แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไอ้การพูดกันถึงเรื่องการใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์ ในครั้งที่ ๒ นี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า จิตว่างนั้นมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เข้าใจในส่วนที่เป็นที่ส่วนที่เรียกว่าประโยชน์นี้ก่อน จึงค่อยพูดกันโดยละเอียดถึงข้อที่ว่าจะใช้มันอย่างไร
ข้อนี้ต้องทบทวนหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งที่แล้วมานั้นว่า จิตว่างนั้นมันคืออย่างไรด้วย แม้จะยังไม่ละเอียดก็จะต้องเอามาตั้งไว้เป็นหัวข้อเพื่อให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร แล้วจึงจะค่อยรู้ได้ง่ายว่ามันจะมีประโยชน์อย่างไร
นี้เราก็ได้กล่าวกันมามากหรือละเอียดไปข้อที่ว่า มันคืออะไร ในเมื่อเราจะดูกันในแง่ที่มันเกี่ยวกับมนุษย์และเกี่ยวกับธรรมชาติ ที่เป็นอยู่เองหรือเป็นอยู่จริง กระทั่งได้บอกให้ทราบแล้วว่า เมื่อไรมันว่าง เมื่อไรมันไม่ว่าง และอย่างไรเรียกว่าว่างชั่วคราว อย่างไรเรียกว่าว่างเด็ดขาด พูดคราวเดียวให้จบทุก ๆ ๆ แง่ไม่ได้ ก็ต้องแบ่งกันพูดคราวละแง่สองแง่
มันต้องทบ ทบทวนถึงคำว่า ว่าง คือ ๆ ว่างจาก จิตว่างจากความคิดนึกผิด ๆ โดยมากความโง่ ความไม่รู้ มีความมั่นหมายอย่างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นตัวตน เป็นของตน อยู่ในขณะนั้น ถ้าจะทำให้เป็นภาพที่หลับตาเห็นก็หมายความว่า มันกำลังปั่นป่วนที่สุด หรือมืดดำที่สุด เร่าร้อนที่สุด ไม่ว่าง จึงไม่ใส ไม่กระจ่างตามปรกติ
หรือถ้าจะเทียบกับวัตถุให้ออกมาอีกข้างนอกก็ใช้คำว่า เหมือนกับเมื่อมันไม่ มัน เมื่อมือมันจับอะไรอยู่นี้ มือมันไม่ว่าง ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจคำว่า ไอ้จับฉวยนั่นน่ะอยู่ มันทำให้ไม่ว่าง ถ้ามือว่างก็คือมือไม่จับฉวยอะไร ถ้ามือมันต้องจับฉวยอะไร หรือมันดึงออกไม่ได้เพราะมันติดอยู่กับอะไร นี้ก็เรียกว่ามือมันไม่ว่าง ถ้าว่าไม่ว่างก็หมายถึงจับฉวยอยู่
จิตนี้เหมือนกันถ้ามันไปจับฉวยอะไรอยู่ มันก็เรียกว่ามันไม่ว่าง นี้การจับฉวยนี้ก็คือ ด้วยความโง่ ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความสำคัญผิดว่า ตัวกู-ของกู นั่นเอง ความเป็นอย่างนั้นเรียกว่า ความจับฉวยทางจิต ซึ่งไม่มีตัวมีตน แต่เราใช้คำอย่างเดียวแต่ว่าเหมือนกับมันมีตัวมีตน มันเป็นเนื้อเป็นหนัง
นี่เกี่ยวกับข้อนี้ก็อยากจะให้ทราบไว้เสียด้วยเลยว่า ภาษาธรรมะที่เกี่ยวกับจิตใจซึ่งไม่ มีดุ้น มีก้อน มีเนื้อ มีหนังนี้ เขาก็ใช้ภาษาของวัตถุซึ่งเป็นดุ้น เป็นก้อน เป็นเนื้อ เป็นหนังทั้งนั้น เพราะว่ามนุษย์ไม่อาจจะเข้าใจภาษาที่ตัวไม่เคยพูดมาก่อนได้ มันจึงต้องเอาภาษาที่พูดกันอยู่ก่อนนี้มาพูด
แต่ความหมายมันก็เปลี่ยนไปบ้างตามเรื่องของไอ้เรื่องจิตใจ เช่นว่า จิตจับฉวย จิตยึดมั่น แล้วก็อะไรก็ ก็ภาษามือของวัตถุ เช่นมือจับ เสร็จแล้วก็มันจับด้วยวิธีของจิต หรือเรียกว่ากิเลสเข้าไปจับ จับด้วยกิเลส กิเลสนี้ก็เรียกว่า อุปาทาน แปลว่า เข้าไปถือเอา จิตเข้าไปถือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งในฐานะมีตัวตนบ้าง เป็นของตนบ้าง
ในเรื่องที่เอาภาษาวัตถุหรือภาษาชาวบ้าน ไปพูดในภาษาธรรมะชั้นลึกที่ไม่มีตัว ๆ ๆ ตน เห็นชัดมากมายเหลือเกิน ไปสังเกตดูเอง เช่น คำว่านิพพานนี้แปลว่าเย็น เย็นอย่างที่เราเย็น เย็นสบาย นี้คือไปเรียกนิพพาน เย็นในทางวิญญาณทางจิต ที่เย็นเพราะไม่มีกิเลส ก็เอาเย็นเพราะอาบน้ำเป็นต้นนี้ไปใช้ เป็นเรื่องของไอ้ความไม่มีกิเลส มันเป็นเย็น เพราะมันไม่ร้อน
ดังนั้นขอให้สังเกตข้อนี้ไว้ จะเข้าใจธรรมะเร็ว ๆ ขึ้นไม่ว่าใคร เช่น เอาถนนหรือทางเดินนี่ เอาไปใช้ เป็นทางเดินของจิต เราใช้คำเดิมว่า ถนน ทางเดิน คือคำว่ามรรค มรรค- แปลว่า หนทาง หรือมรรคา เป็น เดี๋ยวนี้แปลเป็นทางเดินของจิต คือที่จิตมันจะไต่ตามลำดับ สูงขึ้น สูงขึ้น
เดี๋ยวนี้เรื่องธรรมะก็คือเรื่องที่จะทำจิตให้มันสูงขึ้น เดี๋ยวนี้เรามาสนใจกันถึงเรื่องจิตชนิดที่ว่าง คือไม่ได้จับฉวยอะไรอยู่ แล้วก็ในครั้งที่แล้วมาก็บอกให้ทราบแล้วว่า จะรู้จักสิ่งนี้จากคำพูดไม่ได้ หรือจากการอ่านหนังสือก็ไม่ได้ มันจะเขียนคำว่าจิตว่าง จิตอย่างนั้นอย่างนี้กี่หน้ากระดาษ มันก็ไม่ทำให้รู้ได้
แต่ถ้าพอจิตมันว่างทั้งมันโดยเหตุใดเหตุหนึ่งแม้ตามธรรมชาติ แล้วเราสังเกตดูอีกทีว่า เอ้า, นี่ทำไมมันไม่มีอะไรที่เป็นความรู้สึกหนัก หรือร้อน หรืออะไรทำนองนั้น ก็เลยรู้จักไอ้จิตว่างขึ้นมา นี้ก็ว่างในภาษานี้ โดยเฉพาะคนที่เรียกว่าภาษาวัตถุ
ทีนี้ก็อยากจะรู้ประโยชน์ของไอ้จิตว่างนั้นให้ชัดยิ่งขึ้นไป คำว่าประโยชน์นี้น่าหัวเหมือนกัน ที่จริงก็เป็นเรื่องนอกเรื่อง แต่ก็อยากจะบอกให้ทราบที่มันควรจะทราบ ๆ ไว้ด้วยเหมือนกัน คำว่า ประโยชน์ นั่น ถ้าว่าตามภาษาธรรมะแท้ ๆ นี้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ เป็นเครื่องผูกพัน เป็นที่ตั้งแห่งความรัก
แต่เดี๋ยวนี้เขาก็ชอบประโยชน์กันทุกคน อยากได้ประโยชน์ อยากมีประโยชน์ ที่จริงประโยชน์นั้นมันเป็นเรื่องผูกพันทางจิตอยู่ ให้รักอยู่ ให้หลงอยู่ มันก็เป็นความยึดมั่นชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าอย่างละเอียดที่สุด โยชน นี้ก็แปลว่าประกอบหรือติดอยู่ ป ก็แปลว่าทั่วถึง ประโยชน์นั้นคือว่ามันกำลัง ติดอกติดใจ ฝังจิตฝังใจ อยู่ด้วยความพออกพอใจอย่างยิ่ง นั้นเรียกว่าประโยชน์
ถ้าคนธรรมดาก็ต้องชอบสิ ใคร ๆ ก็ชอบประโยชน์คนธรรมดา จะเทียบกันได้ง่าย ๆ ก็ว่าความรัก เทียบกับความรัก คนธรรมดาก็ชอบความรัก ไม่เห็นว่าร้อน ไม่เห็นว่าทำให้ตาบอด หรือไม่เห็นไปหมด ชอบความรัก ไม่เห็นว่าไอ้นี้มันทำให้โง่ แต่พอคนที่ไม่ใช่ธรรมดา หรือว่าเมื่อมันมีใจคอปรกติเหมือนพระอริยเจ้า ก็เห็นไอ้ความรักนี้มันเป็นเรื่องยุ่ง เป็นเรื่องบ้าหลัง เป็นเรื่องร้อน เป็นเรื่องวุ่นวาย เป็นเรื่องทำให้โง่นี่ นี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่า มันเป็นเรื่องที่มักจะเกี่ยวข้องกันอยู่นะ
