แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันเรื่องการใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์ในครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า การทำจิตให้ว่างนั้นทำอย่างไร ควรจะทบทวนไปถึงการบรรยายครั้งแรกที่สุด นี้ก็ว่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับความว่างหรือจิตว่างว่ามันได้แก่อะไร อย่างไร เป็นต้น เมื่อในการพูดกันครั้งที่ ๒ ก็พูดถึงประโยชน์ไอ้ทุกแง่ทุกมุมของการมีจิตว่าง
เช่นในวันนี้ครั้งที่ ๓ นี้ก็จะได้พูดเฉพาะในแง่ที่ว่า การทำจิตให้ว่างนั้นจะทำได้อย่างไร ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว เราก็ได้พูดกันในหลายแง่หลายมุม จนตอบคำถามปัญหาเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อยแล้วทั้งนั้น แต่ไม่ได้ระบุให้มันเจาะจงลงไปให้ฟังง่าย จึงต้องพูดโดยหัวข้ออย่างนี้ทีละข้อ ๆ มาตามลำดับอีก
เมื่อจะสนใจเรื่องความว่างหรือจิตว่างนี้ จะต้องรู้จักประโยชน์หรือไอ้ข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่ยิ่งไปกว่าประโยชน์ เกี่ยว คือมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่เราจะต้องช่วยกันรักษา ต้องเผยแผ่ให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเข้าถึงหัวใจพุทธศาสนา อย่างนี้ก็มี นี่คือความกระตุ้นให้อยากจะรู้เรื่องนี้ อยากจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เลยอยากจะปฏิบัติให้ได้
เพราะฉะนั้นจะต้องนึกถึงไอ้ความพอใจที่จะปฏิบัติให้ได้ที่เรียกกันว่า ฉันทะ เป็นธรรมะข้อแรกสำหรับความสำเร็จทั้งหลาย จะต้องชอบใจและต้องพอใจในสิ่งนั้น ในเรื่องที่จะทำนั้น ๆ ดังนั้นการที่จะรู้จักทำจิตให้ว่างอย่างไรนี้ ก็ต้องอาศัยไอ้รากฐานหรือว่าเบื้องหลังของมัน คือความที่เราอยากจะให้มีจิตว่าง เพราะรู้อยู่ซึ่งประโยชน์นี้เป็นต้นทุน จะได้สนใจศึกษายิ่ง ๆ ขึ้นไป มันเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์เราได้รับความผาสุกสูงสุด คือสุดที่มนุษย์จะมีได้หรือที่ธรรมชาติจะอำนวยให้ได้ หรือว่าถ้ามันมีความสำเร็จในเรื่องนี้แล้วก็ ชีวิตนี้มันก็จะไม่มีความทุกข์เลย นี้มันควรจะมีความสนใจหรือความพอใจกันใน ๆ ลักษณะอย่างนี้
แล้วทีนี้ก็จะได้พูดถึงหลักการที่ว่าจะทำให้มันว่างได้อย่างไร จะแยกเป็น ๓ ชนิดโดยหัวข้อย่อ ๆ ก็คือว่า ๑ ตามธรรมดานี้มันก็ว่างอยู่เอง เราไม่ต้องทำอะไรมันก็ว่างอยู่เองได้ตามธรรมชาติ เราก็เพียงแต่มีสติสัมปชัญญะ รักษาความที่มันว่างอยู่เองนี้ อย่าให้กลายเป็นไม่ว่างเสีย เมื่ออะไร มีอะไรมากวนมากระทบนี่ เราก็รักษาให้ได้อย่าให้มันกลายเป็นวุ่นหรือไม่ว่างไปเสีย นี้คือมันว่างอยู่เอง ไม่เพียงแต่รักษาเอาให้มัน รักษาไอ้ความว่างอยู่เองนี้เอาไว้ให้ได้
ทีนี้อย่างที่ ๒ หรือส่วนที่ ๒ ที่เราจะทำให้มันว่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเมื่อเราต้องการเมื่อไรก็ทำได้ด้วย มันว่างยิ่งขึ้นไปกว่าที่มันว่างอยู่เอง อย่างที่ ๓ นั้น เมื่อมันกำลังวุ่น กำลังไม่ว่างอย่างยิ่ง เราจะทำให้มันกลับว่างได้อย่างไร นี้มันเป็นเรื่อง ๆ ที่มันไม่เหมือนกันอย่างนี้
สำหรับเรื่องที่ ๑ คือว่างเองอยู่ตามธรรมชาติ นี้ก็ควรจะมองดูกันให้ดีว่า ตัวกู-ของกู ความคิดชนิดนั้นมันไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา หรือว่าที่แท้แล้วมันไม่เกิด ไม่มีเหตุปัจจัยแล้วมันก็ไม่เกิด นี้อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ก็สิ่งข้างนอกที่จะเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังนั้นผู้จะศึกษาพุทธศาสนาควรรู้จักสิ่งเหล่านี้ให้เพียงพอ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในทางธรรมะนี้เป็นสิ่งที่สูงสุด มีความสำคัญสูงสุด เพราะว่าจะเป็นหรือจะตาย จะได้หรือจะเสีย จะทุกข์หรือจะสุข มันก็เพราะไอ้เรื่องของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ทั้งนั้น ทางชาวบ้าน ทางวิชาทางโลก ๆ เขาไม่ได้สนใจกับสิ่งเหล่านี้ในลักษณะอย่างนี้
ภาษาบาลีเรียกชื่อสิ่งเหล่านี้ในวงของธรรมะต่าง ๆ กัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้บางทีก็เรียกว่า ประตู คือ ทวารนี้ บางทีก็เรียกว่า อินทรีย์ คือ สิ่งร้ายกาจหรือตัวร้ายกาจใหญ่ ๆ ขนาดใหญ่ ขนาดหนักอันหนึ่ง ๆ ก็เรียกว่า อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ละอย่างนี้เป็นอินทรีย์อย่างหนึ่ง ๆ ผิดกับที่มันเป็นทวาร มันเป็นประตูที่จะเปิดรับอะไรเข้าว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้แต่ละอย่าง และอีกอย่างก็เรียกอายตนะ เพื่อที่สิ่งที่จะติดต่อได้หรือรู้สึกได้ และยังมีเรียกอย่างอื่นอีก เอาล่ะ, เพียงเท่านี้ก็พอ
ก็ประตูนี้ ตาก็เป็นประตูให้อะไรที่จะรู้สึกได้ทางตาเข้าไปถึงใจ หูก็เหมือนกันนะ เสียงก็จะเข้าทางหูไปถึงใจ กระทั่งใจเอง มันก็มีอะไรของมันที่จะรับหรือเปิดรับเอาอะไรให้เข้าไปถึงจิตใจหรือใจในส่วนลึก เช่น เรานึกถึงอะไรขึ้นมาแต่หนหลังนี้ อันนั้นก็เป็นอารมณ์มาเข้าทางประตูใจ แต่จะเข้าไปสู่ส่วนลึกที่มันจะทำความคิดนึกปรุงแต่งอะไรได้อีกทีหนึ่ง
ตามธรรมดาไอ้ ๕ อย่างข้างนอกนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ก็เป็นประตูที่เห็นได้ชัด มันส่งไปถึงใจด้านนอก ใจด้านนอกก็ส่งไปถึงใจด้านใน นี่เป็นตัวคิดปรุงแต่งให้เกิด ตัวกู-ของกู นี้เราไม่รู้เรื่องนี้ เราก็ไม่ได้รักษาประตู ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรักษาประตู คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เมื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็กลายเป็นเรื่องเข้าไปปรุงแต่ง
นี้ถ้ามันโดนไอ้เรื่องที่ นั่นมันก็ไปโดนเข้ากันกับเรื่องที่มันไปยึดเหนี่ยวอำนาจในทางยั่วยวน มันก็ปรุงแต่งเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมาได้ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ แม้กระทั่งทางในใจเองก็ได้ อย่าทำเล่นกับเรื่องง่าย ๆ คล้าย ๆ ก ข ก กา อย่างนี้นะ นี่มันเรื่องสำคัญที่สุด มีใครสนใจกันบ้าง
เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจึงรู้สึกต่ออะไรได้ จากข้างนอกแล้วส่งเข้าไปข้างใน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นทุกข์เป็นร้อน ยากที่จะมีความสงบสุขอยู่ได้ ถ้าไอ้สิ่งชนิดนี้อย่าเข้าไปรบกวนจิตใจ จิตใจมันจะอยู่ในสภาพที่มันว่างจาก ตัวกู-ของกู อยู่ นี้ขอให้ไปสังเกตให้มากจนเข้าใจไอ้ความข้อนี้
ก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไอ้คนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็เมื่อไอ้โผฏฐัพพะมากระทบผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่รุนแรงที่สุด ถ้ามันเป็นรูป เสียง กลิ่น รส ที่ว่าทาง ตา หู จมูก ลิ้น นี้ มันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเรื่องผิวหนัง เพศ สัมผัสระหว่างเพศ
แม้ว่ารูปนั้นจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส ของเพศตรงกันข้าม มันก็ยังไม่ ๆ ๆ ร้ายแรงเท่าไอ้เรื่องการสัมผัสทางผิวหนัง แต่ก็มีอำนาจไม่น้อยเหมือนกัน ถ้ามันเป็นรูปของเพศตรงกันข้าม ถ้ามันเป็นเสียงของเพศตรงกันข้าม ถ้ามันเป็นกลิ่นของเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ มีรสมาจากเพศตรงกันข้าม นี้สำหรับทั่วไป กรณีของคนทั่วไป
ยกตัวอย่างให้ว่า เมื่อเราเห็นรูปด้วยตา เป็นรูปของเพศตรงกันข้าม นี้สำหรับคนที่มีความรู้สึกคิดนึกอย่างสามัญชนนี้ มันก็มีความรู้สึกไกลกันมาก ก็ที่เราจะเห็นก้อนหิน หรือเห็นต้นไม้ เห็นแผ่นดิน เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามนี้ก็มีหลาย ๆ ขนาด ถึงเอ้า, มันที่สวยหรือไม่สวยหรือว่ายั่วยวนหรือไม่ยั่วยวน ข้างในรายที่มันจะให้เกิด ตัวกู-ของกู นี้มันก็จะต้องเรื่องมีความหมาย
ถ้ามันจะเป็นเรื่องของราคะ โลภะ มันก็ต้อง ๆ ๆ น่ารัก ถ้ามันเป็นเรื่องของโทสะ โกธะ มันเป็นเรื่องที่น่าเกลียด น่าชัง น่าโมโห หรือเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไรแน่ สำหรับเป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล นี้ก็เป็นเรื่องของโทสะ ของโมหะ นี้ ราคะ โทสะ โมหะ ๓ อย่างนี้ อาศัยการได้อารมณ์จากข้างนอกผ่านเข้าไปทางทวาร มีตาเป็นต้น กระทั่งผิวกาย กระทั่งจิตใจเอง
ยกตัวอย่างเรื่องสวย เห็นรูป ๆ ด้วยตาแล้วสวย ถ้ามันสวยเฉย ๆ รู้สึกว่าสวยแล้วเลิกกัน มันก็ไม่เป็นไร ดังนั้นสวยในความคิดมันเลยไปในทาง ๆ ที่ว่า มันเกิดความอยาก คือสวยสบายตา เป็นสุขแก่ตา และเป็นเรื่องเพศตรงกันข้าม มันก็เกิดความอยากที่เรียกว่า ตัณหา นี้อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ แล้วแต่กรณีนั้น ๆ จะเป็นอย่างไร หรือไม่อยากได้ อยากยึดครอง อยากอะไรสุดแท้ ความอยากนี้ก็เรียกว่า ตัณหา
ทีนี้พอตอนอยาก ความรู้สึกที่เป็นความอยากเกิดแล้วนะ ความอยาก ความรู้สึกที่ว่าเป็นความอยากได้เกิดขึ้นมาแล้วนะ ตรงนี้ก็จะเกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่งเป็นลำดับถัดมา คือ กู ผู้อยาก นี่ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่ ถ้าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาจะไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้อยากนี้เกิดทีหลังความอยาก เอาไปคิดด้วย ผู้อยากเกิดทีหลังความอยาก ก็เพราะไอ้ธรรมดานี้ไม่มีตัวผู้ ตัวตน อัตตา Ego อะไรที่ไหน มันไม่มี มันเพิ่งเกิด ต้องมีความอะไรอย่าง แล้วมัน ๆ ฉันผู้จะอย่างนั้น ตรงนี้ยังเป็น Ego เป็นอัตตา เป็นตัวกูขึ้นมา
แต่ถ้าเป็น Logic ชาวบ้าน มันก็ยังไม่ยอมเชื่อ มันต้องมีผู้อยากก่อน นี้มันจึงจะเกิดความอยากได้ นั้นเป็นหลักเกณฑ์ระดับธรรมดาสามัญหรือของคนไม่รู้เกี่ยวกับจิตใจ ดังนั้นระวังเมื่อมันมีอะไรทำให้เกิดความอยาก อยากได้นี่ เพราะจะเกิดผู้รู้สึกอยากได้ ตัวกูขึ้นมาอยากได้ ถ้ามันเกิดรู้สึกโกรธเกลียด มันเกิดตัวกูผู้เกลียดผู้โกรธขึ้นมาอีกเหมือนกัน ผู้กลัวขึ้นมา มันจะกลัว เอ้า, มันก็เกิดตัวกูผู้กลัว ถ้าเกิดรู้สึก มันจะกลัว ถ้าไม่เข้าใจก็เอาไปคิด ข้อนี้มันเป็นไอ้เรื่องของธรรมะ เรียกว่าเป็นความจริง
ถ้าจะเปรียบเทียบด้วยเรื่องธรรมดาสามัญ Logic เด็ก ๆ เช่นว่ามันต้องมีผู้กินก่อนแล้วจึงจะมีการกินได้ นี้ได้ฟังดูก็สมหรือถูกตาม Logic แต่ที่จริงมันยัง เพราะมันยังไม่มีผู้กิน เพราะว่าคนใดคนหนึ่งที่ยังไม่ได้กินนั้นจะเรียกว่าผู้กินได้อย่างไร เขาต้องไปกินเขาก่อนนั่น เขาจึงจะกลายเป็นผู้กินขึ้นมา นี้เหตุเป็นความจริงอย่างนี้ ปัจจัยที่พูดมันพูด มันพูดคล้าย ๆ กับว่ามันจะโง่หรืออะไรก็พูดยาก มันจะต้องมีผู้กินก่อน จึงจะ ๆ มีการกิน
ทีนี้ไอ้คนหนึ่งก็บอกว่า เอ้า, มันยังไม่ได้กินทีจะเรียกผู้กินอย่างไร มันต้องไปกินเสียก่อนจึงจะเรียกว่า ผู้กิน แล้วผู้กินก็เกิดทีหลังการกิน เพราะก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้เป็นผู้กิน เป็นผู้อะไรก็ตามใจเขาสิ นี้ถ้าเราจะเป็นผู้อยากกิน มันก็ต้องมีความอยากเสียก่อนจึงจะมีผู้อยาก นั้นมันอยากกิน แล้วก็กิน แล้วก็เกิดผู้กิน
ดังนั้นคำว่า ผู้นั่น ผู้นี่ จะต้องมาทีหลังไอ้ความรู้สึกหรือการกระทำอย่างนั้นเสมอไปนี้ อย่างผู้เดินนี้มันต้องมีเมื่อ ๆ ๆ มีการเดินแล้ว เพราะเมื่อเขายังไม่ได้เดินจะเรียกเขาว่าผู้เดินอย่างไร ดังนั้นจริงกว่าทั้งนั้น มันจริงกว่า Logic ของเด็ก ๆ ที่จะพูดว่า เพราะมีผู้เดินจึงเดิน อันนี้ว่าไม่มีผู้เดินจนกว่าจะมีการเดินเสียก่อน
ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเข้าใจว่าพอ มันจะเข้าใจธรรมะที่ ๆ สำคัญ แล้วพอตาเห็นสวย เกิดความรู้สึก รัก ชอบ สวย อยากได้ อยากยึดครอง นั่นน่ะจึงจะเกิดความรู้สึกที่ว่า ตัวฉันอยาก ฉันจะเอา ฉันจะได้ ฉันมันเพิ่งเกิด เมื่อ ๆ เห็นแล้ว กระทั่งเมื่ออยากแล้ว หรือว่าอร่อยแล้วด้วยซ้ำไป เมื่ออร่อยแล้วจึงมีตัวฉันผู้อร่อยนี้ มักจะเป็นไปอย่างนี้มากกว่า
ในกรณีเรื่องเกี่ยวกับหู ทาง เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก ลิ้นทางรส รสทางลิ้นอะไรก็ตามเหมือนกันแหละ นี้ยกตัวอย่างแต่ ๆ เสียงหรือตา เราเกือบจะไม่มีเวลาที่จะเกิดสติสัมปชัญญะรู้ทันว่า เอ้า, นี้มันเพียงแต่เรื่องกระทบทางตา เกิดความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ รู้สึกในใจอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของจิตใจ ของร่างกาย ของการปรุงแต่ง เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ทำไมจะต้องมีตัวฉัน
