แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดกันคราวนี้ เห็นว่าจะควรพูดเรื่องจิตว่างตามที่ต้องการ คำว่าจิตว่างนี้ มันเป็นคำที่ประกอบขึ้นเพื่อให้เข้าใจง่ายสำหรับจะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา เพราะว่าคำอธิบายเรื่องนี้มีมาก แล้วก็ซับซ้อนเนื่องกันมากมาย อยากจะให้มันง่าย ให้มันสั้น ให้มันเหลือน้อย ก็เลยนึกหาวิธีรวบรัดใจความสำคัญมาพูดให้ฟังง่าย ๆ ก็เลยได้คำว่าจิตว่างนี้ขึ้นมาใช้
ในบาลีก็มีแต่คำว่าความว่าง คือคำว่าสุญญตา ส่วนคำว่าจิตว่างโดยตรงนี้ มันไม่มี มีแต่คำว่าจิต (นาทีที่ 2.30 เครื่องเสียงขัดข้อง) หรือจิตไม่ยึดมั่นถือมั่น คือเมื่อได้พิจารณาเห็นความว่างทั้งปวงทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันไม่มีส่วนที่ควรจะยึดถือว่าตัวตนอย่างนี้แล้ว จิตนั้นก็หลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ถ้าพูดอีกทีหนึ่งว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงคือเรื่องหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง ก็เรียกว่ามันเป็นอิสระ มันไม่มีความทุกข์ มันมีความสะอาดบริสุทธ์ หรือสงบ
ทีนี้เรามาสรุปเพื่อให้มันมีความหมายดีกว่า มากกว่าหรือกว้างกว่า เพื่อจะใช้ได้ลงมาถึงแม้ว่ายังไม่หลุดพ้นโดยสิ้นเชิง เพื่อจะให้เข้าใจพุทธศาสนาง่ายขึ้นด้วยไปตั้งแต่ลำดับแรกทีเดียว แล้วก็ไม่ขัดกับหลักส่วนใหญ่ ส่วนสูงสุดด้วย เพราะอาศัยหลักของพระพุทธภาษิตเพียงข้อเดียวเท่านั้นว่า “โลกคือสิ่งทั้งปวงนี้ว่าง” เมื่อโลกว่าง ว่างจากอะไร ก็ว่างจากความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน นี้คือหลักสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องจำให้แม่นยำ โลกคือสิ่งทั้งปวงว่าง ว่าง ว่างอย่างไร หรือว่างจากอะไร ว่างจากความที่เป็นตัวตนหรือเป็นของตน
ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า ว่าโลกทั้งปวงว่าง ไม่ได้ว่างเวิ้งว้าง ว่างไม่มีอะไร หรือไม่มีโลกด้วยซ้ำไป ไม่เป็นอย่างนั้น โลกมีอยู่แต่ว่าง ก็ไม่ได้หมายความว่าเวิ้งว้าง ไม่มีอะไร ก็คือมันว่างจากส่วนหรือความหมายหรือคุณค่าที่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่พุทธศาสนามุ่งหมายเฉพาะส่วนนี้ ที่เรียกว่าว่าง ในที่ไหนก็เหมือนกัน บางทีก็เรียกว่าสุญญตา หรือความว่าง บางทีก็เรียกว่าอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตน ความหมายเหมือนกันหมด
ทีนี้เมื่อพูดว่าว่างก็ขอให้เข้าใจเอาเองได้ว่า ไม่ใช่ไม่มีอะไร มันมีทุกอย่างอยู่ตามเดิม มีกาย มีจิต มีความคิดนึกอยู่ตามเดิม แต่ว่าว่างจากส่วนที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน เมื่อไม่มีส่วนที่ควรจะถือว่าเป็นตัวตนก็ต้องเรียกว่าว่างอยู่ดี นี่คำว่าว่าง หรือคำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนา
ทีนี้คนฟังเขาจะด้วยอะไรก็ตามใจเขา ไม่อยาก ไม่เข้าใจอย่างนั้น และไม่พยายามจะเข้าใจอย่างนั้น พวกหนึ่งว่าว่าง แล้วก็ว่าง คือไม่มีอะไรเลย เคว้งคว้าง เว้งว้างไปหมด นี้มันเป็นว่างทางวัตถุ อย่างนี้ไม่ใช่ว่างตามหลักพุทธศาสนา
ทีนี้ ถ้าเราพูดว่าจิตว่าง แล้วเราจะหมายความเอาเป็นว่าไม่มีจิต คือมันไม่มีความคิดนึกเสียเลย นี้ก็ไม่ถูกตามหลักของพุทธศาสนา จิตก็คงมีอยู่ตามเดิม ร่างกายมีอยู่ตามเดิม ความคิดนึกก็มีอยู่ตามเดิม แต่ว่างเพราะว่าไม่มีส่วนใดส่วนไหนที่จะควรถือว่าเป็นตัวตน ทีนี้ก็จะมาลำบากอยู่ตรงที่คำว่าตัวตน พวกฝรั่งเขาก็ยอมแพ้ ในการที่เข้าใจพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจคำว่าตัวตน พอบอกว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ก็ยิ่งไม่เข้าใจ ทีนี้ก็เลยเป็นปัญหาทางคำพูดบ้าง ทางความหมายของคำพูดคือการบัญญัติในศาสนาบ้าง
ฉะนั้นจะต้องทำความเข้าใจคำว่าตัวตนเหมือนกันตามสมควร คือถ้ามีตัวตนแล้วก็เรียกว่าไม่ว่าง ถ้าไม่มีตัวตนแล้วก็เรียกว่าว่าง เมื่อใดจิตมีตัวตน เมื่อใดจิตไม่มีตัวตน ขอให้ถือ ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นแต่เพียงความรู้สึก ถ้ารู้สึกว่าเป็นฉันที่ไหนละก็ ก็เรียกว่ามีตัวตน ฉะนั้นตัวตนนั้นก็มิได้เกิดอยู่ หรือเป็นอยู่ แท้ ๆ จริงตลอดเวลา มันเพิ่งมี นี่ก็ออกจะเป็นเรื่องทางจิตวิทยาอยู่มาก แล้วก็จะเข้าใจได้ด้วยว่าตัวตน ๆ นี้มันเพิ่งเกิดอย่างไร แล้วเอาความรู้สึก เพิ่งเกิดเมื่อมีการกระทบทางอายตนะที่เป็นเครื่องกระทบ
คำว่าอายตนะฟังยาก แต่ก็ไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านั้น อายตนะก็แปลว่าบ่อเกิดหรือที่เกิด หรือมูลเหตุให้เกิด แล้วก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้เป็นอายตนะข้างใน ก็มันอยู่ หมายถึงว่ามันอยู่ในตัวคน ทีนี้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่เรียกว่าส่วนข้างนอก อยู่ข้างนอกคือนอกออกไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฝ่ายนั้นเรียกว่าอายตนะภายนอก มีอยู่ ๖ คู่กับอายตนะภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็มีอยู่ ๖ เหมือนกัน
ถ้าอยากจะศึกษาพุทธศาสนาโดยแท้จริง คือจริงจังกันหน่อย ก็ต้องสนใจไอ้ธรรมเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จะเป็นต้นตอหรือเป็นรากฐานหรือเป็นจุดตั้งต้นของทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องอะไรหมด ทีนี้จะยกตัวอย่างคู่แรกพอ ไม่จำเป็นจะต้องพูดมันทั้ง ๖ คู่ มันก็เหมือนกัน
ตาได้เห็นรูป ก็เกิดการเห็นทางตาขึ้นมา ว่าตาของคนที่ยังดี ๆ อยู่หมายถึงประสาทตา นี่เรียกว่าตา
รูปคือสิ่งข้างนอกที่ตาจะเห็น พอได้มาจบกันเข้า ก็เรียกว่าการเห็นทางตา
การเห็นทางตานี้เรียกว่าจักษุวิญญาณ วิญญาณการรู้แจ้งการเห็นทางตา
จากไอ้ ๓ อย่างนี้กระทบกันเรียกว่าผัสสะ คือ ตาอย่างหนึ่ง รูปอย่างหนึ่ง แล้วก็จักษุวิญญาณ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางตาอย่างหนึ่ง รวมกัน ๓ อย่างนี้เรียกว่าการสัมผัส
สัมผัสนี้มีชื่อเฉพาะว่าสัมผัสทางตา เลยเรียกว่าจักษุสัมผัส ทีนี้จากจักษุสัมผัสนี้จะเกิดเวทนา คือความรู้สึกที่เกิดมาจากการสัมผัสทางตาว่ามันเป็นรูปที่น่ารักหรือน่าเกลียด หรือว่าไม่มีความหมายน่ารักน่าเกลียด เกิดกันเป็น ๓ ขึ้นมา ก็เรียกว่าสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรือว่าไม่อาจจะกล่าวได้ว่าสุขหรือทุกข์ คำว่าเวทนาหมายความอย่างนี้ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทาง ๖ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีการสัมผัสแล้วก็มีเวทนารู้สึก
ถ้าว่ามันได้รับการเห็นรูป ที่เห็นมันเป็นสุข มันก็เกิดความอยากในเวทนานั้นเรียกว่าตัณหา ความอยากที่จะ จะได้ หรือจะยึดครอง หรือจะเอาก็ตามใจ นี่เรียกว่าความอยากคือตัณหา นี่เห็นได้ว่ามันโง่นะ ไม่ใช่มันฉลาดนะ ถ้ามันฉลาดมันก็ไม่ ๆ ๆ ต้องอยากที่จะได้ ที่จะเอา ที่จะยึดครอง ปล่อยไปตามเรื่อง จะจัดการอย่างไรก็จัดไป โดยไม่ต้องเกิดความอยาก ถ้าเกิดความอยากมันเป็นร้อน มันเป็นความโง่ เป็นความทุกข์ สมมติในกรณีที่ว่ามันเกิดเห็นไอ้สิ่งที่สวยงามแล้วก็รัก คือเห็นทางตา สบายทางตา พอใจทางตา เกิดความอยากในรูปที่เห็นทางตานี้เรียกว่าตัณหา รูปตัณหา ต้องสังเกตให้ดี ฟังให้ดีว่า เดี๋ยวนี้เพียงแต่จิตเกิดความอยาก เรียกว่าเกิดตัณหา
ทีนี้หลังจากเกิดความอยากแล้วมันจึงค่อยเกิดความรู้สึกเป็นกู จะเอาให้ได้ขึ้นมา หรือจะเอามาเป็นของกู นี่ตัวตน ตอนนี้เป็นตัวตน เรียกว่าเป็นเรื่องเพิ่งจะปรุงกันขึ้นมาแท้ ๆ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวตนนี้มิได้มีอยู่ก่อน นี้ตามหลักพุทธศาสนา ตัวตน ตัวกูมันเพิ่งเกิดเมื่อเกิดความอยาก หรือความโกรธ หรือความเกลียดอะไรขึ้นมามาแล้ว เสร็จแล้วจึงจะเกิดความรู้สึกอีกชั้นหนึ่งว่ากู โมโห กูรัก กูกลัว กูอะไรก็ตามนี้ กูตัวนี้คือตัวตน เพราะฉะนั้นเอามาเป็นของกู ก็เป็นของตน คือเนื่องอยู่กับตน
