แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เอ่อ, วันนี้เป็นวันบรรยาย ชนิดที่เราเคยเรียกกันว่าวันธรรมปาฏิโมกข์ จะบรรยายในที่ที่เคยบรรยายก็ทำไม่ได้ แต่แม้ว่าจะย้ายมาที่นี่ก็ยังคงบรรยายได้ จึงจะได้บรรยายไปตามหัวข้อที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ ทั้งเนื่องจากมีผู้ฟังจำนวนมากไม่เคยฟัง แล้วก็ต้องการจะฟังแม้ว่าเป็นครั้งแรก นี่ก็ไม่ขัดข้องอะไรในการที่จะพูดเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ เอ่อ, ในลักษณะที่เป็นการกล่าวสำหรับผู้ที่ไม่เคยฟัง คือเป็นการสรุปโดยหัวข้อให้ทราบว่า เอ่อ, มันคืออะไรและมุ่งหมายอย่างไร
ผู้ที่ไม่เคยฟัง ก็ต้องเข้าใจคำว่าปาฏิโมกข์เสียก่อน เฉพาะคำนี้มันก็แปลว่า ไอ้สิ่งซึ่งมันเป็นประธานเป็นหลัก เป็นความสำคัญ ถ้าเป็นเรื่องวินัย ก็เรียกว่าภิกขุปาฏิโมกข์ หรือภิกขุนีปาฏิโมกข์ หรือวินัยปาฏิโมกข์ ก็เป็นเรื่องวินัยไป แปลว่าเรื่องสำคัญทางฝ่ายวินัย นั้นก็พวกหนึ่ง ก็เรียกว่าวินัยปาฏิโมกข์
ทีนี้อีกพวกหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับวินัย เกี่ยวกับธรรมะ ก็เลยเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ พอจะเทียบเคียงกันได้กับ เอ่อ, คำที่มีใช้อยู่แล้ว คือโอวาทปาฏิโมกข์ ได้แก่หัวข้อที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ที่เป็นโอวาท แต่ทีนี้คำว่าโอวาทมันก็กว้างไป จะเป็นวินัยก็ได้ เป็นธรรมะก็ได้ เราจึงต้องแยกกันใหม่ให้ชัดลงไปว่า ในส่วนที่เป็นธรรมะนี้ จะเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ ในส่วนที่เป็นวินัย ก็เรียกว่าวินัยปาฏิโมกข์
ทีนี้ก็ควรจะทราบความแตกต่างระหว่างวินัยกับธรรมะ คำว่าวินัย ตามปรกติก็หมายถึงข้อกฎต่าง ๆ ที่บังคับให้ต้องทำ ทีนี้ส่วนธรรมะนั้น มันเป็นหลักที่ไม่ได้บังคับให้ต้องทำ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ใครไม่อยากได้อะไร ก็ไม่ต้องทำก็ได้ แต่วินัยนี้ต้องทำ ก็ถ้าจะอยู่ในคณะสงฆ์นี้แล้ว ต้องปฏิบัติวินัย มันต่างกันอยู่อย่างนี้
พูดง่าย ๆ ก็คือว่า วินัยนี้สำหรับให้ ๆ ต้องปฏิบัติกันทุกคน บังคับให้ปฏิบัติทุกคน เพราะใครไม่ปฏิบัติหรือล่วงละเมิด ก็ปรับโทษโดยตรง อย่างมากถึงกับให้ออกไปเสียเลย ออกไปเสียจากไอ้ความเป็นภิกษุนี้เลย ส่วนธรรมะนั้น ถ้าเขาไม่อยากจะดับทุกข์ เขาก็ทนทุกข์ไปก็แล้วกัน นี่คนละลูก
สำหรับวินัยนั้น ก็บังคับให้ปฏิบัติ ทั้งที่เป็นข้อกฎเกี่ยวกับบุคคลคนหนึ่ง ๆ และที่เกี่ยวกับหมู่คณะทั้งหมด เพราะว่าโดยแท้จริงแล้ว วินัยมุ่งหมายจะให้หมู่คณะ คือคณะสงฆ์นี่ตั้งอยู่ได้ นี่เป็นจุดหมายอย่างนี้ สำหรับบุคคลนั้น มันเป็นส่วนน้อย ถ้าหมู่คณะหรือคณะสงฆ์ตั้งอยู่ได้ ก็คือบุคคลตั้งอยู่ได้ ดังนั้นจึงมีข้อบังคับให้บุคคลปฏิบัติอย่างนั้น ๆ แล้วก็รวมกันให้เป็นคณะสงฆ์นี้ตั้งอยู่ได้ ก็เลยเรียกว่าวินัย บังคับให้ช่วยกันปฏิบัติเพื่อให้คณะสงฆ์มันตั้งอยู่ได้
ข้อนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า การที่คณะสงฆ์อยู่ยืนยาวมาได้ตั้งสองพันกว่าปีจนถึงบัดนี้นั้น ก็เพราะมีวินัยเป็นหลักสำคัญ รักษาความปรกติสม่ำเสมอไว้ได้ อย่างนั้นจะสูญหายไปแล้ว นี่คือความหมายของคำว่าวินัยที่มันต่างจากคำว่าธรรม คล้ายว่าธรรมก็เป็นหลักปฏิบัติสำหรับขัดเกลากิเลสส่วนบุคคล บรรลุมรรคผลไปนิพพานอย่างนี้ ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ มันไม่เหมือนกับวินัย
แต่ทีนี้ถ้ามาเปรียบกันถึงคุณค่ากันแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับทางธรรมนี้ มันไปไกลไปลึก แม้จะไม่เกี่ยวกับหมู่คณะโดยตรง เกี่ยวกับบุคคลคนหนึ่ง ๆ โดยตรง มันก็ยังไปไกลไปลึกมาก คือว่าไปถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์จะไปกันได้ ที่เราเรียกว่านิพพาน ทำให้ ๆ มนุษย์มีจิตใจสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เหนือความทุกข์ เหนือกิเลส ตายตัวลงไป นี่ก็เรียกว่านิพพาน วินัยมันจึงเป็นคล้าย ๆ กับว่ารากฐาน นับตั้งแต่หมู่คณะอยู่ได้ แล้วก็บุคคลก็มีการประพฤติปฏิบัติดี มีความเหมาะสมทางกายทางวาจาก่อน นี้ส่วนของวินัย นี้ส่วนทางจิตทางวิญญาณสูงขึ้นไปก็เป็นหน้าที่ของธรรม
นี้สิ่งที่เรียกว่าวินัย เอ่อ, มีหลักการหรือกฎเกณฑ์อย่างไร ก็ไปอ่านดูได้โดยง่าย แล้วก็เคยฟังปาฏิโมกข์ เพื่อให้เว้นในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ตั้งแต่ที่เบาที่สุดไปถึงที่หนักที่สุด เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายหลายอย่าง หลายสิบอย่าง หลายร้อยอย่างก็มี วินัยพวกอภิสมาจารนี้ ทำไม่ได้เกี่ยวกับกิริยามารยาททั้งหลาย
