แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายธรรมปาฏิโมกข์ที่นี่เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่เคยฟังว่าเราพูดถึงเรื่องตัวกู ของกู อย่างเดียวตลอดมา ผู้ที่มาใหม่ก็พึงทราบตามนี้ ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องตัวกู ของกูนี้มันเป็นเรื่องคลุมหมด เรียกว่าทั้งพุทธศาสนา หรือพูดให้จริงไปกว่านั้น มันก็คลุมหมดทุกศาสนาเลย ถ้าศาสนาไหนไม่สอนให้ละ ละสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ของกู ศาสนานั้นมันใช้ไม่ได้ จะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ศาสนาอะไรก็สุดแท้ ถ้าไม่มีหลักการ ไม่มีความมุ่งหมายที่จะละตัวกู ของกู นี้มันก็เป็นศาสนาไปไม่ได้ เพราะว่าศาสนานี้ต้องการที่จะให้คนพ้นจากปัญหา หรือความทุกข์ ทีนี้ความทุกข์ก็มาจากตัวกู ของกูทั้งนั้น ทุกคน ทุกศาสนา มันก็มีเรื่องที่จะต้องสอนให้ควบคุมก่อน ให้กำจัดเสียในที่สุด ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู จึงกล้าพูดว่าทุกศาสนา สอนเรื่องกำจัดตัวกู ของกู นี่แม้ในระบบจริยธรรม ศีลธรรม ที่ไม่ถึงขนาดจะเป็นศาสนา ก็ยังต้องสอนเรื่องกำจัดตัวกู ของกูนั่นแหละ อย่างน้อยก็ต้องควบคุม นี่คุณจะสังเกตเห็นได้เองว่า ไอ้ความทำผิด ทำบาป ทำชั่ว ทำหยาบ แม้แต่กริยาหยาบอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับไม่ควบคุมตัวกู ของกู มันเห็นแก่ตัวกู ของกู ด้วยความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกู มันเดือดขึ้นมา มันก็เลยแสดงอาการเป็นคนไม่มีสมบัติผู้ดี หยาบคาย อย่างนั้น อย่างนี้ออกมา นี่ขอให้มองเห็นความจริงข้อนี้ยิ่งขึ้นทุกที การที่พูดมาแล้วแต่ก่อนหลาย ๆ ครั้งนี้ มันก็ไม่ทันจะสังเกต หรือ ไม่ทันจะเข้าใจ เพราะมันเป็นของใหม่ นี่พอมันหายความเป็นของใหม่ ก็ควรจะมองเห็นมากขึ้น มากขึ้น ปัญหาทั้งหลาย ความเดือดร้อน หรือ การเบียดเบียนกัน หรืออะไรก็ตามมันมาจากไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู ของกู อย่างนั้นเราจึงเห็นว่าพูดกันได้แต่เรื่องนี้ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง พูดกันตลอดเป็นปี ๆ มาแล้วก็ไม่ได้เปลี่ยนเรื่อง คือเรื่องตัวกู ของกูนี้ไม่ต้องเปลี่ยน แต่ว่าแง่มุมที่จะอธิบายให้เข้าใจมันก็มีมาก มากแง่มากมุม เป็นหลายสิบครั้งไปแล้วก็พูดแต่เรื่องทุก ๆ แง่ ทุก ๆ มุม เท่าที่ควรจะเอามาพูดกันก่อน ทีนี้เมื่อสังเกตเห็นว่าค่อยๆเข้าใจกันบ้างแล้ว ก็จะต้องทบทวนอยู่เรื่อย ๆ เพราะว่าการ การปฏิบัติอะไรมันก็ต้องเป็นเรื่องทบทวน แม้แต่การจำเรายังต้องทบทวน ลองไม่ท่องไอ้สิ่งที่เราจำได้ไม่กี่วันก็ลืม ถ้าไม่เข้าใจขอให้สังเกตว่าทำไม ต้องตั้งนะโมทุกทีพอจะเทศน์อะไรสักหน่อยก็ต้องตั้งนะโม จะทำอะไรสักหน่อยก็ต้องตั้งนะโม ทำไมนะโมต้องตั้งกันเสียเรื่อย อย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพราะมันเป็นประธาน เป็นบทที่เป็นประธานของเรื่อง ที่เราจะต้องรู้จักพระพุทธเจ้า ถึงขนาดที่เราจะออกปากว่านับถือท่าน ไหว้ท่าน เคารพท่าน แต่เพียงผู้เดียวไม่มีอะไรเสมอก็ยังตั้งนะโมกันเรื่อย ซ้ำ ๆ ซากๆ เพราะนั่นคือความจำเป็น หรือประโยชน์ของความซ้ำ ๆ ซาก ๆ ขอให้มองเห็นอย่างนี้แล้วก็ อย่าได้เบื่อเรื่องที่จะพูด หรือจะฟัง จะคิด จะใคร่ครวญเกี่ยวกับตัวกู ของกูอยู่เรื่อยไป ผมก็ได้เคยบอกให้ทราบมาแล้วหลายหน ว่าทุกเรื่องไปอ่านดูเถอะ ในพระไตรปิฎกทุก ๆ หน้า ทุก ๆ บรรทัดนะ มันจะต้องเกี่ยวกับไอ้เรื่องตัวกู ของกูนี้ทั้งนั้น ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง บางทีๆ มันโดยอ้อมมองไม่ค่อยเห็น เช่นเกี่ยวกับความทุกข์นี่ บรรทัดไหนมันพูดเรื่องความทุกข์ มันก็มาจากเป็นผล มาจากการที่ไปเข้าใจว่ามีตัวกู ของกู บรรทัดไหนพูดถึงเหตุให้เกิดทุกข์คือ กิเลส นั่นละคือ ตัวกู ของกู ในรูปที่ต่าง ๆ กัน เรียกว่า กิเลส ชื่อนั้น ชื่อนี้ ถ้าบรรทัดไหนพูดถึงธรรมชาติ เช่น นาม เช่น รูป เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องอายตนะ เรื่องธาตุ อะไรอย่างนี้นะมันพูดถึงไอ้สิ่งที่มันเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐาน เป็นที่ตั้ง เป็นที่เกี่ยวเกาะหรือเป็นสิ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องกับตัวกู ให้เกิดตัวกู ต้องมีสิ่งเหล่านี้มันจึงจะเกิดตัวกูขึ้นมาได้ ถ้าสมมุติจะพูดอย่างบุคคลาธิษฐานพูดเรื่องนรก พูดเรื่องสวรรค์ นี่ก็แสดงแล้วว่ามันเกี่ยวกับตัวกู ที่มันได้ไปตกนรกก็เพราะมันเห็นแก่ตัวกูมากเกินไป ไม่เห็นแก่ธรรมะ ไม่เห็นแก่ความจริงเสียเลย นี่ถ้ามันไปสวรรค์มันก็เพราะรักตัวกู มันอุตส่าห์ทำจนได้ไปสวรรค์ หรือว่ามีสวรรค์อย่างตัวกู เพราะเห็นแก่ตัวกู มันจึงอดทนทำให้ได้สวรรค์ สวรรค์ชั้นพรหมโลกก็เป็นเรื่องตัวกูสูงสุด ละเอียด ปราณีต หรือสะอาดขึ้นหน่อย แต่ก็ยังมีตัวกูอยู่นั่นแหละ นี่เรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องนิพพาน กลายเป็นว่าดับหมดแห่งตัวกู นี่คือข้อที่ว่ามันไม่มีเรื่องไหนที่ไม่เกี่ยวกับตัวกู ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม จึงขอร้องให้ทุก ๆ องค์ ถ้าอยากจะรู้ธรรมะแท้จริงในทางศาสนาก็ต้องสนใจเกี่ยวกับเรื่องที่เรียกว่า ตัวกู ของกูนี่ เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นคนหลับหู หลับตา งมงาย คือ มันมีตัวกู ของกู