แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรื่องธรรมปาฏิโมกข์ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกู-ของกู ในปริยายใดปริยายหนึ่งไปตามเคย เพราะไม่มีเรื่องอะไรในโลกนี้ที่ไม่เกี่ยวกับตัวกู-ของกู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพุทธศาสนา ที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาและปฏิบัตินี้ มันไม่มีอะไรนอกไปจากเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องในวงแคบ ๆ ในวัดวาอาราม หรือว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปทั้งโลก มันก็ยังเป็นเรื่องนี้ ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง ทีนี้แม้ว่าจะเป็นไปในภายใน คือตัวบุคคลคนหนึ่งก็ดี มันก็ยังเป็นเรื่องนี้ คือเรื่องตัวกู-ของกู โลกทั้งโลกประกอบขึ้นด้วยบุคคลแต่ละคน เมื่อบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างไร โลกทั้งโลกโดยที่สมมุติเรียกกันว่าโลกภายนอกก็เป็นอย่างนั้น
ในครั้งที่แล้วมาเราพูดกันถึงเรื่องว่า โลกภายในหรือภายนอกก็ตามนี้ มันค่อนข้างจะเป็นโลกของผี คือของกิเลส ตัวกู-ของกู เสียแทบตลอดเวลา จนกระทั่งว่ามันเป็นธรรมดาไปเสียหมด ก็หมายความว่าคนในโลกนี้มันมีกิเลสมากขึ้น เท่า ๆ กับความเจริญของโลก ที่เขาเรียกกันว่าความเจริญ เจริญด้วยเรื่องสำหรับให้เกิดปัญหา ให้เกิดกิเลสมากกว่า แม้เป็นเรื่องเจริญทางวัตถุมันก็ไม่ได้ช่วยให้จิตใจมันดีขึ้น มันยิ่งมากไปเสียอีก ปัญหามันยิ่งมากไปเสียอีก แม้ว่าวัตถุมันเจริญ คนก็ไม่ได้แก้ปัญหาทางจิตใจได้เพิ่มขึ้น แล้วยังเพิ่มปัญหาทางวัตถุ แม้ว่าคนจะรอดตายอยู่ได้ทางร่างกายมันก็เพิ่มปัญหาในทางจิตใจ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบากมากขึ้น
ทีนี้เรื่องวัตถุส่วนใหญ่แทบทั้งหมดนั้น จะเป็นเรื่องส่งเสริมความเห็นแก่ตัวไปเสียทั้งนั้น ซึ่งเป็นกิเลสโดยตรง ความเห็นแก่ตัวนั้นคือตัวกู-ของกู ดังนั้นมันก็มีผี ที่เรียกว่าผีคือกิเลสนี้มากขึ้น จนเราเห็น ๆ กันอยู่ว่ามันมีอิทธิพลของกิเลสมากขึ้น เพราะคนให้โอกาส เพราะคนไม่รู้ เผลอให้โอกาสแก่กิเลส ซึ่งเป็นผีชนิดหนึ่งที่ดุร้ายยิ่งกว่าผีชนิดใด ให้โอกาสกิเลสครองโลก ครั้งที่แล้วมาสรุปความได้อย่างนั้น
ทีนี้ก็จะพูดต่อไปในวันนี้ เพื่อให้เห็นว่าโดยปกติที่แท้จริงนั้น โลกมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น คือว่าโลกไม่ได้มีอยู่ด้วยกิเลส จึงจะพูดในวันนี้โดยหัวข้อว่า ตามปกติโลกว่างอยู่ตลอดเวลา เรื่องอย่างนี้ทำนองนี้ก็เคยพูดมาแล้ว ก็ต้องการจะพูดซ้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ว่าโลกทำไมมันจึงยุ่งมากขึ้นวุ่นมากขึ้น ทั้งที่โดยแท้จริงมันเป็นโลกที่ว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นโลกของผีคือกิเลสมากขึ้น เนื้อแท้ของมันก็ยังคงเป็นโลกที่ว่างอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ มันจะวุ่นขึ้นมาเป็นพัก ๆ เท่านั้น เดี๋ยวนี้มันวุ่นมากขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ว่าไม่ว่างเสียเลย ถ้าไม่ว่างมันก็ตาย โลกปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยกิเลสคือเราเห็นแก่ตัวที่มาจากอวิชชาสัมผัส เรื่องอวิชชาสัมผัสเป็นอย่างไรนี้เราพูดกันมาก ละเอียดแล้วในคำบรรยายนี้ ธรรมปาฏิโมกข์
ในที่นี้ก็ทบทวนแต่ใจความว่า โลกปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยกิเลส หรือผี ที่มาจากอวิชชาสัมผัส จะมีอะไรเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเองก็ตาม มันมีการสัมผัสที่นั่นทางนั้น แล้วการสัมผัสนั้นมันไม่ได้สัมผัสด้วยวิชชา หรือปัญญา หรือความรู้ แต่มันสัมผัสด้วยอวิชชาเรื่อยไป แม้ว่าคนในโลกสมัยนี้เจริญด้วยวิชาความรู้ แต่มันไม่ใช่ความรู้อย่างนี้ มันเป็นความรู้ที่ยังเป็นอวิชชา อยู่ในพวกอวิชชา คือความรู้แต่ในทางที่จะทำให้เกิดเหยื่อ หรืออารมณ์ของอวิชชามากขึ้น ดูสิทำอะไรได้ประหลาดน่าอัศจรรย์ที่สุด แต่มันก็ไม่แก้อวิชชานี้ได้ ไม่แก้อวิชชากิเลสนี้ได้ จะเพิ่มให้เสียอีก ให้หลงให้วนเวียนแต่ที่จะเอาจะเป็นเรื่องตัวกู-ของกูนี้เสียเรื่อย เพราะฉะนั้นจะสร้างอะไรขึ้นมาให้เจริญก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไร ก็ยังคงมีอวิชชาสัมผัสอยู่ คือไปแตะต้องสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ด้วยอำนาจของอวิชชาอยู่ตามเดิม เรื่องกินเรื่องนอนเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับคนเป็นประจำวัน แม้จะประดิษฐ์ประดอยให้มันนั่นขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งอวิชชาสัมผัสมากยิ่งขึ้นไปอีก
อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร ก็เข้าไปแตะต้องหรือสัมผัสสิ่งนั้น ด้วยความไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า นั่นมันคืออะไร มันก็เลยไปสัมผัสในทางที่ให้เกิดความเห็นแก่ตัว หรือตัวกู-ของกู เพราะฉะนั้นมีอวิชชาสัมผัสหมายความว่าต้องเกิดกิเลส
