แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาแล้วในตอนต้นแห่งราตรีนี้ เป็นธรรมเทศนา ปรารภอาสาฬหบูชา คือวันที่สมมุติกันว่าเป็นวันแห่งพระธรรม ได้พิจารณากันในหลายแง่หลายมุมที่เกี่ยวกับพระธรรม และโดยเฉพาะที่ยังเป็นปัญหาหรือว่าเป็นความบกพร่องไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการประพฤติของเราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทอยู่ในยุคนี้
บัดนี้จะได้กล่าวต่อไปถึงลักษณะแห่งจิตใจของพุทธบริษัทผู้ประกอบอยู่ด้วยธรรม ว่าจิตใจของพุทธบริษัทเห็นปานนั้น ย่อมกล่าวได้ว่ามีลักษณะอย่างไร จิตใจของพุทธบริษัทที่แท้จริงจะมีหลักพื้นฐานเป็นอย่างไร นี้เป็นสิ่งที่ควรพินิจพิจารณาให้เป็นอย่างยิ่ง ดูเหมือนว่าเราจะไม่เคยคิดกันถึงข้อนี้ แม้เป็นเรื่องของตนเอง เป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจของตนเอง ก็ไม่ได้เคยตั้งเป็นปัญหาขึ้นมาสำหรับพิจารณากันโดยละเอียด ข้อที่ว่าจิตใจของพุทธบริษัทที่แท้จริง จะมีลักษณะพื้นฐานเป็นอย่างไรนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกับว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ เดี๋ยวนี้ก็มีแต่ความประมาท ก็เพราะไม่รู้ว่าพุทธบริษัทที่แท้จริงนั้น จะต้องมีจิตใจเป็นอย่างไร ไม่รู้ก็ประมาท ก็เลยไม่ต้องรู้กันตลอดไปว่าควรจะมีจิตใจอย่างไร และบกพร่องอยู่อย่างไรจะต้องแก้ไขกันต่อไปอย่างไร จึงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะได้พูดกันเสียสักครั้งหนึ่งว่า ลักษณะแห่งจิตใจของพุทธบริษัทที่แท้จริงนั้นควรจะมีอย่างนี้ๆ เป็นต้น
ข้อแรกที่สุดควรจะถือว่าพุทธบริษัททุกคนจะต้องไม่มีความสงสัย ลังเลหรือความสลัวไม่แจ่มชัดในธรรมะที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจของตน หรือเกี่ยวกับความเป็นพุทธบริษัทของตน เช่นว่ายังไม่แน่ใจว่าการเป็นมนุษย์นี้เป็นการประเสริฐที่สุด เพราะเห็นว่า เพราะสังเกตเห็นว่ามีหลายคนอยากจะเป็นอย่างอื่นที่มิใช่มนุษย์ ดูเหมือนที่ต้องการเป็นกันมากก็คือจะไปเป็นเทวดา ที่มีนางฟ้า มีสวรรค์ มีวิมาน มีอะไรต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่มนุษย์ นี้แสดงว่าพุทธบริษัทคนนั้นเป็นพุทธบริษัทถูกต้องหรือเปล่า เป็นพุทธบริษัทแท้จริงหรือเปล่า ถ้ายังอยากจะเป็นเทวดาก็หมายความว่าไม่พอใจในการที่ได้เป็นมนุษย์ เห็นว่าเป็นเทวดาดีกว่า อย่างนี้ก็ควรจะถือว่าเขาไม่เห็นว่ามนุษย์นี้มันเป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด ไม่มองเห็นค่าของความเป็นมนุษย์ว่าประเสริฐที่สุด ที่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นสัตว์ที่มีโชคดี คือมีสติปัญญาเหมาะสมที่จะทำการดับทุกข์ได้ การที่เขาคิดอยากจะเป็นเทวดายิ่งกว่าอยากเป็นมนุษย์นั่นมันเป็นเพราะอะไร ก็ไม่มีอะไรอื่นมากไปกว่าความลุ่มหลงในลักษณะต่างๆ ที่เขาพรรณนากันไว้สำหรับการเป็นเทวดา แต่เมื่อรวบรวมมาในที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของกามารมณ์ คิดดูเถิดว่าคนที่ต้องการเป็นเทวดานั้นเป็นอย่างไร ไม่มองเห็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อก่อนก็เป็นเทวดายังอยู่ในเทวโลก พอจะเป็นพระพุทธเจ้า มันกลับเป็นในเทวโลกไม่ได้ ต้องมาเป็นพระพุทธเจ้าในหมู่มนุษย์ แล้วยังจะเห็นว่ามนุษย์นี้มันเลวกว่าเทวดา มันจะโง่หรือว่ามันจะฉลาด ก็ลองคิดดูกันในข้อนี้ ที่เขาพูดว่าเป็นเทวดาในเมืองเทวดาเป็นสุขสนุกสนานอย่างนั้นอย่างนี้ มันเชื่อ แต่พอได้ยินพูดว่าพระพุทธเจ้าต้องละจากโลกเทวดามาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์นี้ ไม่อยากจะเชื่อ นี่ก็เรียกว่าลำเอียงเพราะว่าข้อความที่กล่าวอย่างนี้มันเป็นข้อความในระดับเดียวกันหรือว่าในคัมภีร์ชนิดเดียวกัน เขาก็ไม่เชื่อ
ยิ่งในพระไตรปิฎกเอง ก็ยังมีกล่าวในข้อที่ว่าพวกเทวดานั้นต้องมาแสวงหาสุขคติในโลกมนุษย์ มีอยู่ในสูตรๆ หนึ่งว่าเทวดาพอจะตายขึ้นมาคือจะจุติ จะต้องตายขึ้นมานี่ ก็มีปัญหาว่าจะไปเกิดที่ไหนดี จึงจะเป็นสุขคติ ค้นไปค้นมา ในที่สุดก็พบว่าในโลกมนุษย์เป็นสุขคติของเทวดา เทวดาทั้งหลายก็เห็นด้วย ในที่ประชุมของเทวดานั้นก็ตกลงว่ามาเกิดเป็นมนุษย์นี่ เป็นสุขคติสำหรับเทวดา แต่แล้วก็ปล่อยให้มาเกิดเป็นมนุษย์เฉพาะแต่เทวดาตัวนั้นตัวเดียวที่มันจะตายขึ้นมา มันจะจุติขึ้นมา เพราะความจำเป็นมันบังคับ เทวดาอื่นๆ ไม่อยากมา หัวหน้าเทวดาท้าวสักกะนี่ ก็ไม่อยากมา ก็ยังคงหลงใหลอยู่ในเทวโลก เรื่องมันก็น่าหัวเราะ หลายอย่างหลายซับหลายซ้อน นับตั้งแต่ว่าคนที่อยู่ในโลกมนุษย์แล้วก็ยังจะอยากไปเกิดในโลกเทวดา เกิดในโลกเทวดาแล้วก็กลับกันมาหาสุขคติในโลกมนุษย์ แล้วก็ให้ลูกสมุนตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งมาเกิด เทวดาทั้งฝูงนอกนั้นรวมทั้งหัวหน้าเทวดาก็ยังไม่อยากจะมาเกิด ยังอยากจะหลงใหลอยู่ในเทวโลก อย่างนี้เรียกว่าเป็นความสับสน เป็นความสงสัย พุทธบริษัทผู้ใดยังสงสัยอยู่ว่าเป็นเทวดาดี หรือเป็นมนุษย์ดี หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานดี อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นพุทธบริษัทแท้จริงนี่ ก็ต้องมีจิตใจที่มีความแน่นอนลงไปว่าการได้เป็นมนุษย์นี้ ได้ประเสริฐที่สุดแล้ว ที่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานนั้นก็ดีกว่า นั้นมองเห็นง่าย แต่ว่าที่ดีกว่าเทวดานี้ มองเห็นยาก ก็ควรจะมองกันเสียให้แน่ลงไปว่าเป็นเทวดาในเทวโลกนั้น มันก็มีความบ้าชนิดหนึ่งมากไปกว่ามนุษย์ มีโลภะ โทสะ โมหะเหมือนมนุษย์ แต่ก็มีบุญสำหรับที่จะให้บ้าให้หลงให้เพลินไปในเรื่องของกามารมณ์ แล้วไปคิดดูเถิดว่าความเป็นพุทธบริษัทของเทวดาชนิดนั้นมันมีกี่มากน้อย ถ้ามาเทียบกันกับพุทธบริษัทในเมืองมนุษย์นี้ ที่แน่ใจในความเป็นมนุษย์ว่าประเสริฐที่สุดนี้ มันเป็นพุทธบริษัทกี่มากน้อย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของความสงสัย ถ้าผู้ใดยังสงสัยว่าเป็นเทวดาดี หรือเป็นมนุษย์ดี ก็อย่าเพิ่งอวดดีว่าเป็นพุทธบริษัทหรือมีจิตใจอย่างพุทธบริษัท ไม่มีความสะอาด สว่าง สงบ หรือว่าไม่มีความรู้แจ้งพอที่จะตัดสินลงไปว่าเป็นเทวดาดีหรือเป็นมนุษย์ดี โดยหลักพื้นฐานทั่วๆ ไปแล้ว ในจิตใจของพุทธบริษัทที่แท้จริงควรจะถือว่าเป็นมนุษย์นี่ดีที่สุดแล้ว เพราะมันไม่มีกามารมณ์มาเป็นเหยื่อล่อให้หลงใหลไปทั้งวันทั้งคืน นี้ก็เรียกว่าดี มันมีความทุกข์บ้างตามสมควรที่จะให้ฉลาด เพราะว่าความทุกข์มันสอนให้ฉลาด ความสนุกสนานเพลิดเพลินมันทำให้โง่ ที่อยากจะไปอยู่ในเทวโลกกันก็เพื่อสนุกสนานเพลิดเพลินทางกามารมณ์ จะทำให้โง่ ในเมืองมนุษย์นี้ยังจะต้องอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ไม่มากก็น้อย ก็ได้ทำให้รู้จักความจริงว่าอะไรมันเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นเทวดาชั้นสูงสุดที่เรียกว่าปรนิมมิตวสวัตตี เป็นเทวดาชั้นที่มีผู้คอยเอาอกเอาใจหาให้ บำรุงบำเรอให้ทันอกทันใจทุกอย่างยิ่งกว่าเทวดาพวกไหน เทวดาพวกนี้แหละคือโง่ที่สุด ถ้าไม่โง่จริงๆ เขาก็ไม่บัญญัติเทวดาชั้นนี้ว่าเป็นมารโลก เป็นโลกที่อยู่ของมาร พญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้านี้ก็กล่าวไว้ชัดในคัมภีร์ว่ามาจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี คือสวรรค์ชั้นกามาวจรสูงสุด มีการได้อย่างใจไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มีคนคอยอำนวยให้โดยไม่ต้องทำเอง ก็กลายเป็นมารโลกคือโลกที่กักขังให้ลุ่มหลงยิ่งกว่าสิ่งใด จึงมากพอที่จะมาเป็นมาร เป็นพญามารมาผจญพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัตว์ที่ยังมีโพธิไม่เบิกบานถึงที่สุด ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี้ยังต้องผจญกับมารตัวนี้ที่เรียกว่าปรนิมมิตวสวัตตีมาร ลองใคร่ครวญไปตามนี้ก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเทวดาหรือสูงสุดจนเรียกว่ามารนี้ขึ้นมาได้เองว่ามันอยู่ที่ไหน มันเหมือนกับที่เขาเล่าไว้ในเรื่องนั้นๆ หรือว่าที่แท้มันก็อยู่ในจิตใจของคนนั่นเอง ถ้าจะเอาทั้งหมดมาใส่ไว้ในจิตใจของคนมันก็ไม่ยากเพราะว่าจิตใจของคนๆ หนึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่ง ก็บัญญัติได้ว่าอย่างหนึ่ง จิตใจที่ยังต่ำมาก มันก็เป็นนรก เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผิดจากนี้ก็มาเป็นมนุษย์ ถ้าแปลกไปจากนั้นอีกก็ไปเป็นเทวดา นานาแบบหลายๆ ชนิด กระทั่งเทวดาที่ได้นามว่ามารสำหรับผจญพระพุทธเจ้า
เราลองเอาอบายทั้ง ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนี้ไว้ฝ่ายต่ำ แล้วก็เอาเทวดาในกามาวจรสวรรค์ทั้ง ๖ นั้นไว้ชั้นบน แล้วให้มนุษย์นี้อยู่ตรงกลาง ให้ขนาบสองข้างอยู่ด้วยอบายกับสวรรค์ และพิจารณาดูทีว่าจะเป็นอย่างไร ใครจะดีกว่าใคร ในที่สุดจะพบคำตอบได้เองว่าเป็นมนุษย์อยู่ตรงกลางระหว่างอบายกับสวรรค์นี่แหละมันดี มันเหลียวดูได้ทั้งสองข้าง มันก็เห็นว่าข้างนี้เป็นอย่างไร ข้างนั้นเป็นอย่างไร ก็จะได้เปรียบเทียบกัน ก็จะได้รู้จักเลือก ในเวลาที่จิตใจของเราร้อนเหมือนกับไฟไหม้ ก็เป็นนรกชนิดหนึ่งนี้เป็นอย่างไร ในเวลาที่จิตใจของเราคนเดียวกันนี่แหละ มันเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางกามารมณ์สูงสุด นี้จิตใจมันเป็นอย่างไร หรือว่าอยู่ตรงกลางไม่ต้องเป็นทั้งสองอย่าง อย่างนั้นมันจะดีไหม มันไม่ขึ้น มันไม่ลง มันไม่ฟู มันไม่แฟบเรื่องของโลกๆ นี้ มันก็คงจะดีกว่า ฉะนั้นก็จะถือว่าจิตใจระดับนี้แหละมีประโยชน์ที่สุด สะดวกสบายในการที่จะคิดนึกศึกษาหรือประพฤติปฏิบัติธรรมะให้หลุดพ้นออกไปจากความเวียนว่ายอยู่ในโลกเหล่านี้ได้ คือโลกทุกขคติ สุขคติอะไรนี้ จะพ้นไปได้ พุทธบริษัทเห็นแจ้งอย่างนี้จึงจะมีจิตใจอย่างพุทธบริษัทที่แท้จริง ไม่ตกไปฝ่ายต่ำเป็นอบาย และก็ไม่เหลิงเจิ้งไปฝ่ายสูงเป็นเทวดา คงรักษาความเป็นมนุษย์ไว้จะดีกว่า คำว่ามนุษย์มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่ามีจิตใจสูง นี้ก็ย่อมบอกอยู่ในตัวอีกเหมือนกันว่าทั้งอบายและทั้งเทวดานั้นมันจิตใจต่ำ สัตว์ในอบายมีจิตใจต่ำมีความทุกข์ สัตว์ในสวรรค์พวกเทวดาก็มีจิตใจต่ำคือหลงใหลอยู่ในเรื่องของเนื้อหนัง มนุษย์ที่อยู่ตรงกลางนี่กลับมีจิตใจสูง ไม่เป็นสัตว์ที่ต่ำอย่างอบาย ก็ไม่เป็นสัตว์ที่สูงเพ้อเจ้ออย่างพวกเทวดาทั้งหลาย พิจารณาดูให้ดีแล้วก็เชื่อว่าท่านทั้งหลายก็คงจะเห็นด้วยว่าพุทธบริษัทควรจะพอใจในความเป็นมนุษย์ของตนในฐานะที่ว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด อย่าได้ลังเล สงสัยหรือว่าลังเลที่จะไปเป็นเทวดา หรือแม้ว่าจะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงข้อที่ว่าพุทธบริษัทนี่ จะมองแคบเข้ามาอีก จะไม่นึกถึงเรื่องข้างหน้าที่เรียกว่าโลกหน้า ตายแล้วไปเกิดอีก หรือจะไม่ต้องนึกถึงข้างหลังที่ว่าเคยเกิดมาแล้ว เคยอะไรมาแล้ว มันทำให้มากเรื่อง มันเสียเวลา จะต้องสนใจอยู่แต่ในเรื่องปัจจุบันนี้ที่กำลังมีอยู่จริงคือความเป็นมนุษย์นี่ กำลังไม่หลุดพ้น ก็จะต้องสนใจให้มันหลุดพ้นให้ได้ ความข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านเปรียบไว้ ก็เหมือนกับบุรุษที่เขาถูกยิงด้วยลูกศรเจ็บปวดอยู่ เขาจะต้องทำโดยด่วนที่สุดคือเอาลูกศรนี้ออกให้ได้ อย่าไปมัวคิดข้างหลังข้างหน้าอะไรให้มันมากกว่านั้นว่าใครมันยิงเรา ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษชนิดไหน มันเป็นคนเมืองไหนที่มันมายิงเรา หรือมันจะต้องการอะไร มันเพื่อประโยชน์อะไร นี่มันเสียเวลาที่จะต้องไปคิดไปนึกตั้งร้อยเรื่องพันเรื่อง มีเรื่องที่ต้องคิดเพียงเรื่องเดียวว่าเดี๋ยวนี้จะเอาลูกศรออกเสียอย่างไร รักษาแผลให้หายเสียได้อย่างไร มันเรื่องเดียวเท่านี้ พุทธบริษัทจึงมีเรื่องเดียวเท่านั้น จะดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปเสียเวลาตั้งคำถามเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดอะไรไปเกิด มันเสียเวลา รักษาแผลให้หายเดี๋ยวนี้ ดับความทุกข์ให้หมดสิ้นไปเสียแต่เดี๋ยวนี้ มันก็ย่อมมีผลไปถึงกับว่า เอ้า,ตัวเราไม่มี ตัวฉันไม่มี ตัวเราไม่มี และก็จะมีปัญหาอะไรว่าจะไปเกิดหรือไม่ ตายแล้วไปเกิดอย่างไร ก็อยู่ที่นี่มันก็ยังไม่มีตัวเราเสียแล้ว นี่เรื่องของพุทธบริษัทที่แท้จริง มีความเห็นอย่างนี้ มีความคิดอย่างนี้ มีความแจ่มแจ้งอย่างนี้อยู่ในจิตใจ เพราะเราไม่มีเรื่องอะไรนอกจากจะดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าดับได้จริงมันหมดตัวเรา แล้วมันก็เลิกพูดกันว่า จะไปเกิดเป็นอะไรหรือว่าจะเวียนไปอย่างไร นี่หยุดได้ นี่ความสงสัยก็ไม่มี ถ้าไปคิดว่ามันตายแล้วจะไปเกิด จะไปเกิดอย่างไร อะไรพาไปเกิด มันก็มีความสงสัยเพิ่มขึ้น ความสงสัยนั่นแหละมันคือลูกศรอย่างร้ายกาจที่สุด เป็นลูกศรที่มันก็ถอนออกยาก แม้ว่าจะไม่เจ็บปวดเหมือนกับไฟไหม้ แต่มันก็ถอนออกยาก มันไม่ยอมหลุดออกง่ายๆ โมหะหรืออวิชชาหรือความสงสัยนี้เป็นลูกศรชนิดที่ไม่แสดงตัวให้ปรากฏ ถ้าเป็นราคะ โทสะ มันก็เจ็บปวดเจ็บร้อนไป แต่ถ้าเป็นโมหะเป็นอวิชชาแล้วมันไม่ค่อยจะปรากฏ มันเป็นลูกศรที่น่ากลัวกว่า คือลูกศรแห่งความลังเลความสงสัย นี้เป็นลูกศรที่จะต้องถอนก่อน ก่อนราคะ ก่อนลูกศรคือราคะ ก็ดูที่ว่าความเป็นพระโสดาบันนั้น จะต้องละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส ล้วนแต่ละโมหะทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิจิกิจฉาคือความสงสัย มันไม่แน่ใจลงไปว่าอะไรเป็นอะไร ตัวเองเป็นอะไร เรื่องมันมีอย่างไร มันก็ไม่รู้เสียแล้ว มันก็เลยไม่รู้ไปถึงเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จะต้องเป็นอย่างไรกันแน่ เรื่องตัวเองก็ไม่รู้ ก็สงสัยเสียแล้ว เรื่องที่จะมาเป็นที่พึ่งของตัว มันก็พลอยสงสัยด้วย เพราะตัวปัญหาแท้จริง ต้นตอเดิมแท้จริง มันก็เป็นความสงสัย เป็นเรื่องสงสัยในตัวเสียแล้ว มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็นมนุษย์นี้มันเป็นอย่างไร เป็นทำไม มีอะไรเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ฉะนั้นเราจะต้องละความสงสัยในเรื่องที่รบกวน ไม่เห็นความกระจ่างได้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด อะไรพาไปเกิด มันก็ต้องเป็นเรื่องเชื่อ เชื่อแล้วก็ไม่เชื่อจริง มันก็สงสัย ก็ลำบาก ฉะนั้นโกยทิ้งไปเสียทั้งหมด ให้มันหมดความสงสัยในข้อนี้ว่าเราจะสนใจแต่เรื่องดับทุกข์กันให้เสร็จสิ้นไปโดยด่วนโดยเร็วที่สุดในปัจจุบันนี้ ดับทุกข์ได้คือดับตัวตนหมด ไม่มีตัวตนแล้วปัญหามันก็หมด มันจะเอาอะไรไปเกิดล่ะ นี้ก็เรียกว่าความสงสัยอันหนึ่ง
ที่นี้ความสงสัยที่มีอยู่ ที่เชื่อว่ามี กำลังมีอยู่แก่ท่านทั้งหลายทุกคนก็ได้คือเรื่องที่พึ่ง จะพึ่งอะไรกันแน่ จะพึ่งพระพุทธเจ้า หรือว่าจะพึ่งตัวเอง เท่าที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามามันก็สับสน เพราะพระบาลีมันก็มีอยู่ชัดว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน คนอื่นเป็นที่พึ่งให้ไม่ได้ ตถาคตก็เป็นแต่ผู้ชี้ทาง ตัวเองจะต้องเดินเอง นี้มันก็เป็นเรื่องพึ่งตน ส่วนเรื่องให้พึ่งผู้อื่น กระทั่งพึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่น มันมีอยู่ที่ตรงไหนบ้าง หรือจะเป็นเรื่องที่จะกล่าวขึ้นไว้สำหรับผู้ที่ไม่มองเห็นการพึ่งตน แล้วก็มาหนักหรือย้ำมากขึ้นในตอนหลังๆ อะไรก็ให้พึ่งผู้อื่น พึ่งพระพุทธเจ้า พึ่งอะไรก็รวมอยู่ในพวกผู้อื่น นี้ก็คือไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าถ้าจะพึ่งพระพุทธเจ้าก็ต้องเดินเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้ชี้ทาง อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าพึ่งตน ถ้าพึ่งพระพุทธเจ้าก็ตั้งปัญหาต่อไปว่าจะต้องทำอย่างไร ครั้นเขาบอกว่าให้ประพฤติธรรม พอประพฤติธรรม มันก็กลายเป็นว่าตนพึ่งตน เขาก็จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มันก็มีความที่จะต้องประพฤติเองทำเอง ก็เลยตนนี้มันพึ่งตน ถ้าจะพึ่งพระสงฆ์ ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์ มันก็เลยตนพึ่งตน ฉะนั้นก็ควรจะยุติกันเสียทีโดยปราศจากความสงสัยว่าตนต้องพึ่งตน ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน แม้ว่าจะดึงเอาพระพุทธมา เอาพระธรรมมา เอาพระสงฆ์มา ก็เพื่อว่าให้ตนทำที่พึ่งแก่ตนและก็ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน และเมื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนนั่นแหละ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงอยู่ในนั้น จะไปนั่งอ้อนวอน พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ แต่ปากอย่างนี้ ให้ว่าไปจนตายมันก็ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหนจะมาช่วยได้ แต่ถ้าลงมือปฏิบัติธรรมะด้วยตน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็จะวิ่งมาช่วยทันทีรอบด้าน นี้ก็เรียกว่าควรจะแน่ใจกันเสียทีว่าพุทธบริษัทนี้ฉลาดแล้ว ก็ต้องมีความคิดนึกรู้สึกไปในทำนองที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ใครอื่นจะเป็นที่พึ่งให้แก่ใครได้อย่างไร มันต้องตนพึ่งตน