เกิดอยู่ในใจแต่เราก็ไม่เห็น เราก็ไม่เห็นว่ามีตัวกู ของกูที่ไหน มันมีตัวกู ของกูบังไอ้ตัวกู ของกูอยู่เรื่อยไปอย่างนี้ เรียกว่าตัวกู ของกูนี่มีอยู่เต็มไปในความรู้สึกทุกคราวที่มันเผลอไป โง่ไป แต่เราก็ไม่รู้สึกว่ามันมี หรือบางทีก็รู้ว่ามันมีนิดเดียว ไม่มีปัญหาอะไร สมมุติว่าเราไปโกรธใครสักคนหนึ่ง เราก็ไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องตัวกู ของกู แต่ที่แท้มันเป็นเรื่องตัวกู ของกู ถ้าไม่มีตัวกู ของกู มันโกรธไม่ได้ ทีนี้มันโกรธกัน มันด่ากัน มันอาฆาต พยาบาทปองร้ายกัน มันก็ไม่รู้สึกว่าเรามีตัวกู อย่างนี้ก็เรียกว่า คนพาล อันธพาล หรือ ปุถุชนอันธพาล อันธพาลปุถุชน ปุถุชนแปลว่าคนที่มันหนาด้วยกิเลสในดวงตา ดวงตามีกิเลสปิดบังหนาเลยเรียกว่า ปุถุ อันธพาลมันก็แปลว่า โง่เหมือนกับตาบอด อันธ แปลว่า บอด ตาบอด พาละ แปลว่า โง่ ปุถุชน แปลว่า คนที่หนาไปด้วยกิเลส คนหนาไปด้วยกิเลสจึงโง่เหมือนคนตาบอด คำว่าอันธพาลปุถุชน นี่เขาใช้พูดกันมากมาแต่เดิม ในหนังสือเก่า ๆ ในหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะ รูปภาพ ใช้คำนี้มากที่สุด ขอให้จำไว้ด้วย เพื่อว่าเราจะได้เกลียด ระอาต่อการเป็นอันธพาลปุถุชนนี้กันยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้เราไม่รู้จัก เราก็เป็นได้โดยไม่รู้สึก เราก็ไม่ละอาย ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ ดับทุกข์ไม่ได้ก็ต้องเรียกว่าเป็นอันธพาลปุถุชนทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปลักขโมย ไม่ต้องไปอะไรให้ถึงขนาดนั้นหรอก มันเป็นอันธพาลทางจิต ทางสติปัญญา เป็นพระก็ได้ เป็นเณรก็ได้ อยู่ในวัดนี้เป็นอันธพาลปุถุชนได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวกู ของกู แล้วก็เบียดเบียนตนเองอยู่ มีความทุกข์อยู่ พอเผลอเมื่อไหร่ก็เป็นเบียดเบียนผู้อื่นด้วย ก็เลยเป็นการเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ศาสนาไหนเขาก็แนะกันในข้อนี้ อย่าเห็นแก่ตัว ให้รักผู้อื่นเหมือนตัว หรือยิ่งกว่าตัว ให้ดีกว่ารักธรรมะ รักพระเจ้า โดยไม่ต้องรักตัว ถ้าจะมีตัวกันบ้างก็อย่ามีตัวกู ของกูเลย ให้มีตัวเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นตัว มีธรรมะเป็นธรรมะ แล้วเราอยากเรียกว่าตัวก็เรียกธรรมะว่าตัว เพราะถ้าในร่างกายนี้มันมีกายและใจ แล้วก็มีความรู้สึกที่เป็นธรรมะอยู่ในกายในใจ หรือปฏิบัติอยู่ที่กาย วาจา ใจ มีธรรมะอยู่ ก็ให้เอาธรรมะนั้นแหละเป็นตัว เป็นตัวธรรมะ ถ้าทำอย่างนี้ได้มันก็ไม่เกิดเรื่อง อย่างที่เกิดอยู่ มันเพียงแต่ว่ายังไม่หลุดพ้นในขั้นสุดท้ายเท่านั้น แล้วไม่เท่าไหร่มันก็จะหลุดพ้นในขั้นสุดท้ายได้เอง คือว่าเลิกความมีตัวเสียทั้งในธรรมะ และมิใช่ธรรมะ ทีนี้คนธรรมดา คนธรรมดาสามัญ เขาก็มีความรู้สึกที่อยากจะมีตัว ว่าสอนกันมาในลักษณะที่ให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวนี่หลายพันปี หลายหมื่นปีก็ได้ กระทั่งเดี๋ยวนี้พอเราเกิดมาเราก็ถูกแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวฉัน หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นตัว มีตัว เป็นตัว เป็นตัวเป็นตนจะที่ไหนนะก็ไว้พูดกันทีหลัง ถ้ามันมากนักก็มันมีตัวฉัน อยู่ที่นั่น ที่นี่ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ อะไรเป็นที่ตั้งความเห็นแก่ตัว มันก็เอานั่นเป็นตัวฉันกันทั้งนั้นนะ ก็ดูเด็ก ๆ ที่มันจะทะเลาะวิวาทกัน มันเอาอะไรเป็นตัวมันจึงได้ทะเลาะวิวาทกัน บางทีก็สมมุติด้วยซ้ำไปเพราะว่าไอ้คนหนึ่งมันเหยียบเงาหัวของคนหนึ่ง คนหนึ่งมันก็ชกเลยทันที มันก็ท้าว่ามันเหยียบหัวกู แล้วกูก็จะชกมันทันที นี่ความรู้สึกว่าเป็นตัวเกิดขึ้นแล้วจนกว่ามันจะหายไป จึงจะหมดตัวกันไปพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้อีก นี่เป็นธรรมดาสามัญ ฉะนั้นเราจึงมีหลักในทางธรรมทางศาสนาว่า อย่าไปยึดถือตัวในรูปนั้น ก็คือให้มันดีขึ้นไป ดีขึ้นไปจนมันหมดตัวไปในที่สุด ถ้าเมื่อยังทำไม่ได้ก็หวังไว้ก่อน ฝันไว้ก่อน ว่าเอาอะไรเป็นตัวให้มันดี ดี ดี ดีขึ้นไป จนกระทั่งเอาพระเจ้าเป็นตัวใหญ่ เราไปอยู่กับพระเจ้า เข้าไปเป็นอันเดียวกับพระเจ้า เป็นตัวที่ถาวรเป็นอันสุดท้ายที่จะมีตัว ต่อมาก็รู้ว่าพระเจ้านี่ก็เป็นสักว่าพระเจ้าตามที่เราคิดว่าเป็นพระเจ้า สมมุติว่าเป็นพระเจ้า ไม่ใช่ตัวก็เลิกกัน นี่เป็นใจความย่อ ๆ เป็นใจความสำคัญสำหรับผู้ที่มาใหม่ นี่เห็นว่ามีมาใหม่หลาย ๆ องค์ เดี๋ยวก็จะฟังไม่ถูก ก็เลยตั้งนะโมกันใหม่ พูดเรื่องเบื้องต้นกันใหม่ ฉะนั้นการพูดในวันนี้ก็จะได้พูดโดยหัวข้อว่า “ความว่างจากตัวกู” คืออะไร กันอีกครั้งหนึ่ง ความว่างจากตัวกูคืออะไร นี้พูดกันมามากแล้ว เดี๋ยวนี้ก็พูดอีกครั้งหนึ่ง ความว่างจากตัวกูนั้นคืออะไร ถ้าว่าเข้าใจคำว่าตัวกูดีแล้ว หรือว่ารู้สึกว่ามีตัวกูคืออย่างไรดีแล้ว มันก็รู้ได้เองว่าไอ้ความว่างหรือไม่มีตัวกูนั้นเป็นอย่างไร โดยที่มันเปรียบ กลับตรงกันข้าม โดยนัยยะตรงกันข้าม อย่างหนึ่งที่เรียกว่าไม่ว่างจากตัวกู อย่างหนึ่งเรียกว่า ว่างจากตัวกู ฉะนั้นเพื่อจะให้ง่ายเข้าก็อุตส่าห์ดูเองสิว่าเมื่อไหร่เรากำลังมีตัวกู พยายามจับตรงนี้ให้ได้ว่าเมื่อไหร่เรากำลังมีตัวกู ที่ไม่มีตัวกูก็คือมันตรงกันข้ามจากอย่างนั้น มันก็เข้าใจได้ทันที ทีนี้เรามันอยากมีตัวกู ชอบมีตัวกู จนไม่เห็นว่าเป็นของชั่ว เป็นของเลว