ทีนี้ไอ้วินัยที่เป็นตัวกฎสำคัญก็มี ที่เรียกว่าปาฏิโมกข์ คุณก็ไปอ่านดู โดยเฉพาะไอ้ ๑๕๐ ข้อ คือไม่รวมเสขิยวัตรหรืออนิยต นับตั้งแต่ไม่ให้ทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยขึ้นไปถึงขนาดกลาง จนถึงขนาดสูงสุด ที่เรียกว่า ปาราชิกสิกขาบท
ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องอะไร คือไม่เกี่ยวกับธรรมะ มันเกี่ยวกับวินัย คือหมู่คณะนี้ต้องการอย่างนี้ ถ้าท่านอยากอยู่ในหมู่คณะนี้ ท่านก็ต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เอ่อ, ๔ ข้อปาราชิกนี้ ก็ให้ออกไปเลย นี่ถ้ารองลงไปเช่นสังฆาทิเสส เดี๋ยวนี้ก็ต้องลงโทษตัวเองขนาดหนักตามที่บัญญัติไว้เสียก่อน จึงจะให้อยู่ต่อไปได้ ถ้าเป็นปาจิตตีย์ ก็ลงโทษตัวเองเหมือนกัน ก็เบาหน่อย นี้ก็เรียกว่าวินัย มุ่งหมายอย่างนี้ เพื่อให้หมู่คณะนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน
ลองภิกษุไม่ถือวินัย ก็จะได้กระทบกระทั่งแก่กันและกัน แล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน เพราะคนมันเรียนมาไม่เหมือนกัน มีนิสัยสันดานมาต่างกัน ถ้าต่างคนต่างเอาตามใจตัว มันก็ได้ทะเลาะวิวาทกันแล้วแตกสลายไปหมด คุมกันไม่ตี เลยต้องมีวินัยว่า ทุกคนทำอย่างนี้ มันก็เหมือนกัน มันก็ไม่ทะเลาะวิวาทกัน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นหมู่คณะที่ตั้งอยู่สำหรับสืบอายุพระศาสนา คือเป็นหมู่คณะที่รองรับพระศาสนาไว้ได้ และบุคคลหนึ่ง ๆ นั้น ก็มีความเหมาะสมที่จะปฏิบัติธรรมะต่อไปจนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ซึ่งส่วนที่จะปฏิบัติธรรมะต่อไป ก็เป็นส่วนที่เราเรียกว่าธรรมะ นี้ก็มีกฎเกณฑ์สำคัญหรือว่าแนวปฏิบัติที่สำคัญก็คือเรื่องเกี่ยวกับอัตตา อนัตตา ที่ผมมาตั้งคำเรียกใหม่ให้จำง่าย ฟังง่าย คิดนึกง่ายว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู เรื่องธรรมะทั้งหมดกี่ข้อกี่ประเด็นน่ะกี่ เอ่อ, กี่พันกี่หมื่นข้อก็สุดแท้เถิด เอ่อ, ว่า เรียกว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวกู-ของกูทั้งนั้น แม้แต่เรื่องวินัยทั้งหลาย มันก็เกี่ยวข้องกับเรื่องตัวกู-ของกู แต่ว่าไม่ได้โดยตรง ไม่ได้มุ่งหมายโดยตรง ส่วนธรรมะนี้มุ่งหมายโดยตรง ที่จะกำจัดไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกูนั้นเสีย
ทีนี้เกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกูนี้ คุณก็ต้องได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มามากแล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจอยู่ได้มากแล้ว เดี๋ยวนี้ก็จะได้สรุปหรือชี้ให้เห็นว่า มันมีรูปของ เอ่อ, รูปร่างหรือโครงเรื่องอย่างไร ถ้าเราจะพูดขึ้นไปตั้งแต่ความทุกข์ ก็พูดได้ว่า ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายมีมูลมาจากความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกู นี่คือกฎอันหนึ่ง ข้อ ๆ กฎอันหนึ่ง เป็น Formula อันหนึ่งที่จะต้องจำไว้ ความทุกข์ทั้งหลาย ปัญหายุ่งยากทั้งหลาย ถ้าจะเรียกว่าความทุกข์นี่ มันมีมูลมาจากสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู
ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูนี้ ก็มิได้มีอยู่จริง เป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง ถ้าความคิดปรุงแต่งตัวนี้ มันเกิดขึ้นในใจเมื่อไร เกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมาแล้วก็ มีเรื่อง คือจะเป็นทุกข์ มีความทุกข์ในขณะนั้นทันทีก็มี หรือว่าให้เกิดกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็ไปทำอะไรต่อไปอีกตามไอ้กิเลสนั้น ๆ แล้วจึงได้รับผลเป็นความทุกข์อย่างนี้ก็มี คือมันยืดออกไป
ในบางกรณีพอเกิดเป็นตัวกู-ของกู ร้อนเหมือนกับไฟขึ้นมาทันควันในจิตในใจขึ้นนี้ก็มีเหมือนกัน แต่ที่แท้มันก็เป็นเรื่องเดียวกันแหละ คือกิเลสที่เกิดขึ้นทันควันและรุนแรง แล้วก็เผากันไปเลย นี่เรียกว่าให้ ๆ ผลติดควัน ติดทันควันกันไปเลยนี่ หรือรับไปเป็นกิเลสยืดเยื้อ ไปทำกรรมยืดเยื้อ ไปอะไรยืดเยื้อ ให้ผลต่อ ชั่วโมงหลังหรือว่าวันหลังนี้ก็ ๆ เรียกว่า มันก็ความหมายอย่างเดียวกัน คือมันมีตัวกู-ของกูเป็น ๆ ๆ ต้นเหตุ
ดังนั้นไปศึกษาเรื่องตัวกู-ของกู อย่างที่ได้อธิบายแล้วในเรื่องปฏิจจสมุปบาทเมื่อคืนก่อนว่า หลังจากมีการกระทบทางอายตนะ แล้วก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทานว่าตัวกู-ของกูนั้นน่ะ ที่นี้เราจะพูดกันในแง่อื่นก็ได้ว่า พอ ๆ ๆ มันเกิดตัวกู-ของกู มันก็เป็นทุกข์ ดังนั้นอย่าให้ทำ อย่าทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมา
มันจึงเกิดมีหลักอัน ๆ หนึ่งขึ้นมาอีก มันก็เป็นสูตรขึ้นมาอีกว่า ทุกสิ่ง ใคร ๆ ไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกู-ของกู คำว่าทุกสิ่งนี่ มัน ๆ ทุกสิ่งเอาเสียจริง ๆ ไม่ยกเว้นอะไรเลย จะเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เป็นการประพฤติปฏิบัติ เป็นกระทั่งเป็นนิพพานในที่สุด ก็ไม่ควรสำคัญมั่นหมาย เป็นของกูหรือว่าเป็นตัวกูก็สุดแท้แต่จะ ๆ โง่ไป
ที่มันเป็นของรู้สึกอยู่ข้างใน มันก็มักจะเป็นพวกตัวกู เช่นเอาไอ้รูปร่างกายนี้เป็นตัวกูก็ได้ หรือเอาความรู้สึกอย่างหนึ่ง ๆ เช่นว่าถ้ามีการเห็น ก็เอาไอ้สิ่งที่ทำหน้าที่เห็นเป็นตัวกู หรือถ้ามีการรู้สึกเวทนาสุขทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เอาตัวความรู้สึกเป็นตัวกู หรือว่าไอ้ความสำคัญมั่นหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เอาความรู้สึกสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นตัวกูนี่ กำลังคิดนึกอะไรอยู่ ก็เอาไอ้ตัวความคิดนึกนั้นเป็นตัวกู ก็กูคิด นี่ไปสำคัญเอาไอ้รูปบ้าง เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง วิญญาณบ้าง เป็นตัวกูในส่วนหนึ่ง สมมติเอาส่วนหนึ่งเป็นตัวกู แล้วก็จะเอาส่วนที่เหลือเป็นของกู นี่ข้างในมันก็มี
ทีนี้ออกไปถึงข้างนอก ก็เหมือนกันอีก ตัวสูแล้วก็ ๆ มีขึ้นมา หรือว่าข้างนอกออกไปเป็นของกูก็มี เช่น ที่ดิน บ้านช่อง เรือกสวน ไร่นา เงินทอง ข้าวของ บุตรภรรยานี้ ก็เป็นของกูได้ ต่างคนต่างเป็นตัวกู แต่ถ้าเอามาใกล้กัน ก็กลายเป็นสูคนหนึ่ง เป็นกูคนหนึ่ง นี่มันเป็นเหตุให้เกิดความคิดนึกปรุงแต่งนานาชนิด เป็นรูปตัวกู-ของกู ด้วยอำนาจของความไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า มันไม่ใช่ตัวกู-ของกู
ความไม่รู้อันนี้ก็เรียกว่าอวิชชา คือความที่ปราศจากความรู้อันถูกต้องแล้วก็เรียกว่าอวิชชา ตัวกูก็ เอ่อ, ตัวกูก็ตาม ของกูก็ตาม ก็เป็นลม ๆ แล้ง ๆ เป็นความคิดปรุงแต่งมาจากความโง่ ไอ้ร่างกายก็มีหน้าที่ให้จิตใจอาศัย จิตใจก็มีหน้าที่คิด แล้วมันก็คิดไปตามเหตุตามปัจจัยที่ทำให้มันคิด เมื่อมันไม่มีความรู้ มันก็คิดไปตามความไม่รู้ คือว่าสำคัญมั่นหมายเป็นตัวกู เป็นของกูขึ้นมา
แล้วถ้ามันเกิดความอยากความต้องการขึ้นมา ก็เป็นความโลภ พอมันไม่ชอบ มันโกรธ มันขัดใจขึ้นมา ก็เป็นความโกรธ ถ้ามันยังโง่ หลงใหล ลังเล สงสัยอะไรอยู่ ก็เป็นความหลง สิ่งที่เรียกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือจะเรียกว่า ราคะ โทสะ โมหะ โลภะ โกรธะ โมหะ อะไรก็แล้วแต่จะเรียก ความหมายอย่างเดียวกันหมด มาจากไอ้ความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกู ทั้งหมดนั้นน่ะ มันมีอวิชชา เอ่อ, ความไม่รู้เรื่องจริง ไม่รู้ของจริง นี่เป็นต้นตอทำให้เกิดความรู้สึกคิดนึกเหล่านี้
ทีนี้ก็ ๆ มีการกระทำไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ได้ผลเกิดขึ้น มีผลเกิดขึ้นมาเป็นทุกข์เป็นอะไรกันไปมากมาย หลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ สิบอย่าง เห็นได้ว่าไอ้ความทุกข์นี้ มันมาจากตัวกู ซึ่งปรุงขึ้นมาจากอวิชชา ยังเป็นอวิชชาอยู่ มันยังไกลอยู่ มันยังไม่แสดงบทบาท พอมันปรุงขึ้นมาเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นตัวกู ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เป็นความทุกข์
ทีนี้เรื่องมรรคผลนิพพาน ก็ไม่มีอะไร ก็คือจะดับไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูเสีย ดับได้เด็ดขาดไปบางอย่าง ก็เป็นมรรคผลในขั้นต้น ๆ ดับได้หมด ก็เป็นมรรคผลขั้นสุดท้าย ให้เรียกความดับตัวกู-ของกูนั้นว่านิพพาน จะนิพพานชั่วคราวหรือนิพพานตลอดกาล นิพพานโดยเอกเทศหรือว่านิพพานทั้งหมด ก็เรียกว่านิพพาน แต่ตามธรรมดา คำว่านิพพานนี้ใช้กันโดยมากเป็นเรื่องดับหมดจดสิ้นเชิงตลอดกาล
เมื่อถามว่านิพพานคืออะไร ก็คือ ๆ ความดับแห่งตัวกู-ของกู ทีนี้ลองตั้งปัญหามาดูสิ ตั้งปัญหามาจากทิศไหนทางไหน มันก็จะไปรวมจุดอยู่ที่ตัวกู-ของกู แม้ตัวอวิชชาเองก็ มันก็เป็นเรื่องให้เกิดตัวกู-ของกู จะมองดูไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ไปรอบข้าง ไปข้างบน ข้างล่างแล้ว มันมีจุดศูนย์กลางอยู่ตรงที่ตัวกู-ของกูเป็นตัวเรื่อง คือจิตธรรมดา มันไม่ได้มีตัวกู-ของกู มันก็ไม่เป็นทุกข์ พอมันเกิดการปรุงแต่งขึ้นในพฤติการณ์ของจิตนั้นแล้ว เกิดตัวกู-ของกูแล้ว มันก็รู้สึกเป็นความทุกข์
ถ้าจะพูดถึงบาปกรรมหรือความชั่วทุกชนิด มันก็มาจากไอ้ความยึดมั่นเป็นตัวกู-ของกู แล้วก็กระทำลงไป ดังนั้นไปนรก ไปอบาย ไปอะไร ก็เพราะตัวกู-ของกู มันปรุงไปผิดวิธี มันผิดวิธีที่ เอ่อ, ที่จะให้ไม่ทุกข์ มันจึงได้มีความทุกข์ มันก็ไปนรก ไปอบาย หรือถ้ามีการไปสวรรค์ สุขสนานร่าเริง ก็คือว่าตัวกู มันทำถูกตามกฎเกณฑ์ที่จะให้ได้เสวยเวทนาเช่นนั้น แล้วมันก็ดีใจว่าไปสวรรค์ มันก็เหลวไหลทั้งเพ หลอกลวงทั้งเพอีกเหมือนกัน
มันไปเรื่อง เป็น ๆ เรื่องของตัวกู-ของกูไปหมด มันจะค่อยยังชั่วขึ้น ต่อเมื่อเดินไปทางมรรคผลนิพพาน พอไปถึงนิพพาน ตัวกูก็หมดเลย ดับหมดเลยนี่ เพียงแต่เป็นเรื่องมรรคผลขั้นต้น ๆ ตัวกูมันก็น้อยลง ๆ ผอมลง ๆ พอถึงเรื่องนิพพานจุดสุดท้าย ตัวกูมันก็ดับหมดเลย เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาที่ว่า ตัวกู-ของกู มันยังกำลังจัดมาก เป็นไปรุนแรงมาก มันจึงเป็นเหมือนกับว่า เป็นยักษ์ เป็นมาร ขบ กัด เคี้ยว กิน จิตใจของมนุษย์อยู่
นี่คุณลองคิดเอาเอง ตั้งปัญหาชนิดไหนมาถามผมสิ ผมก็จะตอบไว้ล่วงหน้าหมดเลยว่า มัน ๆ เกี่ยวกับตัวกู-ของกูทั้งนั้น มันไม่มีอะไรที่จะไม่เกี่ยวกับไอ้สิ่งนี้ เพราะปัญหามันอยู่ที่ตัวนี้ ความทุกข์มันอยู่ที่ตัวนี้ การได้การเสียมันก็อยู่ที่ตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้แล้ว ไม่มีการได้ไม่มีการเสียหรอก คือมันเป็นกระแสธรรมชาติล้วน ๆ ไปหมด ทีนี้พอทำอะไรอย่างที่เรียกว่าได้ผลกำไร ได้ผลมา ตัวกูมันรู้สึกว่า กูได้ ถ้าเสียไปก็ กูเสีย ถ้าว่าเรารู้สึกเป็นสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยนี้ ก็ตัวกูอีกแล้ว ถ้ามันตรงกันข้าม มานั่งร้องไห้อยู่ มันก็ตัวกูอีกแล้ว
เราตั้งต้นมีตัวกูเพิ่มขึ้น ๆ ตั้งแต่แรก รู้สึกรักหรือพอใจในสิ่งที่น่ารัก แล้วก็เกลียดโกรธในสิ่งที่น่าเกลียดน่าโกรธหรือไม่ชอบ หรือว่ากลัวในสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว ก่อนนั้นยังไม่มี ตอนยังเป็นเด็กนอนอยู่ในท้องแม่ มันยังไม่มี มันไม่มีความรู้สึกประเภทนี้ คลอดออกมาใหม่ ๆ มันก็ยังไม่มี หิวมันก็ร้องไห้จ้าไป มันไม่ ๆ ๆ ปรุงความรู้สึกประเภทตัวกู-ของกู มันหิวหรือมันปวดหรือเจ็บ มันก็ร้องไป
นี่ตามบาลีที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ไอ้เด็กนั้นต้องโตพอสมควร ก็ไม่ได้ระบุว่ากี่ปีกี่เดือน แต่มันต้องโตพอสมควร คือรู้เรื่องของเวทนา ที่เป็นสุขเอร็ดอร่อยถูกอกถูกใจ นี่เป็นเวทนาฝ่ายสุขเวทนา แล้วก็เวทนาที่เป็นทุกข์ คือมันรู้จักสังเกตว่าเป็นทุกข์เจ็บปวดไม่ชอบ นี่สองสิ่งนี้เป็น ๆ เอ่อ, หลักสำคัญก่อน คือความพอใจและความไม่พอใจ
พอมันได้รับความพอใจสบายทีหนึ่ง มันก็มีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นไอ้ความเห็นแก่ตัวนิดหนึ่ง ๆ ที่จะเอา ที่จะได้หรือจะเอา เมื่อไม่ได้ไม่เอา เอ่อ, เมื่อเอาไม่ได้หรือไม่ได้ มันก็โกรธก็รู้สึกโกรธ มันโกรธเป็นขึ้นมา ทีนี้ไม่เท่าไรหรอก ในไม่กี่เดือนกี่ปี มันก็เก่งในการที่จะรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู เป็นของกูอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้คนข้าง ๆ นับตั้งแต่บิดามารดา ก็ได้สอนให้พูดจาให้ยึดถือความหมายอย่างนั้นอย่างนี้ ที่มันไม่เคยกลัว ก็พูดไปจนมันเกิดความเข้าใจผิด จนมันกลัว กลัวผี กลัวอะไรต่าง ๆ
มันขยายออกไปทุกด้านที่จะเป็นตัวกู สำหรับรัก สำหรับโกรธ สำหรับเกลียด สำหรับกลัว สำหรับอิจฉาริษยา นานาชนิดที่เรียกว่ากิเลส นี่เป็นการเพาะพันธุ์ ขยาย ให้ขยายตัวเพาะหว่านไอ้ตัวกู-ของกู ให้มัน ๆ งอกงามมากขึ้น ๆ ๆ ไม่ต้องถึงกับมาเป็นคนโต ๆ อย่างที่นั่งอยู่ที่นี่ เพียงแต่เด็กอายุสักสิบขวบเท่านั้น มันทำอะไรได้มากหรือเกือบจะครบเสียแล้ว
ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับกิเลส มันงอกงามออกมา เรียกว่าเราก็มีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู งอกงามขึ้นมาเรื่อย ไม่ ๆ ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องถือตามตัวหนังสือที่ไหน ให้เอาความรู้สึกของตัวเองนั่นแหละ ที่แท้จริงที่เป็นมาเรื่อย ๆ ก็พอจะนึกได้ เรามันเมื่อเล็ก ๆ เป็นอย่างไร หรือว่าเราแอบไปดูไอ้เด็ก ๆ ที่มันเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ไอ้เราเมื่อเล็ก ๆ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
ถ้าจะดูอีกทีหนึ่ง มันก็รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ที่ได้มาสร้างไอ้ความยากลำบากเหล่านี้ให้ ถ้าอบรมกันมาเสียให้ถูกตั้งแต่ทีแรก มันก็จะไม่เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปโทษใคร ที่จะอบรมเด็ก ๆ ให้มัน ๆ มีความรู้สึกอย่างอื่น ถือหลักเกณฑ์อย่างอื่น เช่นว่าไม่ต้องกลัวจิ้งจก ตุ๊กแก ไส้เดือน อะไรเหล่านี้ หรือว่าไม่ต้องละโมบโลภลาภ ไม่ต้องอิจฉาริษยา แต่ให้มีความเมตตากรุณา เห็นแก่ตัวน้อย เห็นแก่ผู้อื่นมาก
นี่ไม่ได้สอนกันนี่ มันสอนโดยไม่รู้สึกตัว โดยบังเอิญบ้าง โดยไม่รู้สึกตัวบ้าง ไม่เจตนาบ้าง ที่สิ่ง เอ่อ, ผู้ที่แวดล้อมอยู่ บิดามารดา ใครทั้งหลาย มันก็สอนไปโดยไม่ได้เจตนาจะให้ลูกเลว แต่มันสอนไปในทางให้มีตัวกู-ของกูทั้งนั้น