นี้ส่วนคำว่าประโยชน์มันก็เหมือนกันอีกนั่นแหละ ถ้าเราไปมองในแง่หนึ่ง มันก็เหมือนกับความรักที่คนหนุ่มสาวจะต้องชอบ แต่ถ้ามองโดยแง่ที่ลึกกว่านั้น คือพระ อย่างที่พระอริยเจ้าท่านมองถึงสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์นั้น ก็คือเครื่องผูกพัน เครื่องผูกพันให้ลำบาก
ถ้าเราติดอยู่ที่ประโยชน์ จิตไม่ว่างแล้ว และถ้าเรารักอยู่ที่ประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราไม่อาจจะมีจิตว่าง เพราะว่าประโยชน์นั้นน่ะครอบงำจิต ผูก ๆ พันจิตเรา เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ทำจิตไม่ให้เป็นอิสระ เมื่อพูดว่าประโยชน์ ๆ แล้วนี้ มันก็ ๆ จะดีแต่สำหรับกับคนที่ยังยึดถืออยู่ ยังชอบไอ้อย่างนี้อยู่ เช่นเดียวกับความรัก มันจะดีมีความหมายเฉพาะคนธรรมดาที่ชอบรสของความรัก แต่ผู้ที่มีจิตใจนั่นสูงไปแล้วมันก็สั่นหัวว่า มันเป็นสิ่งที่น่ารำคาญ
จริง ๆ นี้เรากำลังมาพูดกันว่าประโยชน์ของจิตว่าง นี่ก็ให้รู้เสียทีนี้ ไอ้คำว่าประโยชน์ในกรณีอย่างนี้มีความหมายอะไรก็ดี หมายถึงผลดีที่จะทำให้ไม่มีความทุกข์ คำอื่น ๆ ที่คล้ายกันก็มีมาก เช่นคำว่าประสงค์อะไรอย่างนี้ก็เหมือนกันแหละ ต้องการจะข้องเกี่ยวความประสงค์แล้วก็ทำให้ลำบาก ไม่ประสงค์ก็จะไม่ลำบาก นี้เอาความหมายอันใหม่ของคำว่าประโยชน์ คือที่มันจะเป็นเครื่องเกื้อกูล เป็นความสุข
อย่าลืมว่าหัวข้อเรามีว่า จิตว่างมีประโยชน์อย่างไร นี่ ตามธรรมดาสิ่งที่เป็นประโยชน์ มันก็คือถูกกับเรื่องของความต้องการของกิเลส แต่ถ้าชั้นสูงสุด ประโยชน์สูงสุด ก็คืออยู่เหนือกิเลส ไม่มีกิเลสที่จะต้องการอะไร ดังนั้นประโยชน์ในระดับนี้ก็คืออยู่เหนือประโยชน์
นี้พูดกันไปแต่ตามธรรมดาก่อน คนธรรมดานี้ต้องการจะอยู่ในโลกอย่างที่มีความสงบสุขผาสุก นี้ไม่ต้องอธิบายใครก็เข้าใจได้ ทีนี้ก็มีปัญหาเลื่อนขึ้นไปว่า ทำอย่างไรจึงจะมีความผาสุก นี่ตอนนี้จะเกิดแตกแยกกันเป็นหลายทิศหลายทาง เพราะมันเข้าใจความผาสุกหรือเป็นสุขต่าง ๆ กัน ไอ้เด็กมันต้องการอย่างหนึ่ง วัยรุ่นต้องการอย่าง พ่อบ้านแม่เรือนต้องการอย่าง คนแก่ต้องการอย่าง นี้มันก็แสดงอยู่แล้ว แล้วมันแทนกันไม่ได้ อะไรที่เด็ก ๆ เขาชอบ คนแก่เขาชอบนี้ มันแทนกันไม่ได้ คือมันสั่นหัวกันทั้งนั้น
ที่จะมีจิตที่เป็นสุขอย่างไร แล้วได้เกิดขึ้นเป็นชั้น ๆ จนในที่สุดก็พบอย่างที่ว่ามาแล้วว่า ไอ้พวกหนึ่งจะชอบจิตวุ่น แล้วก็เป็น ๆ สุขพอใจ อีกพวกหนึ่งต่างหากจึงจะว่า จิตว่างนี้คือเป็นสุขพอใจ ก็เลยเกิดเป็นสองสุขขึ้นมา มีสุขร้อนกับสุขเย็น วิธีหนึ่งก็สุขก็วุ่นกับสุขที่ว่างนี้ ถ้าเข้าใจไอ้ ๆ คำตรงกันข้ามสองคู่นี้เป็นตัวอย่างได้ดี ก็จะเข้าใจง่าย
สุก สุกร้อนนี้ ตัว ก สะกด นี้คนชอบมากที่สุด ไอ้สุขแท้จริง ข สะกด คือเย็นนั้น ไม่ค่อยมีใครสนใจกันนัก ไปดูให้ดีนะ เว้นไว้แต่มันร้อนจน ๆ เอือม มันจึงจะมาหาเย็น เช่นเมื่อกิเลสเกิดขึ้นมา มันต้องการกามารมณ์ระหว่างเพศ ไม่ยอมหยุดพัก ใครจะชวนหยุดพักไม่เอา
แต่นี้พอไปบริโภคกามารมณ์อะไรกันถึงที่สุด ทีนี้ว่า เอ้า, อยากจะหยุดพักแล้ว อยากจะอยู่เฉย ๆ อยากจะอยู่ว่าง ๆ แล้ว แต่อย่างน้อยก็เป็นความพักผ่อน สุขร้อนกับสุขเย็นมันก็สลับกันอยู่อย่างนี้ นี้ก็ไม่ต้องอ่านจากหนังสือ ไปเอาจากความรู้สึกแท้จริงที่เราเองก็จะต้องเคยผ่าน หรือคนอื่นก็มีอยู่ทั่วไป
ทีนี้คู่หลังก็ มันก็อย่างเดียวกัน เรื่องเดียวกันน่ะ สุขเพราะได้วุ่นกับสุขเพราะได้ว่าง เมื่อเราเล่นฟุตบอลหรือว่าเราทำอะไรอย่างที่มันวุ่นไปหมด เหงื่อแตก เหงื่อไหลไคลย้อย มันก็ยังพอใจ สุขสนุกสนานพอใจ หรือแม้จะสุดแต่ทำงานหนักนี้ บางทีมันก็สนุกสนานและพอใจ สนุกสนานไปในงานหนัก ไม่รู้สึกว่าหนัก แล้วอีกระยะหนึ่งก็อยากจะหยุด อยากจะพัก อยากจะว่าง
ไอ้พวกที่ ๆ สุขเพราะที่เป็น ที่ ๆ สุขแต่เป็นเพื่อร้อน แต่เป็นไปเพื่อความร้อนหรือความวุ่นนั้นน่ะ มันกำลังยึดถืออะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหยุดแล้ว ว่างแล้ว ก็เรียกว่ามันว่างความยึดถือ นี้เป็นหลักอันใหญ่ ๆ ที่เราจะต้องสังเกตดูให้ดีนะ ถ้าเราต้องการประโยชน์ ต้องการประโยชน์ชนิดไหน ประโยชน์ชนิดที่ผูกพัน รับเข้ามาอย่างหาความสงบไม่ได้ อย่างนี้ก็เป็นประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ ประโยชน์ธรรมดาสามัญในโลกนี้ ประโยชน์สูงสุดก็คือว่าหลุดจากประโยชน์เหล่านั้น คล้าย ๆ กับว่า ไม่ได้หยิบอะไร ไม่ได้ต้องการอะไร
นี้ก็ลองคิดดูไปสิ คำว่าดีนี้ ที่เรียกว่า ดี ๆ ๆ ชนิดไหน ไอ้ดีบางอย่างทนไม่ไหว แต่ที่คนเขาเล่าว่าจะดี ดีอย่างนี้มันเป็นดีชนิดที่ทนไม่ไหวแล้วยุ่งนะ ต้องเหนือดีเหนือยุ่ง แล้วจึงจะเรียกว่าดีจริง แต่ก็ไม่มีใครเรียกว่าดี นี่เรื่องธรรมะต้องเรียนจากไอ้เรื่องจริงหรือจากความรู้สึกจริง ๆ อย่างนี้
แล้วก็ดูสิ เดี๋ยวนี้เรากำลังจะพูดกันถึงประโยชน์ของความว่างหรือจิตว่าง มันเป็นประโยชน์ชนิดไหน ถ้าตามเรื่องของความว่างหรือสุญญตานี้แล้ว มันก็ไม่ควรใช้คำว่าประโยชน์ แต่เรากลับใช้ว่าคำว่าประโยชน์ ดังนั้นขอให้ถือเอาความหมายคำว่าประโยชน์นี้คือประโยชน์ชั้นสูง ประโยชน์ที่เหนือประโยชน์ธรรมดาสามัญทั่วไป
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงข้อเท็จจริงอีกอันหนึ่งว่า ธรรมะ หลักธรรมะในพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งหมายจะไปสู่นิพพานสูงสุดโดยเฉพาะ มันกลับมาใช้ได้แม้กับเรื่องของคนในโลก คนธรรมดาสามัญ นี้เราจึงมีหนทางที่มองเห็นประโยชน์ของหลักธรรมะชั้นสูงนี้ได้หลายแง่หลายมุม
