แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวันสำหรับผู้บวชใหม่ในวันนี้ คงกล่าวถึง เรื่องสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ต่อไปอีก เราได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรม มาหลายครั้ง ก็เป็นลำดับมา เพื่อให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ให้ถึงที่สุด นับตั้งแต่ว่าไอ้คำว่าธรรม คำๆ นี้ หมายถึง ทุกสิ่ง นั้นสิ่งที่เรียกว่า ธรรม มันจึงมีหลายประเภท ธรรมที่เป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จะแบ่งเป็น ๔ ประเภท ตัวสภาวธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นอยู่เอง แล้วก็สัจธรรม คือ สัจจะหรือความจริงที่เกี่ยวกับสภาวธรรมนั้นๆ และปฏิปัตติธรรม เป็นหน้าที่ที่มนุษย์โดยเฉพาะ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหรือสัจจะเหล่านั้น แล้วในที่สุดก็ได้รับ วิปากธรรม ผลของการปฏิบัติหน้าที่ นี่คุณจะต้องจำไว้ให้ดีอย่าให้มันเฟือนในข้อนี้ได้ จะได้ใช้ประโยชน์ทั่วไปในเรื่องอื่นๆ กันได้ด้วย
เดี๋ยวนี้ เรากำลังพูดกันเฉพาะในขอบวงของพุทธศาสนาก็มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ และแม้จะไปพูดในวงของวิทยาศาสตร์หรืออะไร มันก็ยังมีอย่างนี้ เท่าที่มันเกี่ยวกับมนุษย์ จำเป็นสำหรับมนุษย์ มันก็มีเท่านี้แหละ แล้วส่วนสำคัญที่สุดใน ๔ อย่างนี้ ใน ๔ ประเภทนี้ก็คือ หน้าที่ ที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ดังนั้นคำว่า ธรรม ในภาษาบาลีหรือในภาษาสันสกฤตก็ตาม ในปทานุกรมธรรมดาสามัญที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาไหนแล้วล่ะก็ คำนี้จะแปลว่า หน้าที่ คำว่า ธรรม จะแปลว่า หน้าที่ แต่ถ้าในภาษาทางศาสนา เขาจะตอบคำถามมากกว่านั้น เราจะปฏิบัติหน้าที่ นี่เราจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อะไร มันก็เลยเกิดกฎหรือสัจจะธรรมขึ้นมา และสัจจะธรรม กฏเหล่านั้นมันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่ตัวธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงที่เรียกว่า สภาวธรรม การปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ต้องเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อย่างนั้นใครจะไปลงทุนปฏิบัติกันทำไม ทางธรรม ทางศาสนาก็เพื่อที่จะประสบผลที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะมีได้ ก็เลยเกิดเป็น ๔ ความหมายอย่างนี้
ถ้าเราดูความสำคัญ ในแง่ที่จำเป็นที่จะเฉยไม่ได้ ก็คือ หน้าที่ ถ้าดูความสำคัญในสิ่งที่เราควรจะได้รับนั้นก็เป็นเรื่อง ผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ที่เรียกว่า วิปากธรรม ก็ควรจะเรียกว่าผลก็แล้วกัน แล้วมันก็มีสิ่งที่ควรจะทราบหรือสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ผลที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับนี่ มันตรงกันด้วยคำพูดคำหนึ่งในทุกศาสนา ในประเทศอินเดียหรือว่าออกไปนอกประเทศอินเดีย คำๆ นั้นคือคำว่า รอด ที่เป็นภาษาบาลีหรือสันสกฤตก็คือ วิมุตติหรือวิ-มุ-กะ-ติ บางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า มุ-กะ-ติ (นาทีที่5.33) เฉยๆ ศาสนาไหนมันก็สอนมุ่งมุกติ ทั้งนั้นในอินเดีย แต่โดยเหตุที่มุกตินี้มีความหมายได้หลายอย่างและก็เกิดการปฏิบัติกันขึ้นมาหลายอย่าง แต่จะเรียกผลอันสุดท้ายว่า มุกติ แปลว่าความรอด และเมื่อเลยออกไปถึงศาสนาคริสเตียน ศาสนาอะไรทำนองนั้น ทางฝ่ายพวกโน้นก็มีคำว่า รอด เป็นจุดหมายปลายทางเหมือนกัน มันคงจะเนื่องกันแต่ทีแรก ในพุทธศาสนาเรานี้ก็มีคำว่า รอด หรือ วิมุตติ อย่างที่ได้บอกแล้วบอกอีกว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พรหมจรรย์นี้มีวิมุตติเป็นอานิสงค์ คือความหลุดพ้นหรือความรอด ให้เข้าใจว่า คำนี้สำคัญที่สุด และมีความหมายกว้างที่สุด ใช้ได้ทุกระดับ ใช้ได้แก่ทุกศาสนา และแม้แก่ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น ความรอดชีวิตนี่ มันก็เป็นเรื่องทั่วไปของสิ่งที่มีชีวิต นี่ก็มีคำว่ามุกติ รอด รอดชีวิตอยู่ได้ นี่ชีวิตไม่ตายมันยังมีติดอย่างอื่นอยู่อีก ต้องรอดจากนั้นอีกทีหนึ่ง คือรอดจากความทุกข์ รอดจากกิเลส จะเป็นศาสนาที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ตามในประเทศอินเดียนั้น ผลสุดท้ายมุ่งมุกติกันทั้งนั้น ถ้าพวกมีตัวตนมันก็ยิ่งชัดเจนมาก เพื่อให้ตัวตนนี้พ้นจากการเวียนว่ายในวัฏสงสาร รอดออกไปจากวัฏสงสาร ไปอยู่เป็นตัวตนที่ถาวร นี่เขาก็เรียกว่ารอด ส่วนพุทธศาสนานี่ก็มีใช้คำว่า รอดหรือหลุดพ้น แต่กลายเป็นว่ารอดจากความหลง ว่ามีตัวตน โดยถือว่าความหมายแห่งคำว่าตัวตนนั่นนะมันเป็นคอก หรือเป็นกรงที่กักขังจิตใจของมนุษย์ มันต้องทำลายไอ้สิ่งที่เรียกว่าเป็นตัวตนเสียเป็นอันสุดท้าย ทำลายอวิชชาที่ให้เห็นว่าตัวตนเสีย อย่างนี้จึงจะเรียกว่ารอด นั้นพอรอด มันกลายเป็นไม่มีตัวตนโดยสมบูรณ์ แต่แล้วมันก็แปลกตรงที่ว่าใช้คำๆ นี้ด้วยกัน คือ ว่ารอดๆ หลุดรอด หลุดพ้นด้วยกันทั้งนั้น
พวกชาวบ้านชั้นที่ยากจนที่สุด บางทีก็ไม่มีอะไรจะกิน นั่งขอทานอยู่ตามริมตลิ่งที่เผาศพ ในเมืองพาราณสีมีมากที่สุด ไอ้คนเหล่านั้นไม่เคยมีการศึกษา แต่ก็รู้จักคำว่ามุกติ ผมก็เคยคุยกับเขา แล้วฝรั่งคนหนึ่งยังเอามาเขียนไว้ชัดว่าเขาไปถามผู้หญิง เหล่านี้โดยมากเป็นหญิงหม้ายและยากจน ถือภาชนะรออยู่ตามที่โบสถ์ศักดิ์สิทธิ์หรือที่เผาศพ เพื่อให้เขาให้ทานกินไปวันหนึ่ง มาถามผู้หญิงเหล่านี้ว่า คุณยังต้องการอะไร ที่ยังมาทนอยู่อย่างนี้ คุณต้องการอะไร ผู้หญิงคนนั้นเขาจะตอบว่า ต้องการมุกติหรือวิมุตติอย่างที่เรียก วิมุตติ ในพุทธศาสนา ในภาษาฮินดี เรียกว่า มุกติอย่างภาษาสันสกฤต คนขอทานเหล่านั้นก็ต้องการมุกติ แล้วถามว่าหลังจากนั้นคุณยังต้องการอะไรอีก หลังจากนั้นก็ต้องการอาหารเพื่อรับประทานไปวันหนึ่งๆ นี่ลองคำนวณดูว่าเขารู้จักสิ่งนี้กันจนเป็นสืบสายเลือดสายเนื้อจนพูดเป็นกันทุกคน ต้องการมุกติ และเป็นความคิดที่สูงสุดด้วย ต้องการมุกติก่อนอาหารเลี้ยงชีวิตประจำวัน หมายความว่าถ้าจะให้เลือกก็เลือกเอามุกติก่อน มุกติอย่างนี้ ของคนประเภทนี้ ก็คือมุกติอย่างมีตัวตน ไปอยู่กับพระเจ้าอย่างไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปทั้งนั้นแหละ มันเป็นระเบียบของศาสนาฮินดู ศาสนาไหนไปศึกษาเถอะมันจะพบว่าเขามุ่งหมายความรอดทั้งนั้น
ศาสนาคริสเตียนก็มีคำว่ารอด รอดแล้วรอดอีก พระเยซูเป็นผู้ช่วยให้รอด รอดไปอยู่กับพระเจ้า นี่คือผลที่เรียกว่า วิปากธรรม ที่สัตว์มันต้องการได้แม้โดยความรู้สึกแห่งสัญชาตญาณ สุนัขกับแมวก็ต้องการความรอด รอดจากความตาย มันจึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อรอดอยู่ได้ มีอันตรายบ้าง มีศัตรูบ้าง กินอาหารบ้าง กระทั่งว่าการสืบพันธุ์ไว้อย่าให้สูญพันธุ์นี่ก็เพื่อความรอดอยู่ได้ของชีวิตเหล่านี้ นี่แปลว่ารอดมีความหมายมากถึงขนาดนี้ นั้นเราจะต้องการความรอดอยู่ โดยรู้สึกตัวก็ได้ โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ เป็นผลเมื่อต้องการปฏิบัติถึงจะได้ ถ้าปฏิบัติต้องมีความรู้เรื่องกฎเกณฑ์ที่ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร กฎเกณฑ์เหล่านี้มันก็เป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แก่สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ คือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง มันเกี่ยวกันอย่างแยกกันไม่ได้ และสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่า สภาวธรรม
ใน ๔ ความหมายนี้ เราจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม ที่เป็นความหมายที่แคบของคำว่าธรรมกันในวันนี้ พวกคุณจะต้องรู้ไว้ให้มันแจ่มแจ้งชัดเจนว่า สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมนี้ เป็นรากฐานของทั้งหมด ถ้าว่าจะเป็นรากฐานของการศึกษาก็ต้องศึกษาลงไปที่ตัวสภาวธรรมนี้ก่อน ให้รู้ว่ามันคืออะไร อย่างไร ถ้าจะเป็นรากฐานของการมีอยู่ เป็นอยู่ของสิ่งทั้งปวง มันก็คือ ตัวธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นอยู่ได้ด้วยตนเอง คือมีอยู่เอง เป็นอยู่เอง เรียกว่าสภาวธรรม จะโดยแง่ของวิทยาศาสตร์ หรือโดยแง่ของศาสนา หรืออะไรก็สุดแท้ มันมีสิ่งซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นรากฐานทั่วไป เราจะไปลูบ ไปคลำ ไปศึกษา ไปอะไร ก็ต้องไปจรดเข้าที่สิ่งเหล่านี้ มันถึงจะมีเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันต้องมีธรรมชาติที่มีอยู่เอง เป็นอยู่ได้เอง เป็นตัววัตถุหรือเป็นตัวที่เป็นปัญหาสำหรับที่เราจะต้องจัดการกัน ขอให้สนใจไอ้คำว่า สภาวธรรมนี้ นี้ถ้าคำนี้เป็นภาษาบาลี แล้วมันใช้กันอยู่แต่ในวัด พวกนอกวัดมันเกลียดคำอย่างนี้ โดยเฉพาะพวกคุณที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยนี้ คงสั่นหัวต่อคำชนิดนี้ แล้วมันก็ลำบาก มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะให้รู้เรื่องอะไรต่อไป ถ้าไปเกลียดคำอย่างนี้ โดยเฉพาะก็มักจะเจอคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กันเสีย นี่เป็นความจริงที่มีอยู่ในสภาวธรรมเหล่านั้น แล้วเราก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร โดยเหตุที่พูดกันอยู่แต่ในวัด ก็เข้าใจว่าไม่เกี่ยวกับเรา แล้วก็เลยเกลียด เลยเบื่อ เบือนหน้าไปทางอื่น ถ้าเป็นกันอยู่อย่างนี้ ก็ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า ถ้าเราพูดถึงสภาวธรรม เราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นรากฐานทั่วไป เป็นที่ตั้งแห่งปัญหาทั้งปวง ก็จำไว้หน่อยหนึ่งว่า ไอ้สภาวะนี่แปลเป็นอยู่เอง หรือมีอยู่เอง สภาวธรรม ก็แปลว่าสิ่งซึ่งเป็นอยู่เอง ซึ่งมีอยู่เองตามธรรมชาติ ถ้าเรียกให้มันสั้นที่สุด ก็เรียกว่าตัวธรรมชาติ ที่มันมีอยู่เอง จะเป็นสังคตะ อสังคตะ ก็เรียกว่าธรรมชาติทั้งนั้นและก็มีอยู่ได้เองโดยตัวมันเอง
นี่เราจะดูถึงตัวสิ่งที่เป็นปัญหา สำหรับปัญหาที่มีอยู่จริงก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าตัวความทุกข์ แต่ถ้ามาดูถึงตัวความทุกข์จะไปดูที่ไหน ไอ้ความทุกข์เป็นนามธรรม ก็ไปดูที่สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ นั่นแหละคือตัวสภาวธรรมชนิดที่เป็นรูปหรือเป็นกิริยาอาการ และก็มีมากสิ่ง จึงต้องรู้จักเค้าเงื่อนของทุกสิ่งเหล่านี้ แล้วศึกษาให้เข้าใจ ทีนี้เนื่องจากมันมีมาก เราก็จะเอาแต่ที่จำเป็นที่รีบด่วน คือไม่จำเป็นจะต้องรู้กันทั้งหมด รู้แต่ที่มันเป็นปัญหาเฉพาะเพื่อที่จะดับความทุกข์ได้ เพราะนี่ก็อาศัยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตรู้ไม่มีประมาณ เท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า แต่ที่เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว เท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า และรีบด่วนด้วย นั่นก็คือเรื่องความทุกข์ ก็ดับทุกข์เสียให้ได้ มีเท่านั้น นอกไปจากนั้นจะรู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ทีนี้ตัวความทุกข์นี่อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม เมื่อไม่เข้าใจก็ยังมืดมนอยู่ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร
แล้วถ้าจะให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม คุณจะต้องตั้งต้นเข้าไปที่เรื่อง สิ่งที่เรียกว่าธาตุ ธา-ตุ โดยหลักสำหรับศึกษาจะเรียกว่า จะถือว่ามีอยู่ ๖ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่เป็นพวกรูปธรรม เป็นวัตถุ แล้วก็อากาศธาตุ ธาตุความว่าง ธาตุที่ว่างหรือความว่าง แล้วก็ วิญญาณธาตุ ธาตุที่มีความรู้สึกได้ เรียกว่าธาตุวิญญาณ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุว่าง แล้วก็ธาตุใจ ธาตุจิต ธาตุใจ ธาตุมโนหรือธาตุวิญญาณก็แล้วแต่จะเรียก ก็เรียกว่าธาตุใจกันดีกว่า แปลวิญญาณในที่นี้ว่า ใจ จะดีกว่า
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พวกนี้เอาไว้เป็นพวกรูปธาตุ รูปธรรม ส่วนอากาศ ถ้าหมายถึง ความว่างโดยแท้จริงแล้วก็ไม่เป็นรูป เป็นนามทั้งนั้น ถ้าวิญญาณธาตุนี้ ก็หมายถึงธาตุนามหรือธาตุจิตใจ รู้จักธาตุ ๖ อย่างนี้ สำหรับคำว่าธาตุ นั้นก็แปลว่า ทรงตัวอยู่ในฐานะเป็นส่วนย่อยของสิ่งใหญ่ คำว่า Element ที่เขาใช้เป็นคำแปลสำหรับคำว่า ธาตุ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน เป็นชื่อของสิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง สำหรับเป็นส่วนย่อยของสิ่งที่จะประกอบ ของการที่จะประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใหญ่ อย่างนี้เราเรียกว่า ธาตุ
ในคนๆ หนึ่งก็จะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ในสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึก จะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกันก็เรียกว่ามี ๖ ธาตุ นี่คือรากฐานพื้นฐานแท้ของสภาวธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์ ทีนี้ต่อไปนี้ ไอ้ ๖ ธาตุนี้ มันจะปรุงกันเข้าเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นโน่น เช่น ปรุงขึ้นมาเป็นอายตนะ สำหรับรู้สึก ปรุงขึ้นมาเป็นขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นี่เรามาทำความเข้าใจเรื่องคำว่า ธาตุ กันให้เป็นพื้นฐานเสียก่อนดีกว่า คำว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี้ก็หมายถึงคุณสมบัติต่างๆ กัน ๔ ชนิด คุณสมบัติแห่งการกินเนื้อที่ คือมันต้องการที่ ต้องการ Space มันมีคุณสมบัติ คือมันต้องการเนื้อที่ รุกเนื้อที่ นี่เราเรียกว่า ธาตุดิน คือ ของแข็ง ธาตุที่สอง คือธาตุน้ำ คือธาตุที่มีคุณสมบัติเพื่อยึดเหนี่ยวกันไว้ ไม่ให้ส่วนน้อยๆ นั้นหลุดออกจากกัน ก็เรียกว่าธาตุน้ำ เพราะธาตุน้ำนั้นเห็นได้ง่าย มีคุณสมบัติที่ยึดหรือกุมชัดเจน Cohesion Cohesion ดึงเข้ามาหากัน ไม่ยอมแยกจากกัน ดูได้ง่ายดูที่ปรอท เราแยกปรอท มันจะวิ่งเข้ามารวมกัน ของเหลวทั้งหลายก็เหมือนกันแหละมันจะมีคุณสมบัติอันหนึ่งที่จะวิ่งเข้าหากันเป็นเนื้อเดียวกันอยู่เรื่อย แต่ไม่ได้หมายถึงของเหลว หมายถึงคุณสมบัติอันนั้นที่มีอยู่ในของเหลว เรียกว่า ธาตุน้ำ นั้นเราจึงดูว่าทำไมก้อนหินก้อนนี้ไม่กระจายออกเป็นอณู เป็นปรมาณู เพราะมันมีธาตุน้ำ คือการ Cohesion ยึดหน่วงอณูเหล่านี้ไว้ ก้อนหินจึงทรงตัวอยู่เป็นก้อนไม่กระจายออกไปจากกัน คุณสมบัติแห่งการเกาะยึดกันไว้นี้ก็เรียกว่า Cohesion คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า อาโปธาตุ ทีนี้ธาตุไฟ คือคุณสมบัติที่ร้อน ที่ทำการเผาไหม้ แสงสว่างไอ้นี่มันเรื่องที่หลังเมื่อมีการเผาไหม้ ร้อนก็อุณหภูมินั่นเอง เพราะฉะนั้นเอาอุณหภูมินี่เป็นธาตุไฟ คุณสมบัติที่เผาไหม้ ธาตุลมนี่คือคุณสมบัติที่ระเหย กระจายออกจากกัน ตรงกันข้ามกับธาตุน้ำ ธาตุน้ำมันจะเกาะกุมกันเรื่อย แต่ธาตุลมนี่มันต้องการจะระเหยออกไปจากกัน จะลอยไป เป็นลักษณะของก๊าซ ซึ่งคือว่าอณูที่ระเหยออกไป อย่าเอาไปปนกันเสีย หรือว่าอย่าเข้าใจชนิดที่ลางเลือน ธาตุดิน คือคุณสมบัติแห่งการรุกเนื้อที่ รุกล้ำเนื้อที่ มันจึงเรียกว่าของแข็ง ธาตุน้ำ คุณสมบัติที่จะเกาะยึดกันไว้ไม่ให้กระจายออกจากกัน ถ้ามันไม่มีธาตุนี้ ต้นไม้อะไรนี้ มัน อยู่ไม่ได้ มันก็จะกระจายออกเป็นอณูเป็นอะไรไปหมด มันมีคุณสมบัติอันหนึ่งที่มันคอยจะดึงให้เกาะกันเป็น Tissue เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นอะไรขึ้นมา ลองไม่มีธาตุนี้ มันก็เป็นอย่างที่ทำระเบิดปรมาณู อณูมันสลายออกไป ปรมาณูสลายออกไป คุณสมบัติที่เกาะยึดกันไว้นี้ เรียกว่า ธาตุน้ำ มีในทุกสิ่ง ธาตุไฟก็เผา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เผาไหม้ ธาตุลมก็ระเหย นี่เรียก Element คุณสมบัติที่เป็น Element ของสิ่งทั้งปวงที่มันจะประกอบกันขึ้นเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นสิ่งมีชีวิต เป็นอะไรขึ้นมา เป็นที่ตั้งชีวิตมา นี่เราดูในทุกสิ่งจะพบคุณสมบัติเหล่านี้ แต่บางอย่างมันมีน้อยมาก เช่น ก้อนหินก้อนนี้ เราจะเห็นแต่คุณสมบัติที่มันแข็ง หรือมันรุกเนื้อที่ แต่คุณสมบัติของความเป็นธาตุน้ำมันก็มีอยู่ ที่เกาะกุมกันไว้ ไม่ให้กระจายกันออกจากกัน หรือว่าจะพูดอย่างง่ายๆ คือ ก้อนหินนี้บีบออกก็มีน้ำบ้างไม่มากก็น้อย และในก้อนหินนี้ก็มีอุณหภูมิอันหนึ่ง ระดับหนึ่ง เป็นอุณหภูมิอันหนึ่ง ส่วนที่เป็นธาตุไฟมีอยู่ในก้อนหินก้อนนี้ หรืออาจจะทำให้ร้อนแรงกว่านี้ด้วยวิธีอื่น คล้ายๆ กับว่ามันซ่อนอยู่ก็ทำให้ออกมา เอาก้อนหินนี้ไปถูกันเข้ามันก็เกิดความร้อนออกมามากกว่าธรรมดา ทีนี้การระเหยของสิ่งบางสิ่งที่มีอยู่ในก้อนหินนี้ก็มีเหมือนกัน ระเหยอยู่เรื่อย แต่มันเล็กน้อยเกินไปจนมองไม่เห็น
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินจะเห็นได้ง่ายๆ ก็มีอยู่ในของแข็ง เช่นเนื้อหนังนี่เป็นของแข็ง ธาตุน้ำ ก็อยู่ในเลือด ในน้ำเหลือง ในน้ำมูกที่เราสูดกัน ธาตุไฟ ก็คืออุณหภูมิในร่างกาย ธาตุลม ก็คือส่วนที่ มันเคลื่อนได้ ระเหยไปมาอยู่ในร่างกาย ในโลหิต ในเลือด ในเนื้อ ในไหนก็มีทั้งนั้น การระเหยนั่น ที่มันเกี่ยวกับต้นไม้ เกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับแผ่นดิน ที่ไม่มีชีวิต ไป ไปคิดเอาเอง มันก็มี ยกตัวอย่าง ก้อนหินนี้ก้อนหนึ่งละ
ที่นี้ก็มาถึงสิ่งที่มีชีวิต มันไม่มีเพียง ๔ ธาตุ มันก็ต้องมีธาตุที่เรียกว่า อากาศธาตุ นั้นอยู่ด้วย ใช่ไหมในก้อนหินนี่ ไอ้ส่วนว่างระหว่างอณูนี้มันเป็นอากาศธาตุ แต่มันน้อยมากจนดูไม่เห็น ที่นี้สำหรับที่มีชีวิต เช่นต้นไม้ เช่นสัตว์เดรัจฉาน เช่นคนนี้มันก็มีวิญญาณธาตุเพิ่มเข้ามา คือเป็นธาตุชนิดที่เป็นนาม ที่จะแสดงปฏิกิริยาเป็นความรู้สึกอะไรได้ นี่ก็จัดเป็นธาตุใจ ธาตุนาม ตรงนี้เราจะไม่เรียนกันให้มากจนถึงกับว่าธาตุนามนี้มันออกมาจากรูป หรือว่ารูปออกมาจากนาม หรือว่ามันจะต้องอาศัยกัน แต่ถ้าจะพูดไว้ทีก่อน ก็อาศัยกัน ธาตุนามจึงมีอยู่ได้เพราะอาศัยรูป อาจจะเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงของรูปที่มีอยู่ในส่วนลึกในภายใน มีลักษณะเป็นธาตุหนึ่ง เป็นธาตุที่ละเอียดมาก เป็นธาตุที่รู้สึกอะไรได้ ต้องไปศึกษาอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบธรรมะ แล้วเราก็ยังไม่ศึกษา ให้รู้แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ในสิ่งที่มีชีวิตมันมีอยู่ธาตุหนึ่งที่จะทำให้รู้สึกอะไรได้ จะแสดงปฏิกิริยาออกมาได้ นี่ก็มี พูดถึงคน เพราะว่าธรรมะนี่ก็เพื่อคน เราก็พูดถึงคน ในคนเรา คนหนึ่งมี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ จำไว้เถอะไม่เสียหลาย ไม่เสียเวลา เพราะเรื่องข้างหน้ายังมีอีกมาก แม้ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะในพุทธศาสนา ไอ้เรื่องธาตุทั้ง ๖ นี้จะยังมีประโยชน์อีกมากเรื่องอื่นๆ
เดี๋ยวนี้เราจะพูดถึงสภาวธรรมนี้ที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง ให้รู้ว่ามนุษย์นี่ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ถ้าเป็นพวกธาตุหยาบๆ ก็เรียกว่ารูปธาตุ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีเพียง ๔ และที่ละเอียดประณีต เข้าใจยากเหลือเกินนั่นคือ ธาตุนาม ธาตุใจ ธาตุวิญญาณ และอีกธาตุหนึ่งคือ ธาตุที่ว่างสำหรับสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ เรียกว่า อากาศธาตุ อากาศธาตุนั้นไม่ใช่ลม ลมนั้นคือมันมีวัตถุอันหนึ่งซึ่งลอย ไหลไปเป็นก๊าซ ถ้าอากาศธาตุต้องว่างจากสิ่งเหล่านี้ ที่ในตัวเราแม้แต่ในเนื้อของเรานี้ ก็ดูเถอะ มันก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณสำหรับรู้สึก เป็นระบบประสาท เป็นอะไร กระทั่งรวมกันมากจนรู้สึก เป็นความรู้สึกของจิต ของวิญญาณ มีมันสมอง เป็นสำนักงาน มีกระดูกสันหลัง เป็นเครื่องสัมพันธ์กัน ธาตุที่เป็นความรู้สึกนั่นคือ วิญญาณธาตุ
นี่สภาวธรรมหมวดที่ ๑ ที่ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องรู้จักก็คือ ธาตุทั้ง ๖ ถ้ามีอยู่แต่สักว่าเป็นธาตุทั้ง ๖ เฉยๆ ไม่ปรุงแต่งซึ่งกันและกัน มันก็ไม่มีเรื่องอะไร เดี๋ยวนี้มัน ไอ้ธาตุทั้ง ๖ นี้มันจะปรุงเป็นนั่น จะปรุงเป็นนี่ พวกธาตุทั้ง ๔ นี้ จะปรุงเป็นอวัยวะ เนื้อ หนัง สำหรับลูกตา สำหรับหู สำหรับจมูก สำหรับลิ้น สำหรับอะไรต่างๆ และเมื่อมันมีการกระทบกันด้วยสิ่งภายนอกที่เรียกว่า อายตนะภายนอก เช่น รูปข้างนอกมากระทบกับตาข้างในนี่ ไอ้วิญญาณธาตุจะปรากฏออกมาเป็นการเห็นทางตา ที่เรียกว่า จักษุวิญญาณ มันจะเกิดเองโดยไม่มีวัตถุธาตุนี้ไม่ได้ ต้องมีวัตถุธาตุ และวัตถุธาตุก็ไม่ใช่อย่างเดียว อย่างน้อยก็ต้องมี ๒ ฝ่าย หรือ ๒ อย่าง พอมันเนื่องกันเข้า มันจะเกิดปฏิกิริยาอย่างหนึ่งขึ้น สำหรับวิญญาณธาตุ หรือธาตุจิตธาตุใจนี้ปรากฏออกมา นั้นเราจะไปศึกษากันละเอียดในเรื่องที่ว่าด้วยอายตนะในปฏิจจสมุปบาท
ในที่นี้เอาแต่ชื่อของมันว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า จักษุอายตนะ โสตะอายตนะ ฆานาอายตนะ ชิวหาอายตนะ กายาอายตนะ มโนอายตนะ เป็นสิ่ง สิ่งหนึ่ง เป็นสิ่ง ฝ่ายหนึ่งซึ่งจะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เรียก อายตนะ คำนี้แปลว่า หน่วงเหนี่ยวให้มันถึงกัน อายตนะข้างใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งระบบนะ ทั้งระบบ ระบบตา ระบบหู ระบบจมูก ทั้งระบบนะเรียกว่าอายตนะ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ก็เหมือนกับมิได้มีอยู่ มันเป็นธาตุอยู่ พอถึงเวลามันทำหน้าที่มันลุกขึ้นเป็นอายตนะเพื่อทำหน้าที่ เมื่ออายตนะข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบกายกระทบใจ ได้คู่กัน ข้างในก็เลยเรียกว่าอายตนะภายใน ข้างนอกก็เรียกอายตนะภายนอก เป็นคู่ คู่ๆ พอรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหู กลิ่นมากระทบจมูก นี่เป็นคู่ๆ กัน มันจะเกิดปฏิกิริยาขึ้น แม้ในรูปธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นตา เป็นระบบตา มันจะมีวิญญาณทางตาเกิดขึ้น พวก materialism เขาเลยถือว่า ไม่มีธาตุวิญญาณ ไม่มีธาตุจิต มันมีแต่ธาตุวัตถุ คือ mater material ไอ้จิตไอ้นามที่มันเกิดขึ้น เขาถือว่าไม่ใช่เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นเพียงปฏิกิริยาที่ออกมาจากรูปธาตุ นี่ก็เป็นในลัทธิ materialism กระทั่งที่พวกคอมมิวนิสต์เขาถือกันนั่นแหละ ในลัทธิ materialism เขาพยายามพิสูจน์ว่า ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ ไม่มีธาตุวิญญาณ มีแต่ธาตุวัตถุนี่ ถ้ามันได้นั่นกันแล้ว มันจะมีปฏิกิริยาออกมาเป็นสิ่งที่คนบางพวกเรียกว่า จิต หรือว่า วิญญาณ นี่ไปกันหมายถึงอย่างนั้น ก็เลยไม่สนใจเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ แล้วดูจะเป็นเรื่องอ้างเลศมากกว่า ว่าอย่าไปสนใจเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ ไปสนใจแต่เรื่องวัตถุ เพราะฉะนั้นจึงมุ่งให้ผลิตวัตถุให้พอแก่ความต้องการ แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขเอง จึงไม่พูดถึงกิเลส ไม่พูดถึงอะไรที่เป็นเรื่องจิต เรื่องวิญญาณ โดยเขาถือว่า ถ้าผลิตวัตถุออกมาเพียงพอแก่ความรู้สึกของร่างกายแล้ว มันก็หมดปัญหา เอากันอย่างนี้ มันจึงเข้ากันไม่ได้กับพุทธศาสนา ซึ่งมีเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ เราจะไม่ถือว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าความรู้สึก หรือจิต นี่เป็นเพียงปฏิกิริยาที่กระเด็นออกมาจากวัตถุ ๒ อย่างมากระทบกัน เป็นรูปข้างนอกกับตาข้างใน มีปฏิกิริยาจากวัตถุล้วนๆ เกิดขึ้นเป็นจักษุวิญญาณ แต่เรื่องนี้ก็ไม่สำคัญ ขอแต่ให้มันมีความรู้แน่นอนลงไปที่ว่า มันจะต้องมีจักษุวิญญาณเกิดขึ้น สำหรับรู้สึกทางตา มีโสตะวิญญาณเกิดขึ้นสำหรับรู้สึกทางหู ฆานะวิญญาณเกิดขึ้นสำหรับรู้สึกทางจมูก จนครบทั้ง ๖ คู่ รู้เพียงเท่านี้พอ จะไปเถียงกันว่ามาจากอะไรโดยละเอียดไปมันก็ไม่จำเป็น เพราะปัญหามันอยู่ที่ความทุกข์ เดี๋ยวนี้เรารู้แต่เพียงว่า พอตากับรูปอาศัยกันก็เกิดจักษุวิญญาณปรากฎออกมาชั่วขณะหนึ่งเป็นวิญญาณ ทางหูก็เป็นโสตะวิญญาณ ทางนั้น กระทั่งเป็นมโนวิญญาณ อารมณ์ของความนึกคิดทางใจถูกเข้ากับใจ ก็เป็นมโนวิญญาณออกมา นี้เรียกว่าอายตนะ ๖ หรือ ๖ คู่ นี้ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง
สภาวธรรมหมวดที่ ๒ ที่พวกคุณควรจะจำให้แม่นยำก็คือ อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง ๖ ระบบ มันจะมีต่อเมื่อมันมีคู่ ถ้าไม่มีคู่มันเหมือนกับไม่มี เช่น ตาถ้าไม่มีรูปก็เหมือนกับไม่มี ถ้าตายังไม่ทำการเห็นรูป เราเรียกว่ายังไม่มีตา ตายังมิได้เกิด หูก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่มีเสียงมากระทบหู ก็เรียกว่าหูยังมิได้เกิด หลักธรรมะเขาวางไว้อย่างนี้ ฉะนั้นคำว่าเกิดหรือคำว่าดับในหลักธรรมะ มันไม่เหมือนกับเรื่องทางวัตถุ เช่นภาษาวัตถุธรรมดา จะถือว่าเรามีตา มีหู มีจมูก อยู่ตลอดเวลา แต่ทางธรรมะไม่ถืออย่างนั้น เรามิได้มีตา หู จมูก อยู่ตลอดเวลา เราจะมีตาต่อเมื่อตาทำหน้าที่ จะมีหูต่อเมื่อหูทำหน้าที่ มีจมูกต่อเมื่อจมูกทำหน้าที่ จนครบทั้ง ๖ อย่าง นี่ภาษาพูดอย่างธรรมะ วิธีการอย่างธรรมะ ฉะนั้นจึงถือว่า แม้แต่ตานี้ก็มีการเกิดดับ หูก็มีการเกิดดับ จมูกก็มีการเกิดดับ มิใช่ว่ามันเกิดอยู่ตลอดเวลา
หมวดที่ ๑ คือ ธาตุ ๖ หมวดที่ ๒ คือ อายตนะ ๖ ทีนี้หมวดที่ ๓ ก็คือ วิญญาณ ๖ เกิดทางตาเรียกจักษุวิญญาณ เกิดทางหูเรียกว่าโสตะวิญญาณ ทางจมูกเรียกฆานะวิญญาณ ทางลิ้นเรียกว่าชิวหาวิญญาณ ทางผิวหนังทั่วไปเรียกว่ากายะวิญญาณ ทางใจล้วนๆ ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ ในสภาวธรรมหมวดที่ ๓ ที่เราจะต้องเข้าใจก็คือ วิญญาณ ๖ ทีนี้เมื่อวิญญาณด้วย อายตนะทั้งคู่ด้วย มาอยู่ในที่เดียวกัน มาถึงกันเข้า เรียกอาการอันนี้ว่า ผัสสะ หรือสัมผัสก็ได้ ผัสสะเฉยๆ ก็ได้ สัมผัสสะก็ได้ เพราะฉะนั้น ผัสสะนี้ก็ต้องมี ๖ อีกนั่นแหละ เพราะไอ้เรื่องนั้นมันมีอยู่ ๖ แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีอยู่ ๖ แล้ว มีวิญญาณ ๖ นั้นผัสสะมันก็มี ๖ อีก ถ้ามีผัสสะแล้ว กลุ่มที่ตัดไปก็คือ เวทนา เวทนาที่รู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวทนาก็ ๖ อีก พอถึงเวทนานี่ แล้วแต่เราจะพิจารณาแยกไปทางไหน แยกไปทางตัณหาก็ได้ ตัณหามันก็มี ๖ อีกนั่นแหละ ตัณหาที่อาศัยรูป ตัณหาที่อาศัยเสียง อาศัยกลิ่น นี่ก็ครบชุดแล้วสำหรับจะเป็นทุกข์ เพราะว่าหลังจากนี้ก็จะมี อุปาทาน ให้เป็นทุกข์
สภาวธรรมหมวดที่ ๑ คือ ธาตุทั้ง ๖ พอได้โอกาสได้เวลาก็ปรุงเป็นสภาวธรรมหมวดที่ ๒ หรือ อายตนะ ๖ หมวดที่ ๓ เป็น วิญญาณ ๖ หมวดที่ ๔ เป็นผัสสะ ๖ หมวดที่ ๕ เป็นเวทนา ๖ หมวดที่ ๖ เป็นตัณหา ๖ พอกันทีแล้ว พอสำหรับจะพูดว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร มันยังมีอีกมาก ค่อยๆ พูดกันทีหลังดีกว่า สภาวธรรมที่เราจะต้องรู้จักกันโดยเร็วโดยด่วนก็คือ ๖ ชุดนี้ ธาตุ ๖ อย่างที่ว่ามาแล้ว เป็นพื้นฐานทั่วไป พอได้โอกาสธาตุ ๖ ก็ลุกขึ้นมาเป็นอายตนะทางตา แล้วก็มีวิญญาณทางตา ผัสสะทางตา เวทนาทางตา ตัณหาทางตา ที่ในเรื่องของหู ของจมูก ของรส ของอะไร ก็เหมือนกันนั่นแหละ
นี้เราก็มาดูว่า มีเวทนารู้สึก รู้สึกขึ้นมาแล้วมันก็ต้องเกิดความอยากไปตามความรู้สึก ถ้าสุขเวทนาก็อยากไปอย่าง ทุกขเวทนาก็อยากไปอีกอย่าง อทุกขมสุขเวทนามันก็อยากไปอีกอย่างหนึ่ง ที่จะไม่ให้อยากนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าสุขเวทนาเรารัก เราชอบ เราก็อยากไปในทางที่จะมี จะเอา จะเสวย จะอะไรต่างๆ ถ้าว่ามันไม่ถูกกันมันเป็นทุกข์ เราก็อยากจะหนี หรือว่าอยากจะทำลาย อยากจะต่อสู้ อยากไปในทางตรงกันข้าม ผลักออกไป ถ้ามันเป็นอทุกขมสุขมันอยากจะรู้ว่ามันเป็นอะไรต่อไป มันก็ให้เกิดความโง่ ถ้าไปสนใจเข้ามันก็จะเกิดความโง่เพิ่มขึ้น คือไม่รู้เรื่องอันแท้จริงของสิ่งเหล่านี้ ก็ไปคิดเห็นในทางมีตัวมีตนไปเสียเรื่อย นี่ไม่ใช่ว่าจะให้ฟังผมพูดหรืออ่านจากหนังสือ ทุกคนจะต้องไปศึกษาจากความรู้สึกในใจจริงๆ ว่าความอยากมันได้เกิดขึ้นอย่างไร ทีแรกมีแต่วัตถุนอน นอนอยู่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เดี๋ยวมันออกมาเป็นอายตนะ ทำหน้าที่รับอารมณ์ ออกมาเป็นวิญญาณ ออกมาเป็นผัสสะ ไม่ใช่เพียงแต่จดไว้นะ จะต้องไปนั่งวิปัสสนาให้เข้าใจว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่มันปรุงเป็นอายตนะได้อย่างไร เพราะว่าเราก็เคยผ่านมาอยู่ตลอดเวลา ผ่านอยู่ตลอดเวลาที่ตามันทำงานทีหนึ่ง หูมันทำงานทีหนึ่ง จมูกทำงานทีหนึ่ง ทั้ง ๖ นี่วนเวียนกันอยู่นี่ เมื่อไร และอย่างไร จะได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณโดยแท้จริง เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้หล่ะ
ที่จะให้เข้าใจไปอีกอันหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง ก็เรียกว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ นี่มันกลุ่มอายตนะ ๖ ธาตุ ๖ อายตนะ ๖ แล้วก็จะมี ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่สวดอยู่ทุกวัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปังอนิจจัง เวทนาอนิจจา หรือว่า รูปังอนัตตา เวทนาอนัตตา จนกระทั่งวิญญาณังอนัตตา ไอ้ขันธ์ ๕ นี่ อยู่ที่ไหน เขาเรียกว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สิ่งเหล่านี้ต้องพูดกันแล้ว เรียกกันในภาษาพูดแล้ว ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด แต่เขาไปเข้าใจมันว่าเป็นตัวตน พระพุทธเจ้าเกิดท่านมาสอนให้รู้ว่าทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักทั้ง ๕ นี้ ที่เป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกว่ามีตัวตน
เมื่อเรามีการเห็นทางตา เกิดจักษุวิญญาณ เกิดสัมผัสทางตานี้ เมื่อนั้นตาที่เป็นรูปกาย ไอ้ตานี่มันต้องเนื่องด้วยร่างกายทั้งหมด มันจึงเป็นตาอยู่ได้ นั้นจึงเลยถือเอาทั้งร่างกาย ซึ่งในที่นี้มีตาเป็นเจ้าของงาน เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีร่างกายนี้ก็เรียกว่า รูป รูปขันธ์ ที่นี้ตามันสัมผัสกับรูปข้างนอก มันจึงจะเกิดตาขึ้นมา เป็นตาจริงขึ้นมา แล้วในขณะนั้นแหละ รูปข้างนอกก็มี มาถูกเข้ากับตานี้ ตานี้ก็ทำหน้าที่ เรียกว่าทั้งตัวทั้งเนื้อของเรานี้ ซึ่งมีตานี้ ก็เรียกว่ารูปขันธ์ ส่วนที่เป็นรูปขันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็หมายถึงตัวตานั่นเป็นรูปขันธ์ ที่อาศัยรูปข้างนอกด้วย รูปขันธ์เกิด ก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ รูปขันธ์ก็เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดรูปขันธ์ทางตา เมื่อหูได้ยินเสียงก็เกิดรูปขันธ์ทางหู ได้กลิ่นก็เกิดรูปขันธ์ทางจมูก โดยเอาที่ ตา หู จมูก นั้นเป็นรูปอาศัยอยู่กับเนื้อตัวทั้งหมดนี้ นี่ก็เรียกว่าเกิดรูปขันธ์ ทีนี้ไอ้ตาเห็นรูปแล้ว เกิดวิญญาณนั้น ก็เรียกว่าเกิดวิญญาณขันธ์ไว้ทีก่อนก็ได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ นี่ก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์ก็ได้ แต่ไม่ใช่ตัวการที่สำคัญ เดี๋ยวจะพูดให้ฟัง นี้เกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนาขึ้นมา นั่นคือเวทนาขันธ์ แต่ก็ยังไม่ค่อยสำคัญ เรียกได้เวทนาขันธ์ ทีนี้พอจากเวทนาแล้วมันจะเกิดความอยาก เกิดตัณหาอย่างที่ว่า นี่ก็คือ สังขารขันธ์ ในขณะที่มันเกิดเวทนาขึ้นมา จิตมันจะทำหน้าที่อีกทีหนึ่ง เวทนาเป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตามนี่จะเป็นธรรมารมณ์อันหนึ่ง สำหรับให้จิตหรือมโนนั้นสัมผัสอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ก็เป็นเรื่องทางมโน ทางวิญญาณสัมผัสต่อเวทนานั้น แล้วสำคัญมั่นหมายด้วยความโง่ว่าเวทนานี้เป็นสุข นี้เป็นอร่อย เวทนานี้เป็นของกูนี่ นี่คือเวทนาขันธ์ที่สมบูรณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอทุกขมสุขบ้างก็สมบูรณ์สำหรับที่ให้เกิดความอยากตามเวทนานั้น ถ้าความอยากเกิดขึ้นนี่เป็นสังขารขันธ์ที่สมบูรณ์ และเป็นกรรมด้วย ความคิดอย่างนั้น อย่างนี้เป็นมโนกรรม ที่ถ้ามันมีแรงมากมันก็จะออกมาทางการกระทำ เป็นกายกรรม เป็นวจีกรรม เป็นออกปากชมเชย ออกปากสรรเสริญ หรือว่าออกปากด่าเขา หรือว่าไปตีเขาก็ได้ ออกมาเป็นกายกรรม เป็นกลุ่มสังขารทั้งนั้น ก็ทีแรกที่มันคิดว่าอย่างไรนั่นแหละเป็นสังขารขันธ์ ทีนี้เมื่อวิญญาณ มโน มโนมันสัมผัสกับเวทนานั้นเป็นวิญญาณโดยสมบูรณ์ แล้ววิญญาณมันจะรู้สึกครั้งสุดท้าย อีกทีว่าทั้งหมดนี้เป็นอย่างไร เป็นความคิดนึกอยู่ เมื่อคิดนึกอยู่ก็เรียกว่ามันมีตัวผู้คิด รู้สึกว่ามีตัวผู้คิด นี่ตัวฉัน ตัวกู มันออกมา คือเรารู้สึกเป็น เอ้อ ไม่ใช่เรานะ จิตมันรู้สึกเป็นสุขอยู่ มันจะโง่ถึงกับว่ามีผู้ที่รู้สึกเป็นสุขอยู่ คือ ตัวฉัน ตัวฉันเสวยเวทนา และถ้ามันสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้นว่า เวทนาอย่างนั้น เวทนาอย่างนี้ กระทั่งว่าเป็นของเรา นี่มันก็ทำให้เกิดความคิดว่า เรา เราเป็นผู้สำคัญ เป็นผู้รู้สึก ความคิดว่าเรา ว่าตัวเรา หรือตัวกูก็ตามใจ มันเกิดหลังจากความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน นี่มันเป็นเรื่องทางธรรมะ ฝ่ายธรรมะ เกิดความอยากก่อน แล้วจึงเกิดความรู้สึกที่เป็นผู้อยาก
ถ้าคุณเข้าใจข้อนี้ก็จะศึกษาธรรมะได้ง่าย ศึกษาธรรมะที่ลึกซึ้งที่สุด คือเรื่องสุญญตา อนัตตาได้ง่าย ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้ก็ไม่มีหวัง เพราะถ้าเราพูดตาม logic ธรรมดาสามัญ ที่ชาวบ้านเขาพูดกัน คือ ต้องมีตัวผู้ก่อน มันถึงจะมีตัวกระทำ ต้องมีตัวกูที่อยากก่อน แล้วกินเข้าไป แล้วจึงอร่อย แต่ว่าทางธรรมะมันไม่ใช่อย่างนั้น ทางปรมัตถ์มันไม่ใช่อย่างนั้น มันไปตามธรรมชาติแท้ๆ ว่ามีตา กับรูป เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เวทนานี้จะมีสุข หรือทุกข์ คืออะไร อร่อย หรือไม่อร่อย ก็เลยเกิดตัณหา คือ ความอยาก ความประสงค์ ต้องการไปตามนั้น แล้วตัวผู้อยากผู้นั้น เกิดทีหลัง นั้นจึงเรียกว่าตัวตนมิได้มี เป็นเพียงความรู้สึกอันหนึ่งที่เกิดทีหลังเวทนา หรือตัณหา นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่สุดของหลักธรรมะ แล้วต้องอร่อยก่อนจึงจะเกิดมีตัวผู้อร่อย นี่ช่วยจำประโยคนี้ให้ดี เป็นตัวอย่าง ถ้ามันรู้สึกอร่อยที่ลิ้น ก่อน เกิดความอร่อยก่อน จึงจะเกิดความรู้สึกเป็นผู้อร่อย กูผู้อร่อยมาทีหลัง ถ้ายังไม่เกิดความอร่อยแล้วกูจะอร่อยได้หรือ มันยังไม่มีอะไรสักที ต้องมีความรู้สึกที่ว่าอร่อยอยู่ที่ลิ้น สมมติว่าที่ลิ้น หรือที่ตา ที่หู ก็ตามใจ แต่ทีนี้เอาที่ลิ้น กินอะไรเข้าไปอร่อยก่อน ถึงจะเกิดความรู้สึกว่าผู้อร่อย คือตัวกู ตัวกูเกิดจากการอร่อย เพราะฉะนั้นความรู้สึกอร่อยนั้นมันไม่ใช่ตัวตน มันมาจากเวทนา ซึ่งมาจากสัมผัส แล้วมาจากวิญญาณ แล้วมาจากอายตนะ แล้วซึ่งมาจากธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ อะไรพวกนี้ ในเรื่องทางตาเป็นอย่างไร เรื่องทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอย่างนั้น
ความรู้สึกที่เป็นเวทนานั้นเป็นปัญหาที่สุด ถ้าเราจะไม่ศึกษาอะไรมาก ไปศึกษาแค่เวทนาก็พอ อย่างไรเรียกว่าเวทนา ให้เข้าใจกันเสียที อย่างไรเรียกว่าเวทนาทางตา อย่างไรเรียกว่าเวทนาทางหู อย่างไรเรียกเวทนาทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนัง ตั้งต้นเข้าใจอันนี้แล้วจะรู้สึกว่าเวทนานี้จะออกมาเป็นอร่อยคือเป็นสุข ไม่อร่อยคือเป็นทุกข์ มันก็ยังไม่แน่ แต่ว่า ไอ้ไม่แน่นี่ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะหยุดความสงสัย ความหวัง ความต้องการ มันชวนให้สงสัย ชวนให้ต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เวลาเราอร่อยทางตา ทางหู ทางอะไร ระวังให้ดี ใช้ประโยชน์ให้ดีที่สุด อย่าไปมัวโอ้เอ้ สรวลเส เฮฮากันเสียให้เสียเวลา ถ้าเวทนาเกิดขึ้น แล้วศึกษาเวทนานั้นให้ดีๆ จะได้เข้าใจได้ว่าเวทนานั้นคืออะไร ไม่ใช่เกิดตัณหา ความอยากต่อไปอีก แล้วจะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยากที่จะอร่อย หรือที่จะเสวย จะยึดครอง หรือว่าจะด่าใคร สุดแท้มันแล้วแต่เวทนามันเป็นอย่างไร ไอ้ตัวผู้ ผู้นั่น ผู้นี่ คือ ตัวตน มันเพิ่งเกิดตรงนี้ เกิดเมื่อมีความรู้สึกเป็นเวทนา แล้วอยากให้เวทนานั้นแล้ว จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวผู้อยากที่อุปาทาน ตรงนี้เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสังขารหมด ตัณหาก็เป็นสังขาร อุปาทานก็เป็นสังขาร ไอ้เรื่องภพที่เป็นตัวกรรม คือคิดเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นสังขาร หลังจากนั้นเป็นวิบากที่จะปรุงเป็นชาติ เป็นความทุกข์
จะศึกษาธรรมะจริงและมีผลดีที่สุด ต้องศึกษาเมื่อมันมีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เมื่อฉันอาหารก็ดี หรืออะไรสุดแท้แต่ที่มันมีเวทนาอย่างแท้จริง รุนแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่ในประจำวันของเรา ก็ดูจะเป็นเรื่องฉันนี่แหละจะสำคัญที่สุด มันจะเกิดเรื่องได้มากเมื่อฉัน คุณเคยฉันดีๆ เอร็ดอร่อย พอมาโดนเข้าอย่างนี้ มันก็เป็นเวทนาที่ตรงกันข้าม ไม่พอใจ ถ้าเวลาไหนเกิดได้อย่างใจก็พอใจ เวทนาอย่างนี้ก็จะเป็นตัวบทเรียนที่ดี พอใจก็อยากในทางเอา ไม่พอใจก็อยากในทางปัดออกไป ปฎิเสธหรือว่าทำลายเสีย นี่ก็เรียกว่าตัณหาทั้งนั้นแหละ จึงมีอยากได้ อยากเป็น อยากไม่เป็น ศึกษาตั้งแต่ตอนนี้จะรู้ธรรมะที่แท้จริง ที่มีประโยชน์มาก ไอ้ศึกษาทางหนังสือ ก็มันมีก็จำได้ตามหนังสือ ว่ากันเทศน์กันเช่าไปมันก็ไม่ถึงตัวธรรมะ
จึงพูดถึงเรื่องสภาวธรรมนี้เป็นพิเศษ ก็ต้องตั้งต้นด้วยการรู้จักสภาวธรรมที่มีอยู่จริงเอง ที่เป็นอยู่เอง ที่มีอยู่เอง คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะ ประเดี๋ยวออกมาเป็นวิญญาณ เดี๋ยวออกมาเป็นผัสสะ เดี๋ยวออกมาเป็นเวทนา เดี๋ยวออกมาเป็นตัณหา ออกมาเป็นอุปาทาน และเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าจริงนะ ถ้าคุณไม่เหลวไหล ไม่หลอกลวงใคร คือบวชนี่เพื่อศึกษาธรรมะจริง แล้วรีบๆ ทำอย่างนี้ ชั่วเวลาที่บวชอยู่ ๓ เดือนนี้ พอจะทัน ถ้าจะบวชหลอกๆ กัน มาอยู่สวนโมกข์หลอกๆ กัน ก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่รู้ แต่ถ้าว่าจะจริงแล้วก็ต้องมาสนใจเรื่องนี้ เมื่อมีความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ เกิดผัสสะอย่างไร เวทนาอย่างไร ตัณหาอย่างไร กระทั่งอุปาทานอย่างไร แล้วก็เป็นทุกข์อย่างไร เพราะอุปาทานมันยึดถือ สุขเวทนาก็ทำให้เกิดทุกข์ ทุกขเวทนาก็ทำให้เกิดทุกข์ อทุกขมสุขเวทนาก็ทำให้เกิดทุกข์ คือมันยึดถือ ยกตัวอย่างว่าเป็นสุขเวทนา อร่อย ก็ยึดถือในทางที่จะเอาจะเป็น เป็นตัวกู อยาก หรือว่าเสวยอยู่ หรืออร่อยอยู่ อย่างนี้เขาเรียกว่ามันเป็นการแบก การถือ เป็นอุปาทาน แบกของหนักคือเป็นทุกข์ ถ้าไม่อร่อย มันก็มีตัวกูที่ไม่อร่อย ที่มันโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ ในความรู้สึกนั้น อย่างนี้หล่ะเกิดตัวกู ชนิดที่เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นทุกข์ไปแบบฝ่ายโทมนัส ถ้าอร่อย เป็นตัวกูอย่างอร่อยอยู่ นั่นเขาเรียกว่าอภิชฌา อภิชฌา เข้าไปยึดเอา ถ้าเกิดไม่อร่อย ไม่สุข ไม่ต้องการนี่เป็น โทมนัส คำ ๒ คำนี้สำคัญมาก คือความรู้สึกที่เรารู้สึกอยู่เป็นประจำวัน เมื่อไรเกิดอภิชฌา เมื่อไรเกิดโทมนัส ทุกคนจะมีการเกิดอภิชฌาและโทมนัสสลับกับกันอยู่ตลอดวัน ตลอดคืน ถ้าไม่เกิดก็คือว่าง คือสบาย คือไม่เป็นทุกข์ ถ้าเกิดก็ต้องเป็นทุกข์ นั้นจงระวังเมื่ออร่อย อร่อยทางไหนก็ได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางไหน ถ้าเกิดอร่อย ก็เกิดอภิชฌา จะเกิดตัณหาประเภทเอา เป็น แล้วก็เป็นอุปาทาน เราได้ เราอร่อย เรานี่ก็เป็นความหนัก ความทุกข์ไปตามแบบนั้น ทีนี้บางกรณีบางเวลามันไม่ได้อย่างใจ ขัดใจ ก็เป็นโทมนัส คำว่าโทมนัสในภาษานี้ ในภาษาอย่างนี้ ก็หมายถึง คือไม่ชอบใจใน ใน ทุกชนิด ไม่เฉพาะว่ามาเสียใจ มาอะไรอยู่ ในภาษาไทย นั้นโทมนัสมีความหมายแคบ ในภาษาบาลี โทมนัส ก็หมายถึง ความยินร้าย ความไม่พอใจ ทุกชนิดแหละ เพราะฉะนั้นจงพยายามเข้าใจสิ่ง ๒ สิ่งนี้ที่เกิดเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉันอาหาร พูดแล้วคล้ายๆ กับว่ามันสบประมาทกันอย่างมาก ปัญหาที่มันเกิดด้วยเรื่องกินนี่มาก แม้เป็นพระเป็นเณรแล้วก็ยังมีปัญหาเกิดเรื่องกิน ขัดใจกัน โกรธเคืองกัน อะไรกันก็เพราะเรื่องนี้ คือเรื่องอร่อยหรือไม่อร่อยนี่ บางทีก็กินลูกยอก็อร่อย ก็เพลินไป บางทีเขาไม่ยกยอ เขาขัดคอ นี่ก็เลยกินลูกไฟอะไรเข้าไป มันเป็นเรื่องอภิชฌาและโทมนัส เพราะฉะนั้นอย่าไปมัวคุย มัวสรวลเสเฮฮาอะไรกันนัก พยายามปลีกตัวศึกษาความรู้สึกในจิตใจเรื่องอภิชฌาและโทมนัส นั่นคือสภาวธรรมที่เกิดอยู่จริงในชีวิตประจำวัน คล้ายกับว่ากลุ้มเป็นไฟไปเลย เดี๋ยวอภิชฌา เดี๋ยวโทมนัส เดี๋ยวอภิชฌา เดี๋ยวโทมนัส ถ้าไม่เกิดอันนี้ก็สบาย ก็ว่าง ก็ไม่มีปัญหา
คุณชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ถ้าคุณถือหางของฝ่ายรัฐบาล หรือถือหางของฝ่ายค้านก็ใช่ ก็อ่านหนังสือพิมพ์ พบข่าวที่มันอยู่ข้างฝ่ายที่คุณถือหางอยู่ คุณก็จะเกิดเวทนาชนิดนี้ จะเป็นอภิชฌาหรือเป็นโทมนัส แล้วแต่ว่าเรามันหวังอย่างไร ดูซิมันไม่ใช่เรื่องของเราเลย แต่มันเป็นเรื่องที่เราไปถือฝ่ายเข้าด้วย อยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือว่าฝ่ายค้าน ฝ่ายด่ารัฐบาล คนที่เขาอ่านหนังสือพิมพ์ เขาจะมีอยู่ ๒ ฝ่ายอย่างนี้เสมอ ชั่วแต่ไปคว้าหนังสือพิมพ์มาอ่านก็ยังจะเกิดเรื่องอภิชฌาและโทมนัส ทีนี้มันยังมีเรื่องทางตา ทางหูโดยตรงอีก วันหนึ่งมันมีปัญหา ที่จะเกิดความยินดี ยินร้ายนี่มากเหลือเกิน นี่คือความทุกข์ที่อยู่ในรูปที่ซ่อนเร้นที่สุด ยินดีก็เป็นทุกข์แบบหนึ่ง ยินร้ายก็เป็นทุกข์แบบหนึ่ง นี่ก็คือสภาวธรรมที่มันแผลงฤทธิ์ขึ้นมาเต็มที่ในวันหนึ่ง ถ้ามันเป็นธาตุอยู่เฉยๆ ก็ไม่เป็นไร ถ้ามันสักแต่อายตนะแล้วดับไปก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวนี้มันเป็นผัสสะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ยึดมั่นในทางยินดีก็มี ยึดมั่นในทางยินร้ายก็มี
นี่คือสภาวธรรมและอาการของสภาวธรรมในวันหนึ่งๆ ที่มันมีอยู่ในชีวิตของมนุษย์ แล้วก็จับสิ่งนี้เป็นจุดตั้งต้นเป็นรากฐานของทั้งหมด ของเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนา นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่เกี่ยวกับศาสนา มันเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ มันก็มีหลักอย่างนี้แหละ เพราะว่ามันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอามาจากไหน ก็เอามาจากธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทุกคนมันก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ทุกคนจึงมีการกระทำทางตา ทางหู ทางจมูก เป็นครั้งๆ ไป เกิดความรู้สึกคิดนึกชนิดที่เป็นยินดียินร้าย เมื่อควบคุมไม่ได้มันก็เกิดความทุกข์ ฉะนั้นเราต้องมีสติปัญญาที่จะต้องควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ อย่าให้มันเกิดยินดียินร้าย มันจะได้ไม่เกิดความทุกข์
แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่เรื่องตัวความทุกข์ ซึ่งเป็นตัวสภาวธรรม ถ้าเลยไปพูดถึงว่าทำอย่างไรจึงจะควบคุมความยินดียินร้ายได้นั้น มันเป็นเรื่องประติปฏิบัติธรรมไปเสีย ทีนี้เรากำลังจะพูดถึงเรื่องสภาวธรรมว่า ธาตุทั้ง ๖ เป็นอายตนะ ๖ เป็นวิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ ตัณหา ๖ อะไรนี่ หรือเรียกอีกแบบหนึ่งก็เรียกว่า เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ถ้าเราจะจัดหมวดใหญ่ สภาวธรรมนี้ ก็จะมีเพียงว่ากลุ่มธาตุทั้ง ๖ กลุ่มหนึ่ง และกลุ่มอายตนะทั้ง ๖ ที่ขยายไปได้มากหลายๆ ๖ ก็กลุ่มหนึ่ง แล้วขันธ์ ๕ อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้ายังไม่เข้าใจจงไปพยายามทำความเข้าใจวันหลังต่อไป ถามผมก็ได้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องธาตุทั้ง ๖ อายตนะทั้ง ๖ แล้วก็ขันธ์ทั้ง ๕ นี่คือหัวข้อ หัวเหง้าของสิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม เป็นอยู่เอง เป็นไปเอง เคลื่อนไหวเอง เปลี่ยนไปเอง มีปัจจัยเฉพาะก็ปรุงแต่งกันไปเอง ถ้าอย่างนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้เรียกว่าอายตนะ ถ้าอย่างนี้ก็ธาตุ ๖ แล้วจะมี แล้วจะที่จะต้องใช้มากที่สุดสำหรับการศึกษานั่น คือเรื่อง ขันธ์ ๕ ที่ไปพูดเป็นรูปขันธ์ ๕ ที่ใช้มาก
เมื่อรูปธรรม คือ ทางกายทำหน้าที่ เมื่อนั้นมีรูปขันธ์ ก็ทำหน้าที่เป็นเห็น ทางตานี่เกิดวิญญาณขันธ์อันดับแรก แล้วจะเกิดสัญญาขันธ์ คือการเห็นนี่จะทำให้จำได้ว่าเห็นอะไร เห็นนก เห็นต้นไม้ เห็นผู้หญิง เห็นผู้ชาย นี่ก็เป็นส่วนที่จำได้ นี่ก็เรียกว่าสัญญาขันธ์ เหมือนกัน การเห็นมันจึงจะสำเร็จประโยชน์ว่าเห็นอะไร มันจึงจะเกิดความรู้สึกเป็นผัสสะที่สมบูรณ์ นี่ก็เกิดเวทนาขันธ์ เห็นนี่สบายตาหรือว่าเป็นทุกข์แก่ตา นี่คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สัญญานี่จะเกิดเต็มที่อีกทีว่า เวทนานี้มันเป็นสุข เพราะมันโง่ไป มันคิดว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ เพราะมันยึดถือมันจึงเรียกว่าเป็นทุกข์ นี่เป็นสัญญามั่นหมายว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าตัว ว่าตน กระทั่งว่าหญิง ว่าชาย ว่าได้ ว่าเสีย นี่เป็นสัญญาทั้งนั้น สัญญาขันธ์มันก็จะเกิดมาตามส่วนของมัน และสังขารขันธ์คือความคิดหลังจากนั้น ถ้ารักก็คิดไปตามแบบของความรัก ถ้าไม่รัก ก็คิดไปตามแบบของการไม่รัก แล้วก็อภิชฌาก็คือคิดไปตามแบบของความรัก โทมนัสก็คิดไปตามแบบไม่รัก เป็นมโนกรรม ที่จะออกมาทางกายเป็นกายกรรม เป็นวจีกรรมนั้นอีกส่วนหนึ่ง นี่รู้จักว่ารูปเกิด ก็ทำให้เกิด วิญญาณ วิญญาณขันธ์ เสร็จแล้วก็ดับไป เกิดสัญญาขันธ์ เสร็จแล้วก็ดับไป เกิดเวทนาขันธ์เสร็จแล้วก็ดับไป เกิดสังขารขันธ์เสร็จแล้วก็ดับไป เกิดวิญญาณขันธ์ชั้นลึกของมโน วิญญาณ แล้วก็เกิดเวทนาขันธ์อีก เกิดสัญญาขันธ์อีก เรื่องขันธ์ ๕ คืออย่างนี้ แล้วเกิดพร้อมกันไม่ได้ เช่นเราเห็น ก็เกิดวิญญาณขันธ์ทางตา รู้สึกว่าถูกตาหรือไม่ถูกตา คือสวยหรือไม่สวย นี่มันเกิดเวทนาขันธ์เสียแล้ว ฉะนั้นวิญญาณขันธ์มันก็หยุดไปทีก่อน มันระงับหน้าที่ไปทีก่อน ดับไป เวทนาขันธ์มันก็มาอยู่แทน ทีนี้จิตมันมั่นหมายลงไปในนั้น ในรูปของสัญญาอีกทีหนึ่ง ว่าสุขไหม สุขจริง อะไรจริงอย่างนี้ มันก็เกิดสัญญาขันธ์อันนี้มาแทน เวทนานั้นก็ดับไป มันเหลืออยู่แต่สัญญา ก็เกิดความคิดไปตามสัญญานั้น สัญญานั้นก็ดับไป ความคิดคือสังขารขันธ์มันก็เกิดอยู่ คือ คิดอยู่ คิดอยู่ คิดอยู่ ในเมื่อคิดนึกมันก็เกิดอารมณ์แก่ใจอย่างอื่นต่อไปก็ได้ ทับกัน ซ้อนกัน ซ้อนกันลงไป ทับกันลงไป มันจะวนเวียนกันอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้ หนักบ้าง เบาบ้าง กลับไปกลับมาอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือขันธ์ ๕ นี่ตัวสภาวธรรมที่ร้ายที่สุด ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นเหตุให้ต้องศึกษาธรรมะก็เพราะอันนี้
ถ้าไม่ยึดถือ ไม่เกิดยึดถือเป็นตัวเรา ของเรา ก็ไม่เป็นทุกข์ พอยึดถือเป็นตัวเรา ของเรา ก็เป็นทุกข์ทันที ยึดถือว่ารูปของเรา ก็มีเป็นของเรา และมีจิตที่ยึดถือเป็นตัวเรา ยึดถือว่าเวทนาของเราก็มีจิตที่ยึดถือเวทนาว่าเวทนานั้นเป็นของเรา นี่ถ้าว่ามีสัญญาเกิดขึ้น มันแล้วแต่ความโง่ มันจะเอาสัญญาเป็นตัวเราก็ได้ ผู้สัญญานั้นเป็นตัวเราก็ได้ เพราะสัญญาในเวทนา เวทนานั้นเป็นของเราก็ได้ ถ้าเกิดเป็นสังขารขันธ์ คือความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งนี้เป็นตัวเรา เอาความคิดเป็นตัวเรา เราจะไม่คิดว่าความคิดของเรา เราจะเป็นตัวเราผู้คิดเสมอ มันโง่ขนาดนั้น และในบางกรณีก็จะเอาวิญญาณ ผู้รู้สึกทางตา ทางหูว่าเป็นตัวเราก็มี หรือถ้าโง่มากกว่านั้น เป็นเด็กเล็กๆ จะเอาร่างกายแท้ๆ นี้เป็นตัวเราก็มี เพราะฉะนั้นมันจึงมีส่วนที่จะถูกยึดเอาเป็นตัวเราได้ทั้ง ๕ อย่างนั่นแหละ ยึดรูปเป็นตัวเราก็ได้ ยึดเวทนาเป็นตัวเราก็ได้ แต่จะพร้อมกันไม่ได้นะ แล้วแต่กรณี แล้วแต่ความโง่ความหลง มันจะทำให้เกิดรู้สึกยึดรูปเป็นตัวเรา ในบางกรณี ยึดเวทนาเป็นตัวเราในบางกรณี พอมันรู้สึกอย่าง ฉันรู้สึก สัญญาเป็นตัวเราในบางกรณี สังขารเป็นตัวเราในบางกรณี กระทั่งวิญญาณเป็นตัวเราในบางกรณี แล้วก็อาจจะเปลี่ยนกันสับสนไปหมด แล้วแต่ว่าเรื่องนี้มันมีเหตุปัจจัยอย่างไร เป็นเหตุให้อวิชชา หรือโมหะมันปรุงแต่งกันขึ้นมาอย่างไร
หลักคำสอนจึงมีอยู่ในทางปฏิเสธว่ารูปก็ไม่ใช่เรา เวทนาก็ไม่ใช่เรา สัญญาก็ไม่ใช่เรา สังขารก็ไม่ใช่เรา วิญญาณก็มิใช่เรา เพียงแต่ท่องได้อย่างนี้ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะว่าเราไม่รู้จักสักทีว่า อย่างไหนคือรูป อย่างไหนคือเวทนา เกิดเมื่อไร เกิดอย่างไร แต่เพียงว่าจะช่วยซ้อมกันก็ได้ว่า มันจะเกิดรูปหรือเวทนาตามใจ ให้มีสติว่าไม่ใช่เราอยู่เสมอ แต่การปฏิบัติจริงจะสำเร็จประโยชน์จริง ต้องไปทำเมื่อมันมีเวทนาเกิดขึ้น จะเกิดตัณหาอุปาทานและเป็นทุกข์ คนที่ไม่ชอบเรา พูดออกมาเท่านั้นแหละ พอเข้าหูเรา แล้วมันก็ปรุงพร้อมที่จะเป็นสังขาร ที่จะเป็นตัวเรา ที่จะโกรธเขา ที่จะด่าเขา มันเร็วถึงขนาดนี้ ถ้าไม่ศึกษาให้ดี ก็มันไม่พอที่ทำสติได้ ให้รู้แต่ว่ามันเป็นสักว่า สักว่า สักว่าตา หู หรือสักว่ารูป เสียง กลิ่น รส หรือสักว่าผัสสะ สักว่าเวทนา สักว่าตัณหา สักว่าสัญญา สักว่าสังขาร สักว่าวิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนก็แล้วกัน นี่ถ้าสติมันมา เพราะถ้าสติมันไม่มา แล้วมันก็ไปด่าเขาแล้ว หรือไปรักอะไรเข้าแล้ว หรือไปโกรธอะไรเข้าแล้ว ไปเกลียดอะไรเข้าแล้ว ไปกลัวอะไรเข้าแล้ว นี่คืออุปาทานเป็นไปเต็มที่แล้ว ไปยึดอะไรโดยความเป็นตัวตนหรือของตนแล้ว นั่นคือความทุกข์