แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามที่ผมได้รับคำขอร้องให้พูดเรื่องเกี่ยวกับสังคม ผมคิดว่าจะพยายามสนองความประสงค์ตามที่จะทำได้ และก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมนี้มันมากมายนัก ที่จะต้องพูดกันได้แต่บางส่วน นี่สำหรับที่มันจะเป็นไปได้สำหรับผมนี้ก็ต้องเป็นส่วนที่มันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ดังนั้นเราคงจะพูดกันโดยหัวข้อที่ว่า “ปัญหาของสังคมมนุษย์ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา” ทว่าในเรื่องอื่น ในแขนงอื่น พวกคุณอาจจะเคยศึกษามามากแล้ว ตัวผมอาจจะยังไม่ทราบเลยก็ได้ ผมก็ต้องพูดตามทรรศนะของพุทธศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่ขวนขวายอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับสังคมอยู่ด้วย
ในชั้นแรกนี้เราควรจะ ถ้าเหลือบตาดูก็จะเห็น ไม่ต้องพิจารณาอะไรกันมากมาย ปัญหาในมนุษย์โลกนี้มันไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญหามากเท่ากับปัญหาเกี่ยวกับสังคม แม้ปัญหาส่วนตัวบุคคลก็ยังเนื่องมาจากปัญหาทางสังคมอยู่มาก จึงพูดได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุ ทางภายนอก ทางร่างกาย มันก็ล้วนแต่เป็นปัญหาสังคม มันมากเกินที่จะเอามาพูดไว้ในคราวเดียวได้ ถึงแม้เราจะพูดกันแต่ในส่วนที่มันเกี่ยวกับหน้าที่การงานของมนุษย์ในขอบเขตอันจำกัด ก็ควรจะรู้จักลึกซึ้งไปถึงรากเหง้าทั้งหมดของปัญหาข้อนี้ด้วยเหมือนกัน สำหรับพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องทางศีลธรรม ถ้าเป็นเรื่องทางปรมัตถธรรมมันก็แยกไปเป็นส่วนบุคคล เฉพาะตนมากกว่า ถ้าเป็นเรื่องทางศีลธรรมมันก็จะเป็นเรื่องทางสังคม แต่แม้อย่างนั้นเรื่องทางปรมัตถธรรมบางส่วนบางแขนงก็เป็นรากฐานของเรื่องศีลธรรมด้วยเหมือนกัน มันไม่ได้แยกกันขาด เด็ดขาดโดยส่วนเดียว ซึ่งศีลธรรมจะต้องการความไม่เห็นแก่ตัว และต้องการรากฐานทางปรมัตถธรรมที่ดีกว่าที่ลึกกว่าคือ ความไม่มีตัว ถ้ามีบังคับไม่ให้เห็นแก่ตัวมันก็เป็นเรื่องบังคับ มันก็กวัดแกว่ง ไม่มีรากฐานอันแน่นอน จะต้องมองเห็นความที่ไม่มีตัว ตามความจริงอันลึกซึ้ง มันก็ไม่เห็นแก่ตัวขึ้นมาเอง เป็นอย่างนี้
นี่ตัวอย่างที่ว่าหลักทางปรมัตถธรรมมันก็มาเป็นรากฐานทางศีลธรรม เป็นอันว่าไม่แยกกันได้โดยเด็ดขาด ถ้ามันจะมองย้อนกลับมันก็ยังมองได้ว่า ถ้าคนมีศีลธรรมดี เรื่องส่วนบุคคลที่เป็นชั้นปรมัตถธรรมมันก็ง่ายตามขึ้นไป เป็นคนที่มีความสงบสุขส่วนตัวเองนี้ดียิ่งขึ้น ถ้าสังคมมันดี แต่ละคนก็มีความสุข มันมีผลส่วนบุคคลนั้นสูงสุดได้
ในชั้นแรกนี้ ผมอยากจะให้เข้าใจคำว่าสังคม ตามทรรศนะทางพุทธศาสนา ให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติมากกว่า ถ้าถือตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วก็อย่าลืมประโยค ประโยคที่สำคัญที่สุด ประโยคหนึ่งว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ลองจำประโยคนี้ไว้เป็นหลักก่อน แล้วมันจะขยายตัวไปได้รอบด้าน หรือแม้ว่าให้ทุก ๆ ปัญหามันตั้งรากฐานอยู่บนนี้ ปัญหาทางสังคมทุกแขนงมันตั้งรากฐานอยู่ เพื่อเรา (วินาทีที่ 00:08:19) เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายนี่มันก็มีความหมายน่าสนใจอยู่มาก มันไม่เพียงแต่คน มันลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ มันลงไปถึงต้นไม้ก็ได้ พืชพันธุ์เล็ก ๆ ยังไม่ถึงขนาดต้นไม้ก็ได้ กระทั่งว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มีชีวิต กระทั่งว่าเป็นอณูหนึ่งหรือปรมาณูเดียวในสิ่งมีชีวิต มันก็ไม่พ้นที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน โดยหลักว่าพอแยกจากกันมันก็อยู่ไม่ได้ คนที่เคยเรียนทางชีวิทยาหรือว่าทางวิทยาศาสตร์ที่ละเอียด ๆ จะรู้ข้อนี้ ว่าสิ่งที่มันตั้งอยู่ได้นั้นมันประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบที่ยังไม่แยกกัน มันจึงเป็นอะไรอันหนึ่งอยู่ได้ เป็นสัตว์ตัวหนึ่งอยู่ได้ ต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ได้ พูดพอเป็นเครื่องสังเกตมาตั้งแต่ว่าในหนึ่งปรมาณูก็มีส่วนประกอบสองสามส่วนประกอบกันอยู่ รวมกันอยู่ มันจึงอยู่ได้ ถ้ามันแยกกันก็เป็นการทำลายปรมาณูนั้น ที่เขาว่าทำแรงปรมาณูมาใช้ไม่ได้ทำลายปรมาณู ประกอบกันตามปกติ ที่นี้หลาย ๆปรมาณูจึงประกอบเป็นอณูหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะหรือคุณสมบัติพิเศษขึ้นมา ถ้าลองไม่ประกอบกันมันก็เป็นไม่ได้ หลาย ๆ อณูประกอบเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จะเป็นคน เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ นี่มันก็อย่างเดียวกันกระทั่งว่าหลาย ๆ ส่วนนี้ประกอบกันเข้าแล้วเป็นส่วนสำคัญ ๆ เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นกระดูก เป็นอะไรในคน ก็ยังต้องรวมกัน ทำงานด้วยกัน โดยคำที่ว่า ถ้าแยกกันแล้วมันก็อยู่ไม่ได้ นี่คำว่า หรือว่าความหมายของคำว่า เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายมันคืออย่างนี้ มีรากฐานมาจากอณูหนึ่ง ๆ ปรมาณูหนึ่ง ๆ มันจึงเกิดนั่นเกิดนี่ วิวัตนาการขึ้นมาเป็นคนเรา ในหนึ่งคนก็มีการเป็นเพื่อนกัน แยกกันไม่ได้ระหว่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรต่าง ๆ นี้พอมาเป็นคนหนึ่งแล้ว อยู่กันในโลกหลาย ๆ คน ยังต้องเป็นเพื่อนกันอีก เป็นมนุษย์ ก็เป็นเพื่อนกัน เป็นกลุ่ม ๆ ไปจึงตั้งอยู่ได้ คือที่มันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด คือส่วนที่เรียกว่าครอบครัว นี้ให้มองเห็นไอ้ลักษณะที่มันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ดูความหมายให้ดี พอไม่เป็นเพื่อนด้วยกัน แล้วมันก็สลายกันไปหมด
ทำไมถึงต้องใช้คำว่า เกิดแก่เจ็บตาย เพราะมันเป็นคำมีความหมายว่า อยู่หรือตาย เป็นเพื่อนสำหรับเกิด เป็นเพื่อนสำหรับอยู่ และเป็นเพื่อนสำหรับตาย ทันทีที่เราแปลดู นี่สวะที่ลอยมาในแม่น้ำ มันก็ยังอาศัยกัน มารวมกันเป็นสวะผืนใหญ่แล้วมีอันตราย มันมีอำนาจมาก มีกำลังมาก มีอันตรายมาก ถ้าสวะชิ้นน้อย ๆแยกกันอยู่นี้ไม่ทำอันตรายอะไรใครได้ แล้วมันก็ประหลาดที่ว่ามันมีความดึงดูดที่จะรวมกันมากกว่าที่จะแยกกัน ไปลองสังเกตดู ของลอยน้ำมันมีลักษณะที่อยากจะรวมกันเป็นกลุ่มมากกว่าที่จะแยกกันไป ถ้าไม่มีอะไรมาแยกมันเป็นพิเศษมักจะรวมกันเป็นกลุ่มคล้าย ๆ มันเป็นธรรมชาติ เหมือนกับเรารู้ว่าในอณูหรือในปรมาณูที่มันมีกระแสไฟฟ้า มันก็มีการดึงดูดกัน จึงอาศัยกันอยู่ได้เป็นกลุ่ม ๆ ด้วยการดูดเข้าหากัน หรือแม้แต่จะมีกรณีที่เป็นตรงกันข้าม มันจึงจะผลัก น่าจะพูดหรือถือว่าการดึงดูดกันนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติอันลึกซึ้งที่จะต้องเป็นกลุ่ม ๆ กัน จึงจะมีกำลัง มีอำนาจอยู่ กระทั่งว่ามันจะมีชีวิตอยู่ได้ และเป็นชีวิตที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มันก็เกิดปัญหาในทางสังคม ในขั้นสุดท้าย เราจะมีสังคมอย่างไรจึงจะมีกำลังมาก หรือเป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน กระทั่งมีคนดีที่สุด ถ้ามองกันอย่างนี้ก็เรียกว่า มองอย่างบริสุทธิ์ใจ มองตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วก็เป็นหลักธรรมะภายในตัว เป็นความจริง แค่แก้ปัญหาให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของความจริงอันนี้ แม้สิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์มันก็จะมีความเจริญรุ่งเรือง นี้เป็นแนวที่จะต้องรู้ไว้ โดยเป็นธรรมชาติอัหนึ่งซึ่งแน่นอนที่สุด ตายตัวที่สุด
