แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๖ วันนี้เป็นการบรรยายครั้งที่ ๓ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า หลักตัดสินความผิดถูกในวิชาธรรม วิชาธรรมะ ในครั้งที่แล้วมาเราได้พูดถึงความมุ่งหมายของวิชาธรรมะซึ่งต่างจากวิชาชีพ ก็จะชวนให้เกิดความสงสัยบ้างว่ามันจะผิดถูกอย่างไรในการที่มุ่งหมายอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงอยากจะกล่าวถึง หลักการวินิจฉัยความผิดหรือความถูกในฝ่ายวิชาธรรมะนั้นเสียเลย ที่จะเรียกว่าในอริยวินัย ก็ได้ สำหรับตอนนี้ขอให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ในอริยวินัย หมายความว่าถ้ามันมีอะไรแปลกออกไปจากที่เขาถือกันอยู่ พูดกันอยู่ หรือตีความกันอยู่ ใช้คำพูดอยู่อะไรก็ตามในระหว่างชาวบ้านกับเรื่องในศาสนา อย่างนี้ท่านก็แยกเรียกในฝ่ายทางฝ่ายวัดหรือทางฝ่ายศาสนานี่ว่า อริยวินัย ใช้คำว่า ในอริยวินัย เขาพูดกันอย่างนี้ เขาตีความกันอย่างนี้ เขามีคำพูดที่ใช้อย่างนี้ นี่ขอให้จำไว้ด้วยว่าถ้าได้ยินคำว่า ในอริยวินัย ขอให้เข้าใจว่าที่ใช้พูดกันอยู่หรือตีความหมายกันอยู่ในพุทธศาสนา เช่นอย่างผู้ที่เคยอ่านข้อความในอันพุทธนิกายที่เขายกมาไว้ในหนังสือกามนิต ว่าการร้องเพลงคือการร้องไห้ในอริยวินัย การเต้นรำคืออาการของคนบ้าในอริยวินัย การหัวเราะคือกิริยาของเด็กอ่อนนอนเบาะในอริยวินัย แยกได้ชัดว่าในอริยวินัยตีความกันอย่างนี้ การเต้นรำเป็นอาการของคนบ้า การหัวเราะก็เพียงเด็กนอนเบาะ หมายความไม่ต้องการให้หัวเราะ ร้องเพลงคืออาการของคนร้องไห้ ทีนี้เราก็มีหลักที่แยกออกไปว่า ในธรรมวินัยหรือในอริยวินัยในศาสนานี้ก็มีอะไรที่แปลกจากชาวบ้าน เพราะนั้นในวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงหลักสำหรับตัดสินแห่งความผิดถูก ขอให้ทบทวนถึงข้อที่ว่าได้พูดมาแล้วว่าวิชาธรรมสำคัญกว่าวิชาชีพ วิชาชีพให้เกิดความรอดทางกาย วิชาธรรมให้เกิดความรอดในทางจิตคือ ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ชีวิตมันควรจะได้ นี้ก็เห็นได้ว่ามันเป็นการแยกกันคือ ไม่ยอมรับไอ้ความรู้สึกคิดนึกของชาวบ้านที่ว่า ถ้ามีกินมีใช้ร่ำรวยก็พอแล้ว มีความมุ่งในทางธรรม มีความมุ่งหมายที่จะให้ไปไกลกว่าที่ชาวบ้านเขาต้องการ ทีนี้มันก็มามีความลำบากที่ว่าโดยเฉพาะมนุษย์สมัยนี้คนสมัยนี้ไม่ต้องการอย่างนั้น ไปลุ่มหลงในส่วนที่มันเกี่ยวกับร่างกายหรือวัตถุหรือวิชาชีพไปจนหมด จนทำให้โลกทั้งโลกต้องเปลี่ยนมากเกินไป คือเปลี่ยนไปในทางที่จะบูชาวัตถุมากเกินไป จนกระทั่งว่าไม่ ไม่ต้องมีพระเจ้า ไม่ต้องมีศาสนาหรือพูดกันไปซะเลยว่าไม่มีพระเจ้า พระเจ้าตายแล้ว ศาสนาไม่จำเป็น นั้นเป็นต้น จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากถึงขนาดที่ได้ยกตัวอย่างให้ฟังแล้วว่า ในยุคสามสี่สิบปีมานี่ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยสุภาพบุรุษ ก็เดี๋ยวนี้ก็เต็มไปด้วยลิงทโมน ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้มันประหยัดเวลามันก็เข้าใจเอาเองได้ ไม่ใช่มุ่งหมายจะเสียดสีหรืออะไรมากไป ที่ว่าสุภาพบุรุษนั่นก็หมายถึง คนที่ดีพอที่จะทำให้โลกนี้มีสันติ มีสันติภาพอันถาวร ให้คำจำกัดความไว้สำหรับสุภาพบุรุษอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ก็เรียนเพื่อเห็นแก่ตัวข้างเดียว ก็มีแต่ลิงทโมน เหมือนที่ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยโสเภณีทางวิญญาณ คือฝ่ายสตรีเพศที่ประดิษฐ์คิดค้นทุกอย่างให้เป็นไปเพื่อความยั่ว นับตั้งแต่การนุ่งห่มที่มันน้อยลงหรือมีอะไรต่างๆ มีกิริยาท่าทาง มีการประดับตกแต่งชนิดที่มันยั่วจนสุดความสามารถที่มนุษย์จะคิดขึ้นมาได้ และมันกำลังคิดได้มากแล้วมันกำลังจะคิดต่อไปอีก อย่างนี้ผมขอเรียกตรงๆ ว่าโสเภณีทางวิญญาณ และขอร้องพวกคุณนะอย่าได้ไปเข้าใจผิด ไปหลงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวเราก็จะได้เสียเวลาพิจารณาเหตุการณ์อย่างนี้กันบ้าง หลังจากการที่ได้ทราบกันเสียก่อนว่าหลักสำหรับตัดสินความผิดถูกนั้นมันมีอะไรบ้างในพระพุทธศาสนานี้ สำหรับความผิดหรือความถูกต้องนี้ เราก็มีปัญหายุ่งยากกันมากในโลกนี้ กระทั่งร่นเข้ามาในประเทศของเรา ในครอบครัวของเรา หรือในระหว่างบุคคล เพื่อนฝูง ถือหลักความผิดหรือความถูกนี่ ความจริงหรือความไม่จริงเท่านี่มันต่างกัน มันจะมีปัญหาสำหรับทะเลาะวิวาทกัน คืออย่างน้อยก็เถียงกัน จนทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นไม่ได้ เขาถือหลักแห่งความผิดหรือความถูกนี่มันต่างกัน ก็ลองไปถามดูว่าแล้วเกิดมาทำไมนี่มันก็ตอบต่างๆ กัน ยิ่งไปถามไอ้คนที่มันต่างชั้นต่างวัยกันมาก ก็ยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง ถามเด็กๆ ดู ถามคนวัยรุ่นดู ถามคนหนุ่มสาวดู คนพ่อบ้านแม่เรือนดู กระทั่งคนแก่คนชราดูว่าเกิดมาทำไม ก็แล้วแต่ภูมิของจิตใจ ที่เขาจะอยู่ในภูมิไหนอย่างที่ได้เอ่ยถึงให้ฟังแล้วว่ามันมี ภูมิกามาวจร บูชากาม รูปาวจร บูชารูปบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับกาม อรูปาวจร คือบูชานามธรรมที่ไม่เกี่ยวกับกาม หลายๆ ภูมิอย่างนี้ ถึงแม้ในภูมิเดียวกันมันก็ยังมีว่าอย่างนี้ดีกว่าอย่างนู้นดีกว่า เพราะนั้นเราจะต้องยอมรับรู้ให้ตรงกันเสียก่อนว่าเราจะพูดกันโดยหลักของอะไรของใคร ที่ผมกำลังจะพูดหรือจะบรรยายนี้ก็คือ ตามหลักในพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าในอริยวินัย เขาถือความผิดถูกกันอย่างไร เขาถือตามคำของพระพุทธเจ้านั้นเอง คำว่า วินัย แปลว่าระเบียบหรือระบอบหรือสุดแท้ อริยวินัย ก็แปลว่าระเบียบของพระอริยเจ้าคือ ระเบียบแห่งการพูดจา การบัญญัติ การทำความเข้าใจอะไรก็ตามของพระอริยเจ้า เอาใจความสั้นๆ ก็คือ ระเบียบของพระอริยเจ้า ถือความผิดถูก ก็ตามที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นประธานของพระอรหันต์เป็นผู้บัญญัติไว้ พระอริยเจ้านี่ก็มีตั้งแต่พระโสดาบัน เรื่อยขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์ ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็เป็นยอดหรือเป็นจอม เพราะว่าตรัสรู้โดยชอบโดยพระองค์เอง แล้วสอนผู้อื่นจนเกิดมีบุคคลประเภทพระอรหันต์เหล่านี้ขึ้นมา ทีนี้เราก็ถือกันตามคำของพระองค์ที่ได้ตรัสไว้ว่าอย่างไร เรียกว่าเป็นความถูกต้องในธรรมวินัยนี้หรือในคำสั่งสอนของพระศาสดานี้ หลักเกณฑ์อันนี้ปรากฏชัดอยู่ในสูตรๆ หนึ่งเรียกว่า โคตมีสูตร อังคุตตรนิกาย ขอให้ช่วยจำให้ดี จะจดหรือจะจำก็สุดแท้ ขอให้ถูกต้องและแม่นยำ หรือจะกล่าวคู่กันไปเลย ว่าอย่างไรเรียกว่าผิด อย่างไรเรียกว่าถูก คืออย่างไรเรียกว่าถูกตามคำสอนของพระศาสดา อย่างไรเรียกว่าไม่ถูก ข้อที่ ๑ มีว่า สราคาย และก็ โน เอ่อ, สราคาย โน วิราคาย เป็นไปเพื่อความกำหนัด ย้อมใจ มิได้เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระศาสดา นี่คู่แรก เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ นี่แปลตามที่เขาเขียนไว้ในแบบเรียนสำหรับนักธรรมเรียน ก็จะพูดให้ฟังโดยคำอธิบาย กำหนัดย้อมใจในที่นี้ มันมีตัวหนังสือว่า รา ราคะ และก็ไม่กำหนัดก็คือ วิราคะ ราคะ ในที่อย่างนี้ไม่ได้หมายความถึงกำหนัดทางกามารมณ์อย่างเดียว หมายถึงกำหนัดและความยึดมั่นทุกชนิดเลย นึกถึง อุปปาทาน ก็แล้วกัน อุปปาทานที่เป็นไปทางกามารมณ์ อุปปาทานที่เป็นไปในทางความคิดเห็น หรือว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างงมงาย หรือว่ายึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา คือ ตัวกู ของกู ถ้าว่า ราคะ มันแปลว่าติด ย้อมติด ถ้าเป็นไปเพื่อย้อมติด เขาก็เรียกว่ากำหนัดย้อมใจในที่นี้ ถ้ามันคลายออก หรือจางออกก็เรียกว่า ไม่ ไม่กำหนัดย้อมใจ ตามตัวหนังสือ วิราคะ นะเป็นชื่อของอาการที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงต้องมีวิราคะ คือคลายออก ถามว่าคลายออกแห่งอะไร ก็คลายออกแห่งความติดมั่น ความยึดถือหรือความติดแน่นในสิ่งนั้น ถ้าสิ่งใดเป็นไปเพื่อ ให้ไปยึดมั่นถือมั่นติดในสิ่งใดก็ผิดแล้ว ถ้าสิ่งใดไม่ได้เป็นไปเพื่ออย่างนั้น เป็นไปเพื่อไม่ติดไม่ยึดมั่นในสิ่งใด อันนี้มันก็ถูก เราก็สังเกตดูการกระทำของเราหรือของโลกก็ตามใจ มันเป็นไปเพื่อยึดมั่นยึดถือหรือมั่นหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลงรักโดยความเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นตัวเราเป็นของเรา นี่ก็ผิด ต่อเมื่อไม่เป็นไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นจึงจะเรียกว่าถูก เดี๋ยวนี้เรากำลังยึดมั่นถือมั่นอะไรบ้างก็ไปรู้กันเอาเอง ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็จะมีความทุกข์ พูดสั้นๆ ก็ว่าต้องมีความทุกข์ ยุ่งยาก มีปัญหา มีความหนักอกหนักใจตลอดเวลา ข้อแรกจึงว่าเพื่อความกำหนัดย้อมใจ และก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดย้อมใจก็เรียกว่าผิด ตรงกันข้ามก็เรียกว่าถูก ข้อที่ ๒ สโยคาย โน วิสังโยคาย เป็นไปเพื่อประกอบ มิได้เป็นไปเพื่อไม่ประกอบ คำว่า ประกอบ ในที่นี้ ในแบบเรียนท่านอธิบายไว้ชัดว่า ประกอบทุกข์ ประกอบความทุกข์ ก็หมายความสั้นๆ ว่า ไปทำเข้าแล้วมันทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา ประกอบความทุกข์ขึ้นมา แต่ตัวหนังสือก็ว่า โยคะ โยคะก็แปลว่า ประกอบ ความหมายของมันมาแต่คำว่าผูกติดกัน เป็นภาษาเดิมๆ ของชาวบ้านก็คือว่าผูกติดกัน เช่นเอาวัวผูกติดกับแอก เอาม้าผูกติดกับแอกที่เขาเอาสวมคอม้า ติดกับรถ ติดกับแอกของรถ นี้คือคำว่า โยคะ ในความหมายเดิม การคิดการพูดการกระทำอะไรที่มันเป็นไปเพื่อการผูกติดกัน แล้วก็มีผลของความทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้ก็เรียกว่าผิดแล้ว นี่เราทำอะไรชนิดที่มันเป็นไปเพื่อทำให้เกิดติดกันกับความทุกข์ ก็เรียกว่าผิดแล้ว อันแรกเรียกว่า ราคะ อันที่หนึ่งเรียกว่า ราคะกำหนัดย้อมใจ อันที่สองเรียกว่าการประกอบ มันมีอาการแล้วมันก็เนื่องกัน ถ้าไปติดใจอยู่ในสิ่งใดมันก็ติดแน่นอยู่กับสิ่งนั้น มันก็เกิดทุกข์ขึ้นมา ข้อสองจึงว่าเป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์มิได้เป็นไปเพื่อการออกห่างจากความทุกข์ ก็เรียกว่าผิด นี่ ข้อที่ ๓ เรียกว่า อาจยาย และก็ โน อปจยาย เพื่อสะ เอ่อ, เป็นไปเพื่อสะสม มิได้เป็นไปเพื่อไม่สะสม จะอธิบายไปให้ชัดว่าสะสมกิเลส