แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายถวายความรู้ทางปริยัติที่เกี่ยวกับวิปัสสนาหรือการปฏิบัติโดยตรง ในวันนี้ก็จะได้กล่าวถึงสมาธิภาวนาอย่างที่หนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้ละเอียดยิ่งขึ้นไปจนอาจจะเข้าใจได้ จึงต้องขอทบทวนโดยให้ระลึกถึงคำที่ได้กล่าวแล้วเมื่อวานนี้ว่า สมาธิภาวนามี ๔ อย่าง
อย่างที่หนึ่งนั้น ทิฏฺฐธรรมสุขวิหาราย เป็นไปเพื่อสุขวิหารในทิฏฐธรรม แล้วต้องขอทบทวนคำว่าสมาธิภาวนาด้วย คือเดี๋ยวเกรงจะลืมไปหรือฟั่นเฝือเสีย สำหรับสมาธิภาวนาต้องแปลว่าการทำจิตให้เจริญด้วยเครื่องมือ คือ สมาธิ คือ ทำความเจริญด้วยสมาธิ อย่างสั้นที่สุดก็พูดได้อย่างนี้ ในสมาธิภาวนาประเภทที่หนึ่งนี้ทำความเจริญนั้น คือ ทำให้เกิดความสุขวิหารในทิฎฐธรรม หมายความว่า คนทั่วไปไม่อาจจะมีสุขวิหาร การอยู่เป็นสุขชนิดที่เป็นทิฎฐธรรม คือ รู้สึกได้ด้วยตนที่นี่และเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เราอาศัยสมาธิภาวนาประเภทนี้ ก็สามารถทำให้ได้พบกันหรือให้ได้ชิม ให้ได้รู้รส ได้เสวยความสุขในทิฎฐธรรม คือ ที่นี่และเดี๋ยวนี้
สำหรับสมาธิภาวนาประเภทที่หนึ่งนี้ พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสระบุ รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นที่สุด อันนี้ คือ การเจริญ แล้วก็ได้ผลมาเป็นความสุขในทิฎฐธรรม คือหมายถึงรูปฌานทั้ง ๔ นั่นเอง คือรูปฌานทั้ง ๔ ในกรณีอื่นเขาจะเรียกอย่างอื่น จะใช้ประโยชน์อย่างอื่น มีความมุ่งหมายอย่างอื่นก็ตามใจ แต่ในที่นี้หมายถึง ความสุข อยู่เป็นสุขในทิฎฐธรรม ที่ว่าในกรณีอื่นนั้น เช่นว่า เขาจะใช้ไอ้รูปฌานนี้เป็นบาทของการบำเพ็ญฤทธิ์ อิทธิวิธี อะไรต่าง ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความสุข เป็นต้น มันก็เป็นเรื่องของเขา แต่สำหรับในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้อย่างนี้ ว่าที่เราจะใช้มันให้มากที่สุด ตามวิถีทางของพุทธศาสนานั้น จะใช้เป็นเพียงทิฏฺฐธรรมสุขวิหาร คือ การอยู่เป็นสุขในทิฎฐธรรม ไม่ได้มีคำระบุว่า เพื่อไปเกิดในพรหมโลกอะไรอย่างนั้น เป็นต้นเลย มีระบุแต่ว่าสุขวิหารในทิฎฐธรรม คือ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ส่วนที่ว่าทำสมาธิชนิดนี้เพื่อไปเกิดในพรหมโลกนั้น มีคนพูดแล้วก่อนพระพุทธเจ้านานทีเดียว พูดกันมาก่อน แล้วจะมีความหมายตามตัวหนังสือหรือความหมายอย่างไรนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัย เพราะเวลาของเราไม่พอที่จะไปมัววินิจฉัย แล้วเราก็ต้องการแต่จะรู้เท่าที่เกี่ยวกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงชี้แจง ทรงแนะนำ ก็เจริญสมาธิภาวนาเพื่อทิฎฐธรรมสุขวิหาร ก็คือ รูปฌาน ๔ ซึ่งผมจะได้อธิบายให้เป็นที่เข้าใจเท่าที่จะทำได้ เพราะปรากฏว่าในโรงเรียนนักธรรม โดยเฉพาะนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ก็ไม่อธิบาย ไม่ได้อธิบายเอาเลย ถือสักว่าชื่อหรือว่าอ่านตัวหนังสือพ้น ๆ ไปเท่านั้นเอง นี้ก็เลยหน้าหัว คือ น่าสงสาร ก็น่าสงสารที่ไม่รู้ในสิ่งที่ง่าย ๆ หรือควรจะรู้ในเบื้องต้นนั้น แล้วอีกอย่างหนึ่ง พวกทายก ทายิกา อุบาสกบางคนนี้ อาจจะอยากทราบ แล้วก็จะถาม ถามแล้วอธิบายไม่ได้ นี้มันก็ดูกระไรอยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ก็ควรจะรับรู้ในเรื่องรูปฌาน ๔ นี้ ในฐานะที่เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจหรือรู้ หรือทำได้ เพราะว่ามันเนื่องอยู่กับสิ่งที่เราเรียกกันเองว่า วิปัสสนาธุระ อย่างในอรรถกถาธรรมบท เป็นต้นนี้ เรียกไอ้พวกเหล่านี้ว่า วิปัสสนาธุระ คู่กันกับคันถธุระ ก็เอาว่า เป็นอันว่าพระอาจารย์ผู้ปฎิบัติหรือสั่งสอนในเรื่องของจิตนี้มันจะต้องรู้เรื่องนี้ แล้วมีความมุ่งหมายว่ามันจะเป็นสุขวิหารในทิฎฐธรรมนี้ได้อย่างไร
เมื่อพูดถึงรูปฌาน ๔ ก็เข้าใจกันอยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องสมถะ เป็นเรื่องสมาธิ ยังไม่ใช่เรื่องของปัญญา จึงหมายถึงการที่ทำจิตให้สงบแล้วก็เป็นสุข ทำไมเรียกว่ารูปฌาน ก็เพราะว่าอาศัยสิ่งที่มีรูป ที่จะรู้สึกได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรก็ตาม ก็เรียกว่ารูปธรรมนี้เป็นอารมณ์ ดังนั้นการเจริญนี้ก็เรียกว่าเจริญรูปฌาน ถ้าได้ผลมาก็ได้ผลเป็นรูปฌาน เพ่งกสิณ ก็เพ่งด้วยตา หรือถ้าจะใช้อะไรช่วยทางหูก็ยังได้ ทางจมูกก็ยังได้ อย่างทำอานาปานสตินี้ มันต้องอาศัยทางกาย ทางโผฏฐัพพะ ที่ลมมันกระทบผ่านช่องจมูก หรือทำให้เกิดเสียงขึ้นมาเพื่อกำหนดง่ายขึ้นอีก ก็แปลว่าเอารูปธรรมที่เอามาใช้ได้สำหรับการพิจารณาก็เอามาใช้ได้ นี้พวกรูปฌาน หรือสมาธิที่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงได้ชื่อว่ารูปฌาน ทำไมจึงแบ่งเป็น ๔ นี้ตามนัยยะแห่งสุตตันตะทั้งหลาย ก็มีตรัสไว้ชัด แบ่งเป็น ๔ ชั้น คือ รูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔
ทีนี้ทำไมจึงแบ่งเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่ามันละเอียดกว่ากันไป สงบระงับยิ่งกว่ากันไปตามลำดับ ตามลำดับ ตามลำดับ พอที่จะจัดให้มันต่าง ๆ กันได้สัก ๔ ชั้น จึงได้เรียกว่าเป็น ๔ ๔ ขั้น ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มีพระบาลีอยู่หลายแห่งที่แสดงว่าสิ่งนี้เขารู้กันแล้วทำกันได้ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ มีคนปฏิบัติได้อยู่แพร่หลายแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าออกผนวชก็เที่ยวแสวงหาวิชาทำนองนี้จากคณาจารย์ เช่น อาฬารดาบส เป็นต้น ก็ได้ ก็ทำได้ กระทั่งทำได้ถึงชั้นที่ ๔ คือ จตุตถฌาน และเขาก็ทำถึงอรูปฌานที่สูงขึ้นไปอีกนี้ ฟังดูให้ดีสิว่ามันอรูปฌานที่สูงกว่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเขาจะให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งความทุกข์ คือ เป็นนิพพานนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่เห็นด้วย พวกโบราณกาลโน้นเคยเอาจตุตถฌานเป็นนิพพานนี้ก็ยิ่งไม่เห็นด้วย จะเอาเนวสัญญานาสัญญายตนะที่ ๔ ของอรูปฌาน ท่านก็ไม่เห็นด้วย ท่านไปหาไอ้ภพนิพพานอย่างอื่น แต่แล้วท่านก็ไม่ได้ตำหนิว่ารูปฌาน เป็นต้นนี้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่ามันเป็นของไร้ประโยชน์ หรืออาจจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
ดังนั้นในตอนหลัง แม้เมื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ยังได้ทรงแนะไว้ว่า นี้อาจจะใช้ให้เป็นสมาธิภาวนา เพื่อประโยชน์แก่ทิฎฐธรรมสุขวิหารได้ สำหรับพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะอยู่อย่างเป็นสุข แล้วก็อยู่ในฌาน เรียกว่า ที่นั่งทิพย์ ที่นอนทิพย์ อะไรไปตามเรื่อง แล้วพักผ่อนอยู่ด้วยฌาน เพราะมันไม่มีไอ้ความพักผ่อนอย่างอื่น ดังนั้นจึงถูกจัดไว้เป็นความสุขในทิฎฐธรรมนี้ เป็นการเสวยความสุขทางไอ้ความรู้สึกที่เกี่ยวมาถึงร่างกายนี้ แม้ว่าจะยังไม่สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ ก็ยังใช้ไอ้พวกฌานเหล่านี้เป็นสุขวิหารธรรมได้ แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังใช้ไอ้สิ่งเหล่านี้เป็นสุขวิหารในทิฎฐธรรมได้ คือ ความพักผ่อนนั่นเอง เป็นอันสรุปว่า สิ่งนี้เรียกว่า สุขวิหาร คือ วิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ที่เป็นสุข แล้วก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้เราก็จะดูกันว่ามันเป็นสุขอย่างไร เป็นข้อสำคัญ ก็อย่าเข้าใจไปว่าเราไปพูดข้ามไปถึงผลของมันก่อน แล้วจึงจะพูดถึงเหตุ คือ การที่ไปพูดให้ทราบ อธิบายให้ทราบ เป็นสุขอย่างไรตามลำดับเสียก่อน แล้วจึงพูดถึงการกระทำนี้ มันง่ายกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับกรณีนี้
เมื่อได้แบ่งเป็น ๔ ชั้น คือ ๔ ฌาน คือฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้ มันมีความต่างกันอยู่ที่ว่าแต่ละฌานนั้น มันให้ผลเป็นความสุขไม่เหมือนกัน คือ ละเอียด ประณีต สุขุมยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ยิ่งเอาตามพระบาลีได้เลย ซึ่งจะต้องขอร้องให้ฟังให้ดี ๆ ด้วย คือว่า ฌานที่ ๑ วิวิจฺเจว กาเมหิ เพราะสงัดแล้วจากกามทั้งหลายนั่นเทียว วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ เพราะสงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลายด้วย สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ คือ เข้าอยู่ซึ่งปฐมฌาน แล้วก็มีความสำคัญตรงนี้ว่า ซึ่งมีปีติสุขอันเกิดแต่วิเวก และมีวิตก วิจาร ไอ้ความสำคัญมันว่า มีปีติและสุข ๒ อย่าง ไม่ควรจะแปลว่า สุขเกิดแต่ปีติ ควรจะแปลว่า ปีติและสุข และก็ วิเวกชํ เกิดแต่วิเวก ในปีติและสุขนั้น ยังมีสิ่งที่เรียกว่าวิตก วิจาร ปรากฏอยู่ในความรู้สึกด้วย จึงใช้เป็นหลักว่า มันมีวิตก วิจารด้วย เพราะมันมีทั้งปีติและทั้งสุขด้วย แล้วปีติ และสุขนี้เกิดมาแต่วิเวก จำคำว่า วิเวกชํ เกิดแต่วิเวกไว้ให้ดี เดี๋ยวเราจะต้องเทียบกัน ที่เคยเรียนในโรงเรียนนักธรรมก็ว่า มีปีติ เอ้อ, มีวิตก วิจาร ปีติ สุข และ เอกัคคตา สุข นั่นละ ๕ อย่างนี้ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องพูดถึงเอกัคคตา เพราะคำว่าฌานนะมันแสดงถึงอยู่แล้ว แล้วก็แถมปีติเข้าไปที่สุขด้วย แฝดกันอยู่ มีทั้งปีติและทั้งสุข นี้นะคือความอยาก คือมีอยู่ทั้งปีติและสุข เพราะสุขนั้นเกิดแต่วิเวกเท่านั้น พอสักว่าสงัดจากกามและอกุศลธรรมก็มีปีติและสุข จิตยังรู้สึกต่ออารมณ์ที่กำหนดอยู่ด้วย จึงเรียกว่ามีวิตกและวิจารนี้ นี้เรียกว่าฌานที่ ๑ หรือขั้นแรกที่เข้ามาสู่ความสุขที่เป็นไอ้สุขวิหารในทิฎฐธรรม สรุปความในข้อนี้ว่า มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก
ทีนี้พอมาถึงฌานที่ ๒ วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา เพราะระงับไปแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส นี้ตอนหนึ่ง เอโกทิภาวํ อวิตกฺกํ อวิจารํ นี้ตอนหนึ่ง สมาธิชมฺปีติสุขํ ทุติยํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ความแปลกกันมันมีขึ้นมาว่า เสวยปีติและสุข สมาธิชมฺ ที่เกิดมาแต่สมาธิ เมื่อตะกี้เกิดมาแต่วิเวกนะ เดี๋ยวนี้เป็น อวิตกฺกํ อวิจารํ คือความรู้สึกที่เป็นวิตกและวิจารนั้น มิได้มีอยู่แล้ว มีแต่ความที่จิตเป็นภาวะอันเดียว มีเติมเข้ามาว่า อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส เป็นเครื่องผ่องใสแห่งจิตในภายใน นี่หมายความว่า มันมีเครื่องผ่องใสแห่งจิตในภายในนี้มากขึ้นกว่าปฐมฌาน แล้วไม่มีวิตกวิจารด้วย เพราะว่าทิ้งไปเสีย คือ สสัดทิ้งไปเสีย และความสุขนั้น ปีติและสุขนั้นเป็นสุขที่เกิดมาแต่สมาธิ
ทีนี้ถ้าถามว่าวิเวกกับสมาธิต่างกันอย่างไรนี้ จะต้อง ต้องเข้าใจ ข้างบนบอกชัดแล้วว่าวิเวกนี้ เพราะสงัดจากกาม และอกุศลธรรมไม่รบกวน พอสักว่าไม่มีนิวรณ์รบกวน ก็มีสุขเกิดแต่วิเวก ทีนี้ถ้าให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จนถึงกับสลัดวิตกวิจารออกไป จิตผ่องใสยิ่งขึ้น ความเป็นสมาธินี้มันมีมากขึ้น จนเป็นที่ตั้งแห่งสิ่งที่เรียกว่า ปีติและสุข ก็หมายความว่าไอ้อย่างที่ ๑ นั้น ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ยังหยาบอยู่ ฌานที่ ๒ ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ก็ประณีตยิ่งขึ้นไป มีเหตุผลประกอบ คือว่า เดี๋ยวนี้สลัดวิตกและวิจารออกไปเสียได้
ทีนี้ที่ ๓ ฌานที่ ๓ นี่ ปีติยา จ วิราคา ก็ปีติจางหายไป อุเปกฺขโก จ วิหรติ มีอุเบกขา คือ การเพ่งเฉพาะนี่ชัดขึ้น สโต จ สมฺปชาโน มีสติและสัมปชัญญะเต็มที่ สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ เสวยเฉพาะซึ่งความสุขด้วยนามกาย บาลีว่าอย่างนี้ เมื่อตะกี้ใช้คำว่า ปีติและสุข ปีติและสุข มาทั้ง ๒ ฌานนะ พอมาฌานที่๓ นี้ คำว่าปีติไม่มีแล้ว ถ้าว่ามีความสุขเฉย ๆ เข้ามาแทน แล้วก็ไม่ได้บอกว่า สุขเกิดแต่ปีติ หรือสุขเกิดแต่สมาธิ คือการเสวยสุขด้วยนามกาย คือพวกสติสัมปชัญญะหรืออุเบกขา เป็นต้น เหล่านั้นเรียกว่านามกายในที่นี้ ความสุขเกิดมาจากความที่มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เป็นธรรมที่พระอริยะ มี มีอธิบายคำศัพท์พิเศษขึ้นมาว่า ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารีติ เป็นธรรมที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้รู้ถึงนี้ว่า เป็นผู้อยู่อุเบกขามีสติเป็นสุข มีอุเบกขากับสติเป็นเครื่องให้เกิดสุข เป็นความสุข ก็เทียบมาเรื่อย ๆ นี่อันแรก สุขเกิด ปีติและสุข คู่แฝดมาแต่วิเวก อันที่ ๒ ปีติและสุข คู่แฝดนั้นมาจากสมาธิ พอมาอันนี้กลายเป็นสุขล้วน ๆ ไม่ ไม่ ไม่มีคู่แฝด คือ ปีติ แต่ด้วยเหตุที่มีอุเบกขามากขึ้น มีสติมากขึ้น จึงอยู่เป็นสุข นี้จึงเรียกว่าสูงขึ้นมาถึงอันดับที่ ๓
