แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๑๓ นี้ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า จตุราริยสัจ คือหลักวิชายอดสุดของธรรมศาสตรา แล้วได้พูดกันมาตามลำดับถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่ให้ชื่อว่าธรรมศาสตรา กันมาในทุกแง่ทุกมุม เดี๋ยวนี้ก็อยากจะกล่าวถึงหลักวิชาสูงสุดที่จะใช้เป็นธรรมศาสตราถึงได้แต่เรื่องที่เรียกว่า อริยสัจทั้ง๔ ที่เขาเรียกกันเป็นภาษาบาลีไพเราะๆว่า จตุราริยสัจ
ทีนี้อยากจะขอทบทวนตามเคยว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมก็เป็นธรรมศาสตรา ช่วยแก้ปัญหาสังคม สิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรม นั้นก็เรียกว่าธรรมศาสตรา อันลึกซึ้งที่จะแก้ปัญหาทางจิตทางวิญญาณของคนหนึ่งๆโดยเฉพาะ นี้รวมเรียกกันว่าในรูปของศาสนา ทีนี้ก็ยังมีเรื่องปรัชญาถ้าจะให้เป็นธรรมศาสตรา ก็สำหรับแก้ปัญหาที่เฟ้อหรือเกินของผู้ที่ชอบคิดอย่างที่เรียกว่าเป็นนักคิด บูชาการคิด รักที่จะรู้รักที่จะเรียนเพื่อความรู้อย่างเดียวสมตามที่ความมุ่งหมายของสิ่งที่เรียกว่าปรัชญา หรือ Philosophy นั้น มีอยู่ว่าสัจจะเพื่อประโยชน์แก่สัจจะ ส่วนศาสนานั้นมันเป็นสัจจะที่เป็นประโยชน์แก่คน ปัญหาเฉพาะหน้าโดยตรง ปัญหาเดียว วิชาที่เป็นปรัชญาเขาไม่ได้มุ่งประโยชน์โดยตรงคือเขาไม่ได้มุ่งไปตรงๆที่ประโยชน์เพียงแต่คิดเรื่องสัจจะหรือความจริงเผื่อๆไว้มากมายแต่ว่าหลายแง่หลายมุม มันอาจจะเป็นหลายร้อยแง่หลายร้อยมุมถ้าให้พูดลึกลงไปแม้แต่คำพูดเพียงคำเดียว
ดังนั้นมันจึงมีรากฐานอยู่ที่การคิด นึก คำนวณ เรื่องทางเหตุลผล หรือเรื่องทางนามธรรม ถ้าจะเอาวัตถุมาคิดก็คิดในแง่นามธรรม ดังนั้นมันจึงต่างจากวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งหมายประโยชน์ทางวัตถุธรรมมีการคิดไปตามเหตุผลทางวัตถุที่เห็นอยู่เฉพาะหน้าที่เรียกว่าการพิสูจน์ การทดลอง แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กละเอียดไม่เห็นได้ด้วยตาก็ยังเรียกว่าวัตถุธรรมอยู่นั่นแหละ ปรัชญายังเป็นเรื่องที่ไม่เห็นตัว วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เห็นตัว แต่ศาสนานี้มันได้ทั้งตามหลักของปรัชญาและตามหลักของวิทยาศาสตร์ ศาสนาที่เป็นไปในรูปของปรัชญานั้นมันก็เฟ้อหรือเพ้อเจ้อ ถ้าเป็นไปในรูปของวิทยาศาสตร์อย่างคำว่าวัตถุธรรมเอาความรู้สึกที่รู้สึกได้ในจิตใจที่กำลังรู้สึกอยู่จริงๆที่เนื้อที่ตัวที่ใจ ศาสนาชนิดนี้ก็เป็นรูปวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพุทธศาสนา หมายความว่ารู้สึกอยู่กับใจโดยไม่ต้องเชื่อใครถึงเรียกว่าเป็นตัวแทนของธรรมะหรือของศาสนา
ศาสนาอื่นอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ ทีเดียวกันได้ก็คือว่า แต่ฝากไว้กับปรัชญาหรืออย่างน้อยก็ความเชื่อ อาศัยความเชื่อเป็นหลัก มีความเชื่อว่าดับทุกข์ เอากำลังความเชื่อมาดับทุกข์ อย่างนี้ก็มี ระวังให้ดีไปสังเกตส่วนที่ลึกซึ้งก็ว่าที่ให้เชื่อไปในทางที่ว่าไม่เห็นแก่ตัว กิเลสก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาอย่างพุทธศาสนานี้ ไม่ได้บังคับให้เชื่ออย่างที่เรียกว่าเห็นแก่ตัว อย่างที่เรียกว่าไม่มองเห็นตัวให้มาเชื่อด้วยปัญญาที่รู้สึกอยู่ แล้วก็เป็นไปเพื่อ ไม่เห็นแก่ตัวอีกเหมือนกันมันจึงดับกิเลสและดับทุกข์กันทีตรงนี้ เขาจะมองกันในแง่ของความงามบ้าง ที่เป็นศิลปะที่น่าดูที่เป็นอาร์ตที่น่าดูมันก็มีความงามตามแบบของเรื่องทางจิตใจ ทางฝ่าย Spiritual มันมีความงามที่ดุจยิ่งกว่าความงามทางวัตถุทางเส้นทางเสียงอะไรอย่างนี้ เพราะกิริยาที่ทำให้ดับทุกข์ได้มันคือความงามที่สุด เขาถึงใช้คำว่างาม แม้แต่คำภาษาบาลีเขาก็ใช้คำว่างามคือกัลยาโณ อย่างที่สวด (นาทีที่9:12ประโยคบาลีทั้งประโยค) นี่คือความงามแสดงแง่ของศิลปะแต่ว่าในทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณฝ่าย Spiritual