ถือเอาความว่าสะสมก็แล้วกัน จะเป็นเรื่องสะสมกิเลส สะสมความ เอ่อ, ทรัพย์สมบัติสิ่งของมันก็เหมือนกัน ถ้าทำไปด้วยกิเลส ข้อความนี้กล่าวไว้สำหรับภิกษุ หรือบรรพชิตเป็นส่วนใหญ่ นี่ฆราวาสก็ต้องเอาไปจัดความพอดีเสียใหม่ ถ้าสะสมกิเลสหรือสะสมวัตถุสิ่งของก็ตาม บรรพชิตนี้ก็ไม่ ไม่ทำเลย แต่ถ้าสะสมด้วยความคิดที่ว่ามันจะต้องใช้ประโยชน์เพื่อทำลายกิเลสนั้นมันก็ทำได้ สะสมในที่นี้จึงหมายถึงสะสมสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส เป็นไปเพื่อสะสมสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส และก็มิได้เป็นไปเพื่อสลัดสิ่งเหล่านั้นออกไปก็เรียกว่าผิดแล้ว ถ้าหมายถึงสะสมกิเลสก็หมายความว่า เราทำความเคยชินในการมีกิเลส การเกิดกิเลสมากขึ้นๆ นี่เรียกว่าสะสมกิเลส ถ้าจะสะสมวัตถุสิ่งของ การกระทำก็ตามที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมากขึ้นๆ นี่ระวังให้ดี ในบ้านในเรือน มันมีอะไรที่เต็มไปด้วยค่าของมันที่เป็นไปในทางส่งเสริมกิเลสแล้วก็ระวังให้ดี มันจะ มันผิดนะ คือมันจะมีความทุกข์ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็มักจะไม่ค่อยคำนึงกัน สะสมเข้ามา สะสมเข้ามาเพื่อส่งเสริมกิเลสทั้งนั้น ไม่ได้ระวังให้ดี นี้ ข้อที่ ๔ ก็ว่า เพื่อความอยากใหญ่ มหิจฉตายะ โน อัปปิจฉตายะ เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความอยากน้อย เรื่องนี้ก็เข้าใจผิดกันอยู่ว่าเท่าไหร่เรียกว่าอยากใหญ่ เท่าไรเรียกว่าอยากน้อย พูดต่อกันไปถึง ข้อที่ ๕ ซะเลยว่า อสันตุฏฐิยา โน สันตุฏฐิยา ไม่เป็นไปเพื่อสันโดษ เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ มิได้เป็นไปเพื่อสันโดษ นี้มันคล้ายกันมาก อยากใหญ่กับอยากน้อย สันโดษ เอ่อ, ไม่สันโดษกับสันโดษ นี่มันคล้ายกันมาก อยากใหญ่ก็อยากออกไป อยากออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่หยุดไม่มีการหยุดหรือการพอในเรื่องของความอยาก อย่างนี้เรียกว่าอยากใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะมันเกินๆ เกินยิ่งกว่าเกิน ทีนี้ไม่สันโดษหมายความว่า ส่วนที่มีแล้วนั้นไม่รู้จักยินดี จะได้มาเท่าไรก็ไม่รู้จักยินดี มีอยู่แล้ว ใช้อะไรอยู่แล้วนี่ก็ไม่ยินดี ถ้ายินดีบ้างเท่านั้นนะในสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่า สันโดษ สันโดษแปลว่ายินดีด้วยสิ่งที่มันมีอยู่ มันเนื่อง เนื่องกันกับข้อที่ว่าอยากใหญ่ แต่ถ้าเรารู้จักยินดีเท่าที่มีอยู่มันก็จะหยุด หยุดอยากใหญ่หรือว่าเอา เอากำไรไว้ก่อน คือหมายถึงแต่คำว่า เจียมตัว อย่างนี้มันก็อยู่ในความหมายอันนี้ ถ้าเราไม่พอใจเท่าที่เรามีหรือเราเป็นอยู่บ้างแล้วเราก็ไม่อาจจะเจียมตัวได้ แล้วก็อยากใหญ่ แล้วก็มีหิวเป็นเปรตอยู่เรื่อย แม้จะมีตั้งแสนตั้งล้านตั้งแล้วมันก็ไม่พอใจด้วยเท่าที่มันมีอยู่ ก็เลยหิวเป็นเปรตอยู่เรื่อย เพราะนั้นสิ่งที่ทำขึ้นมาได้ในวันนี้ ควรจะมีโอกาสสำหรับจะมีความรู้สึกพอใจ เพื่อจะได้เกิดความพอใจปีติปราโมทย์เคารพตัวเอง แล้วมันสบายและมันจะป้องกันไอ้โรคเส้นประสาทได้ คือไม่หิวเป็นเปรตอยู่เรื่อยนั้นเอง วันนี้เรียนได้เท่านี้ แล้วก็ควรจะมีเวลาหนึ่งซึ่งพอใจว่าเราเรียนได้เท่านี้ มันน้อยแต่มันไม่ได้เรียนอะไรเลยหรือว่ามันไม่ได้ทำอะไรเป็นประโยชน์เลย แต่นี้ก็ไม่มีทางที่จะพอใจ แต่ถ้าได้ทำอะไรในวันนี้หรือเรียนอะไรในวันนี้ที่มันเป็นประโยชน์ รู้สึกอยู่ว่าเป็นประโยชน์ ก็ควรจะมีโอกาสพอใจกับสิ่งนั้น นั้นจะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจมีปีติปราโมทย์แล้วก็มีความเคารพตัวเองว่ามีดี มีอะไรที่ดี มีส่วนที่ได้ทำดี ก็ไม่หิวเป็นเปรต คือมีความพอใจก็เป็นความอิ่ม เพราะนั้นความที่อยากเกินประมาณก็ไม่เกิดขึ้น ตรงนี้มีความเข้าใจผิดกันอยู่ คือบางคนอธิบายคำว่าสันโดษในพุทธศาสนาผิด เป็นว่าไม่ให้ทำอะไรให้มากออกไป ว่าเอาเองนะ อธิบายอย่างนี้ผิด ว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ประสงค์อย่างนั้น จนถึงกับครั้งหนึ่งออกหนังสือออกแจ้งความโดยผ่านราชการ ให้หยุดสอนสันโดษ หยุดสอนสันโดษ ผมก็เคยถูกกล่าวหาเรื่องสอนสันโดษ จนต้องไปชี้แจงกันเป็นการใหญ่ หมายความว่าเราไม่เชื่อคำขอร้อง ไม่ ไม่ทำตามคำขอร้องของรัฐบาล แล้วถ้าไม่สอนเรื่องสอนสันโดษนี่ คนจะเป็นโรคเส้นประสาทกันหมด ทั้งประเทศนี่ คือมันเป็นหิว เป็นเปรตอยู่เสมอ อย่างที่นี่มักจะมีคนถามแทบจะทุกวัน ว่าไอ้งานของท่านเมื่อไหร่จะเสร็จ มันงานก่อสร้างหรืองานในวัดนี่ ก็ขอบอกว่าคุณถามไม่ถูกเรื่อง ก็ที่นี่มันเสร็จทุกวัน ทำอะไรเสร็จทุกวัน เป็นที่พอใจทุกวัน คุณลองคิดดูเถอะว่า ถ้าไม่มีเสร็จหมายความว่าอย่างไร มันก็เป็นห่วง วิตก กังวล หิว กระหายเป็นเปรต ถ้าเสร็จทุกวัน มันมีส่วนที่พอใจทุกวันๆๆ มันตรงกันข้าม ในจิตใจมันก็สบาย มันก็นอนหลับ ผมก็เลยอยากจะให้พวกคุณนี้เอาไปคิดดู ว่าถ้าจะมีวิธีการชนิดที่จะทำให้เรารู้สึกพอใจในตัวเองในการกระทำได้ทุกวัน มันจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนบ้าหรือว่าจะเป็นคนไม่บ้า เป็นคนที่รู้สึกสบาย พอใจ หรืออิ่มอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ มันเป็นเคล็ดนิดเดียว มันเกี่ยวกับความคิดที่มันกลับกลอกได้ ก็ดูหน้าไอ้คนที่มันเซียวอยู่เสมอ มีแววตาที่แสดงความหิวเป็นเปรตอยู่เสมอส่วนมาก แม้เป็นพระเป็นเณรนี้ก็มี เพราะมันขาดไอ้ความอิ่มที่จะหล่อเลี้ยงให้พอใจ อยู่ด้วยความหิวกับอยู่ด้วยความอิ่มนั้นมันต่างกันมากนะ หน้าตาของคน เพราะนั้นจึง พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเรื่องว่าอย่าให้เป็นไปเพื่ออยากใหญ่ อย่าให้เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ ให้เป็นไปเพื่ออยากน้อยและให้สันโดษ สำหรับระดับปริมาณสำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์นั้นมันก็ต่างกันบ้าง ไปไปพิจารณาเอาเอง แต่มันเหมือนกันอยู่ตรงที่ว่า อยากใหญ่นั้นมันอยากเกิน อยากน้อยนั้นนะคือหมายความว่าเท่าที่จำเป็น เท่าที่จำเป็นที่ควรจะอยากเท่าที่ควรจะทำ ที่นี้ว่าได้มาเท่าไหร่ นิดหนึ่งก็เถอะก็จะต้องพอใจมันจะได้มีเวลาที่เป็นสุข นาทีหนึ่งก็ยังดี พอใจในการกระทำที่ทำได้ เป็นผลขึ้นมาในวันหนึ่งๆ ถ้าให้ดีกว่านั้นก็พอใจไปพลางในความสำเร็จที่มันเกิดขึ้น พอใจไปพลางมันก็เป็นคนที่มีความสุขในการงานได้ ทำงานไปพลางเป็นสุขไปพลาง ไม่ต้องรอรับผลงานอันสุดท้าย อันสุดท้าย ทำงานไปพลางเป็นสุขไปพลาง ก็เลยเป็นคนที่อิ่มอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่ว่าจะทำอะไรใหม่ออกไป เพิ่มออกไปนั้นมันทำได้เพราะไม่ได้ห้ามไว้ บางทีมันจะช่วยซะอีก จะมีเรี่ยวแรงสำหรับทำต่อไปตามสมควรที่จะทำ ถ้าได้มาก็ไม่พอใจ ได้มาก็ไม่พอใจแล้วจะเอากำลังไหนที่จะไปทำให้มันต่อไปอีก เพราะมันรู้สึกไม่ ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่พอใจเสียเลย เพราะนั้นเรื่องสันโดษนะเป็นเรื่องถูกต้อง อย่าไปเข้าใจตามคนบางคนว่าเอาเองว่า ฆราวาสไม่ต้องสันโดษ ถ้าอย่างนั้นจริง ฆราวาสก็จะต้องเป็นโรคเส้นประสาทมากกกว่าบรรพชิต เพราะความที่ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ได้มา ในเรื่องอย่างนี้ผมเคยสอนหรือเคยแนะนำให้สังเกตว่าพวกปู่ย่า ตายาย บรรพบุรุษที่แล้วๆ มานะเขารู้จักหากำไรคือความพอใจ อยู่เป็นสุข ไอ้พวกลูกหลานเหลนสมัยนี้หิวเป็นเปรตเสมอ มันก็มีเรื่องมาก เรื่องเบียดเบียนกันโดยเฉพาะนี่มาก มันทะเยอทะยานจนไม่ ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนกัน เราไปดูไอ้คนทำนาไถนาหรือขุดดินด้วยจอบนี่ ฟันทีหนึ่งเขาก็ยังยิ้มอยู่ ฟันทีหนึ่งเขาก็ยังยิ้มอยู่ อย่างนี้มันก็มีความสุขได้ในการขุดดินนี่แหละ ทีหนึ่งก็มีความสุขทีหนึ่งเพราะว่ามันเสร็จไปทีหนึ่ง มันเพิ่มออกไปทีหนึ่ง เขาง่วนอยู่ในการสับลงไปให้ดีๆ แล้วก็พอใจทุกทีที่สับลงไปได้ดี ไม่ต้องรอว่าทำนาเสร็จ เกี่ยวข้าวเสร็จจึงจะพอใจ แม้ทำอยู่นี้ก็พอใจ สันโดษว่าเราได้ทำงานของเรารุดหน้าไปนิดหนึ่งๆๆๆ เพราะนั้นจึงเป็นชาวนาที่มีความสุข แล้วก็มีความสุขกว่าไอ้คนที่ไม่ใช่ชาวนา ที่มีเงินมาก มีทรัพย์สมบัติมาก แต่หิวเป็นเปรตอยู่เสมอ นี่ขอให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อว่า ถ้าเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ไม่ใช่เพื่ออยากน้อย เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษแล้วไม่เป็นไปเพื่อสันโดษแล้วให้ถือว่าผิด ข้อ ๖ สังคณิกายะ เป็นไปเพื่อระคนกันเป็นหมู่ โน อภิเวกายะ มิได้เป็นไปเพื่อวิเวก นี้ก็น่า ก็จะต้องรู้ความพอดีสำหรับบรรพชิต และความพอดีสำหรับฆราวาส แต่แม้สำหรับฆราวาสก็ต้องถือข้อนี้ สังคณิกายะ ระคนกันเป็นหมู่ เดี๋ยวนี้ออกจะมากเกิน คือว่านิยมที่จะเล่นหัวสนุกสนาน หยอกเอินกัน เป็นหมู่ๆ นี่มันมากเกิน แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยของพวกคุณ ผมอยากจะระบุลงไปว่ามันมากเกิน ไม่เป็นไปเพื่อ ปวิเวกายะ คือเวลาที่จะหลีกออกไปนั่งคนเดียว คิดนึกศึกษาอย่างลึกซึ้งนะมันมีน้อย มันมีน้อยเกินหรือมันไม่มีก็ได้ อย่าไปเข้าใจว่าเราเป็นเด็ก ยังไม่เหมาะที่จะคิดอะไรคนเดียว หรืออยู่สงบอารมณ์คนเดียว หรือว่าคนหนุ่มคนสาวไม่จำเป็นจะต้องทำอย่างนั้น มันต้องมีเวลาที่ไม่ถูกรบกวนแล้วก็เป็นอิสระความคิดนึกจะได้ดี แต่มันไม่สนุกหรือมันจะไม่ ไม่ชวนให้ทำ ในการระคนกันเป็นหมู่เล่นหัวหยอกเอินกันมันสำคัญกว่าไปเสีย สนุกกว่าไปเสีย ถ้าเราสังเกตดูให้ดีเราจะเห็นว่าไอ้คนที่เขาทำอะไรสำเร็จโดยเฉพาะพวกฝรั่งอีกเหมือนกัน มันมีเวลาที่จะอยู่คนเดียว คิดนึกอะไรอย่างลึกซึ้ง มากกว่าที่จะไปคลุกคลีกันเป็นหมู่ ถึงแม้นักเรียนก็เหมือนกันนะ นักศึกษาสูงขึ้นมานี่ เขาควรจะมีเวลาที่ทำอะไรอย่างลึกซึ้งแยบคายอยู่คนเดียวให้มาก เหมือนกับที่พระหลีกออกไปอยู่คนเดียวก็เพื่อจะคิดนึกพิจารณาทำกรรมฐานนั้นให้มันมากกว่าที่จะมาระคนกันเป็นหมู่ แม้แต่ไหว้พระสวดมนต์ เป็นเวลาที่ให้มันน้อยกว่าแล้วก็อยู่คนเดียวคิดนึกศึกษาให้ลึกซึ้งให้มันมาก เพราะว่าเรื่องธรรมะนี่มันลึกซึ้งและมันมาก ขอให้กลับไปนี่ทดสอบดูให้ดีๆ ว่าการระคนกันเป็นหมู่นั้นมันจะมากเกิน เกินควร ส่วนการหลีกออกเป็นผู้สงบสงัด วิเวกนะ จิตใจเป็นอิสระแล้วคิดนึกอะไรอย่างลึกซึ่งนี้มันจะไม่พอ ยังไม่พอ ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาล่ะก็ให้มันเป็นไปเพื่อสงัดจากหมู่นี่ให้มันมากกว่าที่จะไปพบกันเป็นหมู่ ในเมื่อมันมีเหตุผลที่จำเป็นหรือสมควร ข้อที่ ๗ เป็นไปด้วยความเกียจคร้าน มิได้เป็นไปเพื่อความขยันขันแข็งเรียกว่า โกสัชชายะ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน โน วิริยารัมภายะ มิเป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร เดี๋ยวนี้ดูจะปนกันยุ่ง เรื่องเรียนเป็นเล่นเรื่องเล่นเป็นเรียนและมันปนกันยุ่ง ไม่รู้ว่าจะเพียรกันตรงไหน เกียจคร้านกันตรงไหน เอานะเป็นว่าเกียจคร้านนั้นก็คือ เฉื่อยชา อ่อนแอ หวังหาความสุขจากการหยุดพักการนอนการอะไรเสีย ไม่มีความขยันขันแข็ง ไม่ว่องไว ก็เรียกว่าผิด มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งเป็นคำสำหรับใช้สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าอยู่ข้อหนึ่งว่า เป็นคนกระปรี้กระเปร่านี้หมายความว่า มีความพอเหมาะพอดีในการที่จะเคลื่อนไหว ในการที่จะกระทำหน้าที่ เป็นความ เป็นความไม่เกียจคร้านที่พอเหมาะพอดี ที่บริบูรณ์ดีทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ทั้งระบบประสาท หรืออะไรทั้งหลาย คนเรานี่ถ้าลองร่างกายไม่ดีมันก็ขี้เกียจเหมือนกัน ถ้ารู้สึกไม่สบายมันก็รู้สึกขี้เกียจตามมา เพราะนั้นต้องปรับปรุงทุกส่วนที่มันเกี่ยวข้องกับความขยันขันแข็ง ของร่างกาย ของจิตใจ ของระบบประสาท หรือของวิชาความรู้ความคิดความเห็นด้วยซ้ำไป จึงจะกระตุ้นให้ลุกขึ้นทำหน้าที่ ทนอยู่ไม่ได้ต้องลุกขึ้นทำหน้าที่ ก็ต้องจัดตัวเองให้มันเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ หรือมีความสนุกไปในการงานก็ได้ มันก็มีความเพียรของมันเอง ถ้าเราเบื่อการงานมันก็เพียรไปไม่ไหว ต้องจัดทุกอย่างให้มันเข้ารูป จนสนุกสนานในการทำงานนี่ ก็ว่าเป็นความเพียรที่ดีคือไม่เป็นทุกข์ ข้อต่อไปเป็นข้อสุดท้าย ทุพภรตายะ เป็นไปเพื่อเลี้ยงยาก โน สุภรตายะ มิได้เป็นไปเพื่อเลี้ยงง่าย อย่างนี้แล้วก็ผิดนะ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา เลี้ยงยากคือเป็นอยู่ยาก กินอยู่ยาก พอใจยาก กระทั่งจู้จี้ พิถีพิถัน นั้นมันจะบ้าแล้ว เลี้ยงง่ายก็หมายความว่า เมื่อมันเป็นอาหารหรือว่าการเป็นอยู่ก็ตามที สำเร็จประโยชน์และก็ให้เสร็จๆ ไปแล้วมีความสบาย ไม่หมดเปลือง แล้วก็ไม่เป็นการกินของแสลง ไอ้เลี้ยงยาก จู้จี้พิถีพิถันจะเปลืองมาก แล้วก็ส่วนใหญ่ก็จะไปได้ของแสลงมาทั้งนั้น ไม่ถูกตรงตามหลักของอนามัยสำหรับคนที่เลี้ยงยาก และมักจะเป็นคนที่จิตไม่สมประกอบนัก ทีนี้จำคำว่าเลี้ยงง่ายไว้ด้วยตลอดชีวิตแล้วเราจะเป็นคนเลี้ยงง่าย เราจะเลี้ยงตัวเองก็ตาม จะให้ผู้อื่นเลี้ยงก็ตาม ก็พูดว่าเลี้ยงง่าย ชาวบ้านก็เลี้ยงตัวเอง บรรพชิต ภิกษุสามเณรก็เรียกว่าคนอื่นเลี้ยงอยู่มาก ก็ต้องเลี้ยงง่าย ที่นี้เราเลยให้ถือหลักคำขวัญหรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกนะ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส หรือเป็นอยู่อย่างตายแล้วก็มี ให้มันง่ายไปหมด ของที่จะกินหรือว่าภาชนะที่จะใส่ หรือว่ากิริยาอาการที่จะกิน ให้มันง่าย คำว่า อาบน้ำในคู นะหมายความว่าเป็นความง่ายเกี่ยวกับการเป็นอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอาบน้ำในคูจริงๆ ตามตัวหนังสือ เอาแต่ความหมายของมัน คืออยู่อย่างอาบน้ำในคู ใครก็ทำได้เพื่อความเลี้ยงง่ายนั้นเอง นี่เป็นข้อสุดท้ายไม่ต้องอธิบายอะไรมากนัก ที่นี้ลองทบทวนดูว่า ถ้าเป็นไปเพื่อติดมั่นในสิ่งใด เป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์ สะสมสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส อยากใหญ่ ไม่สันโดษ แล้วคลุกคลีกันเป็นหมู่ แล้วเกียจคร้านในการงาน แล้วก็เลี้ยงยาก ๘ อย่างนี้เรียกว่าผิดหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทีนี้ที่ถูกก็เป็นไปเพื่อคลายออก คือไม่ไปยึดมั่นติดมั่น เป็นไปเพื่อไม่ประกอบในสิ่งที่เป็นทุกข์ เป็นไปเพื่อทำลายกิเลส เพื่ออยากจะน้อยเท่าที่จำเป็น แล้วก็ยินดีเท่าที่มี มี กำลังมีอยู่ กำลังได้อยู่ และสงัดจากหมู่ ขยันขันแข็ง แล้วก็เลี้ยงง่าย ๘ อย่างนี้ก็เรียกว่าถูก เป็นหลักตัดสินธรรมะวินัย ประพฤติ จะ ประพฤติผิดหรือประพฤติถูกก็ใช้ได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ นี่เรียกว่าหลักการตัดสินความผิดถูกในฝ่ายธรรมะ ในฝ่ายวิชาธรรมะ หรือในอริยวินัยของพระพุทธเจ้า นี่ถ้าไปพูดกับพวกวัตถุนิยมจัดสมัยนี้หรือพวกที่งกเงินหรืออะไรทำนองนั้นแล้วก็ไม่มีทางจะเข้าใจกันได้ หรือพูดกับพวกที่เขาตามใจตัวเองเสียจนชินก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจกันได้ในการที่จะถือหลักผิดถูกในแบบนี้ นี้ขอให้ไปปรับปรุงตนเองก็แล้วกัน นี้เรียกว่าการตัดสินผิดถูกเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติในการมีชีวิตเป็นอยู่ ทีนี้ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้นเรามีการศึกษา ก็มีหลักสำหรับที่จะเชื่อ ก็เลยเกิดมีหลักสำหรับจะตัดสินว่าจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะยอมรับเชื่อ ยอมรับเอาด้วยความเชื่อหมดหรือว่าจะไม่ยอมรับเอา นี่อยู่อีกแผนกหนึ่ง