แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เนื่องในการมาฆบูชาสืบต่อธรรมเทศนาที่กล่าวแล้วในตอนบ่ายวันนี้เป็นวันมาฆบูชา ธรรมเทศนาก็เนื่องด้วย เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับมาฆบูชา เราก็ได้พิจารณากันถึงเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์ โดยมีใจความสำคัญในข้อที่ว่า การทำจิตของตนให้ขาวผ่อง หลักของโอวาทปาฏิโมกข์ข้อสุดท้ายมีความมุ่งหมายเช่นนั้น เรื่องการไม่ทำบาป เรื่องการทำกุศลหรือทำดีให้ถึงพร้อมนั้น เป็นการปฏิบัติในขั้นต้นจนถึงบทสรุปได้ว่า การไม่ทำบาปเป็นบทบัญญัติสำหรับคนบาป การทำกุศลให้ถึงพร้อมนี้เป็นบทบัญญัติของคนดี สำหรับคนดีเพื่อคนดี ส่วนข้อที่ว่าทำจิตให้ขาวรอบนี้ เป็นข้อบัญญัติเพื่อคนบริสุทธิ์ สำหรับคนที่จะมีความบริสุทธิ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ไม่มีความรู้สึกคิดนึกที่เป็นกิเลสประเภทใดๆ เลย ที่จริงขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วก็สรุปรวมได้ว่ามีมูลมาจากอวิชชา คือ ความไม่รู้ แล้วเกิดตัญหา เกิดอุปาทานความยึดมั่นเข้าที่นั่นที่นี่ ความยึดมั่นนั้นก็ออกมาในรูปของ ราคะหรือโลภะ คือ ความอยากจะได้บ้าง บางทีก็ออกมาในรูปของโทสะหรือโกธะเป็นความรู้สึกที่ตรงกันข้าม ไม่อยากจะได้ไม่อยากจะมี ไม่อยากจะถนอมไว้ แต่อยากจะทำลายหรือฆ่าเสียให้ตาย หรือให้ออกไปเสียให้ห่างไกล ทีนี้ก็ยังมีความยึดมั่นอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นไปในลักษณะที่ไม่รู้ โง่ ลังเล สงสัย ไม่แน่นอนเป็นกิเลสประเภทโมหะ กิเลสประเภทแรกมีลักษณะที่จะเอาเข้ามาหาตัวเรียกว่า “โลภะ หรือ ราคะ” กิเลสประเภทที่ ๒ มีลักษณะที่จะผลักออกไปเสียจากตัวเรียกว่า “โทสะหรือโกธะ” กิเลสประเภทที่ ๓ นี้วนเวียนด้วยความลังเล สงสัยไม่มีความรู้นี้เรียกว่า “โมหะ” ผู้ใดอยากจะรู้จักกิเลส ๓ประเภทนี้อย่างชัดแจ้งให้แยกออกได้จากกันโดยเด็ดขาด ก็จงใช้หลักเกณฑ์อันนี้ คือหลักเกณฑ์ที่ว่าถ้ามันดึงเข้ามาหาเพื่อจะเอาไว้ ยึดไว้ ก็เรียกว่า “โลภะ หรือ ราคะ” ถ้ามันไม่เอา หรือจะผลักออกไป หรือมันจะทำลายเสียให้หมดสิ้นเป็นประเภทโทสะหรือโกธะ ถ้ามันไม่มีความรู้ มันสงสัย มันวนเวียนอยู่รอบๆ ให้มีลักษณะดึงเข้ามาหรือผลักออกไปก็เรียกว่า “โมหะ” ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่าเป็น “กิเลส” เรื่องเศร้าหมองของจิต ถ้าจิตมีความรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกว่า “จิตไม่บริสุทธิ์ ไม่ขาวผ่อง” ทีนี้ก็จะต้องสังเกตดูให้ดีๆ ว่าราคะหรือโลภะนั้นมันก็เห็นได้ง่าย แม้แต่โทสะหรือโกธะก็เห็นได้ง่าย ส่วนเรื่องโมหะเป็นความไม่รู้นี้ มันเห็นได้ยาก ยิ่งไม่รู้ ก็ยิ่งไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไรกันแน่ ดังนั้นจึงเป็นความเศร้าหมองของจิตชนิดที่เร้นลับ ซับซ้อน ยากที่จะรู้สึกตัว จึงเป็นกิเลสประเภทที่ยากที่จะกำจัดออกไปได้ ความไม่รู้นี้เอง ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมาย และความไม่รู้อย่างยิ่ง หรืออย่างสูงสุดนี้ ก็คือความที่ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือสำคัญมั่นหมายโดยความเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล ให้รู้ว่ามันเป็นแต่เพียงสาสวะธาตุตามธรรมชาติเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง แต่ละธาตุ ละธาตุ ถ้ารู้ได้อย่างนี้เป็นความรู้ที่สูงสุด เป็นความรู้ที่สำคัญ ทำให้ไม่เกิดความมั่นหมายว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน และความรู้อย่างนี้มีมันก็ไม่มีกิเลสประเภทไหนที่จะเกิดขึ้นมาได้ กิเลสประเภทโลภะหรือราคะก็เกิดไม่ได้ ถ้ามันรู้สึกอยู่ว่ามันไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวตน มันเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติ เราก็ไปยึดมั่นเอาว่าเป็นตัวตน แม้สิ่งที่เป็นความรู้สึกสุข สบาย สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เหล่านี้ ตามหลักธรรมะแท้ๆ ก็ถือว่าเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติ คือ เป็นเวทนาธาตุ สิ่งที่เรียกว่า “เวทนา” ก็จัดว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะก็คือความรู้สึกที่เป็นสุขที่คนชอบยึดมั่นถือมั่นกันนักว่าเป็นของตน หรือเป็นตัวตนอยู่ในเวทนาธาตุนั้น ถ้ารู้ว่าเป็นธาตุจริงๆ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งมันก็ไม่เกิดราคะหรือโลภะในสุขเวทนานั้น ทีนี้กิเลสประเภทที่เป็นความโกรธหรือโทสะก็เหมือนกัน ถ้ามีความรู้สึกว่าความโกรธนั้นก็เป็นสะวะธาตุ สิ่งที่มาทำให้โกรธก็เป็นสาสวะธาตุ บุคคลที่มาทำให้โกรธก็สาสวะธาตุ หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้ทนอยู่ไม่ได้ต้องโกรธมันก็เป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติ ถ้ามองเห็นความจริงข้อนี้แล้วมันก็โกรธไม่ได้ หรือจะประทุษร้ายเบียดเบียนกันก็ทำไม่ได้ เพราะมองเห็นโดยความเป็นธรรมชาติหรือธรรมดา ที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โกรธไม่ลงนี่แหละขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่าความรู้แจ้งประจักษ์ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติ นี่มันเป็นความรู้ที่ประเสริฐเป็นความรู้ที่ทำให้ไม่เกิดกิเลส คือ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น หรือว่าถ้าจะพูดกันในอีกแง่หนึ่งก็ว่า ถ้าเรามีความรู้เรื่องธาตุ เราก็ใช้ความรู้นั้นสำหรับที่จะสร้างสรรค์หรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ความสะดวกสบายขึ้นมาได้อีกมาก แล้วก็โดยที่ไม่ต้องยึดถือมั่นเป็นตัวตน หรือเป็นของตน สรุปความว่าความรู้เรื่องสิ่งทั้งปวงเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาตินี้ ถ้ารู้แล้วก็ทำให้ไม่เกิดกิเลสใดๆ ไม่ว่าความโลภ หรือความโกรธ หรือความหลง ล้วนแต่เกิดไม่ได้ ทีนี้อีกทางหนึ่งก็รู้จักใช้ประโยชน์จากธาตุนั้นๆ ให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลแก่ความเป็นอยู่อย่างผาสุก หรือความสงบ ถ้ามันเป็นทางวัตถุธาตุก็มาใช้อย่างวัตถุธาตุ ประดิษฐ์ประดอยวัตถุขึ้นมาเท่าที่จำเป็น หรือเท่าที่จะเป็นประโยชน์แก่การที่จะเป็นอยู่กันอย่างเป็นผาสุข อย่าให้มันเฟ้อ อย่างให้มันเกิน อย่าให้มันเป็นไปในทางยั่วยวนให้เกิดกิเลสในทางวัตถุมากขึ้นไป เหมือนที่กระทำกันอยู่เดียวนี้ นี่ถ้าว่ามันเป็นธาตุในทางจิตใจเป็นนามธรรม หรือนามธาตุ ก็รู้จักใช้ รู้จักควบคุม ให้มีแต่ความรู้สึกในจิตในใจที่เป็นไปเพื่อความสงบ คือไม่เกิดกิเลสอีกนั่นเอง และยังสามารถจะให้จิตใจเจริญสูงขึ้นไปเป็นลำดับกระทั่งถึงการบรรลุมรรคผล นิพพาน ถ้าจะมองดูกันในบ้านเรือนของคนที่อยู่บ้านอยู่เรือน คนคิดให้ดีๆ พิจารณาให้ดีๆ เพื่อจะได้พบเห็นให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงว่า ปัญหาต่างๆ นั้นมันมีอยู่อย่างไร ทำไมเราจึงหาความสงบเย็นในจิตใจไม่ค่อยจะได้ จนกระทั่งชินเป็นนิสัย เป็นความเร่าร้อน แล้วกลบเกลื่อนความเร่าร้อนกันไปวันหนึ่ง วันหนึ่ง มันมีลักษณะเหมือนกับว่าอกไหม้ไส้ขมที่มันปกปิดไว้ข้างใน จึงไม่พบความสดชื่นแจ่มใสอันแท้จริง ในจิตใจของมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ควรพยายามแยกแยะปัญหาต่างๆ ให้หมดสิ้นให้ครบถ้วน และในที่สุดก็จะพบว่า เพราะความไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับธาตุอย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ แล้วก็อย่าลืมว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” นี้มันก็มีหลายประเภทหลายแผนก ในแผนกหนึ่งๆ ก็มีหลายชนิด ฉะนั้นปัญหาต่างๆ นั้น จึงไม่พ้นไปจากไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะกล่าวบ่อยๆ คือ กล่าวซ้ำบ่อยๆ ให้เป็นที่เข้าใจกันให้ยิ่งขึ้น จนทุกคนจะเข้าใจได้ว่ามันไม่มีอะไรที่จะพ้นไปได้จากความเป็นธาตุ รู้สึกว่าเห็นไหมอะไรๆ มันก็ไม่พ้นไปจากความเป็นธาตุชนิดใดชนิดหนึ่ง คนทั่วไปก็พูดกันได้เรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นต้น แต่ในที่สุดก็พูดแต่ปาก คือ ปากพูดได้เพราะมันเคยได้ยินบ่อยๆ ไม่รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” นั้นตามที่เป็นจริง คือ ไม่ถึงกับเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุ” นั้นแหละเรากำลังเข้าใจผิด กำลังยึดมั่นมันมาเอามาเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน พูดไปพูดมามันก็เป็นเรื่องที่น่ารำคาญ แต่แล้วมันก็เป็นความจริงที่ไม่รู้จักสิ้นสุด ถ้าจะมองดูไปที่เนื้อหนังร่างกายล้วนๆ มันก็สักว่าเป็นธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เราก็ไม่รู้สึกโดยความเป็นธาตุ เห็นเป็นความสวยความงาม ความเป็นนั่นเป็นนี่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอยู่ที่เนื้อหนังร่างกายนั้น ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ กันขึ้นมา ตั้งแต่เด็กจนเป็นคนหนุ่มคนสาว แทนที่จะมองสิ่งนั้นเป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม กลับมองเป็นวัตถุ หรืออารมณ์ หรือเนื้อหนัง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการประดับประดาตกแต่ง เป็นที่เกิดแห่งความรู้สึกที่เป็นกิเลสอย่างนั้นอย่างนี้ นี่จะต้องจับใจความให้ได้ซักอย่างหนึ่งว่าเราพูดได้ว่าสาสวะธาตุเท่านั้น แต่ใจมันไม่เป็นอย่างนั้น มันมองเห็นเป็นของสวยของงาม เป็นเรื่องของผู้หญิง เป็นเรื่องของผู้ชาย กระทั่งเป็นเรื่องของความหลงใหล โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นสาสวะธาตุ และคงจะไม่มีใครได้ยินได้ฟังกันด้วยซ้ำไปว่า แม้แต่ตัวความรู้สึกรักหรือหลงใหลนั้นก็เป็นสาสวะธาตุ เป็นธาตุอย่างนามธาตุ คือ ธาตุจิตใจ ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ซึ่งมันก็เป็นธาตุอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ทำให้เกิดเป็นความโง่ ความหลง ความรัก ความพอใจ ความกำหนัด ความเกลียด ความกลัว ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เป็นธาตุหนึ่งๆ นี่เมื่อพูดกันมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็อยากจะพูดให้หมด ไม่กลัวว่าใครจะรำคาญ เพื่อจะให้เกิดความรู้ที่เลื่อนชั้นสูงกันขึ้นมาอีกสักระดับหนึ่งว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ วัตถุก็เป็นธาตุ จิตใจก็เป็นธาตุ ความสัมพันธ์กันระหว่างวัตถุกับจิตใจ เนื้อหนังร่างกายเหล่านี้ เกิดอะไรขึ้นมา มันก็สักว่าเป็นธาตุ กระทั่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสาสวะธาตุชนิดหนึ่ง ความสุขที่เกิดขึ้นก็สักว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แม้จะยังพูดไม่ได้ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แต่มันเป็นความรู้สึกด้วยแล้วมันก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง นี่ขอให้ตั้งต้นศึกษากันหน่อย สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษามาก่อน หรือศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ ถ้าเราใช้คำว่า ธาตุแล้วจะมองถึงสิ่งที่เป็นส่วนประกอบ เป็นรากฐานของส่วนประกอบที่ลึกซึ้งที่สุด หรือที่ต่ำที่สุด หรืออันแรกที่สุดของส่วนย่อยที่จะแยกออกไปได้เป็นส่วนย่อยถึงที่สุด ฉะนั้นก็อย่างว่าคนหนึ่ง คนๆ หนึ่ง การแยกธาตุของคนๆ หนึ่งในครั้งแรกนี่ก็จะแยกเป็นว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ในคนหนึ่งมีธาตุดินก็คือ วัตถุ หรือสิ่งที่มีคุณสมบัติแข็งกินเนื้อที่เป็นโครงสร้างได้นี่เรียกว่า “เป็นธาตุดิน” ส่วนที่มันทำให้เกาะกุมกันได้หรือไหลเอิบอาบไปได้ เปลี่ยนรูปได้ นี่ก็เป็นธาตุน้ำ คือ คุณสมบัติที่ทำให้เป็นอย่างนั้นได้เรียกว่า “ธาตุน้ำ” นี่คุณสมบัติที่ทำให้รู้สึกเป็นอุณหภูมิ คือเป็นความร้อนในระดับใดก็ตาม เมื่อเป็นความร้อนแล้วก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดการเผาไหม้ นี่ก็เรียกว่า “ธาตุไฟ” ส่วนที่ทำให้ระเหยเป็นแก๊สเป็นลมอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ นี่ก็เรียกว่า “ธาตุลม” ก็เป็นอันว่าหมดกันในร่างกายคนที่จะไม่เหลือไว้สำหรับไม่ให้เป็นธาตุ ที่เหลืออยู่ก็เป็นส่วนจิตใจ และก็เป็นธาตุจิตใจ คือ วิญญาณธาตุ ให้เหลือกว่านั้นอีกก็เอาออกไปเสียหมดแล้วก็เหลือเป็นความว่างหรือเป็นเนื้อที่ว่างไม่มีอะไรนั้นก็เป็นธาตุว่าง หรือ อากาศธาตุ นี่ธาตุ ๖ อย่าง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ทำหน้าที่ปรุงแต่งสัมพันธ์กันอย่างละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง เกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า “คน” ขึ้นมาคนหนึ่งได้ นี่ไม่ใช่ฝีมือฝีไม้อะไรของคน มันเป็นฝีไม้ฝีมือของธรรมชาติอันเร้นลับ อันหนึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเราก็ไม่รู้ เราต้องเรียกสิ่งเร้นลับนั้นว่า “พระเจ้า” ก็มี ที่สร้างคนขึ้นมา แม้ที่สุดแต่บางคนจะเรียกว่า “ผี” ก็ได้ ก็มันเร้นลับเกินไปกว่าที่จะรู้จักมัน แต่มันมีอะไรอันหนึ่งซึ่งทำให้เกิดเป็นมนุษย์เป็นคนขึ้นมา โดยการเอาธาตุทั้งหลายเหล่านี้มาผสมปนเปปรุงแต่งกันขึ้นมา จนไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ มันผิดกันอยู่เพียงมันลึกซึ้งอยู่แต่เพียงที่ว่ามันปรุงแต่งกันขึ้นมาในลักษณะที่น่าอัศจรรย์ ไปศึกษาดูในเรื่องลูกตา ในเรื่องหู ในเรื่องจมูก ในเรื่องทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องมันสมอง กระทั่งไขสันหลัง กระทั่งกล้ามเนื้อ กระทั่งระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเป็นฝีไม้ลายมือของคน เช่น มนุษย์อย่างนี้ทำไม่ได้ ทำไม่เป็นแน่ สร้างขึ้นไม่ได้ มันจะละเอียดประณีตลึกลับกว่าไอ้สิ่งที่เค้าเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า “คอมพิวเตอร์” นั้นตั้งหลายร้อยหลายพัน หลายหมื่น หลายแสนเท่า ความประหลาดมหัศจรรย์ในตัวคนเราที่อะไรก็ไม่รู้มันสร้างขึ้นมาให้เป็นอย่างนี้ได้ จะเรียกว่าพระเจ้าสร้าง ผีสร้าง เทวดาสร้างว่าไปอย่างโง่ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะว่าอะไรดี แต่อย่าลืมว่าทุกส่วนนั้นมันแยกออกมาได้เป็นธาตุใดธาตุหนึ่งทั้งนั้น จะเป็นธาตุดินล้วนๆ หรือว่ามันผสมกันอยู่กับธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ก็สุดแท้ แต่ในที่สุดมันสัมพันธ์กันทั้ง ๖ ธาตุ มันจึงเกิดเป็นมนุษย์ที่มีกลไกในร่างกายประหลาดมหัศจรรย์ถึงที่สุด เราก็เลยเรียกว่า “มนุษย์” เสียไม่ยอมเรียกว่าเป็นกลุ่มแห่งธาตุ เราไม่มีปัญญาที่จะรู้จักมันว่าธาตุอะไรบ้าง และก็ไม่อาจจะรู้ว่าอะไรสร้างมันขึ้นมา และอะไรมันทำหน้าที่ปรุงแต่งประสานมันขึ้นมาในลักษณะที่เป็นคนๆ หนึ่ง นี่มองไปทางหนึ่งก็คือว่าเรามองไม่เห็นว่าเป็นธาตุ เว้นไว้แต่จะศึกษาตามหลักตามเกณฑ์ในทางธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางพระศาสนาที่ต้องการแต่จะสอนให้เห็นว่ามันเป็นสาสวะธาตุเป็นไปตามธรรมชาติ ปรุงแต่งกันไปตามธรรมชาติ ถ้ามันมีความเหมาะสม มันก็คงอยู่และเป็นไปต่อไป ถ้ามันไม่มีความเหมาะสมมันก็สลายสูญหายไป โดยกฏของธรรมชาติที่ปรุงแต่งกันไป ผลักไสกันไปเป็นเวลาล้านๆ ปี หรือหลายร้อย พันล้านปี ล้านๆ ปี มันก็เหลืออยู่เป็นสิ่งที่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์” หรือ “คนเรา” คือท่านทั้งหลายและอาตมาที่มานั่งกันอยู่ที่นี่ได้ โดยที่ไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้าหรือผีสางเทวดาอะไรที่ไหนมาช่วยสร้างช่วยทำ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็ต้องพูดไว้ดีก่อนว่ามันจะต้องเป็นผีสางเทวดาที่มีอะไรเก่งกาจกว่ามนุษย์ ส่วนในทางธรรมนั้นถือว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่งกันไปเรื่อยๆ สิ่งใดเหมาะสม สิ่งนั้นอยู่สิ่งใดไม่เหมาะสมสิ่งนั้นสลายไป