกข์หรือว่าติดอยู่ในวัฏสงสาร เพราะความต้องการอารมณ์ของตัณหา ต้องการเหตุผลหรือต้องการอะไรของทิฏฐิ จึงถือว่าไอ้ปัญหามันมีอยู่ที่ ๒ อย่างนี้ ความต้องการ ๒ อย่างนี้
ความอยากหรือตัณหา มันก็ไปต้องการสิ่งที่ยังไม่ได้ คือความยั่วของอารมณ์ ยังไม่ทันจะได้เสวยอารมณ์นั้น ไอ้ตัณหานี้มันก็ ๆ ต้องการตามที่อารมณ์นั้นมันยั่ว แต่พอมันได้เสวยอารมณ์นั้นผ่านไปแล้ว มันก็เกิดทิฏฐิอันใหม่ เกิดทิฏฐิขึ้นมา มันจึงสะสมไว้สำหรับจะเป็นทิฏฐิอย่างนั้นอย่างนี้เด็ดขาดลงไป ดังนั้นตัณหามันก็ทำงานก่อน คือไปจับฉวยเอาความยั่วยวนของอารมณ์ แต่ว่าทิฏฐินี้มันจะมาทีหลัง เมื่อได้เสวยอารมณ์นั้นไปแล้ว มีอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นเสร็จแล้ว มันก็สร้างทิฏฐิอันใหม่ขึ้นมาอย่างนี้เรื่อยไป
นี้เรียกว่าเราอยู่ที่ตรงไหนกัน ไอ้เราที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหนกัน เดี๋ยวนี้ก็อยู่แต่ความต้องการอย่างนี้ นี่จึงเรียกว่าไม่รู้จักตัวเอง ถ้าเขาจะด่าว่าไม่รู้จักตัวเอง ก็อย่าไปโกรธเขาเลย มันไม่รู้จริง ๆ เพราะสิ่งที่มันเกิดอยู่ในจิตใจตลอดเวลานี้ มันเป็นเพียงไอ้เรื่องของตัณหา เรื่องของทิฏฐิ ที่เป็นมาตามสัญชาตญาณ แล้วก็ค่อย ๆ เจริญพัฒนาไปทางนั้นทางนี้ จนไปตั้งรูปร่างขึ้นมาใหม่ ว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ สำหรับคนคนนั้น สำหรับคนคนนี้ไปเลย มันก็ไม่เหมือนกันแหละตอนนี้ แต่ข้อที่ต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้ มันจะเหมือนกันหมดใน ๆ ตอนแรก ๆ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็ยังมีส่วนที่ทำได้
นี้เราก็ควรจะรู้ที่ว่าเราควรจะต้องการอะไร ทีนี้เรา ก็ไม่รู้เราตัวไหนอีก เราตัวกู-ของกู ก็ไปตามแบบเดิม ถ้าว่าเราชนิดที่หมายถึงจิตที่มีความเฉลียวฉลาดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยน ๆ เรื่อง เปลี่ยนเรื่องของความต้องการ และมันขึ้นอยู่กับคำว่าต้องการว่า เรามันต้องการด้วยอวิชชา เอ่อ, หรือว่าต้องการด้วยวิชชา
ความต้องการในภาษาไทยนี้ มัน ๆ กำกวม มันเปิดไว้กว้าง คำว่าต้องการในภาษาไทย ใช้ได้ทั้งนั้น ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ แต่ถ้าในภาษาบาลี มันจำกัดดี ความต้องการด้วยอวิชชา เขาเรียกว่าตัณหา นี้ความต้องการด้วยวิชชา คือความถูกต้องนี้ ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าโลภะ คือมีครูบาอาจารย์คณะนั้นคณะนี้ เขาสอนกันว่า ถ้ามีความอยากมีความต้องการแล้ว เป็นตัณหาเป็นโลภะทั้งนั้น ก็ตามใจเขา เราไม่สอนอย่างนั้น เราไม่ถืออย่างนั้น
