แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๖ วันนี้เป็นวันที่สองของการบรรยายต่อจากครั้งที่แล้วมา ซึ่งในวันนี้จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมในฐานะที่เป็นธรรมศาสตร์ ขอให้ท่านเข้าใจว่า การที่เราเน้นถึงคำว่า ธรรมศาสตร์ กันบ่อยๆ นี้ มีความมุ่งหมายมากกว่าการที่ผู้ฟังส่วนมากเป็นนักศึกษาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะคำว่าธรรมศาสตร์นั้น มันมีความหมายบางอย่างลึกหรือไกลไปกว่าที่เราเข้าใจกันอยู่ในเวลานี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในการบรรยายครั้งแรก ว่าธรรมศาสตร์แปลว่า ธรรมะในฐานะที่เป็นศาสตรา ศาสตรา คืออาวุธที่มีคมสำหรับจะตัด สิ่งที่ถูกตัดนั้น คือปัญหาของคนเรา หรือปัญหาของมนุษย์ คนย่อมจะมีปัญหา แต่เราก็ไม่ได้สนใจที่จะเรียกว่าปัญหากันเสียเป็นส่วนมาก หมายความว่าสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ได้ถูกมองในฐานะที่เป็นปัญหา อย่างนี้ก็มีอยู่เป็นส่วนมาก จึงรู้สึกถึงค่าของสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นั้นน้อยเกินไป ดังนั้นย่อมจะเป็นการมีเหตุผลที่เราจะดูกันถึงสิ่งที่เรียกว่าปัญหากันเสียก่อน สิ่งที่เรียกว่าปัญหานั้น จะถือว่ามันมีอยู่สองประเภท คือมีอยู่ตามธรรมชาติเสมอกันไปหมดสำหรับมนุษย์ทุกคน และปัญหาที่มันเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของกิเลสเฉพาะคน สำหรับปัญหาโดยธรรมชาติ ก็คือการที่สิ่งที่เรียกว่า คน นี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ เรามักจะแยกคำว่าธรรมชาติออกไปเสียจากสิ่งที่เรียกว่า คน ในที่นี้จะต้องถือกันตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนาที่ถือว่าอะไร ๆ ก็เป็นธรรมชาติ แม้สิ่งที่เรียกว่าคน ก็คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ คือประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลายตามธรรมชาติกลุ่มหนึ่ง ก็เป็นและเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อดูถึงเนื้อหนังร่างกาย หรืออวัยวะที่เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางจิตใจ ก็เรียกว่าเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ มันจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาได้ คือในบางคราวก็ไม่ตรงกับความประสงค์ของเรา แม้แต่เนื้อหนังของเราร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆในบางเวลาก็ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของเรา เราใช้มันไม่ได้ตามที่เราต้องการ หรือว่ามันจะเสื่อมสมรรถภาพลงไปทุกที เช่น มีความชราเข้ามาครอบงำ เป็นต้น นี้ก็เรียกว่าปัญหาตามธรรมชาติ เราจึงต้องมีสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องเรียกว่าธรรม หรือธรรมะด้วยเหมือนกัน ทีนี้เขยิบขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เราเป็นทาสของกิเลสอยู่ตามธรรมชาติ นี่เพราะว่าเราเกิดมาไม่รู้อะไร ความไม่รู้ของเราได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ากิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น เรื่อยๆ มา ความรู้ของเราก็ยังไม่มีอยู่ตามเดิม เราจึงพ่ายแพ้แก่กิเลส กระทั่งเป็นทาสของกิเลส แม้ที่สุดแต่อวัยวะอันเป็นที่ตั้งของกิเลส เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่เป็นที่รับความรู้สึกทางผิวหนัง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมากมายกว้างขวางกว่าอย่างอื่น นี้เป็นสิ่งที่เราไม่สนใจ หรือสนใจน้อยเกินไป จนถึงกับความเป็นทาสของกิเลสนั้นยังคงมีอยู่หรือมากยิ่งขึ้นไป นี้เรียกว่าเป็นปัญหาของมนุษย์โดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องขจัดออกไปได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะอีกเหมือนกัน ธรรมที่เอามาใช้ในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็น ธรรมศาสตร์ ศาสตรา กล่าวคือธรรมะ นี้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเรียกว่า