แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันที่ ๓ ของการบรรยาย ซึ่งจะได้กล่าวต่อจากการบรรยายในครั้งที่แล้วมา ขอให้ทบทวนความเข้าใจที่ว่าการบรรยายชุดนี้ได้ใช้หัวข้อว่า ธรรมศาสตร์เป็นศาสตราสำหรับตัดปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ มนุษย์มีปัญหาจึงได้หาเครื่องตัดจึงได้ศึกษาหรืออบรมวิชาธรรมะ ใช้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นเป็นศาสตราสำหรับตัดปัญหาของตน ข้อนี้ขอให้ทราบว่ามันเป็นหลักทั่วไปในข้อที่ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมเป็นเครื่องขจัดปัญหาของมนุษย์ แต่โดยเหตุที่คำว่าธรรมมีความหมายมาก แม้จะใช้กับสิ่งที่เป็นปัญหานั่นเองก็ยังได้เพราะธรรมแปลว่าสิ่งทั้งปวงนี่แหละคือความสับสนกำกวมของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ดังนั้นในครั้งที่แล้วมาจึงได้พูดให้เห็นชัดกันสักทีหนึ่งว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมีความหมายอย่างไร แล้วอาจจะแบ่งออกไปได้เป็นอย่างๆ กี่อย่าง แล้วจะเห็นได้ทันทีว่าส่วนไหนหรืออย่างไหนที่จะเอามาใช้ในฐานะเป็นธรรมศาสตราสำหรับแก้ปัญหาของมนุษย์เรา
สำหรับสิ่งที่เรียกว่าธรรมในความหมายทั้ง๔ นั้นได้กล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่าได้แก่ สภาวธรรม สัจจธรรม ปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรม ในวันนี้จะได้กล่าวโดยละเอียดไปทีละอย่าง ดังนั้นในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมในพระพุทธศาสนา ขอให้ผู้สนใจจะศึกษาพุทธศาสนาพยายามศึกษาสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมในฐานะที่เป็นธรรมอย่างหนึ่งในสี่อย่างนั้นให้ดีๆ เพราะมันเป็นต้นเงื่อนที่จะศึกษาธรรมโดยกว้างขวาง ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่เราเรียกว่าสภาวธรรม ก็จะสามารถศึกษาธรรมที่เหลือนั้นโดยละเอียด ขอให้เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เราเข้าใจธรรมะกันไม่ค่อยจะได้ ก็เพราะเหตุที่ไม่เข้าใจสิ่งซึ่งเรียกในที่นี้ว่าสภาวธรรม นั่นเอง ท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษารุ่นแรกหมายความว่าแรกที่จะมาศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นการตั้งต้นอย่างนี้ย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม แม้ว่าคำๆ นี้มันจะฟังเป็นคำที่ไม่ชวนให้สนใจ นั่นมันเป็นเพราะเขาเรียกกันมาอย่างนี้ที่จริงเป็นสิ่งที่ควรสนใจอย่างยิ่ง แล้วท่านจะได้เห็นต่อไปว่ามันน่าสนใจอย่างไร จะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ นี่อยู่ในธรรมหรือว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ได้โดยง่าย ถ้าเราเล็งถึงธรรมเพียงนิดเดียวที่มาใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาแล้วก็จะเห็นได้ว่าไอ้คำว่าธรรม สิ่งที่เรียกว่าธรรมมันรวมอยู่ในคำว่าธรรมศาสตร์เพราะคำพูดมันบอกอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม โดยกว้างขวางสิ้นเชิงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ ก็กลายเป็นของนิดเดียวรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ซึ่งอย่างมากก็จะเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งหมด ในข้อนี้อยากจะขอทบทวนข้อความที่พูดมาแล้วในครั้งที่แล้วมาว่า ธรรมใน ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่หนึ่งคือตัวธรรมชาติ ความหมายที่สองคือกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สามหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สี่ผลที่จะได้รับโดยสมควรแก่กฎของธรรมชาติ นี่ขอให้ฟังดูให้ดีๆ ว่ามันเป็นการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติในลักษณะที่จะเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งก็ได้ ถ้าพูดอย่างนี้มันฟังง่ายว่าธรรมชาติอย่างหนึ่ง กฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง หน้าที่ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ง่ายแก่ท่านทั้งหลาย แต่พอมาใช้คำบาลีเรียกชื่อสิ่งเหล่านี้ ไอ้ธรรมชาตินั้นก็ถูกเรียกว่า สภาวธรรม กฎธรรมชาติก็ถูกเรียกว่า สัจจธรรม หน้าที่ตามธรรมชาติก็เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ผลที่จะได้จากการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เรียกว่า ปฏิเวธธรรมหรือว่าจะเรียกว่าวิปากธรรม บ้างก็ได้ ดูมันเป็นเรื่องที่ไม่ชวนสนใจไปหมดถ้าใช้คำบาลีและท่านหลายๆ คนคงรู้สึกอยู่อย่างนี้ ที่เอามากล่าวให้ฟังอย่างนี้ก็เพื่อจะให้รู้ข้อเท็จจริงสักอย่างหนึ่งว่าเมื่อพูดเป็นภาษาบาลีที่แปลกหูแล้วมันก็ไม่ชวนให้สนใจ แต่ถ้าพูดด้วยคำธรรมดาสามัญโดยเฉพาะคำที่รู้อยู่ดีแล้วมันก็จะชวนให้สนใจ นี้ทำไมจะต้องพูดด้วยคำที่ไม่ชวนให้สนใจคือคำบาลี ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันยังมีความจำเป็นอีกมากที่จะต้องใช้คำบาลีเพราะว่าต้องการจะศึกษาให้มันก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป จะใช้คำธรรมดาก็จะได้แต่ในบางกรณีหรือบางระดับต่อไปข้างหน้ามันก็ไม่อาจจะใช้ได้ เพราะฉะนั้นเราทำความคุ้นเคยกับคำบาลีเหล่านี้ไปตั้งแต่ต้นเรื่อยๆไปจะดีกว่า สลัดความรู้สึกที่ว่ารุ่มร่ามไม่น่าสนใจนี้ออกไปเสียก่อน ถ้าได้รู้ความหมายของคำว่า ของคำบาลีนั้นๆ แล้วจะสนใจยิ่งกว่าคำภาษาไทยธรรมดาสามัญด้วยซ้ำไป ขอให้สนใจติดตามศึกษาให้รู้จักความหมายของคำบาลีเหล่านี้หรือทำความคุ้นเคยกับคำบาลีเหล่านี้กันเรื่อยๆไปดังที่กล่าวแล้ว คำ ๔ คำที่ว่า คำ ๔ คำที่มีอยู่ว่า ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ผลตามธรรมชาติ นี้เมื่อพูดเป็น สภาวธรรม สัจจธรรม ปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรม อันไหนจะได้ความดีกว่ากันหรือลึกซึ้งกว่ากัน ตั้งต้นแต่คำว่า สภาวธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายกันโดยละเอียดในวันนี้ คำว่าสภาวธรรม ตัวหนังสือมันก็แปลว่าธรรมที่เป็นได้เองหรือเป็นอยู่เอง สภาวะ ก็แปลว่าเป็นเอง เป็นได้เองหรือเป็นอยู่เอง เพราะว่าคำว่า สะ มันแปลว่าเอง รู้คำภาษาบาลีเพิ่มขึ้นบ้าง ภาวะแปลว่าเป็น สภาวะมันแปลว่าเป็นเอง คือเป็นอยู่เองเป็นได้เอง นี้คำว่า ธรรม นี้คือธรรมที่เคยบอกไว้แล้วว่าไม่ควรจะแปล ถ้าไปแปลมันจะลำบากเพราะมันจะไม่หมด นี้ค่อยๆ ศึกษาไปโดยการใช้คำว่า ธรรม นี้เรื่อยๆไป แต่ถ้าจะแปลก็แปลได้แต่เพียงว่า สิ่ง จะขยายความออกไปอีกก็ว่าสิ่งที่มันทรงตัวมันอยู่ได้ คือสิ่งที่มีการทรงตัวอยู่ได้ เดี๋ยวนี้รวมกันเข้าทั้งสองคำคือสภาวะคำหนึ่ง ธรรมคำหนึ่ง นี้แปลว่า สิ่งที่มันคงตัวอยู่ได้โดยความเป็นตัวมันเองคือเป็นอยู่ได้เอง นี่เป็นความหมายกว้างๆ ของคำๆ นี้และตามตัวหนังสือ แต่ว่าธรรมชาติที่ทรงตัวอยู่ได้เองเขาเรียกว่า สภาวธรรม บางทีใช้คำว่า ธรรม บางทีใช้คำว่าธรรมชาติ นี่ภาษาบาลีมันเท่ากันหรือมันสิ่งเดียวกัน ในภาษาไทยอาจจะบัญญัติไว้ต่างกัน เมื่อยึดถือภาษาไทยเป็นหลักมันก็จะฉงนบ้าง เดี๋ยวนี้เมื่อถือตามภาษาบาลีจะเรียกว่าธรรมก็ได้ เรียกว่าธรรมชาติก็ได้ เป็นตัวหนังสือตัวเดียวกันด้วยซ้ำไป คือคำว่าธรรมนั่นแหละแปลว่าธรรมชาติ นี้ดูต่อไปสิว่าธรรมชาติที่ทรงตัวอยู่ได้เอง นี้มันแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด ชนิดที่หนึ่งทรงตัวอยู่ได้เองด้วยอนิจภาวะหรืออนิจสภาวะคือสภาวะที่ไม่เที่ยง ที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย อันที่สอง ทรงตัวเองอยู่ได้ด้วยนิจภาวะคือสภาวะที่เที่ยงที่ไม่เปลี่ยนแปลง นี่ขอให้ฟังดูให้ดีว่าความคิดของคนโบราณในประเทศอินเดียสองสามพันปีมาแล้ว เขาเล็งเห็นธรรมชาติกันในลักษณะอย่างนี้ ได้บัญญัติความข้อนี้ไว้ แล้วก็นำมาใช้ในพุทธศาสนาด้วย ทรงตัวอยู่ได้เองด้วยอนิจสภาวะคือสภาวะที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย นี่ก็มี หมายความว่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงที่มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่หยุดไม่สิ้นสุดนั่นแหละ มันเป็นปรากฏการณ์อันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ มันมีการทรงตัวอยู่ของปรากฏการณ์อันนั้นแล้วก็เรียกสิ่งนั้นว่ามันเป็นสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มันสืบต่อกันเรื่อยไม่มีขาดตอน ก็ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นเครื่องสืบต่อกันไว้ไม่อย่างนั้นมันจะหยุดหรือมันจะสลายลง ถ้าสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะไม่เปลี่ยนแปลงแล้วมันก็หยุดหรือสลายลงมันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ เดี๋ยวนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย มันมีกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งไหลไปไม่มีหยุด มันจึงมีการทรงตัวอยู่ได้เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่งคือกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เราจึงเรียกสภาวธรรมพวกนี้ว่ามันทรงตัวอยู่ด้วยอนิจสภาวะคือสภาพที่ไม่เที่ยงที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย จะเรียกพวกนี้ว่า สังขตธรรมหรือสังขารธรรมหรือคำอื่นๆ ซึ่งมีความหมายว่า มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็จะได้พิจารณากันโดยละเอียด ส่วนสิ่งที่สอง ทรงตัวอยู่ได้ด้วยนิจสภาวะคือสภาวะที่เที่ยงที่ไม่เปลี่ยนแปลง นี่มันก็ตรงกันข้ามจากไอ้สิ่งที่หนึ่ง สิ่งที่หนึ่งทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง นี้ตัวกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี่แหละคือตัวมันเอง นี้สิ่งที่สองนี่มันทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมันต้องต่างกันโดยสิ้นเชิงและต่างกันอย่างมากมาย ที่ว่าเพียงแต่จะกลับคำพูดนิดเดียวนี้มันก็ยังไม่พอ มันไม่มีความเปลี่ยนแปลง มันมีอยู่เป็นนิจ เพราะมันต้องมีรูปร่างอย่างอื่น ซึ่งผิดกันมากกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงหรือถึงกับไม่มีรูปร่าง นี้จะต้องพูดกันเป็นพิเศษในที่นี้เพียงแต่เอามาพูดพร้อมๆ กันทีหนึ่งก่อนให้ได้ยินได้ฟังสองเรื่องซึ่งมันเป็นของคู่กัน สภาวธรรมประเภทที่อยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลงกับอยู่ด้วยการไม่เปลี่ยนแปลงนี่มันเป็นคู่อยู่อย่างนี้และทั้ง ๒ อย่างนั้นเป็นสภาวธรรมที่เป็นสักว่าธาตุ ธา- ตุ ธาตุ ตามธรรมชาติ ธาตุอย่างหนึ่งมีอยู่ มีปัจจัย มีอยู่อย่างมีปัจจัยปรุงแต่งผลักไสจึงมีการเปลี่ยนแปลง แล้วธาตุอีกอันหนึ่งมันไม่มีปัจจัยผลักไสปรุงแต่งมันจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ตั้งอยู่อย่างเป็นธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่ามันมีอะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงกันมาเรื่อยไปที่เรียกว่าปัจจัยคือ ของปรุง เมื่อปรุงสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นก็ปรุงสิ่งอื่นต่อไป นี่เรียกว่ามีปัจจัยปรุงแต่ง มันจึงมีความไม่เที่ยงปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งที่มันเที่ยงมันก็จะต้องไม่มีปัจจัยอะไรชนิดนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดนั้นมันจึงละเอียดและเห็นยากกว่ากันมากมายทีเดียว เช่นเราจะเห็นความไม่เที่ยงได้ง่ายๆ อย่างนี้ แต่พอจะเห็นสิ่งที่เที่ยงมันกลับเห็นยาก มันไม่เหมือนกับของที่ว่าก้อนหินก้อนนี้มันถูกสมมติว่าเป็นของเที่ยง มันเห็นง่าย เห็นง่ายกว่าก้อนหิน สมมติว่าก้อนหินก้อนหนึ่งมันวิ่งเรื่อยอย่างนี้มันก็เห็นยาก แต่ก็ยังเห็นง่ายเพราะมันมีก้อนหินวิ่งไปไหลไป ไอ้ส่วนที่เรียกว่าเที่ยงหรือว่าเป็นไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยนั้นมันไม่มีรูปร่างเป็นก้อนหิน ถ้ามันมีรูปร่างเป็นก้อนหินมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของก้อนหิน เพราะมันต้องไม่มีรูปร่างเป็นก้อนหิน สิ่งที่เรียกว่าเที่ยงนั้น หรือว่าเป็นอะไรก็ตามในเมื่อสิ่งที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงมีความเปลี่ยนแปลงและมันมีรูปร่างให้เห็น ก็สัมผัสได้ด้วยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้ด้วย ไอ้ส่วนที่สิ่งๆ ที่ตรงกันข้ามและไม่อาจจะรู้ได้ด้วยลำพังตาหูจมูกลิ้นกายและไม่รู้สึกได้ด้วยจิตวิญญาณตามธรรมดา แต่จะรู้สึกได้ด้วยสติปัญญาที่ลึกซึ้งที่อบรมมาดีแล้ว นี่สรุปสักทีหนึ่งก่อนว่าไอ้สภาวธรรมที่ไม่เที่ยงที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยนั้น เรารู้สึกได้ง่ายๆ ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจตามธรรมดา ส่วนสภาวธรรมที่เป็นของเที่ยงนั้นไม่มองเห็นได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจตามธรรมดา แต่จะเห็นได้ด้วยสติปัญญาที่อบรมมาดีเป็นพิเศษถูกต้องและถึงที่สุดแล้วก็ลองทายกันดูทีว่าอะไร เดี๋ยวจะไปเปรียบเทียบกันว่าก้อนหินก้อนหนึ่งวิ่งแล้วก็เป็นของเปลี่ยนแปลง ก้อนหินก้อนหนึ่งนอนอยู่ที่ตรงนี้ก็เป็นของไม่เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ก็ผิดเหลือที่จะผิด ผิดจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรละ นี่เป็นตัวอย่างของเรื่องที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะเข้าใจ ทีนี้จะทบทวนด้วยการเปรียบเทียบเป็นคู่นี้ต่อไปอีกว่าสิ่งที่มีสภาวะไม่เที่ยงตรงกันข้ามกับที่มีสภาวะเป็นของเที่ยง สภาวะที่เป็นของเที่ยงนั้นไว้พูดวันหลัง เดี๋ยวนี้เพียงจะเปรียบเทียบกันแต่ชื่อว่าไอ้สภาวะที่มันไม่เที่ยงเรียกว่ามันมีปัจจัยปรุง ดังนั้นสภาวะที่เที่ยงมันจึงไม่มีปัจจัยปรุง ที่มีปัจจัยปรุงนั้นเขาเรียกว่า สังขตธรรม แปลว่าถูกปัจจัยปรุง ส่วนอีกอันหนึ่งก็ต้องเรียกว่า อสังขตธรรมคือไม่ถูกปัจจัยปรุง มันมีคำแทนกันได้ว่าพวกที่มีปัจจัยปรุงหรือสังขตธรรมนั้นบางทีก็เรียกว่าสังขารหรือสังขารธรรม ธรรมที่เป็นสังขารคือมีการปรุงแต่ง ส่วนที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เลยเรียกว่าวิสังขารคือปราศจากสังขาร ปราศจากการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นต้องจำคำเป็นคู่ๆ ว่า สังขตธรรมมันก็คู่กับอสังขตธรรม สังขารธรรมก็คู่กันกับวิสังขารธรรม ที่เรียกว่าธรรม นี่บางทีเรียกว่าธาตุก็ได้ความหมายเดียวกัน มันจึงมีคำว่า สังขตธาตุคู่กับอสังขตธาตุ แต่ถ้าเมื่อจะสรุปเอาใจความกันสั้นๆ แล้วก็ว่ามันมีปัจจัยปรุงกับไม่มีปัจจัยปรุงเท่านั้นเอง นั้นจำไอ้คำที่เป็นความหมายไว้ให้ได้ก่อนจะรับประกันความฟั่นเฝือ ไอ้ความไม่ฟั่นเฝือ ว่ามีปัจจัยปรุงกับไม่มีปัจจัยปรุงแล้วค่อยทำความเข้าใจกันต่อไปว่าอะไรคือปัจจัยและมันปรุงกันอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าปัจจัยในที่นี้คู่กับก็คล้ายๆ กับคำว่าเหตุ มันมีเหตุ เหตุจะเป็นต้นเหตุโดยตรงก็เรียกว่าเหตุ ถ้าเป็นเหตุโดยอ้อมก็เรียกว่า ปัจจัย เช่นเราจะมีบ้านเรือนขึ้นมาสักหลังนี่ ลองทายกันดูสิว่าเหตุโดยตรงคืออะไร เหตุโดยอ้อมคืออะไร เหตุโดยตรงมันก็คงมันก็ควรจะได้แก่ความต้องการของคนที่เป็นเจ้าของบ้าน นั่นแหละ มันเป็นต้นเหตุโดยตรงที่จะทำให้เกิดเป็นบ้านนี้ขึ้นมา ส่วนเหตุโดยอ้อมก็คือ ปัจจัย เช่น เงินที่จะมาสร้างมันหรือว่าไม้อิฐปูน