นี่เป็นเรื่อง ๆ หนึ่งที่ต้องเข้าใจให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่เข้าใจถูกต้องตรงตามพุทธศาสนา ถ้าไปเข้าใจเหมือนอย่างที่เขาสอน ๆ กันอยู่แต่ก่อนซึ่งมาจากทางฝ่ายฮินดูหรือฝ่ายพราหมณ์ ที่ว่าตัวตนนี้มีอยู่ก่อนแล้ว มีอยู่ตลอดเวลาแล้ว ตัวตนนี้เป็นเจ้าของตา เป็นเจ้าของลูกตา ไปเห็นอะไรเข้าแล้วก็รัก แล้วก็ตัวตนอยู่ตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา
ตามหลักพุทธศาสนาตัวตนเป็นเพียงความรู้สึกซึ่งปรุงขึ้นมา หลังจากเกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อเราเห็นไอ้สิ่งที่น่ารัก เราก็อยากจะได้ มันเกิดความอยากได้ ถ้าเราเห็นสิ่งที่เราเกลียด เช่น ศัตรูคู่เวรนี้ เราก็อยากจะฆ่ามันเสีย ก็อยากจะทำลายมันเสีย ฉะนั้นมันก็มีอยู่กัน ๒ อย่างนี้ อยากอย่างไหนก็เรียกว่าทำให้เกิดตัวกูได้ทั้งนั้น
ก่อนนี้จิตไม่มีความรู้สึกเป็นความหมายว่าเป็นตัวกู หรือเป็นตัวตน ตอนนั้นเรียกว่ายังว่างจากตัวตนอยู่ พอมันเกิดความอยาก ก็เกิดตัวกูผู้อยาก เลยไม่ว่างแล้ว ก็มีตัวตน มีของตนขึ้นมา นี่ตัวตนเพิ่งเกิดอย่างนี้ ให้เข้าใจว่าอย่างนี้
หลังจากนี้ก็มีความทุกข์ จิตนั้นจะมีความรู้สึกเป็นทุกข์ เมื่อจิตมันไม่ว่างเสียแล้ว มันเต็มไปด้วยตัวตนของตนแล้ว มันก็ต้องมีความทุกข์ จนกว่าสิ้นเรื่อง ๆ นั้นไป ทีนี้ขอให้เข้าใจหลักสำคัญในพุทธศาสนาที่ว่า ไอ้ตัวตนนี้มันเพิ่งเกิด เพิ่งถูกปรุงขึ้นมาตามลำดับ มีการปรุงตามลำดับจนเกิดตัวตนขึ้นมาหลังจากเกิดความรู้สึกที่รุนแรง ที่เรียกว่าตัณหา คืออยากอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
ทีนี้คนพวกอื่น เขาไม่สอนอย่างนี้ เขาสอนว่ามีวิญญาณ มีเจตภูต หรือมีตัวตน มีอาตมัน มีอัตตาประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต และไอ้ตัวนี้เป็นเจ้ากี้เจ้าการ อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างโน้น แล้วบางทีเขาก็เรียกมันว่าวิญญาณ แปลว่าวิญญาณมีอยู่แล้ว เป็นการประจำอยู่ในร่างนี้ นี่ผิดกันกี่มากน้อย ขอให้เปรียบเทียบกันดู พุทธศาสนาไม่สอนอย่างนั้น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ นี้ก็เพิ่งเกิดเฉพาะกรณีที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น
ฉะนั้นตัวตนนี้เป็นแต่เพียงความโง่ ความสำคัญผิดว่าเป็นตัวตน เพิ่งเกิดหลังจากการเกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเท่านั้น มันต่างกันกับลัทธิอื่นอย่างนี้ และเมื่อใดเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา มันก็จะ จิตนั้นไม่ว่าง
จิตนั้นว่างอยู่ก่อนหน้านี้ คือว่างจากตัวตนนั่นหละ ถ้ามันไม่มีความรู้สึกคิดนึกประเภทตัวตนแล้วก็เรียกว่าจิตว่างอยู่ตามหลักพุทธศาสนา คือจิตบริสุทธิ์อยู่ ว่างอยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด พอมีอะไรมากระทบ แล้วคนนั้น คนนั้นก็เป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่รู้อะไร ไม่ได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า ยังเต็มอยู่ด้วยอวิชชา ไม่รู้เรื่องความทุกข์และดับทุกข์ นี้คืออวิชชาของเขา เป็นความโง่ ฉะนั้นพอได้เห็นอะไรหรือได้ฟังอะไรก็ตาม มันก็ปรุงความคิดประเภทเป็นความอยาก รู้สึกขึ้นมา แล้วก็เกิดตัวผู้อยากขึ้นมา เป็นตัวกูขึ้นมา
หลักเกณฑ์อันนี้ก็จะต้องจำให้แม่นยำ เพราะมันเกี่ยวกันถึงเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมายหลายเรื่องในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจึงย้ำ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าท่านทั้งหลายต้องการจะศึกษาพุทธศาสนา อย่าลืมเรื่องนี้ ที่เรียกว่าอายตนะ ๖ ข้างใน ๖ ข้างนอก ๖ พอพบกันเข้าก็เกิดวิญญาณขึ้นมาทันที เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ วิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา แล้วก็เกิดตัณหาคือความอยาก พอเกิดความอยาก แล้วเกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูผู้อยากเอามาเป็นของกู นี่คือ ตัวการ ตัวเรื่อง ตัวความทุกข์อยู่ที่ตรงนั้น จิตนั้นก็ไม่ว่าง
นี่สรุปความได้ทีหนึ่งว่าจิตที่กำลังประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกที่มีความหมายเป็นตัวตน เป็นของตน นั่นน่ะคือจิตที่ไม่ว่าง ถ้าเราพูดว่าตัวตน ว่าของตนนี่พูดด้วยโวหารธรรมดา แต่ถ้ามันรุนแรงเราเรียกว่าตัวกูของกู ใช้คำต่างกันหน่อย ไอ้ตัวตนของตนนี่ ทำความทุกข์เนือย ๆ แต่ถ้าขนาดตัวกูของกูแล้วก็ทุกข์อย่างเต็มที่ ดิ้นเร่า ๆ ทีเดียว จิตไม่ว่างอย่างยิ่ง
ก็เราสรุปความตอนนี้ได้ว่า จิตว่างนั้นคือจิตที่ยังปราศจากความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นความหมายแห่งตัวกูของกู นี่จิตยังว่างอยู่ นี่ถ้าว่าจิตโดยเหตุอะไรก็ตาม มีการปรุงในทางจิตเกิดขึ้น ๆ ๆ ๆ จนมีความรู้สึกเดือดพล่านอยู่ด้วยความหมายแห่งตัวกูของกู นี่เรียกว่าจิตไม่ว่าง
นี่ก็เปรียบเทียบกันดู เดี๋ยวนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ กำลังไม่มีอะไรปรุงแต่งเป็นความอยาก หรือเป็นตัวกูของกู เรียกว่าจิตยังว่างอยู่ ก็สบายหรือเย็น ถ้ามันเกิดอะไรมาทำให้ปรุงกันใหม่เป็นเรื่องของความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาแล้วนี้ ก็จะมีตัวกูผู้เป็นอย่างนั้น รู้สึกขึ้นมา ก็เลยมีความทุกข์ นี่ข้อแรกคือมีความทุกข์ แล้วตลอดเวลาเรามืดมน เร่าร้อน กระวนกระวาย
พระพุทธภาษิตมีอยู่ว่าไอ้ความทุกข์นั้นเมื่อกล่าวโดยใจความแล้วก็คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น สิ่งทุกสิ่งในโลกนี้ มันอยู่ที่จิต ที่มาอยู่ที่จิตแล้วก็เรียกเป็น แยกออกเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ที่มักจะเอาไปล้อเรียนกันเสีย ไม่สนใจให้ดี นั่นน่ะคือสิ่งที่เรียกว่าถูกยึดมั่นเป็นตัวกูของกูโดยสรุป
รูป เวทนา สัญญา สังขารนี้ รูปคือร่างกายนี้ มันต้องอยู่กับจิตใจ บางทีก็ยึดไอ้ร่างกายนี้เป็นตัวกู ในบางกรณีเราโง่ไป เอาร่างกายนี้เป็นตัวกูก็มีนะ ถัดไปคือเวทนาอย่างที่ว่า เช่น ยินดี หรือโกรธ หรือเกลียด หรืออะไรเป็นเรื่อง ๆ ไป อย่างนี้ก็เรียกว่าเวทนานั้นทำให้เกิดเป็นความหมายขึ้นมา เป็นตัวกูของกู ส่วนหนึ่งเรียกว่าสัญญา สำคัญมั่นหมายเอาว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ บางทีเรื่องนั้นไม่ได้เป็นจริงอย่างนั้น แต่แล้วมันสำคัญว่าอย่างนั้น เช่น จริง ๆ ไม่ใช่คนหรอก เงาตะคุ่ม ๆ น่ะ สัญญาว่าคน สำคัญเอาว่าคน นี้ก็มีความหมายเท่ากับคน ตลอดถึงสัญญาว่าผู้หญิง สัญญาว่าผู้ชาย มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งที่เป็นของจริงก็ได้ ในสิ่งที่เป็นตัวแทนหรือเป็นเพียงหุ่น เป็นสิ่งที่ลวงตาก็ได้ทั้งนั้น สัญญาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ถูกยึดเป็นตัวตนได้ทั้งหมด สังขารคือความคิดนึกนี่เป็นตัวที่ว่าเป็นอุปาทานว่าตัวกูของกู
บางทีก็ยึดจิตที่คิดนึก รู้สึกได้ ทางตา ทางหู ว่านั้นแหละคือตัวกู เป็นตัวตนก็มี ล้วนแต่ผิดทั้งนั้น โง่เขลาทั้งนั้น แต่มันเหมือนกันอยู่อย่างที่ว่า ไอ้ความคิด ความนึก ความรู้สึกมีความหมายเป็นตัวกูของกู จะเกิดมาจากอะไร ในอะไรก็ตาม นั่นคือจิตไม่ว่าง จิตวุ่น ถ้าเราเรียกว่าจิตว่างตามหลักพุทธศาสนาก็เขียนลงไปได้เลยว่ามันว่างจากความรู้สึกว่าตัวกูของกู ถ้าจิตไม่ว่างมันก็มี ก็คือจิตที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกตัวกูของกู
ทีนี้ก็อยากจะขอร้องว่าอย่าฟัง อย่าเพียงแต่ฟังอย่างนี้ อย่าเพียงแต่จำได้อย่างนี้ ให้ไปทำ ทำการทดลอง ทำการค้นคว้าทดลองจากความรู้สึกที่เกิดอยู่กับจิตนี้ ทำ research, experiment อะไร เหมือนกับที่เราทำกับวิทยาศาสตร์ ว่าเวลาไหน จิตของเราประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกเป็นตัวกูของกู อุตส่าห์ ๆ จับให้ได้ ศึกษาสังเกตให้พบ เวลาไหนจิตของเรามีความรู้สึกประเภทมั่นหมายเป็นตัวกูของกู เวลาไหนเราไม่รู้สึกประเภทเป็นตัวกูของกู แต่ไปรู้สึกอย่างอื่น นี้มันต้องแยกกัน แยกกันได้เลยว่าเราจะยังไม่ ไม่จับมันได้หมด แล้วก็แยกกันได้เลยว่าถ้าโง่เมื่อไหร่แล้วเป็นตัวกูของกู ถ้ายังฉลาดอยู่ รู้สึกตัวดีอยู่ก็ไม่เป็นตัวกูของกู แต่ไอ้เรื่องโง่หรือเรื่องไม่โง่นี้มันลำบาก มันลึกซึ้ง มัน มันจะรู้กันทีเดียวเดี๋ยวนี้ทั้งหมดไม่ได้ ขอให้สังเกตไปเรื่อย ๆ ถ้าเราหนักอกหนักใจเมื่อไหร่ก็ต้องให้รู้เถิดว่าเรามันโง่ไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไอ้ความหนักอกหนักใจนี้มาจากตัวกูหรือเป็นตัวกูของกูเสมอ ถ้าเราสบายดี โปร่งดีก็ ก็เราไม่โง่ เราก็ไม่มีความหนักอกหนักใจ
