แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย วันนี้เป็นวันบำเพ็ญกุศลวันหนึ่งของสถานที่นี้ คือการตักบาตร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เป็นพิธีทางศาสนา เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่มันเนื่องอยู่ด้วยศาสนา นี้อาตมาก็คิดว่า ควรจะได้พูดกันถึงเรื่องของศาสนา ตามคราวตามโอกาสที่จะเหมาะ มันเป็นเรื่องยืดยาว แต่ว่าเราก็พูดกันได้เป็นคราว ๆ เป็นตอน ๆ ไป
วันนี้ก็เป็นวันเนื่องด้วยการที่จะก้าวขึ้นสู่ปีใหม่ ก็อยากจะขอร้องให้ระลึกถึงเหตุการณ์ ที่อาตมา ที่จะมีมาในวันปีใหม่ แต่แล้วก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกไปจากเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอยู่นั่นเอง ดังนั้นอาตมาจะได้กล่าวโดยหัวข้อสำหรับอันนี้ว่า มนุษย์เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มนุษย์เราเกิดขึ้นมาได้และก็ดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าศาสนา
ในชั้นแรกนี้ ขอให้สังเกตว่า ความยากลำบากอยู่ตรงที่คำสำหรับพูดนั้น มันมีความหมายกำกวม ดิ้นได้ กว้างแคบมากเกินไป จนเราฟังกันทีเดียวไม่รู้เรื่องในครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่าศาสนา มนุษย์เกิดขึ้นได้ด้วยศาสนา ดำรงอยู่ได้ด้วยศาสนา บางคนจะสงสัยว่า มนุษย์เกิดขึ้นด้วยศาสนานี้อย่างไร
นี่ก็เพราะว่า ไอ้ความหมายของคำว่าเกิดนั้น มันกำกวมอีกเหมือนกัน ถ้าเกิดโดยเนื้อหนังแล้ว ไอ้คนเรานี้ก็เกิดได้ โดยเหตุปัจจัยในทางวัตถุ เช่นเดียวกับต้นไม้ หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์ที่คล้ายคนขึ้นมา เช่น ลิง เป็นต้น มันก็เกิดได้ตามกฎของธรรมชาติทางวัตถุ แต่นั่นเรายังไม่เรียกว่า มนุษย์ได้เกิดขึ้น เพราะมันยังไม่เป็นมนุษย์ เกิดเป็นคนป่าแล้วยังไม่เป็นมนุษย์ก็ได้ ถ้ายังไม่มีธรรมะสำหรับที่จะเรียกว่าเป็นมนุษย์
ธรรมะนี้ก็คือสิ่งเรียกว่าศาสนานั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้ เราเรียกศาสนาเฉพาะคำสั่งสอนหรือการเล่าเรียน ดังนั้นขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า ศาสนานั้นไม่ใช่การเล่าเรียน และไม่ใช่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของศาสนา เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
เมื่อพูดถึงตัวศาสนาตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว สิ่งที่เรียกว่าศาสนา หมายถึง การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเป็นมนุษย์ หรือมีความเป็นมนุษย์อยู่ได้ด้วยความสงบสุข มันจึงได้แก่การปฏิบัติระบอบหนึ่ง ซึ่งทำให้มนุษย์ดำรงความเป็นมนุษย์อยู่ได้ด้วยความสงบสุข นั่นคือตัวศาสนา ไม่ใช่เพียงคำพูด หรือคำสั่งสอน หรือพิธีรีตอง หรืออะไรทำนองนั้น
ดังนั้นขอให้เข้าใจ คำว่าศาสนานี้ไว้ในชั้นต้นให้ถูกต้องว่า หมาย ศาสนา หมายถึง ตัวการปฏิบัติที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์อยู่ได้ ถึงจะพูดให้สั้นที่สุดก็คือ การปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง เมื่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนา หมายถึง การปฏิบัติ ก็ควรจะนึกถึงไอ้อะไรบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกันว่า การปฏิบัตินี้มันมาจากอะไร
ถ้าเราจะเรียกชื่ออย่างหนึ่ง ก็ควรจะเรียกว่า ธรรมหรือธรรมะก็ได้ พระธรรมหรือธรรมะนี้ แล้วก็คือ ธรรมชาติในทุกแง่ทุกมุม คือ ธรรมชาติในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติเองก็ได้ ธรรมชาติในฐานะเป็นตัวกฎของธรรมชาตินี้ ก็ยังเป็นธรรมชาตินา แล้วคำ ๆ นี้ ยังหมายถึง หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติด้วย ดังนั้นมันจึง จึงกินความไปถึงผลที่จะได้รับ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นด้วย หมดนี้จะเรียกว่าธรรมชาติก็ได้ จะเรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมะ คำเดียวก็ได้
ไอ้ที่มันมาเป็นตัวศาสนานั้น ก็คือระบบการปฏิบัติ ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้นขอให้จำคำว่าศาสนาไว้ ในฐานะเป็นตัวการปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ที่ปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะมีความเป็นมนุษย์อยู่ได้ ตามที่เราต้องการ
ที่เอามาสอน เอามาปฏิบัติ จนกระทั่งได้รับผลของการปฏิบัติ แล้วเราก็พอใจในการปฏิบัติ เพราะทำสืบต่อ ๆ กันมา จนเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี โดยไม่ต้องอธิบายความหมาย เช่น การตักบาตรเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นประเพณีที่ได้ทำมาอย่างถูกต้อง จนไม่ต้องอธิบายเหตุผล ดังนั้นขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ แต่ว่านี่ก็เป็นส่วนน้อยส่วนหนึ่ง ในบรรดาการปฏิบัติ หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ดีที่งามอีกมากมาย