มันต้อง ๆ การด้วยความโง่หรืออวิชชา จึงจะเรียกว่าโลภะหรือเรียกว่าตัณหา นี่ถ้าต้องการด้วยวิชชา คือรู้อะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอะไร กระทั่งว่านิพพานเป็นสิ่งที่ควรปรารถนา ตั้งสัจจาธิฏฐานจะบรรลุนิพพาน อย่างนี้ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่โลภะ เพราะมันต้องการด้วยวิชชา และก็ในสิ่งที่ถูกต้องและควรจะต้องการ นี้ขอให้แยกกันอย่างนี้ได้ แล้วถ้าต้องการด้วยอวิชชาก็ไปอย่างหนึ่ง ถ้าต้องการด้วยวิชชามันอย่างหนึ่ง
ทีนี้เราก็มาดูไอ้ความต้องการประจำวันของเราว่า มันต้องการด้วยอะไร มันจะต้องการด้วยตัณหาเสียตลอดเวลาก็ว่าได้ ต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องการด้วยอำนาจของตัณหา ส่วนเรื่องต้องการด้วยทิฏฐินั้น มันอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่ค่อยมา ๆ ทำความยุ่งยากลำบากมากเหมือนไอ้ความต้องการของตัณหา มันอยู่ลึกไปหรือมันทำหน้าที่ส่วนอื่น ดังนั้นเราจะต้อง ๆ รู้จักว่า อะไรที่ควรต้องการ หรือกระทั่งรู้สูงสุดขึ้นไปว่า ไม่มีอะไรเลยที่เราควรต้องการ ถ้าต้องการด้วยตัณหา
แต่อย่าลืมว่า แม้ต้องการนิพพานนี่ ถ้ามันเป็นคนโง่ มันก็ต้องการด้วยตัณหา ต้องการด้วยทิฏฐิได้เหมือนกัน ข้อนี้มันต้องแยกกัน คือให้อภัยกันได้ว่า ในชั้นแรกเมื่อเรายังไม่รู้ ยังโง่อยู่ ก็ต้องการนิพพานด้วยตัณหา ด้วยอวิชชา ไม่รู้จักนิพพานแต่ก็ต้องการนิพพาน อย่างนี้ก็เรียกว่าตัณหาในนิพพานได้ หรือความโลภในนิพพาน อยากได้นิพพาน อย่างนี้ก็ได้
แต่ถ้าเป็นเรื่องถูกต้องแท้จริงแล้ว มันต้องรู้เสียก่อนว่า นิพพานเป็นอย่างไร เช่นรู้ว่านิพพานนี้ คือดับตัณหาหรือดับความต้องการเสียได้ มันก็ไม่ ๆ มีทางที่จะต้องการด้วยกิเลสตัณหา แม้ว่าตั้งใจ มีความพากเพียรจะบรรลุนิพพาน มันก็ไม่ใช่ความต้องการด้วยตัณหา นี้เรียกความเพียร ความพยายามปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานนี้ ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่ความต้องการด้วยตัณหา แต่ต้องการด้วยวิชาความรู้ว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้รอด
ถ้าจะพูดว่า ไม่มีอะไรที่ควรต้องการ ก็ถูกเหมือนกัน คือไม่ต้องการอะไรเลยนั่นแหละจะเป็นนิพพานเพราะในที่สุดก็ไม่ต้องการแม้แต่นิพพาน ไอ้คนที่ถึงนิพพานแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการนิพพาน อย่างที่มีบาลีระบุ ๆ ไว้ชัดว่า ไม่ยึดถือนิพพานโดยความเป็นตัวตนของนิพพาน ไม่ยึดถือว่านิพพานเป็นของเรา หรือเรามีนิพพาน หรือเราบรรลุนิพพาน มันไม่มีไอ้ความรู้สึกอย่างนี้กันนัก ก็เลยเป็นว่า มันไม่มีอะไรที่ควรต้องการ
ถ้าจะเกี่ยวข้องกับอะไร ก็เกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องการด้วยตัณหา ก็ทำไปก็ได้ จะหากินก็ได้ จะกินเข้าไปก็ได้ หรือจะทำอะไรก็ได้ อย่าทำด้วยตัณหา คือความต้องการที่ประกอบด้วยอวิชชา มันพอจะพูดได้โดยวิธีพูดหรือ Logic ว่า ไม่มีอะไรที่เราต้องการ แต่ก็ทำไปด้วยสติปัญญาในสิ่งที่ควรกระทำ เช่นว่าจะไปถ่ายอุจจาระนี่ คุณต้องการ แต่มันก็ต้องไปและมันก็ต้องทำใช่ไหม นี่ให้ทำเหมือนอย่างนี้สิ แล้วมันจะไม่มีความทุกข์ว่า หรือความยึดถืออะไรเกิดขึ้น