ทีนี้อันดับที่ ๔ สุขสฺส จ ปหานา เพราะละสุขเสียได้ ทุกฺขสฺส จ ปหานา เพราะละทุกข์เสียได้ ปุพฺเพ ว โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา เพราะความไม่ตั้งอยู่แห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน อทุกฺขมสุขํ อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ จตุตฺถํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช ติ เข้าถึงจตุตถฌาน อทุกขมสุข คือไม่รู้สึก คือไม่ ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข คงเป็นเพียงอุเบกขาหรือสติล้วน ๆ ใช้คำว่าบริสุทธิ์อยู่ด้วยอุเบกขาและสติ คำว่า ปาริสุทฺ หรือ สุทฺ ก็ตามนี้ ในความหมายหนึ่ง หมายถึงบริสุทธิ์ แต่ในความหมายหนึ่ง หมายว่า ล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือ ถ้าว่ามีสิ่งเดียวล้วนไม่มีอะไรเจือ ก็เรียกว่า สุทฺ หรือ สุทธิ หรือ ปาริสุทฺ เหมือนกัน ในที่นี้ก็มีอุเบกขากับสติเต็มที่ ล้วน ๆ ไม่เรียกได้ว่าทุกข์และสุข แต่ให้ความรู้สึกที่เป็นสุขอีกชนิดหนึ่ง ไม่เรียกว่าทุกข์ ไม่เรียกว่าสุข แต่เมื่อได้เข้าแล้ว จะรู้สึกว่าเป็นสุขอีกชนิดหนึ่ง สำหรับจตุตถฌาน
ผมเห็นว่าหัวข้อบัญญัติเหล่านี้ควรจะท่องจำได้และแม่นยำคล่องแคล่ว จึงจะสะดวกในการที่จะศึกษาและปฏิบัติ ทีนี้ก็จะต้องทบทวนแต่เนื้อเรื่องแต่ใจความว่า ปฐมฌานที่ ๑ มีปีติและสุข ทุติยฌานที่ ๒ ก็มีปีติและสุข ตติยฌานที่ ๓ มีแต่สุข จตุตถฌานที่ ๔ มีอทุกขมสุข คือว่า ไม่ทุกข์ ไม่สุข แต่ว่าทั้ง ๔ อันนี้เป็นสุขวิหาร ถ้าอยู่แล้วเป็นสุข แล้วก็ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี้เดี๋ยวจะเข้าใจว่ามันค้านกันเองว่า อทุกขมสุข แล้วทำไมจะต้องเป็นสุข ก็ลองอยู่อย่างไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขดูสิ มันจะเป็นอะไร มันก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง เช่น แต่ก่อนนิพพานมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ แต่นิพพานก็เป็นสุขอย่างยิ่ง นี้เพราะข้ออทุกขมสุขนี้เอง จึงได้ทำให้พระโยคีทั้งหลายในกาลก่อน ก่อนพุทธกาล แล้วสืบมาจนกระทั่งถึงพุทธกาลก็ยังมีเหลืออยู่ ที่บัญญัติว่าจุตุตถฌานนั้นเป็นนิพพาน
ที่เราพูดว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเกิดแล้วก็ยังมีคนถือ คนบางพวกนะ โยคีบางพวกถือว่าจตุตถฌานเป็นนิพพาน ก็อ่านดูรู้ได้จากบาลี เช่น พรหมชาลสูตร ที่ว่าด้วยทิฎฐิ ๖๒ ประการ เป็นต้น แต่ยังมีที่อื่นอีก อย่างครั้งในพุทธกาล มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีคนไม่เชื่อ หรือดันทุรังเอาอยู่ เอาตามเดิม ตามแบบเดิม ตามที่เคยสอนกันมาเพราะมันไม่ยากลำบากนัก ทำฌานที่ ๔ ให้เกิดขึ้นแล้ว มันก็ไม่รู้สึกสุขทุกข์ แต่แล้วจิตนั้นก็รู้สึกสบายหรือเป็นสุข ทั้งที่เขาพอใจที่สุด ด้วยเหตุนี้แหละ จตุตถฌานจึงถูกเข้าใจสำคัญผิดว่าเป็นนิพพานไปได้
ทบทวนดูให้ดีนะว่า ฌานที่ ๑ นั้นมีปีติและสุข ฌานที่๒ ก็มีปีติและสุข ฌานที่ ๓ มีแต่สุข ฌานที่๔ เป็นอทุกขมสุข ดูว่ามันละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอย่างไรต่อไปนี้
ฌานที่ ๑ มีปีติและสุข แต่มันยังหยาบอยู่เพราะมันเกิดจากวิเวก ยังมีวิตกวิจาร
พอถึงฌานที่ ๒ มีปีติและสุขจริง แต่ว่ามันเป็นปีติและสุขที่เกิดมาแต่สมาธิ และไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ขอให้เข้าใจคำว่า มันประณีตยิ่งขึ้น มันสงบระงับยิ่งขึ้นนะ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าไอ้สุขที่มาแต่สมาธินี้ มันสงบระงับประณีตยิ่งกว่าสุขที่มาแต่วิเวก หรือว่าสุขที่ยังมีวิตกวิจาร คือการกำหนดอารมณ์ของสมาธิยังเหลืออยู่นี้ มันก็หยาบกว่าที่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารแล้ว
ทีนี้พอมาถึงที่ ๓ มันปลดปีติทิ้งไปเสียเหลือแต่สุข เพียงเท่านี้ก็แสดงความระงับยิ่งขึ้นไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าปีตินั้นหยาบกว่าความสุข มีความหวั่นไหว ยิ่งกว่าความสุข แต่ถ้าว่าอีกทีหนึ่งก็ว่าเป็นมูลเหตุอันหนึ่งของความสุข ถ้าพูดให้เป็นภาษาธรรมดาที่จะพูดกับชาวบ้าน ก็พูดให้เขาเข้าใจได้ว่า ไอ้ปีตินั้นนะคือความรู้สึกพอใจว่าประสบความสำเร็จ รู้สึกพอใจในการกระทำหรือในตัวเองที่กระทำนี้ ว่าประสบความสำเร็จ รู้สึกว่าประสบความสำเร็จเท่านั้น มันก็มีปีติ ฉะนั้นลักษณะของปีติจึงซาบซ่าน โยกโคลง หวั่นไหว อย่างที่ในหนังสือชั้นหลังก็พรรณนาลักษณะปีติไว้ประหลาด ๆ นะ ถึงกับกระโดดโลดเต้นไปก็มี อย่างนี้ สรุปความไว้ ก็ สรุปความก็ได้ว่าปีตินั้นละมันยังหวั่นไหว มันยังไม่ระงับ มันยังเหมือนกับมีอะไรเต้นอยู่ เพราะมันดีใจว่าประสบความสำเร็จ ทีหลังจากนั้นเป็นความสุข ก็คือไม่ ไม่ ไม่เต้น ไม่มีจิตใจที่เต้น ไม่มีความรู้สึกที่เต้น หรือสั่น หรือไหว นี่ความสุขนี่จึงเป็นสิ่งที่สงบระงับ เงียบลงไปยิ่งกว่าสิ่งที่เรียกว่าปีติ
ทีนี้ดูให้ดีว่าในปฐมฌานมีปีติและสุขแฝดกันอยู่ ในทุติยฌานก็มีปีติและสุขแฝดกันอยู่ พอมาถึงตติยฌานจึงจะเหลือแต่สุข ฉะนั้นใคร ๆ ก็ตอบได้ทันทีว่า ตติยฌานนี้ สงบ ระงับ ประณีต สุขุมกว่าไอ้ปฐมฌานและทุติยฌาน นี้บางทีมันอธิบายประกอบออกไปว่ามันโดยนามกายล้วน ในที่นี้จึงหมายถึงอุเบกขากับสติ ที่เริ่มโผล่ขึ้นมา แม้ไม่เต็มที่ก็พอจะเรียกได้ว่า มีอุเบกขาและสติเต็มขึ้นมา แต่ความรู้สึกนั้นยังเป็นสุขอยู่ คือลักษณะของตติยฌาน
พอถึงอันสุดท้ายจตุตถฌานนั้น อุเบกขากับสติเต็มที่ล้วน ๆ แล้วความรู้สึกเปลี่ยนเป็นอทุกขมสุข อทุกขมสุขก็ต้องสงบระงับยิ่งกว่าสุข สุขก็สงบระงับยิ่งกว่าปีติและสุข ฉะนั้นต้องเข้าใจไอ้สามคำนี้ให้ดี ๆ ปีติกับสุขนี้ อันแรกนี้ก็เรียกว่าสุขเหมือนกัน แต่มันยังโยกโคลงอะไรอยู่ ที่ปีติสลัดออกไปเหลือแต่สุขมันก็ระงับยิ่งขึ้น แล้วเปลี่ยนเป็นอทุกขมสุข นี้ก็ยิ่งสงบระงับมากยิ่งขึ้นไปอีก ใช้คำว่าไม่สุขไม่ทุกข์ในความหมายที่เป็นเวทนา แต่เรียกว่าสุขในความหมายที่เป็นธรรม เป็นปฏิเวธธรรม ที่ควรจะบัญญัติว่าเป็นสุข เพราะว่าไม่ต้องทน ไม่ต้องมีความทน ไอ้สุขมันทนง่าย ทุกข์มันทนยาก ถ้าไม่มีเสียทั้งสองอย่างก็คือไม่ต้องทนเลย นี้มันก็เรียกว่าความสุขแท้จริง เป็นพระนิพพาน ไม่ ไม่ ไม่สุข ไม่ทุกข์ แล้วถูกบัญญัติว่าสุขอย่างยิ่ง ฉะนั้นในจตุตถฌานจึงมีเหลืออยู่แต่อุเบกขากับสติ เป็นตัวความสุข ส่วนความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้น มันก็ต้องยิ่ง คือว่าสูง หรือประณีตยิ่งขึ้นทุกที เอกัคคตาในขณะแห่งปฐมฌานมันก็มี แต่มันหยาบกว่า เอกัคคตาในฌานที่ ๒ ฌานที่ ๒ ก็มีเอกัคคตาที่หยาบกว่าในฌานที่ ๓ ในฌานที่ ๓ มีเอกัคคตาหยาบกว่าฌานที่ ๔ แม้จะเรียกชื่อว่าเอกัคคตาเหมือนกัน เพราะมันยังเนื่องกันอยู่ ประกอบกันอยู่ สนับสนุนอะไรกันอยู่ ในระหว่างอันอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องนี้
นี่นะคือข้อที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจนแยกให้เห็นได้ว่า มันสูงต่ำกว่ากันอย่างไร คือมันสูงยิ่งขึ้นไปอย่างไร หรือว่าพูดให้ถูกทีก็ว่า มันระงับลง ระงับลง ระงับลง ลงไปอย่างไร คำพูดนี้มันกำกวมดิ้นไปดิ้นมาอย่างนี้ แต่ว่าพูดให้มันถูกต้องแท้ ๆ ก็ว่า มันสงบระงับลงไป มากขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ลงแล้วไปขึ้น มันพูดยากใช่ไหม แต่ว่ามันสงบระงับมากกว่าลงไปทุกที สำหรับในฌานทั้ง ๔ มันถึงจตุตถฌาน มันจึงระงับถึงขนาดที่ไม่ปรากฏความรู้สึก แม้ในการหายใจ แม้ในการคิดนึก เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดไปมันก็เถียงกัน คนหนึ่งจะพูดว่าไม่มีเสียเลยก็ถูกเหมือนกัน ประหนึ่งว่ามันมีละเอียดจนไม่รู้สึก ก็ถูกเหมือนกัน แต่ถึงเดี๋ยวนี้ไม่มีความรู้สึกคิดนึก แล้วก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ไหล ของการหายใจ หรือของโลหิตไหลเวียนอย่างนี้ มันก็หยุดกันไปหมด เรียกว่าสงบระงับที่สุด เมื่อสงบระงับที่สุด มันก็เป็นการหยุดพักมากถึงที่สุด ทีนี้คำว่าหยุดพักนี้ ก็มีความหมายชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่หยุดพักเราก็เหนื่อย ถ้าเราหยุดพักมันก็ไม่เหนื่อย สบาย ทีนี้ถ้ามันหยุดหนักขึ้นไปอีก มันก็สบายยิ่ง หนักขึ้นไปอีก จนกระทั่งการหยุดพักอยู่ด้วยจตุตถฌานนี้ ก็เรียกว่าสูงสุดแล้ว ในฝ่ายหยุดพัก ส่วนที่มันเกี่ยวกับร่างกาย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสเรียกหรือให้ชื่อมันว่าสุขวิหาร มีอยู่ ๔ ชั้นอย่างนี้ นี่คือข้อที่ผมพูดว่า เราไปพูดผลของมัน ให้รู้จักผลของมันเป็นชั้น ๆ ก่อน นี้จะเข้าใจได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า ที่จะพูดถึงการปฏิบัติอย่างไรก่อน แล้วจึงพูดถึงผลของมัน
