แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกูไปตามเดิม เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็อยากจะอยากจะขอ ให้สนใจให้ลึกซึ้งพอ ถึงข้อที่ว่าเรื่องตัวกู-ของกูนี้มันเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา หรือเป็นหัวใจของพุทธศาสนา นี้จึงอยากจะย้ำในหัวข้อนี้อีกทีหนึ่งในวันนี้ว่าไอ้เรื่องตัวกู-ของกูนี้เป็นทั้งหมด ไอ้เรื่องของพระพุทธศาสนา เท่าที่ผม สังเกตเห็นผมรู้สึกว่ายังเขลากันอยู่มากยังมองข้าม ในข้อที่ไม่ทำให้ทุกเรื่องให้มารวมกันอยู่ที่เรื่องนี้ เพราะไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างคุณไม่ได้ทำงานเหมือนกับผม ผมทำงานอยู่ในลักษณะที่ว่าพวกชาวต่างประเทศ พวกนักศึกษาชาวต่างประเทศเขาจะถามถึงข้อที่อะไรเป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนานี้ จะศึกษา พระพุทธศาสนากัน อย่างไรโดยสรุป แล้วก็ด้วยการพบกันเพียงคราวเดียว ถ้าคุณไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ไม่สามารถที่จะพูดได้ เพื่อตัวเองจะศึกษา หรือเพื่อให้ผู้อื่นฟังในหมู่พุทธบริษัทกันก็ดี หรือว่าในหมู่ชนต่างศาสนาออกไป แต่เขาก็เป็นผู้มีความรู้มีสติปัญญา จนถึงกับแตกฉานในศาสนานั้นๆ ก็มีอยู่บ่อยๆที่เขาไปมาไต่ถาม จึงเป็นเหตุให้ต้องนึกคิดพิจารณาอย่างมาก เพื่อที่จะ จับใจความของเรื่องให้ได้ และพูดกันได้ในการพูดคราวเดียว มันเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนา แต่แล้วในที่สุด ก็ต้องใช้คำให้ถูกต้องให้เป็นอีกเหมือนกัน
เราต้องรู้แตกฉานพอที่ว่าในกรณีนี้ หรือพูดกันมาถึงตอนนี้แล้วจะต้องสรุปความว่าอย่างไร แต่ใจความ เหมือนกันหมด แต่คำพูดนี่จะต่างกันบ้าง พุทธศาสนาก็คือศาสนาที่สอนให้รู้ว่าไม่มีคน นี่ปฏิบัติพุทธศาสนาอย่างไร คืออย่างไรเรียกว่าพุทธบริษัทก็ได้ นี่เขาจะถามว่าอย่างไรที่เรียกว่าพุทธบริษัท หรือคริสเตียนจะเปรียบเทียบกัน พุทธบริษัทคือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อที่จะตัดเสียซึ่งความรู้สึกคิดนึกว่ามีคน มีคนคือมีเรามีเขาหรือมีตัวกู-ของกูนั่นเอง มันเป็นคำ ที่ต้องระมัดระวังมาก ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นก็ไม่ใช่พุทธบริษัทหรอก นี่แล้วเขาก็ฟังถูกง่าย ด้วยเรื่องศีลเรื่องทาน อะไรมันสอนเหมือนๆกันไปหมด คริสเตียนจะสอนอะไรก็สอนให้เผื่อแผ่ผู้อื่นให้ประพฤติสำรวมระวังกายวาจานี้ แต่พอถึงหัวใจของศาสนานั้นๆ มันก็มีความหมายไกลออกไป แล้วก็จะเรียกว่าไม่เหมือนกันก็ได้ ที่แท้มันก็เหมือนกัน แต่โดยเหตุวิธีที่จะปฏิบัตินั้นน่ะมันต่างกัน ก็เลยทำให้เข้าใจว่าต่างกัน ที่แท้ก็มุ่งหมายที่จะตัดความยึดมั่นถือมั่นเกี่ยวกับ ตัวกู-ของกูทั้งนั้น ดังนั้นไปสนใจเรื่องนี้ให้มาก จนเข้าใจเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องไม่ยึดมั่นด้วยความเป็นตัวกู-ของกู เพราะว่าเรื่องอื่นมันเป็นเรื่องพูด แม้เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องพูดถ้ายังทำไม่ได้ แต่เป็นเรื่องพูดที่ใกล้จุดเข้าไปทุกที หรือใกล้จุดจริงๆ เป็นเรื่องตรงจุด แล้วก็ปฏิบัติตรงจุด จะใช้คำอย่างอื่นมันอ้อม แต่ถ้าใช้คำว่าจะกำจัดเสียซื่งความรู้สึก คิดนึกว่าตัวตนนั้นมันก็ตรงจุด
จะอธิบายได้เพราะเราเข้าใจเรื่องนี้ แล้วเราก็ต้องปฏิบัติอยู่ มันจึงจะเข้าใจได้และอธิบายง่าย เดี๋ยวนี้มันไกล ขออภัยที่จะต้องพูดตรงๆ อย่างกันเอง นี่ว่ายังไกล เพราะไม่เข้าใจจับไม่ได้ ว่าเป็นตัวกู-ของกูเมื่อไร มันจะเป็นตัวกู ของกูเสียทุกคราวไป นี่ความหงุดหงิดโมโหมีความถือรั้นเป็นโรคของทุกคน แล้วเราก็ไม่สะดุ้งว่านี่คือตัวกิเลส ตัวตัณหาของเรา มีความโกรธหงุดหงิดเป็นตัวเขาตัวเรานี่วันหนึ่งหลายๆหน แล้วก็ไม่สะดุ้ง บางทีก็ยิ่งเป็นมากขึ้น เมื่อบวชหลายพรรษาขึ้นมันกลับยิ่งเป็นมากขึ้น นี้ก็เรียกว่าไม่ประสีประสาต่อตัวกิเลสมารร้ายคือตัวกู-ของกู และก็ ไม่มีทางที่จะกำจัดบรรเทาสิ่งเหล่านี้ นี่เขาถามพุทธศาสนาคืออะไร ก็บอกไปเป็นคุ้งเป็นแควเรื่องทางปริยัติก่อน แล้วก็เรื่องของสมาธิ วิธีอย่างนั้นวิธีอย่างโน้นลำดับอย่างนั้น ลำดับอย่างนี้มันเป็นคุ้งเป็นแคว เขาทนฟังไม่ไหว ที่จะพูดเป็นเรื่องเป็นชั่วโมงๆเป็นวันๆนี้เขาทนฟังไม่ไหว