ที่ว่าอวิชชาสัมผัสหมายถึง สัมผัสที่มันปรุงแต่งขึ้นมาด้วยอำนาจอวิชชา แม้แต่จะเป็นเรื่องภายในจิตใจ มันก็เป็นเรื่องปรุงแต่งขึ้นด้วยอวิชชา ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยอวิชชา เวทนา สัญญา อะไรก็พาไปตามอำนาจของอวิชชา ตากระทบรูป เกิดจักษุวิญญาณ มันปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง มันก็เกิดอวิชชาสัมผัสทางตา สำหรับจะเกิดเวทนาที่มาแต่อวิชชาสัมผัส แม้แต่สัญญามันก็พลอยเป็นวิปลาสไป มันไปสำคัญตามที่อวิชชามันจะบอกว่าน่ารัก น่ายินดีน่าหลงใหล น่าอะไรเรื่อยนี้ ก็เป็นสัญญาวิปลาสไปหมด สังขาร ความคิดความนึก มันก็ผิดไปหมด ปรุงแต่งเป็นความคิดความนึก ความต้องการ วิตกวิจารณ์ ตัณหาอะไรก็ตาม มันก็ผิดไปหมด นี้เป็นอวิชชาไปหมด พลอยเป็นผลของอวิชชาตาม ๆ ไปหมด
นี่ สัมผัสอย่างนี้มันมากเกินไปในโลกนี้ ในเวลานี้ เพราะมันเกิดตัวกู-ของกูมากเกินไป เต็มอัดไปหมด จึงได้เป็นทุกข์โดยส่วนบุคคล รบราฆ่าฟันเบียดเบียนกันในทางสังคม ไม่มีที่สิ้นสุดลงไปได้ วิชาความรู้มันไม่ได้เจริญขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขข้อนี้ มันเจริญขึ้นเพื่อสร้างสิ่งที่จะทำให้คนเห็นแก่ตัว แบ่งกันเป็นเขา-เป็นเรานี้มันมากขึ้น ๆ นี้เป็นปัญหาของมนุษย์แต่ละคน ๆ ซึ่งรวมกันเป็นโลกนี้ มันอยู่ในโลกของอวิชชา เรียกว่าอยู่ในโลกที่มันมีผีสิงอยู่ตลอดเวลา ควรจะคิดกันใหม่ ออกมาเสียจากโลกที่เป็นโลกผีสิง คนอื่นไม่ออกก็ตามใจ เราก็มีทางออก ก็มีการออกได้ เพราะว่าโดยแท้จริงแล้วโลกนั้นมันเป็นของเฉพาะคน ๆ เท่านั้น ถ้าเราอบรมจิตใจดีแล้ว อาจจะแยกโลกออกมาได้เป็นของเฉพาะคน ๆ เพราะว่าตามธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น คนคนหนึ่งก็มีโลกของตัวเองโลกหนึ่ง
ถ้าฟังไม่ดีก็อาจจะไม่เข้าใจ คือไปมองกันในโลกแผ่นดิน โลกใหญ่กว้างทางแผ่นดินทางนี้ แล้วก็คล้ายกับอยู่ร่วมกันทุกคนในโลกนี้ นี้มันเป็นภาษาคน ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ว่าโลกของแต่ละคน มีเป็นของเฉพาะตน มันก็หมายถึงโลกภายใน ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ที่เป็นหลักที่สุดก็คือว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือโลกของแต่ละคน ๆ แต่เราก็ไม่ค่อยได้พูดกัน และไม่ค่อยได้เอามาสอนกัน ตาที่ทำหน้าที่รู้สึกอะไรได้ทางการเห็นรูป ก็ตรัสว่าเป็น โลโกเกโส (13:00) นั่นแหละคือโลก สุญโญ คาโม เปโส นั่นแหละคือบ้านว่าง ถึงคราวหูก็ตรัสอย่างนั้นอีกเหมือนกัน หูที่มีประสาท คือมีธาตุหูที่จะได้ยินอะไรได้ ก็เรียกมันว่า โลโกเกโส นั่นแหละคือโลก สุญโญ คาโม เปโส นั้นแหละคือบ้านว่าง อย่างนี้จนไปถึงจมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหกอย่าง มันก็เป็นโลโก เป็นโลกของคนนั้น และก็เป็นบ้านว่าง หมายความว่ายังว่างอยู่ ตามปกติยังว่างอยู่ไม่มีใครยึดครอง ไม่มีตัวตน
ทีนี้ถ้าเราจะมองอีกทางหนึ่ง ไม่เพ่งเล็งไปที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมองแต่ที่ใจอย่างเดียวก็พอ ว่าจิตที่ใจนั่นแหละคือโลก โลกของคนหนึ่ง ๆ คือจิต หรือความรู้สึกของจิต ที่เกี่ยวอยู่กับจิต เนื่องอยู่กับจิต แยกกันไม่ได้ ของบุคคลนั้นแหละ คือโลกของบุคคลนั้น จะแยกเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันละเอียดออกไปก็ได้ จะว่าแต่ที่ใจอย่างเดียวก็ได้ นี้คือโลกของบุคคลนั้น คนหนึ่ง ๆ ก็ต้องถือว่ามันเป็นโลกที่ว่างอยู่จากตัวตน หรือเป็นปกติ แม้จะกันเรียกรวม ๆ ไปหมดทั้งโลก อย่างนั้นก็ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จงดูโลกโดยความเป็นของว่าง คือโลกทุกโลก จะเป็นโลกแผ่นดิน โลกอะไรก็สุดแท้ มันว่างจากส่วนที่จะเป็นตัวตน เป็นของตน มันคลุมกว้างไป
ทีนี้เราจะเอาแต่ที่มันชัด หรือแคบเข้ามาก็คือจิต หรือความรู้สึกของจิต ที่มีอยู่กับจิต เป็นความคิดอันหนึ่ง ๆ แม้ว่าความคิดนั้นจะถูกปรุงมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ห้าอย่างนี้ข้างนอก มันก็เข้าไปสู่จิตข้างใน เป็นโลกจิตโลกใจอันหนึ่งอยู่ข้างในนี้ดีกว่า
ตามธรรมดาเมื่อไม่มีการปรุงด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส ก็ถือว่าโลกนี้มันว่าง มันว่างในลักษณะที่เรียกว่าประภัสสรก็ได้ บริสุทธิ์ก็ได้ ตามพระบาลีพุทธภาษิต อังคุตตรนิกาย ก็ใช้คำว่าประภัสสร คือ ประภัสสะระมิทัง ภิกขะเว จิตตัง (15:50) ภิกษุทั้งหลาย โลกนี้เป็นประภัสสร คือ ว่างจากกิเลส แต่ว่าโลกนี้มันจะเศร้าหมองได้ สูญเสียความเป็นประภัสสรได้ เพราะอุปกิเลสที่เข้ามา ที่จรมา ที่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งจะเป็นภาษิตของพระสารีบุตร หรือของใครก็ตามใจ แต่มันนับเนื่องอยู่ในพระไตรปิฎกที่เป็นบาลี ก็มีพูดว่า ปกติ ปริสุทธะมิธัง จิตตัง นิกิเลสะเถนาติ วิญญาณะจริยา (16:30) ใจความสำคัญว่า จิตนี้บริสุทธิ์อยู่โดยปกติ ด้วยอรรถจะว่ามันปราศจากกิเลส นี่คือวิญญาณจริยา คือความประพฤติเป็นไปของจิต หรือวิญญาณ ข้อความนี้จะเห็นได้ว่า ข้อความในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคที่ร้อยกรองในยุคต่อมา ที่ใช้คำว่า จิตเป็นวิญญาณ วิญญาณเป็นจิตแทนกันได้ อย่างนี้เป็นต้น ก็เพื่อยืนยันว่า ปกติ ปริสุทธะมิธัง จิตตัง จิตนี้บริสุทธิ์อยู่เป็นปกติเพราะมันไม่มีกิเลส