เรื่องนี้ผมก็คิดไม่ออกว่า ทำไมมัน ๆ จึง ๆ แก้ไขไม่ได้ หรือว่าเราจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในบ้านเรือนกันเสียสักทีจะได้ไหม พอเด็กคลอดออกมาก็ ไอ้คนทั้งหลายก็รู้จักแวดล้อมอบรมสั่งสอน อย่าให้มันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูนี่ แต่แล้วมันก็มาจนปัญญา มันไม่ได้ เพราะว่าคนทั้งหลายเหล่านั้น มันมีตัวกู-ของกูเสียแล้วนี่
แล้วคิดดูเถิด จะเอาไอ้ เอาบิดามารดาพี่น้องแวดล้อมที่ไม่มีตัวกู-ของกูมาแต่ไหน จะมาแวดล้อมไอ้เด็ก ๆ เพิ่งคลอด ให้มันได้ยินได้ฟัง ได้รู้สึกคิดนึกไป แต่ในทางที่ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู มันหาอาจารย์ไม่ได้ ทุกคนมันเป็นอาจารย์แต่ที่จะให้เกิดตัวกู-ของกูทั้งนั้นแหละ ไม่เท่าไรมันก็มีแม่ของกู พ่อของกู พี่ของกู น้องของกู เงินของกู บ้านของกู โตขึ้นก็รู้จักทะเลาะวิวาทกันกับเด็กข้างบ้าน ล้วนแต่เป็นตัวกู-ของกูกันทั้งสองฝ่าย
คล้าย ๆ กับว่าธรรมชาติสร้างมาให้เผชิญกับความทุกข์กันเสียก่อน แล้วค่อยไปรู้สึกและแก้ไขกันภายหลัง คือมันถึงกับว่า ถ้ามันไม่มีความรู้สึกอันนี้แล้ว มันก็จะไม่มีการสืบพันธุ์หรือไม่มีการรักษาระวังชีวิตให้รอดอยู่ได้ ก็เลยเอามีการสืบพันธุ์ มีการชีวิตรอดมาได้ ด้วยความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว เป็นตัวกู-ของกู
ทีนี้ต่อมาก็รู้ว่า เอ้า, นี่เป็นความทุกข์ ก็คิดกันใหม่ในทางที่จะให้ตัวกู-ของกู มันลดลง ๆ ๆ จนหมดสิ้นไป ถึงจุดปลายทางที่เรียกว่านิพพาน มีพระบาลีว่า อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ เคยได้ยินแล้วกันโดยมาก การนำออกเสียได้ซึ่งความสำคัญว่าเรา ว่าตัวกูนั่นแหละ อสฺมิมานสฺ ว่าเราอยู่ เรา ตัวเราอยู่ ตัวกูอยู่ ตัวกูมีอยู่ ถ้านำความสำคัญว่าตัวกูมีอยู่นี่ออกไปเสียได้ เอตํ เว ปรมํ สุขํ นั่นน่ะคือความสุขอันยิ่งอย่างยิ่งเว้ย เว เว้ย
แม้ว่าเอา ๆ ตัวกู-ของกูออกไปไม่ได้โดยเด็ดขาด มันก็มีความสุขอย่างยิ่งเท่าที่ก็ยังไม่เด็ดขาด ออกได้เท่าไร มันก็มีความสุขเท่านั้น มันจะกลับมาอีก ก็เป็นทุกข์อีก แต่เมื่อมันยังไม่กลับมา มันก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้นเราไปสังเกตดูตัวเราเอง เวลาอะไรจิตใจมันว่างไปจากไอ้ความรู้สึกชนิดนี้ เวลานั้นก็สบายดี เช่นเวลานี้มันกำลังสบายอยู่เหมือนกัน เพราะไอ้ตัวกู-ของกูไม่ได้เกิดขึ้นรบกวน ไม่มั่นหมายอะไร
นี่ก็ขอฝากไว้ทุกคน ไปสังเกตดูเองว่า เวลาไหนเรารู้สึกสบายที่สุด จิตใจไม่มีความทุกข์เลย ก็คือเวลามันว่างจากตัวกู-ของกู จะไปนั่งเล่นอยู่ที่ตรงไหนก็ได้ หรือจะไปในที่ที่มันเวิ้งว้างไปหมด ไม่ชวนให้เกิดรู้สึกเป็นตัวกู-ของกูเลยอย่างนี้ มันก็สบายมาก อย่างเราไปที่ทะเล ไปที่ยอดภูเขา ไปที่อย่างนั้น สิ่งแวดล้อมมันดึงไปหมด ให้ว่างจากตัวกู-ของกู เราจึงรู้สึกสบาย รู้สึกแปลกประหลาด
ทีนี้อีกทางหนึ่ง พอมันมีอารมณ์มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กายของตนนี้ ความคิดปรุงไปในทางเป็นตัวกู-ของกู มันก็เป็นไฟขึ้นมาข้างใน แล้วไม่ เอ่อ, ไม่ได้อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย อาศัยใจล้วน ๆ มันก็คิดนึกไปได้ จนมีความทุกข์ได้เหมือนกัน ในที่สุดแต่ว่ากลางคืนจะนอนแล้ว จิตมันหวนระลึกไปถึงอะไรเข้า เป็นเรื่องในอดีตนู่น มันก็เอามาปรุงเป็นตัวกู-ของกู จนมีความทุกข์ได้ นี้จึงเรียกว่ามันไม่จำกัด แม้แต่อนาคต มันก็ไปดึงมาได้ ไปคิดล่วงหน้าจนเกิดเป็นทุกข์ในจิตใจได้นี่ มันมาเป็นตัวกู-ของกูได้ทั้งนั้น
ทีนี้เราก็ศึกษาพระพุทธศาสนา รู้เรื่องนี้ รู้โดยหลักทั่ว ๆ ไป และก็รู้เฉพาะหลักที่จะประพฤติปฏิบัติ ก็ประพฤติปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติได้จริง ไอ้ตัวกู-ของกู มันก็เบาบางไปได้จริงเหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาหรือหลักธรรมทั้งหลายนั้น พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสขึ้นโดยอาศัยสิ่ง ๆ นี้ ไม่ใช่บัญญัติเพ้อ ๆ ไป ว่า ๆ ๆ ๆ ไป ให้มันหมด ให้มันครบ ๆ ทุกอย่างจะบัญญัติขึ้น อาศัยสิ่งนี้ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวกู-ของกู จนเกิดกิเลสนานาชนิดและเป็นทุกข์ขึ้นมา
ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติพระธรรมคำสอน ที่เรียกว่าหลักธรรมะ ถูกต้องแล้ว ต้องได้รับประโยชน์แน่นอน คือบรรเทาหรือว่าทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูได้ เอ่อ, ระดับใดระดับหนึ่ง ธรรมะเป็นอย่างนี้ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมะที่เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์นี้ เป็นไปเพื่อความวิมุตติหลุดพ้น จากการผูกพันอยู่ด้วยตัวกู-ของกู