แต่แล้วมันก็ไม่ได้ เพราะมันเคยชินมาแต่แรกเกิด มาเป็นตัว แต่อ้อนแต่ออก ก็ต้องเกิดความรู้สึกเป็นตัวฉันนั้นน่ะ มันถึงมีความรัก มีความโกรธ มีความหลง ถ้าจับได้ว่าไอ้ตัวฉัน ตัวกู เพิ่งเกิดเมื่อมันมีการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น แล้วก็ ๆ จะเข้าใจได้ว่า เมื่อก่อนนี้มันว่างอยู่จากตัวฉัน ธรรมดาไม่มีกิเลส ไม่มีตัวฉัน จนกว่าจะมีเรื่องเกิดขึ้นทางตาเป็นต้น แล้วก็เกิดตัวฉัน ตัวกู
นี้ทำจิตให้ว่างได้อย่างไร ถ้าตั้งปัญหาถามขึ้นอย่างนี้ ก็ตอบว่ามันไม่ต้องทำอะไร ระวังอย่าให้มันเผลอกลายเป็นไม่ว่างก็แล้วกัน มันจะว่างของมันอยู่ตามธรรมชาติ แต่ว่ามันเผลอจึงเกิดตัวกูเลยไม่ว่าง ทีนี้จะให้มันว่างอยู่ตามธรรมชาติอย่างไรนี้ เมื่อเห็นรูปสวยเกิดรัก เกิดพอใจในรูปสวยนี้ขึ้นมา แม้เป็นรูปของเพศตรงกันข้ามก็เหมือนกัน ก็อย่าให้ความพอใจนั้นปรุงเป็นความรักแล้วเกิดผู้อยากผู้ได้ขึ้นมา
ให้มันปรุงไปในอีกทางหนึ่งคือเป็นสติปัญญาว่า ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ นี่เป็นอย่างนี้ควรจะจัดการอย่างไร เรียกว่ามัน ๆ ๆ แทกแยกกันนิดเดียว แล้วก็ในขณะที่น้อยมาก ที่ไวมาก การที่เราเห็นของที่ทำให้เกิดความรัก แล้วเราก็จะไปรักมันเสีย มีผู้รักมีผู้หลงใหลไปเสีย กับอีกทางหนึ่งที่ว่า พอเห็นของรักชนิดนั้นแล้ว ก็จะเกิดสติปัญญาขึ้นมาทันควันว่า นี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีอยู่ในโลกอย่างนี้ เราจะจัดการกับมันอย่างไร โดยไม่ต้องไปรักหรือไปหลงกับมัน
แม้ว่าของนั้นน่ารักหรือของนั้นควรจะได้และควรจะรักนั่นแหละ มันก็ยังต้องอาศัยสติปัญญาหยุดไอ้ความรักความที่จะตกเป็นทาสของมันเสียก่อน เท่ากับมีความคิดที่เป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อตาไปเห็นเข้า แล้วมันก็เป็นเพียงตาเท่านั้น ยังไม่ ๆ รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร เห็นว่าสวยก็ยังไม่แน่ว่ามันจะเป็นอย่างไร มันจะจริงหรือไม่ มันจะดีจริงหรือไม่ อย่างนี้ก็เรียกว่าหยุดกระแสที่จะไปเกิดหลงรักมันไว้เสีย แล้วก็ตั้งให้เรื่องของสติปัญญาขึ้นมา
นี้เป็นอย่างไร นี้ควรจะทำอย่างไร นี้ควรจะไปเสียเวลากับมันไหม ถ้าไม่เห็น ไม่เห็นจำเป็น มันก็ไม่ต้อง ไม่ต้องไปสนใจ เดินเลยไปอย่างนี้นะ ถ้ามันจะต้องสนใจ มันก็ต้องมีเหตุผลพอว่า เราจะต้องสนใจทำไม สมมติว่าผู้หญิงคนนี้สวยแล้วนี้ เราจะไปสนใจทำไมให้มันเสียเวลา มันยัง ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่ราว ไม่ใช่อะไร ที่จะต้องไปสนใจ ที่จะรัก ที่จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ เกิดตัวกูให้มันเป็นเรื่องหนักอกหนักใจเร่าร้อนเป็นทุกข์ขึ้นมา
นี้เราก็ใช้ความที่จิตใจมันคงปรกติอย่างเดิม มันยังไม่ทันเกิดตัวกู คือมันยังไม่หลงรัก ยังไม่เกิดผู้รัก ยังไม่เกิดผู้อยากได้หรือผู้ยึดมั่นถือมั่นในจิตใจไว้ ก็ยังว่างอยู่ ก็มีสติปัญญามาทันท่วงที นี้เป็นตั้งปัญหาหรือว่าวินิจฉัยที่ว่าจะต้องเกี่ยวข้องไหม เอ้า, ไม่ต้องเกี่ยวข้องก็ไป ถ้าต้องเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องในฐานะอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น เพื่อไม่ต้องเกิด ตัวกู-ของกู ที่เป็นกิเลส รู้แต่ว่าหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไรก็ทำไป นี้เรียกว่ามันว่างอยู่เองแล้ว ตัวกูในจิตนี้
ดังนั้นเรามีสติสัมปชัญญะในเมื่อจะ มันจะมีอะไรเข้ามาทำให้ไม่ว่าง นี้เป็นข้อแรก การทำจิตให้ว่างได้อย่างไร ในกลุ่มแรกนี้ก็มีเรื่อง ๆ มีหลักการที่ว่า มันว่างได้เองแล้ว เรารักษาอย่าให้มันกลาย เป็นผิด เป็นวุ่น เป็นหลง เป็นอะไรขึ้นมา แล้วก็ขอเกริ่นเลยว่า มันจะมีประโยชน์กี่มากน้อย ลองคิดดู
การที่เราเห็นอะไรทางตา ยินอะไรทางหู หรือว่าคิดนึกเข้าไปในใจเองแล้ว มันไม่ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น มันก็มีประโยชน์ดีมาก ๆ นี้ถ้าถึงคราว เอาล่ะ, ถ้าถึงคราวที่จะต้องทำไปตามเรื่องราวของความรัก ความต้องการที่จะมีคู่ครองแต่งงาน มีอะไรอย่างนี้ มันก็ต้องทำด้วยสติปัญญาตามเดิม อย่าให้มันกลัดกลุ้มเป็น ตัวกู-ของกู ที่มันจะเป็นทุกข์ มันเป็นด้วยสติสัมปชัญญะเรื่อยไป
แม้จะมีเรื่องของกิเลส ก็ต้องให้สติสัมปชัญญะควบคุมกิเลส มันก็ไม่เดือดจัดจนถึงกับว่าเป็นไอ้เรื่องความทุกข์ แต่ถ้ามันมองเห็นความไม่มีตัวตนจริง ๆ แล้วมันจะไม่ ๆ เกิดกิเลส มันไม่อยากจะไปเสียเวลาเป็นทาสของอารมณ์ที่มาจากเพศตรงกันข้าม ที่เรียกว่าความรักหรืออะไรอย่างนั้นเป็นต้น
นี้มันก็อาจจะดีเกินไปสำหรับคนธรรมดา แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่ในวงของไอ้จิตที่มันเป็นอิสระ เพราะมันยังว่างอยู่ มันไม่หลงรัก ถ้าคนธรรมดาจะต้องไปรักเข้าหรือไปต้องการเข้า ก็ยังจะต้องรักษา ระมัดระวังรักษาให้จิตยังคงว่างไว้เท่าที่มันจะทำได้ นี้จะดีกว่าที่ว่าจะต้องกระโจนลงไปให้มันวุ่น ครั้งนั้นมีพระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาส ก็มีครอบครัวมีอะไรได้ โดยที่ไม่ต้องมืดมนเป็นทุกข์ เป็นทาสของอารมณ์อะไรมากเหมือนบุถุชนธรรมดา
แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องความว่าง ก็คือมีจิตว่างในความหมายทั่ว ๆ ไป ก็ไปทดลองฝึกฝนได้ บางทีมันจะมีอะไรผ่านมาให้ได้เห็นหรือได้ยินมาก ๆ นี้ เรารักษาให้ปรกติเดิมของจิตไว้ได้หรือไม่ ต้องไปนั่งดูตรงนั้นตรงนี้ที่มีอะไรผ่านมา ดังนั้นเรามีความสังเกตจิตของเราอย่างละเอียดลออ มีสติสัมปชัญญะอย่างละเอียดลออ ศึกษาจิตว่ามันจะเปลี่ยนอย่างไร ไปอยู่ในรูปที่มี ตัวกู-ของกู ได้อย่างไร นั้นน่ะจึงจะเข้าใจได้
อยู่ในที่อย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ยั่วให้เกิดไอ้ความรู้สึกชนิดนั้น ไอ้ตานี้มันก็ลืมอยู่นะ ไม่ได้ตา มันไม่ได้หลับ แล้วตามันก็ไม่ได้บอด มันก็ต้องเห็นอยู่ แต่การเห็นนี้ยังไม่มีความหมายพอที่จะเกิดความอยากด้วยอวิชชา ดังนั้นตัวกูก็ไม่เกิด นี่ดูเกือบตายทางไหนก็ไม่ได้เกิด
