แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในวันนี้จะได้พูดกันถึงความหมายของคำว่าธรรม ประเภทที่ ๓ ที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม เป็นเรื่องที่ต่อจากวานนี้
ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า คำว่า ธรรมแปลว่าสิ่งที่ทรงตัวอยู่ ที่ทรงอยู่ แม้ว่าคำว่าธรรมจะได้แบ่งออกเป็นถึง ๔ ชนิด หรือ ๔ ความหมาย คือคำว่า สภาวธรรมก็ดี สัจธรรมก็ดี ปฏิปัตติธรรมก็ดี วิปากธรรมก็ดี คำว่าธรรมนี้ก็ยังมีความหมายว่า ทรงอยู่ หรือทรงตัวอยู่ อยู่นั่นเอง สำหรับสภาวธรรมทรงตัวอยู่อย่างไร เราก็พูดกันแล้วจนเป็นที่เข้าใจ ซึ่งสรุปได้ความว่า สภาวธรรมประเภทที่เปลี่ยนแปลง นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการทรงตัวอยู่ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็มีการไม่เปลี่ยนแปลงเป็นการทรงตัวอยู่ ทีนี้สำหรับสัจธรรม ซึ่งหมายถึง กฎของธรรมชาตินั้น ซึ่งก็มีลักษณะที่ทรงตัวอยู่ อย่างยิ่ง ยิ่งขึ้นไปอีก ที่มันเป็นกฎเหนือสิ่งใด หรือสิ่งอื่นๆ มากระทำอะไรแก่มันไม่ได้ สัจจะหรือกฎนี่จึงมีการทรงตัวอยู่ ในฐานะที่เป็นสัจจะหรือเป็นกฎนั่นเอง ยิ่งแสดงไปในทางที่จะเห็นว่า มันมีการทรงตัวมันเองอยู่เป็นส่วนใหญ่ ที่จะเข้าไปทรงตัวของสิ่งอื่นไว้นั้นมันก็เป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ถ้าเราจะมองให้ละเอียดก็ยังพอมองเห็นได้ว่ากฎนี้มันทำให้สิ่งทั้งหลายตั้งอยู่หรือเปลี่ยนแปลงไป หรือดับลง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับลง นั้นมันก็เป็นการทรงสิ่งนั้นๆ ไว้ในลักษณะอย่างนั้น อย่างนี้ก็เรียกว่ามันเป็นการทรงสิ่งอื่นอยู่ หรือทรงสิ่งอื่นไว้ได้เหมือนกัน เอาเป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรมนี้ ก็เป็นสิ่งที่ทรงตัวอยู่ทั้งที่ทรงตัวเองและทรงสิ่งอื่น
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพูดกันวันนี้ ก็ขอลองให้พิจารณาดูทีว่า มันมีการทรงตัวอย่างไร ถ้าเข้าใจความหมายของคำว่าปฏิบัติดี มันก็จะมองเห็นได้เองเหมือนกันว่ามันทรงตัวของมันไว้อย่างไร ถ้าเราจะมองดูในชั้นง่ายๆ ก่อนว่า ไอ้การปฏิบัตินั่นแหละมันจะเป็นการทรงตัวอยู่ ถ้าไม่มีการปฏิบัติก็ไม่มีการทรงตัวอยู่ โดยเฉพาะไอ้สิ่งที่มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แม้กระทั่งที่มันมีชีวิต พูดอย่างธรรมดาสามัญโวหารง่ายๆ ก็เช่นว่า ถ้าไม่มีการกระทำหรือการต่อต้านสิ่งใดอยู่ มันก็ล้มละลาย ก็สูญหายไป นี่เห็นได้ง่ายๆ ว่า สิ่งที่มีชีวิตต้องมีการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ จึงจะเรียกว่ารอดชีวิตอยู่ได้ การปฏิบัตินั้นมันก็ทรงชีวิตไว้ได้ แต่สำหรับตัวมันเอง มันก็เป็นการทรงอยู่ในตัวมันเองด้วยเหมือนกัน คือเป็นไปตามกฎ มันก็มีอำนาจมีกำลัง มีความเหมาะสม มีอะไรต่างๆ ที่จะทรงตัวการปฏิบัติอยู่ได้ นี่เป็นความหมายที่ออกจะประหลาดหรือชอบกล ว่าสิ่งอะไรที่จะปรากฏออกมาได้ต้องมีการทรงตัวอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้ก็พูดถึงพระธรรมที่ว่าจะทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในฝ่ายความชั่วหรือความทุกข์ นี่ก็ยิ่งเห็นชัดว่าพระธรรม ในที่นี้หมายถึง ปฏิปัตติธรรม มีการปฏิบัติจึงจะมีการทรงผู้ปฏิบัติไว้ให้ตั้งอยู่ได้ ไม่ให้เป็นทุกข์ หรือไม่ให้ตายไป ไม่ให้แตกดับไป ถึงแม้เราจะพูดเลยไปถึงอย่างที่ ๔ ที่เรียกว่า วิปากธรรม ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ นี้ก็เป็นการทรงตัวเองอยู่ในฐานะที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือเป็นผล เหมือนกับว่าเราทำอะไรได้ผล เราก็กินผล เก็บเกี่ยวกินผล มันก็เป็นการที่ว่า ทำให้เป็นสิ่งที่มีอาการเหมือนว่าหล่อเลี้ยงสิ่งนั้นไว้ในที่สุด ในขั้นสุดท้าย ขอให้พยายามมองให้เห็นความหมายของคำว่าธรรมในทุกความหมาย ว่ามันหมายถึงทรง อยู่ ทรงตัวเองก็ได้ ทรงสิ่งอื่นก็ได้ ทรง อยู่ ก็เรียกว่าธรรม เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ทีนี้ก็มาพูดกันถึง ธรรมในความหมายที่ ๓ ที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ต่อไป ในชั้นแรกก็เปรียบเทียบดูว่าใน ๔ ความหมายนี้ ความหมายไหนมันสำคัญที่สุด ที่ควรจะถือเอาว่าเป็นความหมายพื้นฐานของคำว่า ธรรม ถ้าจะให้มองเห็นคราวเดียวสั้นๆ ง่ายๆ ก็ใช้คำสั้นๆ ดีกว่า คือคำว่า ธรรมชาติ อย่างหนึ่ง แล้วคำว่า กฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง และได้ผลตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๔ อย่างนี้อย่างไหนควรจะได้รับความยกย่องว่ามันสำคัญที่สุด หรือต้องสนใจที่สุด พิจารณาดูจะเห็นว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม มันก็เป็นอยู่เอง แม้จะปล่อยไปตามเรื่องตามราวก็เป็นอยู่เอง จะมีความสำคัญกี่มากน้อยลองคิดดู สำหรับกฎของธรรมชาตินั้นก็มีความสำคัญมากที่ต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ทำไม่ถูก มันก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ก็คงจะยิ่งกว่าไอ้ตัวธรรมชาติ ทีนี้ก็มาถึงตัวการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นี่มันมีค่าเท่ากับความรอดอยู่ได้หรือความตายทีเดียว คืออยู่หรือตายก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ จึงมีความสำคัญกว่า ๒ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือไม่ ก็ลองคิดดูอีก ส่วนอันสุดท้ายคือ วิปากธรรม ผลของการปฏิบัตินั้น ต้องมองกันในแง่ที่ว่า มันไม่ไปไหนเสีย เมื่อมันมีการปฏิบัติแล้ว ผลของการปฏิบัติมันไม่ไปไหนเสีย คล้ายๆ กับขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ มันก็มีความสำคัญน้อยลงไป เว้นไว้แต่ว่าไอ้คนมันละโมบ จะมองแต่ที่ผลที่จะได้ นี่เท่าที่พูดนี้ก็ควรจะมองในแง่ที่ว่า อันไหนถ้าขาดแล้วเป็นตาย ก็ควรจะเพ่งเล็งไปยังปฏิบัติธรรมหรือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่คนจะต้องปฏิบัติ ไม่ได้เป็นหน้าที่อยู่เฉยๆ มันต้องมีการปฏิบัติด้วยจึงจะเรียกว่า หน้าที่
ด้วยเหตุอย่างนี้เอง ในภาษาของชาวอินเดียที่เป็นเจ้าของคำว่าธรรมนี้ เขาจึงแปลไอ้คำว่า ธรรม ธรรมนี้ว่าหน้าที่ ขอให้เธอจำไว้อย่างนี้ก็ละกัน ถ้าถามว่าคำว่าธรรมคำนี้แปลว่า ในปทานุกรมที่เป็นความหมาย ธรรมดาทั่วไป จะเปิดพบคำว่าหน้าที่ก่อนสิ่งอื่นเลย นี่เขาเพ่งเล็งถึงที่มันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ จำเป็นแก่มนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องสนใจเป็นพิเศษ ก็เลยให้คำแปลที่หนึ่งไว้ว่า หน้าที่ เป็นคำแปลทั่วไป เป็นคำแปลพื้นฐาน คำว่า ธรรม แปลว่า หน้าที่คือ duty เราเห็นได้ทันทีว่ามันรวบรัดเข้ามามากทีเดียว สนใจธรรมก็คือสนใจหน้าที่ แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ มันก็ทำให้เป็นผู้มีธรรม เป็นผู้ทรงธรรม เป็นผู้ได้รับประโยชน์แก่ธรรม ส่วนคำว่า สภาวธรรมหรือสัจธรรม มันก็ไม่ไปไหนเสีย เพราะมันรวมอยู่ในคำว่าหน้าที่โดยอัตโนมัติ ถ้าเรารู้หน้าที่ ก็รู้หน้าที่ตามกฎของสัจธรรม ที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือสภาวธรรมทั้งหลาย ก็จะได้เห็นเด่นขึ้นมาทีเดียวว่า ไอ้คำว่าธรรม นี่มันคือหน้าที่ นี่พูดอย่างที่เรียกว่ามัน apply ที่สุด คือประยุกต์ที่สุด คำว่าธรรมก็แปลว่าหน้าที่ วันนี้เราจะพูดถึงคำว่าปฏิปัตติธรรม ซึ่งเล็งถึงหน้าที่ ก็ลองพยายามทำความเข้าใจให้ดีที่สุด จนกระทั่งมองเห็นว่าเมื่อใครทำหน้าที่อะไรอยู่ก็ชื่อว่าคนนั้นปฏิบัติธรรมอยู่ คำคำนี้จะมีความสำคัญมากอย่างนี้ ใครปฏิบัติหน้าที่อะไรอยู่ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่ จะเป็นอย่างต่ำที่สุด หรือว่าอย่างต่ำธรรมดา จะว่าอย่างกลางๆ หรือว่าอย่างสูง อย่างสูงที่สุด ถ้าเป็นขึ้นชื่อว่าหน้าที่ก็คือการปฏิบัติธรรมเสมอ
ดังนั้นการทำงานหรือการทำหน้าที่ของตนๆ นั่นแหละคือการบำเพ็ญธรรม คือการปฏิบัติธรรม หรือจะเรียกว่าการทำบุญกุศลเสียเลยก็ได้ แต่ถ้าเราพูดอย่างนี้ คนบางพวกเขาไม่ชอบ เพราะว่าไปลดค่าของบุญ ของกุศลของเขาเสีย แล้วเขาก็ทำบุญทำกุศลโดยไม่รู้ว่าทำทำไม คือหน้าที่อะไร ยกตัวอย่างว่าเมื่อคุณทำงานอยู่ที่บ้านตามหน้าที่ของคุณนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ทำบุญทำกุศลอยู่แล้ว ไม่ต้องแห่ไปที่วัดหรือไปทำพิธีรีตองอะไรก็ได้ อย่างนี้เขาไม่ยอมเชื่อ และบางทีก็เป็นอันตรายด้วย การพูดอย่างนี้ ที่จริงการแห่ไปทำบุญกุศลที่วัดมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่เขามองไม่เห็น ก็พอพูดว่าทำหน้าที่หรือทำการงาน มันก็หมายถึงการทำการงานที่มนุษย์จะต้องทำตามธรรมดาสามัญ ตามบ้านตามเรือน แต่เขามองเห็นอย่างนี้แล้วเขาก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม มาเข้าใจกันเสียใหม่ว่าการทำหน้าที่ในแขนงไหน ในชั้นไหน ระดับไหนก็ตามเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นในพวกตำรากิจกรรมระหว่างเพศ เขาก็ยังขึ้นประโยคแรกว่า นี่ก็คือการปฏิบัติธรรมเพราะฉะนั้นจะต้องกระทำให้ถูกต้อง การปฏิบัติในระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย จะเกี่ยวกับกิจกรรมของเพศ เพื่อความสุขก็ดี เพื่อการสืบพันธุ์ก็ดี ก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม ต้องทำให้ถูกต้อง ดังนั้นศาสตร์อันนี้จึงต้องตั้งขึ้น จึงเรียกว่ากามศาสตร์เป็นต้น
ทีนี้เรามองดูให้ละเอียดให้รู้จักหน้าที่ในทุกความหมาย ในทุกแขนง ในทุกระดับ ว่าไอ้สิ่งที่มันมีชีวิตและมันมีหน้าที่โดยตรงเห็นชัด ส่วนสิ่งไม่มีชีวิตนั้นมันไม่มีใครได้ใครเสีย ไม่มีใครรับผิดชอบอะไร ก็เลยดูคล้ายๆ กับว่าไม่มีหน้าที่ เว้นเสียแต่ว่าเราจะใช้คำพูดพิเศษ เช่นว่า ก้อนดินมันก็มีหน้าที่ที่จะทำหน้าที่ของก้อนดิน น้ำ ลม ไฟ อะไร มันก็มีหน้าที่ที่จะทำไปตามหน้าที่ ในฐานะที่มันเป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ นี่มันไม่มีชีวิต แต่ก็พอจะเรียกว่าหน้าที่ได้เหมือนกัน เพราะมันต้องกระทำอย่างนั้น หรือไม่ทำอย่างนั้นมันก็หมดค่าของความเป็นอย่างนั้น เช่นถ้าลมไม่พัด มันก็ไม่มีลมเท่านั้น มันก็เรียกว่าไม่มีลม ก็หมดค่าหมดความหมายของคำว่าลม มันมีลักษณะเป็นคุณเป็นค่าพร้อมกันอยู่ในตัวที่เรียกว่าหน้าที่ ถ้ามันไม่มีหน้าที่มันก็ไร้คุณ หรือไร้ค่า แต่ทีนี้ไอ้สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีชีวิต เราก็จะไม่ไปสนใจกับมันมากนัก จะสนใจไอ้สิ่งที่มันมีชีวิต เริ่มมาแต่ชีวิตอันน้อยที่สุดจนต้องคำนวณจึงจะรู้จักว่ามันมีชีวิต เช่นสัตว์เซลล์เดียวอะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือดูด้วยตาไม่เห็นด้วยซ้ำไป มันก็มีชีวิต ก็ต้องมีหน้าที่ ถ้ามันมีชีวิตมันต้องมีหน้าที่ที่จะดำรงชีวิต ไม่นั้นชีวิตมันไม่อยู่ มันจะแตกสลายไป นั้นไม่ว่าจะเป็นสัตว์เซลล์เดียวเล็กจนมองด้วยตาไม่เห็น มันก็ต้องมีหน้าที่ทำหน้าที่ของมันตามกฏของธรรมชาติ
นั้นก็เลยกล่าวได้เลยว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยหน้าที่ จึงต้องทำหน้าที่ มิฉะนั้นจะต้องตาย ทีนี้เมื่อสัตว์เซลล์เดียวเหล่านั้นก็ต้องทำหน้าที่แล้ว เมื่อมันประกอบกันเข้าหลายๆ เซลล์ เป็นสัตว์ใหญ่โตขึ้นมากระทั่งเป็นพืชพันธุ์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นคน เป็นอะไรขึ้นมา มันก็ล้วนแต่มีหน้าที่เพิ่มขึ้นๆ ตามหน้าที่ของส่วนประกอบส่วนหนึ่ง หรือตามหน้าที่ของที่ทุกๆ ส่วนมันประกอบกันเข้าเป็นหน่วย เช่นว่า ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไอ้เซลล์พวกหนึ่งก็ทำหน้าที่ดูดน้ำเข้าไป เซลล์พวกหนึ่งก็ทำหน้าที่รับแสงแดด ที่ส่องลงไปที่ใบ พวกหนึ่งก็ทำหน้าที่ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์เมื่อมีแสงแดด รากมันดูดน้ำ มีแร่ธาตุอะไรขึ้นไป มันก็ไปทำกันที่ใบเมื่อมีแสงแดด อย่างนี้เป็นต้น ในต้นไม้ต้นเล็กๆ ต้นเดียวก็มีหน้าที่มากมาย หน้าที่ของราก หน้าที่ของเปลือก หน้าที่ของใบ กระทั่งเป็นหน้าที่ของดอก ของลูก มันล้วนแต่เป็นหน้าที่ มันจึงมีชีวิตอยู่ได้และมันจึงสืบพันธุ์ต่อไปได้ เป็นความลับของธรรมชาติ ถ้าเราไม่ได้เรียนไม่สังเกตเราก็ไม่รู้ ว่ามันเป็นความเด็ดขาด ความต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเด็ดขาดอยู่ ทุกๆ เซลล์ที่มีชีวิตต้องทำหน้าที่ เมื่อต้นไม้ต้นเล็กๆ ก็ยังเป็นอย่างนั้น ต้นไม้ต้นใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ที่ดีกว่านั้นคือสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำอย่างนั้น เมื่อมาเป็นคนก็ต้องทำอย่างนั้น เซลล์ทั้งหลายก็ทำหน้าที่เพื่อจะเกิดขึ้นหรือตั้งอยู่ เซลล์ส่วนหนึ่งประกอบกันเข้าเป็นอวัยวะส่วนไหน มันก็ทำหน้าที่ส่วนนั้น เช่นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีส่วนหนึ่งๆ ทำหน้าที่อย่างนั้น ส่วนสำคัญๆ แม้แต่ส่วนเล็กๆ ที่สุด ที่มันประกอบกันขึ้นเป็นส่วนประกอบของตา เป็นส่วนประกอบของหู เป็นส่วนประกอบของจมูก กระทั่ง ๖ อย่างนั้น มันก็ยังต้องทำหน้าที่อีกนั่นแหละ ที่มันเป็นเนื้อ ก็ทำหน้าที่เพื่อมีเนื้ออยู่ได้ ที่เป็นเลือด มันก็ทำหน้าที่ที่จะเป็นเลือดอยู่ได้ ทุกอย่างมันเลยประกอบไปด้วยส่วนที่ละเอียดกันไป และทุกส่วนทำหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าตามธรรมชาติ เห็นได้ชัด ไม่ยกเว้นอะไร ในส่วนที่เป็นสภาวธรรมง่ายๆ หยาบๆ ต่ำๆ ก็มีหน้าที่เต็มปรี่อยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นชีวิตตามธรรมดา ก็อยู่ได้มันมีอาหารกิน หรือไปหาอาหารกิน เมื่อมีอาหารกินหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ โดยหลักพื้นฐานนี่ก่อน ที่มันวิวัฒนาการไปเท่าไรมันก็ต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อก่อนนี้มันก็อยู่ตามธรรมชาติไม่ต้องมีบ้านเรือน มีหน้าที่เพียงแค่อยู่ตามธรรมชาติ เดี๋ยวนี้มันเกิดมีบ้านเรือนมันก็มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างบ้านสร้างเรือน รักษาบ้านเรือน มันก็เลยเกิดหน้าที่มากขึ้น ตามที่มันมีวิวัฒนาการ นั้นพอให้มองเห็นหน้าที่ คำว่าหน้าที่ ที่เป็นความลับ ที่มันซ่อนอยู่ไปในทุกๆ ปรมาณูหรือทุกอณู ของสิ่งที่มันมีชีวิต ก็เป็นอันว่า ในส่วนร่างกายตามธรรมชาติก็มีหน้าที่ ส่วนที่จะให้คงอยู่ได้โดยร่างกายตามธรรมชาติ คือไม่ตาย นี่ส่วนหนึ่งก่อน แล้วขยายไปจนให้มีความสะดวกสบายพอสมควร ขยายไปจนถึงให้มีความเจริญก้าวหน้าดียิ่งๆ ขึ้นไป หน้าที่มันก็มีมากขึ้นอย่างนี้ จนกระทั่งบัดนี้เราก็เห็นว่า บิดามารดาก็มีหน้าที่ ที่จะคลอดบุตรออกมา แล้วบุตรนี้ก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำหน้าที่ตั้งแต่ศึกษาเล่าเรียน ต้องประกอบอาชีพ คือทำทุกอย่างที่จะเป็นคนอยู่ได้ เป็นมนุษย์อยู่ได้
โดยหลักพื้นฐาน นี่เรียกว่าหน้าที่ฝ่ายร่างกาย หรือที่เกี่ยวกับระบบประสาทหรือระบบจิต เท่าที่มันเกี่ยวกันอยู่กับร่างกาย ไอ้คำว่าจิตนี้มันแบ่งได้เป็นสองซีก ซีกหนึ่งมันมาเนื่องกันอยู่กับร่างกายมาก คือระบบประสาทอะไรต่างๆ นี้ ทีนี้อีกซีกหนึ่งมันไปเนื่องอยู่กับสติปัญญา ความรู้ ซึ่งไม่ใช่ร่างกาย คำพูดทำให้ลำบากหรือกำกวม ถ้าเราจะใช้คำไหนเอามาพูด ก็ให้รู้ความหมายคำเหล่านั้นซะให้ดี ถ้าเราอยากจะแบ่งคนๆ หนึ่งเป็นเพียงกายกับจิต คือรูปกับนาม ให้รู้แต่ว่าไอ้คำว่าจิตนี่มันเลยไปถึงสติปัญญา ส่วนที่มันไม่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับร่างกายก็ได้ เท่าที่มันเกี่ยวกันอยู่กับร่างกาย ถ้าเราทำให้ร่างกายรอดอยู่ได้เป็นปกติ คือเป็นคนที่มีสติปกติ สมประดี ถูกต้องบริบูรณ์ ทั้งนี้มันก็หมดแล้ว หมดหน้าที่ในเรื่องฝ่ายร่างกายแล้ว แต่มันยังเหลือฝ่ายจิตอีกชนิดหนึ่ง ที่ผมจะเรียกว่าฝ่ายวิญญาณ มันยังไม่หมด เพราะว่าแม้ว่าเรามีข้าวกิน มีอะไรครบถ้วนบริบูรณ์ดี มีร่างกายดี มีอนามัยดี เราก็ยังเดือดร้อนด้วยเรื่องของกิเลสหรือเดือดร้อนด้วยสิ่งทั้งหลายมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ จึงมีความทุกข์หรือปัญหาเหลืออยู่อีกซีกหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ต่อให้มันเป็นเทวดามา มันก็ยังมีหน้าที่เหลืออยู่ในทางฝ่ายวิญญาณ คือเทวดาก็ยังมีกิเลส ยังมีความทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ยังกลัวตาย มันเป็นถึงเทวดาแล้ว ไอ้หน้าที่ด้านฝ่ายวิญญาณมันก็ยังไม่หมด นับประสาอะไรกับพวกมนุษย์ เมื่อมีกิน มีใช้ มีอำนาจ วาสนา มีอะไรแล้ว มันก็เก็บไว้แต่เรื่องฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกาย ฝ่ายจิตใจมันยังมีเหลืออยู่ เป็นฝ่ายสูง ฝ่ายวิญญาณ มันต้องทำหน้าที่อีกทีหนึ่ง นี่คือการปฏิบัติธรรมะในขั้นสูง หรือ ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นสูง ที่จะแก้ปัญหาอันสูง ส่วนจิต ส่วนวิญญาณ ปฏิบัติธรรมะต่ำๆ หรือปฏิบัติหน้าที่ต่ำๆ ก็เพื่อที่จะต้องทำอยู่ทุกวัน เพื่อให้ชีวิตมันรอดอยู่ได้ นับตั้งแต่ชาวนาก็ต้องทำนา ให้ได้ประโยชน์ เป็นการเลี้ยงชีวิตสำเร็จขึ้นมาได้ นั่นคือการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมสำหรับชาวนา ทีนี้ถ้าเขาเป็นคนมีอาชีพอย่างอื่น ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่นั้น จนกระทั่งยังมีหน้าที่ที่จะต้องสืบพันธุ์ จะต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน จะต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องให้หมด
อย่างที่ฆราวาส มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องในทิศทั้ง ๖ เบื้องหน้าบิดามารดา เบื้องหลังบุตรภรรยา เบื้องซ้ายมิตรสหาย เบื้องขวาครูบาอาจารย์ เบื้องบนสมณะพราหมณ์ เบื้องต่ำคือบ่าวไพร่ทาสกรรมกรนี่ มันเป็นรอบทิศรอบตัว นี่คือหน้าที่และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมในส่วนซีกกาย ทั้งที่เป็นของตัวเองหรือทั้งที่ต้องสังคมกันกับผู้อื่นนี่เป็นหน้าที่ซีกหนึ่งแล้ว ที่เหลือจากนั้นก็เป็นเรื่องวิญญาณที่ต้องเข้าใจ มีความรู้ทางธรรมะในชั้นสูง สามารถจะปฏิบัติอย่าให้เกิดกิเลสขึ้น อย่าให้มีความทุกข์เพราะโลภะ โทสะ โมหะ อย่าให้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหล่านี้เป็นปัญหาขึ้นมา เป็นหน้าที่ ฝ่ายสูง ฝ่ายซีกสูง ฝ่ายที่จะอยู่เหนือโลก ฝ่ายที่เป็นโลกุตระ ส่วนอีกฝ่ายเป็นฝ่ายโลกียะที่จะเป็นไปตามโลก อยู่ในโลกในวิสัยโลก เพราะเราเกิดมีหน้าที่ขึ้น ๒ อย่างๆ นี้
เพราะฉะนั้นการที่คนหนุ่มมาบวชเสียสักระยะหนึ่งแล้วจะสึกออกไปทำหน้าที่นั้น ก็เพื่อมาศึกษาหน้าที่อันที่ ๒ ให้เข้าใจไว้ คือหน้าที่ทางฝ่ายวิญญาณให้เข้าใจ ก็ถือโอกาสศึกษาฝ่ายที่ร่างกายเนื้อหนัง ฝ่ายโลกนี้ด้วยก็ได้ ถ้าเรายังไม่เคยรู้ แต่ว่าโดยมากก็ศึกษาได้ในชีวิตฆราวาสนั่นเอง ไม่ต้องมาบวชมันก็ศึกษาได้ อย่างเรียนหนังสือหนังหาเรียนวิชาชีพ เรียนอะไรต่างๆ ที่มันจะอยู่ในโลกได้ก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ต้องมาบวชก็ยังได้ โดยหลักทั่วไปแล้วก็ไม่ต้องมาบวชหรอก ที่พระต้องเรียนหนักเรียนปฏิบัตินวโกวาท หมายถึงพระที่จะสึกออกไปสำหรับเป็นคฤหัสถ์ ถ้าเป็นอย่างสมัยโบราณเขาก็ไม่เรียนกันหรอก ที่พระจะไปเรียนปฏิบัตินี้ไม่มีแน่ เพราะว่าเขาผ่านคฤหัสถ์มาแล้ว ต้องการจะไปต่อไป ก็ไม่มีเรียนที่ปฏิบัติสำหรับพระ ทีนี้เพื่อว่าเราจะเป็นผู้ที่มีโชคดี ได้เปรียบ หรือมีวาสนาก็ตามแล้วแต่จะเรียก เราจะเรียนความรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตทั้ง ๒ ด้านทั้ง ๒ ความหมายให้พอควรเสียตั้งแต่ยังหนุ่มๆ เหมือนกับมาบวชเมื่อครบบวชก็จะได้มีความรู้ทั้ง ๒ ด้าน ด้านร่างกายและด้านจิตใจ ออกไปเป็นฆราวาสก็จะง่ายขึ้น คือถ้าฆราวาสคนไหนมันไม่เคยเรียนรู้เรื่องทางธรรม ทางจิต ทางวิญญาณเสียเลย มันก็เป็นฆราวาสที่ดิบโง่ คือมันจะขี้มักโกรธมากเกินไป มันจะขี้มักละโมบ โลภลาภเกินขอบเขต มันจะบังคับจิต บังคับตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ค่อยจะได้ เพราะมันไม่มีสอน นั้นถ้าว่ามาบวชหรือประพฤติพรหมจรรย์ชั่วคราว ที่จะทำให้ได้รู้จัก บังคับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่าบังคับกิเลส หรือว่าจะบังคับตัวกูของกูก็ตาม มันจะมีประโยชน์ติดไป สึกออกไปมันจะบังคับตัวเองได้ดี คือบังคับกิเลสได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยรู้เรื่องอย่างนี้ มันก็คือหน้าที่ที่สูงขึ้นไปเป็นส่วนที่ ๒ ซีกที่ ๒ ทางจิตวิญญาณ เราจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องแม้เป็นฆราวาส
ทีนี้ว่าถ้ามันเลื่อนไปจากนั้น มันก็มาหาบรรพชิตโดยสมบูรณ์ มันก็ปฏิบัติหน้าที่ทางจิตทางวิญญาณสูงขึ้นไป จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่มีการบรรลุมรรคผลนิพพาน ความทุกข์มันจะยังเหลืออยู่สำหรับต่อสู้ สำหรับรบรากันไปเรื่อย ไม่ถึงที่สุด เพราะฉะนั้นต้องถือเป็นหน้าที่ด้วยเหมือนกัน ถ้าว่ามนุษย์คนใดคนหนึ่งมันเกิดมาแล้ว มันอยากจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว ก็ต้องศึกษาในส่วนนี้ ส่วนที่สอง ส่วนลึกซึ้ง เพื่อปฏิบัติให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก็ คือมรรค ผล นิพพาน ถ้าเราจะเอาแต่เพียงทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีทรัพย์สมบัติ มีกิน มีกาม มีเกียรติ ในโลกนี้ มันก็ได้เหมือนกัน มันได้เพียงครึ่งเดียว พอมันได้เต็มที่เข้า มันก็จะรู้สึกว่ายังขาดอะไรอยู่ ไม่มีความสุขได้ คือ จิตใจมันร้อนเป็นไฟ เหมือนกับตกนรกอยู่บ่อยๆ มีกิน มีกาม มีเกียรติ จนเรียกว่าจนเฟ้อแล้ว จนมากจนเฟ้อแล้ว มันก็ยังจะมีความร้อนใจเหมือนตกนรกอยู่นั่นแหละ มันต้องรู้อีกด้านหนึ่ง ที่จะให้สิ่งเหล่านี้ไม่ร้อน หรืออาจจะสละสิ่งเหล่านี้ก็ได้ ในส่วนที่ควรสละ และยังส่วนที่จะต้องเกี่ยวข้องอยู่มันจะได้ไม่ร้อน เช่น พระอรหันต์ถ้ามามีปัญหาเรื่องอาหารการกิน เรื่องเกียรติ เรื่องอะไรมันก็ร้อนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเป็นพระอรหันต์มันต้องละสิ่งเหล่านี้ได้หรืออยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ หรือทำไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นอันตรายขึ้นมา ก็เรียกว่ามนุษย์คนนั้นมันไปถึงที่สุด ถึงความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี่ก็เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทั้งหมดนี้คือ หน้าที่ที่ต้องทำ เรียกว่าการปฏิบัติธรรม
ขอให้ทบทวนเอาเองก็แล้วกัน ผมพูดพอเป็นเค้าเงื่อนหรือพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ที่ว่าในร่างกายนี้มันมีส่วนที่ต้องบริหารร่างกาย คุณจึงมีหน้าที่ที่ต้องหาอาหารมากินบริหารร่างกายตั้งอยู่ได้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทุกวันจะต้องกินข้าวอาบน้ำจะต้องไปถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จะต้องบริหารร่างกายนี่มันเป็นหน้าที่ ลองไม่ทำดูสิ มันก็ตาย มันก็มีเรื่อยขึ้นมาจนถึงเรื่องกิน อยู่ นุ่งห่ม ใช้สอย เจ็บไข้ อะไรต่างๆ ก็ปฏิบัติให้ลุล่วงไปในการทำหน้าที่จุดนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว มันไม่มีปัญหาส่วนนี้แล้ว ก็ทำในด้านสูงขึ้นไป คืออย่าให้มันเกิด โลภะโทสะ โมหะ ก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี่เรียกว่าหน้าที่ ก็มองย้อนดูไปอีกทีหนึ่งที่ว่า การปฏิบัติธรรมนี่มันทรงบุคคลผู้ปฏิบัติไว้อย่างไร ก็จะเป็นผู้มองเห็นคุณของพระธรรม ที่จริงคุณของพระธรรมนี่มีมากพูดไม่ไหว พูดไม่จบไม่สิ้น แต่ถ้าเขาต้องการให้พูดเป็นคำเดียวประโยคเดียวเลยก็ว่า พระธรรมนั้นมีคุณ คือ ทรงผู้ปฏิบัติธรรมนั้นไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ ทั้งหมดเท่านั้น ทุกแขนงรวมอยู่ที่นี่ ตัวพระธรรมก็เป็นตัวทรง และต้องเป็นพระธรรมในรูปของการปฏิบัติ พระธรรมในรูปของการปฏิบัติก็จะทรงบุคคลไว้ไม่ให้ตกไป เพราะว่าพระธรรมนั้นจะทรงตัวเองได้ จึงสามารถทรงบุคคลผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ได้ คุณของพระธรรมก็มีเพียงทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ นอกนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยเบ็ดเตล็ดขยายออกไป มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่าต้องทำ ให้มีธรรมะขึ้นมา คือต้องมีการกระทำให้มีตัวพระธรรมเกิดขึ้นในกาย วาจา ใจ การกระทำนั้นเรียกว่าหน้าที่ หรือเรียกว่าการปฏิบัติธรรม หรือการบำเพ็ญธรรม ในชั้นสูงเขาเรียกว่า บำเพ็ญสมณะธรรม คือบำเพ็ญเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่เป็นของความสงบระงับที่เรียกว่าสมณะ ผู้สงบระงับ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงสุด ส่วนพวกฆราวาสก็ปฏิบัติธรรมในขั้นของฆราวาส การปฏิบัติหน้าที่การงานทุกชนิดคือการปฏิบัติธรรม เป็นบุญกุศลอยู่ในตัวมันเอง
ขอให้จำไว้ทุกคนว่าการทำหน้าที่นั่นแหละ คือการปฏิบัติธรรม ทุกหน้าที่เลย เพราะฉะนั้นธรรมที่ปฏิบัติจึงมีหลายชั้น หลายระดับ หลายแขนง แม้แต่จะไปอาบน้ำ ก็ต้องอาบให้ดี ถ้าอาบไม่ดี ก็ไม่เป็นการปฏิบัติธรรมที่ดี เป็นการกระทำของคนโง่ แม้แต่จะถ่ายอุจจาระ ก็ต้องปฏิบัติธรรมอันนี้ให้ดี มิฉะนั้นมันจะได้ผลเป็นทุกข์ พูดแล้วมันก็ออกจะเลยเถิดไป แต่ไม่ใช่เลยเถิดหรอก นี่ยกตัวอย่างให้มันรุนแรง เพื่อให้มันเข้าใจอย่างนี้แล้ว มันก็จะเข้าใจเรื่องอื่นได้ คนโง่ถ่ายอุจจาระมันก็เบ่งแรง ไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือคนโง่มันถ่ายอุจจาระ มันไม่ชำระให้สะอาด ถ่ายแล้วมันไม่ชำระให้สะอาด ไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคที่เกี่ยวกับช่องทวาร เพราะฉะนั้นในวินัยจึงปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรง และปรับอาบัติกับภิกษุที่มีน้ำแล้วไม่ล้างไม่ชำระล้าง คุณไปศึกษาวินัยเสียบ้าง ทีนี้คุณก็ไม่ชอบที่จะศึกษาให้มันทั่วถึง จึงไม่รู้ ที่จริงมันก็มีอยู่ชัดเจนในวินัยนั่นแหละ การถ่ายอุจจาระเบ่งแรงก็จะทำให้เกิดโรคขึ้นที่ขอบทวาร ที่เรียกว่าโรคริดสีดวง มันต้องมีความฉลาด คือไม่โง่ จะทำอย่างไรจะให้อุจจาระมันออกมาได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องเบ่งหรือเบ่งแรง ก็กินอาหารให้ดี กินน้ำให้ดี บริหารร่างกายให้ดี ต้องไปนั่งให้มันถูกวิธี ไปนั่งให้มันเป็นไปตามลำดับ ให้ร่างกายมันรู้เรื่อง รู้หน้าที่ของมันตรงตามเวลา อย่าไปทำให้มันสับสนในการไปส้วมไปฐาน มันเป็นระเบียบเข้าไว้ แล้วร่างกายมันจะรู้ระเบียบของมันโดยอัตโนมัติ เมื่อเข้าไป แล้วมันก็จะถ่ายได้ ไปนั่งก้มๆ อยู่สักครู่มันก็จะถ่ายสะดวก ทีนี้คนที่มันโง่มันไปถึงมันก็จะให้ออก มันก็เบ่งแรง เบ่งหน้าเขียวหน้าแดง เส้นโลหิตฝอยรอบๆ ทวารนั้นมันก็แตก มันก็เสียมันก็เป็นโรคริดสีดวง สมน้ำหน้า นี่ความโง่เท่านี้มันก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมะผิดแล้ว แม้แต่ในการถ่ายอุจจาระ เมื่อมันไม่ล้างให้สะอาดไม่เท่าไรมันก็เสียนิสัย เป็นคนไม่ทำอะไรให้เรียบร้อย หรือให้สะอาด มันก็มีความเสียทางจิตใจ การไม่ทำให้สะอาดนั้นก็จะเกิดโรคด้วยทางเนื้อหนัง แล้วจะไปเสียทางจิตใจอีก คือจะเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนมักง่าย เป็นคนไม่ทำอะไรจริง นี่ตัวอย่างที่ต่ำที่สุด ที่เลวที่สุด ก็ตัวอย่างในการถ่ายอุจจาระก็ยังเป็นการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นเรื่องสูงไปกว่านั้น เรื่องอาบน้ำ เรื่องบริหารร่างกายอย่างอื่น ก็ยิ่งสูงขึ้นไปนะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นผู้มีร่างกายดี มีอนามัยดี หมดปัญหาทางร่างกาย ในส่วนตนเอง ไม่เจ็บไม่ไข้
ทีนี้ส่วนที่สังคม มันก็มีหน้าที่อีก เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สุดความสามารถทางสังคม คือจะเป็นลูกเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาให้จงได้ และก็จะต้องเป็นเพื่อนที่ดี เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ให้ได้ ผมจะขอยกเพียง ๕ ประการ ๕ อย่างนี้เท่านั้น ให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน ให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลก ให้เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า ๕ อย่างนี้พอแล้ว เป็นลูกที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดี นี่เรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมสมบูรณ์ที่สุด ปฏิบัติธรรมะในส่วนสังคมดีที่สุด ส่วนร่างกาย ส่วนเรื่องโลกมันก็หมดไป เหลือเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ ก็ไปปฏิบัติต่อไปให้บรรลุมรรคผล รวมอยู่ในข้อที่ว่าเป็นสาวกที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ เมื่อเป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าได้นี่มันไม่ต้องสงสัยหรอก