ก็มีเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า ตามปกตินี้ จิตนี้ประภัสสร หรือไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ หรือในลักษณะอย่างไร จิตอยู่ตามปกติเป็นประภัสสร คือไม่มีกิเลสจริงหรือไม่ นี้มันก็เถียงกัน พวกที่เขาอธิบายคำว่าประภัสสรยังเป็นกิเลส ก็ยังมีเถียงกัน เราไม่ไปเถียงกับเขา ถือเอาตามบาลีว่ามันประภัสสร ต่อเมื่อมันเศร้าหมอง อาคันตุเกเสหิ อุปกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา แล้วยังมีตรัสต่อไปว่า จิตนี้ประภัสสร แปลว่าพ้นแล้วจากอุปกิเลสที่เป็นอาคันตุกะเข้ามา ถ้ากิลิฏฐัง คือเศร้าหมอง ก็เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา ถ้าวิปมุตตัง คือพ้นพิเศษแล้ว พ้นพิเศษจากอุปกิเลสที่จรเข้ามา คือมีเป็นหลักอยู่ว่าอุปกิเลส หรือกิเลสแล้ว ก็คือของมาใหม่ เป็นอาคันตุกะ เป็นของมาใหม่ ไม่ใช่เจ้าของบ้าน จิตล้วน ๆ หรือว่าอายตนะล้วน ๆ หรือเป็นสักว่าโลกล้วน ๆ แล้ว ก็เป็นเรือนว่าง บ้านว่างอยู่ นี้ก็แสดงลักษณะประภัสสร ถ้าถือตามตัวบาลี พระพุทธภาษิตนี้ก็เป็นว่า จิตนี้ตามปกติมิได้เศร้าหมอง แต่ว่าเป็นประภัสสร อยู่เป็นปกติ ไม่ได้ใช้คำว่าบริสุทธิ์ ไม่เหมือนกับบาลีในปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งใช้คำว่าบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติ บาลีพุทธภาษิตในอังคุตตรนิกายนี้ จิตนี้เป็นประภัสสร คือเป็นปกติประภัสสร เป็นเรื่องที่รู้กันได้ว่า ประภัสสรหมายความว่าอะไรในครั้งพุทธกาล จึงไม่ต้องอธิบายกันอีก
ประภัสสรคือเรืองแสงสว่างไสว ไม่มีอะไรมาห่อหุ้ม ไม่มีมลทิน เหมือนพระอาทิตย์กำลังประภัสสร อย่างนี้ก็หมายความว่าไม่มีอะไรบังพระอาทิตย์ หรือว่าแม้แต่เพชรพลอยแก้วแหวนอะไรที่มันมีรัศมี มีแสง มันก็ประภัสสรอยู่ได้ เพราะไม่มีอะไรมาเคลือบ มาหุ้มมาบัง แล้วจิตก็ประภัสสรอยู่ได้ เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น มันมีรัศมีของจิตสว่างไสวไปตามลักษณะของจิต ซึ่งมันเป็นอย่างนั้น คือมันรุ่งเรืองอยู่ได้โดยที่ไม่มีกิเลสมาห่อหุ้ม แต่ทีนี้มันเศร้าหมองได้ เพราะว่าถ้ากิเลสเกิดขึ้นมาใหม่นี้ ก็เศร้าหมองได้ เศร้าหมองก็เศร้าหมองเพราะอุปกิเลส จะผ่องแผ้วพ้นไปก็พ้นจากกิเลส ทั้งที่ของเดิมมันประภัสสร
ท่านยังตรัสต่อไปว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้ยินได้ฟังคำของพระอริยเจ้า ไม่รู้ข้อนี้ตามที่เป็นจริง เรากล่าวว่า จิตตภาวนาย่อมไม่มีแก่ปุถุชน ผู้มิได้สดับนั้น นี่เป็นการขยายความออกไปว่า เมื่อปุถุชนเขาไม่ได้รู้ความจริงข้อนี้ว่า ประภัสสรเป็นปกติ แล้วเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส จะผ่องแผ้วเพราะปราศจากอุปกิเลส เขาก็ไม่ได้คิด ไม่เคยคิดที่จะทำจิตตภาวนา เพราะไม่รู้ว่ามันจะผ่องแผ้วได้ โดยที่ไม่รู้ว่ามันมีกิเลสเป็นครั้งคราว ทำให้ผ่องแผ้วได้ นี้ก็ไม่เคยคิดจะแก้ไข คือไม่เคยคิดจะทำจิตตภาวนา ทำจิตให้เจริญ
ทีนี้ปุถุชนที่โง่มากกว่านั้น ก็จะไม่เอาใจใส่เอาเสียเลย เอาแต่ความต้องการของตัว เอากิเลสนั่นละเป็นความถูกต้องแล้ว จิตที่เศร้าหมองเต็มไปด้วยกิเลสนี้เป็นความถูกต้องแล้ว เป็นตัวกู เป็นของกู ต้องได้อย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ ต้องอร่อยอย่างนั้น ต้องอร่อยอย่างนี้อยู่แล้ว ก็ไม่ถือว่านี้จิตเศร้าหมองเลย นี่ปุถุชนไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีจิตตภาวนา เพราะฉะนั้นปุถุชนที่ยังเป็นปุถุชนมากเกินไปจะไม่รู้ว่า มีสิ่งที่เรียกว่าจิตด้วยซ้ำไป มันก็จะมีแต่ตัวกู-ของกู หันรีหันขวางไปตามความรู้สึกขณะหนึ่ง ๆ ไม่รู้ว่ามีจิตหรือไม่มีจิต ไม่รู้ด้วยซ้ำไป อย่างนี้ก็ยิ่งไม่มีจิตตภาวนา คือการอบรมจิตให้เจริญ
แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นั่นมันในอันดับสูง คือปุถุชนที่มิได้รู้ว่า จิตประภัสสร เศร้าหมองเพราะอุปกิเลส ผ่องแผ้วก็เพราะผ่องแผ้วจากอุปกิเลส ถ้าไม่รู้ข้อนี้ชัดไว้อย่างนี้แล้วก็ ไม่มีการกระทำทางจิตที่เรียกว่าจิตตภาวนาเลย ทีนี้ถ้ารู้ว่าจิตมันเป็นอย่างนี้ตามปกติแล้ว มันก็รู้สิว่าทำได้ จิตตภาวนาเป็นสิ่งที่ทำได้ คือการอบรมจิตให้มันสูงขึ้นไป จนอุปกิเลสจรมาไม่ได้ เป็นคนจรมาไม่ได้ มันก็อยู่ตามสภาพเดิมคือประภัสสร เพื่อให้วิมุติ หลุดพ้น พ้นพิเศษจากอุปกิเลสอยู่เสมอได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้สดับ คือพระอริยสาวก รู้ข้อนี้ตามเป็นจริงแล้ว จิตตภาวนาก็มีได้แก่อริยสาวกนั้น