เป็นของให้เกิดทุกข์ เราก็พร้อมที่จะมีตัวกูอยู่เรื่อย ไปรักษามันไว้นาน ๆ ด้วย ไม่ๆๆค่อยจะดับไปได้ง่าย ๆ นะดูได้ที่การพูดจา หรือ การกระทำ ที่ประพฤติกระทำอยู่วันหนึ่ง ๆ ก็หมายถึงว่า พูดกับตัวเองก็ยังมี มีลักษณะแห่งตัวกูของกู พูดกับผู้อื่นนั้นก็ยิ่งมีมาก มีลักษณะแห่งตัวกูมาก อย่างนั้นจะเอากันอีกทีก็ว่าเมื่อใดจิตมันขุ่นแล้ว จิตสักว่าขุ่นแล้ว ขุ่นมัวแล้ว ก็ดูเถอะจะพบตัวกูอยู่ในจิตนั้นนะ ในความรู้สึกนั้น จิตจะขุ่นมัวด้วยความโลภ ความกระหาย ความอยาก ความกำหนัดอะไรพวกหนึ่ง หรือว่าจิตจะขุ่นมัวด้วยความโกรธ ความแค้น ความกระสาย(18.16)ความพยาบาท รู้สึกระทบกระทั่งหงุดหงิด อันนี้มันก็พวกหนึ่ง หรือว่าจิตมันขุ่นมัวด้วยความสงสัยลังเล วิตกกังวล โง่เง่า นี่มันก็พวกหนึ่ง ที่เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ มีอยู่ ๓ กลุ่ม เมื่อใดจิตขุ่นมัว ตรวจดูให้ดีจะพบว่ามันต้องมีโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะอย่างใดอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไม่ๆสนใจไม่ศึกษา ไม่เรียนกันที่นี่ ไปเรียนแต่ในตัวหนังสือ ในเล่มหนังสือ มันก็ไม่พบกันกับตัวจริงของโลภะ โทสะ โมหะ มีความขุ่นมัวแห่งจิต แล้วก็มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วนั่นแหละมันคือตัวกู ของกู พยายามให้มันเคยชินเป็นนิสัย พอจิตมันขุ่นเท่านั้นนะ ก็รีบมองหาตัวกูทันที ทีนี้คนมันโง่ พอมันขุ่น พอมันหงุดหงิดแล้วมันก็โกรธ มันก็รู้สึกสบาย มันพร้อมที่จะเถียง มันพร้อมที่จะต่อต้าน พร้อมที่จะทะเลาะวิวาทไปเลย ไม่มีใครหยุดชะงักที่จะมองดูว่านี่เป็นตัวกู ของกูอยู่ที่ตรงไหน จะเป็นเรื่องของพระเณรในวัดก็ดี เป็นเรื่องของชาวบ้านก็ดี มันเหมือนกันหมด เพราะพอตัวกู ของกูเกิดขึ้น มันก็หมดความเป็นพระ เป็นเณร มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ถึงชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ชาวบ้านพอมันมีตัวกู ของกูเกิดขึ้น มันก็หมดความเป็นมนุษย์ หมดความเป็นไอ้ชาวบ้าน หมดความเป็นอุบาสก อุบาสิกา สำหรับผมนั้นเรียกว่ามันเป็นผี ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาวบ้านทั้งหลาย พอเกิดตัวกู ของกูแล้วมันกลายเป็นผีหมด ไปเหมือนกันตอนนี้ นี่ก็เพื่อจะให้มองให้ดีว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวกู ของกูนั้นมันเป็นผี มันไม่ได้มีตัวจริง แต่มันเพิ่งเกิดเพราะการกระทบทางอายตนะ มีอวิชชาเข้าครอบงำ เข้าผสม การสัมผัสทางอายตนะในกรณีใด มันมีความดึงดูดใจอยู่ในอารมณ์นั้น อวิชชาเกิดขึ้นผสมเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าอวิชชาสัมผัส อายตนะสัมผัสนั้นเป็นอวิชชาสัมผัส มันก็มีตัวกูเกิดเป็นผีขึ้นมาทันที ปรุงเป็นกิเลสขึ้นมาทันที นี้ก็อย่างที่พูดแล้ว กิเลสทุกชื่อ ทุกความหมาย ก็คือ ตัวกู ของกู อยากจะเอาเข้ามาก็เรียกว่าความโลภ อยากจะตีกลับออกไปก็เรียกว่า โทสะ คือ ความโกรธ สงสัยลังเลวนเวียนอยู่รอบ ๆ ก็เรียกว่าโมหะ ตัวกูมันมีอาการอย่างนั้น ทีนี้หัวข้อของเรามีว่า ความว่างจากตัวกูคืออะไร ต้องฟังให้ดีมันมีว่า คำว่าความว่างจากตัวกู ไม่ได้พูดถึงว่างอย่างอื่น เมื่อพูดถึงเรื่องความว่าง นี่ก็ต้องว่างจากตัวกู ไม่ใช่ว่างจากสิ่งอื่นๆไม่ต้องว่าง รูปธรรมก็มีอยู่เต็มไปทั้งโลก นามธรรมก็ควรจะมีอยู่ในจิตใจ สำหรับคนที่มันยังไม่ตาย ถ้าคนมันยังไม่ตายแล้วมันต้องคิดนึกได้ด้วยความรู้สึก ไอ้สิ่งที่เรียกว่านามธรรม หรือ รูปธรรมมันก็ต้องมีอยู่เต็มที่ แต่อย่ามีเป็นตัวกู ของกูเท่านั้นแหละ ก็เรียกว่างจากตัวกู ของกูได้ อย่างนั้นคนมีชีวิตอยู่ คิดนึกอยู่ ทำอะไรอยู่ อย่างเต็มกำลังด้วยซ้ำไปก็เรียกว่ามันว่างจากตัวกู ของกูอยู่นั่นแหละ คือ มันไม่มีความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกู ถ้าอย่ามีความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู ไม่เกิดกิเลส แล้วก็ไม่เหนื่อย แล้วก็ดูพอดี สบายไป ถ้าเหนื่อยก็หยุดทำ ไม่เหนื่อยก็ต่อไป แล้วทำด้วยจิตชนิดนี้มันเหนื่อยยาก มันไม่เหมือนกับจิต ไม่เหมือนกับทำด้วยจิตที่เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือว่าใจถือเสียเลยว่าไม่ได้ทำก็ได้ เพราะเมื่อไม่มีตัวกูแล้วใครทำล่ะ มันก็เป็นเพียงว่าเคลื่อนไหวไปตามกฎของธรรมชาติ ร่างกาย จิตใจอยู่มีความรู้สึกถูกต้องอยู่ ก็เคลื่อนไหวไปตามความรู้สึกถูกต้องนั้น ไม่ต้องมีตัวกู นี้มันเป็นของจริง เป็นภาษาธรรม ถ้าเป็นของสมมุติหรือเป็นภาษาโลกมันก็มีตัวกู มีตัวฉันเป็นผู้ทำ ได้ผลเป็นของฉัน เก็บมาสะสมไว้เป็นของฉัน นี่ใครมาขโมย ตีหัวมัน นี่มันก็เป็นเรื่องตัวกู ของกูไปหมด โดยสมมุติ แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของสมมุติ มันกลายเป็นเรื่องจริง อย่างนั้นคนที่เขารู้สึกว่ามีตัวกู ของกู เขาก็เห็นเป็นความจริง เป็นของจริง ไอ้คนที่ไม่รู้สึกว่ามีตัวกู มีของกู มันก็รู้สึกเป็นความจริง คนมันจึงต่างกัน เพราะคนหนึ่งมันเป็นปุถุชนมากเกินไป อีกคนหนึ่งเป็นพระอริยเจ้า พอเริ่มเป็นพระอริยเจ้า มันก็เริ่มจางคลายออกมาจากตัวกู ของกู เรื่อย ๆ ไปจนเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงสุดก็หมดความมั่นหมายเป็นตัวกู ของกู นี่ปุถุชนมันก็อยู่ไปตามนั้น เดี๋ยวมันโกรธ เดี๋ยวมันเกลียด เดี๋ยวมันกลัว เดี๋ยวมันอยากได้ เดี๋ยวมันกำหนัดยินดี เดี๋ยวมันก็วิตกกังวล