ทีนี้มันก็เลยต่อไปถึงความรับผิดชอบ จะให้คนอื่นมารับผิดชอบการดับทุกข์ของตนนี้มันก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่รับ ใครๆ ก็ไม่อาจจะรับได้ ถ้าตัวเองมันไม่รับผิดชอบในความเป็นตัวของตัวเอง ว่าจะต้องพึ่งตน หรือจะต้องนึกเลยไปถึงข้อที่ว่าเมื่อเป็นพุทธบริษัทก็ต้องรับผิดชอบในความเป็นพุทธบริษัท เดี๋ยวนี้เป็นพุทธบริษัทแต่ปาก ไม่รักษาเกียรติของความเป็นพุทธบริษัท นี่ก็คือว่าไม่รับผิดชอบในความที่ตัวเองเป็นพุทธบริษัท พอทำผิดก็แก้ตัว ไม่ยอมรับว่านี่มันเสีย เสีย เสียความเป็นพุทธบริษัท ก็หาช่องแก้ตัวอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นที่ตนจะไม่ต้องรับผิดชอบในความเป็นพุทธบริษัทของตัว หรือให้กว้างกว่านี้ พอตัวเป็นมนุษย์แล้วก็ไม่รับผิดชอบในความเป็นมนุษย์ของตัวว่าจะต้องทำให้มันมีจิตใจสูงอยู่เหนือกิเลสอยู่เหนือความทุกข์ นี่คนที่ไม่รับผิดชอบในเครดิตหรือในเกียรติยศของตัว นี่มันใช้ไม่ได้อย่างนี้ ถ้าเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงในจิตใจ ต้องมีความรู้สึกที่เป็นความรับผิดชอบว่าเราต้องเป็นพุทธบริษัทให้ได้ ตามที่เราประกาศตนว่าเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทจะต้องมีอะไร จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ตนก็ต้องมีให้ได้อย่างนั้น ถ้ามันยังไม่ได้ มันยังบกพร่อง ก็ต้องยอมรับอย่างชื่นหน้า ชื่นตา ยอมรับโดยเต็มที่เลยว่าฉันบกพร่องในความเป็นพุทธบริษัทของตน เดี๋ยวนี้ก็ไม่กล้ารับผิดชอบคอยแต่จะบิดพลิ้วอยู่ เป็นนิสัยจนเคยชินเป็นคนบิดพลิ้ว เป็นพระเป็นเณรก็บิดพลิ้วในความเป็นพระเป็นเณร คอยแต่จะแก้ตัวให้ตัวเองพ้นผิดไปอย่างน้ำขุ่นๆนี่ หนักเข้าก็เกิดการดื้อดึง หนักเข้าก็เป็นคนดื้อด้าน ทักไม่ได้ ว่าไม่ได้ ก็โกรธ นี่คือความไม่รู้จักรับผิดชอบในความเป็นมนุษย์ของตัว หรือความเป็นพุทธบริษัทของตัว ความเป็นพระเป็นเณรของตัว เป็นอุบาสกอุบาสิกาของตัว ไม่รับผิดชอบในเกียรติยศอันนี้ ทำผิดหรือบกพร่องไปแล้วก็ยังแก้ตัว เรียกว่าเป็นผู้ไม่ตรงหรือไม่จริงในข้อนี้ ถ้ายังสงสัยอยู่ก็อย่าให้มันเหลืออยู่เลย ให้มันแน่ใจเสียว่าเราจะต้องยอมรับในความเป็นอะไรตามที่ได้รับสมมุติหรือว่าได้สมัครใจที่จะเป็นเอาเอง ว่าจะเป็นอะไร จะเป็นอย่างไร ได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็รับผิดชอบในความเป็นอุบาสกอุบาสิกาของตนเองอย่างยิ่ง ให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้ามันผิดก็ยอมรับว่าผิดอย่างหน้าชื่นตาบานอย่างนี้ ไม่ดื้อดึง ไม่บิดพลิ้ว นั่นแหละเรียกว่าผู้มีความรับผิดชอบในความเป็นอะไรของตน ในที่นี้ก็คือความเป็นพุทธบริษัทของตน
ทีนี้ดูต่อไปว่าพุทธบริษัทจะต้องแน่ใจในความเป็นผู้เป็นอิสระในความคิดความนึก เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอิสระ เป็นทาส ไม่ใช่เป็นธาตุนะ เป็นทาสบ่าวขี้ข้าคือเป็นทาสของความคิดนึกของผู้อื่น นี้มันผิดจากคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ว่าให้พุทธบริษัทเป็นอิสระในความคิดความนึก แต่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทก็ยังงมงาย ไปเป็นทาสของความคิดนึกหรือความเชื่อถืออย่างอื่นซึ่งไม่ใช่พุทธบริษัท นี่มันจึงไปหลงในเรื่องไสยศาสตร์บ้างอะไรบ้าง ไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นก็สูญเสียความเป็นพุทธบริษัท ที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระในความนึกความคิดนี้ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรดีไปกว่าเรื่องของกาลามสูตร คือหลักที่ได้กล่าวไว้ในกาลามสูตรเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดสำหรับทำความคิดนึกให้เป็นอิสระ เรื่องนี้ก็เคยพูดบ้างแล้วเพราะเป็นเรื่องสำคัญ นี้ก็เอามาพูดอีก เพราะมันจะช่วยทำจิตใจให้เป็นพุทธบริษัทหรือมีความเป็นพุทธบริษัทเต็มที่ขึ้นมา ควรจะจำให้แม่นยำในหลักเกณฑ์ ๑๐ ประการนี้ แล้วก็ถือปฏิบัติอยู่จนตลอดเวลา การที่มีอิสระในความคิดนึกหรือความเชื่อนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้เป็นหมวด หมวดที่เข้าใจได้ง่ายคือหมวดที่เกี่ยวกับการได้ยินได้ฟัง ก็มีตรัสไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะเป็นสิ่งที่ฟังบอกต่อๆ กันมา มา อนุสฺสเวน อย่าเชื่อเพราะการฟังบอกเล่าต่อๆกัน มา ทีนี้เรามักจะเชื่อว่าเขาเคยพูดกันว่าอย่างไร บอกต่อๆ กันมาอย่างไรก็ยึดเอามั่น เสียมั่นจิตทีเดียว มันก็ไม่พ้นที่จะไปถูกเข้ากับเรื่องที่งมงาย หรือเป็นเรื่องไร้เหตุผลเป็นไสยศาสตร์ ข้อต่อไปก็ว่า มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทำ ประพฤติสืบๆ กันมา อันแรกก็เพราะเขาบอกกันมาด้วยปาก สอนต่อๆ กันมา อันที่สองนี้ว่าเพราะเขาทำปฏิบัติสืบๆ กันมา อันต่อไปก็ มา อิติกิราย อย่าเชื่อเพราะว่ามันกำลังลือกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมือง เรื่องนี้มีบ่อยๆ มีอะไรเล่าลือแตกตื่นกันมากระฉ่อนกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ก็เป็นเรื่องน่าหัวเราะทั้งนั้นก็ยังเชื่อกันได้ อย่างเขาลือกระฉ่อนไปว่า เอ้า,ยักษ์จะมากิน ผีห่าจะมากิน เอาผ้าแดงมาผูกข้อมือไว้ นี่มันลือกระฉ่อนกันไปทั้งเมือง นี้ก็มีคนเชื่อ คิดดูเถิด นี่ ๓ อย่างนี้ เรียกว่ามันเกี่ยวกับการได้ยินได้ฟังมา ทางหูหรือทางตา อย่าเชื่อเพราะฟังสืบๆ กันมา อย่าเชื่อเพราะว่าปฏิบัติสืบๆ กันมา อย่าเชื่อเพราะว่ามันกำลังลือกระฉ่อนไปทั้งบ้านทั้งเมือง พุทธบริษัทไปเชื่อในลักษณะอย่างนี้แล้วจะมีความเป็นพุทธบริษัทเหลืออยู่ที่ตรงไหนล่ะ พุทธะแปลว่ารู้ ว่าตื่น ว่าเบิกบาน มันเล็งถึงสติปัญญาทั้งนั้น นี่จะไปเชื่อเพราะพูดสืบๆ กันมา เพราะทำสืบๆ กันมา หรือว่ากำลังลือเล่าลือกระฉ่อนอยู่ทั้งบ้านทั้งเมือง นั่นแหละความคิดที่ไม่เป็นอิสระ
ทีนี้หมวดถัดมาก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรา มีบาลีว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อเพราะว่าฝากไว้กับตำรา คือเชื่อตำราอ้างตำรา ตำราในที่นี้ก็เรียกว่าปิฎก ก็อย่าฝากไว้กับปิฎก แม้พระไตรปิฎกนี้ก็ต้องเรียกว่าปิฎกหรือตำรา อย่าได้เชื่อด้วยเหตุสักว่าเพราะว่ามันมีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือปิฎกชนิดไหนก็ตามใจ อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา มันไม่เป็นอิสระ มันเป็นทาสของตำรา หรือจะไปถือเสียว่าพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธศาสนา เป็นพุทธวจนะ ก็มีช่องโหว่ที่ว่าถ้าคนอื่นมาเขียนทีหลังมันจะว่าอย่างไร หรือมันจำกันมาผิดๆ เผลอไปล่ะจะทำอย่างไร จะยึดเอาแต่สักว่ามีตัวหนังสืออยู่ในตำราแล้วเป็นถูกต้อง อย่างนี้มันไม่ได้ แม้ในพระไตรปิฎกมันก็มีเรื่องที่มองเห็นได้ว่ามันเป็นของพูดทีหลังหรืออธิบายไว้เป็นอย่างอื่น แต่เรามาอธิบายกันเป็นอีกอย่างอื่นมันก็เข้าใจผิดได้ เพราะตัวถือตามตัวหนังสือมากเกินไป ถ้าคิดว่าอย่าเชื่อพระไตรปิฎกนี้แล้ว ถ้าฟังไม่ดีแล้วก็เข้าใจไม่ได้เหมือนกัน หมายความว่ามันมีอยู่ในพระไตรปิฎก ก็มาพิจารณาดูจนเกิดความรู้สึกในใจแจ่มแจ้งอย่างถูกต้อง จึงจะเชื่อ อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเชื่อพระไตรปิฎก เชื่อความรู้สึกของตัวเอง นี้ก็แสดงว่าเป็นผู้มีปัญญา แต่มันก็ลำบากอยู่ที่ว่าจะให้คนมีปัญญาถึงขนาดนี้ทันที มันก็ไม่ได้ ฉะนั้นจึงเริ่มมาตั้งแต่ว่าเริ่มเชื่อตำรา แต่แล้วก็ไม่เชื่อหมดตัว เหลือไว้สำหรับคิดนึกพินิจพิจารณาให้เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมาในใจของตัว อย่างนี้ถูกกว่า มันก็เรียกว่าเป็นความคิดที่เป็นอิสระไม่เป็นทาสของตำรา
ทีนี้หมวดต่อไปมันเกี่ยวกับการคำนึงคำนวณมีอยู่ ๔ ข้อ ก็ มา ตกฺกเกตุ อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลในทางตรรกะ มา นยเหตุ อย่าเชื่อเพราะมีเหตุผลในทางนัยยะคือในทางปรัชญา สองคำนี้คนสมัยนี้แม้พวกเราที่นี่ก็ยังฟังไม่ค่อยถูกว่าอย่าเชื่อโดยตรรกะ อย่าเชื่อโดยนัยยะ แต่ว่าครั้งพุทธกาลเขาฟังถูก พวกชาวบ้านตำบลนั้นฟังถูกเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ก็ฟังถูก เพราะว่าคำอย่างนี้มันมีพูดกันอยู่แม้ในชาวบ้าน มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยวิธีแห่งตรรก มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยวิธีแห่งนัย แห่งนัยยะ ควรจะเข้าใจกันเสียสักที ที่เรียกตรรกะหรือที่เรียกเดี๋ยวนี้ว่าตรรกวิทยานั้น เขาใช้เหตุผลในทางการพูดจา มันเหมือนกับคำว่าไดอาเลคทิก (Dialectic) ของสมัยปัจจุบันนี้ เขามีเหตุผลที่พูดได้โดยไม่มีใครค้านได้ด้วยปาก ด้วยคำพูด อย่างนี้ก็เรียกว่ามีเหตุผลทางตรรก ทางตรรกะแล้ว เหตุผลสำหรับปากพูด ปากค้านไม่ได้ และปากพูดไปได้ นับตั้งแต่อย่างต่ำที่สุดไปถึงอย่างสูงที่สุด ก็เรียกว่ามีเหตุผลทางตรรกะ ส่วน มา นยเหตุ อย่าเชื่อด้วยเหตุผลทางนัยยะ นี้มันเป็นเรื่องเหตุผลทางการคำนวณจากความรู้สึก มันเฉียดเข้าไปเต็มทีแล้วแต่มันก็ไม่ถูกกับเรื่องหรือความจริง เหตุผลนั้นเป็นไปตามความรู้สึกที่คำนึงคำนวณอยู่ในใจ ไม่ใช่เอาตัวความรู้สึกเป็นหลัก เอาเหตุผลที่อาศัยอยู่กับความรู้สึก ทีนี้เหตุผลมันก็ผิดได้ ในเมื่อตีความหมายของความรู้สึกผิด ฉะนั้นเมื่อเราไม่เอาเหตุผลทางตรรก ไม่เอาเหตุผลทางปรัชญา เราก็ไม่เอาเหตุผลอะไรเลยนอกจากความรู้สึกเสียเอง เอาตัวความรู้สึกนั่นแหละเป็นตัวเรื่องเสียเอง อย่าไปเอาเหตุผลที่อิงนั่นอิงนี่อยู่ เช่นความทุกข์ มันก็มีตัวความทุกข์นั่นเองเป็นตัวที่แสดงอยู่ ไม่ต้องมีเหตุผลด้วยการคำนึงคำนวณว่ามันต้องเป็นทุกข์ หรือเหตุผลทางตรรกที่ปากมันพูดออกไปว่ามันเป็นทุกข์ แล้วไม่มีใครใช้สำนวนโวหารไหนมาค้านได้ว่าไม่เป็นทุกข์ โดยเหตุผลแล้วมันก็ มันก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลและมันเปลี่ยนได้ตามเหตุผล เพราะว่าเหตุผลนี้มันก็แตกต่างไปตามความโง่หรือความฉลาดของคน ฉะนั้นจึงไม่มาถือเอาเป็นหลักเกณฑ์แก่ทุกคนได้ แต่ถ้าทุกคนเอาความรู้สึกจริงๆ ไม่ต้องเป็นเหตุผล เอาตัวความรู้สึกจริงๆ ว่ามันมีความทุกข์อยู่อย่างนี้ มันต้องมีเหตุผลอะไรกันอีกล่ะ ก็เลยดูไปที่ตัวความทุกข์ มันก็อยากรู้ต่อไปว่ามันมาจากอะไร ก็พลิกดูอีกหน่อยว่าข้างใต้นั้นมันมีอะไร มันก็เห็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ มันก็จะดับทุกข์ ก็ต้องทำให้มันตรงกันข้าม มันก็เห็นเป็นความดับทุกข์ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรที่ต้องคำนึงคำนวณ หรือว่าต้องใช้การพูดจา สกัดสแกนกันอย่างนั้นอย่างนี้ จนจนแก่คำพูดแล้วจึงจะยุติ อย่างนี้มันไม่มีประโยชน์และมันไม่ถูก มันเป็นการถือเอาโดยนัยยะแห่งตรรกบ้าง ถือเอาโดยนัยยะแห่งปรัชญาบ้าง ท่านให้เลิกเสีย อย่าเชื่อเพราะเหตุผลทางตรรก อย่าเชื่อเพราะเหตุผลทางปรัชญา
และข้อต่อไปยังมีว่า มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อเพราะว่ามันเป็นการคิดไปตามสามัญสำนึก นี่ก็เรียกว่าการตริตรึกตามอาการปริวิตักเกนะ อาการ นี่อาการ ปริวิตกฺเกน การตรึตรึกไปตามอาการ คือตามสามัญสำนึกที่มันจะไปง่ายๆ ไปตามความรู้สึกคิดนึกสามัญอย่างนี้ ถ้าได้ผลอะไรมาก็ให้เชื่อ อย่างนี้มันไม่เอา มันเป็นภาพของการตริตรึกตามอาการ เดี๋ยวนี้คนเขาก็พูดกันมากว่าการใช้สามัญสำนึกนี้ถูก ถูกแล้วมันก็ถูก เพียงแต่ถูกกว่าโง่มากๆ นั้นน่ะ มันไม่ถูกถึงที่สุดคือไม่ฉลาดถึงที่สุด เราอย่าเอาตามที่สามัญสำนึกมันตอบออกมาหรือมันแสดงออกมา ยังต้องขยับไปอีกทีหนึ่ง คือจะดูที่ความจริงที่จริงกว่านั้นดีกว่า
ทีนี้ข้อต่อไปมัน มันน่ากลัวมากขึ้นไปอีก คือว่า มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อเพราะว่าข้อนี้มันทนต่อความเห็นของตน จะมองกันในทางข้างไหนมันก็เข้ากับรูปกับความคิดความเห็นของตนทั้งนั้น แล้วก็เชื่อ แม้อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ยังห้ามไว้ อย่าเชื่อเพราะมันทนได้ต่อการเพ่งพิสูจน์ด้วยความเห็นของตัว นี่ก็เพราะว่าตัวนี้มันยังไม่ฉลาด ตัวเองมันยังไม่ฉลาด มันยังโง่อยู่มาก และความเห็นมันก็ยังผิดอยู่ ถ้าสิ่งใดเข้ากันได้กับความเห็นของตัวแล้วเชื่อเอา อย่างนี้มันก็ผิดตามเท่านั้นเอง แต่ว่าคนเราโดยมากเป็นเสียอย่างนี้ จะถือหลักอย่างนี้ ถ้าสิ่งใดเป็นปัญหาอะไรเข้ามา เป็นคติอะไรเข้ามา มันเข้ากันได้กับความเห็นเดิมของตัวแล้วตะครุบเอาทันทีเลย คือสมัครเป็นฝ่ายนั้นทันทีเลย อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ห้าม ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงแล้วก็อย่าทำอย่างนั้น เพราะว่าตัวมันผิดได้ ความเห็นของตัวมันผิดได้ เอาความเห็นชนิดนี้ไปจับ มันก็ทนได้ เพราะมันก็เป็นเรื่องผิดด้วยกันก็ได้ อย่าเป็นทาสของการตริตรึกไปตามอาการสามัญสำนึก และก็อย่าเป็นทาสของการที่รู้สึกว่านี้มันทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยเหตุผลของตนเอง ด้วยทิฏฐิของตนเอง นี่มันน่ากลัวนะที่เรากำลังทำผิดอยู่ แต่มันไม่ได้เสียหายร้ายแรงถึงกับว่าจะตกนรกหมกไหม้นะ แต่มันไม่ทำให้ไป ให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ทีนี้หมวดสุดท้ายมันเกี่ยวกับบุคคล เกี่ยวกับบุคคล มีอยู่ ๒ ข้อ มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดนี้มันอยู่ในฐานะที่ควรจะเชื่อหรือน่าเชื่อ เช่นว่าเชื่อครูบาอาจารย์หรือเชื่อใครที่ว่ามันน่าเชื่อเหลือเกินน่ะ เพราะท่านอยู่ในสถานะหรือในภาวะที่น่าเชื่อ พระพุทธเจ้าท่านก็ยังห้ามไว้ อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่งเชื่อด้วยเหตุว่าผู้พูดมันอยู่ในฐานะที่น่าเชื่อ ให้รอไว้ก่อน ให้ใช้ความรู้สึกของตัวเองตามวิธีของตัวเอง อีกทีหนึ่งก่อน ทีนี้ข้อสุดท้ายก็ มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของข้าพเจ้า อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา สมณะนี้เป็นครูของเรา คิดดูสิ มันหมายถึงพระพุทธเจ้าเองด้วย พระพุทธเจ้าเป็นสมณะองค์หนึ่งแล้วก็เป็นพระศาสดาของเรา ท่านก็ห้ามว่าอย่าเชื่อเพราะความสมณะนี้เป็นครูของเรา บาลีทั้งหมดนี้ควรจะท่องกันให้ได้ทั้งอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณร นี่ทบทวนดูอีกทีว่า มา อนุสฺสเวน อย่าเชื่อเพราะได้ยินได้ฟังตามๆ กันมา, มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อเพราะว่าเขาปฏิบัติสืบๆ ตามกันมา อยู่ในรูปของการปฏิบัติ, มา อิติกิราย อย่าเชื่อเพราะมันกำลังลือกันกระฉ่อนอยู่ทั้งบ้านทั้งเมือง ทุกคนเขาเชื่อ, แล้วก็ มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเชื่อเพราะมันมีอยู่ในตำรา เพราะมันอ้างตำราได้, มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยตรรกะ คือเหตุผลสำหรับพูด, มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยนัยยะคือเหตุผลสำหรับคำนึงคำนวณ, มา อาการปริวิตกฺเกนอย่าเชื่อเพราะว่าตรึกไปตามสามัญสำนึกตามอาการที่มีอยู่ในเฉพาะหน้า,และก็ มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเชื่อเพราะว่าข้อนี้มันทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นของตัวเอง, มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อเพราะว่าผู้พูดอยู่ในฐานะ ภาวะ ลักษณะที่มันน่าเชื่อ นี่เชื่อบุคคล, มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อเพราะว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา
นี่ก็ลองคิดดูว่าเรากำลังมีปัญหาอย่างไร ก็แปลว่าที่อาตมากำลังพูดนี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อ แม้ว่าอาตมาจะอยู่ในฐานะที่น่าเชื่อ คืออยู่ในฐานะที่คนหลายๆ คนเรียกว่าอาจารย์ๆ นี่ มันต้องยกเลิกไปหมดทั้ง ๑๐ ข้อนี้ จะให้เชื่ออย่างไร มีคนเขียนด่าอาตมาว่าเอากาลามสูตรมาสอนให้อย่าเชื่อตามพระไตรปิฎก อย่าเชื่อเพราะมีอยู่ในพระไตรปิฎก และอาตมาเองก็อ้างพระไตรปิฎกเล่มนั้น หน้านั้น เลขนั้น สูตรนั้น สูตรนี้ ในการเทศน์ในการบรรยายนี่ เขาก็เลยด่าว่าโง่ ตีความหมายของพระบาลีนี้ผิดที่ว่าอย่าเชื่อว่ามีในพระไตรปิฎก แต่ตัวเองเอามาห้ามคนอื่น อย่าเชื่อตามพระไตรปิฎก แต่ตัวเองก็อ้างพระไตรปิฎก นี่เลยถูกด่าสองซ้อน ถูกด่าว่าแปลความหมายข้อนี้ผิด และถูกด่าว่าห้ามคนอื่นแล้วตัวเองมาทำเสียเองนี้เป็นต้น เรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะว่าตีความหมายผิด เพราะฟังผิด เพราะเข้าใจผิด คนที่เขาว่านั้นเขาก็เข้าใจผิด ไม่ฟังดูให้ดีว่าพระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าเชื่อเพราะอ้าง อ้างพระไตรปิฎกได้ นี่เราก็ไม่เชื่อ ที่อาตมาเอามาอ้าง อ้างให้ท่านทั้งหลายฟัง อ้างให้รู้ว่าในพระไตรปิฎกมีอยู่อย่างไร ข้อไหน หน้าไหน แต่แล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อ ไม่ใช่อ้างมาแล้วก็บอกให้เชื่อเพราะตัวเองก็อ้างมา เพราะว่ามันมีอยู่ในข้อสุดท้ายที่ว่าแม้พระพุทธเจ้าตรัสเองจากปากของพระพุทธเจ้าเอง เวลานั้นยังมีชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็อย่าเพิ่งเชื่อ นี่ท่านห้ามไว้อย่างนี้ นี่มันมีปัญหาสับสนซับซ้อนก้าวก่ายกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้จะเอาอย่างไร ในที่สุดก็มีคำตอบเพียงคำเดียวว่าสิ่งที่รู้สึกอยู่ในจิตใจ เห็นชัดอยู่ว่าอย่างนั้นๆ นั่นแหละเชื่อได้ เช่นพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟเป็นของร้อน พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับผู้นั้นเอง แต่ผู้นั้นก็ยังไม่ต้องเชื่อทันทีว่าราคะ โทสะ โมหะเป็นของร้อนเพราะพระพุทธเจ้าตรัส เขาจะต้องไปนึกถึงราคะที่เกิดขึ้นในใจ โทสะที่เกิดขึ้นในใจ โมหะที่เกิดขึ้นในใจ แม้ว่ามันเคยเกิดมานานแล้วหรือจะกำลังเกิดอยู่ก็ตาม แล้วก็อย่างทราบที่ว่ารสชาติของราคะ ของโทสะ ของโมหะเป็นอย่างไรแล้วก็รู้ว่ามันร้อนจริง มันร้อนจริงนี่ ราคะโทสะโมหะมันร้อนจริง แล้วก็เชื่อตรงนี้สิ เชื่อตรงที่รู้สึกอยู่ว่าร้อนจริง นี่ก็คือไม่เชื่อพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่เชื่อทั้งหมดแหละ ไม่เชื่อเพราะได้ยินได้ฟัง ไม่เชื่อเพราะว่าตริตรึกไปตามอาการ มันไม่ต้องใช้เหตุผล มันไม่ต้องมีอาการอะไรกันที่ไหนแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่รู้สึกอยู่จริง นี่ถืออันนี้เป็นหลัก ถ้าว่าสังขารไม่เที่ยง ก็ไม่ต้องเชื่ออย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสังขารไม่เที่ยง มาดูที่ตัวสังขารสิ ถ้ามันโง่จนไม่รู้จักตัวสังขาร มันก็ไม่ต้องพูดกัน ทีนี้มันต้องฉลาดพอสมควรแล้วว่า นี่คือสังขารตัวนี้คืออย่างนี้ แล้วไม่เที่ยง เปลี่ยนเรื่อย โดยเฉพาะก็ดูที่จิตใจที่มีความรู้สึกอยู่ มันก็เปลี่ยนเรื่อย เปลี่ยนเรื่อย จิตก็เป็นสังขาร ความคิดของจิตก็เป็นสังขาร หรือแม้จะดูที่ร่างกายนี้มันก็เปลี่ยนเรื่อย ดูที่ลมหายใจมันก็เปลี่ยนเรื่อย พิจารณาลมหายใจอยู่ก็เห็นความเปลี่ยนเรื่อย นี่สังขารไม่เที่ยง ไม่ต้องมีเหตุผลที่จะอ้างนั่นอ้างนี่ อ้างคำนวณคำนึงอย่างนี้ มันเห็นชัดอยู่ที่ความรู้สึกว่ามันไม่เที่ยง ท่านต้องการอย่างนี้
ทีนี้ทุกเรื่องจะต้องเป็นเรื่องที่รู้สึกอยู่ในใจ แล้วก็รับเอาหรือเชื่อถือเป็นหลัก นี่ไม่ผิดกาลามสูตร จะตั้งปัญหาอะไรขึ้นมาก็ได้ อย่างว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็ไม่ต้องเชื่อตามเหตุผล เชื่อตามที่มันปรากฏชัดอยู่แล้วว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ไม่ต้องมีเหตุผลไม่ต้องอ้างเหตุผล มันรู้สึกอยู่เต็มที่ ชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่อย่างเต็มที่ ไม่เชื่อผู้อื่น ไม่เชื่อใคร ไม่เชื่อตำรา ไม่เชื่อปิฎก ไม่เชื่ออะไรหมด ว่าตนนั้นเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็รู้สึกอยู่ชัดๆ เห็นอยู่ชัดๆ เป็นอยู่ชัดๆ อย่างนี้เรียกว่าความคิดที่มันเป็นอิสระ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ให้อิสระ เป็นผู้ประทานอิสรภาพให้แก่พุทธบริษัทว่าจงเป็นอิสระกันอย่างนี้เถิด อย่าเชื่อแม้แต่คำพูดที่ฉันกำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้ ให้ไปเชื่อตนเองได้ เรียกว่ามองเห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ อย่างนั้น ก็เชื่อตนเองได้ เพราะฉะนั้นจิตใจของพุทธบริษัทจึงเต็มไปด้วยความเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของอะไรหมด ไม่เป็นทาสแม้แต่แก่คำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือไม่เป็นทาสแก่พระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้เราเป็นทาสของท่าน ที่เราสมัครเป็นทาสของพระพุทธเจ้านี้เพราะเราสมัครใจเอง มันมีเหตุการณ์อย่างอื่นเกิดขึ้น เป็นเรื่องของศีลธรรมหรือเป็นเรื่องที่เราอยากจะให้มันแน่นแฟ้น เราก็สมัครเป็นทาสของพระพุทธเจ้าแต่ในความหมายอย่างอื่น หมายความว่าเราจะรับใช้พระพุทธเจ้าให้ถึงที่สุด นี้เรียกกันสั้นๆ ว่าพุทธบริษัทที่แท้จริง มีจิตใจประกอบอยู่ด้วยลักษณะคือความเป็นอิสรภาพ เมื่อมีอิสรภาพอย่างนี้ก็หมดความสงสัย หมดความลังเลอะไรต่างๆ ไปทุกอย่าง
ทีนี้ดูต่อไปมันก็ยิ่งละเอียดมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น พุทธบริษัทมีลักษณะที่ยอมได้ เรื่องยอมได้หรือยอมไม่ได้นี้เป็นปัญหามากในหมู่มนุษย์เวลานี้ เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นเพราะยอมไม่ได้ หาว่าเสียเกียรติ เสียเกียรติยศ เสียหน้าเสียตา เสียอะไรยอมไม่ได้ เสียประโยชน์ก็ยอมไม่ได้ อะไรก็ยอมไม่ได้ ถ้ามันมีความยอมไม่ได้ตะพึดไปอย่างนี้ ไม่ใช่ความเป็นพุทธบริษัท เพราะว่าความยอมไม่ได้มันเป็นไปเพื่อความโกลาหลวุ่นวาย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยอมได้นี่เป็นไปเพื่อความสงบ แต่ที่ยอมไม่ได้นั้นเพราะกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสแล้วมันยิ่งกว่ายอมได้ มันไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาขัดขวางกัน ไม่ต้องมีปัญหาว่ายอมได้หรือยอมไม่ได้เพราะมันไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องขึ้นมาขัดขวางกัน หรือทั้งสองฝ่ายมันมีกิเลส มันก็มีเรื่องที่ต้องให้ขัดขวางกันแล้วก็ยอมไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันก็ชกต่อยกัน หรือว่าต้องเป็นเรื่องที่มันจะชกต่อยก็ยอมไม่ได้ ก็คาราคาซัง ก็ทำโลกนี้ให้เดือดร้อนและผลสุดท้ายก็เป็นทุกข์ ที่มันมีสงคราม มีมหาสงครามไม่รู้จักสิ้นสุดนี่ เพราะมันยอมกันไม่ได้ มันมีมานะทิฏฐิเป็นตัวกู เป็นของกูสูงขึ้นไปทุกที มันยอมกันไม่ได้ มันว่าเสียหน้า เสียเกียรติ มันยอมกับเพื่อนมนุษย์ไม่ได้ มันยอมกับกิเลสได้นี่ กิเลสมันกดขี่ข่มเหงให้หน้าป้ายหน้าดำไปหมด มันก็ยอมได้ แต่ที่จะยอมกับคนกับมนุษย์นี่มันยอมไม่ได้ มันต่างคนต่างมีกิเลส ฉะนั้นให้รู้จักความที่ดื้อด้านยอมไม่ได้กันเสียบ้างว่ามันเป็นทาสของกิเลส มันไปเป็นทาสของกิเลสเสียแล้ว มันก็ยอมให้แก่กันและกันไม่ได้ ในระหว่างเพื่อนฝูงมันยอมไม่ได้ แม้ที่สุดแต่ระหว่างบิดามารดากับลูกหลาน นี่มันก็ยอมไม่ได้ ศิษย์กับอาจารย์มันก็ยอมไม่ได้ แม้แต่ลูกๆ หรือลูกศิษย์มันก็ไม่ยอมให้แก่บิดามารดา แก่ครูบาอาจารย์ นี่ความยอมไม่ได้นั้นแหละคือตัวกิเลส แล้วคนนั้นมันก็เป็นทาสของกิเลสตัวนั้น มันสมัครเป็นทาสของกิเลส มันยอมให้แก่กิเลส แต่มันไม่ยอมให้แก่คนด้วยกัน นี้ความที่ไม่มีธรรมะ มันไม่มีธรรมะเลย มันมีกิเลสแล้วมันจึงยอมไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามันมีธรรมะเข้ามามันก็ยอมได้และมันยิ้มด้วย เอาให้มันเอาไป ให้มันเอาไป แล้วมันก็ยิ้มด้วย แล้วมันก็มีความสุขด้วย แล้วเรื่องมันก็สงบรำงับด้วย