เราก็บอกเขาโดยสรุปสั้นที่สุดว่า พุทธบริษัทคือผู้ปฏิบัติถูก เพื่อจะป้องกันหรือทำลายไอ้ความรู้สึก ที่มันอยู่ในใจในรูปที่มันเป็นตัวตนของตนคือตัวกู-ของกู ความรู้สึกนึกคิดประเภทอุปาทานที่ทำให้เกิดรู้สึกเป็นตน อย่างหนึ่ง เป็นของๆตนหรือเกี่ยวกับตนนี้อย่างหนึ่ง นี่ปฏิบัติอยู่เพื่อทำลายสิ่งเหล่านี้นั้นน่ะคือพุทธบริษัท ให้เขาเอาคำสั้นๆนี้ไปพิจารณา จะปฏิบัติเองมันจะได้ถูกต้อง และตอบคำถามเขาได้ถูกต้อง แล้วถ้ายิ่งเพื่อจะศึกษาเปรียบเทียบ แล้วก็จะยิ่งถูกต้อง แล้วก็ง่ายเร็วถ้าหากว่าไอ้คนฝ่ายนู้น ผู้ที่ถือศาสนาฝ่ายนู้น เขาก็เข้าใจศาสนาของเขาดีถึงใจความ ในฝ่ายคริสเตียนก็เหมือนกันกำลังมีปัญหาเหมือนกับที่ฝ่ายเรานี้ คือบริษัทของเขา ก็ไม่เข้าถึงตัวคริสธรรม เช่นเดียวกับ พุทธบริษัททั้งหลายก็ไม่เข้าถึงตัวพุทธธรรม ได้แต่จดทะเบียนบ้างพิธีรีตองบ้าง แม้แต่บวชแม้แต่เรียน เป็นภิกษุสามเณรนี้ มันก็ไม่เข้าถึงตัวพุทธธรรม คือไม่มีการตัดบรรเทาตัวกู-ของกู จนมีฝรั่งคนหนึ่ง เขาเกิดปัญหาขึ้นมา อย่างไหนเรียกว่าพุทธบริษัทเรียกว่าพุทธบริษัท แล้วเขาก็มีปัญหาจนไม่รู้ว่าอย่างไหน เรียกว่าคริสเตียน อย่างโรมัน คาทอลิกก็ว่าคริสเตียน อย่างโปรแตสแตนท์ก็ว่าคริสเตียน อย่างเก่าคริสออร์โธด็อก เขาก็ว่าคริสเตียน แล้วมันก็รบกัน ทำลายกันฆ่ากัน เรียกว่าเบียดเบียนกันทำลายกันโดยตรงเลย แล้วไม่รู้ใครเป็นคริสเตียน ถ้าเป็นคริสเตียนก็ไม่มีวี่แวว ที่จะฮื่อแฮ่เข้าใส่กัน อย่างพระเยซูก็เลยสอนไว้มากที่สุดเลย คือจะมีความโกรธไม่ได้ และจะทะเลาะวิวาททำลายกัน ได้อย่างไร อย่างพุทธบริษัทก็เหมือนกันน่ะมันโกรธไม่ได้ พอโกรธมันก็หมดความเป็นพุทธบริษัทอย่างใน กกจูปมสูตรที่เคยพูดให้ฟังหลายหนแล้ว โจรจับไปเลื่อย ถ้าเจ็บขึ้นมาเกิดขัดใจในโจรนั้น ก็ไม่ใช่คนของเรา คือไม่ใช่ผู้ที่ทำตามคำสั่งสอนของเรา มันโกรธไม่ได้ มันหงุดหงิดไม่ได้ มันจึงไม่มีการที่จะฮื่อแฮ่เข้าใส่กัน ในระหว่างภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา มันอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น อื่นๆมันเฟ้อทั้งนั้น ผมก็รู้สึกว่าไอ้เรื่องปริยัติ ทั้งหลายมันก็เป็นเรื่องเฟ้อ และจะเฟ้อมากเฟ้อน้อย บางทีก็เฟ้อพอดีกัน เรียกว่าสำหรับคนบางคนมันจะต้องรู้ มากหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็ดีเรื่องปริยัติก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะต้องเลิกละกันไปเสีย มันเป็นหลักที่ยืนตายตัว อยู่ต้องรู้ได้ต้องเข้าใจต้องพูดได้ ไอ้ส่วนการปฏิบัตินี่ มันมาสรุปอยู่ที่คำๆเดียว ปริยัติ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ มาสรุปอยู่ ที่ประโยคๆเดียวว่า อย่าได้เกิดความยึดมั่นหมายสิ่งใด โดยความเป็นตัวตนเป็นของตน ดังนั้นวันนี้ก็อยากจะ พูดแต่เพียงว่าชำระสะสาง ชำระสะสางไอ้ความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ และการประพฤติปฏิบัติทั้งหลายที่ทำอยู่เท่าไร ก็ตามใจ มันต้องชำระสะสาง คัดเลือกให้เหลือแต่ที่ถูกที่ตรง ให้มันชัดให้มันเด่นอยู่เสมอให้มันอยู่ใกล้มือ เปรียบเทียบ เหมือนกับว่ามีอะไรมาก ในบ้านรกรุงรังไปหมด ก็คัดเลือกแต่สิ่งที่จำเป็นจะต้องใช้ให้มันอยู่ใกล้มือ นอกนั้นมันก็ ถอยไปถอยไป แล้วก็อยู่ในซอกก้นตู้เลยก็ได้ หรือว่าหนังสือมันมีมากมายเยอะแยะหลายร้อยหลายพันเล่ม ก็คัดเลือก ให้เล่มที่มันตรงเรื่องที่สุด ให้อยู่ใกล้มือ อยู่ข้างหัวนอนอะไรทำนองนี้
ทีนี้สำหรับการปฏิบัติก็เลยจะต้องมีให้กะทัดรัด ไม่ให้พร่าไม่ให้เลือนไม่ให้พร่า ให้กะทัดรัดจนที่ว่าจะได้ โอกาสรักษาจิตใจนี้ให้มันขาวผ่องจากไอ้ตัวกู-ของกู พอตัวกู-ของกูมาก็คือดำมืดคือดำมืด พอตัวกู-ของกูหายไปคือ ขาวผ่อง สจิตฺตปริโยทปนํ สจิตฺตปริโยทปน ทำให้ขาวผ่อง ก็ระวังอย่าให้มืดขึ้นมา เพราะว่าคำว่ามืดนี้ มันตรงกันข้ามกับคำว่าพุทธะ ซื่งแปลว่าตื่น ตื่นนอน ลืมหูลืมตา ลืมตา มันไม่ใช่มืด พุทธะแปลว่า ตื่น สว่าง ลืมหูลืมตา ทีนี้ว่าตัวกู-ของกูเข้ามามันมืด มืดตื๋อ ดำปี๋ หรือว่าแม้แต่ขาวก็ขาวขุ่น มัวเป็นเมฆ เป็นหมอก หรือเป็นสำลีไปเลย มันจะเห็นอะไรได้ขาวอย่างนั้น นี่บางทีก็แสงสว่างนั่นเองบังลูกตา นี่แสงสีขาวบังลูกตา แล้วบางทีจะบังยิ่งกว่าแสงสีดำ สีดำมันเห็นง่ายใครๆก็เห็นก็รู้จัก แต่สีขาวนี้ยาก นั้นแสงสีขาวใช่ไหมที่หลอกให้เป็นตัวกู-ของกู ยกหูชูหางโดย ไม่รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ควรจะระวังไอ้แสงสีขาว แสงสว่างสีขาวคือความรู้ ที่มันไม่เข้ารูปเข้ารอย ซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับเรื่องตัวตนของตนมันฟุ้งไปหมด แล้วถ้ายิ่งบวชนานพรรษาเข้ายิ่งฟุ้ง นี่เป็นที่น่าสลดสังเวช แล้วถ้ายิ่ง นานเข้ามันกลับยิ่งมีส่วนที่เผลอเรอมากขึ้น หรือว่ามักง่ายมากขึ้น ประมาทมากขึ้น พระบวชใหม่ยังจะกลัวมีหิริ เกินไปก็ได้ ก็กลัวระมัดระวังมาก ถ้าเป็นพระบวชเก่าก็ค่อยๆกล้าๆๆ จนไม่มีอะไรเหลือ อย่างนี้ก็มีอยู่มาก ดังนั้นพวก ที่เป็นชั้นครูบาอาจารย์มักจะมีหงุดหงิดมีโทสะจริตมีอะไรที่เป็นตัวกู-ของกูรวดเร็วรุนแรง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่า เหมือนกับล้มละลาย ล้มละลายที่เรียกสิ้นเนื้อประดาตัว ที่จะต้องพูดอย่างนี้จะต้องย้ำอย่างนี้กันอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ เอาไปสังคายนาตัวเอง ศึกษาสังคายนาตัวเองเรียกว่าอย่างนั้น แล้วสรุปความอีกทีหนึ่งก็ไม่ใช่ ว่าติเตียนเรื่องปริยัติว่าไม่มีประโยชน์ แต่มันมีประโยชน์แก่บุคคลที่รู้จักบังคับตัวกู-ของกูนี้ ดังนั้นต้องเป็นเรื่องที่ว่า ควบคุมตัวกู-ของกูได้ จึงจะใช้ปริยัติให้เป็นประโยชน์ได้ ไม่อย่างนั้นปริยัติจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับยกหูชูหาง นี่พูดหยาบคายอย่างนี้ ก็เพื่อพูดกันที่ตรงนี้เร็วๆรวบรัด ลัดๆลัดสั้นๆไม่ให้เสียเวลามากระวังให้ดี ถ้าควบคุมส่วนลึกที่เป็นอัสมิมานะ เป็นอัตตวาทุปาทานอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่จะกลายเป็นเครื่องสนับสนุนส่งเสริมตัวกู-ของกูทั้งนั้น นั้นก็ยิ่งไกลจากความเป็นพุทธบริษัทยิ่งขึ้นไปทุกที แม้เป็นภิกษุแม้เป็นภิกษุสามเณร แม้เป็นอุบาสกอุบาสิกา จะยิ่งไกลไปทุกที ไอ้ความเป็นผู้อ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตัว นี้เขาจะมักจะจัดว่าเป็นเพียงศีล เป็นสีลสิกขา แต่ไปพิจารณาดูให้ดีมันไม่ใช่สีลสิกขา โดยหัวใจมันเป็นเรื่องของความหมด ความถือตัวกระด้างด้วยทิฏฐิด้วยมานะ นั่นมันไม่ใช่สีลสิกขา เป็นการหมดแห่งกิเลสชื่อนี้ หรือเบาบางของกิเลสชื่อนี้ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจ นี้ครูบาอาจารย์สมัยก่อนไม่มีพระไตรปิฏกเรียน ไม่รู้ว่ามีพระไตรปิฏกอย่างไรด้วยซ้ำไป แต่เขาสอนกันมากอบรมกันมาก เป็นนิสัยไปเสียเลย เรื่องเป็นพระเป็นเณร เป็นชาวพุทธแล้วเป็นสัตบุรุษแล้ว ก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตัว รู้จักแพ้เป็นพระ ถ้าชนะก็ถือว่าเป็นมาร ขอเพียงเท่านี้ แต่ว่ามันมีความหมายมากเหลือเกิน มีความหมายหมดทั้งพระไตรปิฎก ได้เหมือนกัน เขาไม่ได้เรียนอะไรมากเหมือนเราในสมัยนี้ ไม่รู้บาลีไม่รู้นักธรรม แต่เขามีธรรมะมากกว่าเรา ในส่วนจิตใจที่เป็นธรรมะจริง แต่พูดอะไรพูดไม่เป็นเลย ถามอะไรก็ไม่รู้ แต่มีแต่ว่าโมโหโทโสไม่ได้ แล้วคดโกงไม่ได้ แล้วก็ยกหูชูหางไม่ได้ แล้วก็รู้ไปอย่างนี้สั้นๆอย่างนี้ ดังนั้นครูบาอาจารย์ ชั้นครูบาอาจารย์ของผมก็ยังอยู่อย่างนี้ ไม่ค่อยรู้อะไรหรอก แม้แต่ปาฏิโมกข์นี่ก็ไม่รู้ว่าว่าอะไร แต่ท่องได้สวดได้ท่องได้ ไหว้พระเช้าเย็นก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ก็เหมาๆก็ว่านี่มันเรื่องพระพุทธเจ้า ก็เป็นเรื่องที่ทำให้คนละไอ้โทโสโมโห ใช้คำอย่างนี้ที่เราเรียกว่าละโลภะโทสะ โมหะ ก็พูดไม่ค่อยเป็นน่ะ ไม่รู้จักทั้ง ๓ คำ รู้จักแต่โมโหโทโส แต่ถึงยังไงก็ดีก็เรียกว่า ละหรือว่าควบคุมความรู้สึก ประเภทตัวกู-ของกูได้ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ผมไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดก็ดีที่สุด หรือว่าทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ด้วยการศึกษาเพียงเท่านั้นน่ะ เขาก็มีผู้ที่มีจิตใจดี ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นพุทธบริษัทมันมากนะ ไอ้เรื่องปริยัติที่ จะกลายเป็นงูพิษขึ้นมามันมีไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ ไม่รู้เรื่องปริยัติมากมาย จนถึงจะใช้เป็นงูพิษฆ่าตัวเอง หรือเอาเปรียบผู้อื่น เดี๋ยวนี้ยังมีทางมากขึ้น เพราะเรียนกันมาก เรียนกันแทบทุกคน กระทั่งเป็นปริญญาทางพุทธศาสนา มีส่วนที่จะเป็นงูพิษกัดตัวเองให้ตายลงไปสู่เพศที่ต่ำ หรือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับกัดผู้อื่น เอาประโยชน์จากผู้อื่น ด้วยความรู้ความสามารถอันนี้ มันมีความโลภ มีความปรารถนาอย่างนี้แล้ว มันก็ละโทโสโมโหไม่ได้แน่ เพราะว่า ไอ้โทโสโมโหนี้มันมาจากความอยากความต้องการที่ไม่ได้อย่างใจ เราไม่อยากจะไม่มีโมโหโทโสได้ จะไม่มีโทสะ โกรธหงุดหงิดคับแค้นต้องการอะไร เดี๋ยวนี้เวลาต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่อย่างน้อยก็ต้องการให้คนนั้นทำอย่างนั้น ให้คนนี้ทำอย่างนี้ หรือว่าให้สิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นไปอย่างนั้นเป็นไปอย่างนี้ พอมันเป็นไปไม่ตรงตามที่เราต้องการ ก็โทโสโมโหขึ้นมา นี่เรียกว่ามีรากเหง้า อยู่ที่ความอยากหรือความต้องการ ในที่สุดแต่ว่ายุงมันมาตอมที่หู โกรธขัดใจ ขึ้นมา นั้นก็คือเราอยากเราต้องการจะนอนให้สบาย จะไม่ให้มีอะไรมารบกวนอยู่ที่หู ก็อยากอย่างนั้น และเมื่อไม่ได้ อย่างนั้นก็โกรธ ที่ยิ่งโกรธก็เพราะว่าไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ไปเข้าใจผิดๆก็โกรธยุง มันทำหนวกหู แต่ไม่นึกถึง ความอยากที่เป็นส่วนลึกที่ทำให้ เรามาโกรธยุง มันมีตัวกูแล้วก็อยากจะไม่ให้ยุงมารบกวน เมื่อไม่ได้อย่างนั้น มันก็โกรธยุง เป็นต้น
นี่ถ้าว่าไอ้เรื่องของปริยัติ มันพอกพูนความอยากแรงขึ้นแรงขึ้นล่ะก็ ก็ไปพอกพูนความโกรธมากขึ้นโทสะ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และทั้งหมดก็ต้องสรุปด้วยกันว่าเป็นความหลงไม่ต้องสงสัย เป็นอันว่ามันก็เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ที่ความรู้สึกที่เป็นตัวกู-ของกู โดยที่ไม่รู้สึกตัวอยู่ นี้เป็นตัวอย่าง ขอให้พยายามสนใจเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นๆต่อไปเถิด ต่อไปนี้ขอให้สนใจไอ้เรื่องอย่างนี้ให้มากขึ้นๆ พร้อมๆกับที่จะเรียนอย่างอื่นมากขึ้น แล้วสนใจเรื่องตัวกู-ของกูนี้ ที่มันจะเจริญงอกงามไปตามความรู้ความก้าวหน้า ให้เทียบเปรียบเทียบกันไว้เสมอกับเมื่อแรกบวช แล้วก็บวชนานเข้า หลายพรรษาขึ้นมาขึ้นมา อะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร ความยอมนั้นมีมากขึ้นหรือมีน้อยลง โดยมากความยอม คือว่าความยอมให้แก่ผู้อื่นน่ะมันไม่ได้น้อยลง เอ้ย,มันไม่ได้มีมากขึ้น ไม่ได้มีน้อยลงคือไม่ยอมมากขึ้น ความไม่ยอม จะมีมากขึ้น ยิ่งเป็นครูบาอาจารย์จะยิ่งไม่ยอมมาก นั่นหมายความว่าตัวกู-ของกูมันมากขึ้น ไอ้ความเป็นพุทธบริษัท โดยเนื้อแท้นั้นมันน้อยลง มันมีความเป็นพุทธบริษัทผู้มีเกียรติ ขึงขังมากขึ้น ก็เป็นเรื่องน่าสงสาร