เมื่อ เมื่อจิตมันไม่มีตัวกูของกู ชีวิตนี้ก็เยือกเย็นเป็นสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นดนตรี เป็นกวีอะไรอยู่ในตัวเลย พอเกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ชีวิตนี้ก็เป็นนรก ชีวิตมันหนักบ้าง มันร้อนบ้าง มันอึดอัดบ้าง อะไรบ้าง ขอให้ช่วยเอาไปทำการพิสูจน์ทดลองอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาให้เข้าใจว่าเมื่อใดจิตมีตัวกู เมื่อใดจิตไม่มีตัวกูนี่ จะรู้เรื่องจิตว่างหรือไม่ว่าง
ทีนี้เรื่องมันเรื่องเดียวกันแหละ มันเป็นทั้งอย่างมีตัวกู และอย่างไม่มีตัวกู จะยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ เช่น กินอาหารอย่างนี้ ถ้าเกิดจิตมีตัวกู เห็นอาหารเข้าแล้วน้ำลายไหล แล้วก็เผลอไป โง่ไป มันมีความอยากมาก นี่จิตมีตัวกู กินอาหารแบบที่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น มันจะมีความรู้สึกถึงขนาดที่เรียกว่าปากนี้ก็ยังเล็กไป มือก็หยิบไม่ค่อยทัน ไอ้ฟันก็เคี้ยวไม่ค่อยทัน อร่อยไม่ค่อยจะทันนี่ แล้วก็หาความสุขไม่ได้นะ ไอ้อย่างนั้น ทีนี้ก็บางเวลาที่กินอาหารอย่างเดียวกันนั้นด้วยซ้ำไป แต่ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น ปรกติ ราบรื่น สงบ รำงับ กินไปอย่างมีรสชาติอร่อยกว่า ทุกอย่างทันกันพอดี เอร็ดอร่อยพอดี
นี่ค่อยไปคิดดูให้ดี ๆ ที่เราไปกินอาหารด้วยจิตไม่ว่าง เป็นตัวกูของกูนี้ มันจะมีอาการเหมือนกับตกนรกชนิดหนึ่ง หรือหิวเป็นเปรตชนิดหนึ่ง อะไร ๆ มันไม่ทันใจไปหมด แต่ถ้าสำรวมสติสัมปชัญญะดี ไม่มีอะไรทันเป็นอย่างนั้น กินไปสบาย กินไปช้า ๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ มันยังอร่อยกว่า แล้วรู้สึกเป็นสุขกว่า ไม่เป็น ไม่เป็น การสั่นระรัว ไม่เป็นการบีบคั้นทางจิตใจ แม้แต่เพียงเท่านี้เราก็ยังพิสูจน์ว่าไอ้จิตว่างนี้มันมีประโยชน์ ไอ้จิตวุ่นนอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ทำให้เป็นทุกข์ด้วย
ไอ้คำ ๒ คำในภาษาอังกฤษที่มักจะคุ้นเคยกันดี คือ ไอ้ bad temper ไอ้ good temper นี้ ๒ อย่างนี้ เอามาเปรียบเทียบได้ คือเรามีอารมณ์ดีเป็น good temper ถ้าเวลาอย่างนี้ก็คือจิตว่าง อะไร ๆ ก็เป็นทุกข์ได้ยากที่สุด ไม่ได้ทุกข์เสียท่าเดียว พอไอ้ bad temper เกิดขึ้นแล้วก็ อะไร ๆ ก็จะเป็นทุกข์เสียหมด แม้แต่มีแล้ว กินแล้ว เคี้้ยวอยู่แล้ว อะไร ๆ มันก็เป็นเรื่องทุกข์หมด นี้คือจิตไม่ว่าง
ถึงเราจะทำงานก็เหมือนกัน ถ้าทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็เรียนหนังสือ หรืออะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าจิตมันครึ้ม มืดครึ้มอยู่ด้วยตัวกูของกูก็ไม่มีอะไรสนุกสนานแล้ว แล้วก็ไม่ได้ผลด้วย ไม่ค่อยจะได้ผลงานที่ดีด้วย อารมณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คือว่าง มันก็ครื้นเครงอยู่เรื่อย สนุกสนานไปหมด ไอ้งานก็สนุกไปหมด ผลก็ได้ ความสุขก็ได้ พร้อมกันไปในการทำงาน อย่างนี้เขาเรียกกันว่าจิตว่าง
ทีนี้ไอ้คนที่เขาไม่อยากจะเชื่อ แล้วเขาอยากจะขัดคอ เขาไม่ยอมฟังคำอธิบายอย่างนี้ เขาว่าจิตว่างไม่คิดอะไร บางทีก็จิตว่างหรือแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รับผิดชอบอะไร จะเอาแต่ตามที่กิเลสมันต้องการ แล้วว่าง ๆ ๆ ไม่บาป ไม่กรรม ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย อะไรอย่างนี้ นั่นมันจิตว่างอันธพาล มีคนเอาไปพูด ไปเขียน ไปล้อพวกเราก็มี นั้นให้ชื่อว่าจิตว่างอันธพาล คือไม่ได้ว่างจริง คือแกล้งแต่ล้อกันเล่นเท่านั้น ถ้าว่างจริงก็เปรียบเทียบเอาเองว่าจะเป็นอย่างไร คือจิตมันไม่ประกอบอยู่ด้วยความโง่ซึ่งเป็นเหตุให้ไปมั่นหมายอะไรในตัวกูของกู
พอเผลอไปมันโง่ ความโง่นี่เพิ่งเกิดนะ ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลา นี่ก็เหมือนกัน อยากจะขอเตือนว่าในทางพุทธศาสนา ถืออวิชชา ความโง่ของคนเรานี้เพิ่งเกิด แล้วเกิดเป็นเรื่อง ๆ ราย ๆ ไป เด็กคนหนึ่งอาจจะโง่ในกรณีนี้ ไม่โง่ในกรณีนี้ มันเป็นเรื่อง ๆ ราย ๆ ไป อย่าดูว่ามันโง่ไปหมด แล้วมันจะโง่ไปทุกเรื่อง มันต้องแล้วแต่เวลา แล้วแต่สิ่งแวดล้อม ยิ่งถือว่าความโง่หรืออวิชชานี่ก็เพิ่งเกิด ตามเหตุการณ์ที่มันทำให้เกิด แล้วมันเกิดก็เพราะว่าเราอวดดี หรือเผลอสติไป อวิชชาเกิด ความโง่เกิด พอความโง่หรืออวิชชาเกิด มันก็แน่นอน ก็ไปจับมั่นหมายอะไรเข้าเป็นตัวกูของกู มันก็มีความทุกข์ด้วย งานนั้นก็เสียหมดด้วย เพราะถ้าว่าจิตไม่ว่างแล้วก็คือมันมีตัวกูของกู มาจากอวิชชา มาจากตัณหา เพราะฉะนั้นมันปั่นป่วน มันเร่าร้อน มันมืดครึ้ม มันระส่ำระสาย กระสับกระส่าย ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์อะไรได้เลย นอกจากว่ากระสับกระส่ายแล้วเป็นทุกข์
พอจิตว่างจากตัวกูชนิดนี้ ความรู้สึกที่เป็นตัวกูชนิดนี้เสีย มันก็จะเป็นสภาพปรกติตามธรรมชาติเดิมของจิต คือคิดนึกอะไรได้ว่องไว ฉลาด รู้ บริสุทธิ์อยู่ได้ตามลำพัง ก็เลยคิดนึกอะไรได้ถูกต้อง แม้จะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาเลย มันก็คิดนึกไปได้ถูกต้องตามเรื่องของจิต เป็นเรื่องของสัญชาติญาณก็ได้ อะไรก็ได้ มีส่วนถูก พอมันหมายมั่นเป็นกิเลสตัณหาแล้วมันก็ผิดทันที ฉะนั้นก่อนแต่ที่เราจะทำอะไรลงไป การเรียนก็ดี หรือว่าทำหน้าที่อื่น ๆ ก็ดี หรือสอนใครก็ดี ทำใจคอให้ปรกติเสียก่อน ให้มันว่างเสียก่อน แล้วจึงทำงานนั้น
อุบายหรือวิธี หรือเทคนิคที่จะทำให้ใจคอปรกติ หรือว่างนี้ มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง เอาไว้พูดกันคราวอื่นดีกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง
หรือว่าเราอย่าเพียงแต่ทำตามธรรมชาติธรรมดา พอระลึกได้มันก็ว่างแล้ว เรียกว่าสำรวมจิตให้ปรกติแล้วก็พอ จึงลงมือทำอะไร หรือว่าจะพูดอะไร หรือจะคิดอะไรก็ตาม หรือจะตัดสินใจอะไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสอบไล่นี่ ใจคอต้องปรกติที่สุด อย่าให้ตัวกูของกูที่กลัวตก กลัวสอบตกหรืออันนั้นเกิดเข้ามารบกวนเวลานั้น ให้มันอยู่เสียคราวอื่น ความระมัดระวังไม่ให้สอบไล่ตกนี้ก็ต้องเป็นเรื่องสติปัญญา อย่าเป็นเรื่องของตัวกูของกู และเมื่อลงมือทำงานแล้ว ทำข้อสอบแล้ว ก็จะต้องว่าง ไม่มีตัวกูของกูมารบกวน อารมณ์ดี แจ่มใส สดชื่น แล้วก็ทำไป ก็นึกได้ดี ความจำก็ดี อะไรก็ดี ตัดสินใจก็ดี อะไรก็ดี ก็เลยได้ผลดีอย่างนี้ เป็นต้น
ทีนี้คนที่เขาเข้าใจผิด หรือเขาอยากจะล้อ อยากขัดคอ เขาบอกว่าจิตว่างมันก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย แล้วมันก็ทำอะไรไม่ได้ ความว่าง คำว่าว่างคนละความหมายอย่างนี้ อาตมาอยากจะบอกว่าแม้แต่จะชกมวย ไอ้นัก ไอ้ผู้ชกมวย ผู้ชกกันจะต้องชกด้วยจิตว่างนั่นแหละ คนฟังเขาก็ไม่เห็นด้วย จิตว่างจะชกอย่างไรได้ เพราะเขาใช้คำว่าว่างเสียอย่างอื่นแล้ว ความหมายอย่างอื่น คือไม่คิด ไม่นึก ไม่รู้สึกอะไร คือแกล้งทำให้ไม่รู้สึก คิดนึกอะไร ก็ตามแต่ ก็ตามเคย คือว่างนี้ก็อย่าให้มันหมกมุ่น กลัดกลุ้มหรือว่าปั่นป่วนด้วยความหมายเป็นตัวกูของกู กูจะแพ้ กูจะอะไรก็ตาม อย่า มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เวลา ไม่ใช่โอกาสที่จะไปรำพึงอย่างนั้น
เหลือแต่ว่าทำจิตให้ปรกติที่สุด ว่องไวที่สุด ตามธรรมชาติของจิตแท้ ๆ มันก็จะคิดนึกว่องไว ในการที่จะทำอะไรลงไป อย่างไรนี้ ไอ้ตัวกูของกูอย่ามาถ่วง มันอันตรายที่สุด จะแพ้ จะแพ้แน่ ๆ เพราะว่าไอ้ตัวกูของกูเข้ามาแทนที่เป็นจิตวุ่น ไม่ว่างแล้ว จะต้องแพ้แน่ ๆ คือจะงุ่มง่าม จะงงงัน จะอะไรต่าง ๆ ถูกเขาชกตายเลย
ถ้าในความคิดว่องไวเป็นกรด เส้นประสาทว่องไวเป็นกรด ร่างกายว่องไวเป็นกรด ต้องทำไปด้วยจิตว่าง ตามแบบนี้ คือเต็มอยู่ด้วยสติปัญญาหรือธรรมชาติเดิมแท้ของจิต ยกตัวอย่างที่จะทำอะไรให้ดี ก็การงาน ก็ยิงปืนหรือจะทำอะไรคล้าย ๆ ยิงปืน ขว้างให้แม่นอย่างนี้ ต้องลืมหมดเรื่องตัวกูของกู เป็นจิตที่ว่าง เป็นอิสระที่สุด แล้วมันก็เหลืออยู่แต่จิตที่ฉลาดเฉลียว ว่องไวที่สุด ที่จะเล็งเป้าหรือจะลั่นไกไป