ปัญหาเหนือขึ้นมาจากธรรมชาติ คือการที่เราทำผิดต่อธรรมชาติโดยเฉพาะ เพราะว่ากิเลสนั้นได้เจริญขึ้นทั้งกว้างและทั้งลึก และปริมาณของกิเลสก็มีมากขึ้นหลายชนิด ถ้าจะแยกเป็นทางส่วนตัว ก็มีปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่ได้ตามที่เราต้องการ ไม่รู้ว่าจะพอใจอะไรแน่ ขอให้ทุกคนสังเกตตัวเองดูให้ดีๆ ว่าเราเวลานี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะพอใจอะไรแน่ เรามีความหวังในสิ่งบางสิ่งเห็นอยู่เฉพาะหน้า คล้ายๆ กับว่าเราจะพอใจในสิ่งที่ได้ตามความหวังนั้น แต่แล้วในที่สุดความหวังของเราก็ยังหลอกหลอนตัวเรา เปลี่ยนแปลงไปแทบว่าจะไล่ตามมันไม่ทันที่มันเปลี่ยน นี้เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนเราจนกว่าจะถึงจุดจุดหนึ่งที่หยุดความหวังได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าอะไร และสิ่งนั้นก็รู้จักไม่ได้ จนกว่าจะได้ถึงกันจริง ๆ เสียก่อน นี่เรียกว่าโดยทางส่วนตัว เรายังไม่รู้ว่าเราจะมีอะไรเป็นที่พอใจถึงที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด นี้ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งก็เป็นปัญหาทางสังคม คือเราอยู่คนเดียวไม่ได้ในโลกนี้หรือว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ เพราะว่าเราอยู่ไม่ได้ หรือเพราะอะไรก็ตามที เดี๋ยวนี้เรากำลังอยู่ในโลก ซึ่งเต็มไปด้วยคนด้วยกันเป็นอันมาก ที่เรียกว่า สังคม เราก็ถูกกระทบกระทั่งจากสังคมหรือว่าถูกสังคมลากไปตามความต้องการของสังคม เราจึงมีปัญหายุ่งยากลำบากขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งถึงกับบางคนพูดออกมาว่า เราอยากจะหนีออกไปจากสังคมอย่างนี้ก็มี ถ้าปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นมันก็ไม่มีอะไรอีก นอกจากสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ โดยตรงที่จะช่วยแก้ปัญหานั้น คือให้อยู่ด้วยมีชัยชนะในท่ามกลางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทุกอย่างโดยไม่ต้องหนีไปจากสังคม การที่จะปลีกออกไปจากสังคมชั่วขณะ เพื่อคิดค้นอะไรนั้น ไม่เรียกว่าหนีไปจากสังคม คือไม่ได้พ่ายแพ้แก่สังคมยังมีความพยายามที่จะเอาชนะสังคมอยู่ นี่ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่าแม้แต่ปัญหาเนื่องด้วยสังคม เราก็ยังต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เป็นอาวุธสำหรับตัด ถ้าเราปล่อยไปตามเรื่องราวของสังคมคือพ่ายแพ้แก่สังคม มันก็จะลากไปในสิ่งที่ทำให้เราโง่ยิ่งขึ้นใคร ๆ ไม่ชอบคำว่าโง่ ได้ยินคำว่าโง่ ก็รู้สึกว่าเป็นการด่าก็เกิดความโกรธขึ้นมา ก็ไม่สนใจอะไรมากไปกว่าจะรู้สึกว่ามันด่า นี่ก็เป็นเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้เราไม่รู้จักอะไรที่มีอยู่ในสังคมตามที่เป็นจริง เราจะต้องสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า คำด่า กันเสียบ้าง นับตั้งแต่ คำด่า ของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ คำด่า ของผู้ที่หวังดี กระทั่งถึงของบัณฑิตนักปราชญ์ และแม้ที่สุดแต่คำด่าของศัตรู ถ้าเราไปโกรธ เราก็ไม่เข้าใจความหมายอะไรในคำพูดนั้น ๆ ถ้าเรามัวแต่หลีกไปเสีย คือไม่สนใจเอาเสียเลย มันก็ยิ่งไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำไมเราจึงต้องถูกด่า มันมีข้อบกพร่องอะไรอย่างนี้เป็นต้น ปัญหาเฉพาะของคนเราก็จะมีอยู่ว่า เดี๋ยวนี้พวกคุณกำลังเป็นมนุษย์กันหรือเปล่า พอได้ฟังอย่างนี้ก็จะรู้สึกว่าเป็นคำด่าอีกแล้ว ก็เลยไม่สนใจที่จะรู้ว่าเป็นมนุษย์กันหรือเปล่า หรืออย่างน้อยก็ว่าไอ้เป็นมนุษย์นี่มันผิดจากเป็นคนอย่างไร ใคร ๆ ก็พูด ไปเชื่อกันว่า พอเกิดมาก็เป็นคนแล้วก็ถือว่าเป็นมนุษย์เสียเลย เพราะเขาสอนในลูกเด็กๆ เล็ก ๆ ว่า คำว่ามนุษย์นั้น แปลว่า คน มันเป็นคำสอนที่ผิดหรือถูกก็ควรจะดูกันให้ดี คำว่า คน ก็แปลว่าคนที่เกิดมา แต่คำว่ามนุษย์มันแปลว่าสัตว์ที่มันมีใจสูง ถ้าคนเกิดมามีใจสูงก็เป็นมนุษย์ได้ทันที