ขอให้สอบสวนดูตัวเองว่าพระเณรองค์ไหนที่ไม่มีวิตกกังวล อย่างน้อยก็วิตกกังวลว่ากูจะอยู่ดี หรือจะสึกดี ถ้ากูสึกออกไป กูจะทำอะไร กูจะหากินอย่างไรต่อไปข้างหน้า หรือ กูควรจะอยู่เป็นพระเรื่อย ๆ ไป ก็มีวิตกกังวลในเรื่องความได้ ความเสีย ความสุข ความทุกข์ ของตัวกู เราจึงเห็นได้ว่าพระเณรสมัยนี้ ยิ่งมีตัวกู ของกูชนิดนี้ที่เป็นเหตุให้วิตกกังวลนี้มาก แม้เขาจะเรียนบาลี เรียนธรรมะ เรียนวินัยอยู่ก็ด้วยความวิตกกังวลว่าตัวกูต่อไปข้างหน้าจะกินอะไร จะสบายได้อย่างไร จะมีคนรักใคร่นับถือหรือว่าจะเจริญโดยลาภสักการะ เสียงสรรเสริญได้อย่างไร นี่วิตกกังวลอย่างนี้ทั้งนั้น นั่นคือตัวกูที่แน่นแฟ้น ที่แน่นหนาอยู่ในจิตใจ นี่ถ้าไม่มีตัวกูจะเป็นอย่างไร ก็หมายความไม่ต้องวิตกกังวลก็ได้ คิดดูให้ดีว่าควรทำอย่างไรก็ทำไป เวลาวันนี้จะใช้เป็นประโยชน์อย่างไร ก็ทำไปแล้วก็ลืมตัวกูของกูเสีย ทำด้วยสติปัญญา ด้วยคุณธรรมที่เรียกว่ากุศลธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในจิต มันบังคับให้ร่างกายนี่เคลื่อนไหวไปในทางที่ถูกต้อง แม้จะเป็นเรื่องกินอาหาร ไปหาอาหารมากิน มาฉัน ก็ไม่ต้องให้มันมากถึงกับว่าวิตกกังวลห่วง ด้วยเรื่องว่าจะไม่มีฉัน ได้มาแล้วก็อย่ายินดี นึกตะกละ ละโมบโลภลาภเมื่อไม่ได้อย่างอกอย่างใจก็โกรธคับแค้น นี่ก็จะเป็นเรื่องตัวกู ของกูไปได้หมด นี่เรามีปัญหากันตรงนี้ คือบังคับจิตไม่ได้ จะเรียกว่าบังคับจิตนั้นก็ยังไม่ถูกนัก ก็ต้องเรียกว่าควบคุมระบบของจิต คือ พฤติของจิตไว้ไม่ได้ เมื่อเราควบคุมระบบของจิตไม่ได้ มันก็ปรุงแต่งให้ไหลไปในทางที่จะเกิดตัวกู เพราะมันง่ายมาก มันชินที่สุดเพราะเป็นอาสวะ เป็นอนุสัยอยู่แล้ว มันเคยชินที่สุดที่จะเป็นอย่างนี้ เราไม่หลุดพ้นไปจากอาสวะนี้ ก็คือเราไม่หลุดพ้นไปจากความเคยชินชนิดนี้ เราก็ต้องเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อย นี่ถ้ามันจางออก จางออก ให้มันหลุดออกไปเสียจากความเคยชินชนิดนี้ ไม่เกิดตัวกู ของกู ก็เรียกว่าจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เรียกง่าย ๆ ว่าหลุดพ้นไปแล้วจากความเคยชินที่จะเกิดตัวกู ของกู มีเท่านี้เอง คำพูดนี้มันสั้น ๆ แต่มันมีความหมายลึก ก็พิจารณาดูตัวเองสิ ยังไง ๆ เราก็ออกไปไม่ได้จากไอ้เครื่องผูกพันแห่งการเกิดตัวกู ของกู นี่เรียกว่าเรามันอยู่ในอาสวะ ถูกขัง ถูกดอง ถูกอะไรไว้ในขอบเขตของอาสวะ ของอนุสัย นั่นแหละคือ ตัวแดน แดนเกิด หรือว่าที่เกิด หรือว่าบ้านเมืองของตัวกู ของกู ตรงมารู้เรื่องนี้กันที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันจึงจะค่อย ๆ จางออก ไอ้ความเคยชินที่จะเป็นตัวกู ของกู มันจางออก คือ มันน้อยลง เรียกว่า จางออก จางออก จางออก จนถึงโอกาสหนึ่งมันหมดไปเลย ไม่มีความชินอันนี้เหลืออยู่เลย ก็เกิดความรู้สึกชนิดนี้อีกไม่ได้ จึงเรียกไม่เกิดตัวกู ของกูอีกต่อไปก็ได้ หรือจะพูดอีกที ว่าไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อีกต่อไปก็ได้ จะพูดสรุปเป็นว่าไม่มีฉันทราคะในสิ่งใด ในเบญจขันธ์อีกต่อไป อย่างนี้ก็ได้ มันได้ทั้งนั้นมันเรื่องเดียวกันหมด เราจะพูดกันอีกกี่ปี กี่ปีมันก็มีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว เรียกชื่อได้ต่างกัน บัญญัติกริยาอาการ ชื่อของกริยาอาการได้ต่าง ๆ กัน แล้วแต่จะพรรณนา เรียกว่าแล้วแต่จะพรรณนาให้มันละเอียดไปในส่วนไหน พูดด้วยใจความไม่ต้องพรรณนากันก็ว่า มีสติ สัมปชัญญะ ระวังอย่าให้เผลอจนจิตมันมีการปรุงแต่งไปในทางที่จะเกิดตัวกูของกู ที่สติ สัมปชัญญะ นั้นมันต้องมาจากความรู้ แล้วเราก็ต้องทำให้เกิดความรู้ เวลาที่เราจะต้องทำให้เกิดความรู้ เราก็ต้องทำให้มันเกิดความรู้ เช่น เรามีเวลาว่างเมื่อใด ฉันอาหาร บิณฑบาตแล้ว เข้าไปสู่ที่สงัด มีโคนไม้ มีเรือนว่าง มีถ้ำ มีอะไรก็แล้วก็ไปก็นั่งในที่สงัดนั้นทำให้เกิดความรู้ เพื่อรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเพื่อรู้อะไรก็ตาม เพราะผลสุดแท้ของมันคือรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง ซึ่งล้วนแต่ขึ้นอยู่กับตัวกู ของกูทั้งนั้นแหละ ไอ้ที่ดีที่สุดที่วิเศษที่สุดก็คือ ให้รู้เรื่องจิต เรื่องกายนี่ไอ้เรื่องรูป เรื่องนาม นี่มันอยู่กันอย่างไร มันปรุงกันอย่างไร แล้วมันโผล่เป็นตัวกูของกูมาอย่างไร คือมันไม่ว่างแล้วนี่มันเป็นอย่างไร แล้วอย่างไรเรียกว่ามันว่างอยู่ แล้วศึกษาเรื่องการเกิดขึ้นแห่งปัญจุปาทานขันธ์ เป็นตัวกู ของกู แล้วศึกษาเรื่องจิตที่มันว่าง จากการเกิดขึ้นแห่งปัญจุปาทานขันธ์ ไม่มีตัวกู ของกู นี่ดูแต่อย่างนี้ นี่เป็นความรู้ จนมีความแน่ใจเห็นแจ้งชัดลงไปว่าทุกข์เกิดมาจากไอ้มีสิ่งนี้ ความไม่มีทุกข์เกิดจากความไม่มีสิ่งนี้ ทีนี้ก็ได้ความรู้ที่เป็นหลักว่าเราต้องรักษาจิตคือดำรงจิต ควบคุมจิตไว้ในลักษณะอย่างนี้ ทีนี้พอออกมาสู่ที่ ๆมันจะต้องกระทบกันเข้ากับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเพศตรงกันข้าม นั่นแหละคือเวลาหรือโอกาส หรือสถานที่ หรืออะไรก็ตามที่จะต้องใช้สติ สัมปชัญญะมากพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ชัดแล้ว ในพวกอังคุตตรนิกาย หมวดที่ ๑ ไม่มีรูปอะไรที่จะครอบงำจิตใจของบุรุษแล้วตั้งอยู่อย่างแน่นแฟ้น เหมือนรูปที่เกี่ยวกับสตรี แล้วก็ไม่มีเสียงอะไรที่จะครอบงำจิตใจของบุรุษตั้งอยู่แน่นแฟ้น เหมือนกับเสียงที่มันเกี่ยวกับสตรี เรียกว่าของสตรีโดยตรงก็ได้แต่มันไม่หมด ต้องพูดว่ามันเกี่ยวกับสตรี แล้วก็ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีสัมผัส ไม่มีอะไรที่จะครอบงำจิตบุรุษตั้งอยู่แน่นแฟ้นเหมือนกับอารมณ์เหล่านั้นที่มันเกี่ยวกับสตรี ทีนี้พอถึงฝ่ายผู้หญิงก็เหมือนกันอีกแหละ มันไม่มีอะไร ไม่มีรูปอะไรที่จะครอบงำจิตใจของสตรียิ่งไปกว่ารูป หรือ เสียง หรือ กลิ่น หรือ รส หรือ สัมผัส ที่มันเนื่องด้วยบุรุษ นี่ก็หมายความว่าอารมณ์อย่างอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามนั้นมันไม่รุนแรง ไม่รุนแรงเหมือนกับอารมณ์ที่เกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม มันแล้วแต่ว่าเจ้าตัวนั้นจะเป็นฝ่ายไหน มันต้องมีฝ่ายตรงกันข้ามมาประกวด(33.46) และคำพูดนี้ก็กล่าวไว้สำหรับบุคคลที่มีอายุเต็มที่ของความเป็นมนุษย์ คือเป็นผู้ที่รู้เรื่องเพศแล้ว ซึ่งจะมีความหมาย ทีนี้เราก็สังเกตดูสิว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มันเป็นอย่างไร จริงมาก จริงน้อยอย่างไร ก็รู้กันดีอยู่แล้วเรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้ามมันเป็นอย่างไร พอแว่วมานะมันลืมอะไรหมด สติ สัมปชัญญะ ไม่รู้ไปอยู่ไหนหมด เกิดการปรุงแต่งทางจิต มีพฤติของจิตเป็นไปในทางที่จะเกิดตัวกู ของกู มีความกำหนัดยินดีแม้เพียงสักว่าได้ยินเสียงเท่านั้น แม้สักว่าได้กลิ่นนะ หรือว่ากลิ่นปลอมก็ได้ หรือแม้สัมผัสจะเป็นสัมผัสปลอมก็ได้ ถ้าถูกปลอม มันมีความหมายเรื่องเพศตรงกันข้ามมากอย่างนี้ ที่ทำให้เกิดตัวกู ของกู ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเพศนั้นมันเป็นเพียงอุปกรณ์ของสิ่งที่เรียกว่าเพศ คือ เครื่องสนับสนุน เครื่องช่วยเหลือด้วยเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกี่ยวกับเพศ อย่างเรากินอาหารมีชีวิตอยู่นี้ มันก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่เพื่อจะมีกิจกรรมทางเพศ เพื่อความรู้สึกคิดนึกทางเพศ มันเป็นเรื่องใหญ่เสียทีเดียวสำหรับปุถุชนคนธรรมดา อย่างนั้นเรื่องตัวกูของกูมันก็ไปบ้าจัดอยู่ที่เรื่องเกี่ยวกับเพศตรงกันข้าม นอกนั้นมันก็เป็นเรื่องรอง ๆ ลงมา เป็นเพียงอุปกรณ์ นี่เรียกว่าคนธรรมดาในโลกนี้เรียกว่าพวกกามาวจรเป็นอย่างนี้ ที่เรียกสูงไปจากนี้ก็มีมาก ที่ไม่เกี่ยวกับเพศ เป็นพรหม เป็นอะไรนี่ ก็มีตัวกู ของกูไปอีกทางหนึ่ง มันยึดมั่นในสิ่งใด มันก็มีตัวกู ของกูในสิ่งนั้น ถ้าสมมุติว่าจะพูดถึงเรื่องพรหม รูปพรหม อรูปพรหมก็ตาม เขาก็ต้องการไอ้ความประเล้าประโลมใจจากสิ่งที่มิใช่กาม จะต้องการให้มีความรู้สึกสบาย เอร็ดอร่อยในทางจิตใจเหมือนกัน ก็เป็นความสุขประเภทที่มีเวทนาด้วยกัน ไม่มีอะไรที่จะดีกว่ากันมากมายนัก เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเป็นตัวกู ของกูด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นพวกพรหมจึงได้ถูกกล่าวไว้ว่ากลัวตายมากกว่าสัตว์ธรรมดาเสียอีก ถ้าสัตว์ธรรมดามันไปบ้ากามเสียมันก็ลืมกลัวตายได้ แต่เมื่อพวกพรหมไม่บ้ากาม ไปเห็นแต่ตัวที่บริสุทธิ์เป็นสุขอยู่มันก็เลยกลัวตายมากกว่า อย่างนี้เป็นต้น นี่ในบาลีเขากล่าวไว้อย่างนี้ พอพูดถึงว่าดับเสียซึ่งสักกายะ ดับเสียซึ่งสักกายะพวกพรหมสะดุ้ง พวกกามาวจรยังไม่หวั่นไหว เพราะว่ามันไม่ๆเข้าใจหรือไม่สนใจที่จะดับสักกายะ ดับตัวกู ดับของกู มันไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเรื่องกามารมณ์ นี่ขอให้สังเกตได้ว่า พวกกามาวจร พวกรูปาวจร อรูปาวจร ล้วนแต่มีตัวกูทั้งนั้นแหละ พวกกามาวจรก็นับตั้งแต่ว่าเทวดาชั้นกามาวจรลงมาถึงมนุษย์ ลงไปถึงครึ่งมนุษย์ อมนุษย์ กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมันน้อยลงทุกทีนะ เรียกว่าพอใจในกามเหมือนกัน แต่ว่ามันน้อยลงไป เช่น สัตว์เดรัจฉานนี่ความพอใจในกาม ความหลงใหลในกามมันน้อยกว่าคน ดูให้ดี ๆ เพราะคนมันคิดได้มาก สัตว์เดรัจฉานมันคิดได้น้อย มันจึงรู้สึกน้อย หรือหวังน้อย ถ้าว่าผู้ใดหรือสัตว์ใดมันมีความรู้สึกคิดนึกได้มาก เกี่ยวกับรสอร่อยของอารมณ์เหล่านี้แล้วอันนั้นมันก็ยึดถือมาก พอยึดถือมากก็มีตัวกู ของกูใหญ่มากแล้วก็ละได้ยาก เช่นเดียวกับที่มนุษย์จะละความรู้สึกทางเพศนี่ มันละได้ยากหรือพอพ้นในเรื่องทางเพศไปแล้วมันก็ไปติดในเรื่องทางรูป ทางอรูป ที่ให้สุขเวทนาอย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน แล้วก็ต้องถือว่าไอ้ตัวกู ของกูนี่มันมีด้วยกันทั้งนั้น และของพวกรูป พวกอรูป คือพรหมนั่นแหละ มันก็มีตัวกู ของกูที่ใหญ่โตกว่าของพวกกามาวจรนี่เสียอีก ก็เลยไม่ว่างคือไม่ว่างจากตัวกู ของกู นี่เป็นใจความโดยย่อที่บอกให้รู้ว่าตัวกู ของกูมันคืออะไร มันไม่ใช่อยู่ที่เนื้อหนังร่างกายนี้ มันไม่ใช่อยู่ที่จิตใจวิญญาณเจตภูตินั่น นั่นมันคนโง่พูด เอารูปเป็นตัวกู เอาเวทนาเป็นตัวกู เอาสัญญาเป็นตัวกู นั้นมันก็ยังไม่ชัด ถ้าให้ชัดมันต้องเป็นเรื่องของสังขาร ความคิดนึกปรุงแต่งในทางจิต จนเกิดความรู้สึกมั่นหมายเป็นตัวกูเป็น ของกู เป็นอัตตา เป็นอัตตนียา นี่ความคิดอันนั้นแหละคือตัวกู ของกู เกิดมาจากเหตุปัจจัยที่ทำให้มันรู้สึกอย่างนั้นหรือคิดอย่างนั้นตามธรรมชาติของมนุษย์ เราพยายามศึกษาสังเกตพินิจพิจารณาให้ละเอียดจนรู้สึกสิ่งนี้กันให้มาก สิ่งที่เรียกว่าตัวกู ของกู ถ้าเรียกเป็นธรรมะ เป็นภาษาธรรมะ เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาธรรมะแท้ด้วยก็มันเรียกว่า ปัญจุปาทานขันธ์ อย่างที่ได้พูดกันมากเป็นพิเศษ ละเอียดชัดเจนเมื่อวานนี้ เรื่องปัญจุปาทานขันธ์นั้นนะ ถ้าใครได้ฟังก็เอาไปคิดไปหยั่งไปเปรียบเทียบดู มันคือ ลักษณะตัวกู ของกูโดยละเอียด เมื่อไหร่เกิดปัญจุปาทานขันธ์ เมื่อนั้นเป็นตัวกูของกู เมื่อไหร่เป็นเพียงขันธ์เฉย ๆ เมื่อนั้นยังไม่เป็นตัวกู ของกู เมื่อกายและใจมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นอายตนะ สัมผัสอะไรกัน มันก็ยิ่งไม่มีอะไรใหญ่ มีอยู่ธาตุตามธรรมชาติ พอได้โอกาสมันสัมผัสกัน แล้วมันเกิดเป็นความรู้สึกทางตา ทางหู ขึ้นมา เกิดรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นมา มีสัญญาในสุขและทุกข์นั้น แล้วก็คิดปรุงแต่งไปจนว่ากูนี่เป็นผู้ได้ เป็นผู้เสีย เป็นผู้สุข ผู้ทุกข์ ผู้แพ้ ผู้ชนะ ผู้อะไรต่าง ๆ ไม่อยู่ในชั้นที่เรียกว่าความคิดนึก สังขาร สังขาร คือ ความคิดปรุงแต่ง จะไปนั่งดูพิจารณาดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณล้วน ๆ ก็ได้ แล้วไปดูรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอุปาทานว่าตัวกู ก็ไปปนอยู่ ประกอบอยู่อย่างเต็มที่ก็ได้ อันหลังนี่มันเป็นตัวกู ของกู ทีนี้เมื่อเข้าใจเป็นอย่างนี้แล้ว ก็คอยระวังว่าเมื่อไหร่มันเกิดขึ้นครอบงำจิตใจของเรา เมื่อไร ที่ไหน วันเวลาใด วันหนึ่งถูกครอบงำกี่ครั้ง นี่เรียกว่าประพฤติธรรม ประพฤติธรรมะ หรือปฏิบัติธรรมะ หรือบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ มันอยู่ที่ตรงนี้ ที่เรียกว่าทำวิปัสสนาอย่างเต็มที่ ก็ได้ มันอยู่ที่ตรงนี้ เห็นแจ้งข้อนี้อยู่ มีสติ สัมปชัญญะ ระวังอย่าให้มันเกิดไปในทางที่จะเป็นอุปาทานขันธ์จนเป็นทุกข์อยู่ นี่คือบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ทำวิปัสสนาอยู่ตลอดทุกอิริยาบถ ตัวกูก็ไม่เกิด ก็เรียกว่าความว่างจากตัวกู นี่คำพูดภาษาธรรมะอย่างนี้ เรียกว่าความว่างจากตัวกู ซึ่งเป็นเพียงผีชนิดหนึ่ง ทีนี้เด็กโง่ ๆ หรือ เด็กหัวหงอก คืออายุมากจนหัวหงอกแล้วยังเป็นเด็กโง่ ก็ฟังไม่ถูกนะ ว่างจากตัวกูคือไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครเลย ว่างจากตัวกู ตายแล้วไม่มีเหลืออยู่แล้วนี่ว่างจากตัวกู อย่างนี้มันภาษาคนโง่ คนตายแล้วจะมีปัญหาอะไร เดี๋ยวนี้คนมันยังไม่ตาย แล้วมันมีตัวกูเกิดแล้วมันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ก็ต้องขจัดไอ้ความรู้สึกที่เป็นตัวกู ของกูซึ่งเป็นเพียงผีชนิดหนึ่งให้มันออกไปเสียจากร่างกายนี้ และจิตใจนี้ ให้ร่างกายนี้มันว่างจากตัวกู แล้วก็ไม่มีความทุกข์ คนก็ไม่ต้องตาย ไม่ต้องไปฆ่าตัวตาย ทีนี้บางคนที่คิดว่า ความว่าง หรือจิตว่าง หรือ ความไม่มีตัวกู นี้คือ จิตไม่คิดอะไรเลย จิตไม่คิดอะไรเลยมันก็ถูกทำให้สลบไปด้วยยาสลบ หรือว่านอนหลับเสีย หรืออะไรก็ตามก็ว่าจิตไม่มีตัวกู อย่างนี้มันก็ไม่ถูก นั่นมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหานี้เรามันมีอยู่ตรงเดี๋ยวนี้เรารู้สึกดีทุกอย่าง ไม่ได้ตาย ไม่ได้หลับ ไม่ได้สลบ มันมีความคิด ความรู้สึกชนิดหนึ่งทำให้เป็นทุกข์ เอานั่นออกไปเสีย เอาตัวกูกูออกไปเสีย คือความรู้สึกคิดนึกชนิดนั้นซึ่งเป็นของไม่จริง เพิ่งจะเกิด เกิดอย่างผีหลอกเอาออกไปเสีย แล้วไม่มีตัวกู ของกู ก็ว่างจากตัวกู ของกู ให้ตัวกู ของกูมันตายโดยที่นามรูปนี้ไม่ต้องตาย กายกับใจนี้ไม่ต้องตาย ให้ตัวกู ของกูที่เป็นเพียงผีตาย นี่ถ้าพูดอีกทีหนึ่งเป็นปริศนา ก็พูดอย่างว่าตายเสียก่อนตาย ให้ตัวกู ของกูตายไปเสียก่อนที่นามรูปนี้จะตายเท่านั้นเอง พอไอ้ตัวนี้ตายก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าตายชั่วคราวก็ไม่มีความทุกข์ชั่วคราว ถ้ามันตายตลอดไปมันก็ไม่มีความทุกข์ตลอดไป เป็นพระอรหันต์ไป ถ้าตายชั่วคราวก็เหมือนกับที่ว่าเรายังเป็นปุถุชน หรือเป็นพระอริยเจ้าต้น ๆ นี้ก็ตายชั่วคราว หรือตายบางส่วน แต่ถ้าตัวกู ของกูไม่เกิดแล้ว เขาเรียกว่า มันดับ ถ้าตัวกูมันดับมันก็ไม่มีความทุกข์ เพราะมันไม่มีตัวกู ของกู ก็ความทุกข์มันต้องตั้งอยู่บนตัวกู ของกูเสมอ อย่างที่สวดตอนเช้า ทำวัตรเช้าอย่างนั้นแหละ อุตส่าห์จำไว้เสียแล้วไปคิดบ่อย ๆ ไม่ใช่สวดเป็นนกแก้ว นกขุนทองไปเสียเรื่อย เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ถ้าเข้าใจไอ้คำที่เราสวดอยู่เสมอนี้ก็ง่ายมากแก่การปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจ แล้วก็แปลออกมาแล้ว สวดคำแปลแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ยังคงเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่ครึ่งหนึ่ง ก่อนนี้มันเป็นนกแก้วนกขุนทองทั้งหมด ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ทีนี้แปลออกมาได้เข้าใจตัวหนังสือ ความหมาย พยัญชนะอะไรได้ แต่ไม่เข้าใจอรรถอันลึกซึ้งหรือแท้จริงนี่ ก็เลยเป็นนกแก้ว นกขุนทอง ครึ่งหนึ่งก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องให้รู้สึกเต็มที่นะ ว่าขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ คืออะไร อยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ เกิดขึ้นมาอย่างไรให้มันชัด ถ้าทำทุกวัน ๆ ๆเหมือนเราตั้งนะโมทุกวัน ถ้าเห็นว่ายังไม่ชนะเรื่องนี้แล้ว อุตส่าห์ขยัน ไหว้พระ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เพื่อจะได้ระลึกนึกถึงเรื่องนี้อยู่ทุกวัน