แล้วก็สุดแท้ กระทั่งแต่นายช่างที่เราไปจ้างเอามาทำบ้านเรือนหลังนี้ นี่มันเป็นเหตุโดยอ้อมทั้งนั้นแหละก็เรียกว่าปัจจัย นี่ศึกษาภาษาบาลีเล็กๆ น้อยๆ กันไปพลางว่าเหตุที่เป็นต้นเหตุก็คงเรียกว่าเหตุ ถ้าเหตุที่เป็นเหตุโดยอ้อมก็เรียกว่าปัจจัย ดังนั้นมันจึงมีมากกว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าเหตุ แต่เดี๋ยวนี้ก็นิยมใช้คำว่า ปัจจัย สำหรับสิ่งที่มีปัจจัยปรุงสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงเพราะว่าปัจจัยมันมีมาก แต่แล้วมันก็ต้องมีเหตุที่เป็นตัวเหตุตัวการอยู่อย่างหนึ่งควบกันไปในตัว ที่เรียกว่าสภาวธรรม ธรรมที่เป็นเอง ต้องมีเหตุมีปัจจัย ก็หมายความว่าเหตุปัจจัยนี่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ ย่อมปรุงแต่งกันอยู่โดยกฎเกณฑ์อันหนึ่งซึ่งเราก็จะมองไม่เห็น เราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นไม่สำคัญ ไอ้กฎเกณฑ์อันนั้นก็ทำให้มีอำนาจทำให้สิ่งที่เป็นปัจจัยนี้ปรุงแต่งกันไป เหตุหรือกฎที่ทำให้ปัจจัยปรุงแต่งกันไปนั้นเราเรียกว่ากฎอีกทีหนึ่ง หรือเหตุที่มันซ้อนอยู่ในชั้นลึกอีกทีหนึ่ง นี่เป็นธรรมะหมวด ธรรมประเภทที่สองที่เรียกว่า สัจจธรรมหรือกฎธรรมชาติ เห็นดูกันแต่เหตุที่มันเนื่องกันอยู่ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปตามกฎ ตามกฎของธรรมชาติด้วยกัน ซึ่งทุก คนก็พอจะเข้าใจได้ว่าอย่างว่าต้นไม้ต้นนี้มันก็ต้องมีเหตุปรุงแต่งกันมาเรื่อยหลายๆ ชั้นหลายๆ ระดับ มันจึงมาเป็นต้นไม้อยู่ที่นี่แล้วกำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามเหตุตามปัจจัยก็ปรุงแต่งให้มีภาวะอย่างอื่นต่อไปข้างหน้าไม่สิ้นสุด ถ้าเรามองดูให้เห็นในสิ่งที่เห็นง่ายๆ เช่น ต้นไม้ต้นนี้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างไรอยู่ แล้วก็ร่นเวลาให้มันน้อยเข้ามันก็จะเป็นภาพของการไหลเวียนของเหตุของปัจจัยที่ต้นไม้เกิดขึ้นก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปกระทั่งมันสิ้นสุดดับลงไป นี่เรียกว่าเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกัน ในพวกที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่เที่ยงเป็นลักษณะก็ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น นี้จะดูให้ละเอียด ทีนี้เราจะดูให้ละเอียดลงไปสำหรับสิ่งที่เรียกว่าสังขตธรรม คือสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งหรือว่าสังขตธาตุ ธาตุที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือพวกที่มีความเปลี่ยนแปลง สังขตธรรมกับสังขตธาตุ ความหมายเหมือนกัน แต่คำว่าธรรม นี่ชอบแปลว่า สิ่ง คำว่าธาตุก็แปลว่า ไอ้หน่วยเล็กที่สุดหรือหน่วยแรกที่สุดที่จะประกอบกันขึ้นเป็นหนึ่งหน่วย ๆใหญ่ หน่วยใหญ่ๆ แต่ตัวหนังสือมันแปลเหมือนกันนะ คือว่าแปลว่าทรงตัวอยู่เหมือนกัน คำว่าธาตุก็ดี คำว่าธรรมก็ดี ให้ดูถึงคำว่า สังขตธาตุหรือสังขตธรรม คำนี้เปล่งถึงสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและเปลี่ยนแปลง แล้วก็แยกออกไปเป็นสองพวก พวกที่มีรูปร่างสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย นี่ก็เรียกว่า รูปธาตุหรือรูปธรรม ทีนี้ไอ้พวกที่มันจะต้องอาศัยการสัมผัสทางใจอย่างเดียวนี่ ก็เป็นสักว่าชื่อนี่ ก็เรียกว่านามธาตุหรือนามธรรม อันหนึ่งเรียกว่ารูป อันหนึ่งเรียกว่านาม ตัวหนังสือของคำว่ารูปนั่นมันแปลว่า สลาย เกิดและสลายอยู่เรื่อยเป็นของที่สัมผัสได้ แต่คำว่านามแปลว่าชื่อ มันเป็นสิ่งที่มิใช่รูป ถ้าจะแยกกันให้ชัดมันก็ต้องเรียกแยกว่าเป็นวัตถุธาตุกับเป็นมโนธาตุ วัตถุธาตุก็คือธาตุที่เป็นวัตถุ มโนธาตุก็คือธาตุที่เป็นมโนคือใจ คนที่ไม่เคยฟังก็สังเกตดูให้ดีว่าจะเป็นเรื่องวัตถุธาตุก็เรียกว่าธาตุ จะเป็นเรื่องจิตใจก็ยังเรียกว่าธาตุ นี้อาจจะแปลกกว่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา คำว่าวัตถุธาตุหมายถึงธาตุที่เป็นวัตถุ มโนธาตุหมายถึงธาตุที่ไม่ใช่วัตถุแต่เป็นใจเป็นจิตใจ บางทีเรามีคำอีกคู่หนึ่งว่ากายหรือจิต ซึ่งอาจจะพูดได้เหมือนกันว่ากายธาตุหรือจิตธาตุ กายธาตุคือธาตุทางกาย ธาตุฝ่ายกาย จิตธาตุธาตุฝ่ายจิต นี่ยกตัวอย่างมาให้ดูสองสามคู่ว่า รูปกับนามก็ได้นี่คู่หนึ่ง วัตถุกับมโนหรือจิตหรือใจนี่ก็คู่หนึ่ง หรือกายกับจิตนี่อีกคู่หนึ่ง แต่แล้วมันเหมือนกันแหละในความหมายเหมือนกัน อันหนึ่งมันเป็นรูปมันเป็นของแข็งในภาษาธรรมะ รู้สึกได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย ใจด้วยแต่ไม่มีไม่สำคัญเท่าตาหูจมูกลิ้นกาย ส่วนอีกพวกหนึ่งไม่รู้ได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย รู้ได้ด้วยใจล้วน ความคิดนึก ความรู้สึก หรืออารมณ์ของใจนี้ รู้สึกได้ด้วยใจล้วน นี่มาพูดกันเสียใหม่ก็ว่า ไอ้ธาตุที่จะรู้สึกได้ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี่ก็เรียกว่าธาตุชนิดหนึ่ง หรือธาตุที่จะรู้สึกได้ด้วยลำพังใจล้วนๆ นี่ก็เรียกว่าธาตุอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือเป็นรูปธาตุกับนามธาตุขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ขอร้องให้จำคำว่า รูปและนามนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าจะเป็นคำสำคัญที่จะศึกษาพุทธศาสนาต่อไปข้างหน้า สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาพุทธศาสนาให้ละเอียดลออชัดเจนแล้ว มันช่วยไม่ได้เว้นไม่ได้ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับคำว่ารูปและนามหรือนามและรูปนี้ มันยังจะมีอีกต่อไปข้างหน้าอีกมากมายทีเดียว นี่จะเรียกว่ารูปก็ตาม จะเรียกว่านามก็ตาม มันเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขตธรรมหรือสังขตธาตุเหมือนกัน เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งมันก็ต้องไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงคือไหลเรื่อย นี้ขอให้หลับตาทำมโนภาพมองดูไอ้สิ่งที่มันไหลเรื่อยนี้ที่เป็นรูปธรรมก็ไหลเรื่อย ที่เป็นนามธรรมก็ไหลเรื่อย ที่เป็นรูปธรรมก็ไหลอยู่ข้างนอก คือสิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย นั่นเอง รูปทั้งหลายที่เห็นได้ด้วยตาก็ไหลเรื่อย ดูให้ดีก็เห็นว่าไหลเรื่อยแม้ก้อนหินนี้มันก็ไหลเรื่อยในความหมายหนึ่ง นี้เสียงที่ได้ยินทางหูก็ไหลเรื่อยไม่เช่นนั้นมันได้ยินไม่ได้ หรือมันจะเป็นเสียงอย่างที่เสียงผมกำลังพูดให้คุณฟัง นี่มันก็คือสิ่งที่ไหลเรื่อยด้วยเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันจึงเป็นเสียงขึ้นมาและเป็นไปตามความผลักดันของเหตุปัจจัย มันจึงไหลเรื่อยด้วยอาการที่เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๆ นี่ ถ้าเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาก็ย่อมรู้อยู่ดีแล้วว่าเสียงนั้นเป็นเพียง vibration คือกระแสแห่งการสั่นสะเทือนของสิ่งที่มันสั่นสะเทือนได้ตามมากตามน้อย สั่นสะเทือนมากสั่นสะเทือนน้อยเป็นเสียงสูงเสียงต่ำ ถ้าเรามาบัญญัติความหมายกันว่าเสียงอย่างนั้นมีความหมายอย่างนั้น ก็มนุษย์พูดเป็นและก็รู้จักความหมายของเสียงมาต้องไม่รู้กี่หมื่นปีมาแล้ว สิ่งที่เรียกว่าเสียงก็คือสิ่งที่ไหลเรื่อย สิ่งที่เรียกว่ากลิ่นรู้ได้ด้วยจมูกก็เป็นสิ่งที่ไหลเรื่อยมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วกระทบกับฆานประสาท มีความเข้มและความจางต่างๆ กัน จึงได้กลิ่นอย่างนั้น กลิ่นอย่างนี้ กลิ่นอย่างโน้น รสที่จะรู้ด้วยลิ้นนี่ก็เรียกว่าอยู่ข้างนอกมาแตะลิ้นทำปฏิกิริยาต่อลิ้นคือเส้นประสาทที่ลิ้นต่างๆ กัน ตามอณูของมันที่มันต่างกัน มันจึงมีรสหวาน รสขม รสเค็ม รสเปรี้ยวอะไรได้ เป็นเรื่องไหลเรื่อย แล้วก็โผฏฐัพพะคือสัมผัสผิวหนังเป็นเรื่องที่ไหลเรื่อย มีการสัมผัสข้างต้นแล้วก็มีความรู้สึกต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าไอ้ของนั้นมันไปถูกกับเนื้อที่เต็มอยู่ด้วยเส้นประสาทสำหรับรู้สึก ถ้ามันไปถูกด้วยน้อยเราก็รู้สึกเป็นของหยาบของแข็งของกระด้าง ถ้ามันเป็นของอ่อนมากมันถูกด้วยมากมันก็รู้สึกเป็นของนิ่มนวลล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าไหลเรื่อย ถ้าเรียนธรรมะอย่างจริงจังก็ต้องหลับตาให้เห็นไม่ใช่ลืมตาเห็น ความที่ไหลเรื่อยของสิ่งที่เรียกว่ารูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสนี่เรียกว่า รูปธรรม มันไหลเรื่อย ที่นี้สิ่งที่สอง ธรรมที่สองคือ นามธรรม ความรู้สึกคิดนึกที่จะรู้สึกได้ด้วยใจล้วนๆ นี้ก็ไหลเรื่อย เช่น ตาเห็นรูปแล้วมันเกิดการเห็นทางตานี้ก็เรียกว่าจักษุวิญญาณ นี่ก็คือการไหลชนิดหนึ่ง เมื่อตะกี้ก็ไม่มีเดี๋ยวนี้ก็มีจักษุวิญญาณขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกข้างในเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นต้น ความรู้สึกที่มันทยอยกันขึ้นมาเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งๆ ในจิตใจของคนนี้ เรียกว่านามธรรม มันก็ไหลเรื่อย ยกตัวอย่างพอให้เห็นได้ว่าไหลเรื่อย รายละเอียดไว้พูดทีหลัง เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ ๆนี้เป็นนามธรรม วิญญาณทำหน้าที่ทางตา พบกันอย่างนี้แล้วเรียกว่าผัสสะ นี้ก็ยังเป็นนามธรรมก็ยังเนื่องอยู่กับรูปธรรม การกระทบระหว่างวิญญาณกับรูปกับตานี้ นี้ผัสสะก็คือเวทนา รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจในรูปนั้น เวทนานี้ก็เป็นนามธรรม นี่ว่าจะเกิดสัญญาสำคัญมั่นหมายว่าจะสวยไม่สวย น่ารักไม่น่ารัก สัญญานี้ก็เป็นนามธรรม ก็ทำให้เกิดความอยากคือตัณหาอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา ในรูปที่สวยก็อยากไปอย่าง ในรูปไม่สวยก็อยากไปอีกอย่าง ที่ยังไม่แน่ว่าจะสวยหรือไม่สวยก็อยากไปอีกอย่างหนึ่ง ตัณหาคือความอยาก นี่ก็เป็นนามธรรมคือเป็นความรู้สึกของจิต เมื่อมีตัณหาแล้วมันก็จะต้องมีความรู้สึกวิตกวิจารณ์ คิดครุ่นคิดไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับสิ่งที่อยากนั้น นี้ก็เป็นนามธรรมก็ไหลไปในขั้นนี้ กระทั่งเกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่าอุปาทาน เป็นตัวเราเป็นของเราอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา นี้ก็เป็นนามธรรม แล้วเกิดความคิดที่เป็นสังขารโดยตรงว่าจะทำอย่างไร จะเอาหรือว่าจะฆ่าให้ตายหรือว่าจะขโมยหรือว่าสุดแท้ มันก็เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกในใจ นี่ขอให้สังเกตดูว่ามันเป็นนามธรรมหลายๆ ชนิด เกิดส่งต่อกันมาเรื่อยทยอยกันมาเรื่อย ที่เรียกว่านามธรรมก็ไหลเรื่อย รูปธรรมก็ไหลเรื่อย เพราะเหตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้นจึงเรียกว่าสังขตธรรม แล้วก็เป็นอนิจสภาวธรรม คือธรรมที่ทรงตัวอยู่ด้วยความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ก็เรียกว่าได้ธาตุมาสองธาตุ ละได้ธรรมมาสองธรรมละ สำหรับสังขตธรรมอย่างเดียว ได้มาสองอย่างแล้วคือ เป็นรูปอย่างหนึ่งเป็นนาม อย่างหนึ่ง เป็นของแข็งสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายนี่ก็เรียกว่ารูป สัมผัสได้ด้วยใจล้วนก็เรียกว่านาม คือได้รูปธรรมนามธรรมมา หรือได้รูปธาตุและนามธาตุมา ที่เรียกว่าธาตุนั้นก็เพราะมุ่งหมายจะให้เป็นส่วนย่อยที่สุดคือส่วนล่างสุด ส่วนข้างล่างสุดนี่เป็นความหมายทั่วไป ภาษาไหนก็เหมือนกัน แม้แต่ภาษาต่างประเทศก็เหมือนกัน ที่เขาเรียกว่าธาตุแล้วก็ย่อมจะหมายถึงหน่วยที่น้อยที่สุด หรืออันล่างที่สุดที่จะมาประกอบกันเข้าเป็นหน่วยใหม่ หน่วยอื่นต่อๆ ไป เราจึงเรียกส่วนสุดนั้นว่าเป็นธาตุ แท้จริงที่เรียกว่ารูป มันทำหน้าที่เป็นหน่วยสุดอย่างนั้นก็เรียกว่ารูปธาตุ ถ้ามันถ้านามมันทำหน้าที่เป็นหน่วยสุดของชนิดนั้นก็เรียกว่านามธาตุ แต่ถ้ามันทำหน้าที่เป็นหน่วยต่อมา คือปรุงแต่งกันเสร็จแล้ว เราก็จะไม่เรียกว่ารูปธาตุ นามธาตุก็ได้ จะเรียกเป็นรูปธรรม นามธรรมไป เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดถึงธาตุเพราะมันดูเห็นลึกซึ้งดีคือทรงตัวอยู่ได้ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นเพียงรูปธาตุแท้ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อหน่วยน้อยที่สุดส่วนย่อยที่สุดมันเปลี่ยนแปลง ไอ้ส่วนใหญ่ที่มันประกอบขึ้นด้วยส่วนน้อยๆ นั้นมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อรูปธาตุมันเปลี่ยนแปลงไอ้รูปธรรมทั้งหลายมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ เป็นต้น เราได้ไอ้ตัวธาตุเป็นรูปธาตุกับอรูปธาตุ หรือจะเรียกว่ารูปธาตุและนามธาตุอย่างนี้ก็ได้ นี้ในมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ประกอบอยู่ได้ด้วยธาตุคือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ บางคนไม่เคยได้ฟังอาจจะไม่เข้าใจ ถ้าสนใจจะศึกษาพุทธศาสนามันก็ต้องทนฟังทนศึกษา เมื่อ ถือตามหลักธรรมในพุทธศาสนานี่ก็ว่าคนๆ หนึ่งประกอบด้วยธาตุ ๖ ธาตุ คือที่เป็นรูปธาตุนั้น ๔ คือ ดิน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่นี้เรียกว่ารูปธาตุ ทีนี้เป็นนามธาตุคือ อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้พอจะเข้าใจได้เองว่าเป็นของแข็งสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย นั้นคือรูปธาตุมีอยู่สี่อย่าง นี้ส่วนนามธาตุก็หมายถึงอากาศธาตุและวิญญาณธาตุนี้มันต่างกันหน่อย อากาศเป็นนามธาตุ ด้วยเหตุสักว่ามันเป็นแต่สักว่าชื่อเพราะอากาศ ในที่นี้ต้องหมายถึงที่ว่างหรือความไม่มีดินน้ำลมไฟ หรือไม่มีวิญญาณด้วยก็ได้ มันเป็นความว่างเป็นธาตุว่าง ได้ชื่อว่านามธาตุเพราะมันเป็นสักแต่ว่าชื่อ ส่วนวิญญาณธาตุคือธาตุจิตธาตุใจนั้น ได้ชื่อว่านามธาตุเพราะว่ามันเป็นเรื่องจิตใจ เป็นเรื่องธาตุฝ่ายมโน ธาตุฝ่ายจิตใจ เพราะฉะนั้นเราจึงมีธาตุพื้นฐานที่สุดที่จะประกอบกันขึ้นเป็นคนๆ หนึ่ง ๖ ธาตุด้วยกัน ธาตุดินเรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุน้ำเรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุไฟเรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุลมเรียก วาโยธาตุ ที่ว่างหรือส่วนที่ว่างไม่มีอะไรเลยเรียกอากาศธาตุ ส่วนที่เป็นจิตใจทุกชนิดนั่นเรียกว่าวิญญาณธาตุ นี้คนที่เล่าเรียนมาอย่างอื่นหรือเรียนวิทยาศาสตร์อย่างใหม่ของพวกฝรั่ง ก็จะไม่เข้าใจในข้อที่ว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วคำอธิบายก็มักจะสะเพร่าไม่ค่อยตรงตามความจริง เรามาศึกษาข้อนี้กันในฐานะเป็นไอ้ความรู้พื้นฐาน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันมีอยู่ในร่างกายนี้อย่างไร ธาตุดินนั้นคือ เล็งถึงไอ้คุณสมบัติที่มันเป็นการกินเนื้อที่ รุกล้ำเนื้อที่ มันจะเป็นอะไรก็ตามใจ ถ้ามันเป็นสิ่งที่กินเนื้อที่ ต้องการเนื้อที่ รุกล้ำเนื้อที่ สิ่งนั้นจะต้องเรียกว่าธาตุดิน คือเป็นของแข็ง ถ้ามันเป็นของที่เหลวแต่มีการเกาะกลุ่มอย่างเหนียวแน่น คือจะเกาะกุมตัวอยู่ไม่ยอมแยกจากกันเป็นธรรมดาจะเหลวเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างนี้ก็เรียกว่าธาตุน้ำ ทีนี้คุณสมบัติที่มันให้ความร้อนหรือเผาไหม้ได้นี้ก็เรียกว่าธาตุไฟ คุณสมบัติที่ระเหยได้ลอยได้เรียกว่าธาตุลม คือขยายตัวได้สั่นสะเทือนได้ ในคนเราหนึ่งคนๆ หนึ่งมีธาตุเป็นรูปธาตุ ๔ อย่างนี้ ธาตุดินเห็นได้ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ไม่ได้หมายความว่าในผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้นจะมิได้มีธาตุน้ำธาตุไฟ หรือธาตุลม ธาตุน้ำของเหลวเห็นได้ที่น้ำตา น้ำเลือด น้ำหนอง นี้เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าในน้ำเลือด น้ำหนองนั้นจะไม่มีธาตุดินหรือไม่มีธาตุไฟหรือไม่มีธาตุลม เพียงแต่ว่ามันเห็นง่ายที่นั่น เช่น เนื้อของคนเรานี่ ยังเป็นๆ อยู่นี่ในเนื้อชิ้นนั้นมันก็มีธาตุดิน คือส่วนที่มันแข็งที่มันกินเนื้อที่ แล้วก็มีธาตุน้ำคือเลือดหรือน้ำเหลืองที่มันซึมอยู่ในระหว่างเส้นใยของเนื้อนั่น แล้วเนื้อคนเป็นๆ นี้มันก็มีอุณหภูมิระดับหนึ่งที่เขาวัดดูกันด้วยปรอทก็รู้กันอยู่ แม้ว่ามันคนตายแล้วไอ้เนื้อมันก็ยังมีอุณหภูมิขนาดใดขนาดหนึ่งอยู่ มันเปลี่ยนได้ไปตามเรื่องของมัน นี้ธาตุลมในเนื้อนี้ก็คือส่วนที่ระเหยได้เคลื่อนที่ได้ลอยได้ เช่นกลิ่นไอต่างๆ แก๊สต่างๆ ที่มันอยู่ในเนื้อ ที่มันจะระเหยได้ลอยออกไปได้ นี่รู้จักธาตุทั้ง ๔ ว่าเป็นอยู่ในเนื้อในร่างกายของคนเราอย่างนี้ ที่ว่างนั้นหมายความว่า อากาศธาตุนั่นหมายความว่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าเอาสิ่งเหล่านี้ออกเสียมันก็จะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าอากาศธาตุเหลืออยู่ มันต้องมีอากาศธาตุคือธาตุที่ๆ ว่าง ที่ๆที่ว่างให้ มันจึงจะมีธาตุดินน้ำลมไฟเข้าไปอยู่ได้ ทั้ง ๕ ธาตุนี้กระเดียดเป็นวัตถุหรือกระเดียดไปทางเป็นวัตถุ นี้ส่วนวิญญาณธาตุนี้เป็นธาตุจิตธาตุใจ ไม่เหมือนกับดินน้ำลมไฟ คือเป็นธาตุที่จะทำความรู้สึกได้ แต่ก็ต้องอาศัยธาตุอื่นลำพังตัวเองมันก็รู้สึกไม่ได้ เช่น ใจของคนเรานี้จะต้องอาศัยร่างกาย เนื้อหนังร่างกายที่เป็นประสาท หรือเป็นไอ้ความรู้สึก มันสมองให้รู้สึก เป็นอวัยวะเพื่อให้รู้สึก แล้วใจมันจึงทำหน้าที่รู้สึกได้ เลยเห็นได้ทันทีว่าแยกกันไม่ได้ไอ้เรื่องกายกับใจนี้ ธาตุรูปกับธาตุนามนี่มันแยกกันไม่ได้ ถ้ามันแยกกันเมื่อไหร่มันก็ไม่มีอะไรเหลือ คือมันไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่อะไรได้ นี่ กายอาศัยใจ ๆอาศัยกาย นี่หมายถึงคนที่เป็นๆ นะพอแยกกันมันก็ต้องตายก็สมมติเรียกว่าตาย เมื่อมันไม่แยกกันมันก็ยังทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายได้ ฝ่ายกายก็ทำหน้าที่เป็นอวัยวะให้แก่ใจ ใจก็ทำหน้าที่รู้สึกโดยอาศัยอวัยวะนั้น เขาก็เลยเรียกว่าใช้ด้วยกัน แยกกันไม่ได้ ติดโดยใช้คำว่า นามรูป นาม- มะ- รูป ไม่ใช้คำว่านามและรูป คือใช้คำว่านาม นามรูป ไปเสียเลย ต้องปนๆ กันเป็นหนึ่งทั้งนามและทั้งรูปสองอย่างนี้รวมกันเป็นหนึ่ง ใช้จำนวนเป็นเอกวจนะ คนจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ คนโบราณเขาเข้าใจเปรียบเทียบว่าคนๆ หนึ่ง มันแข็งแรงสมบูรณ์แต่ตาบอด ไอ้คนหนึ่งมันเป็นง่อยเปลี้ยเดินไม่ได้ทำอะไรไม่ได้แต่ตามันดี เมื่อสองคนนี้อาศัยกันแล้วมันก็ไปได้ คือให้คนตาดีง่อยเปลี้ยนั้นขี่คนไอ้ตาบอดที่แข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกประการก็เลยไปกันได้ไปทำอะไรได้ นี่อุปมาของการที่ไอ้กายกับใจจะต้องอาศัยกันคืออย่างนี้ หรือรูปธาตุกับนามธาตุจะต้องอาศัยกัน จริตจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วยังต้องมีเนื้อที่ให้ ที่ว่างให้นั่นก็คืออากาศธาตุ เพราะฉะนั้นขอให้หลับตาดูไม่ใช่ลืมตาดู ถ้าลืมตาดูมันไม่เห็น ต้องหลับตาดูว่าร่างกายของเราคนหนึ่งนี้ประกอบด้วยธาตุ ๖ อย่าง อย่างไรบ้าง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ถ้าคุณไม่เข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้แล้วมันก็ไม่มีทางที่จะศึกษาต่อไปให้รู้ธรรมะในพุทธศาสนา ชัดเจนละเอียดลออยิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุด ถึงขอร้องให้สนใจไอ้คำแรกๆ เรื่องแรกๆ ที่เอามาพูดให้ฟัง
นี่กำลังพูดถึงสภาวธรรมส่วนที่เป็นสังขตธรรม คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วแยกออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายรูปกับนามหรือว่าฝ่ายกายกับจิต เป็นต้น และมันก็ต้องอาศัยกันไปอย่างนี้ ที่เรียกว่ารูปก็แยกออกเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นดินน้ำไฟลม ที่เรียกว่า นาม ก็แยกออกเป็นอากาศและวิญญาณ ทีนี้คนที่ประกอบอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๖ นี้มันก็ยังมีแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด เดี๋ยวนี้เราไม่ได้รู้สึกคิดนึกอะไรก็ได้ หรือว่าเรานอนหลับอยู่มันก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ชนิดที่มันหลับอยู่หรือตายด้านอยู่ มีแต่ดิน น้ำ ลมไฟ อากาศ วิญญาณเฉยๆ นี่ มันเหมือนกับตายอยู่คือมันยังไม่คิดนึกอะไร มันมีแต่ว่าธาตุ สักว่าธาตุทั้งหกประกอบกันอยู่นิ่งๆ จนกว่ามันจะทำหน้าที่ของมัน จึงจะเป็นเรียกว่าจึงจะเรียกว่าเป็นรูปธรรมขึ้นมา เป็นนามธรรมขึ้นมา แล้วมันจึงหมายความถึงเมื่อไอ้ธาตุเหล่านี้มันทำหน้าที่เป็นความรู้สึกคิดนึกหรือเคลื่อนไหวอะไรขึ้นมาจึงจะเรียกว่าเป็นคนที่ๆ ไม่ตายที่ไม่ตายด้าน ถ้าเรานอนหลับอยู่หรือว่าไม่ได้รู้สึกคิดนึกอะไรทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายก็ไม่รู้สึกอะไรนี่ มันก็สักแต่ว่าธาตุ๖ ธาตุประชุมกันอยู่เฉยๆ มีความหมายเท่ากับหยุด ต่อเมื่อไอ้ธาตุเหล่านี้มันทำหน้าที่ ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ สมมติว่าที่ตาหรือที่หู ทางตา หรือทางหูนี่ มันจึงจะกลายรูปเป็นจักษุธาตุธาตุทางตา โสตธาตุธาตุทางหู ฆานธาตุธาตุทางจมูก ชิวหาธาตุ ธาตุทางลิ้น กายธาตุธาตุทางกาย มโนธาตุธาตุทางใจ ทีนี้มันจึงเกิดไอ้สิ่งที่เรียกว่า อายตนะขึ้นมา สำหรับรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ นั้นไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา จะเกิดต่อเมื่อทำหน้าที่หรือมีอะไรมาให้ทำหน้าที่ แปลว่าเราไอ้มีจักษุธาตุ โสตธาตุ แล้วพร้อมอยู่ได้ แต่ยังไม่ได้ปรุงเป็นอายตนะ หรือบางทีก็จะพูดว่าถ้ามันไม่ปรุงไม่ทำหน้าที่ก็ยังไม่เรียกว่า ตาหูจมูกลิ้นกายเพราะมันไม่ได้ทำอะไร ถ้ามันทำหน้าที่ตาหูจมูกลิ้นเมื่อไหร่จึงจะเรียกว่าเรามีตาหูจมูกลิ้นกายเมื่อนั้นคือเรามีมีอายตนะเมื่อนั้น นี่ขอให้สังเกตดูให้ศึกษาดูอย่างที่เรียกว่าหลับตาดู ลืมตาดูมันไม่เห็น ต้องหลับตาดู คือพิจารณาดู สังเกตดูทำความรู้สึกดู จะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม คือสิ่งที่ทรงอยู่ได้เองแต่ด้วยความเปลี่ยนแปลง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศ วิญญาณก็ต้องเปลี่ยนแปลงเรื่อย ในธาตุหนึ่งๆ ก็มีเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่อย่างนั้นมันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ทีนี้มาประกอบกันเข้าเป็นคนๆ หนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย เดี๋ยวเปลี่ยนแปลงมาเป็นเรื่องทางตา เดี๋ยวเปลี่ยนแปลงมาเป็นเรื่องทางหู เดี๋ยวทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าเปลี่ยนแปลงเรื่อย จากธาตุล้วนๆ มาประกอบกันเข้าปรุงกันเข้าเป็นอายตนะ สำหรับรู้สึก สัมผัสได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจเอง อย่างนั้นก็เรียกว่าประกอบด้วยจักษุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ มโนธาตุ ฟังไม่ดีมันจะยุ่งกันใหญ่ แต่ที่จริงมันก็ไม่มีอะไรมาก เข้าใจว่าในทางธรรมะในทางศาสนานี้เขาพยายามจะใช้คำว่าธาตุกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเสียตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที เพื่อให้เห็นชัดเสียว่ามันไม่ได้มีอะไรนอกเสียจากสิ่งที่เรียกว่าธาตุ แล้วก็เป็นธาตุตามธรรมชาติด้วย แม้ว่ามันจะปรุงกันขึ้นเป็นความรู้สึกคิดนึกอะไรได้อย่างวิเศษ ก็ให้ถือว่าตามแท้ตามความจริงก็เป็นสักว่าธาตุเท่านั้น อย่าให้มีของกายสิทธิ์ ของวิเศษเป็นตัวเป็นตน เป็นไอ้เทวดาผีสางอะไรเข้ามา จึงเรียกว่าสภาวธรรม ตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่ก็เรียกว่าสภาวธรรม ธรรมที่เป็นอยู่เองในตัวเองตามธรรมชาติของการที่ปรุงแต่งเรื่อยไหลเวียนเรื่อย เมื่อเป็นดินน้ำลมไฟก็เป็นสภาวธรรม เมื่อเป็นอากาศวิญญาณอยู่ก็เป็นสภาวธรรม เดี๋ยวนี้มาประกอบปรุงกันเข้าเป็นคนๆ หนึ่ง ก็คือส่วนประกอบของธาตุที่เป็นสภาวธรรม ที่เรียกว่าคน นี้เราไปสมมติมันเข้า ที่แท้เป็นส่วนประกอบของธาตุ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นกลุ่มของสภาวธรรม จะมาเป็นตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เรียกว่าสภาวธรรม จะเกิดความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาเพราะเหตุนั้น ความรู้สึกคิดนึกนั้นก็เรียกว่าสภาวธรรม แล้วก็อย่าลืมว่าต้องเรียกว่าสังขตธรรมไว้เรื่อย เพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ แล้วก็มีความไม่เที่ยงเป็นลักษณะให้เห็นอยู่เสมอ ก็เรียกว่าสังขตธรรม นี่ผมพยายามที่จะให้พวกคุณที่ไม่เคยชินหรือจะไม่เคยฟังเลยด้วยซ้ำไปกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะให้เข้าใจพุทธศาสนาในเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่เรามีเวลา อย่าให้ผิดหวังเพราะว่ามาศึกษาพุทธศาสนาแล้วไม่ได้เข้าใจหรือไม่เข้าถึงตัวพุทธศาสนา ขอให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมไว้อย่างนี้เสียก่อน แล้วก็ยังไม่จบ เรื่องสภาวธรรมยังไม่จบจะต้องพูดต่อไป อันนี้พูดในฐานะจุดเริ่มแรกจุดตั้งต้น สภาวธรรมคือสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความไม่เที่ยง นี่ก็มีคือเปลี่ยนแปลงเรื่อย เอาความเปลี่ยนแปลงเรื่อยนั้นเป็นตัวมันเอง นี้อีกอันหนึ่งมันเป็นของที่ตรงกันข้าม ไม่เป็นอย่างนั้นเลยนี่ก็มีเรียกว่าสิ่งที่เที่ยง เอาละรู้จักสภาวธรรมไว้ในฐานะอย่างนี้ คือเป็นสังขตะ และอสังขตะ และสิ่งที่เรียกว่าอสังขตะ อ๊ะ, สังขตะนั้นกำลังเป็นมาอย่างที่พูดแล้วว่าเป็นรูปเป็นนาม เป็นดินน้ำลมไฟ อากาศวิญญาณ แล้วจะออกมาเป็นตาหูจมูกลิ้นกายใจ เวลาของเราหมดเสียก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน