แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็น ท่านที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายถวายความรู้ในครั้งที่ ๓ นี้ จะได้กล่าวถึงสมาธิภาวนาอย่างที่ ๑ ที่เป็นไปเพื่อสุขวิหารในทิฏฐธรรมนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ในครั้งที่แล้วมาก็ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างรูปฌานทั้ง ๔ เพื่อช่วยให้เข้าใจรูปฌานทั้ง ๔ นั่นเอง แต่ว่าเราเปรียบเทียบมาจากข้างบน คือผลสำเร็จที่เรียกว่าตัวรูปฌานนั้นเลย ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติ โดยที่เห็นว่าการกล่าวผลของการปฏิบัติ ให้เห็นว่าต่างกันอย่างไร ลดหลั่นกันอย่างไร เป็นเรื่องแรกเสียก่อนนี้ มันช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้นมากทีเดียว
ในวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงการเปรียบเทียบฌาน รูปฌานทั้ง ๔ ก็โดยวิธีการปฏิบัติโดยตรง หรือจะเรียกว่าแสดงถึงแนวของการปฏิบัติเพื่อรูปฌานทั้ง ๔ โดยทั่ว ๆ ไปก็ได้ เมื่อกล่าวโดยทั่ว ๆ ไป การบำเพ็ญภาวนาเพื่อเกิดสมาธิ อันที่เรียกว่าฌานทั้ง ๔ นี้ มันก็มีหลักตรง ๆ กันพอที่จะสรุปได้สั้น ๆ เหมือนกันทุกแบบ ซึ่งก็ได้กล่าวไปบ้างแล้วในวันก่อน วันนี้ก็จะได้ชี้ให้เห็นชัดขึ้นว่าทุก ๆ แบบมันก็มีแนวเดียวกันทั้งนั้น มีหลักเกณฑ์อันเดียวกันทั้งนั้น
ในชั้นแรกที่สุดจะต้องมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรู้สึกได้ถนัดด้วยทางตาก็ได้ ด้วยทางสัมผัส ทางเนื้อหนังร่างกายก็ได้ เช่น ลมหายใจ เป็นต้น ทีนี้ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาสำหรับทำการกำหนดในขั้นแรกตรง ๆ ลงไปที่สิ่งนั้น จนกระทั่งว่าจิตนี้มันยอมอยู่ในอำนาจมากขึ้น ๆ แล้วก็มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่กำหนดชัดลงไปยิ่งขึ้น ๆ นี้เป็นชั้นที่ ๑ ชั้นต้น จนกว่าจะถึงชั้นที่ ๒ คือเปลี่ยนไอ้อารมณ์ หรือวัตถุ หรือจุด หรืออะไรก็ตามนั้นนะให้มันกลายเป็นภาพที่เรียกว่ามโนภาพ จนทำได้สำเร็จ ทีนี้ก็เลื่อนไปขั้นที่ ๓ คือบังคับไอ้มโนภาพที่สร้างขึ้นมาได้สำเร็จนั้น ให้เปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราสามารถควบคุมสติ หรือจะเรียกว่าบังคับจิตก็สุดแท้ ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก นี่นะ ๓ ตอนนี้ก็จะเป็นหลักสำคัญที่จะต้องใช้แก่ทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ ชนิดของไอ้การบำเพ็ญสมาธิประเภทนี้
เราเรียกอัน นิมิตอันทีแรกว่า บริกรรมนิมิต คือไปเอาอะไรมา จับมา แล้วก็เพ่งจิตลงไปที่นั่น คือไปที่ตัววัตถุนั้นโดยตรง ถ้าเจริญกสิณ ก็เพ่งลงไปที่ตัวกสิณ วงกสิณ หรือดวงกสิณ ซึ่งเป็นวัตถุอันหนึ่ง ถ้าเจริญอสุภกรรมฐาน ก็เพ่งที่อสุภนั้น ซึ่งเป็นตัวอสุภจริง ๆ อย่างถ้าเจริญอานาปานสติ ก็เพ่งลงไปที่ลมหายใจ ที่มันกำลังครืดคราด ครืดคราดอยู่นั้นนะ นิมิตในชั้นนี้ คือเป็นไอ้ของจริงตามธรรมชาติ เรียกว่าตัววัตถุซึ่งเป็นก้อน เป็นเนื้อ เป็นของจริงอยู่ตามธรรมชาติ เป็นรูปธรรมล้วน ๆ นี่ก็มีการกระทำในชั้นนี้เสียทีหนึ่งก่อน ซึ่งกระทำต่อนิมิตชนิดที่เป็นของจริง ที่ไปเก็บเอามา ไปเลือกเอามา ก็มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า บริกรรมภาวนา ก็คู่กันกับคำว่า บริกรรมนิมิต หมายความว่า อ้า, การเจริญภาวนาในตอนนี้ มันเป็นเพียงไอ้ขั้นบริกรรม
คำว่าบริกรรม ถ้าเป็นภาษาธรรมดาก็แปลว่า ทำการตกแต่ง ลูบคลำ แก้ไขอะไรก็ตาม อย่างดีที่สุด อย่างนี้ก็เรียกว่าบริกรรม แต่ว่าล้างถ้วย ล้างจาน ขัดสีให้สะอาด อย่างนี้ก็เรียกว่าบริกรรม จะขัดเช็ดถูสิ่งใด ทาสีอะไรให้ดีที่สุด นี้ก็เรียกว่าบริกรรม นั่นมันภาษาธรรมดา
เดี๋ยวนี้เราก็มีการบริกรรมลงไปที่อารมณ์ของสมาธินั้น คือเพ่งลงไปที่อารมณ์นั้น ก็ดูกสิณ ก็ดูกันอย่างละเอียดลออ อสุภก็ดูกันอย่างละเอียดลออ แม้ลมหายใจก็ดูกันอย่างละเอียดลออ นี่มันแล้วแต่ว่าเรามันจะใช้อะไรเป็นนิมิตสำหรับในขั้นบริกรรมนี้ ซึ่งจะมีการลูบคลำกันอย่างละเอียดลออและทั่วถึง แต่เดี๋ยวนี้เรามันลูบคลำด้วยตา ด้วยลูกตา หรือว่าด้วยความรู้สึกในภายในอย่างอื่น ไม่ใช่ลูบคลำด้วยมือ
ภาษาบาลีเป็นอย่างนี้เอง คือเอาภาษาชาวบ้าน คำชาวบ้านมาใช้ในภาษาธรรมะ ภาษาโยคะ ภาษาอะไรก็สุดแท้ เช่น เอาคำว่า เทียมแอก เทียมไถในไร่ในนา วัวควายนั้นนะมาใช้ คำว่าโยคะคือการเทียบจิตเข้ากับอารมณ์ของสมาธิอย่างนี้ เป็นต้น นี้ก็เรียกว่าบริกรรม มันก็เลยเอาคำว่าบริกรรมมาใช้ในขั้นแรกลงมือกระทำ บริกรรมภาวนาโดยมีบริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิตทุกชนิดมีวัตถุธรรมดาแท้ ๆ เป็นตัวนิมิต
เพียงเท่านี้มันก็ปลุกปล้ำกันไป หรืออาจจะถึงล้มลุกคลุกคลานกันไปก็ได้ แล้วแต่คนมันมีอุปนิสัยอย่างไร มีอินทรีย์อย่างไร บางคนจะบังคับใจสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ก็มี บางคนก็ทำได้ไม่ยาก อย่างเช่น จะบังคับจิตให้เพ่งที่กสิณ หรือว่าจะให้จิต สติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจนี้ มันก็พลอยจะหนีไปเสีย ต่อสู้กันไปเรื่อย ๆ กว่าจะสำเร็จในขั้นนี้สักขั้นหนึ่งก่อน
แม้เพียงเท่านี้นะ มันก็มีอะไรเกิดขึ้นมากแล้ว แต่มันไม่เด็ดขาด ไม่ตายตัว ไม่สมบูรณ์ลงไปพอที่จะเรียกว่า สิ่งนั้นโดยชื่อนั้น ๆ ไปเลย เช่น เรากำหนดเข้าที่นิมิต เช่น ลมหายใจ เป็นต้น อย่างนี้ นั้นมันก็คือวิตก ถ้าดูให้ดี พิจารณาให้ดี นั้นมันก็คือวิจาร แล้วพอเกิดทำได้สำเร็จตามนั้นเพียงในขั้นบริกรรมภาวนานี้ มันก็มีความพอใจเกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน ที่จะเรียกว่าปีตินะ ซึ่งจะให้เกิดความสุขได้ในระดับหนึ่ง ความเป็นเอกัคคตาก็เริ่มมี แต่ว่าทุกอย่างนะมันไม่แน่นแฟ้น ไม่สมบูรณ์ ไม่ตาย เรียกว่ายังไม่แน่นแฟ้น ยังไม่ถึงขนาด จึงไม่เรียกว่ามันมีแล้วในขณะนี้ ทั้งที่มันเริ่มจะมี เพราะว่าการบังคับจิตนั้นยังไม่เป็นไปถึงขนาด ความสงบแห่งจิตก็ยังไม่ถึงขนาด แต่มันเริ่มตั้งท่านะ นิวรณ์ก็เริ่มจะสงบนะ แต่ไม่สงบ มันคอยจองอยู่เรื่อย อย่างนี้เรียกว่าอะไร ถ้าเรียกอย่างภาษามวยก็เรียกว่ายกที่ ๑ รอบแรก หรือยกที่ ๑ มันสู้กันกับอารมณ์ในชั้นที่เป็นบริกรรมนิมิต ไอ้นิวรณ์ ๕ คือข้าศึก มันก็ยัง ไม่ ยังไม่พ่ายแพ้ แต่ว่ามันเริ่มถูกกระทำเท่านั้นนะ ถูกชก ถูกต่อยเข้าไปบ้าง นี่พูดกันอย่างภาษามวย เพื่อให้ฟังง่าย แต่นิวรณ์ก็ยังไม่ระงับ ยังไม่พ่ายแพ้ ยังไม่ ฝ่ายจิตนี้ก็ยังไม่ชนะ แต่จะว่านิวรณ์ไม่ถูกกระทบกระเทือนเสียเลยก็ไม่ได้ แล้วจะว่าจะไม่มีอาการแห่งวิตกวิจารเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะว่าการกำหนดที่อารมณ์นั้นคือวิตก การพิจารณาที่อารมณ์นั้นคือวิจาร ถ้าสำเร็จสักนิดหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่ง ก็ มันก็พอที่จะเรียกว่าปีติได้ คือพอใจในความสำเร็จของตนได้
ก็มีคนบางคนเขาพยายามจะกำหนดลมหายใจเข้า ออก เข้า ออกนี้นะ วันหนึ่งก็ไม่สำเร็จ สองวันก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าทำไม่ถูกวิธี พยายามกำหนด มันก็เป็นไอ้วิตกวิจารที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่เรื่อย พอเขาทำได้สำเร็จในวันต่อ ๆ มานี้ เขาก็เริ่มมีปีติ พอใจ แต่แล้วมันไม่อยู่ มันไม่อยู่อย่างตายตัว มันแวบหนึ่งเอง แล้วกำลังมันไม่ลงรกลงรากที่แน่นแฟ้น จึงเรียกว่ายัง ยังไม่ใช่องค์ฌาน
สำหรับความสุขนั้นมันอาจจะเริ่มมีตั้งแต่พอเราเข้าไปในที่สงบสงัดนะ มันก็เริ่มมีความสุขชนิดหนึ่ง ถ้าได้ทำสมาธิภาวนา พอใจในการกระทำมันก็เป็นสุขบ้าง แต่ไม่ใช่สุขขององค์ฌาน อย่างนี้ ความเป็นเอกัคคตาก็ยังไม่ถึงขนาด นี่ชุดที่ ๑ หรือชั้นที่ ๑ อันดับที่ ๑ เป็นเรื่องบริกรรมภาวนา โดยใช้วัตถุใดวัตถุหนึ่งเป็นบริกรรมนิมิต นี่ก็กำหนดไว้เสียทีหนึ่งก่อน
การเจริญสมาธิที่จะเป็นไปเพื่อรูปฌานชนิดไหนก็ตาม จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ ที่สะดวกสบายคือ อานาปานสติ แล้วมีผลลึกไปได้ไกลมาก ถ้าลมหายใจนี้ ที่ทำกันมาแต่โบรมโบราณ เช่น กสิณ ก็อาจจะเป็นไปได้ง่ายในทางที่น่าจะทำ แต่ว่าไปไม่ได้ไกล เป็นเรื่องที่จะสะดวกสำหรับจะไปแสดง จะไปในทางอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนั้นเสียมากกว่า สำหรับอสุภกรรมฐานนั้น ถ้าทำได้มันก็ดี แต่มันทุลักทุเลมาก มันลำบากแก่บางคน ในที่สุดพระพุทธเจ้าท่านแนะอานาปานสติว่าดีที่สุด คือใช้ลมหายใจนั้นเอง เป็นบริกรรมนิมิต
ทีนี้เราก็เริ่มทำให้ลมหายใจนี้มันเหมาะสม ถ้ามันหายใจไม่เหมาะสมก็แก้ไขเสียให้มันเหมาะสม กระทั่งแก้ไขช่องจมูก แก้ไขทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งร่างกายให้มันเหมาะสม ให้มันมีลมหายใจชนิดที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นบริกรรมนิมิต เพื่อบริกรรมภาวนาในขั้น ๑ นี้
เอ้า, ทีนี้ก็สำเร็จ คือทำได้อย่างนั้นนะ ตามที่ต้องการนี้ ก็เลื่อนต่อไปถึงไอ้รอบที่ ๒ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า อุปจารภาวนา นิมิตนั้นนะมันเปลี่ยนรูปเป็นอุคคหนิมิต เปลี่ยนชื่อเป็นอุคคหนิมิต คือมิได้เอาไอ้ตัวนิมิตเดิมแท้นั้นแล้ว แต่เอานิมิตที่สร้างขึ้นมาในมโนภาพ เช่น สมมุติว่าทำกสิณ ตอนนี้ก็เป็นภาพของกสิณที่มาติดอยู่ในตาข้างใน หลับตาก็ยังเห็น ไม่เอาดวงกสิณข้างนอกที่วางอยู่ตรงหน้านั้นแล้ว ทีนี้ถ้าว่าเอาอสุภคือซากศพเป็นนิมิต ก็เดี๋ยวนี้หลับตาก็เห็นซากศพแล้ว ไม่ใช่เพ่งลงไปที่ซากศพจริง ๆ ที่นอนอยู่ตรงหน้า นี้ก็สามารถจะสร้างมโนภาพของซากศพขึ้นมาติดตา แน่วแน่อยู่นั้น
ทีนี้ถ้าว่าเป็นเรื่องของอานาปานสติ มันก็ต้องเลื่อนขึ้นไปจนถึงว่าสามารถสร้างภาพอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาสำหรับกำหนด ฉะนั้นเราจึงมีวิธีสำหรับอานาปานสติที่ละเอียด แบ่ง ๆ ให้มันเป็นชั้นละเอียดยิ่งขึ้นไป นี่ เมื่อลมหายใจธรรมดาเป็นอารมณ์ก็วิ่ง วิ่งตามอยู่ วิ่งตามลมหายใจนั้นอยู่ สติกำหนดที่ลมหายใจนั้น ก็ถูกลากไปตามลมหายใจ คือหายใจเข้า ออก เข้า ออก ซึ่งในชั้นแรกจะต้องทำให้มันแรงมากจนได้ยินเสียงด้วย แล้วให้มันกระทบทั่วไปทั้งท่อของการหายใจ ตั้งต้นจากจมูกถึงท้องนะ นี้ก็เรียกว่า ขั้นวิ่งตาม วิ่งตามลมหายใจ วิ่งตามลมหายใจเข้า ด้วยการออก ด้วยการสติกำหนดเข้า ด้วยการออก ด้วยการที่ลมหายใจจริง ๆ ที่กระทบอยู่ในท่อการหายใจ
ทีนี้พอทำอย่างนี้ได้ ก็เปลี่ยนเป็นว่าจะเฝ้าดูอยู่แต่ที่แห่งหนึ่ง คือไม่วิ่งตามมันแล้ว ที่ที่เหมาะที่สุดที่จะเฝ้าดู อยู่ที่จะงอยจมูกที่ลมจะกระทบเป็นอันสุดท้ายแล้วหายไปในอากาศ ตรงนั้นแหละเปลี่ยนมาแทน รวมทั้งลมหายใจที่มันกำลังหายใจอยู่ด้วยนะ แต่เอาตรงที่มันกระทบ เราจะสังเกต จะกำหนด จะเฝ้าดูหยุดอยู่แต่ที่กระทบ ไม่วิ่งตามเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมา ไม่วิ่งตามเข้าไปข้างในแล้วกลับออกมาอีกแล้ว นี่ก็เฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เอาจุดตรงนั้นเองตรงเนื้อหนังที่ลมกระทบนั้นเองเป็นนิมิต ก็ยังเรียกว่าบริกรรมนิมิตอยู่ เพราะว่ามันเป็นไอ้ตัวจริงของธรรมชาตินะ คือลมที่กระทบที่ตรงนั้น ที่จะเฝ้าดูอยู่ที่ตรงนี้สำเร็จ มันมีวิธีการมาก มีอุปสรรคมาก เดี๋ยวนี้สมมุติว่าสำเร็จ กำหนดสติอยู่ตรงนั้นสำเร็จ
ทีนี้นะมันถึงจะ ถึงอ้า, มันเป็นเสร็จ เสร็จเรื่องของชั้นบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา จึงเลื่อนมาสู่อันดับ ๒ ที่เรียกว่า เข้ามาในเขตของอุปจารภาวนา หรืออุคคหนิมิต ตรงที่ลมกระทบนั้น เรากำหนดให้ดี ให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนมีภาพอันหนึ่งซึ่งเพียงแต่ว่าจิตน้อมไปก็เกิดขึ้นที่ตรงจุดนั้น จุดที่ลม ลมไปกระทบนะ ให้เรากำหนดอยู่ แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนเป็นว่า ให้มีไอ้ภาพอันหนึ่งที่เป็นมโนภาพ มันเด่นอยู่ที่ตรงนั้นแทน นี้นะจิตมันก็ไม่ชัด อ้า, มันก็เริ่มเป็นจิตที่สงบลงไปมาก จะเริ่มเป็นไปในทางที่เรียกว่า ใต้สำนึก มันจึงจะสร้างไอ้ภาพอย่างนี้ขึ้นมาได้ เลยแน่ว แน่วแน่อยู่
ทีนี้ตรงจุดนั้นมันเปลี่ยนเป็นการเห็นภาพใดภาพหนึ่งอยู่แทน ภาพนั้นเป็นนิมิต มันก็เรียกว่า อุคคหนิมิต อุคคห แปลว่า จับขึ้นมา อุ ว่า ขึ้น คห แปลว่า จับ อุคคหนิมิต แปลว่า จับขึ้นมา คือเราดึงขึ้นมา ถอดรูปออกมาไอ้จากตัวนิมิต วัตถุแท้ ๆ มาเป็นมโนภาพ มันจะเห็นเป็นภาพอะไรก็ตามใจมัน แต่ขอให้มันได้สักภาพหนึ่งก็แล้วกัน ที่ตรงจุดที่มันลมกระทบทั้งเข้าและทั้งออก ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ ที่อธิบายเรื่องนี้ก็มีได้หลาย ๆ อย่าง แต่รวมความแล้วมันก็เป็นภาพในมโนภาพ เป็นจุด เป็นดวง ดวงก็ ดวงใหญ่ ดวงเล็ก มีสีอย่างนั้น มีสีอย่างนี้ แปลว่าเห็นได้ด้วยตาข้างใน คือไม่ใช่ตาจริง ๆ เห็นด้วยตาข้างใน ด้วยมโนภาพ ถ้าได้อะไรมาพอเหมาะสมแล้ว มันก็ถือเอาเลย ไม่ต้องไปทำให้มันยุ่งหลายอย่าง เช่นว่า จะมีอาการเหมือนกับว่าดวงแก้วเล็ก ๆ อยู่ที่จุดนั้น หรือว่าดวงอาทิตย์เล็ก ๆ อยู่ที่จุดนั้น หรือว่าเพชรเม็ดเล็ก ๆ อยู่ที่จุดนั้น หรือว่าไอ้น้ำค้างที่บนใบไม้เช้า ๆ มันวาวอยู่ที่ตรงจุดนั้น หรือว่าภาพพร่าเหมือนกับใยแมงมุมที่แวววาวอยู่กลางแสงแดดตอนเช้าที่สุด มันมาปรากฏอยู่ที่จุดนั้น หรือว่ามีปุยนุ่น สำลีก้อนเล็ก ๆ มาชัดอยู่ที่ตรงนั้น หรือว่ามีเฆมเล็ก ๆ มาชัดอยู่ที่จุดนั้น ก็ตอนนี้พื้น พื้นทั่วไปมันจะเรียกว่าไม่มีแล้ว คล้าย ๆ กับเป็นความมืดว่างไปหมด เหลือแต่ที่จุดนั้น ในระบบของอานาปานสติอาจจะทำได้ถึงอย่างนี้ นี่อุคคหนิมิตมันก็มีถึงอย่างนี้
ถ้าเราไม่เคยอะไรมาก่อนเลย มันก็คงจะปลุกปล้ำกันบ้างเหมือนกันนะ กว่าจะได้มาสักชิ้นหนึ่ง สักภาพหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นคนที่ง่ายต่อการที่จะสร้างภาพอย่างนี้ขึ้นมา หรือว่าเคยเล่นหวย เคยเล่น เล่นไอ้วิธีนี้อย่างอื่นมาแล้ว เช่น เพ่งดวงแก้ว ดวงไฟ เพ่งอะไรมาแล้วแต่กาลก่อนนี้ พอมาทำอานาปานสติตอนที่จะให้เกิดอุคคหนิมิตนี้ย่อมทำง่าย หรือว่าจะเล่นตลกไปเอาไอ้ที่เราเคยเห็นได้มาก่อนนั้นนะ มาใส่แทนเข้าก็ได้ เอามาเป็นว่าสร้างขึ้นมาแทน จุดที่ลมหายใจเคยกระทบ นี่ก็ได้อุคคหนิมิต คือนิมิตซึ่งเป็นเพียงมโนภาพ แล้วก็กระทำการกำหนดอยู่ที่นั่นให้ได้ เลี้ยงไว้ให้ได้ รักษาไว้ให้ได้ ให้โชติช่วงอย่างนั้นให้ได้ ก็เรียกว่า อุปจารภาวนา คือมันเฉียดเข้าไปที่จะเป็นสมาธิ
ทีนี้เรา เอ้อ, ทำสำเร็จอย่างนี้ หมายความว่าอะไร ๆ มันดีขึ้นกว่า กว่ายกแรก ตัวนิวรณ์จะหายไปมาก นิวรณ์จะอ่อนเพลียไปมาก จะไม่มารบกวนมากกว่าไอ้ยกแรก นี้มันเป็นยกที่ ๒ นี้ ก็ว่าพูดอย่างภาษามวย วิตกวิจารเหล่านี้มันก็เริ่มชัดขึ้นมาก ถ้าเกิดทำสำเร็จ รักษาไว้ให้ได้ดีนี้ ปีติก็จะมีขึ้นมามากกว่าที่ไอ้พวกชุดแรก ความพอใจก็ให้เกิดความสบายใจ มันก็มีมาก ไอ้ความเป็นเอกัคคตามันก็จะมากขึ้นตามนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จะยังไม่ถือว่า หรือท่านไม่บัญญัติว่า ถึงขีดที่สมบูรณ์พอที่จะเรียกว่า เป็นองค์แห่งฌานได้ นี้มันก็มาจบกันลงเพียงเท่านี้ ในขั้นที่เรียกว่า อุปจารภาวนาชั้นนี้นะ
ทีนี้อุปจารภาวนานี้จะต้องขยายต่อไปอีก เพื่อจะเข้าไปในเขตของอัปปนาภาวนา ก็ ก็คิด ก็ทบทวนดูว่า ทีแรกวิ่งตาม เข้า ออก เข้า ออก วิ่งตาม ต่อมาหยุดอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วต่อมาสร้างมโนภาพขึ้นได้ที่ตรงนั้น เป็นมโนภาพแท้ ๆ ทีนี้ต่อมาอีกก็ เอากันให้เต็มที่ คือเป็นนายมันให้มากกว่านั้นอีก ก็หมายความว่าบังคับ หรือน้อมจิตไปให้ไอ้นิมิต อุคคหนิมิตเหล่านั้นเปลี่ยนไปตามที่เราประสงค์ ตอนนี้ก็จะเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต คือนิมิตที่จำแนกไปได้ต่าง ๆ กันตามที่เราประสงค์ เช่น สมมุติว่าเคยเห็นจุดขาว ๆ เป็นดวงแก้วอยู่ที่ตรงนั้น เราก็เปลี่ยนมัน ให้มันเล็กเข้า หยิกให้มันใหญ่ออกไปอีก ให้มันเปลี่ยนสีได้ ให้มันเปลี่ยนอิริยาบถ คือมันลอยไปก็ได้ ให้กลับมาอีกก็ได้ ถ้าจะเห็นใยแมงมุมเห็นอะไรก็สุดแท้ เราเปลี่ยนมันให้สนุกไปตามความประสงค์ ถ้าทำได้ก็เรียกว่า เราเป็นนาย เป็นนายเหนือสิ่งเหล่านี้ คือเหนือจิต โดยทางบังคับให้จิตนี้มันเปลี่ยนอารมณ์ มโนภาพได้ตามความประสงค์ ความเป็นนายนี้ก็เรียกว่ามีอำนาจเหนือ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า วสี วสีแปลว่า มีอำนาจ นั่นคือเราเป็นนาย เหนือไอ้จิต ที่แต่ก่อนนี้เราไม่เคยเป็นนายมัน ทีนี้สามารถจะสร้างอุคคหนิมิตขึ้นมา แล้วก็ทำให้อุคคหนิมิตนั้นเปลี่ยนไปได้ตามความประสงค์ เป็นปฏิภาคนิมิต
ไอ้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจตอนนี้ก็คือว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของจริง เป็นมโนภาพที่ทำขึ้นมาได้สำเร็จเพราะเราสามารถบังคับจิต บังคับไอ้สิ่งที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับจิตได้ตามที่เราต้องการ ทีนี้ถ้าดูในแง่ที่เราบังคับจิตได้ มันก็มากขึ้นแยะแล้ว ถ้าดูในความที่นิวรณ์มันจะเริ่มสงบไป มันก็มากขึ้นมาแยะ เพราะเมื่อเห็นภาพนิมิตอย่างนี้อยู่ นิวรณ์มันจะเกิดได้อย่างไร ฉะนั้นความที่ ความเป็นสมาธิมัน มันเข้มข้นขึ้น ไอ้นิวรณ์มันก็ลดถอยกำลังลงไปตามสัดส่วนของกัน ก็มีอยู่ว่า อ้า, อุปจารสมาธินี้นะดีขึ้นเรื่อย ดีขึ้นเรื่อย แม้ในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็ยังจะทำต่อไปจนให้มันคล่องแคล่วที่สุด ลองดูทุกแบบ ทุกอย่าง ทุกรูป เพื่อทดสอบ เหมือนกันกับการสอบไล่ว่าเราทำได้ดีที่สุด ชนะที่สุด
ทีนี้ก็เลือกเอา อ้า, อย่างใด อย่างหนึ่ง คือภาพใดภาพหนึ่งที่ไม่ต้องเปลี่ยนอีกแล้ว ให้มาอยู่กันปรกติ ทำนองว่าจะกลับมาเป็นอุคคหนิมิตอีกสักครั้งหนึ่ง แต่มันต้องหลังจากที่เราบังคับได้อย่างละเอียดลออทั่วถึง ตามวิธีแห่งปฏิภาคนิมิต ฉะนั้นเดี๋ยวนี้จึงเลือกเอาที่สบายแก่การเห็นนี้มาเป็นนิมิต สำหรับกำหนดแน่วแน่อยู่ ก็เลยเพิ่มบทเรียนเข้าไปตรงที่ว่า พยายามปรับปรุงให้สิ่งที่เรียกว่าวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ซึ่งมันเลือน ๆ มา ซึ่งมันเริ่ม เริ่มมีมาอย่างเลือน ๆ นั้นนะ เข้มข้นขึ้นมา เข้มข้นขึ้นมา วิตกเต็มที่ วิจารเต็มที่ ปีติเต็มที่ สุขเต็มที่ เอกัคคตาเต็มที่ ก็ได้ ได้ ได้ ๕ อย่างนี้มา ถ้า ๕ อย่างนี้มันครบและแน่วแน่แล้ว บ้างก็เรียกว่า เป็นอัปปนาสมาธิ อาศัยปฏิภาคนิมิตที่ปรับปรุงมาแล้วดี ก็เกิดอัปปนาภาวนา หรืออัปปนาสมาธิเป็นผล ความรู้สึกที่เรียกว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ๕ อย่างนี้ ขัดเจนอยู่ในความรู้สึก
การที่กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ซึ่งเดี๋ยวนี้ได้ให้มา มาในรูปของปฏิภาคนิมิต หรืออุคคหนิมิตนี้ ก็กำหนดได้ดี แล้วก็รู้ ซึมซาบทั่วถึงในนิมิตนั้นดี นี่เรียกว่าวิจาร แล้วก็หลังจากที่รู้ว่ามันสำเร็จแล้วนี้ มันก็มีปีติ ความรู้สึกที่เป็นปีตินี้มักจะกระโดดออกมาเอง ในเมื่อรู้สึกว่าสำเร็จ แล้วมักจะเลยเถิด แล้วมักจะมากไปจนทำให้เรื่องอื่นมันยุ่ง ฉะนั้นเขาจึงให้ระมัดระวังเรื่องของปีตินี้ ควบคุมให้อยู่ใน ใน ในน้ำหนัก ในกำลัง หรือในอัตราที่มันพอดี แล้วมัน มันจึงจะสงบ
ทีนี้ความรู้สึกที่เป็นสุข ก็พยายามให้มันปรากฏแก่จิตรู้สึกเป็นสุข แล้วปีติกับสุขนี้แฝดกันอยู่ ก็เป็นอันดับแรก ตัวมันเพิ่งชนะกันเป็นอันดับแรกของปฐมฌาน อย่างที่ได้เปรียบเทียบให้ฟังแล้วว่าในขณะ หรือว่าในกลุ่มของปฐมฌานนี้ ปีติกับสุขจะต้องแฝดกันอยู่ ยังไม่แยกจากกัน แต่แยกนับเป็น ๒ อย่าง
ทีนี้ความเป็นเอกัคคตาที่มันเริ่มมีมาบ้างนะ เดี๋ยวนี้มันถึงขีดสุดระดับหนึ่ง เรียกว่า เรียกว่าถึงจุดสูงสุดในชุดของปฐมฌานนี้ มีอารมณ์เดียวเป็นยอดของจิต นี้เรียกว่าเอกัคคตา ถ้าในกรณีของอานาปานสติ ก็คือการที่ยังรู้สึกต่อการหายใจที่ออก เข้า ออก เข้า นี้ด้วย แม้ว่าจะมีการเห็นภาพของนิมิตปรากฏอยู่ ความรู้สึกต่อการหายใจที่ออก เข้า ออก เข้า นี้ก็ยังมีอยู่
ทีนี้บางคนอาจจะไม่เชื่อ โดยเฉพาะไอ้นักศึกษาอย่างทางวัตถุอย่างสมัยปัจจุบันอาจจะไม่เชื่อ ว่าเราจะสามารถทำได้ถึงอย่างนั้น คือว่าจิตรู้สึกอะไรต่ออะไรคราวเดียวได้ตั้งหลาย ๆ อย่าง อย่างนี้เขาไม่เชื่อ มันก็ไม่มีทางที่จะไปบังคับให้เขาเชื่อ ฉะนั้นเราจะให้เขาลองดู
ในการเห็นก็ยังคงเห็นนิมิตนั้นอยู่ ความรู้สึกต่อการหายใจก็ยังรู้สึกอยู่ว่าหายใจออก หรือหายใจเข้า แล้วความรู้สึกว่านั่นคือวิตก นั่นคือวิจาร นั้นก็ยังอยู่ นั่นคือปีติ นั่นคือสุขนั้นก็ยังอยู่ ความเป็นเอกัคคตานั้นมันเป็นของมันเอง ก็มองเห็น หรือรู้สึกว่ามันมีอยู่ ถ้านับอย่างนี้มันจะต้องเป็น ๗ อย่างกระมัง องค์ฌานทั้ง ๕ อย่าง ก็ปรากฏอยู่ นี้ ๕ แล้ว นิมิตนั้นก็ปรากฏอยู่ คือภาพที่เห็นโดยมโนภาพนั้นก็ปรากฏอยู่ ความรู้สึกว่าหายใจออกหรือหายใจเข้า ก็ยังรู้สึกอยู่ เป็นสิ่งที่ทำได้ ก็ไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะไม่เชื่อ อยากจะลอง ก็ลองได้ จะไปหลับตาเห็นภาพอะไรอยู่ เขาก็นึกถึงเรื่องอื่นอีกเรื่องหนึ่ง อีกสองเรื่อง สามเรื่อง มันก็ทำได้ คนธรรมดานี้ก็ทำได้
แต่เดี๋ยวนี้เรามีจำกัดกันไปว่านิมิตนั้นก็เห็นอยู่ อารมณ์แห่งฌาน แห่งองค์ฌาน องค์ฌานทั้ง ๕ ก็ปรากฏอยู่ในความรู้สึก กระทั่งการหายใจ ที่เข้าออกอยู่อย่างเป็นจังหวะสม่ำเสมอ นี้ก็ปรากฏอยู่ ในกรณีแห่งอานาปานสตินี้จำเป็นมากที่จะต้องรู้สึกต่อลมหายใจที่ออกเข้าอยู่ มันเป็นเครื่องช่วยกำกับไม่ให้เตลิดเปิดเปิงเลื่อนลอย ฟั่นเฟือน เพ้อเจ้อไปไหนได้
อยากจะเปรียบข้อนี้เหมือนกับเครื่องดนตรี ดนตรีประเภทจังหวะ เช่น ฉิ่งนี้ มันเป็นเพียงดนตรีประเภทจังหวะ ไม่ใช่ดนตรีเพื่อเสียงไพเราะ ดนตรีไพเราะ เช่น ขลุ่ย เช่น ซอ เช่น ปี่ อะไรก็ตามแต่ นั้นดนตรีเพื่อความไพเราะ ทีนี้ดนตรีเพื่อจังหวะอย่าง เช่น ฉิ่ง เป็นต้น ไอ้ฉิ่งนี้จะต้องรักษาไอ้ความเป็นสม่ำเสมอ เป็นจังหวะไว้เรื่อย มันจึงจะควบคุมไอ้เสียงอันไพเราะของดนตรีประเภทอื่นไว้ได้ ในกรณีของอานาปานสตินี้ ไอ้เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก นั้นจะต้องชัดอยู่เสมอ เหมือนกับฉิ่ง ทีนี้ว่ายังรู้สึกความเข้า ออกอย่างนี้แล้วมันเลือนไม่ได้ มันเพ้อไปไม่ได้ มันจะลืมสติไปไม่ได้ นี้นะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เป็นบ้าเป็นบออะไรไป เพราะการกำหนดไอ้ทั้งที่เข้าและออกอยู่เป็นประจำ
ทีนี้ส่วนวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตานั้นมันเหมือนกับดนตรีที่ไพเราะ แล้วมันก็ควบคุมกันไปได้ แล้วมันก็มีนิมิตเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่ ถ้าไม่มีนิมิต มันก็ไม่รู้ว่าจะกำหนดที่อะไร สำหรับวิตกและวิจาร เดี๋ยวนี้มาถึงขั้นที่ว่า ความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็ปรากฏชัดอยู่ในความรู้สึก การเห็นภาพนิมิตนั้นก็ยังปรากฏชัดอยู่ในการเห็น ฉะนั้นความรู้สึกกับการหายใจที่ออกอยู่ เข้าอยู่ ออกอยู่ เข้าอยู่ ก็ปรากฏ นี่เรียกว่าสมบูรณ์แล้ว
ทีนี้ถ้าว่านิมิตหายไป มันก็ต้องดึงกลับมา เพราะว่าการหายใจเข้า ออก แผ่วไป หายไป เราก็ต้องดึงกลับมา ลักษณะขององค์ฌานทั้ง ๔ ไม่สมบูรณ์ ก็ต้องดึงขึ้นมาให้สมบูรณ์ ก็เลยเรียกว่าเปลี่ยนเป็นอัปปนาสมาธิ คือพ้นเขตของอุปจารสมาธิ แต่ว่าเป็นอัปปนาสมาธิเพียงอันดับแรก คือเรียกว่า ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทีนี้ก็ดูวิตกเต็มที่ วิจารเต็มที่ ปีติเต็มที่ สุขเต็มที่ เอกัคคตาเต็มที่ แล้วนิวรณ์จะอยู่ตรงไหน นิวรณ์ก็แปลว่าลับ หนีหาย เตลิดเปิดเปิงไป ไม่ปรากฏให้เห็น องค์ ๕ ของนิวรณ์ถูกขจัดไป องค์ ๕ ของปฐมฌานอยู่แทน นี่นะคือรูปฌานอันดับที่ ๑ เรียกว่าปฐมฌาน
ทีนี้ก็นึกถึงพระบาลีที่ตรัสว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือสุขวิหารในทิฏฐธรรมนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ หมายความว่าทำได้เมื่อไรก็เป็นไอ้สุขวิหารที่นั่นและเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องรอ ต้องไปเกิดในพรหมโลกแล้วจึงจะได้ แต่ถ้าพูดอย่างธรรมาธิษฐาน ก็คือว่าเวลานั้นแหละเกิดในพรหมโลก เกิดโดยไอ้วิธีของโอปปาติกะ เปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดาเป็นพรหมชนิดหนึ่งอยู่ในปฐมฌาน ไอ้จิตนั้นแหละมันเกิดโดยโอปปาติกะ ไม่ต้องไปเป็นเด็ก ไม่ต้องเข้าท้องแม่พ่อแล้วมาเป็นเด็กแล้วโต มันปั๊บเดียวมันก็เป็นพรหม เต็มที่ในชั้นรูปฌาน อย่างปฐมฌานนี้ โดยวิธีของโอปปาติกะ
ทีนี้ก็พิจารณาเอาเองว่า เป็นสุขวิหารหรือไม่ แล้วเป็นสุขวิหารสักเท่าไร อันแรกมันก็ตอบได้ง่าย ๆ โดยที่ว่า เมื่อนิวรณ์ไม่รบกวน แมลงหวี่ แมลงวันทั้ง ๕ ตัวนี้ไม่รบกวน มันก็เป็นสุข ก็เรียกว่าเป็นสุขได้ ถึงแม้ว่ายังจะต้องมีความรู้สึกอย่างน้อยก็ ๕ อย่าง คือองค์ฌานทั้ง ๕ หรือว่า ๗ อย่าง ทั้งนิมิต และการหายใจออก เข้าอยู่ มันก็ยังเป็นสุขอยู่นั่นแหละ เพราะนิวรณ์มันไม่กวน มันชัดอยู่อย่างนั้น มันต้องปักหลักตรึงอยู่ด้วยไอ้สิ่ง ๗ อย่างนี้
ทีนี้ต้องทำให้ชำนาญ อย่าเพ่อกระโดดข้ามไป อย่างว่า อ้า, ทำสำเร็จได้เดี๋ยวนี้แล้ว วันพรุ่งนี้มันอาจจะไม่ได้ก็ได้ ต้องทำกันอีก ทำกันแล้ว ทำกันอีก ให้เรียกว่ามี วสี คือ เป็นนายเหนือ เหนือรูปฌาน ปฐมฌานนี้เสียก่อน มันเหมือนกับคนเล่นกีฬา จะเป็นเล่นเตะกระกร้อ หรือว่าจะเป็นแบดมินตัน หรือว่าจะเป็นอะไรก็สุดแท้ มันก็ทำอะไรได้ท่าแรก ท่าที่ ๑ แล้วก็ต้องทำจนชำนาญ ไม่ฉะนั้นมันจะหายไป หรือเล่นดนตรีก็เหมือนกัน พอได้บทหนึ่ง ตอนหนึ่งก็ต้องทำให้ชำนาญ แล้วจึงค่อยต่อออกไปตอนที่ ๒ ฌานนี้ก็เหมือนกัน จะต้องทำให้อยู่ในกำมือที่สุด คือมีวสีที่สุด จนว่าจะเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน หรือว่าจะเข้าปฐมฌาน หยุดอยู่ในปฐมฌาน นานเท่าไร แล้วออกมาจากปฐมฌานนี้ก็ต้องได้ตามที่ตัวต้องการ จึงจะค่อยเลื่อนไปถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตอนนี้ไม่ยากแล้ว เพราะว่าไอ้ที่มันจะยุ่งยากลำบากกันที่สุด ก็ตอนที่จะทำให้เกิดปฐมฌานนี้ มันยากที่จะเปลี่ยนให้เป็นปฏิภาคนิมิต ยากที่จะบังคับปฏิภาคนิมิต ยากที่จะกำหนดให้คราวเดียวมีความรู้สึกในสิ่งทั้ง ๗ ได้ มีนิมิตก็รู้ องค์ฌานทั้ง ๕ ก็รู้ รู้สึกนะ แล้วก็การหายใจที่ออก เข้า เป็นจังหวะเหมือนกับ ฉิ่งฉับ ฉิ่งฉับ ฉิ่งฉับอย่างนั้นก็รู้ นี่เรียกว่าสำเร็จเป็นอุตริมนุษยธรรมในชั้นแรก คือ ปฐมฌาน แล้วก็มีสุขได้ทันต้องการ กลุ้มอกกลุ้มใจอะไรมาก็กระโดดเข้ามาอยู่ในปฐมฌาน ก็เย็นสบายไป เป็นต้น หรือแม้แต่เป็นการพักผ่อนเหมือนกับคนที่เขาชอบนอนให้มันสบายนี้ พระอริยะเจ้า หรืออัจฉริยะบุคคล ก็ใช้ไอ้การอยู่ในฌานนี้แทนการนอน อย่างคนนอนหรือหมูนอน แมวนอน มันก็เลยเป็นความสุขอีกอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า อาสนะพรหม อาสนะเทวดา อาสนะพรหมอะไรนี้ อยู่ในพวกฌานนี้ สถิตอยู่ในฌานนี้ ก็เรียกคนนั้นว่า นั่งหรือนอนอยู่บนอาสนะเทวดา อาสนะพรหม ก็สิ้นกิเลสอาสวะจริง ๆ จะเป็นอาสนะพระอริยะเจ้า แต่แม้ว่าจะเป็นเพียงอาสนะเทวดา อาสนะพรหม มันก็ยังมีความสุขมาก นี้ก็เลยเป็นสุขวิหารในทิฏฐธรรม
ทีนี้ปัญหาก็เหลือที่จะเลื่อนขึ้นไปสู่ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ตามหลักที่เรียนมาในโรงเรียนนั้นนะ กล่าวไว้ถูกต้อง ปฐมฌานมีองค์ ๕ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พอถึงทุติยฌาน ไอ้ เอาไอ้ที่เรียกว่า วิตกกับวิจารออกไป ก็ลองให้ทบทวนความจำกันอีกทีหนึ่ง
ปฐมฌานมีบทที่เป็นหลัก หรือคำกำจัดความว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ สงัดแล้วนั่นเชียวจากกรรมทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลกรรมทั้งหลาย นี้หมายถึงนิวรณ์ไม่มาวิ่งแล้ว สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ เข้าถึงปฐมฌาน มีปีติและสุขที่เกิดมาแต่วิเวก ประกอบอยู่ด้วยวิตกและวิจาร ปฐมฌานนี้ยังมีวิตกและยังมีวิจาร แล้วก็มีทั้งปีติและทั้งสุข ที่หามาได้จากความสงัด จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ความมีวิ เอ้อ, ความที่มีอารมณ์สำหรับเพ่งอยู่นั้นเป็นเอกัคคตา ฉะนั้นเราจึงพบวิตก วิจาร ปีติและสุข แล้วเอกัคคตาในปฐมฌาน เป็นอันว่าตรงตามพระบาลีทุกตัวอักษร
ทีนี้เลื่อนขึ้นไปอันที่ ๒ ทุติยฌาน มีพระบาลีว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา เพราะเข้าไปสงบระงับแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย นี้หมายความพอเลื่อนขึ้นมาชั้นนี้เราจะต้องทำไอ้วิตกวิจารนี้ให้หายหน้าไป ทีนี้ก็จะเข้าสู่ทุติยฌาน อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส เรื่องเป็นเครื่องผ่องใสแห่งจิตในภายใน เอโกทิภาวํ อวิตกฺกํ อวิจารํ ไม่ต้องมีวิตก ไม่ต้องมีวิจาร เพราะเข้าไปเป็นอันเดียวกันกับไอ้ที่เหลือเสียแล้ว สมาธิชมฺปีติสุขํ มีอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดมาแต่สมาธิ คำว่าวิเวกนั้นหมดความหมายไป เพราะมันต่ำลงไปแล้ว เลื่อนเอาสมาธิเข้ามาแทนแล้ว ปีติและสุขจึงเกิดจากสมาธิ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร แต่กลับเป็นเครื่องผ่องใส สดใส แจ่มใส เยือกเย็นเป็นสุขในภายในยิ่งขึ้น ฉะนั้นตามพระบาลีนี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากทำไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิตกและวิจารนั้นให้หายหน้าไป ก็คือยังไม่กำหนดสิ่งที่เรียกว่าวิตกและวิจาร ซึ่งเป็นองค์ฌานที่ ๑ และที่ ๒ นั้นอีกต่อไป
ข้อนี้ทำได้โดยการที่มาตั้งข้อสังเกตพิจารณาว่า แหมนี้ยังหยาบมาก ที่เป็นองค์ฌานนี้ยังมีตั้ง ๕ อย่าง ถ้าเราจะทำให้ละเอียดเราก็จะต้องสลัดออกไปเสียบ้าง สิ่งที่ควรสลัดก่อนนั้นคือวิตกและวิจาร ฉะนั้นนิมิตยังคงรักษาไว้ การหายใจออก เข้า ยังมีความรู้สึกอยู่ แต่ว่าความรู้สึกที่เป็นการกำหนดและพิจารณาอารมณ์นั้นนะ มันหยุดไป ก็แปลว่ามีการเห็นอารมณ์หรือนิมิตนั้นโดยอัตโนมัติ เพื่อว่าให้เรื่องที่มันมากเรื่องนะมันเหลือน้อยเรื่องเข้า ความรู้สึกที่เป็นปีติก็เอาไว้ เป็นสุขก็เอาไว้ ความมีอารมณ์เดียวนี้ก็เอาไว้ เพราะนิมิตยังคงอยู่ มันก็มีความเป็นอารมณ์เดียว ตรงนี้ก็มีการวินิจฉัยกันมากว่า เดี๋ยวนี้เราจะถือเอาไอ้ความรู้สึกที่หายใจออก เข้า เป็นนิมิต ก็คงจะได้ โดยที่ว่าไอ้นิมิตที่เห็นด้วยภาพนั้น ไม่จำเป็น แต่ทีนี้ถ้ามาพิจารณาดูให้ดี มันยากที่จะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนิมิตยังคงรักษาไว้ดีกว่าไอ้นิมิตมโนภาพ จังหวะออก เข้าก็ยังรักษาไว้ แต่ความรู้สึกที่เป็นวิตก วิจารนี้ ปล่อยให้หายไป คือแกล้งไม่กำหนด มันก็ค่อย ๆ หายไปหรือเลือนไป ต้องไปเพิ่มให้ปีติและสุขมันรุนแรงขึ้นมาในความรู้สึก นี้เราก็เรียกว่าถ้าดูในความสงบ มันก็สงบมากขึ้น ฉะนั้นนิวรณ์ละก็ยิ่งหายหัวไปอีก เพราะความเป็นสมาธิมันมีมากขึ้น จนถึงกับเรียกว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธินะ ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นสุขวิหารที่ยิ่งขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือชั้นทุติยฌาน ก็คงจะใช้ไอ้ความพยายามที่จะยกขึ้นมาสู่ชั้นที่ ๒ นี้ มากเหมือนกัน แต่ไม่ยากนะ คือมัน มันเริ่มเข้ารูป มันไม่ยากถึงขนาดว่า ต้องต่อสู้มาก แต่คงจะไม่ได้ทำได้ทันที เพราะการที่จะสลัดไอ้ความรู้สึกอะไรออกไปเสีย เพราะมันเคยชินอยู่มากนี้มันก็ยากนะ แล้วก็คงจะยากตรงที่ว่าจะรักษาเอกัคคตาไว้ โดยที่สลัดวิตกวิจารออกไปนี้มันก็ยากอยู่บ้างนะ มันจึงต้องใช้ความพยายามชนิดที่เขาเรียกว่า ละเอียด ประณีต สุขุม แยบคายที่สุด ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ความแยบคายจะต้องมีมากกันตอนนี้ คือจะทำมุทะลุดุดันตึงตังมันไม่ได้ มันก็ต้องทำให้แนบเนียน แยบคาย สุขุม รอบคอบมากขึ้น เพราะมันเป็นความละเอียดมากขึ้น ถ้าหน่วงมันแรงมันก็หายไป หน่วงมันไม่ถึงมันก็หายไป หน่วงมันแรงมันก็หายไป หรือฟุ้งซ่านไป ก็ต้องพอดีนี้นะ ทีนี้การที่จะกำหนดให้มันประณีต สงบระงับยิ่งขึ้นไป นี้มันก็ต้องการไอ้ความละเอียด หรือประณีต สุขุม หรือโยนิโสมนสิการมากขึ้น ขอให้เป็นอันว่าเราจะพูดให้จบไปเลยใน ๔ ชั้นนี้ เดี๋ยวนี้เรื่องของทุติยฌานก็เป็นอันว่า ชนะ ก็มีสุขวิหารเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง
ทีนี้ไปตติยฌาน ไอ้ความรู้สึกที่เป็นปีตินั้นจะต้องถูกกระทำให้เลือนหายไป มีพระบาลีว่า ปีติยา จ วิราคา ความจางหายไปแห่งปีติด้วย อุเปกฺขโก จ วิหรติ เป็นผู้อยู่อุเบกขาด้วย สโต จ สมฺปชาโน สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะด้วย สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ รู้สึกพร้อมเฉพาะถึงความสุขด้วยนามกายด้วย ต้องครบอย่างนี้จึงจะเป็นตติยฌาน ทำปีติให้หายไปด้วย มีความอุเบกขาเต็มที่อยู่ตลอดเวลาด้วย สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ด้วย รู้สึกความสุขทางนามกายที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปด้วย เพราะว่าได้ปลดปีติออกไปเสีย มันต้องอาศัยนามกาย ให้เจตสิกธรรมที่ประณีตละเอียดกว่านั้น ทำได้อย่างนี้ก็เป็นอันว่าถึงขั้นตติยฌาน เป็นสุขวิหารที่ยิ่งขึ้นไปกว่า แล้วประณีตกว่า ละเอียดกว่า เพราะว่าไอ้ปีติที่เป็นของโครมครามนั้นนะมันได้หายไป เหลือแต่สุขที่สงบ ระงับ ละเอียด ประณีต
ทีนี้ก็มาถึงอันที่ ๔ จตุตถฌาน ถ้ารู้สึกว่าการที่ยังมีความรู้สึกเป็นสุขอยู่นี้มันก็หยาบ มันก็รบกวน ไอ้สุขนี้มันหยาบ มันรบกวน อย่าเอาความรู้สึกอันนี้ไว้เลย ให้เงียบหายไปเสีย ถ้าเอาอันนี้ออกไปได้ ไอ้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างอื่นมันก็จะต้องพลอยหายไปด้วย ความลำบากยุ่งยากในการประพฤติกระทำนี้ก็จะหายไปด้วย นี้ถึงว่ามีคำจำกัดความไว้ว่า สุขสฺส จ ปหานา เพราะละเสียซึ่งสุขด้วย ทุกฺขสฺส จ ปหานา เพราะละเสียซึ่งทุกข์ด้วย ปุพฺเพ ว โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา เพราะความไม่ตั้งอยู่ คือดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งหลายในการณ์ก่อนด้วย อทุกฺขมสุขํ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ มีความรู้สึกแห่งจตุตถฌานเป็นความไม่ทุกข์ ไม่สุข เหลืออยู่แต่อุเบกขาและสติล้วน ๆ นี่นะสิ่งที่เรียกว่าสุขหมดความหมายไป ก็เปลี่ยนความรู้สึกเป็นอทุกขมสุข เพราะว่าเหลืออยู่แต่อุเบกขาที่ควบคุมไว้ด้วยสติ สิ่งที่เรียกว่าอุเบกขาจะถือว่าเป็นสุขก็ไม่ได้ เป็นทุกข์ก็ไม่ได้ ทีนี้มันอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีสติ ฉะนั้นจึงต้องมีสติ ทีนี้สติก็มีสมบูรณ์มาแล้วตั้งแต่ ตติยฌาน คือ สโต จ สมฺปชาโน เดี๋ยวนี้ก็ยังเหลืออยู่ ก็เลยใช้คำว่าอุเบกขากับสติล้วน ๆ เหลืออยู่ ความรู้สึกนั้นไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะว่าทุกข์ก็ละแล้ว สุขก็ละแล้ว โสมนัส โทมนัสก็ดับไปหมดแล้ว ที่ว่าในกาลก่อนก็คือในฌานทั้งหลาย ข้างต้น ๓ ฌานนั้นเอง โสมนัส โทมนัสอะไรก็ตามเถอะ ก่อนแต่นี้นะมันเคยมี เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้สึก คำว่าโทมนัสในลักษณะอย่างนี้ เอ้อ, มันไม่ได้หมายถึงไอ้กิเลสอะไรมากมาย หมายถึงความที่รู้สึกขัดข้องทางร่างกาย ทางไอ้ปวด ทางเมื่อย ทางอะไรก็ตามใจ อย่างนี้เรียกว่าสุขวิหารอันสุดท้าย
นี่ผมเอามาเทียบให้ดูนะมันใกล้ ใกล้ ใกล้กันเพื่อจะให้รู้จักได้ง่าย ซึ่งอาจทบทวนได้ทีหนึ่งว่า สุขวิหารของรูปฌานที่ ๑ นั้น คือปีติและสุขที่ได้มาจากวิเวก สุขวิหารของฌานที่ ๒ นั้น คือปีติและสุขที่ได้มาจากสมาธิ สุขวิหารของฌานที่ ๓ นั้น เป็นสุขล้วน ๆ ไม่มีปีติ โดยมีไอ้นามกาย คือเจตสิกธรรม ที่ชื่อว่าอุเบกขาและสติเริ่มตั้งมั่นขึ้นมา แต่ยังรู้สึกเป็นสุขอยู่ ทีนี้สุขวิหารอันสุดท้ายที่ ๔ นั้น เปลี่ยนเป็นอทุกขมสุข โดยความ โดยเหตุผลที่ว่ามันสงบระงับกว่าความสุข ความสุขนี้ยังรบกวนความรู้สึก ฉะนั้นถ้าอย่าให้รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็ไม่รบกวน มันจึงประณีตกว่า ซึ่งจะอยู่ได้ด้วยอะไร คือสติที่ควบคุมอุเบกขา อยู่ได้เฉยอยู่นี้ มันเป็นตัวสุขวิหาร แล้วก็เลยได้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร ทั้ง ๔ ประการตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า สมาธิภาวนาประเภทที่ ๑ เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร ได้แก่ การเจริญรูปฌานทั้ง ๔ นี่ในพระบาลีสูตรที่ ๑ โรหิตัสสวรรค จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ผู้ที่มีพระไตรปิฎกก็ไปอ่านดู ผู้ที่มีอรรถกถา