แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายในวันนี้ ก็จะได้กล่าวต่อจากการบรรยายในครั้งที่แล้วมา เรากำลังพูดกันถึงเรื่องสิ่งที่เรียกว่าธรรมใน ๔ ความหมาย โดยที่มีความประสงค์ว่า ถ้าผู้ใดเข้าใจในเรื่องธรรม ๔ ความหมายนี้ดีแล้ว จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมทุกๆ ชนิดได้ง่ายเข้า อย่างเป็นที่น่าสนใจ ขอให้พยายามทำความเข้าใจให้ดี จะทบทวนไปเรื่อย คำว่า ธรรม คำนี้ แปลว่า ทรงไว้ ทรงตัวมันเองก็ได้ ทรงสิ่งอื่นที่เข้าไปประพฤติปฏิบัติก็ได้ ความหมายที่ ๑ ได้แก่ ตัวธรรมชาติทั้งปวง ความหมายที่ ๒ ได้แก่ กฎของธรรมชาติ ที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งปวง ความหมายที่ ๓ ได้แก่ หน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ ความหมายที่ ๔ ที่กำลังจะพูดนี้ก็คือ ผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ที่จริงความหมายที่ ๔ คือ ผลที่จะได้รับนี่มันก็แฝดเนื่องกันอยู่กับการปฏิบัติ ซึ่งเป็นตัวเหตุนั่นเอง แต่ที่มันต่างกันคือมันเกิดกันคนละที ก็ต้องเอามาพูดแยกกันออกไปเป็นอย่างหนึ่ง คำว่าผลของการปฏิบัตินี้ เรียกโดยภาษาบาลี ก็เรียกได้ ๒ อย่าง วิปากะ แปลว่า ผลที่สุกออกมา ก็ได้ หรือจะเรียกว่า ปฏิเวทะ คือสิ่งที่จิตใจได้รู้สึก ได้ชิม ได้แทงตลอด อย่างนี้ก็ได้แต่มันลึกไป เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป จึงมักจะเรียกว่า วิปากธรรม ผลที่สุกออกมาจากการปฏิบัติ ธรรมะใน ๔ ความหมายมีอย่างนี้ ถ้าเรียกอย่างบาลีก็จะเรียกว่าสภาวธรรม สัจจธรรม ปฏิปัตติธรรม วิปากธรรม ถ้าจะเรียกอย่างคำแปล ก็ระบุไปถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริง ก็จะเรียกว่า ตัวธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ผลที่จะเกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ตามธรรมชาติ
เราจะพูดกันวันนี้ถึงเรื่องผลนั้นเอง ในเรื่องผลก็ต้องหมายถึง สิ่งที่เกิดมาจากเหตุ หรือเหตุกลายเป็นผล แล้วผลก็กลายเป็นเหตุต่อไปอีก นี่ก็เป็นคำที่มันเกี่ยวเนื่องกัน แล้วก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า ถ้าว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกันระหว่างบุคคลหรือเกี่ยวกับสังคม เรามีคำอื่นใช้แปลกออกไป คือคำว่าหน้าที่ กับคำว่า สิทธิ หน้าที่คือตัวการปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติ นั่นมันเป็นเหตุ แล้วมันก็เกิดสิทธิที่จะรับผล นี่ก็เรียกว่าผลก็ได้ เราต้องทำหน้าที่ เราถึงจะมีสิทธิที่จะได้รับผลที่เราต้องการ แต่นี่มันเป็นพูดกัน เป็นคำพูดที่ใช้พูดระหว่าง มีตัว มีตน มีเรา มีเขา มีอะไรไป อย่างน้อยก็เกี่ยวกับสังคม แต่ถ้าไม่พูดกันในรูปนี้ ไม่เกี่ยวกับสังคม มันก็พูดว่าเหตุกับผลก็ได้ ต้องมีเหตุแล้วก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ก็คือเกิดผลขึ้นมาตามเรื่องของธรรมชาติ ขอให้จำไว้ทั้ง ๒ คู่ คือ คำว่าเหตุกับผลคู่หนึ่ง คำว่าหน้าที่กับสิทธิอีกคู่หนึ่ง แล้วก็จะถือโอกาสพูดพร้อมๆ กันไปเลย แต่ย่อมจะแยกให้เห็นชัดว่ามันต่างกันอย่างไรอยู่ในตัวเอง
สำหรับคำว่า เหตุผล เป็นธรรมชาติ ไปตามกฎธรรมชาติ แล้วก็ไม่ต้องเป็นบุคคลเป็นอะไรก็ได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ได้ มีสิ่งที่เป็นเหตุแล้วก็ย่อมเกิดสิ่งที่เป็นผล แล้วสิ่งที่เป็นผลนั้นก็กลับมาเป็นเหตุได้ เช่นว่า ต้นไม้มันก็เป็นเหตุให้เกิดลูกไม้ ลูกไม้เกิดขึ้นแล้ว ลูกไม้นี้ก็เป็นเหตุให้เกิดต้นไม้อีก อย่างนี้ ก็เรียกว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อย เหตุให้เกิดผล ผลให้เกิดเหตุ เหตุให้เกิดผล มันเปลี่ยนไปเรื่อย ก็ขอให้นึกถึงกฎธรรมชาติ แล้วก็การเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ การเกิดขึ้นมาตามกฎของธรรมชาติ ก็จะเข้าใจธรรมะในความหมายที่ ๔ นี้ได้ดี เพื่อให้แนะให้สังเกตไอ้สิ่งที่มันซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เช่นว่า ฝาผนังก่อด้วยอิฐ อิฐมันซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ อิฐก้อนหนึ่งจะทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือซ้อนผู้อื่น ทับผู้อื่นด้วย และถูกผู้อื่นทับด้วย อิฐก้อนหนึ่งๆ จะเป็นอย่างนั้น มันทับก้อนข้างล่าง แต่มันก็ถูกทับด้วยก้อนข้างบน นี่คือเรื่องที่มันอาศัยกันตามหลักแห่งเหตุผลเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดในธรรมชาติ
ทีนี้พอมาเป็นเรื่องของสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีความหมายมากไปกว่าเรื่องของก้อนอิฐ ซึ่งมันไม่มีชีวิต ก็ดูให้ดีว่า มันไม่มีอะไรที่จะเป็นแต่เหตุหรือเป็นแต่ผลโดยส่วนเดียว มันเป็นเรื่องสมมุติ ในขณะหนึ่งสมมุติให้เรียกว่าเป็นเหตุในขณะหนึ่งก็สมมุติให้เรียกว่าเป็นผล หรือว่าในขณะเดียวกัน แต่ถ้ามองกันคนละแง่ มันก็เหตุก็ได้เป็นผลก็ได้ อย่างบุคคลคนหนึ่งนี่เขาก็เป็นผลที่เกิดมาจากแม่ของเขา แต่แล้วบุคคลคนนั้นก็ยังเป็นเหตุที่จะให้เกิดลูกของเขา เขาจึงเป็นทั้งเหตุและทั้งผล เมื่อเรามองกันให้มันครบถ้วน มองกันหลายๆ แง่ คนละแง่ แม้ว่าเราคนหนึ่ง คนหนึ่งที่นั่งอยู่ที่นี่ มันมีอะไรสร้างขึ้นมาตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันจึงมานั่งอยู่ที่นี่ได้ แล้วมันก็ไม่มานั่งอยู่เฉยๆ มันก็สร้างสิ่งอื่นต่อไปอีก อย่างนี้เขาเรียกว่าสังขารถูกสร้าง และสร้างสิ่งอื่นต่อไปอีก ต้องพยายามเข้าใจความเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ เกี่ยวกับเหตุและผล
ที่นี้ก็มาถึงสิ่งที่มีชีวิต เป็นต้นไม้ก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ กระทั่งมาเป็นบุคคล ก็มีเรื่องที่เป็นไปตามเหตุผล เหมือนเกิดที่ว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราแล้ว เราก็มีความสุขสบายในการที่จะรักษาอนามัยการกินการอยู่อะไรให้ดีตามหน้าที่ ก็ได้รับผลคือความสบาย นั่นเป็นส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับผู้อื่น ที่นี้เมื่อมันเกี่ยวกับผู้อื่นเพราะว่าคนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้ายิ่งเกี่ยวกับคนอื่นมากขึ้นทุกที มันจึงเกิดการกระทำที่เป็นเหตุที่เกี่ยวกับผู้อื่นแล้วก็ให้ได้รับผลประเภทที่มันเกี่ยวกับผู้อื่น อย่างนี้ก็เกิดคำใหม่ หน้าที่นั้นก็เป็นเหตุ สิทธิที่จะได้รับผลก็เป็นผลขึ้นมา อย่างที่เคยพูดแล้วพูดอีกอยู่เสมอว่า ภิกษุนี่ต้องปฏิบัติหน้าที่ของภิกษุ ถึงจะมีสิทธิ ที่จะบริโภคปัจจัย ๔ ของมหาชน ถ้าเราไม่ทำหน้าที่อย่างภิกษุ เราก็ไม่มีสิทธิเกิดขึ้นอย่างถูกต้องที่จะไปบริโภคปัจจัย ๔ ของมหาชน ข้อนี้ต้องหมายถึงภิกษุที่เป็นภิกษุจริงไม่ใช่ภิกษุชนิดที่ชั่วคราวชั่วขณะหรือว่าแสดงบทบาทจำเป็น ที่เป็นภิกษุที่อาศัยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชที่มหาชนถวาย แต่ถ้าภิกษุที่ซื้อข้าวกินเองนี่ก็ยกเว้นแล้ว ไม่อยู่ในพวกนี้ ภิกษุจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ก็มีตำรับตำรามีอะไรอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงรายละเอียด จะสรุปความแต่ว่าต้องประพฤติพรหมจรรย์ให้ถูกต้อง ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ถูกต้อง ธรรมวินัยนี้จะถือว่าผู้นั้นมีสิทธิที่จะบริโภคปัจจัย ๔ ของมหาชน เพราะเขาถือเสียว่าการที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ถูกต้อง แม้ว่าจะมีผลแก่ตนเองได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ของตนเอง อย่างนี้ก็ถือว่ามีประโยชน์ไปถึงมหาชน เพราะทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากที่พึ่งของมหาชนอย่างนี้ก็ได้ มีตัวอย่างที่ดีแสดงอยู่ บางทีก็พูดเอาเปรียบหน่อยว่า ทำให้โลกนี้มีนาบุญ ซึ่งเป็นที่ให้เกิดบุญ มหาชนต้องการบุญ แล้วก็มีภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนี้เป็นนาบุญ บำรุงเกื้อกูลแก่คนเหล่านี้แล้วเขาได้บุญอย่างนี้ก็ค่อนข้างเอาเปรียบหน่อยแต่ก็มีความจริงซ่อนอยู่ในนั้นด้วย ถ้ามีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในโลกนี้ โลกนี้ยังมีความหมายมาก มีทางที่จะเป็นอยู่อย่างผาสุก สงบสุข จึงขอให้เป็นภิกษุที่ดี ประพฤติพรหมจรรย์ถูกต้องแล้วก็มีสิทธิที่จะบริโภคปัจจัย ๔ ของประชาชนโดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าเป็นหนี้เขาหรือไม่ชอบธรรมที่จะไปบริโภคของเขา นี่ก็เป็นเรื่องที่หนึ่งแปลกดี ที่จะจำไว้ เพราะมันไปไกลถึงกับว่า ผู้ปฏิบัติธรรมะส่วนตนจนเป็นพระอรหันต์แล้วยังบริโภคปัจจัยของประชาชนอยู่ แล้วยังแถมใช้คำว่าบริโภคอย่างเจ้าหนี้เสียด้วย พระอรหันต์บริโภคปัจจัย ๔ ของประชาชนอย่างที่พระอรหันต์เป็นเจ้าหนี้ นี่เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ทางธรรมะทางวิญญาณที่ลึกซึ้งกว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจได้ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยถึงกับเข้าใจไม่ได้ คิดดูให้รู้ก็รู้ได้ พระอรหันต์ท่านมีอยู่ในโลกก็มีประโยชน์แก่โลกมากเกินกว่าข้าวปลาอาหาร จีวร อะไรต่างๆ ที่ชาวโลกเขาจะถวายท่าน นั้นไปบริโภคปัจจัย ๔ เข้า ก็เรียกว่าบริโภคอย่างเจ้าหนี้ประชาชนเป็นลูกหนี้แต่กลับได้บุญ เป็นสิทธิและหน้าที่ แบบนี้มันแปลกมันไม่มีในกฎหมายของชาวบ้าน กฎหมายชาวบ้านจะไม่รับรองสิทธิหน้าที่อย่างนี้ด้วยซ้ำไป แต่ดี๋ยวนี้เราพูดกันตามธรรม ตามวินัย ตามสัจจะของธรรมะหรือของธรรมชาติมันจึงเกิดมีกฎเกณฑ์อย่างนี้ขึ้นมา ขอให้เอามารวมกันให้ได้ความว่า ในการปฏิบัตินั้น ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วเกิดผลขึ้นมา โดยส่วนบุคคลถือว่าที่มันเกี่ยวเนื่องกับบุคคลอื่นพวกอื่นก็ดี ที่เรียกว่าผลเสมอกัน ทีนี้ที่เกี่ยวกับบุคคลผู้ปฎิบัติล้วนๆ ก็ระบุไปยัง มรรค ผล นิพพาน ต้องไปศึกษาเรื่อง มรรค ผล นิพพานกันโดยละเอียดอีก ก็จะรู้ว่าวิปากธรรม มุ่งหมายที่แท้จริงคือการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ไม่ใช่เพียงแต่ว่าการปฏิบัติถูกต้อง มีสุขภาพอนามัยดี มีเงินใช้ มีอะไร นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ยกไว้มันเป็นเรื่องของชาวบ้าน
เดี๋ยวนี้เราพูดถึงเรื่องของธรรมะ ธรรมวินัย ของพุทธศาสนา คำว่า วิปากธรรม ในที่นี้ก็หมายถึง การบรรลุผลทางจิตใจ มุ่งเอาการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นหลัก แต่ถ้ามีส่วนใดที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับมรรค ผล นิพพาน ก็รวบเข้าไปด้วย เช่น มีศีล มีสมาธิ แล้วก็มีความสบายใจ เพราะศีลธรรม สุขเพราะสมาธิ นี่ก็รวบเข้าไว้ในชุด มรรค ผล นิพพานด้วย นี่เรียกว่าวิบาก หรือผลที่บุคคลนั้นจะได้รับเกี่ยวกับบุคคลนั้น เป็นเรื่องของบุคคล นี้การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ของบุคคลนั้น มีประโยชน์แก่โลกแก่สังคมแก่คนทั้งหลายด้วย ก็เลยให้เป็นผลอีกอันหนึ่งที่ทำให้มีสิทธิที่ผู้ปฏิบัตินั้นจะบริโภคปัจจัย ๔ แล้วก็ให้ยังมีผลแก่ประชาชนในโลกที่ว่าโลกนี้มันยังมีแสงสว่าง หรือมีชีวิต ที่เป็นชีวิตจริง ถ้าปราศจากความรู้ข้อนี้ หรือปราศจากผู้ปฎิบัติได้ในระดับนี้ ก็เรียกว่าโลกนี้ไม่มีแสงสว่าง เป็นโลกมืด ในชีวิตที่มีอยู่นั้น ก็มิใช่ชีวิตจริง นี่ก็ควรจะเข้าใจไว้ด้วย ถ้ามนุษย์รู้จักแต่ทำมาหากิน สืบพันธุ์ อยู่กันได้นี่ก็เรียกว่ายังเป็นโลกมืด ไม่มีแสงสว่าง โลกไม่ได้รับประโยชน์ในชั้นสูง ความเป็นอยู่อย่างนั้น เรียกว่าชีวิตที่ไม่มีสาระอะไร คล้ายๆ กับว่ามันเพ้อๆ ไป ต่อเมื่อมีชีวิตที่สงบเย็น ไม่มีกิเลสรบกวนเป็นความสะอาด สว่าง สงบ เป็นการบรรลุมรรค ผล นิพพาน นี้จึงจะเรียกว่าชีวิตจริง ผลมันมากถึงอย่างนั้น วิบากที่ได้รับจากการปฏิบัติของบุคคลหนึ่ง ก็ยังแพร่ไปถึงโลกถึงชาวโลก ถึงอะไรได้ ดูกันให้ทั่วถึงแล้วจะดี
เดี๋ยวนี้เราจะพูดถึงความมุ่งหมายโดยตรงที่ว่า วิปากธรรม นี่ก็เรื่องของผลการปฏิบัติหน้าที่ ตามเรื่องของธรรมวินัยโดยตรงกันให้ชัดเจนเป็นพิเศษ นอกนั้นก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว ต้องย้อนไปดูถึงตอนต้นอีกทีหนึ่งว่าตามธรรมชาตินี่เรามีร่างกายอย่างไร มีจิตใจอย่างไร ก็ตามธรรมชาตินั้น มันจะเกิดอะไร ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติแท้ๆ มันก็จะเป็นเหมือนอย่างที่สัตว์เดรัจฉานเป็น มันไม่มีความทุกข์เดือดร้อนอะไรมากมายก็จริง แต่มันเป็นความทุกข์ชนิดที่น่ารังเกียจหรือความมืดมน ที่นี้มันจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันจะได้โอกาสที่จะวิวัฒนาการไปจนถึงกับเป็นเรื่องของกิเลส ไอ้คนทีแรกก็เป็นคนป่าแล้วก็มาดีกว่าคนป่า ก็รู้นั่นรู้นี่มากขึ้น จนเกิดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเกิดมาจากความชอบในความเอร็ดอร่อยที่เกิดขึ้นแก่เนื้อหนัง หรือความรู้สึกที่มากขึ้น ก็กลายเป็นรูปกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อปล่อยไปอีกปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างนั้นอีกก็อยู่ด้วย ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เลยเป็นความทุกข์ที่ละเอียดลึกซึ้งซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก มันยิ่งกว่าตกนรก ถ้าคนมันถูก ราคะ โลภะ โทสะ โกรธะ โมหะ ไอ้อะไรต่างๆ นี่ แผดเผาอยู่เรื่อยไป ก็เรียกว่ามันน่าสงสาร น่าสังเวช นี่ส่วนตัวเขาเป็นอย่างนั้น ทีนี้เมื่อกิเลสมากขึ้นไปอย่างนั้น มันก็ไปนั่นเอาบุคคลอื่น คือไปกระทบกระทั่ง เบียดเบียน ทำลายล้างบุคคลอื่น แล้วกิเลสประเภทโมหะ หรือว่าโลภะ โทสะ ก็ได้ ก็เลยเดือดร้อนไปทั้งโลกได้ นั้นหน้าที่ของมนุษย์ในทางจิต ในทางวิญญาณนี่ จึงมีต่อไปในทางสูง ที่ต้องรู้จักแสงสว่าง ต้องรู้จักกิเลส รู้จักความทุกข์อันละเอียดที่เกิดมาจากกิเลส ก็แก้ไขมันให้ได้ เรื่องอย่างนี้มันไม่มีแก่สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีในโลกของสัตว์เดรัจฉาน มันมีในระดับของมนุษย์ที่เป็นมนุษย์มากพอสมควรแล้ว ไม่ใช่มนุษย์อย่างคนป่าที่ยังไปจับสัตว์มากินดิบๆ นี่หน้าที่ที่จะต้องทำ เพื่อขจัดป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสเหล่านี้ หรือถ้ามันเกิดขึ้นแล้วไปกำจัดให้มันหมดไป
นั้นเราจึงมีหน้าที่ปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้แก้ไขข้อนี้ แล้วถ้าจะให้ดีที่สุดแล้วมนุษย์ควรจะรู้จักเรื่องนี้ถึงขนาดที่ว่าบิดา มารดา จะช่วยป้องกันให้แก่ลูกเล็กๆ มาตั้งแต่แรก แต่พูดแล้วมันดีเกินไป ไม่มีใครทำ ไม่มีใครเคยทำ ไม่มีใครทำได้ แต่ถ้าเอากันจริงๆ ก็ทำได้นะ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขนาดที่ว่ามีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องนี้กันจริง กลัวกิเลสกันยิ่งกว่ากลัวคอมมูนิสต์จริงๆ ก็จะเกิดระเบียบที่จะสอนให้คนที่เป็นบิดามารดานั้น รู้จักอบรมลูกเล็กๆ ตาดำๆ ที่เพิ่งคลอดออกมาตาดำๆ ให้ห่างจากกิเลส หรือให้ห่างจากการเกิดของกิเลสได้ แม้เดี๋ยวนี้เราก็จะพอเห็นกันได้บ้างว่าในวงศ์สกุลที่เป็นสัมมาทิฐิ ดีจริงๆ เขาเป็นอยู่กันถูกต้องตามธรรมะจริงๆ เด็กๆ ในสกุลชนิดนี้มันก็มีอัธยาศัยดี มีอะไรดี ก็ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังแต่ไอ้เรื่องที่มันไม่เป็นกิเลส หรือป้องกันกิเลส หรือรังเกียจเดียดชังกิเลส มันก็ดีทั้งนั้น แต่ถ้าดีกว่านั้นมันก็ต้องมีระบอบหรือระเบียบอะไรต่างๆ ที่มันจัดขึ้นเฉพาะสำหรับว่า พ่อแม่ต้องสอนลูกอย่างนี้ แม่ก็สอนอย่างนี้ พ่อก็สอนอย่างนี้ พี่ก็สอนอย่างนี้ น้องก็สอนอย่างนี้ ให้มันได้มาก คือมากไปในทางที่จะรู้จักกิเลส และป้องกันกิเลส ถ้าทำหน้าที่กันถึงขนาดนี้แล้วก็มีผลวิเศษมาก จะเป็นอริยบุคคลกันไปตั้งแต่ในบ้านในเรือน ก่อนออกบวช นี่เอามาพูดให้ฟังว่า ถ้ามันเป็นไปได้มันก็จะดีถึงขนาดนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังหวังไม่ได้เพราะเดี๋ยวนี้ยิ่งไม่สนใจในทางธรรมะ หรือศีลธรรมกันยิ่งขึ้น
นี่ผมก็พูดเมื่อคราวอื่นแล้ว ถ้าคุณสนใจฟังก็คงได้ทราบแล้วว่า โลกเดี๋ยวนี้ไม่สนใจศีลธรรมกันมากยิ่งขึ้น จึงไม่มีหวังที่จะให้มีหลักการอย่างนี้เกิดขึ้น เพราะไปอยู่ที่วัตถุ ที่เงิน ที่อะไร เป็นเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติอย่างไม่มีขอบเขตเสีย ก็ไม่สามารถจัดระบอบศีลธรรมชนิดใหม่ ที่ป้องกันกิเลสตั้งแต่อ้อนแต่ออกได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรทราบไว้ว่า ธรรมชาติมันก็มีให้ถึงอย่างนั้น แล้วมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติด้วย คือไม่เหลือวิสัย เป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์รู้จักมากถึงขนาด ก็ทำไปได้ตามกฎของธรรมชาติ ที่จะทำให้เราได้รับวิบาก คือผลของธรรมะนี่อย่างลึกซึ้งสูงสุดเหลือประมาณ เป็นมนุษย์ที่รู้จักป้องกันกิเลสมาตามลำดับ บางทีจะต้องยกให้เป็นเรื่องในศาสนาของพระศรีอารย์ต่อไปอีก ที่มีอะไรดีมากทั้งทางวัตถุ ทางจิตใจ ถ้าว่ามันเป็นอย่างนั้น มันก็ยังคงอยู่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ๔ ประการอย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่แปลกออกไปจากนี้ได้ มีการปฏิบัติธรรม ก็มีการได้รับผลของการปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้เรามาดูว่า เราจะทำได้กันสักกี่มากน้อย เมื่อเหลียวดูไปรอบๆ ไปถึงผู้อื่นจะรู้สึกท้อแท้ไปหมด คือไม่มีใครเอาด้วย โลกกำลังเป็นบ้าเป็นหลังในเรื่องของวัตถุ เรื่องของการเมือง เพื่อยื้อแย่งวัตถุ มึนเมาวัตถุ นี้ก็เลยมองได้เพียงจำกัดขอบเขตในวงแคบ ตั้งเป็นเรื่องของตัวเองคนเดียว ถึงจะมีทางที่จะพอมองเห็นว่าเป็นไปได้ในการปฏิบัติธรรม