ดังนั้นความทุกข์มันอยู่ที่ความผูกพันอยู่ที่ตัวกู-ของกู ไอ้หลุดพ้น มันก็ออกไปจากตัวกู-ของกู อย่างนี้มันแน่นอนกว่าที่ว่าเราจะคิดนึกเอาเอง หรือปล่อยให้มันเป็นไปเอง ถ้าปล่อยให้เป็นไปเอง มันจะเป็นไปในทางที่มีตัวกู-ของกู มากกว่าที่จะเกิดความรู้แจ้งในการทำลายตัวกู-ของกูเสีย
เว้นไว้แต่เราจะฉลาดพอที่ว่า จะสังเกตไว้ทุกทีว่า ถ้าความคิดอย่างนี้มาทุกที แล้วเป็นความทุกข์ทุกที หลาย ๆ ครั้งหลายหนจนเข้าใจดี จนไม่กล้าปล่อยให้เกิดความคิดอย่างนั้น อย่างนี้ก็คล้าย ๆ ว่าตรัสรู้เอาเอง มันก็ได้บ้าง แต่มันไม่ถึงที่สุดหรอก เพราะมันเรื่องมันลึกมันยากกว่านั้น
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องอาศัยพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ ๆ กล่าวไว้หมดจดสิ้นเชิง ถูกต้องสมบูรณ์ แล้วก็แสดงไว้อย่างที่สังเกตเห็นได้ ไม่ต้องงมงาย ใครเห็นได้ ก็จะเกิดความรู้สึกอยากจะทำ อยากจะปฏิบัติ
นี่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น สฺวากฺขาโต สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วนี้ คือว่าเพื่อทำลายไอ้สิ่งเหล่านี้ ใครศึกษาเข้าก็จะมองเห็นจริง ปฏิบัติเข้าก็ยิ่งเห็นจริง ก็เป็นเรื่องทำลายตัวกู-ของกูไปตามลำดับ ที่ว่า สฺวากฺขาโต หรือ สุอกฺขาโต สุอกฺขาโต นั้นน่ะคือกล่าวไว้ดี กล่าวไว้ถูกต้อง กล่าวไว้ในลักษณะที่ว่า ไปปฏิบัติตามเข้าแล้วก็ดับทุกข์ได้จริง
ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ทุกเรื่องมันรวมจุดนิวเคลียสศูนย์กลางอะไรก็ตามอยู่ที่เรื่องตัวกู-ของกู ออกไปทางนี้ก็เป็นทุกข์ ออกไปในทางตรงกันข้ามก็จะดับทุกข์ ทุกข์อยู่ที่มีตัวกู-ของกู ดับทุกข์อยู่ที่ดับตัวกู-ของกู มันก็เลยไม่ต้องมีอะไรที่ว่า ไม่เกี่ยวกันกับตัวกู-ของกู มันเกี่ยวไม่โดย ๆ ทางบวกก็ทางลบ มันเกี่ยว
ดังนั้นเราเรียกเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวกู-ของกูนี้ว่าธรรมปาฏิโมกข์ พูดกันในแง่นั้น พูดกันในแง่นี้ให้ละเอียดออกไป ดูเหมือนจะสักสามสี่ปีแล้วกระมัง ยังไม่จบ แล้วพูดได้ไม่มีจบ เพราะเหตุว่าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ของพระไตรปิฎก มันเรื่องตัวกู-ของกูนี่ ในข้อหนึ่งหรือธรรมขันธ์หนึ่ง ก็ยังพูดได้หลายแง่หลายมุมอีก แล้วมันยังมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เพียงเท่านี้ก็พูดจนตายยังไม่จบ ๘๔,๐๐๐ ครั้งนี้
นี่บาง เอ่อ, คน นี่องค์ นี่ ๆ แหละคือข้อที่เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ คือบางองค์สนใจอยากจะทราบว่าธรรมปาฏิโมกข์นี้คืออะไร ธรรมปาฏิโมกข์มันก็คือคำสอนคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกู นี่เพราะเหตุไรจึงต้องพูดกันเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา และถ้ารู้เรื่องนี้แล้วจะได้อะไรขึ้นมา ก็ได้ความรู้ที่จะดับทุกข์ หรือทำให้ดับทุกข์ได้โดยวิธีใด ก็ปฏิบัติไป ๆ ตามความรู้นั้นอย่างถูกต้อง แล้วมันก็ได้ความดับทุกข์ คือดับตัวกู-ของกูเสียได้ นี่คือศีลธรรมด้วย ปรมัตถธรรมด้วย คืออะไรธรรมก็ตามเถิด ที่มันเกี่ยวกับเรื่องตัวกู-ของกูในพุทธศาสนา
เดี๋ยวนี้มีปัญหาในชั้นศีลธรรมมากเหลือเกิน เต็มไปทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งประเทศ หรือทั้งโลก คือข้อที่แต่ละคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกู-ของกู แล้วก็เห็นแคบเข้ามาเป็นตัวกู-ของกู จนไม่เห็นของผู้อื่น ไม่เห็นของประเทศชาติ
เมื่อสองสามวันนี้ก็มีข่าวหนังสือพิมพ์ที่ว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัย Lucknow ในประเทศอินเดีย เผามหาวิทยาลัยเสียเองเลย นี่พวกคุณก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ไปคิดดูเถิดว่าทำไมมันทำได้ มหาวิทยาลัยของตัวแท้ ๆ ซึ่งเล่าเรียนอยู่แท้ ๆ เลย พอตัวกู-ของกูมันบ้าจัดขึ้นมา มันเผาเสียแล้ว เผาประชดรัฐบาล ประชดไอ้ใครก็ตามใจ ในเมืองไทยก็มี ไอ้เรื่องอย่างนี้
ไอ้ที่ต่ำกว่านี้ ก็ดูอันธพาลตาม ๆ ถนนหนทาง เต็มไปทุกหนทุกแห่ง จนเดี๋ยวนี้หนังสือพิมพ์นี้ไม่ต้องลงเรื่องอะไรกันแล้ว หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดแล้วก็ จะยิ่งลงเรื่องไอ้พิษสงอันร้ายกาจของตัวกู-ของกู ไปดูเองในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย เรื่องเพศ เรื่องอนาจาร เรื่องความโกรธแค้น เรื่องยาเสพติด เรื่องอะไรต่าง ๆ นี้ก็เป็นเรื่องตัวกู-ของกูทั้งนั้น ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น
