แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องตัวกูของกู ณ ที่ตรงนี้ก็คงเป็นเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ หรือธรรมปาฏิโมกข์ ก็เป็นเรื่องตัวกูของกูไปตามเดิม เราจะต้องพูดกันไปจนกว่าจะเข้าใจถึงที่สุด แล้วก็มีความลำบากกันบ้างตรงที่ว่ามีคนใหม่มา ถ้ามีมากก็ต้องตั้งต้นกันใหม่บ้างเป็นธรรมดา แต่ในที่สุดก็เป็นอันว่าเข้าใจได้มากขึ้นหรือว่าที่ลืมไปก็เข้าใจ ก็กลับมาอีก แล้วมาพิจารณาเป็นครั้งที่สองที่สามเรื่องเดียวกันนั้นก็ชัดเจนมากขึ้น ขอให้ตั้งใจฟัง ในระยะนี้ก็จะได้กล่าวไปในลักษณะที่จะชี้ให้เห็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวกูของกูนี้ ได้แก่เรื่องอะไรในคำธรรมะตามธรรมดาสามัญ เพราะคำว่าตัวกูของกูเป็นต้นนี้ หรือคำว่าจิตว่างเป็นต้นนี้ก็เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ใหม่ เพื่อความมุ่งหมายจะให้สะดวกในการศึกษาหรือการเข้าใจ แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไรในภาษาธรรมะตามธรรมดา และเมื่อได้ยินคำที่แปลกออกไปเช่นคำว่าตัวกูหรือคำว่าจิตว่างนี้ก็พาลหาเรื่องว่าเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นเองนี้ ไม่มีในพระ ไตรปิฎก เป็นต้น ที่จริงเรื่องธรรมะที่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นและความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นจะมีในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะพูดกันไปในทางไหนแง่ไหนหรือส่วนไหนจะมีในพระไตรปิฎก แต่มันมีในลักษณะที่เขาเรียกว่าลึกอยู่ในระหว่างบรรทัดมองไม่ค่อยเห็น ยกตัวอย่างเช่นคำว่าจิตว่างนี้เราจะไปพบคำว่า สุญญจิตตัง ใช้ตรงๆ อย่างนี้ในบาลีสุตตันตะของเก่า แต่มีพบคำว่า สุญญ หรือสุญญตา นี่คือความว่างนี้ทั่วไปหมด แต่ถึงอย่างนั้นก็รู้ได้โดยนัยยะ คือ โดยพฤตินัย โดยทางตัวหนังสือก็มี เช่นว่าจงดูโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมออย่างนี้ คำพูดมีเพียงเท่านี้ มีสติดูโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอนี่ ตัวหนังสือมีเพียงเท่านี้ในพระบาลี นี่เราก็ลองคิดดูต่อไปว่าเมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง แล้วจิตจะเป็นอย่างไร มันก็พอจะรู้ได้เองว่าจิตก็พลอยเป็นจิตที่ว่าง คือ ไม่รู้ไป ไม่รู้ว่าจะไปจับฉวยอะไรเอาไว้ เมื่อเห็นโลกทั้งหมดโดยความเป็นของว่างจากตัวกูของกูเสียแล้ว จิตก็เลยไม่รู้จะไปจับฉวยเอาอะไรมาไว้เป็นตัวกูของกู มันก็ว่างจากการจับฉวย อย่างนี้ก็เรียกว่า จิตว่าง ถ้าใครเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ จิตก็ว่างไปตาม หรือจะมองกันอีกทีหนึ่งว่าเรื่องความว่างมีเรื่องสุญญตา เข้าใจกันดีว่าเป็นอย่างไร นี่ถ้าความว่างนั้นมันเป็นแต่ตัวหนังสือแล้วมันอยู่กันแต่ความว่าง ไม่มาเกี่ยวข้องกันกับจิตของคนของมนุษย์นะ มันจะมีประโยชน์อะไร เรื่องความว่างหรือตัวความว่างนั้น มันจะมามีผลแก่มนุษย์อย่างไร ถ้าความว่างนั้นมิได้มาเกี่ยวข้องกับจิตของมนุษย์ คือ ไม่ได้มาเกิดการเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่ในจิตของมนุษย์ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันจะมีประโยชน์ต่อเมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ สำหรับเรื่องความว่างมี เรื่องจิตว่างมันก็ง่ายนิดเดียว คือ มาเกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ จนจิตของมนุษย์เป็นจิตที่ว่าง ที่มันเหลืออยู่แต่คนมันไม่เข้าใจคำว่า ความว่าง นี่พวกเราที่นี่ก็ฟังกันมานานนักแล้ว ถ้าไม่เข้าใจคำว่า ความว่าง คืออะไรก็นับว่าเสียเวลามากไร้ประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อพูดถึงความว่าง หรือคำว่าความว่างนี้ คนทั่วไปรู้แต่เพียงว่าคือไม่มีอะไร อย่างนี้ก็เรียกว่าคนทั่วไปไม่รู้อะไร จึงได้รู้ว่าถ้าว่างแล้วคือไม่มีอะไร ถ้าเป็นจิตก็เป็นจิตที่ไม่คิดไม่นึกอะไร นี่ก็เป็นเสียอย่างนี้ ถ้าเป็นสิ่งของก็คือไม่มีอะไร นี่คนธรรมดาเป็นอย่างนี้ นี่มันเรื่องของคนธรรมดา ความหมายธรรมดา หนังสือตามธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องสุญญตาในพุทธศาสนา ถ้าเป็นเรื่องสุญญตาในพุทธศาสนา ก็ต้องถือตามที่พระพุทธองค์ตรัสไปตามลำดับว่าไอ้โลกนี้มันว่าง คือ ทั้งหมด โลก โลกทั้งหมดนี้มันว่าง คนธรรมดาก็ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ก็เห็นอยู่นี่ว่าโลกมันมี นี่มันไม่ได้ว่าง ทีนี้ ถ้าถามว่าว่างจากอะไร ท่านก็ตอบว่า ว่าว่างจากอัตตาและว่างจากอัตตนียา คือ ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ชาวบ้านเขาฟังไม่ถูกว่าตัวตนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ก็ว่าตัวตนก็ยังไม่รู้ว่า คืออะไร อยู่ที่ไหนนี่ นี่จึงเป็นเหตุให้ต้องศึกษาว่าตัวตนคืออะไร