แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งนี้ ผมก็จะได้กล่าวถึงเรื่องอานาปานสติตอนสุดท้ายที่ยังค้างอยู่ คือ หมวดที่ ๔ ที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้ฟังจะต้องทบทวนถึงเรื่องที่กล่าวมาแล้ว มีอยู่ ๓ หมวดด้วยกัน คือหมวดที่ ๑ พูดถึงเรื่องกาย ซึ่งหมายถึงลมหายใจ และร่างกายที่เนื่องกันอยู่กับลมหายใจ
ฝึกฝนจนควบคุมมันได้ คือ ควบคุมร่างกายได้ โดยทางควบคุมลมหายใจ การกระทำทุกขั้นทุกตอน เรียกว่าทุกกระเบียดนิ้ว ประกอบอยู่ด้วยสติ ทุกครั้งที่หายใจออกและหายใจเข้า กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เป็นอย่าง ๆ ไป ทุก ๆ ครั้งที่หายใจออกหายใจเข้า
นี้หมวดที่ ๒ เรียกว่า เวทนา ก็เอาเวทนาจริง ๆ คือ ความรู้สึกที่เป็นปีติหรือว่าเป็นสุข อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดอยู่ในใจจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็เอามาจากการที่ทำกายให้สงบรำงับแล้วรู้สึกพอใจและเป็นสุขนั่นแหละ มาพิจารณาดูให้รู้ถึงข้อที่ว่า เวทนาเหล่านี้ปรุงแต่งจิต
จนรู้ได้ทั่วไปว่า คนทั้งโลกมันมีความรู้สึกประเภทเวทนา ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าชอบใจ ไม่ชอบใจ ยินดี ยินร้าย นั่นแหละเป็นเหตุให้คิดเรื่อยไปจนจับได้ว่า ไอ้เวทนาทั้งหลายนี้เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือ ความคิด แล้วก็หาวิธีทำลายตัดทอนอำนาจปรุงแต่งของมันเสีย ด้วยการบังคับ ในรูปของสมาธิบ้าง ด้วยการพิจารณาในรูปของปัญญา คือ ดูความที่มันเป็นอนิจจัง ทุกขังบ้าง แล้วทอนกำลังเสียได้ จิตนั้นก็อยู่ในสภาพที่ไม่ถูกปรุงแต่ง หรือถูกปรุงแต่งได้โดยยาก
พอมีอะไรจะมาปรุงแต่งจิต จะเป็นเวทนาชนิดใดก็ตาม เราสามารถตัดทอนกำลังของเวทนานั้น ดังนั้นจึงใช้ได้ไปทุกอย่าง ในการที่ว่าจะเกิดความคิด รัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรก็สุดแท้ บรรเทาเสียได้ด้วยการควบคุม หรือตัดรอนกำลังของเวทนา มันลึกกันอยู่เป็น ๒ ชั้นอย่างนี้ นี้เรียกว่าเรื่อง เรื่องที่เกี่ยวกับเวทนาทั้งหมด รู้แล้วก็ปฏิบัติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จนรู้ดี จะได้ผลการปฏิบัติด้วย
นี้มาถึงหมวดที่ ๓ เรียกว่า จิตตานุปัสสนา หมวดนี้มันว่าด้วยจิตล้วน ๆ คือดูจิตกันโดยเฉพาะเลยว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงเป็นจิต อย่างนี้ อย่างโน้น อย่างไหน ได้กี่อย่าง กี่สิบอย่าง กำลังรู้สึกอยู่จริง ๆ ในภายใน ดู มันก็เปลี่ยนแปลงไปได้ ก็มีให้เราดูโดยหลักวางไว้เป็นคู่ ๆ ว่า มันแจ่มใสหรือไม่แจ่มใส มันมีวิตกหรือไม่มีวิตก มันยึดถืออะไรอยู่หรือว่ามันไม่ได้ยึดถืออะไรอยู่ อย่างนี้เป็นต้น ให้ศึกษาสังเกตจิตของตัวเองอย่างนี้ ให้แตกฉาน ให้ทั่วถึง แล้วก็จะค่อย ๆ รู้ไปถึงต้นเหตุของมันด้วยที่ว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็คือเวทนามันปรุงแต่ง
ทีนี้ก็ดูทั่วถึงแล้ว มันเป็นอย่างไรได้บ้าง ทีนี้ก็ลองแสดงฝีมือดูว่า บังคับจิตให้เป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้น เป็นการจัดสรรมากกว่าที่จะบังคับชนิดที่หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า มันทำยาก ทำกับสิ่งที่เรียกว่าจิต แม้แต่จะกระทำกับสัตว์เดรัจฉานก็ยังทำยาก มันสู้ทำด้วยอุบายไม่ได้ ก็ทำด้วยอุบายด้วย บังคับด้วยนะ แล้วแต่มันจะควรทำอย่างไร
จะใช้คำว่า บริหาร ก็จะถูกกว่า คือ จัดสรร จัดแจงให้ดี ให้จิตมันมีลักษณะบันเทิงเริงรื่น หายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้ก็ได้ ให้จิตมันหยุดตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบใด ๆ อย่างนี้ก็ได้ กระทั่งให้จิตมันปล่อย คือ หลุดออกมาเสียจากสิ่งที่มาพัวพันจิตอยู่ อย่างนี้ก็ได้ นี่เรื่องของจิตมีอย่างนี้ ก็เป็นบทฝึกหัดที่มากมายแล้ว ก็เรียกว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นผู้ที่เป็นนายของจิตมากทีเดียว คือ บังคับจิตได้
ต่อไปนี้ก็จะไปถึงบท หมวดสุดท้ายที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่า มันเนื่องกัน คือ เมื่อฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจได้ดีอย่างนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้ก็จะใช้จิตที่ฝึกดีแล้ว ให้ทำอะไรต่อไปเพื่อความหมดกิเลส เช่น ให้พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น
ไม่ใช่ว่าคนธรรมดาจะทำไม่ได้ ก็ทำได้บ้างเหมือนกัน แต่ว่าคนที่ฝึกจิตมาดีแล้วอย่างนี้ มันทำได้ดีกว่า ทำได้ลึกซึ้งกว่า มีผลกว่า มันคล้าย ๆ กับว่า ไอ้มีดหรืออะไรที่มันไม่ได้ลับ หรือมันจะไม่มีคมเสียเลย จะไปตัดไปฟัน มันก็ไม่น่าดู บางทีมันจะไม่ขาดด้วย แต่ถ้าจิตที่ฝึกดีแล้ว มันก็เหมือนกับว่าอาวุธที่มันคม นี้ถ้าเราเปรียบอาวุธ มันเอาไปตัดปัญหาเกี่ยวกับ ความโง่ ความไม่รู้ หรือความรู้ผิด อะไรต่าง ๆ นี้ได้ดี
ทีนี้ก็ใช้จิตนี้พิจารณาธรรมะ ๔ ประการ คือ พิจารณา อนิจจัง นี่อย่างหนึ่งเรียกว่า อนิจจานุปัสสี เห็นอยู่เป็นประจำเรื่องความไม่เที่ยง หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ แล้วก็ทำให้ดีเรื่อย ๆ ไป มันจะเกิดการเห็นอีก ๓ อย่างต่อไปได้ จะเรียกว่าโดยอัตโนมัติ เพราะอันที่ถัดไปนั้นก็คือ ความคลายออกจากความยึดมั่นในสิ่งที่มันไม่เที่ยง
ก่อนนี้เรามันโง่ไปยึดมั่นสิ่งที่มันไม่เที่ยง จะเอาเป็นตัวเป็นตน พอเห็นความไม่เที่ยงเข้าแล้ว เอ้า, มันก็คลายความยึดมั่น เรียกว่าเป็นวิราคะ เห็นวิราคะ คือ ความคลาย อยู่อย่างนี้เป็นประจำ หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ นี้โดยธรรมชาตินั่นแหละ มันมีคลายออกแล้วมันก็ต้องดับนะ คือสิ้นสุดลง ก็เรียกว่านิโรธะ ดับแห่งกิเลส ดับแห่งความยึดมั่นถือมั่น ดับแห่งความทุกข์ เรียกว่านิโรธะ อันสุดท้ายก็ดูผลที่ว่า มันปล่อย หลุด วาง หมด กลับให้ ให้คืนแก่ธรรมชาติไปเลย เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ
มีคำสำคัญอยู่ ๔ คำ ซึ่งควรจะจำไว้ให้คล่องปาก อนิจจานุปัสสี เห็นอยู่ซึ่งความไม่เที่ยงเป็นประจำตลอดเวลานั้น วิราคานุปัสสี เห็นอยู่ซึ่งความคลาย เห็นอยู่ซึ่งความคลายของความยึดมั่นถือมั่นอยู่เป็นประจำ นิโรธานุปัสสี เห็นอยู่ซึ่งความดับแห่งกิเลสและความทุกข์อยู่เป็นประจำ ปฏินิสสัคคานุปัสสี เห็นอยู่ซึ่งความสลัดคืน หมายความว่าตั้ง เมื่อก่อนนี้อะไร ๆ มันมารวมอยู่ที่นี่ ด้วยความยึดมั่นบ้าง ด้วยความที่มันเป็นผลเป็นวิบากของกรรมบ้าง หลาย ๆ อย่างมันมารุมอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้มันซัดออกไปหมด เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ
นี่คือหัวข้อของอานาปานสติ หมวดที่ ๔ พูดเป็นไทย ๆ ก็ว่า ดูความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วก็ดูความที่มันค่อยคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ดูความที่มันดับลง ดับลง ดับลงแห่งกิเลส แห่งความทุกข์ ทุก ๆ ครั้งที่หายใจเข้าออก ที่ดูความสำเร็จหรือผลของความสำเร็จขั้นสุดท้ายว่า เดี๋ยวนี้เลิกกัน เลิกกัน เลิกกันนี้ อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ซึ่งดูก็จะเห็นได้ว่าไอ้หมวดนี้เป็นหมวดแสดงสิ่งสูงสุด คือ ปัญญา ซึ่งเป็นเหมือนธรรมศาสตรา แล้วก็ตัดความยึดมั่นถือมั่น จนเป็น วิราคะ นิโรธะ กระทั่งเป็น ปฏินิสสัคคะ ในที่สุด
เขาจึงจัดไอ้หมวดสุดท้ายนี้ว่าเป็นหมวดปัญญาล้วน ๆ ส่วน ๓ หมวดข้างหน้านั้นน่ะ หมวดแรกก็เป็นสมถะสมาธิเกือบจะล้วน ๆ เรียกว่าล้วน ๆ ก็ได้ หมวดที่ ๒ มันก็เจือกัน หมวดที่ ๓ มันก็เจือกันทั้งสมถะและปัญญา คือ ทั้งสมถะและวิปัสสนา
สมถะ หมายถึงสมาธิ วิปัสสนา หมายถึงปัญญา แต่ว่าที่จะให้มันเป็นแต่อย่างเดียว โดยอย่างเดียวนั้นมันเป็นไปไม่ได้ มันจะมีเจืออยู่ ซ่อนอยู่ข้างใต้ เพราะว่าที่เราจะพิจารณาโดยปัญญานี้ มันต้องมีสมาธิช่วยอยู่ คือ กำลังของสมาธิมันช่วยให้ปัญญามันทำงาน
หรือว่าเราทำสมาธิอยู่ เป็นเรื่องของสมาธิอยู่ มันก็ทิ้งปัญญาไปไม่ได้ คือว่าถ้าทิ้งปัญญาเสียแล้ว มันก็ทำไม่ถูก มันก็ไม่มีความรู้ที่จะควบคุมไปให้ถูกต้อง แม้แต่กำหนดลมหายใจก็ต้องเรียกว่า มีปัญญาเจืออยู่ข้างใต้ ซ่อนอยู่ข้างใน พอรู้ว่าไอ้กายทั้งปวงเป็นอย่างไร นี้ก็เริ่มเป็นปัญญามากขึ้น แต่การกำหนดนั้นมันเป็นลักษณะสมาธิเต็มตัว
ทีนี้ก็ได้บอกแล้วว่า ศีลก็รวมอยู่ในนั้น คือ ความตั้งใจเต็มที่ ควบคุมเต็มที่ บังคับตัวเองเต็มที่ ให้ทำให้ได้นั้น มันเป็นศีล คือมีความสังวร แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะชี้ระบุไปยังไอ้ที่มันเห็นชัด มันขึ้นมาให้เห็นชัด จะเห็นได้ว่า หมวดแรก ๆ นี่มันเป็นเรื่องสมาธิ สมถะ นี้หมวดสุดท้ายมันเป็นเรื่องปัญญา กระทั่งเป็นปัญญาที่รู้ไอ้ความสำเร็จ ผลสำเร็จของการงานทั้งปวง
เอาละ, ทีนี้ก็พิจารณาดูกันทีละขั้น เพื่อจะได้เข้าใจเพียงพอ คำว่า อนิจจานุปัสสี ขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๔ มีปรกติ เห็นอยู่เป็นประจำถึงความไม่เที่ยง นี้ก็ขอเตือนตามเคยว่า เรื่องของการปฏิบัติธรรมอันแท้จริงนั้น ไม่ใช่เรื่องตัวหนังสือ ไม่ใช่ไปจดไว้จำไว้ เป็นเรื่องของความรู้ที่ถ่ายมาเป็นรูปของความจำเป็นต้น อย่างนี้ไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการคำนวณด้วยเหตุผลว่า มันคงจะไม่เที่ยง เพราะเหตุอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็ไม่ได้ คือว่าไม่พอ ต้องเลยไปกว่านั้น ก็ต้องเห็นด้วยความรู้สึก ด้วยความรู้สึก Realize Realization หรือว่ามัน Experience คือเต็มที่ในความไม่เที่ยง
