แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาแล้วในตอนเย็นนี้ ธรรมเทศนานี้เนื่องในวิสาขบูชา เป็น ๓ วาระด้วยกัน ในวาระแรกนั้น เราทั้งหลายได้มากระทำการสำนึกในพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จนกระทั่งมีความรู้สึกอย่างทั่วถึง แล้วมีความตั้งใจใคร่ที่จะสนองพระคุณนั้น มีหัวข้อสังเขปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มีพระคุณแก่เราทั้งหลาย ด้วยการปลุกให้ตื่นจากหลับ คือกิเลส พระองค์เป็นพระศาสดาสอนทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ คือสอนสำเร็จประโยชน์ได้ทั้งสำหรับบุคคลที่มีสุขสบายและทั้งบุคคลที่ยังอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก ถึงกับไม่มีความอิ่มปากและความอิ่มท้องเลย นี้ก็เพราะว่าแม้ว่าจะเป็นบุคคลชนิดใดก็ยังมีโรคทางกาย ทางจิต และทางวิญญาณอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าจะผิดกันโดยการเป็นอยู่ การดำรงชีพอยู่ แต่ก็มีโรคนี้เสมอกัน เพราะฉะนั้นคนยากจนเข็ญใจก็ดี คนมั่งมีเป็นเศรษฐีก็ดี ยังมีโรคในทางวิญญาณที่จะต้องขจัดปัดเป่าอยู่
พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่เป็นเหมือนกับว่าแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง โดยการทรงจำแนกธรรม แจกธรรมให้แก่สัตว์นั้นๆ ให้ได้รับธรรมนั้นๆไปพิจารณาไปศึกษา โดยลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี โดยลักษณะแห่งอิทัปปัจจยตาในข้อที่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ดังนี้ก็ดี หรือโดยลักษณะแห่งจตุราริยสัจว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุให้เกิดความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ความดับสนิทไม่มีเหลือแห่งความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ดังนี้ก็ดี ล้วนแต่เป็นการค้นพบ การรู้ถึงที่สุดของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทรงเปิดเผย ทรงจำแนกแจกแจงให้สัตว์ทั้งหลายพากันรู้ตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่าเพราะสัตว์มีความทุกข์ ตถาคตจึงต้องเกิดขึ้นในโลก หรือว่าเพราะสัตว์ทั้งหลายมีความทุกข์ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันตถาคตประกาศแล้วย่อมเจริญไปในโลก ถ้าไม่มีปัญหาเหล่านี้แล้ว ตถาคตก็ไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วก็จะไม่เจริญไปได้ในโลกนี้ ดังนี้ โดยเหตุที่สัตว์ทั้งหลายมีปัญหาเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ และความตาย อย่างเดียวกัน จึงได้มีสิ่งที่จะแก้ปัญหานั้นๆ หรือดับความทุกข์อันนั้นเสียในลักษณะอย่างเดียวกัน พระองค์จึงได้ตรัสว่าเราย่อมบัญญัติซึ่งโลกุตตรธรรม ว่าเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลนั้นๆเสมอกันในวรรณะทั้งสี่ ไม่มีการถือวรรณะทั้งสี่นั้นโดยชาติหรือการกำเนิดเลย มีการถือวรรณะนั้นด้วยกิจกรรมที่ตนกระทำแม้จะต่างกันอย่างไร ยังคงเป็นวรรณะอยู่ได้ตามกรรมที่ตนกระทำนั้น แต่ถึงอย่างนั้น วรรณะทั้งสี่เหล่านั้นก็ยังต้องการโลกุตตรธรรม เพื่อจะขจัดเสียซึ่งปัญหานั้นอย่างเดียวกัน ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูเถิดว่าวรรณะกษัตริย์ก็ดี วรรณะพราหมณ์ก็ดี วรรณะแพศยะก็ดี วรรณศูทร ลูกจ้างกรรมกรก็ดี ล้วนแต่จำเป็นที่จะต้องมีโลกุตตรธรรมอันเป็นสิ่งประเสริฐนั้นเป็นทรัพย์แห่งตนๆดังนี้ นี้เรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นทรัพย์แห่งบุคคลทุกคน
แต่โดยเหตุที่ว่าคนเรายังมีอุปนิสัย สันดาน หรือสภาวะแห่งจิตใจต่างกันอยู่ หนทางที่จะไปสู่โลกุตตรทรัพย์นั้น ย่อมจะแตก แตกต่างกันบ้างเป็นธรรมดา เราจึงได้มีพระพุทธศาสนาที่สอนไว้เป็น ๒ ระดับ คือสอนศีลธรรม สำหรับบุคคลที่ยังฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู จะต้องละชั่ว จะต้องบำเพ็ญความดี มีผลแห่งความดีเป็นของตน แต่เมื่อบุคคลเบื่อในการที่จะเวียนว่ายไปในกระแสแห่งความดีแล้ว เขาก็มารู้ว่าเพราะเหตุที่มีความยึดถือว่าตัวกูของกูนั้นเอง จึงต้องเวียนว่ายไปทั้งในความดีและความชั่ว จึงต้องการที่จะสลัดเสียซึ่งตัวกูและของกูคือ อัตตวาทุปาทาน จึงได้มีการศึกษาและการประพฤติปฏิบัติที่สูงขึ้นไปในขั้นปรมัตถธรรม อันจะทำให้มีความเห็นไปในทางที่เป็นธาตุตามธรรมชาติล้วนๆ เป็นไปอยู่ตามเหตุตามปัจจัย กว่าจะถึงระดับที่ขึ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยนั้น นี้เรียกว่าเป็นปรมัตถธรรม สำหรับจะสลัดเสียซึ่งตัวกูและของกู ด้วยเหตุดังนี้เอง ธรรมะที่เป็นเครื่องดับทุกข์จึงได้วางไว้เป็น ๒ ระดับ คือศีลธรรมและปรมัตถธรรมดังนี้
เมื่อสัตว์ยังรักที่จะมีตัวกูของกู ถอนออกไปไม่ได้โดยประการทั้งปวง ก็จะต้องพยายามที่จะแสวงหาซึ่งความดีให้เป็นทรัพย์สมบัติแห่งตัวกู ข้อนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นโลกุตตรทรัพย์ก่อน แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องผ่านไปทางนี้ คือละ อ่า, ละความชั่วเสีย มาตั้งอยู่ในความดี จนกว่าจะรู้ตามที่เป็นจริงว่านี้เป็นอย่างไร คือรู้ว่ามีความยึดถือในสิ่งใด ย่อมไม่พ้นไปจากความเป็นอย่างนั้นได้ พระโสดาบันเริ่มรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง แต่ยังไม่พ้นได้ พระอรหันต์ก็คือผู้ที่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงถึงขนาดที่จะพ้นได้ เพราะว่าได้มองเห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน โดยความเป็นตัวกูของกู ดังนี้ ส่วนปุถุชนนั้นยังไม่ประสีประสาต่อสิ่งนี้ คือไม่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ย่อมเห็นแต่ความเป็นตัวกูของกูโดยประการทั้งปวง ไม่ได้เห็นโดยความเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอุปาทาน คือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นซึ่งเกิดมาจากความอยากด้วยอำนาจของอวิชชา
สัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเจ้าเรือน คือง่ายที่จะเกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อได้สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมสัมผัสด้วยอำนาจของอวิชชานั้น ครั้นเวทนาเกิดขึ้นจากสัมผัสนั้น จึงเป็นเวทนาที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ทำให้เกิดความอยากไปตามอำนาจของอวิชชานั้น นี้เรียกว่าตัณหา ตัณหาคือความอยากเกิดขึ้นเต็มที่ในจิตของสัตว์ใดแล้ว ความอยาก อ่า, ความรู้สึกในอันดับถัดไปก็คือความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก ข้อนี้ท่านทั้งหลายจะต้องสังเกตดูให้ดีๆว่า ความอยากย่อมเกิดขึ้นก่อนความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก นี่แหละคือข้อที่จะชี้ให้เห็นว่าตัวกูของกูนั้นเป็นมายา คือมิได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายไม่ได้มีความรู้สึกอยากในสิ่งใด เพราะว่ายังไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอยาก เมื่อใดมีโอกาส มีเหตุ มีปัจจัย ทำให้สัมผัสสิ่งใดด้วยอำนาจของอวิชชาแล้ว เกิดเวทนาแล้ว ย่อมเกิดความอยากด้วยอำนาจของเวทนานั้น ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่าถ้าความอยากด้วยอำนาจของอวิชชาเป็นไปแรงกล้าในจิตใจแล้ว ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยาก มันมีอะไรเป็นของตัวกู หรือจะได้มาเป็นของตัวกูผู้อยากดังนี้ คนมั่งมีก็เป็นอย่างนี้ คนยากจนก็เป็นอย่างนี้ นี่แหละคือข้อที่การเห็นตามที่เป็นจริงในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีได้ทั้งคนมั่งมีและทั้งคนยากจน หรือว่าจะทั้งเทวดาแลมนุษย์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
สิ่งที่จะทำให้มีการ ให้เห็นได้ตามที่เป็นจริงนั้นเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สำหรับผู้ที่ไม่ประสีประสาต่อตัวกูของกู ยังยึดมั่นอยู่อย่างเต็มที่ ก็ยากที่จะมีสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ที่จะปลดเปลื้องตัวกูของกูออกไปเสียได้ จึงมีแต่สัมมาทิฏฐิประเภทที่เรียกว่าโลกียะสัมมาทิฏฐิ ให้ขวนขวายในความดี ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ดังที่รู้จักกันอยู่ทั่วๆไป ว่าสัมมาทิฏฐินั้นจะต้องแบ่งออกเป็น ๒ ชั้น ๒ ประเภท สัมมาทิฏฐิสำหรับคนที่ยังรักที่จะมีตัวกูของกูนั้น ก็มีสัม อ่า, มีหลักว่า มีความเห็นอันถูกต้องว่า บิดามารดามี ครูบาอาจารย์มี โลกนี้มี โลกหน้ามี โลกอื่นมี กรรมดีกรรมชั่วมี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี แต่ว่าผู้ที่ปฏิบัติละเสียซึ่งความทุกข์ทั้งหลายได้นี้ก็มี นี่แหละลองคิดดูเถิดว่า มันยังมีลักษณะแห่งตัวตนว่าเป็นตัวเราบ้าง เป็นบิดามารดาของเราบ้าง เป็นครูบาอาจารย์ของเราบ้าง เป็นโลกนี้บ้าง เป็นโลกอื่นบ้าง เป็นสัตว์ที่เกิดอย่างธรรมดาสามัญ มีการเกิดอย่างธรรมดาสามัญและมีการเกิดอย่างโอปปาติกะบ้าง และผู้ที่อาจจะชนะความทุกข์ทั้งหลายก็มีได้ดังนี้
การเคารพบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดการตั้งต้นที่ดี ละความชั่ว ดำเนินไปตามทำนองคลองธรรม แต่ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิแม้ขนาดนี้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เดี๋ยวนี้คนกำลังเป็นมิจฉาทิฏฐิกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุวชนแห่งสมัยปัจจุบันนี้ ได้รับการศึกษามาอย่างไร ก็ยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผลที่ปรากฏนั้นแสดงให้เห็นว่ายุวชนเหล่านั้นไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่เคารพบิดามารดา ครูบาอาจารย์ยิ่งขึ้นทุกที ไม่มีความรู้สึกในบุญคุณอันใหญ่หลวงของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อว่ามีโลกอื่นจากโลกนี้ เขารู้จักแต่โลกแห่งความเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนัง ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ รู้จักแต่เรื่องปากเรื่องท้อง ไม่รู้จักโลกอื่นที่ยิ่งไปกว่าโลกนี้ หรือนอกไปกว่าโลกนี้ รู้จักแต่เรื่องทางวัตถุอย่างเดียว นี้ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิลงไปทีละน้อยๆและยิ่งขึ้นทุกที และไม่เชื่อว่ามีการทำ อ่า, มีสิ่งที่ทำให้เป็นคนชั่วหรือคนดี เขาจะคิดแต่ว่า เกิดมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น การเปลี่ยนจากคน มาเป็นคนชั่วหรือมาเป็นคนดีโดยกะทันหันนี้ไม่ยอมรับ ที่ว่าถ้าทำชั่วก็เรียกว่าชั่ว เป็นคนชั่วไป ถ้าทำดีก็เป็นคนดีไป อย่างนี้ไม่ยอมรับ จะเอาแต่เรื่องของกิเลสของตัว อยากทำอย่างไรก็จะเอาอย่างนั้น จะทำอย่างไรก็ทำไปตามอำนาจของความรู้สึกคิดนึกชั่วขณะของตน อย่างนี้ก็เท่ากับปฏิเสธเสียว่าไม่มีการเกิดโดยโอปปาติกะ คือกลายเป็นคนชั่วหรือกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้โดยกะทันหัน แล้วก็ไม่รู้ไปถึงข้อที่ว่าบุคคลจะเป็นผู้อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวงได้ โดยการปฏิบัติถูกต้องตามหลักของพระธรรมอันสูงสุดเลย
มิจฉาทิฏฐิของสัตว์ในระดับนี้ก็ยิ่งเป็นไปแก่กล้ายิ่งขึ้นทุกที ในสมัย อ่า, ในยุคในสมัยที่โลกนี้สนใจกันแต่เรื่องทางวัตถุ อย่างนี้ต้องตัดออกไป คือไม่ใช่เรื่องของสัมมาทิฏฐิ แม้ในขั้นที่เป็นโลกียะ จะรู้จักหาเงินหาของมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็เป็นไปในทางที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สัมมาทิฏฐิในชั้นโลกียะนั้นจะต้องถอนตัวออกมาเสียได้จากความชั่ว และมาตั้งอยู่ในความดี แม้จะยึดมั่นความดีโดยความยึดมั่นถือมั่น ก็ยังเป็นการถูกต้อง สำหรับสัตว์ผู้ยังอยู่ในภูมินี้ คือยังมีตัวกูของกู นี้อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสสอนสัมมาทิฏฐิชนิดนี้ ซึ่งมีความมุ่งหมายว่า จะละความชั่วและกระทำความดี ก็พอใจในความดี พอใจในการที่จะเกิดเป็นคนดี ด้วยการกระทำความดีนั้นๆ
ทีนี้ก็มีสัมมาทิฏฐิอีกประเภทหนึ่งซึ่งยิ่งขึ้นไป คือสัมมาทิฏฐิในขั้นปรมัตถธรรม ในขั้นที่จะบอกให้ทราบว่าไม่ต้องมีตัวกู ไม่ต้องมีของกู ตัวกูของกูเป็นเพียงมายา เป็นอุปาทานอันเป็นความรู้สึกที่ออกมาจากความรู้สึกที่เป็นตัณหา เมื่อมีตัณหาคือความอยากด้วยอำนาจของอวิชชาแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย ความรู้สึกที่เป็นอุปาทานว่าตัวกูว่าของกูก็มีขึ้น สัตว์นั้นๆไม่รู้ว่าความรู้สึกอันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของจริง มีตัวกูจริง มีของกูจริง ก็มีความยึดมั่นถือมั่นหนักขึ้นดังนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนปรมัตถธรรมให้รู้ว่า โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีตัวกูหรือของกูโดยแท้จริง เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของอวิชชานั้นเอง
อะไรเล่าที่มีอยู่จริง ก็คือธาตุทั้งปวง เช่นธาตุทั้งหก ก็ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ เมื่อใดโอกาสมีสำหรับธาตุทั้งหกนี้ จะปรุงกันขึ้นทำหน้าที่ที่เรียกว่า อายตนะ เมื่อนั้นก็เกิดอายตนะ คือธาตุดินน้ำลมไฟที่เป็นร่างกายนี้ ก็ทำหน้าที่ให้เป็นอวัยวะตาหูจมูกลิ้นกายขึ้นมาในกรณีนั้นๆ แล้วก็มีจิตสำหรับจะรู้สึกทางทวารนั้นๆ มันก็เลยมีตาหูจมูกลิ้นกายและใจเอง เป็นอายตนะขึ้นมา นี่แหละคือสิ่งทั้งปวง ดังที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าสิ่งทั้งปวงอยู่ที่นี่ ท่านทั้งหลายอย่าได้ไปมองดูสิ่งทั้งปวงโดยแหงนไปรอบๆ โดยแหงนขึ้นข้างบนหรือก้มดูข้างล่าง ไปยังโลกนั้นโลกนี้ ซึ่งเขาพูดกันว่ามันมีมากมาย หลายหมื่น หลายหมื่นโลกธาตุ นั่นไม่ใช่สิ่งทั้งปวง
พระพุทธองค์ตรัสว่าสิ่งทั้งปวงอยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ คืออายตนะทั้งหกนั่น เมื่อใดมีการปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุทั้งหกโดยความเป็นอายตนะแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่าการเกิดขึ้นแห่งธาตุทั้งหกนั้นได้มีแล้ว การเกิดขึ้นแห่งธาตุทั้งหกนั้นคือการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ เพราะเป็นอายตนะแล้ว ก็มีความรู้สึกเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน จนเกิดความทุกข์ขึ้นได้ นี้คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของสามัญสัตว์ผู้ไม่มีความรู้เรื่องวิมุตติ ทั้งโดยเจโต อ่า, เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติก็ตาม ปุถุชนทั้งปวงย่อมไม่มีความรู้เรื่องนี้ ฉะนั้นจึงไม่สามารถจะดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ว่าจะไม่เกิดการปรุงแต่งธาตุทั้งหลายขึ้นมาเป็นอายตนะ แล้วก็เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทานนั้น
ถ้าหากว่าสัตว์ อ่า, บุคคลใดได้มีความรู้สึกต่อความทุกข์มาอย่างเพียงพอแล้ว มีความรู้สึกขยายตัวออกไปในทำนองที่ว่า นี้เป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่จะต้องพยายามขจัดเสีย คือดับความทุกข์เสีย จึงมีศรัทธาในการที่จะหาวิธีดับความทุกข์นั้นเสีย โดยเชื่อว่าไอ้ความทุกข์นี้ต้องเป็นสิ่งที่ดับได้ ไม่ไปมัวทุกข์ร้อนกระวนกระวายให้เสียเวลาไปเปล่าๆ แม้ว่าจะเป็นคนยากจนเข็ญใจ ก็ยังมีทางที่จะมีศรัทธาที่จะเชื่อว่าความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ดับได้ จึงได้สนใจที่จะแสวงหาทางดับทุกข์นั้น เมื่อยังมองไม่เห็นได้ด้วยตนเอง ก็เข้าไปหาสัตบุรุษ มีพระอริยเจ้า เป็นต้น เพื่อการศึกษา เพื่อการสนทนาว่าความทุกข์นั้นมีมูลมาจากอะไร และจะดับได้อย่างไร ในที่สุดก็ได้รับคำสั่งสอนที่ถูกต้องของพระอริยเจ้านั้นๆ ว่าความทุกข์นี้ย่อมเกิดมาจากตัณหา เพราะว่าตัณหาให้เกิดอุปาทาน เป็นความยึดมั่นหมายมั่น เป็นตัวกูของกู ความรู้สึกที่เป็นตัวของ กูของกูนั้นย่อมเป็นความหนัก ย่อมเป็นความเผาลน ทรมานแก่จิตใจ ขอให้ไปสังเกตดูให้ดีๆ บุคคลผู้ได้สดับแล้วอย่างนี้ก็ไปศึกษาพิจารณาตามนั้น ไม่นานนักโอกาสหนึ่งเขาย่อมจะเห็นได้ตามที่เป็นจริงขึ้นมา ตามลำดับทีละน้อยละน้อย ว่าความทุกข์นี้มาจากอุปาทาน อุปาทานมาจากตัณหา
เมื่อเรายังจะมีชีวิตอยู่ และไม่ต้องการจะมีความทุกข์แล้ว จะต้องมีสติสัมปชัญญะควบคุมอย่าให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าตัณหาหรืออุปาทานขึ้นมา เราจะต้องศึกษาต่อไปในการที่จะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติ มันก็ไม่มีความทุกข์ในเมื่อรู้สึกว่าเป็นแต่เพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ อาตมารู้สึกว่าตัวกูของกูขึ้นมาเมื่อไร ก็มีความทุกข์เมื่อนั้น เมื่อขยันศึกษาไป ก็ค่อยรู้ตามที่เป็นจริงยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นพระโสดาบัน มีการศึกษาต่อไปจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ที่มีจิตหลุดพ้นออกมาได้จากสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นนั่นเอง นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิในชั้นที่เป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นโลกุตตระ ที่จะเพิกถอนเสียซึ่งตัวกูและของกู เป็นสัมมาทิฏฐิสำหรับบุคคลผู้จะทำลายเสียซึ่งตัวกูของกู
สัมมาทิฏฐิอย่างที่หนึ่งมีไว้สำหรับผู้ที่ยังรักที่จะมีตัวกูของกู สัมมาทิฏฐิประเภทที่สองเป็นสัมมาทิฏฐิสำหรับบุคคลที่จะทำลายตัวกูของกูนั้นเสีย เมื่อคนในโลกยังมีอยู่เป็น ๒ ประเภทดังนี้ เราก็ต้องปันกันว่า คนนี้เอาสัมมาทิฏฐิอย่างโลกียะไปก่อน คนนี้ก็เอาสัมมาทิฏฐิชนิดที่เป็นโลกุตตระหรือกำลังเป็นไปเพื่อโลกุตตระเพิ่มขึ้นมาใหม่ นี้เรียกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นที่พึ่งได้ทั้งแก่คนที่ยังรักตัวกูและแก่คนที่อยากจะทำลายเสียซึ่งตัวกูของกู
คำสอนเรื่องเหตุปัจจัยคือเรื่องอิทัปปัจจยตานั่นแหละ จะใช้ได้ทั้งแก่บุคคลทั้งสองฝ่ายพร้อมๆกันไป คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทอันแสดงไว้โดยหลักว่า เมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆย่อมเกิดขึ้น ทว่าคนยังโง่อยู่ แต่พิจารณาในข้อนี้อยู่บ่อยๆ ว่าเพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น คนโง่นั้นก็จะค่อยฉลาดขึ้นมาตามหนทางของพระอริยเจ้า แม้ว่าเขาจะเป็นคนยากจน ก็ยังมีสติปัญญาพอที่จะเห็นได้ว่าเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คนที่มั่งมีเป็นเศรษฐีก็ไม่ได้เปรียบคนยากจนเข็ญใจในข้อนี้เลย บางทีจะมีการเสียเปรียบคนยากจนเข็ญใจในข้อที่ว่า เศรษฐีหรือคนมั่งมีนั้นมัวแต่เพลิดเพลินไปในความมั่งมีของตน ความสุขชนิดนั้นทำให้เขาลืมตัว สำหรับคนยากจนนั้นมันยากที่จะลืมตัว เพราะต้องประชันหน้ากันอยู่กับความทุกข์เสมอ จึงมีโอกาสที่จะมองเห็นว่า เพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ได้ง่ายกว่าคนที่มั่งมีเป็นเศรษฐี จึงขอให้ทุกคนที่ไม่ได้เป็นเศรษฐีหรือเป็นคนมั่งมีมาพิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ ส่วนมากเราก็เป็นคนยากจน ไม่มีอำนาจ ไม่มีวาสนา แต่อย่าไปเข้าใจผิดเสียว่า ไม่มีวาสนาที่จะรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่จะมีวาสนามากกว่าเสียอีกในการที่จะรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยขอให้ตั้งปัญหาลงไปที่ความทุกข์ที่ตนกำลังได้รับอยู่ว่าเกิดขึ้นอย่างไร จะขจัดไปเสียได้อย่างไร แม้มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ เรามีวิธีที่จะไม่ให้กระทำอันตรายแก่เราอย่างไร
ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เกิดขึ้นได้เหมือนกันทั้งนั้น ถ้ามีสติปัญญา มีความรู้ในทางพระศาสนาแล้ว ก็สามารถป้องกันเสียได้ซึ่งความทุกข์หรือความรู้สึกอันเป็นทุกข์ที่เกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู ดังนี้เป็นต้น ทุกคนจะต้องดูให้ดีว่า ถ้าไม่รับเอามาเป็นของกูแล้ว มันก็ไม่ทำอะไรกู เดี๋ยวนี้เพราะมันมีอวิชชา มีกิเลสมาก หลับอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสนั้น มันก็พร้อมที่จะเอามาเป็นตัวกู เอามาเป็นของกู อะไรๆก็ของกู ดีก็ของกู ชั่วก็ของกู ความเกิดก็ของกู ความตายก็ของกู มันจึงมีความทุกข์ไปได้หมด เพราะเอามาเป็นของกู นี้ก็เรียกว่าเอามาแบกไว้ มาถือไว้ มาทูนไว้ มาแขวนคอไว้ มันจึงมีความรู้สึกหนักและเป็นความทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระศาสดาทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ ท่านทั้งหลายจะต้องทราบว่า เทวดาและมนุษย์นี้มันต่างกันในลักษณะที่เขาสมมติว่ามันตรงกันข้าม แล้วพระองค์จะเป็นศาสดาให้แก่ทั้งสองฝ่ายที่มันตรงกันข้ามนี้ได้อย่างไร ความเป็นพระศาสดานี้ก็หมายถึงการที่ทรงแสดงให้ทราบถึงความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับสนิทแห่งความทุกข์และทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์นั้น ซึ่งมันเหมือนกันทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ จะต้องรู้อย่างเดียวกัน จะต้องปฏิบัติอย่างเดียวกัน ถ้ามีผลเกิดขึ้นมา ก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกันอยู่นั่นเอง ขอให้พิจารณาดูให้ดีในข้อนี้ ว่าเมื่อยังจมอยู่ในโลกนี้แล้ว ก็จมเหมือนกันทั้งเทวดาแลมนุษย์ คือมันยังจมอยู่ในตัวกูของกู จะสวยงาม หอมหวาน หรือเหม็น หรือขม ผิดกันบ้าง มันก็เป็นเรื่องจมอยู่อย่างเดียวกัน จะจมอยู่ในโคลน หรือในเลน หรือในอุจจาระ หรือจะไปจมอยู่ในน้ำหอม มันก็เป็นเรื่องจมด้วยกัน ถ้าจมมากเข้ามันก็หายใจไม่ออก มันก็จะต้องตายด้วยกันทั้งนั้น สู้ไม่จมไม่ได้ ความไม่จมนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าโลกุตตระ คือสูงขึ้นมาจากโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความจม
สิ่งที่ตั้งแห่งความจม หรือที่ตกที่จมนี้เขาเรียกกันว่าสมุทร ถ้าเราออกไปที่ทะเล เราก็กลัวจะจมน้ำตาย ยิ่งออกไปสู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง ก็ยิ่งกลัวจะตกลงไปในมหาสมุทรแล้วก็ตาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านั่นมันน่าหัวเราะ มันไมใช่สมุทรอันแท้จริง มันเป็นน้ำมากๆ น้ำใหญ่ๆ ไม่ใช่ที่ตกจมอันแท้จริง ที่ตกจมอันแท้จริงนี้คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะรู้ได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย ด้วยใจ ให้ดูไปที่รูปอันน่ารัก อันน่าปรารถนา เป็นที่ยั่วยวนแห่งจิตใจ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ดูให้ดีๆว่า นั่นแหละมันคือสมุทร คือเป็นที่ตกจม คนจนก็ตกลงไปที่นั่น คนมั่งมีก็ตกลงไปที่นั่น คนมีอำนาจวาสนาก็ตกลงไปที่นั่น คนมีบุญเป็นเทวดาก็ยังตกไปที่นั่น ดังนั้นจึงตรัสว่า โลกนี้ ครบทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ก็ล้วนแต่ตกจมอยู่ในสมุทรนี้คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ผนวกกันเข้ากับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ต้องคู่กันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เสมอไป จึงจะมีลักษณะเป็นสมุทรสำหรับที่จะตกลงไปได้ กิริยาที่ตกนั้นมันคือกิริยาที่มันปรุงแต่งด้วยอวิชชา สัพเพสุ ธัมเมสุ อวิชชา อนุปติตา เป็นพระบาลีที่ได้ตรัสไว้ว่า อวิ อะๆ อวิชชานี้ อนุปติตา คือตามตกอยู่ได้ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อตากระทบรูป ก็เป็นโอกาสของอวิชชาที่จะตกตามลงไปในที่นั้น ถ้าเป็นปุถุชนเกินไปก็ไม่ต้องสงสัยเลย อวิชชาก็จะตกตามลงไปในการสัมผัสนั้น คือสัมผัสของตาที่สัมผัสกับรูปจนเกิดจักษุวิญญาณแล้ว ตั้งแต่เราเกิดมา เราก็ไม่ได้มีการทำลายอวิชชา แต่เรามีการเพิ่มอวิชชา คือไม่รู้มากขึ้นๆ ในเรื่องของความดับทุกข์ ไปรู้มากขึ้นในเรื่องทำมาหากิน เรื่องที่จะก่อให้เกิดกิเลส หรือเรื่องที่จะให้เกิดความทุกข์ พอเราเกิดขึ้นมาในโลกนี้ ก็ถูกแวดล้อมให้เกิดความเข้าใจไปว่า เป็นตัวกู เป็นของกูไปเสียทั้งนั้น บิดามารดาก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นบิดามารดาของกู ทรัพย์สมบัติของกู บ้านเรือนของกู อะไรของกูเรื่อยๆมา ข้อนี้เราก็ไม่โทษบิดามารดา เพราะว่าบิดามารดาก็ยังตกอยู่ในสมุทรด้วยกัน ฉะนั้นจึงไม่สามารถจะช่วยบุตรน้อยๆนั้นให้พ้นขึ้นมาจากสมุทรได้ เว้นไว้เสียแต่ว่าเราจะได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้ฟังเรื่องนี้แล้วก็เข้าใจเรื่องนี้ดี
ก็เป็นอันว่า บางทีจะต้องนับมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลายสิบชั่วบรรพบุรุษลงมาจนถึงชั้นนี้ ล้วนแต่กำลังตกอยู่ในสมุทร จึงพอเกิดลืมตาขึ้นมา เขาสอนให้มีความเข้าใจไปว่าตัวกูของกู ก็จมลงไปในสมุทรนั้นยิ่งขึ้น เราจึงต้องได้อาศัยคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า ซึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นสมุทร เป็นที่ตั้งแห่งความตกจมลงไปในความเข้าใจผิดว่าตัวกูว่าของกู ดูๆแล้วการตกอยู่ในสมุทรนี้ ก็คือตกอยู่ในความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่ามันคนละเรื่องกัน เรื่องตัวกูของกูนั้น มันก็เรื่องของการตกจมลงไปในสมุทร คืออายตนะทั้งหกนั่นเอง ถ้าเราไม่ได้ตกจมลงไปในสมุทรหรืออายตนะทั้งหกแล้ว ความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้น ข้อนี้ขอให้สนใจท่องกันให้ได้เป็นพิเศษก่อน แล้วก็จะได้เข้าใจทีหลัง แล้วก็จะได้ปฏิบัติจนเห็นแจ้งแทงตลอดได้ ในเรื่องของอิทัปปัจจยตาว่า เพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น ไม่ได้สงวนไว้สำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ได้สงวนไว้สำหรับคนมั่งมีหรือคนยากจน บุคคลใดก็ตาม ถ้าได้รับการสั่งสอนแนะนำที่ดี หรือว่าได้ไปพบสิ่งต่างๆในโลกนี้มาพอสมควรแล้ว ก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่า นี้เป็นความทุกข์ สิ่งนี้มีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้ๆ เราก็ต้องจัดการที่เหตุปัจจัยนั้นๆ มันเกิดเองไม่ได้ มันต้องมีเหตุมีปัจจัย อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า เพราะมีมือจึงมีการจับหรือการวาง เพราะมีเท้ามันจึงมีการก้าวไปข้างหน้าหรือการถอยกลับไปข้างหลัง เพราะมีข้อ จะเป็นข้อศอก ข้อเท้าก็ตาม มันจึงมีการเหยียดออกไป และการคู้เข้ามา หรือเพราะมันมีปากมีท้อง มันจึงมีความรู้สึกหิวกระหาย อย่างนี้เป็นต้น