นั้นคนพวกหนึ่งจึงมาบวช มาเรียน มาสนใจกับศาสนา แต่หวังว่าจะเป็นไปได้ เมื่อคนอื่นเขาไม่เอา เราก็เอาได้ คนเดียวได้ ตัวเขามีความทุกข์ แล้วเราไม่ต้องมีความทุกข์กับเขาก็ได้ คิดอย่างนั้น มันสามารถทำได้ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เรื่องนี้ก็อยากจะพูดไปเสียเลยโดยการยกตัวอย่างว่า เมื่อมันพูดกันไม่รู้เรื่องกับคนทั้งหลายท่านก็ออกไปทำเป็นของคนผู้เดียว ที่เป็นทั้งพระพุทธเจ้าก็ยังมี ที่เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เรียกว่าปัจเจกพุทธเจ้า เพียงแต่ไม่รอบรู้เหมือนสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถึงอย่างนั้นก็จัดไว้ในระดับพระพุทธเจ้า เรียกว่า ปัจเจกพุทธ พ้นจากความทุกข์ พ้นจากอะไรไปในระดับสูงด้วยตนเอง ค้นคว้าของตนเอง นี่ระดับที่ลดลงมาก็คือพระสาวก ได้ยินได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้วก็เป็นพระอรหันต์ได้อย่างนี้ก็มี ที่นี้ไม่มีใครเอาด้วย หรือว่าเขาไม่เอาจริง ท่านก็หลีกไปผู้เดียว เป็นอยู่ตามแบบของท่านแล้วก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสได้ ไม่เนื่องกันเป็นหมู่ อย่างนี้ก็มี ก็เลยกลายเป็นบุคคลเดี่ยวที่ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีคณะสงฆ์ คือไม่มีคณะสงฆ์ ก็ไม่มีระเบียบวินัยอย่างที่คณะสงฆ์จะต้องมี เมื่อตัวเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่มีทางทำผิดอะไรด้วยกิเลสหรือด้วยเจตนา ก็เป็นอยู่อย่างมุนี อย่างที่เรียกว่ามุนีอยู่ในป่า ฉันใบไม้ ฉันลูกไม้ ฉันอะไรก็ได้ ก็ไม่เป็นอาบัติอะไร เพราะว่าไม่ได้เนื่องอยู่ในหมู่สงฆ์ที่มีระเบียบสำหรับหมู่ อย่างนี้มันก็ยังเป็นไปได้ ผลที่จะได้รับ วิบากที่จะได้รับ แม้ว่าจะแยกไปเป็นคนโดดเดี่ยว เป็นพระอรหันต์ประเภทหนึ่ง แต่ไม่เนื่องด้วยหมู่สงฆ์ ที่นี้อย่างพวกเราที่อยู่กันอย่างนี้ มันเป็นเนื่องด้วยหมู่สงฆ์ จัดเป็นหมู่สงฆ์ เป็นคณะสงฆ์ ก็ต้องมีระเบียบวินัยสำหรับคณะสงฆ์ แล้วก็มีหลักปฏิบัติที่เป็นส่วนสำคัญนั้นเหมือนกันหมด คือชำระกิเลส ป้องกันกิเลส กำจัดกิเลส ส่วนนั้นเป็นส่วนสำคัญ หัวใจ นอกนั้น ก็เป็นส่วนประกอบให้หมู่คณะอยู่ได้ และเพื่อปฏิบัติกันได้ เป็นปึกแผ่นเป็นประโยชน์แก่โลก การมีคณะสงฆ์อย่างนี้มันมีประโยชน์แก่โลกมากกว่าที่จะมีพระอรหันต์องค์เดียวอยู่ในป่า กินใบไม้ กินลูกไม้ ไม่เกี่ยวข้องกับใคร
ที่นี้ก็ประมวลมาดูเอาเองสิว่า มนุษย์ เมื่อวิวัฒนาการสูงขึ้นทางจิตใจ พอรู้อะไรมากขึ้นมันก็รู้จักปฏิบัติที่สูงขึ้น เพื่อได้ผลที่สูงสุดที่ไม่เคยนึกเคยฝัน เกี่ยวกับการค้นคว้าในทางจิตทางวิญญาณภพใหม่ๆ ขึ้นมาทุกๆ ยุค ทุกๆ สมัย จนเกิดพระพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สูงสุดที่มนุษย์จะเป็นกันได้ ก็รวมอยู่ในคำว่าวิบาก คือผลของการปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้เมื่อเราอยู่ในโลกแบบนี้ อย่างนี้ ก็มีปัญหาโดยเฉพาะเช่นว่า ผู้ที่จะบวชแล้วยังต้องสึกออกไปเป็นฆราวาส ก็เลือกเอา ก็แยก คัดออก เลือกเอาที่มันอยู่ในระดับที่จะทำได้ แล้วก็โดยที่ไม่ต้องมีความทุกข์มากเหมือนฆราวาสทั้งหลาย ที่เขาไม่รู้จักกระทำอย่างนี้ อย่างนี้จึงจะไม่เสียทีที่ว่าอุตส่าห์มาบวชทั้งที มาศึกษาให้พบเรื่องนี้ มาประพฤติพรหมจรรย์ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ เกิดความเข้มแข็ง ความเข้าใจ ความอดทน เอาไปสำหรับจะใช้เมื่อสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นผลหรือเป็นวิบากที่ยังได้รับจากการประพฤติพรหมจรรย์นี้ นี่มันเนื่องกันอย่างกว้างขวางอย่างนี้