ทีนี้มีช่องโหว่ที่บางคนจะคัดค้านว่าถ้าอย่างนั้นถ้ามีคนมาข่มเหงเราก็เอาไปหมดอย่างนั้นสิ นั้นมันก็เป็นความคิดมากเกินไป มันก็อย่างเดียวกับเรื่องว่าถ้าเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนแล้ว ก็เอาไปทิ้งทะเลเสียสิ นี้มันพูดอย่างอันธพาล ในจิตใจเท่านั้นที่ว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าในจิตใจเท่านั้นมันก็ยอมได้ที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันได้อะไรมากกว่า ถ้ายอมได้มันไม่เกิดเรื่องบ้านแตกสาแหรกขาด นี้เป็นความเสียหายมาก ฉะนั้นการยอมได้จึงเป็นไปเพื่อการรำงับเรื่องร้ายทั้งหลายให้หมดสิ้นไป แล้วทำให้ผู้นั้นชนะกิเลสด้วย ยอมแพ้คนแต่ไปชนะกิเลส นี้ก็น่า น่าสนใจ คือให้เห็นได้ว่าดีกว่า ฉะนั้นขอให้นึกถึงเรื่องที่ว่าในโลกนี้ในหมู่มนุษย์นี้ ความยอมไม่ได้นี่ เป็นตัวกิเลส เห็นเด็กเล็กๆ เพิ่งเกิดไม่กี่วันมันก็ยังยอมไม่ได้ โตขึ้นมาหน่อยจะหวดด้วยไม้เรียวเท่าไหร่ๆ มันก็ไม่ยอม ตีมันจนสลบไปมันก็ไม่ยอม เอากับมันสิ นี่เพราะว่ามันมีบังเอิญอะไรอย่างหนึ่งที่ทำให้มันยอมไม่ได้ มันมีกิเลสมากถึงขนาดนี้ อย่างที่เรามองเห็น เห็นๆ กันอยู่ว่าเด็กคนนี้มันดื้อถึงขนาดตีให้ตายเลยมันก็ไม่ยอม มันต้องทำอย่างอื่นถึงจะแก้กิเลสของเขาได้ แล้วเขาก็ยอม จะเอาไม้เรียวบังคับกิเลสเขา เขาไม่ยอม อย่างนี้ก็มีอยู่บ่อยๆ แต่ว่าเด็กที่กลัวเจ็บที่มักยอมมันก็มีเหมือนกันเพราะมันกลัวเจ็บ แต่ถ้ามันโตขึ้นๆ เรื่องไม้เรียวมันก็ใช้ไม่ได้ มันก็จะด้านไปทุกที มันก็ไม่ยอม นี่ก็เลยไปถึงเรื่องที่ว่ารบราฆ่าฟันกันไปเรื่อย ทะเลาะวิวาทกันไปเรื่อย ไม่มีความสงบสุข ข้างนอกก็โกลาหลวุ่นวาย ข้างในก็เป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลสอยู่นั่นเอง มันยอมไม่ได้
พุทธบริษัทที่แท้จริงต้องมีลักษณะแห่งจิตใจที่เป็นความยอมได้ แต่คนที่เชื่อว่าจะชนะกิเลสอยู่เหนือกิเลส แล้วก็ยอมได้ นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่เป็นเครื่องวัดว่านี้เป็นพุทธบริษัทแท้จริงหรือไม่ ทั้งที่เป็นพระเป็นเณรทั้งที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัทจริงหรือไม่ ก็วัดดูสิว่ามันยอมได้หรือยอมไม่ได้นั่นด้วย มันมีมากมายพูดไปก็ไม่รู้จักจบจักสิ้น ที่ว่าลักษณะแห่งจิตใจของพุทธบริษัทที่แท้จริงนั้นจะเป็นอย่างไร ทีนี้จะว่ากันแต่ที่มัน มันร้ายกาจหรือว่ามีความสำคัญมาก ความที่ยอมไม่ได้ก็เป็นเรื่องยกหูชูหาง มันก็ลามปามไปถึงเรื่องอื่นอีกหลายแขนง ความที่ยกหูชูหางได้ลามปามไปถึงความเสียหายอย่างอื่นมากมายหลายแขนง เรื่องที่เกี่ยวกับกาลามสูตรนั้นน่ะจะช่วยได้มาก จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากที่เกี่ยวกับความเป็นพุทธบริษัทหรือไม่เป็นพุทธบริษัท เพราะว่าถ้าถือได้ตามหลักอันนี้แล้วจะมีความเป็นพุทธบริษัทเข้ามาทุกทิศทุกทางรอบด้านทีเดียว มันอาศัยความรู้จริง ที่อยู่ในใจจริง เป็นเครื่องตัดสินแล้วมันก็จะถูกต้อง มันก็นำมาสู่ความยอมได้ความอะไรต่างๆ ได้ คือความที่กิเลสมันจะละลายลงไป สลายไป นี่เพราะเรามีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ของจริงไม่ต้องปิดไม่ต้องปิดป้ายไม่ต้องยกป้าย ทีนี้เรามักจะเชื่อป้าย ต้องยกป้าย ก็เลยถูกหลอก ฉลากนี่มันปิดได้และมันเขียนได้ว่ายาขนานนี้ดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้เขียนลงไปในป้าย แล้วก็ไปปิดที่ขวดยาแล้วก็ขาย คนโง่มันก็เชื่อแล้วก็ซื้อ แต่อาการอย่างนี้จะทำกับธรรมะไม่ได้ เพราะว่าสัจจะที่แท้จริงน่ะ มันไม่ขึ้นอยู่กับป้าย มันปิดป้ายไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องจริงที่รู้สึกอยู่ในใจ นี้อย่าไปหลงป้าย อย่างที่ว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา หรือว่าผู้นี้อยู่ในฐานะที่ควรจะเชื่อได้ อย่างนี้มันเป็นเรื่องปิดป้าย แต่ธรรมะของจริงนั้นไม่ใช่เรื่องปิดป้าย ไม่ควรจะถูกปิดป้ายเพราะมันเป็นเรื่องหลอกกัน มันจริงชัดอยู่แล้วจะต้องปิดป้ายทำไมอีกเล่า จะต้องปิดฉลากทำไมอีก มันไม่เหมือนกับขวดยาที่จะต้องปิดป้ายว่ายานั้นยานี้ เพราะว่ามันจะสะดวกในการเรียกหา ในการเกี่ยวข้องกันระหว่างคนอื่นหรือว่าช่วยความจำอย่างนี้มันปิดป้ายได้ แต่ธรรมะนี้มันไม่ต้องปิดป้าย เพราะมันรู้สึกอยู่แก่ใจ มันไม่ต้องมีชื่อ เพราะมันเป็นความรู้สึกที่รู้สึกอยู่ในใจจริงแล้วไม่ต้องมีชื่อก็ได้ ถ้ามีชื่อก็เพียงแต่ให้เรียกถูกเท่านั้น ที่จะไปให้ป้ายนั้นยืนยันว่านี้เป็นของจริงเป็นของรับประกันนี้ มันไม่ได้ ทีนี้เราที่แล้วๆ มาโดยมาก ก็ไปติด ไปเชื่อป้ายแล้วก็ยังจะปิดป้าย กระทั่งว่าจะปิดป้ายให้แก่ตัวเองนี่ มันมีหลายอย่างด้วยกันหลายระดับด้วยกัน เช่นว่าจะต้องมีปริญญา มีประกาศนียบัตร เป็นอะไรมาปิดป้าย หรือแม้แต่วัดนี้ก็ต้องปิดป้าย หรือว่าคนๆ นี้ก็จะต้องปิดป้ายว่ามีฐานะมีวิทยฐานะ นี้มันเป็นเรื่องปิดป้าย แต่ว่าจะทำแก่สัจธรรมความจริงหรือแก่ธรรมะนั้นไม่ได้ ทำแล้วก็น่าหัวเราะ ถ้าไปขืนเชื่อเข้าก็เป็นความโง่ คำพูดเหล่านี้สรุปความอย่างนี้ก็เพื่อว่าให้มันจำง่าย เข้าใจได้ง่ายแล้วก็จำง่าย มันก็ยากที่จะลืม มันก็เป็นเครื่องประคับประคองการประพฤติปฏิบัติไม่ให้ฟั่นเฝือ นี่ก็พูดกันพอเป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องของการปฏิบัติธรรม แล้วก็มีลักษณะของพระธรรมที่ปรากฏชัดแจ่มแจ้งชัดเจนอยู่ในใจไม่ให้มันมืดมัวสลัวไปได้
ถ้ารวมคำพูดทั้งหมดเป็นคำเดียวก็ว่าให้พุทธบริษัทนี่มีความสว่างไสวชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ในจิตใจสมกับความหมายของคำว่าพุทธบริษัท คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอะไรทำนองนี้ ต้องมีลักษณะอย่างนั้นชัดเจนอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัท อย่ากล้าคิดซอกแซกหาโอกาสให้แก่กิเลส คือการบิดพลิ้วหรือว่าการแก้ตัว หรือว่าการเรียนเพื่อจะหาทางออกในการแก้ตัว เหมือนที่เขาเรียนวินัย เรียนศีล เรียนอะไรกันไปเป็นองค์อย่างนั้น อย่างโน้น อย่างนี้ก็เหมือนกับเป็นทนายช่วยแก้ตัวให้กิเลส มันก็เลยล้มละลายกันตรงนี้เอง แต่แล้วก็กลับเป็นกันอย่างนั้นเสียมาก สนใจแต่สิ่งซึ่งจะแก้ตัวให้กิเลส ไม่สมัครที่ว่าจะเป็นผู้ซื่อตรงหรือสุจริตต่อพระพุทธเจ้า ไปหาช่องแก้ตัวให้กิเลสให้มีโอกาสที่จะเกิดอยู่เสมอ อย่างนี้มันเป็นขบถต่อพระพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัทแล้วยังทำอย่างนี้ เรียกชื่อว่าพุทธบริษัทคนของพระพุทธเจ้าก็หาช่องแก้ตัวให้กิเลสเป็นทนายให้กิเลส เพื่อไม่ให้กระทำตามคำของพระพุทธเจ้า มันก็น่าหัวเราะล่ะ พูดถึงเรื่องหลอกลวงกันแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะหลอกลวงมากเท่ากับสิ่งนี้ ข้างนอกมันก็ยังไม่ไม่เป็นการหลอกลวงมากเท่ากับหลอกลวงข้างในอยู่อย่างนี้ เพราะว่าหัวใจของคนเรานั้นมันเป็นอะไรก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก เดี๋ยวกิเลสเกิดขึ้น เดี๋ยวโพธิเกิดขึ้น เดี๋ยวกิเลสเกิดขึ้น เดี๋ยวสติปัญญาเกิดขึ้น มันผลัดกันนั่งคนละที เมื่อโพธิมันยังน้อยไป มันยังน้อยอยู่ กิเลสมันก็ได้ใช้โอกาสเรื่อยไป ชนะเรื่อยไป แล้วโพธินั้นมันก็กลายเป็นกิเลสขึ้นมา ฉลาดในการที่จะใช้กิเลส ฉลาดในการที่จะแก้ตัวให้กิเลส แล้วก็บิดพลิ้ว แล้วก็ไม่ยอมอย่างนี้เป็นต้น นี่ขอให้สังเกตเรื่องนี้ให้ดีๆ จะมีประโยชน์สำหรับที่จะเอาไปใช้แก้ไขนิสัยสันดานของลูกของหลานของเด็กๆ เล็กๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา เขาเกิดขึ้นมาด้วยกิเลสที่เจริญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่ามันก็ไม่รู้ว่าจะโทษใครในโลกนี้ ในครอบครัวนี้ที่เจริญขึ้นมาด้วยเด็กๆ นี่มันมีเรื่องที่ให้ได้ความได้เปรียบจากกิเลสเสียเรื่อย เพราะเด็กๆ ถูกสอนให้มีตัวกู ให้มีของกู บางทีพ่อแม่แหละสอนให้มีตัวกูของกู อย่ายอมแพ้มัน ถ้ายิ่งไปกว่านั้นก็สอนลูกให้เอาเปรียบคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้นก็ยินดีเมื่อลูกไปขโมยอะไรของเขามา ก็เรียกว่ามันมีการสอนอย่างยิ่งสอนอย่างลึกซึ้ง ส่วนที่ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมันไม่ลึกซึ้ง มันไม่อย่างยิ่งเหมือนอย่างนี้ มันยังไกลอยู่เรื่อยไป ที่กิเลสสอนที่พญามารสอนนี่มันมากและมันลึกซึ้งและมันทุกวัน ฉะนั้นเด็กๆ ก็เติบโตขึ้นมาด้วยความไม่รู้ ด้วยอวิชชาจนเป็นนิสัย มีราคะ โลภะ โทสะ โมหะอยู่เป็นประจำ แล้วก็ย้อมมากเป็นนิสัย เป็นอาสวะเป็นอนุสัยอยู่ในจิตใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นมา เจริญขึ้นมา ตั้งต้นขึ้นมาอย่างมั่นคง เป็นรากฐานที่มั่นคงอยู่ในจิตใจของคน กว่าจะเป็นหนุ่มเป็นสาว กว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่า มันก็แน่นแฟ้น ทีนี้พอมาถึงคราวที่ต้องการธรรมะ อยากจะมีธรรมะอยากจะละกิเลส นี้มันก็ยาก มันเหนียวแน่นเหลือประมาณ นี่ความยากลำบากมันอยู่ที่นี่ แล้วก็ไม่มีใครมองไม่มีใครคิด ยังไม่มองเห็นที่ว่าความยากลำบากมันอยู่ที่นี่ นี้มันก็ไม่มีทางอื่นนอกจากว่าทำเสียให้ดีไปตั้งแต่พ่อแม่ให้เป็นตัวอย่างที่ดี ให้รู้จักลูกที่เกิดมาเล็กๆ นี่ กำลังเป็นอย่างไร เราพ่อแม่นี้รู้จักกิเลสแล้วก็ต้องรู้จักของตัวเอง รู้จักที่กิเลส ไม่ใช่รู้จักที่หนังสือ รู้เรื่องกิเลสของเราให้ดีเพราะว่าเราเกิดก่อน เดี๋ยวนี้เราก็อายุมากแล้ว ก็รู้เรื่องกิเลสหรือเรื่องความทุกข์พอสมควร ก็จะได้ช่วยป้องกันให้ลูกหลานตาดำๆ ที่กำลังจะโตขึ้นมา โดยใช้ความรู้ของเราที่ได้ผ่านมาแล้ว ที่มันจริง จริงโดยไม่ต้องเชื่อใคร ใช้ความรู้อันนี้มาเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันลูกเล็กๆ ตาดำๆ ที่จะโตขึ้นมานี้ว่าอย่างนี้เป็นกิเลส ไม่ต้องบอกมันก็ได้แต่ก็ป้องกันเสีย อย่าให้มันเกิดตัวกูของกูไวนัก อย่าให้มันเกิดโลภะ โทสะ โมหะเหนียวแน่นนัก มันจะไม่ลำบากมากเหมือนกับเรา ถ้าเราช่วยป้องกันให้ลูกเล็กๆ ก็เรียกว่าลูกเล็กๆ นี้มันมีบุญ ถ้ามีคนมาช่วยป้องกันให้ตั้งแต่ทีแรกๆ อย่างนี้ นี้ก็เป็นเรื่องลักษณะเฉพาะของพุทธบริษัทด้วยเหมือนกัน หรือจะเป็นครอบครัวของพุทธบริษัท เป็นหมู่คณะพุทธบริษัทที่มีผู้มีความรู้ มีความสว่างไสวแล้วก็มีความเบิกบานในที่สุด
เดี๋ยวนี้เอามาพูดพอเป็นเครื่องสังเกตว่าพุทธบริษัทจะต้องมีลักษณะอย่างไร ลักษณะข้างนอกนี้มันออกมาจากข้างในคือจิตใจ ฉะนั้นจิตใจจะต้องมีลักษณะอย่างไรเสียก่อน แล้วมันก็จะแสดงออกมาเป็นลักษณะอย่างไรข้างนอกที่ร่างกาย เราจะมองกันให้ไกลไปถึงจิตใจแล้วก็สันดาน ที่เรียกว่าสันดานนี้คือพื้นฐานของจิตใจที่จะปรุงแต่งขึ้นเป็นความรู้สึกคิดนึกเป็นจิตอันหนึ่งดวงหนึ่งนี้ มันก็มาจากสันดาน คือความเคยชินที่สะสมไว้เป็นความเคยชินเป็นเรื่องของสันดาน ที่เรามองเห็นได้ชัดๆ ก็ว่าสันดานของคนนี้มันขี้มักโกรธ หรือว่าสันดานของคนนี้มันขี้มักจะโลภหรือกำหนัด หรือว่าสันดานของคนนี้มันขี้มักจะโง่มันจะนอนหลับเสียเรื่อยไม่สนใจอะไร นี่เขาสะสมไว้มากเป็นสันดาน เป็นรากฐานพื้นฐานชั้นที่ลึกซึ้งเรียกว่าสันดาน กิเลสมันก็อาศัยสันดานนี้ปรุงออกมา มันจึงไม่เหมือนกันเพราะว่าคนเรามีสันดานที่ต่างๆ กัน กิเลสการคิดนึกก็เกิดขึ้นมาต่างกัน ทีนี้ว่าจะสร้างสติปัญญามันก็ต่างกันอีกแหละ สันดานของสติปัญญามีอยู่ส่วนหนึ่ง มันมีสติปัญญาและก็มีความดีมีอะไรเกิดขึ้นมาจากสันดานส่วนที่ดี สันดานส่วนที่เลวมันก็มีอยู่ส่วนหนึ่งที่จะออกมาเป็นกิเลสหรือว่าเป็นความชั่ว มองให้ไกลลงไปถึงสันดาน ก็รู้ว่ามันต้องแก้ไขกันที่สันดานนั่นเอง นี่จึงเรียกว่ากิเลส และยังเรียกว่าอาสวะ และยังเรียกว่าอนุสัย อนุสัยนี้ก็เป็นเรื่องของสันดาน กองนอนอยู่ที่สันดาน เป็นความเคยชินที่กองไว้มากมายพิสดาร ชินที่จะเป็นอย่างนี้ไม่ชินที่จะเป็นอย่างอื่น อย่างนี้ก็เรียกว่าสันดานของบุคคลนั้น แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันก็เหมือนๆ กันในข้อที่ว่าโลภ โกรธ หลง มันจะผิดกันบ้างก็ว่าบางคนมันมากไปในทางนั้น บางคนมันมากไปในทางนี้ แต่ก็เหมือนกันที่ว่ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วไปรวมกันอยู่คำเดียวที่ว่าเป็นตัวกูของกูแล้วก็เป็นเห็นแก่ตัว ฉะนั้นสันดานเดิมแท้ๆ ก็คือเห็นแก่ตัว มันจึงมีเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโง่ ความกลัว ความอะไรต่างๆ มันก็เหมือนกับว่าเป็นเครื่องจักรดีๆ นี่เอง แต่มันไม่ใช่วัตถุ มันเป็นเรื่องจิตใจ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลกก็ยังให้ความรู้หรือแสงสว่างในด้านจิตใจ ทางด้านร่างกายเนื้อหนังนี่คนเขารู้กันดีแล้วทั่วไปแล้ว ก็ไม่ต้องพระพุทธเจ้า แต่ว่าพระพุทธเจ้าจะมาในเรื่องของจิตใจ มาในเรื่องของธรรมะที่จะแก้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องของร่างกายหรือเรื่องของวัตถุ
ทีนี้เราก็เป็นคน เราก็มีทั้งร่างกายและก็มีทั้งจิตใจก็มีปัญหาทั้งทางกายและทั้งทางจิตใจ อย่าปล่อยให้มันมอมแมมไปด้วยลักษณะที่มอมแมมเป็นเรื่องของกิเลส ผลสุดท้ายมันก็จะได้หลักเกณฑ์ที่ว่าเราจะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องของความเป็นพุทธบริษัทเป็นรากฐานอยู่ในจิตใจ นับตั้งแต่ว่าเราจะต้องแน่ใจในความเป็นมนุษย์ของเรา หรือว่าจะพอใจในความเป็นมนุษย์ ว่าเป็นการได้ที่ดีที่สุดที่ได้เป็นมนุษย์ดีกว่าเป็นเทวดา หรือว่าจะต้องเป็นผู้ที่ทำที่พึ่งที่แท้จริงให้แก่ตนเองด้วยตนเองอย่างนี้ ถ้าผิดก็ต้องรับผิด ถ้าผิดก็ยอมให้ติเตียนให้ด่าว่า เพราะว่าเรารับผิดชอบโดยความถูกต้องในความเป็นมนุษย์หรือเป็นคนหรือเป็นพุทธบริษัทหรือเป็นอะไรก็สุดแท้ ทีนี้เราก็ไม่โง่ไม่หลง มีอิสระที่จะไม่โง่ไม่หลง นี้เรามันสูญเสียความเป็นอิสระที่จะไม่โง่ไม่หลง ก็ไปโง่ไปหลง ต้องรื้อฟื้นกันใหม่ให้มีความอิสระที่จะไม่ อยู่ใต้อำนาจของกิเลส หรือความโง่ความหลง หรือว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราที่เรียกกันว่าสังคม สังคมเขาเป็นกันอย่างไรเราก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ ท่านจึงไม่ให้เชื่อว่าได้ฟังตามกันมา ได้ปฏิบัติตามๆ กันมา ได้พอใจเล่าลือกันไปกระฉ่อนอย่างนี้ก็ไม่เอาทั้งนั้น ความเป็นอิสระอย่างนี้จะนำไปสู่ความถูกต้อง มันก็จะแก้ไขความผิดพลาดความเศร้าหมอง ความคิดว่ากิเลสและก็อนุสัยของกิเลสความเคยชินของกิเลสให้เบาบางไป ในที่สุดมันก็กลายเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ว่าถ้าอย่าให้มีสิ่งเหล่านี้มารบกวนแล้ว จิตนี้ย่อมบริสุทธิ์ ย่อมสะอาด ย่อมอะไรอยู่ในตัวมันเอง
สิ่งที่จะต้องเข้าใจหรือเอามาพิจารณาดูอยู่เสมอ ที่ว่าธรรมชาติเดิมแท้นั้นมันไม่ใช่กิเลส กิเลสนี้เพิ่งเกิด อย่างที่มีหลักว่าจิตนี้ประภัสสร ไม่ได้มีกิเลสมาแต่เดิม มีความเป็นประภัสสรคือรุ่งเรืองสดใสอยู่ ต่อเมื่อกิเลสเข้ามามันจึงจะเป็นจิตที่เศร้าหมอง ถ้าเอาเป็นเรื่องเดิมแท้ๆ ตามธรรมชาติเดิมแท้กันแล้ว มันก็เป็นเรื่องไม่มีกิเลส กิเลสเกิด กิเลสจะเกิดต่อเมื่อได้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมคือโลกนี้ เพราะว่าเรามีประตูสำหรับเปิดรับสิ่งที่จะก่อให้กิเลส คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นประตูสำหรับเปิดรับสิ่งที่จะก่อให้เกิดกิเลส เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเจริญๆ เจริญขึ้นไป มันก็เปิดรับกิเลสมากขึ้น เหมือนเมื่อเด็กๆ มันยังนอนอยู่ในท้องแม่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่ทำอะไรได้ มันก็ไม่ได้เปิดรับกิเลส ก็เมื่อไม่ได้เปิดรับสิ่งที่จะก่อให้เกิดกิเลส มันก็ยังไม่มีกิเลส จิตเดิมๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าประภัสสร คือยังไม่มีกิเลส ฉะนั้นถ้าเข้าใจคำนี้ผิด มันก็ผิดได้มากเหมือนกันว่า ประภัสสรแล้วทำไมยังจะต้องมีการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเข้าใจถูกต้อง ก็หมายความว่าประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มันไม่สูญเสียความเป็นประภัสสร ถ้าไม่มีการปฏิบัติ มันไม่เท่าไหร่ มันจะสูญเสียความเป็นประภัสสร จะเปิดโอกาส คือเปิดประตูรับกิเลส รับสิ่งที่จะก่อให้เกิดกิเลส