เขาเรียกว่าหลักสำหรับตัดสินเกี่ยวกับความเชื่อ มีอยู่ในสูตรชื่อว่า กาลามสูตร ใน พุทธนิกาย ในที่อื่นก็มี เขาเรียกกันสั้นๆ ว่า กาลามสูตร ควรจะรู้จักไว้ ถ้าพูดว่า กาลามสูตร แล้วก็ให้รู้เถอะว่า กล่าวถึงหลักสำหรับตัดสินความเชื่อ นี่สำคัญมาก จะพูดกันแต่หัวข้อเท่าที่จะทันแก่เวลา คือ มีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คนนั้นมาสอนอย่างนี้ คนนี้มาสอนอย่างนู้น วันหนึ่ง เดือนหนึ่งไม่รู้จักกี่พวก จะเชื่อพวกไหนดี พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเป็นหลักไว้อย่างที่มีอยู่ในสูตรนี้ ว่าอย่าถือเอาไปเชื่อและยอมรับเอาไปเชื่อด้วยเหตุเหล่านี้คือ ท่านตรัสเป็นลำดับไปถึงสิบ ๑๐ อย่าง กระผมมาจัดให้เป็นหมวดๆ ให้มันง่ายแก่การจำ ให้เป็น ๔ หมวด รวมกันเป็น ๑๐ อย่าง หมวดแรกเกี่ยวกับการได้ยินได้ฟัง ก็มีตรัสว่าอย่ารับเอาไปทันที คืออย่าเชื่อเพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาบอกๆๆ ต่อๆ สืบๆ กันมา เพราะนั้นเหตุผลที่ว่าคนนั้นก็บอกๆ กันมา บอกกันมาๆๆ สอนกันมาๆ จนถึงบัดนี้ อย่าถือว่านั่นเป็นเหตุผลที่พอแล้วสำหรับจะเชื่อ ทีนี้ก็มา อนุสฺสเวน เป็นภาษาบาลี จำกันได้ก็ดี มา อนุสฺสเวน อย่ารับเอาเพราะการฟังตามๆ กันมา แล้วก็ มา ปรมฺปาย อย่ารับเอาเพราะว่าทำตามสืบๆ กันมา ที่เดี๋ยวนี้ก็จะดูก็จะเรียกกันว่าไอ้ tradition traditional มีเหตุผลแต่เพียงว่าเขาทำตามสืบๆ กันมา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือเอาเป็นเหตุผลที่จะมาบังคับให้เชื่อหรือว่าให้รับเอา อีกอันหนึ่งก็ว่า มา อิติกิราย เพราะว่าเขากำลังลือ เล่าลืออยู่กระฉ่อน เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เป็นที่ยอมรับกันแก่ทุกคนในเวลานี้ นี่มันมีอยู่ ๓ อย่างอย่างนี้ เหตุผลว่าฟัง สอนสืบๆ กันมา ทำตามสืบๆ กันมา หรือว่ากำลังกระฉ่อนเป็นที่รับรองระบือลือชาอยู่ในบัดนี้ ๓ อย่างนี้ เกี่ยวกับการได้ยินได้ฟังทางหู อย่าเพ่อๆ อย่าเพ่อรับเอาด้วยเหตุผลเพียงเท่านั้น ที่นี้หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับตำรา มีข้อเดียว มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา บาลีว่า ปิฏก อย่าอ้างปิฎก รวมทั้งพระไตรปิฎกนี้ด้วย ปิฎก คือตำรา สมัยก่อนก็คงจะจดใส่ใบไม้หรือใส่ใบไม้แข็งๆ หรือใส่ของแข็งอะไรบางอย่าง บางๆ แล้วก็ทิ้งกองลงไปไว้ในที่ใส่เช่น กระจาด ตะกร้า มันก็เลยเอาคำว่าตะกร้ามาเป็นชื่อของตำราก็ได้ นี่เป็นเรื่องสันนิษฐาน จะใช้คำว่า ปิฎก จะฝากไว้กับ ปิฎก คือตำรา คือไปอ้างว่ามันมีอยู่ในหนังสือหน้านั้น เลขที่ หน้านั้น บรรทัดที่เท่านั้น แม้เขาจะอ้างอย่างนั้นก็อย่าๆ เพ่อรับเอา อย่าเพ่อเชื่อ เพราะเหตุผลง่ายๆ ว่าตำรานี้มันเขียนขึ้นก็ได้ มันเติมก็ได้ คัดลอกมาผิดก็ได้ ก็ต้องมีวิธีการอย่างอื่น คือไม่ฝากไว้กับตำราโดยส่วนเดียว เดี๋ยวนี้เรามักจะอ้างหนังสือเล่มนั้น หน้านั้น หน้านี้ นั้นมันก็ได้อ้างสำหรับเพียงเพื่ออ้างตำรานั้นก็ได้ แต่จะรับเอาเป็นความเชื่อไปปฏิบัติหมดเนื้อหมดตัวนี้อย่าเพ่อ ทีนี้หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับการคำนวณ คำนึง คำนวณ นี้มีอยู่ทั้ง ๔ ข้อ มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อด้วยเหตุผลเพียงการคำนวณในทาง ตรรกะ ตรรกะนี่ ตรรกะเดี๋ยวก็ยังใช้กันอยู่ logic นี้ตรงกับคำนี้ คำนวณในเหตุผลทาง logic ว่ามันถูกแล้ว ก็อย่าเพ่อ อย่าเพ่อเชื่อ อย่าเพ่อรับเอา แล้วก็ มา นยเหตุ นัยยะนี้แปลว่า นัย ความหมายเล็งถึงวิธีของ ปรัชญา อย่างปัจจุบันนี้ก็เรียกว่า ปรัชญา คำนวณตามเหตุผล ตามวิธีทางปรัชญา ทาง philosophy วิธีทาง philosophy ให้ผลออกมาอย่างไร อย่าเพ่อ อย่าเพ่อเชื่อ อย่าเพ่อรับเอา มันยังมีทางที่จะผิดได้ แล้วก็ มา อาการปริวิตกฺเกน คิดตามสามัญสำนึก พวก common sense พวกอะไรทำนองนั้นแหละ มันก็มีได้คิดได้ อย่าเพ่อ อย่าเพ่อรับเอาเป็นเรื่องถูกทั้งหมดหรือร้อยเปอร์เซ็นต์ บาลีเขาแปลว่า การตรึกตามอาการ คือตรึกไปตาม common sense ตามความสามัญสำนึก ก็อย่าเพ่อ คำที่ ๔ ว่า มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อเพราะเหตุผลว่ามันทนต่อการพิสูจน์ของเรา เราพิสูจน์อย่างไรมันก็ทนต่อการพิสูจน์ของเราทุกที ก็อย่าเพ่อ อย่าเพ่อรับเอาเชื่อเอาว่ามันร้อยเปอร์เซ็นต์ นี้ทบทวนอีกทีว่าไม่เชื่อด้วยเหตุผลทางตรรก เพราะว่าตรรกมันก็ผิดได้ มันขึ้นอยู่กับเหตุผล เหตุผลมันผิด มันผิดต่อๆ กันไป เมื่อคนมันมีเหตุผลแคบมันก็ถูกแคบ แล้วทางปรัชญานั้นก็ยิ่งเป็นเพียงคาดคะเนมากขึ้น เหตุผลที่ไม่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะว่าไปใช้กับสิ่งที่มันไม่มีเหตุผลชัดเจนมากขึ้น เป็นคำนวณ พอใจอย่างไรแล้วก็เอาอย่างนั้นไปทีก่อน ทีนี้สำหรับสามัญสำนึกนั้นก็นับว่ามีประโยชน์มาก น่าจะอาศัยได้มาก แต่ก็อย่ายึดติดว่ามันถูกเพียงเท่านั้น เพราะคนมันต่างๆ กัน มีการศึกษาน้อยมันก็สามัญสำนึกน้อย ไอ้ที่ว่าทนต่อความเห็นของตนนั้น ถ้าคนนั้นมันเป็นคนโง่มันก็ผิดหมด มีการศึกษาน้อยหรือว่ามันมีความเห็นไม่ถูกอยู่ เมื่อว่าสิ่งนั้นมันทนต่อความเห็นของคนที่มีความเห็นผิดอยู่มันก็ผิดหมดนะ แล้วจะได้เข้าใจว่าถ้ามันทนต่อความเห็นของเรา แล้วก็ทนต่อความเพ่งพินิจของเราแล้วมันจะถูก เพราะว่าเรามันโง่ก็ได้ รู้น้อยก็ได้ เห็นผิดอยู่ก็ได้ นี่ใน ๔ ข้อนี้ น่าสนใจที่ว่า คนเดี๋ยวนี้เขาเอากันตามนี้ เอาตามจิตวิทยาบ้าง ปรัชญาบ้าง สามัญสำนึกบ้าง ทนต่อการพิสูจน์ด้วยความคิดเห็นของตัวบ้าง นี่คงจะเต็มไปด้วยความสงสัยว่า เอ๊, จะเอากันยังไง จะขอพูดให้มันจบกันเสียก่อนว่า หมวดสุดท้ายหรือหมวดที่ ๔ นั่นเกี่ยวกับบุคคล การอ้างบุคคล มา ภพฺพรูปตาย อย่ารับเอาด้วยเหตุที่ว่าผู้พูดอยู่ในฐานะที่ควรเชื่อ ผู้พูด ผู้บอก ผู้สอน นี้มันอยู่ในฐานะที่น่าเชื่อ ควรเชื่อ จะดูอะไรแล้วก็ดูน่าเชื่อไปทุกอย่างคนนี้ ก็อย่าเพ่อๆ อย่าเพ่อรับเอา อันสุดท้ายที่น่ากลัวที่สุด ที่แสดงความเป็นนักเลง ความหมายของพระพุทธเจ้าใช้คำโสกกระโดกอย่างนี้ก็เพื่อพวกคุณฟังง่ายเพื่อประหยัดเวลา เวลามันมีน้อยนี่ ความมีน้ำใจเป็นนักเลง นักกีฬา หรือว่าประชาธิปไตยนะของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสเป็นข้อสุดท้ายว่า มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อหรือยอมรับเอาด้วยเหตุผลว่า พระสมณะนี้เป็นครูของเรา ข้อนี้หมายความไม่ยกเว้นพระพุทธเจ้าเองด้วย ว่าพระสมณะนี้เป็นครูของเราแล้วก็เชื่อ นี่อย่าว่า ว่าคนอย่างเราๆ อย่างผม อย่างอะไรอย่างนี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสว่า อย่าไปยึดแต่เพียงว่า เพราะพระสมณะนี้คือพระองค์เองเป็นครูของเราแล้วก็จะเชื่อ ท่านตรัสกับสาวกของท่านอย่างนี้ ทีนี้คนก็จะงงกันไปหมดว่าวันนี้จะเชื่ออะไรกัน ตำราก็ไม่เชื่อ อาจารย์ก็ไม่เชื่อ การคิดคำนวณตามเหตุผล ตามตรรก เป็นต้น ก็ไม่เชื่อ เล่าลือกันมาทำตามกันมาอยู่ในตัวก็ไม่เชื่อ ก็หมายความว่าให้เชื่อ สิ่งๆ หนึ่ง ให้เชื่อด้วยวิธีการใช้สิ่งๆ หนึ่งที่เรียกว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา ยถาภูต แปลว่า ตามที่เป็นจริง สัมมัปปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ความรู้ทั่วถึงที่ถูกต้อง หมายถึงความรู้ที่มาแล้วจากความรู้สึกในภายใน เป็นความเจนจัดของตัวเองในภายใน เรียกว่า experience หรืออะไรทำนองนั้นมากกว่าและก็เป็นเรื่องทาง ทางธรรม ทางจิต ทางวิญญาณด้วย ก็จะเรียกว่า spiritual experience การที่เราได้ผ่านสิ่งใดมามันสอนอยู่ในตัวมัน แล้วก็เป็นเรื่องที่จะให้เข้าใจโลกในแง่ของจิตของวิญญาณมากขึ้นๆ เราจึงยกตัวอย่างว่า เมื่อฉันพูดว่าความโลภเป็นของร้อนอย่างนี้ เธอต้องเชื่อฉันไหม คิดดู พอเกิดโลภ เกิดอยาก เกิดกำหนัด เกิดกิเลสชนิดนี้ขึ้นมามันเป็นของร้อน นี้ต้องเชื่อใครไหม ต้องเชื่อตำราไหม ต้องเชื่อผู้พูดไหม ก็ไม่ต้องเชื่อ ต้องคำนวณด้วยทางตรรก ทางปรัชญา เพราะมันเคยโลภมาแล้ว เคยรักมาแล้ว แล้วก็ร้อนเป็นไฟมาแล้ว นี่ก็เรียกว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา ที่เป็นตัวอย่าง และเมื่อได้ยินได้ฟังอะไรมามันก็ต้องเอามาจับกับอันนี้จนเกิดเป็น ยถาภูตสัมมัปปัญญา ถ้าเป็นเรื่องวัตถุมันก็ง่ายแล้ว ไฟมันร้อนคนมันเคย เคยถูกไฟไหม้มือมาแล้วมันก็รู้ น้ำตาลมันหวาน เกลือมันเค็ม อันนี้มันรู้ เพราะมันเคยผ่านมาแล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยผ่าน เป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องความทุกข์หรือเป็นเรื่องความผิดความถูกที่ยังไม่รู้นี่มันก็ลำบากบ้าง แล้วมันจึงต้องรอไว้ก่อนเพื่อให้เกิดไอ้สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาก่อน และให้แยกคำว่าลอง ลองดู คำว่าเชื่อนี่ออกจากกันเสียบ้าง ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่เชื่อแล้วจะไม่ลอง แต่มันต้องลองให้ปลอดภัยแล้วก็ไม่ได้ลองด้วยความโง่หรือความเชื่อ เช่นว่า ไอ้ยาเขาทำขึ้นมาใหม่เพื่อแก้โรคนั้น แก้โรคนี้ ถ้าเราไม่เชื่อเราก็ไม่ต้องลอง มันก็เลยไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์จากยา ทั้งๆ ที่เรายังไม่เชื่อแล้วก็มีเหตุผลที่จะดูว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง อะไรกี่อย่าง ควรจะลองไหม แล้วก็ลอง ลองแล้วมันก็มีผลอย่างไร ก็ดูไป นี่จะทำให้เกิดความถูกต้องได้ ไม่เชื่อฉลากยา ไม่เชื่อผู้ขายยา ไม่เชื่อการพรรณนาการขายยา นี่แสดงว่าไอ้หลักเกณฑ์อันนี้ก็เพื่อจะให้คนเราไม่ผิด ทำไม่ผิด แล้วก็ไม่เดือดร้อน ไม่ลำบากเกี่ยวกับความเชื่อ เป็นสิ่งที่จะต้องใช้เป็นประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนี้ อย่างที่ในมหาวิยาลัยเกิดปัญหาเรื่องทำตาม tradition เคยไหม มันก็ต้องดูก่อนว่าไอ้ tradition นั้นมันเป็นอย่างไร จะเอาเพียงว่าเป็น tradition แล้วก็จะถูกอย่างนี้มันก็ผิดไอ้ข้อที่ว่า มา ปรมฺปาย นี่อย่าถือเอาเพราะว่ามันทำตามสืบๆ กันมาอย่างนี้เป็นต้น นี้นอกนั้นมันก็พอไปรู้ได้เองแหละว่ามันจริงหรือไม่จริงอย่างที่พระพุทธเจ้าท่าน ท่านตรัสไว้นี้ เดี๋ยวนี้เรามัน มันไม่ๆ ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ แล้วก็ปล่อยไปตามอารมณ์ของความอยากความต้องการ เรียกว่ามันผิดมาตั้งแต่ข้อแรกแล้ว มันยึดมั่นในกิเลสในความต้องการของตัว มันก็เลยลงมือทำผิด นี้เพราะมีความเห็นผิดคิดผิด