ถ้าใจยังไม่สูงก็ยังไม่เป็นมนุษย์ ถ้ายังเต็มไปด้วยปัญหา ก็เรียกว่าใจมันยังต่ำ เพราะมันยังถูกครอบงำด้วยสิ่งที่เรียกว่าปัญหา ถูกท่วมทับอยู่ด้วยปัญหาและมีผลเป็นความทุกข์อย่างนี้ก็เรียกว่าใจไม่สูง เราควรจะถือเอาความหมายของคำว่า มนุษย์ ให้มากกว่าที่ลูกเด็กๆ เขาได้รับคำสั่งสอนในโรงเรียนว่ามนุษย์แปลว่าคน ฉะนั้นผมอยากจะพูดซ้ำๆ ซากๆ เกี่ยวกับคำว่ามนุษย์ เกี่ยวกับทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์ เพราะว่าถ้าเป็นมนุษย์กันได้จริงๆ แล้วปัญหาจะต้องหมดคือมีจิตใจสูงสมกับคำว่ามนุษย์ และปัญหามันเกิดไม่ได้ มันต้องเกิดไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์นี่ใจมันสูงเสียแล้วคือสูงอยู่เหนือปัญหาทั้งหลายนั่นเอง แต่นี้มัวเป็นกันแต่เพียงคน แม้คุณจะเรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัยแล้วมนุษย์คืออะไร เดี๋ยวนี้คุณก็เรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัยแล้ว คำว่า มนุษย์ คืออะไร รู้จักกันอย่างทั่วถึงหรือไม่ ข้อนี้ก็ต้องเอาที่ความรู้สึกในจิตใจของพวกคุณเอง บางคนก็อาจจะรู้ได้มากทีเดียวว่า เราเป็นมนุษย์กันหรือยังเป็นมากน้อยเท่าไร ถ้ารู้ความหมายคำว่า มนุษย์ นั่นแหละจึงจะเรียกว่า มันมีการศึกษาจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย คือเป็นการศึกษาที่สูงสุดที่เราถือกันว่ามนุษย์จะมีได้ เดี๋ยวนี้เราเรียกตัวเองว่า เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับชื่อแล้วก็เป็นชื่อที่สูงสุด มีความหมายดีที่สุดไพเราะก็ไพเราะที่สุด แต่กิจการที่กระทำอยู่จริง หรือว่าผลที่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น มันจะสูงสุดหรือไม่ก็ลองพิจารณากันดู เดี๋ยวนี้เราจะได้พิจารณากันโดยเฉพาะถึงคำว่าธรรม ที่มีอยู่ในคำว่า ธรรมศาสตร์ คำว่า ธรรม แห่งคำว่าธรรมศาสตร์ พวกคุณเข้าใจกันเท่าไรธรรมอะไรเป็นศาสตร์ ที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นก็อยากจะเตือนให้นึกถึงข้อที่ความหมายของคำว่า ศาสตร์ นี่มันเปลี่ยนมามากทีเดียว เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่า เราใช้คำว่าศาสตร์ ให้ตรงกับคำว่า SCIENCE ของภาษาต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย คำว่าศาสตร์ที่แปลว่าอาวุธ จึงเปลี่ยนความหมายไปในทางที่เป็นวิชาความรู้ นี่เรียกความหมายที่สอง คือให้เล็งถึงข้อที่ว่าความรู้นั้นมันเป็นอาวุธ มันเป็นศาสตราที่คมสำหรับตัดไอ้สิ่งที่มันตัดยากๆ ถ้ามันไม่ทำหน้าที่อันนี้ คือไม่ตัดแล้ว มันก็สูญความหมายของคำว่าศาสตร์ เป็นความรู้บ้าๆ บอๆ เพ้อเจ้อ ไม่มีที่สิ้นสุดอะไรก็ได้แล้วมันไม่ตัดอะไร นี่คำว่า ศาสตร์ อย่าไปใช้กับคำว่า SCIENCE นี่มันยังเป็นสิ่งที่ต้องระวังอยู่ เพราะมันจะเป็นศาสตร์ไปตามความหมายเดิมของภาษาอินเดียสมัยโบราณหรือไม่ คำว่าศาสน์อีกคำหนึ่งเสียงคล้ายกันคือคำว่า ศาสนะ ซึ่งแปลว่า คำสั่งสอนนั้นมันถูกตามตัวหนังสือ แต่คำว่าศาสตรา หรือ ศาสตระ นี่แปลว่าอาวุธที่มีคม เป็นความหมายที่แคบเข้ามา หมายถึง ไอ้สิ่งที่มันจะตัดปัญหาได้ ถ้าจะให้หมายถึงความรู้ หรือคำสั่งสอน มันก็ต้องเป็นความรู้หรือคำสั่งสอนที่ปฏิบัติแล้วตัดปัญหาออกไปได้ จึงขอให้ถือเอาความหมายของคำๆ นี้ไว้ให้จำกัด แปลว่าอาวุธที่มีคมที่ตัดได้เฉียบขาด อาวุธที่ไม่มีคม เช่นไม้พลอง เป็นต้น ไม่ได้รวมอยู่ในคำว่าศาสตร์ เพราะคำว่าศาสตร์ ก็หมายถึงอาวุธที่มีคมที่ตัดเฉียบขาดลงไปเดี๋ยวนั้น ไม่เพียงแต่ว่าทำให้คนตายได้ นี่ธรรมศาสตร์ก็หมายถึง ไอ้ธรรมะประเภทที่เหมือนกับอาวุธที่มีคม ทีนี้คำว่า ธรรมศาสตร์ ที่คุณกำลังสนใจกันอยู่หรือหมายมั่นปั้นมืออยู่นั้นมันหมายถึงอะไรกันแน่ ถ้าหมายถึงสิ่งที่มีคมที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ได้จริง ก็เรียกว่ามันสมชื่อ แต่ถ้ามันตัดไม่ได้จริงหรือมันตัดได้น้อยเกินไป ก็ต้องยอมรับว่าเป็นธรรมศาสตร์ส่วนน้อย หรือบางทีจะน้อยมากยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ ถ้าหมายถึงวิชาบางวิชาบางคณะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้นผมจึงเห็นว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ นั้นควรจะมีอยู่แขนงหนึ่งต่างหาก แล้วต้องเรียนกันในมหาวิทยาลัยทั่วไปทุกมหาวิทยาลัย หรือทุกแขนงของวิชาที่เรียนอยู่ คือต้องเอาวิชาธรรมศาสตร์นั้นไปใส่เข้าไปในทุกแขนงของวิชาที่มนุษย์เรียนกันอยู่ กระทั่งลดลงมาถึงเด็กๆ ชั้นอนุบาลที่เขาจะต้องเรียนสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นั้นโดยสมควรแก่การที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ คือปัญหาที่มนุษย์ได้ทำไปได้สร้างขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่ามนุษย์นี่คืออะไร ขอให้สังเกตดูให้ดีว่าในโรงเรียนไหน แม้แต่ชั้นอนุบาลขึ้นไป ทั้งโรงเรียนประถม มัธยม กระทั่งวิทยาลัย กระทั่งมหาวิทยาลัย มีใครเคยสอนกันบ้าง ในทางที่จะให้รู้ว่ามนุษย์นี้คืออะไร เพราะมนุษย์หรือคนสมัยนี้ ไม่สนใจคำว่ามนุษย์ สนใจแต่อาชีพ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ตัวต้องการ สรุปแล้วไปอยู่ที่เรื่องกิน ก็เรื่องกาม ก็เรื่องเกียรติ ที่ผมเคยขอร้องให้จำไว้ดี ๆ ว่าไอ้ ๓ ก. อักษร ก. สามตัวนี้ มันครอบงำคนจนไม่เป็นมนุษย์ ถ้าไปหลงเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ก็หมดความเป็นมนุษย์ จะเหลืออยู่ก็แต่เพียงเป็นคน เรื่องกินนี่ ไม่ได้หมายถึงเรื่องกินเพียงสักว่าให้อยู่รอดชีวิตอยู่ได้ หมายถึงจะกินด้วยความเอร็ดอร่อย หวังความเอร็ดอร่อยอย่างที่เรียกว่า กินเหยื่อ ไม่ได้กินเพียงเพื่อมีชีวิตรอดอยู่ได้ พวกหมอที่สอนวิชาอนามัยเรื่องกิน ก็กินอย่างนั้นถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่ที่กินกันจริงๆ พวกหมอก็ไปกินเหยื่อ กินเพื่อประโยชน์แก่กาม ก็แปลว่าคนเราไม่ได้ปฏิบัติให้ซื่อตรงหรือซื่อสัตย์ต่อวิชาความรู้ เรื่องกินไม่ได้กินอาหารแต่มันไปกินเหยื่อ อย่างนี้ก็กลายเป็นเรื่องกิเลสทำปัญหาให้เกิดขึ้น แสวงหาที่จะกินให้อร่อยมากกว่าที่จะแสวงหาให้กินให้ถูกต้องตามที่ร่างกายมันต้องการ นี่คำว่ากิน ก็เป็นอย่างนี้เสียแล้ว แม้แต่จะกินให้ถูกต้องตามที่ร่างกายต้องการมันก็ยังเป็นปัญหาด้วยเหมือนกัน เพราะว่าบางทีเราก็ไม่มีอะไรจะกินก็มี คนยังมีปัญหาเรื่องกินอยู่อย่างนี้ เมื่อเรื่องกินมีแล้วได้แล้วอะไรแล้ว มันก็กระโดดไปเรื่องกาม คือเรื่องกามารมณ์ แม้ว่าจะมีกามารมณ์ตามที่ต้องการแล้ว มันก็ยังกระโดดไปเรื่องเกียรติ นี่เรียกว่าความเป็นมนุษย์นี่มันยังเป็นทาสของกิเลส ถูกกิเลสครอบงำอยู่ ยังเป็นปัญหาอยู่ ยังตัดออกไปไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าธรรม มันก็ ธรรมะมันก็ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรนัก เพราะว่าคนกำลังเดือดร้อนอยู่ด้วยเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ การศึกษาส่วนมากในโลกเวลานี้ก็เพ่งเล็งกันแต่ที่ตรงนี้ แม้พวกฝรั่งที่เรากำลังไปตามก้นเขา ว่าเขาดีวิเศษเก่งกว่าเราในทางการศึกษา มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ คือเพื่อผลเพียงเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เท่านั้นเอง ขอให้พิจารณาดูด้วยจิตใจที่เป็นธรรม อย่าให้ก้มหน้าก้มตาไปบูชาไปเดินตามก้นอย่างหลับหูหลับตา มันจะเป็นการไปช่วยกันสร้างโลกนี้ให้เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากหรือเรียกว่าวิกฤตการณ์ สิ่งที่เรียกว่าศาสนา หรือธรรมะนั้นถูกละเลยโดยคนที่ไปหลงในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ สร้างปัญหาหนักขึ้นมา จนศาสนาช่วยแก้ให้ไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าศาสนา มันมีจุดมุ่งหมายมาแต่เดิมที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ของมนุษย์ ในยุคที่ศาสนามีโอกาสทำหน้าที่ของศาสนา คนเราก็มีความทุกข์น้อยที่เนื่องด้วยเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เดี๋ยวนี้เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันก้าวหน้า มันกระโดดพรวดๆ พราดไปตามไอ้ความเจริญอย่างแผนใหม่อย่างวัตถุสมัยใหม่ คนก็เปรียบศาสนาเพื่อจะเป็นเครื่องห้ามล้อไม่ให้หลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ศาสนาก็เลยถูกเหยียบย่ำหรือถูกกีดกันออกไปไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับการที่จะควบคุมเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เพราะว่าคนนี้ก็ต้องการจะตามใจตัวเองให้เต็มที่ โลกจึงเป็นอย่างนี้แม้ว่าคนในโลกจะมีสติปัญญาก้าวหน้าดีกว่านี้หลายร้อยเท่า หลายพันเท่า มันก็เพื่อจะไปเป็นทาสของกิเลส ไปมีปัญหาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มากขึ้นเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรจะมากจะดีไปกว่านี้ได้ นี่เรียกว่าธรรมะไม่เป็นธรรมศาสตร์ คือไม่เป็นศาสตราวุธ ที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ได้ เพราะว่ามนุษย์ได้หลงไปในสิ่งที่เป็นเหยื่อล่อ แล้วก็ไม่อยากจะกำจัดในสิ่งที่เรียกว่าศาสตร์แท้ๆ คือตัวธรรมะนั้นก็เป็นหมันไป จนกว่าเมื่อไร เราจะมองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้และก็ต้องการจะแก้ปัญหากันจริง ๆ ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ หรือศาสตร์ชนิดนี้ ก็จะมีค่ามีความหมายขึ้นมา เดี๋ยวนี้คำว่า ธรรมศาสตร์ ก็มีอยู่อย่างน่าชื่นใจ แต่มันเป็นศาสตร์น้อยเพราะว่าเป็นธรรมะที่น้อยไม่พอที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ฉะนั้นผมจึงอยากจะให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรม ในฐานะที่เป็นศาสตร์นี้ให้เต็มที่ คำว่า ธรรม นี่มันเป็นคำที่กว้างขวางที่สุดจนไม่อาจจะแปลออกมา เป็นคำภาษาใดๆ ได้ ถ้าเมื่อถือเอาตามหลักของภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สำหรับพุทธศาสนาแล้ว คำว่าธรรม มันแปลว่า สิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ เลยหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย จะเป็นวัตถุก็ได้ จะเป็นนามธรรมก็ได้ เป็นจิตใจหรือความรู้สึกก็ได้ เรื่องผิดก็ได้เรื่องถูกก็ได้ แปลว่าอะไรที่มันมีอยู่แล้วก็เรียกว่า ธรรม ได้ทั้งนั้น ส่วนที่จะมาเป็นธรรมศาสตร์นั้น ก็หมายถึงธรรมส่วนที่เป็นวิชาความรู้หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องก็มาเป็นอาวุธขึ้นมา สำหรับที่จะตัดไอ้ธรรมส่วนที่ไม่พึงปรารถนาคือความทุกข์ หรือสิ่งที่เรียกว่าปัญหานั่นเอง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าปัญหา ก็เรียกโดยภาษาบาลีว่าธรรมด้วยเหมือนกัน เพราะคำว่า ธรรม แปลว่า สิ่ง เท่านั้น มีความหมายเป็นว่าสิ่งเท่านั้น สิ่งที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง เป็น สังขตธรรม นี่ก็เรียกว่า ธรรม หรือสังขตธรรม สิ่งที่มีสิ่งอื่นปรุงแต่ง ต้องไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามความปรุงแต่ง แล้วก็ปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป ก็เรียกว่า ธรรม ฉะนั้นสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวง ก็เรียกว่าธรรม เพราะฉะนั้นจึงหมด ไม่ยกเว้นอะไรที่จะไม่เรียกว่าธรรม ในส่วนที่จะมาเป็นธรรมศาสตร์นั้น ก็หมายถึงส่วนที่มีคุณสำหรับที่จะตัดปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์ไม่ต้องการ ว่าระบุลงไปก็คือ ความทุกข์ ขอให้เข้าใจคำว่าธรรมศาสตร์ ในลักษณะที่มันเป็นคำจำกัดความ ใช้เฉพาะสำหรับธรรมที่จะใช้เป็นศาสตรา สำหรับจะตัดสิ่งที่ควรจะตัดหรือต้องตัด ได้แก่ ปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ขอให้สนใจศึกษาคำว่า ธรรม อย่างซ้ำๆ ซากๆ เมื่อก่อนเราไม่ได้จำกัดความหมายของคำว่า ธรรม โดยวิธีไอ้นิยามอย่างที่เรียกว่าเป็น SCIENTIFIC หรือว่าเป็น LOGIC เป็น LOGICAL เดี๋ยวนี้เมื่อเรามาดูกันเข้าจริง ไอ้คำว่า ธรรม นี่ มันมีความหมายเกิดแตกแยกเป็นสองอย่าง คือธรรมในความหมายทั่วไป หมายถึง ทุกสิ่ง และธรรมในความหมายทางศีลธรรม หมายถึงสิ่งที่มนุษย์จะใช้แก้ปัญหาของตนโดยเฉพาะ มันจึงแคบเข้ามาอาจจะเหลือเพียงหนึ่งในสิบ หรือหนึ่งในร้อยของคำว่า ธรรม ในความหมายทั่วไปก็ได้ เราวัดไม่ได้ขอให้วัดเอาเองเฉพาะคน คำว่าธรรมในความหมายศีลธรรม MORAL หรือ MORALITY นี่ จำกัดความกันแต่เพียงว่า ระบบการปฏิบัติที่มันถูกต้องสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา มีคำนิยามเพียงเท่านี้ว่า ธรรม คือระบบแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่คุณพอจะเข้าใจได้ว่า มนุษย์คนหนึ่งๆ มีอะไรไม่เหมือนกัน แล้วแต่ละขั้นแต่ละตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาก็ไม่เหมือนกัน คือตั้งแต่เป็นเด็กขึ้นมาจนเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่คนเฒ่า และคนหนึ่งๆ มันไม่เหมือนกัน เพราะบางคนฉลาดมากบางคนฉลาดน้อย บางคนมีอาชีพอย่างหนึ่งมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกันอย่างนี้ เป็นต้น นี่ระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือตรง คือมีประโยชน์แก่มนุษย์คนหนึ่ง ๆนั้น ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา เรียกว่า ธรรม นี้ตามความหมายแห่งศีลธรรม และขอให้สังเกตดูให้ดีว่า มันระบุชัดลงไปว่า ระบบของการปฏิบัติ มันไม่ใช่เพียงการเรียนรู้อย่างในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่สูงสุด มันก็ยังเป็นเพียงการเรียนรู้ ยังไม่ได้วางลงไปในการปฏิบัติ จึงยังไม่เรียกว่าธรรมโดยแท้จริง หรือโดยตรง มันจะเป็นเพียงการตระเตรียมเพื่อธรรม เพื่อธรรมะมากกว่า แต่เอาเป็นว่าถ้ามันมีการปฏิบัติแล้วก็เรียกว่าธรรมได้ ในเมื่อมันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่ธรรมในส่วนคำว่าธรรม ในความหมายทางศีลธรรม นี้คำว่าธรรมในความหมายทางปรมัตถธรรม นี้ทางศาสนาโดยสิ้นเชิงนั้นมันไปไกลกว่านั้น มันหมายถึงทุกสิ่งอย่างที่กล่าวแล้ว ซึ่งเราก็ควรจะรู้ เพื่อว่าเราจะรู้ว่ามันเนื่องกันอย่างไรอย่างที่แยกกันไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อกล่าวทางปรมัตถธรรม ซึ่งมาใช้ทางศีลธรรมได้ดีนี้ ผมเห็นว่าควรจะศึกษาและก็แบ่งแยก หรือจัดเป็นหมวดหมู่ อย่างที่เรียกว่า ทำ SYSTEM ให้แก่คำว่าธรรม โดยแบ่งออกเป็น ๔ ความหมาย ความหมายที่ ๑ เรียกว่า สภาวธรรม ตามภาษาบาลีหมายถึงทุกสิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ จะเป็นเรื่องวัตถุหรือนามธรรมหรือจิตใจหรือความรู้สึกในจิตใจก็สุดแท้จึงเป็นอยู่ได้ตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าสภาวธรรม สภาวะแปลว่า เป็นอยู่เอง ธรรมก็คือธรรมอย่างที่แปลกันแล้ว นี่อยากจะใช้สิ่งใช้คำๆ นี้หมายถึงสิ่งที่เรียกกันว่าธรรมชาติ หรือ NATURE ผู้อื่นจะใช้คำว่า NATURE ในความหมายอย่างอื่นก็ได้ แต่เราพุทธบริษัทนี้รู้สึกว่าคำว่า NATURE จะตรงกับคำว่าสภาวธรรม คือสิ่งที่เป็นอยู่เองจะมีกี่พันกี่หมื่นกี่แสนอย่างนี้มันก็บอกไม่ได้บอกได้แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นอยู่เองอย่างนี้ นี่พวกหนึ่ง นี่พวกที่สอง ในความหมายที่ ๒ เรียกว่า สัจจธรรม สัจจะ แปลว่า ความจริง มีความหมายว่าไม่หลอก ภาษาบาลีก็มีคู่กัน ถ้าสัจจะก็ต้องเป็น อมุสา อมุสา คือไม่เท็จหรือไม่หลอก นี่คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่เรียกว่า กฎของธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ของธรรม เราเรียกว่าสัจธรรม ซึ่งตรงกับคำว่า กฎธรรมชาติ ถ้ากฎเกณฑ์ที่มนุษย์บัญญัตินี้ไม่จริงยังหลอกยังเปลี่ยนแปลง เพราะมนุษย์บัญญัติไปตามความต้องการของมนุษย์ ก็มนุษย์บัญญัติไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ค้นคว้าได้ ไอ้ส่วนที่ค้นคว้าไม่ได้ มันก็ยังมีอีกมาก เพราะฉะนั้นไอ้กฎที่มนุษย์บัญญัติ มันเป็นกฎเฉพาะสิ่งเฉพาะเรื่องเฉพาะเวลา มันเปลี่ยนได้ เช่นกฎหมาย อย่างนี้ มันเปลี่ยนได้ หรือกฎวิทยาศาสตร์ก็เถอะ เท่าที่พบแล้ว มันยังเปลี่ยนได้ ซึ่งผู้ที่ศึกษาวิทยาศาสตร์อยู่ก็จะพบความจริงข้อนี้ คือมันยังไม่ถึงที่สุด แต่ถ้ากฎของธรรมชาติแล้ว จะถึงที่สุดและมีเหลืออยู่มากที่เรายังไม่รู้ ที่เราจะรู้หรือไม่รู้ มันไม่รับผิดชอบ มันมีกฎที่ตายตัว ซึ่งถ้าเราทำลงไป มันก็ต้องมีผลตามกฎเกณฑ์อันนั้น ที่เรียกว่าเป็นกฎที่ตายตัว แล้วก็ไม่ยกเว้น แล้วก็ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดยุคสมัย นี้ก็เรียกว่าธรรม เหมือนกันหรือธรรมะในฐานะที่เป็นสัจธรรม เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่อันที่ ๓ ความหมายที่ ๓ นี่ หมายถึงการปฏิบัติหรือหน้าที่ เรียกว่า กรณียะ คือต้องกระทำ ถ้าไม่กระทำไม่ได้ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องตาย หรือมีชีวิตอยู่ยังไม่ตายก็ไม่ได้รับผลที่ควรจะได้รับ อย่างนี้เขาเรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ปฏิปัตติธรรมคือหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก็ตาม เพื่อจะได้ผลที่ตัวต้องการก็ตาม เพื่อจะถึงจุดหมายปลายทางของมนุษย์ก็ตาม เรียกว่า ปฏิปัตติธรรมจะเขียนเป็นบาลีแท้ๆ ก็ต้อง ปฎิ-ปัตติ (นาทีที่ 48.18) นับตั้งแต่ ต้องหาอาหารกิน บริหารร่างกายให้รอดอยู่ได้ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ต่างๆ ขึ้นมา เป็นหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิบัตินั่นเองเป็นตัวธรรม ก็พอจะมองเห็นกันได้อยู่แล้วว่ามันสำคัญอย่างไร ทีนี้อันที่ ๔ ความหมายที่ ๔ ก็คือ ปฏิเวธธรรม หรือจะเรียกว่า วิปากธรรม ก็ได้ ได้สองคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ปฏิเวธธรรมก็แปลว่า ไอ้ผลที่เรารู้สึกได้ด้วยจิตใจของเรา วิปากธรรม ก็แปลว่าผลเหมือนกัน นี่อันสุดท้ายที่เราได้รับก็เรียกว่าธรรมอยู่นั่นเอง นี่จะเข้าใจคำว่าธรรมได้ดีขึ้น เพราะมันแปลว่าสิ่งทุกสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เป็นตัวกฎของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ เป็นผลที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมในภาษาบาลีจึงเล็งถึงธรรมชาติล้วน ๆ ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าธรรม ธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็เรียกว่าธรรม แม้แต่นิพพาน ก็ยังเรียกว่าธรรมชาติชนิดหนึ่ง เราดูให้ดีใน สี่ความหมายนี้ คำว่าธรรมศาสตร์จะเพ่งเล็งไปถึงความหมายไหน ในเมื่อธรรมศาสตร์ แปลว่า อาวุธที่มีคมแล้วก็ตัดปัญหา นี่ต้องเล็งไปถึง การปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพราะจะต้องเล็งถึงตัวการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญ แต่การปฏิบัตินั้นต้องมีความรู้ มันก็ต้องอาศัยความรู้ด้วย แล้วถ้าลำพังความรู้ มันก็ยังไม่ตัดปัญหา มันต้องเป็นการปฏิบัติ แม้เป็นการปฏิบัติทางจิตใจ ก็เรียกว่าการปฏิบัติ การที่รู้ลงไปอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ หรือผลของการปฏิบัติ หมายถึงรู้สึกในการกระทำ และผลของการกระทำ แล้วถ้าเป็นความรู้ทางทฤษฎีล้วน ยังเป็นทฤษฎีท่องจำ หรือเป็นอะไรอยู่ มันก็ไม่ตัด เป็นความรู้อย่างสมมติฐาน เป็น THESIS อันหนึ่ง อย่างนี้ก็ยังไม่ตัด มันต้องเป็นความรู้ที่ได้กระทำลงไปแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจหรืออะไรก็ตาม เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสามอย่าง มันจึงจะตัดปัญหา ตามหน้าที่ของมัน คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทีนี้คำว่าธรรมศาสตร์ หมายความว่า ความรู้ที่ถูกต้อง ที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติ ที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ได้จริง นั่นคือตัวธรรมศาสตร์ มันคงจะไปเป็นธรรมศาสตร์กันเมื่อออกจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ เพราะว่าในมหาวิทยาลัยนี้ เราก็เรียนแต่ความรู้ประเภททฤษฎีหรือวิชาที่จะเอาไปใช้ปฏิบัติ ความรู้นั้นยังไม่เป็นศาสตร์โดยสมบูรณ์ มันจะไปเป็นศาสตร์โดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อมีการปฏิบัติและใช้ความรู้นั้นได้สำเร็จ นี่ขอให้เตรียมตัวไว้อย่างนี้ จะถูกต้องกว่าที่จะถือว่า เรามีศาสตร์หรือธรรมศาสตร์แล้วก็ทะนง หรือกระทั่งกลายเป็นอวดดี การอวดดีนั้น ก็จะเกิดเป็นปัญหาอันใหม่ขึ้นมาที่ทำให้มีปัญหาที่จะต้องตัดด้วยศาสตร์อันไหนอีกก็ยังไม่รู้ ที่จะตัดความอวดดีออกไปได้ นี่ขอให้เราที่จะเป็นมนุษย์ อย่าเพิ่งหาว่าด่า เราที่กำลังจะเป็นมนุษย์ รู้จักไอ้ข้อนี้ไว้อย่างนี้ เพื่อว่าจะได้แก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริง นี่ก็เรียกว่าธรรม ในฐานะที่เป็นธรรมศาสตร์ มันมีอยู่อย่างไร จะเป็นธรรมศาสตร์กันต่อเมื่อใด ขอให้ผู้ที่สนใจหรือบูชาคำว่าธรรมศาสตร์ สนใจเป็นพิเศษ ก็ไปใช้สำเร็จประโยชน์ได้ โดยจำไอ้คำว่าธรรม หรือธรรมชาติ ที่แยกออกให้เห็นเป็นสี่ความหมาย ใช้คำว่าธรรมชาติ แทนคำว่าธรรม ก็ได้ ใช้คำว่าธรรม แทนคำว่าธรรมชาติ ก็ได้ แต่ถ้าเราใช้คำว่าธรรมชาติ นี่ดูมันสะดวกกว่า หรือสะดวกแก่การพูดจาให้คนอื่นเข้าใจ ขอให้จำไว้ว่า เมื่อเอาคำว่าธรรมชาติเป็นหลักแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม ก็แบ่งออกได้เป็น ตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาตินั้นอีกอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติ แล้วผลที่เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ นั่นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ธรรมชาติ และกฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ผลตามธรรมชาติ รวมเป็นสี่อย่างด้วยกัน เรียกว่าธรรม ตามความหมายในภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาของพุทธศาสนา และมันก็เนื่องกันอยู่กับคำว่าธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นความรู้ ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นผลที่เราควรจะได้รับ เพราะว่าการปฏิบัติทั้งหลายย่อมหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ นี่คือธรรม ในฐานะที่เป็นธรรมศาสตร์ หรือเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมศาสตร์ ขอเตือนไว้เสมอว่า ศาสตร์ในที่นี้ ต้องเป็นอาวุธที่มีคม จะเป็นเพียงวิชาหรือคำสั่งสอนเฉยๆ อยู่ไม่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่เอาไปใช้ตัดอะไรแล้ว จึงจะเรียกว่าศาสตร์ แล้วก็ไม่มีความหมายตรงกับคำว่า SCIENCE นัก เพราะมัน SCIENCE นั้นมันกว้างเกินไป และเป็นวิชาความรู้เสียเป็นส่วนมาก แต่คำว่า ศาสตร์ ในภาษาบาลีแล้ว ต้องเป็นอาวุธ มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า ปัญญาวุธ อาวุธคือปัญญา ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงระบุลงไปโดยตรงว่า จงตัดปัญหาด้วยธรรมมาวุธ ด้วยอาวุธ คือปัญญา ที่บาลีว่า โย เท ธมฺมารํ ติ ปญฺญา อุ เทน จงรบมารด้วยอาวุธ คือปัญญา มารในที่นี้คือปัญหา คำว่ามาร หรือพญามาร ทั้งสมุนของมารหรือพญามาร ก็เรียกว่ามาร คือสิ่งที่เป็นอุปสรรค เป็นปัญหา หรือทำลายความดีของมนุษย์ นี่ต้องรบมันด้วยอาวุธ คือปัญญา คือ ธรรมศาสตร์ นั่นเอง นี่ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่าธรรมศาสตร์อย่างนี้ และก็ใช้มันในลักษณะอย่างนี้ ก็จะถูกตรงตามเรื่องราวส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนายิ่งขึ้น คุณมาที่นี่เพื่อศึกษาพุทธศาสนา ผมเข้าใจอย่างนั้น ฉะนั้นจึงได้ช่วยเหลือให้ความรู้ในทางพุทธศาสนา ในความมุ่งหมายอย่างนั้น นี้เรียกว่าเป็นส่วนการบรรยาย เพื่อให้เกิดสติปัญญาและไปใช้เป็นประโยชน์ได้ควบคู่กันไป กับการที่คุณจะมาอยู่ในสถานที่นี้ เพื่อให้ธรรมชาติรอบด้านมันสอนให้การกินอยู่ปฏิบัติตามระเบียบของสถานที่นี้มันสอน ฉะนั้นขอให้สนใจที่เรียกว่ากินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส อย่านอนสาย เป็นต้น คุณจะได้อะไรมาก ที่มันเป็นตัวธรรมะ ที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ในฐานะที่เป็นธรรมศาสตร์ได้จริง นี่เวลาของการบรรยาย ก็สมควรแก่เวลายุติไว้ทีสำหรับวันนี้