จะลองไปเห็นอารมณ์ที่เป็นก็เรียกว่า วิสภาคารมณ์ อารมณ์ที่ยั่วกิเลสก็ มันก็จะเหมือนอย่างนี้แหละ และก็จะ ๆ ๆ หลุดเลื่อนลอยไปตามกระแสนั้น สวย ความรู้สึกยั่วกิเลส ความรู้สึกทางเพศ เป็นเวทนาอร่อยแก่จิตใจก่อน แล้วก็อยากจะได้ อยากจะยึดครองขึ้นมา เกิดความรู้สึกสูงสุดเป็นตัวกู เอาล่ะ, จัดการ นี้มันเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนี้ เพิ่งมา หลัก มันการเกิดตัวกูของกู
ในชีวิตประจำวันของคนทั้งหลาย ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ถ้าเป็นผู้ที่มีอายุสมบูรณ์แล้ว มันก็เรื่องเพศตรงกันข้ามแล้วเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องทั้งหลาย ถ้ายังเป็นเด็กหรือยังไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มันก็มีไอ้ความอร่อยที่เกิดได้แก่ความรู้สึก ทางตา ทางหู ทางไอ้เหล่านี้ ถึงแม้อย่างนั้นมันก็หลักเกณฑ์อันเดียวกัน มันต้องอร่อยเสียก่อนจึงจะมีฉันอร่อยหรือว่ามีฉันอยากจะเอา แล้วก็ฉันก็ทำไปอย่างนี้ ด้วยความอยาก ด้วยอะไรต่าง ๆ
นี้เมื่อไม่สมอยาก ฉันก็โกรธ ดังนั้นไอ้ความโกรธโน่นมาทีหลังความอยาก มันต้องอยากอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็มันไม่เป็นไปตามที่อยาก มันจึงเกิดความโกรธ ดังนั้นมันเป็นเรื่องเดียวเครือเดียวนะ ถ้ามันสมอยากเสีย มันก็รัก หลงใหล ราคะ เอ้า, โลภะอะไรเรื่อยกันไป พอไม่สมหวังมันก็เปลี่ยนรูปเป็นไอ้โทสะ โกธะ
ถ้ามันไม่ถึงขนาดนั้น มันยัง ๆ เอาอะไรไม่ได้ ยัง อยู่ก็เหมือนกับว่า มันเป็นหลงใหลในสิ่งนั้นอยู่อย่างที่ไม่รู้ว่าจะแตะต้องมันอย่างไร คือไม่รู้ว่าจะด้วยความรักหรือว่าด้วยความโกรธ นี้เป็นพวกโมหะ มีใจผูกพันอยู่ที่นั่นแหละ ออกไปไม่ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะรักดีหรือจะโกรธดี
นี้ข้อที่ ๑ หรือบอกว่าประเภทที่ ๑ จิตมันจะว่างอยู่เองแล้ว ดังนั้นเราคอยระวัง มีสติอย่างยิ่ง ที่อย่าให้มันเผลอให้จิตมันมีการปรุงแต่งในทางที่จะเกิด ตัวกู-ของกู ระวังให้จิตมันมาใน ๆ ทางที่จะเกิดสติสัมปชัญญะและปัญญารู้เท่า
ถ้าเราจะต้องทำไหมเรื่องนี้ จะต้องเกี่ยวข้องไหม มันเป็นแต่เพียงไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เจ้าตามันไปเห็นเข้าแค่นั้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะได้อย่างนี้ มันก็ยังคงว่างอยู่ตามเดิม มันก็จะเดินผ่านหมู่เพศตรงกันข้าม โรงหนัง โรงละครอะไรก็ตาม ถ้าสติสัมปชัญญะมีอยู่อย่างที่ว่านี้แล้ว ไอ้สิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังเหล่านั้น มันก็ไม่ทำให้จิตใจตกเป็นทาสของไอ้อารมณ์นั้นจนเกิดตัวกู นี้ก็เหมือนกัน พยายามทดสอบตัวเองอยู่เสมอเมื่อผ่านเข้าไปในที่อย่าง ๆ ๆ ที่บ้านที่เมืองที่มันเป็น ๆ อารมณ์ที่ยั่วนั้น
ทีนี้ไอ้พวกที่ ๒ พวกที่ ๑ มันว่างอยู่เองแล้ว รักษาให้ว่างต่อไป นี้พวกที่ ๒ จะทำให้ว่าง นี้หมายความว่าจะทำให้ว่างให้มันยิ่งขึ้นไป ให้ว่างยิ่งขึ้นไป จนเป็นความว่างที่ดียิ่งขึ้นไป และเมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการนี้ อย่างนี้ก็ต้องแบ่งเป็นสัก ๒ พวกดีกว่า คือว่างตามวิถีทางของสมาธิที่เราบังคับให้มันว่าง หรือว่าไอ้อีกอันหนึ่งก็ว่างตามวิถีทางของปัญญา คือพิจารณาให้เห็นจนมันไม่มาทำให้เกิดความวุ่น
ถ้าจิตเป็นสมาธิอยู่หรือจิตประกอบด้วยปัญญาอยู่ ในสองอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจะยังคงว่างอยู่ และก็ว่างยิ่งขึ้นไปกว่าที่ธรรมชาติมันเป็นเอง เรานึกถึงข้อที่ว่า เมื่อเรานอนหลับมันก็ว่าง หรือว่าเรานั่งเฉย ๆ อยู่มันก็ว่าง แล้วบางคราวมันไม่ ๆ รู้สึกปรุงแต่ง แต่มันก็ว่างอย่างที่เรียกว่าระดับธรรมชาติ หรือเราจะให้มันจริงยิ่งขึ้นไป และเมื่อไรต้องการให้ได้เมื่อนั้น
นี้กำลังเกิดการฝึกฝนจิต ในรูปของสมาธิบ้าง ในรูปปัญญาบ้าง ในรูปของสมาธิ คือการบังคับจิต ให้จิตอยู่ที่อารมณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสนั้นนั้นน่ะ เช่น ทำอานาปานสติ จิตมันก็ไปอยู่ที่ลมหายใจ ไปอยู่ที่ธรรมชาติต่าง ๆ ลักษณะต่าง ๆ อะไรต่าง ๆ ของลมหายใจ รู้เรื่องลมหายใจ บังคับลมหายใจให้ละเอียด อย่างนี้ก็ทำสมาธิตามแบบอานาปานสติ แบบอื่นก็มีอีกมาก แล้วก็เหมือนกันตรงที่ว่า ถ้าจิตมันไปอยู่ที่นั่น อารมณ์ที่สำหรับกำหนดแล้ว มันก็หยุด
การที่จะเปลี่ยนไปเป็นความหยาบ เป็นตัณหา เป็นเวทนา เป็นอุปาทาน มันเหมือนกับปิดให้มันเงียบไปเลย นี้ก็อย่างหนึ่งเหมือนกัน คล้าย ๆ ว่ามันเกิดความสุขขึ้นมาในสมาธินั้น ก็มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่หมายมั่นเป็นให้มันเป็น ความสุขที่เป็นที่ตั้งแห่งความอยาก มีตัวกูที่อยาก อย่าให้มันมี
ถ้าจิตมันสงบเงียบเป็นสมาธิ หยุดอยู่ เย็นอยู่ สุขอยู่ มันก็อยู่แค่นั้น มันว่างในลักษณะสมาธิอย่างนี้ มันแบบหนึ่งต่างหาก แต่ก็มีค่าตรงที่ว่า มีความสุขโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย เราอยากจะหนีเข้าไปอยู่ในความสงบสุขเมื่อไรก็ได้ทันความต้องการ แล้วก็มันสุขจริง ๆ ด้วย จิตอย่างนี้ก็เรียกว่าจิตว่างเหมือนกัน รู้สึกเป็นสุขอยู่แต่ไม่มีตัวตน
พอเรามีสติสัมปชัญญะ ไม่ยึดมั่นในความสุขอันนั้นในฐานะเป็น ตัวกู-ของกู เป็นความสุขของกูนี้ นี่มันนอกเรื่องของคนธรรมดามากขึ้นไป แต่ว่ามันอาจจะมีได้ในระดับคนธรรมดา คือบางครั้งเราจะหยุดจิตใจที่จะไปคิดนึกอะไรต่าง ๆ เสียหมด เหมือนกับหลับชนิดหนึ่ง ไม่ใช่นอนหลับแต่ว่ามันเป็นเรื่องหลับของจิตอีกชนิดหนึ่งที่พวกโยคีเขาชอบกันนัก ชาวบ้านก็ทำไม่เป็น แล้วก็ไม่ค่อยชอบ ชอบไม่ถูกด้วย
แต่เราอาจจะศึกษาให้เข้าใจได้ แล้วก็ชอบได้เหมือนกัน คือจิตหยุดอยู่ในที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่รู้สึก เย็น นิ่งเงียบอยู่ตลอดเวลานั้น ๆ เมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ นี้แหละจิตว่างเพราะว่าเราไปทำมันเอง ไปสร้างมันขึ้น ไปพัฒนามันขึ้น ไม่ใช่ตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะมากเหมือนกัน จึงจะเป็นสมาธิอย่างนี้ได้
ทีนี้อีกแขนงหนึ่งของข้อนี้ ของกลุ่มนี้ก็คือว่าใช้วิธีของปัญญา คือพิจารณาให้รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง ของธรรมชาติทั้งปวงอยู่เสมอแล้ว จิตไม่มีโอกาสปรุงแต่งเป็นกิเลสตัณหาหรือเป็น ตัวกู-ของกู ได้เลย ที่ว่าพิจารณาสิ่งทั้งปวงเห็นตามที่เป็นจริง ที่เรียกกันว่า ปัญญา ๆ น่ะ รอบรู้ คือรู้ เห็น เข้าใจ สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ตามที่เป็นจริงอันนี้สำคัญมาก ดังนั้นจะผิดจากที่มัน ตามที่ไม่เป็นจริง ตามที่เท็จ ที่หลอก ที่ไม่จริง