มันก็ลงมือทำผิด เดี๋ยวนี้เขา เขาใช้ไอ้โฆษณาชวนเชื่อกันมากขึ้น คนก็ปฏิบัติได้ลำบากมากขึ้น เมื่อเราไปมีความเห็นผิดหรือว่าไปหลงไปยึดอย่างข้อแรกที่ว่า สราคาย เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจอย่างนี้ มันก็ผิดหมด ที่เดี๋ยวนี้ชอบสวย ชอบงาม ชอบยั่ว ชอบยวนอะไรต่างๆ นี้ มันก็ผิดต่อๆๆ ต่อกันไปหมด จนกระทั่งว่าอุตสาหกรรม อะไร เขาเรียกกันว่าอะไร เอ่อ, เสริมสวย ส่งเสริมความสวยงาม ความยั่วยวนนี่ มันขึ้นหน้ามากขึ้นทุกที จนกระทั่งทำโลกนี้ให้เป็นโสเภณีทางวิญญาณเต็มไปหมด ผิดข้อแรกข้อเดียวเท่านั้นนะไม่ต้องถึง ๑๐ ข้อ ของหลักตัดสินธรรมวินัย แล้วก็ไม่เป็นอิสระแก่ตัว มีความเชื่อตามๆ กันไป ที่ว่ากำลังลือกันกระฉ่อน อิติกิราย เดี๋ยวนี้เขาสวยกันอย่างนี้ เขางามกันอย่างนี้ เป็นถูกต้องแล้วนั้นมันก็ มันก็ผิดไอ้หลักที่เกี่ยวกับเชื่อ ก็คือ หลักตัดสินธรรมวินัย ทีนี้ถ้าครูบาอาจารย์หรือบิดามารดาไม่มีหลักเกณฑ์อันนี้อย่างมั่นคง และไอ้โลกนี้มันก็หมุนลงไปตกเหวแห่งความผิด เมื่อสมัยผมเป็นเด็กๆ ไอ้ร้านตัดเสื้อนี้ไม่รู้อยู่กันอย่างไร แม่ก็ตัดเสื้อให้ลูกใส่ได้และก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร และบางทีก็ไม่ๆ มีแค่ตัวสองตัวเท่านั้นนะ เดี๋ยวนี้แม่ก็ตัดเสื้อไม่เป็น เสื้อสำหรับแม่ใส่ก็ต้องไปตัดที่ร้านกันมากๆ แล้วลูกมันจะไม่เอาอย่างอย่างไร ไอ้ลูกมันก็เลยมีเสื้อมากอย่างแม่ มันก็เป็นผีบ้าเสื้อ นี่ขออภัย บอกแล้วประหยัดเวลา เป็นผีเสื้อทั้งแม่ทั้งลูก เป็นผีบ้าเสื้อ เสื้อตัวหนึ่งใส่ทีเดียว เครื่องแต่งกายชุดหนึ่งแต่งทีเดียวนี่ ทั้งแม่ทั้งลูก นี่มันผิดหลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้อย่างนี้มันเป็น สราคาย อย่างยิ่ง กำหนัดย้อมใจ ส่งเสริมกิเลส ประกอบทุกข์ ยึดติดในสิ่งเหล่านั้น ก็ด้วยเหตุผลเพียงนิดเดียวว่า อิติกิราย เชื่อตามเสียงที่กระฉ่อนเล่าลือแฟชั่นปัจจุบันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่ไม่ได้พูดถึงเรื่องไปนิพพาน ไม่ต้องไปเรื่องบรรลุมรรคผลนิพาน พูดเรื่องที่บ้านที่เรือนที่กำลังเป็นอยู่ในบ้านเมืองของเรา นี่คิดดูเถอะว่า ถ้าเราไม่ถือหลักของพระพุทธเจ้าแล้วไอ้โลกนี้ก็ยังเป็นโลกที่หาความสงบสุขไม่ได้ เป็นวิกฤตการณ์ถาวร ถ้าพูดอย่างภาษาหยาบคายก็ว่า มันเป็นโลกของสัตว์นรก ร้อนระอุเป็นไฟทั้งนั้น เพราะไฟมีหลายชนิด ไฟตรงๆ ก็มี ไฟกรุ่นๆ ก็มี กระทั่งไฟที่เปียกก็มี มันร้อนอย่างเปียก คือเรื่องกามารมณ์ทั้งหลาย คุณลองคำนวณดูทีก็ได้ว่า สมมติว่าเป็นไปได้ เราสอนให้คนทั้งโลกรู้หนังสือร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เดี๋ยวนี้มัน มันไม่ถือกันว่าคนทั้งโลกรู้หนังสือกันทุกคนคือร้อยเปอร์เซ็นต์ อ้าว, สมมติว่าเราทำให้คนทั้งโลกรู้หนังสือกันได้ทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอนามัยดี ไม่เจ็บไม่ไข้กันเลยทั้งโลกทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้กินอยู่อิ่มหมีพีมัน ชื่อว่าอยู่ดีกินดีนั่นแหละ ร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้วน หรือว่าทำให้รักใคร่ผูกพันกันด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องผูกพัน มีเงินมีของทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จะได้สันติสุขหรือสันติภาพไหม จะได้ความสงบสุข ได้สันติภาพอันถาวรของโลกไหม พวกที่เขาฝันเขาฝันกันอย่างนั้น ให้รู้หนังสือทุกคน ให้มีอาหารกินทุกคน ให้อะไรทุกๆ คน แล้วก็โลกจะมีสันติภาพ ผมไม่เชื่อ ถ้ามันขาด ธรรมะ อยู่อย่างเดียวเท่านั้นนะ ไอ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะว่ามันจะนึกที่จะเห็นแก่ตัว มันก็ร้อน ร้อนระอุอยู่แล้ว มีเงิน มีอนามัยดี มีอะไร มันช่วยไม่ได้ที่จะบังคับกิเลส แล้วพอมันกลมเกลียวกันดีมันก็ชวนกันยกฝูงขึ้นไปปล้นสมบัติพระอินทร์บนสวรรค์ ไปปล้นพระเจ้า มันไม่รู้จักพอ แต่เดี๋ยวนี่มันกำลังปล้นกันเองในเมืองมนุษย์นี้ ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะมันไม่มีธรรมะ แล้วถ้ามันแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หมด ไม่มีธรรมะอีก มันก็ยกกองขึ้นไปปล้นพระเจ้าบนสวรรค์หรือว่าไม่มีที่สิ้นสุดหรอก แล้วจิตใจของคนชนิดนั้นมันก็หิวเป็นเปรตอยู่เสมอ เห็นแก่ตัวจัดยิ่งขึ้น แล้วก็เอาเปรียบกันเอง จิกกัดกันเอง เหมือนไก่เขาเอามาใส่ไว้ในกรงมากๆ มันก็ต้องจิกกันเอง นี่ขอให้สนใจความผิดถูกตามหลักของพระพุทธเจ้า ว่าต้องไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ไม่สะสมกองกิเลส ไม่ประกอบสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ขึ้นมา มีเสื้อใส่สองสามตัวกับมีเสื้อใส่สองสามตู้ อันไหนมันเป็นการประกอบให้ความทุกข์เกิดขึ้นมา อย่างนี้เป็นต้น คือความผิดถูกนี้ใช้ได้ทั้งในเรื่องโลกๆ และเรื่องทางธรรมะสำหรับบรรลุมรรคผลนิพพาน ขอให้ช่วยเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้สอนไว้อย่างนี้ มีหลักแห่งความผิดถูกอย่างนี้ไปคิดให้ดีๆ ที่ผมได้เอามาบรรยายโดยหัวข้อว่า หลักตัดสินความผิดถูกในอริยวินัยของพระพุทธเจ้า เวลาสำหรับการบรรยายก็หมดแล้ว นาฬิกาก็ดังแล้ว ขอยุติไว้ที |