บางคนจะฟังไม่ถูกว่าอะไรมันทำให้ทำได้อย่างนั้น ตัวจิตที่มันว่าง จิตที่มันดี จิตที่มันบริสุทธิ์ จิตที่มันธรรมชาติแท้ ๆ ของมัน ไม่เจืออยู่ด้วยความโง่หรือกิเลสที่เห็นแก่ตัวหรืออะไรทำนองนี้ แม้จะเป็นคนธรรมดาสามัญ เป็นปุถุชน มีเห็นแก่ตัว มีอยากได้ อยากชนะ อยากดี อยากเด่นอะไรก็ตาม ต้องเก็บไว้ให้ดีก่อน ต้องไปอยู่ที่อื่น คราวอื่น เวลาลงมือทำจริง ๆ แล้วต้องไม่มี อย่างนี้จะทำได้เหมือนกับว่ามีปาฏิหาริย์ จะยิงปืนตรงจุดเป้าหมาย จะขว้างแม่นตรงจุดเป้าหมาย หรือจะทำอะไรก็ตาม ทำด้วยใจที่ว่างจากหมอกเมฆแห่งตัวกูของกู จิตตอนนี้ก็จะสะอาดดี มั่นคงที่สุด แล้วก็ว่องไวที่สุด
มีคำกำกับไว้ ๓ คำ คุณสมบัติของจิตที่ว่าง คือสะอาด บริสุทธิ์ดี แล้วก็มั่นคงที่สุด มั่นคงแน่วแน่ที่สุด แล้วก็ว่องไวที่สุด ตามบาลีเขาว่าอย่างนี้ ถ้าเราได้จิตอย่างนี้มาแล้วก็ทำอะไรได้ทุกอย่างที่จะทำให้ดี มีประโยชน์ แม้แต่จะรบราฆ่าฟันกัน จะชกจะต่อยกัน จะอะไรกันก็ทำได้ดี มันจะทะเลาะวิวาท จะสู้กันก็ทำได้ดี จะเรียนหนังสือก็ทำได้ดี ทำการงาน ทำได้ดี แม้แต่นอนเล่นพักผ่อนก็ยังมีรู้สึกเป็นสุขดี พอจิตวุ่นแล้วมันหาความสุขไม่ได้ งุ่มง่ามเงอะงะไปหมด อืดอาดไปหมด โง่ไปหมด
คำพูดอย่างนี้ มันเป็นคำพูดที่ปรุงออกมาจากหลักในพระพุทธศาสนา ซึ่งมันยืดยาวมากมาย ๆ หลายร้อยหน้ากระดาษ หรือหลายหมื่นหลายแสนคำพูด ก็เอามาทำให้เหลือเพียง ๒-๓ พยางค์ว่าจิตว่าง ปราศจากความมั่นหมายแห่งตัวกูของกู
ในที่นี้ก็ค้นคว้า สังเกต สอบสวนต่อไปอีกว่าเรา เรานี่ คน ๆ หนึ่งนี้ เมื่อใดมันว่าง เมื่อใดมันไม่ว่าง ถ้าว่างเป็นอย่างไร ไม่ว่างเป็นอย่างไร แล้วจนกระทั่งพบว่าวันหนึ่ง คืนหนึ่ง มี ๒๔ ชั่วโมงนี้ ไอ้ตัวกูของกูชนิดนี้มันเกิดกี่ครั้งกี่หน ใครเกิดมากครั้งมากหน คนนั้นตกนรกมาก ในวันหนึ่ง ๆ ตกนรกหลาย ๆ หน ถ้าไม่ค่อยเกิด ก็ตกนรกน้อยหน หรือไม่เกิดเลย วันนั้นก็ไม่ตกนรกเลย อยู่อย่างปกติสามัญ หรือจะเรียกว่าเป็นสวรรค์เลยก็ได้ เพราะรู้สึกสบายใจ พอใจที่สุด
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดให้รู้ แล้วมันจะรู้ยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งกำหนดก็จะรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะรู้จักลักษณะ รู้จักธรรมชาติของจิตดีขึ้น แล้วจะควบคุมให้มันว่างได้ดีขึ้น ดีขึ้น ๆ จนว่างจริง ว่างถึงที่สุด ไม่กลับวุ่น กลายเป็นพระอรหันต์ไปเลยอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรายังทำไม่ได้ถึงขนาดเป็นพระอรหันต์ไปเลย ก็ทำชนิดที่จะเป็นประโยชน์แก่การที่จะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เท่าไร
เรายังเป็นปุถุชน พูดกันตามภาษาวัด ๆ ก็ต้องพูดอย่างนี้ ยังพร้อมที่จะเกิดกิเลส เพราะมีเชื้อ มีความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนี้อยู่มาก เขาจึงเรียกว่าปุถุชน เพราะคนที่มีความเคยชินแห่งกิเลสนี้มาก เรียกว่าปุถุชน พออันนี้มันน้อยลง ๆ ก็หมายความว่าไอ้ความเป็นปุถุชนมันก็น้อยลง ๆ เป็นพระอริยเจ้า เป็นยอดสุดของพระอริยเจ้า คือเป็นพระอรหันต์
ไอ้ความเป็นปุถุชน ก็คือมีความเคยชินที่จะรัก จะโกรธ จะเกลียด จะกลัว จะเกิดกิเลสนั้นมาก พออันนี้เกิด กิเลสเหล่านี้เกิดก็จะทำให้ไม่ว่างแล้ว พอว่างจากอันนี้ คือว่างจิตว่าง ว่างอยู่ด้วยวิชชา ถ้าว่างมันอยู่ด้วยวิชชา ด้วยโพธิ ถ้าวุ่น มันวุ่นอยู่ด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ด้วยความมืด ก็พอจะมองเห็นแล้วว่าอันใดมันน่ามีหรือน่าสนุกที่จะมี
พอมีความรู้สึกว่าเป็นตัวกูก็ต้องมีความทุกข์ทันที ไม่อย่างรุนแรงก็อย่างละเอียด อย่างที่มองเห็นยาก อย่างเนือย ๆ อย่างหนัก ๆ เนือย ๆ บางเวลาเราไม่รู้ว่าเรามีความทุกข์เพราะอะไร เราบอกไม่ถูก แต่เรารู้สึกว่าเราไม่พอใจ เรารู้สึกไม่สบาย นี้คือว่าไอ้จิตมันวุ่น มันไม่ว่างแบบเร้นลับ แต่บางคราวเรารู้ชัดเลยว่าเพราะอะไร
ทีนี้ก็มีคำสรุปเป็นคำจำง่าย ๆ ว่า จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทีนี้ว่าเราอยู่ในโลก การงานเป็นสิ่งที่หลีกไม่ได้ หรือเป็นหน้าที่โดยตรง หรือจะถือเป็นการปฏิบัติธรรมะไปเลยก็ได้ การทำการงาน ทำให้เราสูงขึ้น ๆ ๆ แต่ถ้าเราทำด้วยจิตที่ไม่ว่าง มันจะมีความทุกข์ การงานจะมีความทุกข์ และทำไม่ได้ดี ไม่ได้ผล เราทำงานด้วยจิตที่ว่าง ครื้นเครงอยู่ด้วยความสว่างไสว แจ่มแจ้ง สะอาด สงบเย็น โดยเป็นสุขแล้ว เป็นสุขเมื่อทำงานอยู่
เข้าใจว่าทุกคนคงจะนึกได้ ย้อนระลึกไปดูให้ดี บางเวลาเราสนุกในการที่ทำงานนั้น จะเขียนหนังสือหรืออะไร มันก็สนุกไปหมด เวลานั้นจิตมันเหมาะ จิตกำลังอยู่ในสภาพอย่างที่ว่านี้ บางวันไม่ไหว เขียนอะไรก็ไม่ได้ เลยไม่ได้กิน ขนมก็ไม่อร่อย นี่มันวุ่น นี่ไม่ว่าง ให้พยายามให้เข้ามาในหลักที่ว่าทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง งานนั้นจะได้ผลดี แล้วผลงานนั้นไม่ไปไหนเสีย มันก็ตกอยู่แก่ผู้ทำ นี้มันเป็นเรื่องข้างนอก กฎหมายหรือวัฒนธรรมอะไรมันคุ้มครองไว้ ไอ้ผลงานของใครมันก็ได้แก่คนนั้น เราไม่ต้องมั่นหมายเป็นตัวกูของกู ทำเป็นจิตที่ว่างเหมือนกับทำเล่น ๆ งานสำเร็จดี เป็นสุขแล้วตั้งแต่เมื่อทำงาน ทีนี้พอผลงานที่ตามมาทีหลังก็ มันก็ไม่ไปไหน ก็อย่าไปมั่่นหมายเป็นของกูขึ้นมาอีก มันจะเกิดกูเป็นเจ้าของนั้น แล้วเป็นตัวกูของกูขึ้นมาอีก จะมีเงินมีของ มีอะไรก็ด้วยไม่ต้องมีความรู้สึกมั่นหมายว่าตัวกู
ก็เมื่อชีวิตนี้ก็ยังไม่ได้ถือว่าเป็นตัวกู นับประสาอะไร เงินทองข้าวของ จะต้องมาถือว่าเป็นตัวกู นี่ทำงานด้วยจิตว่างเป็นอย่างนี้ คนไม่เข้าใจเขาก็ไม่สนใจ เขาก็ล้อเล่นหรือเขาดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ไปเสีย ฉะนั้นขอให้นึกถึงเวลาเราสบายใจที่สุด การงานมันสนุกที่สุดนั่นแหละ เอามาเป็นตัวอย่าง มาเป็นหลักฐานเป็นพยาน แล้วก็ทำให้เป็นอย่างนั้นมากขึ้น ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง ก็ทำด้วยจิตว่าง ไอ้ผลงานที่ได้มาก็อย่าเอามาเป็นของกู ให้มันเป็นของความว่าง จะกิน จะใช้อะไรก็กินของความว่าง กินอาหารของความว่าง ชีวิตก็ไม่ได้ถือว่าเป็นตัวเราของเรา นี่เราตายอยู่ตลอดเวลาในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุด คือไม่มีตัวเรา ใช้คำว่าตายเสร็จสิ้นแล้วในตัว แต่หัวที คำกลอนนี้เขียนไว้นานแล้ว สอนกันไว้นานแล้ว เพื่อให้จำง่าย ในเรื่องนี้
ทำงานด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่าง กินอาหารของความว่าง ตัวเองตายอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดความคิดเป็นตัวกูของกู ตัวฉันของฉันขึ้นมาในจิต อย่างนี้คืออุบายที่มีประโยชน์หรือว่าลึกซึ้งที่สุดในพระพุทธศาสนา
ใครมาอยู่สวนโมกข์ มาปฏิบัติธรรมะ มาศึกษาอยู่ในสวนโมกข์นี้ เราเรียกกันว่ามาเพื่อรับปริญญา ตายเสียก่อนตาย ท่องไว้ สะดุ้ง บางคนสั่นหัวเลย ปริญญาบ้าบออะไรกัน ปริญญาตายเสียก่อนตาย ถ้าใครได้ปริญญานี้ไป แล้วก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป คือฟังเข้าใจจนจิตใจมันเปลี่ยน สามารถที่จะควบคุมความรู้สึกคิดนึกไม่ให้มีตัวกูของกูได้ ในทุกกรณี ทุกเวลา เรียกว่าตัวกูตายแล้ว ตายหมดแล้วตลอดเวลา โดยที่ร่างกายยังไม่ต้องตายหรือจิตใจก็ยังไม่ต้องตาย แต่ความรู้สึกประเภทตัวกูตายหมดแล้ว
เอาไปคิดดู นั่นน่ะคือยอดสุดของพุทธศาสนา พูดว่าตายก่อนตาย ๒ คำอยู่ ไอ้ตายแรกนี่คือตายแห่งตัวกูของกู กิเลสตัณหาที่เป็นอุปาทานตัวกูของกูนั้นตาย ไอ้ตายหลังจากก่อนตายคือก่อนร่างกายจะตาย หมายความว่าเขาจะต้องทำนี่ให้ถูกต้องให้เสร็จสิ้นก่อนแต่ที่ร่างกายมันจะตาย ถ้าไอ้ตัวกูตายได้เร็วเท่าไหร่ ระยะนั้นมันก็ยาว แล้วมันจะมีความสุขสูงสุดอยู่ในโลกนี้ ตัวกูตายสนิทแท้จริงคือเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่ร่างกายยังเหลืออยู่อีกหลายสิบปี มันก็ได้กำไรที่ว่ามีความสุขอยู่ได้อีกหลายสิบปี
รีบทำให้ตัวกูมันตายเสียก่อนตายได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี แล้วก็มีเวลาที่จะเสวยความสุขจากสิ่งนี้นานหลายสิบปี ถ้ามันน้อยไปเท่าไหร่ มันก็น้อยไปเท่านั้่น กระทั่งว่าอย่างเลวที่สุดก็ขอให้ตายพร้อมกับร่างกายก็ยังดี คือตัวกูก็ตายพร้อมกันไปกับร่างกายแตกดับลงไป เพราะเรามั่นหมายอยู่ตลอดเวลา พอเจ็บไข้หรืออะไรก็ตาม เรามั่นหมายที่จะ เอ้า, เลิกกันทีไอ้ตัวกูนี้ พร้อมกันไปกับร่างกายถูกทำลายไป ไอ้ตัวกูก็หมดไป
อธิบายไว้ถึงกับว่า อย่างว่าเราฝึกไว้ให้ชำนาญ พอถูกยิงปัง นี้ก็ตายพอสมัคร หมดตัวกูไปด้วยเลย อย่างนี้ไม่ตายโหง อย่างนี้เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเราเดินอยู่กลางถนน รถยนต์ชนโครมปั๊บ ตายเลย มันมีเวลาเหลืออยู่เศษหนึ่งส่วนสิบวินาที พอนึกได้ถึงว่าเราสมัคร ดับไม่เหลือ สมัครหมดตัวกูของกู ก็พอดีชีวิตร่างกายก็หมดสิ้น ไอ้ตัวกูหมดสิ้น อย่างนี้ไม่ใช่ตายโหง เป็นพระอรหันต์พร้อมกับร่างกายแตกดับ แม้จะอยู่กลางถนน ใต้รถยนต์ก็ตาม มันได้เปรียบว่าเราไม่เสียทีที่เกิดมา ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
อย่างนี้มันก็ยังไม่เก่ง เท่าที่เราจะทำให้มันเกิดได้ นาน แล้วก็มีเวลาเหลือยาวแล้วก็จะมีความสุข แต่ทีนี้ยังมีอีกทีหนึ่งที่จะต่อรองกันได้อีก ก็แม้จะไม่เป็นพระอรหันต์นั้นน่ะ เราพยายามทำจิตให้ว่างไว้มากที่สุด เท่าไร เราก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้นแหละ ควบคุมไว้ให้ได้อย่าให้มันขึ้นมา เราก็มีความสุขคล้าย ๆ กับพระอรหันต์ แต่ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่มีความสุขคล้ายกัน เพราะเรารักษาไว้ เราระมัดระวังไว้ก็ได้เหมือนกัน ยังดีกว่า ก็ได้รับความสุขเป็นที่น่าพอใจอยู่เรื่อย ๆ ทุกวัน ๆ
ทีนี้เรื่องเบ็ดเตล็ด ก็อย่าได้เข้าใจว่าอย่างนี้มันทำไม่ได้นะ อย่าเข้าใจว่าอย่างนี้มันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่านี่คือประโยชน์ที่ว่ามันไม่มีความทุกข์เลย จะเป็นคนที่ไม่รู้จักทุกข์กับใคร การงานก็สนุก เราอยู่ได้โดยไม่ทำการงานไม่ได้ การงานก็ยิ่งสนุก การงานก็ยิ่งเป็นผลดี ไอ้คนจิตวุ่นนั้น การงานก็เหลว แล้วก็ไม่มีความสุขเลยในจิตใจ เกลียดชัดตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี้เรียกว่าเราจะไม่ทะเยอะทะยานถึงกับว่าเราจะเป็นพระอรหันต์ แต่เราจะเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์คล้าย ๆ กับพระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นปัญหาหนักขึ้นมาว่าคนสมัยนี้ หรือคนส่วนมากสมัยนี้จะไม่ชอบอย่างนี้ จะชอบความสุข สนุกสนาน ทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง กระโดดโลดเต้นไปตามแบบนั้น ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้ามันมีความทุกข์เหลือทนแล้วก็ไม่มีทางอื่นหรอกที่จะแก้ไขได้ นอกจากทางนี้ ฉะนั้นมาทำให้มันว่างเท่าที่จะทำได้
ไอ้คนในโลกสมัยปัจจุบันหรือว่าต่อไปในอนาคตนี้ จะเป็นคนที่มีจิตวุ่นวาย คือไม่ว่างหนักขึ้นทุกที หนักขึ้นทุกที นับตั้งแต่เห็นแก่ตัว เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัวเองก็เป็นทุกข์ทันที แล้วก็ทำคนอื่นให้เป็นทุกข์ด้วย ฉะนั้นเราก็แยกทางกันเดิน เมื่อเขาชอบอย่างนั้นก็ตามใจเขา หรือว่าเราเองนี่ถ้ายังไม่อยากจะเชื่อ อยากจะเป็นเด็กดื้อ ก็ลองดูก็ได้ ลองไปตามแบบนั้นดูก่อน แต่แล้วก็ศึกษาแบบนี้ไว้ สำหรับจะใช้ได้เมื่อมันเกิดปัญหาเกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่ต้องไปยิงตัวตาย ไม่ต้องไปนั่งร้องไห้ให้มันมากกว่าเหตุ ไม่ต้องกลัดกลุ้มไอ้ความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้
อย่างเดี๋ยวนี้คนมันมีจิตวุ่นกันเกินขนาด ผิดหวังนิดเดียวมันก็ฆ่าตัวตายบ้า ฆ่าคู่รักตายบ้าง อะไรบ้าง อย่างที่เราเห็นกันในหน้าหนังสือพิมพ์ มันโง่เหลือประมาณ คล้าย ๆ มันเกิดมาเพื่อโง่ เพื่อมีความทุกข์ เพื่อจะตายไปในลักษณะอย่างนั้น ที่จริงเขาไม่ ธรรมชาติไม่ได้จัดคนให้เป็นแบบนั้น ให้ชนะ ธรรมชาติจัดมาให้มีช่องทางที่จะเอาชนะ ทำจิตให้เป็นอิสระ ชนะไม่ต้องเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าท่านได้พบไอ้ความจริงข้อนี้ นี่เรียกว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก แล้วก็เป็นคนพบความจริงข้อนี้ เอาชนะข้อนี้ เราเป็นพุทธบริษัทก็เดินตามระบบนี้ ทีนี้คนเขาไม่เอา เพราะมันเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าทุเรศ ผิดหวังนิดเดียวมันก็ยิงตัวเอง ยิงคนอื่น แล้วไม่รู้มันเกิดมาทำไม แล้วทำไมสิ่งนั้นมันมีค่าสูงสุดถึงขนาดว่ายอมเสียชีวิต มันก็ไม่มีเหตุผลอะไร นี่เป็นตัวอย่างของคนที่จิตไม่ว่าง ยิ่ง ๆ เสียกว่าไม่ว่าง ที่เต็มไปด้วยตัวกู หลายซับหลายซ้อน เดือดพล่านไปหมด นี่เรื่องส่วนตัวบุคคลเกี่ยวกับศีลธรรมมันเป็นอย่างนี้ ที่เกี่ยวกับสังคมทั้งโลกก็กำลังเป็นอย่างนี้ รบราฆ่าฟันกันไม่สิ้นสุด เป็นตัวกูของกู
ถ้าทุกคนเข้าใจเรื่องจิตว่าง แล้วทำให้มันว่างตามสมควรแก่อัตภาพ ให้อยู่กันในโลกนี้อย่างมีความสุขนี้ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรทั้งนั้น ไม่ทำอันตรายใคร มันก็มีเรื่องรายละเอียดอีกมากที่พูดกันไม่หวาดไหวแล้ว นี่พูดแต่ใจความ พูดแต่หลักเกณฑ์ที่เอาไปคิดได้ด้วยตนเอง
สรุปแล้วก็ว่า ไอ้คำว่าว่าง ๆ นี่ มันหลายความหมาย ว่างอย่างทางวัตถุ ว่างอย่างทางฟิสิกส์ นี่ก็คือ vacuum ว่างนี่ ไม่ใช่เรื่องนี้ ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือว่าจิตว่างไม่คิดนึกรู้สึกอะไรเลย เหมือนกับนอนหลับ เหมือนกับกินยา ถูกยาสลบอะไรนี้ นี่ก็ว่างเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนานี้
แม้ที่สุดแต่ว่าจิตเป็นสมาธิ เข้าทำสมาธิ สงบอยู่ในสมาธิ ก็ว่างเหมือนกันนะ แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องนี้นะ ไม่ใช่เรื่องว่างที่กำลังพูด ไอ้ว่างที่กำลังพูดนี้ต้องว่างด้วยปัญญา ด้วยวิชชาความรู้เห็นแจ้งแทงตลอด มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมความรู้สึกที่เป็นกูของกูที่มันวุ่นอย่าให้มันเกิดมา จิตว่างนี้คือว่างอย่างที่กำลังพูด
ทำได้ เป็นไปได้อยู่ในวิสัยจะทำได้ แม้แต่คนธรรมดาสามัญนี้ ตามมาก ตามน้อย ทำได้เท่าไหร่มีความสุขเท่านั้น ฉะนั้นขอให้ไปคิดนึกให้ดี ให้สำเร็จประโยชน์ในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบกับพุทธศาสนา
ถ้ายังไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องจิตว่างนี้หละก็เรียกว่ายัง ๆ ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากพระพุทธศาสนา คล้าย ๆ กับว่าไม่พบพระพุทธศาสนานั่นแหละ คือมันพบผิวเผิน ไอ้ริมนอกเกินไป ไม่ถึงหัวใจของพุทธศาสนาที่เรียกว่าอนัตตา หรือสุญญตา
มีคำกล่าวว่านิพพานั้นน่ะคือว่างสูงสุด ว่างเด็ดขาดและว่างสูงสุด ว่างโดยสมบูรณ์ นอกนั้นก็ว่างรอง ๆ มา มีผลเหมือนกัน นี่อยากจะยกตัวอย่างว่าพอเรามานั่งอยู่ตรงนี้ ธรรมชาติมันดึงจิตใจไปในทางที่เกิดตัวกูของกูไม่ได้ ก็เลยว่าง เลยสบาย อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นตัวอย่าง แม้เราไม่ได้ทำ ธรรมชาติช่วย ธรรมชาติช่วยทำให้มีผลอย่างเดียวกัน คือไม่ให้ไปยึดมั่นนั่นนี่ ไม่นึกคิดยึดมั่นนั่นนี่ว่าตัวกูว่าของกู มันก็มีผลอย่างเดียวกัน รู้สึกเป็นสุข นี้ธรรมชาติช่วยทำ อย่าให้เกิดความคิดเป็นตัวกูของกู
เรียกว่าจำเอาไปทำให้มันมากขึ้นอีก หรือว่าไปในที่ที่ธรรมชาติไม่มีอย่างนี้ มันไม่ช่วย เราก็ไปทำเอาเองใหม่ด้วยจิตที่มีสติปัญญา ทำให้มันว่างเหมือนกับนั่งอยู่ตรงนี้ เมื่อว่างอย่างนี้ นั่งอยู่ตรงนี้ คุณจะลองทำอะไรดูก็ได้ ทำโจทย์เลขก็ได้ ทำอะไรก็ได้ มันก็ได้ดี สนุกสนานไปเลย
ฉะนั้นลองไปที่ทำงาน ที่ไหนก็ที่ว่าในหน้าที่การงาน ก็ทำจิตว่างอย่างนี้ แล้วทำงานไป อย่าโมโห อย่าอะไร มันก็จะได้ผลดีนะ ผลงานก็ได้ ความสุขก็ได้ พร้อมไปในตัว นี่จิตว่างที่เรียกว่าเป็นใช้ได้ ประยุกต์หรือ apply ได้ คือเป็นอย่างนี้ ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับ apply แล้วก็อย่าไปสนใจเลย สนใจแต่ที่มันจะมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันนี้ได้ ก็คืออย่างนี้ พอมันวุ่นขึ้นมา ก็นึกถึง มานั่งที่ตรงนี้ให้มันว่าง