ทีนี้เราทุกคนในฐานะที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นสาวกของพระอริยเจ้า อะไรก็ตามใจ ไม่ใช่ต้องการจะเป็นปุถุชนโง่เขลาไม่ได้สดับ ต้องการจะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เรื่อย จึงเอาใจใส่ที่จะฟังคำสั่งสอน และเข้าใจรู้ตามที่เป็นจริง จนเห็นว่าจิตนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เจริญขึ้นได้จนไม่มีอุปกิเลสมาครอบงำได้ นี้คือจิตตภาวนา อย่างที่เรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ตลอดวันตลอดคืนอยู่เรื่อยไป หรือจะทำจริง ๆ จัง ๆ ที่เรียกว่าทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนากรรมฐานนี้ก็ทำอย่างจริง ๆ จัง ๆ เป็นพิเศษตามโอกาส และตามปกติก็ทำอยู่เป็นปกติ คือเพียรมีสติป้องกันระวัง ไม่ให้เผลอไม่ให้ลืมในความจริงอันถูกต้องว่า สิ่งเหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ที่ตั้งแห่งอวิชชา อย่าไปเผลอเข้า รูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูกเป็นต้น เหล่านี้ต้องระวัง ถ้าเผลออวิชชาก็จะเกิดขึ้นผสมขึ้น ผสมเข้าไปในการสัมผัสนั้น คือการปรุงแต่งจิตนั้นเรื่อย ๆ ไปจนเป็นอวิชชาไปหมด จึงเกิดกิเลสตัณหา อุปาทาน ตัวกู-ของกู นี้ก็เรียกว่าระวังจิตด้วยสติ หรือระวังการปรุงแต่งทางจิตด้วยสติอยู่เป็นประจำ ก็เป็นการป้องกันทางเกิดเเห่งความเศร้าหมองของจิตได้ แปลกจากที่ว่าจะไปนั่งทำสมาธิวิปัสสนาโดยตรง นี้ทำจริง ๆ จัง ๆ พิจารณาจิต เห็นจิตเศร้าหมองผ่องแผ้วอย่างไรจริง ๆ จัง ๆ แล้วก็กันออกไปได้อย่างไร ณ ขณะที่ทำวิปัสสนา แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทั้งสองประเภทนี้ก็ต้องเรียกว่าจิตตภาวนาทั้งนั้นแหละ ระวังอยู่เสมอทุกอิริยาบท นี้เรียกว่าเป็นจิตตภาวนา ระมัดระวังจิตอยู่ทุกอิริยาบท เมื่อทำอย่างนี้ก็หมายความว่าจิตมันค่อย ๆ เจริญ ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ เจริญไปในทางที่ว่า เศร้าหมองยากยิ่งขึ้น ๆ เพราะว่าไม่ให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเกิดขึ้นให้เศร้าหมอง ทีนี้ความเคยชินของคนเรามันก็เปลี่ยนไปในทางที่เศร้าหมองยากขึ้น
ความเคยชินของกิเลสที่เรียกว่าอาสวะนี้ ก็ได้พูดกันมามากแล้ว ถ้าใครยังจำได้ก็เข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าเราเกิดกิเลสทีหนึ่ง ก็เพิ่มความเคยชินของกิเลสชื่อนั้นทีหนึ่ง มันไปเป็นชื่อใหม่เรียกว่าอาสวะ เช่น เกิดกิเลส โลภ หรือกำหนัดเข้าทีหนึ่งนี้ เพิ่มความเคยชินให้เเก่อาการที่จะโลภ หรือกำหนัดขึ้นทีหนึ่ง นี้ก็เรียกว่าราคานุสัย ซึ่งเป็นอาสวะนอนในสันดาน ความเคยชินตัวนั้นเอง ถ้าว่าโกรธ ประทุษร้าย โกรธขัดเคืองขึ้นมาทีหนึ่ง ก็เพิ่มความเคยชินที่จะโกรธเก่งขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ก็เรียกว่าสร้างปฏิฆานุสัย เป็นอาสวะดองสันดานเพิ่มขึ้น ๆ คือหมักให้มันมากขึ้น ทีนี้ถ้ามันโง่ทีหนึ่ง ๆ กิเลสโมหะทีหนึ่ง มันก็เพิ่มอวิชชานุสัยโดยตรง ให้มันชินมากขึ้น ก็กลายเป็นหนาไปด้วยอาสวะหรืออนุสัยนั้นมากขึ้น ๆ อย่างนี้มันยากที่จะระวัง
ทีนี้ถ้าหากว่ามีสติ ไม่ให้มันเกิดโลภ หรือโกรธ หรือหลง จะเล็กใหญ่เท่าไรก็ตาม อยู่เป็นประจำ มันก็เหมือนกับลดความเคยชิน ที่จะโลภ จะโกรธ จะหลงให้น้อยลง ๆ นี่อนุสัยมันก็บางลง ๆ ความเคยชินที่เข้มข้นในการที่จะเป็นอย่างนั้นมันก็ลดลง ๆ นี่เป็นอุบายที่ว่าเราจะทำให้อุปกิเลสหรือกิเลสก็ตาม เกิดขึ้นแก่จิตได้ยากขึ้น โดยทำลายความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั้นอยู่เรื่อยด้วยสติ แล้วก็มานั่งพิจารณาโดยวิปัสสนานี้ โดยปัญญา ด้วยอำนาจของปัญญาอีก การทำสติระวังอยู่เสมอเหมือนกับตัดอาหารของกิเลสเสีย ให้กิเลสมันผอมลง ๆ ด้วยอำนาจของสติ มันก็มีผลไปในทำนองนี้ ทีนี้ด้วยอำนาจของปัญญาหรือวิปัสสนานั้น มันก็เท่ากับว่าเอาไฟลนเข้าไป เผาเข้าไปอีก มันก็จะตายหรือหมดเร็วขึ้น เมื่อมันไม่มีความเคยชินที่จะเกิด คือหมดอาสวะ หมดอนุสัย มันเกิดไม่ได้ ต้นทุนสำหรับที่จะเกิดมันไม่ได้เหลืออยู่ ส่วนที่มันจะเกิดขึ้นมันก็เกิดไม่ได้ มันไม่มีอวิชชาหรืออนุสัยอันใดที่จะมาผสมโรง เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น
ขอให้สนใจในส่วนนี้ให้มาก มันเป็นจิตตภาวนา ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า เรากล่าวว่า จิตตภาวนาย่อมมีแก่อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วว่า จิตนี้เป็นประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสจรมา หรือว่าจะผ่องแผ้วเพราะปราศจากกิเลสอันจรมา มีอยู่เท่านี้เอง เรื่องมันก็ไม่ลึกลับ แต่ว่าเราก็ไม่เอามาทำในใจให้แยบคาย ให้ลึกซึ้งอยู่สม่ำเสมอ ไม่สนใจกระทั่งว่า จิตเศร้าหมองเมื่อไร จิตของเราเศร้าหมองเมื่อไร จิตเศร้าหมองมึนชาหงุดหงิด หรือว่ากำหนัด ก็หาทางออกอย่างอื่น หรือบางทีก็ผสมโรงไปเลย ไปโกรธ ไปรัก ไปเกลียด ไปกลัวอะไรกันไปเลย มันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นจิตตภาวนาก็ต้องดูว่า เดี๋ยวนี้มันเศร้าหมองแล้วเพราะอุปกิเลสอะไร เผลอไปในทางไหน ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือไม่ก็ทางจิตมันคิดขึ้นมาเองก็ได้ ด้วยอาศัยมโนทวารนั้น นี้ก็ยังได้ เรื่องเก่า ๆ ทีนี้ว่าจะเป็นผู้ดูแลจิต สำรวมจิต ควบคุมจิต ระวังจิต แก้ไขจิต ชำระจิตนี้ มันมีอยู่ที่นี่ อย่างที่ว่านี้ นับตั้งแต่ว่าระวังสังวรณ์ ที่จะไม่ให้เผลอ เมื่อมีอารมณ์อะไรผ่านมา ทางตา ทางหู เป็นต้น นี้ต้องระวังสำรวม ก็สำรวมระวังด้วยสติ ป้องกันด้วยสติ มันก็เป็นชั้น ๆ ไป ในชั้นที่มาใหม่ก็สติ ในชั้นที่จะมา หรือกำลังจะมาจะเกิด มันก็สำรวมด้วยสติ แม้แต่เกิดขึ้นแล้วก็ยังจะต้องรู้สึกด้วยสติ เป็นเหตุให้แก้ไขด้วยสติ ที่จะไปเรียกเอาปัญญามาสำหรับแก้ไข