แม้โดยปาก โดยความคิดนึกชั่วขณะ มันก็กันลืมได้ แล้วบางทีโอกาสเหมาะมันรู้แจ้งโล่งออกไปเต็มที่ก็ได้เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะมานั่งทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นแล้วก็ให้ตั้งใจเอาประโยชน์ให้มากที่สุดแหละ ก็อย่าสักแต่ปากว่าให้จิตมันเข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงไปด้วย พอเราเรียนจำได้แล้วปากมันว่าได้นะ เราหลับครึ่งหนึ่งปากมันก็ว่าได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ค่อยสำเร็จประโยชน์หรอก ฉะนั้นการไหว้พระสวดมนต์นี้ ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์มันก็ต้อง อย่างน้อย อย่างเลวที่สุดให้มันเป็นสมาธิ คือจดจ่ออยู่ที่คำที่พูด ที่ว่าให้มันแน่วแน่ให้มันถูกต้องนี่เป็นสมาธิ ถ้าอย่างดีเข้าใจเห็นแจ้งซึมซาบอยู่ในข้อนั้น ย้ำอยู่เรื่อยไป ย้ำอยู่เรื่อยไปว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันย้ำอยู่เรื่อยไป มันย้ำไอ้ความสลด สังเวช เบื่อหน่าย คลายกำหนด คราวละเล็ก คราวละน้อยมันเรื่อยไป มันมีหวังที่มันจะถึงที่สุดได้วันหนึ่ง ฉะนั้นการที่เอาไอ้บทนี้มาสวดไว้นี่ก็นับว่าดีมาก เรื่องอนิจจัง เรื่องอนัตตา แล้วก็สรุปว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ นั่นคือเกิดขึ้นแห่งตัวกู ของกู ที่ว่าจิตมันไม่เกิดอุปาทานในเบญจขันธ์อย่างนี้ ก็เรียกมันว่าง สภาพที่ว่างจากตัวกู ของกู ก็ไม่มีทุกข์ มีเท่านี้ ระวังอย่าให้วุ่น อย่าให้ปรุงเป็นตัวกู ของกู ให้ว่างจากตัวกู ของกู ควบคุมอยู่ทุก ๆ อิริยาบถ คำว่าทุก ๆ อิริยาบถนั้นมันไม่ใช่มุ่งหมายแต่เพียงว่าเดิน ยืน นั่ง นอน เพราะว่าในเมื่อเดินอยู่มันก็มีอิริยาบถอื่นแทรกอยู่ นั่งอยู่ก็มีอิริยาบถอื่นแทรกอยู่ เพียงแต่เรานั่งคุย นั่งกินอาหาร หรือว่านั่งดูอะไรก็ได้ คำว่านั่งอย่างเดียวมันก็มีอิริยาบถที่ย่อยลงไปอีกหลาย ๆ อย่าง นั่งถ่ายอุจจาระก็ได้ นั่งถ่ายปัสสาวะก็ได้ นั่งกินอาหารก็ได้ นั่งดูอะไรก็ได้ นั่งคิด นั่งคุยก็ได้ให้ตลอดอิริยาบถนั่ง นี่มันลืมหูลืมตาให้มันฉลาดอยู่เสมอ เมื่อยืน เมื่อเดินก็เหมือนกัน เมื่อนอนถ้ามันยังไม่หลับละก็ ให้มันมีการกระทำที่ให้แจ้ง ให้มันว่างจากตัวกู ของกูอยู่เสมอ ถ้ามันหลับให้หลับด้วยสติ สัมปชัญญะ มันก็ไม่ปรุงไม่คิดไม่ฝัน ไม่ปรุงเมื่อมันหลับ พอตื่นขึ้นมามันก็เข้ารูปเดิมอีก มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดตัวกู ของกูตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น ทำได้อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ อยู่ทุกอิริยาบถทั้งหลับทั้งตื่น นั่นหละคือว่างจากตัวกู คุณคิดดู ไม่ใช่ไปฆ่าตัวเองให้ตายเสียแล้วมันจะได้ว่างจากตัวกู ของกู นี่มันโง่เกินกว่าที่จะเรียกว่าโง่ หรือว่าไปสูบเฮโรอีนหรือยาอะไรที่มันให้หมดความรู้สึกไปเสียมันจะได้ว่างจากตัวกู ของกู อย่างที่พวกบางพวกเขาทำอยู่ มันก็ไม่ถูกกับเรื่อง มันคนละเรื่อง หรือแม้แต่จะไปฝึกเข้าฌานดับเงียบสงบเป็นสมาบัติไปเสีย มันก็ยังไม่หมดจากตัวกู ของกู พอออกมามันก็เอาอีก มันคล้าย ๆ กับว่าเอาอะไรไปทับไว้ เพราะอย่างนั้นจึงต้องการจัดการกันด้วยการรื้อถอน รื้อราก ถอนราก ตัดราก ทำลายรากจึงจะเป็นเรื่องทำลายตัวกู ของกู หรือว่ามันยังทำไม่ได้อย่างนั้น มันก็มีการป้องกัน มีสติ สัมปชัญญะ ป้องกัน เดี๋ยวนี้เรามันไม่เอาไม่ทำความสำรวมสติ สัมปชัญญะ เพื่อจะป้องกัน เราปล่อยตามสบาย เราไม่เห็นว่าสำคัญเราก็เลยปล่อยตามสบาย นี้เป็นความประมาท มันก็เป็นคนตายแล้ว ตายตามความหมายธรรมดา เมื่อประมาทแล้ว ทีนี้เรามันเป็นคนไม่ละอาย เป็นคนไม่รู้จักละอายไม่มีหิริโอตตัปปะ ควรจะละอายมันก็ไม่ละอาย มันเถียงเรื่อย มันแก้ตัวเรื่อย มันบิดพลิ้วเรื่อย มันไม่มีหิริโอตตัปปะ อย่างนี้มันก็ป้องกันตัวกู ของกูไม่ได้ มันก็เกิดได้เรื่อยไป มันมากลายเป็นตัวกู ของกูไปเสียเองแล้ว เมื่อไหร่เราไม่มีความละอาย คือ ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เมื่อนั้นมันเป็นผีไปแล้ว มันเป็นตัวกู ของกูไปเสียเองแล้ว มันก็เลยไม่มีใครจะช่วยป้องกันใคร นี่ถ้ามันมีหิริโอตตัปปะ ขึ้นมา มันเป็นสัตตบุรุษนะมันไม่ใช่ผี มันก็มีเครื่องที่จะป้องกันไม่ให้เกิดตัวกู ของกูได้ ฉะนั้นเวลานั้นมันจึงว่างจากตัวกู ของกู ขอให้สนใจกันใหม่ว่าไอ้เรื่องหิริโอตตัปปะ นี่ไม่ใช่เล่น ไม่ใช่เล็กน้อย เดี๋ยวนี้อวดดีประมาทกันนัก จนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย บางคนใช้คำว่าหญ้าปากคอก พอเปิดนวโกวาทขึ้นมาหน้าแรกก็พบหิริโอตตัปปะแล้ว นี่หญ้าปากคอกแล้วก็เลยดูถูก ยิ่งโง่ลงไปอีกหลายชั้น มันก็เลยขาดทุนมากขึ้นไปอีก มันน่าประหลาดที่ว่าไอ้ใบแรกของนวโกวาทส่วนธรรมวิภาคมันขึ้นเป็นหิริโอตตัปปะ มีสติ สัมปชัญญะ มีขันติโสรัจจะนี่วิเศษที่สุดเลย มันเป็นธรรมะสำคัญที่จะต้องมี สติ สัมปชัญญะ นั้นเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นทุกอย่าง ทุกกรณี แม้แต่ขันติโสรัจจะนี้ก็สำคัญมาก เดี๋ยวนี้ไม่อดทนเราไม่ยอมอดทน ทนหิว ทนกระหาย ก็ไม่อดทน ทนเจ็บทนไข้ ทนลำบาก ก็ไม่อดทน ทนเหน็ดทนเหนื่อย ทำการงานให้ลุล่วงไปด้วยดีในการบำเพ็ญสมาธรรมก็ไม่อดทน แล้วก็ไม่ทนต่อโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่มันทำลำบากบ้าง แล้วก็ไม่ทนต่อการบีบคั้นของกิเลส กิเลสบีบคั้นนิดเดียวย้อมแพ้ ไปทำตามอำนาจของกิเลสเสียแล้ว นี่เรียกว่าไม่อดทนคือไม่มีขันตี ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่สดชื่น ทำเล่นกับไอ้หญ้าปากคอก แม้จะยืดออกไปถึงคำว่าบุพการี กตัญญูกตเวที นี้ก็สำคัญอีกนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องยี่จับสี่เห่าที่เขียนอยู่ที่เสานั้น มันเป็นเรื่องชาวบ้านกตัญญูอย่างนั้น แต่ว่าเรามันต้องกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า ถ้าเรามันมีจิตใจกตัญญูต่อพระพุทธเจ้าแล้วเราจะปล่อยเราให้เลวไม่ได้ เพราะเราปล่อยเราให้เลว เราเป็นคนเนรคุณต่อพระพุทธเจ้า เพราะว่าท่านไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ท่านไม่สอนอย่างนั้น ท่านขอร้องอย่างยิ่ง ท่านห้ามอย่างยิ่ง ว่าอย่าปล่อยไปอย่างนั้น คือ เราไม่ทำถูกใจพระพุทธเจ้า การที่เราพยายามทำ ทำให้ไม่ถูกใจพระพุทธเจ้า หรือว่าไม่ทำให้ถูกใจพระพุทธเจ้า นี่ก็ต้องเรียกว่าเราเป็นคนไม่กตัญญู เป็นคนอกตัญญู เป็นคนเนรคุณ พระเถระองค์หนึ่งเขาบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ทำความเพียรจนบรรลุพระอรหันต์ ท่านก็ตะโกนขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เราบำเรอแล้ว มะยาปะริปุณโณ ภะคะวา สัตถา (นาทีที่ 00:57:11) พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดา เป็นผู้อันเราบำเรอแล้ว ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านพูดว่าเราบำเรอพระพุทธเจ้าแล้ว การที่จะทำให้ถูกใจพระพุทธเจ้านั้นไม่มีอะไรมากกว่าไปกว่าการทำตัวให้เป็นพระอรหันต์ นั่นนะคือคนกตัญญูอย่างยิ่ง ปฏิบัติธรรมะให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์นั่นคือคนกตัญญูต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง แล้วกตเวทีด้วย เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุพการีของเรา นี่ถ้าเราทำได้อย่างนั้นเป็นกตัญญูรู้คุณท่าน และทำแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นว่าเรารู้คุณท่าน และทำเสร็จแล้วด้วย นี่หญ้าปากคอก ๔ ธรรมะ ๔ หมวดในนวโกวาทหน้าแรก สติ สัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ หิริโอตตัปปะ บุพการี กตัญญูกตเวที ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้คุณเห็นเป็นหญ้าปากคอกชนิดที่เข้าใจผิด ผมเคยพิจารณาดูคำนี้มาเรื่อย ๆ ไม่รู้กี่สิบปีแล้วก็ได้ คำว่าหญ้าปากคอกนี่มันอะไรกันแน่ มันดีหรือมันเลว มันมีประโยชน์อย่างยิ่งหรือมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่เราไปดูที่คอกควาย คอกวัวเช้า ๆ จะเห็นว่าไอ้วัวหรือควายพอมันผ่านประตูคอกมันก็เหวี่ยงหัวไปกัดหญ้าหรืออะไรที่อยู่ที่ปากคอกครั้งหนึ่งแล้วก็เดินไป ก็แปลว่ามันกินทุกวัน คิดดูสิ มันจะดีหรือเลย จำเป็นหรือไม่จำเป็น มันมีค่าหรือไม่มีค่า คำว่าหญ้าปากคอกไม่ได้มีความหมายไปในทางเลวหรือทางเสื่อมเสีย หมายว่าอย่างน้อยมันก็ได้แก้หิวคำแรก มันยังไม่ได้กินอะไรเลย มันกินคำแรก มันก็แก้หิวได้เป็นคำแรก ด้วยสิ่งที่เรียกว่าหญ้าปากคอก ฉะนั้นตรงนั้นมันจะลดกันจนไม่ค่อยจะมีแล้ว ตัวนั้นกัดที ตัวนี้กัดที พอรุ่งขึ้นหญ้ามันโผล่หน่อขึ้นมาใหม่ก็กัดอีกแล้วหรือใบไม้อะไรก็ตามที่อยู่ปากคอกวัวคอกควายมันจะถูกกัดโดยวัวโดยควาย หญ้าปากคอกมันก็คือ การแก้หิวคำแรกซึ่งจำเป็น หรือมีประโยชน์ หรือไม่ไร้ค่า ในที่สุดต้องถือว่าไม่ไร้ค่า จึงขอร้องว่าทุก ๆ องค์อย่าดูถูกไอ้เรื่องหญ้าปากคอก ขอให้มี สติ สัมปชัญญะ ขอให้มีหิริโอตตัปปะ ขอให้มีขันติโสรัจจะ และมีกตัญญูกตเวที ก็เป็นอันว่าจะต้องเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาเป็นแน่นอน เพราะมันจะแก้หรือป้องกันความเกิดแห่งตัวกู ของกูได้อย่างเรียบร้อย อย่างสม่ำเสมอ เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างสม่ำเสมอไม่ลุ่มๆดอนๆ
เอาล่ะเป็นอันว่าเรื่องความว่างจากตัวกู ของกูนี้มันมีความสำคัญ ต้องเข้าใจกันให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็จะพูดไปเรื่อย ๆ รู้จักความว่างจากตัวกู ของกูนี้เรื่อย ๆ เพื่อจะได้ไปตั้งหน้าตั้งตาจัดการให้แก่ตัวเอง ตลอดเวลาที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์อยู่เพียงไร ยังจะต้องจัดต้องทำเรื่องนี้อยู่อย่างนั้น อย่าได้ประมาทเลย อย่าได้คิดว่าบวชหลายพรรษาแล้ว สิบพรรษากว่าแล้ว เป็นอาจารย์แล้ว เมื่อนั้นล่ะมันจะมีตัวกู ของกูที่ยิ่งไปกว่าเดิม หัวหูของมันจะยิ่งสูงขึ้นไปกว่าเดิมไอ้ตัวกู ของกู อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าคิดว่าเหมือนกับผู้บวชใหม่อยู่เสมอแล้วก็จะวิเศษ มีความสุภาพอ่อนน้อมอยู่เสมอ อย่างพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เธอทั้งหลายจงเป็นเหมือนสะใภ้ใหม่อยู่เสมอ ลูกสะใภ้ในประเทศอินเดียเขาเอามาจากตระกูลอื่นมาอยู่ในตระกูลนี้ มันเป็นคนใหม่ เป็นคนหัวเดียวกระเทียมลีบ มันระวัง มันเจียมตัว มันไม่ประมาท นะนี่สะใภ้ใหม่ ให้ภิกษุเป็นเหมือนสะใภ้ใหม่อยู่เสมอ มีทางรอดตัวอย่างนี้ ไอ้หญ้าปากคอกทั้งหลายจะมีประโยชน์ แล้วจิตก็จะว่างจากตัวกู ของกูอยู่ได้ง่ายและเป็นปกติ นี่ถ้าเข้าใจยังไงแล้ว ลุกไปจากที่นี่แล้วอย่าได้ลืมเสีย อย่าได้ไปเข้าความประมาทรูปเดิมเสีย ขอให้มันดีขึ้นทุก ๆ วันไม่ประมาทมากยิ่ง ๆ ขึ้นทุกวัน ความว่างจากตัวกู ของกูก็จะมีมากขึ้นทุกวันเหมือนกัน เอาล่ะพอกันที