มันก็เป็นไปตามมรรค ผล นิพพานเรื่อยไป จนถึงที่สุดจุดหมายปลายทางเลย ทั้งหมดนี่เรียกว่าหน้าที่เห็นไหม ถ้าจะแจงกันโดยรายละเอียดแล้วไม่ไหวหรอก ไม่มีปัญญาจะแจงจะระบุ มันหลายร้อยอย่าง หรือว่าหลายพันอย่าง เบื่อ ขี้เกียจจะไปแจงแล้ว สรุปมันเป็นเค้าๆ เป็นหมวดๆ เป็นเรื่องๆ พวกๆ ก็พอจะเข้าใจได้ หน้าที่ต่อตัวเอง แล้วก็หน้าที่ต่อสังคม หน้าที่ต่อตัวเองก็เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องใช้ เรื่องสอย เรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็หน้าที่ต่อสังคมก็เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องสารพัดอย่าง มันก็เป็นหน้าที่ที่มนุษย์ที่ดีจะต้องทำ แต่ถ้าสมัครจะเป็นมนุษย์ที่เลวแล้วละก็ไม่ต้อง ไม่ต้องสนใจมาก ไม่กี่อย่างหรอก มีไม่กี่อย่างที่มนุษย์ที่เลวจะต้องปฏิบัติ เพียงว่ารอดชีวิตอยู่ได้ แล้วมันก็จะเลวจนเป็นอันธพาล มันก็จะหาเลี้ยงชีวิตด้วยการลักขโมยหรือด้วยการฉ้อฉล เป็นบาป เป็นหน้าที่ของอันธพาล การปฏิบัติเพื่อไปถึงเส้นทางนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องก็ไม่มีใครเดือดร้อน มีแต่ผู้ได้รับประโยชน์รอบด้านเมื่อหน้าที่นั้นมันถูกต้องแล้ว ถ้าไปทำหน้าที่ที่ว่าเราเอาให้ได้ คนอื่นเดือดร้อนช่างเขาช่างมัน นี่มันก็ไม่ใช่หน้าที่ที่ถูกต้อง
ทีนี้ก็จะแนะในส่วนที่มันเป็นรายละเอียดปลีกย่อย เรื่องของฆราวาสก็ไปศึกษาจากหลักธรรมะสำหรับฆราวาสที่เรียกว่า คิหิปฏิบัติ ในภาษาพระ ก็ศึกษาธรรมะสำหรับฆราวาส พวกที่เป็นเครื่องมือให้การปฏิบัติหน้าที่นั้นสำเร็จอีกต่อหนึ่ง คือสัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ นี่เคยพูดมากที่สุด แม้ที่สุดแต่เรื่องอิทธิบาททั้ง ๔ สำหรับบรรลุมรรคผล นี่ก็เอามาใช้ได้สำหรับฆราวาส มีอิทธิบาท ๔ แล้ว ก็แล้วแต่ทำมาค้าขายก็ยังได้ผลดี ก็ไปศึกษาในตำรับตำราซึ่งมีอยู่แล้ว นี่ยกตัวอย่าง ผู้ที่จะทำหน้าที่อย่างฆราวาสให้ชนะโลกนี้ให้ได้ ทีนี้เมื่อจะทำหน้าที่อย่างบรรพชิตเพื่อจะชนะโลกอื่น โลกอื่นจากโลกนี้ให้ได้ ก็ต้องปฏิบัติสูงขึ้นไป ในส่วนศีล สมาธิ ปัญญา จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน มันก็มีรายละเอียดอยู่แล้วในเรื่องนั้นๆ ไปหาอ่านเอาเองจากหนังสือนั้นๆ
เพราะว่าเวลานี้ผมต้องการจะอธิบายเพียงคำๆ เดียวว่า หน้าที่ หรือว่าการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นความหมายที่ ๓ ของคำว่า ธรรม เพียงคำเดียว ในที่สุดก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่มันประกอบกันอยู่หรือเกี่ยวข้องกันอยู่เสียเลย ว่าเมื่อจะต้องปฏิบัติธรรมหรือทำหน้าที่แล้วก็ขอให้ฝึกธรรมะที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือ คือความอดทน ที่เรียกว่าขันตี เดี๋ยวนี้มนุษย์เราในโลกนี้ขาดความอดทนยิ่งขึ้นทุกที พูดแล้วมันก็เป็นการเมือง เตลิดเปิดเปิง (นาทีที่55.05) แต่คุณไปดูสังเกตดู ไอ้โลกนี้มันเลวลง หรือว่ายุ่งยากมากขึ้น ลำบากมากขึ้น ก็เพราะว่ามนุษย์ขาดความอดทนมากขึ้นทุกที จนไม่เป็นมนุษย์ ไม่มีการบังคับตัวเอง ถ้าบังคับตัวเองมันเกิดความเจ็บปวดมันต้องอดทน เดี๋ยวนี้เราไม่อดทน จะเอาแต่สนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็เกิดอะไรต่างๆ ขึ้นมาใหม่ๆ สนุกสนานเพลิดเพลินไปโดยไม่มีการอดทน สิ่งที่เรียกว่า ขันตี นี่หมายถึงความอดทน สำเร็จประโยชน์ทั้งเรื่องโลกๆ และทั้งเรื่องธรรมะที่จะเป็นการบรรลุมรรค ผล นิพพาน ขันตีความอดทนเป็นรากฐาน เด็กเล็กๆ ก็ต้องอดทน ต้องหัดให้เขาอดทน เขาถึงจะทำหน้าที่ของเขาไปได้ดี เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะมีหลักการหรือว่าระเบียบงานที่จะให้เด็กเล็กๆ ต้องอดทน ถ้าเป็นสมัยก่อนนี่จะเห็นได้ง่ายเลยว่าเด็กเล็กๆ จะต้องอดทนในการเชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ในการทำหน้าที่การงาน ที่มาถึงสมัยนี้โลกมันเปลี่ยนมันบ้าด้วยวิธีใดก็ตามใจเถอะ มันเกลียดความอดทน เด็กๆ ก็จะไม่อดทนในการเชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ แม้แต่ในการศึกษาเล่าเรียนที่จะช่วยตัวมันเองให้รอดไปได้ มันก็ไม่อดทน เด็กสมัยนี้มันไม่นิยมความอดทนด้วยเหตุที่ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว โดยไม่รู้สึกตัวขึ้นในหมู่บิดามารดาครูบาอาจารย์กันเอง เพราะว่ากิเลส มันไม่ชอบอดทน อดทนมันไม่สนุก ไม่อดทนมันสนุก มันค่อยๆเป็นโดยไม่รู้สึกตัว
ดังนั้นเขาจึงไปหาทางออก หรือค้นคว้า ไอ้สิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่ต้องอดทนกันมากขึ้น ก็ได้แก่ ความเจริญทางวัตถุ ทางเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ที่ให้มนุษย์ไม่ต้องใช้ความอดทนมากเหมือนแต่ก่อน มันก็เริ่มเสียนิสัย ในทางที่จะไม่อดทน ที่จริงมันก็ดี ไอ้ความเจริญเหล่านั้นมันก็ดี แต่อีกทางหนึ่งมันทำลายมนุษย์ ที่ไม่ให้มีความอดทน แล้วมันก็จะเห็นแก่ตัว มันก็จะทำลายผู้อื่น เพราะไม่อยากจะอดทนเพียงอย่างเดียว ไม่บังคับตัว ทีนี้ใครมันเก่งในทางนี้มีฝีไม้ลายมือ มันก็ไปเที่ยวเบียดเบียนผู้อื่น รุกรานผู้อื่น สูบเลือดผู้อื่น มีเทคโนโลยีในการ สูบเลือดผู้อื่นมาให้แก่ตัว วันหนึ่งโลกทั้งโลกไม่สงบสุข เพราะว่ามันไปนิยมความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังที่ไม่ต้องอดทน มันก็เลยไหล ไหล ไปในทางที่ว่าจะไม่อดทน แล้วก็เลยตามใจกิเลสมากขึ้น การมาบวชสักทีนี้ดีนะ จะต้องได้มีโอกาสฝึกฝนความอดทนเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องหลับ เรื่องนอน อะไรต่างๆ คุณที่มาบวชนี่แล้วจะต้องสึกให้โอกาสอันจำกัด คุณรีบฝึกในข้อนี้เสียดีกว่า พอกลับออกไปเป็นฆราวาสก็หาโอกาสอดทนยาก ต้องไปเข้าดงของคนพวกที่ไม่อดทน ถ้าอยู่เป็นบรรพชิตต้องอยู่ด้วยขันตี คือความอดกลั้นอดทน ไปเปิดหนังสือตำหรับตำรา พุทธศาสนสุภาษิตหมวดที่ว่าด้วยขันตีดูเองก็แล้วกัน ขันตี พลัง วะ ยะ ตีนัง ขันตีเป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันตีนี่เป็นไฟที่เผากิเลสอย่างยิ่ง มากมายเหลือเกินเรื่องที่เกี่ยวกับขันตี ถ้าอยู่ในรูปของบรรพชิตนี่ก็ประพฤติปฏิบัติขันตีได้โดยตลอดเวลา พอออกไปบ้านแล้วก็คงจะไม่มีโอกาส หรือว่ามันก็ไม่อยากจะทำด้วย ไปพบความสนุกสนานเพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย ก็ไหลไปตามกระแสนั้น เป็นเรื่องโลก
แต่ผมต้องการจะชี้ในข้อที่ว่า ถ้าขาดความอดทน แล้วการปฏิบัติหน้าที่จะไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าหน้าที่ของฆราวาส หรือไม่ว่าหน้าที่ของบรรพชิต เมื่อขาดความอดทนแล้วเราก็จะไม่เจริญในทางจิตใจ การที่พระเราล่วงละเมิดสิกขาวินัยผิดไป ก็เพราะไม่อดทนนี้เป็นส่วนใหญ่ ไม่อดกลั้นอดทน ถ้าอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ทน เมื่อกิเลสมันบีบคั้นแล้วก็ไม่อดทน ก็ทำตามอำนาจของกิเลสเสีย นี่ก็ไม่ทนต่อการบีบคั้นของกิเลสก่อน ทีนี้ก็ไม่อดกลั้นอดทนต่อคำด่าคำว่าของผู้อื่น ไม่อดกลั้นอดทนต่อความเจ็บปวด หนาวร้อน อะไรต่างๆ ไปหมด ไม่อดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องมันก็จบกันแล้ว ทีนี้พอเด็กไม่อดทน มันก็ไม่เชื่อฟัง มันก็มีการโกลาหลวุ่นวายขึ้น ทุกอย่างทุกชนิดนะ นี้เด็กเล็กๆ มันก็ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์แล้ว มันไม่อยากจะอดทน มันไม่อยากจะทำตามระเบียบ พอโตขึ้นมันก็เลยเล่นงานครูอาจารย์ เหมือนกับที่เป็นปัญหาอยู่ในโลกเวลานี้ นิสิตนักศึกษาไม่เชื่อฟังระเบียบวินัยเอาตามอารมณ์ของตัว เป็นอันว่า ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องของความเป็นมนุษย์นับตั้งแต่ว่าเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดี มันล้มละลายหมดนั้นถ้าว่าใครอยากจะปฏิบัติให้สมบูรณ์ ให้เป็นลูกที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี ต้องตั้งต้นด้วยความอดทนไว้ เชื่อฟังพ่อแม่ก็ต้องอดทน พ่อแม่ใช้ทำสิ่งที่เราต้องอดทน ครูบาอาจารย์ก็จะใช้ให้เราทำสิ่งที่ต้องอดทน จะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ ก็ต้องมีการอดทนต่อกันและกัน ไม่งั้นมันระเบิด (นาทีที่1:03) ถ้าเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ของโลกก็ต้องเต็มไปด้วยความอดทน แต่พอเมื่อเรารู้ว่าความอดทนนี่เป็นการปฏิบัติธรรม หรือเป็นบุญเป็นกุศล เราก็ยิ่งชอบความอดทน เพราะว่าความอดทนนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม เราก็เลยสมัครที่จะอดทน กลับเห็นว่าความอดทนนี้เป็นความสุขสนุกสนานไปเสียอีก ทีนี้พูดฝากเผื่อไปเสร็จเลยว่าสังเกตดูให้ดีๆ ว่าการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติธรรมนั้นกำลังรวนเร กำลังใช้ไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นไปในทางที่ไม่อดทนมากขึ้น ไปตามใจกิเลส ไปตามใจเนื้อหนังมากขึ้น
สรุปความกันเสียทีว่า ไอ้ธรรมะในความหมายที่ ๓ เรียกว่าปฏิบัติธรรมนี้ ก็ยังคงเป็นธรรมะในความหมายเดิม คือทรงตัวมันเองอยู่ได้ และก็ทรงผู้ปฏิบัติให้ไม่ตกลงไปในความทุกข์ด้วย หน้าที่ที่ต้องทำทุกอย่าง ก็ต้องเรียกว่าปฏิบัติ หรือปฏิบัติธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าฝ่ายโลกหรือไม่ว่าฝ่ายธรรม นี่ถ้าผู้ใดต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็ต้องตั้งต้นด้วยความอดทน อยู่ด้วยความอดทน พอใจในความอดทนเถอะ ก็จะเป็นพระที่ดี เป็นเณรที่ดี เป็นอุบาสกที่ดี เป็นอุบาสิกาที่ดี โดยไม่ต้องสงสัยเลย เวลาสำหรับวันนี้ก็หมดเพียงเท่านี้ ก็ยุติไว้ทีก่อน