ความเหมาะสมก็มีละเอียดประณีตสุขุมยิ่งขึ้นจนมาเป็นมนุษย์ที่ละเอียดประณีต สุขุม ลึกซึ้ง ทำอะไรได้ในร่างกายนั้นโดยอัตโนมัติ โดยระบบสมอง โดยระบบประสาท โดยระบบอะไรต่างๆ เหลือที่จะอัศจรรย์ ดังนั้นธาตุล้วนๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อยู่แล้ว ไปปรุงแต่งกันขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ก็น่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าใครเป็นผู้ปรุงแต่งและทำมันขึ้น พวกอื่นเค้าจะว่าพระเจ้าเค้าจะเรียกว่าเทวดาผีสางก็ได้ตามใจเค้า แต่พุทธบริษัทเรานั้น พระพุทธเจ้าท่านระบุไว้ว่า "อิทัปปัจจยตา" คือ กฏเกณฑ์แห่งการปรุงแต่งว่ามีสิ่งนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยสิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นปัจจัยสิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้น ตามกฏเกณฑ์แห่งปัจจัยนั้นๆ สิ่งใดเหมาะสำหรับจะเหลืออยู่ก็เหลืออยู่ สิ่งใดไม่เหมาะก็ต้องสลายไป จนกระทั่งเหลืออยู่เป็นสิ่งที่น่าประหลาดมหัศจรรย์คือคนเรา ในสภาพอย่างนี้มันจะต้องปรุงแต่งกันมากี่ล้านๆ ปี หรือกี่ล้านๆๆๆ ปี นับไม่ไหว มันมีความเหมาะสมเหลืออยู่เรื่อยๆ มาจนเป็นมุษย์อย่างนี้ ตอนหลังก็มาสืบพันธุ์กันในลักษณะอย่างนี้ จึงมีมนุษย์อย่างนี้ ทั้งหมดนี้ท่านลองคิดดูว่ามันยากง่ายอย่างไรเพียงไหนที่จะมองเห็นจะจะว่ามันเป็นธาตุ ไม่ได้สัตว์บุคคล ตัวตน เราเค้า มีคนพวกหนึ่งเค้าเกิดคิดหรือรู้สึกว่ามันเป็นวิญญาณ มันเป็นเจตภูต มันเป็นอาตมัน มันเป็นตัวเป็นตนที่อธิบายไม่ได้ คือ เป็นตัวตน สิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” นั่นแหละ ขึ้นมาในคำพูดของมนุษย์ก่อน ก็เลยเห็นว่ามันมีตัวตนที่มันจะเป็นเจ้าของร่างกายนี้ ที่มันจะยึดครองร่างกายนี้ ถึงแม้ร่างกายนี้ตายลง แตกตายลง มันก็ไปหาร่างกายใหม่ คนที่ฉลาดในยุคนั้นได้สอนกันไว้อย่างนั้นยุคหนึ่งแล้ว คนก็เชื่อรับสอนต่อๆ กันมาแล้วถอนยาก เพราะความรู้สึกชนิดนี้ มันกลมกลืนกันกับความรู้สึกที่สิ่งที่มีชีวิต มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้เอง ในเมื่อมันมีวิวัฒนาการทางความคิดนึกขึ้นมาเป็นอันดับแรก ต่อมาพระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นในโลก ท่านก็มาแนะให้ดูใหม่ว่าสิ่งที่มารู้สึกหรือคิดนึกหรือคาดคะเนหรืออะไรก็ตามใจเถอะ ว่าเป็นตัวเป็นตนนั่นแหละ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนดอก มันเป็นความเหมาะสมเป็นผลของความเหมาะสมที่เป็นความเหมาะสมของการปรุงแต่งของสิ่งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่งกันมา มันเกิดเป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาในนามธาตุ หรือธาตุจิต ธาตุใจประณีตละเอียด เป็นคิดได้เป็นเหตุผลเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนกว่ามันจะถูกต้องถึงที่สุด จึงจะพูดออกไปได้ถึงที่สุด ถูกต้องถึงที่สุด ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แล้วสาสวะธาตุตามธรรมชาติเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง มีความเหมาะสมแล้วก็เหลืออยู่และความเหมาะสมนั้นก็ขยายตัวออกไปก็เหลืออยู่อย่างน่ามหัศจรรย์อย่างที่กล่าวแล้ว ข้อความเพียงเท่านี้เป็นหัวใจทั้งหมดของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะมีซักกี่หมื่นแปดพันธรรมขรรค์ก็ตามใจ หัวใจของพุทธศาสนามีอยู่แต่ในประโยคเดียวนี้ว่ามันเป็นสะวะธาตุที่เป็นไปตามธรรมชาติที่ใครๆ ไม่ควรจะไปเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของๆ ตน อย่างที่สรุปเป็นภาษาบาลีสั้นๆ ว่า "สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ" สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตน ให้เห็นตามที่เป็นจริงว่าเป็นสาสวะธาตุ ที่โดยความรู้สึกของคนหนึ่งๆ มันยากที่จะรู้เพราะว่าเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ถูกหลอก โดยไม่มีเจตนาว่าใครจะหลอกให้หลงไปว่าเป็นตัวกู เป็นของกูอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้สึกว่ามันเป็นธาตุเลย ถึงกับไม่รู้สึกว่าไอ้ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวกูนั้นมันก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสัญญาบ้าง เป็นสังขารบ้าง คือ ความสำคัญมั่นหมายเอาว่าเป็นตัวกูนี้ก็ถือเป็นสัญญาธาตุ อัตตสัญญาสำคัญว่าตัวตนอย่างนี้เป็นต้น มันก็เป็นสัญญาธาตุ คือเป็นธาตุอันหนึ่ง นี่แหละดูให้ดีๆ ว่าเมื่อเรามีความรู้สึกเป็นตัวกู แล้วโกรธคนนั้นด่าคนนี้อยู่ทำไมเราไม่นึกได้เลยว่า ไอ้ที่กำลังโกรธคนอยู่ ด่าคนอยู่ นั่นเป็นเพียงความรู้สึกคิดนึกที่เป็นสาสวะธาตุอันหนึ่งที่มันถูกปรุงแต่งขึ้นมาในร่างกายนี้ ในกลุ่มธาตุทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มองเห็นว่าเป็นสาสวะธาตุแต่เห็นเป็นตัวกู ยิ่งได้ด่าเค้าก็ยิ่งพอใจ ยิ่งได้ตีเค้าก็ยิ่งสนุกมือ อย่างนี้มันก็ยิ่งเป็นตัวกูเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราต้องการจะเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกให้ดีให้ยิ่งขึ้นไป ก็จงพยายามในข้อนี้เถิดคือ ในข้อที่พยายามมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยความเป็นธาตุ เนื้อหนังร่างกายทั้งหมดนี้ก็เป็นธาตุ ประกอบขึ้นเป็นตาหูจมูกลิ้นกายใจนี้ก็ธาตุ เป็นสาสวะธาตุแต่ละอย่างละอย่าง อะไรๆ ที่จะเข้ามาจากข้างนอก คือ รูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้ก็เป็นสาสวะธาตุ ถ้ามาพบกันเข้ากับตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เกิดธาตุอันใหม่เป็นธาตุจิต ธาตุวิญญาณ เรียกว่า “วิญญาณธาตุ” ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง แล้วก็ยังเกิดเวทนาซึ่งเป็นเวทนาธาตุเป็นสุขธาตุ ทุกข์ธาตุ ก็จะเกิดกิเลสตัณหายึดมั่นมันก็เป็นสังขารธาตุในความหมายที่เป็นความคิดนึกในทางภายในจิตในใจ จนกระทั่งได้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมามันก็เป็นทุกขธาตุ เป็นธาตุคือความทุกข์ หรือธาตุคือความสุข นี่ก็เป็นไปในทางกาย ถ้าเป็นไปในทางจิตก็เรียกว่า “โสมนัสธาตุ โทมนัสธาตุ” หรือถ้ามันไม่รู้สึกแน่ลงไปก็เรียกว่า “อุเบกขาธาตุ” เพราะว่าถูกรัดตรึงไว้ด้วยอวิชชาธาตุ ถ้าจะมองดูให้ดีก็จะเห็นว่าอวิชชาธาตุนั่นแหละเป็นตัวสำคัญที่จะดึงเอานั่นมาดึงเอานี่มาผสมปรุงแต่งกันจนเป็นของใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ขอทบทวนดูอีกครั้งหนึ่งว่ามันมีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุในตัวของคนเรา ความโง่นั่นก็คือธาตุ ธาตุโง่ เรียกว่า “อวิชชาธาตุ” นี่มีอยู่ก็เป็นทุกหนทุกแห่งที่เรามีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ โสมนัสหรือโทมนัส หรือทุกข์ก็มาสุขหรืออุเบกขาก็ตาม ที่ใดมันมีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ โสมนัส โทมนัสให้รู้เถอะว่าในนั้นมีอวิชชาธาตุ คือ ความโง่ไปยึดมั่นถือมั่นเป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นโสมนัส เป็นโทมนัส โดยที่แท้แล้วเป็นเพียงปฎิกิริยาของธาตุทางกายบ้าง ทางจิตบ้างปรุงแต่งกันขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกอันนี้เป็นสาสวะธาตุเท่านั้น ทีนี้ก็จะขอร้องให้ดูต่อไปสักหน่อยว่าพุทธศาสนาย้ำมากหรือเน้นมากเอาใจใส่มากในเรื่องธาตุ ก็เพราะว่าต้องการจะรู้ตามที่เป็นจริงให้มันถึงที่สุด ถ้ารู้ตามเป็นจริงถึงที่สุดก็รู้ว่ามันเป็นสาสวะธาตุนั่นเอง นั้นจึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ”ตัวตนหรืออัตตา หรืออาตมา หรือชีโว เจตภูต วิญญาณ” ชนิดที่เป็นเจตภูตเป็นตัวเป็นตน อย่างที่เขาสอนกันอยู่ก่อนพุทธศาสนา มีคำว่า “อนัตตา” เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เห็นว่าไม่ใช่ตน เป็นสาสวะธาตุ คำว่า “สุญญตา” ก็เกิดขึ้นมาในขอบวงของพุทธศาสนาก็เห็นว่ามันว่างจากตัวตนไม่มีตัวตน นี่ก็เห็น