พอเรา เอ๊ะ, ขึ้นมาเท่านั้นแหละ มันก็จะกลับว่าง พอมันเกิดจะมีตะกอนขึ้นมา ขุ่นมัว เป็นตัวกูแล้วก็ เอ๊ะ, หรือ เฮ้ย, อะไรขึ้นมา นี้มันก็หยุดชะงัก กลับว่างได้ นี่ก็เรียกสติสัมปชัญญะ
เอาหละ เป็นอันว่าเราจะเตรียมสำหรับที่จะเป็นผู้ที่ได้โชคดีที่สุด คือได้เปรียบที่สุดที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ คือได้สิ่งนี้ เป็นผู้โชคดีที่สุด คือไม่มีความทุกข์ ทุกข์น้อยที่สุดหรือไม่ทุกข์เลย ไม่มีอะไรดีกว่านี้ เรื่องเงินทองข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ วาสนา คนจิตวุ่นมันก็หาได้ แต่มันไม่มีความสุขหรอก ไอ้เราถือหลักจิตว่าง เราก็หาไอ้สิ่งที่เราต้องการเหล่านั้นได้ แต่เราไม่มีความทุกข์เลย เราชนะตลอดเวลา ถ้าเราแพ้บางคราว เราเสียใจให้มาก ละอายให้มาก แล้วมันก็จะไม่กลับแพ้อีก ถ้าเราไม่รู้ ไม่สนใจเสียเลย มันกลับแพ้อีก ๆ จนเราขี้เกียจจะต่อสู้ ผลสุดท้ายมันก็ไปเป็นคนแพ้ที่น่าสงสาร ฉะนั้นอย่าให้แพ้ ถ้าแพ้แล้ว ละอายให้มาก เสียใจให้มาก มันก็กลับนิสัย เปลี่ยนนิสัย ไม่สะเพร่าไม่อะไร ก็มีหวังชนะยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในที่สุดนี้ก็หวังว่า เมื่อได้ฟังอย่างนี้แล้ว คงจะเลิกเข้าใจผิดว่าจิตว่างนั้นมันเคว้งคว้าง ๆ ทำอะไรไม่ได้ คือว่าไม่มีอะไรเลย เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่า ไอ้จิตว่างนั่นคือมีทั้งหมดที่ไม่เป็นทุกข์เลย มีทุกอย่างทั้งหมดที่ไม่เป็นทุกข์เลย แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น ควรจะสนใจเป็นเรื่องประจำชีวิตจนตลอดชีวิต เหมือนกับเครื่องรางคุ้มครองไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น
ถ้าอยากจะแขวนพระเครื่องของพระพุทธเจ้า ขอให้แขวนไอ้ความว่างนี้ ใครที่ชอบแขวนพระเครื่องของหลวงพ่อนั้น หลวงพ่อนี้ ทำใจเถอะ มันไม่อาจจะป้องกันไอ้ความทุกข์ได้ ไม่สู้ไอ้พระเครื่องโดยตรงของพระพุทธเจ้าโดยตรง คือสติสัมปชัญญะ
(นาทีที่ 60.55, เปลี่ยนเรื่องเทศน์)....ภาวนานั่นแหละ แม้จะเรียนหนังสือหนังหาให้ฉลาด ก็สงเคราะห์ไว้ในการทำภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญขึ้น ให้ดีขึ้น ถ้าเกี่ยวกับจิตโดยตรงเรียกว่ากรรมฐาน ทำให้จิตดีขึ้น ในทางสงบ รำงับ อยู่ในอำนาจของเรา เรียกว่าสมถะภาวนา ถ้าทำให้จิตเฉลียวฉลาดว่องไว ในความรู้ ความคิด ความนึก ไอ้สติปัญญานี้ก็เรียกวิปัสสนาภาวนา มีอยู่ ๒ ชนิด สมถะภาวนาให้จิตมีสมาธิ วิปัสสนาภาวนาให้จิตมีความรอบรู้ นี้เรียกว่ากรรมฐาน
การเรียนหนังสือให้จิตฉลาดขึ้นก็เรียกว่าอยู่ในพวกวิปัสสนาภาวนาโดยอ้อม โดยอ้อม เพราะว่าโดยตรงก็หมายถึงมาให้รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเกิดตัวกูของกูไม่ได้ จึงเกิดไม่ได้ถ้ายังเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ มันเกิดไม่ได้
และให้รู้ไว้ด้วยว่า ที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญานก็มีอยู่เหมือนกัน พอเราตั้งใจคิด จิตก็เป็นสมาธิ พอคิดด้วยจิตที่เป็นสมาธิก็คิดออกนะ นั่นคือลักษณะอาการของวิปัสสนา แต่ทีนี้ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติเพียงเท่านั้น มันไม่ถึงที่สุด มันยังไม่เป็นที่น่าพอใจถึงที่สุด ก็จึงอบรมมันอีกทีให้มันสูงสุด เช่นเราทำอะไรเป็นนี่ถ้าเราไปอบรมมันเข้าอีกที มันก็ดีกว่านั้น ถ้าเราอบรมจิตที่มันจะเป็นสมาธิไปในตามธรรมชาติทำให้สูงขึ้นไปอีก ให้มันเป็นสมาธิของการอบรม มีปัญญาเพราะการอบรม แม้จะมีแววฉลาด มีแววสมาธิมาแต่ก่อนก็ยังอบรมให้มันมีมากขึ้นไปอีก จึงหวังว่าทุกคนจะได้สนใจ ที่จะทำจิตให้มันสูงสุดไปในทางเรื่องของจิต จนบรรลุมรรคผลนิพพาน
(63.35) ..... มีเสียงถามเบา ๆ ฟังไม่ออกค่ะ
อย่างนี้ไม่ได้มีจำกัดไว้ พูดได้ว่าทำทุกโอกาสที่จะทำได้ ไอ้กี่นาทีนี้ก็อาจจำกัดลงไปไม่ได้ เพราะครั้งแรกมันก็ต้องอย่างหนึ่ง ต่อไปก็อย่างหนึ่ง หรือในเหตุการณ์อย่างหนึ่ง ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หน้าที่นี้จำกัดไม่ได้ จำกัดได้มันเป็นความเหมาะสม ทำเท่าไหร่ในวันไหน ก็ทำเท่านั้น ฉะนั้นพยายามให้มันสม่ำเสมอ ถ้าเมื่อได้แล้วมันก็ต้องมาทำไว้ในใจ ชนิดที่มันเลือนไปไม่ได้ เช่นเรารู้แจ้งความจริงข้อนี้แล้ว มันแจ้งอยู่เลย มันก็รักษาเอาไว้ มันก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าต้องทำอย่างนี้อยู่เรื่อยไปจนตลอดชีวิตนะ ทำได้แล้วก็เหลือแต่เพียงรักษา ทำให้งอกงามออกไปอีก ก็รักษา
ฉะนั้นพูดว่าเมื่อเราอาจจะทำได้ เมื่อไรก็ทำทั้งนั้น หรือแม้แต่จะใช้เวลาที่พักผ่อนมาทำเสียนี่ยังจะได้ประโยชน์ดีกว่า แต่ว่าแม้ในขณะที่ทำงาน ทำงานอาชีพ ทำงานอยู่ในออฟฟิศ ก็ต้องควบคุมอันนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน มันเหมือนกับทำอยู่เรื่อย ๆ ถ้าเราจะคิดอะไร เราก็ต้องคิดด้วยสมาธิ ก็เป็นการทำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครมาทำให้เราโกรธ ให้เกิดตัวกูของกู เราก็ทำวิปัสสนาที่จะให้เกิดตัวกูของกู ที่นั้นและเดี๋ยวนั้นเลย ที่ในออฟฟิศเลย ก็เรียกว่าเป็นธรรมไปทุกหน ทุกแห่ง ในหลายลักษณะ หลาย ๆ แบบ ทีนี้เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน เป็นอิสระดี แล้วจะนอนเล่น นอนพักผ่อนเล่นอยู่ก็ ก็ทำได้ ไปซักซ้อมหรือคิดให้มันลึกซึ้ง ให้มันซอกแซกออกไป ออกไป ก็ทำได้ นี่เรียกว่าอยู่ด้วยปัญญา
ทุกลมหายใจเข้าออกอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยสัมปชัญญะ ก็เลยกล่าวได้เลยว่าเขาทำไอ้ภาวนา หรือกรรมฐานนี่อยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตลอดเวลาที่เขารู้สึกอยู่ พอเขาหลับ ถ้าเขาทำอยู่อย่างดีในเวลาตื่น เวลาหลับก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ตื่นออกมาแล้วก็ทำต่อกันไปอีก กลายเป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีสติสัมปชัญญะ สม่ำเสมอ สมบูรณ์ที่สุด น่านับถือ น่าเลื่อมใสที่สุด คือไม่มีความทุกข์ มีแต่ความเฉลียวฉลาด มีประโยชน์ เป็นคนมีประโยชน์
ถ้าว่าคุณทำ ๑๕ นาที นอกนั้นเอาไปทำอะไร เอาเปรียบนี่ มันก็ต้องถือว่าเป็นการทำอยู่ในรูปใดรูปหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นพระเป็นเณรที่ดีมันก็คือทุกอิริยาบถ เดิน นั่ง นอน ยืน ไปบิณฑบาต มันก็ในใจมันก็ทำ รักษาอยู่แล้ว มันนั่งลง ก็มีแต่จิตสมบูรณ์ ฉันอาหารหรือทำอะไรก็สมบูรณ์อยู่เรื่อย แม้แต่นอน สติสัมปชัญญะอยู่ด้วยกว่ามันจะหลับไป เหมือนกับปิดสวิทช์ พอตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำติดต่อกันอีก มีค่าเท่ากับว่าแม้แต่หลับก็ทำเหมือนกัน
นี่ลองไปจัดใหม่ จัดรูปเสียใหม่ ให้มันเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ว่าเราอย่าได้ปล่อยให้โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจเราเลยนี่ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง เมื่อเราตื่นอยู่เราก็ทำถูกต้อง พอหลับลงมันก็ครอบงำไม่ได้ มันก็เท่ากับทำอยู่ทั้งหลับทั้งตื่น ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือตัวกูของกูในแง่ใดแง่หนึ่งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้น จิตก็ว่างจากตัวกูของกู เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา เสวยรสของธรรมะ ของนิพพานอยู่ตลอดเวลา พอจิตมีตัวกูก็ตกนรก พอจิตว่างจากตัวกูก็อย่างน้อยก็เป็นสวรรค์ เป็นนิพพานในที่สุด
มันมีอีกอย่าง เดี๋ยวจะยิ่งไม่เอาเสียอีก ... (นาทีที่ 68.09, ฟังไม่ชัด) ถ้าเราไปทำมันอย่างนี้เราจะชอบ ไอ้ความสงบ ความสะอาด เวลามี สดชื่นของจิตอย่างสะอาดนี้มากขึ้น ๆ จนเกลียดกามารมณ์ เดี๋ยวคุณก็จะไม่เอา ไปทำแล้วจะเกลียดกามารมณ์ ก็จะไม่เอาเลย ถ้าว่าไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์มันก็ด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่ายังละไม่ได้ ยังต้องเกี่ยวข้อง ๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้มันเหมือนกับปุถุชนเกินไป ก็ยังดีกว่า