ดังนั้นจะจริงหรือไม่จริง ขอให้เก็บไว้สังเกตอย่างละเอียดละออถี่ถ้วน อย่างที่ผมพูดนี้ บางคนอาจจะไม่เห็นว่า จริงก็ได้ แต่ก็ขอร้องให้เก็บไปสังเกตพิจารณาอยู่เรื่อยๆไป เพราะว่าผมไม่ได้พูดด้วยความเดา หรือว่าพูดไว้ดักข้างหน้า พูดตามที่มันเป็นมาแล้วแต่หนหลัง รู้สึกอยู่จริงเป็นอยู่จริงเห็นอยู่จริง คือพูดตามที่มันเห็นอยู่จริงๆ เป็นอยู่จริง เป็นอยู่แก่ตัวเองจริงๆ ก็เลยเอามาพูดเพื่อประโยชน์แก่ทุกคน ที่ว่าถ้าอย่างไรมันก็จะช่วยประหยัดได้บ้าง อย่าได้ต้อง ไปทำเสียเวลา ผิดซ้ำๆ เหมือนกับที่พูดที่เคยผิดมาแล้ว อยากจะพูดอย่างนี้จะดีไหม ที่ว่าไอ้เด็กๆ หนุ่มๆ แรกๆน่ะ มันก็อยากดี มันก็อยากดี ก็ต่อมาอีกไม่กี่ปี นี่มันก็อยากเด่น นี่มันก็อยากเด่นเสียแล้ว มันไม่ใช่อยากดี แรกบวชมันอยากดี ต่อมาไม่กี่ปีมันอยากดัง นี้ใครห้ามมันก็ไม่ฟัง มันก็อยากเด่น อยากเด่น อยากดีอยากดัง แล้วมันอยากเด่น แล้วมันไม่กลัวใครจะเขม่น มันก็อยากโด่ง ไม่เท่าไรมันก็คดโกง เพราะมันอยากจะโดดออกไป ให้ไกลออกไปอีก มันอยากจะกระโดดๆออกไป นี้มันไม่กลัวพระเจ้าโกรธ มันก็ดับเลย มันฉิบหายเลย
ที่พูดให้ค่อนข้างเป็นกลอนอย่างนี้คือมันจำง่าย จะพูดอย่างอื่นก็ได้มันรุ่มร่าม ทีแรกมันอยากดี ไม่กี่ปี มันก็อยากดัง ใครว่ามันก็ไม่ฟัง เพราะว่ามันอยากจะเด่น แม้ใครจะคอยขยิบตาเขม่นอยู่ มันก็ไม่ฟังเพราะว่า มันอยากจะโด่งขึ้นไปอีก ทีนี้มันจะเริ่ม เป็นคนโกงแล้ว โกงด้วยการอะไรก็ตาม ไม่ใช่โกงเงินโกงของแล้ว มันโกงด้วยการใช้ปริยัติ ใช้เป็นเครื่องคดโกง มันอยากจะกระโดดออกไป หาลาภหาสักการะ อยากจะกระโดด อยากจะโดด ทีนี้ก็ไม่กลัวบาปกลัวกรรม ไม่กลัวพระเจ้าโกรธมันก็ดับ คิดให้หมดเลย นี่ระวังจะเป็นกันในรูปนี้ โดยมากเห็นๆอยู่ก็มีเป็นไปในรูปนี้ ตั้งต้นดี อยากดี ไม่อีกกี่ปีกลายเป็นอยากดัง แล้วมากลายเป็นอยากเด่น แล้วเป็นอยากโด่งแล้วก็เลยโดด แล้วก็ดับเลย ถ้าสำนึกตัวได้ทัน ปรับปรุงไว้ให้ดี ถือหางเสือได้ถูกต้อง มันก็ นับว่ามีบุญมีกุศล แต่ทีนี้มันมักจะไม่อย่างนั้น มันดับสิ้นจริงๆ คือว่ามัน ดับไปอย่างไม่มีอะไรเหลือชนิดเป็นความดี แล้วก็พวกปริยัติมากๆนั้นน่ะที่เป็นไปในรูปนี้ ก็พวกปริยัติมากๆ ขอให้ระวังปริยัติที่มากๆนี้ ที่รอดตัวไปได้ มันก็มีไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าส่วนมากมันทำกันไม่ค่อยจะได้ ไม่ค่อยจะทัน เพราะมันมีความยั่วยวนมาก ก็คิดดูเถอะว่า ทีแรกมันอยากดี แต่ไม่กี่ปีมันอยากกลายเป็นอยากดัง ดังแล้วมันไม่ใช่ดีนะ ก็เพราะว่ามันทำไปๆ มันก็มีชื่อเสียง ขึ้นมาบ้างก็อยากดังอยากดัง และก็ไม่ฟังเสียงใคร อยากเด่นอยากไกลออกไปอีก ทีนี้มันอยากจะโด่งสุดฟ้าไปเลย นี้เรียกว่าจิตมันผิดไปจากไอ้ร่องรอยแล้ว เพราะว่าเราไม่ใช่จะเพื่อโด่ง ไม่ใช่เพื่อว่าจะมีตัวกู-ของกูที่โด่ง เพื่อจะลดต่างหาก ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นผิด เป็นขบถต่อหลักธรรมะนี้เรียกกรรมโกงมันก็เข้ามา ถึงนี้แล้ว จิตมันก็ไม่ยอมกลับแล้ว มันกระโดดไปอย่างซึ่งหน้าอย่างดื้อๆ แล้วไปหาความล่มจมได้ นี้เรียกว่าดับไป จากพรหมจรรย์นี้ได้ และจะถือว่าการสึกไปเป็นฆราวาสก็ไม่มีความเสียหายอะไร ไม่มีอะไรจะต้องเสียใจก็ไม่เป็นไร ทีนี้กลัวมันจะมากไปกว่านั้นอีก ถึงขนาดที่เสียหายหมดแล้วก็ยังไปเป็นผู้ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัวอยู่นั่นแหละ ก็เป็นคนธรรมดา เป็นปุถุชนหนักยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ยิ่งเดี๋ยวนี้สังคมมนุษย์นี่มันไม่ถือดีถือชั่วกันแล้ว มันถือว่ามีเงินแล้ว เป็นใช้ได้ ดังนั้นคนเลวๆ คดโกงด้วยวิธีไหนก็ตามมีเงินไว้มากออกไปก็มีสังคมได้ สังคมต้อนรับได้ คนก็เลย ไม่กลัวบาปกลัวกรรม