นี้บุถุชนธรรมดาสามัญนี้จะเห็นแต่ตามที่ไม่เป็นจริง ของใหม่นี้ก็รักเข้าไป เกลียดเข้าไป โกรธเข้าไป หลงเข้าไปนี่ อย่างนี้เรียกว่ามันไม่รู้ตามที่เป็นจริง สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ไม่ ๆ มีอะไรสำหรับให้เรารักเราโกรธ ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นธรรมตามธรรมชาติของมันเองที่จิตมันโง่ มันจึงไปเกิดปรุงแต่งชนิดที่ไปหลงรัก หลงเกลียด หลงโกรธ หลงกลัว อย่างนี้เป็นต้น
ถ้ารู้ตามที่เป็นจริงก็มีคำเดียวที่สรุปได้อย่างหนึ่งว่า มันจะตรงกันข้ามกับที่คนธรรมดารู้สึก ในบาลีก็มีคำอย่างนี้ มันจะเป็นโดยประการอื่น จากที่คนโง่คนธรรมดาบุถุชนสามัญรู้สึกกัน คือมันว่าเห็นทางตานี้ เห็นดอกกุหลาบอันหนึ่ง ถ้าคนโง่ก็ไม่เห็นตามที่เป็นจริง เห็นเป็นสวย เป็นงาม เป็นหอม แต่ถ้าคนที่มีปัญญาถึงขนาดที่ว่านั้นแล้ว มันจะเห็นเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ก็มีธาตุที่เป็นกลิ่น ซึ่งคิดซึ่งถือกันว่าหอม หรือว่าธาตุที่เป็นสี ที่รู้สึกกันว่าสวย รูป Form อะไรก็ตาม อย่างนี้เขาเรียกว่าธาตุเหมือนกัน
ธาตุรูป ธาตุสี ธาตุเสียง ธาตุกลิ่น ธาตุแบบนี้ แล้วก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เลยไม่รู้สึกสวย งาม หอม ยั่วยวน เหมือนที่คนธรรมดาเขารู้สึกต่อไอ้ดอกกุหลาบดอกนั้น นี้แยกกันให้ดีว่า บุถุชนมันมักจะรู้สึกกันอย่างหนึ่ง เหมือนที่เราก็เป็นปุถุชนเราก็รู้สึกอย่างหนึ่ง ทีนี้พระอริยเจ้าหรือผู้มีปัญญาจะรู้สึกโดยประการอื่นจากที่บุถุชนเหล่านั้นรู้สึก จำคำว่าอื่นด้วยแล้วกัน โดยประการอื่นจากที่คนธรรมดารู้สึก
เสียงก็เหมือนกัน ก็ได้ยินเสียงไพเราะ เอ้า, มันก็ ๆ บุถุชนก็รู้สึกว่าอย่าง ผู้รู้หรือพระอริยเจ้ารู้สึกต่อเสียงอีกอย่าง กลิ่นก็เหมือนกัน รสทางลิ้นเหมือนกัน สัมผัสผิวหนังก็เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าปัญญา รู้ตามที่เป็นจริงในสิ่งนั้น ๆ โดยประการอื่นจากที่คนโง่หรือบุถุชนเขารู้สึกกัน นี้คำว่าอื่นคำเดียวนะ
นี้คำว่าอื่นนี่ เราจะแยกความหมายเป็นหลาย ๆ คำ หลาย ๆ ชั้นก็ได้ ที่ใช้กันมากที่สุดก็คือคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเห็นตามที่เป็นจริงโดยประการอื่นจากที่คนโง่เห็น นั้นก็คือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะยกตัวอย่างไอ้ดอกกุหลาบเมื่อตะกี้อีกก็ได้ ก็จะเห็นในแง่ของความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันต้องมีปัญญาพอตัว จึงจะเห็นเพียงกระแสไหลเวียนเปลี่ยนแปลงของธาตุตามธรรมชาติ ที่ปรุงกันขึ้นมาเป็นดอกกุหลาบนี้ มีสีอย่างนี้ต้น
ดังนั้นด้วยเหตุที่มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างหลอกลวงซ่อนอยู่นั้น ต้องทัด ต้องจัดมันไว้ในฐานะเป็นของน่าเกลียด นั่นน่ะคือความหมายของความทุกข์ ทุกข์ แปลว่า ดูแล้วน่าเกลียด ที่เจ็บปวดทรมานนี้ก็ดูแล้วน่าเกลียด ที่ไม่เจ็บปวดทรมานแต่มันหลอกลวง มันไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงแล้วดูแล้วก็น่าเกลียด มันก็จะแสดงความทุกข์เมื่อคนโง่เข้าไปยึดถือโดยความเป็นของรักของ ๆ ๆ เรานี้ อันนั้นก็คือความทุกข์
อนัตตา คือว่าในดอกกุหลาบหรือในอะไรนี้มันไม่มีส่วนใดที่จะเป็นตัวตน มันก็เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ ไหลไปตามกระแสแห่งความไม่เที่ยง มีความหลอกลวงหรือว่ามีความน่าเกลียด อย่างนี้เรียกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงคือไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย เห็นความทุกข์คือว่ามีลักษณะทรมานอยู่ในตัวมันเอง ดูแล้วน่าเกลียด น่าเศร้า น่าสลด นี้อนัตตา คือไม่มีตรงไหนที่จะเป็นตนของใครหรือของมัน ไม่เป็นอิสระจนถึงกับจัดเป็นตัวตนได้
ถ้าเห็นอยู่อย่างนี้ จิตจะเป็นอย่างไร ถ้าจิตมันเห็นสิ่งที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก แล้วก็อยู่อย่างนี้ จิตนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็ต้องเป็นจิตที่ว่างยิ่งขึ้นไปกว่าไอ้ธรรมดา กว่า ๒ ระดับธรรมดาที่พูดถึงแล้ว แล้วระดับนี้เป็นระดับที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย ในความหมายคำว่า สุญญตา คือ ความว่าง ว่างจากตัวตน
มีพระบาลีชั้นแรกว่า ให้โลกนี้ว่างก่อน โลก คือ สิ่งทั้งปวงที่เราจะรู้ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีกี่อย่างกี่ชนิดก็ได้ กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านอย่างก็ตามที่จะ เราจะรู้สึกมันได้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ก็รวมเรียกกันว่าโลก ลืมตาขึ้นเห็นอะไรบ้าง ได้ ๆ ทางหูบ้าง ทางจมูกก็ตามเถิด ให้รวมหมดก็นี้เรียกกันว่าโลก ก็ใช้คำว่า โลกนี้ว่าง โลกนี้เป็นสุญญะ คือว่าง ที่ก็จะมีคำถามขึ้นมา
ทำไมจึงว่าว่าง ก็บอกว่า เพราะมันว่างจากอัตตาหรือว่างจากอัตตนียา คือว่างจากความหมายที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน ว่างจากความหมายที่จะควรถือว่าเป็นของตน ยกตัวอย่างดอกกุหลาบเมื่อตะกี้นี้ก็ได้ นั้นมันเป็น ๆ ๆ หน่วยหนึ่งของโลกในโลกนี้ ดอกกุหลาบนี้เป็นโลก แล้วว่าง ว่างจากตน นี้ความเป็นตน เป็นสาระที่จะเป็นตนอะไร ไม่มีในดอกกุหลาบนั้น ความเป็นของตนของตัวมันเองก็ไม่มี เป็นของคนอื่นก็ไม่ได้หรือไม่มี เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ การไหลเวียนเปลี่ยนแปลงนี้
นี้ก็เรียกว่า เห็นไอ้ดอกกุหลาบนั้นในนามของโลกว่าง ทั้งในความหมายที่เป็นตัวตนหรือเป็นในความหมายที่เป็นของตน ทีนี้พอจิตมันรู้สึกความหมายอันนี้ เห็นโลกว่างหรือเห็นดอกกุหลาบนี้ว่าง จิตก็ว่าง ว่างคือว่าไม่ ๆ รู้จะไปฉวยอะไรที่ตรงไหน เพราะดอกกุหลาบนี้มันว่าง ว่างจากตัวตนจากของตนนั้น จิตจึงไม่จับฉวยเอาดอกกุหลาบนั้นมา ในฐานะที่เป็นตัวตนของดอกกุหลาบ แล้วมาเป็นของตนของจิตอย่างนี้ ดังนั้นจิตนี้จึงว่าง เพราะเห็นว่าโลกนี้เป็นของว่าง
นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งนะทางตา เลยยกตัวอย่างดอกกุหลาบนี้ ทีนี้มันยังมีอะไรอีกมากมายไม่รู้กี่แสนกี่ล้านอย่าง ก็คุยกันรู้เยอะกว่า ทางตาก็มีเท่าไร ทางหู จมูก ลิ้น กาย หรือใจเองอีกล่ะ ทางใจแล้วหมายถึงไอ้ที่มันเคยผ่านมาแล้ว เป็น Experience แต่เก่า ๆ ก่อนที่ยังสะสมไว้ในจิตใจ นี้เอามาคิดนึกเมื่อไรก็ได้ ทางเรื่องรูปก็ได้ เรื่องเสียงก็ได้ เรื่องกลิ่นก็ได้ เรื่องรสก็ได้ เรื่องสัมผัสผิวหนังก็ได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้เรียกว่า มันว่างจากตัวตน ว่างจากของตน พอจิตมองเห็นสภาพจริงอันนี้จิตก็เลยว่าง ไม่รู้จะเลือกเอาอันไหน จะไปแตะเข้าที่ไหนมันก็ว่าง ไม่มีให้จับฉวยเอา ก็เรียกว่าจิตมันว่าง แล้วคุณก็สังเกตดูตรงนี้หน่อยว่า ไอ้จิตที่กำลังว่างอย่างนี้มันโง่หรือมันฉลาด คือมันต้องรู้ตามที่เป็นจริงโดยประการอื่นจากที่คนโง่เขารู้สึกกันอยู่โน่น มันจึงจะมองเห็นโลกว่างและไม่จับฉวยเอาโลกนั้นโดยความเป็นตัวตนหรือของตน
มันต้องเป็น ๆ จิตที่รอบรู้ ฉลาดที่สุด แล้วก็ว่องไวที่สุด ขืนช้าอยู่กิเลสมันก็หลอกให้เห็นมีตัวตน มันก็เป็นจิตที่คล่องแคล่ว ว่องไว มั่นคง ฉลาดเฉลียว บริสุทธิ์ทุกอย่างก็ได้ แต่ว่ามันวิเศษอยู่อย่างที่ว่า ในทั้งหมดนั้นมันมีความสุขไม่เป็นทุกข์ จิตนี้ไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นไอ้ที่ยิ่งว่างเท่าไรจะยิ่งไม่เป็นทุกข์เท่านั้น
ดังนั้นมันจึงมีหลักว่า นิพพานนั้นว่างอย่างยิ่ง คู่กันกับว่า นิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าจะพูดกับคนโง่ กับชาวโลกทั้งปวงที่มีความยึดมั่นถือมั่น เราก็จะพูดว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะพูดกับสัตบุรุษพระอริยเจ้าทั้งหลายก็พูดว่า นิพพานนี้ว่างอย่างยิ่ง นั้นก็คือไม่มีความทุกข์อย่างยิ่ง ว่างจากความทุกข์อย่างยิ่ง ว่างจากกิเลสอย่างยิ่ง แต่ไม่อยากจะเรียกว่าความสุข เพราะมันเป็นเพียงธรรมชาติที่ว่างจากสาระจากตัวตนได้ทั้งนั้น
ถ้า ๆ พิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้ จิตก็ยิ่งว่างยิ่งขึ้นไปอีก ทำจิตให้ว่างยิ่งขึ้นไปอีก โดยวิธีการของปัญญา วิธีการอย่างที่ ๑ ด้วยอำนาจของสมาธิเข้าสงบเสีย วิธีการอย่างที่ ๒ นี้มันว่างด้วยปัญญา คือมันเห็นแจ้งจนไม่มีอะไรตรงไหนที่จะไปจับฉวยเอาเป็น ตัวกู-ของกู
นี้เรียกว่าทำจิตให้ว่างได้อย่างไร ก็คือทำจิตให้ว่างด้วยอาศัยวิธีของสมาธิ และทำจิตให้ว่างอาศัยวิธีของปัญญา มีอยู่ ๒ ชนิด โดยก็จะเห็นได้ทันทีว่ามันต่างกันลิบนะ วิธีของสมาธิ หยุด นิ่ง เงียบ สงบไป แล้วก็ไม่ทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ อย่างที่ว่าเหมือนกับมันหยุด เงียบ เหมือนกับหลับไปอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าของปัญญานี้มันว่าง แต่หยุดหรือไม่ปรุงแต่งเป็น ตัวกู-ของกู มันก็รู้สึกฉลาดเฉลียวว่องไวดีอยู่ แต่ไม่ยึด ๆ ถือมาเป็นตัวตน ไม่เป็นความทุกข์ ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ก็คือว่างจากตัวตน และว่างจากความหมายแห่งตัวตน
นี้คือหมู่ เอ้า, คือว่ากลุ่มที่ ๒ หรือหมวดที่ ๒ กลุ่มที่ ๑ ว่ามันว่างอยู่เองแล้วตามธรรมชาติ เป็นว่างแบบของธรรมชาติ เรามีสติสัมปชัญญะรักษาไอ้ว่างอันนั้นไว้ นี้ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะว่างหรือมีสติสัมปชัญญะรักษาไอ้ว่างตามแบบของธรรมชาติไว้ อย่าไปสะดุดเกิดเป็นวุ่นขึ้นมา
ทีนี้กลุ่มที่ ๒ นี้เราจะทำจะพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไป แล้วตามเวลาที่เราต้องการ เราจึงฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วจึงฝึกปัญญาหรือตัววิปัสสนาโดยตรงนี้อย่างหนึ่ง นี้ที่เราได้พูดกันไว้แล้วว่า จะพูดกันหรือจะลองฝึกฝนดูเวลาอื่น วันนี้ก็เลยถือโอกาสว่า เราจะพูดเรื่องสมาธิและปัญญาอย่างนี้เอาเป็นเครื่องทำให้ว่าง นี้ถ้าพรุ่งนี้มีเวลาก็มาพูดกันเรื่องสมาธิโดยตรง ขึ้นเลยไปถึงปัญญาด้วย เป็นการผนวกของการพูดครั้งนี้ คือ ทำสมาธิอย่างไร เจริญปัญญาอย่างไร
ทีนี้มาถึงกลุ่มที่ ๓ ที่ว่าทำให้ว่างน่ะ หมายถึงทำจิตที่กำลังวุ่นเหมือนตกนรกทั้งเป็นอยู่นี้ ให้มันกลายเป็นว่างได้อย่างไร นี้อันที่ วิธีการที่ ๓ หรือว่าหมวดที่ ๓ จิตวุ่นแล้วเหลือประมาณ กำลังอยู่ในกองทุกข์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ จะทำให้กลับว่างก็ตามหรือว่างยิ่งขึ้นไปก็ตามได้อย่างไร
เกี่ยวกับข้อนี้โดยเฉพาะหรือเกี่ยวกับข้ออื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปก็ตาม ในพุทธศาสนานี้ก็มีหลักอยู่ข้อหนึ่งว่า สิ่ง ไอ้ธรรมะหมายถึงธรรมะที่ดีที่จำเป็นจะต้องใช้ในที่ทุกหนทุกแห่งยิ่งกว่าธรรมะข้อใดแล้ว ก็ว่าธรรมะนั้นก็เรียกว่าสติ ถ้าเคยอ่านหนังสือรวบรวมประมวลพุทธภาษิตก็จะพบว่า ไอ้สตินี่ดีอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น จนแก้ปัญหาทั้งหมดแหละ
สตินี่กั้นกระแสแห่งกิเลส กั้นกระแสแห่งความทุกข์ กระทั่งมีบทที่ผู้ มีผู้สรุปขึ้นมาว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สตินั่นแหละคือสิ่งที่ต้องใช้ในทุก ๆ กรณี นี้สรุปพุทธภาษิตออกมาได้อย่างนี้ สติแหละเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพิเศษในกรณีนี้ ในกรณีที่มันเป็นทุกข์
เหมือนกับไฟลุกอยู่นี้ ถ้าไม่มีสติระลึกได้ มันก็กลับตัวไม่ได้ ก็ ๆ กลับเรื่องราวไม่ได้ พอเรามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เผลอนิดเดียวมันถลำลงไปในกองทุกข์ ในรู้ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์นี้ ไอ้สิ่งที่จะช่วยถอนดึงกลับขึ้นมาก็คือสติ คำพูดอย่างนี้ใช้ได้ทั่วไป คุณก็พอจะเข้าใจได้ แม้ในกรณีอะไรของคุณ
ตามธรรมดาสามัญประจำวันมันก็ต้องใช้สติ คือระลึกได้แล้วถอนดึงออกมาเสีย อย่างสมมติเราเดินตกร่องนี้ เราก็มีสติว่าตกร่อง ก็ดึงขึ้นมาเสีย ก็ต้องมีสติมาทำให้ระลึกได้ แล้วก็ดึงกลับมาเสีย เพียงสติในชั้นที่แก้ไข ในชั้นที่ป้องกันก็คือสติ ในชั้นที่ป้องกันไม่ให้ตกร่อง เมื่อตกร่องแล้วต้องมีสติรู้สึก เอ้า, มันลงไปแล้วนี่ มันผิดแล้วนี่ มันจะถอนกลับขึ้นมาเสีย
ในกรณีของจิตที่มันจะทำผิด มันจะพลัดลงไปในกิเลสหรือในความทุกข์ ต้องมีสติเป็นเครื่องกั้นไว้ ที่มันเผลอไปในตอนนั้น พลัดลงไปแล้ว เมื่อมีสติในการที่จะถอนกลับ แล้วดึงกลับออกมา นั้นเราได้ปล่อยให้จิตเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน วุ่นเป็น ตัวกู-ของกู เหมือนกับนรกหมกอยู่ในจิตนี้
