แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่สองนี้ อยากจะได้กล่าวต่อไปถึงเรื่องการฝึกฝนอบรมจิต ตามกำหนดการที่ว่าจะพูดเรื่องอบรมสมาธิโดยตรงนั่น แล้วเผอิญเมื่อวานนี้มันฝนตกลงมาก็เลยเปลี่ยนไป ก็เลยมาสังเกตเห็นว่าควรจะพูดถึงเรื่องที่เป็นเบื้องต้นของการอบรมสมาธินี่ให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกสักหน่อยจะดีกว่า ถ้าอย่างไรก็คืน อ่า, วันนี้ยังมี ฉะนั้นจะได้อธิบายคำว่า การอบรมจิตโดย โดยวิชา อ่า, โดยหลักวิชานี้ต่อไปก่อนจนกว่าจะได้ลองฝึกดู
เมื่อจะกล่าวถึงไอ้หลักวิชา ก็จะต้องนึกถึงหัวข้อของการที่พูดในครั้งที่แล้วมาที่ว่าการฝึกฝนอบรมจิตนั่นแหละดี ในที่นี้ใช้คำว่า สาธุ จิตตัสสะ ทะมะโถ สาธุ สาธุนี่แปลว่าดี แต่ถ้าขยายความออกไปเป็นกิริยา เป็นคำกิริยา คำว่าดีในคำๆนี้หมายถึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือหัดทำประโยชน์ให้สำเร็จ เรามักจะพูดกันว่าสาธุๆเมื่อแสดงความยินดีด้วยมาแต่โบราณ คำว่าสาธุนี้แปลว่ามันให้สำเร็จประโยชน์ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ถ้าพูดสั้นๆก็ว่าดี คือความหมายว่าดี ฉะนั้นเราอาจจะถือเอาคำนี้เป็นหลักก็ได้ว่า คำว่าดีก็คือทำประโยชน์ให้สำเร็จ
ประโยชน์ให้สำเร็จ เราก็จะต้องคิดกันถึงว่าประโยชน์ของอะไร ก็หมายถึงทุกประโยชน์ แต่ว่าประโยชน์ใหญ่ยิ่งก็คือการที่ได้เป็นมนุษย์นี่มันควรจะได้อะไร ถ้าได้สิ่งนั้นแล้วก็เรียกว่าประโยชน์นั้นมันสำเร็จ ทีนี้คนโดยมากก็เอาเรื่องวัตถุเป็นหลัก ได้รวย ได้สวย ได้กิน ได้กาม ได้เกียรติ อันนี้ก็เรียกว่าสำเร็จ แต่ส่วนจิตใจนั้นยังร้อนเป็นไฟ ไม่มีความสงบสุข ถ้าอย่างนี้ตามทางธรรมะหรือตามทางศาสนาถือว่ายังไม่สำเร็จประโยชน์ แล้วบางคนอาจจะถือว่ายังไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลยก็ได้ เพราะเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอะไรทำนองนี้ไม่ได้เป็นเรื่องสูงสุดของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น ถ้าเราจะนึกถึงข้อนี้อยู่เสมอ ก็จะช่วยให้เกิดการก้าวหน้าในทางจิตใจได้
สัตว์เดรัจฉานก็รู้จักหาอาหารกิน แล้วประกอบการระหว่างเพศหรือการสืบพันธุ์ หรือว่าเกียรติมันก็ยังมี มันรู้สึกยินดีร่าเริงเมื่อได้ชัยชนะ เห็นได้ง่ายที่สุดในสัตว์เช่นไก่ เช่นปลา เมื่อชนะแล้วเขาก็มีท่าทางประหลาดๆ นี้ก็เป็นรากฐานมาตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานแล้วก็เลยถือว่าไม่ค่อยจะแปลก จนคนในอินเดียเขาถือเป็นหลัก ผูกเป็นคำสำหรับกันลืม การกินอาหาร การแสวงความสุขจากการนอน การประกอบกิจกรรมระหว่างเพศ การขี้ขลาดหนีอันตราย ๔ อย่างนี้มีได้เสมอกันทั้งคนและสัตว์
ทีนี้ธรรมะเท่านั้นที่จะทำคนให้ผิดแผกแตกต่างจากสัตว์ ทีนี้ธรรมะนั่นถ้าปราศจากเสียแล้วคนก็เหมือนกับสัตว์อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นการคิดถึงจุดหมายปลายทางของมนุษย์ว่าควรจะได้อะไรแล้วได้สิ่งนั้น นั่นน่ะจึงจะเรียกว่าสำเร็จประโยชน์ คือสาธุหรือดี นี่เป็นเหตุให้มีหลักเกิดขึ้นสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะ อย่างในพระพุทธภาษิตนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การฝึกฝนอบรมจิตนั่นแหละสาธุ คือดี คือยังประโยชน์ให้สำเร็จ ฉะนั้นขอให้สนใจเรื่องการฝึกฝนอบรมจิต
ทีนี้สำหรับเรื่องของจิตที่เราจะต้องอบรม อยากจะให้ทราบ อยากจะให้ทุกคนได้ทราบเรื่องสำคัญหรือหลักที่สำคัญในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการอบรมจิต เขาจัดไว้เป็น ๕ อย่างที่มีความสำคัญสำหรับเรื่องความก้าวหน้าในทางจิต ก็มีในหลักธรรมะหรือแบบเรียนธรรมะทั่วไป แต่กลัวว่าจะไม่สนใจกันนักและจะไม่เข้าใจด้วยแม้ว่าสนใจอยู่บ้าง ไอ้ ๕ อย่างนั้นเขาเรียกว่า อินทรีย์ อินทรียะ ออกเสียงว่า อิน-ซี ซึ่งมันแปลว่าเป็นใหญ่หรือสำคัญ
๑) ก็คือศรัทธา ความเชื่อ
๒) ก็วิริยะ ความพากเพียร
๓) ก็สติ ความระลึกได้
๔) ก็สมาธิ ความมีจิตมั่น
๕) ก็ปัญญา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตทั้งนั้น แต่ว่าในปริยายแง่มุมที่ต่างๆกัน ศรัทธา-ความเชื่อ วิริยะ-ความเพียร สติ-ความระลึกได้ สมาธิ-จิตมั่นคง ปัญญา-รอบรู้
ในพุทธศาสนา ถ้าเป็นการงานทางจิตหรือเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุดท้ายนั้นก็ต้องจัดการกับ ๕ อย่างนี้ทั้งนั้น ต้องทำทุกอย่างที่จะให้ไอ้ ๕ อย่างนี้มันเจริญ ทั้งการทำกัมมัฏฐานทำอะไรต่างๆ อบรมจิตชนิดไหนก็เป็นการอบรม ๕ อย่างนี้ให้เจริญไปตามลำดับ จนถึงไอ้จุดสุดท้าย ฉะนั้นขอให้เอาไปใช้ในการเล่าเรียนด้วย ในการประกอบอาชีพหน้าที่การงานต่อไปข้างหน้าด้วย กระทั่งเอาไปใช้ในเรื่องที่จะบรรลุคุณสมบัติทางจิตใจที่สูงขึ้นไปที่เรียกว่ามรรคผลนิพพาน ซึ่งจะรออยู่ข้างหน้า ถ้าว่าไม่ตายเสียเร็วเกินไป ไอ้คนเราก็จะไปจนถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์จะไปถึงได้ แต่ถ้าเราฉลาดในการทำ อ่า, อบรมไอ้คุณสมบัติ ๕ อย่างเหล่านี้ให้มากให้เร็ว เราก็อาจจะบรรลุถึงคุณสูงสุดของมนุษย์ตั้งๆแต่ยังไม่ทันเฒ่าทันแก่ก็ได้