มีเรื่องที่ไม่น่าเล่าก็ไม่น่าเล่า แต่ว่าพูดได้ในประโยคนี้ ที่ว่ามันเสียหายหมดแล้ว ก็ต้องสึกออกไปในที่สุด มันก็ยังมีคนต้อนรับมีสังคมต้อนรับ เพราะมันมีเงินนี่ทำไมล่ะ ก็ในที่สุดมันก็ชวนให้รวนเรกันหมด เมื่อหันมา ถือหลักว่ามีเงินมีเกียรติ ก็เป็นใช้ได้แล้วก็ไม่ต้องมีธรรมะก็ได้ เพราะว่าโลกสมัยนี้มันเปลี่ยนไปอย่างนั้น นั้นเราอย่า ไปถือหลักอย่างนั้นดีกว่า เพราะมันต้องการจะมีธรรมะ เอาธรรมะอยู่ข้างพระพุทธเจ้าไว้ เพื่อจะสืบอายุพระศาสนา ของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วศาสนานี้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า ทำลายเสียซึ่งความสำคัญมั่นหมาย เป็นตัวกู-ของกู จนกระทั่งมีความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา ความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู-ของกูนี้ แม้ยังไม่ทันจะเสียหายอะไรมาก ก็ต้องเรียกว่าโง่แล้ว ธรรมดาเราก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากใช่ไหม ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู-ของกูอยู่เป็นประจำ วันนี้ก็ยัง ไม่ได้เสียหายอะไรมาก บางทีก็จะช่วยให้ขยันขันแข็งอย่างนี้บ้างก็ได้ จะตามหลักธรรมะ ก็ถือเป็นความเข้าใจผิด เป็นความโง่เป็นความไม่ฉลาด แล้วก็ทรมานใจ ร้อนรุ่มร่าม รุ่มๆอยู่เสมอ กิเลสตัวกูนี้อย่างน้อยจะต้องร้อน ร้อนรุมอยู่เสมอ เพียงแต่มันไม่ลุกโพลงๆออกมา แต่ร้อนรุมอยู่เสมอ ถ้าคนมันชินเสียแล้ว มันก็ไม่ค่อยรู้สึกร้อน อย่างนี้ครูบาอาจารย์เขาก็มักจะชอบอุปมาว่าเหมือนกับหนอนในพริก หนอนที่เกิดในพริก มันชินเสียแล้วมันไม่ร้อน ในพริกขี้หนูก็มีหนอนเกิด พริกแห้ง พริกขี้หนูแห้งก็มีหนอนเกิด
นี้คนที่มันเกิดมาในความรู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่านอยู่เป็นประจำนี้มันก็ไม่ค่อยรู้สึกร้อน ตัวกู-ของกูเกิดก็ไม่ค่อย รู้สึกร้อน แต่ถ้าผู้ที่เป็นสัตบุรุษแล้วร้อน รู้สึกร้อนและละอายด้วย นั้นขอให้ไปสังเกตดูให้ดี ว่าอะไรจะเหลืออยู่ เป็นพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เราจะทำไปทำไมกัน แต่ว่ามันทำไปแล้วมันหมด หมดพุทธศาสนาที่ถูกต้องเหลืออยู่ แต่เปลือกอันหรูหราแนวๆนี้ เปลือกอันหรูหราที่จะเหลืออยู่ ขอให้พยายามจัดการให้เนื้อมันเหลืออยู่ ให้มีความถูกต้อง ที่เป็นเนื้อในแล้วเหลืออยู่ แล้วเป็นผู้แพ้แล้วเป็นผู้ยอม จะมีเนื้อเหลืออยู่มาก ไม่ต้องไปเรียนที่ไหนแล้ว เรียนจากเรื่องที่มันเกิดอยู่ประจำวัน ไม่รู้จักยอมไม่รู้จักแพ้ แล้วก็มีข้อแก้ตัวเรื่อย คือมีความดื้อดึงก็ต้องแก้ตัวเรื่อย ต้องพูดเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โพล่งมาได้ทันทีสำหรับแก้ตัวว่า อย่างนั้นอย่างนี้ๆ คนอื่นผิดทั้งนั้นล่ะ ไอ้เราถูกเรื่อย ถึงแม้อะไรที่ว่ามันควรจะผิด มันก็ไม่รู้สึกผิดว่าผิด เห็นเป็นถูก เพราะว่ามันมีอันหนึ่งคอยดันออกมา สำหรับแก้ตัว สำหรับพูดไปด้วยโทสะจริต เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าผิดหมดทุกศาสนาเลย จะพุทธคริสต์อิสลามพราหมณ์ ผิดหมดทุกศาสนา แม้แต่ศาสนาเจ็ก ใช้คำหยาบๆ ศาสนาขงจื๊อ เล่าจื๊อ เราจะใช้คำว่าศาสนาเจ๊ก มันก็ผิดหมด ผิดไม่มีอะไรเหลือที่บุคคลจะเป็นผู้มุทะลุด้วยความยึดมั่นถือมั่นเห็นแก่ตัว โกรธหงุดหงิดดันทุรังไม่รู้จักยอม ไม่รู้จัก ขอโทษ ไม่รู้จักอะไรต่างๆ ผิดหมดทุกศาสนา ก็ออกมาจากส่วนลึกคือตัวกู-ของกูที่เดือดพล่าน การระวังการณ์ ที่มันเดือดพล่านนี่ ดังนั้นหนังสือเล่มไหน รูปภาพรูปไหน ศิลปะวัตถุชิ้นไหน ที่เรามีอยู่แสดงอยู่นี้ ขอให้มองดู ให้ลึกถึงแง่ที่มันจะทำลายตัวกู-ของกูเสียได้ แล้วเขาแสดงเรื่องตัวกู-ของกูไว้ว่าอย่างไร สำหรับเราจะได้รู้จัก และทำลาย เสียก็จะมีประโยชน์ ไอ้ส่วนที่มันเป็นเปลือก มันก็ยึดถือเนื้อในไว้ให้อยู่อย่าให้หายไปเสีย เราก็ไม่ค่อยจะสนใจก็ได้ หรือว่าสนใจที่เนื้อในให้มันทำลายตัวกู-ของกูได้ ถ้าเราจะแปลความของสัญลักษณ์ต่างๆนี้ก็เรามุ่งไปแต่ในทางนั้น มันก็จะไปได้ ไปรวมอยู่ตรงที่ถ้าผิดก็คือมีตัวกู-ของกู ถ้าถูกก็คือทำลายกำจัดไอ้ตัวกู-ของกู มีเท่านี้เอง มีสติสัมปชัญญะ ตลอดทุกเวลานาทีที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวกู-ของกู หรือเกิดขึ้นมาก็สะดุ้งสลัดออกไปได้ทันที มันก็อยู่ด้วย ความแช่มชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส ประหยัดมัธยัสถ์ ปกติอยู่ได้ คนมีตัวกู-ของกูประหยัดไม่เป็นหรอก ประหยัดวัตถุ สิ่งของก็ไม่เป็น ประหยัดอะไรก็ไม่เป็น เพราะมันบ้า มันบ้าไปหมด มันก็สุรุ่ยสุร่ายหยาบคาย หรือว่าใช้ของต่างๆ เปลืองโดยที่ไม่จำเป็น มันไม่เย็นมันไม่หยุดมันไม่ยอม มันไม่อะไรได้ นี่เราเรียกว่ามาลงปาฏิโมกข์ ธรรมะกันทุกวัน ทุกๆวัน ธรรมสวนะก็คืออย่างนี้
ดังนั้นผมจึงพูดแต่เรื่องตัวกู-ของกูทุกๆวันเช่นวันนี้ เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ บางคนก็เข้าใจคำนี้ดีแล้ว บางคนก็ ยังไม่เข้าใจคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ เอามาสอบกันไว้ทุกๆ ๗ วัน ถ้ามันมีโอกาสอย่าให้มันเลื่อนไปได้ เช่นเดียวกับ ปาฏิโมกข์วินัยนี่ไปทำสังฆกรรมก็อย่าให้มันเลือนไปได้ แต่แล้วในที่สุดมันสำคัญที่สุด มันอยู่ที่ตรงธรรมปาฏิโมกข์นี้ มันก็เป็นเรื่องสิ้นสุดของตัวกู-ของกูที่เป็นทั้งหมดที่จะต้องละ และที่ต้องทำให้มีงอกงามออกไปเป็นความไม่มีตัวกู- ของกู ถือว่าจิตมันหมดตัวกู-ของกูแล้วมันก็ดีถูกขาวผ่องบริสุทธิ์สะอาด ดังนั้นผมก็อยากจะพูดย้ำ หรือเตือนไว้บ่อยๆ ว่าพระพุทธเจ้าท่านทำปาฏิโมกข์ชนิดธรรมปาฏิโมกข์ เช่นเรื่องประชุม ๒,๒๕๐ องค์ แสดงโอวาทปาฏิโมกข์นั้นน่ะ มันคือธรรมปาฏิโมกข์นั้นน่ะ สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตตปริโยทปนํ ก็หมดทั้งนั้น นอกนั้น เป็นแจกรายละเอียด เรื่องขันติ เรื่องอนูปวาโท เรื่องมัตตัญญุตาจภัตตัสมิง เรื่องเสนาสนะ อันนั้นเป็นเรื่อง แจกรายละเอียดแวดล้อมไว้ ๓ หัวข้อเกี่ยวกับ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำกุศลทั้งปวงให้ถึงพร้อม สจิตตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้ขาวผ่อง นั่นน่ะคือธรรมปาฏิโมกข์ เพราะคำว่า ขาวผ่องนั้นคือไม่มีกิเลส ไม่มีตัวตน ไม่มีอหังการ มมังการ ไม่มีอาสวะ อนุสัย เราก็ควรจะถือเอาไว้ด้วย คือส่วนที่ เป็นธรรมปาฏิโมกข์ ทำกันน่ะทุกวัน ธรรมสวนะ ส่วนวินัยก็ทำทุกวันอุโบสถ ปาฏิโมกข์คู่กันไป