นี่ก็คือการเห็นที่เป็นสาสวะธาตุ แม้แต่ตัวสุญญตาเอง คือความว่างนั้นก็เป็นสาสวะธาตุนี่คือตัวพุทธศาสนา ในทางปฎิบัติเขาสอนให้พิจารณาอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ให้เห็นตามที่เป็นจริงอยู่เสมอว่าล้วนแต่เป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติ จะปรุงแต่งกันอย่างไรเป็นอะไรๆ ขึ้นมาก็ไม่พ้นจากความเป็นธาตุ เหมือนกับที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่าความสุขก็เป็นธาตุ ความทุกข์ก็เป็นธาตุ ในที่สุดที่มนุษย์พอใจ หลงไหล หรือว่าเกลียดชัง หรือว่ากลัว ก็คือความสุขและความทุกข์ ความรู้สึกนั้นก็เป็นธาตุ ความสุข ความทุกข์ก็เป็นธาตุ มันก็รุงรัง หยุมหยิมไปด้วยคำว่า ธาตุ ไม่รู้ว่ากี่คำ กี่สิบคำ กี่ร้อยคำ นี่แหละ คือข้อที่ว่า เห็นไหมอะไรๆ ก็ไม่พ้นไปจากธาตุ ทีนี้ดูต่อไปว่าเราไม่นิยมใช้คำว่า ธาตุ พอมาเป็นหูเป็นตาขึ้นมาเราก็ไม่เรียกว่า “ธาตุหู ธาตุตา” เราก็เรียกว่า “หู ว่า ตา” เป็นรูป เสียง กลิ่น รส เราก็ไม่เห็นว่าเป็น รูป เสียง กลิ่น รส เราไม่เห็นว่าเป็นธาตุ แต่เราเห็นว่าเป็นรูปเสียงกลิ่นรส ก็เพิ่มคำพูดที่เกิดขึ้นมาใหม่กลบเกลื่อนไอ้คำพูดว่าธาตุ ธาตุนั้นให้หายไปทุกทีไม่มาปรากฎเป็นธาตุ แต่ถ้าไปดูในพระบาลีในพระคำภีร์ในพระพุทธภาษิตแล้วมันเต็มไปด้วยคำว่าธาตุ เช่น จักษุธาตุ ธาตุคือตา โสตธาตุ ธาตุคือหู หรือว่ารูปธาตุ ธาตุคือรูป สัททธาตุ ธาตุคือเสียง คันธธาตุ ธาตุคือกลิ่น อย่างนี้เรามาเรียกกันเสียใหม่ว่าเป็น อายตนะภายในภายนอก อายนะภายใน คือ ตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไปมัวเรียกเสียว่า “อายตนะ” มันก็เลยลืมไปว่ามันเป็นเพียงธาตุที่ปรุงแต่งกันขึ้นหลายๆ ธาตุ มาอยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่า “อายตนะ” มันมาจากธาตุ แต่มาทำหน้าที่อันใหม่สำหรับทำความรู้สึกก็เลยเรียกว่า “อายตนะ” ถ้าเรียกว่า “ธาตุ” ก็คงอยู่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งๆ ที่จะประกอบกันขึ้นเป็นอะไร เป็นของใหม่ คือ พอมันประกอบกันขึ้นเป็นของใหม่ ถ้ามันประกอบขึ้นมาในลักษณะที่จะเป็นสิ่งสำหรับรู้สึกรู้จักหรือติดต่อกันระหว่างข้างนอกข้างในก็เลยได้ชื่อใหม่ว่า “อายตนะ” ไปเสีย อายตนะภายใน อายตนะภายนอกก็เกิดขึ้นเป็น ๖ อย่างเป็นคู่กัน สำหรับเมื่อครบแล้วก็จะเกิดเป็นสัมผัส เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน นี่หน้าที่ของอายตนะ คือ ธาตุต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นอยู่ในรูปของอายตนะ ทีนี้ถ้าเรามีการประกอบปรุงแต่งกันไปทางหนึ่งซึ่งจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน สำหรับที่จิตจะไปยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เรียกว่า “ขรรค์” คำว่า ขรรค์ แปลว่า กลุ่ม หรือก้อน หรือพวก คือ ธาตุทั้งหลายปรุงแต่งกันแล้วเป็นรูปขรรค์ขึ้นมา ทางนามธาตุปรุงแต่งกันขึ้นแล้วเป็นเวทนาขรรค์ สัญญาขรรค์ สังขารขรรค์ วิญญาณขรรค์ขึ้นมา นี่มันปราณีตยิ่งขึ้นไปจนเป็นขรรค์ คือ เป็นกองๆ หนึ่งที่น่าดูน่าหลงใหลน่าพอใจน่ายึดถือ สิ่งที่เรียกว่า “ขรรค์” นี่ก็คือ ขรรค์ ๕ แล้วก็กลายเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน สำหรับจะยึดมั่นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นตัวกู ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของกู มีความโง่ไปโง่มา หลงไปหลงมาในระหว่างคนเลยยึดถือไม่เหมือนกัน บางคนยึดถือรูปขรรค์เป็นตัวตน บางคนยึดถือจิตใจ เช่น เวทนาเป็นตัวตน สัญญาเป็นตัวตน สังขารเป็นตัวตน วิญญาณเป็นตัวตน นี้ไม่ตรงกันสักคนหนึ่ง แม้ในคนๆ เดียวกันนั่นแหละ มันยังโง่ยังเป็นเด็ก มันก็มักจะยึดถือเอาร่างกายนี้เป็นตัวตน พอโตขึ้นก็ยึดเอาความรู้สึกคิดนึกเป็นตัวตน ศึกษาละเอียดขึ้นมาก็เอาสัญญาเป็นตัวตน เอาสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูเป็นของกูนั่นแหละ เอาขึ้นมาเป็นตัวตน อย่างนี้เรียกว่า “ยึดมั่นขรรค์เป็นตัวตน” ขรรค์นั้นก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า ธาตุหลายๆ ธาตุปรุงแต่งกันขึ้นมาในลักษณะที่ละเอียดประณีต สุขุม เราไปเรียกว่า “ขรรค์ ๕” จนลืมไปเสียว่าที่แท้คือกลุ่มแห่งธาตุหลายๆ ธาตุแล้วก็ปรุงแต่งกันขึ้นมาเป็นขรรค์ๆ หนึ่ง เป็นขรรค์ ๕ ล้วนๆ สำหรับทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเกิดกิเลสก็ได้ แต่ถ้าว่าขรรค์นั้นทำหน้าที่เป็นที่ตั้งของการเกิดกิเลส อุปาทาน จนกลายเป็นอุปาทานขรรค์นี่จะต้องเป็นความทุกข์แน่ ขรรค์ล้วนๆจะกลายเป็นอุปาทานขรรค์ต้องมีอวิชชาคือความโง่เข้ามาว่าจะยึดถือเอาเป็นตัวกูหรือเป็นของกูที่ขรรค์ใดขรรค์หนึ่ง ถ้าเป็นอุปาทานขรรค์อย่างนี้แล้วมันก็เป็นทุกข์แน่ ซึ่งขรรค์ล้วนๆ ก็เป็นธาตุที่ประกอบกันขึ้นเป็นขรรค์ แต่ถ้าเป็นอุปาทานขรรค์ต้องเอาอวิชชามาเติมให้อีกส่วนหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งจึงจะเป็นอุปาทานขรรค์ ถ้าไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องขรรค์นี้ ก็ยังเป็นขรรค์ล้วนๆ อยู่ คือ เป็นรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ไม่ถูกยึดถือคือความเป็นตัวตน มีชีวิตอยู่ตามปกติ ไม่เป็นทุกข์ เมื่อตาเห็นรู้ ยกตัวอย่างว่าเมื่อตาของเราเหลือบไปเห็นรูป มันก็เกิดรูปขรรค์ที่ตาและที่รูปนั้นขึ้นมา ก็สัมผัสกันระหว่างตากับรูป ก็เกิดเวทนาเป็นรูปสวย รูปไม่สวยอะไรขึ้นมา ถ้าจำได้ว่าเป็นรูปอะไร สบายตา สบายใจไปพักหนึ่ง แล้วก็เลิกกันไม่ถึงกับเป็นทุกข์ แต่ถ้าในกรณีที่จะเป็นทุกข์นั้นมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นขรรค์ขึ้นมา แล้วมันถูกหมายมั่นด้วยความคิดนึกที่เป็นตัวฉัน เป็นของฉัน เป็นรูปของฉัน เป็นเวทนาของฉันจนเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวนี่คือ อุปาทานขรรค์ ที่นี้เราจะดูคราวเดียวหมดว่าในอุปาทานขรรค์มันก็คือ ธาตุ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นขรรค์ทั้ง ๕ แล้วเอาอวิชาธาตุมาเติมเข้าไปให้เต็มที่ แต่ถ้าเป็นขรรค์ล้วนๆ ก็เป็นธาตุต่างๆ ที่ปรุงกันขึ้นมาเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารวิญญาณ ยังไม่ได้เติมอวิชชา อวิชชาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ายิ่งเป็นเพียงอายตนะแล้วก็เพียงแต่ว่าทำหน้าที่ข้างในที่จะรับอารมณ์ข้างนอก ที่เป็นอารมณ์ข้างนอกเข้ามาสัมพันธ์กับอายตนะข้างใน สิ่งเหล่านี้เป็นธาตุทั้งนั้น ทีนี้มันมีสิ่งที่จะต้องดูให้ละเอียดลงไปว่าการที่ธาตุมันปรุงแต่งกันนี่ก็เรียกว่า “อาการเปลี่ยนแปลงของธาตุ” มีลักษณะเป็น "ปฏิจสมุปบาท" คำนี้มันเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าถือเอาแต่ใจความก็พอจะเข้าใจได้ คำว่า "ปฏิจสมุปบาท" แปลว่า มันอาศัยเหตุปัจจัยแล้วก็เกิดขึ้นมาเป็นคราวๆ คราวหนึ่งๆ บางทีพระพุทธเจ้าท่านก็เรียกว่าให้ชัดลงไปว่า “อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาโท” สองคำพ่วงเข้าด้วยกันว่า “อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาโท” อิทัปปัจจยตา แปลว่า เพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ปฏิจสมุปบาท แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นครบถ้วน เหตุปัจจัยสิ่งนี้ สิ่งนี้มีอยู่ก็ปรุงแต่ง สิ่งนี้สิ่งนี้ขึ้นมา คือ มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นจนครบถ้วน ตามกรณีตามเหตุการณ์ที่มันต้องการ สิ่งเหล่านี้ที่เป็นไปโดยส่วนย่อยให้ละเอียดแล้วก็มีมากในร่างกายเรา แต่ที่เป็นรายใหญ่ๆ เป็นเรื่องใหญ่ๆนั้น หมายถึง การปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ นั่นเรียกว่า "ปฏิจสมุปบาท" ที่เป็นตัวปัญหาเป็นตัวร้ายกาจโดยตรง นี่ปฏิจสมุปบาท คือ ลักษณะที่ปรุงแต่งกันขึ้นมาแล้วเกิดขึ้นครบถ้วนนี้ มันยังมีอีกมากที่เป็นส่วนย่อยๆ ยังไม่ถึงกับว่าจะเป็นทุกข์โดยตรงอย่างนี้ก็มี เพราะเล็งเอากิริยาอาการ อาการที่มันจะมีเนื้อหนังขึ้นมา มันก็ต้องมีอะไรหลาย ๆ อย่างปรุงแต่งกันขึ้นมา เช่น ว่ามีบิดามารดาเป็นแรงเกิดอาศัยข้าวสุกของสดอาหารเลี้ยงดูประคบประหงมการกินการอาบการถ่ายนี้ล้วนแต่ปรุงแต่ง ปรุงแต่ง ปรุงแต่งกันขึ้นมาแล้วเป็นเนื้อหนังร่างการอยู่อย่างนี้ นี่ก็เรียกว่า “ปฏิจสมุปบาท” ได้เหมือนกัน จะเป็นไปตามทางฝ่ายร่างกาย ฝ่ายวัตถุล้วนๆ ยังไม่เป็นทุกข์จนกว่าเมื่อใดที่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง หลงสำคัญเป็นร่างกายของเราเป็นเกิดของเราเป็นความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา อะไรเป็นของเราขึ้นมา ก็เลยเป็นปฏิจสมุปบาทชนิดที่เป็นทุกข์ทำให้เกิดทุกข์ เราไม่พูดว่าปฏิจสมุปบาทจนชินหู เราไม่พูดว่านั่นแหละคือ อาการที่ธาตุทั้งหลายมันปรุงแต่งกันเป็นธาตุ ธาตุขึ้นมานั่นแหละ นั่นแหละคือ ปฏิจสมุปบาท ฉะนั้นปฏิจสมุปบาทก็คือ การที่ธาตุมันปรุงกันแต่งทะยอยกันขึ้นมาเป็นของใหม่ๆ ทะยอยกันออกมา ก็ต้องอาศัยอวิชชาธาตุเป็นต้นตอ หรือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทุกอย่างไป เป็นทั้งมูลเหตุ เป็นทั้งปัจจัย เป็นทั้งเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นอะไรหมด โดยอาศัยอวิชชาธาตุนั้น เข้าปรุงแต่งให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้ในที่สุดดังนี้ ถ้าพูดว่าปฏิจสมุปบาทมันก็จริง มันก็ถูกแต่ไม่ถูกเท่ากับที่ว่า อาการที่ธาตุมันปรุงแต่งธาตุด้วยกันให้เป็นธาตุใหม่ๆ ออกมาๆ นี่คือ ปฏิจสมุปบาท ว่าจะรู้จักปฏิจสมุปบาทในลักษณะที่เป็นอาการของธาตุปรุงแต่งกันอย่างนี้ก็เป็นอันว่ารู้จักธาตุดี รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุดี” ไอ้ธาตุมันก็เป็นสวะธาตุ อายตนะก็คือ ธาตุที่ปรุงแต่งกัน ออกมาอยู่ในรูปที่เราเรียกมันว่า “อายตนะ” ก็คือกลุ่มแห่งธาตุที่รวมกันเป็นอายตนะ ถ้าปรุงแต่งกันเป็นขรรค์มันก็คือกลุ่มของธาตุที่ปรุงแต่งกันขึ้นอยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่า “ขรรค์” แล้วมาเป็นอุปาทานขรรค์ คือ ขรรค์ที่อุปาทานยึดครอง มันก็เป็นกลุ่มธาตุที่เจืออยู่ในอุปาทานหรือเป็นอวิชชา ดูอาการที่มันปรุงแต่งกันอยู่เรื่อยไปนี้ก็เรียกว่า “ปฏิจสมุปบาท” มันก็คืออาการที่ธาตุเท่านั้น ปรุงแต่งธาตุเท่านั้น ออกมาเป็นธาตุใหม่ๆ เท่านั้น คำว่า ปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงชื่อของกิริยาอาการ นี่จะเห็นได้ทันทีว่า อายตนะก็คือ ธาตุ ขรรค์ล้วนๆ ก็คือ ธาตุ อุปาทานขรรค์ก็คือ ธาตุ ปฏิจสมุปบาทก็คือ ธาตุ ทีนี้ดูไปในทางที่ตรงกันข้าม คือว่า มีวิชชาธาตุเข้ามาเป็นเรื่องเครื่องตั้งต้น มันก็ปรุงแต่งไปในทางที่ตรงกันข้าม คือไม่ปรุงแต่งความรู้สึกที่เป็นตัวตน ปรุงแต่งเป็นความรู้สึกที่เข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นปัญญา เป็น "ยถาภูตญาณทัสสนะ" ความเห็นความรู้ถูกต้องตามที่เป็นจริงตามธรรมชาติเป็นจริงอย่างไร มันก็เลยเกิดเป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น เกิดเป็น "นิโรธธาตุ" ดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ดับกิเลสทั้งหลาย ให้กลายเป็น "นิพพานธาตุ" ขึ้นมา นิพพานนั้นก็เป็นธาตุ ธาตุนั้นทำหน้าที่ดับ ดับสิ่งที่จะปรุงกันขึ้นมาเป็นความทุกข์ คือ ดับสิ่งที่จะงอกงามกันขึ้นมาเป็นความทุกข์ ถ้างั้นที่พูดว่า นิพพาน นิพพาน ก็ยังเป็นคำที่หลอกลวงอยู่มาก ถ้าพูดว่าธาตุอันหนึ่ง มีหน้าที่ดับเสียซึ่งการปรุงแต่งของธาตุทั้งปวงนี้คือ ความจริง แต่พูดอย่างนี้ไม่มีใครพูด มันเยิ่นเย้อ มันยืดยาด เลยพูดกันว่า นิพพาน นิพพาน โดยพูดไปในทางโฆษณาชวนเชื่อว่า สบาย เยือกเย็น ไม่มีความทุกข์ มันก็เป็นหนทางที่จะย้อนกลับไปหาความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นนิพพานทั้งที่ไม่รู้จักนิพพาน หมายมั่นนิพพานทั้งที่ไม่รู้จักนิพพานอย่างนี้ มันก็เป็นนิพพานไปไม่ได้ มันก็เป็นอวิชชาไปตามเดิม ถ้าสมมุติว่าเป็นความรู้จริง เห็นจริง เกิดมาจากวิชชาธาตุแท้ นั่นมันจะเป็นนิพพานขึ้นมาได้ เพราะว่ามันจะดับเสียซึ่งกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งหลาย ธาตุอย่างนี้เรียกว่า “นิพานธาตุ” ก็ได้ เรียกว่า “นิโรธธาตุ” ก็ได้ แล้วยังมีชื่อเรียกอีกมากมายล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งนั้น ในที่สุดมีผลปรากฏเป็นอันดับสุดท้ายว่า ไม่มีตัวตน นี่คือว่างจากตัวตน ว่างจากความหมาย ที่จะมายึดถือเป็นตัวตน นี่ก็เลยกลายเป็นธาตุว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายที่จะถูกยึดมั่นเป็นตัวตน ว่างจากอะไรที่เป็นตัวตน อันเป็นสวะธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ภาวะที่ว่างจากตัวตนอย่างนี้เรียกว่า "สูญญตะธาตุ หรือสูญญาธาตุ" ธาตุที่ว่างจากตัวตน เป็นวิชาเป็นความรู้ให้เห็นว่าไม่มีตัวตน นี่ทั้งหมดนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่มีใครสนใจเอามาพูดนี่ก็ดูเหมือนจะเอามาพูดให้ง่วงนอนเล่นสนุกๆ มากกว่า แต่ไม่พูดก็ไม่ได้เพราะว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ยิ่งจะพูดให้ใกล้ชิดหรือถูกต้องต่อหัวใจของพุทธศาสนานั้นก็มีแต่จะยิ่งต้องพูดเข้ามาหาสิ่งที่เรียกว่า ธาตุเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ ไม่มีอะไรที่พ้นไปได้จากธาตุ ท่านกำลังมีปัญหาอย่างไรอยู่ในใจ ก็ลองว่ามาดู มีความวิตกกังวลอยู่ในใจ มันก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของเวทนาธาตุบ้าง ของอวิชชาธาตุบ้าง มีความขี้ขลาด มีความกลัวอะไรอยู่ในใจ มันก็เป็นสวะธาตุ เท่านั้น เป็นอวิชชาธาตุ เป็นสังขารธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ผสมปรุงแต่งกันขึ้นแล้ว สำเร็จรูปออกมาเป็นความกลัว กลัวตาย กลัวผี กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวม้า กลัวอะไรที่มันน่ากลัวก็เป็นธาตุเท่านั้น เป็นสวะธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น กลัวความกลัวนั้นก็เป็นสาสวะธาตุ ไอ้สิ่งที่กลัวนั้นก็เป็นสาสวะธาตุ สิ่งที่ถูกสมมุติว่าเป็นผู้คนที่กลัว ฉันเป็นผู้กลัว ฉันกลัวนี่ ฉันก็เป็นสาสวะธาตุ ธาตุโง่ หรือสังขารธาตุที่ปรุงแต่งกันอยู่ด้วยอวิชชา หรือว่าท่านกำลังมีความอยาก จะดิบ จะดี จะเด่น จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้ความอยากนั้นมันก็ธาตุ ความดีนั้นก็เป็นธาตุ ความอยากที่จะดีก็เป็นธาตุ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ แต่เราไม่รู้สึกว่าเป็นธาตุ มันรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน มันต้องการจะได้ดี เอาความดีมาเป็นของฉัน แล้วก็สะสมไว้ให้มากๆ เพื่อจะเต็มไปด้วยความดี ความดีก็เป็นธาตุ เอามาแบกเอาไว้เท่าไรมันก็ยิ่งเป็นของหนักเท่านั้น ไม่ใช่ว่ามันเป็นความดีแล้วมันจะไม่หนัก ถ้าเอามาแบกไว้ ต่อเมื่อไม่เอามาแบกไว้มันจึงจะไม่หนักหรือเป็นของเบา ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นธาตุเท่านั้นมันก็ไม่มีการแบก เพราะรู้สึกชัดๆ ว่ามันเป็นสาสวะธาตุเท่านั้น ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวเป็นตน มีใครมองเห็นอย่างนี้ ความดีก็ไม่เป็นของหนักสำหรับบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นยังต้องการความดี ก็เอามาเป็นทาส เอามาเป็นบ่าวเป็นไพร่ สำหรับใช้สอยต่างหาก ไม่ใช่เอามาแบกไว้ แต่ถ้ารู้จริง เห็นจริงแล้วจะไม่รู้สึกว่าชั่วหรือว่าดี จะรู้สึกแต่ว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนี้มีความจำเป็นแก่เราอย่างไร สิ่งนี้เราจะต้องใช้มันอย่างไร หรือไม่ต้องใช้ก็ได้ ถ้าต้องอาศัยต้องใช้ก็ทำไปอย่างที่เรียกว่าอาศัยใช้ อย่าหมายมั่นว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ถ้าไม่เกี่ยวข้องกันก็อย่าไปเกี่ยวข้องกันให้มันยุ่งยากลำบาก นี้เรียกว่าทำเท่าที่จำเป็นหรือสมควรจะทำ แล้วก็ในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์เลย