ดังนั้นเราก็ต้องเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่นแหละมาทำความรู้สึกอยู่ ก็ตามวิถีทางของอานาปานสติ ต้องย้อนต้นเรื่อยไป จำไว้ว่าหมายเลข ๑ เลข ๒ เลข ๓ มันจะต้องซ้ำ ๆ ทบทวนอยู่เรื่อย ก็เลยไปทำอานาปานสติ หมวดที่ ๑ ข้อที่ ๑ มาเลย เพื่อที่จะดูความไม่เที่ยงที่นั่น ที่ว่ากำหนดลมหายใจยาวเป็นอย่างไร เหมือนกับที่ลงมือทำทีแรกที่จะฝึกกำหนดการหายใจยาว
แต่เดี๋ยวนี้ทำการหายใจยาวเพื่อจะกำหนดดูความไม่เที่ยง ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจ ที่ว่ามันยาวหรือดูความยาวของมันก็ไม่เที่ยง ความสั้นก็ไม่เที่ยง และความที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น และความที่มันต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เราดูไอ้ความที่มันไม่ ไม่ตายตัวลงไปได้นี่ ที่เรียกว่าความไม่เที่ยง
คำว่า ดู ที่นี้ ไม่ใช่ดูด้วยตาเหมือนกับดูหนังสือ คือ ดูด้วยความรู้สึก เมื่อตะกี๊นี้ร่างกายมันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ร่างกายมันสงบรำงับลง ลมหายใจมันก็สงบรำงับ นี้ก็ส่อความไม่เที่ยงนะ แล้วความสงบรำงับของลมหายใจหรือของร่างกายนี้ มันก็ยังมีเป็นชั้น เป็นชั้น เป็นชั้นเข้าไป นั้นก็คือความไม่เที่ยง
นี่ต้องดูความไม่เที่ยงด้วยความรู้สึกต่อสิ่งที่มันรู้สึกอยู่ในใจ นี่คือ คือคำที่ ที่ผมพูดว่าไม่ใช่ความรู้อย่างที่เอามาจากหนังสือหนังหาคำพูดจา แล้วก็ไม่ใช่การใช้เหตุผลแบบ Reasoning หรืออะไรทำนองนั้น มันไม่เกี่ยวกับการคำนึงคำนวณตามวิธีปรัชญาเลย แต่มันเป็นการรู้สึกอยู่ด้วยจิตใจ ในขณะนั้น ในสิ่งนั้น ๆ
นี่คือวิธีของธรรมะหรือของศาสนา มันอยู่ในรูปของวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่มันเป็นเรื่องทางจิตใจ แล้วไม่ค่อยมีใครเรียกมันว่าวิทยาศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วเป็นวิทยาศาสตร์เต็มตัว แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ นี้เรื่องศาสนานั้นเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องปรัชญา คือ ไม่ต้องคำนึงคำนวณด้วยเหตุผล หรือไอ้การใช้เหตุผล แต่ตั้งรากฐานอยู่บนความรู้สึกที่ประจักษ์แก่จิต เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ ทำการ ทำประจักษ์แก่การทดลอง
นี้ข้อหนึ่งว่า ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ก็มีความเปลี่ยนแปลงเรื่อย เดี๋ยวเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไหลเรื่อย ถ้าเห็นเป็นไหลเรื่อยได้ก็ยิ่งดี คุณจะเห็นก้อนหินเหล่านี้ไหลเรื่อยได้ไหม นี่ที่จริงมันก็ไหลเรื่อย แต่เราไม่เห็น เพราะเราถูกกักอยู่ด้วยความรู้สึกเกี่ยวกับพื้นที่และเวลา มันช้าไป เราจึงไม่เห็นก้อนหินนี้เปลี่ยนแปลง คือเหมือนกับไหลเรื่อย ถ้าเราใช้เวลาสักหมื่นปี แสนปี หรือล้าน ๆ ปี จะเห็นได้ว่าก้อนหินนี้ไหลเรื่อย คือ เปลี่ยนจากภาวะอย่างนี้เป็นอย่างโน้นเรื่อยไป จนกระทั่งสลายไป
ดังนั้นความไม่เที่ยงนี้มันขึ้นอยู่กับเวลา แล้วก็ขึ้นอยู่กับไอ้รูปร่างการกินเนื้อที่ ที่เรียกว่า Time and Space แล้วก็มีไอ้สัมพันธ์กันระหว่างของ ๒ สิ่งนี้ นั้นทำให้เราเข้าใจผิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าสวย ว่างาม ว่าเที่ยง ว่าอะไรก็ได้ ทีนี้ก็เห็นความไม่เที่ยง
ถ้าจะให้เห็นเป็นเรื่องว่าเหมือนก้อนหินนี้ไหล ถ้าเราไม่มีอายุตั้งล้านปี เราก็ไม่เห็น จึงต้องใช้การคำนวณ แต่การใช้คำนวณอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องของไอ้กรรมฐานหรือวิปัสสนา แต่จะมีประโยชน์ก็ได้ คือ พิจารณาไป มันมาช่วยให้เกิดความรู้สึกเชื่อแน่ขึ้นมาก็ได้ แล้วเบื่อหน่ายคลายกำหนัดได้ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็เอาผลมากกว่าที่จะเอาไอ้ตัวกิริยาอาการหรือวัตถุสิ่งของที่แสดงอยู่ในเวลานั้น
ถ้าเราฉลาดพอถึงกับมองเห็นก้อนหินนี้ไหลเรื่อย ก็พอจะทำให้เกิดความรู้สึก สังเวชใจ สลดใจ เบื่อหน่าย ต่อการที่จะยึดมั่นสิ่งใด ๆ ได้เหมือนกัน แต่มันก็ไม่พอแหละ มันไม่ใช่ความรู้สึกแท้จริง มันไม่มีอำนาจที่จะบังคับจิตใจได้เต็มที่ คือ ไม่บีบ บีบจิตใจให้รู้สึกลึกซึ้งมากมาย สู้มันรู้สึกในใจจริงไม่ได้
ดังนั้นเราจึงเอาของข้างในนี่ ก็ร่างกายที่เห็นอยู่ รู้สึกอยู่ แต่ก็ยังช้านะ ร่างกายกินเวลานานถึงจะเปลี่ยนให้เห็นได้สักที บางทีเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แต่ถ้าเอาสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกาย เช่น ลมหายใจเป็นต้น หรือแม้แต่อาหารที่กินเข้าไป หรืออะไรต่าง ๆ นี่ จะเห็นชัด ความไม่เที่ยง
มันเกี่ยวเนื่องกันไปหมด เช่น ร่างกายนี้มันเนื่องอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจเนื่องอยู่กับร่างกาย และร่างกายเนื่องอยู่ด้วยอาหาร ด้วยอากาศ ด้วยดินฟ้าอากาศ ด้วยสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ มันเนื่องยุ่งกันไปหมดทุกส่วน มันไม่เที่ยง
แต่มันมีอะไรอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราหลงพอใจไอ้ความที่ไม่เที่ยง หรือว่าความที่ไม่เที่ยงน่ะ มันทำให้มีรสมีชาดขึ้นมาในความรู้สึก ที่จะเอร็ดอร่อยหรือยึดมั่นถือมั่น ถ้ามันเที่ยงคงที่แล้ว มันจะไม่เกิดรู้สึกอย่างที่เราหลงใหล มันทยอยกันเข้ามาเรื่อย เปลี่ยนหน้ากันมาเรื่อย มันจึงไม่ค่อยเบื่อ หรือมันต้องเปลี่ยนแปลงที่จะรับรสนั้นได้เป็นระยะ ๆ ๆ ไปนี่ มันจึงจะเกิดความไม่เบื่อ นี้มันก็เป็นเรื่องหลอกของความไม่เที่ยง หลอกให้หลงใหลในความไม่เที่ยง ดูให้ดี ฟังดูให้ดี มีความเปลี่ยนแปลง มันจึงอร่อย
นี้เรามาดูความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มันหลอกลวง พอเห็นจริงเข้าก็เกิดระอา ที่ใช้คำว่าเป็นทุกข์น่ะ พอเราเห็นความไม่เที่ยงแท้จริงของสิ่งที่ไม่เที่ยงเข้า อย่างน้อยนี่ เราจะต้องเกิดระอาใจในสิ่งที่มันหลอกลวงกันมากถึงอย่างนี้
นี้คำว่าทุกข์หรือทุกขังนี่ มันจึงว่าดูแล้วน่าเกลียดบ้าง แล้วก็มันว่างจากตัวตนเสียเหลือเกิน เพราะมันเปลี่ยนเรื่อย เมื่อเห็นความหมายอย่างนี้แล้ว พอเห็นต่อไปถึงกับว่า มันมีความทุกข์ทนทรมานแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือเอา ว่าตัวเรา ว่าของเรา ถึงกับไม่อยากให้มันเปลี่ยนนั้น แล้วเมื่อมัน มันไม่เป็นไปตามความต้องการแห่ง ตัวกู-ของกู มันก็เป็นทุกข์ทรมาน
ดูความไม่เที่ยง ผลออกมาเป็นการเห็นความทุกข์ เข้าใจก็ดี ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่ ไม่ชื่อว่าเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงอย่างผิวเผิน หรือท่อง ๆ เอานี้ มันก็ไม่รู้สึก อิดหนาระอาใจ เบื่อ เกลียด ในสิ่งที่หลอกลวง อย่างนี้เรียกว่ายังไม่เห็นความไม่เที่ยงโดยแท้จริง ที่จะไปหลงชอบไอ้ความอร่อยที่เกิดจากความไม่เที่ยงหรือความเปลี่ยนแปลงนี้เสียด้วยซ้ำไป นี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์
การเห็นความไม่เที่ยงที่ผิวเผินไม่สำเร็จประโยชน์ มันต้องพอต้องลึกพอที่จะเกิดความเบื่อหน่าย ที่เรียกว่า นิพพิทา เห็นความไม่เที่ยงจริง ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย ที่เรียกว่า นิพพิทา ที่ถ้าเห็นความไม่เที่ยงมากไปถึงกับเห็นเป็นความทุกข์ว่า น่าเกลียดน่าชัง หลอกลวง ไปยึดเข้าเป็นทุกข์ นี่ก็ยิ่งเบื่อหน่ายมากขึ้นไปอีก นิพพิทามากขึ้นไปอีก และเห็นเลยไปถึงว่า มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์นี่ คือ มันเป็นอนัตตา ไม่ ไม่มีตัวตนที่ตรงไหน นี่มันก็จะเบื่อหน่ายยิ่งขึ้นไปอีก คือว่ามีนิพพิทายิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป เรียกว่าเบื่อหน่าย มันกระวนกระวายหน่อยตอนนี้
พอเห็นความเบื่อหน่ายมากพอมันก็เลื่อนไปสู่ข้อที่สอง คือ คลายกำหนัด ที่เรียกว่า วิราคะ ก็ถือโอ ถือโอกาสดู พิจารณาวิราคะ ดูวิราคะ รักษาวิราคะ คือความคลายกำหนัดนี้ ไว้ประจำใจอยู่ตลอดเวลานั้น เห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า มันต่อไปขั้นที่สองได้อย่างนี้
ขั้นที่หนึ่ง เห็นไม่เที่ยง ในแง่ที่เปลี่ยนเรื่อยก็เบื่อหน่าย ในแง่ที่เป็นทุกข์ก็เบื่อหน่าย ในแง่ที่ไม่ใช่ตนก็เบื่อหน่าย ถ้าเบื่อหน่ายถึงขนาด มันก็คลายออก คลายกำหนัดออก คลายความยึดมั่นถือมั่นออก ก็เรียกว่า วิราคานุปัสสี เห็นอยู่เป็นประจำซึ่งความคลายจาง จางคลาย ก็ไปใช้กับเรื่องที่เราเป็นปัญหาต่อสู้กันอยู่เป็นประจำวันอย่างเช่นกิเลส หรือความรู้สึกด้วยกิเลส เช่น ความรัก เป็นต้น
ถ้าอยากให้มันคลายให้มันจางออก ก็ใช้วิธีอย่างนี้ ดูไอ้ความที่มันไม่เที่ยง ให้มันลึกเข้าไป ลึกเข้าไป จนมันเกิดความเบื่อหน่าย แล้วจะคลายออกได้ นี้ถ้าทำซ้ำ ๆ ๆ ๆ อยู่ทุกครั้งหายใจเข้าออกนี่ หมายความว่ามันแน่นแฟ้น มันไม่กลับ ถ้าเราเพียงดูประเดี๋ยวประด๋าว คิดด้วยเหตุผลประเดี๋ยวประด๋าว มันก็กลับไปอีก นี่ที่เคยรัก มันก็กลับไปรักอีก ที่เคยเกลียด มันก็กลับไปเกลียดอีก
ดังนั้นจึงเอามาทำกันใหม่ให้มันจริงจัง คือ ย้ำมันลงไปทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ไม่รู้กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้ง นี่มันเอาจริงขนาดนี้ ที่เรียกว่า อานาปานสติ หมายถึงเอามาประทับไว้ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า หรือว่าเราจะใช้ในทำนองที่ตรงกันข้าม ถ้าเราอยากจะรักใครนี่ เราเอามาคิดในแง่ของความรักไว้ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เดี๋ยวมันก็รักจนถอนไม่ออกอีก หรือว่าเราอยากจะเกลียดใคร เอามาคิดดูในแง่ที่มันเกลียดอยู่ทุกลมหายใจออกเข้า นานพอแล้วมันก็เกลียดอย่างที่เรียกว่าเข้ากระดูกดำ หรืออะไรทำนองนั้นได้เหมือนกัน
นี่เขาเรียกว่าประโยชน์ หรืออิทธิพล หรืออะไร ของไอ้อานาปานสติ เพราะมันเป็นการย้ำ ๆ ๆ เข้าไปทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ในข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่ง ลงไปในความรู้สึกของสติปัญญา มันมีสติด้วย มีสัมปชัญญะด้วย ที่จะช่วยฝังไอ้สิ่งนั้น หรือภาพของสิ่งนั้น หรือความรู้สึกอย่างนั้น ลงไปในส่วนลึกของจิต ลงไปใส่ไว้ในสันดาน ในก้นบึ้งก้นลึกของจิต
ถ้าว่าอยากจะ อยากจะจำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือจำหน้าใครสักอย่างหนึ่ง เรามาหลับตาดูไอ้หน้าคนนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า หายใจออกเข้า ตลอดเวลา นี่มันช่วยฝังลงไป ช่วยอาศัยไอ้อานาปานสตินี่มันฝังลงไป ทำอย่างนี้ไม่กี่วัน ก็ไม่มีวันที่จะลืมหน้าของบุคคลคนนั้น
เรื่องอื่นก็เหมือนกันถ้าอยากจะให้มันแน่นแฟ้นก็ใช้อุบายอันนี้ นี่คือข้อที่เราต้องใช้วิธีของอานาปานสติ แล้วทำให้เห็นอนิจจัง แล้วก็ย้ำ ๆ ๆ ๆ ๆ ไอ้ความรู้สึกเป็นอนิจจังนี้ลงไปในความรู้สึกของจิตใจ มันถอนไม่ออก มันก็มีแต่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนถึงกับว่าเบื่อหน่าย เห็นคลายกำหนัด
ข้อที่สองเรียกว่าคลายกำหนัด คือ จางคลาย เหมือนกับซักผ้าที่ย้อมด้วยสี ให้สีออกให้หมด ก็ทำมาก ต้องทำมาก ทำจนมัน สีมันจาง หรือมันน่ายออกไป จนเหลือแต่ผ้า นี้เรามีวิธีทำให้กิเลสหรืออุปาทานความยึดมั่น ที่เปรียบเหมือนสีที่มาจับอยู่ที่จิตนี้ จางออกไป จางออกไป จางออกไป จากความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ในความเคยชินในสันดานของเรา มันมีความ มีการถูกย้อมหนาแน่น แน่นหนา ย้อมด้วยสี นี้ทำให้มันจางออก จางออกโดยวิธีอนิจจานุปัสสี มันก็จางออกได้ เป็นวิราคะขึ้นมา
วิราคะนี่มันเป็นญาณ เป็นความรู้ด้วยเหมือนกัน ถ้ามันทำหน้าที่เต็มที่ เห็นพรวดพราดลงไปในการหมดไอ้กิเลสนี่ ก็เรียกว่า อริยมรรค อริยมรรคที่คู่กับมรรคผลนะ ไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคที่คู่กับอริยผล คือ มรรคผล ถ้ามันจางหมดก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าจางบ้างก็เป็นพระโสดา สกิทาคา อะไรไปตามลำดับ มันก็เป็นอริยมรรคใน ในชั้นอย่างนี้ แล้วแต่ว่าทำให้มันคลายออกจางออกได้เท่าไร
ดังนั้นต้องรู้อาการที่จางออกคลายออกนี้อย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ว่าแจ่มแจ้งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้าด้วยเหมือนกัน จนกว่ามันจะตายตัวลงไป ที่ว่ามีจางออกเสีย ก็ถึงที่สุด คือส่วนใดมันจางไป ส่วนนั้นถือว่าดับ ส่วนใดจางไปแล้ว ออกไปแล้ว ส่วนนั้นถือว่าดับ ก็เป็นนิโรธะ คือ ความดับเกิดขึ้นมาแทน ก็โดยอัตโนมัติ
กิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นคลายไป ๆ ๆ มันคือดับไป ดับไป จนปรากฏเห็นชัดว่า เดี๋ยวนี้ความทุกข์มันดับ ดูที่ความดับ นี่เคยเรียกว่านิโรธะ ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า นิโรธานุปัสสี ขึ้นมา เห็นความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หมายความว่าดับของกิเลสส่วนที่ดับไปแล้ว คือ ดับของความทุกข์ส่วนที่ดับไปแล้วนี่ ดูว่ามันดับจริงอย่างนี้ นี่คือผล พอจะเรียกได้ว่าผล
เมื่อทุกข์ดับไป มันก็ไม่ต้องพูดถึงความ ความสุขก็ได้ คำว่าทุกข์ดับไปแล้วมันไม่มีความทุกข์แน่ ไม่ต้องพูดถึงความสุขสำหรับจะยึดถือกันต่อไปอีก ถ้าจะพูดกันทาง Logic หรือทางปรัชญาก็ตาม ขอให้สังเกตดูให้ดีว่า หลักในพุทธศาสนาที่เป็นขั้นแท้จริงจะไม่พูดถึงความสุข จะพูดถึงความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้นแหละ
ถ้าไปเอ่ยถึงความสุขแล้ว มันเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนที่ไม่อยากจะลอง ให้เขามาลอง หรือว่าพูดอย่างสมมติอย่างชาวบ้านพูด โวหารสมมติ ก็พูดว่าความสุขได้เหมือนกัน เช่น พูดว่านิพพานเป็นสุข คือ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นี่พูดสำหรับชาวบ้าน ถ้าในรูปโฆษณาชวนเชื่อ ถ้าพูดโดยความจริงอันเด็ดขาดที่เรียกว่า ปรมัตถ์ จะพูดแต่เพียงว่าที่สุดแห่งความทุกข์ ความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์เท่านั้นแหละ จะไม่เลยไปถึงความสุข
ถ้าคุณจะอ่านพระไตรปิฎกด้วยตนเองต่อไปข้างหน้า ให้สังเกตข้อความนี้ไว้ให้ดี ๆ ในกรณีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างที่ว่าตรัสตามจริง ท่านจะตรัสแต่เพียงทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ไม่เอาสุขขึ้นมาพูดอีกแล้ว มันเป็นเรื่องไม่จริงไอ้เรื่องความสุข ถ้าไม่มีความสุข มันก็มีความหมายที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ
อันนี้เป็นเหตุให้พวกฝรั่ง แม้จะเป็นชั้นนักปราชญ์ เข้าใจพุทธศาสนาผิด นี่พุทธศาสนา ปรับให้พุทธศาสนาเป็นลัทธิที่มองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ร้าย ไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ อย่างดีที่สุดก็มีความดับแห่งทุกข์ ไม่พูดถึงความสุขเลยอย่างนั้นก็มี แต่เดี๋ยวนี้จะชักจะหายไปแล้ว ไม่ ไม่ ไม่กล่าวหาพุทธศาสนาในลักษณะอย่างนี้ เพราะเขารู้ รู้ รู้มากขึ้นน่ะ รู้ถึงขนาดขึ้น ก็รู้ เอ้า, มันจริง พูดกันแต่เรื่องความทุกข์ที่มีอยู่จริง แล้วดับมันเสียให้หมด มันก็หมดเรื่อง มันจะสุข เอ้า, พูดถึงสุขทำไม เมื่อมันไม่ทุกข์ แล้วก็มันก็หมดปัญหา
ดังนั้นเราจึงพูดแต่ นิโรธะ คือ ดับ ไม่มีเกิดอีกแล้ว ดับไปแห่งกิเลสและความทุกข์ มันก็พอ เหมือนกับพระพุทธภาษิตที่ยืนยันไว้แล้วว่า เราบัญญัติแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น แต่ก่อนมาแล้วก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี หรือกระทั่งว่าต่อไปข้างหน้าก็ดี ว่ายังไม่ ไม่นิพพาน ก็จะพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับแห่ง ให้ไม่เหลือแห่งทุกข์
คุณ คุณจะสังเกตได้ที่เรื่องอริยสัจจ์ ๔ เขาไม่พูดเรื่องสุขที่ตรงไหน พูดเรื่องทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ กับวิธีที่จะให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ไม่ได้พูดถึงความสุข แต่อย่ากลัวว่า ว่ามันจะเป็นเรื่องไม่มีสุขเสียเลย ก็ลองดับทุกข์ให้หมดเสียก่อนสิ แล้วก็จะรู้ได้เอง เดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้แม้จะดับทุกข์ นี้เราถือว่าเป็นเรื่องจริงที่สุด พูดทุกข์กับดับทุกข์ แต่พอพูดสุขขึ้นมา มันยั่วให้เกิดความยึดถือใหม่อีก เป็นการเกิดขึ้นมาอีก
เมื่อมองเห็นความดับของกิเลสหรือของความทุกข์อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้านี่ ก็เรียก เรียกผู้นั้นว่า นิโรธานุปัสสี คือ ผู้มีการเห็นซึ่งความดับอยู่เป็นประจำ แม้นี้ก็ต้องย้ำ ย้ำหัวตะปูเรื่อย เห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เห็นความดับลง ดับลง ดับลง ดับลง และเห็น เห็นละเอียดยิ่งขึ้นว่ามันดับลง ดับลง เห็นในทุกแง่ทุกมุมว่ามันดับลงอย่างไร ด้วยเหตุอะไร นี้ก็เป็นผลที่ได้รับ จะสมมติเรียกว่าความสุขก็ได้ แต่มันไม่ใช่ความสุขที่จะรู้สึกอย่างไอ้พวก เวทนา ปีติ สุข ในขั้นต้น ๆ หมวดที่ ๒ โน่น
ฉะนั้นไอ้ความสุขชนิดนี้มันจึงไม่ควรเรียกว่าความสุข เรียกว่าไม่ สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เป็นความเฉย ว่าง ไม่รบกวน ถ้าทุกข์ก็รบกวนในแง่ของความทุกข์ แล้วสุขมันก็รบกวนในแง่ของความสุข คือมันต้องไปรู้สึกเอร็ดอร่อยสิ ถ้าไม่รู้สึกเอร็ดอร่อยแล้วจะมีประโยชน์อะไรสำหรับความสุข ถ้าไปรู้สึกเอร็ดอร่อยในความสุขเข้ามันก็รบกวน ดังนั้นที่สุดแห่งความทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งความทุกข์นี้ มันจึงว่างหรือเฉย
ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องจิตใจของพระอรหันต์กันบ้าง ถามว่าจิตใจเป็นอย่างไร เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันมีหลักที่ตายตัวที่จะต้องตอบว่า เฉย คือ เฉยอย่างยิ่ง เฉยถึงที่สุด ไม่ใช่เฉยอย่างคนธรรมดาเฉย คือไม่ ไม่อาจจะเกิด ความรักหรือความชัง อภิชฌาหรือโทมนัสอะไรได้อีก นี่คือดับ กลายเป็นว่าง มีรสชาติเป็นเฉย มันก็อยู่กับความเฉยทุกลมหายใจออกเข้า
ทีนี้เรื่องยังไม่จบ ยังแถมพกไว้อีกนิดหนึ่งว่า มาดูกันอีกทีหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างไร นี้ก็มาเห็นความที่เกลี้ยงเกลา ก่อนนี้มันมีอะไรหลายอย่าง มาเนื่องกันอยู่ มารุมกันอยู่ มาพัวพันกันอยู่ มะรุมมะตุ้ม น่ารำคาญ เดี๋ยวนี้มันว่างก็เท่ากับว่า เกลี้ยง สลัดออกไปหมด คำว่าสลัดออกไปหมดก็คือ สลัดตัวกู สลัดที่เป็นของกู คิดดูว่ามันเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยง มันสลัดไอ้ความรู้สึก เป็นตัวกู-ของกู ออกไปได้แล้ว จิตจะไม่เกลี้ยงหรือ มันก็เกลี้ยงยิ่งกว่าเกลี้ยง นี่เขาเรียกว่าสลัดออกไป ปฏินิสสัคคะ สลัดคืน สลัดคืน
ผมเลยพูดให้เป็นภาพพจน์ เป็นอุปมาว่า คืนเจ้าของเดิม ให้ฟังง่ายหน่อย เจ้าของเดิมคือธรรมชาติ หรือเป็นสักว่าธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นธรรมชาติ นั่นน่ะตัวเดิม เจ้าของเดิม นี้จิตมันโง่ ไปดึงเอามา ไปโกงเอามา ไปปล้นเอามา มาเป็นตัวกู มาเป็นของกูนี่ เป็นโจรยิ่งกว่าโจร ไม่ใช่ของกูเอามาเป็นของกู ไม่ใช่ตัวกูเอามาเป็นตัวกู
นี้ก็อุปมาต่อไปว่า เพราะมันเป็นโจรนี่ มันจึงถูก ถูก ถูกลงโทษให้เป็นทุกข์ เพราะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมาเป็นตัวกู-ของกู ถึงเป็นโจรนี่ ก็เลยถูกลงโทษให้เป็นทุกข์ ยึดมั่นเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ยึดมั่นเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น นี่เป็นเรื่องผูกพัน พัวพัน รัดรุม รัดรึงกันรอบด้าน เพราะเหตุว่าไปปล้นเอาไอ้ธรรมชาติมาเป็นเรา มาเป็นของเรา
แต่ถ้าพูดอย่างศาสนาอื่นที่เขามีพระเจ้า ก็พูดได้เหมือนกันว่า ไปเอาของพระเจ้ามา ไปโกงของพระเจ้ามา ไปปล้นเอาของพระเป็นเจ้ามาเป็นของตัวก็เลยเป็นทุกข์ ทีนี้ถ้าว่ารู้จักพระเจ้า ถึงพระเจ้าจริง ก็คืนให้พระเจ้า ตัวกู ตัวตน ชีวิตทั้งหลาย มอบเป็นของพระเจ้าไปหมด
นี่วิธีเดียวกันแหละ แต่เขาพูดกันให้มันเป็นบุคคลขึ้นมา ไปโกงของพระเจ้ามา เป็นบุคคลระหว่างบุคคลนั้นกับพระเจ้าซึ่งเป็นบุคคลเหมือนกัน เขาพูดไว้ถูก แต่คนมันฟังผิด ฟังเป็นบุคคลก็เลยไม่เชื่อ ดังนั้นศาสนาที่มีพระเจ้าอย่างบุคคลมันจึงลำบากที่จะอยู่ในโลกสมัยนี้ แล้วความรู้มันเจริญขึ้นมาจนเขารู้ว่ามันไม่มีพระเจ้าอย่างนั้นหรอก
แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ ไม่มีบุคคลอย่างพุทธศาสนานี่ มันมีสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎที่ตายตัว ใครไปทำผิดกับมัน มันก็กัดเอา ก็คือความทุกข์ ทีนี้เราทำผิดไปปล้นของมันมา มันก็กัดเอา หรือคืนมันเสีย สลัดคืนกลับให้เจ้าของเดิมเสีย มันก็เลิกกัน ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่ความหมายของคำว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี เป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ เพราะเราคืนแล้ว คืนหมดแล้ว เราคืนหมดแล้ว เราเห็นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เราก็เกลี้ยง เราก็หลุดจากความเป็นทาส เป็นอิสระจากความผูกพันทั้งหลาย นี้มันยิ่งกว่าความสุข
ถ้าจะดูกันง่าย ๆ เดี๋ยวนี้เรามันถูกผูกพันอยู่ด้วยทุกสิ่ง กี่สิ่งก็ตามที่ว่า เรามันไปยึดมั่นโดยความเป็นตัวกูบ้าง โดยความเป็นของกูบ้าง ไม่ต้องถามใคร ความรู้สึกมันมีอยู่ในใจนี่ บางเวลามันเป็นตัวกู บางเวลามันเป็นของกู มันเป็นความคิดปรุงแต่งขึ้นมาด้วยอำนาจอวิชชาจนชินเป็นนิสัย เขาเรียกว่า อนุสัยหรืออาสวะ ความซ้ำชากจนชินเป็นนิสัย หมักดองอยู่ในสันดาน ถอนออกมายาก มันได้รื้อทิ้งหมด เรื่องมันก็จบ
อานาปานสติหมวดที่ ๔ มันก็มีอย่างนี้ อนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยง วิราคานุปัสสี เห็นความที่ตัวคลายออกเพราะเห็นความไม่เที่ยง นิโรธานุปัสสี เห็นความดับลงของสิ่งที่คลายออกแล้ว ปฏินิส นิโรธานุปัสสี ก็เห็น นิโรธานุปัสสี ก็เห็นดับลงแห่งกิเลสและความทุกข์ เพราะความคลายออกไปแล้ว พอ ปฏินิสสัคคานุปัสสี เห็นเกลี้ยง คือ มันสลัดทิ้งกลับไปหมดจนเกลี้ยง จนจิตเกลี้ยงหรือว่าง
ถามว่าว่างจากอะไร ตอบให้ถูกที่สุดก็คือ ว่างจากตัว ตัวกู-ของกู คือความรู้สึกที่เกิดจนเคยชินด้วยอำนาจของอวิชชา เกิดเสียเรื่อยทุกครั้งที่มันมีอะไรมายั่วให้เกิด เดี๋ยวนี้พ้นเลิกกันที เรียกว่าหลุดพ้น วิมุตติ หลุดพ้นจากความเวียนว่ายอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ในอาการอย่างนั้น เพราะว่าโยนทิ้งไปหมด มันก็ไม่มีอะไรเหลือสำหรับที่จะปรุงแต่งสำหรับเป็นความทุกข์
เอ้า, ทีนี้เรามาดูกันในลักษณะอื่นบ้าง คือมองดูเข้า มองดูอย่างทั่วถึง มองดูทั่ว ๆ ไปว่า ระบอบปฏิบัติอันนี้มันจะมีประโยชน์อะไร คือมัน มัน มันตัดปัญหาอะไรได้บ้าง มันตัดปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือกิเลสและความทุกข์ให้หมดไป บรรลุนิพพาน นั้นเป็นหลักการอันใหญ่ที่เขามุ่งหมายอย่างนั้น
แต่นี้เราไม่พูดถึงนิพพานอะไรกันก่อน พูดถึงคนที่อยู่ในโลกนี้ ยังจะต้องประกอบการงานหน้าที่ตามสมควรแก่อาชีพ มันก็ยังมีประโยชน์ที่ว่า จะได้รับความพักผ่อน เป็นสุขใจ เพราะการปฏิบัติข้อนี้ คือ อานาปานสติ ไว้หาความสุขใจเรื่อย ๆ ไปในโลกนี้
หรือจะว่าให้แคบเข้ามาอีกก็ให้ฝึกฝนสติปัญญา หรือว่าบังคับร่างกาย บังคับไอ้วัตถุนี้ โดยทางลมหายใจให้มันสบาย นี้เป็นการแสดงอานิสงส์ เพียงแต่รู้จักควบคุมหรือจัดสรรลมหายใจให้ถูกต้องเท่านั้น มันมีประโยชน์เหลือหลายแล้ว คือทำให้มันรำงับลง ร่างกายก็รำงับลง ก็เป็นสุข เป็นสุขที่เยือกเย็นที่สุด ไม่มีอะไรเย็นเท่า เพราะมันไม่ได้เจือด้วยกิเลส
ทีนี้ไอ้ต่ำลงมาอีก กระทั่งสำหรับว่าจะบังคับความหงุดหงิดให้หายไป กระทั่งว่าให้ร่างกายมันมีความร้อนน้อยลง มีการฉีดของโลหิตที่เบาลงนี้ ก็อาจจะใช้เป็นวิธีหนึ่งสำหรับห้ามให้เลือดออกน้อย เมื่อเป็นแผลก็ตาม หรือเป็นวัณโรคเลือดออกก็ตามนี้ ถ้ารู้จักจัดลมหายใจให้ละเอียด ให้ประณีตนะ เลือดจะออกน้อย
นี่มันกลายเป็นผลทางฟิสิกส์ แม้อย่างนี้ก็ได้ ทั้งที่เรื่องเดิมก็เป็น เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ ไปบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็ยังมาใช้ในเรื่องวัตถุ ทางวัตถุ ทางร่างกาย ทางเนื้อหนังนี้ได้ คนที่หายใจยาวเป็นปรกติดีก็จะมีผิวพรรณผ่องใส สบาย เลือดลมดี โรคภัยไข้เจ็บน้อย มาอยู่ที่นี่ ก็มีอานิสงส์พิเศษต่าง ๆ ทำนองปาฏิหาริย์อีกมาก