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาเฉพาะเรื่อง คือ มนุษย์นี้ไม่ยอมรับหลักการเกี่ยวกับสังคมในลักษณะอย่างนี้ ที่ไม่ยอมรับเพราะว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน จึงแยกออกมาว่าเรา เขา พรรคพวกเราและพวกเขา เรื่องประโยชน์ของพวกเราและประโยชน์ของพวกเขา ไอ้คำว่า เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายมันเข้ามาไม่ได้ มันเข้ามาไม่ถึง งั้นคุณลองมองดูไปทางรอบตัว ขยายแผ่ออกไปจนทั่วทั้งโลก เขากำลังมีสังคมแบบที่จะรวมกำลังกันเป็นหน่วยๆ เป็นสังคมหนึ่ง แล้วก็ต่อสู้ หรือแย่งชิง แข่งขัน แสวงหาผลประโยชน์ อย่างนี้มันถือว่ามันผิดธรรมชาติหรือว่าเป็นอธรรม ที่มันไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็มีการแตกกระจาย พินาศ ฉิบหาย แต่แล้วมนุษย์ก็ไม่รู้สึก แต่รู้สึกก็ไม่ชอบอย่างที่เรียกว่าเราจะเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไปชอบอย่างที่ว่าเราก็เรา เขาก็เขา พวกเราก็พวกเรา พวกเขาก็พวกเขา ประโยชน์มันขัดกันอยู่เรื่อย แล้วจึงเห็นการทะเลาะวิวาท การต่อสู้เป็นธรรมดา เดี๋ยวนี้ในโลกก็มีการต่อสู้ชนิดที่เรียกว่าสงครามอยู่ตลอดเวลาเพราะมันเป็นมึง เป็นกู เป็นพวกมึง พวกกู แม้ในประเทศหนึ่งๆก็มีการต่อสู้ อย่างบ้านเรานี้เวลานี้กำลังมีการต่อสู้ระหว่างนิสิตนักศึกษาและรัฐบาล มันก็เป็นปัญหาทางสังคมที่มันมีความผิดพลาด มีการตั้งต้นที่ผิดพลาดอย่างโน้นอย่างนี้ ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แล้วมันก็จะยากที่จะมีความถูกต้องไปทั้งหมด ถ้าหากว่าทุกคนหรือทุกฝ่ายไม่ยอมรับว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่ เจ็บตายด้วยกัน คุณลองคิดดูว่า ถ้าว่าแต่ละคนมีความรู้สึกว่าแต่ละคนเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันอย่างนี้มันจะไม่มีปัญหาอย่างที่กำลังมีอยู่ในโลก แม้ในประเทศ แม้ในครอบครัว มันมีความผิดพลาดขึ้นที่คนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่ง มันก็มีการต่อต้าน มีการยื้อแย่ง มีการปราบปราม จนถึงกระทั่งเป็นความกันว่าใครเป็นฝ่ายถูก ใครเป็นฝ่ายผิด แล้วน่าจะมองกันให้เห็นชัดกันขึ้นไป ว่าถ้าลืมข้อที่ว่าเป็นเพื่อนเกิดเกิดแก่เจ็บตายกันเสียแล้ว มันก็เป็นฝ่ายผิดทั้งสองฝ่าย จะเป็นฝ่ายผิดไม่มากก็น้อย เพราะมันมีการประหัตประหารเบียดเบียนทำลายกัน โดยลืมไปว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกัน ใครก่อนใครหลัง ใครมากใครน้อยนั้นมันไม่ได้เป็นปัญหา แต่มันลืมในข้อที่ว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกัน มันก็ฆ่ากันลงคอ เอาเปรียบกันลงคอ ทำอะไรก็ได้ จึงขอให้มองไปยังรากฐานอันลึกซึ้งของสิ่งที่เรียกว่าสังคม และปัญหาทางสังคมกันในลักษณะนี้ แล้วก็แยกออกเป็นสองฝ่าย สังคมที่บริสุทธิ์ถูกต้องตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เจริญงอกงามไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่แหละสังคมของผู้ที่เห็นแก่ตัว จะต้องจัดว่าเป็นอันธพาลเสมอเพราะเห็นแก่ตัว รวมกลุ่มกันแสวงหาประโยชน์ รักษาประโยชน์ แย่งชิงประโยชน์ กระทั่งปล้นประโยชน์ของคนอื่นหรือของพวกอื่นมา นี่มันก็เป็นสังคม เป็นปัญหาทางสังคม พอมองอย่างนี้แล้วก็มองเห็นในส่วนลึกได้ทันทีว่า ต้องมีรากฐานอยู่ที่เราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ทีนี้จะทำอย่างไรต่อไป มันก็เลยต้องสอนศีลธรรมข้อนี้ให้มากเข้าไว้ ให้มองเห็นข้อเท็จจริงที่ว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันมากเข้าไว้ แต่แล้วก็ดูในโลกนี้ ยิ่งไม่สอนยิ่งไม่ถือหลักอย่างนี้ จึงละเลยหลักข้อนี้ ปัญหาทางสังคมมันก็เกิดทับถมทวีขึ้น หนักขึ้น ๆ เป็นความเบียดเบียน ซึ่งเป็นการเลวร้าย ไอ้ความเบียดเบียน ไม่ใช่เป็นความไม่เจริญ เราต้องไม่เบียดกันก่อน ให้มีความปกติ พอมีความปกติแล้ว เราจึงทำให้เกิดความเจริญ ร่มเย็นสูงขึ้นไป หรือไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเจริญ ให้ปกติเข้าไว้ คืออยู่กันอย่างเพื่อนแก่เจ็บตายมันก็เหมือนกัน
ทีนี้ก็มามองกันในแง่ที่เรียกว่า ประยุกต์ที่จะเอาหลักธรรมะ หลักอย่างนี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร ทีนี้คนก็มักจะมองกันแต่ในทางประโยชน์ส่วนตัว คือมันแคบ ก็มักจะตั้งปัญหาในทางที่ว่าเราจะปฏิบัติต่อสังคมอย่างไร สังคมจึงจะยินยอมแก่เราหรือว่าให้ประโยชน์แก่เรา อย่างนี้ก็กลายเป็นเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับสังคมไปเสียอีก เพราะว่าต้องการประโยชน์ ใครแสวงหาประโยชน์จากสังคมได้ก็แสวง ถ้าใครเก่งก็หาได้มาก มันก็เลยเป็นไปในรูปที่เรียกว่า มือใครยาวสาวเอา ทีนี้ก็ลองคิดดูว่ามันจะไปรอดได้ไง ถ้าคนทั้งหลายถือหลักว่ามือใครยาวสาวเอา มนุษย์นี้ก็วินาศ การกระทำอย่างนั้นไม่ใช่เป็นประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่สังคมนิยม เกี่ยวกับคำพูดนี้ผมอาจจะพูดไม่เหมือนคนอื่นหรือพูดผิดๆ คำว่า สังคมนิยม เขาจัดเป็นเรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องอะไรที่น่ารังเกียจ ไม่ยอมให้ใช้ในประเทศไทยเรา ให้ใช้คำว่าประชาธิปไตย เสรีประชาธิปไตย ปัญหามันก็เกิดขึ้นตรงที่คำพูดและความหมาย ใช้หมายเอาเป็นคำพูดที่ใช้ให้มีความหมายไม่เหมือนกัน ไม่ตรงกัน มันยุ่ง ยิ่งยุ่ง โดยเฉพาะผมไม่ชอบคำว่าประชาธิปไตย และโดยเฉพาะคำว่า เสรีประชาธิปไตย ยิ่งเกลียด เพราะคำว่าเสรีทำให้ตามใจชอบ ประชาธิปไตยของแต่ละคน ๆ เพื่อประโยชน์ตน โดยถือมันผิดหลักธรรมชาติที่เราจะอยู่คนเดียว หรืออะไรก็ตามเห็นแก่ประโยชน์ของเราคนเดียว เอาเราคนเดียวเป็นใหญ่ เป็นไปไม่ได้ ถ้าเอาสังคมเป็นใหญ่มันจะเข้าหลักธรรมชาติ และเป็นไปเพื่อความอยู่รอดว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ผูกพันกันเป็นหมู่แล้วทำความเจริญให้แก่หมู่คณะอย่างนี้ดีกว่า แต่เดี๋ยวนี้มันก็อาจจะเป็นคล้าย ๆ กับอย่างที่ว่ามาแล้ว พอรวมหัวกันแล้ว มันก็รวมหัวกันไปหาประโยชน์ เป็นสังคมนิยม ผูกพันกันเป็นหมู่ ไปปล้นประโยชน์ของหมู่อื่นมาให้แก่ตัว มันก็ใช้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราจะเอาตามตัวหนังสือ คำว่า สังคมนิยม นี้ก็เห็นแก่ประโยชน์ของหมู่ ถ้าอัตตนิยมมันก็เห็นแก่ประโยชน์ของตน มันคงไปไม่ไกล ไปไม่รอด มันเป็นอัตตนิยมก็เห็นแก่ตัว จะดีวิเศษอย่างไรมันก็เพื่อตัว มันแคบเข้ามาเหลือแต่เพื่อตัวถ้าเป็นสังคมนิยมก็ต้องเห็นแก่ทั้งหมดจะอยู่ได้ จะรอดอยู่ได้ ก็โดยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อประกันพอให้มันแน่นอน ไม่ไปปนเปกัน มันก็ควรมีคำว่าถูกต้อง สังคมนิยมที่ถูกต้อง จึงจะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ผมอยากจะพูดว่า ธัมมิกสังคมนิยม จะถูกต้องกว่าที่จะพูดว่า เสรีประชาธิปไตย ให้อิสระแก่บุคคลแต่ละคนมากเกินไป เดี๋ยวกิเลสครอบงำเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเป็นใหญ่