ถ้าท่านปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องของการรักษาความเป็นประภัสสรเอาไว้ให้มันตายตัว ให้มีความเป็นประภัสสรก้าวหน้าเรื่อยไป คงสภาพไว้ แล้วก็ให้มีคุณสมบัติสูงขึ้นๆ ให้เป็นประภัสสรสูงขึ้น ก็รู้แจ่มแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ ถ้าไม่เข้าใจมันก็วนเวียนหมดว่าประภัสสรแล้วยังจะต้องทำอะไรอีก เพราะว่าตามธรรมชาติมันรักษาความเป็นประภัสสรไว้ไม่ได้ เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปิดอ้าคอยรับสิ่งที่จะเข้าไปทำลายความเป็นประภัสสรของจิต ถ้าเราปฏิบัติเป็นเราก็ปฏิบัติอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสัมผัสก็อย่าเกิดอวิชชา พอไม่เกิดกิเลสตัณหา ความเป็นประภัสสรมันก็ยังคงอยู่ ทีนี้เมื่อเราปฏิบัติก้าวหน้าในการควบคุมประตูรักษาประตูนี้ ความเป็นประภัสสรมันก็เข้มแข็งเด็ดขาดลงไปได้ ไม่กลับเศร้าหมองอีกต่อไป ก็เรื่องก็มีเท่านี้เอง นี้ก็เรียกว่าธรรมชาติเข้าข้างเรานี่ สมมุติว่ามีเรานี่ ธรรมชาติก็เข้าข้างเรามากอยู่แล้ว เพราะว่าธรรมชาติแท้ๆ เดิมแท้มันก็ไม่มีกิเลส แต่รักษาธรรมชาติแท้นี้ไว้ให้ได้ ก็คือรักษาจิตที่มีความเป็นประภัสสรไว้ได้ จนกว่าความเป็นประภัสสรนี้จะอยู่ตัว จะตายตัว คือเป็นอกุปปธรรม ไม่กลับมาเป็นเศร้าหมองได้ เรื่องมันก็มีเท่านั้นเอง
ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งๆ เดียวคือจิต เพราะว่ามีจิตมันจึงเกิดเรื่อง เพราะว่ามีจิตมันจึงเกิดเป็นปัญหานั่นนี่ขึ้นมา ที่จะต้องละความชั่ว ทำความดีนี้ มีปัญหาขึ้นมา ก็เพราะว่ามีจิตนี่ มันจึงไปยึดมั่นสิ่งที่เกิดกับจิต ยึดมั่นความดีความชั่วที่เกิดกับจิต มันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา ทีนี้ก็อย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่รู้จะเป็นทุกข์อย่างไร ก็จึงศึกษากันในข้อนี้ ให้จิตมันประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติที่เป็นธรรมะ มีเรื่องที่เป็นธรรมะ มีตัวธรรมะอยู่ที่จิต นี่พระธรรมก็เข้ามาทำหน้าที่ พระธรรมมีความจำเป็นอย่างนี้ ที่พุทธบริษัทจะต้องมีพระธรรมเป็นเหมือนกับว่าเป็นเครื่องสกัดกั้นสิ่งที่จะมาทำจิตให้สูญเสียความเป็นประภัสสร จิตนั้นเมื่อไม่มีอะไรมาทำให้สูญเสียความเป็นประภัสสร มันก็รู้อะไรได้ในลักษณะที่ถูกต้องที่พอดีเท่าที่จำเป็น เดี๋ยวนี้มันมีความรู้ผิดเกิดขึ้น สูญเสียความรู้ถูก ความรู้ถูกนั่นคือความเป็นประภัสสร เป็นแสงสว่างอยู่แล้ว ย่อมจะทำอะไรถูกได้ไปในตัวเอง ย่อมจะดำเนินไปได้ในตัวเอง เพราะว่ามันเป็นคุณสมบัติของสิ่งที่เรียกว่าจิต คือคิดได้ เป็นของสิ่งที่เรียกว่ามโน มโนธาตุ คือความรู้ ธาตุนี้ก็เป็นธาตุดั้งเดิม มีคุณสมบัติคือรู้ รู้ได้เอง ขอแต่อย่ามีอะไรมาสกัดวิถีทาง สกัดกั้นวิถีทางของมันเสียเท่านั้นแหละ แล้วมันก็จะรู้ได้เอง ถ้าไม่มีอะไรมาสกัดกั้นวิถีทางของมันเสีย มันก็จะเจริญงอกงามขึ้นมาตามลำดับได้ รู้สูงสุดได้ เด็ดขาดได้ นี่ความดีของมโนธาตุ มันก็มีอยู่อย่างนี้ คือมันจะต้องรู้อะไรของมันได้ ขออย่ามีอะไรมาสกัดกั้นหนทางของมันนั้น ฉะนั้นการอบรมจิต การเจริญภาวนาทำจิตให้เจริญนี้ มันก็อยู่ที่สกัดกั้นนิวรณ์บ้าง กิเลสบ้าง อย่าให้มีโอกาสเกิด ฉะนั้นจิตก็รุ่งเรืองหรือวัฒนาต่อไป กลายเป็นจิตที่มีหน้าตาที่น่าดู มีจิตที่เป็นหน้าตาที่ประกอบไปด้วยแสงสว่าง ด้วยสติปัญญา สมกับที่จะเรียกว่าเป็นจิตของพุทธบริษัท คือบุคคลผู้ตื่นนอน ผู้ไม่หลับ คำว่ารู้ คำว่าตื่นนอนนี้เป็นคำเดียวกัน พุทธะนี้แปลว่าตื่นนอนก็ได้ แปลว่ารู้ก็ได้ แล้วผลของมันก็คือความเบิกบานอยู่ สดใส ไม่มีทุกข์ นี้คือความน่าดูของจิตที่ประกอบอยู่ด้วยความเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง
อาตมาก็ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตของพุทธบริษัทที่แท้จริงมาเป็นเรื่องสุดท้ายว่ามันประกอบอยู่ด้วยธรรม หรือพระธรรมประกอบอยู่ด้วยพระธรรมในลักษณะอย่างนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้วที่จะเอามาพูดในวันนี้ซึ่งเป็นวันของพระธรรม เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ระลึกแก่พระธรรม ขอให้พูดกันให้มากในทางที่เป็นประโยชน์แก่จิต พูดถึงพระธรรมให้ถูกต้องให้เป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่จิต อย่าพูดให้มันเฟ้อ อย่าพูดให้มันเพ้อเจ้อ อย่าปล่อยให้กิเลสมันแสดงบทบาทออกมาโดยอาศัยพระธรรมมาปิดป้าย ของจริงไม่ต้องปิดป้าย คือไม่ต้องโฆษณาอะไรกันอีกในทำนองปิดป้าย ปิดฉลากชวนเชื่ออย่างนั้น มันจะกลายเป็นไม่ใช่ธรรมไปเสียอีก ถ้าธรรมแล้วก็ไม่ต้องช่วยปิดป้าย ไม่ต้องช่วยคุ้มครองอะไรให้แก่ธรรม พระธรรมจะคุ้มครองตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งคนอื่น ไม่ต้องมาให้ใครมาช่วยคุ้มครอง ที่แท้พระธรรมนั้นจะคุ้มครองสิ่งอื่นหรือทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือจิตใจของคนต้องการพระธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง คุ้มครองนี้ก็ไม่ใช่มาช่วยทำอะไรให้ จิตนี้ต้องประกอบด้วยธรรม ต้องประพฤติธรรมอยู่ มีธรรมะอยู่ในนั้นมันก็คุ้มครอง จิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะกิเลส เพราะว่าคนนั้นก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนอีกทีหนึ่ง เพราะไม่มีจิตที่จะคิดเบียดเบียนทั้งตนอื่นและผู้อื่น นี่คือลักษณะของธรรมะแท้ ที่กล่าวไว้กันมาแล้วแต่โบราณหรือจะก่อนพุทธกาล คำว่าก่อนพุทธกาลนั้นก็พูดยาก มันพ้นทางออก ก็มีข้อแก้ตัวว่าเมื่อก่อนนี้มันก็มีพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพิ่งมีองค์นี้ ถ้าเราพูดว่าก่อนพุทธกาลก็หมายถึงแต่พระพุทธเจ้าองค์นี้ แต่เขาก็มีคำพูดว่า เอ้า,มันมีพระพุทธเจ้าก่อนหน้านี้อีกมาก เพราะคำว่าก่อนพุทธกาลนี้หายาก แต่ถ้าเอาพระพุทธเจ้าองค์นี้เป็นหลัก ก็เรียกว่าเขาพูดกันมาก่อนพระพุทธเจ้าองค์นี้ก็ได้ว่าธรรมะนั่นแหละสูงสุด สูงสุดของธรรมะนั้นอยู่ที่การไม่เบียดเบียน มนุษย์เริ่มรู้จักปัญหาของมนุษย์เมื่อรู้จักการเบียดเบียน เมื่อก่อนมนุษย์ไม่เบียดเบียนกัน มันก็ไม่มีปัญหา พอมนุษย์รู้จักเบียดเบียนกันแม้แต่น้อย ก็เกิดเป็นปัญหาคือไม่ต้องการให้เบียดเบียน ฉะนั้นก็เอาสิ่งสูงสุดอยู่เอาไว้ เอาไว้ที่การไม่เบียดเบียน เกิดคำพูดขึ้นมาที่เรียกว่าตั้งแต่ก่อนพุทธกาลนั้นว่า อหึสา ปรโม ธมฺโม ความไม่เบียดเบียนเป็นธรรมะสูงสุดหรืออย่างยิ่ง อย่าเบียดเบียนตัวเอง อย่าเบียดเบียนผู้อื่น คือไม่เบียดเบียนโดยประการทั้งปวง นี้เป็นธรรมะสูงสุด เป็นธรรมะอย่างยิ่ง มีธรรมะนี้แล้วไม่มีใครเดือดร้อน ตัวเองก็ไม่เดือดร้อน ผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อน ก็เย็นเป็นนิพพาน ฉะนั้นการไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นไปถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นเรื่องของนิพพาน ทั้งของตัวเองทั้งของผู้อื่นคือเย็น นี้เป็นการแสดงอานิสงส์ของการมีธรรมะ ก็เป็นธรรมเทศนากัณฑ์สุดท้ายแห่งอาสาฬหบูชาในวันนี้
จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะพยายามจะทำการกำหนดจดจำเอาไปคิดไปนึกไปพิจารณาให้เกิดประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป ชั่วแต่ฟังเดี๋ยวนี้มันคิดไม่ทันพิจารณาไม่ทัน ก็เอาไปคิดนึกพิจารณาต่อไปจนเข้าใจแล้วก็ทำให้สำเร็จประโยชน์ ก็จะไม่เสียทีที่ว่าเราทำอาสาฬหบูชากันทุกปี ทุกปี ทุกปี ก็ให้มันก้าวหน้า คือดีขึ้นเจริญขึ้นสูงขึ้นยิ่งขึ้นไปทุกปีๆ อาตมาก็พยายามที่จะสนองความประสงค์อันนี้ โดยพยายามจะพูดให้ชัดเจนให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทุกปีๆ แล้วท่านทั้งหลายก็จะเป็นผู้สนองรับเอาไปคิดไปพิจารณา ให้มันดียิ่งขึ้นทุกปี แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์สมตามความมุ่งหมาย ก็จะเป็นผู้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางของพระธรรมได้สมตามความประสงค์ ทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประการ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้/