เรื่องยาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาทั้งโลกเวลานี้ มันก็เรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู คือตัวกู-ของกูชนิดที่มันโง่เกินไป บ้าเกินไป ไม่รู้จะทำอะไรแค่ตัวกู-ของกู ก็เอาไปมอบให้ยาเสพติด ตัวกูที่มันโง่ซับซ้อนกันหลายชั้นนัก เป็นอย่างนี้เอง นี่ทางศีลธรรม ก็ปัญหามันก็อยู่ที่ตัวกู-ของกู
ผมพูดสั้น ๆ อย่างนี้ คุณก็ไปแยกแยะดูได้ เอาหนังสือพิมพ์มาสักฉบับเดียวก็พอ แล้วก็ไล่ไปทีละเรื่อง ๆ ๆ สิ ที่มีรูปภาพแสดงอยู่แล้วนั่นแหละ จะพบแต่เรื่องตัวกู-ของกูชนิดที่กำลังอาละวาด คือไม่ใช่ลดลงหรือบรรเทาลง มันอาละวาดขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น จนต่อไปนี้นี่ไม่รู้ว่าบ้านเมืองมันจะอยู่กันอย่างไร หรือว่าโลกทั้งโลกนี้จะอยู่กันอย่างไร ก็อยู่กันด้วยไอ้พิษสงของตัวกู-ของกู ที่จะฆ่ากันให้วินาศไปทีละหมื่นละแสนละล้านก็ทำได้นี้ต่อไป
แต่แล้วก็ไม่มีใครสนใจ นี่ปัญหาทางศีลธรรมก็เกิดขึ้น ทางปรมัตถธรรมนั้นก็เรียกว่ามันอยู่ลึกซึ้งมาแต่เดิมแล้วแหละ ละกิเลสไม่ได้ ไปนิพพานไม่ได้ ก็เป็น ๆ ปัญหาทางปรมัตถธรรม ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้าของเราก็เรื่องตัวกู-ของกู ทั้งในส่วนคนคนหนึ่งและทั้งในส่วนสังคม และหรือว่าทั้งโลก ทั้งในส่วนผิวเผิน และทั้งในส่วนลึกซึ้ง
ทีนี้เหลือบไปดูอันสุดท้ายกันสักหน่อย ที่เวลายังเหลืออยู่บ้างนี้ คือดูสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ไอ้ศาสนานี้มันแสนจะดีทุกศาสนา มันมุ่งจะทำลายตัวกู-ของกูกันทุกศาสนา จะเป็นศาสนาของความเชื่อ หรือศาสนาของเหตุผล ศาสนาสติปัญญา อะไรก็ตาม มัน ๆ ล้วนแต่มุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัวหรือตัวกูทั้งนั้น
หรือแม้กฎหมายทั้งหลาย มันก็มุ่งหมายจะทำลายหรือสกัดกั้นไอ้ความลุกลามของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู แม้แต่ศีลธรรมในขั้นเริ่มแรกของมนุษย์ สมัยที่เริ่มแรกเป็นมนุษย์ มันก็เริ่มมีบทบัญญัติต่าง ๆ เพื่อทำลายไอ้ตัวกู-ของกู เพราะเหตุไร มันตอบได้ง่ายนิดเดียว คือว่าปัญหามันเกิดจากตัวกู-ของกู
ทีแรกมนุษย์ขโมยกันไม่เป็น ต่างคนต่างเก็บกินมาจากในป่า ต่อมาเอาเปรียบ ไปเอามาเสียคนเดียวหรือว่าต่อมาปลูกฝัง แล้วก็ขโมย การเอาเปรียบ การเบียดเบียนกัน มันมาจากตัวกู-ของกู ดังนั้นจึงแต่งตั้งศีลธรรม บทบัญญัติทั้งหลายขึ้นมาไม่ให้ทำ ว่าบาปบ้าง หรือว่าทำแล้วจะลงโทษบ้าง นี่ก็เพราะมุ่งหมายจะปราบไอ้พิษร้ายของตัวกู-ของกู ที่งอกงามขึ้นมาในหมู่มนุษย์ ต้นเหตุมาจากตัวกู-ของกู จึงได้วางกฎศีลธรรมเหล่านี้ แม้ในอันดับแรกที่สุด ก็เพื่อทำลายหรือป้องกันไอ้ตัวกู-ของกู
ถ้าคุณจะดูไอ้ศีลธรรมที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นรากฐานที่สุด ก็คือเรื่อง ศีล ๕ อย่าดูถูกไอ้ที่ว่าศีล ๕ นั้นน่ะ มันตลอดกาลเลย ตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงสุดท้ายเลยเหมือนกัน เพราะว่า ๆ มนุษย์นี่ มันยังจะต้องผิดศีล ๕ กันใน ๆ ชั้นสูง ชั้นละเอียดประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก่อนนี้มันก็ผิดอย่างโง่ ๆ เลว ๆ หรือถ้าว่ากันอีกทีหนึ่ง มันก็ว่า ต่อไปนี้มันจะผิดกันอย่างน่าเกลียดน่าชังยิ่งขึ้นไปอีก ที่แล้ว ๆ มาก็ มันไม่ค่อยน่าเกลียดน่าชัง ก็ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยตลบตะแลง
ศีล ๕ ข้อนี่เป็นเครื่องบอกแสดง ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวกู-ของกู ถ้าไม่มีตัวกู-ของกู ก็ไม่มีการรุกล้ำเบียดเบียนกันอย่างนี้ ศีล ๕ มันก็ไม่ถูกบัญญัติขึ้นมาในโลก แล้วมันเกิดตามกันขึ้นมาว่า ไอ้ตัวกู-ของกู มันแสดงพิษร้ายอะไรออกมา มนุษย์ก็ชวนกันหาทางพิจารณาแก้ไข แล้วก็บัญญัติบทบัญญัติต่าง ๆ ขึ้นมาใช้บังคับแก่มนุษย์กันเอง หรือในบางกรณี ก็แนะนำให้สังเกตดูแล้วก็ปฏิบัติเอาเอง นี่ศีลธรรมก็เกิดขึ้นอย่างนี้
ก็ดูว่าข้อที่ ๑ ปาณาติบาต ประทุษร้ายทรัพย์ อ่ะ, ประทุษร้ายชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่นสัตว์อื่น เห็นชัดทันที เห็นแก่ตัวแล้ว แล้วก็อทินนาทาน ประทุษร้ายทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เอ้า, มันก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละ กาเมสุมิจฉาจาร ประทุษร้ายของรักใคร่ดังดวงใจของผู้อื่น นี้ก็เพราะว่ามันเห็นแก่ตัวแหละ มุสาวาท เอาประโยชน์ของผู้อื่นมาด้วยวาจา นี้มันก็เห็นแก่ตัวแล้ว และข้อสุดท้ายที่ว่า สุราเมรัยนี่ ประทุษร้ายตัวเอง ประทุษร้ายความมีสติสัมปชัญญะอันถูกต้องของตัวเอง คือกินน้ำเมาเข้าไป
นี้มันมีตัวกูบ้าอีกตัวหนึ่ง มันอยากจะอร่อยด้วยความมึนเมา มันก็กินน้ำเมาเข้าไป ก็ประทุษร้ายไอ้ความดี ความปรกติดีของตัวกูธรรมดา จนหมดสิ้น มันเมาเหมือนกับบ้า นี่เรียกว่าประทุษร้ายสติสมปฤดีของตนเอง นี้มันเห็นแก่ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวหลายซ้อน หลายซับหลายซ้อน เห็นแก่ตัวกูที่เลวกว่า แล้วก็ทำลายตัวกูที่ไม่เลว หรือไม่สู้จะเลว เพราะฉะนั้นก็นับว่าพิเศษมาก ข้อที่ ๕ ไม่ทำร้ายใคร แต่ทำร้ายความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเอง ไอ้ตัวกูบ้า
แล้วลองคิดดูว่า ศีล ๕ ที่เป็นรากฐานของศีลธรรมทั้งหลาย มันมาจากตัวกู-ของกูที่อาละวาดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องวางกฎเกณฑ์ขึ้นมาป้องกันมัน จนกว่าจะสูงขึ้นไป ๆ เช่นว่าเมื่อไม่ผิดในศีลทั้ง ๕ นี้แล้ว แต่ยังมีความทุกข์อยู่นี่ เพราะมันไปยึดถืออื่นที่ยิ่งขึ้นไป ก็ต้องมีความทุกข์เพราะยึดถือ ยึดถือก็หนัก หนักก็เป็นทุกข์
ศาสนาทุกศาสนาก็ เขาสอนให้ละ ทำลาย เว้น การเกิดขึ้นแห่งตัวกู ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไม่ ๆ เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุด มันก็ได้รับธรรมะสูงสุด ไม่เห็นแก่ตัวตามธรรมดา ก็ได้รับธรรมดา ไม่เห็นแก่ตัวอย่างสูงสุดนั้น คือไม่รู้สึกว่ามีตัวเสียเลย
นี่เรื่องอนัตตา เรื่องไม่มีอหังการ ไม่มีมมังการ ไม่มีอัตตา ตัวตน ตัวคน เรา เขา นี่มันจบที่นี่ ความรู้สึกไม่ปรุงแต่งเป็นว่า มีตัวกู-ของกู มีตัวฉัน ตัวสู หรือว่ามีตัวตนอะไรก็ตาม ไม่เป็นตัวตน ไม่มีตัวตนก็แล้วกัน จะไม่เอาอะไรเป็นตัวตนอีก ก็เลยไม่มีทุกข์เลย
สรุปในบทเมื่อตะกี้ที่ว่า อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ นำออกเสียได้ซึ่งความสำคัญว่าตัวเรามีอยู่นี่ นั่นแหละเป็นสุขอย่างยิ่งเว้ย คุณจำไอ้บท ๆ ดี บทประเสริฐ ฝ่าย เอ่อ, ฝ่ายประเสริฐที่สุด ของเรื่องตัวกู-ของกูไว้อย่างนี้ คือบทนี้ ควรจะจำไว้จนตลอดชีวิตเลย พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนั้น เมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ ท่านมานั่งพิจารณาไปพิจารณามา และโพล่งออกมาเป็นคำอุทาน คือพูดกับ ๆ พระองค์เองผู้เดียวนั้นก็พูดได้
ประโยคสุดท้ายมันมีว่าอย่างนี้ อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ จำไว้ให้แม่นยำทุกตัวอักษร มันจะช่วยคุ้มครองได้ อย่าให้มันเกิดความสำคัญว่าตัวกูมีอยู่ อสฺมิ ตัวกูมีอยู่ มาน ความสำคัญ อสฺมิมาน แปลว่าความสำคัญว่าตัวเรามีอยู่ อสฺมิมานสฺส วินโย นำออกเสียได้ซึ่งความสำคัญว่าตัวเรามีอยู่ คือหลักปฏิบัติเกี่ยวกับตัวกู-ของกู
ทั้งหมดนี้เป็นปริทัศน์ รูปโครงทั้งสิ้นของธรรมปาฏิโมกข์ เกี่ยวกับตัวกู-ของกู เอามาพูดให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง ตามไอ้ความต้องการของหลายคนที่เพิ่งมาและไม่เคยฟัง ผมได้ทราบว่าอยากจะฟังก็เลยพูด นี่คือแนวสังเขปทั้งหมดของสิ่งเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ เป็นข้อความทางฝ่ายธรรมะคู่กันกับข้อความฝ่ายวินัย
ข้อความฝ่ายธรรมะหรือบอกวิธีปฏิบัติ เพื่อทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกู ที่เป็นที่ตั้งของกิเลสและความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าคุณจำได้ก็มีประโยชน์ตลอด ๆ กาลเหมือนกัน เข้าใจพุทธศาสนาในส่วนลึกได้ดีขึ้น เป็นรูปเป็นโครงที่สมบูรณ์ แม้ว่ายังไม่มีรายละเอียดนัก แต่ก็มีรายละเอียดพอสมควร เท่าที่พูดนี้ แต่รายละเอียดถี่ยิบ ค่อยไปเสาะหาศึกษากันต่อไปก็แล้วกัน
ธรรมปาฏิโมกข์ เราเอามาพูดกันทุกวันพระ ๘ ค่ำ วินัยปาฏิโมกข์มีลงกันแต่เพียงวันพระ ๘ ค่ำไม่ได้ลง แต่ธรรมปาฏิโมกข์นี้เราเอามาลง ทำเหมือนกับลง ๆ ๆ โบสถ์ แต่เป็นธรรมปาฏิโมกข์ทุกวันพระ ๘ ค่ำ เว้นแต่เหตุการณ์อย่างอื่นมาแทรกแซง ก็เว้นไปบ้างก็มีเหมือนกัน แต่ตั้งใจไว้ว่า ถ้าไม่มีอะไรแทรกแซงก็จะพูดเรื่องนี้ ธรรมปาฏิโมกข์นี่ ทุกวันพระ ๘ ค่ำ เหมือนกับลงโบสถ์ฝ่ายธรรมะกันไปเรื่อยมา
บางทีก็พูดไปไกลสุดเรื่องแง่นั้น แล้วก็มา ๆ อ้อมมาแง่นี้ก็พูดไปไกล เอ่อ, พูดแง่อื่นอีกไปไกลอย่างนี้ ผมพยายามพูดทุกแง่ทุกมุม แต่เนื่องจากว่าไม่มีคนเข้าใจ ไม่ค่อยเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีคนฟังไม่มากนัก ไอ้เรื่องนี้มันก็ช่วยไม่ได้ แม้แต่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ถ้าไม่ตรงและให้ผ่านไม่ตรง หรือไม่ไพเราะแก่การฟัง ก็ไม่ค่อยจะมีใครฟัง
แต่ผมขอยืนยันว่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้อง ๆ เผชิญกันต่อไป เรื่อย ๆ ไป จนกว่ามันจะถึงที่สุดได้ นี่ขอให้เอาไปศึกษาขยายความ ประพฤติปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนเกี่ยวกับเรื่องนี้
เอาล่ะ, ขอจบการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้