ถ้าเราอยากจะทำไปเสียหมด มันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดเผลอ หลงใหล ยึดมั่นถือมั่นเอาได้ อย่างน้อยมันก็ไปยึดมั่นว่า เอาไว้มากๆ นั่นแหละมันก็จะดี แล้วมันก็เป็นทุกข์มากได้จริงเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์เลย จะเอาไว้มากเท่าไหร่มันก็หาเป็นทุกข์ไม่ ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วเอาไว้นิดเดียว มันก็เป็นทุกข์ เพราะงั้นความทุกข์มันอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น แล้วไปๆ มาๆ ก็ว่าไอ้ความยึดมั่นถือมั่นก็เป็นสาสวะธาตุ ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็สักแต่ว่าธาตุ เป็นธาตุยึดมั่นกับธาตุไม่ยึดมั่น วิชชาธาตุบ้าง อวิชชาธาตุบ้าง แล้วแต่จะเรียกกัน นี่ไปๆ มาๆ ในที่สุดพูดได้เลยว่าไม่มีอะไรที่จะพ้นไปจากความเป็นธาตุ ขอให้สนใจอย่างนี้ความเข้าใจต่อสิ่งทั้งปวงมันก็จะมีมากขึ้นทุกที จนกระทั่งไม่ยึดถือสิ่งใดให้มาเป็นของหนัก นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหลักอย่างตายตัวว่า ถ้าถือมันก็หนัก ถ้าแบก ถ้าหาม ถ้าถือ ถ้าทูน ถ้าอะไรก็ตามใจ มันก็หนัก ถ้าไม่ถือ ไม่แบก ไม่ทูน ไม่หาบ ไม่หาม ไม่อะไร มันก็ไม่หนัก นี่หมายความว่า จิตใจ อย่าโง่ อย่าประกอบอยู่ในอวิชชา แล้วก็ไปแบก ไปถือ ไปทูน ไปหาบ ไปหามอะไรเข้าไว้เป็นความชั่วก็มี เป็นความดีก็มี เป็นความสุขก็มี เป็นความทุกข์ก็มี อย่าไปแบกไปหามเท่านั้นแหละ มันก็ไม่มี ไม่เป็นความหนัก ไม่เป็นความทุกข์ เกี่ยวข้องกับมันก็ได้แต่อย่าไปแบกไปหามเข้า คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหา ด้วยอุปปาทาน มันก็ไม่มีความทุกข์ จะมีเงินซักเท่าไหร่ ถ้าไม่มีความยึดมั่นมันก็ไม่เป็นทุกข์ มีแต่ครึ่งสตางค์เท่านั้นแหละ ยึดมั่นเข้ามันก็เป็นทุกข์ นี่คือกฏเกณฑ์ของความจริงตามธรรมชาติ ว่าถ้าเกิดเป็นธาตุแห่งความยึดมั่นขึ้นมาแล้วมันก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดมั่นมันก็ไม่เป็นทุกข์ ท่านหัดกันตรงนี้ซักหน่อยเดียวเท่านั้น จะคิดอะไรก็คิดด้วยสติปัญญา อย่ายึดมั่นถือมั่น ทำอะไรก็ทำด้วยสติปัญญา อย่ายึดมั่นถือมั่น ได้ผลเป็นอะไรมาก็อย่ายึดมั่นถือมั่น จะเก็บไว้หรือจะใช้สอยหรือจะจัดการอย่างไรก็อย่าได้ทำไปด้วยจิตใจที่ยึดมั่นถือมั่น พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้ามันก็กัดเอา คือเป็นทุกข์ เพราะงั้นเราจะต้องอยู่เหนือ คือ ชนะมัน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีอะไรที่เป็นทุกข์ ถ้าเห็นว่ามีความสามารถที่ทำประโยชน์ทั้งหลายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นก็ทำได้ เมื่อไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็ช่วยเหลือคนอื่น ส่วนตัวก็มี ตามที่มันควรจะมี ถ้ามันเกินหรือมันเหลือก็ช่วยเหลือผู้อื่น อย่างนี้ก็มันมีแต่การที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ให้มีความทุกข์ เราไม่มีความทุกข์อย่างไรก็ช่วยเหลือผู้อื่นให้ไม่มีความทุกข์อย่างนั้น มันก็กลายเป็นโลกของมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์ขึ้นมาได้โดยแน่นอน เดียวนี้ใครๆ ก็ยึดมั่นถือมั่น เกิดลูกเกิดหลานออกมาก็สอนให้ยึดมั่นถือมั่น แล้วต่างคนก็แข่งขันกัน แข่งขันกันในการที่ชิงกันยึดมั่นถือมั่นให้มากเข้าไว้ ไอ้โลกนี้มันก็เป็นโลกของความทุกข์ขึ้นมา โลกมนุษย์ก็ทุกข์ โลกเทวดาก็ทุกข์ โลกของพวกพรหมก็ทุกข์ เพราะว่าเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น จะไม่มีความทุกข์ก็แต่โลกของพระอริยะเจ้า พระอริยะเจ้า คือ ผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือผู้กำลังยึดมั่นถือมั่นแต่น้อยลง น้อยลง น้อยลง คือ คลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง อย่างนี้ก็เรียกว่า “โลกของพระอริยะเจ้า” ทีนี้จะชี้ให้มันชัดสักหน่อยก็คือว่าในกลุ่มร่างกายของคนๆ เดียวคนหนึ่งนี้แหละ เมื่อใดความยึดมั่นมันเกิดขึ้นเต็มที่มันก็เกิดเป็นโลกของสัตว์ที่มีความทุกข์ จะเป็นมนุษย์ หรือเทวดา หรือพรหมอะไรก็ตามมันมีความทุกข์ เพราะมันโง่และมันไปยึดมั่นเข้าชั่วขณะหนึ่ง เรื่องหนึ่ง ทีนี้ในคนนั้นเองบางเวลามันเกิดสติปัญญาขึ้นมามันก็ไม่ยึดมั่น มันก็เปลี่ยนโลกนี้ใหม่ ร่างกายนี้กลายเป็นโลกที่อยู่ของปัญญา ของวิชชา ของพระอริยะเจ้า มันกลับไปกลับมากันได้อย่างนี้ ถ้าถือหลักอย่างนี้มันจะง่ายเข้า ควรระวังสักหน่อย อย่าให้ร่างกายนี้กลายเป็นบ้านเรือนของกิเลสตัณหา แต่ให้เป็นบ้านเรือนของสติปัญญา เป็นที่สิงสถิตย์อยู่ของสติปัญญา ร่างกายนี้ ร่างกายที่ว่าปฏิกูลเน่าเหม็นนี้ ทำให้ดี กลายเป็นที่อยู่ที่อาศัยของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จัดไม่ดีกลายเป็นที่อยู่ที่อาศัยของภูติผีปีศาจนรกอบายอะไรที่ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งนั้น นี่จำไว้ให้ดีว่าร่างกายนี้ที่ประกอบอยู่ด้วยจิตใจนี่ ที่ถือกันว่าเป็นร่างกายปฏิกูล ยาวไม่เกินวาหรือประมาณวามีจิตใจเข้าผสมให้ยึดครองอยู่นี่ทำให้ดีๆ มันจะเป็นความทุกข์ขึ้นมาก็ได้ จะไม่มีความทุกข์ก็ได้ คือร่างกายนี้ เมื่อใดปาทานเกิดขึ้น คือว่าธาตุอวิชชาปรุงแต่งเป็นสังขาร เป็นอุปาทาน ที่เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว คนๆหนึ่งนี้ก็กลายเป็นรังของความทุกข์ เป็นบ้านเรือนของภูตผีปีศาจ นี่ต้องพูดหยาบคายอย่างนี้ แต่ถ้ามีสติปัญญาคุ้มครองไว้ได้ ไอ้ร่างกายนี้มันก็เป็นวิมานของเทวดาชั้นที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งเป็นที่อาศัยของพระอริยะเจ้า อย่างเลวที่สุดก็เป็นอบาย อย่างเลวน้อยหน่อยก็เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอะไรไปตามเรื่อง ซึ่งไม่ใช่พระอริยะเจ้าก็แล้วกัน แต่พอถึงขั้นที่จะเอาตัวรอดได้มันก็เริ่มเป็นโลกของพระอริยะเจ้าขึ้นมา เป็นน้อยๆ ก็เรียกว่า "พระโสดาบันปฏิทาคามี" เป็นสูงขึ้นไปอีกก็เรียกว่า "อนาคามี" ถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ เราได้ยินคำว่า “พระอรหันต์” เราได้เรียนรู้ว่าบุคคลบางคนได้เกิดปัญญา เกิดวิชชา จนบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ นั่นก็หมายความว่าอย่างไรลองคิดดู ว่าร่างกายนั้นจะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป มันกลายเป็นธาตุที่บริสุทธิ์ไปเสียทั้งนั้น ปรุงแต่งกันก็ปรุงแต่งกันไปในทางที่ใจรักษาอยู่รอด กายอยู่ได้ มีชีวิตอยู่แล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย จะเรียกว่าเบญจขันธ์ก็เบญจขันธ์ที่มันบริสุทธิ์ ไม่มีความทุกข์ ถ้าจะเรียกว่าปฏิจสมุปบาทมันก็กลายเป็นปฏิจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร นิโรธวาร คือ วาระที่เป็นความดับแห่งทุกข์ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ จนกระทั่งดับหมดไม่มีทุกข์เหลือ เพราะวิชชาเกิดขึ้น อวิชชาดับไป อวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ อายตนะก็ดับ อายตนะดับ ผัสสะก็ดับ เวทนาก็ดับ ตัณหาก็ดับ อุปาทานก็ดับจนทุกข์ดับหมด นี่คืออาการที่เป็นไปของธาตุฝ่ายดับ ดับทุกข์สิ้นเชิง สรุปความได้ว่าที่มันจะเป็นไปในทางเกิดทุกข์ถึงที่สุดก็เป็นเรื่องธาตุ และที่มันจะเป็นไปอย่างดับทุกข์ไม่มีเหลือเลยมันก็เป็นเรื่องของธาตุ ฝ่ายหนึ่งเป็นอวิชชาธาตุ ฝ่ายหนึ่งเป็นวิชชาธาตุ ฝ่ายหนึ่งเป็นธาตุรู้ ฝ่ายหนึ่งเป็นธาตุไม่รู้ มันตรงกันข้ามอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ พระอรหันต์เข้าถึงความจริงอันนี้จึงรู้ว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ เมื่อเป็นสาสวะธาตุท่านก็ไม่ยึดถือ จึงเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในโลกนี้อย่างที่เราถือกันว่า วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เราก็รู้กันเสียบ้างว่าพระอรหันต์นั้นคือใคร พระอรหันต์นั้นก็คือ บุคคลที่ผู้รู้ตามที่เป็นจริงว่าอะไรๆ ก็ไม่พ้นไปจากธาตุ และธาตุนั้นเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติอย่าได้ไปหลงยึดมั่นว่าตัวกู ว่าของกูเลย นี่คือ ความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีความทุกข์ เราถือว่าบุคคลที่ไม่มีความทุกข์นั่นแหละเป็นบุคคลที่ควรจะถือเอาเป็นตัวอย่าง เราจึงได้ทำตามพระอรหันต์กันหลายอย่างหลายทาง เพื่อจะได้รู้จักดับ รู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์เลยเหมือนพระอรหันต์ได้ นี้เรียกว่า “เรื่องของธาตุ” แล้วก็เป็นเรื่องของทุกอย่างทุกประการที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งทั้งปวง จะเรียกว่าโลกทั้งโลกก็เป็นเพียงสาสวะธาตุ อาการที่โลกเปลี่ยนแปลงหมุนเปลี่ยนไปก็เรียกว่า “ธาตุเปลี่ยนแปลง” หรืออาการเปลี่ยนแปลงก็เรียกว่า “ธาตุแห่งความเปลี่ยนแปลง” จะเรียกว่าธาตุเนี่ยเป็นพระเจ้าผู้สร้างก็ได้เพราะมันมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งบันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปหยุดอยู่ไม่ได้ ใครสร้างโลกก็เรียกว่าธาตุโลกนั้นเป็นอะไร โลกนั้นก็คือ ธาตุ สร้างแล้วก็เป็นธาตุ ออกมาเป็นเรื่องย่อยๆ เป็นบุคคล เป็นอะไรก็สาสวะธาตุ ต้นไม้ก็ธาตุ บุคคลก็ธาตุ สัตว์เดรัจฉาน สุนัข หมู หมา กา ไก่ก็สาสวะธาตุ ส่วนภายในใจของสิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นก็สาสวะธาตุ ให้เห็นโดยความเป็นสาสวะธาตุ และจิตก็จะหยุดความกระหาย หยุดความทะเยอทะยานที่จะไปยึดมั่นถือมั่น เรื่องก็มีเท่านี้ พระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เพราะรู้ว่ามันเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น จะมาเกณฑ์ให้เป็นตัวตนเป็นของตนนี้มันว่าเอาเองด้วยความโง่ แล้วมันก็มีอยู่ได้ด้วยชั่วความโง่มี พอหายโง่ มันก็ไม่คิดอย่างนั้น มันไม่ยึดถืออย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเคยหลงใหล โง่เง่าในเรื่องยึดมั่นถือมั่นมาแล้วแต่หนหลัง ก็เอามาพิจารณาดูให้ดีๆ ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ให้มันสอนเราสำหรับที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือให้มันยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความทุกข์เนี่ยดี คือมันสอนดีกว่าความสุข ความสุขทำให้เผลอ ให้ลืม ให้เลือน ให้เหลิงเจิ้งไป แต่ความทุกข์เนี่ยมันสอนมากกว่าความสุข แต่ถึงกระนั้นคนก็ไม่ค่อยรับคำสอนจากความทุกข์ ไปนั่งร้องไห้เสียเปล่าๆ ไม่รู้จักใช้ความทุกข์ให้เป็นครู แล้วแก้ไขสิ่งต่างๆ อย่าให้มันผิดได้อีก ที่จริงอยากจะแนะนำกันเสียใหม่ว่าถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว จงรีบใช้มันเป็นประโยชน์เสีย อย่าไปโง่ไปทำให้มันเป็นความทุกข์อยู่นั่นแหละ ถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้น รีบทำให้มันเป็นประโยชน์เสีย คือ ให้มันเป็นครูบาอาจารย์ที่ดีเสีย เพื่อจะไม่ต้องทำให้เกิดความทุกข์อย่างนั้นขึ้นมาอีก เพราะว่าเห็นๆ กันอยู่ว่าเพราะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราเป็นคนฉลาด เราก็ดิ้นรน ขวนขวายหาหนทางที่จะแก้ทุกข์ นี่เราก็ฉลาดขึ้นแล้ว เพราะเราเป็นผู้ขวนขวายหาหนทางที่จะดับทุกข์ มันมาทำให้เราฉลาดอย่างนี้ และเราก็ดำเนินต่อไปในการที่จะเอาชนะความทุกข์ให้ได้ในที่สุดก็ชนะได้เราก็ได้รับประโยชน์ อย่ามัวนั่งร้องไห้ อย่ามัวขี้ขลาด อย่ามัวกลัว อย่ามัวอะไรที่ไม่มีประโยชน์เลย ทำให้เป็นประโยชน์ไปเสียทุกอย่าง ความสุขมาก็ทำให้เป็นประโยชน์ คือ ให้ฉลาดอย่าไปหลงกับมัน ความทุกข์มาก็ต้องให้เราเป็นคนฉลาด ไม่ต้องไปกลัวมัน ไม่ต้องไปนั่งร้องไห้อยู่ ใช้ให้เป็นเหตุผล ใช้ให้เป็นบทเรียน ใช้ให้เป็นทุกๆ อย่างที่มันจะทำให้เราฉลาดก็แล้วกัน ทำอยู่อย่างนี้ไม่เท่าไหร่ก็จะเข้าไปอยู่ในโลกของพระอริยะเจ้า ไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ นี่แหละคือ ใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า "ยถาภูตะญาณทัสสนะ" ความรู้ความเห็นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรนอกไปกว่าธาตุ ผู้ใดเข้าถึงความจริงอันนี้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นพระอรหันต์ ที่เราต้องมานั่งเสียเวลาทำพิธีบูชาท่านกันเป็นการใหญ่การโตในวันนี้ ท่านก็มีดีตรงนี้เท่านั้น คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสาสวะธาตุเท่านั้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ กลับไปหลงใหลโดยความเป็นตัวเป็นตน ขอให้สังเกตอีกครั้งหนึ่ง ขอรบเร้ารบกวนให้สังเกตอีกครั้งหนึ่งว่า คนนี่พอมาอยู่วัดจะบวชเป็นเณรเท่านั้นแหละ เค้าก็ให้เรียน "ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง" แต่แล้วมาเรียนกันอย่างโง่ๆ คือ ไม่รู้ว่าอะไร ไม่รู้ว่านี่หัวใจของพุทธศาสนา ที่บอกให้รู้ว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง นี่เป็นสาสวะธาตุ เท่านั้นก็มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเค้า ของนี้เป็นความจริงที่สุด เป็นหนทางที่จะทำให้มนุษย์รอดจากความทุกข์ได้ แต่แล้วก็ไม่มีใครถือเอาประโยชน์ได้ว่าเพ้อๆ กันไป ท่อง สักๆ ว่าท่อง ไม่เข้าถึงความจริงของคำว่า “ยะถาปัจจะยัง” แล้วมาถึงยุคนี้สมัยนี้ หลายๆ วัด เริ่มเลิกไม่ให้คนเข้ามาอยู่วัดเรียนบทท่อง บทที่สำคัญนี้ นี่เค้าว่าวัดนี้มันเจริญก้าวหน้าไปแล้ว ไอ้วัดที่โง่ๆ ก็ยังเรียนยะถาปัจจะยังอยู่มันก็ถูกเหมือนกัน ถ้ามันเรียนยะถาปัจจะยังอยู่โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไรมันก็เป็นวัดโง่ไปตามเดิม ไอ้วัดที่ทิ้งยะถาปัจจะยังเสียจะไปหาที่อื่นที่ดีกว่านี่มันก็โง่ เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าบทยะถาปัจจะยังมันโง่ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งวัดที่คงอยู่ตามเดิม ทั้งวัดที่แก้ไขใหม่ เพราะไม่สนใจกับคำว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น วันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นพูดแทนพระอรหันต์ไม่เกรงใจใคร พูดอย่างที่เรียกว่าหยาบคายบ้างก็ได้ เพื่อว่าเราจะได้เหลียวไปหาสิ่งที่เป็นความจริงหรือจะเป็นความดับทุกข์ได้ คือ รู้เรื่องธาตุนี้กันได้ดีๆ รู้จักธาตุที่เป็นนิโรธธาตุที่จะดับเสียซึ่งความทุกข์ หรือเหตุแห่งความทุกข์ มีความเจริญงอกงามไปตามลำดับ ไม่ทันจะตายคือว่าก็จะได้พบกับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงจะเน่าเข้าโลงไปเสียก่อน ก่อนที่จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เป็นอันว่านี่แหละคือ การทำจิตให้หมดจดจากเรื่องเศร้าหมอง โดยบทว่า “สจิตตปริโยทปนัง” การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้แล้ว ชำระจิตให้หมดจดผ่องแผ้วจากความโง่ ความหลงว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของของตน และแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นสาสวะธาตุตามธรรมชาติมิใช่ตัวมิใช่ตน ใครทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ผู้นั้นทำสจิตตปริโยทปนัง คือ ทำจิตของตนให้ขาวรอบสมกับที่วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ที่ระลึกแก่การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ มีบทสำคัญคือ บทสุดท้ายที่เรียกว่า “สจิตตปริโยทปนัง” การชำระจิตของตนให้ขาวรอบเป็นการทำให้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงหมดสิ้นไปมีนัยยะดังวิสัชชนามาธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ผู้หญิงคนหนึ่งถามว่า : กฏของเราก็เป็นของเรา บ้านเมืองก็เป็นของเรา ทุกๆ สิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบๆ นี่ เราจะต้องสอนให้เด็กนั้นมีความรัก ทีนี้ถ้าหากว่าท่านอาจารย์บอกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของเรา ก็รู้สึกว่าจะเป็นการสอนที่ว่าจะขัดกันหรือไม่คะ (นาทีที่ 1:20:25 - 1:21:14 ไม่มีเสียง)