เอาล่ะ ที่นี้เมื่อมองเห็นว่าวิบากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างนี้ ก็ดูกันอีกหน่อยหนึ่งในแง่ที่ว่า มันทรงตัวมันไว้ได้อย่างไร นี่ก็ตอบได้หลายอย่าง เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแม้แต่การเปลี่ยนแปลง มันก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง นั้นสิ่งที่เรียกว่าวิบาก ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎแห่งเหตุและปัจจัย ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเหตุและปัจจัย สิ้นเหตุ สิ้นปัจจัย วิบากเหล่านี้ ก็จะสิ้นสุดลงเหมือนกัน ที่นี้อยากพูดในแบบที่เรียกว่าเป็นสำนวน คือผลของการปฏิบัติ หรือวิบากของการปฏิบัติธรรมนี้มันยังอยู่ในโลกนี้ ทรงตัวอยู่ได้ก็เพราะว่ามันมีส่วนดีส่วนที่ให้คนชอบ แล้วมีคนปฏิบัติอยู่ไม่ขาดตอน จึงมีอยู่เรื่อยๆ ยังมีคนอยากปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์อยู่เรื่อย เพราะผลของความเป็นพระอรหันต์มันดี มันน่าประสงค์ น่าเสน่หา นี่ก็ต้องเรียกว่าเป็นส่วนที่มันทรงตัวอยู่ได้ มรรค ผล นิพพาน หรือเรื่องของมรรค ผล นิพพาน ยังมีอยู่ในโลกนี้ได้ เพราะมันมีความดี มีคุณค่ามากอยู่ในตัว ผลนั้นมันจึงเหลืออยู่ในโลกนี้ได้ ทรงอยู่ในโลกนี้ได้ เปรียบเหมือนกับต้นผลไม้ ไอ้ต้นที่มันออกลูกกินอร่อย เป็นผลไม้ที่ใครก็ชอบกันอยู่อย่างในตลาดนี่ ไอ้ต้นไม้ชนิดนี้มันก็อยู่เท่านั้นเอง แล้วมันมีลูกดี มีผลดี คนติดใจ คนมันก็ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้เรื่อยไป ไม่สูญพันธ์ มันทรงตัวมันอยู่ได้อย่างนั้นเพราะผลมันดี ในการปฏิบัติหรือผลของการปฏิบัตินี้มันดียิ่งกว่านั้น มันต้องทรงตัวมันอยู่ได้ เราจะเชื่อว่าพระศาสนาจะยังคงอยู่ เพราะมีการปฏิบัติที่มีผลดี คือ มรรค ผล นิพพาน แล้วมันก็เข้ารูปกันกับว่าที่เราอุตส่าห์มาบวช มาประพฤติพรหมจรรย์นี่ก็ไม่ใช่เรื่องบ้าๆ บอๆ คือมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีอยู่จริงหรือเป็นผลดีจริง เว้นแต่บางคน มันเห่อบวชตามๆ เขา มาอยู่บ้าๆ บอๆ นี่ก็ได้เหมือนกัน เพราะมันไม่เข้าถึงความจริงอันนั้น แต่มันก็เป็นส่วนน้อย เราต้องหวังไอ้ผลดีผลจริงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงได้อุตสาห์มาทนลำบากบวชเรียนประพฤติพรหมจรรย์ แม้ไม่ถึงขั้นบรรลุมรรค ผล นิพพาน มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีค่ามากมีความดีมากควรแก่การเสียสละ หรืออย่างนั้นก็ยังดีกว่าไปเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่เนื้อหนัง เห็นแก่เรื่องกิน กาม เกียรติ อย่างไม่ลืมตา อย่างไม่รู้จักซ่าง การบวชนี่อย่างน้อยเป็นการสืบอายุพระศาสนาได้ก็พอใจแล้ว ถึงยังไม่บรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นที่พอใจมาก นี่เรียกว่าเป็นเรื่องของผลเหมือนกัน ของวิบากของผลที่ได้กระทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติในส่วนที่เกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับวิญญาณเรื่องสูงสุดของมนุษย์ นี่ผมแนะให้ดูไอ้สิ่งที่เรียกว่าผล หรือวิบาก ที่มันมีอยู่จริง มันทรงตัวอยู่ได้เอง เพราะมันเป็นเรื่องที่เนื่องกันอยู่กับระบบทั้งหมดของธรรมชาตินั้น นี่พูดกันอย่างมนุษย์ ไม่ได้พูดว่าเฉพาะพุทธศาสนา เป็นมนุษย์พวกไหนก็ได้ คือว่าในมนุษย์ แล้วจะต้องมีสมรรถภาพ มีความสามารถ มีวิสัยที่จะเป็นไปได้ในการที่จะเข้าถึงธรรมะเหล่านี้ จะผิดกันบ้างก็เป็นเรื่องปลีกย่อย หลักเกณฑ์ใหญ่เหมือนกัน นั้นเราจึงถือเสียว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือธรรมะใน ๔ ความหมายนี้ เป็นเรื่องของสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง สัตว์ก็ได้ มนุษย์ก็ได้ มนุษย์ชั้นที่ต่ำๆ ก็ได้ มนุษย์ชั้นที่สูงก็ได้ เจริญแล้วได้ ก็ต้องเกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องรู้จัก ต้องกระทำให้ถูกต้อง เกี่ยวกับธรรมะใน ๔ ความหมายนี้ คือตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง ระบุเอาตัวเองก็ได้ เนื้อหนังร่างกายตัวเองนี่คือตัวธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ก็คือ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มันควบคุมเนื้อหนังร่างกายของเราอยู่ มันมีกฎอย่างไรทำให้เกิดหน้าที่ขึ้นมา ก็เรียกว่า สิ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องอยู่ทุกวันๆ เรียกว่าปฏิบัติตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ก็มีผลเป็นความผาสุกทางร่างกาย