อยู่ที่ไหน จะได้รู้ว่า โลกนี้มันว่างจากตัวตน แต่พวกเราก็ฟังกันมามากแล้วว่า ว่าตัวตนในที่นี้ก็คือ สิ่งที่ควรแก่การที่จะมั่นหมายว่าตัวตน นั่นแหละคือตัวตน สิ่งที่ควรจะมั่นหมายว่าตัวตน เขาเรียกว่าตัวตน สิ่งที่ควรมั่นหมายว่าเป็นของตนนั้นก็คือของตน ทีนี้ในที่ทั่วไปมันไม่มีอะไรที่สมควรจะมั่นหมายว่าตัวตนหรือมั่นหมายว่าของตน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โลกนี้ว่างจากตัวตนและว่างจากของตน มันก็เป็นอันว่าท่านตรัสถูกต้องแล้ว นี่คนฟัง ฟังไม่เข้าใจเอง แล้วจะไปโทษใคร ก็ต้องโทษความไม่ประสีประสาของคนฟัง แล้วก็คนที่ไม่พยายามจะฟังไม่พยายามจะเข้าใจ นี่เราก็พยายามที่จะเข้าใจไปตั้งแต่ต้นว่า ที่ว่า ที่ตรัสว่า โลกว่างจากตัวตนว่างจากของตน นั้นคืออย่างไร ขอให้ไปนั่งทำสมาธิวิปัสสนา สุดแท้แต่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจความเห็นแจ้งลงไปโดยเด็ดขาดว่าเออ มันไม่มี ส่วนใดหรือส่วนไหนที่ควรจะเรียกว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน แม้แต่ส่วนที่ใกล้ชิดอยู่กับเราที่สุด คือ ร่างกายของเรานี้ เราไม่ควรจะไปโง่ว่ามันเป็นของตน หรือว่าจิตนี่ที่มันคิดนึกอะไรได้นี่ ไม่ควรจะไปโง่ว่าจิตนี้เป็นตัวตน ให้รู้ว่าจิต สักว่าเป็นจิต เป็นเรื่องราวของจิต ประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบของมันจนเป็นความรู้สึกขึ้นมา ในสิ่งที่มีชีวิต เราเรียกกันว่าจิต แต่ว่ามันมีอะไรซ่อนเร้นหรือมันมีอะไรลึกลับจนเข้าใจไม่ได้ นึกว่าถูกสอนให้เกิดเป็นแบ่งฝ่ายเป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวตน เป็นฉันอะไรขึ้นมา มันก็ต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวตน ฉะนั้น คนทั่วไปจึงรู้สึกว่าจิตนั่นแหละที่คิดนึกได้นั่นแหละคือตัวตน เกิดมีคำเป็นภาษาบาลีแทรกเข้ามาจากอะไรที่ไหนก็ไม่รู้เช่นว่า จิตตัง อัตตานามะ จิตชื่อว่าตัวตนอย่างนี้ก็มี ถ้าว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสประโยคนี้มันก็คือหมายความว่าพวกชาวบ้านปุถุชนที่ยังโง่ๆ จำเป็นที่ต้องคิดว่าจิตนั่นแหละคือตัวตน แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าตรัสตามความหมายของท่าน คือ พุทธศาสนาที่จะสอนธรรมะอันลึกซึ้งก็ต้องไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน เช่นปฏิเสธว่า รูปังอนัตตา เวทะนาอนัตตา สัญญาอนัตตา สังขาราอนัตตา วิญญาณังอนัตตา เป็นต้น ทั้ง ๕ ส่วนนั้นก็เป็นอนัตตา ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพุทธบริษัทบางพวกดันทุรังไปว่ามันมีอื่นอีก นอกไปจาก ๕ ส่วนนี้มันยังมีอื่นอีก ไอ้ส่วนนั้นแหละเป็นอัตตา ถ้าถามว่าอะไรล่ะไอ้ส่วนที่ ๖ นั่นนะ คนพวกนี้ก็ เท่าที่ผมเคยผ่านมาแล้ว เขาอธิบายว่าจิต ไอ้รูปมันก็คือรูปละ ไอ้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่ใช่จิต เป็นอาการของจิต ยังมีสิ่งที่เรียกว่าจิตที่เป็นเจ้าของอาการทั้งสี่นั้นอีกทีหนึ่งนั้นคือตัวตน ก็เลยพวกนี้ ได้รับการล้อเลียนว่าพวกขันธ์ ๖ ทีนี้ ขันธ์ ๖ มันไม่มีในบาลี อรรถกถาไหนมันก็ไม่มีขันธ์ ๖ มันมีแต่ขันธ์ ๕ ก็เลยหาทางออกว่ามันก็ไม่ใช่ขันธ์สิ เมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน มันก็มีอะไรอันหนึ่งที่ไม่ใช่ขันธ์ นี่ก็คือตัวตน เรียกจิตบ้าง เรียกว่าจิตอมตะบ้าง เพราะว่าความคิดมันอยากจะมีตัวตนเสมอ และก็มีโอกาสที่จะอ้างบาลีแท้ๆ ที่ใครๆ ก็ยอมรับ เช่นว่า มีตนเป็นที่พึ่งแก่ตน พึ่งธรรมคือพึ่งตน พึ่งตนคือพึ่งธรรม อย่างนี้เป็นต้น ก็เลย พวกนี้ก็เป็นพวกที่มีตัวตนไป ให้มีอะไรเป็นตัวตน เพราะเราจะได้เป็นที่พึ่งแก่ตน ก็หมายความว่าจิตหรือขันธ์ที่ ๖ ก็ไปถึงจิตอีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าจิตดั้งเดิม ใช้ชื่อว่า อธิจิต หรือพุทธ หรือ อธิพุทธ พอพูดไปอย่างนี้ก็หมายความว่าไปลากเอาของพวกฮินดูมา มีอะไรก็ไม่รู้ที่เป็นของดั้งเดิม ของพวกฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายฮินดูที่เขามีอยู่ก่อน คือ สิ่งที่เขาเรียกว่า อาตมัน หรือ ปรมาตมัน นั่นแหละ เพราะว่าพวกนี้เขามีเรื่องของเขาโดยเฉพาะที่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า อาตมัน เป็นสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงหรือแตกดับ แล้วมันก็มาเป็นตัวเป็นตน เพราะคำมันก็ตรงกันอยู่แล้ว อาตมัน ในภาษาสันตกฤตก็คือ อัตตา ตัวตนในภาษาบาลี อันนี้มาเวียนว่ายตายเกิด และอะไร อะไร ก็เป็นของไอ้อาตมันนี่ทั้งนั้น ถ้าสมมติจะมีขันธ์ ๕ ก็เป็นขันธ์ ๕ของอาตมันนี้ เขาก็เลยมีสิ่งที่จะเป็นสิ่งที่หก พวกที่จะยึดให้พุทธศาสนามีตัวตน ก็เอาไป เอาสิ่งที่หกที่คล้ายๆ กันนี้มา เลยมีตัวตน นี่เราก็ไม่ถียงกันในข้อนั้น แต่เราเถียงกันว่า