ดังนี้เป็นการตั้งต้นชี้ให้เห็นในข้อที่ว่า เพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น กฎเกณฑ์อันนี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เป็นหลักสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ใช้ได้แก่ทุกคน คนที่อยู่ในโลกอย่างโลกๆ เป็นชาวโลก ก็มองเห็นกฎข้อนี้ได้ คนที่อยู่สูงขึ้นไป เป็นบรรพชิต เป็นนักบวช เป็นฤาษี มุนี โยคี ก็อาจจะมองเห็นข้อนี้ได้ เรียกว่าเป็นพุทธศาสนาแท้จริง ใช้ได้ทั้งสำหรับคนที่จะเวียนว่ายอยู่ในโลกนี้ หรือว่าคนที่จะออกไปจากโลก เป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นกลางๆ ไม่ตกไปฝ่ายข้างโน้น ไม่ตกไปฝ่ายข้างนี้ ไม่ตกไปในฝ่ายที่จะเป็นตัวกูหรือเป็นผู้อื่น ไม่ตกไปฝ่ายที่ว่ามีหรือไม่มี ล้วนแต่อยู่ในระดับกลางๆทั้งนั้น นี้เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เรียกเต็มที่ว่า ปฏิจจสมุปบาท
ผู้ใดเห็นอิทัปปัจจยตา เขาจะไม่มีโอกาสที่จะเห็นว่ามีตัวกูหรือของกู เห็นแต่เพียงว่าเพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนั้นกลายเป็นปัจจัย สิ่งอื่นย่อมเกิดตามขึ้นมาอีก เมื่อสิ่งนั้นกลายเป็นปัจจัยอีก สิ่งอื่นก็ย่อมมีขึ้นมาอีก แม้สิ่งที่กำลังรู้สึกว่าตัวกูของกู มันก็เป็นเพียงสิ่งชนิดนี้ ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง นี่เรียกว่า เขาเป็นผู้มีความรู้ที่จะข้ามความทุกข์ไปได้ เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นปัญหาอันมืดมนสำหรับบุคคลนั้น เดี๋ยวนี้เขาข้ามเสียได้ เรียกว่าเป็นผู้ข้ามสมุทรเสียได้ ในสมุทรนั้นเต็มไปด้วยคลื่น ในสมุทรนั้นเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ในสมุทรนั้นเต็มไปด้วยเกลียววน ตกลงไปในเกลียววนแล้วก็จมลึกลงไป ไม่มีทางที่จะโผล่ขึ้นมาเลย แต่ถ้าเป็นผู้รู้เรื่องอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสมุทร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ก็จะไม่ตกไปในกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาฝ่ายที่เป็นความทุกข์ แต่จะไหลไปตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาที่เป็นไปในฝ่ายดับทุกข์ ขอให้เข้าใจดีว่าเรื่องความทุกข์ก็ดี เรื่องความดับทุกข์ก็ดี ล้วนแต่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา
ถ้าเป็นอิทัปปัจจยตาที่อาศัยอวิชชาเป็นรากฐานแล้ว ก็เกิดปฏิจจสมุปบาทในลักษณะที่จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ แต่ถ้าได้เป็นอิทัปปัจจยตาที่อาศัยวิชชา ความรู้แจ้งอย่างถูกต้องเป็นรากฐานแล้ว ปฏิจจสมุปบาทนั้นก็จะเป็นไปในทางดับทุกข์ ย่อมมีอยู่เป็นสองฝ่ายดังนี้ ตั้งต้นที่ว่า เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น ก็เกิดการเห็นทางตาที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ ทั้งสามประการคือ ตาก็ดี รูปก็ดี จักษุวิญญาณก็ดี อาศัยกันแล้วนี้ กระทบกันแล้วนี้ เรียกว่าผัสสะ ตรงนี้เป็นจุดเลี้ยว เป็นจุดที่เรียกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ สัมผัสนี้เกิดมาจาก ตากับรูปและการเห็นทางตา ถ้าเป็นโอกาสแห่งอวิชชา มันก็เป็นอวิชชาสัมผัส ถ้าเผอิญมีสติสัมปชัญญะและมีความรู้เพียงพอ ก็กลายเป็นวิชชาสัมผัส ท่านทั้งหลายจงสังเกตดูให้ดีว่า สัมผัสนี้เกิดแบ่งแยกเป็น วิชชาสัมผัส หรืออวิชชาสัมผัส ขึ้นมาแล้ว มันจึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
ถ้าว่ามันเป็นไปในทางของวิชชาสัมผัส คือมีความรู้สึกตัวเพียงพอ มีความรู้แจ้งเพียงพอ มันก็ไม่เกิดเวทนาชนิดที่จะทำให้เป็นอวิชชาระคนอยู่ มันรู้แจ้งตามที่เป็นจริงเสียตั้งแต่เมื่อมีการสัมผัส ถ้าเกิดเวทนาขึ้นมา ก็กลายเป็นเวทนาสำหรับการรู้แจ้งต่อไปอีก คือเป็นความรู้สึก ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าทุกข์ว่าสุข อะไรก็ตาม แต่ทำให้เกิดความศึกษา ให้เกิดการศึกษาให้รู้แจ้งยิ่งขึ้นไปอีกว่านี่คืออะไร นี่เป็นอย่างไร นี่จะต้องทำอย่างไรต่อไป หรือว่าถ้าไม่ทำอะไรก็เลิกเสียก็ได้ สัมผัสที่เป็นวิชชาอย่างนี้ ให้เกิดเวทนาขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นการศึกษาให้รู้แจ้งยิ่งๆขึ้นไปอีก ไม่เป็นเวทนาสำหรับจะมาหลอกให้หลง มันต่างกันกับอวิชชาสัมผัส คือสัมผัสด้วยอวิชชา เกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว มันก็หลอกให้หลง ที่น่ารักมันก็รัก ที่น่าโกรธมันก็โกรธ หรือว่าที่ไม่รู้ว่าอะไร มันก็สงสัย
ถ้าได้เกิดสุขเวทนา เขาก็เพิ่มราคานุสัย คือความเคยชินที่จะรักมากขึ้น ถ้าได้รับทุกขเวทนา ก็เกิดปฏิฆานุสัย คือความเคยชินที่จะทำให้โกรธให้เกลียดมากขึ้นง่ายขึ้น ถ้าได้รับอทุกขมสุขเวทนา ก็ทำให้เกิดอวิชชานุสัย คือจะโง่มากยิ่งๆขึ้นไป มีความเคยชินที่จะสงสัยให้มันโง่ยิ่งๆขึ้นไปอย่างนี้ นี่คืออันตรายของอวิชชาสัมผัสที่ทำให้เกิดเวทนาแล้ว มันเป็นเรื่องเสีย เป็นเรื่องร้ายไปเสียทั้งนั้น เป็นสุข มันก็ทำให้ ให้ชินหรือให้เก่งในทางที่จะรักจะยึดถือ ถ้าว่าเป็นความทุกข์ ก็ทำให้เก่งในทางที่จะเกลียดหรือยึดถือด้วยความเกลียด ถ้าไม่มี อ่า, แน่ ไม่มีความแน่นอนอะไร ก็สงสัย ง่าย อ่า, ชินในการที่จะสงสัยอะไรหรือหวังอะไรให้มันมากเข้าไป เหมือนกับคนบางคนเก็บของบางอย่างไว้ ทั้งที่รู้ว่า อ่า, ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะเป็นประโยชน์อะไร ก็เก็บไว้ ก็เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ อย่างนี้ก็ยังมี พิจารณาดูในข้อนี้แล้วจะเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้เอง เป็นจุดตั้งต้นของปัญหาที่ทำความยุ่งยากลำบาก ถ้ามันเป็นเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงย้ำมากในข้อนี้ คือข้อที่เวทนาจะทำให้เกิดตัณหา แล้วเกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์
เราจะต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันในการสัมผัส ถ้าเวทนาเกิดขึ้น ให้เป็นเวทนาที่เรารู้จัก อย่าให้เป็นเวทนาที่เราหลงใหล ก็จะทำให้เวทนานั้นกลายเป็นเครื่องมือสำหรับเพิ่มความฉลาดให้แก่เรา ไม่เพิ่มหนทางที่จะเคยชินในการที่จะรัก หรือจะเกลียด หรือจะโกรธ หรือจะสงสัย ให้ไปพิจารณาดูในวันหนึ่งๆ เราได้เสวยเวทนาอันหนึ่งๆ แล้วเวทนานั้นเป็นอย่างไร คือมาเป็นผลดีแก่เรา หรือว่าเป็นผลร้ายแก่เรา ถ้าเรารู้จักสิ่งนี้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ที่เรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แล้ว ก็มีแต่ที่จะเป็นไปในทางดีหรือมีประโยชน์ คือจะเจริญก้าวหน้าไปในทางที่จะละกิเลสได้ จะปล่อยวางได้มากขึ้น จนปล่อยวางได้หมดในที่สุด ดังนี้ นี้คือผลของสัมมาทิฏฐิ ที่มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุ หรือเป็นเพียงสักว่าการปรุงแต่งทางอายตนะตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตา สัมมาทิฏฐิมีอยู่เป็น ๒ อย่าง คือโลกียะและเป็นโลกุตตระ โดยนัยยะดังว่ามา ขอให้พิจารณาดูให้ดีเถิด