เช่นว่าการปฏิบัติเพื่อไปนิพพานนั้นน่ะ จะเอามาปฏิบัติเพื่อเย็น ๆ ให้สงบ หรือว่าเป็นสุขอยู่ในโลกนี้อย่างโลก ๆ นี้ก็ได้ แม้ที่สุดแต่จะเอามาสร้างความสงบสุขอย่างชาวบ้าน ทำมาหากินไปตามเรื่องตามราว จะเป็นชาวสวนชาวนานี้ก็ยังได้นะ หลักเกณฑ์อันนั้น เช่น เรื่องจิตว่างหรือความว่าง ความไม่ยึดมั่นถือมั่นตัวตนนี้ ก็เอามาใช้กับคนธรรมดาสามัญก็ยังได้ ถ้าเข้าใจให้ถูกต้อง
มีคนเคยค้านเคยเถียงเรื่องจิตว่างนี้กันมากมายหลายแง่หลายมุม เช่นว่าถ้าจิตว่างเสียแล้วมันก็อยู่ในโลกนี้ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้เป็นต้น จะหาเงินด้วย จะมีจิตว่างด้วย อย่างนี้ทำไม่ได้ ไม่ยอมเชื่อเด็ดขาด นั่นก็เพราะเข้าใจคำว่าความว่างหรือจิตว่างนั้นผิด
ก็นึกความหมายอีกอันหนึ่งเป็นเรื่องไม่ ๆ จริง หรือเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นเรื่องอันธพาล เขาเลย ๆ ๆ ตั้งชื่อให้อีกชื่อหนึ่งเรียกว่า จิตว่างอันธพาล ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ไม่ ๆ ๆ ใช่เรื่องจิตว่างจริง แล้วก็พอทำเป็นประโยชน์อย่างนี้ไม่ได้จริง ถ้าเป็นเรื่องจิตว่างจริง ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของเรื่องนี้แล้ว ก็เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ แม้แต่คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญ
นี้ชั้นแรกนี้อยากจะอ้างหลักในพระคัมภีร์ ในพระพุทธภาษิตอะไรเสียก่อน แล้วจึงค่อยชี้ให้เห็นว่ามันจริงตามพระพุทธภาษิตนั้นอย่างไร คือมีฆราวาสพวกหนึ่งไปทูลถามพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงแสดงธรรมเรื่องที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลที่สุดแก่พวกเขา ซึ่งเป็นฆราวาส มีบุตร ภรรยา สามี อยู่ด้วยการ ความ ๆ สุข แสวงหาความสุขอย่างบ้านเรือน ลูบไล้ด้วยของหอม ยังสนุกสนานสรวลเสเฮฮา ขอให้พระองค์ทรงแสดงไอ้ธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งตลอดกาลนาน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องสุญญตา มีบาลีว่า เย เต สุตฺตนฺตา สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด ตถาคตภาสิตา อันตถาคตได้ประกาศไว้แล้ว คมฺภีรา เป็นเรื่องลึกซึ้ง คมฺภีรตฺถา มีความหมายอันลึกซึ้ง สฺุตาปฏิสยุตฺตา เนื่องเฉพาะอยู่ด้วยสุญญตาคือความว่าง นั่นแหละเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน
นี่ขอให้จับเอาใจความของเรื่องในชั้นแรกนี้ให้ได้วิธีก่อนว่า พอเขาไป ฆราวาสไปทูลขอเรื่องที่มีประโยชน์สูงสุดตลอดกาลนาน ทรงตรัสเรื่องสุญญตาคือความว่าง ถ้าเฉพาะในกรณีชุดฆราวาสชุดนี้ เขาก็ทูลแย้งขึ้นมาว่า สูงเกินไป นี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็เรื่อง ไอ้องค์แห่งความเป็นผู้ถึงกระแสหรือว่าเป็นพระประธานแห่งบุญ ๔ ประการ คือ มั่นคงในพระพุทธ มั่นคงในพระธรรม มั่นคงในพระสงฆ์ แล้วก็มีศีลหาที่ติไม่ได้ ๔ อย่างนี้สิ
พวกชาวบ้านว่า เอ้า, นี่ปฏิบัติอยู่แล้ว นี่ปฏิบัติอยู่แล้ว ก็แปลว่าเรื่องมัน มัน ๆ ตีกันอยู่อย่างนี้ ถ้าว่าอย่างนั้นปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ไม่มีเรื่องอื่นที่จะเลือกนอกจากสูงขึ้นไปเป็นเรื่องสุญญตา แต่ข้อความในพระสูตรนั้นไม่ได้กล่าวต่อไปว่า จะต่อรองกันว่าอย่างไรต่อไปอีก
แต่เรื่องสำคัญของเรามีอยู่ที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเสนอเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาส ไม่ควรจะถือว่าข้อความนี้ผิดหรือข้อความนี้ไม่จริง ของปน ของปลอม อย่า ไม่ต้องถืออย่างนั้น ฟังไปก่อน คือมันมีอยู่ในพระบาลีจริงอย่างนั้น อย่างที่เอามากล่าวนี้ ก็ลองคิดดูว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร
พระบาลีมีคำที่น่าสนใจอยู่บางคำเช่นว่า เย เต สุตฺตนฺตา สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใด มุ่งตรงไปยัง สฺุตาปฏิสยุตฺตา คือเนื่องเฉพาะแต่สุญญตานั้นน่ะ เป็นคำที่ตถาคตกล่าวลึกซึ้งเหนือโลก โลกุตฺตรา เหนือโลกศีลธรรม สุตฺตนฺตา นี้ความหมายก็ออกจะสลัวกำกวมอยู่บ้าง ถ้าพิเคราะห์ดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า มันหมายถึงไอ้ยอดสุดของระเบียบปฏิบัติ
สุตฺต น่ะแปลว่าระเบียบ พระสูตร ที่เราเรียกว่าพระสูตรหรือสูตรนี่ คำนี้ถ้าธรรมดาแล้วแปลว่า ระเบียบ หรือแนว หรือบรรทัด หรือเส้นบรรทัด ที่ อนฺต ก็แปลว่ายอดสุด สุตฺตนฺต ก็ สุตฺต อนฺต นั้นเอง สุตฺต อนฺต เป็น สุตตันตะนี้ ก็คือไอ้ยอดสุดของระเบียบปฏิบัติ นี้ก็น่าสนใจอยู่แล้วที่ว่า ไอ้ระเบียบปฏิบัติมีมากมาย หลายพัน หลายหมื่น หรือว่า ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ แต่ยอดสุดของมัน มันอยู่ที่ อยู่ที่เรื่องสุญญตา
อยากจะแนะให้สังเกตสำหรับผู้ที่เป็นนักศึกษาโดยเฉพาะทางภาษานิดหน่อย ว่าเราได้สังเกตดูในพระบาลีแล้วมันพบคำว่า สุตฺตนฺตา นี้บ่อยที่สุด ในเมื่อจะเล็งถึงไอ้การปฏิบัติหรือระเบียบของการปฏิบัติในชั้นสูงสุด มันแปลว่า ที่สุดหรือยอดสุดของสูตรของระเบียบ
ก็เลยนึกออกไปนอกวง ไปถึงคำอีกคำหนึ่งของฝ่ายอื่นเขา เป็นฝ่ายพราหมณ์ มันมีคำว่า เวทานตะ ลักษณะเหมือนกันเลย ไอ้ เวต นี่ เวท นั้นน่ะ เวท หรือ เวท มันแปลว่าความรู้ อนฺต ก็ที่สุด เวทานตะก็แปลว่าไอ้ที่สุดหรือสูงสุดของความรู้ อันที่เรียกว่าเวทานตะนี้ ก็เรื่องปฏิบัติเพื่อให้ออกไปนอกโลก ให้หลุดพ้นออกไปอยู่กับพระเจ้า พระพรหม นั้นน่ะเรียกว่าเวทานตะ
ทำให้นึกขึ้นมาในทางที่ว่ามัน ๆ ๆ เล็งเหมือนกัน แต่ไอ้ยอดสุดของระเบียบปฏิบัติหรือของความรู้ก็ตาม ของศาสนาแต่ละศาสนามันก็มีอยู่ ส่วนของพุทธศาสนาเรานี้ก็ใช้คำว่า สุตตันตะ ยอดสุดของสุตตะคือระเบียบปฏิบัติ ก็เป็นอันว่าได้ความว่า ไอ้เรื่องสุญญตานี้เป็นเรื่องสูงสุด ไม่มีอะไรสูงสุดไปกว่าเรื่องสุญญตาอีกแล้ว มันก็จริง ก็หมายถึงนิพพาน