อันนี้เป็นสำคัญที่สุดแล้ว แต่เราก็ไม่เอาใจใส่กันที่สุดเหมือนกัน คือประมาท อวดเก่งเพ้อเจ้อ พูดฟุ้งไปอย่างนั้นอย่างนี้ แต่โดยแท้จริงก็ไม่ได้คอยตั้งหน้าตั้งตา ที่จะควบคุมดูแลระวังสังวรณ์จิต หรือแก้ไขที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันไม่ใช่เรื่องพูด มันเป็นเรื่องที่ทำจริง ๆ คือการกระทำด้วยสติสัมปชัญญะแก่จิตจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องพูด เมื่อไปทำจริง ๆ มันก็คงไม่มีโอกาสจะพูด ลองคิดดู จริงหรือไม่จริง ถ้าเราไปตั้งใจจะระวังสังวรณ์ เกี่ยวกับกิเลสที่จะเกิดขึ้นทำจิตเศร้าหมองจริง มันไม่มีเวลาจะพูด ไม่มีโอกาสที่จะพูด เหมือนเราตั้งใจจะระวังหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะพูดได้อย่างไรล่ะ หรือจะฟังวิทยุนี่ถ้าตั้งใจฟังจริง ๆ มันก็พูดไม่ได้ ถ้าพูดก็ไม่ได้ฟังเท่านั้น ทีนี้การตั้งใจ ตั้งสติระวัง ฟังอะไรก็ตาม มันก็ไม่มีการพูดหรอก เดี๋ยวนี้เรามันมีพูดมาก เรื่องระวังสังวรณ์ที่ภายในมันก็น้อยเป็นธรรมดา มันก็พูดออกมาด้วยอารมณ์นั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่เศร้าหมองแล้ว ไม่มากก็น้อย ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งละ คิดดู ที่พูดออกมานี้มันส่วนใหญ่ ประจำวัน ที่เราพูด ๆ กันนี้ เป็นความผลักดันของจิตที่เศร้าหมองแล้ว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ด้วยปัญญา มันมีบ้างเป็นส่วนน้อย นี้ระวังให้ดี
ประโยคไหนบ้างที่เรานี้ วันหนึ่ง ๆ ได้พูดออกไป ด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา และเป็นธรรม และวินัยนี้ มันค่อนข้างจะยาก เพราะว่าเราจะพูดไปแต่ตามความต้องการบ้าง ความไม่ได้ตามต้องการบ้าง หรือว่าความเพ้อเจ้อที่อยากจะพูดบ้าง ไม่จำเป็นจะต้องพูดก็พูด มันก็เป็นนิสัย แบบนี้ก็ไม่ได้ระวังในการที่จะอย่าให้จิตเศร้าหมอง เพราะมันใช้จิตที่เศร้าหมองนั้นน่ะเป็นตัวเองเสียเรื่อย เป็นตัวกู-ของกูเสียเรื่อย บันดาลให้พูด ให้ทำ ให้คิดอยู่เรื่อย จิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลสนี้เป็นผีแท้ ๆ ก็ยังมีนาย ยังเป็นนายบังคับให้คนเราพูดไป ทำไป อะไรไป แม้แต่คิดไป ตามอำนาจของจิตที่กำลังเศร้าหมองอยู่ด้วยกิเลส คืออวิชชาครอบงำอยู่ อย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับจิตมันเป็นมืดมนเป็นอกุศล แล้วการคิด พูด ทำออกมา มันก็เป็นอกุศลไปทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องอกุศลมันก็กลายเป็นนิสัยไปได้ในที่สุด คือพร้อมที่จะโลภ จะโกรธ จะหลง แล้วมันจะทำไปด้วยกาย วาจา ใจ ตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่จะเป็นนิสัยเสียอย่างนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มนุษย์เราทั้งโลกก็เป็นเสียอย่างนี้ ที่เรียกว่าเป็นโลกผี โลกของผีสิง โลกผีสิง ก็ไม่ควรจะโกรธ ถ้าใครจะว่า ก็ต้องอยู่ในโลกผีสิงด้วยกันทั้งหมด ก็ไม่ควรจะโกรธเพราะมันจริง ควรจะมองเห็นอย่างนั้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลสนานาประการนี้สิงอยู่ในใจเรื่อย
ใจนั่นแหละคือโลก แม้ว่าจะออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ตาม มันก็โลก ก็คือโลก นี้มันถูกผีสิง ปรุงแต่งอยู่ที่นั่นด้วยอวิชชา เกิดเป็นกิเลสตัณหา แล้วก็มีวิบากเป็นนรกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่าจะเป็นสวรค์บ้างในบางครั้ง คือสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง มันเป็นเรื่องของกิเลส เป็นสวรรค์ก็สวรรค์ของกิเลส ก็ยังเป็นเมืองผีอยู่ดี สวรรค์ชนิดนี้ก็ยังเป็นเมืองผี เป็นนรกอยู่ดี ในเมื่อสวรรค์มันมีความหมายไปในทางกามารมณ์ มันก็เร่าร้อน เพราะว่ากามารมณ์มันเป็นที่ตั้งแห่งกาม กามก็คือกิเลส กิเลสก็คือร้อน ถ้าลงเป็นกิเลสก็ต้องร้อนทั้งนั้น ราคะ โทสะ โมหะ อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นไฟอยู่ที่นั่น ไฟในแบบนรกก็ได้ ไฟในแบบสวรรค์ หรือเผาลนไม่รู้สึกตัวก็ได้ เป็นโมหะ
นี้เรียกว่าโลกผีสิงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโลกที่ผีสิง แต่ละคน ๆ เป็นอย่างนี้ รวมกันทั้งโลก ก็เลยเป็นโลกทั้งหมด เป็นโลกทั้งสิ้น ผีสิง ไม่มีความเป็นประภัสสร เว้นเสียแต่ว่าในขณะที่ไม่มีการรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นเวลานอนพักผ่อนหลับไป หรือว่าเผอิญจิตมันว่าง ด้วยเหตุที่สิ่งแวดล้อมอะไรมันเยือกเย็น มันทำให้หยุดรับอารมณ์ หรือปรุงแต่งอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่าถ้าจะปรุงแต่งบ้าง มันไม่ปรุงแต่งไปในทางให้เกิดอวิชชาสัมผัส เพราะเวลานั้นมันไม่มีอวิชชาสัมผัส มันจึงมีแต่เพียงเกิดการปรุงแต่งตามธรรมดาที่ไม่มีอวิชชาสัมผัส แต่ก็น้อยนักน้อยหนา เหมือนกับเราเห็นรูป ฟังเสียงชนิดที่ไม่เกิดกิเลส เหล่านั้นมันก็เรียกว่ายังประภัสสรอยู่ได้ พอเผลอเป็นการปรุงแต่งเรื่องกิเลสแล้ว ก็เศร้าหมองแล้ว ถ้าไม่มีอะไรมายั่วให้ผิดปกติไปจากธรรมชาติ มันก็น่าจะมีความเป็นประภัสสรนี้มากกว่าก็ได้ คือจิตไม่ปรุงเป็นกิเลสมากกว่า เป็นเวลามากกว่า