แต่เดี๋ยวนี้เรื่องมันมีว่า แม้ยังเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียน ยังประกอบอาชีพการงานอยู่ก็ยังต้องการสิ่งเหล่านี้ ทั้ง ๕ นี้เชียว เป็นเครื่องทำความสำเร็จประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราควรจะเข้าใจดี หรืออาจจะเคยเข้าใจมาบ้างแล้วก็ปรับปรุงให้เข้าใจถึงที่สุด เพราะเป็นคำที่คล่องปากแก่ทุกคนจะดีกว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่อยู่ในสมุดที่จดไป เพราะนั้นมันไม่สำเร็จประโยชน์ แม้จะตอบคำถามในห้องเรียนมันก็ตอบไม่ถูกเพราะมันอยู่ในสมุด เพราะฉะนั้นต้องมาคล่องอยู่ที่ปาก หลังจากที่ได้จดไว้ในสมุดแล้วต้องมาคล่องอยู่ที่ปาก ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พอหลังจากที่มันคล่องอยู่ที่ปากแล้วมันก็ต้องไปคล่องอยู่ในจิตใจ นับตั้งแต่ความเข้าใจขึ้นไปจนถึงความเห็นแจ้งแทงตลอดในเรื่องเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เราก็จำได้แล้วว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วโดยมากก็อยู่ในหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้มาอยู่ที่ปากแล้ว ก็ควรจะเข้าใจต่อไปว่าศรัทธาคืออะไร วิ อ่า, วิริยะคืออะไร เป็นต้น
ข้อแรกศรัทธาแปลว่าความเชื่อ แต่ความหมายมันก็กว้างกว่านั้น มันหมายถึงความจงรักภักดี ความเสียสละอะไรต่างๆที่มันเกี่ยวกันอยู่กับคำๆนี้ ถ้าเราศรัทธาในสิ่งใด เราก็พร้อมที่จะเสียสละในสิ่งนั้นเพื่อสิ่งนั้น ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เห็นได้ชัดอยู่แล้ว แล้วยังมีศรัทธาในหน้าที่การงาน หรือว่าในบุคคลที่เกี่ยวข้องนี้ ยิ่งต้องปรับปรุงให้มันมีกำลังพอ บางทีจะไปเรียกว่าความหวัง ความไว้ใจ ความอะไรต่างๆด้วยก็ได้ ต้องมีพอ และที่สำคัญที่สุดกว่าอะไรหมด ก็คือว่ามันศรัทธาในตัวเอง คือมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
เดี๋ยวนี้เราก็ลังเลอยู่บ่อยๆว่าเราจะบังคับไม่ ตัวเองไม่ได้ บังคับจิตไม่ได้ เกิดความลังเลที่ไม่แน่นอนอยู่บ่อยๆ จะต้องไปปรับปรุง ในสิ่งที่เราจะต้องทำเราก็ต้องมีศรัทธา ในตัวเราที่จะทำเราก็ต้องมีความ มีศรัทธา มีความเชื่อแน่ว่าเราจะต้องทำ กระทั่งในวิชาความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือที่เราจะใช้ในการกระทำนี้ก็ต้องเชื่อแน่ว่ามันเป็นสิ่งที่เพียงพอ อย่างเราจะไปประกอบอาชีพอย่างนี้ เราต้องมีความเชื่อแน่ในตัวผู้นั้น ในอาชีพที่เราจะทำนั้น แล้วก็ในเครื่องมือ ความสามารถของเรานั้น ในการเล่าเรียนก็เหมือนกันอีก ที่แล้วมาอาจจะบกพร่อง ไม่ๆมีความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือแม้แต่ไม่เชื่อมั่นในวิชาความรู้มันก็เปลี่ยนเรื่อย อาชีพก็เหมือนกันมันก็เปลี่ยนเรื่อย ก็ควรไปปรับปรุงเสียให้มันถูกต้องเป็นข้อแรกว่า มีศรัทธาในเรื่องที่จะต้องทำ ในการกระทำ ในผู้กระทำ
ทีนี้สูงขึ้นไปกว่านั้นก็เป็นเรื่องหลักทางจิตใจ วิชาความรู้สำหรับจะทำให้จิตใจเป็นสุข มีความสงบ แม้ว่าจะเป็นชาวบ้านนี้ มันก็มีความเชื่อในทางศาสนา เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องหลักธรรมะต่างๆที่จำเป็น เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีความเชื่ออย่างมั่นคงแม้ในเรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องบุญเรื่องบาป มันกำลังขัดขวางกันอยู่ ใจหนึ่งอยากจะเชื่อบุญเชื่อบาป ใจหนึ่งอยากจะเชื่อว่าไอ้เงินสำเร็จประโยชน์กว่า ก็เลยไม่มีศรัทธา สมมติจะมองดูให้ไกลออกไป มนุษย์ทั้งโลกก็กำลังไม่มีศรัทธาในกฎเกณฑ์แห่งความจริง ในศาสนา ในพระเจ้าเหมือนแต่ก่อน เพราะว่าเขามันไปลังเลเรื่องเงินเรื่องความสุขเฉพาะหน้า ดีไม่ดีก็ไม่ๆคิดกัน เอาแต่ให้ได้สิ่งที่กิเลสต้องการเสียมากกว่า อย่างนี้เรียกว่ามันเสียไปหมดในเรื่องของศรัทธา
ฉะนั้นเราจะต้องมีความแน่นอนเกี่ยวกับการอธิษฐานจิต คือว่ายอม ยอมตายดีกว่าที่จะไปทำผิดๆ หรือว่าเสียความสัตย์ หรือว่าเสียอะไรที่มันผิดๆ ความจริงมันก็ไม่ต้องตายหรอก ในกรณีที่ต้องตายนั้นหายากมาก คนก็ๆยังเสียศรัทธา เสียความซื่อสัตย์อะไรต่างๆ มันต้องมีศรัทธาในความจริง ในความดี ในความถูกต้อง ความเป็นธรรม หรือว่าในพระธรรมนั่นน่ะให้พอ แล้วมันจะลากไปในทางที่ถูกต้องได้