ถ้าพูดถึงหลักทางพุทธศาสนาที่เป็นพุทธภาษิตชัด ๆ นี้มันก็มีที่น่าสนใจอยู่ และถ้ามองเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน ก็ทำประโยชน์ของตนให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ถ้ามองเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของผู้อื่น ก็จงทำประโยชน์ของผู้อื่นให้ลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความไม่ประมาท ก็เรียกว่าด้วยดี และถ้าเห็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายคือ คือทั้งของตนและผู้อื่น นี้ก็จงทำให้ประโยชน์นั้นลุล่วงไปด้วยดี นี้เป็นพุทธภาษิต มีระบุลงไปสามข้อ ก็ลองพิจารณาดูว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงนิยมสังคมเป็นใหญ่ เมื่อมองเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ตน ก็ยังประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ค่อยคิดถึงประโยชน์ผู้อื่นก็อย่างนั้นเอง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายก็อย่างนี้เอง หรือ คุณจะถือว่าพุทธศาสนานี้นิยมอัตตนิยม หรือเป็นสังคมนิยม ตามความรู้สึกของผมรู้สึกว่าเป็นสังคมนิยม โดยที่ไม่ต้องบอกกันว่าคนเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ นี่เป็นเรื่องทางการเมืองแท้ ๆ คนเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ จึงเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ ๆ และยิ่งอย่างนั้นมากขึ้นไปอีก มันก็อยู่โดยส่วนเดียวอันเดียวไม่ได้ มันต้องคุมกันอยู่เป็นส่วนหลาย ๆ ส่วน เป็นสิ่งหนึ่งเสมอนับตั้งแต่ในปรมาณูหนึ่ง ๆ มีสามส่วนอย่างนี้เป็นต้น นั่นเอาตามธรรมชาติ มันก็มีลักษณะแห่งสังคมเดียว ในโลกนี้มันเป็นอัตตนิยม เห็นแก่ตัว เป็นโอกาสแก่กิเลส
ทีนี้บางพวกจะเป็นสังคมนิยม มันก็เป็นสังคมนิยมอันธพาล เห็นแก่ตัว รวมหัวกันเพื่อต่อสู้หรือล้างผลาญผู้อื่น มันก็เลยอยู่ที่ว่ามันเป็นอันธพาลคนเดียว อันธพาลหลายคนก็เป็นอันธพาล ทีนี้เอาคำว่าอันธพาลออกไปเสีย เอาคำว่าประกอบด้วยธรรมเข้ามาใช้ เป็นใช้ได้ ทีนี้ถ้ามันเกิดใช้ได้ขึ้นมาทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายปัจเจกชนก็ใช้ได้ ทั้งฝ่ายสังคมนิยมมันก็ใช้ได้ แล้วเราควรจะเลือกเอาฝ่ายไหน ให้ธรรมชาติเป็นผู้ตัดสินมันก็เลือกส่วนที่เป็น เรื่องของเรื่องเลือกเอาหลักเกณฑ์ที่มันเป็นสังคมนิยม เพราะมันไม่มีอะไรจะแยกอยู่ได้โดยลำพัง ต้องเนื่องกัน นับตั้งแต่ต้องหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน เป็นอาหารแก่กันและกัน หรือว่าสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันร่วมมือกัน นี้เป็นคำอธิบายในรากฐานชั้นลึกที่ว่าสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงจะต้องรวมกันเป็นสังคม เป็นหน่วยที่มันประกอบอยู่ด้วยหน่วยเล็ก ๆ หลาย ๆหน่วย ถ้าคุณต้องการให้ผมอธิบายในข้อนี้จะพูดได้มากที่สุดเพราะว่าเป็นเรื่องที่สนใจอยู่ เป็นเรื่องของพุทธศาสนา เลยอยากจะอะไร ที่อยากจะอวดดี ก็เลยเปรยมาถึงว่าเราควรจะมีระบบธัมมิกสังคมนิยมขึ้นมาในหมู่มนุษย์ ทำมนุษย์ทั้งโลกนี้ให้มีความสงบสุข ไม่ชอบไอ้อัตตนิยมแต่ละบุคคล ใครเก่งได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น มันก็เบียดเบียนกัน ถ้าต้องการจะหาประโยชน์จากสังคม ระวังให้ดี เผลอนิดเดียวมันเป็นอันธพาล ทั้งคดโกง มันกอบโกย เผลอนิดเดียว มันยากที่จะไม่เผลอ เพราะว่าเราเห็นแก่ตัวเรา แล้วก็เกิดแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น จากฝ่ายอื่น มันก็เป็นลักษณะที่เรียกว่าไม่ถูกต้องอีกแล้ว ไม่ได้เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น ๆ มันไม่ใช่เป็นการร่วมมือกันโดยบริสุทธิ์ เพราะว่าเราจะเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของเรา
คำถามที่คุณถาม ผมก็งงเหมือนกันว่าเราจะประพฤติต่อสังคมอย่างไรจึงจะเกิดเป็นประโยชน์มาก ประโยชน์แก่ใคร ถ้าประโยชน์แก่สังคมเป็นความหมายหนึ่ง ถ้าประโยชน์แก่ตัวผู้นั้นผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นก็อีกความหมายหนึ่ง มักจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำคือเห็นแก่ตัว แล้วก็จะเป็นเรื่องกอบโกยให้ตัว แล้วผู้อื่นจะถูก ถูกกอบโกย ผู้อื่นจะถูกสูบเลือด เหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ถ้าจะเอาศีลธรรมมาเป็นหลัก มันก็จะเป็นเรื่องของสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมะมากกว่าแบบเป็นตัวใครตัวมัน
ทีนี้บางคนอาจจะไปเข้าใจผิดในพุทธศาสนา ทำให้เห็นว่าประโยชน์ตัวไปได้ถึงนิพพาน ไปไกลถึงนิพพาน ประโยชน์สังคมนี่มันอยู่แค่อยู่กันในโลกนี้ ประโยชน์ตัวอย่างนี้ มันไม่ได้หมายถึงว่า เอาแต่ตัว เอาเข้าข้างตัว เอาหามาให้ตัว ประโยชน์ตัวอย่างนี้หมายความว่าทำประโยชน์แก่สังคมจนไม่เห็นแก่ตัวจึงจะหลุดพ้นไปได้ วิธีที่จะไม่เห็นแก่ตัวก็คือทำประโยชน์สังคม ยิ่งทำประโยชน์สังคมมากก็จะทำลายความเห็นแก่ตัวได้มากแน่ ตัวจึงจะหลุดพ้นไปนิพพานได้ มันเป็นเสียอย่างนี้ ไม่ใช่กอบโกยเอาให้ตัวมาก ๆ แล้วจะเป็นนิพพาน
ผมได้บอกตั้งต้นแล้วนะว่า ผมจะพูดได้แต่ในแง่ของธรรมะ ในแง่ที่เกี่ยวกับศาสนา แง่การเมืองเรื่องต่าง ๆ พูดไม่ค่อยเป็น เว้นแต่ที่เกี่ยวข้องกันก็พูดให้เห็นได้ โดยมากก็มองเห็นเพราะว่าสนใจอยู่ที่ปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ของมนุษย์เรา ในที่สุดก็พบว่ามันทำผิดในเรื่องปัญหาทางสังคม มันประพฤติผิดทางสังคม เสร็จแล้วมันไปถือเสียว่าถูกเพราะเอาประโยชน์เป็นหลัก เอาการได้เป็นมาเครื่องตัดสิน ก็เกิดเข้าใจว่าถูกไปเสียซะได้ ที่ผมขอร้องให้นึกกันอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า ส่วนเกิน ที่เรียกว่าส่วนเกินนี่ เป็นปัญหาที่สุดหรือเป็นต้นตอของปัญหาด้วย อย่างที่พวกคอมมิวนิสต์พูดถึงในตำราคอมมิวนิสต์ ????…(วินาทีที่ 00:38:46) สิ่งนี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหานานาชนิดขึ้นมาในโลก แล้วไม่มีทางที่จะเป็นไปในทางดี มีแต่จะเป็นทางร้าย ถ้าใครต้องการจะไปเอาเข้าถึงมันที่เป็นส่วนเกิน เพราะมันเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นทุกที และอันนี้เองเป็นปัญหาที่เราสร้างสังคมที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือว่าสงบเย็นเป็นสุขไม่ได้ จะเป็นในครอบครัวหรือเป็นในบ้านเมือง ในประเทศเราหรือว่าในระหว่างประเทศ ระหว่างโลกก็ได้ มันมีปัญหาเรื่องที่คนเห็นแก่ตัว นี้ก็เอาส่วนเกินที่ไม่ควรจะเอามาเป็นของตัวมากเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จึงดูคนส่วนใหญ่จะพบว่าเขากำลังต้องการ ไม่พอ เกินเท่าไร ๆ นั้นไม่พอ แต่เค้าก็ไม่คิดหรอกว่ามันเกิน เพราะความอยากของเขายังมีอยู่ เขายังหิวอยู่ เขายังว่าไม่เกิน เขามีเงินร้อยล้านก็ยังไม่พอ พันล้านหมื่นล้านก็ยังไม่พอ เพราะเขายังหิวอยู่ เขายังไม่พอ เพราะเขาคิดว่ายังไม่เกิน ที่แท้มันเกินไปตั้งแต่เมื่อมีหนึ่งล้านหรือครึ่งล้าน เพราะมันเกินจำเป็นที่เราควรจะมีจะเอา ทีนี้บางทีแสนหนึ่งสำหรับบางคนก็เรียกว่ามันเต็มที่แล้ว มันจะเกินอยู่แล้ว บางคนร้อยล้านพันล้านก็ยังไม่พอ ก็ยังไม่รู้สึกว่าเกิน เพราะฉะนั้นสังคมของมนุษย์ที่ไม่รู้จักส่วนเกิน เห็นเป็นส่วนที่ไม่เกินแล้วก็จะเอาส่วนนั้นเรื่อยไปคือ สังคมมนุษย์ที่อันธพาล ที่กำลังเบียดเบียน ที่กำลังรบราฆ่าฟันต่อสู้กันไม่มีที่สิ้นสุด พวกหนึ่งเป็นสังคมนิยมตามที่เขาเรียกกันว่าอันธพาล พวกหนึ่งเป็นเสรีประชาธิปไตยมันก็อันธพาล ที่มันจะต้องการส่วนของตัว หรือส่วนพวกของพวกของตัว เพื่อเอาเปรียบพวกอื่น
ทีนี้เราจะมาดูกันในแง่ประยุกต์ ที่ว่าเราจะทำตัวเราเองนี้ให้เป็นที่รักใคร่เคารพนับถือในสังคมได้อย่างไร ฟังให้ดีๆว่าจะเป็นที่เคารพรักใคร่นับถือในสังคมได้อย่างไร มันไม่ใช่อันเดียวกันกับคนที่เอาแต่ล้วงเอาประโยชน์จากสังคมมาใส่ตัวเราได้อย่างไร แม้จะใช้วิธีการที่ถูกต้อง ที่หวาน ปากหวาน และก็ถูกต้อง เอามาด้วยการที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่นั่นมันเลว มันผิด มันยังชี้ว่าเป็นเรื่องของกิเลส มีแผนการล้วงประโยชน์ผู้อื่นมา มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน ถ้าเราอยากจะเป็นที่รักใคร่นับถือของสังคม มันก็มีหลักเกณฑ์เป็นทางที่ว่า อย่าไปแตะต้องส่วนเกิน หรือว่าเจียดเอาเป็นส่วนเกินที่จะให้ผู้อื่นอย่าเอาเข้ามา นี่ส่วนเกินมันเป็นสองความหมาย จะเป็นส่วนเกินที่เขาเอามาให้เราเรื่อย หรือว่าเราจะเจียดของเราออกไปเป็นส่วนเกินของเราออกไปให้เขา ตรงกันข้าม ฉะนั้นศีลธรรมจะดีอยู่ได้ในสังคม แต่ละคนพร้อมที่จะไม่เอาส่วนเกิน เอาเท่าที่จำเป็น และถ้ามันเกิดความขาดแคลนขึ้นมา ยังจะเจียดส่วนที่จำเป็นนั่นแหละให้ออกเป็นส่วนเกินไปให้ผู้อื่นอีกได้ แต่ดูจะไม่มีใครทำ เราทำมาหากินก็ได้ประโยชน์เป็นปีเป็นเดือน เท่านั้นเท่านี้ เราว่าพอดีแล้ว สำหรับเรานี้พอดีแล้ว จนมาถึงคราวที่ว่าเราเห็นว่าคนอื่นมันยัง ลำบากยากแค้นกว่าเรา เรายังอาจจะเจียดส่วนที่ว่าพอดีนั้นให้เป็นส่วนเกินขึ้นบ้างไปช่วยคนอื่น เรายอมลดลง เมื่อสังคมไหนมีหลักอย่างนี้ก็เป็นสังคมที่บริสุทธิ์ หรือเป็นสังคมพระอริยเจ้ามากกว่าที่เป็นสังคมมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่พร้อมที่จะดูดซึมดูดซับส่วนเกินของผู้อื่นมาจนหมด ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็ไม่เป็นไร และกฎหมายมันเอาแน่นอนไม่ได้ เพราะคนมันตั้งขึ้น บัญญัติขึ้น และยังขึ้นอยู่กับหลักฐานพยาน มันก็เอาหลักฐานพยานมาตบตากันได้ ก็กลายเป็นคนไม่มีความผิดไป ความยุติธรรมตามกฎหมายมันตีไปตามตัวบทกฎหมาย แต่ถ้าเป็นความยุติธรรมตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือตามทางของพระธรรมแล้ว มันอยู่ที่ว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าเราทำลงไปอย่างที่ไม่สมกับการที่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องผิด มันผิดยิ่งกว่าผิดกฎหมาย มันผิดเลวร้ายเลยนะ เพราะว่ามันไม่ทำให้สมกับที่ว่าเราเป็นเพื่อเกิดแก่เจ็บตาย การกระทำนี้ไม่ผิดกฎหมายก็ได้ ไม่มีใครคิดว่าผิดกฎหมาย อาจจะสรรเสริญ แต่มันเป็นการผิดต่อการที่มีหลักของธรรมชาติว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายแก่กันและกัน หรือสอนให้เจริญเมตตาภาวนาทุกวันทั้งเช้าทั้งเย็นตื่นนอนก่อนนอนว่า สัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวงจงเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงมีความอยู่เป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ก็จะหัวเราเสียอีก คนสมัยนี้ได้ยินอย่างนี้จะหัวเราะเสียอีก นี้เป็นรากฐานของสังคมที่ดีที่สุด เป็นสังคมของพระอริยเจ้า
ผมไม่ได้หมายความว่า การพูดนี้หรือคำอธิบายนี้จะตรงในความต้องการของคนในโลกนี้หรือรวมทั้งคุณ รวมทั้งพวกคุณที่มาขอร้องให้ผมพูด มันอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของคุณก็ได้ แต่ผมก็ต้องพูดไปตามหลักของธรรมชาติ ความจริงของธรรมะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพุทธศาสนา อย่าลืมคำว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ทีนี้มันก็ทะเลาะกันแม้ในระหว่างศาสนา และในศาสนาเดียวกัน มันยังทะเลาะกันในระหว่างนิกาย ในนิกายเดียวกัน มันก็ยังทะเลาะระหว่างบุคคล ระหว่างกุฏิหรือคณะ อย่างนี้ก็เรียกว่ามันก็ไม่ไหวแล้ว มันไม่มีเรื่องเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น กิเลสมันเข้ามาแทนที่ เป็นสังคมของยักษ์มารภูตผีปีศาจทั้งหลาย แม้ว่าจะอยู่ในรูปของบรรพชิต ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เบียดเบียนกันเอาเปรียบกัน แทนที่เราจะอยู่ในโลกนี้ มันก็ต้องมีปัญหาตรงที่ว่าเราจะเอาประโยชน์ส่วนตัว เห็นแก่ตัว หรือว่าเราจะทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
เดี๋ยวนี้เขาก็ถือลัทธิได้ เอาได้ทั้ง ได้ทรัพย์ ได้ลาภ ได้ทรัพย์ ได้อำนาจ ได้เกียรติยศชื่อเสียงให้มากเขาไว้ เอาไปใช้หาประโยชน์อย่างอื่นให้มันมากยิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็เป็นเรื่องสอนให้แข่งขันกันทำอย่างนั้น ศึกษาทางจิตวิทยาเพื่อให้มันสำเร็จผลตามนั้น แล้วก็ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาก็จะใช้อำนาจ กำลังอาวุธ ไปยื้อแย้งเอามา เป็นอยู่อย่างนี้ ก็เลยเป็นอันว่าคนนั้นพวกนั้นมัน ต้องการจะอยู่เพื่อจะเอา จะเอา จะได้ จะเอาประโยชน์ ตามความต้องการของความเห็นแก่ตัว ทีนี้คนอีกพวกหนึ่งมันตรงกันข้าม ซึ่งจะหายาก จนจะต้องพูดว่า หาทำยาหยอดตาก็ยาก คือคนที่มันจะไม่เห็นแก่ตัว ที่มันจะพร้อมที่จะทำประโยชน์แก่สังคมโดยแท้จริง พูดว่าหาทำยาหยอดตาก็ยาก คือมันน้อยมาก มันยังไม่รู้จะหาที่ไหนได้เดี๋ยวนี้ การที่เขาจะยกตัวอย่างขึ้นมาให้เราเห็นว่านักการเมืองในโลกนี้บางคน ในประวัติศาสตร์ก็ได้ ไม่รู้ตอบไม่ได้ ไม่เอาอะไรเป็นของตัวเลย เงินเดือนก็ไม่เอา ลูกเมียก็ไม่มี ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประพฤติอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ถึงที่สุดเพราะมันอยากจะได้เกียรติ ต้องการเกียรติ มันกำลังเมาเกียรติเกินไป เห็นแก่เกียรติยิ่งกว่าเห็นแก่เงิน หรือว่าจะเรื่องมีลูกมีเมียก็ไม่สำคัญ ไม่มีความหมาย อย่างนี้ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องแท้ในเรื่องสังคม และประพฤติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในฐานะไม่มีตัวเรา เรื่องที่เขาจะต้องการเกียรติหรือไม่ นี้พูดยาก เราไม่พูดดีกว่า เราไม่กล้าพูด แต่เท่าที่เรามองเห็น ก็มักจะเห็นว่า ทั้งยังหลงอยู่ในเกียรติ ทั้งยังไม่ใช่บุคคลสูงสุด ในฐานะเป็นผู้ประพฤติประโยชน์แก่สังคม โดยคิดว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยจริง ๆ ถ้าคุณเป็นนักสังคม ศึกษาวิชาสังคม คุณก็ไปเปิดดูในตำราสังคมประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับสังคม มันเคยมีใครบ้างที่บริสุทธิ์ผุดผ่องทำประโยชน์แก่ผู้อื่นหมดทั้งเนื้อทั้งตัวและก็ไม่ต้องการแม้แต่เกียรติ เท่าที่ผมมองเห็นก็มีแต่พวกพระศาสดาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเท่านั้น นอกนั้นไม่เคยเห็น ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านไม่ต้องการเงิน ไม่ต้องการกิน กาม เกียรติ ทำงานทำหน้าที่พระพุทธเจ้าด้วยความเมตตากรุณา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีแต่ให้อย่างเดียวไม่มีรับ ถ้ามีอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือว่านักสังคมนิยม หรืออะไรแล้วแต่จะเรียกให้สูงสุดในทางเป็นนักสังคม พระศาสดาในศาสนาอื่นก็อาจจะมี เรายังไม่รู้จักหรือเรายังไม่แน่ใจที่จะพูด เราก็ยังไม่พูด แต่พระพุทธเจ้านี้ เท่าที่ผมนับถือท่าน ด้วยการศึกษาเล่าเรียนมาเรื่อย ๆ ยิ่งนับถือ มันมองเห็นอย่างนี้ ถ้าว่าจะเป็นนักสังคมนิยม ขอให้มองดูพระพุทธเจ้าว่าท่านทำอย่างไร ที่ก็เราทำไม่ได้ก็เลยต้องสึกออกไป มีเมีย มีลูก เลี้ยงครอบครัว มีเกียรติยศชื่อเสียง เราทำไม่ได้ ปัญหามันก็เลยลดลงมาว่าเราจะควรทำได้สักเท่าไรหรืออย่างไร สอง เป็นอันว่ามุ่งหมายในการที่จะให้สังคมเยือกเย็นเป็นสุข อยู่ด้วยกันอย่างเยือกเย็นเป็นสุข อยู่อย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ถ้ามีเพื่อนบ้านก็ยิ่งยาก เพื่อนบ้านเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีเพื่อนร่วมประเทศ ร่วมโลก อยู่อย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราก็ตั้งจิตอธิษฐานไม่ลืมได้แม้กระทั่งเตือนได้ในข้อที่ว่าสิ่งมีชิวิตทั้งหลายนั้นเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกัน ยึดหลักอันนี้ให้มั่น และผมเชื่อเหลือเกินว่า หลักในพระคัมภีร์ก็กล่าวไว้อย่างนั้น และผมก็มองเห็นมาตลอดเวลา เชื่อเหลือเกินว่า เราเกิด มีชีวิตอยู่ เพื่อประกอบด้วยกายกรรมเมตตา วจีกรรมเมตตา มโนกรรมเมตตา เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ ทำประโยชน์ได้มากเพราะมีคนรักรอบด้าน แม้แต่คนอันธพาลมันก็ยังนับถือ ทั้งที่ว่าเขาไม่ชอบ เขาไม่ได้ต้องการจะทำ เขาไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรา เรื่องคนที่มีชีวิตอยู่ด้วยความเมตตาทางกาย ทางวาจา ทางจิตอยู่เหมือนจะ..(วินาทีที่ 00:56:42) โดยที่เขามีหลักอย่างที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเอาก็เอาสิ หรือจะไม่เอา นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ที่เกี่ยวกับเรื่องทางสังคม ปัญหาทางสังคม ถ้าไม่เอาถึงขนาดนี้ กลัวจะดีเท่าพระพุทธเจ้าเสีย ก็ลดลง ลดลงไปตามควร ควรแก่อัตภาพ แต่อย่าให้มันผิดหลักที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ถ้ารักแฟนก็ขอให้รักอย่างเป็นสัตว์ เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน อย่าให้มีอำนาจกิเลส ตัณหา ดันริษยา (วินาทีที่ 00:57:42) เรื่องกามารมณ์ ถ้าจะรักแฟนเขาก็พูดกันอย่างนั้น คือว่าคู่เพศตรงกันข้าม รักอย่างเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย มันก็ทำถูกพอดี จะมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้ามีลูกออกมาแล้วจะรักลูกอีก ก็อย่าให้มันมากไปหลงมากไปกว่าเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย หรือว่าจะสนองหน้าที่สืบต่อความรู้สึกเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันต่อไปข้างหน้าในอนาคต คงจะเป็นบุคคล ผู้ที่จะทำอย่างนี้ต้องเป็นบุคคลที่มีจิตใจสูงเหนือความทุกข์ และคิดจะเหนือการเอาเปรียบผู้อื่น เหนือการเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจะเป็นไปในรูปแบบของสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมแบบของพระอริยเจ้า หรือคุณจะค้านหรือจะแย้ง ผมเอามาจากไหนพูด สังคมของพระอริยเจ้ามีอยู่ที่ไหน เอามาดูสิ ผมคงไม่อาจเอามาให้คุณดูได้ สังคมพระอริยเจ้าอยู่ที่ไหน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีได้โดยหลักเกณฑ์อย่างนี้ หลับตาเห็นสังคมพระอริยเจ้าในสมัยพุทธกาล มีพระอริยเจ้ามาก ๆ ทั้งบรรพชิต ทั้งฆราวาส มีพระอริยเจ้ามาก ๆ ท่านก็ต้องอยู่กันอย่างนี้ แล้วก็ไปสรุปความสั้น ๆ อยู่ในประโยคที่ว่า ไม่มีใครกอบโกยส่วนเกิน ไม่มีใครกอบโกยส่วนเกิน พยายามแสวงหาหรือว่าใช้สอย หรือเป็นอยู่เท่าที่พอดี ที่เหลือนั้นก็จะสงเคราะห์ผู้อื่น ไม่ใช่ว่ามีสิบล้านยังไม่พอ ร้อยล้านยังไม่พอ ยังไม่พอ มันก็ใช้เป็นอะไรก็ไม่รู้ มันไม่มีคำที่จะเรียกคนชนิดนั้นให้สมกันได้ ตัวอย่างชีวิตพระอริยเจ้าผมสังเกตจากข้อความในพระคัมภีร์ รู้สึกคล้าย ๆ ว่าท่านจะหล่อเลี้ยงไปวันหนึ่ง ๆ ๆ แต่พอดีโดยส่วนตัว มันก็ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่มีขอบเขตจำกัด อย่างนี้กเสียจะมากกว่า สมมุติว่าวันหนึ่งหาเงินมาได้ ๑๐๐บาทใช้จริงแค่ ๙ บาท ๑๐ บาท เหลือนอกนั้นก็ทำประโยชน์ผู้อื่นเสียมากกว่ามากกว่า
พระอริยเจ้า คือ ความหมายที่คนเดี๋ยวนี้เข้าใจยาก และไม่รู้ว่าอริยะกันถึงไหนอย่างไร อริยเจ้า ถ้าไปเอาคำว่า อารยธรรม หรืออารยะอย่างสมัยใหม่ อย่างพวกฝรั่งเขาพูดกันอยู่ อารยันอะไรทำนองนี้ ขอให้รู้เถิดว่ามันคนละเรื่องกัน มันคนละเรื่องกันเลย ไม่ใช่ ไม่ใช่คำเดียวกันหรือเรื่องเดียวกันกับที่เราพูดในพุทธศาสนาว่า พระอริยเจ้า ตัวหนังสือมันคล้ายกันหรือตัวเดียวกัน อริยะ เพราะว่าเรามาบัญญัติทีหลังเอาคำนี้ไปใช้กันโดยเทียบกันแต่ตัวหนังสือ พวกอารยัน อริยะ อริยกะ เป็นความโง่ที่ตัวหนังสือมันหลอกง่ายไม่รู้ พระอริยะจริงๆตามแบบพุทธศาสนาก็คือว่า ความเห็นแก่ตัวมันไม่มีหรือมันมีน้อยๆๆ น้อยถึงขนาดที่เขาบัญญัติไว้ ถ้าน้อยขนาดนี้จึงจะเรียกว่าพระอริยเจ้าในอันดับแรก น้อยยิ่งขึ้นไปอีกจนเป็นพระอริยเจ้าในอันดับที่สูงขึ้นไปจนสูงสุดถึงกับหมดความเห็นแก่ตัวโดยประการทั้งปวง ใครมีกันอย่างนี้ อยู่กันอย่างนี้จึงเรียกสังคมพระอริยเจ้า ที่เห็นได้ง่ายก็คือ ที่เป็นบรรพชิต เพราะว่าเราเคยได้ยินได้ฟังข้อความที่ว่า พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์อยู่กันเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน นี่เรียกสังคมพระอริยเจ้า ที่เป็นบรรพชิตก็มองเห็นง่ายอย่างนี้ ไม่ได้อาลัยแก่ชีวิตจึงไม่มีอะไรทำผิด เรี่ยวแรงเหลือไว้ช่วยผู้อื่น หรือว่าเป็นพระอริยเจ้าประเภทฆราวาสอยู่บ้านเรือน ซึ่งมีได้ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นไป เป็นพระสกิทาคามี อนาคามี ไม่พูดถึงพระอรหันต์ พระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาสล้วนแต่มีตัวตน มีความเห็นแก่ตัวน้อย ๆ ๆ ๆ จึงไม่มีเรื่องกอบโกยหรือมีเรื่องเอาเปรียบ ไม่มีเรื่องเห็นแก่ตัว พยายามทำให้ดีให้ถูกต้อง ถ้าเหลือกินก็ช่วยผู้อื่นสังคมสงเคราะห์ และก็อาจจะเจียดขนาดที่คนธรรมดาไม่ยอมเจียด ซึ่งผมเคยสนทนาหรือว่าเคยแนะนำเกี่ยวกับเรื่องทางศีลธรรมที่จะสอนกันในโรงเรียน และในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยที่มันเสื่อมศีลธรรมเต็มทีแล้ว เดี๋ยวนี้ จะเอาศีลธรรมจริงเข้ามา ให้มีขึ้นในโรงเรียนโดยการประพฤติปฏิบัติจริง ที่มีหลายหัวข้อจะเป็นเฉพาะหัวข้ออันนี้ที่สำคัญที่สุด ก็คือ เจียดส่วนเกินของตนหรือว่าเจียดส่วนที่ไม่เกินของตนออกไปเป็นส่วนเกิน เอาไปช่วยผู้อื่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่า เด็กคนนี้เขาได้เงินมาวันหนึ่งจากบ้านมาใช้ กินที่โรงเรียนวันละ สามบาท หรือสองบาท เขารู้สึกว่ามันไม่ค่อยพอที่เขาจะกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน เราจะอบรมเขา สอนเขาให้ประพฤติประโยชน์สังคมนิยมประกอบไปด้วยธรรมะ ไม่เอาส่วนเกินแล้วยังพยายามเจียดส่วนเกินให้ไป หรือว่าพยายามเจียดให้มันออกมาให้ได้เป็นส่วนเกิน ถ้าในสองบาทนั้น ๕๐ สตางค์ เอาไปให้เพื่อนที่ยังไม่มี เพื่อนบางคนไม่มี นี่ก็ เราก็กินเหลือเพียง ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ไม่เท่าไรคนนี้ก็จะมีนิสัยที่เรียกว่าสังคมนิยมตามแบบของพระอริยเจ้า พอเขามาจากครอบครัวที่ยากจนอีก ได้มาจากบ้าน ๕๐ สตางค์ เด็กคนนี้ได้มาจากบ้านวันละ ๕๐ สตางค์มากินอาหารกลางวันที่โรงเรียน เขาก็ยังเจียดออกอีก ๕ สตางค์ให้เพื่อนที่ไม่มีเลย เหลือ ๑๐ สตางค์ให้เพื่อนที่ไม่มีเลย ถึงจะเป็นการสร้างความมีศีลธรรมขึ้นมาด้วย หรือสร้างระบบสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมขึ้นมาในจิตใจของมนุษย์ด้วย คุณก็เคยเป็นนักเรียน ผมก็เคยเป็นนักเรียนรุ่นก่อนคุณ คุณก็ลองไปสังเกตดู ตั้งข้อสังเกตดู สอบสวนดูว่ามันมีเด็กคนไหนบ้างที่ทำอย่างนี้ มันก็มีแต่เพื่อนเล่น เพื่อนหัว เพื่อนอะไรกันเป็นส่วนตัวที่จะเจียดให้กันและกันบ้าง บางทียังไม่ใช่เจียด ที่เจียดกันมาโดยเจตนาที่คิดว่าเพื่อผู้อื่นแท้ ๆ มันไม่มี สมัยผมก็เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าคงดีกว่าสมัยนี้ การแบ่งให้ผู้อื่นบ้างยังหาดูได้บ้างในสมัยผมเป็นเด็ก ๆ ในสมัยนี้ดูมันเปลี่ยนมาก ที่ว่าเราเจียดกันโดยบริสุทธิ์ใจมันไม่มีเพราะมันกลัวไม่พอ เดี๋ยวนี้เราพูดได้ว่าเราต้องพอ เราต้องเจียด ถ้าได้มาวันละ ๑๐ สตางค์ สำหรับยุคนี้ไม่มีความหมายเลยถ้าได้มาจากบ้านวันละ ๑๐ สตางค์ แต่เราจะเจียดออก ๑ สตางค์ให้เพื่อนเด็กที่มันไม่มีเลย ถ้ามีคนอย่างนี้สัก ๙ คน ๑๐ คน ไอ้เด็กคนนั้นมันก็จะได้ ๙ สตางค์ หรือ ๑๐ สตางค์ขึ้นมา นี่เป็นตัวอย่างของการที่จะทำให้มีศีลธรรมให้จริง ๆ ไม่ให้จด มันไม่ใช่เพียงแต่จดไว้ในสมุดว่าให้ทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จดไว้ในสมุด แล้วก็ปิดสมุด แล้วก็เลิกกัน เด็กคนนั้นก็ยังจะเอาเปรียบผู้อื่น ยังจะเกเร ดูดทรัพย์ของผู้อื่นเสียอีก อย่างนี้มันไม่มีประโยชน์ ความเห็นแก่ตัวมันมาก และทุก ๆ ข้อทำผิดหมด ยังเห็นแก่ตัวกันมาก ก็เลยยก ได้ตีได้ฆ่ากันในมหาวิทยาลัย ในระหว่างนิสิตด้วยกัน ไม่มีความหมายว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
ทีนี้ ทีหนึ่ง คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า เศรษฐี ในพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาลก็มีเศรษฐีหลายคนที่เป็นสาวกทั้งแนวหน้าของพระพุทธเจ้า เช่น อนาถบิณฑกเศรษฐี อย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่ามันเหมือนกับเศรษฐีอย่างสมัยนี้ เศรษฐีอย่างสมัยนี้ก็มีร้อยล้านพันล้านก็เป็นเศรษฐี ทางพุทธกาลมีคนที่มีเงินมากอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าเศรษฐีแต่ไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกัน มันผิดกันอย่างตรงกันข้าม เศรษฐีมีร้อยล้านเดี๋ยวนี้มันเป็นพวกนายทุน ใช้เงินร้อยล้านนี้กวาดประโยชน์อย่างอื่นเอามาให้เพิ่มเติมให้ตัวเองให้ได้เป็นพันล้านหมื่นล้านทุกๆ บาทที่มันมีจะเอาไปลงทุน กวาดเอามาใหม่ให้ได้มากกว่า ถ้าเป็นเศรษฐีครั้งกระโน้น อย่างเศรษฐีในพุทธศาสนานี้เขาช่วยผู้อื่น สังคมสงเคราะห์เพราะการเป็นเศรษฐีวัดกันด้วยการช่วยผู้อื่นมากเท่าไรก็เป็นมหาเศรษฐีมากเท่านั้น แต่ในสมัยนี้การเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีวัดกันโดยมีหลักทรัพย์มาก มีอิทธิพลมาก ทางการเงิน มันคนละแบบอย่างนี้ ตรงกันข้าม อย่างครั้งกระโน้น เศรษฐีคือผู้ที่เป็นที่พึ่งของคนยากจน มีบ่าวไพร่กรรมกรหรือแม้แต่ที่เรียกว่าเป็นทาส มาเป็นทาสอยู่กับเศรษฐี แต่ความหมายค่อนข้างใหญ่เพราะว่าเศรษฐีมันเลี้ยงอย่างลูกหลาน มันเลี้ยงอย่างเหมือนกับเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเลี้ยงลูกจ้างหรือกรรมกรอย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย มีการสะท้อนให้เห็นว่าระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง มีการ Strike กันอย่างที่กรุงเทพฯ ถ้ามันเลี้ยงกันอย่างเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายอย่างสมัยนี้ มันก็ไม่มี แล้วก็ไม่อยากจะไปจากนาย ทาสนั้นไม่อยากจะไปจากนาย ก็เลยเป็นกลุ่มหนึ่งซึ่งกุมมือกันผลิตขึ้นมามาก ๆ ผลิตข้าว ผลิตอะไรต่าง ๆ ขึ้นมามาก ๆ ที่เหลือกินก็ต้องช่วยผู้อื่นทำสังคมสงเคราะห์ที่เขาเรียกว่าโรงทาน ถ้าเป็นถึงมหาเศรษฐีก็มีโรงทานมากหลายโรง เศรษฐีธรรมดาก็มีสักโรงสองโรง อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นเศรษฐีอุบาสก นี่ก็ไม่รวยมากที่สุดแต่ว่าเป็นที่พึ่งของคนจนและเป็นที่พึ่งของภิกษุในพระพุทธศาสนาซึ่งมีเรื่องเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้นว่า ในจำนวนพระที่มีอยู่มาก ๆ ในเมืองนั้น ถ้าองค์ไหนไปบิณฑบาตไม่ได้วันนั้น ก็ตรงไปบ้านเศรษฐี ก็ต้องได้มาพอเยียวยาอัตภาพ พูดอย่างสมัยนี้ก็พอยาไส้ เศรษฐีจะมีไว้สำหรับภิกษุสี่ห้าร้อยองค์ต่อวันเสมอ ความหมายเศรษฐีว่าอย่างนี้ เป็นนักสังคมนิยมสูงโดยอาศัยหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไอ้การค้า ค้าขายก็มี การสะสมทรัพย์มีเพื่อผู้อื่นจะเรียกว่าเอาเกียรติเป็นเศรษฐีมีโรงให้ทานหลายโรงก็มีเกียรติ แต่ดูสังเกตดูแล้วก็ไม่ค่อยจะเป็นอย่างนั้นโดยตรง มันเป็นวัฒนธรรมหรืออะไรอันหนึ่งในหมู่มนุษย์ที่มันยังมีความเห็นแก่ตัวน้อย มีจิตใจที่ประกอบไปด้วยธรรมะมาก ตั้งอยู่ในธรรมะ นี่ก็ลองเอาไปคิดกันดูบ้างในแง่นี้ว่าการทำประโยชน์แก่สังคม ให้เป็นผู้ชนะสังคม อยู่เหนือความเคารพยกย่องนับถือของสังคมจะทำกันอย่างไร
นี่ผมพูดไปก็มันยิ่งไกลไปไกลไปจากที่คุณกำลังต้องการก็ได้เพราะว่าเรื่องอย่างนี้ในโลกนี้ มันมุ่งกันแต่จะใช้จิตวิทยาล้วงกระเป๋าคนอื่น แม้ในเรื่องของสังคมที่เรียกว่า ประพฤติประโยชน์แก่สังคมมันยังแฝงไว้ด้วยความรู้สึกอันนี้ และในโลกปัจจุบันนี้หรือว่าในโลกอนาคตต่อไปข้างหน้า โดยเนื้อแท้แล้วต้องการหลักเกณฑ์ที่เป็นสังคมนิยมยิ่งขึ้นคล้าย ๆ กับหลักที่ว่า เพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เหมือนอย่างว่าการต่อสู้ การสไตรค์ หรือการต่อสู้ หรืออย่างที่นิสิตนักศึกษาเขาต่อสู้กันเมื่อวันวาน สองวันนี้ ต้องเพ่งเล็งถึงประโยชน์ของสังคมโดยแท้จริง เขาต้องต่อสู้กันในฐานะที่ว่าไม่ได้ความเป็นธรรมแก่หมู่หนึ่ง ก็ต้องต่อสู้แต่มันจะยังไม่ถึงขนาดว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เพราะถ้ามันเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกัน มันอาจจะไม่มีการต่อสู้เลยก็ได้ แต่เอาหละเดี๋ยวนี้เป็นอันว่าฝ่ายหนึ่งมันทำผิดแล้ว ทำผิดต่ออุดมคติ ที่ว่าเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันคือเขาเอาเปรียบเราแล้ว ทีนี้เราจะต่อสู้ เราก็ควรจะต่อสู้ด้วยน้ำใจที่ว่า ต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์ที่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่าต่อสู้เพื่อตัวกูของกูคนเดียว ความหมายสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมะนี่แหละเป็นหลักที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรในการอยู่ในสังคม การประพฤติประโยชน์แก่สังคมหรือเพื่อเจริญในสังคม มันก็ตั้งรากฐานอยู่บนอันนี้ จะเป็นเรื่องประโยชน์สูงสุดก็ตาม ประโยชน์ในขณะกลาง ๆ ก็ตาม แม้ประโยชน์เล็กน้อยส่วนบุคคลก็ตาม อย่าลืมเสียว่าเราจะต้องนึกถึงผู้อื่นในฐานะที่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย นี้จะไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการเบียดเบียนรังแก ข่มเหงหรือหวังร้าย หรือว่าใจจืดใจดำ ไม่ต้องมี มีแต่เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แม้ในแง่ของจิตวิทยา จะทำให้ผู้นั้นชนะน้ำใจคนทั้งหลายทั้งปวงได้ แม้ในแง่ของจิตวิทยา
นี่ผมพูดเป็นไปอย่างนี้ ในที่สุดนี้ก็จะบอกตรง ๆ ว่าผมมันพูดอย่างอื่นไม่เป็น ในฐานะที่มันคุ้นเคยกันอยู่ตั้งแต่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา เพราะหายใจเป็นเรื่องอย่างนี้ พูดก็พูดเรื่องอย่างนี้ อาจจะไม่ตรงกับเป้าหมายของผู้ถามก็ได้ แต่ยังยืนยันว่ามันเป็นหลักทั่วไปที่ไม่มีทางจะผิดพลาดได้ เป็นที่รวมของปัญหาทั้งหลาย นี้ก็ขอให้ยึดหลักว่าเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกันเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐานอันหนึ่ง ตัวการอันหนึ่งประพฤติเกี่ยวกับสังคม และก็จะแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายทั้งปวงได้ เอาหละเป็นอันว่าสมควรแก่เวลาสำหรับผมที่จะพูดแล้ว ทีนี้ให้เป็นเวลาสำหรับคุณที่จะถาม ถ้าสงสัยแง่ไหนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ถามได้ ใช้เวลาตอนนี้คุยกัน ถ้าใครมีความสงสัย สนใจหรือว่าอะไร ก็ถามได้ไม่ต้องเกรงใจ ใครที่เป็นเจ้าของปัญหา ไปแล้วหรือ กลับแล้วหรือ ไม่ได้สนใจจริง ๆ
ถาม กระผมจะขอให้ใต้เท้า กรุณาชี้แจงให้เห็นว่า มีอะไรบ้างที่จะชี้ชวนหรือชักนำให้คนที่อยู่ในสังคมด้วยกัน มีโอกาสที่จะหันมาสนใจเกี่ยวกับธรรมะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจะก้าวไปสู่ธรรมะในส่วนใหญ่ได้
ตอบ ตัวธรรมะไม่มีเล็กน้อย มันมีมาก แล้วก็เกี่ยวข้องกัน สรุปความแล้วมันจะไปอยู่ที่คำเพียงคำเดียว คือความไม่บกพร่องในทางศีลธรรม นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งซึ่งเราจะต้องเหลือบตาดูไปที่จุดสำคัญของมัน คือความเสื่อมทางศีลธรรม ถ้าแก้ไขในความเสื่อมทางศีลธรรมได้ มันจะแก้ปัญหาเหล่านี้หมดไปเลย ความเห็นแก่ตัวนี้เป็นต้นเหตุอันใหญ่ที่ให้เกิดความเสื่อมทางศีลธรรม ทีนี้เราพูดกันเฉพาะแง่ทางสังคมว่าขาดศีลธรรม ในแง่ของสังคม แต่ถึงอย่างไรก็ดี ปัญหาทุกปัญหาทางศีลธรรมอาจจะมารวมอยู่ที่การเห็นแก่ตัว มารวมกันอยู่ที่ความเห็นแก่ตัวได้ ทุก ๆ อัน ดึงมาที่นี่ได้ แล้วแก้ที่ความไม่เห็นแก่ตัว มีขึ้นมาสำหรับจะให้มันเกิดขึ้นมาในนิสัยให้มากขึ้น ๆ พูดถึงการแก้ไขแล้วมันก็จะเป็นปัญหาหนักมาก เพราะว่าเดี่ยวนี้สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมนี้มันลดลงมาก มันเสื่อมลงไปมาก เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว แม้ในเมืองหลวง แม้ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง ในโรงเรียน ในวิทยาลัยในมหาวิทยาลัย ในสังคมของคนชั้นสูงชั้นอะไรก็ตาม มันมีแต่ความเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น เรื่องนี้มันก็ปัญหาเกี่ยวกันอยู่หลายอย่าง เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ลำบากมาก สิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไปมากในโลกนี้ยิ่งขึ้นทุกวัน ๆ เช่นว่า เด็ก ๆ หรือยุวชนของเราไม่สามารถจะเอาชนะความยั่วยวนของสิ่งแวดล้อมได้ อันนั้นก็นำไปสู่ความเสื่อมทางศีลธรรม คนเราถ้ามันเห็นแก่ตัว เห็นแก่กิเลส แล้วมันก็ยอม ๆ ๆ ทำลายศีลธรรม เหยียบย่ำศีลธรรม ทำตามกิเลสมากขึ้น ๆ ในโลกนี้ ถ้าเราจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรแก้ไข ก็ต้องแก้ไขกันในส่วนนี้ อย่าให้เห็นแก่ตัวจนมากไป พ่ายแพ้แก่ความยั่วยวนที่เลวทรามของสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบันนี้ มองง่ายๆ จะเห็นปัญหาเกี่ยวพันกันมาก ซับซ้อนยุ่งยากมาก และสังคมมันก็หมุนไปในทางเลว คือเป็นทาสของสิ่งยั่วยวนเพราะหาว่าดี คนที่เกิดมาทีละคน ๆ ก็พ่ายแพ้ไปตาม บางทีสังคมที่มีอำนาจ ดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะดูดทรัพย์เอาประโยชน์ของคนทั้งหลายไปเป็นของตัว ก็ยิ่งสร้างความยั่วยวนอย่างนั้นมากขึ้น สิ่งที่ประดิษฐ์ที่ว่าก้าวหน้าเจริญในทางวิทยาศาสตร์ล้วนแต่ใช้ประดิษฐ์สิ่งยั่วยวนขึ้นมาให้คนเป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็ใช้กันแต่ในแง่นั้น ยกตัวอย่างเครื่องมือดี ๆ เช่นวิทยุ เครื่องบันทึกเสียง เครื่อง กระทั่งเครื่องคอม เครื่องคอมพิวเตอร์ เอาไปใช้แต่ประโยชน์เพื่อความต้องการ เพื่อความเห็นแก่ตัว เช่นมีวิทยุก็ใช้เพื่อหาความสำราญ เพื่อประโยชน์ทำอย่างหลอก ๆ ความก้าวหน้าทางจิตใจก็หาไม่ได้ ก็ใช้ผิด ๆ ไปในทางเสียมีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นว่า พูดเรื่องสารคดีประโยคหนึ่งสลับด้วยเพลงประโยคหนึ่ง มันดีอย่างไร นอกจากจะทำให้มีนิสัยโลเลเหลวไหลลงไปอีก เด็ก ๆ มันปนกันหมดเรื่องเรียนกับเรื่องเล่นปนกันหมด เรื่องกินกับเรื่องเล่นปนกันหมด เด็ก ๆ ก็เลยมีนิสัยโลเลๆ บังคับตัวเองไม่ได้มากขึ้น ก็ยากที่จะบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องรอยของศีลธรรมในอนาคต แต่พร้อมที่จะไปตามอำนาจของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความโลเลมันจะไปทางง่าย ๆ เอร็ดอร่อย ถ้าไม่ได้มันก็ยอมตายดีกว่าที่จะเปลี่ยนให้เป็นความถูกต้องหรือของดี นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เดี๋ยวนี้เรามีความลำบาก หรือปัญหามันทับถมมากที่จะพาโลกไปสู่ความวินาศมาก จนเหลือที่จะรั้งจะเหนี่ยว เพราะเป็นไปในทางนั้น ผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครองประเทศไม่รู้เรื่องนี้ด้วย แล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทีนี้ถ้าว่าประเทศเล็ก ๆ ถ้าเกิดรู้ขึ้นมา ประเทศทั้งหลายในโลกมันก็ได้เปรียบ มันก็เอาเปรียบ มันก็ทนไม่ไหว มันก็ใช้ไปตามกระแสเดียวกันหมดทั้งโลก ทีนี้กลายเป็นการต่อสู้แย่งชิง ประจบประแจงไปตามเรื่อง ประเทศเล็ก ๆ ก็ต่อสู้ ประเทศเล็กๆก็ประจบประเทศใหญ่ ๆ เพื่อจะไปต่อสู้ประเทศเล็ก ๆ มันก็เลยเป็นร่วมมือกันทำโลกนี้ให้ไม่มีศีลธรรม นี่ปัญหาคล้าย ๆ กับว่าผมพูดนี่ให้ผู้ฟังหมดกำลังใจที่จะทำอะไรเพื่อเป็นการต่อสู้ ผมบอกตามจริงให้สังเกตดู มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ มันเป็นคราวเคราะห์หรืออะไรของมนุษย์ทั้งโลกกำลังหมุนมาสู่จุดนี้ เมื่อไรจะแก้ไขได้หรือกลับตัวได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ไม่ต้องหมดกำลังใจ ไอ้เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ อย่างน้อยที่สุดเราก็ทำให้แก่ตัวเราได้ ในเมื่อคนอื่นเขาไม่เอาด้วย เราทำของเราได้ ไม่ต้องยอมแพ้ ไม่ต้องท้อถอย ฉะนั้นพยายามให้ดี ให้เป็นตัวอย่างอยู่บ้าง แล้วคงจะค่อย ๆ นั่นขึ้นมาเอง
เดี๋ยวนี้มันเป็นปัญหาของทั้งโลกเสียแล้ว เมื่อก่อนเราไม่เคยเกี่ยวข้องกับพวกฝรั่ง ปัญหาของใครของมัน เดี๋ยวนี้มาปนกันยุ่งหมด พวกฝรั่ง พวกจีน พวกแขก ทั้งโลกนี้กระโดดไปกระโดดมาถึงกันหมดทั้งโลก เป็นปัญหาปนกันหมด ยังแก้ยาก ก็เรียกว่าโลกมันกำลังมาถึงจุดนี้ ก็ต้องรอกว่ามันจะเอือมระอาหรืออิ่มตัวด้วยความทุกข์ อยากจะดับทุกข์ขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงตามหลักพุทธศาสนาหรือหลักธรรรมชาติ ไม่มีอะไรเที่ยงตายตัวอยู่ได้ต้องเปลี่ยนเรื่อย ในเมื่อมันมาสู่จุดนี้ได้ ก็เปลี่ยนไปสู่จุดอื่นได้ โดยหวังอยู่ว่าจังหวะอื่นจะเปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นหรือถูกต้องขึ้น อย่างเดี๋ยวนี้ก็มีพวกฝรั่ง พวกวัตถุนิยมเริ่มสนใจเรื่องทางจิตใจมากขึ้นอย่างน่าประหลาด ทำสมาธิ ทำวิปัสสนากันมากขึ้น รู้ได้จากหนังสือที่เขาเขียนกันขึ้นใหม่ ๆ แม้แต่หนังสือข่าว หนังสือพิมพ์ รีดเดอร์ไดเจสท์ฉบับเดือนนี้มีคนเอามาให้ผมอ่าน ก็มีข่าวที่ประหลาด ๆ เกิดแตกตื่นนิยมทำสมาธิกันมากขึ้น มากขึ้นทีเดียว มันลดลงไปถึงเด็ก ๆ อายุสิบกว่าปี คน ๆ หนึ่งเห็นว่าแปลกดีเอามาให้ผมดู ก็เลยพบว่าข้อนี้เองกำลังเปลี่ยน ที่น่าพอใจหรือน่าจะมีความหวัง มันเริ่มด้วยว่าครอบครัวนั้นให้ลูกสาวอายุสิบกว่าปี สิบห้าปีนี่ไปร่วมแคมป์ร่วมค่ายอะไรที่เขาว่ายน้ำกันบ้าง ขี่ม้ากันบ้าง โดยคิดว่าไอ้ลูกสาวกลับมาจะได้เหรียญว่ายน้ำหรือขี่ม้ามาให้พ่อแม่ดูที่บ้าน ทีนี้พอมันกลับมาที่ไหนได้ มันไม่พูดไม่จา มันมานั่งเพ่งสมาธิเพ่งเทียน เพ่งอะไรอยู่ในห้อง คุณแม่แอบดู อ้าว ทำไมเป็นอย่างนี้ มันกลายเป็นอย่างนี้ แสดงว่ามันมีนิยมทำสมาธิกันมากขึ้น จนกระทั่งเด็ก ๆ ก็ไปเกิดสนใจ ผู้เขียนมายืดยาวในทางที่ดีมากเลยว่า เมื่อเรา สรุปความแล้วว่า เมื่อเราปรับปรุงจิตของเราให้ไปในส่วนของสมาธิ เราจะได้พบไอ้สิ่งอื่นที่ธรรมดาพบไม่ได้ ซึ่งจิตใจของคนธรรมดาจะพบไม่ได้ ความสงบสุข ความเยือกเย็น ความผ่องใส ความอะไรราวกับว่าเป็นการถึงพระเจ้า อะไรทำนองนี้ พบได้ต่อเมื่อเรารู้จักทำจิตให้เป็นสมาธิ นี่เป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่พอจะยึดถือได้ เป็นเหตุผลว่ามนุษย์มันต้องเปลี่ยนเรื่องอื่น ๆ เปลี่ยนด้วย ถ้ามันเปลี่ยนมาถึงจุดที่ว่านิยมความก้าวหน้าด้านจิตด้านวิญญาณ ปัญหาที่เรากำลังปรารภนี้คงจะน้อยลง จะแก้ได้ง่ายขึ้น แต่ที่พูดนี้เป็นส่วนน้อย น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับคนทั้งโลก ในบ้านเราในประเทศเราลองชักจูงในหมู่นิสิตนักศึกษาหนุ่ม ๆ มาร่วมกัน เอาเวลาที่ประกอบอาชีพทำการงานการศึกษาต่างๆ พอมีเวลาว่างบ้างก็ทำสมาธิ เพื่อจิตใจเข้าถึงสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งธรรมดาถึงไม่ได้ เห็นไม่ได้ รู้รสไม่ได้ เกิดจิตชนิดที่ประหลาด ที่ว่ามีความสุข หรือประหลาด จะได้รู้จัก นั่นเป็นรากฐานที่ตั้งที่ดีของศีลธรรมที่จะกลับมา เพราะถ้าเราไปพบความสุขชนิดหนึ่งมันเกี่ยวกับจิตใจล้วน ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อ ไม่ต้องมาหาเรื่องกามารมณ์ ไม่ต้องอาศัยสถานที่กามารมณ์ เรากลับได้ความสุขที่เราพอใจเหลือเกิน เพราะว่ามันเฮมาทางนี้ มันก็ดีขึ้น ในหมู่พวกเราที่เป็นเพื่อน เป็นอะไรกัน เป็นนักเรียนเดียวกัน ลองตั้งหน่วยอย่างนี้เพื่อแก้ไขทางศีลธรรม ที่เขาตั้งกันขึ้นนั้นโดย โดยปรากฏการณ์ข้างนอกนั้นว่าทำถูกแล้ว มหาวิทยาลัยทั้งหลายมีหน่วยชุมนุมพุทธศาสตร์ประเพณีอะไรขึ้นมานี้นับว่าถูกแล้ว แต่แล้วด้านที่เป็นจริงมันไม่ได้ทำอะไร เป็นเรื่องเห่อ ๆ เป็นเรื่อง เช่นตลบเอาหน้าเอาตาอะไรกันไป ก็แค่นั้น เลยไม่ถึงตัวเรื่องแท้จริงที่เดียวว่าเข้าถึงตัวธรรมะ ตัวศาสนา หรือแม้แต่ขนบธรรมเนียมที่ดี เพื่อเราจะต้องมีวัฒนธรรมของไทยแท้ที่มีรกรากอยู่บนศาสนา มันก็ยังไม่ถึง เป็นเรื่องผิว ๆ เท่านั้น พอพูดถึงวัฒนธรรมก็มีแต่เรื่องร้องเพลง เต้นรำแบบโบราณ ๆ วัฒนธรรมไทย ผมได้ยินคำนี้แล้ว ได้ข่าวนี้แล้วมันนึก???....(วินาทีที่ 01:37:18) ว่าเขาแสดงวัฒนธรรมไทยที่นั่นที่นี่ เต้นรำบ้าง ร้องเพลงบ้าง มโนราห์ หนังตะลุงภาคใต้ อยู่ในสิ่งดี สิ่งสูงสุดของวัฒนธรรมไทย ซึ่งมันไม่ใช่วัฒนธรรมอะไรมากมาย วัฒนธรรมที่แท้จริง มันมีเรื่องทางศีลธรรม เรื่องที่ว่ามนุษย์เรามีจิตใจสูง มีมรรยาทสูง
พวกคุณสนใจว่าจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ผมก็ตอบว่า มัน???....(วินาทีที่ 01:38:05) ธรรมะที่แท้จริงขึ้นมาใหม่ในรูปของการปฏิบัติ มองเห็นโทษของการที่โลกมันจะฉิบหาย มันลืมความที่ว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นในสังคมนี้ และถ้าจะตามก้นฝรั่งอย่าไปตามก้นฝรั่งที่กำลังโง่อยู่ ไปตามก้นฝรั่งที่มันเริ่มจะลืมตา สนใจในวัฒนธรรมสูงสุดของตะวันออกเข้าแล้ว กลายเป็นว่าเราก็จะเอามรดกเดิมของเรามากกว่าที่จะไปตามก้นฝรั่ง จะไปตามก้นฝรั่งขนาดให้ฝรั่งมาสอนวัฒนธรรมหรือมาสอนการทำสมาธิให้แก่ฝ่ายตะวันออก นี่มันน่าหัว เจ้าของเดิมสูญหายไปหมด เริ่มไปตามคนที่เขาเพิ่งเริ่มมาสอนเรา แต่จะมองกันไว้ในแง่ดีไว้ก็ได้ว่า ถ้าเกิดฝรั่งหันมาสนใจอย่างนี้ หนุ่ม ๆ ไทยเราก็จะเอาอย่างมากขึ้นเช่นเดียวกับเอาอย่างแต่งตัวฮิปปี้ซึ่งไม่ใช่ของเรา เราก็ไปเอาอย่างเขา ทำตัวเป็นฮิปปี้ แต่งเนื้อแต่งตัวอย่างนั้น ชีวิต ??? (วินาทีที่ 01:39:45) อย่างนั้น ถ้าเกิดฝรั่งมันเลิกฮิปปี้ มันมาสนใจเรื่องสมาธิ เรื่องศีลธรรม อะไรก็ตามเข้าอีกก็ดี ที่น่าอาย ดี ถูกแล้ว แต่ว่ายังน่าอาย เพราะเป็นของฝ่ายตะวันออกแท้ ของเราแท้ ๆ ที่เราจะไม่รู้จักของดีของเรา จนกว่าพวกฝรั่งจะมาแนะให้ว่าเป็นของดี
มีอะไรไหม มีใครอยากถามอะไร เหลือเวลาคุยกันไหม
ผู้ถาม ขอถามท่านอาจารย์ มีบุคคล สถาบันใดสถาบันหนึ่ง สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องศีลธรรมได้ดีที่สุด
ท่านตอบ ไหนช่วยพูดให้ชัดอีกที
ผู้ถาม หมายความว่า มีบุคคล สถาบันไหนเป็นพิเศษที่สามารถแก้ปัญหาอันนี้ได้...
ท่านตอบ อย่างนี้ผมก็ไม่ควรจะตอบ คุณก็ต้องรู้ดีไม่ต้องเทศน์ ถ้าผมตอบผมก็ต้องตอบว่า พวกคุณจับกลุ่มกันให้ดี ให้ถูกต้อง จะแก้ปัญหานี้ได้ ถ้าเราจะไปหวังพวกอื่น แล้วมันจะเลื่อนลอยทันที เพราะว่าเราไม่ต้องเอาอย่างเขาก็ได้ เพราะพวกเรามันรู้พอที่จะทำเองได้ ตั้งสมาคมของตัวเอง ตั้งสโมสรของตัวเองที่จะศึกษาเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติให้ได้ผลชัดปรากฏออกมาว่าอย่างนี้มันดีกว่า มีความสุขสบายกว่า เรื่องน้อยกว่า เรื่องไม่ต้องใช้เงิน ทำสมาธินี้เพื่อจะบังคับจิตให้ได้ เพื่อทำงานดี แล้วก็มีความสุขสูงสุดไปพลาง นี่เป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมะมากที่สุด เรื่องสถาบันในประเทศไทยเวลานี้ ผมก็มองเห็นว่า เราพูดไปจะเป็นการดูถูกผู้อื่น เลยไม่พูด มันมองไม่เห็นว่าที่ไหนที่ว่าเราจะไปยึดเป็นแบบฉบับหรือว่าจะไปผสมโรง ก็มีหลักเกณฑ์อย่างว่าไว้ ที่ไหนก็มี เราก็ไปผสมโรง ถ้าเขาไม่มีเราทำกันขึ้นของพวกเรา สองคนสามคนห้าคนสิบคน ให้มากขึ้นๆ เดี๋ยวมันก็มีคนเอาอย่างมากขึ้นเอง สถาบันไหนผมไม่มองเห็น ไม่ชี้ให้ได้ กำลังยุ่ง กำลังปั่นป่วน
ท่านพุทธทาสถามว่าใครมีปัญหาอีก นี่คุณอยู่อีกกี่วัน
ผู้ถาม เสียงไม่ชัด (วินาทีที่ 01:43:49)
ท่านพูดตอบ ห้าคน ก็มีพวกที่จะมา ท่านพอรู้ จำได้ เป็นพวกที่กำลังมา ก็สมทบกันผู้ศึกษาพระธรรม พวกเชียงใหม่ที่จะมา พวกมหิดลมาถึงในวันสองวัน แล้วเขาอยู่กันหลายวันหน่อย สามสี่วันก็จะพูดได้เป็นเรื่องเป็นราว เอ้า ถ้าไม่มีอะไรปิดประชุม นี่มันจะสิบโมง