เอ้า, ทีนี้เราก็จะพูดย้อนมาหาการปฏิบัติ คุณไปทำสิ ทำให้มันปีติและสุขเกิดขึ้นมา แล้วก็ยอมให้ว่ายังมีการกำหนดอารมณ์เป็นวิตกวิจารอยู่ จึงสักว่านิวรณ์นี้มารบกวนแล้ว ก็มีอยู่ด้วย มีปีติและสุขอยู่ นี่ทำอย่างไรละ คล้าย ๆ ไปหาวิธีทำได้เองก็ได้เหมือนกันแหละ ขอให้ทำให้มันได้ผลขึ้นมาอย่างนี้ ทีนี้พอได้ขึ้นมาอย่างนี้แล้ว มันก็เหลือแต่ปลดทิ้งออกไป ทีละอย่าง สองอย่าง ก็อย่างในหลักที่เรียนมาในโรงเรียนนี้ว่า ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ๕ อย่าง พอจะทำให้เป็นฌานที่สูงขึ้นไปคือ ทุติยฌาน คำในบาลีสุตตันตะนี้ ก็ให้ละเลยวิตกวิจารเสีย คือไม่ทำความรู้สึกในวิตกวิจารเสีย สลัดไปเสีย มันก็ยังเหลือแต่ปีติและสุข เอกัคคตา ทีนี้หลักนี้มันก็ตรงกันว่า ในทุติยฌานก็ยังเหลือแต่ปีติและสุข ในปฐมฌานก็มีปีติและสุข แต่มันแถมวิตกวิจารเข้าไปด้วย พอละเลยไอ้วิตกวิจารเสีย ก็เหลือแต่ปีติและสุข กับความที่จิตมีอารมณ์อันเดียวคือ เอกัคคตา นั้น เมื่อจะให้ปราณีตขึ้นไปอีก ให้สงบระงับยิ่งขึ้นไปอีก สุขุมยิ่งขึ้นไปอีก ก็ละเลยไอ้ความรู้สึกที่เป็นปีตินั้นเสียสิ คือความรู้สึกสะท้านสะเทือนแห่งใจ หวั่นไหวอยู่ในใจ เพราะได้ประสบความสำเร็จนั้นนะ สลัดออกไปเสียก็เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา
ทีนี้พอถึงอันสุดท้าย ก็ไอ้สุขนี้มันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ยั่วให้รู้สึกพอใจและยึดถือ ทำให้มันหมดความหมายไปเสีย คือไม่สุขและไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์และไม่สุข ให้เป็นความหมายของคำว่าไม่สุข ไม่สุขก็ต้องไม่ทุกข์ด้วย เดี๋ยวมัน ไม่ ไม่สุขแล้วมันเป็นทุกข์ขึ้นมานี้ มัน มันไม่ถูกเรื่อง มันเป็นไปไม่ได้ นี่เขาใช้คำว่าชัดอยู่แล้วว่า ไม่สุข ไม่ทุกข์ และไม่สุข ก็เหลือแต่อุเบกขา คำว่าอุเบกขา กับเอกัคคตา ฉะนั้นหลักเกณฑ์ตามตัวหนังสือที่เราเคยเรียนในนักธรรมตรี นักธรรมโทนั้นก็มีอยู่แล้ว แล้วก็ถูกต้องแล้ว มันเหลืออยู่แต่ว่าเราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ฉะนั้นถ้าใครยังไม่เข้าใจ ก็ไปเข้าใจตามนี้ ซึ่งกล่าวไปตามพระบาลีที่ได้ตรัสไว้โดยตรง ซึ่งอยากจะทบทวนอีกทีหนึ่ง มันจะฟังถนัดเข้าว่ามันต้องมีเอกัคคตายืนโรงอยู่ทั้ง ๔ ฌานนะ เอกัคคตาของฌานที่ ๑ ก็มี ฌานที่ ๒ ก็มี ฌานที่ ๓ ก็มี ฌานที่ ๔ ก็มี แต่ว่าเอกัคคตานั้นจะมีคุณสมบัติเท่ากันไม่ได้ ในเมื่อเอกัคคตาของปฐมฌานนั้นมันยังมีอีก ๔ อย่างเนื่องกันอยู่ด้วย ทีนี้พอถึงทุติยฌาน เอกัคคตานั้นมีสิ่งที่เนื่องกันอยู่ด้วยเพียง ๒ อย่าง คือปีติ และสุข เอกัคคตาของตติยฌานก็เหลืออยู่แต่สุขอย่างเดียว เอกัคคตาของจตุตถฌานก็เปลี่ยนสุขให้เป็นอุเบกขาเสีย
ทีนี้เราก็ลองทำความรู้สึกโดยการสันนิษฐาน หรือโดยการคาดคะเน หรือสมมติว่าก็ได้ ว่าเอกัคคตาที่มันมีตั้ง ๕ อย่าง มีตั้งอีก ๔ อย่างผนวกกันอยู่ รวมกันอยู่ แล้วมันก็ต้อง ต้องหยาบละ คือว่าไม่มั่นคง ไม่สงบระงับ ถ้าลดออกไปได้เท่าไร มันก็เหลือเป็นเอกัคคตาที่แน่วแน่ มั่นคง ระงับยิ่งขึ้น ก็คือความเป็นสมาธินั้นแหละ จะมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น
อันที่ ๑ เพราะสงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม นี้เป็น เป็น เป็นคำ คำประกอบว่า ว่าง หรือสงัดไปจากกาม ไปจากอกุศลธรรม กามนี้หมายถึง นิวรณ์ เช่น กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ เหล่านี้ ไม่เกิดคลื่นรบกวน เพราะว่าสามารถปฏิบัติสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ทีนี้ก็ได้รู้สึกว่ามีปีติพอใจที่ทำได้สำเร็จและมีความสุข แล้วก็วิตกและวิจาร คือการที่กำหนดอารมณ์ หรือซึมซาบรู้ทั่วถึงกับอารมณ์นั้นก็ยังปรากฏอยู่ด้วยใน ใน ในความรู้สึก และมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
พอถึงฌานที่ ๒ มีคำระบุว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา เพราะสงบระงับแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย ความกำหนดอารมณ์ หรือ ความพิจารณาอารมณ์นั้นนะมันหยุดไปได้ ก็เรียกว่าเพราะสงบระงับไปแห่งวิตกและวิจารทั้งหลาย ทีนี้ปีติและสุขนั้น ยังคงปรากฏอยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็นเกิดแต่สมาธิ เพราะมันพ้นคุณค่าของวิเวก คือ วิวิจฺจ วิวิจฺจ สองทีนั้นเสียแล้ว หมายความว่า นิวรณ์ก็ไม่รบกวนแล้วเหมือนอย่างฌานที่ ๑ มีความเป็นสมาธิมากขึ้น จนความสุขเดี๋ยวนี้ออกมาจากความเป็นสมาธิมากกว่าความวิเวก ถ้ามีคำที่เพิ่มเข้ามาว่า อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ เจตโส คือปีติและสุข ชนิดนี้เป็นสัมปสาทนะแห่งจิตชนิดที่เป็นภายใน สัมปสาท สัมปสาทนะ เป็นเครื่องเลื่อมใส ผ่องใส พอใจในภายใน คือภายใน ใน ในความรู้สึก ไม่ใช่ว่าเกี่ยวกับร่างกายโดยตรง จึงต้องใช้คำว่า เจตะโส กำกับเอาไว้ คือทางจิต ฝ่ายจิต ของจิต หรือแห่งจิต นี้ก็หมายความว่า มันเข้าไปข้างในมากขึ้น เป็นเรื่องของจิตเป็นภายในมากขึ้นกว่าฌานที่ ๑ มีปีติและสุขที่เกิดมาแต่สมาธิ เป็นปีติและสุขที่ไม่มีวิตกวิจาร และเป็นปีติและสุข ซึ่งเป็นสัมปสาทนะแห่งจิตที่เป็นภายใน
ทีนี้พอมาที่สาม ปีติยา จ วิราคา เพราะ วิราคะ คือจางออก จางออกจนหมดสิ้นแห่งปีติ อุเปกฺขโก จ วิหรติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา สโต จ สมฺปชาโน มีสติ มี สมฺปชาน คือสัมปชัญญะ จึงได้เสวยสุขด้วยนามกาย สุขนี้เหลือแต่สุข ไม่ ไม่ ไม่แฝดอยู่ด้วยปีติ และก็ไม่ต้องพูดถึงว่ามันเป็นสุขที่เกิดมาแต่สมาธิ หรือสุขที่เกิดมาแต่วิเวกอีกแล้ว ก็เป็นสุขที่ไปอิงอยู่กับอุเบกขาและสติ ทีนี้มันต่างกันอยู่ตรงที่ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นสุข รู้สึกเป็นสุขโดยสมบูรณฺ์ แม้ว่าอิงอยู่กับอุเบกขาและสติ
ต่อไปถึงอันที่ ๔ อันสุดท้ายก็เลิกความหมายของคำว่าสุข เลิกความรู้สึกของความสุขเหลือเป็นอทุกขมสุข ที่อยู่กับอุเบกขาและสติอย่างถึงที่สุด คือสุดขีด จะพูดให้ง่ายก็ว่าอันที่ ๓ อุเบกขา สติ อุเบกขากับสติทำให้เกิดสุข ส่วนฌานที่ ๔ อุเบกขากับสติทำให้พ้นไปจากนั้น คือเป็นอทุกขมสุข
นี่นะคือหลักที่เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฌาน ๔ ซึ่งถ้าว่าไม่สนใจ จะรู้สึกว่ายากและสับสน และลึกลับ พอสนใจให้ถูกเรื่อง ถูกวิธีเข้าสักหน่อย มันก็ค่อยชัดขึ้นมา แต่จะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อได้ลองทำดู ทีนี้เราก็ค่อยทำดูพร้อมกันไปกับการสังเกต ศึกษา ให้เห็นจริง ให้เข้ารูปเข้ารอยกันกับพระบาลีนี้
สำหรับการปฏิบัตินั้น มันก็มีทางที่จะทำได้หลายทาง ก็มีหลักตามที่เคยเรียน เคยศึกษากันมาแล้วว่า ถ้าอารมณ์ใดทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว สมาธินั้นที่อาศัยอารมณ์ชนิดนั้น ก็สามารถทำให้เกิดรูปฌานทั้ง ๔ ได้ นี้เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อไปว่าเราจะเลือกเอาอะไรมาใช้เป็นอารมณ์เพื่อปฏิบัติรูปฌานให้สำเร็จ ถ้าเราเอาสิ่งที่มันเป็นนามธรรม หรือกึ่งนามธรรมมากเกินไปมาเป็นอารมณ์ ไอ้วิตกวิจารมันก็ไม่ชัดเจนจนถึงกับเต็มที่ได้ มันก็ไม่เกิดปฐมฌานซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ได้ ดังนั้นเราจะต้องเอาสิ่งที่มันกำหนดง่าย คือกำหนดได้โดยรูปธรรม สิ่งนั้นก็เป็นรูปธรรม กำหนดได้โดยรูปธรรม เช่นว่า กำหนดโดยอาศัยไอ้ความรู้สึกของตาบ้าง หรือของไอ้ ไอ้ร่างกายนี้ ยกตัวอย่าง เช่นว่า เราจะเพ่งกสิณ เราก็ต้องใช้ตา ความรู้สึกทางตาเพ่งกสิณ ซึ่งเป็นจุด ๆ หนึ่งสำหรับจิตจะไปเกาะอยู่ที่นั่น ฉะนั้นการเจริญกสิณจึงเป็นของสะดวก มันง่ายที่สุด เพราะว่าตามันทำได้ง่าย สร้างวิตกวิจารได้โดยง่าย แล้วก็เมื่อสำเร็จก็เกิด ปีติ สุข เอกัคคตา ได้ มีวัตถุอย่างอื่นที่มันทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหวั่นไหวหรือกลัวได้ เช่น อสุภ ซากศพอย่างนี้ มันคงจะไม่สามารถกำหนดให้มันเป็นนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ขึ้นมาได้โดยสะดวก เพราะมันลำบาก เพราะมันกลัว มันจึงต้องใช้ไอ้ส่วนใดส่วนหนึ่งหรืออะไรอันใดอันหนึ่ง เช่น เพียงแต่เศษกระดูกหรืออะไรก็ได้ สำหรับจะกำหนด แล้วมันกำหนดไปในทาง วิถีทางของกสิณนั่นแหละ ถึงแม้ว่าทีแรกจะใช้วัตถุที่ไม่ใช่กสิณ แต่ในที่สุดก็ต้องถือเอาอุคคหนิมิตซึ่งเป็นนิมิตสร้างขึ้น ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่ไอ้ของเดิม แล้วก็ไปตามแบบของอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านแนะว่า มันยังไม่สะดวกเท่า สะอาดเท่าอานาปานสติ ที่ใช้ลมหายใจที่ออกเข้าอยู่เสมอนี้นะเป็นอารมณ์ ถ้าอย่างนี้แล้วเราก็ไปกำหนดได้ด้วยตาแล้ว มันก็ต้องอาศัยไอ้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ที่มันอยู่ที่เนื้อ ที่หนัง ที่ลมจะผ่าน เช่น ลมจะผ่านช่องจมูก ตั้งแต่จมูกลงไปถึงที่สุดข้างในที่จะสมมติว่าที่สะดือหรือที่ตรงไหนก็ตาม เอาความรู้สึกที่นั่น ความสะเทือนที่ทำให้รู้สึกนั้นเป็นอารมณ์ แล้วก็กำหนดด้วยจิตที่มาทางสัมผัสทางกาย เหมือนกับ เหมือนคล้าย ๆ กับว่ากำหนดโผฏฐัพพะ ไม่ใช่กำหนดรูป แล้วในที่สุดมันก็ไอ้ส่วนโผฏฐัพพะที่ตรงกระทบอยู่จุดหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็ถูกทำให้เป็นไอ้นิมิต มโนภาพ ที่เรียกว่า อุคคหนิมิตต่อไปอีก ก็ไปรูปเดียวกันกับ ปฏิภาคนิมิต แล้วเกิดวิตกวิจารข้างในพร้อมองค์ ๕ ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นไอ้รูปธรรมทั้งหลายที่จะเป็นที่ตั้งการกำหนดได้โดยง่ายนี่ สามารถทำให้เกิดรูปฌานทั้ง ๔ นี้ได้