เมื่อหลายปีมาแล้วได้ไปที่อินเดีย รู้สึกอะไรที่เรียกว่ารุนแรงประทับใจหลายๆอย่าง ที่อย่างเช่นขะ อ่า, ขโมยไม่ค่อยมี ขโมยหายากหรือว่าเราไม่เคยพบขโมย ทั้งที่เอาของไปวางไว้ทิ้งไว้ ถ้าอย่างๆเป็นที่ในเมืองไทยนั้นถูกขโมยหมด ก็สังเกตดูมันไม่ขโมย มันยังยึดมั่นโดยศรัทธาในศาสนาในธรรมะประจำจิตของเขามาแต่ดึกดำบรรพ์ จนมีไอ้ขอทานคนหนึ่งพูดว่า เป็นขอทานดีกว่าเป็นขโมย เพราะฉะนั้นขอทานมากหน่อยก็ไม่เป็นไร คือดีกว่าขโมยมาก ขอทานมากยังดีกว่าขโมยมาก แต่ถ้าเป็นทั้งขอทานเป็นทั้งขโมยนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน ก็เลยสังเกตเห็นว่าเขามันยึดมั่นในทางธรรมทางศาสนามาก
พวกยายแก่แม่ม่ายจนๆที่มานั่งอยู่ตามท่าน้ำที่บำเพ็ญบุญกุศล ฝรั่งเคยไปถามเขาว่าต้องการอะไร เขาต้องการมุกติ แล้วต้องการอะไรอีก แล้วต้องการอาหาร เขาเป็นคนขอทาน หรือแบบขอทานประจำวัดนั้นน่ะ ต้องการมุกติ ถ้าเทียบกับฝ่ายเราก็คือนิพพานก่อน แล้วจึงต้องการอาหาร ทั้งที่เขาเป็นคนผอมไม่มีอะไรจะกินอย่างนี้ เขาต้องการธรรมะ คือสูงสุดในทางฝ่ายธรรมะก่อนที่จะต้องการอาหาร นั่นแหละเป็นเคล็ดลับของประเทศอินเดียที่ยังอยู่ด้วยความสงบสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางเดือดร้อน ถึงจะเดือดร้อนก็เพราะธรรมชาตินั้นมันก็ช่วยไม่ได้ แต่ว่าถ้าคนแล้วเขาทำไว้ดีมาก ขนบธรรมเนียมประเพณีโบรมโบราณ ฉะนั้นมันมีศรัทธามากในพระเจ้า นั้นเป็นรากฐานทั่วไป
ทีนี้เรา เราจัดมาจนกระทั่งถึงว่าในการงาน ในหน้าที่การงาน ในบุคคลที่จะต้องเกี่ยวข้อง กระทั่งในตัวเราเอง ฉะนั้นอุตส่าห์จัดทำให้เชื่อมั่นในตัวเองได้ ให้เคารพตัวเองได้ ให้ไหว้ตัวเองได้ เรียกว่ามีศรัทธาสมบูรณ์
คำว่าศรัทธาเพียงคำเดียวมีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ ฉะนั้นจะต้องอบรม ปรับปรุง ทรมานอะไรก็สุดแท้แหละ ถ้าเรื่องทางฝ่ายจิตมันก็มีข่ม ข่มขี่ในคราวที่ควรข่ม ประคับประคอง ยกย่อง ชี้ชวนในคราวที่ควรจะยกย่อง นี่เป็นการเกลี้ยกล่อมอบรมจิตต้องเป็นอย่างนี้ บางคราวก็ควรตวาด ควรขู่ ควรบังคับ บางคราวก็ควรปลอบโยน ชี้ชวน ยกย่องให้มันไปในทางที่ถูก ฉะนั้นขอให้ทุกคนไปปรับปรุงไอ้สิ่งที่เรียกว่าศรัทธาให้น่าดู จนพอใจ จนเคารพตัวเองได้ ที่แล้วมามันอาจจะไม่ๆๆถูกต้องหรือว่าไม่สมบูรณ์ ถูกต้องนิดหน่อยไม่สมบูรณ์ก็ได้ หรือว่าถูกต้องแล้วมันไม่ครบทุกอย่างก็ได้ ต้องถูกต้องและสมบูรณ์ในส่วนศรัทธานั่นเสียก่อน เพียงเท่านี้ก็จะนอนหลับสนิท ไม่เกิดอาการนอนหลับยาก กระวนกระวายที่จะเป็นโรคเส้นประสาทเหมือนที่เป็นกันโดยมาก เพราะถ้าคนเรามีความเชื่อในตนเองแล้วก็จะเป็นสุขในชั้นแรกชั้นหนึ่งก่อนแล้ว ยังจะนอนสะดุ้งเพราะว่าเราไม่มีศรัทธาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงพอ
ฉะนั้นขอให้ถือเป็นธรรมะที่สำคัญ อย่าดูหมิ่นว่าเป็นเรื่องของชาววัด อะไรก็ไม่รู้ มันครึคระอยู่ที่วัด ที่เขาพูดกันว่าศรัทธาๆ ที่จริงเป็นเรื่องที่จำเป็นแก่ทุกคนไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ถ้าเราไม่เชื่อว่าเราปลอดภัยเราก็นอนไม่หลับ ถ้าเราไม่เชื่อว่าการศึกษานั้นจะช่วยเราได้เราก็ไม่เรียน หรือไม่เรียนเต็มที่ อย่างนี้เป็นต้น ที่ไปมีศรัทธาในเงินกันนัก นั่นก็เพราะว่ามันไปมองอย่างเด็กๆมากเกินไป อะไรก็จะหวังพึ่งเงินไปเสียหมด ในที่สุดไอ้โลกนี้มันก็ปั่นป่วนเหลือประมาณ ดูเอาเองก็แล้วกันเพราะว่ามีสติปัญญาพอแล้วที่จะดูโลกนี้ว่ากำลังปั่นป่วนด้วยเหตุอะไร นี่ข้อที่ ๑ คือศรัทธา ทำให้สมบูรณ์ ให้ถูกต้องและสมบูรณ์
ทีนี้ข้อที่ ๒ เรียกว่าวิริยะ แปลเป็นภาษาไทยตามรูปศัพท์นั้นเลยว่าความเพียร วิริยะคือเพียร นี้ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า ต้องพยายาม ต้องพากเพียรให้สำเร็จตามที่หมายมั่นไว้ คือศรัทธา หมายมั่นไว้อย่างไรก็ต้องพากเพียร ทีนี้คำว่าพากเพียรอีกแหละมันก็มีความหมายกว้าง เช่นเดียวกับคำว่าศรัทธามีความหมายกว้างอย่างที่ว่า มีความเชื่อ มีความจงรักภักดี มีความแน่ใจ มีความไว้วางใจ มีความยึดมั่นถือมั่น มีกระทั่งอธิษฐานจิต พอมาถึงไอ้ความ อ่า, วิริยะความพากเพียรมันก็อย่างเดียวกันอีก ต้องมีความหมายที่กว้างออกไปเป็น อ่า, การ นับตั้งแต่เป็นความกล้าหาญ ความอดทน ความพยายามพากเพียร รอได้คอยได้แม้จะต้องทนด้วยความเจ็บปวด มีความมานะบากบั่นเรื่อยไป
เดี๋ยวนี้คนเรามันไม่อย่างนั้น มันอ่อ มันโลเล มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ความขยันขันแข็งมันไม่พอ มันก็เนื่องมาแต่ศรัทธามันไม่พอ แต่เมื่อเราปรับปรุงศรัทธาดีแล้ว ความเพียรมันก็จะง่ายขึ้น มีความหมายมั่นแน่ใจแล้ว ความเพียรมันก็เป็นไปได้โดยง่าย ความพยายามมันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ความเพียร ความกล้าหาญ วิริยะ อะไร วีระอะไรอย่างนี้ก็มีความกล้าหาญ ความบากบั่น ความอดทน ความไม่ยอมถอยหลัง ความอดทนหมายความว่าปักหลักมั่นไม่ๆๆแพ้ ไม่ยอมแพ้ต่อสู้เรื่อย เขาเรียกว่าปะทานหรือปีติ (นาทีที่ 25:21-25:22) นี้ เป็นๆๆบาลีมันก็ยุ่ง เป็นไทยๆก็แล้วกันว่ามันอดทน มันตั้งมั่น แล้วก็มันไม่ยอมถอย