คือว่าเมื่อเป็นนักเลงเฝ้าสังเกตอาการของลมหายใจอยู่เสมอ จนรู้จักกันดีกับลมหายใจ เป็นปี เป็นเดือน เป็นสิบ ๆ ปี ก็รู้ไอ้ความเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ว่า ปีนี้เราหายใจผิดไปแล้วจากปีก่อน มันมีอะไรทรุดโทรมลงไป กระทั่งว่าใกล้จะตายก็ไป มันก็มีอาการหายใจที่เปลี่ยนไป เช่น อาจจะคำนวณได้ว่า เราจะหายใจกี่ครั้งแล้วมันจะตายลงไป ก็คือทำได้ เพราะเป็นนักเลง รู้เรื่องลมหายใจดีที่สุด
ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ในอรรถกถาว่า พวกที่จะรู้สึกได้ด้วย ได้ว่าจะตายลงไปวินาทีไหน ทำได้แต่พวกที่เชี่ยวชาญในเรื่องอานาปานสติ เขาจะจัดสรรตัวเองให้ตายลงไปได้ในวินาทีนั้น ในการหายใจครั้งนั้น ว่าอย่างนี้ดีกว่า แล้วพวกอื่น ไม่เคยชิน ไม่เข้าใจ ไม่แตกฉาน ในเรื่องลมหายใจนี้ ไม่สามารถจะทำได้ คล้าย ๆ กับปล่อยไปให้ดับไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าร่างกายมันเปลี่ยนมาอย่างไร ลมมันเปลี่ยนมาอย่างไร ไอ้นักเลงอานาปานสติมันรู้ กระทั่งรู้ว่าถึงใกล้เข้าไปแล้ว อย่างนั้นใกล้เข้าไปแล้ว จนจะจัดให้มันลงจังหวะ เรียกว่าเหมือนปิดสวิตช์ไฟแล้วตาย อย่างนี้ก็ได้
เขามีเรื่องเล่าไว้อย่างนี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญน่ะ พระเถระองค์หนึ่งผู้เชี่ยวชาญในอานาปานสติ พอถึงวันที่จะนิพพาน ก็บอกว่าจะทำอะไรให้ดู นี้คล้าย ๆ อย่างนั้นน่ะ นี่ผมเล่าให้เป็นภาษาธรรมดานะ ลงไปที่กลางสนาม แกยืนอยู่ตรงนี้ และฉันก็จะเดินจงกรมหน้าแกนี่ พอมาถึงตรงนี้แกก็คอยดู แกคอยดูฉันก็แล้วกัน แล้วท่านก็นิพพานที่ตรงหน้ามัน ทั้งที่ยืนอยู่ คนที่เฝ้าอยู่จึงรับท่านผู้นิพพานแล้ว สุดท้ายแล้ว หมดลมแล้ว นี่ก็เล่าไว้อย่างนี้
ซึ่งการปฏิบัติอย่างอื่นทำไม่ได้ จะเป็นกายคตาสติ เป็นอะไรสติ หรือเป็นกรรมฐานอะไร ก็ทำไม่ได้อย่างนี้ นี้เห็นได้ว่า มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของคนเราโดยตรง ก็ลองเอาไปสนใจดู ถ้าอย่างไร ๆ ก็ตรวจสอบชีวิตร่างกายให้ทุกวัน ๆ โดยการสังเกตที่ลมหายใจว่า มันปรกติดีอยู่ เรียบร้อยดีอยู่ เป็นไปตามปรกติอยู่ หรือมันเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไป เข้าไปหาความชราที่มันจะต้องแตกดับในที่สุด กระทั่งวันนี้อารมณ์ขุ่นมัวมันก็รู้ได้ที่ลมหายใจ วันนี้แจ่มใสก็รู้ได้ที่ลมหายใจ จะมีประโยชน์
ดังนั้นจึงอยากจะพูดว่า อานาปานสติภาวนานี้เป็นเรื่องธรรมศาสตรา เป็นเรื่อง การใช้ การมี การรักษา ธรรมศาสตรา ไว้แก้ปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ในชีวิตในทุกแง่ทุกมุม กระทั่งทางร่างกาย มันก็พอ เรื่องเดียวก็พอ ไม่ต้องสนใจแก่ชุดอื่นหรือกลุ่มอื่นของกรรมฐานนานาชนิดมากมาย เพราะว่าเรื่องอานาปานสติเรื่องเดียวนี้ก็สามารถจะมีความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ก็ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ใน ในเวลาอันใกล้ ถ้าทำจริง
นี่คุณก็ไปทบทวน ศึกษาให้เข้าใจ อย่าให้มันเลือน ๆ ไปเสีย เราพูดเรื่องนี้กัน ๓ วัน ๓ ครั้งนะ ตั้ง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ พูดเรื่อง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องร่างกายล้วน ครั้งที่ ๒ เรื่อง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๒ เรื่อง นี่ครั้งสุดท้ายนี่พูดเรื่อง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อนิจจัง ก็เรียกว่า ธรรม วิราคะ ก็เรียกว่า ธรรม นิโรธะ ก็เรียกว่าธรรม ปฏินิสสัคคะ ก็เรียกว่า ธรรม ธรรมะหนึ่ง ๆ ในลักษณะหนึ่ง ๆ นี้เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ก็เลยเรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติไว้ที่สิ่งที่เรียกว่าธรรม
เพราะชอบ เพราะทำอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า จึงเรียกว่าอานาปานสติ เพราะเป็นการทำจิตใจให้เจริญ ก็เรียกว่าภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า ทำให้เจริญ ทำให้เจริญด้วยอาศัยลมหายใจออกเข้า เขาจึงเรียกว่าอานาปานสติภาวนา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ครบถ้วนอยู่ในนั้น ไม่ต้องขวนขวายให้มันหลายเรื่องหลายราว ทำเรื่องเดียวกลายเป็นครบทุกเรื่อง ซึ่งมันยิ่งกว่ายิงทีเดียวได้นกสองตัว มันได้หลายตัว แล้วก็ได้หมดไปตามลำดับ ด้วยการกระทำอย่างนี้อย่างเดียว
เอาละ, สรุปให้เป็นคำสุดท้ายว่า ถ้าจะให้อะไรมันได้ผลแน่นอนแล้ว ให้มันทำลงไปทุกครั้งที่หายใจออกเข้า จะไปทำอะไรก็ตามใจคุณ จะเอาผลอย่างไรก็ไปทำอย่างนั้น ใช้ทำจริงถึงขนาดจะทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ก็เป็นเรื่องอานาปานสติโดยสมบูรณ์
เวลาวันนี้ก็หมดแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ เราจะพูดกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จบชุดการบรรยายชุดนี้