ถ้ายังมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนแล้วมันมีความทุกข์ใช่หรือไม่ เขาก็มีทางออกที่เก่ง เก่งเหมือนกัน คือว่า ไอ้ตัวตนอย่างใน ในโลกียธรรม ในสังขตธรรม เช่น ขันธ์นี่ถ้าไปมีตัวตนเข้า มันก็เป็นทุกข์สิ แต่ถ้าไปมีตัวตนในอาตมัน หรือว่าในสิ่งที่ตรงกันข้าม หรือที่เรียกว่าจิตอมตะ แล้วเป็นตัวตนได้โดยไม่ต้องมีทุกข์สิ มันก็เลยเถียงกันไม่ได้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เอาว่าสิ่งนั้นไปยึดมั่นถือมั่นตัวตนเข้าก็ไม่ ไม่เป็นทุกข์ หรือถ้าเขาอาจจะไม่ใช้คำว่ายึดมั่นถือมั่นก็ได้ เพียงแต่ว่ามีสิ่งนั้นอยู่ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ให้จิตเข้าถึงสิ่งนั้นแล้วจิตก็ไม่เป็นทุกข์ จิตเข้าถึงตัวตนที่แท้จริง ถึงปรมาตมัน อันถาวรเป็นอนันตะ ตอนนี้พิสูจน์กันไม่ได้ทั้งผู้พูดทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเข้าถึง ก็เลยเป็นเรื่องพูด
ทีนี้เดี๋ยวนี้เราเป็นพุทธบริษัท เราก็ยังคงถือหลักว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา อยู่นั่นแหละ สิ่งหรือธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา จะเป็นสังขตะ หรือเป็น อสังขตะ ไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่าตัวตน นั้นถ้าจะมีจิตอมตะอะไรเข้ามาก็เป็นอสังขตะ ก็เป็นธรรม ธรรมชาติอันหนึ่ง ก็คงจัดไว้เป็นพวกที่ว่าไม่ใช่ตัวตน นี่ต้องการจะขจัดไอ้ความรู้สึกว่าตัวตนให้มันหมด ไม่ให้มี ไม่ให้มีที่เกาะที่อาศัย เพื่อจิตจะได้ว่างโดยเด็ดขาดจากความรู้สึกว่าตัวตนในสิ่งใดก็ตาม แม้ที่สุดแต่ในนิพพาน ไม่ ไม่ ไม่ให้ถือนิพพานโดยความเป็นนิพพาน คือ จะไม่ยึดถือนิพพานโดยความเป็นตัวตนของนิพพานเอง แล้วก็ไม่ยึดถือว่านิพพานมีอยู่ในตน มีตนอยู่ในนิพพานนี่ด้วย ก็แปลว่าจิตนี่เกลี้ยงเกลาไปหมดจากสิ่งที่มีความหมายเป็นตัวตนก็เรียกว่า จิตว่าง แล้วก็ไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีอะไรจะเป็นต้นเหตุ เป็นรากเหง้า เป็นไอ้สมุฏฐานให้เป็นทุกข์ได้ นี่เรามุ่งหมายแต่เพียงว่าจะไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่เป็นตัวตนในความรู้สึกทั้งนั้น ถ้าเราจะเป็นพุทธบริษัทกันจริงๆ ก็ต้องศึกษาในแง่นี้ อย่าไปศึกษาในทางที่จะค้านว่าจะให้มีอะไรเหลืออยู่อีกสิ่งหนึ่งเพื่อจะเป็นตัวตน เช่นอย่างว่าจะมีพุทธบริษัทสัปดนขึ้นมาสักคนหนึ่ง เมื่อได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสว่า จงมีสติมองเห็นโลกโดย โดยความเป็นของว่าง คือ ว่างจากตัวตนนะ ไอ้คนคนนั้นก็จะแย้งขึ้นว่าถ้าอย่างนั้นก็มีสติมองเห็นสิ่งที่ไม่ใช่โลกสิ มันจะได้ไม่ว่าง มันจะได้เป็นตัวตน ถ้าสอนให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง คือ ไม่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน ก็ไปมองอื่นที่ไม่ใช่โลก โดยความเป็นตัวตนขึ้นมาอีก อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเถียงกันโดยวิธีของวิธีพูด วิธีคิดที่เรียกว่าตรรกะ มีเหตุผลที่แอบอิงกันอยู่ในถ้อยคำที่ฟัดไปฟัดมา ถ้าว่าโลกเป็นของว่าง ไอ้สิ่งที่มิใช่โลก ก็ต้องไม่ใช่ ไม่ใช่ของว่าง มันของมีอยู่ ก็เลยให้ตัวตนขึ้นมาได้ ถ้ายังมัว มัวฟัดกันอยู่ด้วยเรื่องของตรรกะอย่างนี้มันก็เป็นปรัชญา ก็เลยไม่เป็นศาสนา เลยไม่ดับทุกข์ เป็นเรื่องปากพูด
เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาที่จะต้องแก้เพียงว่า เมื่อมันเป็นทุกข์เราก็ต้องแก้ต้นเหตุแห่งความทุกข์ เมื่อเห็นว่าไอ้การมั่นหมายสิ่งใด โดยความเป็นตัวตนนี่เป็นทุกข์ ก็แก้สิ่งนี้เสียอย่าให้ได้มั่นหมายสิ่งใด โดยความเป็นตัวตน อะไรก็ตามไม่มีที่จะต้อง ที่จะเป็นตัวตนได้ ก็เลยเรียกว่าว่าง จากความหมายแห่งตัวตนหรือความหมายแห่งของตน ที่จริงก็ทำให้ว่างจากตัวตนได้ก็พอแล้ว ตัวตนว่างแล้ว ของตนมันก็ว่างตามไปเอง ไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าปฏิบัติตรงๆ ปฏิบัติเพื่อทำลายความมั่นหมายว่าตนเสีย ของตนก็พลอยหมดไป แต่ถ้าจะสอนลูกเด็กๆ เล็กๆ คน คนธรรมดาสามัญออก ขึ้นไปจากข้างล่าง ก็อาจจะต้องแนะให้ละของตนให้ง่ายๆ เร็วๆ ไอ้ของตนที่เลวๆ น่ะละเสีย เหลือแต่ตน ของตนที่ดีหรือว่าตัวตนที่ดีเสียก่อน อย่างนี้มันก็พูดได้เหมือนกันว่าสอนให้ละของตนไปก่อน แล้วจึงไปละตัวตน แต่ถ้าเป็นการพูดโดยปรมัตถ์ โดยความจริงทางปรมัตถ์ นั่นมันก็ต้องละตัวตน ของตนมันก็ล่วงไปเองมัน มันหายไปเอง ก็ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาเพื่อจะละตัวตน