ทีนี้ถ้าเรามันอยู่ในท่ามกลางแห่งความยั่วยวนไปทุก ๆทางนี้ แล้วก็เป็นคนคิดเก่งเกินไป เพราะมันสมองสมัยนี้ มันถูกอบรมให้คิดเก่งเกินไปตั้งแต่เล็ก ๆ เด็ก ๆ มันก็มีทางที่ว่าจะเกิดการปรุงแต่งประเภทกิเลสมากขึ้น คือตาได้เห็นนั่น เห็นนี่ เห็นนู่น ก็ปรุงเป็นกิเลสได้ หู จมูก ลิ้น กาย ก็ได้ นี้เพราะความเก่งอันนั้น จิตก็คิดได้เอง ฝันก็ได้เอง สร้างวิมานในอากาศก็ได้เอง นี่คือคนในโลกที่ยุคหลัง ๆ ที่พระพุทธเจ้าว่า มีกิเลสมากขึ้น มีความกำหนัดมากขึ้น มีความเป็นอยู่ไม่ประกอบด้วยธรรมมากขึ้น ในที่สุดจะทำให้เดือดร้อน ไปกระทั่งไปมิคสัญญีนี้ บางสูตรก็ตรัสอย่างนี้ก็มี
เราจะแก้ไขให้มันว่างมากขึ้น ก็ต้องรู้สภาพนี้ สภาพที่ว่าตามธรรมดาประภัสสร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส แล้วก็ผ่องแผ้วได้ก็เพราะว่าไม่มีกิเลสมา ถ้าเศร้าหมองก็เพราะว่ามีกิเลสมา ก็ทำจิตตภาวนาต่อต้านอันนั้น โดยหลักที่ถือง่าย ๆ ว่า พอมีกิเลส จิตนี้หรือโลกนี้ โลกคือจิต จิตคือโลก ก็กลายเป็นเดือดร้อน เศร้าหมอง เดือดร้อน เศร้าหมองแล้วก็เดือดร้อน เป็นความทุกข์ เป็นเหมือนกับถูกทำให้ร้อนระอุ วนเวียนอยู่ในความร้อน พอว่างจากคำนี้ก็เป็นตรงกันข้าม ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน มันก็สงบ ที่เรียกว่านิพพานก็ได้ ตามขณะ ๆ เพราะมีอะไรมาทำให้มันไม่เศร้าหมองและเดือดร้อน
ผมเลยนึกขึ้นมาเป็นคำกลอนเขียนไว้ เพราะมันจำง่ายดี เมื่อใดจิตไม่มีตัวกู นิพพานก็มีอยู่ในจิตนั่น จิตที่ไม่มีตัวกู จิตที่กำลังไม่มีการปรุงแต่งเป็นตัวกู-ของกู คือกิเลสนี้ เมื่อใดจิตไม่มีตัวกู นิพพานก็มีอยู่ ณ จิตนั่น พอตัวกูเกิดได้ในจิตนั้น สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน แทนนิพพาน
เมื่อใดจิตไม่มีตัวกู นิพพานมีอยู่ ณ จิตนั่น
พอตัวกูเกิดได้ในจิตนั้น สังสารวัฏก็พลันเกิดขึ้นแทน
อย่างนี้คุณไปดูเถอะทุกวัน ทั้งหลับและทั้งตื่น หมายความว่าถ้าหลับแล้วมันยังฝันไปนี่ ลักษณะอย่างนี้ มันก็มีสุขมีทุกข์ เวทนาชนิดหนึ่งในความฝัน เว้นแต่หลับสนิทไม่ฝัน ก็ไม่มีการปรุงแต่ง ก็ว่าง ก็ควรจัดไว้ในพวกที่ว่ามันว่างจากตัวกู ถ้าหลับสนิทมันก็สบาย ถ้าหลับไม่สนิท สะดุ้งฝันไปด้วยการปรุงแต่งของกิเลส มันก็ไม่ได้หลับ ก็มีความอ่อนเพลีย ไม่มีผลของการหลับ คือไม่ได้ว่าง ไม่ได้พัก
นี้ก็เป็นใจความที่มันถอดออกมาจากหลักธรรมะทั้งหมด หลักที่ว่ามันไม่ประภัสสร เมื่อเกิดเป็นตัวกู-ของกูขึ้นมา กิเลสก็ร้อน เป็นสังสารวัฏ พอไม่มีกิเลส คือเป็นประภัสสร ว่างอยู่ตามปกติ ก็ไม่ร้อน ก็เป็นนิพพาน ให้ถือว่าจิตนี้เหมือนกับบ้านว่าง เรือนว่าง ไม่ได้เป็นอะไรก็ได้ แต่ถ้าว่างไม่มีอะไรเกิด มันก็ว่างหรือประภัสสร ด้วยอำนาจหรือว่าจิต ธาตุของจิต จิตธาตุ มโนธาตุ ถ้ามันเป็นของล้วน ๆ แท้ ๆ ก็คือว่างจากตัวกู-ของกู คือประภัสสร ว่างจากกิเลส มันก็คือประภัสสร ก็ไปทดสอบดูเองก็แล้วกัน ในขณะที่จิตมิได้มีการปรุงแต่งเป็นเรื่องของกิเลสชนิดใดเลย จิตมันเป็นอย่างไร ก็สบาย สบายชนิดบอกไม่ถูก
แต่ทีนี้พอมันเหนื่อยขึ้นมา มันง่วงนอนขึ้นมา มันละเหี่ยละห้อยขึ้นมา นี้มันเป็นกิเลส หรืออุปกิเลส หรือนิวรณ์ประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว มันไม่ไหวแล้ว ถีนมิทธะก็คือกิเลส ง่วงนอนมึนซึมเซาไป อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดที่มันเตลิดเปิดเปิง ฟุ้งซ่านลิงโลดไป นี้มันก็อุปกิเลส ก็กิเลส เพราะฉะนั้นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จากอุปกิเลสทั้งหลาย ก็ประภัสสร สบาย เพียงแต่ขจัดนิวรณ์เหล่านี้ออกไป จิตก็เป็นสมาธิและประภัสสรได้ เป็นเรื่องที่ต้องไปสังเกตข้อเท็จจริง ให้รู้จักว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ได้ขอร้องให้เชื่อผม และพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้เป็นหลักว่า ไม่ต้องเชื่อท่าน ไม่ได้ขอร้องให้เชื่อท่าน ให้เชื่อยถาภูตะสัมมัปปัญญาของตัวเอง ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะเฝ้าดูจิตว่าเป็นอย่างไร