นี่เรียกว่าวิปากธรรม ส่วนร่างกาย แล้วก็มีผลส่วนจิตใจ ในเรื่องบรรลุ มรรค ผล นิพพาน สิ้นกิเลส เรียกว่า วิปากธรรมส่วนจิตใจ ถ้าดูอย่างนี้ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนแท้ๆ ไม่ต้องแยกเป็นฆราวาส ไม่ต้องแยกเป็นบรรพชิต เหมือนกันหมด มีกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันหมด เขาต้องรู้จักธรรมชาติ รู้จักกฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ตามธรรมชาติ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงจะเรียกว่าผู้มีปัญญา เห็นธรรมะ รู้ธรรมะ มีธรรมะ เดี๋ยวนี้เราก็ไปดูไอ้ชาวไร่ชาวนา หรือว่าดูตัวเราเองว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ ดูเด็กเลี้ยงควาย ที่กำลังเลี้ยงควายอยู่ เวลานี้ เขาจะสามารถรู้เรื่องทั้ง ๔ นี้ได้อย่างไร ก็ดูตัวเองก็แล้วกัน เมื่อก่อนแต่ที่จะมาบวช มาศึกษา นี่มันก็ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องเหล่านี้ได้ เคยเป็นเด็กเลี้ยงควายมาแล้ว เป็นชาวไร่ชาวนาอะไรมาแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันรู้ได้ มันไม่เหลือวิสัย มันเสียแต่ว่าเขาไปยุ่งกันแต่ในเรื่องวัตถุ เรื่องร่างกายกันเสียมากเกินไป จึงไม่มาสนใจเรื่องอย่างนี้บ้าง ในโลกก็กำลังก้าวหน้าอย่าง เหมือนกับวิ่งไปทีเดียวในทางวัตถุ ในทางนั้นก็เลยสนุกกันใหญ่ ไม่มีเบื่อ ไอ้ทางนี้มันก็มืดไป คือว่าไม่ค่อยมีใครเดิน รกไป จนหายไป แต่ก็ไม่หายไปไหน อยู่ในธรรมชาติ เมื่อไหร่มันสุดโต่งทางโน้น เอาตัวรอดไม่ได้ ก็กลับมาสนใจเรื่องจิต เรื่องวิญญาณกันใหม่ คอยดูก็แล้วกันถ้าไม่ตายเสียเร็วเกินไป การไปโลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร โลกอะไรทั้งหมด หมดแล้ว หมดแล้ว มันก็ยังดับทุกข์อะไรไม่ได้
ในที่สุดก็จะหันมาหาเรื่องภายใน คือเรื่องจิตใจเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ไอ้เรื่องที่จะดับความทุกข์ได้ คือดับโลกทั้งหลายได้ มันอยู่ในคนที่เป็นๆ ที่มีร่างกาย ประมาณวาหนึ่งนี้ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เล่าไว้ในพระไตรปิฎกนั่นเอง เทวดาองค์หนึ่งเขาเที่ยวหาที่สุดของโลก คือที่สุดของความทุกข์ หาไปยังไงเขาก็หาไม่พบที่สุดของโลก มาทูลพระพุทธเจ้าว่าข้าพระองค์นี่แสวงหาที่สุดของโลก ก็แล่นไปในทิศทางต่างๆ เพื่อจะหาที่สุดของโลก ด้วยความเร็วสูงสุด มีคำที่แปลยากสำหรับคำนี้ ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็ยุติการแปลแต่เพียงว่าเหมือนกับลูกศร หรือลูกปืนที่มันวิ่งผ่านเงา เป็นอุปมาเป็นคำเปรียบ ลูกปืนก็ตาม ลูกศรก็ตามที่วิ่งผ่านเงามันก็ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคก็ไปได้เร็ว เขามีความเร็วขนาดนั้นเขาเที่ยววิ่งมาตั้งกัลป์แล้ว ก็ไม่เคยพบที่สุดของโลก คือที่สุดของความทุกข์ จึงมาทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อ้าว, มันก็ต้องไปหาในร่างกายคนเป็นๆ ที่ยาววาหนึ่ง ไม่ต้องเที่ยววิ่งให้ทั่วจักรวาล สากลจักรวาลด้วยความเร็วอย่างนั้น ให้มันเสียเวลาเปล่า นี่ผมอ่านเรื่องนี้แล้วก็นึกถึง คนในโลกในสมัยนี้ที่เจริญทางวัตถุมันก็ไปไกลในทางวัตถุ ไปโลกพระจันทร์ โลกอังคาร อะไรก็ตาม แต่แล้วก็ไม่พบสันติภาพ ก็เลยจะต้องไปหากันใหม่ จึงจะพบว่าสันติภาพนี่ต้องหาข้างใน ต้องจัดแจงกันที่จิตใจของคน ของมนุษย์ นี่พูดให้เห็นไอ้เรื่องที่มันไกลจากกันและกันมาก ในการที่จะได้รับผล ที่บอกว่าต้องการเหมือนกัน เรียกชื่ออย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดแล้วมันก็ไกลกันมากในการที่จะได้รับผล แล้วก็เป็นอันว่า ขอให้พวกเราที่เมื่อเป็นภิกษุหรือเมื่อยังเป็นภิกษุ ก็ต้องปฏิบัติให้สุดความสามารถในการที่จะเป็นภิกษุ แล้วผลก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มตามจำนวนครบถ้วน กระทั่งมีสิทธิที่จะบริโภคปัจจัย ๔ ของมหาชน เป็นต้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรายังเป็นภิกษุ ยังมีการเป็นอยู่อย่างภิกษุ ก็สนใจแต่หน้าที่ของภิกษุ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำได้แล้วแม้เมื่อออกไปเป็นฆราวาสอีกมันก็ยังมีประโยชน์ เป็นภิกษุหรือเป็นฆราวาสนี่เป็นส่วนภายนอก ส่วนภายในคือจิตใจนั้น ถ้ามีกิเลสก็มีกิเลสเหมือนกัน