นี่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าท่านย้ำไอ้ความสำคัญของมันด้วยคำว่า ตถาคตปฺปเวทิตา ที่ตถาคตประกาศไว้ ก็หมายความว่าเรื่องอื่นตถาคตไม่พูด คมฺภีรา ลึกซึ้ง คมฺภีรตฺถา มีความหมายลึกซึ้ง โลกุตฺตรา เหนือโลกขึ้นไป ถ้าว่าโลกในกรณีอย่างนี้ก็หมายถึงระดับธรรมดาที่มีความทุกข์ ที่มีกิเลสแล้วก็มีความทุกข์ นี้เรียกว่าโลก ถ้าเหนือโลกก็มันอยู่ เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ เรื่องสุญญตานี้มันเป็นเรื่อง เหนือกิเลส เหนือความทุกข์ แล้วมันก็ทะลุถึงเข้าก็คือนิพพาน
เราก็สรุปประโยชน์ ของสุญญตา ของจิตว่าง ไว้ได้เป็นว่านิพพาน ประโยชน์ของสุญญตา ของจิตว่างก็คือว่า ทำให้ได้อยู่ด้วยความรู้สึกที่เรียกว่านิพพานอย่างนี้ก่อน นี้เป็นข้อแรกนี้นะ แล้วก็ ๆ เป็นข้อแรกสำหรับเป็นความมุ่งหมายโดยเฉพาะของเรื่องนี้ นี้ข้อปลีกย่อย ข้อเบ็ดเตล็ด ซึ่งจะได้ผ่าย่อยออกไปนั้นมันยังมีอีก
ทีนี้เราไปรู้จักประโยชน์ของจิตว่างนี่ ให้ตรงจุด ให้ถึงที่สุด ของเรื่องราวนี้เสียก่อน ทีนี้เมื่อคืนก่อนนี้ก็ได้พูดแล้วว่า ไอ้จิตว่างมันคือจิตไม่ไปยึดด้วยความโง่เขลาในสิ่งใด โดยความเป็น ตัวตน ของตน ก็ไม่เกิดกิเลสอันใดได้ ดังนั้นก็เลยเย็นเป็นนิพพาน เย็นเป็นนิพพานแท้จริงตามหลักแห่งพุทธศาสนา
ไอ้เย็นธรรมดา ไอ้ ๆ ๆ ๆ ไฟเย็นลง ถ่านไฟเย็นลงนี้ก็คล้าย ๆ กับว่านิพพาน นั้นใช้กับเรื่องวัตถุ หรือว่าเย็นของไอ้สัตว์เดรัจฉานที่ฝึกดีแล้ว นี้ก็เรียกว่านิพพานเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นก็ เรื่องวัตถุ เรื่องสัตว์ ที่เย็นเพราะเข้าสมาธิ จิตเย็น นี้ก็เรียกว่านิพพานเหมือนกันแต่ก็ยังไม่ใช่ มันเป็นระดับที่ต่ำอยู่ ก็ชั่วคราวด้วย มันต้องมาถึงไอ้ที่มันหมดกิเลส อยู่เหนือ ๆ ความบีบคั้นของสิ่งใด ๆ ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็น ตัวตน ของตน แล้วกิเลสเกิดไม่ได้ นี้คือเย็นในความหมายนี้ คือนิพพานในระดับนี้
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีแยกออกไปได้ว่า ชั่วคราวก็ได้ ตลอดไปก็ได้ ถ้าตลอดไปก็เรียกว่าเย็นจริง เป็นพระอรหันต์นู่นเลย ถ้าชั่วคราวมันก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ หรือแม้ที่สุดแต่คนธรรมดาบางคนนี้มันก็ยังเย็น มีชั่วคราว เป็นคราว ๆ เหมือนกันนะ เวเรา เวลาที่เรารู้สึกเย็นใจที่สุดไม่มีเหตุและผลเลย นั่นแหละตัวอย่างของนิพพาน
ดังนั้นขอให้สังเกตดูดี ๆ จะเข้าใจธรรมะ ถ้าสะเพร่าในข้อนี้ ไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้จากของจริงแล้วยากเหลือเกินนะที่จะเข้าใจธรรมะได้ ดังนั้นคนโง่ ๆ คนอวดดี หรือกระทั่งเป็นฝูง ๆ ไม่มีทางจะเข้าใจธรรมะนี้ แม้เป็นพระ เป็นเณร แม้จะอยู่ที่วัดนี้ เพราะมันอวดดี มันไม่สนใจเวลาที่จิตใจมันเปลี่ยนไปในลักษณะต่าง ๆ แม้กระทั่งเปลี่ยนไปอยู่ในไอ้ความสงบเย็นเป็นตัวอย่างของนิพพาน มันก็ไม่สนใจ มันไปอร่อย ไปสนุกกันอยู่แต่เมื่อมันมีกิเลส ได้โกรธ ได้เกลียด ได้ทะเลาะกัน อย่างนี้เป็นต้น ที่บ้านก็เหมือนกัน ที่วัดก็เหมือนกัน
ดังนั้นระหว่างที่อยู่ที่นี่ พยายามจับฉวยความรู้สึกอันนี้ เช่นมานั่งอยู่ตรงนี้แล้วเกิดความเย็นใจขึ้นมา รู้สึกเป็นสุขสบายบอกไม่ถูกขึ้นมา ก็รีบสนใจให้มาก เพราะนั่นเป็นชนวนจุดตั้งต้นที่จะเข้าใจไอ้ธรรมะนี้ อย่าสรวลเสเฮฮาเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อย ไอ้ความไม่รู้เท่าถึงการณ์ที่จะไปดูนั่นดูนี่ ที่นั่นที่นี่ ก็ ๆ ๆ ดีก็มีประโยชน์ไม่น้อย แต่ที่มีประโยชน์ที่สุดมันคือว่าให้สังเกตจิต ถ้าหากว่ามันเกิดความวุ่นขึ้นมา หรือถ้ามันเกิดความว่างไปบางขณะ ให้สังเกตข้อนี้
เรามักจะอวดว่าไอ้ตรงนี้ ตรงหินโค้งนั้นน่ะ เป็นที่สำหรับคนที่เข้ามาถึงแล้วก็เย็น เย็นเข้าไปถึงจิตใจ เพราะว่ามันว่างจากความหมายมั่นเป็น ตัวกู-ของกู ไปชั่วคราว ลืมกระทั่งว่า โอ, กูมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ลืมไป ถ้าถึงขนาดนึกจิตมันเย็นนี้ มันพยายามที่จะจับฉวยไอ้ความรู้สึกเย็นชนิดนี้ให้ได้ มันจะ ๆ ๆ เข้าใจคำว่าจิตว่าง เพราะว่างจากความรบกวนของความยึดมั่นถือมั่น
เอ้า, ทีนี้เราก็จะได้ดูต่อไปว่า แม้แต่ว่างชั่วคราวอย่างนี้มันก็ยังน่าสนใจ ถ้ามันว่างนานไปกว่านี้ นานกว่านี้ก็น่าสนใจ หรือว่างยิ่งขึ้นกว่าอันนี้ ว่างถึงที่สุดก็ยิ่งน่าสนใจ ถ้าว่างถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงที่สุดมันก็เป็นพระอริยเจ้ารอง ๆ ลงมา ถ้ามันว่างอย่างที่เรียกว่าตามบุญตามกรรม อันนี้มันก็เหมือนกับชาวบ้านธรรมดาสามัญทั่วไป
คนชาวบ้านธรรมดานั่นแหละ บางเวลามันก็มีจิตที่ไม่ ๆ ๆ มีกิเลสรบกวนเหมือนกัน เพราะว่าคนเรานี้ถ้ามันเป็นกิเลสทั้ง ๒๔ ชั่วโมง แล้วมันก็วิกล วิกลจริต เป็น ๆ โรคเส้นประสาท หรือเป็นบ้า หรือตายเลย ก็มีว่างในเพียงระดับใดระดับหนึ่ง แล้วก็เป็นครั้งคราวเป็นเวลานั่นแหละ อันนั้นน่ะมันหล่อเลี้ยงอยู่ได้ ไม่ให้เป็นบ้า ไม่เป็นโรคเส้นประสาท
ดังนั้นคุณจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นถ้านึกถึงความหมายของคำว่าพักผ่อน ถ้าลองไม่มีการพักผ่อนนี้เป็นอย่างไร อันนี้มัน นี้รู้ได้เองนี่ จะเป็นเรื่องพักผ่อนของร่างกาย หรือของระบบประสาท หรือของจิตโดยตรงก็ตาม มันมีประโยชน์เพื่อจะให้เกิดความปรกติ
ถ้าเราไปเล่นกีฬาเหนื่อยเราก็ต้องการพักผ่อน เราทำงานเหนื่อยเราก็ต้องการพักผ่อน แม้แต่ว่าเรากินเข้าไป กินเข้าไป กินเข้าไปให้อร่อยนี้ก็ ที่สุดเราก็ต้องหยุดและพักผ่อน ไม่งั้นมันก็ตาย แม้แต่พวกบริโภคกามารมณ์ทางเพศ ทางอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีหยุดมันก็คือไม่มีพักผ่อน มันก็ตายเหมือนกัน