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องกรรม อย่างที่ได้กล่าวแล้วเมื่อตอนกลางวันนั้นโดยเป็นหัวข้อย่อๆว่า พระองค์ก็ทรงสั่งสอนเรื่องกรรม แต่ไม่สั่งสอนเหมือนที่พวกอื่นหรือลัทธิอื่นเขาสอนกัน คือสอนให้มีหนทางที่จะพ้นหรืออยู่เหนืออำนาจของกรรมได้ เขาสอนกันอยู่แต่ก่อนนั้น สอนผิดๆก็มี ไม่เป็นไปตามกฎแห่งกรรมก็มี หรือว่าถ้าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ก็กลายเป็นว่าเราไม่มีทางที่จะออกมาเสียจากอำนาจหรืออิทธิพลของกรรมนั้น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นท่านได้ตรัสรู้สิ่งที่จะทำให้สิ้นกรรมหรือหมดกรรม แต่บุคคลที่ยังไม่อาจจะทำได้ ก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของกรรม คือละความชั่วเสีย กระทำแต่ความดี อย่างนี้ก็เรียกว่าปลอดภัยชั้นหนึ่งก่อน ถือว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้ต้องรับผลแห่งกรรมนั้น มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้วมันก็คงจะเลือกเอาแต่ฝ่ายข้างดี เว้นไว้แต่มีอวิชชาหรือมีมิจฉาทิฏฐิมากเกินไป ก็จะกลับกันเสีย เอาดีเป็นชั่ว เอาชั่วเป็นดี อย่างนี้มันยังลึกเกินไป มันยังต่ำเกินไป สักวันหนึ่งมันจะรู้จักเข็ดหลาบพอที่จะรู้ว่าดีก็เป็นดี ชั่วก็เป็นชั่ว ก็พยายามจะละชั่วเสีย พยายามที่จะยึดถือเอาความดีเป็นที่พึ่ง เพราะเรามีกรรมเป็นของตัว จะต้องเป็นไปตามกรรม ทำดีก็ต้องดี ทำชั่วก็ต้องชั่ว แล้วก็เป็นของแน่นอน ไม่มัวหลงใหล อ่า, สงสัยอยู่ว่าทำไมคนนั้นทำดี มันกลับมีความทุกข์ คนนั้นทำชั่ว มันกลับมีความสุข ท่านก็ไปดูที่เปลือกข้างนอก ไม่ได้ดูที่เนื้อในแท้จริง ว่าเมื่อสิ่งนั้นเรียกว่าดี พอทำเข้ามันก็ดี สิ่งนั้นเรียกว่าชั่ว พอทำเข้ามันก็ชั่ว ส่วนที่ได้เงินได้ของ หรือว่าสังคมเขาจะมองบุคคลนั้นในลักษณะไรนั้น มันเป็นเรื่องเปลือกนอก มันเป็นเรื่องผิดกันได้ เป็นเรื่องตบตาก็ได้ เป็นเรื่องที่ว่ามันแสดงกันแต่เปลือกข้างนอก ส่วนข้างเนื้อในข้างในนั้นมันจริงแท้ พอทำดีก็ดีเสร็จ พอทำชั่วก็ชั่วเสร็จ แต่โดยเหตุที่มีความก้าวก่าย เกี่ยวโยงกันมาก มันจึงแสดงอะไรออกมาแปลกๆพอที่จะทำคนโง่ให้หลงได้ สำหรับในชั้นนี้ที่เป็นเรื่องของศีลธรรมแล้ว ขออย่าได้มีความสงสัยเลย จงมีความแน่ใจลงไปว่า กฎแห่งกรรมนั้นมีอยู่ ว่าทำดี ทำอย่างนี้เรียกว่าดี ทำอย่างนี้เรียกว่าชั่ว โดยสมมติบัญญัติกันตามผลของการกระทำ ถ้าว่ามันเบียดเบียนตนและเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว เรียกว่ากรรมชั่ว ถ้ามันไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียด เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว มันก็เป็นกรรมดี คือทำให้มีความสุข ทำกรรมดีก็ดี ทำกรรมชั่วก็ชั่ว ขอให้พยายามทำไปโดยนัยยะที่ตายตัวอย่างนี้
ทำดีแล้วไม่ได้ดีนี้ มันเป็นสิ่งที่ก้าวก่ายกันอยู่กับกรรมอันอื่น ถ้าไม่มีอะไรมาแทรกแซงขัดขวาง มันก็จึงแสดงออกมาตามรูปนั้นๆ นี้ก็ขึ้นอยู่กับความโง่หรือความฉลาดด้วย ถ้ามีความฉลาดแล้ว ย่อมทำไปแต่ในทางที่จะแสดงออกมาตรงตามเรื่องราวของกรรมนั้นๆ ที่ดีหรือชั่วตามกรรมที่ได้บัญญัติไว้นั้นเอง ผู้ที่ตั้งมั่นในศีลธรรมจึงไม่มีความสงสัยในข้อนี้ เริ่มมีสัมมาทิฏฐิในข้อนี้เป็นบรรทัดฐานก่อน ว่าทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว
ทีนี้ต่อไปอีก เมื่อได้ดีหรือชั่วไปตามกรรมนั้นๆมากพอสมควรแล้ว ก็มีความคิดที่เดินสูงขึ้นไปว่า ถ้าอย่างไรการอยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่วนั้นจะน่า จะน่าปรารถนากว่า เพราะว่าไม่ต้องเป็นไปตามกรรมนั่นเอง ไม่ต้องเวียนว่ายไปในวัฏสงสารที่เหมือนกับอุปมาที่ว่าไว้ว่า เป็นทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวก็เหลว เดี๋ยวก็แข็ง เดี๋ยวก็เหลว เดี๋ยวก็แข็ง ถ้าอย่าต้องเวียนว่ายไปในลักษณะนั้นก็จะดี จึงหาทางออกที่จะทำให้อยู่เหนือกรรม ถ้าปัญญาเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็จะรู้ได้ขึ้นไปตามลำดับว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากรรมนั้นก็เป็นสักว่าธรรมชาติ หรือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ พูดว่ากรรมเป็นธรรมชาติหรือเป็นธาตุตามธรรมชาติ อย่างนี้คนทั่วไปฟังไม่ค่อยจะออก เพราะรู้กันแต่เรื่อง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ มันยังมีคำว่าธาตุในความหมายอย่างอื่น เช่นความจริงนี่ก็เป็นธาตุ ความไม่ตายนี้ก็เป็นธาตุ กฎเกณฑ์แห่งความจริงนี้ก็เป็นธาตุ กรรมก็เป็นธาตุในประเภทนี้ เป็นธาตุประเภทอสังขตธาตุในที่สุด คือเป็นกฎเกณฑ์หรือเป็นสัจจะของธรรมชาติ อย่าได้คิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลมากระทำกรรมแล้ว ก็จะมีกรรมเป็นของบุคคลเลย กรรมนั้นมีอยู่คือเป็นกฎอันหนึ่ง เมื่อไปทำเข้าด้วยกิริยาอาการอย่างไร ก็มีผลสะท้อนออกมาตามสมควรแก่กิริยาอาการนั้นๆ ตัวบุคคลแท้ๆก็เป็นเพียงว่าธาตุประกอบกันขึ้นคือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ได้โอกาสประกอบกันเข้าเป็นอายตนะ แล้วก็ไปทำให้เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน รู้สึกว่าตัวกูของกู นี้บุคคลมิได้มีอยู่ เมื่อบุคคลไม่ได้มีอยู่แล้ว บุคคลผู้กระทำกรรมก็ย่อมไม่มี กรรมก็เป็นเพียงการกระทำที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา ของสิ่งที่เรียกว่าธาตุ ว่าธาตุ ว่าขันธ์ ว่าอายตนะเป็นต้น ผู้เสวยผลกรรมก็มิได้มี เป็นเพียงสักว่าธาตุที่ปรุงแต่งกันไปตามเหตุตามปัจจัย ปรากฏออกมาเป็นความรู้สึกอย่างนี้ รู้สึกอยู่ในใจนี้ อย่าได้คิดว่าเป็นบุคคล เป็นตัวกูผู้เป็นเจ้าของความรู้สึกนั้นเลย
สุทธะธัมมา ปะวัตตันติ ธรรมชาติล้วนๆเท่านั้นเป็นไปๆๆ ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป เป็นธรรมชาติล้วนๆ เท่านั้น คำว่าธรรมชาติล้วนๆเท่านั้น ก็คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขา เป็นธรรมชาติคือธาตุทั้งหลายเหล่านั้นได้โอกาสประชุมปรุงแต่งกันไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตาว่า เมื่อมีปัจจัย เหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ มีผลเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ การเห็นอย่างนี้เป็นการเห็นที่ถูกต้อง เอเวตัง สัมมะทัสสะนัง การเห็นอย่างนี้เท่านั้นเป็นการเห็นที่ถูกต้อง