ทีนี้เราไม่ใช่เรื่องปรัชญาเพ้อเจ้อ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาแท้ๆ มันไปอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์ คือ มองเห็นได้ชัดเจน ว่าความรู้สึก ว่าตัวตน ว่าตัวกูก็ตาม มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็ศึกษาจากจิตใจโดยตรง ความคิดมันเกิดขึ้นอย่างนั้น อย่างนั้น เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้วมากมาย ซึ่งไม่ค่อยสนใจกัน ซึ่งผมรู้สึกรำคาญ หรือจะเรียกว่าเบื่อหน่ายก็ได้ที่ว่าพูดเรื่องขันธ์ ๕ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ มักจะอวดหรือเหมาว่าเอาเสียว่าเรารู้แล้วทั้งนั้น มันจึงไม่รู้เรื่องตัวตนว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่รู้จักแยกไอ้ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ออกไปจากอุปาทานขันธ์ ๕ ขันธ์กับอุปาทานขันธ์ต่างกันอย่างไร ยังไม่เข้าใจ บางทีก็พูดได้แต่ตามตัวหนังสือ ถ้าไม่มองเห็นชัดเจนว่า ความรู้สึกอย่างนี้เป็นขันธ์เฉยๆ ความรู้สึกอย่างนี้เป็นอุปาทานขันธ์ แล้วคนนั้นไม่มีทางที่จะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตน ที่เป็นพียงความเข้าใจผิดความสำคัญมั่นหมายผิด ด้วยอำนาจของอวิชชา อุปาทาน มันเป็นเพียงความรู้สึกว่าตัวตน ส่วนความแน่ใจที่ว่ามันจะต้องมีตัวตนอยู่สักอย่างหนึ่ง เพราะว่าเราก็มีพูดกันมาเรื่อยตั้งแต่เราเป็นเด็กเพิ่งคลอดออกมาจะได้ยินคำว่าตัวตน ไอ้ตัวตนจะต้องมีสักอย่างหนึ่งแน่ ไม่ยอมว่าที่จะให้ไม่มีตัวตนเสียเลย นี่ นี่เป็นทางไปของคนอีกพวกหนึ่ง ซึ่งจะไปหาตัวตนอะไรให้มันพบไปจนได้ เกิดลัทธิที่ว่ามีตัวมีตนขึ้นมาในโลกนี้ได้ เป็นฝ่ายมีตัวตน ที่เรียกว่าอสุญญวาท ก็ได้ คือว่า ไม่ว่าง พวกนี้ไม่ว่างต้องมีตัวตน และสิ่งนั้นก็เป็นของที่ไม่มีอะไรแบ่งแยกมันได้ ก็เป็นอวิภัชชวาท คือถือว่ามีสิ่งสิ่งหนึ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ อันนั้นเป็นตัวตน ในทางพุทธศาสนานี่มองเห็นแต่ว่าคำว่าตัวตน ความหมายของตัวตน ความรู้สึกตัวตนนี้ มันประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกคิดนึกที่เราเรียกว่าสัมปยุตตธรรม ต่างๆที่จิตปรุงกันขึ้นมา เป็นความรู้สึกว่าตน นั้นสิ่งนี้ถ้าแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ แล้วหายไปหมดไม่มีตัวตน แล้วก็ว่างจากตัวตน การพูดอย่างนี้เขาเรียกว่าสุญญวาท คือ การกล่าวว่ามันว่างจากตัวตน หรือเรียกว่าวิภัชชวาท ก็เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้นมัน แยกได้ แยกได้ แยกได้ แยกออกไปจนหายไปเลย จนว่างไปเลย ทีนี้เราจะมามัวเถียงกันว่าเอาอย่างไหนดี อย่างไหนถูก มันก็คงจะเสียเวลาเปล่า แต่ถ้าจะมาเถียงกันว่าอย่างไหนจะดับทุกข์ได้จริงและได้เร็วนี่ ก็พอจะมองเห็นได้เข้าใจได้ ก็เลือกเอาอันนั้น มันก็เลยมาสู่ไอ้หลักพุทธศาสนาแท้ๆ ที่เรียกว่า ว่าง แล้วอะไรก็ตามประกอบขึ้นด้วย เหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง แล้วก็ เป็นของที่แบ่งแยกได้ก็หาตัวตนอันแท้จริงไม่ได้ ถึงแม้สิ่งที่เป็นของตรงกันข้ามเช่นพวก อสังขตะ ก็เรียกว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างเดียวกันแหละ ไม่ใช่ตัวตนอีกเหมือนกัน นี่เป็นเหตุให้เกิดประโยคที่เป็นหลักขึ้นมาว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อพูดถึง อนิจจัง ทุกขัง ก็พูดแต่เพียงว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา แต่พอมาถึงอนัตตา กลับใช้คำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา พวกที่ยังดันทุรังเขาก็ไม่ยอมเชื่อ และยังมีบางพวกเปลี่ยนคำว่า สัพเพ ธัมมา นี่เป็น สัพเพ สังขารา ไปเสียก็มี ผมเคยผ่านสายตา ไอ้คำที่เขาเปลี่ยนเป็น สัพเพ สังขารา อนัตตา ก็มี ก็มีบางพวก ขึ้นธัมมาล้วนเลย สัพเพ ธัมมา อนิจจา สัพเพ ธัมมา ทุกขา สัพเพ ธัมมา อนัตตา นี้ก็มี แต่มันเป็นพวกเล็กพวกน้อย มันไม่ค่อยมาปรากฏในสายตาของเรา เป็นเรื่องที่เขาอยากจะถือ ก็แค่ตัวหนังสือ จะคิดกันอย่างไรก็ไม่ทราบ
ทีนี้บางพวกก็ฉลาดจนถึงกลับว่าไม่ใช้คำว่าอะไร ไม่ใช้คำว่าสังขาราหรือธัมมา ใช้คำ สัพพัง เฉยๆ สัพพัง อนิจจัง สัพพัง ทุกขัง สัพพัง อนัตตา นี่มาอย่างฉลาดที่สุด จนอธิบายยากว่าสัพพังของอะไร สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งทั่งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็ไม่ค่อยแน่นักว่าสัพพังเขาจะไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ ก็ทุกอย่าง ทุกอย่าง ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ทุกอย่างเป็นอนัตตา ก็ไปในรูปของปรัชญาเพ้อเจ้ออีกไม่มีที่สิ้นสุด ก็เหลืออยู่แต่ที่จะสิ้นสุดได้โดยง่ายก็คือว่า ถ้าความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันเป็นทุกข์ อย่าให้ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นทุกข์ คือว่าอย่าให้ความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู เกิดขึ้นแล้วมันไม่มีความทุกข์ นั้นจึงสนใจกันแต่ที่จะศึกษาแล้วก็ปฏิบัติให้ได้ อย่าให้ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู หรือตัวตน ของตน ปรุงขึ้นมาในจิต นี่ก็คือเรื่องทั้งหมดที่พูดมาหลายครั้งหลายสิบครั้งมาก ให้มีสติควบคุมพฤติ การเป็นไปต่างๆ ของจิตนี่อย่าให้เกิดเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา ให้เป็นแต่เพียงขันธ์เฉยๆ เมื่อเป็นขันธ์เฉยๆ ก็หมายความว่ามีสติปัญญา และก็รู้จักทำอะไรไปทุกอย่างตามที่ควรจะทำ คือจะหากิน จะทำการทำงาน จะหากิน จะกิน จะนอนอะไรก็ตามทุกอย่างทำได้ ก็โดยปราศจากไอ้ความปรุงแต่งของจิต ที่เป็นความหมายเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ก็เราอยู่ได้เป็นสุขสบายที่สุดด้วยขันธ์ล้วนๆ ไม่มีความหมายของอุปาทานเข้าไปประกอบอยู่ด้วย นี่เรียกว่าขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่มีความทุกข์ แต่ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ของคนธรรมดานี่เผลอเข้ามันเป็นอุปาทานขันธ์ได้ นั้นต้องมีวิธีปฏิบัติสักอย่างหนึ่ง จนกระทั่งว่าแม้อย่างไรๆ ก็ไม่เกิดเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมาได้ นี่ฝึก ฝึกฝนถึงที่สุดแล้วไอ้ขันธ์ ๕ นี้มันก็กลายเป็น วิสุทธิขันธ์ คือ ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ นี่เป็น วิสุทธิขันธ์ คือ เป็นขันธ์ที่ไม่มีทางที่จะกลายเป็นอุปาทานขันธ์ได้ ของปุถุชนคนธรรมดาเรา มันก็เป็นขันธ์ ๕ ล้วนๆ อยู่ แต่มันจะเรียกว่า วิสุทธิขันธ์ ไม่ได้ เพราะมันอาจจะเปลี่ยนเป็นอุปาทานขันธ์ได้อยู่ อย่างมากก็จะเรียก ขันธ์ ล้วนๆ คือ สุทธ สุทธ สุทธขันธ์ ขันธ์ล้วนๆ ไม่ใช้คำว่า วิสุทธขันธ์ ถ้าของพระอรหันต์เราจึงจะใช้คำว่าวิสุทธขันธ์ ของคนที่ยังธรรมดาสามัญบางเวลาว่างจากตัวตนของตนก็จะเรียกได้เวลานั้นเป็น สุทธขันธ์ คือ ขันธ์ล้วนๆอย่าใช้คำว่าบริสุทธิ์เข้าไป อยู่ในขันธ์ล้วนๆ ก็หมายความว่าไม่ใช่จะโง่หรือจะทึบ ทึมไปหมด ก็มีสติปัญญามีสติสัมปชัญญะ มีวิตก มีวิจารณ์อะไรได้ในทำนองที่ว่าไม่ ไม่เป็นไปด้วยอวิชชา อุปาทาน สมมติว่าเราจะหากิน เป็นคนชาวไร่ชาวนา เขาคิดที่จะทำอย่างไร ไปได้แต่อย่าให้มันเผลอ หรือมันโง่เลยเถิดไปเป็นเรื่องของตัวกูของกู เกิดโลกขึ้นมาเป็นการล่วงหน้า เกิดกลัวขึ้นมาเป็นการล่วงหน้า เกิดวิตกกังวลขึ้นมาเป็นการล่วงหน้า เหมือนกับว่าพระอรหันต์จะไปบิณฑบาตฉันอย่างนี้ ไม่มีความคิดประเภทที่ทำให้มีความหมายเป็นตัวตนของตน คือได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ แต่ถ้าพระปุถุชนมันก็จะมีความคิดว่าเมื่อไรจะได้ จะได้ดีดี จะได้เร็วเร็ว จะได้อร่อยอร่อย หรือบางทีเดี๋ยวนี้ถ้าจะไม่ได้เสียแล้ว จิตมันน้อมไปในทางเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระธรรมดาสามัญ เป็นปุถุชนนี้มีสติที่ฝึกไว้ดี ควบคุมจิตด้วยดี อย่าให้จิตมันน้อมไปในลักษณะนั้น มันก็ไปบิณฑบาต หรือบางทีพิจารณา ปัจเวกขณ์ เกี่ยวกับบิณฑบาตอยู่ จนกระทั่งกลับวัด ฉันอาหารนั้นแล้วไม่เกิดความรู้สึกประเภทตัวตนก็ได้ แล้วก็ไม่มีความทุกข์ด้วย นี่ก็ไม่ใช่ ไม่ยังไม่ใช่พระอรหันต์เลย ยังไม่เป็นพระอรหันต์เลยก็ยังทำได้ แต่ว่าต้องควบคุมต้องมีสติเผลอไม่ได้ เพราะว่าไอ้ขันธ์นั้นมันยังไม่ถูกอบรมให้ดีถึงที่สุดคอยแต่จะมีตัวตน พูดถึงข้อนี้แล้วมันก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นอกเห็นใจ เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาแต่เล็กๆ มันแวดล้อมมารอบด้านให้เราเกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นของตนกันอยู่ตลอดเวลา โทษใครไม่ได้ เรื่องนี้ผมก็เคยคิดมากเหมือนกันว่าทำไมจึงตั้งต้นมาอย่างนี้ ก็เพราะว่าคนเราไม่ได้ ไม่ได้ฉลาดมาแต่ในท้องหรือไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่เมื่อยังเป็นสัตว์เดรัจฉาน มาเป็นลิง เป็นค่าง มาเป็นคนขึ้นมา มันไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่ทีแรก มันก็ไปตามความรู้สึกธรรมดาสามัญของธรรมชาติที่เขาเรียกกันว่าสัญชาตญาณ ความรู้สึกในจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาตินั่นแหละ มันก็ต้องเป็นไปในทางตัวตน นั้นความ ความรู้ของมันเอง ความรู้ในตัวมันเอง เช่น สุนัขและแมวมันก็เห็นอยู่ว่ามันมี ในบางครั้งมันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนจัด เป็นธรรมดา เมื่อมันต้องการหรือว่ามันกลัวหรือว่ามันต้องการจะสืบพันธุ์อะไรก็ตามแต่ มันเป็นตัวตนตามสัญชาตญาณได้ เรียกว่าพื้นฐานเป็นเสียอย่างนี้ เมื่อไม่มีความรู้ที่ดีกว่านี้ ไม่มีความฉลาดกว่านี้เข้ามา มันก็ต้องเป็นไปตามนี้ ฉะนั้น คนเราจึงมีความรู้สึกที่เป็นไปเองแต่ในทางที่จะมีตัวตน มันก็เป็นอย่างนั้นแรงขึ้น แรงขึ้น แรงขึ้น แรงขึ้น จนเรียกว่าเป็นอาสวะ เป็น อนุสัย เป็นความหมักหมม เคยชินอยู่ในความเคยชินนั้นว่าเป็นตัวตนของตน แป็บเดียวก็เป็นตัวตนของตนเร็วเป็นสายฟ้าแลบ นี่คือความยากที่จะมีสติห้ามกันตัวตน พูดไปพูดมาก็มาหาสติอีก สัมปชัญญะอีก เมื่อไม่มีสติ ไม่ทำสติ ไม่ควบคุมสติ มันก็หมดความเป็นภิกษุอีก มันโกรธง่ายเกินไป มันละโมบง่ายเกินไป หรือมันหลงใหลง่ายเกินไปนี่ มันก็ไม่ ไม่ ไม่มีความเป็นภิกษุ ก็เหมือนกับชาวบ้านธรรมดา ถ้าจะเป็นผู้ที่ดีกว่าชาวบ้านธรรมดา เช่น เป็นภิกษุนี้ มันก็ต้องมีสติสัมปชัญญะที่ฝึกไว้ดีกว่า ไวกว่า เก่งกว่า เฉียบแหลมกว่า จะห้ามกันในความรู้สึกประเภทตัวตนได้กว่า เช่น ในกรณีที่ชาวบ้านเขาโกรธ เขาด่า เขาฆ่ากันน่ะ บรรพชิตภิกษุจะต้อง ต้องทำให้ได้ ไม่อาจจะทำได้อย่างชนิดที่ชาวบ้านก็โกรธ บรรพ ภิกษุก็โกรธ นี่ก็ใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรที่จะแสดงความแตกต่าง เดี๋ยวนี้มันก็เป็นชาวบ้ามาหยกๆ มาบวชชั่วเดือนสองเดือนนี้ มันก็ไม่มีอะไรคุ้ม คุ้มกันได้นี่ ผ้าเหลืองล้วนๆ คุ้มกันไม่ได้ เว้นไว้แต่พวกนั้นจะเคารพในเกียรติของผ้าเหลืองอยู่ ก็ยังละอายมาก กลัวมาก ตั้งสติระวังมาก นี่ผ้าเหลืองจึงจะคุ้มกันได้ ไม่ให้เราทำอะไรเหมือนชาวบ้าน เมื่อให้ผ้ากาสายะเป็นเครื่องคุ้มกันได้ คุ้มครองได้ ก็ต้องมีสติ ให้เพียงพอ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกประเภทตัวตน ประเภทกิเลสนี้ขึ้นมา มีจิต เรียกว่าอยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับผ้ากาสายะอยู่เสมอ เรื่องนี้ก็เตือนกันอยู่เสมอนับตั้งแต่วันที่จะบวชเณร บวชพระวันแรกนี้ ให้พยายามทำจิต ให้เหมาะสมแก่การที่จะนุ่งห่มผ้ากาสายะนี้อยู่เสมอ ก็ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากเรื่องตัวกูของกู ให้มันลดน้อยลงไปกว่าชาวบ้าน กระทั่งมันน้อยลงไปอีก น้อยลงไปอีก น้อยกว่าคนธรรมดา ที่เป็นภิกษุนั้นน้อยกว่าภิกษุปุถุชน แล้วก็น้อยลงไปอีกจนกระทั่งเป็นพระอริยะเจ้า จนกระทั่งหมด หมด หมด หมดเลย ก็เป็นพระอรหันต์ นั้นภิกษุที่เป็นภิกษุแท้ จึงมีกล่าวไว้ในคาถาธรรมบทบาลีมากมาย ภิกษุ ภิกษุวรรค ก็คือ หมดกิเลสจึงจะเรียกว่าภิกษุ นอกนั้นยังไม่ใช่ภิกษุ ไปเปิดดูเองก็ได้ ธรรมบทที่เขาให้คนเรียนเพื่อสอบไล่เป็นเปรียญ ๓ ประโยค มันมีอยู่วรรคหนึ่งเรียกว่า ภิกขุวรรค ล้วนแสดงลักษณะของผู้หมดกิเลสทั้งนั้นเรียกว่าภิกษุ นี่เราถือตามนี้ได้ คือ เป็นภิกษุสมบูรณ์ นอกนั้นก็เป็นภิกษุที่ยังไม่สมบูรณ์ กระทั่งภิกษุฝึกหัด เตรียมภิกษุ เหมือนกับเตรียมทหารนั่นแหละ ก็เตรียมภิกษุ เขาก็ยังไม่ ไม่มีความหมายของคำว่าภิกษุ ก็มีตัวกูของกูมากเกินไปนัก ในระดับเดียวกับชาวบ้าน นี่เรียกกันอย่างนี้ก็ว่าเพราะมันมีตัวกูของกูมากเกินไปบ้าง ก็จิตไม่ว่างเสียเลยบ้าง จิตอัดอยู่แน่นบ้าง หรือมันเป็นปัญจุปาทานขันธ์เสียเรื่อยบ้าง เป็นปัญจุปาทานขันธ์เต็มขีดเสียเรื่อยบ้าง ไม่ค่อยจะมีเวลาเป็นขันธ์ล้วน ๆ เป็นสุทธขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ หิริโอตตัปปะ เป็นต้น มันก็มีอยู่อย่างนี้ ก็คำพูดนั่นแหละ เราฟังดูแล้วคล้าย ๆ กับว่ามันต่างกัน คนละเรื่อง คนละราว ที่จริงมันเรื่องเดียวกัน จิตไม่ว่างก็คือจิตเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ถ้าจิตว่างก็เป็นขันธ์ที่ไม่มีอุปาทาน หรือว่าเป็นตัวกู ก็คือ ปัญจุปาทานขันธ์ ไม่เป็นตัวกูก็คือเป็นสุทธขันธ์ ขันธ์ล้วนๆ นั้นขอเข้าใจให้ชัดว่าไอ้เรื่องปัญจขันธ์ กับปัญจุปาทานขันธ์นั้น คือเรื่องเดียวกันกับเรื่องจิตว่างหรือไม่ว่าง เรื่องเดียวกับจิตมีตัวกูหรือไม่มีตัวกู ทีนี้ถ้าฟัง เพียงแต่ฟังผมพูดไม่เท่าไรก็ลืมแล้ว แต่ถ้าไปทำความเข้าใจเห็นชัด ให้รู้จักว่าเมื่อใดเรียกว่าขันธ์ เมื่อใดเรียกว่าอุปาทานขันธ์ แล้วก็เปรียบเทียบกันได้อย่างนั้นเป็นตัวกู อย่างนั้นเป็นไม่มีตัวกู อย่างนั้นเป็นว่าง อย่างนั้นเรียกว่าไม่ว่าง ก็เข้าใจชัด มองเห็นชัด ไม่ลืม มันจะรอดตัวได้โดยความที่ไม่ลืม แล้วก็เข้าใจ เข้าใจแล้วแจ่มแจ้งแทงตลอดเห็นชัดก็เลยรู้สึก รู้ในความรู้สึกเลย คือ เห็นด้วยความรู้สึกเลยทีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยตา ไม่ใช่เห็นด้วยการคิดด้วยเหตุผลนะ มันเห็นชัดในความรู้สึกเลย เห็นด้วยตาคืออ่านเรื่องราว หรือฟังด้วยหูก็ตาม เรียนว่าเห็นด้วยตา แล้วคิดทบทวนด้วยเหตุผล อย่างนี้มันเห็นด้วยเหตุผล นี่มันเฟือนได้เหมือนกัน แต่ถ้าเห็นด้วยความรู้สึกอยู่ในใจ ชัดแจ้งอยู่ในใจ นี่ ไม่ ไม่ลืมไม่เลือนไม่เฟือน แล้วก็เรียกว่าเห็นจริง นั่นน่ะเรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องขันธ์ เรื่องปัญจุปาทานขันธ์ที่บรรยายไปชุดนี้ ๑๓ ครั้งน่ะผมคิดว่าพอ แต่มันก็น่าเบื่อละ ที่จะอ่านที่จะศึกษาทบทวน มันซ้ำๆ ซากๆ เว้นไว้แต่ว่าใครเกิดความสนใจและเกิดเข้าใจขึ้นมา จึงจะสนุกบ้างในการที่จะศึกษาเรื่องที่น่าเบื่ออย่างนี้ ธรรมะก็น่าเบื่อสำหรับคนที่ไม่สนใจ ก็สนุกสำหรับคนที่สนใจ เราจึงเห็นว่าบางองค์ก็ไม่สนใจ บางองค์ก็สนใจอยู่ แล้วแต่ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ สนุกหรือไม่สนุก นี่ก็เป็นอันว่าพูดเตือน พูดตักเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกในอรรถาธิบายที่เกี่ยวกับตัวกูของกู หรือว่าจิตว่างหรือจิตไม่ว่าง หรือว่าปัญจขันธ์ แล้วก็ปัญจุปาทานขันธ์ นั้นในวันนี้ก็ให้คำสามคู่นี้ไปเพื่อกันลืม เพื่อทบทวน จิตว่างหรือจิตไม่ว่าง ตัวกูหรือไม่มีตัวกู ปัญจขันธ์หรือว่าปัญจุปาทานขันธ์ สามคู่ ในที่สุดก็เป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็รู้สมุทัยว่ามันเกิดตั้งต้นขึ้นมาได้อย่างไร รู้จักอัตถังธรรมะ คือ ความดับไปของมัน จะมันจะดับไปอย่างไร ตัวกูเกิดขึ้นได้ด้วยลักษณะอย่างไร ดับไปด้วยลักษณะอย่างไร อุปาทานขันธ์เกิดขึ้นในลักษณะอย่างไร ดับไปด้วยลักษณะอย่างไร จิตที่เต็มไปด้วยตัวกูของกูมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วมันดับไปในลักษณะอย่างไร เฝ้าดูแต่เท่านี้ก็เป็นผู้ที่ทำลายอาสวะอยู่เป็นประจำ และทำให้อาสวะมันจืดจางไปอยู่เป็นประจำจนมันสิ้นไป สิ้นความเป็นอาสวะ
นี่การบรรยายเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ นี่มันกี่สิบครั้งหรือกี่ร้อยครั้งแล้วก็ไม่ทราบ มันก็ไม่อาจจะพูดเป็นเรื่องอื่นไปได้ ในฐานะที่เป็นปาฏิโมกข์ ก็จะต้องพูดเรื่องตัวตน ของตน หรือว่าไม่ ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน เรื่องอื่นไม่ใช่ปาฏิโมกข์ เป็นฝอย เป็นไอ้ส่วนประกอบก็เพียงเท่านี้ ก็แปลว่าไอ้ธรรมะทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อสิ้นไปแห่งอาสวะ คือ สิ้นไปแห่งเชื้ออันแน่นหนาของตัวกูของกู มันมีสิ่งที่ตรงกันข้ามที่ไม่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะอยู่อย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่เรียกว่า ฉันทราคะ เรามี ฉันทราคะ นี่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แล้วก็หนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะคนธรรมดาปุถุชนธรรมดาสามัญและก็จะมีฉันทราคะ เกิดขึ้นและก็หนาแน่นขึ้น เมื่อสิ้นเรื่องของไอ้ ไอ้กามราคะ มันก็ไปหาเรื่องของรูปราคะ เมื่อสิ้นเรื่องของรูปราคะก็ไปหาเรื่องของอรูปราคะ เวลาไม่พอตายเปล่า ไม่มีเรื่องของวิราคะเลย เว้นไว้แต่ว่าเขาจะมารู้เรื่องนี้เสียแต่เนิ่นๆ แล้วปฏิบัติเพื่อนำออกซึ่งฉันทราคะอยู่เสมอ ทั้งในกามและในรูป ทั้งในอรูป ฉันทราคะในกามนี่ก็ไม่ต้องอธิบายละ คนเมื่อเป็นวัยรุ่นเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมานี่มันก็มีปัญหานี้ เพราะว่าธรรมชาติมันฉลาด มันสร้างอวัยวะข้างในของคนเราให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ก็ว่าธรรมชาติมันจะเอาสัตว์นี้เป็นทาสของมันให้ทำหน้าที่สืบพันธุ์ เพราะเรื่องสืบพันธุ์มันเรื่องสนุกนี่ ถ้าไม่มีอะไรมาเป็นค่าจ้างอย่างเอร็ดอร่อยสูงสุดแล้วมันก็ไม่มีสัตว์ไหนจะสืบพันธุ์ เขาจึงเอาไอ้กามราคะนี่ไปเป็นค่าจ้าง นั้นมันเกิดขึ้นได้ในร่างกายของสัตว์นั้น คือ ธรรมชาติมันสร้างต่อม gland อะไรขั้นมาในร่างกายนั้น พอเจริญเต็มที่เกิดความรู้สึกทางเพศนี่รุนแรงเลย จึงทำการสืบพันธุ์ แล้วก็เลยได้ค่าจ้าง คือ รส อัสสาทะของกามของ เป็นปัญหาหนัก ที่เหลือที่คนธรรมดาสามัญจะจะรู้เท่ารู้ทันธรรมชาติในข้อนี้นี่ต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่เดี๋ยวนี้ก็มีคนประเภทที่เรียกว่าบ้าหนักขึ้นไปอีกนี่ คือ เขาไปถือกันเสียว่าถ้าหลีกเลี่ยงกามรา เออ กามารมณ์ หรือไม่มีความรู้สึกทางกามารมณ์ แล้วมันเป็นคนบ้าคนผิดปกติเป็น Abnormal ไม่ใช่คนธรรมดานี่ มันถือกันเสียอย่างนี้ มิหนำซ้ำว่า ส่งเสริมให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกไอ้เรื่องกามารมณ์นี่ มันจะได้เป็นคนธรรมดามากขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้เขาก็เลยสอนกันมาก หรือมีวิธีอะไรเกิดขึ้นมากเพื่อส่งเสริมกามารมณ์ ก็เลยเป็นบาปอันร้ายกาจของคนวัยรุ่นที่เกิดมาในยุคนี้ คือ ในยุคที่โลกเขาให้ส่งเสริมในเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจผิดอย่างนี้ จึงหวังยากที่ว่าไอ้คนวัยรุ่นนี้จะหมุนกลับไปอยู่ในลักษณะธรรมดาสามัญอย่างในสมัยก่อนที่เขาไม่ส่งเสริมในเรื่องนี้กันเหมือนเดี๋ยวนี้ ทีนี้หนังสือไอ้ส่งเสริมกามารมณ์อย่างลามกอนาจารนี้กลายเป็นตำราเรียนไปแล้ว นี่ด่านอันนี้จะผ่านไปได้ยาก เราจึงหวังยากว่าไอ้เด็กวัยรุ่นต่อไปที่จะมาบวชมาเรียนในพุทธศาสนานี่มันจะต่อสู้กับสิ่งนี้ได้อย่างไร