ไอ้กามารมณ์จะกลายเป็นไม่กามารมณ์ไปก็ได้ ถ้าจิตมันไม่ยึดมั่นถือมั่นในทางนั้น มันเพียงทำหน้าที่อะไรชนิดหนึ่งก็ได้ คือคนจะต้องทำตามวัย ตามอายุเท่านั้น มันก็ยังดีกว่าลุ่มหลง เอาให้มันฉลาดด้วยสติปัญญาของพระพุทธเจ้าเขาสอนไว้ แล้วไปทำอะไรก็ไม่มีทางที่จะเกิดความทุกข์
สรุปแล้วก็ว่าทำกรรมฐานนี้ตลอดเวลา ในห้องน้ำ ในห้องส้วม ก็ยิ่งทำได้ ไม่สังเกตดูบ้างหรือ คิดอะไรได้ดี บางทีไอ้ที่คุณอ่าน ๆ ของอาตมานี้ ไม่รู้หรือ คิดในห้องส้วมเยอะแยะ ที่เขียนให้คุณอ่านนี่มันไปคิดออกในห้องส้วมเยอะแยะไป นี่บอกตามตรงเลย
(นาทีที่ 69.55 มีเสียงถามเบา ๆ ฟังไม่ออกค่ะ)
เอ่อ..มันเป็นเวลาที่อะไรมันไม่กลุ้มรุม เป็นอิสระ แล้วคิดออก บางทีกลัวจะลืม ก็ต้องรีบมาจดไว้ ถ้าเมื่อในห้องน้ำห้องส้วม คิดออก แล้วที่อื่นทำไมจะคิดไม่ออก เดินไปบิณฑบาตยังคิดออก ถ้านั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ ยังคิดไม่ค่อยออก เหมือนการเดินบิณฑบาตนี่ต้องควักปากกามาเขียนฝ่ามือไว้กันลืม เพราะกลับมาถึงวัดมันลืม เขียนไว้เพียง ๒-๓ ตัวเท่านั้น กันลืม มาถึงวัดก็รีบเขียนลงไปในกระดาษให้มันเรียบร้อยเสีย
ก็เป็นอันว่าทำได้ทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น ปรับปรุงชีวิตกันใหม่แบบนี้สิ อย่ากลัวสิ อย่ากลัวว่าจะหมดรสหมดชาติ
ถาม อย่างที่ว่านั่งสมาธินี่ มันแตกต่างจากทำจิตว่างอย่างไร
ตอบ เอ้า, นั่งสมาธินี่มันเป็นวิธีการที่จะทำจิตให้เป็นสมาธิ ถ้าเราทำจิตเป็นสมาธิได้ เวลานั้นก็เรียกว่าจิตว่าง ว่างจากตัวกูของกูเหมือนกันโดยอำนาจของสมาธิ แต่เป็นคนละอันกับที่ว่างด้วยปัญญา เห็นแจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เดี๋ยวนี้คนเขาเห็นหละว่านั่งทำสมาธิอยู่นั่นแหละ มันก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตอนเป็นสมาธินั่นก็เรียกว่าไม่ได้คิดอะไรมาก นอกจากให้จิตมันหยุดที่อารมณ์หนึ่งเป็นสมาธิ เสร็จแล้วก็ใช้จิตชนิดนี้ ไปคิดเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็รู้แจ้ง ไอ้ตอนนี้เขาก็เรียกว่าสมาธิเสียอีก ทำให้เข้าใจไม่ได้ แล้วบางพวกเขาก็เรียกอย่างนั้นจริงเหมือนกัน เขาเรียกว่าทำให้เกิดประโยชน์โดยใช้กำลังของสมาธิ แต่ก็เรียกสมาธิเฉย ๆ ว่าทำสมาธิเฉย ๆ
ที่จริงไอ้คำว่าสมาธินี้มันแปลความได้หลายอย่าง เช่น สมาธิภาวนา ทำจิตให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ทำจิตให้รู้แจ้งด้วยอำนาจของสมาธิ เรียกว่าสมาธิภาวนา ไม่ใช่ทำสมาธิหยุดนิ่งเป็นฌาน เป็นอะไร แม้คำว่าฌานก็ ๒ ความหมาย คำว่าฌานแปลว่าเพ่ง ทีนี้เพ่งอะไรกันหละ เพ่งให้จิตหยุดสงบก็เป็นสมาธิ เพ่งให้รู้แจ้งเห็นจริงก็เป็นวิปัสสนา เป็นอันว่าเพ่งสมาธิก็ได้ เพ่งวิปัสสนาเป็นปัญญาก็ได้
นี่ยังมีอีกคืนหนึ่ง ยังมีอีกคืนหนึ่งหรือ กลับตอนค่ำหรือ ... (นาทีที่ 72.53, เสียงเบา ไม่ได้ยินเสียงตอบ) มะรืนนี้ ฉะนั้นในเวลากลางคืนยังมีอีกคืนหนึ่ง บางทีก็จะลองทำสมาธิดู ไม่ใช่ว่าทำสมาธิได้ เพียงแต่ว่าฝึกเรียนรู้วิธีที่จะไปทำสมาธิ ก็พรุ่งนี้เรียน เรียนพรุ่งนี้ดีกว่า วันนี้เราเอาเรียกว่าทฤษฎีที่เกี่ยวกับที่ว่าจะต้องไปทำสมาธิเพื่อประโยชน์อะไร
สมาธิมันเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้มันเกิดความเจริญในทางจิต ทั้งทางสมาธิและทางปัญญา
เรามันต้องการจิตที่ชนะ เราทำไม่ได้ ยังทำไม่ได้ เราต้อง ๆ ๆ ฝึกมัน ไอ้ฝึกมันนี่แหละคือทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ทำสมาธิเพื่อให้ได้จิตชนิดที่เราต้องการ เกิดมาทีหนึ่งมีความทุกข์กับใครไม่เป็น แล้วเป็นคนที่มีประโยชน์ที่สุด มีความสุขที่สุด ก็ดีเท่านี้ มนุษย์จะดีได้ก็เพียงเท่านี้ ข้อหนึ่งคือมีความทุกข์ไม่เป็น มีแต่ความสุขพอใจเรื่อย แล้วเขาก็มีประโยชน์ มีการทำประโยชน์สูงสุดอยู่ทุกเวลา
ถาม (นาทีที่ 74.17 มีเสียงถามเบา ๆ ฟังไม่ออกค่ะ)
ตอบ โอ๊ย, ถ้าเป็นตัวกูของกู มันเห็นแก่ตัวกูของกูด้วยอวิชชา ด้วยตัณหา ถ้ามีจิตอย่างนี้ มีจิตที่ถูกต้องเสียแล้วก็ไม่เป็น มันก็จะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ที่สุด อย่าน้อมมาเพื่อประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว จะทำให้ชีวิตหน่วยนี้ให้มีประโยชน์ที่สุดในโลกนี้ หยุดเสียแค่นั้น อย่าให้มันวกไปหรือว่าเลยไปในทางที่ว่ามั่นหมายเป็นตัวกูเป็นของกู มีเงินมีอำนาจ แล้วก็จะเอากันให้เต็มที่ ในทางสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เรื่องเกี่ยวกับวัตถุ
ถ้าเป็นความดี ต้องทำด้วยสติปัญญาหรือความฉลาด ไม่อย่างนั้นไม่ใช่ดีหรอก ถ้าทำด้วยกิเลส ไม่ใช่ดีแน่ ฉะนั้นไม่ต้องกลัวในการทำความดีให้มากเท่าไหร่นี้ พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่เรียกว่าความโลภ ไม่เรียกว่ากิเลสตัณหา ฉะนั้นอย่ากลัวในการที่จะทำความดีให้มาก ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา แต่ขอให้มันดีจริงด้วยสติปัญญา เรื่อย ๆ ขึ้นไป เรื่อย ๆ ขึ้นไป เพราะว่ามนุษย์ไม่มีอะไรดีกว่านั้น
แต่แล้วในที่สุดมันก็ มันก็เลยไปถึงว่า โอ้ย, ดีก็ไม่เอาแล้ว อยากจะอยู่ว่าง ๆ เดี๋ยวนี้เอาดีไว้ก่อน ถูกแล้ว ไม่เป็นไร ชั่วไม่เอา เอาดีไว้ก่อน ดี ๆ ๆ ๆ ในที่สุดก็อยู่เฉย ๆ ดีกว่า ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นประโยชน์ไปแก่คนทั้งหลาย ชีวิตของพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น ท่านไม่รู้สึกว่าดี หรือว่ากูดี หรือว่ากูเสวยสุข มีสุขเสียแล้ว ไม่คิด มันปล่อยว่างไป แต่การกระทำหรือการมีชีวิตอยู่ของท่านนั้น มันเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลายเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ตลอดเวลา
ในระยะแรก ๆ อย่างนี้ ก็ถูกแล้ว ช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้ยึดในความดี ต้องยึดในความดี ละความชั่ว แต่ให้ทำความดีด้วยจิตที่มันดี อย่าเป็นตัวกูของกูให้มันมืดอึดเสียเลย รู้จักว่านี้เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่นิ่งไม่ได้ ก็ต้องทำหน้าที่ แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา มันก็จะถูกยิ่งขึ้น สูงยิ่งขึ้น จนพ้นดี เหนือดีขึ้นมา
เรื่องนี้ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องเข้าใจไว้นะ แล้วจำให้ได้ด้วยนะ ละชั่วมาอยู่ที่ดี พอถึงขนาดของมันแล้ว มันก็ไม่ไหว มันก็อยู่เหนือดี คือจิตไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในอะไร เป็นจิตบริสุทธิ์
ถาม (นาทีที่ 77.50 มีเสียงถามเบา ๆ ฟังไม่ออกค่ะ)
ตอบ ถ้าจิตว่างก็มีสติปัญญา ไม่มีกิเลสตัณหา ตอนนี้ไม่ทุกข์แล้ว ได้ดีด้วย แต่พอหนักเข้า ๆ จิตมันเอือมที่จะแบกเอาความดีไว้ ขี้เกียจแบก ก็ปล่อยให้ว่างไป แต่การเคลื่อนไหวก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นประโยชน์มันก็ยังมีมาก ยิ่งมีมากขึ้น
ทีแรกมันก็ไปไม่รู้จักอะไร ก็ไปเอาของที่มีค่าน้อย ๆ มาเป็นของประเสริฐ วิเศษ แต่พอพบของที่มีค่าสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ต่อไปมันพบว่า อุ้ย, ถ้ายังมัวยึด มัวแบก มัว..นี่มันหนักเว้ย ก็เลยไม่แบกไม่ยึดอะไรอีก ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันจะเป็นประโยชน์ได้
ตอนกลางวันขึ้นไปดูภาพวัว ๑๐ ภาพหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ดู ไปดู ที่อยู่รอบรูปยักษ์ รูปยักษ์ที่กอดวงกลมไว้ วัฏฏสงสาร ที่มีเด็ก ๆ เป็นภาพวัว ข้างละ ๕ ภาพ นั่นมันบอกแนวนี้ มันไม่เกี่ยวกับขาวดำ ชุดที่อยู่ข้างรูปยักษ์ ไม่ได้เกี่ยวกับขาวดำ ชุดที่เกี่ยวกับขาวดำ มันมีอีกชุดหนึ่ง ก็เหมือน ๆ กัน
รูปซ้ายมือ มีอยู่ ๕ ภาพแถวหนึ่ง เป็นรูปแรกก็เป็นเด็กยืนเก้ ๆ กัง ๆ ไม่รู้จะไปทางไหน คลอดออกมาแล้วไม่รู้จะไปทางไหน พอขึ้นไปถึงรูปที่ ๒ มันมีรอยวัวอยู่ที่พื้นดิน เด็กมันเหลือบเห็น ก็เดินสะกดรอยไป รูปที่ ๓ เห็นก้นวัว รูปที่ ๔ ก็สู้วัว คล้องวัว จับวัว ๆ กันเป็นพัลวัน รูปบนสุดที่ ๕ ก็วัวแพ้ จูงวัวไปบ้าน