ไอ้ความที่ ต้องหยุด ต้องว่าง ต้องพักผ่อน นั้นเป็นกฎของธรรมชาติอยู่แล้ว ไปเรียนรู้เรื่อง Biology เรื่องอะไรมากขึ้น แล้วจะ ๆ รู้ได้ว่า ไอ้ความพักผ่อนนั้นมันเป็นอย่างไร จำเป็นอย่างไร มันต้องคู่กันมากับการทำงานนั้น เช่น ต้นไม้ บางคืน กลางคืนก็พักผ่อน กลางวันก็ทำงาน โดยได้แสงแดดย่อยอาหาร สัตว์เดรัจฉานบางเวลามันก็พักผ่อน มนุษย์ก็พักผ่อน แต่การพักผ่อนอย่างนี้มันทาง Physics อย่างเดียว ไม่ลึกซึ้ง ไม่ ๆ ๆ สูงสุด ต้องเลยไปถึงเรื่องทางจิตทางวิญญาณที่เรียกว่าทาง Mental บ้าง ทาง Spiritual นั่นก็สูงสุดนี้
ถ้าเรามันไม่พักผ่อนทาง Physics คือทางกาย เช่น ไม่นอน เป็นต้น นี้มันก็ตายอีกนั่นแหละ เป็นประสาท ถ้าว่าคิดเรื่อยมันไม่หยุดคิด ทาง Mental มันไม่ ๆ หยุด มันก็เป็นบ้า ถ้าว่าไอ้ทางสติปัญญามันเป็นไปในทางที่ให้จับฉวยอะไรอยู่เรื่อย วางไม่ได้ ก็มันไม่มีการพักผ่อนสติปัญญามันก็เสียหมด เรียกว่าไม่พักผ่อนอย่าง ๆ ๆ สูงสุด มีความยึดมั่นถือมั่นของคนธรรมดาที่ไม่เป็นบ้านี้ มันคิดแต่เรื่องยึดถือก็หาความสุขไม่ได้
นี้ความหมายคำว่าพักผ่อน ไม่ใช่ ๆ ของเล็กน้อย แม้แต่เด็ก ๆ มันก็มีการพักผ่อน มันต้องนอน ในโรงเรียนมันต้องหยุดพัก ๑๕ นาทีอย่างน้อย เป็นระยะ ๆ ไป แต่นั่นไม่ใช่พักผ่อนทางจิตทางวิญญาณที่แท้จริง ถ้าพักผ่อนทางจิตทางวิญญาณที่แท้จริง เราเรียกว่าอันนี้ล่ะสุญญตา ความว่าง คือ การที่จิตไม่ได้ไปติดอยู่ในอะไรหรือว่าจิตมันว่าง นี้เรียกว่าความพักผ่อน พักผ่อนอย่างนี้ก็คือความสุขอย่างยิ่งในชั้นนิพพาน
ทีนี้ก็มองเอาเองสิว่า ไอ้โดยหลักแท้จริงมันไปไกลถึง ๆ อย่างนั้น สูงสุดถึงอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ในชั้นสูงสุดนี้ ทีนี้ชั้นที่ไม่สูงสุดน่ะ ที่มันต่ำลงมา ต่ำลงมา ก็หลักเกณฑ์อันเดียวกัน ดังนั้นจึงอยากจะพูดว่า ไอ้หลักธรรมะชั้นสูงสุดเพื่อไปนิพพานนั้น มันก็เอามาใช้กับชาวบ้านได้ โดยหลักหรือความหมายตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
เท่าที่เห็นง่ายที่สุด เห็นชัดที่สุดก็เช่นว่า ความเห็นแก่ตัว คำนี้ย้ำแล้วย้ำอีกขอให้จำไว้ด้วย ความเห็นแก่ตัวนี้เป็นอันตราย ต้องระดับสูงสุด ข้าศึกของนิพพานลงมาจนถึงไอ้ข้าศึกของคนธรรมดาสามัญของสังคมที่จะอยู่กันอย่างเป็นผาสุกนั้น ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันก็มีผลดีตั้งแต่สูงสุดลงมาจนถึงไอ้ต่ำสุดนี้
พระอรหันต์นั้นคือผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะมันหมดความรู้สึกว่าตัวโดยสิ้นเชิง ท่านจึงไม่อาจจะเห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวนั้นเป็นพระอรหันต์ ทำให้เป็นพระอรหันต์ ให้บรรลุนิพพาน ทีนี้ก็ต่ำลงมา ต่ำลงมา ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัวมาตามเรื่อง กระทั่งมาในระดับบ้านเมือง เรื่องโลกอย่างนี้ เราก็ต้องการความไม่เห็นแก่ตัว คนที่เห็นแก่ตัวมันก็เอาเปรียบผู้อื่น มีแต่เรื่องทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น
ความเห็นแก่ตัวทำให้โลภ ความเห็นแก่ตัวทำให้โกรธ ความเห็นแก่ตัวทำให้หลง นี้เป็นหลักใหญ่อยู่ ๓ ข้อ นี้ความเห็นแก่ตัวมันก็ทำให้ฆ่าเขา ทำปาณาติบาตแบบฆ่าเขา หรือลักทรัพย์เขา หรือว่าประทุษร้ายของรักของเขา หรือว่าพูดเท็จ หรือแม้ที่สุดแต่ไอ้ทำลายสติปัญญาของตัวด้วยการดื่มน้ำเมา ดื่มสุราเมรัยของเมา นี้มันก็เป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว ช่างโง่เขลาที่สุด คือไปกินไอ้ของนั้นเข้าไปทำให้เสียไอ้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากจะให้ทุกคนสนใจเข้าใจกันได้ว่า รกรากของความชั่วนั้นมันไปรวมกันอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว ความชั่วทั้งหลายมีรกรากมาจากความเห็นแก่ตัว นี้ใน ๆ ระดับต่ำ ๆ ธรรมดาสามัญ ส่วนบุคคลก็ดี ส่วนสังคมหมู่มวลมนุษย์นี้ก็ดี ความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดเป็นทุกข์
ในความเห็นแก่ตัวนั้นคือจิตที่วุ่นวายทั้งนั้น จิตที่ยึดมั่น ไม่มีความว่างของจิต เมื่อใดเกิดเห็นแก่ตัว เมื่อนั้นก็คือจิตวุ่นทันที ไม่ ๆ ได้ไปทำอะไรใครสักที มันก็เป็นทุกข์ได้ เพราะมันจะคิดชั่วแล้ว คนเห็นแก่ตัวยังไม่ได้ไปทำใครเดือดร้อนสักที มันก็เริ่มทำตัวเองให้เดือดร้อนทันที ความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรก็ตาม ยังไม่ได้ไปทำอะไรใคร มันก็ทำอันตรายตัวเองไปก่อนทันทีเลย นี้ความเห็นแก่ตัวมันทำอันตรายบุคคลนั้น แล้วต่อไปก็ทำลายบุคคลอื่น ทำลายคู่แข่งขัน ทำลายกันไปตามเรื่อง โลกนี้มันเดือดร้อนเพราะความเห็นแก่ตัว ส่วนบุคคลก็ดี ส่วนสังคมก็ดี
เรื่องที่จะไปบรรลุมรรคผลนิพพานก็อย่างเดียวกันอีก เมื่อเห็นแก่ตัวก็ยังมีกิเลสอยู่ แม้ว่าไม่ ๆ เรียกกันว่าเลวนะเรียกว่าดี นี่เห็นแก่ตัวอย่างดี นี้ก็ยังหนัก ยังแบกของหนักชั้นดี ก็ยังไม่ว่าง ยังไม่เป็นนิพพาน มันต้องสลัดความเห็นแก่ตัว แม้กี่ชนิดที่ชนิดดี
พอพูดอย่างนี้คุณก็ควรจะจับฉวยเอาใจความได้ทันทีว่า ไอ้เรื่องว่างนั้นต้องอยู่เหนือชั่วและเหนือดี นิพพานนั้นต้องอยู่เหนือชั่วและเหนือดี ชั่วก็วุ่นไปตามแบบชั่ว ดีก็วุ่นไปตามแบบดี ถ้าพ้นนั้นแล้วจึงจะว่าง จึงเหนือชั่วเหนือดี จะเรียกว่าดีที่สุดก็ได้ ถ้าอยาก ๆ จะดีอยู่ แต่เขาไม่เรียก ทางธรรมะเขาไม่เรียก
นี้ชั่วไม่เอา นี้ดีก็พ้นขึ้นไป และตอนนี้ไม่ ไม่เรียกว่าชั่ว ไม่เรียกว่าดี นั้นแหละคือนิพพาน คือว่าง ว่างจากชั่ว ว่างจากดี ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ สรุปแล้วก็เรียกว่า ว่างจากตัวกู-ของกู ดีกว่า ไม่มีความหมายมั่น หมายมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกู เป็นของตู ของกู นี้ลอง ๆ เหลือบตาดูตั้งแต่สูงสุดลงมาถึงต่ำสุดนี้ มันมีประโยชน์อย่างไร มันก็จะได้ความเย็น ก็ได้ความเย็น เย็นชนิดสูงสุด เย็นชนิดรอง ๆ ลงมา กระทั่งเย็นชนิดต่ำธรรมดา ก็เย็นทั้งนั้นแหละ
เอ้า, ทีนี้จะเอาขั้นธรรมดาสามัญแล้วเอ้ย ที่เป็นเด็ก ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ถ้าจิตมันเป็น ตัวกู-ของกู มันก็ดื้อบ้าง มันก็ทะเลาะวิวาทบ้าง หรือว่ามันร้อนของมันเองนี้ มันเจ็บ มันกลัว มันตามเรื่องเขา เพราะมันมีอะไรไปทำให้เกิดมั่นหมายเป็น ตัวกู-ของกู คือจิตไม่ ๆ สงบ ไม่เรียบร้อย ไม่ราบรื่น ไม่เยือกเย็น อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่ว่าง
ดังนั้นในบางเวลาเราจะเห็นเด็กมีความสุข สบาย เยือกเย็น เพราะมันยังไม่มีอะไรมากระตุ้นนั่นเป็นตัวกู-ของกู นี้เดี๋ยวมันก็ไป เห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่ เรื่องมันปรุงความคิดเป็น ตัวกู-ของกู มันก็เกิดเป็นไอ้เด็กอีกคนหนึ่งขึ้นมา เหมือนกับยักษ์เหมือนกับมารนี้ ร้องจ้าไปก็มี ดื้อไม่ยอมอะไรก็มี นี้โตขึ้นมามันก็แบบเดียวกันน่ะ เป็นวัยรุ่นแล้วมันก็จะเริ่มรู้จักตัวกูแปลกออกไปมากขึ้น กระทั่งเป็นหนุ่มสาวเต็มที่
มันกำลังหลับตาในเรื่องนี้ มันก็มีจิตวุ่นหรือตัวกูมาก แต่เนื่องจากมันเอร็ดอร่อย เพราะมันตรงกับเรื่องกิเลส ก็ไม่มีใครรังเกียจ ดังนั้นเรื่องกิเลสนี้คนไม่รังเกียจ โดยธรรมดาแล้วเขาไม่รังเกียจกิเลส เพราะมันอร่อยดี นั่นน่ะคิดดู ความโลภก็อร่อย ความโกรธก็อร่อย ความหลงก็อร่อย สำหรับคนที่ยังไม่รู้อะไร ถัดไปจากนี้ก็เป็นผู้สูงอายุ เป็นพ่อบ้านแม่เรือน กระทั่งเป็นคนแก่ ถ้าเขาไม่รู้จักทำจิตให้ว่างแล้วก็ต้องตายเร็ว อายุสั้น แต่มันไม่สำคัญเท่ากับที่ว่า ตลอดเวลาที่ยังไม่ตายนั้นมันไม่มีความสุขเลย
ทีนี้นอกจากไม่มีความสุข มันมีความทุกข์ด้วย ที่ยิ่งไปกว่าความทุกข์ก็คือว่า มันจะทำอะไรเป็นทุกข์ไปเสียทั้งนั้นไม่ว่าอะไรและจะทำไม่ได้ด้วย จะทำไม่ได้ด้วย ต้องการงานที่เป็นหน้าที่ที่ควรจะทำ แล้วยังทำไม่ได้ เรื่องนี้ได้ยกตัวอย่างไว้ให้มากมายแล้ว ในคำบรรยายหลายครั้งหลายหนที่เกี่ยวกับเรื่องความว่าง
ถ้าเรารู้จักทำจิตให้ว่างแม้ในระดับธรรมดาสามัญนี้ เราจะมีจิตที่มีสมรรถภาพพิเศษ มีประสิทธิภาพ มีสมรรถภาพของมันเป็นพิเศษ เหมือนเราจะคิดนี้ ถ้าเรารู้จักทำจิตให้ว่างเสียก่อน เราจะคิดได้ดี ถ้าจิตของเรามันกลัดกลุ้มอยู่ด้วย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว หัวเสียอะไรอยู่ เราก็คิดไม่ได้ เราต้องเอา ตัวกู-ของกู ที่กำลังเดือดนี้ออกมาเสียก่อน มันจิตบริสุทธิ์ว่างแล้วเราจึงคิด มันจะคิดได้ดี
ทีนี้บางคนมันมีโชคดี มันเป็นนิสัยที่เป็นคนที่จิตวุ่นยาก คือ ตัวกู-ของกู เกิดยาก มันคิดทั้งวัน ๆ ก็ได้ มันก็เลยคิดออก เป็นผู้ค้นคว้าไอ้เรื่องลึกซึ้งได้ ขอให้สังเกตดูสักหน่อยหนึ่งว่า ไอ้คนที่เป็นนักคิด นักคิด นักอะไรใน ๆ ๆ ชั้นเลิศของโลกนี้ อย่าเข้าใจว่าเขามีจิตที่เต็มไปอยู่ด้วย เต็มอยู่ด้วย ตัวกู-ของกู นี้คนไม่เข้าใจพูด มันพวกจิตว่างอันธพาลมันพูดว่า ถ้ามี ไม่มีความหมายมั่นแล้วมันจะไปคิดทำไม
เขาไม่ได้คิดด้วยความหมายมั่นเป็นตัวกู-ของกู เขาทำงานเพื่องานก็ได้ ถ้ารู้หน้าที่ว่ามนุษย์ต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะมีมันสมองดีก็คิดเรื่อยไป โดยไม่ต้องปรารภตัวกูแต่ว่าปรารภงาน ทำการงานเพื่อการงาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นี้ ดังนั้นพวกนี้จึงคิดอะไรออก ทั้งในเรื่องที่คนธรรมดาคิดไม่ออก เรื่องปรมาณู เรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นนักคิดค้นมันคิด
ให้ไปสังเกตศึกษาเอาเองก็ได้ว่า ขณะที่คิดนั้นเขาต้องลืมตัวกู ถ้าเขาลืม ไม่ลืมตัวกูมันจะคิดลึกไม่ได้ เพราะมันจะเป็นห่วง มันจะวิตกกังวล มันจะระแวงอยู่ จะคิดไม่ออกแล้วกลัดกลุ้มขึ้นมา ก็เลยคิดไม่ออก จะคิดให้ลึกซึ้งแล้วต้องไม่มีอะไรเข้ามาเป็นอุปสรรคแก่ความแจ่มใสเยือกเย็นของจิตใจ ที่เรียกว่าจิตมันว่าง แล้วก็จึงคิดได้ดี
ที่เขามาใช้กันในเรื่องโลก ๆ นี้ ไปอ่านเรื่องของเซนดูบ้าง เรื่องนักฟันดาบนั้นเขาฟันดาบได้ดี เพราะเขารู้จักทำจิตให้ว่างเพื่อจะใช้ดาบเท่านั้น เขาไม่ได้ไปหมกมุ่นอยู่ที่ว่า กูจะแพ้หรือกูจะชนะ ทำไปด้วยความฟุ้งซ่าน เขาจะมีจิตว่างที่จะใช้ดาบให้ดีอย่างนั้นน่ะ ไอ้ ตัวกู-ของกู ไม่รู้อยู่ที่ไหน มันก็เลยเป็นนักฟันดาบที่เก่งและชนะศัตรูได้
แต่ถ้ามันไปมัวคิดอยู่ว่า จะผิด จะพลาด กูจะแพ้ พอกลัวล่วงหน้าอะไรอย่างนี้มันก็ มันก็ทำไม่ได้ ถ้าจิตมัน ๆ แบ่งเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ทีนี้เอาไอ้เพียงว่าจัดแจกันดอกไม้นี้ เขาก็ทำจิตให้ว่าง เขาจึงจะใส่ลงไปด้วยจิตที่ว่าง มันก็เป็นไอ้ช่อดอกไม้ที่มีรูป มี Form ประหลาดและสวย แล้วก็ผู้ที่มีจิตใจว่างด้วยกันก็มองออกว่า นี้มันทำให้เป็นจิตว่างและลึกซึ้ง
ทีนี้ที่ง่ายจะต้องเข้าใจง่ายคือ ง่ายขึ้นอีกก็เราจะทดสอบก็ได้ พรุ่งนี้ก็ลองหาก้อนหินเล็ก ๆ มาสักกองหนึ่ง แล้วก็ขว้าง ขว้างแม่นที่จุดใดจุดหนึ่งที่ เดี๋ยวก่อนอย่าใส่ อย่าไปขว้างต้นไม้ให้ช้ำไปหมดนะ ไปขว้างก้อนหินอะไรก็ได้ ด้วยจิตชนิดไหนที่ขว้างแม่นเป๊ะทุกที ด้วยจิตที่ทำให้มือไม่สั่น ด้วยจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยจิตที่ไม่อยากจะถูกจนเกินไป ด้วยจิตที่ไม่กลัวว่ามันจะผิดนั่น มันจึงจะขว้างแม่น
เพื่อจะศึกษาไอ้เรื่องจิตว่างให้เข้าใจดีขึ้น พรุ่งนี้ก้อนหินมากองหนึ่ง นี้ก็ขว้างไปเป้าหมายอะไรอันหนึ่งให้มันถูกเป๊ะทุกที จะรู้ว่าทำด้วยจิตว่างคืออย่างไร ถ้ามัวมาพะ พะวงถึงความผิด ความไม่ถูก หรือความที่จะแพ้ หรืออะไรนี้ด้วยแล้วยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งฟุ้งซ่าน ไม่ได้จริง ๆ
แม้แต่จะยิงหนังสติ๊ก ยิงปืน ยิงอะไรพวกนี้ มันต้องด้วยจิตว่าง เราจะเห็นไอ้คนป่าที่เขายิงแม่น มันทำไปเหมือนกับว่าเครื่องจักร ความชำนาญ หรือความปรกติของระบบประสาทของจิตอะไรต่าง ๆ มันจึงสามารถยิงสัตว์แม่นยิ่งกว่าชาวบ้าน โดยเฉพาะไอ้คนที่ไม่เคยมันจะฟุ้งซ่าน จะคอยละอายล่วงหน้า กลัวเขาจะโห่ ไอ้นี้เรื่องหนึ่ง