ทีนี้ยังมีเรื่อง เรื่องในฉันทราคะ ในรูป ในอรูปต่อไปอีกนะ อย่างในเรื่องเกียรติ เรื่องอันที่ไม่เกี่ยวกับกามนี้มันก็มีมาก มีเรื่องส่งเสริมให้ยึดมั่นถือมั่นกันใหญ่ก็ยิ่งยากต่อไปอีกหลายด่าน หลายด่านนักกว่าจะผ่านไปได้เลยตายเสียก่อน ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่พูดให้ท้อถอย พูดให้เห็นข้อเท็จจริง ว่ากำลังเป็นอยู่อย่างไรในโลกในเวลานี้ นี้สำหรับเราคนหนึ่งนี่เราก็มีอิสรภาพ มีเสรีภาพที่จะเลือกเอาไม่ต้องเอาเหมือนเขาก็ได้นี่ แล้วธรรมชาติก็ยังเป็นกลางและยุติธรรมอยู่ ถ้าใครต้องการจะมาทางนี้ก็ได้ธรรมชาติก็ไม่ได้กีดกันอะไร ก็ยังมีอะไรให้เหมือนเดิม ก็ถ้ามนุษย์คนไหนต้องการจะมาทางนี้มันก็มาได้ ทั้งที่ว่าคนอีกมากมายหรือแทบทั้งโลกเขาไม่มากันก็ตามใจเขา ก็จะพูดถึงว่าโลกมันกำลังเป็นโลกกามารมณ์ เป็นกามาวจรหนักขึ้นถูก มันก็จะต้องมีเรื่องรูปาวจร อรูปาวจรหนักขึ้นไปอีก นั้นมันก็อยู่ที่ความจริงใจของคนๆ หนึ่งหรือว่าเรานี่แหละมีความจริงใจอย่างไร ในที่สุดมันก็มักจะกระโจนไปตามเขา ถ้ามีข้อแก้ตัว เอ้า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้นกันแล้ว โลกกำลังเป็นอย่างนี้แล้วเราป่วยการ สึกเถอะ นี่มันก็เลยสึก ก็ไม่มีอะไรดีกว่าเดิม ก็เรียกว่าสึกประชดพระพุทธเจ้าเสียที สึกประชดธรรมะกันเสียที พวกที่เรียนเซนเขาสึกประชดเซนกันเสียที ที่แท้มันพ่ายแพ้แก่ความรู้สึกทางกามารมณ์ เอาชนะไอ้ฉันทราคะในทางกามารมณ์ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพียงแต่ว่าสึกแล้วมาป้ายความผิดให้คนนั้น คนนี้ ให้โลกสมัยนี้ให้อะไรสมัยนี้ ไม่จริง ธรรมะก็ยังมีอยู่ อิสรภาพเสรีภาพตามธรรมชาติก็ยังมีอยู่ ตามกฎหมาย ตามบ้านเมืองก็ยังมีอยู่ เสรีภาพที่ใครจะมาบวชเป็นฤๅษีก็ได้ กฎหมายมันไม่มาลากตัวออกไปไถนา แต่คนมันเหลวไหลเอง นี่ผมพูดให้หมดทุกแง่ทุกมุมก็เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกเอา มันจะน่าหัวเราะ เพราะว่าจะมารวมกองกันอยู่ที่นี่ เป็นสังคมหนึ่งอยู่ที่นี่ แล้วมันก็ยังไปไม่รอดเพราะไม่รู้ว่ามาอยู่ทำไมกัน มันก็จะน่าหัว ผมก็กำลังลังเลอยู่เหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้จะเอายังไงกันดี ก็มีคนพูดบอกกล่าวต่อ ต่อ ต่อ กันไป มาที่นี่เถอะ มาที่นี่เถอะ แม้แต่พวกฝรั่งก็มีอย่างนี้มากขึ้น แต่เราก็ไม่รู้ว่ามาทำไม เว้นไว้แต่ว่าจะมาศึกษาเรื่องนี้ และมีจิตใจเป็นอิสรเสรีภาพ ที่จะไม่เอาเหมือนเขาไม่เอาเหมือนคนอื่น ตั้งหน้าตั้งตาต่อสู้รบกันกับไอ้ตัวกูของกู นำออกเสียซึ่งฉันทราคะในกาม ในรูป ในอรูป
เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาไอ้เรื่องกามก็กามเหลือประมาณ ในรูปก็รูปเหลือประมาณ เช่น ในศิลปวัตถุโบราณวัตถุล้วนๆ นี่ฝรั่งเขาก็เป็นมากที่สุด สะสมรูปภาพรูปวัตถุ รูปศิลปวัตถุ ที่ในเรื่องอรูปมันก็เป็นมาก คือ ความทะนงถือตัว ถือเกียรติ ถืออะไรบ้าง ผิวขาวแต่เสมอด้วยผิวดำไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น มันก็รบกันไปกับเรื่องกาม แล้วก็รูป แล้วก็อรูป ตายไม่เคยพบความเป็นอิสระ โลกมันเป็นอย่างนี้อยู่ หมายความว่าพวกพวกเราที่เป็นผิวเหลืองฝ่ายตะวันออกนี้ก็กำลังเหลวไหล ฝรั่งก็ว่าจะมาศึกษาพระพุทธศาสนาก็ไม่รู้จักตัวเอง ว่าศึกษานี้เพื่อจะกำจัดความหลงชนิดนั้นน่ะ บางทีเขาจะมาศึกษาเพื่อให้มันหลงมากขึ้น เพื่อจะได้รู้มีความรู้เป็น เป็นศาสดาจารย์ที่มีความรู้สูงสุดมากมายขึ้นไปอีก ไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติ ที่ศึกษาเพื่อละกิเลสยังไม่เห็น ยังไม่ค่อยเห็น นี่พูดกว้างออกไปแล้ว นอกขอบเขตแล้วว่าโลกกำลังเป็นอยู่อย่างนี้ทั้งโลก พวกที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทก็ยัง ก็เรียกว่ามันหูหนวกตาบอดลงไป เหมือนกับเป็นเมล็ดข้าวที่ลีบไม่มีเนื้อมากขึ้น ทีนี้ฝรั่งที่ว่าจะมาหาพุทธศาสนาจากพวกนี้มันก็มาอย่างที่เรียกว่าไม่รู้จัก ไม่รู้จักตัวเอง แล้วมันจะได้อะไรไปก็ยังไม่รู้
เอาล่ะ พอกันที เราเอาเป็นว่า คนอื่นอย่างไรก็ตามใจ แต่เราคงสมัครเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเต็มอัตราอยู่เรื่อย พยายามไปให้มันเข้าถึงไอ้ความจริงข้อนี้ ถ้าสมมติว่าชาวต่างประเทศเขาจะมาขอความรู้อะไรจากเราบ้าง ก็ขอให้เขาได้ธรรมะที่จริงๆ ไปบ้าง ก็มีได้เพียงเท่านี้ ในการที่จะมาทนลำบาก กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคูอยู่นี่ เพื่อผลอันนี้ รู้จักทำตัวกูของกูให้ผอมลง ผอมลง จนหมดไป ช่วยผู้อื่นให้รู้จักทำอย่างนั้นบ้าง นี่คือธรรมปาฏิโมกข์ เรื่องตัวกูของกูมีอรรถาธิบายในแง่นี้อย่างนี้ ซึ่งมันก็ไปเกี่ยวเนื่องกันกับในแง่อื่นที่เคยอธิบายมาแล้วในวันก่อนๆ เดือนก่อนๆ ปีก่อนๆ ดึงถึงกันไปหมด เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้เห็นชัดเข้า หรือว่าชี้ให้เห็นที่มีอยู่จริงๆ ในจิตในใจมากเข้า ขอให้ไปศึกษาเรื่องขันธ์กับเรื่องปัญจุปาทานขันธ์ ให้ยิ่งไปกว่าเดิมทุกๆ องค์ด้วย จะเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น เอาล่ะพอกันที