นี้ก็ต้องเห็นอกเห็นใจหรือว่าเข้าใจสถานการณ์อันแท้จริง เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้โปรดบุคคลเป็น พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป แล้วมันไม่มีอลัชชี ทีนี้ถ้าว่าไปแสดงปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบทขึ้นในที่อย่างนั้น ก็เป็น เรื่องอะไรคิดดู ผมก็ต้องพูดคำหยาบคายที่สุดว่ามันเป็นเรื่องบ้าสิ้นดี ไอ้ที่ประชุมพระอรหันต์จะแสดงปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อนี้แสดงทำไม แสดงอย่างไร แสดงเพื่อใคร แสดงอย่างไรได้ มันจึงมีแต่ไอ้ธรรมปาฏิโมกข์เรื่อยๆมา คือบอกหลักที่พระอรหันต์ทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว คือกันอยู่แล้วก็ประพฤติให้มันถูกต้องต่อไป นี้เป็น หลักธรรมปาฏิโมกข์ นี้เวลาล่วงมา ล่วงมาหลายๆ พรรษาเข้ามันจึงมีคนมาบวชตามๆ กันมา เพ้อๆ กันมา เห่อๆ กันมา มันจึงเกิดภิกษุอลัชชีโดยไม่รู้สึกตัว จึงต้องบัญญัติสิกขาบทนั้น สิกขาบทนี้ สิกขาบทนู้น แล้วถ้าเราไปอ่านดูในวินัย ไปอ่านดูในพระไตรปิฎกจะเห็นเป็นตามลำดับมาทีเดียว ที่ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน หรือดูได้จากวินัยปิฎก ที่เรียกว่า มหาวรรค เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อย่างไร แล้วไปโปรดชฎิลโปรดสัตว์อย่างไรจนกระทั่งมีชฎิลมีอะไรขึ้นมา แล้วก็เริ่มขึ้นด้วยเรื่องอุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร บัญญัติสิกขาบทประเภทวัตรมาก่อน เพราะว่ามันพระอรหันต์ ท่านอาจจะไม่ได้สนใจกันที่จะให้ผู้น้อยทำ หรือผู้ใหญ่ทำอย่างนี้ ก็เลยมีอย่างนี้ก่อน เพื่อให้ละเอียดสุขุมงดงามยิ่งขึ้น แล้วต่อมามันจึงจะเกิดเรื่องที่หยาบคายมากขึ้น จนกระทั่งเรื่องปาราชิก เรื่องสังฆาทิเสส มันทีหลังต่อมา แล้วจึงมีการบัญญัติให้ลงปาฏิโมกข์แบบวินัย ก็เพื่อคนเหล่านี้คนที่มาทำเสียหายขึ้นมา จึงมีปาฏิโมกข์อย่างวินัยขึ้นมา กลายเป็นแทนปาฏิโมกข์อย่างธรรมะขึ้นมา ก็คิดดูว่าพระอรหันต์ล้วนๆ มาประชุมกันทั้งอุโบสถ และมาสวดปาฏิโมกข์ ของพวกอลัชชีอย่างนี้ก็ไม่ไหว มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ต้องมีอลัชชีเกิดแล้วมันจึงทำปาฏิโมกข์อย่างนี้ ส่วน ปาฏิโมกข์ทางธรรมะก็ถือเป็นหลักอยู่ในใจประจำใจอยู่ทุกคน หรืออาจจะพูดจะสนทนาพาทีอะไรกันอยู่เป็นประจำ ก็ได้
เดี๋ยวนี้ก็เหลือมาจนกระทั่งบัดนี้ให้ปาฏิโมกข์อย่างวินัยนี้รักษาคุ้มครองสังฆบริษัทไว้ ด้วยเหตุนิดเดียวนี้ เหตุนิดเดียวคือว่ายอมให้ใครมาบวชได้ ยอมให้ใครมาบวชได้ทั้งๆที่ยังไม่เหมาะสม ทั้งที่ยังจะเกะกะ นี่ก็ยังยอม ให้มาบวชได้ ก็เลยต้องมีวินัยสำหรับคนพวกนี้ขึ้นมา แล้วมีมาจนกระทั่งบัดนี้ นี่ก็จะชี้ให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างธรรมปาฏิโมกข์กับวินัยปาฏิโมกข์ แล้ววินัยปาฏิโมกข์ก็ไม่ต้องยกเลิก ยอมทำให้เคร่งครัดที่สุดไว้ให้ มันรู้สึกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ขาวผ่องไว้ในส่วนกายวาจานั้น แล้วก็มาซักซ้อมในเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ ให้ชัดเจน แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น เพราะมันเสร็จกิจของในเรื่องวินัยปาฏิโมกข์แล้วมันจะทำอะไรต่อไป มันก็มีเรื่องประพฤติ ธรรมะให้ดีให้สูงให้ยิ่งขึ้นไป ก็คือธรรมปาฏิโมกข์ ในที่สุดมันก็กลมกลืนกันไปแล้ว ที่เรียกว่าแยกกัน ไม่ได้ธรรมะกับวินัย ๒ อย่างนี้ต้องเคียงคู่กันไป อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ถ้าธรรมะเลอะเลือน วินัยก็ เลอะเลือน วินัยเลอะเลือนธรรมะก็เลอะเลือน ไอ้ธรรมะที่จะเลอะเลือนนั้นคือเรื่องสุญญตา เรื่องสุญญตานั้น คือเรื่องไม่มีตัวกู-ของกู พอธรรมะเรื่องสุญญตาเลอะเลือน ระเบียบวินัยจะเลอะเลือน วินัยเลอะเลือน ธรรมะจะ เลอะเลือน จะช่วยส่งเสริมกันให้เลอะเลือน นี่สูตรนี้กล่าวไว้ชัดหน่อย ธรรมะที่จะเลอะเลือน และเสียหายหมดคือ ธรรมะเรื่องสุญญตา เปิดดูในพระบาลี นี้ธรรมะเรื่องสุญญตาคือเรื่องตัวกู-ของกู ถ้ามีก็เรียกว่าไม่สุญญตา ถ้าตัวกู-ของกู ไม่มีก็คือสุญญตา