เราควรจะรู้เรื่องนี้กันมาตั้งแต่เล็กๆ แล้วก็รู้ยิ่งขึ้นไปจนตลอดชีวิต ก็เป็นการก้าวหน้าเรื่อย รุดหน้าเรื่อย ไม่มีหยุดไม่มีถอยหลัง ก็ทันแก่เวลาที่จะถึงจุดหมายปลายทางที่สูงสุดของมนุษย์ ยังมีความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องรู้จักความพอเหมาะพอดี รู้จักการแก้ไขอุปสรรค ความเพียรนั้นมันจึงจะไปรอด ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเป็นไอ้บ้าบิ่น หรือที่เขาเรียกชื่ออย่างอื่นอีกหลายๆๆชื่อที่เป็นคำล้อเลียนทั้งนั้น มันเพียรอย่างบ้าบิ่นอย่างโง่เขลามันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเหมือนกัน ฉะนั้นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ความเพียรเป็นไปได้เนื่องอยู่ในคำๆนี้ก็มี ไปสังเกตดูให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกล้าหาญ ความอดทน ความพอเหมาะพอดีไม่เกินไป
อันที่ ๓ สติ ความระลึกได้ คำว่าระลึกได้นี่หมายความว่าจิตแล่นไปโดยเร็วในเรื่องนั้น ไปถึงทันเวลา คือระลึกได้ ระลึกช้าไปก็มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เรื่องเกิดวันนี้ไประลึกๆได้พรุ่งนี้นี่ก็เคยเห็นกันอยู่แล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไร ระลึกได้คือจิตมันแล่นไป สติหรือจะเรียกว่าจิตหรืออะไรก็สุดแท้ ความรู้ก็ได้ มันแล่นไปทันเวลาในเรื่องนั้นๆ
แม้ที่สุดแต่เรื่องความจำ จำไม่ได้หรือว่ามันอยู่ลึกเกินไปนึกไม่ได้ทันเวลาอย่างนี้ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไปฝึกฝนให้มากที่จะให้ระลึกอะไรได้เร็ว แล้วก็ระลึกอยู่ได้จนกว่าจะหมดความจำเป็น ฉะนั้นขยายความออกไปเป็นสัมปชัญญะด้วย สติสัมปชัญญะมันคู่กัน ระลึกได้เป็นความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาแล้วความรู้นั้นทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในกรณีนั้น คนเราต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอบไล่นี่ ตอนกำลังทำคำตอบในการสอบไล่ ให้มันมีสติและสัมปชัญญะเพียงพอดีที่สุด ความรู้เราเคยเรียนแล้วแต่ถ้ามันไม่มามันก็ไม่มีสติ ถ้ามันมาแล้วมันก็หายไปเสียอีก หรือมันเอามาทำให้ครบถ้วนบริบูรณ์ถูกต้องไม่ได้ มาตีกันยุ่งเวลานั้นมันก็ล้มละลายเหมือนกัน
ทีนี้ในทุกกรณีแหละ แม้แต่จะทำอะไรสักนิดหนึ่งก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ เดิน ยืน นั่ง นอนอย่างนี้ เพราะมีสติสัมปชัญญะจึงสำเร็จประโยชน์แล้วไม่เกิดอันตรายขึ้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนมากเรื่องสติในทุกอิริยาบถ ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ๆก็คือเดิน ยืน นั่ง นอน ต่อไปถึงการกินอาหาร การดื่ม การอาบ การถ่าย การทุกอย่างที่เกี่ยวกับส่วนบุคคลนั้น แล้วก็ที่เกี่ยวกับการงานก็อีกแหละ แล้วเกี่ยวกับบุคคลอื่นก็อีกเหมือนกัน ต้องมีสติสัมปชัญญะ
เดี๋ยวนี้เรามันก็เหินห่างไอ้เรื่องนี้ไปเอาใจใส่เรื่องวัตถุ เรื่องสติสัมปชัญญะจึงเบาไป เพลาไป นึกอะไรไม่ค่อยถูกต้อง นึกไม่ค่อยทัน ก็เป็นเรื่องที่กระโจนลงไปในไอ้ความผิดพลาด หรือความเสียหายอย่างร้ายแรงได้ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เช่นในกรณีเดี๋ยวนี้ที่ฆ่าตัวตาย ฆ่าผู้อื่นตายเพราะปัญหานิดเดียวเช่น ความรักบ้าๆบอๆ เป็นต้น นี่ก็คือความขาดสติอย่างยิ่ง แล้วก็มีมากขึ้นทุกทีในหมู่มนุษย์ที่มีการศึกษาอันเปลี่ยนแปลงไปในทางวัตถุมากเกินไป ในทางกิเลส ในทางส่งเสริมกิเลส
เดี๋ยวนี้อยากจะให้รู้คำเหล่านี้อย่างกว้างๆไว้ทีก่อน เพื่อจะรวบรัดให้เป็นความหมายที่จำกัดเฉพาะสำหรับการอบรมสมาธิต่อไป สตินี้ต้องการในที่ทั้งปวง ถ้าเป็นบาลีก็ว่า สติ สัพพัตถะ ปัตถิยา สติเป็นสิ่งที่ใครๆควรปรารถนาในทุกกรณีหรือในที่ทั้งปวง เพราะว่าถ้าจะรอ แม้ว่าถ้าจะมี เอ่อ, แม้ว่าจะมีความรู้มีอะไรสารพัดแต่ถ้าว่าไม่มีสติแล้วมันเอามาใช้ได้ไม่ทันท่วงที
หรือบางทีเกิดเสียสตินี้ อะไรก็หมดเลย วิชาความรู้ก็ไม่มีประโยชน์ อาวุธก็ไม่มีประโยชน์ เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลายก็ไม่มีประโยชน์ เพราะคนมันเสียสติ ฉะนั้นก็จะต้องฝึกฝนไว้ให้เป็นบุคคลที่ไม่เสียสติ เมื่ออันตรายอย่างใหญ่โตมาเผชิญหน้าก็ต้องไม่เสียสติ พอเสียสติไอ้การควบคุมอย่างอื่นก็เสียหมด จะต่อสู้ใครก็ไม่ได้ แม้แต่จะใช้อาวุธจะยิงปืนออกไปมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเพราะมันเสียสติ
เหมือนกับว่าเราเผชิญกันกับเสือ โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเราก็เสียสติโดยมาก แต่ถ้าคนที่เขาฝึกฝนมาดีเขาไม่เสียสติ เขาต่อสู้อย่างดีที่สุดจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งชนะก็ได้ หรือตายก็ได้ หรือแพ้ก็ได้ แล้วแต่มันเหตุผลอย่างอื่น แต่ว่าไม่เสียสตินั้นแหละเป็นดีที่สุด ก็ต่อสู้ได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นมันจึงมีดีกว่าที่จะไปเสียสติ
การฝึกให้มีสติเข้มแข็งมั่นคงอดทนบึกบุน เอ่อ, บึกบึนนี่จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เขาสรรเสริญ โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญหรือจะต้องรักษาเกียรติยศชื่อเสียงชั้นสำคัญก็ต้องอาศัยสตินี่เป็นเครื่องรักษา การจะรักษาอะไรทุกอย่างจะต้องอาศัยสติเป็นเครื่องรักษา รักษาบ้านเรือนทรัพย์สมบัติ รักษาเกียรติยศชื่อเสียง กระทั่งรักษาชีวิต รักษาทุกอย่างนี่ต้องอาศัยสตินั่นเป็นเครื่องรักษา พอเผลอสติก็เรียกว่าประมาท พอมีสติก็เรียกว่าไม่ประมาท ในการหามาก็ใช้สติ ในการรักษาก็ใช้สติ ในการใช้จ่ายบริโภคต่อไปก็ใช้สติ ไม่มีอะไรที่ไม่ๆต้องใช้สติ อย่าจดไว้แต่ในสมุด พอจดแล้วก็ต้องเอาไปดูให้เข้าใจแล้วใช้ให้ได้ เมื่อเราเล่าเรียนก็ใช้สติ เมื่อเราหาทรัพย์สมบัติก็ใช้สติ รักษาทรัพย์สมบัติเกียรติยศชื่อเสียงก็ใช้สติ แล้วบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติ เจือจานผู้อื่นให้เป็นประโยชน์ต่อไปก็ยังต้องใช้สติอยู่นั่น พอเผลอสติมันก็ต้องเกิดความผิดพลาด มันก็คือความเสียหาย
ทีนี้ข้อถัดไปเป็นข้อที่ ๔ เรียกว่าสมาธินี้ มาอยู่ที่นี่เอง สิ่งที่เราจะพูดกันให้มากเป็นพิเศษ อบรมสมาธิคือการบังคับจิต ฝึกฝนจิต อบรมจิตให้เป็นสมาธิ คำนี้มันแปลว่าความตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยดี อย่าไปแปลอย่างที่เขาแปลกันมันแปลว่าความตั้งมั่น เดี๋ยวมันมั่นจนเป็นก้อนหินไปเสีย ก็ไม่ๆ อ่า, ไม่ถูกเรื่อง สมาธิแปลว่าตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยดี ก็คือมั่นเหมือนกันแหละ แต่มันมั่นอย่างที่ว่ามันใช้ประโยชน์ได้ คือมันเป็นเรื่องของมั่นในทางจิตใจ อย่างนั้นมันเป็นก้อนหินไปไม่ มีกำลังใจมั่นน่ะไม่ใช่ว่าตัวมันแข็งเหมือนก้อนหิน
บอกอานิสงส์ก่อนดีกว่า จะได้สนใจง่ายหรือเข้าใจง่าย สมาธิจิตนี่หมายความว่าจิตที่บริสุทธิ์สะอาดดี แล้วก็จิตที่มั่นคงเข้มแข็งมีกำลังมาก แล้วก็จิตที่ว่องไวในหน้าที่ของจิต ถ้าจะเขียนสั้นๆก็ บริสุทธิ์ แล้วก็มั่นคง แล้วว่องไว ๓ คำพอ นี่คือจิตที่ตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยดี เรียกว่าสมาธิ มีประโยชน์มีอานิสงส์มาก มีลักษณะคือว่าบริสุทธิ์ มั่นคง แล้วก็ว่องไว
บริสุทธิ์หมายความว่าเวลานั้นไม่มีเรื่องร้ายอะไรๆมารบกวนจิต จะเป็นนิวรณ์ หรือว่าจะเป็นกิเลสชั้นใหญ่หลวงมันก็ไม่มารบกวนจิต จิตกำลังปราศจากกิเลส คำว่ากิเลสแปลว่าสิ่งเศร้าหมองคือสกปรก เมื่อสิ่งสกปรกไม่มามีไอ้อยู่ในจิต จิตก็สะอาดหรือบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรมฝ่ายความบริสุทธิ์ เราก็สบายใจแล้ว เพียงเท่านี้ก็สบายใจ
ทีนี้สำหรับบริสุทธิ์นี้ยังจะต้องมั่นคง เมื่อมั่นคงก็มีกำลังใจสูง มีเรี่ยง เรี่ยวแรงใจสูง รวบรวมกำลังจิตทั้งหมดเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วมันก็สูง นี่ที่เรียกว่าความมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ทีนี้อันที่ ๓ ว่องไวในหน้าที่การงานของจิต มันซึ่ง มันก็ออกมาถึงทางกายด้วย คำที่พูดกันอยู่โดยมากแหละ แต่แล้วไม่ๆรู้ความหมายก็ได้ คือคำว่า Active หรือ Activeness เป็นๆนาม เป็นคำนามว่า Activeness ความว่องไวในหน้าที่ของตน คือของจิต จะต้องคิดหรือจะต้องทำหรือจะต้องอะไรก็ตามใจ มันมีงานอะไรที่จะต้องทำมันก็ต้องว่องไวในหน้าที่นั้นๆ ถ้ามันไม่บริสุทธิ์มันว่องไวไปไม่ได้ ถ้ามันไม่มีกำลังพอมันก็ว่องไวไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ๓ อันนี้ต้องสัมพันธ์กันไปด้วยกัน
ปริสุทโธ เรียกว่าจิตบริสุทธิ์
สมาหิโต จิตตั้งมั่น
กัมมนีโย จิตสมควรแก่การงาน คือว่องไว
จะเรียกอะไรก็ไปเรียกเอาเอง เมื่อมันครบ ๓ อย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ พิจารณาดูเถอะว่าถ้าเป็นสมาธิกันอย่างนี้ทำอะไรได้บ้าง จะทำได้ทุกอย่างแหละ เล่าเรียนก็ได้ ทำมาหากินก็ได้ ต่อสู้ก็ได้ เพราะฉะนั้นควรจะรู้จักสมาธิจิต จิตที่เป็นสมาธิไว้ในลักษณะอย่างนี้
โดยมากก็อ่อนแอ แล้วก็อวดดี นี่คือล้มละลายหมด สติก็ไม่มี วิริยะก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี เพราะชอบพูดมาก ชอบหัวเราะมาก ช่วยจำไว้ให้เด็ดขาดว่า การหัวเราะนั่นเป็นรูรั่วสำหรับสมาธิจิตรั่วไหลไป เพราะฉะนั้นผู้ที่บำเพ็ญการอบรมจิตเขาไม่เปิดรูรั่วอันนี้ เช่น เล่นหัวหยอกล้อ หลุกหลิก หัวเราะร่วนนี้มันเป็นรูรั่วระบายไอ้กำลังจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสมาธิ เดี๋ยวนี้เราเห็นคนเขาชอบหัวเราะสนุกสนาน ร้องเพลง หยอกล้อ เหลาะแหละ หลุกหลิก นี้มันเป็นข้าศึกกันกับเรื่องของจิตที่จะเป็นสมาธิ ถ้ารักให้จิตเป็นสมาธิ มีคุณสมบัติสูง ก็ต้องสละเรื่องเหล่านั้น