ในการประกวดแข่งขันต่อหน้าคนที่มาล้อมดูอยู่มากนะ ถ้าผู้แข่งขันคนใดมันจิตไม่ว่าง มันคอยนึกไอ้คนที่คอยดูอยู่ เราแพ้จิตเขาจะโห่นี้ ก็ไม่มีทางล่ะที่จะชนะไอ้การประกวดนั้นได้ เราต้องลืม คือไม่สนใจกับมันนั้นล่ะ ถ้ามันว่างจากความหมายแห่งความมีตัวกูที่จะแพ้หรือจะชนะ หรือของกูจะได้อะไรมานี้ต้องลืมหมด เกียรติยศของกูแล้วกูต้องลืมหมด ตอนนั้นต้องลืมหมด วินาทีนั้นโดยเฉพาะต้องลืมหมด มันถึงจะยิงปืนออกไปถูกหรือว่าอะไรถูก
หรือแม้แต่ว่าจะเป็นผู้พูดบนเวทีอย่างนี้ ปราศรัยอะไรก็ตามใจ ถ้าจิตมันไม่ว่างแล้วก็มันจะประหม่าบ้าง มันจะฟุ้งซ่านอย่างโน้นอย่างนี้ นี้มันจะถึงกับกลัวหรือจะเอาเหงื่อแตก แล้วก็นึกอะไรไม่ออก เลยตัน เลยพูดไม่ออก นึกอะไรไม่ออก ดังนั้นบางทีอย่างจะมีเทศน์บนธรรมาสน์นี้ก็จึงมักจะหลับตาเสีย จิตมันว่างง่าย แล้วก็ว่าไปเหมือนกับเครื่องจักรได้
ถ้าเขาจะพูดบรรยายปาฐกถาอย่างนั้นแล้วคงทำไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะหัวเราะเอา แต่เราก็ต้องรู้จักทำจิตให้ไม่ประกอบอยู่ด้วยไอ้ความรู้สึกที่เป็น Self เป็น Egoism เป็น Egoistic concept อะไรก็ตาม ที่ว่า ตัวกู-ของกู จะนั่น จะนี่ จะนั่นน่ะ ต้องไม่มี เราจะพูดมีเหตุผล เราจะนึกได้ดี แล้วเราจะมาพูดเป็นคุ้งเป็นแควกันเลย นั้นว่าเขา ๆ เรียกว่า พูดหรือแสดงปาฐกถาอะไรก็ตามด้วยจิตว่าง มันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้พวกคนอันธพาลมันฟังไม่ถูก มันคิดว่าถ้าจิตว่างก็ ๆ หลับเลยหรือว่าก็ไม่อะไรเลย มัน ๆ คนละความหมายนี้ ไอ้ว่างสองสามว่างนี้ระวังให้ดี ถ้าเราจะต้องทำงานที่ต้องอดทนมาก เหนื่อยมาก หรือนานอย่างนี้ ต้องพยายามทำจิตให้ว่างให้จนได้ ไม่อย่างนั้นจะเหนื่อยมาก
เช่น เราจะต้องเดินทางไกลหรือจะทำอะไรที่มันเหนื่อยมากแล้ว ถ้าจิตมันเป็นปรารภไอ้ตัวกูเหนื่อย อะไรมันก็เหนื่อยกันใหญ่ มันต้องประคองให้มันมีความว่างให้มากยิ่งขึ้น ๆ จึงจะรู้สึกเหนื่อยน้อยหรือไม่เหนื่อยเลยก็ได้ ร่างกายมันต้องพักมันก็พัก แต่คนมันก็ต้องไม่เดือดร้อน นี้ทางจิตก็เหมือนกัน อย่าให้มันรู้สึกเหนื่อยจิต เพราะมันว่าง เพราะมันไม่หนัก เพราะมันไม่แบกอะไร ดังนั้นเราอาจจะพูดได้กันชั่วโมง ๆ ก็ได้ จะไม่ค่อยรู้สึกหนัก หรือเหนื่อย หรือปวดหัว เพราะมันทำไปโดยไม่รู้สึกหนัก
นี่ขอให้เข้าใจประโยชน์ของจิตว่างในทางส่วนตัวเรา การงานของเรา หน้าที่ประจำวันของเรานี้ก็จะทำได้ดี แล้วเรื่องส่วนบุคคลเฉพาะคนแห่งหน้าที่การงานของตนนั้นก็จะทำได้ดี แต่ว่าคนธรรมดาเขาฟังไม่ถูกว่า เอ้า, ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกว่าตัวหรือส่วนตัว แล้วมันจะทำทำไม มันจะทำได้อย่างไร ทีนี้คำอธิบายมีแล้วบอกแล้ว มันก็ทำด้วยจิตว่างนั้นก็คือว่ามันจะทำได้ดี แต่มันไม่มีความทุกข์ด้วย มันเข้าใจผิดเดาเอาเองว่า เราต้องหมายมั่นตึงเครียดลงไปแล้วจึงจะทำได้
ผิด ไม่จริง มัน ๆ หมายมั่นแต่ทีแรกได้ ก่อนหน้านั้นมันหมายมั่นได้ว่าตั้งใจจะทำอะไร คิดให้ดี แต่พอลงมือทำแล้วจิตต้องว่างจากไอ้ความหมายมั่นอันนั้น ให้มันเกิดความเป็นอิสระคล่องแคล่วของมันขึ้นมา จึงจะทำได้ดี แม้แต่เด็กเล็ก ๆ จะหัดทำอะไร จะกินอะไรก็ได้ ถ้ามันไปวิตกกังวลอยู่แต่เรื่อง จะได้จะเสีย จะแพ้จะชนะ แล้วก็ทำไม่ได้ดี มันต้องมีเหลืออยู่แต่ว่าจะทำอย่างไรด้วยสติปัญญาสูงสุดเท่านั้น นี้ก็ส่วนเรื่องของบุคคลก็ต้องเป็นอยู่ด้วยจิตว่างอย่างนี้
นี้ถ้าว่าเรื่องเกี่ยวกับสังคมที่จะอยู่กันเป็นผาสุก ก็ต้องอาศัยความไม่ ๆ เห็นแก่ตัว ความไม่หมายมั่นเป็นตัว เพราะว่าหลักของสังคมจะอยู่เป็นสุขก็ต้องเห็นแก่ผู้อื่น ถ้าเราเห็นแก่ตัวแล้วเราก็จะเห็นแก่ผู้อื่นไม่ได้ ไอ้หลักของสังคมนั้นมันอยู่ที่ว่า เราจะต้องไม่มีความเห็นแก่ตัวชนิดที่เป็นกิเลส ก็มีอยู่ว่าให้เห็นเป็น เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วปัญหาทางสังคมจะหมดหายไปทันที
จะรักผู้อื่น จะช่วยผู้อื่น จะไม่เอาเปรียบผู้อื่น จะทุกอย่างแหละที่เกี่ยวกับเรื่องของสังคม นั้นก็มาอาศัยจิตว่าง ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของกู มันจะเกิดความรู้สึกว่าทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันได้โดยง่าย นี้แล้วก็จะ จะมีเมตตากรุณาง่าย นี้เรียกว่าส่วนที่จะอยู่ในโลกนี้แท้ ๆ จะทำงาน ทำมาหากิน มีทรัพย์สมบัติ มีอะไรอยู่ในโลกนี้แท้ ๆ ก็ต้องทำแบบนี้
เมื่อหาเงินก็ต้องหาด้วยความว่าง เพราะนั้นจะทรมานเหมือนตกนรกทั้งเป็น เมื่อได้เงินมาเก็บไว้มันก็จะต้องมีจิตที่ปรกติ ที่ไม่หมายมั่นจนนอนไม่หลับ ไม่มาอยู่บนศีรษะ หรือจะกินจะใช้อะไรก็ต้องด้วยจิตที่ว่างจาก ตัวกู-ของกู มันก็กินถูกต้องตามธรรมชาติ พอดี ไม่ตะกละ ไม่หลงใหล ไม่ต้องไปอย่างที่เขาไปกันนั้นน่ะ ในเมื่อเรียนก็เรียนด้วยจิตว่าง เมื่อทำงานก็ทำงานด้วยจิตว่าง เมื่อมีเงินก็มีด้วยจิตว่าง เมื่อเก็บเงินก็เก็บด้วยจิตว่าง เมื่อบริโภคใช้สอยก็ทำด้วยจิตว่าง เมื่อจะทำประโยชน์ผู้อื่นก็ทำด้วยจิตว่าง นี้เรียกว่าชีวิตประจำวัน
ที่อีกด้านหนึ่งคือตรงกันข้าม คล้าย ๆ ว่ามันมีการต่อสู้ ก็อย่าต่อสู้ด้วยความโกรธ ถ้าโกรธจิตวุ่นก็มีทาง พูดผิด ทำผิด แล้วก็จะทะเลาะตีวิวาทฟันดาบ สู้กันด้วยดาบ ดวลกันด้วยปืนนั้นก็ได้ ถ้าคนที่มีจิตว่างนั้นจะมีสติสัมปชัญญะสุขุมรอบคอบ แล้วจะชนะโดยง่าย แม้ว่าเราจะรบกันด้วยปาก จะเถียงกันด้วยการโต้วาทีอะไรก็ตาม คนที่มีจิตว่างนั้นจะทำได้ดีกว่าทั้งนั้น ไอ้คนที่โกรธเสียแล้วอย่างนั้นมันไม่มีทางจะทำได้ดี
ดังนั้นเราจึงมีคำกลอนมาผูกขึ้นสอนให้ท่องกันไว้กันลืมว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง อย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ จะทำอะไรก็ตามใจ มันจึงจะไม่มีความทุกข์และเป็นผลดีด้วย จะยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น ถ้าเกิดผลขึ้นมาอย่าหมายมั่นเป็นตัว เป็นของกู มันจะนอนไม่หลับ มันจะทรมานเอา มันจะกัดเอา จะเก็บไว้ที่บ้านหรือฝากธนาคารไว้ มันก็ไม่ต้องมีมั่นหมายเป็นของกู พอจัดจับเก็บถูกต้องรักษาดีแล้วมันไม่ไปไหนเสีย มันนอนหลับสนิทเสียดีกว่า ไม่อย่างนั้นจะเอามาสำหรับเป็นโรคเส้นประสาท นี้ยกผลงานให้ความว่าง เพราะว่าทำด้วยจิตว่าง ได้ผลมายกให้ความว่าง ยกให้จิตว่าง ให้ความว่าง
แล้วกินอาหารความว่างอย่างพระกินนี้ ก็ต้องมากินมาใช้ นี้ก็ต้องกินอย่างพระ หรือพระนั้นเขาพิจารณาว่า นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ อยู่เสมอ ถ้าเคยบวชก็รู้ การพิจารณาอาหารที่กิน จีวรที่นุ่งห่ม เสนาสนะอยู่อาศัยอะไรก็ตาม มันต้องมีพิจารณาว่า มันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมชาติ
นิสฺสตฺโต ไม่ใช่สัตว์ นิชฺชีโว ไม่ใช่ชีวะ สุญฺโญ ว่าง นี่ ๆ พระกินอาหารต้อง ๆ ทำ ต้องพิจารณาอย่างนี้ ถ้าว่าคนชาวบ้านจะกินอาหารอย่างนี้ ก็เรียกว่ากินอาหารอย่างพระกิน ด้วย กินด้วยจิตที่ว่าง ไม่ประ จิตไม่ประกอบไปด้วยกิเลส ไม่ตะกละ ไม่หมายมั่น ไม่อะ อะไรอย่างนี้ มันไม่เป็นทาสของลิ้น เป็นต้น กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
นี้ว่าว่างเสร็จสิ้นหรือตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที คือตลอด ถ้าทำได้อย่างนี้ มันก็ตั้งแต่เกิดมามันว่าง จนตายจะเข้าโลงแล้วมันว่าง มันจะเป็นอรหันต์ ถ้าทำได้อย่างนั้น เป็นผู้ที่มีจิตว่างตลอดเวลา ที่ใช้คำว่าตายก็หมายความว่า ถ้าเราไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูไม่ได้มีอยู่นี้ ภาษาปรมัตถ์เขาก็ให้ค่าคล้าย ๆ ว่าไม่ได้เหมือนกับว่าตายแล้ว เราก็ใช้คำว่าตายแล้วตั้งแต่ก่อนร่างกายตาย ไอ้ตัวกู-ของกู ไอ้ผีบ้า ไอ้กิเลสบ้านั่นมันตายแล้ว ซึ่งเท่ากับไม่มีตัวกูตั้งแต่ไอ้ก่อนแต่ที่ร่างกายนี้มันจะแตกสลายลงไปอีกนี้
นี้ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที คือว่าว่างเสร็จสิ้นแล้วในตัวตั้งแต่หัวที คือทีแรกมา นี้เป็นภาษาบ้านปักษ์ใต้หน่อยใช้คำว่าหัวที แต่นี้ทางกรุงเทพก็พูดเป็นนั้นน่ะคำว่าหัวที มีอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ไปเอามาดู ท่องจำไว้ มันจะช่วยได้ จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
นี้ก็จะตอบคำถามแล้ว ถ้าอย่างนั้นจะเอาอะไรกิน ก็เมื่อ ๆ มัว ๆ แต่ว่าง ๆ กันไปหมด คนมีจิตว่างก็กินอาหารของความว่าง คืออาหารที่ไม่ได้ถือว่าตัวกูหรือของกู นี้ก็ว่างเสร็จสิ้นแต่ในตัว ว่างเสร็จสิ้นอยู่ในตัวแต่หัวที ไม่เป็นไร มีคำต่อขึ้นมาว่า ผู้ใดว่างได้ดังว่ามา ไม่มีท่าทุกข์ทนหม่นหมองศรี ศิลปะแห่งชีวิตชนิดนี้ เป็นเคล็ดที่ใครทำได้ไม่ตายเอย
เราถือว่ามันเป็นศิลปะ การที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์เลยนี้เราถือเป็นศิลปะ แต่มันในระดับ Spiritual มันไม่ใช่ระดับธรรมดานี้ ระดับสูงสุดทางวิญญาณ เป็นศิลปะ ถ้าใครทำได้ก็ได้ผลเป็นสูงสุด คือนิพพาน นี้ก็เป็นเคล็ดที่ว่า ใครทำได้ปฏิบัติได้ก็ไม่รู้จักตาย นี้เรียกว่าฝ่ายที่ไปจากโลกนี้ที่เป็นโลกุตระเหนือโลกไปก็ต้องด้วยจิตว่าง มันก็สำเร็จสูงสุดไปไม่มีความทุกข์เลย ทีนี้ว่ายังจะต้องอยู่ในโลกนี้ เป็นชาวโลก เป็นโลกิยะนี้ก็ต้องอยู่ด้วยจิตว่าง มันจึงจะไม่มีความทุกข์เลย
นี้ประโยชน์ของไอ้จิตว่าง ก็พอจะรวบรวมมาให้ฟังได้ในลักษณะอย่างนี้ เป็นคราว ๆ นะ ยังมีอีกมากมาย แต่นี้เป็นคราวหรือเป็นหัวข้อที่ถ้าจับหลักอันนี้ได้ ก็จะจับได้ ๆ หมดได้เองโดยง่าย ประโยชน์ของความมีจิตว่าง ไม่มี ตัวกู-ของกู ที่เป็นความโง่ความหลงสำคัญเอาอย่างนั้น แล้วเราก็จะเย็นเป็นนิพพานตามมากตามน้อย กระทั่งว่าเย็นถึงที่สุดเด็ดขาดลงไป
เอาล่ะ, ทีนี้ก็จะบอกให้รู้ว่า ทำไมจะต้องพูดไปถึงนิพพาน ทำไมไม่พูดแต่เรื่องที่จะอยู่กัน ที่นี่ ในโลกนี้ เดี๋ยวนี้ หรือว่าในวัยนี้ นั่นแหละข้อที่ว่า มันจะรู้พุทธศาสนาหรือไม่ มันอยู่ที่นั่น ถ้าเราจะเป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง มันก็จะใช้วิชาความรู้ในทางธรรมไปเอามา ไปเอาเปรียบมา อย่างนี้ไม่มีทางที่ทำได้ มันไม่ว่างได้ แล้วมันจะมีความทุกข์เรื่อยไป
เราจะรู้จักพุทธศาสนา ก็ต้องรู้จักที่เป็นหัวใจ เป็นตัวจริงพุทธศาสนา เช่นเรื่องสุญญตา ความว่าง แล้วมุ่งหมายนิพพาน นี้เราจะเอามาใช้เป็นเรื่องของคนชาวบ้าน เพื่ออยู่อย่างนิพพานชั่วคราวไปเรื่อย ๆ นี้ มันก็ต้องหลักเกณฑ์อันเดียวกัน
ดังนั้นขอให้ลองดู เป็นอยู่ด้วยจิตว่างนี้ จะทำงานได้ดี จะเป็นอยู่ได้ดี จะอะไรได้ดี ไม่มีความทุกข์เลย เหมือนกับอยู่กับพระพุทธเจ้า มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจนี้ เพราะว่าถ้าไม่มีอันนี้มันก็มีกิเลส ถ้า ๆ ไม่มีกิเลสก็ต้องมีอันนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ หมายความว่าถ้าวุ่นมันก็ไม่ว่าง ถ้าว่างมันก็ไม่วุ่น มันเป็นเรื่องอัตโนมัติอย่างนี้
ดังนั้นเราก็ ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้ศึกษาพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสว่า ไอ้พวกฆราวาสทั้งหลายไม่มีเรื่องอะไรดีกว่าเรื่องนี้ คือเรื่องสุญญตา ก็เป็นอันว่าเป็นเรื่องที่จัดไว้สำหรับฆราวาสโดยตรงด้วยเหมือนกัน แล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ยืดยาวไปตลอดกาลนาน คือว่าฆราวาสเหล่านั้นจะพ้นจากความเป็นฆราวาส จะบรรลุนิพพานก็ได้เหมือนกัน พอกันทีสำหรับว่า จิตว่างมีประโยชน์อย่างไร วันหลังก็จะพูดด้วยหัวข้อต่อไปว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะว่าง ดังนั้นวันนี้พอกันที