ถ้าใครไม่เข้าใจถึงข้อนี้ก็เรียกว่ายังไม่ได้ชิมรสของธรรมะหรือการปฏิบัติธรรมจึงไม่รู้สึกความงามของความสุขชนิดที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม นี่ขออย่าได้ประมาทเลยจงตั้งใจศึกษาเข้าใจแล้วพยายามทำให้มันเกิดความรู้สึกในความสุขคือรสชาติอันนี้แล้วก็จะรู้สึกจากความงามของพระพุทธศาสนาที่ว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย พวกคุณบางคนที่ว่าบวชระหว่างปิดภาค แล้วก็ว่าเวลาเล็กน้อยมันก็ยากที่จะเข้าใจความงามอันนี้ แล้วยิ่งบางองค์ก็บวชตามๆกันมา 2-3 วันก็เปิดแล้ว ไม่ทันจะเข้าถึงตัวธรรมะก็ไม่มีหวังที่มองเห็นในแง่อย่างนี้คือในแง่ที่สูงสุดลึกซึ้งที่สุด ก็ขอให้ตั้งใจดีๆคืออย่าประมาทเสียคือลองคิดตามไป ให้มีความเข้าใจตามไปตามที่ผมจะชี้ให้เห็นเป็นเรื่องๆไปนี่ก็เรียกว่าจะทบทวนหลักเหล่านี้ให้มันแจ่มแจ้งอยู่เสมอ นี่ความกำกวมมันมีมากขึ้น เพราะภาษามันถ่ายทอดและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเลยเข้าใจตัวจริงหรือของจริงผิดออกไป ผิดออกไปๆ กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าศาสนาหมายถึงโบสถ์วิหารวัดวาอารามสัญลักษณ์ของศาสนาเท่านั้นเอามาเป็นตัวศาสนา
ดังนั้นมันเป็นเพียงเปลือกหรือสัญลักษณ์ทางศาสนาเสียมากกว่าตัวศาสนาที่ต้องจับกันโดยการตั้งต้นคือการศึกษาเล่าเรียนให้รู้จริงทั้งปฏิบัติจนเรียกว่ามีความเป็นอยู่ด้วยการปฏิบัติตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนนี่เรียกว่าศาสนาเป็นตัวการปฏิบัติจนกว่ามันจะได้ผลที่เป็นความสุขที่เป็นความงามเป็นความอะไรก็แล้วสุดแท้แต่จิตใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนานี้เราไม่ได้อวด ไม่ได้คุยโตมันมีอะไรมากจนถึงกับว่ามันมองกันได้ทุกแง่ทุกมุม นี่ไปพิจารณากันให้ละเอียดทีหลังก็ได้ แต่ว่าอยากให้ทราบว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมองในรูปของวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งได้ก็คือเรื่อง อริยสัจ ที่กำลังจะกล่าว มองในแง่ปรัชญาก็ได้หรือจะมองในแง่บุคคลที่รักความงามจะมองในแง่ศิลปะก็ได้ บางคนลึกมากถึงกับมองในแง่กวีนิพนธ์ถึงความสัมพันธ์กันระหว่างธรรมะทั้งหลาย แต่ทีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเข้าใจให้ดี จะมีความสำคัญมาก เพราะธรรมะตัวจริงหรือว่าศาสนาตัวจริงถ้ายังไม่บรรลุถึงธรรมะนั้นมันจะยังสงสัยอยู่ มันต้องคาดคะเนอยู่ ธรรมะนั้นหรือศาสนาส่วนนั้นมันจะอยู่ในรูปของปรัชญา แล้วเรื่องเดียวกันนั้นธรรมะตัวนั้นก็เข้าถึงแล้ว สำเร็จเป็นผลปรากฎแก่ใจจริงๆแล้ว มันก็กลายรูปเป็นวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง จตุราริยสัจ ๔ ประการนี้ ถ้ายังเข้าไม่ถึงคือไม่ได้เห็นตามที่เป็นจริงยังไม่ได้เห็นตามที่เป็นจริงคือไม่ได้เกิดขึ้นหรือรู้สึกอยู่ภายใน
เรื่องอริยสัจ นี่ก็เป็นเรื่องปรัชญา คนส่วนมากโดยเฉพาะพวกฝรั่งจะรู้จักอริยสัจในรูปของปรัชญาศึกษาในรูปของปรัชญาคือยังเข้าไม่ถึงมันก็ยังมีความสงสัยหรือคาดคะเนหรือการใช้เหตุผลตามแบบของปรัชญา แต่ถ้าเข้าถึงและดับทุกข์ได้เช่นพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ปรากฎอยู่แก่ใจชัดๆเหมือนกับวิทยาศาสตร์ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ ไม่ได้ว่าด้วยปากมันรู้สึกอยู่ในใจว่าเหตุมันต้องอย่างนี้ อย่างนี้ ไอ้ความดับของมันมันคืออย่างนี้ อย่างนี้ การปฏิบัติที่เราได้ปฏิบัติแล้วมาอย่างนี้ อย่างนี้ มันจึงดับเหตุของความทุกข์อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนี้มันเห็นชัดอย่างนี้มันเป็นรูปของวิทยาศาสตร์
แต่เมื่อยังทำไม่ได้อย่างนั้นก็เอาความรู้สึกของพวกคุณเองก็แล้วกัน ทุกคนนี้เรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องอะไร มันก็เป็นเรื่องของวิชา ก็ไปในรูปร่างของปรัชญาที่จะต้องคำนึง คำนวณตามเหตุผลทางปรัชญาว่ามันจริงอย่างนั้น จริงหรือไม่ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุเกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ก็ไม่เห็นว่าเป็นอย่างไหน ก็เลยคำนวณไปตามหลักการที่มีอยู่หรือพระบาลีที่วางไว้ว่าความทุกข์ ที่เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นความทุกข์ การยึดมั่นถือมั่นเบญจขันธ์เป็นความทุกข์ ก็ยังไม่มองเห็น แม้ว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตายจะมีอยู่ก็ไม่เคยดู และไม่เข้าถึงตัวความหมายของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เห็นแต่ภาพอย่างผิวเผิน ไม่มีปัญหาเดือดร้อนที่เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเขาเรียกว่ายังไม่เห็นความทุกข์ มันก็น่าหัว ความทุกข์ที่อยู่ที่เนื้อที่ตัวถ้าเรามิได้เห็น มันจึงเป็นรูปที่ต้องคิด ต้องนึก ต้องคำนวณไปเรื่อยว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหนก็ไม่รู้ โดยเฉพาะความดับทุกข์ คือดับกิเลสนี่ก็ยิ่งยากที่จะมองเห็น แต่ก็มองเห็นได้ในรูปของปรัชญากันไปก่อน ถ้าขยายไปไม่สิ้นสุดมันก็เตลิดเปิดเปิงเป็นรูปเพ้อหรือเพ้อไป ที่จะสำเร็จได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามทางแห่งการดับทุกข์ อันนี้ก็จะเริ่มช่วยให้เข้าใจกันขึ้นมาทั้ง ๔ อย่างพร้อมๆกัน จะเข้าถึงตัวอริยสัจเพียงอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ มันจะเข้าถึงพร้อมๆกันมาเรื่อยตามสัดส่วนที่พอเหมาะสมแก่กัน
ทีนี้ถ้าเราพูดแล้วเราเข้าใจความทุกข์ เรื่องความทุกข์ ทีนี้ก็รู้ถึงรูปการศึกษาหรือในรูปของปรัชญาที่ต้องคิดคำนวณอีกทีหนึ่งว่าทำไมนะความเกิด ความแก่จึงเป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นต้น ขอให้เข้าใจว่าไอ้หลักธรรมะหรือศาสนานี้ถ้ายังเข้าไม่ถึงมันก็อยู่ในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความคิดนึก ความฉงน ความสงสัย ความอะไรไปเรื่อยๆ ที่ว่าต้องอาศัยความเชื่อก็คงจะดีแน่ มีศรัทธาก็พาไปให้แต่ต้องรู้ลึกทำอะไรมากขึ้นๆจนกว่าจะเข้าถึงตัวศาสนานั้นๆ หรือบางทีใช้ปัญญาอย่างธรรมดาสามัญ ปัญญาชาวบ้านมาคิดดูก็เป็นเหตุให้น่าสนใจ ถ้าสนใจก็ลองสนใจไปก่อนก็เข้าไปถึงได้ในที่สุดเหมือนกัน นี่อาศัยศรัทธาบ้าง อาศัยปัญญาบ้าง อาศัยทั้งสองอย่างเจือกันบ้าง เราเห็นเขาทำๆก็อยากจะลองดูบ้าง ทีนี้ก็อยู่ในพวกความเชื่อในทีแรกก็เข้าไปสู่ศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมได้
ทีนี้เรื่องอริยสัจ ซึ่งเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาก็อยู่ในสภาพอย่างนี้ งั้นอย่าเพิ่งประมาทว่าจำรายละเอียดได้แล้วมันก็พอ มันก็เป็นเรื่องจำ เรื่องความรู้ทั้งนั้น ยังจะไม่เป็นปรัชญาด้วยซ้ำไป จดไว้ก็เป็นความรู้ไปคิดในแง่ปรัชญามันก็เป็นปรัชญาพอปฏิบัติแล้วจึงจะเป็นไปในรูปของวิทยาศาสตร์หรือศาสนา ขอให้เข้าใจ ความที่มันสับสน มันยุ่งไปหมด นี่ความกำกวมทางภาษา ทีนี้การที่ไปเถียงกันว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างงี้ก็เหมือนกับว่าตาบอดคลำช้างคือคลำกันคนละแง่ คนละมุม คนละเวลา ก็ไปเถียงกันนะ
ทีนี้จะพูดถึงเรื่องจตุราริยสัจ ที่เป็นความมุ่งหมาย จตุราริยสัจแปลว่า อริยสัจ ๔ อริยสัจนี่ก็คือสัจจะชนิดที่เป็นประโยชน์โดยตรงที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาให้กำมือเดียว จากสัจจะทั้งหลายที่มีมากมายเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า ก็ทรงนำมาให้กำมือเดียว ฉะนั้นมันจึงเป็นสัจจะที่ประเสริฐตรงที่ว่ามันตรงกับเรื่องของมนุษย์ จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จึงเรียกว่าอริยะหรือประเสริฐ ประเสริฐเพราะมันดับทุกข์ได้ อริแปลว่าข้าศึก ยะแปลว่าไป อริยะแปลว่าไปเสียจากข้าศึก ข้าศึกนั้นคือความทุกข์ ให้มันประเสริฐตรงที่มันดับทุกข์ได้ ครั้นถ้าจะเอาความหมายของคำๆนี้กันว่าอย่างนี้ ไม่ใช่ประเสริฐแปลว่าเอาว่าประเสริฐ มันก็ประเสริฐ ประเสริฐตรงที่ไปเสียจากข้าศึกคือความทุกข์หรือกิเลสได้แล้วมันมีอยู่ ๔ อย่างที่เนื่องกันคือเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดความทุกข์ เรื่องความดับสนิทของความทุกข์ แล้วก็ทางแห่งความดับสนิทของความทุกข์ มันเป็น ๔ เรื่องขึ้นมา แต่ถ้าจะทำให้น้อยลงก็เหลือสองอย่างคือเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันไว้อย่างนั้นว่าฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ แต่โดยเหตุที่มันพูดไปถึงเหตุหรือหนทางด้วย ทั้งของความทุกข์และความดับทุกข์มันจึงเป็นสี่
ทีนี้ก็เหลือสองแล้วความทุกข์กับความดับทุกข์ อันไหนมันสำคัญกว่ากัน แล้วความดับทุกข์เมื่อให้เหลือเรื่องเดียวมันก็เหลือความดับทุกข์ของพระพุทธศาสนาคือความดับทุกข์ พรหมจรรย์นี้เป็นไปเพื่อความวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ก็เหลือเรื่องเดียว แต่เดี๋ยวนี้เราแยกออกไปเพื่อสะดวกแก่การศึกษาความดับทุกข์นี้จะต้องรู้เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ เรื่องความทุกข์หรือเรื่องเหตุที่ให้เกิดทุกข์ด้วย เรื่องความดับทุกข์นี้จะต้องรู้ว่าทำอย่างไรจะได้มาด้วยมันก็เลยเป็น ๔ เรื่อง ถ้าอาศัยลักขิกธรรมดาทั่วไปก็จะเกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง ๔ หัวข้อว่าความทุกข์นั้นคืออะไร มาจากอะไร เพื่อประโยชน์อันใดแล้วก็สำเร็จได้โดยวิธีใด นี่เป็นหลักที่เป็นหัวใจในเรื่องของอริยสัจ เอาไปใช้ได้กับทุกสิ่งที่เราต้องการศึกษา ถ้าคุณต้องการจะศึกษาเรื่องอะไรให้สำเร็จประโยชน์ไปอย่างนั้นก็ใช้หัวข้อ ๔ อย่างนี้ได้จริง ว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่อประโยชน์อะไรในที่สุด แล้วมันจะสำเร็จได้โดยวิธีใด แม้แต่จะศึกษาเรื่องการทำนาหรืออะไรก็ ก็ต้องใช้ ๔ หัวข้อนี้ได้ทั้งนั้น หรือแม้ที่สุดคุณจะไปบรรยาย ไปพูด ไปเทศน์ ก็ลองใช้ ๔ หัวข้อนี้ มันก็จะง่ายดายในการพูดจา บรรยาย มีเรื่องให้พูดเยอะแยะเสียอีก ทีนี้ไม่รู้จะจัดหัวข้ออย่างงี้แล้วมันพูดไม่ออก หรือมันพูดวกวน ทีนี้ประโยชน์แม้แต่เรื่องประโยชน์ที่เป็นวิธีการที่จะได้ใช้ในการศึกษาหรือการพูดจา มันมีอยู่ในเรื่อง อริยสัจ ๔ นี้
ทีนี้อริยสัจนี่มันเป็นหลักวิชาในรูปของหลักวิชาก่อนแล้วค่อยเป็นไปในรูปของการปฏิบัติ ทีนี้เรากำลังพูดกันว่าเป็นหลักวิชา จนกว่าจะไปเป็นหลักปฏิบัติโดยครู ที่รู้วิชานั้นๆแล้วไปปฏิบัติให้มันสมบูรณ์ขึ้นมาทั้งวิชาและการปฏิบัติ ทีนี้วันนี้มาพูดเรื่องหลักวิชาให้รู้ไว้ก่อนตามที่พระอริยเจ้าท่านได้รู้ เราก็ไม่เสียเวลามากที่จะคิดค้นเอง แม้ในการอธิบายจะเห็นได้ในตอนสุดท้ายว่ามันเป็นหลักวิชาที่เป็นยอดสุดของธรรมศาสตรา ได้อย่างไร เรื่อง อริยสัจ นี้คุ้นปากผมก็ใช้คำว่าเรื่องอริยสัจ ๔ แทนที่จะใช้ว่า จตุราริยสัจ เรื่อง อริยสัจ นี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคืออริยสัจเล็กๆพูดง่ายๆที่พูดกันอยู่ทั่วไป จะเรียกว่าอริยสัจเล็กดีกว่า แล้วเรื่องอริยสัจใหญ่คือเรื่องเดียวกันแต่ขยายความให้มันใหญ่ไป ให้มันเห็นชัดขึ้น หรือมันน่าดู เรื่องอริยสัจเล็กก็คือที่พูดกันอยู่ทั่วไปจนใครๆก็พูดได้ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ๔ อย่าง พูดกันว่าทุกข์ก็คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือตัณหา ความอยากก็คือความโง่ ทีนี้ความดับทุกข์คือดับตัณหาเสียคือความดับตัณหาเสีย ทีนี้ทางแห่งความดับทุกข์มันก็ปฏิบัติธรรมะมีองค์ ๘ ประการเท่านั้นแหละ ทุกข์ก็คือความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ก็คือตัณหา ความดับทุกข์คือดับตัณหาเสีย ทางดับทุกข์ก็คือปฏิบัติให้ถูกต้อง ๘ ประการอยู่ ทีนี้คนทั่วไปก็พูดอย่างนี้ฟังง่ายโดยไม่ต้องมีความรู้มากมายอะไร