ทีนี้ถ้าว่ามันเป็นสิ่งสวยงามเอร็ดอร่อย ไอ้คนก็ไม่คิดอย่างนั้น มันเป็นต้องการอย่างยิ่ง เรียกว่าหิวเป็นเปรตอยู่ตลอดเวลานี้ รู้ว่าอะไรเราควรต้องการ หรือว่ารู้เลยไปถึงว่า ไม่มีอะไรที่เราควรจะต้องการ นี่เรียกว่าความรู้ที่ถูกต้องขึ้นไปตามลำดับ ถ้ารู้ ถ้าจะถือว่ามีอะไรที่เราควรต้องการ ก็คือความดับทุกข์ ให้ได้ดับทุกข์หมด นี้คือภาวะที่พึงปรารถนา ไอ้ภาวะชนิดนั้น มันก็คือความไม่ต้องการอะไร หยุดความต้องการทั้งหลายเสียได้ ก็คือความดับทุกข์ ดังนั้นก็ไม่มีอะไรที่ควรจะต้องการ
แต่วิธีพูดอย่างนี้ มันพูดได้หลายแบบ จะกลายเป็นเล่นลิ้นไปก็ได้ ดังนั้นเราอย่าไปยึดที่ไอ้ตัวคำพูด ยึดที่ความรู้สึกแท้จริง เมื่อไม่ต้องการอะไร มันก็สบาย ก็เย็น ถ้าจะพูดว่าต้องการ ก็ต้อง ๆ การด้วย ๆ วิชชา ด้วยปัญญา อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าความต้องการแล้ว ไม่ควรจะเรียกว่าความต้องการ ไม่ควรจะเรียกว่าความหวัง ไม่ควรจะเรียกว่าอะไรทำนองนั้น แต่ว่ารู้หน้าที่ของตนว่าต้องการอะไร ต้องการทำหน้าที่ที่ควรจะทำ เอากันเพียงเท่านั้นดีกว่า ถ้าจะต้องการ ก็ต้องการเพียงหน้าที่ที่ควรกระทำ หน้าที่ที่ควรกระทำ มันก็ดับทุกข์ ก็ดับความทุกข์
ต้องการด้วยกิเลสด้วยตัณหา ก็เรียกว่าตัวกู-ของกูมันต้องการ ถ้าต้องการด้วยวิชชา ก็เรียกว่าจิตที่ไม่มีตัวกู-ของกูนี้มันต้องการ เอ่อ, จิตบริสุทธิ์ จิตแท้จริงมันต้องการ ไม่มีอวิชชาเจืออยู่ นี้เราก็เผลอให้ตัวกู-ของกู เกิดเป็นเจ้าของเรื่องเสียทุกทีไป มันก็มีความทุกข์ พูดอีกทีหนึ่งก็ว่า มีตัวกู-ของกูเป็นผู้ต้องการ นี่เรื่องตัวกู-ของกู มันมาแทรกหรือมีอยู่ทุกอย่าง นี่ใน ๆ ๆ ทุก ๆ อย่างที่มนุษย์เกี่ยวข้อง
ต้องการด้วยอวิชชานี้ มันเรียกว่าตัณหา เรียกว่าอุปาทาน เรียกว่าอะไรก็สุดแท้ ในที่สุดมันก็เกิดความทุกข์ แต่ต้องการด้วยวิชชามันเรียกว่า ต้องการจะทำหน้าที่ที่ควรกระทำ จะตั้งจิตอธิฏฐานเอาเป็นเอาตายกัน เพื่อจะทำหน้าที่ให้ลุล่วงไป แต่ด้วย แต่ทำแต่ แต่ทำไปด้วยวิชชา ด้วยปัญญานี้ ก็ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าต้องการ มันเป็นคำที่กำกวมกันอยู่อย่างนี้เสมอไป
มีความพยายามทำหน้าที่ที่ควรจะทำอย่างถูกต้องแท้จริง แล้วก็ทำไปถึงที่สุด อย่างนี้เรียกว่าวิชชามันเป็นเหตุให้ต้องการ ไม่มีบาป ไม่มีกรรม ไม่มีกิเลสนั้นน่ะ เว้นไว้แต่ว่าจะไปทำผิดอย่างอื่น คือเรื่องมันไม่ควรต้องการ แล้วไป ๆ เอ่อ, ไป ๆ ต้องการเข้า หรือว่าทำเกินพอดี หรือว่าทำด้วยความโง่อย่างอื่น อย่างนี้มันก็ มันก็มีกิเลสตัวอื่นเกิดขึ้น
ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้จักตัวเราเองว่าต้องการอะไร จะต้องแก้ปัญหาให้มันหมดไปเสียทุกอย่างก่อนว่า เราควรจะต้องการอะไร ทีนี้ก็จะมองหาไอ้สิ่งที่ควรจะต้องการ ลองถามตัวเองดูว่า อะไรคือสิ่งที่ควรจะต้องการ ผมคิดว่าน้อยคนที่จะตอบถูก เว้นไว้แต่ได้เคยอ่านมาแล้วจำได้ กลัวแต่ว่าจะไปจำของใครมา ๆ ตอบ เด็ก ๆ มันต้องการอะไร คนหนุ่มคนสาวมันต้องการอะไร ดูที่มันบ้ากันนักในทุกวันนี้ แล้วคนผู้ใหญ่พ่อบ้านแม่เรือนมันต้องการอะไร คนแก่คนเฒ่ามันต้องการอะไร โดยเฉพาะสมัยนี้
เมื่อมันเกิดความนิยมกันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลก มาเป็นบ่าวเป็นทาสของตัณหา แล้วมันก็ต้องการด้วยตัณหา ต้องการเหยื่อของตัณหาทั้งนั้น นี่ที่จะเรียกว่าสิ่งที่ควรต้องการ มันอาจจะมีข้อยกเว้นนิดเดียว สัก ๑ เปอร์เซ็นแล้วก็จะไม่ถึง ต้องการความทุกข์มาเพื่อสอนให้รู้จักความทุกข์ ไม่จำเป็น มันไม่จำเป็นจะไปต้องการความทุกข์ เพราะว่าเห็นอยู่แล้ว มันเห็น ๆ อยู่แล้ว คน ๆ คดโกง คนไม่จริง ที่มันจะไปลองความทุกข์เพื่อแก้ตัว มันจะทำชั่ว มันอยากจะทำชั่ว ไม่มีข้อแก้ตัว มันก็ว่าอยากไปลองความชั่ว ลองความทุกข์ มันควรจะมุ่งไปยังไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
นี้ผมก็ใช้คำนี้มานมนานแล้วว่า ไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพุทธบริษัทควรจะได้ มันก็เป็นการป้องกันอยู่แล้วในตัวว่า ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่ใช่คนใจต่ำทรามควรจะได้ แล้วก็ต้องถือตามหลักเกณฑ์ของธรรมะที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่ใช่ว่าเด็ก ๆ ก็อยากจะกินจะเล่นจะหัว คนหนุ่มสาวก็เรื่องกามารมณ์ คนพ่อบ้านแม่เรือนก็สะทรัพย์สมบัติอย่างไม่ลืมหูลืมตานี่ คนแก่คนเฒ่าก็ยังไม่ยอม
ถ้าพูดถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันก็วกไปหาเรื่องเดิมอีก คือความดับทุกข์ ความไม่มีทุกข์ ชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ สะอาด สว่าง สงบ แจ่มใส เยือกเย็นนี้ ถ้าจะแยกออกไปพอให้มันมองเห็นเค้าเงื่อน ก็อยากจะแยกว่า ไอ้สิ่งที่ควรต้องการนั้น เรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ แล้วก็แยกออกในส่วนที่เป็นเหตุ
หนึ่ง ก็ส่วนที่เป็นเหตุ ก็คือวิถีทางการปฏิบัติที่ถูกต้องที่จะทำให้เราละกิเลสได้ ระบบปฏิบัติอันนั้นคือสิ่งที่ควรต้องการที่สุดสำหรับมนุษย์ ในฐานะที่เป็นเหตุ ทีนี้ถัดไปในฐานะที่เป็นผล ก็คือความที่ดับทุกข์ได้หลังจากการปฏิบัติแล้ว นี้เรียกว่ามรรคผลนิพพาน ทีนี้อันที่สามที่เหลืออยู่ คุณว่าอะไร นี่ถ้ามีความเห็นแก่ตัว มันก็นึกไม่ออก ถ้าไม่มีเห็นแก่ตัวเกินไปก็นึกออกว่า หน้าที่อันเหลือจากนั้นไปอีกก็คือช่วยเหลือผู้อื่น เรื่องแจกของส่องตะเกียง เมื่อมันหมดเรื่องที่เราจะดับความทุกข์ต่อไปในส่วนตัวเราแล้ว ก็ช่วยดับทุกข์ให้ผู้อื่น