นี่แหละคือเรื่องของกรรม มันมีอยู่ถึงอย่างนี้ เราจะเป็นไปตามอำนาจของกรรมดี หรือว่าเราจะอยู่เหนืออำนาจของกรรมดี ถ้ายังมี รักจะมีตัวกูของกูอยู่แล้วก็อย่าหวังเลยที่ว่าจะได้เป็นผู้อยู่เหนืออำนาจของกรรม จิตนั้นไม่มีอำ ไม่มีโอกาสที่อยู่เหนือกรรมได้เลย เพราะมันยังมีตัวกูของกูอยู่ ทำอะไรมันก็เป็นกรรมไปเสียทั้งนั้น ยึดถือว่าเป็นกรรมแล้ว ก็ต้องยึดถือวิบากแห่งกรรมด้วย มันจึงเป็นไปตามวิบากกรรม ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามีตัวเราผู้ทำกรรม เป็นเพียงการปรุงแต่งของธรรมชาติล้วนๆ แล้วก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นๆ จึงไม่มีผู้เสวยวิบากของกรรม ที่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่ที่เนื้อที่ตัว มันก็เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ของสิ่งที่เรียกว่าอายตนะ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกได้ เรียกว่าเป็นขันธ์ตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ อย่ายึดถือเอามาเป็นอุปาทานขันธ์
พอเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้นแล้ว ก็เกิดจักษุวิญญาณ เป็นวิญญาณขันธ์ในขั้นเริ่มแรก ก็เกิดผัสสะซึ่งเป็นสังขารขันธ์นิดๆในขั้นเริ่มแรก จากผัสสะนั้นก็เกิดเวทนา ก็เป็นเวทนาขันธ์ เมื่อตากระทบรูป ก็จำได้ว่ารูปอะไร ก็เป็นสัญญาขันธ์นิดๆในขั้นเริ่มแรก เมื่อเกิดเวทนาขันธ์ขึ้นมา ก็จำได้ว่าสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา มันก็เป็นสัญญาขันธ์ในขั้นเริ่มแรก แต่ที่เต็มที่อยู่ก็คือเวทนาขันธ์ ว่ามันเป็นทุกข์หรือเป็นสุขอย่างใด ครั้นมีเวทนาเป็นสุขหรือทุกข์อย่างนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาคือความคิดที่เป็นไปตามอำนาจของเวทนานั้น ถ้าเวทนานั้นเป็นสุขก็คิดอย่างหนึ่ง อยากอย่างหนึ่ง ถ้าเวทนานั้นเป็นทุกข์ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง หรืออยากอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเวทนานั้นยังไม่ใช่สุขหรือทุกข์ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง หรืออยากอีกอย่างหนึ่ง ความอยากนี้คือสังขารขันธ์ ถ้าเกิดเวทนาขันธ์แล้ว ก็เกิดตัณหาซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เกิดตัณหาเป็นสังขารขันธ์อย่างนี้แล้ว มันก็เกิดวิญญาณขันธ์อันสุดท้ายที่จะรู้ว่ารูปนั้นเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร มีสัญญาที่สำคัญในอันสุดท้ายว่าตัวกูว่าของกู ว่าเวทนานี้ของกูเป็นต้น คือสำคัญ สังขารขันธ์ที่รู้สึกในเวทนานั้นว่านั่นตัวกู ไม่มีความรู้เลยว่านั่นเป็นเพียงสัญญาขันธ์หรือสังขารขันธ์เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าทั้งรูป และเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านั้นได้ถูกกระทำให้เป็นอุปาทานขันธ์ไปหมดแล้ว ยึดถือรูปโดยความเป็นตัวตนก็มี เป็นของของตนก็มี ถ้าเกิดความพอใจในรูปก็ยึดถือรูป ถ้าเกิดความพอใจในเวทนาก็ยึดถือเวทนาอย่างนี้ไปเสียทั้งนั้น ดังนั้นขันธ์ทั้งห้าแต่ละอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือความยึดถือได้ด้วยกันทั้งนั้น จะยึดถือว่าตัวกูก็ได้ ยึดถือว่าของกูก็ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ฟังอย่างกับว่าเป็นเรื่องนิทานเลย จงไปพิจารณาดูให้ดีให้ลึกซึ้งด้วยจิตใจของตน เพื่อให้เห็นชัดลงไปว่าอย่างไรเรียกว่าขันธ์ อย่างไรเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ถ้ายังเป็นเพียงขันธ์ก็ยังไม่มีความทุกข์ พอเป็นอุปาทานขันธ์เช่นว่ารูปของกู เวทนาของกู สังขารคือตัวกู อย่างนี้เป็นต้นเข้ามาแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ คือเป็นอุปาทานขันธ์แล้ว
ให้ระลึกนึกถึงบทที่สวดอยู่ทุกๆเช้าว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เป็นพระพุทธภาษิตที่สรุปไว้ให้ว่า โดยสรุปแล้วขันธ์ทั้งห้าที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ดังนี้ นี่แหละคือขันธ์ ขันธ์ห้าและอุปาทานขันธ์ห้า อย่าได้คิดว่าเรามีขันธ์ทั้งห้าอยู่ตลอดเวลาเลย เป็นการเดาเอาเอง ว่าเอาเอง เข้าใจผิดเอาเอง แล้วก็ยึดถือเอาความผิดนั้นไว้เป็นหลัก มันก็เป็นหลักที่ผิด มันก็เป็นอวิชชา มันก็นอนหลับด้วยอวิชชาอยู่เรื่อยไป สิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นมันจะมีต่อเมื่ออายตนะได้เกิดขึ้น อายตนะมันจะมีก็ม่อ ต่อเมื่อธาตุทั้งหลายได้ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุด้วยปัจจัย ธาตุปรุงแต่งให้เกิดอายตนะ อายตนะก็ปรุงแต่งให้เกิดขันธ์ ถ้าเป็นเกิดขันธ์เฉยๆ ก็ยังไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันเกิดอุปาทาน กลายเป็นอุปาทานขันธ์แล้วมันก็เป็นทุกข์ เช่นว่าตาของเราเหลือบไปเห็นดอกไม้ดอกหนึ่ง ถ้าเพียงเห็นแต่ว่าเป็นดอกกุหลาบสีสวยดี นี้ก็เป็นเพียงสัญญาขันธ์หรือว่าเวทนาขันธ์ว่ามันสวยดีแต่ยังไม่ได้ยึดถือ ถ้าความคิดมันมากไปกว่านั้น เพราะว่าตัวมีกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ยึดถือโดยความเป็นของที่จะเอาเป็นของตนเป็นต้น มันก็ต้องเกิดเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา จะต้องมีความหนักอกหนักใจบ้างไม่มากก็น้อย หรือว่ายึดถือมากถึงกับไปเอามาเป็นของตัว ก็หลงใหลในความสวยความงาม เมื่อมีใครมาแย่งชิงเอาไป ก็ถึงกับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ อย่างนี้เรียกว่าขันธ์นั้นๆได้กลายเป็นอุปาทานขันธ์ไปแล้วดังนี้ ดอกกุหลาบนั้นก็เป็นเพียงรูปธรรมเฉยๆ ก็กลายเป็นรูปขันธ์ มันเนื่องอยู่ในรูปขันธ์สำหรับบุคคลนั้น เวทนาที่เป็นเพียงปฏิกิริยาเกิดขึ้นจากการเห็นเป็นต้น ก็กลายมาเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นเวทนาที่ถูกยึดถือ ทั้งฐานความคิดว่าตัวกูก็เกิดขึ้นสำหรับยึดถือ มันก็เป็นทุกข์ไปได้แม้เพราะสิ่งที่ไม่มีความหมายอะไร คือดอกไม้ดอกนั้น ดังนี้