แต่ถ้าเป็นเรื่องอริยสัจใหญ่ถ้าพูดถึงความทุกข์ก็เหมือนกับที่พูดถึงเรื่องอริยสัจเล็กคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความทุกข์ ความสุข ความร่ำไรรำพัน สรุปแล้วก็ยึดมั่นถือมั่น แต่พอถึงคราวที่จะแสดงสมุทัยหรือเหตุให้เกิดทุกข์ก็แสดงในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เคยบรรยายไว้โดยรายละเอียดในที่อื่นๆ ในทีนี้ก็จะชี้ให้เห็นเพียงแนวของมัน ถ้าถามถึงเหตุให้เกิดทุกข์คือการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ไม่ได้ตอบคำเดียวว่าตัณหาเฉยๆหรอกจะตอบว่าอวิชชา ไปตั้งต้นที่อวิชชา หรือที่เรียกว่าสังขาร คือสภาพปรุงแต่งทางจิตใจสังขาร ให้เกิดวิญญาณคือทำให้เกิดความรู้สึกคิดนึกทางจิตโดยเฉพาะกรณีนั้นๆขึ้นมา เอาวิญญาณธาตุทั่วๆไปมาปรุงเป็น วิญญาณ
เฉพาะกรณีนี้วิญญาณให้เกิดนามรูปคือร่างกายและจิตใจที่แฝดกันอยู่ที่เหมาะสมเฉพาะกรณีนี้ ขึ้นในขณะนั้น เขาไม่ได้ถือว่าเกิดอยู่ตลอดเวลาคนเรา เวลารู้จะให้มีการสัมผัสทางอายตนะคือทำหน้าที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจเอง นี่อายตนะ นี่อายตนะก็ทำให้เกิดผัสสะคือสัมผัสอารมณ์ข้างนอกตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น นี่ผัสสะทำให้เกิดเวทนารู้สึกในใจเป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ นี่เวทนาทำให้เกิดตัณหานี่มาถึงชื่อเดียวกันแล้ว ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน ตัณหาคือความอยากด้วยความโง่ ด้วยอวิชชาให้เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ ยึดมั่นอย่างนี้แล้วจะเกิดภพ สมบูรณ์เป็นตัวกูของกู อยู่ในกรณีนั้นๆเป็นกรณีกรณีไป ก็เกิดชาติทำเต็มที่แห่งการปรุงแต่ง แห่งตัวกูของกูออกเป็นชาติขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ถ้าคิดเร็วก็เป็นชาติเร็ว ถ้าคิดดีก็เป็นชาติดี จึงจะบัญญัติเป็นคนเป็นสัตว์เป็นเดรัจฉานอะไรก็ได้ แต่แล้วมันเป็นความทุกข์ตรงไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น ถึงว่าชาติ นั้นให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ เทวะ สุขะ โสมนัส อุปาญาติ เรียกว่าทุกข์ทั้งปวงเกิดขึ้นเพราะชาติ เพราะมีตัวกูของกู
จะเห็นได้ว่าต้องพูดถึง ๑๑ ครั้งไอ้การที่จะตอบว่าความทุกข์เกิดมาจากอะไร ที่เรียกว่าอริยสัจใหญ่ อธิบายการเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ ถ้าเป็นอริยสัจเล็กก็ตัณหา ตอบว่าตัณหาคำเดียวเท่านั้นที่เหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าเป็นอริยสัจใหญ่นี่ต้องพูดถึง ๑๑ ครั้ง ๑๒ คำสุดท้ายคือความทุกข์ ทีนี้เรื่องที่สามที่ว่าความดับแห่งทุกข์ อริยสัจเล็กเขาก็ตอบว่าดับตัณหาเสียสิเพราะอริยสัจใหญ่มันก็มาจากอวิชชาอีกน่ะ ดับอวิชชา พออวิชชาดับ สังขารดับ พอสังขารดับ วิญญาณดับ พอวิญญาณดับ นามรูปดับ พอนามรูปดับ อายตนะดับ พออายตนะดับ ผัสสะดับ พอผัสสะดับ เวทนาดับ พอเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ พอตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ พออุปาทานดับ ภพก็ดับ พอภพดับ ชาติก็ดับ พอชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ เทวะ สุขะ โสมนัส วาญาติ ทั้งหลายก็ดับ ทุกข์ก็ดับ ตรงนี้ พูดถึง ๑๑ ครั้งนี่ก็เรียกว่าอริยสัจใหญ่มันพิสดาร
พอมาถึงสิ่งสุดท้ายก็ทางดับทุกข์นี่ก็แสดงด้วยมรรคมีองค์ ๘ ประการเหมือนกันทั้งอริยสัจเล็กและอริยสัจใหญ่ งั้นเรื่องอริยสัจใหญ่มันจึงมีคำพูดมากกว่า ขยายความออกไปมากกว่า แม้แต่เรื่องความทุกข์ก็พูดได้มากกว่า เป็นรายการที่มากกว่า รายละเอียดกว่า เพราะหนทางแห่งความดับทุกข์ก็ขยายความได้มากกว่า ให้ละเอียดออกไป แต่มันสำคัญตรงที่เหตุให้เกิดทุกข์กับความดับแห่งความทุกข์ที่แสดงด้วยปฏิจจสมุปบาท คุณก็ไปหาโอกาสศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นก็คือเรื่องอริยสัจโดยพิสดารที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้ว่าเอาเองก็มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ที่พระองค์ตรัสว่าเราจะแสดงอริยสัจแก่พวกเธอคอยฟังให้ดีแล้วก็ตรัสแล้วก็กลับมาในรูปของปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน โดยทั่วไปท่านก็ตรัสในรูปของอริยสัจ ๔ อย่างเล็ก อย่างอริยสัจเล็ก ก็มีเหมือนกันที่ตรัสอริยสัจ ๔ อย่างปฏิจจสมุปบาท งั้นเราจึงเห็นกันว่าเป็นการสะดวกที่จะจับเรื่องอริยสัจให้เป็นสองขนาดเรียกว่าเป็นเรื่องอริยสัจเล็กและอริยสัจใหญ่ เนื้อตัวมันตรงกันแท้ใช้คำอธิบายและคำชี้แจงให้มันมากกว่ากัน นี้ละคือข้อที่ว่าถ้าเราไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงปลีกย่อยเหล่านี้เราก็จะเถียงกันเรื่อย
นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คืออริยสัจ นี่คุณๆอย่าลืมว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็คือเรื่องอริยสัจ เป็นเรื่องอริยสัจใหญ่แล้วมันเข้าใจยากกว่าเรื่องอริยสัจเล็ก งั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทมันจึงคาราคาซังในรูปของปรัชญาเสมอไป พอฝรั่งมาแตะต้องเรื่องนี้เข้าก็รู้สึกเป็นปรัชญาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาก็เลยหาว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาเสียไม่ใช่ศาสนาหรือไม่ใช่วิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ ก็ขอให้เข้าใจข้อนี้ไว้ด้วย เพราะว่าต่อไปก็ต้องเผชิญหน้ากับชาวต่างประเทศกัน ทีนี้เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ยิ่งสำคัญในข้อที่ว่า ถ้ายังไม่รู้ไม่ถึงก็เป็นเรื่องปรัชญาอย่างขนาดหนักแล้ว แต่ถ้าเข้าถึงแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็กลายเป็นเรื่องเปิดเผยชัดเจนเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาทันที มันก็เหมือนเราเห็นอะไร รู้อะไรอยู่เฉพาะหน้า นี่คือข้อที่ลำบากข้ามในการศึกษา นี่เราพูดกันในเรื่องอริยสัจเล็ก อริยสัจใหญ่ ซึ่งมีอยู่ ๔ ข้อ ทีนี้ก็จะได้พูดถึงข้อที่แรกคือเรื่องทุกขอริยสัจ ต่อไปตามสมควร
อย่าลืมว่าผมกำลังพูดว่าเป็นหลักวิชายอดสุดของธรรมศาสตรา ก็จะพูดในแง่หลักวิชาให้เข้าใจ นี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ถ้าดูกันในแง่ของศาสนาหรือตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ความทุกข์ในทีนี้ก็มีความหมายธรรมดาสามัญที่สุด คือความทุกข์ที่เจ็บปวดที่ทนทรมาน ที่เราไม่ต้องการนี่แหละที่เรียกว่าความทุกข์ เพราะฉะนั้นมันจึงมีได้เฉพาะแก่สัตว์ที่มีความรู้สึกแค่นั้นแหละ มันไม่อาจจะมีได้แก่ก้อนหิน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันไม่มีความรู้สึก แล้วถ้ามันต่ำเกินไปเช่นต้นไม้ อย่างนี้ก็ไม่เป็นปัญหาความทุกข์ในลักษณะอย่างนี้ ฉะนั้นจึงมีปัญหาแก่สัตว์ที่มีความรู้สึกสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมนุษย์ นี่สัตว์เดรัจฉานมันมีความรู้สึกน้อย งั้นเรื่องอริยสัจมันก็ไม่ถึงขนาด ไอ้ความทุกข์มันก็ไม่ถึงขขนาด เพราะมันไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเป็นมากเหมือนกับมนุษย์ มันจึงยุติอยู่ที่แค่มนุษย์ที่มีความรู้สึกสมบูรณ์ มนุษย์บ้าๆบอๆมันก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจอริยสัจได้ แต่อาจจะรู้สึกแห่งความทุกข์ได้ ซึ่งเป็นเวทนาอันหนึ่ง งั้นความทุกข์เมื่อมองกันในแง่ของศาสนาก็คือความที่มันทนพยาธิ เจ็บป่วย แต่ถ้ามองในแง่ปรัชญา ความหมายก็เตลิดออกไปได้