อันที่ ๑ ในฐานะที่เป็นเหตุ คือวิถีทางที่จะปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ให้ได้ นี่เรียกสั้น ๆ ก็ว่าพรหมจรรย์ นี่ประพฤติ การประพฤติพรหมจรรย์ แยกออกเป็นศีล สมาธิ ปัญญาแงนี้ อันที่ ๒ ในฐานะที่มันเป็นผล ก็คือว่าดับทุกข์ได้ เรียกว่ามรรคผลนิพพานชั้นใดชั้นหนึ่ง ทีนี้ถ้ายังไม่ตาย ก็ทำประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งเราจะนิยมเรียกกันว่า แจกของส่องตะเกียง เนื่องมาจากรูปภาพรูปที่ฝาผนังเที่ยวแจกของส่องตะเกียงนี่ แล้วเขาเขียนเป็นภาพสัญลักษณ์ เอ่อ, ของบุคคลที่เสร็จเรื่องของตัวเองแล้ว
นี้คือสิ่งที่ควรต้องการ เมื่อเอาธรรมะเป็นหลัก มันก็มีอยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่เงินทอง ข้าวของ เรือกสวนไร่นา เกียรติยศชื่อเสียงอะไรเหล่านั้น นั้นมันเป็นเรื่องอุปกรณ์สำหรับที่จำเป็นแก่การมีชีวิต ก็ทำไปตามเรื่อง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ แต่เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลก มันหมุนกลับให้มีเรื่องทางเนื้อทางหนังเป็นวัตถุประสงค์ เขาเรียกว่าวัตถุนิยม เอาความเอร็ดอร่อยสนุกสนาน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นวัตถุประสงค์ มันก็คนละเรื่องเสียทีเดียว
ดังนั้นไอ้เรื่องวัตถุนิยม มันก็มาพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็เรื่องที่เป็นไอ้ธรรมนิยมหรือว่าเป็นวิญญาณนิยม คำนี้ไม่รู้จะเรียกคำว่าอะไรดี เขาเรียกกันว่าไอ้ Spiritual ฝ่าย Spiritual ไม่ใช่ฝ่าย Material มันจะตรงกันข้ามอยู่เสมอ ไอ้โลก ๆ หนึ่งเขานิยมฝ่าย ๆ Material มันก็ไปหาวัตถุ ไอ้โลกหนึ่งเขานิยมไอ้เรื่องทางจิตใจ มันก็มาหาไอ้ความสุขที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุหรืออยู่เหนือวัตถุ
ทีนี้พูดถึงการทำให้ได้ตามต้องการสักหน่อย การทำตามที่ควรจะทำเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการนี้ นี่ขอให้นึกถึงเรื่องอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งรู้กันอยู่ เราก็สวดสาธยายกันอยู่ การทำตามที่ควรจะทำหรือควรจะต้องการนั้นน่ะ นี้เรา ๆ แยกเอาส่วนที่เป็นตัวเหตุหรือว่าเป็นตัวพรหมจรรย์มาพูดกัน ก็ถือตามหลักอริยสัจจ์ ๔ คือทำให้เกิดความรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้
มันก็คือเรื่องสภาวธรรมทั่วไป คือความทุกข์เป็นหลักเป็นประธาน จะต้องรู้ในสิ่งที่มันควรจะรู้ อันที่สองต้องทำเพื่อให้ละได้ในสิ่งที่ควรจะละ คือสมุทัย คือกิเลสตัณหา คือทำให้รู้แจ้งต่อผลสุดท้ายที่ควรจะได้รับ นี่คือนิโรธหรือนิพพาน แล้วก็ทำให้มีขึ้นมา คือทางที่จะให้ถึงนิโรธหรือถึงนิพพาน ทำให้มันมีขึ้นมาจริง ๆ อย่าพูดแต่ปาก อย่าเป็นแต่ตัวหนังสือ ตามหลักของอริยสัจจ์ ๔ แล้วก็สมบรูณ์ ต้องรู้ไอ้ ๆ เรื่องที่ควรจะรู้ เรื่องสภาวธรรมทั่วไป เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องร้อยแปด แต่ว่าสรุปได้คำเดียว คือเรื่องทุกข์ เพราะยึดมั่นถือมั่นตามธรรมชาติของคนที่ยังไม่รู้อะไร คือมีสัญชาตญาณสำหรับยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ นี้สิ่งที่ควรรู้คือความทุกข์