ถ้ามีความทุกข์ก็มีความทุกข์เหมือนกัน ถ้ามีความดับทุกข์ก็ต้องดับทุกข์เหมือนกัน ที่เรียกว่า กิเลสมันเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีเป็นของใคร มีอย่างของธรรมชาติ ที่มีพวกฆราวาส ที่บ้านที่เรือนก็เป็นความหยาบมากของกิเลส ความหมายอย่างเดียวกัน หรือบางทีกิเลสของพระ เณร บางคนหยาบกว่ากิเลสของชาวบ้านที่บ้านก็มี ดูให้ดีๆ เมื่อพูดถึงความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว มันไม่มีพระ ไม่มีฆราวาส มันเป็นกิเลส มากหรือน้อยก็ตามใจ นั้นเราจะเห็นว่าพระบางองค์ขี้โมโหโทโส เหมือนกับสัตว์ป่าสัตว์ดุร้าย ยิ่งไปกว่า ชาวบ้านบางคนที่โกรธใครไม่เป็น
นั้นการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้สุดความสามารถไว้จะมีประโยชน์ ทั้งยังอยู่เป็นบรรพชิต ทั้งที่ว่าจะสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ตาม ครั้งไปเบื่อก็กลับมาอีก เหมือนกับคนที่เคยไปพบที่เย็น กลับไปหาร้อนอีกด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้ามันเบื่อเข้ามันก็กลับมาหาที่เย็น ก็ไม่เสียหลายในการที่จะศึกษาไว้ให้มากๆ ให้รู้จักผลของการปฏิบัติธรรมให้สูงสูงเข้าไว้ กลับไปกลับมาบ้างก็ไม่เป็นไร มันไปตามกฎของการเปลี่ยนแปลง แต่มันต้องสูงยิ่งขึ้นทุกที การโง่ครั้งที่ ๒ นี่คงทำให้เราฉลาดขึ้นกว่าการโง่ครั้งที่ ๑ นั้นการโง่ครั้งที่ ๑๐ ของเรา คงจะฉลาดขึ้นมากกว่าความโง่ครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ อย่างนี้เรียกว่าต่อสู้กันอยู่เรื่อยไปกับเรื่องของธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างที่ว่ามาแล้ว ผมก็เหมือนกัน เมื่อนึกถึงตอนที่ยังเป็นเด็กหรือเมื่อยังไม่รู้อะไรยังโง่อยู่ก็ทำอะไรอย่างที่สังเวชตัวเอง ละอายตัวเองมาก แต่แล้วพอรู้ขึ้น รู้ขึ้น ก็ตั้งใจที่จะรู้ ที่จะทำให้ได้ ก็ทำอะไรจนได้ ตามที่ว่าอยากจะทำ แม้เรื่องทางวัตถุก็เป็นผลของการปฎิบัติหน้าที่ เรื่องทางจิตใจก็เป็นผลการปฏิบัติหน้าที่ ให้มันพอเหมาะพอดีให้มันไปด้วยกันได้
นั้นขอให้ทุกคนอธิษฐานจิต ในการที่ว่าเกิดเป็นมนุษย์ทีหนึ่ง ขอให้ได้ทำหน้าที่แน่นอน และให้ได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ก็พอแล้ว ผลก็เกิดขึ้นตามสมควรแก่การกระทำนั้นๆ เดี๋ยวนี้ไม่ยอมรับว่าเป็นหน้าที่ ที่เป็นอันธพาลบางคนไม่ยอมรับกระทั่งว่าจะทำมาหากินนี้ก็ไม่ใช้หน้าที่ ไปขโมยดีกว่าเป็นหน้าที่ การขโมยกลายเป็นหน้าที่ เรามันก็ไม่ต้องเป็นมากถึงอย่างนั้น รู้จักทำมาหากิน หรือว่าบวชเข้ามาก็ได้กิน ที่เรียกว่าได้กิน กินของพระพุทธเจ้า คือปัจจัย ๔ ที่ทายก ทายิกา เขาถวาย เพราะเขาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เราเป็นสาวก ได้กิน เรารีบปฏิบัติหน้าที่ให้มันคุ้มกันเสีย ให้มีความเหมาะสมที่จะกินของนั้นๆ แม้ว่าเขาให้เราเพราะเขานับถือพระพุทธเจ้า มิฉะนั้นมันจะมาขัดกันตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้เราปฏิบัติตัวให้สมกับที่ว่าจะไปกินของที่ทายก ทายิกาเขาให้ ที่เรียกว่าปัจจัย ๔ คำตรัสอย่างนี้มีมาก คำตักเตือนอย่างนี้มีมาก ให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง คือสมควร มีสิทธิอันสมควรที่จะบริโภคปัจจัย ๔ อันมหาชนเขาถวายแล้วด้วยศรัทธา ด้วยศรัทธา นี่คือ สิ่งที่เรียกว่า วิบาก หรือผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ มีเรื่องอย่างนี้ ย่อๆ เราจะพูดหลายๆ เรื่อง ฉะนั้นจะพูดละเอียดไม่ค่อยได้ นั้นพูดเรื่องหนึ่ง เรื่องหนึ่งพอให้เข้าใจได้ก็แล้วกัน สำหรับเรื่องธรรมะใน ๔ความหมาย แต่ละเรื่อง ละเรื่องมันก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้ อันนี้เป็นความหมายสุดท้าย คือ วิปากธรรม ผลเกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ ทำให้เรามีความผาสุก สบาย ให้มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ กระทั่งว่าบรรลุมรรค ผล นิพพาน ไม่มีความทุกข์อีกเลย เรียกว่า วิปากธรรม ถ้ายังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เคยคิดไม่เคยนึก ก็เอาไปคิดไปนึกต่อไปให้มันเข้าใจแจ่มแจ้ง ให้มีแสงสว่างในเรื่องนี้ ก็คงจะไม่เสียหลายในการที่ได้บวชแล้วมาอยู่กันอย่างนี้ มาอยู่กันในสภาพอย่างนี้ ที่วัดนี้ ก็พอกันทีสำหรับวันนี้ เวลาหมดแล้ว