ถ้าถือตามหลักอรรถกถา ไม่ใช่พระพุทธภาษิต ไม่ใช่บาลีพระพุทธภาษิต ถ้าถือตามหลักอรรถกถาก็ช่วยอธิบายความทุกข์ในแง่ของปรัชญา ก็ช่วยอธิบายบาลีบางคำ เพราะความทุกข์นั่นมันยังมีความหมายไปไกลถึงว่าดูแล้วน่าเกลียด ทุกข์แล้วน่าเกลียด ทิกขแปลว่าดูหรือเห็น ดูแล้วน่าเกลียด ดูแล้วรู้สึกเศร้าเป็นต้น นี่ความหมายมันจะกินกว้างออกไปจนถึงกับก้อนหินมันก็มีความทุกข์เพราะมีอาการเปลี่ยนแปลง อาการเปลี่ยนแปลงนั้นคืออาการน่าเกลียด ทั้งก้อนหิน ก้อนดินอะไรก็ตามที่ไม่มีความรู้สึกเลยก็เป็นทุกข์ เพราะดูแล้วมันน่าเกลียดข้อที่ว่ามันเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงของมันน่าเกลียด แล้วเป็นทุกข์แก่ตาของผู้เห็น ข้อนี้จะช่วยอธิบายไอ้หลักทั่วไปที่ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ จะเป็นสังขารที่มีความรู้สึก หรือไม่มีความรู้สึกก็อธิบายได้ว่าเป็นทุกข์โดยลักษณะนี้
ทีนี้อีกทีหนึ่งคำว่าทุกข์ นี้แปลว่าว่างอย่างน่าใจหาย ว่างอย่างน่าเกลียด ทุแปลว่าน่าเกลียด ขัง ขะแปลว่าว่างก็มี ทุกขังจึงแปลว่าว่างอย่างน่าเกลียด คือมันว่างอย่างที่มองดูแล้วใจหายวาบเลย ก็ไม่มีอะไรเป็นของจริงของจังเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงได้ นี่สังขารทั้งปวงแม้แต่ก้อนหินก้อนดินนี่ ดูเข้าไปๆก็จะเห็นว่าว่างจากสาระที่เป็นตัวตนอย่างน่าเกลียด อย่างนี้ก็ใช้คำนึงคำนวณไม่เกี่ยวกับความรู้สึกเพราะเป็นรูปปรัชญา ทำให้อธิบายประโยคที่ว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ได้กว้างขวางออกไปถึงสิ่งที่ไม่มีความรู้สึกคิดนึก แต่ตรงนี้ก็อยากจะแสดงความสงสัยไว้สักอย่างหนึ่งว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสังขารเป็นทุกข์นี่ คำว่าสังขารนั้นจะหมายถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณอย่างที่เราอธิบายกันโดยมากหรือไม่นี้ก็ยังสงสัยอยู่ เพราะอรรถกถาก็ชวนอธิบายว่าเป็นทั้งหมดเลย ทีนี้จะมีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณก็เรียกว่าสังขารทั้งนั้นเพราะมันเป็นการปรุงแต่ง ก็เลยว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นไปในทางอื่นคือเป็นไปในทางที่ว่า คำว่าสังขาร นั้นจะหมายเฉพาะกิริยาอาการของการปรุงแต่งที่มนุษย์รู้สึกอยู่แล้วเป็นตัวทุกข์อย่างนี้ สังขารอย่างนี้จะหมายเฉพาะไอ้ความปรุงแต่งในจิตใจของมนุษย์ นี่เป็นตัวทุกข์จริง ก็เข้ารูปเดิมที่ไม่ต้องทน ถ้าต้องทนก็เป็นทุกข์
นี่ผมกำลังจะพูดที่มันไกลออกไป ที่มันเกินออกไปจะไกลออกไปจนจะเป็นรูปของปรัชญา ถ้าอย่างไรก็ให้ถือว่าเป็นตัวอย่าง โดยจะพูด ไปในรูปของปรัชญานั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าจะพูดกันให้แคบจำกัดอยู่ในวงของศาสนาแล้วมันจะเป็นอย่างไร ที่คนทั่วไปเขาไม่ต้องการปรัชญาเขาต้องการความรู้ทางศาสนา ดับทุกข์กันโดยเร็วที่นี้ และเดี๋ยวนี้ ถึงเราก็เหมือนกัน สรุปว่าไอ้คำว่าความทุกข์คำเดียวนี้มันก็มีปัญหาได้อย่างนี้แล้ว ทางศาสนาจะเพ่งเล็งแต่ความทุกข์ที่ต้องทนทรมานอยากจะพ้นเสียโดยเร็ว แต่ทางปรัชญาก็ออกไปในทางที่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีความรู้สึก หรือไม่รู้สึก เขาเรียกว่า สังขาร แล้วมันเป็นทุกข์เพราะว่ามันดูแล้วน่าเกลียด น่าระอา ดูแล้วมันว่าง เวิ้งว้างไปหมดไม่มีอะไรที่จะไปจับฉวยยึดถือได้