ดังนั้นเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าศาสนาไว้ ในฐานะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดมนุษย์ และให้มนุษย์รอดอยู่ได้ตลอดไป เป็นตามความหมายของคำว่ามนุษย์ คือ มีจิตใจสูง จิตใจนี้สูงตรงที่ไม่มีอะไรครอบงำ ความชั่วก็ครอบงำไม่ได้ ความทุกข์ก็ครอบงำไม่ได้ อะไรก็ครอบงำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นจิตภาพหรือเสรีภาพอย่างยิ่ง สำหรับมนุษย์เรา
ทีนี้จะดูกันต่อไปถึงปัญหาที่กำลังมีอยู่ ซึ่งเกี่ยวกับศาสนานี้ คือ โลกกำลังไม่มีศาสนา ยังแถมจะเกลียดและหันหลังให้ศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที มันถึงจะร่ำรวยอยู่ ด้วยเปลือกหรือสัญลักษณ์ของศาสนาก็ได้ แต่ตัวศาสนาไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนานั้น ก็เปลี่ยนแปลงมาก คือ คนสมัยปัจจุบันไม่รู้จักตัวพุทธศาสนาว่า เป็นการปฏิบัติลงไป ตามวิถีทางของวิทยาศาสตร์ ชัดเจนอย่างนั้น ถ้าเราจะต้องปฏิบัติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร เกี่ยวกันเป็นลำดับอย่างไร จนความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างนี้มันเป็นศาสนา
แต่คนไม่ศึกษากันในแง่นี้ ไปศึกษาในรูปของปรัชญา แล้วเป็นปรัชญาเพ้อเจ้อมากขึ้นทุกที แต่เขาก็คิดว่า เขายิ่งรู้พระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที คำพูดนี้ก็ถูกเหมือนกันว่า เขารู้พุทธศาสนายิ่งขึ้นทุกที แต่ไม่ได้รู้ในรูปของศาสนา แต่ไปรู้ในรูปของปรัชญา แล้วก็เพ้อเจ้อ เพ้อเจ้อ แล้วก็เลยออกไป จนไม่ ไม่มีลักษณะของศาสนาเหลืออยู่
มันเป็นปรัชญาเพ้อเจ้อ เพราะสนใจกันมากยิ่งขึ้นในโลก โดยเฉพาะพวกกำลังศึกษาพุทธศาสนาแบบปรัชญามากขึ้น เพราะเข้าใจว่ามีเท่านั้น เพราะคนไทยเราจำนวนหนึ่งก็ไปตามก้นเขา ที่จะศึกษาพุทธศาสนากันแต่ในรูปของปรัชญา ด้วยเข้าใจอย่างนั้น
ดังนั้นควรจะมานึกกันดูให้ดีเสียใหม่ว่า ศาสนาไม่ใช่ปรัชญา แม้ว่าพุทธศาสนาจะเป็นอะไรได้หลาย ๆ อย่าง คือ เป็นศาสนาก็ได้ เป็นปรัชญานี้ก็ได้ เป็นไอ้แม้แต่ศิลปะก็ยังได้ นั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เป็นหัวใจพุทธศาสนา
พุทธศาสนาต้องเป็นการปฏิบัติ ชนิดที่จะขจัดความทุกข์ออกไปได้ โดยประจักษ์แก่ตนเองไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น ไม่ต้องถามว่า พ้นทุกข์แล้วหรือยัง ไม่ต้องถามใครว่า ดับทุกข์ได้แล้วเท่าไร เรียกว่าอะไร อย่างนี้ไม่ต้องถาม ไม่ต้องให้ใครมาตั้งให้ว่า เป็นพระโสดาบันหรือยัง อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว ก็จะไม่เป็นความจริงไปได้ เป็นเรื่องละเมอเพ้อฝันไปหมด ต้องรู้อยู่แก่ใจว่า จิตใจของเรานี่ มันมีความสะอาดขึ้นเท่าไร สว่างขึ้นเท่าไร สงบขึ้นเท่าไร ไม่ต้องมีใครมาบอก เพราะคนอื่นไม่อาจจะบอก เรารู้ได้ของเราเอง
แต่เดี๋ยวนี้ด้วยเหตุที่ว่า มนุษย์เรามันเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะว่าความเจริญทางวัตถุ มันครอบงำเอาหูตาฝ้าฟางไป คือ ไปหลงใหลแต่ความสุขสนุกสนานไอ้ทางวัตถุ ที่ในที่สุดมันก็เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ อีกเหมือนกัน
เพราะกิเลสนี่อาศัยทวารทั้ง ๖ นี้ นี้เราก็ไปหาเหยื่อใหม่ ๆ มาให้แก่กิเลส จนไปหลงใหลในรสชาติของไอ้วัตถุที่บำรุงบำเรอ ก็ไม่อยากจะสนใจเรื่องทางจิตใจ เพราะว่ามนุษย์มันมีจิตใจชนิดที่เปลี่ยนแปลงได้ ยังเปลี่ยนแปลงได้ มีอะไรมาทำ ดึงไปปรุงแต่งเข้า มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย
นี่โลกกำลังหลงไปในทางวัตถุ พอหลงไปในทางวัตถุ มันก็ต้องเกิดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวซึ่งไม่เคยเกิดเพิ่งจะเกิดขึ้น ที่เกิดอยู่ก็จะเกิดมากขึ้น แล้วก็จะเกิดแปลก ๆ ออกไป ดังนั้นก็มีวิธีการที่จะเห็นแก่ตัวมากขึ้นและแปลกออกไป จนตัวเองก็ไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็ไม่รู้จักจะแก้ไข มันก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้นในโลก ที่ทำให้โลกกำลังไม่มีศาสนา
อาตมาไม่ได้คิดว่า จะเป็นการพูดที่หยาบคายมากเกินไป ในการที่จะพูดว่า โลกกำลังไม่มีศาสนา ขอให้ไปคิดดูเอง คือ ไม่มีการปฏิบัติ ชนิดที่จะคงความเป็นมนุษย์ไว้ อย่างถูกต้องได้ มันมีแต่มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น หลายแบบหลายวิธีอะไรต่าง ๆ
เมื่อมีการเห็นแก่ตัวแล้ว การเบียดเบียนกันก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันจะต้องมีเท่าทัดเทียมกันมากับความเห็นแก่ตัว ถ้าเราไม่มีศาสนา นี้ก็ยังไม่ค่อยเท่าไร แต่ถ้ามากขึ้นไป จนถึงกับเกลียดศาสนาแล้วก็ จะหมายถึงความวินาศ ดังนั้นขอให้ดูให้ดีด้วยว่า เรากำลังไม่มีศาสนาหรือไม่ ถ้าเรากำลังเกลียดศาสนายิ่งขึ้นทุกทีหรือไม่
ข้อนี้ขอให้ดูกันกว้าง ๆ หน่อย ให้ดูกันทั้งโลก เพราะอาตมากำลังพูดว่า โลกกำลังไม่มีศาสนาและเกลียดศาสนา คือ คน คนส่วนใหญ่ไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เมื่อไม่มีศาสนา ก็คือไม่มีธรรมะที่จะทำให้เป็นมนุษย์ มนุษย์ก็ตาย ตายจากความเป็นมนุษย์
แต่ไม่ใช่ตายโดยร่างกาย คือ ยังมีชีวิตอยู่ เดินได้ ทำงานได้ อะไรได้ แล้วก็เก่งในการที่จะเห็นแก่ตัวให้ยิ่งขึ้นไป นี่ในทางร่างกายมันไม่ได้ตาย ด้วยมีมากขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น แต่ทางจิตใจนั้น มันก็ได้ตาย ที่เรียกว่ามนุษย์เกลียดธรรม ตรงนี้มันก็ลดลงไป กระทั่งจะหายไปหมด นี้ก็เรียกว่ามนุษย์ตาย ขอให้คิดในส่วนนี้ ก็จะได้เข้าใจได้ว่า มนุษย์เรากำลังมีปัญหาอย่างไร
ทีนี้ก็จะได้พูดกันต่อไปถึงข้อที่ว่า ธรรมะที่ทำความเป็นมนุษย์นั่นน่ะคืออะไร อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คำว่าธรรมหรือธรรมะนี้ มันกว้าง พูดกันเท่าไรก็ไม่จบ จะพูดได้ก็แต่เพียงสรุปเข้ามาเป็นหัวข้อ หัวข้อก็มีมากหลายสิบหัวข้อ ถึงต้องสรุปให้สั้นมาอีก ให้เหลือเพียงไม่กี่ข้อ
เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องนี้มาตลอดเวลา แต่แล้วก็ยังไม่ทันต่อเหตุการณ์ในโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลง คือ ไม่ช่วยให้มัน ให้ ให้โลกนี้มีธรรมะมากขึ้น มันก็จะต้องโทษผู้สอนธรรมะบ้างก็ได้ ไม่ ไม่โทษมนุษย์ผู้ปฏิบัติข้างเดียว แต่แล้วกำลังจะเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้นก็โทษพร้อม ๆ กันไปว่า เรายังไม่มีธรรมะเพียงพอ แม้การศึกษาจะเฟ้อ การศึกษาธรรมะน่ะเฟ้อ แต่ว่าไอ้ตัวธรรมะมีไม่พอ นับตั้งแต่ไม่เข้าใจให้ถูกต้อง หรือให้ตรงจุด หรือให้เลือกเอามาปฏิบัติได้
อาตมาก็พยายามคิดนึกแต่เรื่องนี้ ทุกปีก็ว่าได้ แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ สำหรับปีนี้ ก็อยากจะประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดมาดูว่า เราควรจะสรุปหัวข้อธรรมะ สำหรับแก้ไขในรอบปีนี้ หรือว่าปัจจุบันนี้อย่างไรดีต่อไปอีก ในที่สุดมันก็พบว่า ก็หัวข้อธรรมะเดิม ๆ นั่นเอง จะต้องมาปรับกันใหม่ ให้เป็นข้อความสั้น ๆ และจำง่าย เพราะอมความหมายไว้ได้ทั้งหมด
นี้อาตมาจึงอยากจะกล่าวว่า หัวข้อ ๔ คำ จำง่าย ๆ อาจจะเพียงพอ ๔ คำก็เพียงแต่ว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ นี้ ๔ คำ ขอให้ท่องติดปากไว้ด้วยว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ แต่ว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ทั้ง ๔ นี้ ต้องถูกผูกพันกันไว้เป็นอันดี ด้วยสิ่งที่เรียกว่า สติ เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า สติ เพิ่มขึ้นมาอีกคำหนึ่ง เลยกลายเป็น ๕ คำ
ตัวธรรมะแท้ ๆ ว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ๔ อย่าง แต่มีธรรมะที่ทำหน้าที่ผูกพันทั้ง ๔ อย่างนี้อีกทีหนึ่ง จะเรียกว่า สติ เป็นสูตรง่าย ๆ ว่า สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ที่ผูกพันกันอยู่เป็นอย่างดี ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า สติ ทีนี้เราจะศึกษา ไอ้คำ ๕ คำนี้กันเป็นพิเศษสักหน่อย อาตมาขอร้อง
คำแรก สุทธิ ภาษาบาลีก็แปลว่า หมดจด เกลี้ยงเกลา คือ ไม่มีอะไรปน ไม่มีอะไรฉาบทา เป็นธรรมชาติเดิมแท้ ที่บริสุทธิ์อยู่ตามธรรมชาติ นี่เรียกว่าสุทธิ ใน ในภาษาบาลีอย่างกว้าง ๆ แปลว่า ความบริสุทธิ์ หมดจด แท้จริง เกลี้ยงเกลา คงที่ คงตัว เป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรอีก
ทีนี้ในทางจริยธรรม มันก็ ก็หมายถึงการบริสุทธิ์ ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ แต่เรารักษาสภาพบริสุทธิ์ของ กาย วาจา ใจ ไว้ให้ได้ เพราะว่าสภาพเศร้าหมองนี้ มันเพิ่งมา ถ้ามันอยู่กลางธรรมชาติ มันจะบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ นี้เราไปทำให้เกิดกิเลสอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา มันก็ทำให้เศร้าหมอง ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง นี้เป็นหลักใหญ่
นี้ไอ้คำที่มันแทนกันได้ มันก็มีมาก เช่นคำว่า ซื่อสัตย์ สุจริต ปรกติ ละความชั่ว ละสิ่งเศร้าหมองนั้นออกไป กระทั่งเรามีความสำนึกบาป สำนึกความผิด ที่เรากำลังเป็นคนที่เลว ไม่เป็นมนุษย์ที่ดี ความสำนึกบาป สำนึกผิด แล้วก็ทำคืนเสีย อย่างที่เรียกว่า แสดงอาบัติบ้าง แก้บาปบ้าง อะไรประมาณนี้ มันรวมอยู่ในคำว่าการทำให้บริสุทธิ์หมดจด สารภาพบาปแก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือว่าทำให้มันหมดบาปไปเสีย เรียกว่า อโหสิกรรม อย่างนี้
เรียกว่า สุทธิ คำเดียวพอ แต่ความหมายมาก นับตั้งแต่สำนึกบาป ทำคืน แล้วก็ระวังรักษาทั้งปวงต่อไปด้วยดี ทั้งทาง กาย วาจา ใจ นี้ก็ซื่อสัตย์ต่อความเป็นมนุษย์ นี่สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่เคารพอุดมคติหรือความเป็นมนุษย์ ก็เรียกว่าเราหมดความบริสุทธิ์ นี้ผู้ใดไม่เคารพอุดมคติแห่งการเป็นมนุษย์ของตนแล้ว คนนั้นจะหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ คือ มันจะไม่มีเหลืออยู่เลย ดังนั้นเราเป็นมนุษย์ให้ถูกต้องนั่นแหละ คือ สุทธิในที่นี้ นี่คำว่า สุทธิ คำแรก มีความหมายอย่างนี้
คำที่สอง ปัญญา แปลว่า รู้อย่างทั่วถึงในสิ่งที่ต้องรู้ ญา นี้แปลว่า รู้ ป น่ะแปลว่า ทั่ว ปัญญานั้น รู้อย่างทั่วถึงในสิ่งที่ควรจะรู้ เรียกชื่อต่าง ๆ กันเป็นอันมาก เรียกว่าญาณก็มี เรียกว่าสัมมาทิฏฐิก็มี เรียกว่าญาณทัสนะ อะไรต่าง ๆ ก็มีอีกมาก แต่ขอเอาแต่คำว่า ปัญญา คำเดียวพอ ก็รู้ทั่วถึงในสิ่งที่ตนจะต้องรู้
ตรงนี้อยากจะขอแทรกนิดหน่อยว่า มันมีคำ มันมีความเข้าใจผิดกันอยู่ ปัญญานี้เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า รู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้อย่างทั่วถึง และถูกต้อง และรู้แล้วด้วย นี้เผอิญไอ้คำว่าปัญญานี้ ถ้าเป็นรูปภาษาสันสกฤต มันก็คือคำว่า ปรัชญา
ปรัชญาในภาษาสันสกฤตแท้ ๆ เขาก็หมายความอย่างเดียวกับปัญญาในภาษาบาลี อย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้เผอิญในประเทศไทย เราเอาคำว่าปรัชญามาใช้อย่างอื่นเสีย เอาไปใช้ตรงกับคำว่า Philosophy ของฝรั่ง ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญญา เป็นแต่เพียงการคลำหาปัญญาเท่านั้น
ถ้าจะพูดให้ชัดแต่คำว่า Philosophy แล้วแต่มีความหมายแต่เพียงว่า กำลังคลำหาปัญญา จะเป็นปรัชญาไม่ได้ หรือจะเป็นปัญญาในพุทธศาสนาไม่ได้ แล้วเรื่องมันก็ตีกันยุ่งตรงที่ว่า ในพุทธศาสนาคำว่า ปัญญา นั้นหมายถึง รู้จริง รู้ถูก รู้ทั่วถึงในสิ่งที่คน ๆ นั้นควรจะรู้ นี้ไป ไปเอา Philosophy มาแทนที่ ที่เรียกว่าปรัชญากัน นี้เลยทำยุ่ง ก็เลยคว้า คว้าไม่ถูก แต่มันสนุก
ไอ้เรื่องปรัชญานี่สนุก มันก็เลยล่อให้คนหลงในปรัชญา จนติดเฮโรอีนปรัชญากันไปหมดเกือบทั้งโลกแล้ว ปรัชญากำลังครอบงำโลกอย่างนี้ จนหูตามืดมนไปใน ใน ใน ในวิถีทางของปรัชญา ก็เลยไม่พบปัญญาชนิดที่จะแก้ปัญหาได้ นี้ปัญญาในพุทธศาสนานี้ เป็นปัญญาที่แก้ปัญหาได้
เราต้องรู้จักไว้โดยเฉพาะให้ชัดเจนทีเดียว อย่างน้อยที่สุด ขอให้รู้ให้ถูกต้องถึงไอ้เป็นที่เป็นอย่างว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ใครไม่รู้อย่างแท้จริงในข้อนี้เรียกว่า ไม่มีปัญญาพื้นฐาน ขออภัยกำลังจะพูดว่า กำลังมีความโง่อย่างพื้นฐาน ที่ไม่รู้ว่าเรา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
ถ้าเรารู้ข้อนี้ เราก็เบียดเบียนกันไม่ลง นี้เป็นอย่างน้อย แล้วไม่ต้องมีใครมาเชื้อเชิญ เราก็ช่วยเหลือกันเอง ขอให้รู้ข้อนี้เท่านั้นแหละ เราจะทนอยู่ไม่ได้ เราจะต้องลุกขึ้นช่วยเหลือกันเอง และเราก็จะเบียดเบียนกันไม่ลง ขอให้รู้ปัญญาพื้นฐานที่แท้จริง ของธรรมชาติ ของพระเจ้า กันเสียก่อนว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
นี่พุทธบริษัทภาวนาอยู่แต่อย่างนี้ คนแก่ ๆ จะพูดอย่างนี้วันละหลาย ๆ ครั้ง แล้วก็หายไป ๆ จนเด็ก ๆ พูดไม่เป็น แม้ศาสนาอื่นเขาจะพูดโดยบุคลาธิษฐานว่า ทุกคนพระเจ้าสร้างมา หรือว่าทุกคนออกมาจากบิดามารดาคู่แรกคู่เดียว นี้มันก็ถูกเหมือนกัน เพราะมันแสดงอยู่แล้วว่า ทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาด้วยกัน ดังนั้นเราจึงรู้ว่า เราเบียดเบียนกันไม่ได้ ไม่ถูกในการที่เราจะเบียดเบียนกัน แล้วเราก็ควรจะช่วยเหลือกัน ทนอยู่ไม่ได้ต้องช่วยเหลือกัน
ถ้าในโลกนี้ ทั้งโลกนี้ มีปัญญาอย่างนี้ โลกนี้ก็ไม่เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ นี้ปัญญาสูงสุด เหมือนเมื่อตะกี้ก็ปัญญาพื้นฐาน คือ รากฐานต่ำสุด ก็เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี้ปัญญาสูงสุดยอดก็คือว่า ทุกสิ่งจะยึดถือเอามาเป็นตัวตนหรือของตนไม่ได้
นี่หัวใจพุทธศาสนามีอยู่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวง จะไปหมายมั่นเอามา เป็นตัวเรา เป็นของเราไม่ได้ เป็นของธรรมะเอง เป็นของธรรมชาติเอง เป็นของพระเจ้าเอง ถ้าใครไปคิดไปหมายมั่นจะเอามาเป็นของตน คนนั้นเป็นขโมย คนนั้นเป็น โกหก หลอกลวง ทรยศ กบฏ ต่อธรรมะ ต่อพระเจ้าไปแล้ว
แม้จะเพียงคิดเช่นนั้น มันต้องให้เป็นของที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เป็นของธรรมะ เป็นของธรรมชาติ เป็นของพระเจ้า เรานี้คือจะเป็นผู้ยืมใช้มากกว่า แต่เราต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก่อน เราจึงจะมีสิทธิยืมใช้ ยืมมาใช้
เช่น จะยืม ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มาเป็นร่างกาย อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ มาเป็นจิตใจ แล้วก็มาเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ในโลก มีทรัพย์สมบัติที่ มีทรัพย์สมบัติตามที่กฎหมายยอมรับว่า นี้เป็นของคนนั้น นี้เป็นของคนนี้ แต่ธรรมชาติไม่ได้รับรู้ นี่มีเรา เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน เราจึงจะมีสิทธิยืมใช้ของธรรมชาติ
มาสมมติกันชั่วคราวว่า นี้ตัวกู นี้ของกู นี้บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติอะไรของกูนี้ แต่แล้วเมื่อไปยึดมั่นถือมั่นด้วยจิตใจอย่างนั้น มันจะต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรายืมมาใช้ โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา มันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่เคล็ดลับสูงสุดในพุทธศาสนา ที่จะทำให้มนุษย์ไม่ต้องเป็นทุกข์
อย่าไปหมายมั่นอะไรเป็นตัวกูของกูบ้าง มีจิตใจรู้แจ้งอยู่อย่างนั้นก็เรียกว่า มีปัญญาสูงสุด นี้ปัญญาทั่ว ๆ ไปอย่างอื่นหลายแง่หลายมุมก็มีอยู่ แต่มันก็อยู่ในระหว่างไอ้ปัญญาทั้งสองนี้ คือ ปัญญารากฐานว่า เราเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน มองดูกันด้วยสายตาแห่งความรัก ไม่มีความเป็นศัตรู ทีนี้ก็มีความรู้ถูกต้องที่เราจะต้องปฏิบัติ ปัญหาก็จะหมดไป
นี้ก็ข้ามไปสิ่งที่สาม คือ เมตตา เมตตาที่แท้จริงก็ตั้ง ตั้งอยู่บนรากฐานของปัญญาที่ว่าขึ้น สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีปัญญาข้อนี้แล้ว เมตตามันก็เมตตาไปไม่ถูก ก็ขอให้คิดว่า เมตตานี้แปลว่าความเป็นมิตร มาจากคำว่ามิตร เขาเติมด้วยเหตุปัจจัยอะไรทางภาษาบาลี ก็เลยออกมาเป็นยะ คำยาวเป็น เมตตา แปลว่า ความเป็นมิตร
ความเป็นมิตรนี้ก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ความเป็นศัตรูไม่ใช่ธรรมชาติ ดังนั้นจะศึกษาการเป็นมิตรให้เข้าใจมาตั้งแต่ปัญญา คือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ก็ขยายความออกไปได้ เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ คือ เมตตาที่แสดงออกมาทางการกระทำ ในใจรู้สึกอยู่ แล้วก็ออกมาเป็นการกระทำทางปาก ก็พูดในทางที่เป็นมิตร กระทำทางกาย ก็ช่วยเหลือกันในทางที่เป็นมิตร
ดังนั้นคำว่าเมตตาคำเดียว มันก็มีความหมายกว้าง เอารวบเอาคำว่า การช่วยเหลือ การเอื้อเฟื้อ การให้ทาน การให้อภัยอย่างนี้ อะไรอีกมากไปในคำ ๆ เดียวว่าเมตตา ขอให้มีเมตตาชนิดที่เป็นตามความหมาย คือ ความเป็นมิตร เพราะเป็นเหตุให้กระทำไปตามความรู้สึกอันนั้น
เมตตานี้มันหลายระดับ ระดับสูงสุด อยากจะแนะสักหน่อยหนึ่งเหมือนกันว่า ถ้าเราไม่มีความเห็นแก่ตัวกูของกูแล้ว ย่อมเป็นเมตตาอยู่โดยอัตโนมัติ อย่ามีความเห็นแก่ตัวเท่านั้นแหละ แล้วมันจะเป็นเมตตาอยู่โดยอัตโนมัติ มันจะทนอยู่ไม่ได้ในการที่จะไม่ช่วยผู้อื่น
เมตตาบางชนิดมัน มันอาจจะผิดไปก็ได้ คือ เมตตาจนตัวเองเดือดร้อน อย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ ถ้าเมตตาที่ถูกต้อง ต้องไม่มีใครเดือดร้อน บางคนอาจจะมากเกินไปจนถึงกับว่า ถ้าไม่ได้ช่วยคนอื่นแล้ว ก็เดือดร้อน จะเป็นทุกข์ เป็นโรคหรือเป็นประสาทเสียเอง ก็ไม่ถูกเหมือนกัน เพราะคนประเภทนี้ ก็ย่อมจะช่วยคนอื่นไม่ได้ มันต้องเมตตาชนิดที่ไม่มีใครเป็นทุกข์
แม้ว่ามันจะตั้งต้นเมตตาอย่างต่ำ ๆ เป็นโลกิยะไป มันก็ถูก แต่ในที่สุดเป็นเรื่องสูงสุด เป็นเรื่องความรู้สึกอยู่เองในจิตที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เป็นเมตตาสูงสุด เดี๋ยวนี้เราเอากันแต่เมตตาธรรมดาอย่างโลกิยะ เรียกว่า โลกิยะ ก็คือว่าอยู่กันในโลก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความรู้สึกที่ ที่บริสุทธิ์อันนี้ อาตมาขอให้ความหมายคำว่าเมตตาไว้อย่างนี้ ก็เพราะไม่เห็นแก่ตัว แล้วไอ้เมตตาจะเกิดขึ้น มันจะทนอยู่ไม่ได้ มันจะช่วยผู้อื่น
นี้ข้อสุดท้าย ขันติ แปลว่า ความอดทน ฟังดูแล้วน่ากลัว ความอดทนนี้ฟังดูแล้วมันไม่สนุก ถ้าจะแปลว่าความทนทาน บางทีจะน่า น่าค่อยยังชั่วหน่อย ความทนได้ มันต้องมีการอดทน อดทนข้างนอก คือ อดทนหนาวร้อน อดทนเจ็บปวด อดทนไอ้คำด่าว่าของผู้อื่น นี้ว่าอดทนได้ นี้ยังมีดีกว่านั้น คือ อดทนข้างใน คือ อดทนไอ้การบีบคั้นของกิเลสที่อยู่ข้างใน
กิเลสเกิดขึ้นมาเมื่อไร เป็นบีบคั้นเมื่อนั้น ใครทนไม่ได้ก็ทำไปตามอำนาจของกิเลส ที่ว่าล้มละลายนี้ เพราะว่าเขาทนไม่ได้ ยกตัวอย่าง เมื่ออยากไปดูหนังดูละคร หรือว่าดูสิ่งลามกอนาจาร ที่กิเลสบีบคั้นให้ไป ใครทนไม่ได้ก็ต้องไป แต่ว่าใครทนได้ ก็จะมีขันติภายในอย่างถูกต้อง มันก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น
ดังนั้นขอให้ทนกันได้ทั้งข้างนอกและข้างใน ทีนี้มันมีอานิสงส์ขยายออกไป หรือมีขอบเขตที่ขยายออกไป เป็นการที่เรียกว่าเรา ทนได้ รอได้ คอยได้ กว่าการงานจะบรรลุผล ทีนี้คนในโลก รอไม่ได้ คอยไม่ได้ กันเป็นส่วนมาก ดังนั้นจึงทำทุจริต
รอผลของสุจริตไม่ไหว รอไม่ได้ ก็ต้องทำทุจริต หรือแม้จะสุดแต่จะทำมาหากิน ทำไร่ทำนา มันก็ต้อง รอได้ คอยได้ กว่ามันจะออกผลมา ถ้า ถ้ารอไม่ได้ ก็ต้องไปทำทุจริต แล้วไอ้ความทนได้นี่แหละ คือ ความพากเพียร เดี๋ยวจะ เดี๋ยวจะถามว่า ความพากเพียรไปอยู่เสียที่ไหน ไม่เห็นเอามาพูดถึง
ความพากเพียรมันรวมอยู่ในความ อดทนได้ รอได้ คอยได้ คือ ทำไปได้โดยสุจริต นี้ทางสูงสุดเขาเรียกว่า อุเบกขา ไม่ใช่ทนลำบาก อุเบกขา ทนเฉยอยู่กว่าจะบรรลุมรรคผล การปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง เข้ารูปเข้ารอยแล้ว ยังต้องรออีก รออยู่ด้วยอุเบกขา กว่าจะถึงปีที่บรรลุมรรคผล
เรื่องโลกก็ดี เรื่องธรรมะสูงสุดก็ดี ต้องการขันติ คือ ความอดทน ทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ประชาชนไม่อดทน จึงเกิดการเบียดเบียน ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างก็ดี ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาก็ดี แม้ที่สุดแต่ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล หรือรัฐบาลกับประชาชนก็ดี ยังขาดคุณธรรมข้อนี้มาก ยิ่งไม่อดทนเท่าไร ก็ยิ่งสร้างวิกฤตการณ์มากขึ้นมาเท่านั้น
นี้ขอให้นึกถึงธรรมะ ๔ ข้อนี้ และข้อที่ว่า ต้องมีสติเป็นเครื่องผูกพันธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ไว้ ให้กลมกลืนกันเป็นอย่างดี สติ แปลว่า ความระลึก ต้องมีความรู้ด้วย แล้วระลึกไปในทางที่ถูกต้องด้วย เราระลึกอยู่ได้ตลอดเวลาด้วย จึงจะเรียกว่าสติ ไม่ใช่สติวอกแวก เพราะสติครึ่ง ๆ กลาง ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ความระลึกอยู่ได้นี่ มันมีขอบเขตหน้าที่มาก ถ้าความระลึกได้มีอยู่ มันก็กลายเป็นเครื่องป้องกัน กลายเป็นเครื่องหักห้าม กลายเป็นเรื่องให้รู้จักเลือกเฟ้น ให้รู้จักทำแต่พอดี รู้จักหล่อเลี้ยงในสิ่งที่ทำมาดีแล้วไว้ได้ รักษาให้คงอยู่ต่อไปได้ นี่มันหน้าที่ของสติ มันเป็นอย่างนี้
คำสั้น ๆ คำเดียวว่าสติ แต่ว่ามันทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการ นึกขึ้นมาได้ แล้วก็เลิกไปเลย และป้องกันความผิดพลาด แล้วก็หักห้ามความผลุนผลัน แล้วก็ทำความพอเหมาะพอดี แล้วก็หล่อเลี้ยงรักษาไว้ ช่วยให้อด อดได้ ทนได้ รอคอยได้ จนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ
ดังนั้นสติจึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ ในทุกกรณี ในทุกเวลา ในทุกสถานที่ ในทุกเหตุการณ์ ในที่นี้ก็เอามาเป็นเครื่องผูกพันธรรมะ ๔ ประการ คือ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ร้อยให้กลมกลืนกัน หรือว่าดึงเอาไว้ ให้คงอยู่ตลอดเวลาที่ต้องการ ไม่ให้หายไปเสียก่อน อย่างนี้เป็นต้น
นี่อาตมาได้กล่าวถึง ไอ้ธรรมะที่เห็นว่า เหมาะสมกับโลกในสถานะปัจจุบัน ๔ หัวข้อว่า เป็นของจำเป็นสำหรับโลกขณะนี้ หรือแม้แต่ประเทศเรา หรือแม้แต่ว่าในครอบครัวของเรา หรือแม้ว่าในเราคนหนึ่ง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประพฤติ กระทำ ต่อบุคคลที่สอง เพื่อสำหรับสังคม สำหรับการสังคม ก็ต้องใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ซึ่งหล่อเลี้ยงไว้ด้วยสติ
ทีนี้ไหน ๆ ได้พูดมาแล้ว ก็พูดต่อไปให้จบ แม้จะเกินเวลาไปสักนิดหน่อย ก็ยังพอจะพูดได้ คืออยากจะเน้นในข้อที่ว่า ธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นของธรรมชาติ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ นี้เป็นของธรรมชาติ เป็นลักษณะเฉพาะของธรรมชาติ แต่ว่าซ่อนเร้นอยู่ลึกมาก
ดังนั้นเราไม่ต้องกลัวว่าเราจะฝืนธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมะไม่มีฝืนธรรมชาติ กรุณาช่วยจำไว้ทุกคน ถ้าการปฏิบัติธรรมะจะไม่มีฝืนธรรมชาติ เพราะว่าธรรมะมันเป็นตัวธรรมชาติ จะปฏิบัติธรรมะข้อไหนก็ตาม จะเป็นการเข้ารูปกับธรรมชาติ แล้วธรรมชาติไม่ได้จะแบ่งแยกได้ตามที่เราประสงค์ เป็นชนิด ๆ ไป
จะยกตัวอย่างคำว่า สุทธิ ความหมดจด สะอาด เกลี้ยงเกลา ปรกตินี่ นี้เป็นธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติแท้ ไม่มีอะไรรบกวน จะสงบเงียบ จนกระทั่งถึงว่าง ไม่มีอะไรจะ สงบ เงียบ ว่าง อะไรจะบริสุทธิ์สะอาดไปเท่ากับความว่าง
ถ้าเราจะเอาโลกนี้ออกไปเสียให้หมด ทุก ๆ จักรวาล ทุก ๆ ระบบจักรวาลแล้ว เราจะพบความว่าง คนที่เรียนวิทยาศาสตร์มา ก็จะมีความคิดน้อมไปในทางนั้น ในชนิด ในทางที่ว่า ก่อนนี้มันไม่มีอะไร แล้วมันก็เพิ่งมีขึ้นมา ข้างในว่างนั้น คือ สงบแท้เดิมแท้ แล้วทีนี้ก็ได้มา ติดมาในไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เช่นว่า เกิดโลกขึ้นมาเป็นก้อนหินอย่างนี้ มันก็ยังสงบ ยังหยุด ยังบริสุทธิ์ แล้วจึงวิวัฒนาการมาเป็นสิ่งที่มีชีวิต เป็นหญ้าบอน เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์
ธรรมชาติเดิมแท้มันก็ยังติดมา คือความสงบ อย่ามีอะไร มายุ มากวน มาปรุง มาแต่ง แล้วมันจะอยู่อย่างสภาพสงบ เหมือนกับก้อนหินอย่างนั้น และที่ความคิดเกิดขึ้นนี้ มันของใหม่ การเจริญงอกงามทางเนื้อหนังนี้ ก็เป็นของใหม่ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังอยากจะรักษาสภาพเดิมของมันไว้ คือความสงบ
มันจะบ้าไปพักหนึ่ง แล้วมันจะหยุดลงไปหาความสงบ เราถือเอาความสงบเป็นธรรมชาติดั้งเดิม พอไม่สงบ นั้นคือ ของใหม่ ของชั่วคราว ที่ถือว่าของบริสุทธิ์ หรือของสงบ หรือสะอาดนั้น คือของดั้งเดิม ธรรมชาติดั้งเดิม เรียกว่า สุทธิ ไม่มีอะไรปน ไม่มีอะไรเจือ
นี้ข้อที่ ๒ ก็คือคำว่า เมตตา มันก็เป็นคุณสมบัติเดิมแท้ของธรรมชาติ คือการไม่เบียดเบียน การเบียดเบียนนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกคิดนึก ที่หลงไปด้วยความโง่ ด้วยเห็นแก่ตัว จึงเบียดเบียน ดังนั้นธรรมชาติเดิมแท้ คือก่อนที่จะมีอวิชชามีความโง่เกิดขึ้นนั้น มันไม่มี ไม่มีการเบียดเบียน ดังนั้นเมตตาคือธรรมชาติโดยแท้ การเบียดเบียนจึงเป็นของอุตริเกิดขึ้นทีหลัง
ขอให้สังเกตสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลาย สัตว์เดรัจฉาน โดยเนื้อแท้มันไม่เคยคิดเบียดเบียน การหาอาหารกินนั้นไม่ใช่การเบียดเบียน นั้นมันจำเป็น แต่โดยเนื้อแท้มันจะไม่คิดเบียดเบียน มันไม่อยากจะเบียดเบียน เพราะการเบียดเบียนมันต้องเหนื่อย มันต้องต่อสู้ มันเป็นอันตราย ขอให้มองกันในแง่นี้
อาตมาอยากจะเล่าเกลอให้ฟัง เล่าเรื่องเล็ก ๆ สั้น ๆ สักเรื่อง ก็คืออย่างนี้ว่า จะเล่าเรื่องที่ให้ทราบว่า ชีวิตแท้ ๆ ไม่ต้องการเบียดเบียน ชีวิตเพิ่งโง่ เพิ่งหลง เพิ่งมีการเบียดเบียน เมื่ออาตมาอยู่ที่สวนโมกข์ตอนแรก ๆ ที่ ที่พักอาศัยนั้น มันทำด้วยต้นไม้ ด้วยเสาที่ ที่เป็นโพรง มีรูเล็ก ๆ เข้าไปในโพรง
มีลูกตะกวดพอจุช่องนั้นเข้าไปอาศัยอยู่ มันอยู่ก่อน อาตมาเป็นแขกมาทีหลัง เป็นคนอาศัยอยู่ที่หลัง หลังโบสถ์ร้างหลังนั้น มันก็โผล่มาจากรู อาตมาเดินเข้าไปที่อยู่ มันก็หลบ พอหลายวันเข้ามันไม่หลบ อาตมาเดินเฉียด นี่ไม่หลบ ทีนี้วันหลังอาตมาเอามือไปแตะศีรษะมันดู มันหลบ ทำอย่างนั้นสองสามวันต่อมา มันก็ไม่หลบ มันหลับตาเสีย ไปแตะที่ศีรษะมันก็ไม่หลบ มัน แต่มันหลับตาเสีย จนกระทั่งมันโต อยู่ในรูนั้นไม่ได้ ต้องไปอยู่ที่อื่น
นี้แสดงว่าธรรมชาติแท้ ๆ เขาไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรู สิ่งที่มีชีวิตไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรูแก่กันและกัน แต่ก็มีสัญชาตญาณแห่งการระวังภัยหรือการป้องกัน นี้เป็นธรรมดา แต่เนื้อแท้นั้นไม่ได้คิดว่าใครเป็นศัตรู เหมือนความ และความ ความหวังที่จะเป็นมิตรแก่กันนั่นแหละ เป็นเนื้อแท้ของชีวิตของสิ่งที่มีชีวิต ดังนั้นขอให้ทุกคนถือว่า เมตตาเป็นธรรมชาติเดิมแท้ของ ของเหล่าสิ่งที่มีชีวิต
นี้ปัญญา มีแต่ แสดงหนึ่งว่าเป็นธรรมชาติเดิมแท้อย่างไร ถ้าพูดถึงปัญญา ต้องนึกถึงกำลังหรืออำนาจอันหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดวิวัฒนาการ คือแสงสว่าง The Light สิ่งที่แปลว่าแสงสว่างนั้น เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างเป็นสิ่งแรกในโลก ถ้าเกิดดูคัมภีร์ไบเบิ้ล หน้าแรก หน้าหนึ่ง หน้าสอง จะพบว่า พระเจ้าสร้าง The Light นี่ก่อนสิ่งใดหมด แปลว่าแสงสว่าง แล้วสร้างดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ต่อวันที่สี่ที่ห้าต่างหาก
Light นั้นคืออะไร คือแสงสว่าง ซึ่งเป็นอำนาจให้เกิดวิวัฒนาการ ถ้าทางฟิสิกส์ก็เช่นแสงแดด ให้วิวัฒนาการทางวัตถุ ทางไอ้ชีวิตอย่าง อย่าง อย่างวัตถุ อย่าง Biology ทางวัตถุ ถ้า Light ทาง Spiritual มันก็สร้างจิตวิญญาณให้วิวัฒนาการ
คำว่า Light มันแปลว่าแสงสว่าง มันก็บอกอยู่แล้วว่าไม่มืด ไอ้ความมืดก็เพิ่งมา อวิชชา ความมืด ความบอด นี้เพิ่งมา เมื่อมันมีอะไรเข้ามาแตะต้องเกี่ยวข้องแล้ว มันหลงไปในสิ่งนั้น ถ้ามันมืดบอดแล้ว มันก็วิวัฒนามาในทางที่สูงสุดไม่ได้
เราควรจะถือว่า ไอ้ร่างกายหรือวัตถุนี้ เขาจะต้องวิวัฒนาการไปถึงจุดสูงสุดของมัน ถ้าจิตหรือวิญญาณ มันต้องวิวัฒนาการไปจนถึงจุดสูงสุดของมัน นี่คือ The Light ซึ่งควรจะเรียกว่า ปัญญาที่เป็นธรรมชาติโดยแท้ ไม่ใช่ปัญญาในหัวสมองของคน แต่ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุ ธาตุ หรือ Element ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีในสิ่งที่มีชีวิต นี่มันก็ถือว่าเดิมแท้ เราเป็นธรรมชาติที่มีปัญญา เป็นต้นทุน เป็นพาหนะ
นี้ข้อสุดท้าย ขันติ อดทน ทนได้ นี้อาจจะมองดูเห็นได้ง่าย ๆ ว่า ลักษณะแห่งความทน หรือทนได้ หรือต้องทน นั้นมีอยู่ในที่ทั่วไป เป็นก้อนหินนั้น ทราย นี้มันก็ต้องทนต่อไอ้สิ่งที่มากระทบกระทั่ง ถ้าทนไม่ได้มันก็สลาย ในเนื้อหนังร่างกายของเราก็ต้องทนได้ต่อสิ่งที่มากระทบ ถ้าทนไม่ได้มันก็ต้องสลาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บมา ทนไม่ได้มันต้องสลาย
คุณสมบัติหรือ Function ของการทนนี้ ต้องเป็นของเดิมแท้ติดมากับ สำหรับไอ้สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ตาม มีชีวิตก็ตาม ดังนั้นอย่าได้รังเกียจสิ่งเหล่านี้เลย เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็นความบริสุทธิ์หมดจด เป็นแสง แสงสว่างสำหรับวิวัฒนาการ มีความเป็นมิตร มีความอดกลั้นอดทน นี้เราถึงอยู่รอดกันมาได้
ถ้าเราไปกลับ กลับกันเสีย มันก็ผิดธรรมชาติทันที แล้วมันก็จะตีกลับหมด อะไรก็จะตีกลับหมด ไม่เหมือนที่กำลังเป็นไปอย่างถูกต้อง มันจะตีกลับขนาดที่เรียกว่า ไอ้ลูกมันจะสอนพ่อ หรือว่าศิษย์มันจะสอนอาจารย์อย่างนี้ ไอ้พวกขอทานมันให้เงินแก่เศรษฐี นี้ลองคิดดู หรือจะให้ผู้ชายคลอดบุตรอย่างนี้ มันก็ทำไม่ได้ นั้นมันคือผิดธรรมชาติ ก็เมื่อเป็น เมื่อเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็ มันก็มีทางที่ว่าจะไม่ต้องลำบาก ยุ่งยาก หรือวิกฤตการณ์
ขอให้ยึดเอาไอ้สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ซึ่งเป็นตัวธรรมชาติแท้ดั้งเดิม ดั้งเดิมแล้วก็อนันตกาลด้วย คือ ถาวรตลอดกาลด้วย นี้เป็นคุณธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อความเป็นมนุษย์ ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั่นเอง
ดังนั้นขอให้นึกดูให้ดีว่า เรากำลังเป็นอย่างไร เรากำลังมีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ วันนี้ก็เป็นวันศาสนาของปี ทำบุญตักบาตร หรือว่าวันศาสนาอื่น ๆ ก็นึกถึงคำว่าศาสนาว่า ศาสนา คือ การปฏิบัติให้มนุษย์คงเป็นมนุษย์อยู่ได้ แล้วปัญหาก็ไม่มี
เดี๋ยวนี้วิ วิกฤตการณ์เกิดขึ้น เพราะมนุษย์ไม่มีธรรมะสำหรับมนุษย์ คือไม่มีศาสนา แล้วโลกเดี๋ยวนี้มันแคบ โลกเดี๋ยวนี้มันเล็ก ๆ ๆ เท่ากับว่าจะเอามาใส่ฝ่ามือดูได้แล้ว ดังนั้นปัญหาที่เกิดที่มุมโลกหนึ่งมันก็ระบาดไปทั่วทั้งโลก ไม่แปลกอะไร นี่เพราะว่าโลกมันไม่มีธรรมะสำหรับโลก โลกมนุษย์ไม่มีธรรมะสำหรับมนุษย์ มนุษย์ก็หมดไป เหลือแต่คนธรรมดาที่ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์ โลกมันก็ยุ่ง
ดังนั้นอาตมาจึงพูดว่า ศาสนาอย่างเดียวเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ ตัวมนุษย์เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ได้เพราะสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ศาสนาไหนก็ได้ถ้าถูกต้องแล้วเหมือนกันหมด และศาสนานั้นคือการปฏิบัติเพื่อให้มนุษย์รอดอยู่ได้ นี่พูด พูดอย่างกำปั้นทุบดินอย่างนี้ ศาสนา คือ ระบอบการปฏิบัติ ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติเพื่อคงความเป็นมนุษย์อยู่ได้
เรานึกถึง สิ่งนี้ วันนี้ เป็นพิเศษ ในฐานะที่เป็นวันบำเพ็ญพิธีทางศาสนาวันหนึ่ง ดังนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายเอาธรรมะ ๔ ประการนี้ ไปใช้แก้ปัญหาทางสังคม เพราะว่าถ้ามนุษย์อยู่คนเดียวไม่มีปัญหา ปัญหาก็ปัญหาอีกแบบหนึ่ง แก้ได้ด้วยความรู้ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู หมดกันเลยปัญหาส่วนตัว
แต่ปัญหาทางสังคมนั้นมีอีกมาก ขอให้ใช้ สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ นี้ ผูกพันไว้ด้วยสติเป็นอย่างดีแล้ว จะแก้ปัญหาทางสังคมได้หมด ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้เป็นอย่างนี้ อาตมาก็นำมาให้ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังในวันนี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติกันต่อไป ขอให้เกิดประโยชน์ตามความมุ่งหมายทุกประการเทอญ
ขอยุติการบรรยายไว้แต่เพียงนี้