ทีนี้ก็มาฝ่ายนี้ แถวนี้ รูปที่ ๖ เป่าปี่ขี่วัว นี่บริโภคชีวิต ในแง่จิตเป็นความสุขอย่างโลก ๆ ถึงที่สุด ทีนี้พอต่อมาก็ โอ้ว, ขี้เกียจ มานั่งแหงนดูพระจันทร์ เด็กคนนั้นมานั่งกอดเข่าแหงนดูพระจันทร์ วัวไปไหนแล้วไม่รู้ พอรูปที่ ๘ จึงว่าง เป็นวงกลมว่าง วัวก็หาย เด็กก็หายแล้ว คนก็หายแล้วแล้ว ว่าง พอรูปที่ ๙ เขียนผลิหน่อใหม่ เหมือนกับต้นไม้ผลิใบ ผลิยอดใหม่ พอรูปที่ ๑๐ ก็เที่ยวแจกของส่องตะเกียง พวกจีน พวกจีนเขาเขียนภาพความคิดอันนี้ขึ้นมาเป็นรูปภาพ
คนควรจะได้อย่างนั้น ซึ่งตอนจบแล้วก็เรื่องผู้อื่นในที่สุด
ทีแรกก็หมายมั่นปั้นมือเอาวัวให้ได้ มาเป่าปี่ขี่วัวอยู่พักหนึ่ง จนกว่าจะขี้เกียจ มองหาเหลียวไปทางอื่น จนก็พบว่าไม่มี ว่าง ตัวกูว่าง จิตออกมาใหม่แล้วก็แจกของส่องตะเกียงให้ผู้อื่น จะให้ตรัสรู้มาแต่ในท้องไม่ได้ มันก็ต้องออกมายืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ก่อนจนกว่าจะเห็นร่องรอยว่าจะไปทางนั้นทางนี้ แล้วตามไปจนพบไอ้ตัวนั้น แล้วเอามาให้ได้ พอได้แล้วก็บริโภคเต็มที่ถึงที่สุดแล้ว โอ้, มันก็ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ตัวกูเลิกกันที เกี่ยวกับตัวกูเลิกกันที ออกมาทีนี้ก็แจกของส่องตะเกียง
เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาว่าคุณจับวัวได้หรือยัง จับวัวได้หรือยัง ชนะวัวได้หรือยัง เป่าปี่ขี่วัวได้หรือยัง
ถาม ท่านครับอย่างในเวลาไปดู เกี่ยวกับเรื่องอะไรอย่างนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนเป็นของจริง หรือว่าอันไหนที่เป็นอรรถกถาจารย์เขียนขึ้นภายหลัง
ถามกลับ คุณเคยดูแล้วหรือ
ตอบ ไม่เคยครับ
ตอบ เดี๋ยวนี้พระไตรปิฎกก็แปลเป็นไทยแล้ว อรรถกถาอะไรไม่ค่อยได้ใช้ หนังสือที่เขาแยกไว้เป็นชุดเด็ดขาดแล้ว เป็นอรรถกถา พวกอรรถกถาชุดหนึ่ง เรียกชื่ออรรถกถา นั่นแหละอรรถกถา ทีนี้ชุดใหญ่เรียกว่าพระไตรปิฎกนี่ กลัวว่ามันจะมีของที่ ที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัส มีใครเขียนเติมเข้าไปอย่างนี้ ก็เป็นได้นะ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า ถ้ามันคิดและพิจารณาดูแล้ว มันดับทุกข์ไม่ได้แล้วก็อย่าเอา อย่าไปยุ่งกับมันเลย ถึงแม้มีในพระไตรปิฎก แม้ในสูตรนั้นมันได้พูดว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ก็อย่าไปยุ่งกับมัน ถ้าเห็นว่ามันดับทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่ามันมีเหตุผล มีเค้าเงื่อนที่จะดับทุกข์ได้ ก็ลองดูว่ามันดับทุกข์ได้จริง ก็ถูกแน่ ของนี้แน่ ของนี้จริง
ท่านว่าไม่ให้เชื่อตามว่ามันมีในพระไตรปิฎก ไม่ให้เชื่อเพราะเหตุว่าคนนี้เป็นอาจารย์ของเรา เมื่อท่านยังอยู่ ท่านก็ยังพูดว่าแม้ฉันพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อนะ แต่ว่าให้เอาไปพิจารณาดู มันก็จะมีเหตุผลแสดงว่า ถ้าทำลงไปแล้วมันจะมีผลอย่างนี้ แล้วผลอย่างนี้มันดับทุกข์ได้ มันก็ถูกแน่ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อน ต้องละเสีย เราก็เชื่อตัวเราได้สิ เพราะมันรู้จักอยู่แล้วนี่ ก็เป็นอันว่าคำกล่าวนี้ถูก ของพระพุทธเจ้าแน่ แต่ถ้าเขาพูดไว้ในลักษณะที่เข้าใจไม่ได้ ก็รอไว้ก่อนก็ได้ เพราะมันไม่ใช่มีแต่บทนั้น แต่ถ้ามันได้พิสูจน์ว่า ถ้ามันแสดงให้เห็นว่ามันจะไปหลง ไปมันมีกิเลสแล้วมันก็ผิดแน่ ผิดแน่ ถึงแม้จะอยู่ในพระไตรปิฎกก็ขีดออกได้
แต่เดี๋ยวนี้เราถือหลักกันว่าเราจะไม่ไปขีดออกหรอก ในพระไตรปิฎก แม้จะมีอะไรที่มันแสดงว่าไม่สมเหตุสมผล คงไม่ใช่พระพุทธเจ้าตรัส ในประเทศไทยนี้ก็ถือกันว่าจะไม่ไปขีดออก ทิ้งไว้อย่างนั้น ก็เอาแต่ส่วนที่มันเห็นชัดอยู่ ปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้ ก็เยอะแยะไป ส่วนในอรรถกถาอย่าไปยุ่งเลยก็ได้ เพราะว่าในพระไตรปิฎกนั้นก็พอแล้ว อรรถกถาเพื่อตีความในทางหนังสือ ทางภาษา ทางหนังสือ บางทีก็ยิ่งผิดใหญ่ก็ยังมี ไม่ใช่ว่ามันจะถูกเสมอไป อรรถกถานี้ ผิดก็เยอะ เพราะว่าอรรถกถานี้เพิ่งเขียนเมื่อ พ.ศ. เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานล่วงมาแล้วตั้งพันปี การเขียนอรรถกถา
พระไตรปิฎกนั้นถือว่าเริ่มร้อยกรองขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วใหม่ ๆ ในปีนั้น หรือปีถัดมา เดี๋ยวนี้เห็นได้ชัดว่าเติมลงไปทีหลังอีกก็มี แต่เมื่อถูกยกเป็นพระไตรปิฎกแล้ว ก็เอาไว้อย่างนี้หละ อย่าไปขีดออก
ถ้าสนใจก็ไปเปิดดู เปิดพระไตรปิฎกดู ก็อย่างนั้นแหละมันก็อย่างยาก ที่ว่าเขาแปลไว้ อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องก็มี ถ้าพระไตรปิฎกไทยนี่มันยังถึงขนาดนั้น อ่านไม่รู้เรื่องก็มี จนกว่าเขาจะพิมพ์ใหม่ แปลใหม่ อ่านรู้เรื่องหมด อ่านเข้าใจได้ง่ายหมด ทีนี้เราก็จะรู้ว่าพระไตรปิฎกนี้เป็นอย่างไร น่าจะพูดได้เลยว่าประมาณสัก ๑๐% นี้ขีดออกเสียก็ได้ ไม่เอาก็ได้ แน่นอน
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ถ้าจะใช้ประโยชน์จริง ๆ ก็จะสัก ๑๐% นั้นแหละ ๙๐% นั้นไม่ต้องสนใจก็ได้ ถึงขนาดนั้นนะ พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม เล่มหนา ๆ ขนาด ๕๐๐ หน้า มีอยู่ ๔๕ เล่มบาลี เอาสัก ๑๐% พอแล้ว ๔-๕ เล่ม นอกนั้นเฉย ๆ
ไอ้ส่วนที่เห็นว่ามันไม่ใช่นั้น ขีดออกก็ได้เลย ก็มีประมาณนั้นสัก ๑๐% ๑๕% ก็มี แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นที่ตกลงกันแล้ว ทั่วทุกประเทศที่มีพระไตรปิฎกว่าเราจะไม่ไปทำให้มันเกิดความยุ่งยากลำบาก ทิ้งไว้อย่างนั้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้ศึกษาวินิจฉัยเอาเอง ก็เลยต้องมีการบันทึกอะไรไว้ อย่างคำ ๆ นี้ พระไตรปิฎกฉบับไทยว่าอย่างนี้ พระไตรปิฎกฉบับลังกาว่าอย่างนั้น พระไตรปิฎกพม่าว่าอย่างนี้เป็นต้นก็มี มีทั่วไปหมด ประปราย ทั่วไปทั้งพระไตรปิฎก ตั้งแต่คำหนึ่งคำ หรือประโยค ๒-๓ คำ
ทีนี้มันดีอยู่ที่ว่า ถ้ามันไม่เกี่่ยวกับเรื่องสุญญตา ไม่เกี่ยวกับเรื่องทำให้ว่างแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันไม่ได้พูด ถ้าฉันพูดต้องเกี่ยวกับเรื่องความว่าง ตถาคตัปปเวทิตา สุญญตัปปฏิสังยุตตา ที่ตถาคตประกาศแล้ว ต้องเนื่องเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา ที่อย่ามีตัวตน เรียกว่าเรื่องสุญญตา อย่ามีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นตัวกูของกู ถ้าอย่างนี้เป็นคำพระพุทธเจ้าแน่นอน แต่ก็ต้องหมายความว่าถูกต้องเหมือนกันแหละ เดี๋ยวมันเป็นจิตว่างอันธพาลขึ้นมาอีก มันไม่ถูกต้อง
ถาม อย่างที่เรียกว่าสวดโพชฌงค์ ให้อานุภาพอย่างไรบ้างครับ
ตอบ นี่มันคำอธิบายอรรถกถา คนไม่สบาย สวดโพชฌงค์ คนหายเจ็บหายไข้ มันเป็นเรื่องที่มีเค้าเงื่อนมาบ้างในพระไตรปิฎกเอง เมื่อพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งไม่สบาย กระวนกระวายเพราะความเจ็บความไข้ เขาก็เอาไอ้เรื่องของโพชฌงค์มากล่าวให้ฟัง คือก็ปลื้มปีติไปเสีย ก็เลยลืมความกระวนกระวาย เหมือนกับหายไข้ เขาไม่มียาแอสไพรินกิน ไอ้ยาซานสฟินไลเซอร์(นาทีที่ 89.30, ไม่แน่ใจ) นั้นก็ไม่มี มันก็ใช้ไอ้ความปลื้มที่เกิดมาจากได้ฟังธรรมะที่ตัวเคยผ่านมาแล้ว รู้แล้ว เลยสบาย ปลาบปลื้มจนระงับความรู้สึกเจ็บปวดหรือหายไปเลย
เดี๋ยวนี้ก็เกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีและกลายเป็นไสยศาสตร์ไปแล้ว สวดโพชฌงค์ให้คนจะตายฟัง ก็ตายไปเลย มันก็เลยเป็นเรื่องประเพณี มันต้องคนที่เขารู้เรื่องธรรมะนี้ แล้วกำลังกระวนกระวายจากความเจ็บไข้ ไม่ใช่ถึงเวลาที่จะต้องตาย เอาไอ้โพชฌงค์นี้มากล่าวให้ฟัง ก็เลยหายความกระวนกระวาย หรือหายไปเลย อย่างน้อยก็พักหนึ่ง
โพชฌงค์แปลว่าองค์แห่งการตรัสรู้ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ๗ อย่างนี้ เป็นหลักที่เคยอธิบายไว้ในหนังสือหลายเล่ม ต้องผ่านวิธีนั้นแหละ มันถึงจะหมดกิเลส ทีนี้คนที่เคยผ่านมาแล้ว พอได้ยินอีก แหม, มันปลาบปลื้ม ถ้าคนไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลยมันก็เป็นไปไม่ได้ จะไม่ช่วยอะไรได้ คล้าย ๆ กับว่าใครมาออกชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้ฟัง คนเจ็บมันสบายใจ ก็ได้นิดหนึ่ง พักหนึ่งเท่านั้น แล้วโพชฌงค์สำหรับผู้ที่เขารู้จริง ๆ นี่ มันมากกว่านั้นมาก
เอ้า, กี่โมงแล้ว เดี๋ยวนี้ กี่ทุ่ม ๓ ทุ่มครึ่ง