มันต้องอาศัยสิ่งสำคัญคือสติ ระลึกได้ว่า เอ้า, มันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้แล้ว ๆ เพียงเท่านี้มันก็จะจัดตัวของมันใหม่ เพียงว่า เอ้า, ออกมาได้เท่านั้นน่ะ มันจะเริ่มปรับจัดตัวของมันใหม่ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราได้ศึกษาจนรู้จักกันดีแล้วว่าเป็นอย่างไรนั้น
ถ้ามันเผลอไป ลืมไป จะมืดมัวไปขณะหนึ่ง เสร็จแล้วมันระลึกได้ พอว่า เอ้า, มันก็เลยเรื่องมันเปลี่ยน ความรู้สึกมันจะเปลี่ยน นี้คนที่เขามีจิตวุ่นและไม่มีสตินี้ เขาจะเดินทำผิดต่อไปอีก ผิดต่อไปอีกจน ๆ เศร้า จนไปกระโดดน้ำตาย หรือไปฆ่าตัวตายนั้นก็มี หรือถ้าไม่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นโรคเส้นประสาท ไม่กี่ปีไม่กี่เดือนมันก็เป็นโรคเส้นประสาท เป็นบ้าก็มี ถ้าสติมันดึงกลับมาไม่ได้ นี้รู้จักว่าจะทำจิตที่วุ่นอย่างยิ่งให้กลับว่างได้อย่างไร ให้ใช้สติ
สติ คำนี้ก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจกัน ยังเถียงกันอยู่ ยังถามกันให้ ๆ วุ่นไปหมดว่าคืออะไร อย่างไร มันต่างกับปัญญาอย่างไร มันต่างกับสัมปชัญญะอย่างไร ๓ คำนี้ช่วยจำไว้ให้ดีเถิด สติสัมปชัญญะนี้คู่หนึ่งแล้ว และสติปัญญาอีกคู่หนึ่ง แต่แล้วมันก็มีเพียง ๓ ตัว ๓ เรื่อง สติตัวหนึ่ง สัมปชัญญะตัวหนึ่ง ปัญญาตัวหนึ่ง
ปัญญา คือ ความรู้ รอบรู้ เพราะ ป มันแปลว่ารอบ ญา แปลว่ารู้ ป กับ ญา นี้แปลว่ารอบรู้ เรียกว่าปัญญา เราจะต้องมีปัญญา แล้วปัญญานี้ก็มีหลายระดับ อย่างได้ยินได้ฟังเขียนไว้นี้ก็เป็นปัญญารอบรู้ ใน ๆ ระดับที่ว่า ฟัง แล้วจำไว้ จดไว้ ก็เป็นปัญญาระดับหนึ่งเหมือนกัน เขาเรียกว่า สุตปัญญา
ทีนี้เอาไอ้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้ไปทำ Reasoning ค้นหาเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ทดสอบโดยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็ได้ ไม่ต้องถึงกับปรัชญาหรอก มันจะเพ้อเจ้อ เอาเพียงตรรกสามัญสำนึก ไอ้ตรรกะสามัญสำนึกนี้ก็ได้ หรือตามกฎของธรรมชาติก็ได้ เราก็จะมีความเข้าใจยิ่งขึ้นในสิ่งนั้นโดยอาศัยไอ้ Reasoning นี้
การ ๆ ทดสอบด้วยเหตุผล ก็จะเกิดปัญญาไอ้ที่สูงกว่านั้นขึ้นมา ปัญญาที่มาจากการทดสอบ คิดค้นด้วยเหตุผล ทีแรกปัญญาได้ยินได้ฟังได้อ่าน ก็เป็นปัญญาชนิดดิบ ปัญญาดิบ ๆ เป็นวัตถุดิบนะ มันก็ไปทำให้มันเป็นปัญญาที่ดีกว่านั้นโดย Reasoning มันก็เข้าโรงงานผลิตออกมาเป็นปัญญาชนิดนี้
ทีนี้ปัญญาชนิดนี้ก็ยังไม่ดีไม่เก่งเท่ากับปัญญาที่เกิดมาจากการทำให้เห็นแจ้ง ต้องเป็นสิ่งที่ Experience กันจริง ๆ Realization Experience อะไรต่าง ๆ จริง ๆ ด้วยจิตเดิมนั้น คือเรื่องที่ผ่านไปแล้วนะ นี้ก็ปัญญาของชั้นสุดยอด เรียกว่า ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด
อย่างนี้มันไม่ทำได้ด้วยการใช้เหตุผล มันเหนือขึ้นมาอีก มันเหนือการใช้เหตุผล ต้องเป็นสิ่งที่เราได้ผ่านไปจริง เช่นความทุกข์เราผ่านไปแล้ว เราก็รู้สึกว่าความทุกข์เป็นอย่างไร ว่า ตัวกู-ของกู มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเกิดเป็นไฟขึ้นมาอย่างไร อย่างนี้ไม่ต้องใช้เหตุผล แต่เราอาศัยความรู้ที่เราได้ยินได้ฟังหรือเคยใช้เหตุผลมานั่นแหละ มาเข้าใจสิ่งนี้ได้ เรียกชื่อสิ่งนี้ถูก มันดียิ่งขึ้นไปอีก นี้ก็เรียกว่า ปัญญารู้แจ้งแทงตลอด มันเป็นไอ้ Realization หรือว่ามันเป็น Wisdom เป็นไอ้ยิ่งขึ้นไปกว่าความเข้าใจ นี้เรียกว่าปัญญานั้นน่ะ
๓ อย่างนี้เรียกว่าปัญญา แต่ว่ามันเป็นเหมือนกับที่ว่า เรารวบรวมไว้ ประมวลไว้ สร้างไว้ สะสมไว้ มันเป็นอะไร มันเป็นของนิ่ง ที่อยู่นิ่ง ไม่ ๆ ๆ มี Dynamic อะไรเพราะมันนิ่ง สะสมเข้าไว้ ใส่ยุ้งใส่ฉางเข้าไว้นี้ มันอยู่อย่างนี้ ทีนี้ นี้เรามี ทุกคนก็มีมากขึ้นจากการสะสม การได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน อะไรสักอย่างหนึ่งด้วยการใช้เหตุผลอย่างด้วยการผ่านไป ๆ ๆ ด้วยจิต ผ่านเรื่องทางจิตไปมากนั้นก็มี
ทีนี้ไอ้ปัญญาอย่างนี้แหละ ถ้ามันถูกดึงไปใช้ในกรณีฉุกเฉินที่มัน ๆ เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น อะไรนี้ อย่างนั้นก็เรียกว่าสติ มันแปลว่าความระลึกได้ คือเอาปัญญาเฉพาะกรณีนั้น ๆ วิ่งไปทันท่วงทีในกรณีนั้น ๆ ทำให้เรารู้สึกได้ ระลึกได้ นั่นเป็นปัญญาที่ไปในรูปของสติที่ระลึกได้
ทีนี้มันต้องการเวลาอยู่นานกว่านั้น มันก็ให้มีสัมปชัญญะให้คุมไว้ อย่าให้หนีกลับไปไหนเสีย ก็เป็นเรื่องของความรู้นั้นอีกเหมือนกัน ปัญญาที่เอาที่พาไปทันท่วงที เป็นสติ แล้วก็มีไว้จนกว่าจะเสร็จกรณี เรื่องนี้ ปัญหานี้ จะแก้ปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
คำพูดมีเพียงคำสั้น ๆ หรือลุ้นว่ามีสติคำเดียวนะ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดตัวกู หรือว่าแก้ไขตัวกูที่เกิดแล้วก็ตาม เรียกว่าสติตัวเดียว แต่แท้จริงมันเป็นตั้ง ๓ ตัว คือทั้งสัมปชัญญะและทั้งปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา แล้วสติจะเอาอะไรไป จะมีสติได้อย่างไร จะระลึกอะไรได้ ที่เราระลึกได้ เราระลึกซึ่งความจริง ความรู้ ความถูกต้องไอ้ที่เราเคยเข้าใจ เคยนั่นแล้ว
ความระลึกได้นั่นแหละจำเป็นมาก ถ้าเราระลึกไม่ได้มันก็เป็นหมันหมด เหมือนว่านักเรียนเรียนอะไรไปมากในโรงเรียนตลอดทั้งปี สะสมไว้เป็นความรู้มาก แต่เหมือนคราวสอบไล่มันนึกไม่ได้ มันระลึกไม่ได้ มันก็เลยเป็นหมันหมด จะสำเร็จประโยชน์อีกทีก็คือคราวที่มันระลึกได้ นึกได้ทันท่วงทีทันเวลา
ก็ลองไปสังเกตดู ไอ้บางอย่างบางเรื่องนั้นเรานึกไม่ทันความ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่ฉุกละหุกหรือฉุกเฉิน เราก็พ่ายแพ้ไปแล้ว ถ้าไปนึกได้ทีหลังจะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นไม่ว่าอะไรมันจะต้องมีขณะจำกัดสำหรับสติที่ระลึกได้ทันท่วงที เอาความรู้หรือปัญญาที่เหมือนกับอาวุธนี้ ไปใช้ฟาดฟันไอ้สิ่งที่มันเป็นปัญหาหรือข้าศึกให้มันพ่ายแพ้ไป