สิ่งที่ควรรู้อย่างยิ่งคือความทุกข์ ต้องรู้เป็นข้อแรก ถ้ายังไม่รู้ มันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหาแล้วก็จะไป ๆ ประพฤติหรือไปปฏิบัติทำไม มันไม่มีปัญหา เหมือนกับว่าเราสบายดี เราจะไปกินยาทำไม นี่มันก็ไม่อยากจะกินยา จะไม่สนใจด้วย ดังนั้นอันแรกต้องรู้ก็คือว่า มันมีความทุกข์อยู่นะ ดูให้ดี ๆ ทีนี้ก็รู้ถึงถึงไอ้ที่มันควรจะละเหตุของความทุกข์ แล้วก็รู้สิ่งที่ว่าหลังจากนั้นจะได้อะไร ก็คือนิพพานคือนิโรธ เอ้า, ทำอย่างไรให้ได้จริง ๆ ก็คือทำอย่างนี้ ๆ ก็ทำให้มันขึ้นมาได้ เอ่อ, ทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นมาจริง ๆ
รู้สิ่งที่ควรรู้ รู้สิ่งที่ควรละ รู้สิ่งที่ควรทำให้แจ้ง รู้สิ่งที่ควรทำให้สมบูรณ์ขึ้นมา นี้จะเรียกว่าการกระทำที่ควรจะกระทำ คือ เอ่อ, ที่มันควรจะต้องการ คือเพื่อจะดับความทุกข์เสีย นี้แหละคือเรียกว่าหัวข้อของธรรมะ หรือว่าธรรมะที่เราต้องรู้ ธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ธรรมะที่จะเป็นผลของการปฏิบัติ
เรื่องนี้ก็เคยพูดกันโดยละเอียดซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้ว ไปนึกเอาเองว่าธรรม ธรรม ธรรมะหรือธรรมนี้ แบ่งได้เป็น ๔ แขนง คือสภาวธรรม เป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไร แล้วก็สัจจธรรม คือกฎที่มีอยู่ในสภาวธรรมเหล่านั้น ที่เรียกว่ากฎของธรรมชาติหรือกฎของธรรมะ แล้วก็กรณียธรรมดีกว่า ปฏิบัติธรรมหรือกรณียธรรม คือสิ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติมันมีอะไรบ้าง นี้ก็เรียกว่าธรรมเหมือนกัน ธรรมที่ต้องประพฤติและก็ต้องเป็นไปตามกฎ แล้วถูกตามเรื่องของสภาวธรรม ในที่สุดก็เกิดผล สัมฤทธิผล เป็นวิปากธรรม ได้บรรลุผลตามที่ควรจะได้
ดังนั้นเมื่อพูดกันให้มันลึกซึ้ง หรือพูดว่าออกจะเกินจำเป็นด้วย แล้วก็พูดว่า ไอ้ธรรมะนี้มีอยู่ เรียกว่า ธรรมธาตุ ธรรมธาตุ เป็นธาตุแห่งธรรม เป็นธรรม พระตถาคตเจ้าจะเกิดขึ้นก็ตาม พระตถาคตเจ้าจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ไอ้ตัวธรรมธาตุนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ทีนี้ดูมีอะไรบ้าง ในฐานะที่เป็นสภาวธรรมก็มี ในฐานะที่เป็นสัจธรรมก็มี เป็นปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ก็มี เป็นวิปากธรรมคือผลที่ได้รับก็มี ถ้าศึกษาธรรมะกันครบทั้ง ๔แง่นี้แล้ว ก็เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุด
ทีนี้เพื่อไม่ให้มันเป็นอะไรให้ยึดถือกันอีก ก็ให้มันโอนให้เป็นเรื่องของธรรมชาติเสียเลย นี้จะเป็นข้อที่ใช้พูด เอ่อ, เป็นเรื่องที่ใช้พูดสำหรับสากลทั่วไปได้ ไม่จำกัดอยู่แต่ในวงพุทธศาสนาของเรา ว่าธรรมะคือตัวธรรมชาติ ว่าธรรมะคือกฎ เอ่อ, กฏของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติทั้งหลาย และธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และธรรมะคือผลที่จะได้รับโดยการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
ธรรมชาติทั้งหลายนี้อย่างหนึ่ง กฎของธรรมชาตินี้อย่างหนึ่ง หน้าที่ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติต่อธรรมชาตินี้ก็อย่างหนึ่ง แล้วผลที่ได้รับออกมานี้ก็อย่างหนึ่ง ถ้าทำถูกต้องก็ต้องดับทุกข์ได้ ทำไม่ถูกก็ไม่มีทางจะดับทุกข์ได้ หรือถ้า ๆ ทำตรงกันข้ามก็จะเพิ่มความทุกข์ขึ้นมา เมื่อเรารู้จักธรรมชาติดี ถ้าเราต้องการความทุกข์ เราก็สร้างความทุกข์ได้มากกว่านี้มาก รู้จักธรรมะจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ แล้วก็จะเป็นไปตามที่ต้องการ ที่ควรจะต้องการ
ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของธรรม ธรรมธาตุหรือธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวกู-ของกู ตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงความโง่เขลา ซึ่งเกิดมาเป็นครั้งเป็นคราว แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ไม่โง่ไม่มีอวิชชา ก็ไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกู ในกรณีไหนมันโง่ไป มันมีอวิชชาเข้ามา มันก็มีความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกู นี้ก็ต้องระวังให้ดี มันจะมีอะไรเป็นตัวกู เป็นของกูเสียเรื่อย บวชพระ บวชเณร บวชเถร บวชอะไรก็ตามนี้ อย่าให้มันส่งเสริมตัวกู-ของกู มันยกหูชูหางได้ ทั้งเป็นพระเถรเณรชีอะไร มันยกหูชูหางได้ ถ้ามันเกิดตัวกูขึ้นมา มันก็ล้มเหลวหมด ไม่มีอะไรเหลือ
นี่ทั้งหมดนี้ ผมก็เรียกว่าไอ้ธรรมปริทรรศน์หรือว่าธรรมปาฏิโมกข์ปริทรรศน์ คือการดูคราวเดียวทั่ว ๆ ไปในเรื่องของธรรมะ หรือเรื่องหัวข้อสำคัญของธรรมะ คือธรรมปาฏิโมกข์ ถ้าคุณจำได้หรือเข้าใจพูดนี้ ก็จะเข้าใจได้เองทันทีว่า ธรรมปาฏิโมกข์นั้นคือเรื่องตัวกู-ของกู ไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้ หรือว่าพุทธศาสนาทั้งหมดก็แล้วกัน คือเรื่องตัวกู-ของกู ในแง่หนึ่งก็เป็นทุกข์ เพราะเกิดตัวกู-ของกู ในแง่หนึ่งก็ดับทุกข์ เพราะว่าไม่เกิดตัวกู-ของกู
ดังนั้นเราศึกษากันแต่เรื่องตัวกู-ของกูอย่างเดียวกันก็พอ แต่มันครบในทุกแง่ทุกมุม เหมือนกับที่ได้พยายามมาแล้วเป็นปี ๆ นี่คือคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ มองดูคราวเดียวหมด สรุปได้ความว่า เรื่องทั้งหมดของมนุษย์นี่ ขึ้นอยู่กับคำว่าตัวกู-ของกูอย่างเดียวเท่านั้น
เอาละ, พอกันที