เมื่อก่อนนี้ ไม่ต้องพูดถึงเด็กหญิงนะ ถ้าเด็กชายหัวเราะมากไปครูก็ อา อาจารย์ก็ตี ก็ดุเหมือนกัน มันเกินไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมอะไรของเขาก็ไม่รู้ จะร้องเพลงเสียเรื่อย นั่งทำการบ้านอยู่ก็ต้องเปิดวิทยุเพลงฟัง นี่มันๆเกิดเป็นระบบใหม่ เป็นเกิดใหม่เป็นอะไรใหม่แล้ว เป็นขึ้นศักราชใหม่ ฉะนั้นความมีสมาธิจิตมันก็น้อยไป เดี๋ยวก็หายไปและก็หมดไป แล้วจะไปโทษใคร ก็ได้แต่ส่งเสริมจิตชนิดนั้นเตลิดเปิดเปิงไป มันก็โลเลเหลาะแหละจนไม่รู้ว่าอะไรจะผิดจะถูก จะดีจะชั่ว จะอ่อนแอหรือจะแข็งแรง ไปคิดดูเอง ถ้าต้องการคุณธรรมอันสูงอันยิ่งขึ้นไปก็ต้องเสียสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่กัน
ถ้าในโรงเรียน หรือในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยสอนเรื่องอย่างนี้กันบ้างก็จะดี เดี๋ยวนี้หลักสูตรของเขาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ก็ทำความยุ่งยากลำบากให้แก่นิสิตมะ ไอ้นักศึกษาอะไร นักเรียน เพราะฉะนั้นต้องฝึกการเป็นสมาธิ คือแน่วแน่ มั่นคง วะ เอ่อ, สะอาด ว่องไวของจิตนี้ไว้ให้พอ
เรื่องสุดท้ายก็เรียกว่า ปัญญา คำๆนี้ตามตัวหนังสือก็แปลว่ารอบรู้ รู้ทั่ว รู้ เอ่อ, รู้ทั่ว รอบรู้ แต่ความหมายจำกัด รู้แต่สิ่งที่จำเป็นหรือมีประโยชน์ สิ่งที่เกินจำเป็นไปมันก็ไม่ต้องรู้ ถึงจะไปรู้ให้หมดมันก็ตายก่อนก็ได้ หรือว่ามันอาจจะรู้เล็กๆน้อยๆ รู้ไม่จริง รู้มากแต่ไม่รู้อะไรจริง อย่างนี้ก็ไม่ใช่รอบรู้ เดี๋ยวนี้มักจะเป็นไปในทางอย่างนี้เสียแล้ว คือเรียนกันมากจนไม่รู้ว่าอะไรจำเป็นอะไรไม่จำเป็น แล้วก็รู้ไม่จริงสักอย่างเดียว มันควรจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัดว่าจะต้องรู้กี่อย่าง แล้วอะไรสำคัญที่สุด รู้ให้พอ รู้ให้จริง
สำหรับพระพุทธเจ้าท่านเล็งถึงไอ้ความดับทุกข์ได้เป็นเรื่องสำคัญ ปัญญาที่ดับทุกข์ได้จริงนั้นน่ะเท่านั้น นอกนั้นก็ไม่ๆสำคัญ จะเรียกว่าปัญญาก็ได้ แต่ปัญญาที่ไม่จำเป็น เช่นเดี๋ยวนี้เขารู้กันมากไปในทางที่ไม่จำเป็น แต่เขาก็มีเหตุผลว่าจะต้องรู้เพื่อความก้าวหน้าอะไรต่อไป รู้เรื่องใต้ดิน รู้เรื่องบนฟ้า รู้เรื่องใต้ทะเลอะไรมากเกินไป แต่แล้วโลกก็ยังไม่มีความผาสุก เพราะไปยุ่งไอ้เรื่องที่ไม่จำเป็นมากไป โลกเรานี้ก็ยังไม่มีสันติภาพ ไปคิดดูแล้วก็จะได้เลือกเอาไอ้ที่มันจำเป็นน่ะมารู้เสียให้ถูกต้องให้เพียงพอ แล้วปฏิบัติให้ได้ด้วย
มีคนเรียกพระพุทธเจ้าว่าสัพพัญญู แปลว่ารู้ทุกอย่าง แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยอวดอ้างท่านขนาดนั้น แม้ว่าท่านจะพูดว่าท่านรู้มาก รู้ เอ่อ, รู้ รู้มาก แต่ท่านก็ไม่ใช้คำว่าๆทุกอย่าง แต่ถ้าใช้คำว่าทุกอย่างท่านระบุเฉพาะที่ควรจะรู้ เพราะฉะนั้นจึงมีคำตรัสมาว่า รู้มากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า เอามาสอนคนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว นี่เทียบๆดูเถอะ ตรงนี้มันสะดวกที่จะมองดูทั้งป่าว่าใบไม้มีเท่าไร แล้วใบไม้กำมือเดียวนั้นมาเทียบกันดูแล้วมันใจหายนะ แต่ท่านก็บอกว่าเอามาสอนนี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว สอนแต่เรื่องให้รู้จักความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความที่ดับทุกข์แล้วเป็นอย่างไร แล้วทางที่ให้ถึงความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร สอนเท่านี้ นี่สัพพัญญู รู้ทุกอย่างที่ควรจะรู้
เดี๋ยวนี้ไปสังเกตดูจะเห็นว่า ซื้อหนังสือมาไว้แทบว่าจะกลบตัวเองมิด ถ้าใช้เผาศพตัวเองก็ยังจะพอ ซื้อหนังสือมามากถึงขนาดนั้น ส่วนความรู้นั้นสักนิดหนึ่งก็แทบจะไม่มี เพราะมันๆไม่ๆอาจจะอ่านไปทั่วทุกเล่มหรือจริงจังได้ ยิ่งไปซื้อหนังสือเพิ่มเข้ามาอีกมันก็ยิ่งทำให้ฟุ้งซ่านจับจดมากขึ้นอีกมากกว่า ฉะนั้นระวังให้ดีๆ ซื้อมาหลายๆเล่มมันก็ต้องเลือกไอ้เล่มที่มันจะเป็นที่พึ่งได้ นอกนั้นเอาไปโยนเอาไปเผาเสียก็ยังจะได้
เรื่องที่จะดับทุกข์ได้ จะแก้ปัญหาได้จริง เราจะทำอะไรก็ให้มันแน่นอนลงไป ศึกษาแต่วิชาอย่างนั้นให้แตกฉาน ส่วนเรื่องประกอบเล็กๆน้อยๆนั้นอย่าไปทำให้มันมากจนๆๆเวียนหัว คนมีความรู้มากมีหนังสือมากจนเวียนหัวจนทำอะไรไม่ถูกก็มีอยู่ เพราะว่าโดยที่แท้แล้วต้องทำให้ดิ่งให้ลึกลงไปในเรื่องที่จำเป็นที่ต้องการเฉพาะของเราให้ถึงที่สุด และโดยๆทั่วไปก็คือเรื่องความดับทุกข์