ทีนี้ก็ลำบาก เป็นปัญหาเกิดขึ้นที่ว่า จะบังคับจิตให้เฝ้าดูจิตก็ไม่ได้เสียแล้ว ก็ต้องมาทำกันใหม่ ทำสมาธิทำอะไรกันใหม่ บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจพอสมควร ที่จะเฝ้าดูจิตเองว่ากำลังเป็นอย่างไร เศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมอง เป็นต้น เศร้าหมองเพราะเหตุไรก็แก้ไขสิ่งนั้น ไป ๆ มา ๆ ก็มาทีหลังสติสัมปัชชัญญะอีก อยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียจนไม่อาจจะเศร้าหมองได้ ก็ใช้โอกาสนั้นแหละศึกษาให้รู้ว่า สิ่งที่เคยไปยึดมั่นถือมั่น ไปเอามาทำความเศร้าหมอง มันเหลวไหลทั้งนั้น ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่ควรจะไปยึดถือมา เอามาเป็นตัวเป็นตน นี่เรื่องมันก็มีเท่านี้ ฟังดูมันก็นิดเดียว เสร็จแล้วมันก็มากมายมโหฬาร เป็นภูเขาเลากา คือว่าไม่สามารถจะปฏิบัติได้ ปัญหามันมีมาก ที่ว่าไม่สามารถจะบังคับจิตได้ ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถจะบังคับจิต ให้อยู่ในลักษณะอย่างนี้ได้ ปัญหานี้เลยใหญ่เท่าภูเขาเลากา ทั้งที่เรื่องมันนิดเดียว ก็เศร้าหมองเพราะอุปกิเลส ผ่องแผ้วเพราะปราศจากอุปกิเลส มีเท่านี้เอง เพื่อจะชี้ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นไปอีกในข้อที่ว่า ตามปกติโลกนี้มันจะว่างอยู่เสมอ คือไม่วุ่น โลกคือจิต หรือโลกคืออายตนะ ๖ ก็ตามใจ มันว่างอยู่เสมอ เมื่อไม่มีกิเลสมา ก็ว่างจากกิเลส ก็มีจิตที่เป็นอิสระทำอะไรได้ตามธรรมชาติของจิต คือคิดได้ รู้สึกได้ อะไรได้ เพราะฉะนั้นการอบรมที่ผ่านมา ๆ มันก็สอนให้จิตฉลาดอยู่ทุกที เคยถูกอะไรมาแล้วมันก็เข็ดหลาบ ก็ไม่ทำอีก ก็ฉลาดขึ้นทุกที
ฉะนั้นเมื่อไม่มีกิเลสมายึดครอง อย่าไปเข้าใจว่าจิตมันจะไม่ทำอะไร หรือมันจะเป็นความมืดมนอะไรชนิดหนึ่งไปเสียอีก หรือไม่มีความสุข ไม่มีค่าอะไร ให้สังเกตจากตัวเองว่าจิตมีกิเลสยึดครองเมื่อไร เราเป็นอย่างไร อย่างไม่ต้องมีความทุกข์ ก็ทำอะไรได้ด้วยการตัดสินใจของจิตชนิดนั้น ไม่มีผิดเลย นี้เรียกว่าจิตที่มันว่างอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นอย่างนี้ ประภัสสร ก็เรียกว่าปกติปริสุทธิ์ก็ได้ อย่างที่พระคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า คือบริสุทธิ์อยู่โดยปกติ ก็บริสุทธิ์จากกิเลสอยู่โดยปกติ เป็นปกติ เพราะกำลังไม่มีกิเลส พอกิเลสมาก็หมด หมดความบริสุทธิ์ตามปกติไปชั่วคราว ๆ เหมือนบ้านนี้สะอาดดี แล้วก็มีผีมีอะไรมาทำให้สกปรกมืดมน ยุ่งยากไปเป็นคราว ๆ ถือเป็นหลักว่า พอกิเลสมา ก็เป็นทุกข์ เป็นวัฏสงสาร พอว่างจิต ก็ไม่ทุกข์ เป็นนิพพาน
โดยหลักอย่างนี้แล้วก็คือ ทำให้มันตามหน้าที่ ที่จะต้องทำ ที่เรียกว่าจิตตภาวนา อย่างที่ว่ามาแล้ว กล่าวมาแล้ว ให้มันเป็นจิตที่กิเลสไม่ทำให้เศร้าหมองได้ ก็เลยเป็นจิตที่ผ่องแผ้วอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงขนาดที่เรียกว่า มันจะเศร้าหมองอีกไม่ได้ ที่มีพระบาลีตรัสไว้สำหรับพระองค์เอง สำหรับผู้ใดก็ตามที่มาถึงขั้นนี้แล้วก็จะมีคำว่า อกุปปา เม วิมุตติ คนที่สวดมนต์ได้ก็จะพบอยู่เสมอ หลังจากปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เกิดรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่า อกุปปา เม วิมุตติ ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบอีกต่อไป ก่อนนี้มันหลุดพ้นชั่วคราว ๆ แล้วกลับมาเศร้าหมองอีก ผ่องแผ้วแล้ว หลุดพ้นไปแล้วพักหนึ่ง เดี๋ยวก็กลับเศร้าหมองอีก อย่างนี้เรียกว่าความหลุดพ้นนั้นกลับกำเริบ คือว่ากลับเศร้าหมองได้อีก กลับวุ่นวายได้อีก
ระวังดี ปฏิบัติดีในจิตตภาวนา ในที่สุดก็เกิดสภาพที่แน่นอน ถึงขนาดที่เรียกว่า มันมีปัญญาถึงที่สุด มีอะไรถึงที่สุด สรุปรวมแล้วเขาเรียกว่า อินทรีย์ ๕ ถึงที่สุด ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เราท่องกันได้ทุกคน ในนวโกวาทแรกเรียนก็มี อินทรีย์ ๕ มันแก่กล้าถึงที่สุด ด้วยการประพฤติปฏิบัติจิตตภาวนา ศรัทธาก็ตายตัวลงไปเด็ดขาด วิริยะความพากเพียรก็ถึงที่สุด สติถึงที่สุด สมาธิถึงที่สุด ปัญญาถึงที่สุด นี้ก็หมายความว่ามันตัดหนทาง หรือกั้นกระแสแห่งการที่ว่าได้อารมณ์แล้วจะปรุงแต่งเป็นกิเลสนี้ได้จริง ๆ นี่ก็เรียกว่า จะมีผลเป็นวิมุติที่ไม่กลับกำเริบอีก ถ้าอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้มันถึงที่สุด ทำหน้าที่ของมันได้ถึงที่สุด นี่ก็เรียกว่าบ่มอินทรีย์ไปเรื่อย ๆ ให้เเก่กล้าถึงที่สุด ทำลายกิเลสได้ตามธรรมชาติของธรรมะ ฝ่ายที่มันจะทำลายกิเลส หรือป้องกันกิเลส
อกุปปา เม วิมุตติ นี้ก็หมายความว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรเหลือเป็นปัญหา เป็นญาณทัศนะที่เกิดขึ้นว่า หมดกิจที่จะต้องทำ วุสิตัง พรหมจริยัง กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถตตาย พรหมจรรย์จบ สิ่งที่ต้องทำ-ทำเสร็จ สิ่งที่เหลือไว้สำหรับจะทำอีกเพื่อดับทุกข์นี้ไม่มี ก็หมายความว่าการเกิด หรือวิถีทางการเกิดของกิเลส หรือการเข้ามาของกิเลส จนจิตประภัสสร หรือวิสุทธิ์ บริสุทธิ์ได้เป็นการถาวร ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ทีนี้บางคนเขาแย้งว่า ถ้ามันจิตบริสุทธิ์ประภัสสร บริสุทธิ์อยู่ตามเดิมแล้วเราจะต้องทำอะไร ก็มันบอกอยู่ชัด ๆ แล้วว่า มันยังไม่สามารถที่ว่าจิตนี้จะป้องกันไม่ให้กิเลสจรเข้ามา ก็ต้องอบรมจิต จิตตภาวนา อบรมจิตนี้ให้มันเข้มแข็งแก่กล้า ประกอบไปด้วยคุณสมบัติชนิดที่อุปกิเลสเกิดขึ้นไม่ได้อีก มันก็มีเท่านี้ คล้าย ๆ ว่าช่วยให้จิตนี้เจริญ จนรักษาสภาพประภัสสร หรือบริสุทธิ์ไว้ได้ ซึ่งที่แท้มันก็มีอยู่แล้วแต่มีอะไรเข้ามาแทรกแซงเรื่อย คำอธิบายเหล่านี้ ไม่แปลกจากที่เคยบรรยายแล้วโดยหลัก ๆ แต่ว่าจะชี้ให้ละเอียด ให้เห็นชัดละเอียดยิ่งขึ้นไปทุกที ๆ ว่าโดยหลักของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จิตนี้ประภัสสรตามธรรมชาติ แต่ว่าอาจจะเศร้าหมองได้ เพราะอุปกิเลสยังเข้ามาได้ และจะผ่องแผ้วได้เพราะว่ากำจัดอุปกิเลสออกไป พอรู้อย่างนี้ได้ก็จะมีความเชื่อ มีความพยายาม หรือมีความรู้อะไรที่จะขจัดอุปกิเลสออกไป หรือป้องกันไม่ให้เข้ามาก็ตาม มันก็มีเท่านั้นเอง ในที่สุดมันก็อยู่ในสภาพที่ประภัสสรเป็นการถาวร จะคิด จะพูด จะทำอะไร มันก็ไม่เป็นกิเลส มันก็รู้สึกอะไรไปได้ตามอำนาจของกิเลส