นี้ในกรณีป้องกันก็ตาม ในกรณีแก้ไขก็ตาม สติมันทำหน้าที่ของมันอย่างนี้ ดังนั้นเขาจึงเรียกว่า เรามันรอดอยู่ได้ด้วยสติ ชีวิตของเรานี้มันรอดอยู่ด้วยได้ด้วยสติชนิดที่มันเข้ารูปเข้ารอยอยู่เป็นพื้นฐาน เรียกอีกคำหนึ่งด้วยภาษาสันสกฤต คือ สฺมฺฤติ นี้คือคำในภาษาไทยว่า สมปฤดี ที่จริงตัวเดียวกันแหละ ไอ้สติเป็นภาษาบาลี สฺมฺฤติ นี้ก็สันสกฤต ตัวเดียวกันหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่พอเราเอามาใช้ในภาษาไทย เราเกือบจะได้กำไรคล้าย ๆ กับได้มาสอง ๆ ชนิดซึ่งไม่ค่อยเหมือนกัน สติอย่าง สมปฤดีอย่าง
มีสมปฤดีคืออย่างไร คำพูดธรรมดาในภาษาไทยเรา มีสมปฤดีก็คือเหมือนอย่างนี้ ถ้าไม่มีสมปฤดี มันก็สลบ เมื่อนั้นก็ว่าบ้า มีสมปฤดีนี้ก็คืออยู่อย่างนี้ นี้คุณก็จะลุก นั่ง เดินอะไรได้ โดยถูกต้องของสมปฤดี คือสติมันมาอยู่ได้ในทุกอิริยาบถ ตามที่เราเคยเรียนรู้มาแล้วอย่างไร และก็โดยอัตโนมัติหรือว่าโดยสัญชาตญาณก็มี จนเราจะลุกขึ้นนั่งได้โดยไม่ต้องล้มลงนี้ เพราะมันมีอะไรรู้ครบถ้วนของมันอยู่ในนั้น นี้สมปฤดีมีสติอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าตามธรรมชาติ
ที่ว่าที่เราจะไม่สะดุดก้อนหินนี้จะทำอย่างไร มันก็ทำมากกว่าธรรมชาตินั้นน่ะ ที่จะไม่ตกร่อง ที่จะไม่ชนต้นไม้หรือว่า นี้ก็เกินธรรมชาติ นี้ก็ต่อลงมาอีกมันก็ยังจะหลบหลีกอันตรายโดยเฉพาะสัตว์ร้าย ของที่เป็นอันตรายนี้ก็ยังมี กระทั่งว่าในเรื่องจิตใจโดยเฉพาะที่ว่า ถ้าเกิดมีโลภะ โทสะ โมหะ อันกิเลสเป็นไฟเผาให้เร่าร้อนนั้น สติอย่างนั้นยิ่งผิด ยิ่งสูงกว่าธรรมชาติมากไปอีกกว่า ต้องเกี่ยวกับการศึกษาอบรม
นอกจากจะเข้าใจอย่างที่พูดตอนตะกี้ว่า ไอ้เรานี้มันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยสติ ที่คุณเขียนหนังสือได้หรือนั่งฟังถูกนี้ ก็มีสมปฤดีมีสติพื้นฐานทั้งหลาย แต่หน ๆ หลังที่เคยสร้างไว้อบรมมา แต่เป็นภาษาไทยเรียกว่าสมปฤดี เรามีสมปฤดีอยู่ เราจึงทำอะไรได้ทุกอย่าง กระทั่งความปลอดภัย
นี้ถ้าปัญญา มันก็เหมือนกับไอ้สิ่งหนึ่งซึ่งสมปฤดีหรือสติมันจะเอามาใช้ พอเอามาใช้อย่างนี้ มันเป็นรูปสติหรือสมปฤดีหมด ถ้าจะต้องคุมกันอยู่นาน ๆ อย่างนี้ก็เรียกว่า สัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วถึงให้มันอยู่นาน ถ้าว่าไม่อย่างนั้นมันจะหายไปเสียอีก ระลึกได้แล้วลืมไปอีกนี้ เพราะมันไม่มีสัมปชัญญะพอ ถ้าระลึกไม่ถูกเรื่องก็ไม่มีความรู้ มันก็คือขาดปัญญา ดังนั้นเราก็อยู่ได้ด้วยสติ สัมปชัญญะ ปัญญา แต่กิริยาอาการเหล่านี้เราเรียกว่า มีสติ คำเดียวก็พอ
นี้เราสามารถทำจิตที่กำลังวุ่น ร้อนเป็นนรก คือไม่ว่างแล้ว ให้กลับว่างโดยการระลึกได้ ไปขนเอาปัญญาที่เราได้เคยคิดเคยนึกศึกษาแล้วเอามาด้วย และเอามาให้หัดให้มันเผชิญกันอยู่นี่กับไอ้ข้าศึกข้างหน้าโดยอาการของสัมปชัญญะ นี้ไอ้ข้าศึกคือกิเลสนั่นมันก็พ่ายแพ้ไป หรือมันหายถูกไหม้ ถูกเผาไหม้ลงไปด้วยไอ้สตินึกขึ้นหรือว่าปัญญาก็ได้ ปัญญาเปรียบเหมือนกับว่าอาวุธก็ได้ ก็ตัดอันนี้ขาดลงไป จิตก็จะกลับสภาพปรกติเดิม คือว่าง คือไม่ร้อน ไม่เป็นทุกข์
ถ้าเราในชีวิตประจำวันของเรา เกิดความร้อน เกิดความทุกข์ เกิดความหม่นหมอง ขนาดหัวเสีย ใจเสีย พื้นเสียอะไรขึ้นมานี้ ก็อย่าลืมนึก อย่าลืมนึกถึงสติ อย่า ๆ ลืมว่าเรามันต้องมีต้องใช้สติ ถ้าสติไม่มามันก็บ้าเลย ดังนั้นขณะที่ปราศจากสติก็เหมือนคนบ้าแล้ว ก็ต้องมีความทุกข์คือไม่ว่าง
จะทำจิตที่วุ่นวายไม่ว่าง ให้กลับว่างได้อย่างไร ก็โดยอาศัยสิ่ง ๆ เดียวนี้ แต่มีความหมายเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นปัญญา เพราะปัญญามันรู้ของมันเองว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ จะทำอย่างโน้น จะแก้ไขอย่างไร จะอดทนอย่างไร มันก็รู้ของมันเอง ถ้ามันรวมอยู่ในสติที่ขนเอาปัญญามาทันเวลาในกรณีนี้
นี้เรื่องพุทธศาสนาเกี่ยวกับ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ ต้องเป็นเครื่องแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีกล่าวไว้อย่างละเอียดลออในพระคัมภีร์ แต่เดี๋ยวนี้เอามาพูดในรูปที่ว่าเป็นประยุกต์เพื่อให้มันใช้ประโยชน์ได้ ก็อธิบายให้ฟังอย่างนี้ ธรรมดาเอาเก็บไว้เฉย ๆ เหมือนกับเอาใส่ยุ้งไว้เฉย ๆ ธรรมะอันวิเศษแสนจะประเสริฐของพระพุทธเจ้า ถูกเก็บใส่ยุ้งไว้เฉย ๆ เพราะว่าเอามาพูดไม่ได้บ้าง ไม่สามารถจะพูดให้เข้าใจได้บ้าง หรือมันไม่ประจวบเหมาะกันกับปัญหาของผู้ที่มีปัญหาหรือผู้ที่จะแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น
ยังมีอีกแยะในพระไตรปิฎกในพระคัมภีร์ที่มันเป็นหมันอยู่นั่นแหละ อย่างเรื่องนี้ก็เหมือนกัน เรื่องความว่าง เรื่องสติ เรื่องอะไรก็ไม่รู้จัก ใครจะพยายามทำความเข้าใจเอามาให้เพื่อนมนุษย์กันรู้จัก ก็ใช้ประโยชน์ให้ได้อย่าให้มันเป็นหมัน อย่างพุทธ พุทธศาสนาส่วนที่ประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ แม้ที่สุดแต่เรื่องความว่าง
อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสว่า นี้เหมาะสำหรับพวกฆราวาสทั้งหลายไอ้เรื่องความว่าง ทีนี้เราจิตว่างนี้ได้อย่างไร ก็มีที่กำลังพูดวันนี้ ข้อความในพระบาลีนั้น ชาวบ้านเหล่านั้นมันก็ไม่ได้ถามว่าทำให้ว่างได้อย่างไร แต่มันก็รู้ว่าเป็นเรื่องสูงเรื่องลึก มันก็ชวนขยาดเสียแต่ทีแรก
ทีนี้เราเพื่อจะสนองความประสงค์ของพระพุทธเจ้า ท่าน ๆ หวังว่า ไอ้สัตว์ทั้งหลายมันจะมีความสุขอยู่ได้เพราะเรื่องสุญญตานี้ คนอื่นไม่เอาก็ตามใจ แต่เรานี้จะช่วยให้คำศัพท์ของพระพุทธเจ้าเป็นประโยชน์และความจริงขึ้นมานั่นแหละ ก็ต้องสนใจอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ เพราะมันมีประโยชน์อย่างไร และทำขึ้นมาให้ได้อย่างไร
อย่างที่กำลังพูดวันนี้ว่า มันว่างอยู่ตามธรรมชาตินั้นประเภทหนึ่ง ทำให้มันคงอยู่ อย่า ๆ เผลอสตินี้นะ รักษาเอาไว้ด้วยสติ ที่คล้ายว่างยิ่งขึ้นไปก็โดยวิธีสมาธิและปัญญา เห็นความไม่ยึดมั่น เห็นความที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น นี้ก็อย่าง ทีนี้อีกอันหนึ่งไว้แก้ปัญหาที่ว่า มันวุ่นแล้ว ๆ มันจะให้เกิดว่างอย่างไร ก็อาศัยสตินี้เป็นเครื่องดึงกลับมา สติเป็นทั้งเครื่องป้องกัน เป็นทั้งเครื่องดึงกลับมา เป็นเครื่องรักษา เป็นได้ทุกอย่าง
วันนี้พอกันทีสำหรับว่าจะทำจิตให้ว่างได้อย่างไร