ทีนี้ถ้าว่าเราจะใช้อนุสสติพวกอื่น เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ หรือเมตตา หรืออะไร เป็นต้นนี้ มันก็ลำบากไอ้การที่จะกำหนด เพราะไม่รู้ว่าตาจะไปกำหนดที่อะไร จิตก็ไม่รู้ว่าจะไปกำหนดที่โผฏฐัพพะตรงไหน ก็เลยกำหนดนามธรรม เช่น คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ถ้าพิจารณาอยู่แต่อย่างนั้น มันไม่อาจจะเกิดเป็นอุคคหนิมิตได้ เว้นไว้แต่ว่าจะใช้วิธีอ้อม อ้อมค้อม หรือเลี้ยวไปในทางที่จะให้เกิดสมมติ เช่นว่า พรรณนา พิจารณาพระคุณของพระพุทธเจ้าเสียยืดยาวให้ซึมซาบ ถ้าเราจะสรุปให้เป็นองค์พระพุทธเจ้าในมโนภาพเล็ก ๆ ขึ้นมา หรือกระทั่งเป็นจุดเป็นดวงอะไรขึ้นมา อย่างนี้มันก็อาจจะไปได้ถึงอัปปนาสมาธิ ตามวิธีเดียวกันกับไอ้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งหลาย แต่ถ้าไปมัวพิจารณาพระคุณอยู่โดยความหมายนี้แล้ว มันไม่มีทางที่จะเป็นอัปปนาสมาธิได้ ถึงแม้การเจริญเมตตาภาวนา กรุณา มุทิตา อุเบกขาก็เหมือนกัน ถ้ามันพิจารณาโดยความหมาย แล้วมันไม่มีทางที่จะให้เกิดอัปปนาสมาธิได้ ต้องเปลี่ยนความหมายนั้นให้เป็นอันใดอันหนึ่ง เป็นมโนภาพ เป็นอุคคหนิมิต ซึ่งเราสรุปเอาเองได้ว่า ความหมายของเมตตาเป็นดวงแก้ว เป็นอะไรอย่างนี้ มันก็มารูปเดียวกันกับเรื่องของกสิณ ซึ่งง่ายที่สุด กระทั่งเรื่องของอานาปานสติ ซึ่งสร้างมโนภาพได้ก็แล้วกัน
การปฏิบัตินั้น เท่าที่ผมสอบสวน รวบรวมมาพิจารณาสอบสวน จึงมองเห็นชัดว่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นี้ถูกต้องที่สุด ไม่ใช่ว่าเราจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ช่วยรับรองให้พระพุทธเจ้า คือเราจะเห็นสมว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด คืออานาปานสติ ใช้คำว่าอานาปานสติ คือลมหายใจออกเข้า เป็นรูปธรรมแล้วกำหนดไปตามลำดับโดยนัยยะแห่งอานาปานสติ ที่กล่าวไว้โดยชัดเจนใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เป็นอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ๆ ละ ๔ หมวด ทรงระบุหมวดที่ ๑ เป็นกายานุปัสสนา หมวดที่ ๒ เป็นเวทนานุปัสสนา หมวดที่ ๓ เป็นจิตตานุปัสสนา หมวดที่ ๔ เป็นธัมมานุปัสสนา ๑๖ ขั้น ๔ หมวด ๆ ละ ๔ ขั้น ฉะนั้นคำว่า กายคตาสติ ในที่นี้ เลยกลายเป็นกำหนดลมหายใจ ก็มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้เองว่า ลมหายใจนั้น คือกายชนิดหนึ่ง นี้อาจจะพิจารณากายอะไรก็ตาม สติตั้งต้นที่ซากศพในป่าช้าก็ตาม หรือว่าจะตั้งต้นที่ลมหายใจซึ่งเป็นกายชนิดหนึ่งก็ตาม มันก็เป็นกายคตาสติได้ด้วยกัน ถ้าจะเป็นถึงฌานได้ก็ต้องสามารถทำให้เป็นอุคคหนิมิตได้ ฉะนั้นการที่จะไปต่อสู้กับซากศพในป่าช้านั้นนะ มันเป็นเรื่องทุลักทุเล หรือไม่สะดวก ไม่สบาย หรือบางคนจะขี้ขลาดจนทำไม่ได้ แล้วไม่สนุกเลย มันจึงมาหากายคตาสติในภายใน คือลมหายใจ เมื่อประพฤติอยู่ในอานาปานสติ หมวดที่ ๑ ๔ ขั้น ก็เรียกกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีลมนั้นแหละเป็นกาย แล้วก็ง่าย แล้วก็สะดวก เพราะว่าเรามันหายใจอยู่ตลอดเวลา ไปนั่งตรงไหนก็หายใจตรงนั้น เพราะอารมณ์ หรือนิมิตสำหรับการพิจารณามันก็ติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง สะดวกอย่างนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติให้เกิดฌาน ๔ โดยอานาปานสติหมวดต้นที่เรียกว่า กายคตา เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้นนั้น ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ คือ เกิดรูปฌานทั้ง ๔ นี้ได้โดยสมบูรณ์ แล้วถ้าเกิดเป็นสุขขึ้นมา ก็เป็นสุขชนิดที่สงบระงับกว่าความสุขที่จะไปกระทำจากไอ้กสิณ หรือว่าจากไอ้ซากศพโดยตรง เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอถวายคำแนะนำเป็น เป็น เป็นความเห็นส่วนตัว ว่าถ้าจะทำเพื่อสุขวิหารทั้ง ๔ นี้ แล้วก็ใช้ระบบอานาปานสติ แม้แต่เพียงหมวดแรก ๔ ขั้นเท่านั้นนะ ก็จะครบถ้วนได้ทั้ง ๔ รูปฌาน แล้วเป็นสุขวิหารในทิฎฐธรรม คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ทันความประสงค์ในเวลาอันไม่ยาวนาน นี่เวลาสำหรับวันนี้ก็หมดแล้ว ฉะนั้นจะได้พูดถึงวิธีปฏิบัติกันให้ชัดอีกทีหนึ่งสำหรับไอ้สุขวิหารนี้ โดยอานาปานสติภาวนาในโอกาสต่อไป วันนี้ขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะ