แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายวันนี้ ก็จะพูดต่อจากที่ทิ้งค้างไว้หลายวันมาแล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่องธรรม แล้วก็แบ่งเป็น ๔ ความหมาย คือ สภาวธรรม สัจธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม และต้องทบทวนความจำไปถึงหัวข้อนี้แล้วเราก็จะได้ฟังต่อไป
อยากจะทบทวนความจำ เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว ไว้บ่อยๆ และให้ทุกคนได้ทราบไว้ว่า คำคำนี้มันประหลาด คือ หมายถึง ทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร ความจริงอันนี้ ชาวบ้านไม่ค่อยรู้ เขาได้ยินว่า “ธรรม” คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่าคำว่า “ธรรม” นี้ หมายถึง “ทุกสิ่ง” แม้จะเป็นคู่ตรงกันข้าม เช่นว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก เรียกว่า ธรรมไปหมด ที่มันยากที่จะเข้าใจ เพราะเรามันเคยได้ยินแต่คำว่า “พระธรรม” หรือว่า “ธรรม” นี้เป็นสิ่งที่ดี ที่ว่ามันได้ ข้อที่มันได้หมายถึง ทุกสิ่งได้ เพราะความหมายของคำคำนี้มันเปิดโอกาสไว้อย่างนั้น และสำคัญมากสำหรับผู้ที่จะศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้งต่อไปข้างหน้า ถ้าจะศึกษาธรรม ให้รู้ไว้ว่า หมายถึง ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ตัวหนังสือคำนี้ แปลว่า “ทรงไว้” ซึ่งควรจะจำไว้เสมอ ไอ้คำว่า “ทรงไว้” นี่มันขยายความได้หลายแขนง เกี่ยวกับตัวมันเอง มันก็ทรงตัวมันเองอยู่ได้ ถ้าเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติ มันก็ทรงผู้ปฏิบัติไว้ได้ ความหมายใหญ่แยกออกเป็นสอง อย่างนี้ก่อน
ทรงตัวมันเองอยู่ได้ คือ มันก็มีอะไรปรากฏอยู่โดยตัวมันเอง ที่เราเรียกว่า “สภาวธรรม” ก็ได้อธิบายแล้วในครั้งที่แล้วมา ไอ้พวกที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่องทรงตัวมันไว้ พวกที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็มีการไม่เปลี่ยนแปลงทรงตัวมันไว้ นี้พวกเปลี่ยนแปลงเรื่อย ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย มันมีปรากฏอยู่เป็นระยะๆ เป็นขณะๆ มีความชรา จะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ หรือจะเป็นสิ่งที่ประกอบกันเข้าแล้ว เป็นต้นไม้ ภูเขา เป็นอะไรกระทั่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน มันล้วนแต่มีสิ่งที่ทรงตัวมันอยู่ เป็นส่วนเป็นส่วน แล้วเปลี่ยนแปลงไป แม้ในการที่มาพบกันประชุมคุมกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นสัตว์สักตัวหนึ่ง เป็นมนุษย์สักคนหนึ่ง ส่วนที่เป็นเนื้อหนังร่างกายต่างต่าง กระทั่งจิตใจด้วย เรียกว่าทรงตัวมันเอง อยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง มีความเหมาะส่วนในการเปลี่ยนแปลง ทรงอยู่เป็นปรากฏการณ์ชั่วขณะ ถ้าเรามองด้วยปัญญาหรือสายตาซึ่งใหม่ เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ก็จะมีความรู้สึกเหมือนว่ามันไหลไปเหมือนกับแม่น้ำ สิ่งต่างๆ ประเภทนี้จึงเรียกว่า “สังขตธรรม” หรือ “สังขาร” เปลี่ยนแปลงเรื่อย และทรงตัวอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลง นี้เรียกว่า “ธรรม” ถ้าตรงกันข้ามเช่น “นิพพาน” เป็นต้น ก็ทรงตัวอยู่ได้ เพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติอีกอันหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม แต่คงเรียกว่า ธรรมเหมือนกัน เพราะว่าทรงตัวอยู่ได้
อย่างนี้เป็นความหมายตามตัวหนังสือ จำไว้ว่า มันเป็นความหมายตามตัวหนังสือ คือ คำว่า “ธรรม” มันก็มีประโยชน์ เพียงแต่รู้ว่ามันแปลว่าอย่างนี้ หมายความว่าอย่างนี้ ก็ไม่ประหลาดใจ ในการที่พวกหนึ่งมันเปลี่ยนแปลง พวกหนึ่งมันไม่เปลี่ยนแปลง ก็เรียกว่า “ธรรม” คือสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้และโดยเสมอกัน รู้ธรรมะในลักษณะนี้ ก็คือรู้ข้อนี้ในชั้นลึกอย่างนี้ ทีนี้เราอยากจะให้คำว่า “ธรรม” นี้มันแยกพวกออกไปให้มันชัด ให้มันเข้าใจง่าย จึงได้แยกเป็น สภาวธรรม สัจธรรม เป็นต้น
สภาวธรรม คือ ตัวธรรมชาติ ตามที่มีอยู่อย่างในความหมายที่ว่ามาแล้วนี้ คือทรงอยู่ โดยการเปลี่ยนแปลง หรือ โดยการไม่เปลี่ยนแปลง นี้เรียกว่า สภาวธรรม ครั้งที่แล้วมาก็ยกตัวอย่าง ธาตุทั้ง ๖ เป็น สภาวธรรม ธาตุทั้ง ๖ นี้ที่ประชุมกันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์มันธาตุทั้ง ๖
ทีนี้ต้องรู้สิ่งที่ ๒ ที่เรียกว่า สัจธรรม ธรรมะในความหมายที่ ๒ สัจธรรม ธรรมในฐานะที่เป็นสัจจะ ที่เขาพูดกันนั้น คำว่า “สัจจะ” ยังสัจจัง ตังอมุสา (นาทีที่ 09:33) “สิ่งใดเป็นสัจจะ สิ่งนั้นไม่มุสา” คือ ไม่เท็จ ไม่โกหก ถึงอย่างนั้นมันก็มีความหมายหลายอย่าง ที่ชาวบ้านเขาพูดกันคำว่า “สัจจะ” หมายแต่ เพียงจริงคำพูด หรือว่าจริงในการปฏิบัติเอาจริง ก็เป็นสัจจะ เช่นพูดจริง ทำจริง คำๆ เดียวกันเอามาใช้อย่างนี้ ที่เรียกว่า “สัจธรรม” ที่กำลังจะพูดนี้ หมายถึง สัจจะอีกความหมายหนึ่ง คือความจริงที่มันเป็นกฎ อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นกฎตายตัวลงไป ว่าสิ่งใดจะต้องเป็นอย่างไร ทว่าสิ่งใดจะต้องเป็นอย่างไร อย่างเช่นว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่ต้องเป็นอย่างไรนั้น เพราะอำนาจของสิ่งที่เรียกว่ากฎ คือ สัจธรรม เช่น สิ่งต่างๆจะต้องเปลี่ยนไปเป็น อำนาจของกฎ เพราะมันมีกฎที่ทำให้เปลี่ยนไป ตัวสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปนั้นก็อย่างหนึ่ง ตัวกฎที่ทำให้สิ่งนั้นเปลี่ยนไปนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง
ที่ คำว่า”เปลี่ยนไป” นี้มันก็มี ๒ ความหมาย มันเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้นก็อย่างหนึ่ง ทีมันเปลี่ยนที่ร้ายกาจที่น่ากลัวก็คือ ว่ามันเปลี่ยนกันระหว่างเหตุกับผล มันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเป็นผล และผลนั้นกลับเป็นเหตุอีก แล้วเกิดผลอีก ผลนั้นกลับเป็นเหตุอีก มันมีกฎที่ทำให้สิ่งหนึ่งปรุงแต่งสิ่งหนึ่งขึ้นมา และสิ่งนั้นก็กลายเป็นเหตุที่ปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไปอีก ด้วยกฎเกณฑ์อันเดียวกันนี่แหละเราเรียกว่า “กฎ” เรียกว่า “สัจธรรม” ควรจะแบ่งออกเป็นสัก ๒ แขนง เช่นว่า สภาวธรรมเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กฎที่ทำให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้มัน มันมุ่งหมายไปทางที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วก็ดูแล้วน่าเกลียด เป็นทุกข์ แล้วเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่มีส่วนไหน ที่ควรเรียกว่า “ตัวตน” นี้ก็กฎอันหนึ่งแหละ แต่ไอ้กฎที่ร้ายกาจอีกอันหนึ่ง นั่นคือ ก็กฎเมื่อสิ่งนี้มีแล้วสิ่งนี้จะต้องมี สิ่งนี้มีแล้วสิ่งนี้จะต้องมี คือ “กฎแห่งเหตุผล” จึงเกิดความทุกข์ หรือ เกิดความดับทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะกฎอันนี้ แล้วมันก็เนื่องกัน ถ้ามีกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง มันจึงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามันไม่มีกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ทำให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันก็เปลี่ยนไม่ได้ เช่น เป็นทุกข์ก็จะเป็นทุกข์ตลอดไป หรือ ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้น มันก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น เพราะมีกฎแห่งการเปลี่ยงแปลงที่ต้องเปลี่ยนแปลงมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่ การเปลี่ยนแปลงมันเปลี่ยนแปลงตามกฎของเหตุและของผล มันจึงมีเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีการปฏิบัติ ก็จะดับทุกข์นั้นได้ นี่เป็นกฎที่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องรู้ ก็เรียกว่า “สัจจะ” ความจริงอันนี้ต้องรู้เรียกว่า “สัจธรรม” มันมีมากไม่ต้องรู้ทั้งหมด รู้แต่ที่จะแก้ปัญหาของเราโดยตรง นั้นเราจึงมี ไอ้สัจจะที่ประเสริฐ ที่จะแก้ปัญหาของเราโดยตรง ที่เรียกว่า “อริยสัจ” เป็นต้น
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ ก็เป็นสักว่า กฎ เป็นเพียงกฎ ที่ต้องรู้วิธีก่อน สรุปความสั้นๆ ที่สุด ก็คือ กฎที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไป ในการเปลี่ยนแปลงนั้นมีกฎ ที่ทำให้อันหนึ่งเป็นเหตุ อันหนึ่งเป็นผลอย่างนี้ กันเรื่อยไป ทีนี้เมื่อมันมีกฎอย่างนี้ มนุษย์รู้เข้าจะต้องปฏิบัติอะไรให้ถูกต้อง แล้วมันก็เกิดการปฏิบัติ “ปฏิปัตติธรรม” ส่วนความหมายที่ ๓ ซึ่งจะพูดกันวันหลังดีกว่า
ก็อยากจะชี้ในวันนี้ก็ตรงที่ว่า ที่เราใช้คำว่า “สัจจะ” สัจจะเหมือนกันนั่น มันไม่ใช่ความหมายเดียวกัน หรือ มันไม่ใช่ความหมายเดียวกันแท้ อย่างเช่น สัจจะสำหรับพูด สัจจะสำหรับกระทำ มีความหมายแต่เพียงทำมันจริงจริง ในเรื่องกฎ มันก็เป็นกฎ เรียกว่า “สัจจะ” ทำให้จริง จริงตามกฎ นี้มันก็เป็นสัจจะขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถ้าเราพูดเท็จ เราจะต้องูมีความทุกข์ หรือเสียหาย เราจึงต้องพูดจริง นั้นเราจึงตั้งใจที่จะพูดจริง ไม่พูดเท็จ ก็เป็นเรื่องจริงตามกฎ
การกระทำเหมือนกัน ถ้าทำไม่จริง มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ก็ต้องทำให้จริง จึงจะทำ สัจจะ กริยา ทำสัจจาธิษฐาน (นาทีที่ 16:00) อะไรต่างๆ คือทำให้มันจริง สัจจะนี้ก็มีความหมายอีกอันหนึ่ง และก็ไม่ได้รวมอยู่ในคำว่า “สัจธรรม” ที่กำลังพูดในความหมายที่ ๒ บ้างทีเขาเอามาพูด นี่มันก็ทำให้สับสนหรือน่ารำคาญเหมือนกัน แต่ก็ต้องเอามาพูดเพื่อให้รู้ไว้ ว่าในภาษาพูดของมนุษย์มันมีความสับสนกำกวมอย่างนี้ เราใช้คำว่า “สัจจะ” สัจจะกันไปในทางที่ว่าจริง พูดจริง ทำจริง ซื่อตรง ความซื่อตรง ก็เรียกว่า “สัจจะ”
แต่คำว่า “สัจธรรม” อันลึกซึ้ง คือ “กฎของธรรมะ” นั้นเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งอยู่เบื้องหลัง เป็นความจริงอันหนึ่งในฐานะเป็นกฎ ที่มีอยู่จริง บังคับ บันดาลให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามกฎนั้น น่ากลัว น่ากลัวตรงที่ว่าใครทำอะไรไม่ได้ ใครไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎนั้น มีค่าเท่ากับสิ่งที่พวกอื่นเขาเรียกว่า “พระเจ้า” ผมสังเกตดู ความหมายของคำว่า “พระเจ้า” ในศาสนาที่เขามีพระเจ้า ก็รู้สึกว่ามันตรงกับสิ่งที่เรากำลังพูดถึง ในที่นี้ที่เรียกว่า “สัจธรรม” ธรรมะในการที่เป็น “สัจจะ” หรือเป็น ”กฎ” ไม่มีอะไรมันก็ทำให้มีขึ้นมา หรือ สร้าง มันก็สร้างขึ้นมา มันสร้างขึ้นมาแล้วมันก็ควบคุมไว้ ไปกฎอันนี้ กฎอันหนึ่ง แขนงหนึ่ง ควบคุมให้มันเป็นไปในลักษณะที่เป็นเหตุ เป็นผล เป็นกรรม เป็นผลของกรรม จนถึงยุคหนึ่งสมัยหนึ่งโดยกฎนี้ ก็ทำให้สิ่งเหล่านี้ หรือว่ากระแสอันนี้สลายลงไป คือดับไป หายไป แล้วก็ตั้งต้นใหม่อีก มีความหมายเหมือนกับ “พระเจ้า”
ในความหมายใหญ่ใหญ่ ความหมายของพระเจ้าที่เป็นความหมายใหญ่ใหญ่ ก็คือ ความหมายว่า “สร้าง” สร้างสิ่งที่ยังไม่มีให้มีขึ้นมา ความหมายที่สอง ควบคุม คอยให้รางวัล คอยลงโทษ คอยควบคุม พูดเป็นอุปมาเราพูดอย่างนี้ “ควบคุม” พระเจ้า ที่ “ควบคุม” ในที่สุดความหมายอีกอันหนึ่ง พระเจ้าที่ ยุบ เลิก ทำให้สลายตัวไป หลักของพระเจ้าในศาสนาไหนก็ตาม มีหน้าที่ ๓ อย่างนี้ เป็นใหญ่ เป็นหลัก ที่นี้ก็มีหน้าที่ย่อยๆ สำหรับพระเจ้า คือ ความหมายที่ย่อยย่อยลงไป อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง เพราะมันเป็นกฎของธรรมชาติ แล้วสิ่งทั้งปวงมันคือ ธรรมชาติ เพราะนั้นกฎของธรรมชาติ มันจึงอยู่ในธรรมชาติทั้งปวง นั้นจึงว่าทุกหนทุกแห่ง ถ้าเปรียบเสมือนกับว่าพระเจ้านี้ คอยดูสิ่งทั้งปวง อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง มันไม่มีใครที่จะหลอกพระเจ้าได้
ยังมีเรื่องบุญเรื่องบาป ต้องตรงตามกฎเสมอ พระเจ้าอยู่ในสิ่งทั้วปวง พระเจ้ารู้ทั้งปวง รู้สิ่งทั้งปวง ก็มันออกมาจากพระเจ้า ทำไมพระเจ้าจะไม่รู้ มันก็เป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้วปวง มันก็ถูกแล้ว ดูอ๊ะ! ไอ้คำว่า “สัจธรรม” นี้น่ากลัวมาก สถานะเป็นพระเจ้าสูงสุดที่พูดว่า เมตตา กรุณา มันก็เป็นแง่หนึ่งเท่านั้น เมตตา กรุณาก็ต่อเมื่อไปทำให้ถูกกฎของพระเจ้า ถึงจะได้รับผลอย่างว่าพระเจ้าเมตตา กรุณา นี้พระเจ้าก็เป็นจอมกรุณาในแง่หนึ่ง และในแง่หนึ่งพระเจ้าก็เป็นจอมโหดร้ายทารุณ คือให้เกิดสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการ ไม่พึงปรารถนาขึ้นมา ที่ทำให้เกิดเรียกว่า พระเจ้าลงโทษ พระเจ้าโกรธ ไม่กรุณา ก็มันเป็นไปตามกฎที่ตายตัวที่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วแต่มนุษย์จะได้ทำอะไรขึ้น หรือถ้าไม่ใช่มนุษย์ ก็แล้วแต่สิ่งเหล่านั้น คือธรรมชาติ เหล่านั้นมันจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอย่างไร สำหรับธรรมชาติ หรือ สำหรับพระเจ้านั้น มันไม่มีความหมาย คือ น้ำจะท่วม หรือคนตายหมด หรือ น้ำจะพอดีสำหรับการเพาะปลูก หรือน้ำจะแห้งไม่มีเลยนี้ มันก็ไม่มีความหมายที่แปลกกันสำหรับไอ้ธรรมชาติ หรือ พระเจ้านี้ มันมาแปลกอยู่ที่มนุษย์ ที่ต้องการอย่างไรแล้วก็ไม่ได้อย่างนั้น มันก็ ถ้าได้ตามที่เราต้องการ เราพระเจ้าโปรด พระเจ้ากรุณา ถ้าไม่ได้อย่างที่เราต้องการ พระเจ้าลงโทษ แต่พระเจ้านั้นไม่รู้เรื่องเลย เรื่องลงโทษ พระเจ้าทำหน้าที่ตามหน้าที่ของพระเจ้า ตามที่มันจะมีอะไรเกิดขึ้นอย่างไร ตามเหตุปัจจัยอย่างไร ตามกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ก็น่าหัว ที่อยากจะเล่าให้ฟังว่า พอเราถามพวกที่ถือพระเจ้า ว่าทำไมพระเจ้า สร้างมนุษย์ขึ้นมาจริงจริง เมตตาจริง ทำไมพระเจ้าทำให้มีโรคระบาด ให้คนตาย หรือให้อดอยาก ให้ หรือสร้างสิ่งเลวเลว ขึ้นมาทำไม นี่เป็นอย่างนี้ มันตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าพระเจ้ามันเป็นกฎอันหนึ่งที่ตายตัวไปตามหลักเกณฑ์ของพระเจ้า
ส่วนมนุษย์นี่มีความรู้สึก ต้องการแต่สิ่งที่ตัวชอบ พอตรงกันข้ามก็หาว่าบาป หรือชั่ว หรือ ว่าโทษ ลงโทษ มันก็ถูกบังคับให้เชื่อว่ายอมรับ เพราะมัน ”เป็นความประสงค์ของพระเจ้า” มันก็ไปได้เหมือนกัน ถ้าเขายอมเชื่ออย่างนั้นจริงจริง เขาก็ไม่เดือดร้อนใคร น้ำจะท่วมตายหมด ไฟจะไหม้ฉิบหายหมด เขาก็ว่า “ความประสงค์ของพระเจ้า”
อย่างสงครามนี่ ทำลายวายวอดอย่างนี้ ไอ้คนที่เชื่อพระเจ้า มันก็ตัดบท ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องกลัว “เป็นความประสงค์ของพระเจ้า” แม้แต่จะต้องตาย “ความประสงค์ของพระเจ้า” แม้แต่เราเจ็บไข้ ทนทรมานลำบาก นี่ก็ว่า “ความประสงค์ของพระเจ้า” แล้วเขาก็ไม่กลัว ก็นั่นเขาได้แต่พูดด้วยความเชื่อ เขาไม่รู้ว่าพระเจ้านั้นคืออะไร แต่ว่าลงเชื่อเสียได้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ มันก็หมดปัญหาเหมือนกัน แต่เราควรจะรู้ เรามองดูแล้วเราก็รู้ ว่านี่พระเจ้ามันคืออย่างนี้ เพราะมันจริงเหมือนกัน ที่จะอยู่หรือจะตาย หรือจะวินาศ หรือว่าจะเจริญมันก็อย่างเดียวกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างเดียว ยกให้เป็นเรื่องของพระเจ้ามันก็ได้ มันก็ไม่ผิด แต่คนที่ไม่มองเห็นอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกไปทางเหมือนกับว่า มันมีบุคคล มีชีวิต เรายอมแพ้ เรายอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้า แล้วแต่พระเจ้าจะโปรด ถ้าพระเจ้าจะให้เราเจ็บเราตาย เราก็ยินดี มันเป็นทางออกของคนที่เชื่อ คือ ไม่เข้าถึง “สัจธรรม” ไม่เข้าถึงกฎแห่งสัจธรรม มันก็เลยไปไว้ที่คน พระเจ้าอย่างคน แล้วแต่ท่านจะโปรด หรือ แล้วแต่ท่านจะลงโทษ เราก็ไม่ควรไปดูหมิ่นดูถูกเขา มันเป็นทางหนึ่งที่เขาจะช่วยให้จิตใจเขาพ้นจากความทุกข์ ไม่กลัวตาย ไม่เสียใจ ไม่อะไรได้ทั้งนั้น แต่ถ้าให้ไปไกลกว่านั้น ไปเหนือเมฆกว่านั้น ก็รู้ว่าตัวธรรมชาติอย่างไร กฎธรรมชาติอย่างไร มันต้องเป็นไปอย่างนั้น มันก็ไม่กลัวตาย ไม่มีความทุกข์ แต่ด้วยอาศัยความรู้ อาศัยปัญญา ไม่ใช่ความเชื่ออย่างว่าบุคคล ยอมสวามิภักดิ์ และก็ยอมเชื่อ ถ้าดูให้ดีก็เห็นว่าไอ้ “สัจธรรม” ในความหมายที่เรากำลังพูดอธิบายนี้ มันมีค่าของความหมายเท่ากันกับสิ่งที่ตกลงกันเรียกว่า “พระเจ้า” ที่มันก็อธิบาย ขยายความ มันออกไป ออกไป ออกไป สำหรับให้มันเป็นระบบหนึ่ง ซึ่งแม้แต่คนที่มีปัญญา หรือ ว่าคนทั่วไป ก็อาจจะยึดถือได้ มันจึงเกิดเรื่องอันดับเรื่อง ชั้นที่สอง ชั้นที่สาม ต่อไป เป็นว่า สวรรค์ของพระเจ้า เมื่อพระเจ้าต้องการ ก็ไปอยู่กันในสวรรค์ของพระเจ้า ก็วาดภาพสวรรค์ไว้อย่างน่าดู นี่ก็เป็นเรื่องชั้นสอง ชั้นสาม ตัดปัญหาความทุกข์ที่มีได้
พุทธศาสนาอย่างมหายาน บางนิกายก็มีพระเจ้าอย่างนี้ “สุขาวดี หรือ พระเจ้าอมิตาภะ พระพุทธเจ้าอมิตาภะ” ลักษณะอย่างนี้ ให้คนเชื่อ และก็ไป ทำดีอย่างเดียว หรือแม้แต่ออกชื่อ “อมิตาภะ” กันมาก จำนวนมากมาก ด้วยจิตใจที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อตาย แล้วก็ไปสวรรค์ ไม่ได้เรียนอะไร แต่ความเชื่อ มันเชื่อ และก็ไม่ทำบาป ไม่ทำชั่ว ก็พอแล้วโลกนี้ สำหรับอยู่ในโลกนี้ก็พอแล้ว เพราะคนเชื่ออย่างนี้ไม่ทำบาปเลย ไม่รู้หนังสือ ไม่อะไร เป็นอาซิ้ม โง่โง่อะไรก็ได้ ที่เขาถือนิกายนี้ และก็ไม่ทำบาป ไม่ทำชั่ว ปากนี้บ่นออกชื่อ ”อมิตาภะ” อยู่เสมอเพื่อเตือน อย่าให้ลืม อย่าไปทำชั่ว มาคิดดูมนุษย์ มีหลายแบบ หลายพวก หลายแขนง พวกหนึ่ง ”ถือในพระเจ้า” หรือว่า ”ถือสัจธรรม” ในลักษณะอย่างนี้ก็มี สัจธรรมที่เรากำลังพูดอยู่ ก็เอามาถือไว้ในลักษณะอย่างนี้ก็คุ้มตัวเขาได้ ก็ปฏิบัติและยึดมั่นด้วยความเชื่อ เขาเรียกว่า ปฏิบัติ แต่เอาตัวสัจธรรมมาเป็นพระเจ้า มาเชื่อในพระเจ้า ง่ายๆ เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องถามกันมาก ไม่ยอมทำชั่ว ออกชื่อ “พระอมิตาภะ” ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่อยู่ตลอดกาล ที่มีอะไร ไม่มีที่สิ้นสุด ความหมายเดียวกันกับพระเจ้าในศาสนาอื่น ก็ได้ไปอยู่ในสวรรค์กับพระเจ้า พระพุทธเจ้าอมิตาภะจบกัน หมดกัน ในกรณีอย่างนี้ เขาก็เรียกว่า “อมิตายุ” คือ มีอายุไม่กำหนดได้ ก็คือไม่ตาย เรียกว่า มีอายุไม่กำหนดได้ “อมิตาภะ” มีแสงสว่างไม่กำหนดได้ เป็นความสว่างไสว เป็นความเจริญงอกงามที่กำหนดไม่ได้ เป็นชื่อของ “สัจธรรม” ในฐานะที่เป็นกฎ มีอำนาจเด็ดขาดเหนือสิ่งใดเอามาใช้เรียกเสียใหม่ว่า “พระเจ้า”
ก็เลยอยากจะบอกต่อไปเสียเลยว่า เพราะว่าคนในโลกนี้มันต่างกันนัก คนมีปัญญามีน้อยมาก คนไม่มีปัญญามีมากเหลือเกิน มันก็มีปัญหาว่าจะทำอย่างไร ก็เอาระบบความเชื่อ เชื่อมั่นให้แก่คนที่ไม่มีปัญญา เอาระบบที่มันลึกซึ้งเฉลียวฉลาดนั่นให้แก่คนที่มีปัญญา ก็จะมีปัญญาอย่างหนึ่ง มีความเชื่ออย่างหนึ่ง ก็ยังแถมมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเขายกขึ้นมากล่าวไว้ ในฐานะเป็นของเคียง ระดับเดียวกัน ก็คือ “กำลังจิต” กำลังจิต เรียกว่า “วิริยะ หรือ ความเพียร” มันเผอิญว่าบางคนเขามีความเหมาะสมที่เขาจะบังคับจิตได้ ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เขาต้องการ คนพวกนี้ไม่ต้องเชื่อก็ได้ ไม่ต้องมีปาฏิหาริย์อะไร เพราะว่าเขาสามารถจะบังคับจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนี้เสมอ จะใช้คิดนึกอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ ให้ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เขาบังคับจิตของเขาได้อย่างนี้จนตาย จะว่าปัญญาก็ไม่ใช่ จะว่าความเชื่อก็ไม่เชิง เพียงแต่ว่าเขาบังคับจิตของเขาได้ ให้รู้สึกอย่างนี้ กูไม่ยอมเป็นทุกข์ ก็ไปได้เหมือนกัน มีทางที่มนุษย์จะให้พระเจ้าช่วย หรือว่า ทางที่พระเจ้าจะมาช่วยมนุษย์ ก็มีอยู่เป็น ๓ ประเภท คือ ศรัทธาอย่างหนึ่ง ปัญญาอย่างหนึ่ง วิริยะอย่างหนึ่ง นี่เราอยู่ในพวกไหน เราเอาให้ได้สักทางหนึ่ง อย่าให้มันเหลวไหลหมดเลย ผมดูดูนี้รู้สึกว่ามันยังเคว้งคว้างกันหมด ยังหลุดเป็นส่วนมาก ไม่มีศรัทธา ไม่มีปัญญา ไม่มีวิริยะ หรือความเข้มแข็งของจิต มันก็จะไม่ได้อะไร จากพระเจ้า จากสัจธรรม ที่เป็นกฎของธรรมชาติ ขอให้เอาไปทดสอบกับตัวเองดูว่าเราจะเป็นอย่างไร เราจะต้องใช้อันไหน หรือต้องใช้รวมกันมันก็ได้ทั้งนั้น แต่ว่าเพียงแต่เขาใช้มันอย่างเดียว เขาก็ยังเอาตัวรอดได้
พวกเชื่อพระเจ้า อย่างเดียว ก็ไม่มีความทุกข์จนตายไปได้เหมือนกัน พวกมี “ปัญญา” ก็เอาแต่ปัญญา ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์จนตายเหมือนกัน พวกที่ “เข้มแข็งทางจิต” บังคับจิตตั้งไว้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปจนตายได้เหมือนกัน นี้เรามันจะเป็นคนไม่เอาไหน ไม่เอาจริงสักอย่างหนึ่ง แม้แต่เอาทั้ง ๓ อย่างก็ยังเอาไม่ได้ มันไม่สมสัดสมส่วน สำหรับพุทธศาสนาเรานี้ต้องยกไว้ว่าเป็นพวกปัญญา แม้ในพุทธศาสนาจะมีเอ่ยชื่อถึง ศรัทธา ถึงวิริยะ ถึงสมาธิก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้น อยู่ในอำนาจของปัญญา แล้วแต่ปัญญา เพราะฉะนั้นเราจะต้องจัดพระพุทธศาสนา เอาไว้ในฐานะที่เป็นพวกที่เรียกว่า เอาปัญญา เป็นเบื้องหน้าเป็นเครื่องช่วยให้รอด ถ้าจะขยายให้กว้างออกไป มันก็ได้เหมือนกัน เป็นพวกศรัทธาก็มีเป็นพวกอาศัยกำลังจิตอันเข้มแข็งก็มี เคยเห็นชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ชาวป่า โดยทั่วๆ ไป ที่เป็นชาวบ้าน ก็ไม่รู้อะไร ว่าศรัทธานี้เครื่องช่วยให้ไม่ต้องกลัว ไม่ให้เป็นทุกข์ มันก็เผอิญก็มีโชคดี ก็ได้รับคำแนะนำที่ดี เขาก็มีศรัทธาในสิ่งที่ควรจะเชื่อ มันจะรอดตัวไปถึงที่สุด แม้จะเชื่อธรรมะ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่ออะไรต่างต่าง รอดตัวไปได้ นี้ถ้าโชคไม่ดี ไปได้รับเอาสิ่งที่ครึ่งๆ กลางๆ หรือไม่จริง ไม่แท้เข้ามาเชื่อมาถือ ก็ต้องถือกันไป ทีก่อนถือผีถือสางถือเทวดา ถืออะไรกันไปตามเรื่องตามราวก่อน เพราะมันยังช่วยให้จิตใจ หายกลัว พอจะมีความสุขบ้างเหมือนกัน แต่ว่าไม่ถึงที่สุดได้ อย่างบทสวดที่เราสวดอยู่แทบทุกเช้าทุกเย็น เรื่อง พะหุง เว สะระณัง ยันติ ก็ไปถือเอาอย่างนั้นมันก็เป็นที่พึ่งไม่ถึงที่สุด ถ้ามาถือเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้อริยสัจ นี้มันถึงที่สุด นี้เชื่อให้มันถูก เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อธรรมะ กฎแห่งพระธรรมนี้ถูก เอาตัวรอดได้ คือไม่เสียใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอย่างนี้เอง ไม่เสียใจ เชื่ออย่างนี้เชื่อถูก และก็เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีการศึกษา แม้แต่หนังสือก็ไม่รู้
ส่วนพวกที่อาศัยกำลังจิตอันเข้มแข็ง เดี๋ยวนี้หาได้ยากขึ้นทุกที เพราะสมัยมันเปลี่ยนแปลง คนมาลุ่มหลงทางวัตถุเอร็ดอร่อยทางเนื้อหนังมากขึ้น เรื่องทางจิตเลยล้มเหลวลง สลายลง ไม่มีใครสนใจมากขึ้น เรื่องการทำจิตให้เป็นสมาธิจริงๆ จังๆ อย่างยุคก่อนโน้น บ้างยุคมันทำไม่ได้ มันเป็นยุคที่คนมาเป็นทาสของวัตถุ จิตใจมันอยู่ใต้ความเอร็ดอร่อยทางวัตถุ นี่คุณสังเกตดู ต่อไปวันหน้าเรื่อยๆ ไป ลูกหลานมันก็เกิดมาสำหรับไปลุ่มหลงในวัตถุยิ่งขึ้นทุกที จนกว่าจะหมดยุคนี้มันถึงจะหมุนกลับไปหาเรื่องทางจิต ทางอะไรกันอีก รู้จักฝึกฝนจิต กระทั่งว่ามันอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ กี่มากน้อย เขาจึงกล้าพูดโดยประโยคที่ว่า “จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน” ไม่ต้องอาศัยวัตถุขนาดที่เรียกว่า แม้แต่อาหาร ข้าวปลาอาหารรี่ก็ยังเว้นไปกินลมแทน คนสมัยนี้ก็คงหัวเราะเยาะ ไม่เชื่อ แต่คนสมัยก่อนเขายังมีความเชื่อ เขาจึงยึดหลักอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ กินน้ำ หรือ กินลมแทน ก็อยู่ไปได้มั่ง แต่มันคงมีอย่างอื่นเข้าไปช่วยด้วย มันเป็นส่วนน้อย ค่อยค่อยกินลมแทน ไหนๆ ก็พูดแล้ว ก็พูดเถลไถลหน่อยนึง คุณสังเกตว่า ไอ้ที่เรียกว่า ลม หรืออากาศนี้มันไม่ใช่ไม่มีอะไร มันมีไอ้สิ่งที่เป็นธาตุ ไอ้ที่มองไม่เห็นด้วยตา ถ้าใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาจับ มาช่วย ใช้ภาษาวิทยาศาสตร์ มันก็มีเยอะในอากาศนี้ มีออกซิเจน มีไนโตรเจน มีไฮโดรเจน มีอะไรก็แล้วแต่มันก็มีทั้งนั้นแหละในอากาศ อย่างฝนตกลงมามันก็พาไอ้สิ่งเหล่านี้ลงมา ถ้าว่าแยกออกมาได้ มากินได้ คาร์บอนไดออกไซด์กินอะไรมากินได้ อย่างต้นไม้ ต้นไม้บางชนิด อย่างกล้วยไม้บางชนิดนี้ ให้แขวนไว้ในอากาศนี้ขอให้มีน้ำอย่าขาด แล้วมันก็แยกกันได้จากอากาศ พวกคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ผสมคาร์บอน มันก็เป็นกล้วยไม้ที่งอกงามใหญ่โต ดอกสวย ได้เหมือนกัน มันแย่งอาหารจากอากาศเสียมองไม่เห็น งั้นก็พวกโยคีแบบหนึ่งยุคหนึ่งที่มันเก่งจริงๆ มันก็ดูดเอาสิ่งเหล่านี้ มาต่อเลือดเนื้อหนังได้ นี่ผมเชื่อ คนอื่นไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ว่ามันไม่ใช่สมบูรณ์หรือเต็มที่ อย่างไอ้เราที่กินปลา กินเนื้อ กินขนม นี้มันหยาบ มันเร็วมันก็มีร่างกาย มีอะไรอย่างนี้ได้ แต่ถ้าพวกโยคีที่เขาเขียนไว้ในหนังสือเด็กเรียนสมัยผมเด็กๆ ยังจำ “เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา จำศีล กินวาตา เป็นผาสุกทุกคืนวัน” เป็นเดือนๆ นั่งกินลม แต่คงจะมีเวลาที่ไปกินใบไม้ กินผลไม้ กินอะไรบ้างเหมือนกัน เรียกว่า “ยุคที่มันไม่ง้อวัตถุ ไม่เป็นทาสของวัตถุ” ไปไกลถึงอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราต้องกินข้าว กินขนม กินอะไรต่างๆ แล้วยังไม่ใช่จะกิน ชนิดที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ หรือพออยู่ได้ กินจนเฟ้อ อย่างที่ผมพูดบ่อยๆ ที่ไม่ค่อยมีใครฟัง มนุษย์มันเกินเรื่อยมา กินเรื่อยมาด้วยความเกินเรื่อยมา การนุ่มห่มก็เกิน อะไรก็เกินๆ เกินมา เป็นมนุษย์ที่ลำบาก มนุษย์ทีแรกก็กินแต่ผัก กินหญ้า กินเนื้อดิบๆ มนุษย์ต่อมาก็ต้องหุง ต้องต้ม ต้องปรุง ต้องมีน้ำจิ้ม แล้วก็ปรุงกันเรื่อยมาปรุงกันเรื่อยมา จนมันเหมือนกับคนบ้า ที่ปรุงอาหารเดี๋ยวนี้ ปรุงอาหารคาว ปรุงอาหารของหวาน ปรุงกันเรื่อย มันผิดออกไปทุกทีเหมือนกับบ้าซะแล้ว จนสูญเสียคุณภาพทางอาหารโดยแท้จริงในการปรุงแกงบางอย่าง กระทั่งในการปรุงของหวานที่เขาว่าสูงสุดหรือว่าแพงที่สุด ขนมเค้กชนิดที่แพงที่สุดที่ดำดำ มีเม็ดอะไรอยู่ในนั้นด้วย ดมเข้าแล้วก็ หมาก็ไม่กิน หมาของผมทุกตัวไม่ยอมกิน สั่นหัวทั้งนั้น ไม่ยอมกินไอ้ขนมเค้กที่แพงที่สุด มันกินขนมฝรั่งธรรมดา ขนมเค้กธรรมดาที่ไม่มีอะไร มันยังกิน มันดีจนหมาไม่กิน และผมก็ไม่กิน กินไม่ลงเหมือนกัน ผมก็เหมือนกับหมา กินลงเฉพาะไอ้ที่มันเป็นขนมฝรั่งธรรมดาเค้กธรรมดา ไอ้ที่ดำปื๋อ มีอะไรมากแพงมาก มันกินไม่ลง ไม่ใช่ว่าแกล้งจะไม่กิน รู้สึกว่ามันไกลธรรมชาติ มันไกลจนไม่รู้จะเป็นอะไร นี่มนุษย์เขายึดมั่นถือมั่น ก็ปรุงไปเรื่อยจนเกินยิ่งกว่าเกิน เกินยิ่งกว่าเกินในทางการกินมันเป็นอย่างนี้ และมันก็ไกลกันมากที่จะไปเป็นโยคี “เข้าฌานนานนับเดือน ไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา” เครื่องนุ่มห่มเป็นอยู่บ้านเรือนมันก็มาเป็นเหมือนขนาดอย่างนี้ ถ้าสมมุติว่านี่เป็นบ้านเรือนสำหรับอยู่ มันก็เกิน ยิ่งกว่าเกิน ไม่จำเป็นไม่ต้องทำอย่างนี้ นี้ก็เพื่อการศึกษาทางหนึ่ง เรื่องวัตถุนิยม กับเรื่องจิตนิยม มันเดินคนละทางอย่างนี้ เราก็มาประมวลดูว่า ไอ้กฎของธรรมชาติ หรือ สัจธรรม มันมีอยู่อย่างตายตัวอย่างนั้น ใครทำผิดไกลออกไป ก็เกิดเรื่องมาก มีปัญหามาก มียุ่งยากมาก มีลำบากมาก มีความทุกข์มาก ใครยังอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องอยู่ก็มีปัญหาน้อย มีความทุกข์น้อย แต่ในที่สุด ต้องใช้คำว่า พอดี คุณช่วยจำไว้นะ ไม่ใช่คำเล่นๆ
“พอดี” เป็นหัวใจของพุทธศาสนา และเป็นหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า สัจธรรม หรือความจริง มันพอดี มันไม่เกินทางขาด หรือไม่เกินทางเกิน คือมันไม่มากเกินไป มันไม่น้อยเกินไป อยู่ในสถานะพอดี ไอ้ตัวพอดี คือ ตัวสัจธรรมที่แสดงออกมาเต็มรูปถูกต้องที่สุด ทั้งการปฏิบัติโดยยึดหลักอันนี้ ไอ้กฎของการปฏิบัติมันก็มีหลักอย่างนี้ ไอ้สัจจะที่มันพอดีมันอยู่ได้ ถ้ามันไม่พอดีมันก็เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน ไม่อยู่ที่ในสภาพเดียว กระทั่งเกิดดับ เกิดดับ เมื่อคุณยังมีชีวิตอยู่ต่อไปข้างหน้าอีกนาน คุณรู้จักคำว่า พอดี ไว้เถิด เป็นที่รวบรวมของไอ้สัจธรรมทั้งหมด ถ้าถูกต้องแล้วจะพอดี พอ ไม่พอดีมันก็ต้องตาย ในความหมายใดก็ได้มันต้องตาย เช่น โลกนี้ถ้าไม่มีความพอดีมันไม่อยู่อย่างนี้ มันมีความพอดีก็คืออยู่อย่างนี้ มันจึงอยู่อย่างนี้ และสิ่งที่อยู่ในโลกก็เหมือนกัน ต้องมีความพอดีสำหรับที่มันจะอยู่อย่างนั้นไม่งั้นมันต้องตาย ต้นหญ้า ต้นบอน ต้นไม้ ต้นไร่ นี่ต้องมีความพอดีอยู่ตามกฎเกณฑ์ของมันเพื่อจะเป็นอย่างนั้น ที่มาเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมด เป็นแมลง เป็นนก เป็นหนู เป็นสัตว์ตัวโตมหึมาต้องมีความพอดีมันจึงจะเป็นอย่างนั้นอยู่ได้
ถ้ามาเป็นคน เราต้องมีความพอดี ที่เป็นมาตามลำดับเปลี่ยนแปลงมาช้าช้า มา มาอยู่ในสภาพที่พอดีที่จะเป็นอย่างนี้อยู่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันถูกไปทั้งหมด หรือ มันไม่ขาด ไม่เกินอะไรเลย มันมีส่วนเกินแต่มันน้อยมาก เรียกว่า พอดีที่จะอยู่อย่างนี้ แต่มันไม่พอดีสำหรับจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป เพราะมันยังต้องเปลี่ยนต่อไปอีก นี่เรียกว่า แต่ละอย่างๆ อยู่ได้ด้วยความเหมาะสม ตามกฎของวิทยาศาสตร์ ของBiology ความพอดี ทำให้รอดอยู่ได้ The suffice the survival (นาทีที่ 49.15) ไอ้ที่เหมาะสมที่สุด พอดีที่สุดนั่นมันจะ Survive อยู่ได้ มีชีวิตรอดอยู่ได้ ก็คือ กฎธรรมะอย่างที่ว่านี้ คือ สัจธรรม อย่างที่ว่านี้ ความพอดี ในระหว่างที่มันทรงตัวมันเองอยู่ได้ แต่ละอย่างๆ ทีนี้มันยังมีความพอดีที่มันจะต้องมี เพื่อสังคมทรงตัวอยู่ได้ นี่หมายความว่า มันต้องเกี่ยวเนื่องกัน เกี่ยวข้องกัน เช่น ว่าเราต้องมีผักหญ้าพอดี มีสัตว์ นก หนู มด แมลงพอดี มีมนุษย์พอดีมันจึงจะอยู่ในสภาพที่เป็นโลกอย่างนี้อยู่ได้
อย่างที่ผมเคยบอกชาวบ้าน เขาไม่ยอมเชื่อเขาหัวเราะ ว่าถ้าเราขาดนก ขาดนกทั้งหลายในป่านี้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ ไอ้โลกนี้ก็จะสลายวินาศทันที เดี๋ยวนี้เรามีนกอยู่จำนวนหนึ่งพอดีกันเท่าที่อยู่ในโลกนี้ พอขาดนกก็มีหนอน ก็นกกินหนอนวันหนึ่งเป็นล้านล้านตัว ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันล้าน ไอ้นกที่มันกินหนอน พอไม่มีนก ไอ้หนอนนี้ก็มากขึ้นอย่างท่วมท้น มันก็กินต้นไม้หมด ต้นไม้ออกยอดมาไม่ได้ ดูแต่หนอนไม่กี่ตัวมันกินบัวของเรากอหนึ่งกอหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ พอไม่มีนกก็มีหนอน หนอนกินต้นไม้หมดพอต้นไม้หมด ไอ้โลกนี้ก็เป็นไฟ ไม่มีทางจะชีวิตไหนจะรอดอยู่ได้ นี่เขาเรียกว่า ความพอดีของสิ่งที่สัมพันธ์กัน สังคมกัน หรือสหกรณ์กัน ชีวิตหน่วยหน่วยหนึ่งก็ต้องมีพอดี จึงจะรอดชีวิตอยู่ได้ สำหรับส่วนตัว และเมื่อมาสังคมกันเป็นโลกนี้ ก็ต้องมีความพอดีของสัดส่วนที่จะมีอะไรต่ออะไร มันถึงรอดอยู่ได้ นี่ส่วนใหญ่ทั้งโลกเป็นอย่างนี้ ต้องมีน้ำเท่านั้นมีอะไรเท่านี้ จึงเป็นโลกอย่างนี้อยู่ได้ พูดได้ว่าถ้าขาดนกไปอย่างเดียว โลกนี้ก็เป็นไฟแล้วก็ไม่มีชีวิตอะไรเหลือในที่สุด มองไปเลยไปถึง ไอ้เรื่องสังคมอีกทีหนึ่งก็ได้ สังคมทางการเมืองนี้ก็เหมือนกันมันเป็นส่วนน้อย ของสังคมส่วนน้อยในโลกมันก็ต้องมีความพอดี เดี๋ยวนี้มันไม่พอดีมันขาด มันเกิน เกิดคนมั่งมีเกินไป เกิดคนยากจนเกินไป มีนายทุน มีกรรมกร มันก็ร้อนระอุไปหมด รบกันไม่มีสิ้นสุด ที่เขารบกันอยู่ทุกวันนี้ มีมูลรากมาจากความเกินฝ่ายหนึ่ง ความขาดของฝ่ายหนึ่ง ไม่พอดี
ในที่สุดก็มาดูที่ความเป็นมิตร เดี๋ยวนี้คุณโกรธกันอยู่กับใครบ้าง คุณเกลียดใครบ้าง บวชพระเป็นเณรแล้วยังมีความโกรธเกลียดด่าว่ากันอย่างสัตว์เดรัจฉานวัดอย่างนี้ มันก็ขาดความพอดี ความเมตตา ความเป็นมิตรมีไม่ได้ เพราะขาดความพอดี มันมีอะไรมาก และมีอะไรขาด ถ้าใครไม่มีความเป็นมิตรกับใครได้ก็ขอให้รู้ ไปค้นดูจะพบมันไม่พอดี
ความเป็นมิตรนี้สูงสุดมาก ที่เรียกว่า “พระศรีอาริยเมตไตรย” ในลัทธิทุกลัทธิทุกศาสนาก็มีพระพุทธเจ้า หรือ พูดอย่างเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งทั้งนั้นแหละ อย่างเราเรียกว่า “พระเมตไตรย พระศรีอาริยเมตไตรย” พวกคริสเตียนก็มี “Messiah” ก็คือความหมายอย่างเดียวกับพระเมตไตรย ความหมายก็เหมือนกันด้วยในคำพูด
เมตไตรย คือ “ความเป็นมิตร” เป็นบาลีก็ “เมตไตยยะ” (นาทีที่ 54.10) มีความเป็นมิตร เป็นสันสกฤตก็ “เมไตรยะ” ไมเตรยะ (นาทีที่ 54.12) ก็คือ ไมตรี หรือ เป็นมิตรเหมือนกัน
ทีนี้เดี๋ยวนี้เราไม่มีความเป็นมิตร คนหนึ่งเอามาก คนหนึ่งยากแค้น ก็เกิดเป็นศัตรูกันขึ้น เป็นนายทุน กรรมกร รบราฆ่าฟันกันอยู่เรื่อย จนกว่ามันจะเข็ดหลาบมันวินาศไป เกือบตั้งครึ่งตั้งค่อน มันเข็ดหลาบ มันมาคิดกันใหม่ มาดูกันใหม่ ว่าเราทั้งหลายเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายกัน ด่ากันไม่ได้ เบียดเบียนกันไม่ได้ อะไรกันไม่ได้ มันเกิดความเป็นมิตรขึ้นมา ก็เลยเป็นโลกที่ไม่มีศัตรู ที่เรียกว่าโลกพระศรีอารย์ มันเป็นมิตร เสมอกันหมด อย่างว่าที่เขาเขียนไว้ ไม่มีใครจำใครได้ ถ้าลงไปจากบ้านมันดีเหมือนกันหมดเป็นมิตรเหมือนกันหมด แต่พอกลับมาบ้านแล้วจึงจะรู้ว่า เอ้านี่! บุตร ภรรยา สามีของเรา มันดีไปหมด มันเหมือนกับมิตรไปหมดทุกหัวระแหง
พระเมตไตรยะ ก็คือ ความเป็นมิตร เพราะไม่หลงในวัตถุ และมีจิตใจสูง ทุกคนเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอหน้ากันหมด วัตถุมันก็มีสำหรับความสะดวก แล้วมันก็ไม่เกินไป
ถ้าถามว่ามันแปลกอะไรกันกับศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เราก็ตอบได้ทันทีว่า ในศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้มีแต่ความสูงสุดทางจิตใจ คือ เป็นพระอรหันต์ แต่เรื่องทางวัตถุ ในการเป็นอยู่ในชีวิตนี้ไม่สมบูรณ์ ก็เห็นอยู่แล้วในยุคพระพุทธเจ้าที่สองพันกว่าปีมานี้ วัตถุไม่เจริญ วัตถุไม่สมบูรณ์ เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ งั้นจึงไม่เหมือนกัน ศาสนาพระพุทธเจ้าของเรานี้ สูงสุดในทางจิตใจ ทางวัตถุไม่ถึงขนาด
พอถึงสมัยพระพุทธเจ้าเมตไตรยนี้ ทางจิตก็สูงสุด ทางวัตถุก็สูงสุด แต่ไม่ใช่เฟ้อ ไม่ใช่เกิน เดี๋ยวนี้มันต้องการจะเกินทางวัตถุ และจิต ทางจิตหมดไปเลย งั้นจึงพูดถึงว่า ในศาสนาพระศรีอารย์นี้ มีความสะดวก โดยอุปมาว่า “น้ำในแม่น้ำมันข้างหนึ่งไหลขึ้น ข้างหนึ่งไหลลง” สะดวกเรื่องคมนาคม ไม่มีปัญหา ก็หมายความว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทางนี้มันดีพอสมควรที่คนจะไปรับความสะดวก แต่ไม่เฟ้อเป็นเรื่องกามารมณ์เฟ้อ เดี๋ยวนี้มันระหว่างศาสนามันกลายเป็นเรื่องกามารมณ์เฟ้อ คนในโลกนี้ต้องการอะไรยิ่งกว่าศาสนาพระศรีอารย์ ต้องการไนท์คลับ ต้องการบาร์ อาบ อาบ นวด อย่างลามกอนาจารเฟ้อไปจนถึงที่สุด อย่างนี้มันต้องการมากไปกว่าที่จะมีให้ในศาสนาพระศรีอารย์ เป็นเรื่องลามกอนาจารเป็นเรื่องบาป เรื่องชั่ว ถ้าเราไม่ต้องเอาถึงขนาดนี้ เรามีวัตถุพอความสะดวกสบาย แล้วคนก็ไม่บ้ากามารมณ์จนขนาดเฟ้ออย่างนั้น
สรุปแล้วก็ว่า ในศาสนาพระศรีอารย์นั้น ถูกต้องพอดีหมดทั้งทางจิตใจและทั้งทางวัตถุ ส่วนพระพุทธเจ้าที่แล้วมาก็คือศาสนาของพวกเรานี้มันมีสูงสุดหรือพอดีในทางจิตใจ ทางวัตถุยังไม่พอสำหรับที่จะดีในขนาดนี้ แต่ก็ไม่ได้ขาดจนว่าลำบาก ยุ่งยาก แสดงว่าในสมัยพระพุทธเจ้านี้ไม่มีรถยนต์ขี่ ไม่มีเรือไฟ ไม่มีเครื่องบันทึกเสียง ไม่มีวิทยุกระจาย นี้พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องเดินไปด้วยเท้า จะไปสอนใครไม่มีวิทยุกระจายเสียงจะใช้ หรือไม่มีรถยนต์จะไปไหนมาไหนท่านก็ต้องเดินด้วยเท้า เท้าพอง แต่ความสูงในทางจิตใจมันก็มีจนสูงสุด ถ้าเป็นในศาสนาพระศรีอารย์ ก็แปลว่า ทางวัตถุนี้มันมีพอดี เลยถึงกันโดยเร็ว แต่ไม่ใช่เพื่อกามารมณ์ เกินในเรื่องลามกอนาจาร เดี๋ยวนี้ระวังให้ดีเถอะ โลกมันกำลังเกินในเรื่องวัตถุ เรื่องกามารมณ์ เป็นลามกอนาจาร โดยไม่รู้สึกตัว มันต้องวินาศลงไปเกือบหมดโลก มันจึงจะกลับมาตั้งต้นกันใหม่ อยู่ในศีลในธรรม มีสิ่งเหล่านี้แต่เท่าที่จำเป็นสำหรับที่จะทำโลกนี้ให้มีสันติภาพ เดี๋ยวนี้เรามีเฟ้อ จนเกินกว่าที่จะทำโลกนี้ให้มีสันติภาพ มันจึงมีสำหรับทำโลกนี้ให้วินาศ
ถ้าเข้าใจข้อนี้ก็จะเข้าใจว่าไอ้ “สัจธรรม” ของธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร ถ้ามันเกิดเกินไปแล้ว แล้วมันจะเป็นอย่างไร มันขาดเสียยังจะดีกว่า เช่นว่าในสมัยพระพุทธเจ้า ขาดรถยนต์ ขาดวิทยุกระจายเสียง ขาดอะไรต่างต่าง มันก็ยังดีกว่า ที่ว่าเรามันเกินในทางของกิเลส ตัณหา ลามกอนาจาร เราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อทำลายมนุษย์ทั้งนั้นแหละ อย่างมีวิทยุนี่เพื่อกามารมณ์ทั้งนั้น ที่วิชาความรู้เป็นส่วนน้อยแล้วก็น้อยชนิดที่ว่าจะเอามาใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ มันมีบ้างเท่านั้นเอง มันไม่สมกับที่เรามีเครื่องมือวิเศษแล้วบ้านเมืองไม่มีสันติสุข แล้วมันก็สู้บ้านเมืองมีสันติสุขโดยไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ เมื่อก่อนนี้เราไม่มีวิทยุ ไม่มีอะไร เรายังนอนตรงไหนก็ได้ ไม่มีใครมายิงตาย นี่คุณเกิดไม่ทันเห็น คุณอายุมันน้อย ผมเคยเห็นคนแก่ๆ เขานอนตามร้าน ตามใต้ต้นไม้ ข้างคอกควาย ตรงไหนก็ได้ไม่มีใครมายิงตาย เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แล้ว เพราะความเจริญทางวัตถุ มันทำให้คนมีจิตใจเลวทราม ทำให้รบราฆ่าฟันกันมากเดี๋ยวนี้
รู้เรื่องที่เรียกว่า “สัจธรรม” กันซะบ้าง ทำผิดแล้วมันก็มีผลเกิดขึ้นสมกันแล้ว เรียกว่า สาสมกันแล้ว พระเจ้าลงโทษ พอทำถูกก็มีผลสมกันอีกนั่นแหละพระเจ้าให้รางวัล ให้รู้จักสิ่งเรียกว่า “สัจธรรม” ในความหมายนี้ ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ดูหน้าใคร เรียกว่าสัจจะเป็นสัจจะเด็ดขาด “ยังสัจจัง ตังอมุสา” ไม่หลอกใคร ผมไม่พูดสัจจะ พูดอธิบายเรื่องสัจธรรม เหมือนกับที่บางคราว เพราะมีอยู่แล้วคุณไปอ่านเอาก็ได้ ผมจะต้องพูดในแง่อื่นที่ยังไม่เคยพูด
สรุปความว่า ในที่นี้ก็เพื่อให้รู้จักสิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งมันเป็น ”กฎ” ทว่า ”กฎ” นี้ก็เป็นคำที่เข้าใจยากที่สุด เพราะเรามันโง่ มันรู้จักแต่กฎที่คนตั้ง กฎของโรงเรียน กฎของวัด กฎของประเทศ กฎของศาล กฎนี้อันนี้กฎคนตั้งเรารู้แต่เพียงเท่านี้ เพราะเรามันโง่ มันยังโง่อยู่ เราไม่รู้จักไอ้กฎชนิดที่ไม่รู้ว่าใครตั้ง หรือไม่มีใครตั้ง หรือเข้าไปตั้ง ตั้งมันเอง ไอ้กฎมันตั้งมันเอง คือ “กฎของธรรมชาติ” และในความหมายที่มันลึกอย่างที่กำลังพูด ในความหมายที่ ๒ ของสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ
ถ้ามาเปรียบเทียบกับกฎของโรงเรียนเป็นต้น มันก็น่าหัวตาย กฎของโรงเรียนมนุษย์ตั้ง และเปลี่ยนเสมอ แก้ไขเสมอ เดี๋ยวนี้ยิ่งเลวลง เลวลง ประจบนักเรียน ควบคุมนักเรียนไม่ได้ เป็นนักเรียน เป็นอันธพาลอาละวาดในโรงเรียน กฎนี้ก็ช่วยไม่ได้ เพราะมนุษย์มันตั้งตามกิเลสของมนุษย์ ทีนี้กฎบ้างเมือง กฎของประเทศชาติ ก็เหมือนกัน มันไม่จริง มันไม่เฉียบขาด ได้อย่างกฎที่ธรรมชาติมันตั้งของมันเอง
งั้นรวมความว่ากฎที่มนุษย์ตั้งนี้มันไม่ใช่กฎหรอก มันเป็นอะไรอันหนึ่งแต่ก็ต้องเรียกว่า กฎอยู่ดี อยากให้เรียกว่า ”กฎที่มนุษย์ตั้ง” ไม่ใช่สัจธรรม กฎหมายก็ดี รัฐธรรมนูญก็ดี อะไรก็ดี ผมกล้าพูดว่ามันไม่ใช่สัจธรรมมันเป็นกฎที่มนุษย์ตั้ง น่าจะมนุษย์รวมหัวกันตั้ง ก็มนุษย์มันก็เหมือนเหมือนกัน คนเหล่านั้นถ้ามันยังมีกิเลสรวมหัวกันตั้งไอ้กฎมันก็ใช้อะไรไม่ได้ ถ้าคนมันยังมีกิเลสตั้ง
แต่ว่า ”กฎแท้จริง” คือ “ธรรมชาติตั้ง” มันก็คมเหมือนมีดโกน มันไม่ดูหน้าใคร มันจะเที่ยง จะตายตัวจะอะไรไปต่างๆ ตามลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” งั้นขอร้องให้คุณรู้จัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่า กฎชนิดนี้ให้ดีๆ เราก็มาเรียกว่า กำลังเรียกกันว่า “สัจธรรม” ให้มองเห็นสิ่งนี้เถิดจะเรียกว่าเห็นสัจธรรม หรือถ้าพูดในศาสนาอื่นก็เรียกว่าเห็น “พระเจ้า” มองเห็นพระเจ้า ถ้าใครเห็นสิ่งนี้ คนนั้นมองเห็นพระเจ้า เข้าถึงพระเจ้า คือ กฎในฐานะที่เป็นกฎ การได้เห็นพระเจ้า หรือ ได้เข้าถึงพระเจ้า ก็วิเศษสูงสุดแล้วสำหรับมนุษย์เรา นี่เรียกว่า “สัจธรรม” สิ่งที่เป็นของจริงในฐานะที่เป็น “กฎ” นี่สำหรับพวกที่พูดภาษาอังกฤษ เราก็เลยพูดล้อเล่น คุณมี “God” ไอ้เราก็มี “กฎ” ก็คือสิ่งเดียวแหละ ไอ้กฎนี้ลากเสียงให้มันยาวหน่อยก็เป็น God “God” ที่แปลว่า “พระเจ้า” ไม่ต้องดูหมิ่นกัน ไม่ต้องเป็นศัตรูกัน ขอให้ทุกคนมี “กฎ” หรือ “God” ให้มันถูกต้อง จริงจังจริงจริง แล้วก็จะไปด้วยกันได้ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้กำลังทะเลาะกันในระหว่างศาสนา เพราะว่าไม่รู้สัจธรรม ในฐานะที่เป็น “กฎ” หรือเป็น “God” จึงไม่รู้ว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายกัน แล้วก็มาทะเลาะวิวาทกัน จะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน นั้นความหมายของคำว่า “ศรีอริยเมตไตรย” ยังไกลมาก
“เมตไตรย” ความเป็นมิตร ไม่ยกเว้นสักคนหนึ่ง เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันหมด และ “อริยะ” ความเป็นมิตรที่ประเสริฐสุด “ศรี” ประกอบกันเข้ามันเลิศ ประเสริฐ ในฐานะที่จะคุ้มครองได้ คำว่า ”ศรี” แปลว่า “มิ่งขวัญ” เพราะ”มิ่งขวัญ” แปลว่า “สิ่งที่คุ้มครอง” ดังนั้น ศรีอริยเมตไตรย ผมตีความอย่างนี้ แล้วผมกล้าท้า ใครจะตีความอย่างอื่นก็ตามใจ ไม่ดีกว่าที่จะตีความอย่างนี้
ถ้าเรามารู้จัก ”สัจธรรม” ให้ดีให้ถึงที่สุด เราจะเกิดความกลัวบาป ละอายบาป ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางดี เรียกเป็น การประพฤติธรรม นี้จะเป็นมิตรอย่างว่าเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันทุกคนทุกทั่วหน้า ไม่มีใครเป็นศัตรู พริบตาเดียวแล้วศาสนาพระศรีอารย์จะเกิดขึ้น ทุกคนเป็นมิตรกัน เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กันไม่มีใครค้าน ไม่ต้องทะเลาะวิวาทกัน
มนุษย์เจริญด้วย “สติปัญญาอันธพาล” งั้นมนุษย์รบกัน ด่ากัน กัดกันยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานมันอยู่ในระดับเดิม มันไม่มีปัญญาอันธพาลเจริญเร็วเหมือนมนุษย์ ที่เรียกว่า ปัญญาอันธพาล ก็คือว่า “ปัญญาที่เห็นแก่ตัว” ปัญญาที่ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวกู ของกู เฉลียวฉลาดเพราะมันเรียนมาก ในการทำให้มันสมองฉลาด แต่แล้วมันก็เลยไปเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ตัวกู ของกู มนุษย์สมัยนี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แต่แล้วก็ไปเป็นทาสของกิเลส มันก็เลยทำกิเลสได้ ได้ใหญ่โตมโหฬาร โลกนี้จึงไม่มีความสงบสุข สัตว์เดรัจฉานก็อยู่เท่าเดิม ไม่ขยายในปัญญาส่วนนี้ เพราะงั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องขบกัดกันเหมือนกับมนุษย์ มันจะขบกัดกันต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนมนุษย์นี้จะขบกัดกันยิ่งกว่าจำเป็น ยิ่งกว่าไม่จำเป็น คือ มันเกิน ความคิดมันไปไกลจนถึงกับกอบโกย จะดูดเอาของผู้อื่นมาเป็นของตัว นี่ความเก่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน มันมีมากแต่มันมีไปในเสียลักษณะอย่างนี้ นั้นโลกของสัตว์มนุษย์จึงวุ่นวายเดือนร้อน ยิ่งกว่าโลกของสัตว์เดรัจฉาน กระทั่งมนุษย์นี้มันทำให้โลกสัตว์เดรัจฉานแคบไป จนหมดไป ทีนี้สัตว์เดรัจฉานบางอย่างบางพันธุ์หมดไปแล้ว สูญไปแล้ว จากโลกนี้เพราะมนุษย์อันธพาล ไม่เห็นว่ามันเป็น เพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน แล้วทีนี้มนุษย์ก็จะเล่นงานกันเอง จนขนาดมนุษย์จะสูญพันธุ์ไปด้วย ถ้าเขาไม่หยุดความคิดอันนี้เสีย ไม่หยุดความเห็นแก่ตัวเสีย เขาก็จะฆ่ากัน หรือว่าถ้าเหลืออยู่ก็เป็นบ้าทั้งนั้น คุณเชื่อหรือไม่เชื่อไปคิดดู ถ้ามนุษย์ยังไม่ละนิสัยอันนี้ ยังเป็นอยู่กันอย่างนี้ แม้ว่ามันจะไม่ตายเสียมันจะหรืออยู่บ้าง ก็จะเป็นมนุษย์บ้าบ้าทั้งนั้น คือ เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่อะไร เห็นแก่ตัวอย่างชนิดที่ว่างงไปหมด โลกก็ไม่มีสันติภาพได้
ไม่ใช่ผมว่า ไม่ใช่ใครว่า ไม่ใช่อะไรที่ไหน มันเป็น ”กฎของสัจธรรม” ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้เรามันหลงแก่ตัวกู ของกู เห็นแก่กิเลสของตัวกู ของกู แม้จะฉลาดเท่าไหร่ ก็ยิ่งหลงมากเท่านั้น ก็จะทำลายผู้อื่น หรือว่าอยู่ด้วยอาการที่มันไม่รู้จะกินยังไงกันแล้ว ไม่รู้จะนอนยังไงแล้วที่จะให้เรามีความสุข สนุกสนาน ไม่รู้จะทำยังไงกันแล้ว เลยกลายเป็นเรื่องของภูตผี ปีศาจ หมายความว่าตามใจกิเลส อย่างที่เขามีความเจริญสมัยนี้ เรื่องกามารมณ์ ไอ้ที่เขาเอามาอวดกันนัก แล้วก็ไม่รู้สึกว่านี้คือ แสดงความโง่เขลาเลวทรามของมนุษย์ การเต้นรำบางอย่าง แม้แต่ระบำบัลเล่ต์ ระบำอะไรนี่ คุณไปดู ผมไม่เคยเห็น ผมเคยเห็นแต่รูปถ่าย หรือหนัง มันเรื่องความเลวทรามของมนุษย์ที่โง่หลงไปสิ่งที่ ไปทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ แล้วสิ่งนั้นก็ยั่วให้เป็นบ้ามากขึ้น มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ระบำบัลเล่ต์ ระบำอะไรมันก็เหมือนกัน อย่างอื่นก็เหมือนกันอีก ที่ไม่ใช่เรื่องระบำ เต้นรำ มันก็ยังมีอีกมาก ที่จะทำให้มนุษย์มันบ้า จนไม่รู้จักมนุษย์เอง ในเมื่อโลกกำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ เรียกว่า “พระเจ้ากำลังลงโทษ” ถ้าพูดอย่างพวกเราพูด “สัจธรรมกำลังแสดงอำนาจ” ให้มนุษย์ต้องเป็นอย่างนี้
คนไทยเราก็โง่ไปตามก้นฝรั่งจึงไปนิยมอะไรได้อย่างที่ฝรั่งเขาเอามาให้ เพื่อให้คนไทยหมดความเป็นคนไทย คือไม่มีธรรมะอย่างคนไทยสมัยก่อน ไม่มีตัวธรรมะอยู่ในเลือดในเนื้ออย่างคนไทยสมัยก่อน ก็ไปตามก้นคนที่เขาวิ่งก้าวหน้าพรวดพราดไปในทางวัตถุนิยม
แล้วจะพอกันทีสำหรับคำว่า “สัจธรรม” คือ สิ่ง สิ่งหนึ่ง ซึ่งมันอยู่ลึกซึ้ง หรือว่า สูงสุด หรือว่าทั่วไป หรือว่าอะไรก็แล้วแต่จะกล่าวเถอะ มันก็มีอำนาจเด็ดขาด เต็มเปี่ยมในความหมายของคำว่า “พระเจ้า” หรือสิ่งสูงสุด ยิ่งกว่าสิ่งใด พระเจ้าต้องหมายความอย่างนั้น แล้วก็ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์มันก็ไม่เก่งไปกว่ามนุษย์ นั้นพระเจ้าต้องไม่ใช่มนุษย์ เราพูดอย่างนี้พวกนั้นก็หาว่าเราด่า เอาอีกแล้ว มันก็งงไปงงมาอยู่ในพวกที่เขามีพระเจ้า เมื่อเขาให้พระเจ้ามันเป็นผู้สร้างมนุษย์ เก่งกว่ามนุษย์ แต่ทำไมพระเจ้าเป็นมนุษย์ล่ะ ถ้าเป็นมนุษย์ก็สร้างมนุษย์ไม่ได้ งั้นผู้ที่รู้ความหมายของพระคัมภีร์ดีนั้น เขาจึงจะรู้ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่า พระเจ้านั้นไม่ใช่มนุษย์ แล้วมันไม่เหมือนอะไรหมดก็เป็นพระเจ้านั่นเอง ส่วนเราก็พูดตามแบบของเราว่านั่นคือ ตัวสิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรม” ธรรมะที่เป็นสัจจะ ที่เป็นของจริง เป็นของตายตัว เป็นของไม่อยู่ใต้อำนาจอะไร นี่ความหมายของธรรมะ ความหมายของคำว่า “ธรรมะ” ในความหมายที่ ๒ เรียกว่า “สัจธรรม” เป็นกฎที่สิ่งต่างๆ จะต้องเป็นไปตามกฎ เราต้องรู้จักกฎ แล้วทีนี้เราก็ไปถึง”การปฏิบัติธรรม” เป็นธรรมะในความหมายที่ ๓ เอาไว้ค่อยพูดกันวันหลัง
ก็ขอทบทวนว่า ไอ้คำว่า “ธรรมะ” ในความหมายที่ ๑ ก็คือ “สภาวธรรม” ได้แก่ ธาตุทั้งหลาย ที่มีรูปและไม่มีรูป ที่จะตั้งอยู่ในตัวเองแล้วผสมปรุงแต่งซึ่งกันและกัน เกิดอันใหม่ขึ้นมาไปตามธรรมชาติ คือ ตามกฎเกณฑ์ของสิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรม” ในความหมายที่ ๒ แล้วมันแยกกันไม่ออก โดยพูดได้ง่ายๆ ว่าถ้ามันมีตัวธรรมชาติในที่ใดจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “กฎของธรรมชาติ” อยู่ในตัวธรรมชาติทั้งนั้น คุณอย่าฟังแล้วก็แล้วไป แต่คุณต้องไปดู กลับไปพิจารณาดู อย่าให้เวลามันเสียไปเปล่า ก้อนหินเป็นธรรมชาติ แต่ในก้อนหินนั้นก็มีกฎของธรรมชาติมันไม่มีชีวิต ในต้นไม้ก็เป็นธรรมชาติแล้วมันมีกฎของธรรมชาติอยู่ในต้นไม้นี้ มีชีวิตขึ้นมาบ้าง งั้นสัตว์ก็ตาม มนุษย์ก็ตาม เป็นธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนไปในนั้นมีกฎของธรรมชาติ งั้นเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี้ ปรากฏการณ์อันนี้เป็น “สภาวธรรม” หรือ “ธรรมชาติ” แต่ในนี้มี “กฎของธรรมชาติ” ที่เรียกว่า “สัจธรรม” กำกับควบคุมอยู่ทุกอณู หรือ ทุกปรมาณู ที่มันประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายของเราคนหนึ่ง ในร่างกายของเรานี้ก็ต้องประกอบกันด้วยปรมาณู หลายหลายปรมาณูเป็นหนึ่งอณู เป็นโมเลกุล หลายหลายโมเลกุล เป็นทิชชู อันหนึ่ง เป็นเซลล์อันหนึ่ง เป็นอะไรประกอบขึ้นเป็นเนื้อหนังร่างกายทั้งหมดนี้ทุกทุกปรมาณู มีสิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรม” กำกับอยู่ รู้จักแต่สิ่งที่เรียกว่า “สัจธรรม” อย่างนี้แล้วคงจะได้รับประโยชน์ตามความหมายของพระพุทธศาสนาแน่นอน แล้วพอกันที.