ทีนี้เรื่องที่คนเกี่ยวข้องกันอยู่นั้นมันไม่ใช่เล็กๆน้อยๆอย่างนั้น มันเป็นเรื่องรูป เรื่องสี กลิ่น รส สัมผัสที่เนื่องอยู่ด้วยความรู้สึกทางเพศหรือทางกามารมณ์โดยตรง จึงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถืออันใหญ่หลวง จึงต้องมีความยึดถือมาก มีความทุกข์มาก นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรม เป็นการแสดงตามที่เป็นจริง ให้รู้ว่ามันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ที่เป็นตัวกูของกู ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า คนยากจนเข็ญใจอาจจะรู้ได้ไหม คนที่มั่งมีเป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมหาศาล กระทั่งเป็นเทวดาในวิมานนั้นจะรู้ได้ไหม ใครจะมีโอกาสรู้ได้ก่อนกว่ากัน คือมีความง่ายในการที่จะรู้ได้ยิ่งกว่ากัน ดังนี้ขอให้หยุดเสียทีเถิด อย่าได้พูดได้กล่าวอีกต่อไปว่า ให้อิ่มปากอิ่มท้องเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาสนใจในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าไปที่กรุงเทพฯ จะได้ยินคำพูดนี้มากที่สุด แสดงว่าคนที่กรุงเทพฯยังโง่มากที่สุด ที่จะพูดว่าอิ่มปากอิ่มท้องเสียก่อนแล้ว จึงมาสนใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คนบ้านนอกไม่ค่อยพูดอย่างนี้ มีความทุกข์ก็ก้มหน้าก้มตาต่อสู้ไป และขวนขวายที่จะใกล้ชิดพระธรรมะของพระพุทธเจ้าให้มากเข้าไว้เสมอไป
ทำไมจึงว่าคนที่กรุงเทพฯโง่มาก เพราะมีความลำเอียงหรืออยากจะด่าคนที่กรุงเทพฯหรืออย่างไร มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าที่กรุงเทพฯนั้น มันมีอะไรยั่วยวนมาก มันเต็มไปด้วยสิ่งที่ปรุงแต่งกันขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว คือให้มันมายั่วคนให้หลงใหลได้ยิ่งๆขึ้นไป ถ้ามีแต่ของธรรมดา มันก็ยั่วไม่ได้ ทีนี้เขาร่ำรวยกันมาก เขาก็หาไอ้สิ่งที่มายั่วยวนได้มากกว่า จึงมีโอกาสที่จะหลงใหลได้มากกว่า ไม่อยากจะหันหน้ามาสนใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เลยยุกันเองว่ายังไม่อิ่มปากอิ่มท้องก็อย่าเพิ่งไปสนใจในพระธรรมคำสอนเลย ถ้าสอนกันอยู่อย่างนี้ ก็จะมีอันธพาลขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองโดยไม่ต้องสงสัย จึงหวังว่าท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทจะได้คิดกันดูเสียใหม่ให้ดี ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า กิเลสนี้มันไม่เกี่ยวกับคนมั่งมีหรือคนยากจน แต่การจะดับเสียซึ่งกิเลสนั้นมันก็ต้องอย่างเดียวกันอีก ถ้าใครมีกิเลส มันก็เกิดร้อนเป็นไฟ ก็จำเป็นที่จะต้องจัดการให้ความทุกข์ความร้อนนั้นหายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จงระลึกนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ว่า เรามอบโลกุตตรธรรมอันประเสริฐให้เป็นทรัพย์ส่วนตัวของบุคคลแต่ละคนละคนดังนี้
ทีนี้ก็ดูกันให้ดีว่า เราจะรับเอาโลกุตตรทรัพย์ของพระพุทธเจ้านี้มาได้อย่างไร คนใดมีความทุกข์ คนนั้นก็มีโอกาสที่จะได้รับโลกุตตรทรัพย์นี้ตามสัดส่วนที่ตนจะมีความทุกข์ และรู้จักความทุกข์นั้นมากน้อยเท่าไร ถ้าเราเป็นคนจน สัมผัสกันอยู่แต่กับความทุกข์ ก็อย่าได้ไปโง่ทุกข์ร้อนนั่งร้องไห้อยู่เลย พยายามศึกษาตัวความทุกข์นั้น ก็จะสามารถเข้าใจไปในทางที่จะหยุดความรู้สึกอันเป็นทุกข์เสียได้ แม้ว่ามีสิ่งต่างๆเป็นไปตามสภาพที่เป็นอยู่ตามเดิมนั้น ซึ่งเราเคยทุกข์มาก เคยเดือดร้อนมาก เดี๋ยวนี้มันก็จะมีความทุกข์น้อย มีความเดือดร้อนน้อย คนจนก็เป็นพระอรหันต์ได้ หรือบางทีจะง่ายเสียกว่าคนมั่งมี เพราะว่าคนจนต้องคิดมาก คนมั่งมีก็เพลิดเพลินมาก นี่แหละคือข้อดีที่ว่าคนมั่งมีจะต้อง ทำอะไรคนจนไม่ได้ หรือคนจนก็ไม่มีทางที่จะเสียเปรียบคนมั่งมี เมื่อเอาธรรมะเป็นหลักแล้ว มันก็เลิกความเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน เพราะว่าคนที่มีธรรมะมากนั่นแหละคือคนมั่งมีโดยแท้จริง
นี้คือธรรมะที่อาตมานำมาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่า เราจะต้องทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์เพื่อเป็นการกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์ ในตอนบ่ายได้พิจารณากันมาอย่างละเอียดลออแล้วว่าพระพุทธองค์นั้นมีกรุณา มหา อ่า, มหากรุณาคุณ มีบุญคุณต่อเรา เราเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ นี้กล่าวโดยสมมติตามโวหารที่ชาวบ้านก็ถือกันอยู่และรู้สึกกันอยู่ว่า ผู้ที่เป็นหนี้บุญคุณนั้น ถ้าจะเป็นลูกหนี้ที่ดีก็ต้องสนองคุณ แต่เดี๋ยวนี้มันยิ่งกว่านั้น คือว่าการสนองคุณของพระพุทธเจ้านั้น มันกลายเป็นการดับความทุกข์ให้แก่ตัวเอง
พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ประหลาด น่า อ่า, น่าอัศจรรย์ ขนาดที่เรียกว่ามหัศจรรย์ พระองค์มาทวงหนี้บุญคุณเรา ก็กลายเป็นว่าเราต้องรีบดับทุกข์ให้แก่ตัวเราเพื่อสนองพระคุณของพระองค์ เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงประสงค์อย่างอื่นเลย ความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ประสงค์แต่จะช่วยขนสัตว์ทั้งหลายให้ออกไปเสียจากความทุกข์ หน้าที่ของพระองค์ก็เป็นอย่างนั้น ความหวัง ความประสงค์ของพระองค์ก็คือจะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ ถ้าเรากตัญญูต่อพระองค์ เราก็ต้องทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าทำความดับทุกข์ให้แก่ตนเสียโดยเร็ว นี้เรียกว่าประโยชน์ตน บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงที่สุด ให้ลุล่วงไปด้วยดีนี้ชื่อว่าคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงประสงค์อย่างนั้น ทรงสั่งไว้อย่างนั้น ทรงตรัสไว้ในลักษณะเป็นพินัยกรรมคำสั่งในนาทีสุดท้ายว่า พวกเธอทั้งหลายจงไปทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ท่านทรงประสงค์อย่างนี้ ถ้าเราสนองพระพุทธประสงค์แล้วก็ชื่อว่าเป็นคนกตัญญูกตเวที
ในโอกาสแห่งการกระทำวิสาขบูชาในวันนี้ อาตมาขอร้องท่านทั้งหลายให้สำนึกในพระคุณของพระองค์ในธรรมเทศนากัณฑ์แรก ในธรรมเทศนากัณฑ์ที่สองนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายให้สนองพระคุณของพระองค์โดยทำให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ คือรีบบำเพ็ญประโยชน์แห่งตนให้สำเร็จบริสุทธิ์บริบูรณ์เถิด ก็จะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีใช้หนี้แก่พระพุทธองค์ได้ครึ่งหนึ่งแล้ว
ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงหน้าที่ที่จะทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ครบถ้วนอีกครึ่งหนึ่ง เราก็จะเป็นผู้สนองพระพุทธประสงค์ครบบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกประการ ธรรมเทศนาในตอนนี้ก็สมควรแก่เวลา จึงต้องขอยุติไว้สักครั้งหนึ่งก่อนเพื่อความพักผ่อน และพระสงฆ์ทั้งหลายก็จะได้สวดข้อความอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะที่จะช่วยกระตุ้นจิตใจของท่านทั้งหลายให้เกิดความพอใจ กล้าหาญ ร่าเริงในการที่จะปฏิบัติตามพระธรรมนั้นเพื่อสนองพระคุณ ขออาราธนาพระสงฆ์ทั้งหลายได้สวดโถมนาการปาฐะ ในโอกาสนี้ต่อไปเถิด.