แต่ถ้าเราจะเป็นๆครูอา อ่า, สอน อ่า, เป็นอาชีพครูสอนเฉพาะวิชามันก็ดิ่งไปเฉพาะวิชานั้น มันก็พูดแตกฉานไปแต่เฉพาะวิชานั้น อย่างนี้มันดับทุกข์ไม่ได้ จะดับทุกข์ในส่วนจิตใจไม่ได้ เรื่องเฉพาะวิชานั้นเขาเป็นเรื่องอาชีพ เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา มันก็จริงเหมือนกัน มันก็ดีจริงเหมือนกัน แต่มันไปๆๆๆเป็นเรื่องเกิน เรื่องเกินกว่าที่มนุษย์จะต้องทำไปเสียเป็นส่วนใหญ่ ทีนี้ทำโลกให้เฟ้อให้เกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำก็มีอยู่ แต่แล้วก็มานั่งร้องไห้อยู่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชานี่จะแก้ปัญหาเรื่องจิตใจไม่ได้เพราะมันไปรู้เฉพาะวิชา แล้วก็บางทีก็เป็นเรื่องวัตถุเสียโดยมาก ไม่รู้เรื่องจิตใจ เพราะฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชานี้คอรัปชั่นก็ได้ ทำเลวอย่างอื่นก็ได้ เป็นทุกข์นั่งร้องไห้อยู่ ฆ่าตัวตายก็ได้ มันเป็นเรื่องอาชีพไปๆอย่างๆเดียว
เพราะฉะนั้นปัญญาในที่นี้ ไปในทางหลักธรรมนี้ต้องรอบรู้เรื่องที่มันจะแก้ปัญหาได้จริง เรื่องความทุกข์มาก่อน อย่าต้องมานั่งร้องไห้อยู่ อย่ามาต้องอัดอั้นตันใจ นอนไม่หลับ กระทั่งเป็นบ้าไปเลย หรือไม่กระทั่งว่าอย่าต้องทำอะไรผิดๆ แล้วก็ทำอะไรให้มันถูกมากขึ้นในหน้าที่การงานของตน เป็นนักเรียน เป็นครูบาอาจารย์ กระทั่งต่อไปก็เป็นผู้บังคับบัญชา กระทั่งเป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนเฒ่าคนแก่ในอนาคตนู้น ต้องเป็นผู้ส่องแสงสว่างให้แก่คนที่เกิดทีหลังเรื่อยไป คนเกิดก่อนนี้ต้องรับผิดชอบในการที่จะเป็นแสงสว่างให้แก่คนเกิดทีหลังให้ดำเนินไปถูกต้องตามคลองของปัญญา นี่เรียกว่าความ อ่า, ความรอบรู้ในที่นี้
ถ้าเกี่ยวกับความดับทุกข์ก็ไปศึกษาเรื่องอริยสัจ ซึ่งตามธรรมดาเราก็พูดถึงกันอยู่เสมอ แต่ไม่ๆได้ออกชื่อเรื่องอริยสัจ เพราะกิเลสเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ พอเรามีกิเลสเราก็มีความทุกข์ มันต้องระงับกิเลสเสียก็เป็นดับทุกข์ เราปฏิบัติตนอย่าให้กิเลสเกิดขึ้นได้ ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นี่ก็คืออริยสัจ
แม้ในโรงเรียนชั้นอนุบาลตัวเล็กๆนั้นน่ะมันก็มีเรื่องของอริยสัจรวมอยู่ในนั้นแหละ แต่มองไม่ มองไม่เห็นหรือมองไม่เป็น ถ้ามีปัญหาก็ต้องรู้ต้นเหตุของปัญหา แล้วแก้ปัญหาได้ด้วยการกระทำที่ถูกต้อง อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของอริยสัจ กระทั่งเรื่องที่เป็นความทุกข์ชัดๆขึ้นมาในจิตใจ ก็ทำให้ถูกวิธีก็เป็นเรื่องของอริยสัจทั้ง ๔ ในพุทธศาสนา ฉะนั้นเราเอาเรื่องจิตใจที่ไม่ทุกข์นี้เป็นเรื่องหลัก ทีนี้ปัญหาต่างๆทั้งหลายก็เรียกว่าความทุกข์ ก็แก้ให้ถูกต้องโดยการตัดต้นเหตุ หรือป้องกันอย่าให้ต้นเหตุของปัญหามันเกิดขึ้น นี่เรียกว่าเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้
รวมเป็น ๕ อย่างด้วยกัน
แต่ละอย่างๆนี้ก็เรียกว่า อินทรีย์ คือหลักสำคัญหรือ หรือว่าไอ้ความสำคัญหนึ่งๆอย่างหนึ่งๆที่มนุษย์จะต้องมี แต่โดยเหตุที่ว่าอย่างหนึ่งๆมันก็มีอะไรรวมอยู่ประกอบกันอยู่ เป็นของส่วนประกอบ ครบบริบูรณ์นั้นจึงจะเป็นอินทรีย์ขึ้นมาอย่างหนึ่งๆ ความหมายคล้ายกับไอ้ Faculty อันหนึ่งมันมี Principle หลายๆอันรวมกัน เรียกว่ามีความสำคัญถึงที่สุดในความมุ่งหมายนั้นๆเขาเรียกว่าอินทรีย์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ นี้เราก็ไม่รู้ บางทีเราได้ยินแล้วเราก็ทำเล่นๆกับสิ่งเหล่านี้เสีย จึงหวังว่าทุกๆคนจะเอาไปคิดพิจารณา แล้วสะสาง ปรับปรุง แก้ไข สะสางให้สิ่งทั้ง ๕ นี้ถูกต้องและเพียงพอ ก็ได้ชื่อว่ามีอินทรีย์ มีสิ่งสำคัญที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิต
บางทีก็เรียกว่า พละ แปลว่ากำลัง ๕ อย่างนี้ บางทีก็เรียกว่าพละ แปลว่ากำลัง กำลังของศรัทธา กำลังของวิริยะ ของสติ ของสมาธิ ของปัญญา ไปดูในแง่กำลังก็เป็นกำลัง ดูในแง่ที่มันมีความสำคัญมากก็เป็นความสำคัญมาก เรียกว่าอินทรีย์ พอไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ ก็หมดกำลังทันที ไปดูเอาเองเราเห็นกันเต็มบ้าน เราไม่มีความเชื่อในสิ่งใดเราก็ไม่มีกำลังที่จะทำสิ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้
วิริยะ เอ้า, ไม่มีก็หมดกำลัง สตินี้กำลังพิเศษ กำลังที่ๆละเอียดลึกซึ้ง ไอ้สมาธินี้กำลังจิตทั้งหมด ไอ้ปัญญานี้กำลังวิชาความรู้ เป็นกำลังแปลว่าคืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นทำไปให้ครบก็แล้วกัน มันจะเป็นอินทรีย์ เป็นกำลัง เป็นอะไรก็สุดแท้มันเถอะ แล้วแต่จะเรียก ก็ทำให้มันมีครบ ก็เรียกว่าเป็นบุคคลที่ได้อบรมจิตสูงสุด เป็นบุคคลที่ได้มีการอะไร อย่างๆเดี๋ยวนี้เขาจะชอบเรียกกันว่าพัฒนานั้น คนที่มีการพัฒนาสูงสุดนั้นคือพัฒนาจิตในลักษณะอย่างนี้
ส่วนเรื่องพัฒนาวัตถุนั้นมันเป็นเรื่องข้างนอก คนพัฒนาจิตข้างในถูกต้องแล้วจึงสามารถพัฒนาข้างนอกได้ถูกต้องที่ควรพัฒนา ถ้าไม่อย่างนั้นจะพัฒนาผิด ไปพัฒนาใน อ่า, ในเรื่องที่ไม่ควรพัฒนา ไม่พัฒนาในเรื่องที่ควรพัฒนา หรือแม้ในเรื่องที่ควรพัฒนาเถอะ ถ้า แต่ถ้าในๆๆข้างในๆจิตไม่ๆๆพัฒนาก่อนแล้วข้างนอกพัฒนาไม่ได้เพราะว่ามันโง่ ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักตัดสิน ไม่รู้จักวินิจฉัย ไม่รู้จักอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นการพัฒนานี้มัวๆพัฒนากันแต่ข้างนอก ข้างในไม่ได้รับการพัฒนา มันก็ยังยุ่งอยู่นั่นเอง
เดี๋ยวนี้คนทั้งโลกกำลังพัฒนาแต่เรื่องวัตถุข้างนอก ถึงพวกเรา พวกไทยเรานี้ก็พลอยไปตามๆเขา มันสนใจแต่เรื่องพัฒนาข้างนอกมันเลยแก้ปัญหาไม่ได้ รู้สึกว่าความยุ่งยากลำบาก ระส่ำระสายมันมากขึ้น จนแม้แต่อยู่บนบ้านบนเรือนก็ไม่ปลอดภัย มีคนทำร้ายแม้ว่ามันอยู่บนบ้านบนเรือน ซึ่งเมื่อก่อนเราจะไปเที่ยวกลางทุ่งนาตามป่าตามเขาก็ยังปลอดภัยเพราะคนมันมีจิตใจสูง นี่โดยทั่วไปก็ลำบากมากเลย เดี๋ยวนี้จะนอนตามร้านใต้ต้นไม้ข้างบ้านข้างเรือนก็ไม่ได้ มีคนทำอันตราย เลยต้องๆไปอยู่บนเรือนที่แน่นหนา อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าคนมันมีจิตเสื่อมทรามลงด้วยหลงในความเจริญทางวัตถุ เพราะว่าพัฒนากันแต่วัตถุ เพราะฉะนั้นเราอยากจะให้โลกมีสภาพร่มเย็นเป็นสุขแล้วก็ต้องพัฒนาจิตใจ นี่เรียกว่าอบรมจิตใจมันดีอย่างนี้ อาศัยหลัก ๔ อย่าง ๕ ๕ อย่างนี้ก็ใช้ได้ ไอ้เรื่องหลักนี้ขอบอกให้ทราบว่ามันมีอีกมากมาย หรือจะจัดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้กี่อย่างก็ได้ ขอแต่ให้มันได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนจริงๆสักหมวดหนึ่งหลัก อ่า, กลุ่มหนึ่งก็แล้วกัน
ในวันนี้เราพูดกันแต่ไอ้เรื่องเบื้องต้นกว้างๆสำหรับการที่จะพัฒนาคนหรือพัฒนาจิต แล้วไปสำเร็จอยู่รวมอยู่ที่การพัฒนาจิต การอบรมจิต การฝึกฝนจิต เพราะว่าจิตนี้มันเป็นศูนย์กลางของสิ่งที่เรียกว่าคน อย่าเอาเนื้อหนังเป็นหลักใหญ่ เป็นของสำคัญ หรือเป็นศูนย์กลาง นั้นจะผิดพลาด เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกควบคุมไม่ได้ ก็ไปเป็นเรื่องของกิเลส ฉะนั้นต้องมีความถูกต้องเข้าไปตั้งๆๆๆแต่จิตแหละ ออกมาเป็นเนื้อหนังหรือว่าทางเนื้อหนังก็ถูกต้องถ้าว่าเรื่องทางจิตมันถูกต้อง เพราะจิตเป็นผู้ควบคุมบังคับไอ้สิ่งที่เรียกว่าคนคนหนึ่งๆ
นี่สรุปความกันเสียทีก็ว่า ต้องอบรมคนหรือพัฒนาคน การอบรมคนนี้ต้องอบรมที่จิตเพราะจิตนั้นเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำทั้งหมด จะเรียกว่า จะเรียกว่าเป็นแกนกลางก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจ เป็นอะไรก็ ต้องทำที่ตรงนั้นแล้วทั้งหมดก็จะดี
ในเมื่อร่างกายมันเป็นไปตามอำนาจของจิต เราก็ทำจิตให้มันถูกต้อง ความถูกต้องก็จะออกมาเป็นเรื่องถูกต้องทางกายทางวาจา ทางจิตนั้นสำคัญอยู่ที่ความคิดเห็น ไอ้กำลังจิตแท้ๆก็เป็นอย่างหนึ่ง ไอ้ความคิดเห็นคือปัญญานั้นมันสำคัญมาก ถ้าปัญญาหรือทิฐินี้มันมีถูก ความถูกต้องแล้ว อะไรๆมันจะถูกต้องตามไปหมด ทุกอย่างที่เกี่ยวกับจิตก็ถูกต้อง ร่างกายก็ถูกต้อง มันก็เลยมีความสงบสุข ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ เรื่องมันมีเท่านี้
ฉะนั้นผู้ที่จะเป็นครูอย่างน้อยก็ต้องเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องเหล่านี้เพื่อไปยกสถานะทางวิญญาณของมนุษย์ให้มันสูงขึ้น ถ้าผิดจากนี้เราก็คือผู้รับจ้างทำอาชีพสอนหนังสือ อย่างเครื่องจักร ใช้คำว่าเครื่องจักรนี้เป็นเรื่องของจิตใจก็ได้ คือจิตใจที่อบรมมาอย่างไรมันก็ทำไปอย่างนั้นเหมือนกับเครื่องจักร ถ้าเป็นเรื่องจิตใจแท้ๆ เป็นเรื่องวิญญาณแท้ๆ มันมีความละเอียดอ่อน เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ไม่ๆใช่มีลักษณะอย่างเครื่องจักร
แต่เดี๋ยวนี้เรามีหลักสูตรที่กระทรวงเขาวางไว้ให้ มีระเบียบอะไรที่ปฏิบัติ ก็ปฏิบัติไปตามเครื่องจักร เหมือนอย่างๆเครื่องจักรก็ยังได้ ก็มีความเจริญก้าวหน้าไปตามแบบของไอ้ ของระเบียบ แต่ทางจิตใจไม่พอก็ได้ แล้วก็มีความทุกข์ตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่อีกส่วนหนึ่งก็ได้ เรื่องของครูนั่นก็เป็นเรื่องสอนหนังสือ แต่การแก้ไขความทุกข์นี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็เคยบอกให้ฟังตั้งแต่คราวแรกแล้วว่า ไอ้เรื่องครูนี้เป็นเรื่องแก้ปัญหาทางจิตทางวิญญาณด้วย ฉะนั้นขอให้สนใจ
ถ้ามิฉะนั้นแล้วไอ้การทำงานอาชีพนั่นแหละจะเป็นเครื่องทำความทุกข์ขึ้น แม้จะได้ผลเป็นเงินเป็นทองเป็นเกียรติยศมาก็ยังจะทำๆความทุกข์ให้อีก ได้เงินมาสำหรับเป็นทุกข์ ได้เกียรติมาสำหรับเป็นทุกข์ มันก็ไม่ๆน่า ไม่น่าๆชื่นใจ ไม่น่าพอใจอะไรเลย เดี๋ยวนี้ก็มีอยู่ทั่วไป มีนั่นมีนี่ มีเกียรติ มีทรัพย์สมบัติ อำนาจวาสนาสำหรับทำให้เป็นทุกข์ หรือสำหรับทำให้คนอื่นแช่งด่า ก็เรียกว่าผิดแล้ว ไปทำกันเสียใหม่ให้มันถูกต้อง ให้เราก็ไม่มีความทุกข์ ให้โลกก็ไม่มีความทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นครูที่แท้จริง เดี๋ยวนี้ก็เป็นการเตรียมตัวที่จะเป็นครูที่แท้จริงในอนาคต
เอาแล้วการบรรยายวัน อ่า, นี้ก็ ครั้งนี้ได้พอสมควรแก่เวลา ยุติไว้.