ทีนี้บางคน บางอาจารย์ บางพวกเขาว่า จิตประภัสสรนั้นเป็นเพียงภวังคจิต อย่างนี้ไม่มีความหมายอะไร ภวังคจิตไม่ได้มีความคิดนึกอะไร ไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้ทำอะไรได้ เพราะคนเราไม่สามารถจะมีภวังคจิตติดต่อกันไป โดยไม่มีความรู้สึกคิดนึกอะไรได้ เรามีจิตที่ทำหน้าที่ มิใช่ภวังคจิต คือจิตที่ทำหน้าที่ของจิตอยู่ คือคิดนึกรู้สึกอะไรได้ รับอารมณ์ได้ แต่รับเข้ามาสำหรับทำจิตเองให้เศร้าหมอง นี่ผิดแล้ว ที่รับเข้ามาโดยไม่ทำจิตให้เศร้าหมอง ก็ทำอะไรที่ควรจะทำไปได้ มันก็กินอาหารได้ หาอาหารได้ ทำการงานได้ ทำประโยชน์ตนได้ ทำประโยชน์ผู้อื่นได้ ทั้งที่จิตมันไม่ต้องเศร้าหมอง อยู่ในสภาพที่เป็นประภัสสร สิ่งที่เรียกว่าปัญญาเข้าไปผสมจิต ไม่ได้ทำจิตให้เศร้าหมอง ยิ่งเป็นการช่วยให้จิตมีปัญญา จิตที่ประภัสสรมีปัญญายิ่งขึ้นไปอีก จิตที่เป็นอวิชชานั่นแหละจะเข้าไปทำจิตให้เศร้าหมอง
ทีนี้พูดอุปมาก็เหมือนกับว่า จิตนั้นมันเป็นบ้านว่าง ๆ หรือเป็นโลกว่าง ๆ อยู่ ไม่มีกิเลส ไม่มีอะไร ไม่มีผี อย่าไปทำให้มันเป็นผี ไม่เป็นโลกผีสิง คือจิตไม่เป็นจิตผีสิง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งผีสิง แล้วตัวร่างกาย จิตทั้งหมดทั้งสิ้น ก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งผีสิง คนหนึ่งคนนี้ก็ไม่ได้เป็นคนผีสิง มีจิตใจที่เจริญแล้วก็เรียกว่ามนุษย์ได้ ทำให้เป็นมนุษย์ได้ คือมีจิตใจสูง มันก็มีเท่านั้นเอง สูงสุดเด็ดขาดลงไป ถ้ามนุษย์ทุกคนเป็นอย่างนี้ ก็ลองคิดดูเอาเองเถอะว่า มันจะเป็นโลกพระศรีอารย์ หรือจะยิ่งกว่าโลกพระศรีอารย์ ถ้าทุกคนมีจิตบริสุทธิ์ ผ่องใสไม่มีกิเลส ทำไปด้วยอำนาจของปัญญาที่ไม่มีกิเลส ก็ทำถูกหมด ประโยชน์ตัวก็ทำถูก ประโยชน์ผู้อื่นก็ทำถูก ประโยชน์ส่วนรวมทั้งหมดทั้งสิ้นก็ทำถูก นี่จะสบายเป็นโลกของพระศรีอารย์ หรือยิ่งกว่าโลกของพระศรีอารย์ไปเสียอีก
โลกพระศรีอารย์ในลักษณะที่เขาทำนายไว้นั้น เขาบรรยายไว้ดูเหมือนว่า ยังมีอะไรที่ยั่วให้คนอยากไปอยู่ ความสุข ความสบาย ต้องการอะไรก็ได้ อย่างนี้มันก็ยังยั่วให้ต้องการอยู่ แต่ถ้าจิตที่บริสุทธิ์แล้วมันไม่มีตัวกู ไม่มีความรู้สึกว่าต้องการ แม้จะไปหยิบมากิน มันก็ไม่ได้ทำด้วยความต้องการ ที่เรียกว่าด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ก็แปลว่าไม่ต้องการอะไร ไปหยิบอะไรมาก็ได้ มากินมาใช้ โดยไม่ต้องมีความต้องการ โลกของพระศรีอารย์ก็จะต้องมีความหมายอย่างเดียวกับโลกของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ ไม่ต้องการอะไร จิตใจเหมือนกับว่าอิ่มอยู่เสมอ คล้าย ๆ กับว่ามีสิ่งต้องให้ตามต้องการอยู่เสมอ ก็หมายถึงไม่ได้ต้องการอะไร ไม่มีกิเลสที่เป็นผู้ต้องการไม่มีตัวกู ใครลองอยู่อย่างนี้ ก็เป็นโลกพระศรีอารย์ขึ้นสำหรับบุคคลนั้น เฉพาะบุคคลนั้นขึ้นมาทันที
นี้คือข้อที่ผมพูดทีแรกว่า มันเป็นโลกผีสิงมากขึ้นไปทั้งโลกแล้ว แต่เราอาจจะแยกโลกของเราออกมา ไม่ให้เป็นโลกผีสิง ก็ทำได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันคือโลก เราแยกออกมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในลักษณะที่ไม่เหมือนเขา ก็ไม่เป็นโลกผีสิง เราแยกออกมาได้ เป็นโลกอื่นต่างหาก เป็นโลกว่าง หรือว่าเหนือโลก แล้วแต่จะเรียก จิตที่อบรมดีแล้ว ได้ภาวนา มันจะอยู่ได้ ไม่ต้องใช้คำว่าเราอีกแล้ว ถ้าใช้คำว่าเราก็เป็นเรื่องสมมุติ พูดตามโวหารที่ว่า เราแยกออกมาได้ ที่จริงจิตน่ะมันหลุดพ้นออกจากสิ่งผูกพันแวดล้อมทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเราแยกออกมาได้ แต่ถ้าพูดนี้ก็พูดในเบื้องต้น พูดให้เกิดความคิดที่จะกระทำแยกออกมา ก็พูดว่าเราแยกมาได้ คือมาทำอย่างนี้ ๆ จนจิตมันหลุดพ้นจากความเป็นเรา จากความมีโลกเป็นของเราเป็นอะไร นี่จิตหลุดพ้น มีความหลุดพ้นที่ไม่กลับไปเป็นตัวเราอีก ถ้าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ตรัสไว้ สำหรับปฏิปทาที่จะทำให้แยกออกมาได้ อยู่เหนือโลกนี้ เดี๋ยวนี้เพราะเหตุที่มันเป็นสิ่งที่ทำได้ ปฏิบัติได้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ทำได้ด้วยสติปัญญาของบุคคลนั้น ๆ
แล้วก็เป็นอันว่าวันนี้เราพูดขยายความวันก่อนออกไปอีกหน่อยว่า ตามธรรมดาให้มองเห็นว่า โลกว่างอยู่เสมอ หน้าที่คือป้องกันอย่าให้มันเกิดอะไรยุ่ง มาผสม มาสิง ลงไปในโลก คือจิต เอาละพอกันที