ตอบ: เมื่อสักครู่นี้มีการถามว่า พระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา ไม่ใช่อาตมา ไม่ใช่อาตมาสอนว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่น อาตมามาว่าต่ออีกทีหนึ่ง อย่างมนุษย์ในโลกนี้เขาต้องการให้เด็กๆ ยึดมั่นถือมั่น พ่อแม่ก็ต้องการให้เด็กๆ ยึดมั่นถือมั่น อย่าไปโทษแต่โรงเรียน และถ้าทุกคนแหละต้องการให้ไอ้คนที่เกิดออกมาใหม่ๆ นี้รู้จักยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าคนที่เกิดก่อนมันก็ยึดมั่นถือมั่น มันก็เลยยึดมั่นถือมั่นกันมากขึ้น และแรงมากขึ้นกว่ายุคนู้น ยุคนู้นไม่มีการตีกันในมหาวิทยาลัยไม่มีการเรียกครูว่าไอ้ว่าอีไม่มีการชกต่อยพ่อแม่ หนังสือพิมพ์เมื่อสองสามวันนี้ มีข่าวเรื่องลูกชายเค้าไปชวนพวกเพื่อนมากันหลายคนมาช่วยกันชกพ่อของเขาเอง พ่อก็เรียกเงินที่ยืมคืน นี่สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยมีในสมัยที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นมากนัก เดียวนี้มันยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูของกูมากเกินไป ความรู้สึกที่ว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นบิดามารดาครูบาอาจารย์มันก็ถอย ถอยไป ความยึดมั่นตัวกูมันมาแทน มันก็ได้ผลเห็นอยู่แล้ว ในสนามกีฬามันก็มีการตีรันฟันแทง เพราะเห็นแก่ตัวกู ในพวกโรงเรียนไปแข่งขันก็มีคนที่เป็นพวกหนุนหลังที่เรียกว่า “กองเชียร์” มันก็ตีกันทำร้ายกัน จนไม่เรียกว่ามันเป็นผู้มีการศึกษา จนไม่เรียกว่าเป็นสุภาพบุรุษ มันก็พิสูจน์อย่างนี้อยู่แล้ว และเขาก็ยังต้องการอย่างนี้อยู่ โรงเรียนก็ตามมหาวิทยาลัยก็ตาม เขาก็ยังต้องการอย่างนั้นอยู่ เขาไม่เคยคิดแก้ไขในข้อนี้ มันก็แปลว่าเมื่อเขาอยากจะมีอย่างนั้นก็ทำไป มันก็ได้อย่างนั้นอยู่แล้วยังไม่อยากจะได้ความสงบแบบธรรมะของพระพุทธเจ้าเราก็ไปบังคับไม่ได้ ถ้าเราเป็นลูกจ้างเขาคือเป็นครูที่เป็นลูกจ้างเขาอยู่ ก็ทำไปตามความต้องการของเขา ถ้าโรงเรียนต้องการอย่างนั้น มหาวิทยาลัยต้องการอย่างนั้น กระทรวงก็ยังต้องการอย่างนั้น เราเป็นลูกจ้างเขาก็ทำไป ถ้าเราไปทำไม่เหมือนนั้น เราก็อยู่กับเขาไม่ได้ เราก็ทำกับเขาไม่ได้ เราก็ต้องหนีไปนั้นแหละ ถ้ายังอยากจะเป็นลูกจ้างเค้าอยู่ก็ต้องทำอย่างนั้นแหละ นี่ถ้าคิดว่าเราจะสามารถแก้ไขหรือไม่ นี่เราเกิดเป็นคนอยากจะแก้ไขขึ้นมา ก็ลองพิจารณาดูมันอาจจะมีทางแก้ไข ถ้าว่ากันที่จริงแล้วไอ้การแก้ไขนี่มันเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่มีแน่นอน ถ้าเราไม่มีปัญญาพอที่จะพบมันหรือจะเอามันมาใช้ได้ ก็สามารถแก้ไขไปได้ลับๆ เงียบๆ ตามแบบของพระพุทธเจ้าที่สอนคนให้บรรเทากิเลสและทำไปก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงคนอื่น พูดถึงอาตมาเองดีกว่า แต่นี่มันก็เป็นปัญหาว่าจะทำไปทำไมที่สอนอย่างที่สอนอยู่นี่จะสอนไปทำไม ไม่มีใครเขาเชื่อ ไม่มีใครเขาฟังสักกี่คน แล้วพวกที่เชื่อที่ฟังไม่กี่คนนี่มันจะไปแก้ไขโลกทั้งโลกไม่ได้ โลกทั้งโลกเขาต้องการมีตัวกู มีของกู มีกิเลส เราก็ต้องการจะให้เป็นไปในทางตรงกันข้าม มันไม่มี ดูๆ มันไม่มีช่องทางไม่มีความหวังที่จะเป็นไปได้ แต่อาตมาก็ยังทำนะ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีกว่านี้ ถ้าไม่ทำอันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร มันก็เลยสอนไปบ้าง ต่อสู้ไปบ้าง แก้ไขไปบ้าง ทั้งที่ไม่ค่อยจะเห็นผล และหวังอยู่ว่ามันคงจะมีผลบ้างหรือดีขึ้นบ้าง ซักนิดนึงก็ยังดี ในเมื่อมันไม่รู้จะทำอะไร และนี่อาตมาก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างเขาด้วย เมื่อไม่รับจ้างใครในเรื่องการงานเรื่องการเผยแผ่ แต่รับใช้พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมีหลักการที่แน่นอนอย่างนี้ เราก็รับเอาหลักการนี้มาปฏิบัติ มาเผยแผ่ มาชี้แจงให้คนบรรเทาความเห็นแก่ตัวกูของกูให้ทำไปอย่างถูกต้องด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา มีความหมายมั่นเป็นตัวกูของกู อาตมาก็เห็นใจพวกครูบาอาจารย์บางคนที่เค้ารู้สึกในเรื่องนี้ พยายามจะแก้ไขมันก็ทำไปไม่ไหวเรียกว่ามันมากกว่ากันนัก ไอ้คนที่เขาไม่เห็นด้วย เขาไม่ทำ เขาคัดค้านมันมากนัก ไอ้เราก็ยังถูกผูกมัดอยู่เป็นปัญหาคนละอย่างกับปัญหาของอาตมา คือ ไม่เป็นลูกจ้าง ถ้าเขาจะชวนกันสไตรค์ไม่ใส่บาตรให้ฉันก็เอา ก็ยอม ก็ต้องพูดอย่างนี้อยู่เรื่อยไป พูดอย่างอื่นไม่ได้ และก็ที่พูดนี้บางคนก็ไม่ชอบอยู่แล้วเหมือนกัน ที่ว่าไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น หรือไม่ให้ยกตัวกูของกูขึ้นมาเชิดชู ก็เอาเป็นว่าถ้าว่าเราอยู่ในข้อผูกพันเป็นลูกจ้างเขามันก็ต้องทำไปตามระเบียบงานของเขา แต่ถ้าเรามีโอกาสจะชี้แจง จะแก้ไขก็ทำไปตามโอกาสหรือว่าบางทีเราอาจจะทำได้นะถึงขนาดที่ว่าสอนเรื่องโทษของตัวกูของกู นี่สอนไปพลางๆ ในเมื่อเขาก็ไม่เอา เราก็อย่าไปมีตัวกูของกู ถ้ามันไม่เป็นเหตุให้เราต้องถูกไล่ออกก็ทำไปได้ แต่ก็ต้องด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง นี่ก็จะเป็นปัญหามันเป็นเรื่องของโลกทั้งโลกที่ต้องการจะส่งเสริมตัวกูของกู แล้วกำลังทำกันอยู่อย่างนั้นโลกนี้กำลังเดือดร้อน โลกใกล้ๆ จะลุกเป็นไฟมาทุกที แต่มันก็ยังมีช่องทางที่ว่ามันจะเกิดความรู้สึกได้หรือระอา พวกฝรั่งรบกับพวกเวียดนามเนี่ยมันหยุดกันไปได้เพราะว่ามันเข็ดฟัน มันเข็ดฟันเต็มที ไอ้เรื่องตัวกูของกู จะให้หนักเข้าไปอีกก็ยิ่งเข็ดฟันมากขึ้นไปอีกมันหยุดกันได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ว่า ถ้าเห็นว่าเค้าจะเข็ดฟันขึ้นมาบ้าง แล้วเราก็ฉวยโอกาสพูดจาเรื่องนี้ ยอมกันเสียบ้าง อย่ายกเอาตัวกูของกูขึ้นทับถมกันเรื่อยไป คือ ยอมกันเสียบ้าง เอาความถูกต้องมาเป็นหลัก เอาพระเจ้ามาเป็นหลัก ถ้ายังเป็นฝรั่งนี่ไว้เรียกร้องเอาพระเจ้าคืนมา เพราะว่าไม่กี่ปีมานี้ฝรั่งเขาลงมติกันว่า พระเจ้าตายแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่มีความหมาย ศาสนาไม่มีความหมาย เพราะงั้นมันก็เกิดเป็นผลขึ้นมาอย่างนี้จริงๆ ร้อนระอุมากขึ้นเพราะพระเจ้าตายแล้ว และทางที่แก้ไขก็ไปเอาพระเจ้ามาใหม่ ไปตามตัวพระเจ้ามาใหม่ ให้พระเจ้าเกิดขึ้นมาอีก ไปชุบพระเจ้าขึ้นมาใหม่สำหรับที่จะทำตามบทบัญญัติของพระเจ้า เรื่องนี้บางคนอาจจะฟังไม่ถูกว่าพระเจ้าอย่างไร พระเจ้านั้นพระเจ้าก็สงวนสิทธิว่าอะไรเป็นของพระเจ้าไม่ใช่ของคน คนก็ไปเอาของมาเป็นของคนแล้วก็ล้มพระเจ้าเสีย ก็พวกเราแหละชอบฉ้อโกงพระเจ้า นี่พระเจ้าเหนือกว่า เหนือกว่ายังสู้กันไม่ได้ ไอ้คนที่ขี้ฉ้อพระเจ้า มันก็มีความทุกข์มันก็ตกนรกทั้งเป็น รบราฆ่าฟันกันไป อะไรกันไป จนกว่าจะเกิด รู้จักคุณของพระเจ้าขึ้นมาอีก เอาพระเจ้ามาอีก เดี๋ยวนี้เรากำลังทิ้งพระเจ้า พวกผู้หญิงที่นุ่งผ้าปิดขาไม่มิดนั่นก็คือ ดูถูกพระเจ้า แล้วมันก็ได้ผลตอบแทนอย่างไร คิดดูซิไม่กี่ปีมันก็มีเรื่องฆ่ากันตายมากขึ้น ก็จะเชื่อพระเจ้ากันเสียใหม่ ปกปิดร่างกายให้มันถูกต้องเรียบร้อย มันจะกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้เนี่ยลองไปดูถูกพระเจ้าเข้าซิ มันก็ถูกตบหน้า นี้ข้อที่ว่าจะไม่เชื่อถือศาสนา จะมีตัวกูของกูจะยกหูชูหางแบบนี้ก็ทำไปเถอะ ไม่เท่าไหร่มันก็แสดงผลออกมาว่ามันจริง ตามที่พระศาสดานั้นๆ ว่า ถ้าถือพระเจ้าก็เป็นของพระเจ้าอย่าเป็นของตัวกูของกู ถ้าถือธรรมะก็เป็นของธรรมะ อย่ามาเป็นตัวกูของกู ถ้าป็นนักวิทยาศาตร์ถือธรรมชาติก็เป็นของธรรมชาติอย่ามาเป็นตัวกูของกู มันก็จะเยือกเย็นกันไปหมด ที่วัดก็เยือกเย็น ที่บ้านก็เยือกเย็น ในแง่โลกก็เยือกเย็น ในแง่ธรรมะก็เยือกเย็น ถ้าอย่ามีตัวกูของกูขึ้นมา อย่างหลับหูหลับตาเป็นอวิชชาสูงสุด ไปตามก้นฝรั่ง ฝรั่งว่าอะไรดีอะไรสวยอะไรงามก็ไปตามก้นฝรั่ง แล้วมันได้ผลอย่างไรก็รู้ๆ กันอยู่ เรื่องการกิน การอยู่ การแต่งเนื้อแต่งตัว การเล่นการหัว การร้องรำทำเพลง มันก็มีแต่ปัญหายุ่งยากมากขึ้นทุกที...