ดังนั้นหลักธรรมะประเภทนี้ต้องไม่เลอะเลือนด้วย คู่กันไปกับธรรมมะ เอ้ย,วินัยสำหรับภายนอกสำหรับ หมู่คณะนี้ ต้องไม่เลอะเลือนด้วย ก็เลยเป็นสังฆบริษัทที่ดี ก็ขอให้นึกข้อนี้ไว้จะเป็นเครื่องรางป้องกันตัว ไม่ให้ ความรู้สึกต่ำๆมาดึงไป มากระชากลากถูไปจนเปลี่ยนไปๆ จนเลวกว่าเมื่อแรกบวช นี้ระวังให้ดีอย่าให้ตกต่ำลงไปกว่า เมื่อแรกบวชหรือเมื่อแรกเข้ามา นี้เรียกว่าความก้าวหน้าในพระพุทธศาสนา โดยความไม่ประมาทเป็นพุทธบริษัท ที่แท้จริงยิ่งๆขึ้นทุกที ทีนี้จะต้องปฏิบัติอย่างยิ่ง ควบคุมกันให้ดีก็คือเรื่องโมโหโทโส เพราะว่าเรื่องโมโหโทโสนี้ เป็นเรื่องยกหูชูหางของตัวกูของของกู ดังนั้นอย่าโกรธอย่าโมโหโทโส แม้คนอื่นเขาไม่ทำก็ไม่จำเป็น ต้องไปด่าเขา หรือไปโกรธเขา ไปโมโหโทโสเขา มันจะทำให้ของเราเสียหมด ดังนั้นมันจะกลายเป็นเรียกว่า มันขบถไม่รู้สึกตัว แล้วเราจะไปด่าคนอื่นด้วย เขาดีแต่เราเลวกว่าเสมอ ถ้าเราไปว่าเขาเลวแล้วเราจะเลวกว่าเสมอ
ดังนั้นพระพุทธเจ้า ท่านจึงสอนในเรื่องนี้ ที่ไม่ให้รุกราน ผลสุดท้ายมันก็มายากอยู่ตรงนี้ ที่จะเผลอสติ ไปรุกรานใคร ด้วยความโกรธด้วยความยกตัว แล้วก็เห็นผู้อื่นเป็นผู้ที่ควรจะรุกรานไปเสีย ถ้าเรามามีธรรมะแล้ว จะไม่เห็นว่าใครควรจะเป็นผู้ที่รุกราน แม้ว่าเขาจะเป็นคนทำผิดเราก็ต้องไม่รุกราน และก็ไม่ต้องเกลียดต้องโกรธ ต้องอะไรให้มันเกิดเรื่อง หาโอกาสแก้ไขด้วยความรัก ด้วยความเมตตา ที่เรียกว่ากายกรรมก็เมตตา วจีกรรมก็เมตตา มโนกรรมก็เมตตา นี้คือความเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง อย่าไปลืมไอ้เรื่องที่เราแรกๆเรียนเลย นวโกวาทก็หมดสิ แล้วก็ เอามาไว้ดีแล้ว ดีที่สุดแล้วสำหรับผู้จะเริ่มต้นพรหมจรรย์ เดี๋ยวนี้ไอ้ความมีกายกรรมเมตตา วจีกรรมเมตตา มโนกรรม เมตตานี้ยังน้อยมาก ยังพร้อมที่จะรุกรานซึ่งกันและกัน แล้วพร้อมที่จะมองผู้อื่นในแง่ร้ายไว้ก่อน อย่างมีอาคันตุกะมานี่ ก็มีความรู้สึกสันนิษฐานไปในทางเป็นคนเลว ไม่ควรจะต้อนรับไว้ก่อนเสมอ ไม่มีกายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา มโนกรรม เมตตาได้หรอกถ้าอย่างนั้นน่ะ มันจนเป็นนิสัยเสีย บางทีก็เพราะว่าความเห็นแก่ตัว ถ้ามันจะดีมา มันจะมาดีกว่าเรา มันก็เลยไม่อยากให้โอกาส หรือว่าเราก็ไม่ควรจะไปเสียเวลาไปต้อนรับไอ้คนโง่ๆเหล่านี้ มันก็เป็น เรื่องตัวกู-ของกูทั้งนั้น ผิดจากเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน แม้เขาจะเป็นคนที่เลวกว่าเรานี่ ใช้คำตรงๆหน่อยมันก็ หยาบหน่อย ก็ยังจะต้องตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาอย่างนี้ คือบทเรียนที่ทำยาก ผมเคยผ่านมาแล้วก็รู้สึกว่ามันยากจริงๆ แต่ว่ามันก็ทิ้งไม่ได้สลัดไปไม่ได้ ต้องพยายามทำให้มันได้ และก็ต้องนึกถึง พระพุทธเจ้าอยู่เสมอ จะตัดสินอะไรลงไปสักทีจะต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอ จะโกรธใคร จะอะไรใคร จะต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนเสมอ ถ้านึกถึงได้จริงมันโกรธไม่ได้มันละอาย มันก็เลยทำไปในทางที่ถูกต้อง
ทีนี้บางที มันเผลอไปนี่สติมันเผลอไป มันไม่ได้นึกก็คิดไปในทางของกิเลส มานึกทีหลัง เอ้า,ผิดแล้ว ทีนี้ต้องขอโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ มีขึ้นมา ต้องมีขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเราได้ไปฝืนพระพุทธบัญญัติฝืนอะไรแล้ว ดังนั้นเมื่อคุณทำวัตรเย็น คุณหมอบลงว่า กาเยนะ วาจา อะไรทำนองนี้ ต้องทำให้ถูกเรื่อง เพราะว่าการที่เรา ทำผิดวินัยด้วยเผลอสตินี่ เราเป็นผู้ล่วงเกินพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว มันก็อนุโมทนาสาธุด้วย ที่ยังขยันทำ วัตรเย็นวัตรเช้าอยู่ จะได้มีโอกาสระลึกนึกถึงข้อนี้ ทุกๆคราวที่หมอบลงไปว่า กาเยนะ วาจา ขอให้เป็นการ ชำระไอ้ความประมาท ความไม่มีสติ ประพฤติผิดลบหลู่พระพุทธเจ้า ไม่แยแสในคำที่สั่งสอนไว้ แล้วจะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไรไม่นึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน นี้มันเป็นคนที่ดูถูกพระพุทธเจ้าทันที ทำไปแล้วก็ควรจะขมาโทษ ขอขมา โทษพระพุทธเจ้าเป็นประจำวันด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นขอให้ถือว่าระเบียบทำวัตรเช้า วัตรเย็นนี้ไม่มีความมุ่งหมายอย่างนี้รวมอยู่ด้วย อาจารย์ในกาลก่อน ของเราเขาต้องฉลาดกว่าเรา เขาจึงได้บัญญัติไอ้ระเบียบวินัยอย่างนี้ไว้ ถ้าเราไปรักษาทำให้ดี มันก็จะ มีประโยชน์แก่เรา เป็นความเจริญงอกงามก้าวหน้าในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน นี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ เรื่องทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นนี้ก็เป็นเรื่องตูกัว ตัวกู-ของกู นับตั้งแต่ไม่ให้นอนสาย ไม่ให้ขี้เกียจ ไม่ให้เห็นแก่ตัว ให้มานึกคุณของ พระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ให้มีโอกาสทบทวนคิดบัญชีกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าวันนี้ได้ล่วงเกินอะไรบ้าง ขอหมอบกราบลงขออภัยโทษ พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ขอโทษความล่วงเกินอันนี้เพื่อความสำรวมระวังต่อไป อย่าทำอย่างละเมอเพ้อฝันนี้มันไม่มี ประโยชน์ แล้วมันจะชินจะด้านไป ให้มันเห็นชัด วันนี้เราโกรธแล้ว โกรธหมา โกรธแมว โกรธคน โกรธเพื่อน โกรธอะไรไปแล้ว อ้าว,นี้มันลบหลู่พระพุทธเจ้าแล้วค่ำลงก็ขอโทษ ขอโทษพระธรรมด้วย ขอโทษพระสงฆ์ด้วย ก็จะเป็นความงอกงามก้าวหน้าในพระพุทธศาสนาเป็นแน่นอน พูดไปกี่ชั่วโมงก็ได้ ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู ในฝ่ายที่เกิดขึ้นหรือในฝ่ายที่ละไป จนกระทั่งกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาไม่มีเรื่องอะไร นอกจากเป็นเรื่องพยายามตัดเสีย ซึ่งเรื่องตัวกู-ของกู นี้พุทธบริษัทก็ไม่ใช่ใคร คือผู้ที่ปฏิบัติอยู่ เพื่อที่จะตัดเสียซื่งตัวกู-ของกู ดังนั้นผมจึงบอกฝรั่ง หลายคนต่อหลายคนว่าพุทธศาสนาไม่มีอะไร นอกจากการปฏิบัติเพื่อจะตัดเสียซึ่งความคิดนึกรู้สึก การกระทำ ทั้งหลายที่เป็นตัวกู-ของกูมีเท่านั้น ประโยคเดียวนั้น บางคนถึงกับปรบมือว่า มันตรงกับคริสเตียน หรือว่าตรงกับหลัก ที่เขาถืออยู่แล้ว ดังนั้นเขาก็เป็นพุทธบริษัทอยู่แล้ว ทั้งที่เขาเป็นคริสเตียน เพราะเขาก็เข้าใจคำสอนของพระเยซู ในลักษณะอย่างนั้น พอผมบอกต่อไปว่ากางเขนน่ะ เครื่องหมายกางเขนนั้นน่ะ คือสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เพราะว่าเส้นที่ยืนโด่งเป็นเสานั้นคือตัวตนของกู I น่ะคือ I ตัดมันเสีย คืออันขวาง ก็ตัด I เสีย ก็เป็นหมวด I ก็ปรบมือใหญ่ฝรั่งบางคนที่เป็นอาจารย์ครูบาอาจารย์ คือเข้าใจและเห็นว่ามันจริง พุทธศาสนาคือศาสนา ศาสนาไหน ก็ตามถ้าถึงชั้นหัวใจแล้วจะตัดตัวกูทั้งนั้น
ทีนี้พวกเราอย่าไปมัวเป็นเด็กอมมืออยู่ ไม่ยอมตัดตัวกู ไม่ยอมบรรเทาไอ้การมีตัวกู มันจะอยู่ล้าหลังเขา จะคลานต้วมเตี้ยมอยู่ที่นี่ แล้วเขาก้าวหน้ากันไปไกลแล้วถึงขนาดว่ามีตัวกูเบาบางแล้ว เรื่องอื่นไม่สำคัญอะไรเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด เป็นเรื่องอดิเรกไปเสียดีกว่า แม้แต่เรื่องปริยัติจะสอบให้เป็นนั่นเป็นนี่ ก็เป็นเรื่องอดิเรกไปตาม เหมือนกับเวลาว่างนั่น แต่งานอันแท้จริงคือตัดตัวกูตัดของกูลดลงไปลดลงไป บีบคั้นให้มันลดลงไป ลดลงไป อยากลดเร็วๆก็ต้องสมาคม เพราะการสมาคมทำให้เกิดความโกรธ เกิดความหงุดหงิดเกิดความอะไร มันจะได้มีโอกาส ที่จะลดจะฆ่าจะสู้ ถ้าแอบไปนอนอยู่ได้คนเดียว มันก็ไม่มีทางที่จะให้เกิดกิเลสตัวกู-ของกูมาก เหมือนกับว่าการสังคม พอไปเกี่ยวข้องกันเข้า เดี๋ยวมันก็เกิดเกลียดน้ำหน้ากันขึ้นมา นั้นแหล่ะมันจะได้สอบไล่ว่าจะตกหรือจะได้ ทีหลังจะ ได้รู้จักป้องกันแต่ทีแรก ก็เป็นเรื่องของวินัยหรือปาฏิโมกข์อยู่แล้วแทบทุกข้อ เพื่อจะสกัดกั้นการเกิดทะเลาะวิวาท ไปฟังประโยคสุดท้ายตอนที่เขาจะจบปาฏิโมกข์ดูสิ เป็นไปเพื่อจะสกัดกั้น ซึ่งการทะเลาะวิวาท นั้นก็เป็นเรื่องตัวกู- ของกูโดยตรง
นี้เมื่อสรุปความกันเสียทีว่า เมื่อเราจะประพฤติเองก็ดี มันเป็นการตัดไอ้ตัวกู-ของกู เมื่อเราจะตอบคำถาม แก่ผู้ที่ถือศาสนาอื่น อย่าให้ผิดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ อย่าให้ตู่พระพุทธวัจนะ ก็ให้ตอบไปในทำนอง พระพุทธศาสนานี้ทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู-ของกูเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ตอบถูกต้อง ตามคำสั่งสอนของ พระศาสดา ก็เป็นอันว่าไม่เสียหายในวงในเราว่าถูกต้อง ที่เราจะแนะนำผู้อื่น วงนอกมันก็ถูกต้อง มันก็จะได้ช่วยให้ โลกนี้มีความถูกต้อง เพื่ออยู่กันเป็นผาสุกทุกคน ถ้าใครยังมีพุทธมีคริสต์จะคิดร้ายกันอยู่แล้วบ้าทั้งนั้นล่ะ บ้าทั้งพุทธ ทั้งคริสต์แหละ นั้นก็พวกพุทธแท้ๆ จะไม่เกลียดใคร ไม่อิจฉาใคร ไม่ดูหมิ่นใคร แล้วเขาก็เป็นมนุษย์ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเขาก็ควรจะตัดกิเลสข้อนี้ เรื่องตัวกู-ของกู ถ้าทุกศาสนามองกันอย่างนี้ ซึ่งกันและกันอย่างนี้ โลกนี้ก็มีสันติสุข
ดังนั้นขอให้คิดเลยไปถึงข้อที่ว่า จะทำความเข้าใจรักใคร่กลมเกลียวกันในระหว่างศาสนาด้วย ถ้ามันมีเวลา มีความสามารถมีโอกาส ผมก็ทำอยู่พยายามอยู่ ตามที่มีเวลามีโอกาส เพื่อว่าให้โลกทั้งโลกนี้มีหวัง มีสันติสุข เพราะความหมดไปแห่งตัวกู-ของกูในโลกนี้ เดี๋ยวนี้มันกำลังจัดมากนะ ตัวกูตัวกู ตัวสูตัวสู ตัวมึงตัวมัน ตัวอะไร มันมีมากเต็มไปทั้งโลก พุทธบริษัทแล้วก็ควรจะทำให้ถูกต้องในข้อนี้ ถือว่าเป็นผู้นำในข้อนี้ได้ก็ยิ่งดี อย่างน้อยที่สุด ภิกษุสามเณรนี้ก็ควรจะนำฆราวาสทั้งหลายนี้ เรื่องอื่นเหลวทั้งนั้นแหละ อย่าไปเผลอจะทำเรื่อง ที่จะเสริมตัวกู-ของกูเข้าไปอีก จะยิ่งเหลวใหญ่เข้าไปอีก ก็เรียกว่ามีความสงบ มีความอดกลั้น มีความอดทนมุ่งมั่น ที่จะทำลายกิเลสข้อนี้ แล้วก็เผยแผ่วิชาการข้อนี้ออกไป จะเรียกว่าทำบุญกุศลอันสูงสุด เพื่อตนเองด้วยเพื่อผู้อื่นด้วย ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนี้ สมบูรณ์แล้วด้วยความไม่ประมาท เอาแล้วพอขอจบกันไว้เพียงเท่านี้