ทีนี้ก็จะดูความทุกข์ที่เป็นปัญหาโดยตรงหรือทางศาสนาหรือเรื่องอริยสัจโดยตรง เรากำลังพูดเรื่องอริยสัจทั้งพอความทุกข์ในทีนี้ จะพูดตามแง่ของอริยสัจ จะไม่พูดตามแง่ของสามัญลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปไกลกว้างไปโน้นไม่ยังไม่พูด จะพูดแต่ในแง่ของอริยสัจ ที่ว่าความทุกข์คือทนยาก ทนไม่ได้ ทนไม่ไหว ไม่อยากทน สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์นี้ถ้าพูดกันโดยกิริยาอาการ ก็โดยอาการก็เหมือนที่คุณท่องอยู่ทุกวัน ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ร่างกายเป็นทุกข์ โสกะ เทวะ สุขะ โสมนัส อุปาญาติ เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ได้รักเป็นทุกข์ ความจาก ไปจาก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วก็ไม่ได้สิ่งนั้นๆก็เป็นทุกข์ กระทั่งว่าปัญจุปาทาขันธ์ เป็นทุกข์นี่ล้วนแต่ต้องทนทั้งนั้น แล้วก็ทนยากโดยกิริยาอาการก็ไปนับโดย ความเกิดหนึ่ง ความแก่หนึ่ง ความตายหนึ่ง ความโศกหนึ่ง ความทุกข์หนึ่ง ความโทมนัสหนึ่ง อุปาญาติหนึ่ง สัปโยคหนึ่ง วิปโยคหนึ่ง ณลับภติหนึ่งแล้วก็อุปาทาน ขันธ์หนึ่งนี่ก็เป็นตั้ง ๑๐ ไปนับเอาเองก็ได้ นี่โดยอาการมันมีอยู่อย่างนี้แจกเป็นอาการๆไป
ทีนี้จะดูโดยที่ตั้งหรือที่รองรับของมันอยู่ที่ตรงไหนก็อยู่ที่เบญจขันธ์ ความทุกข์ถ้าเกิดก็เกิดที่เบญจขันธ์ที่เป็นตัวทำความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นมา ถ้ายังไม่เป็นตัวตนคือเป็นขันธ์เฉยๆก็ทุกข์อย่างที่ว่าดูแล้วน่าเกลียด พอเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมาก็ทุกข์อย่างทนทรมาน มันจะกินเวลาบ้างก็ลองทนฟัง เกิดขันธ์เฉยๆยังไม่มีอุปาทานเช่นตาเห็นรูปก็แล้ว ก็เกิดรูปขันธ์ วิญญาณที่เห็นนั้นก็วิญญาณขันธ์ นั้นเวทนานั้นสบายตาหรือไม่สบายตา สวยไม่สวยหรือเฉยๆอย่างนี้เขาเรียกว่าเวทนาขันธ์ จำได้ว่ามันเป็นอะไร มั่นหมายว่ามันเป็นอะไร แต่ไม่ได้ยึดถือเขาเรียกว่าสัญญาขันธ์ สังขารคิดนึกเล่นๆว่าข้าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้นี่ก็ดีนะ ก็ไม่ได้ยึดถืออะไรเรียกขันธ์เฉยๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉยๆอันนี้ก็เรียกว่าขันธ์ห้าเฉยๆ ถ้าจะเกณฑ์ ให้เป็นทุกข์ ก็ทุกข์เพราะอนิจจัง ไม่น่าดู น่าเกลียด น่าระอานี่ก็ขันธ์เป็นทุกข์ ตัวขันธ์นั้นน่ะรองรับความทุกข์ นี่ถ้าว่ามันยึดมั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู สวยงามจนเกิดกิเลสอะไรเป็นต้นอย่างนี้ อย่างนี้รูปนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ รูปขันธ์ที่ถูกยึดถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ถูกยึดถือเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์ที่กำลังมีความยึดถืออยู่นั่นแหละถูกยึดถืออยู่นั้นแหละเป็นตัวทุกข์เป็นตัวรองรับความทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ นี่เราจะเรียกว่าโดยที่ตั้งหรือที่รองรับของความทุกข์แล้วเราก็จะมองที่ปัญจุปาทานขันธ์ เป็นตัวรองรับความทุกข์อยู่ จะมองในแง่ของความทุกข์ก็ได้ในนั้นมันเป็นตัวของความทุกข์หนักอยู่ ทีนี้จะมองว่ามันเป็นสิ่งที่รองรับ เป็นที่ตั้ง ที่อาศัยแห่งความทุกข์ ก็เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่มีอุปาทานยึดครองอยู่นี้เป็นตัวทุกข์
ทีนี้ดูต่อไปโดยความหมายของมัน คำว่าทุกข์ นี้ถ้าถือเอาโดยความหมายของมันก็คือทนยาก เจ็บปวด งั้นความหมายที่แท้จริงนั้นเล็งถึงความเจ็บปวดที่มาจากความยึดมั่นที่เกิดจากความยึดมั่น ที่เจ็บใจ แม้เจ็บกายถ้าไม่ได้ยึดมั่นมันก็เพียงธรรมชาติ หรือเวทนาตามธรรมชาติอันหนึ่ง ยังไม่ได้หมายถึงความทุกข์ในกรณีอย่างนี้ กรณีอย่างนี้ต้องหมายถึงความเจ็บปวดที่มาจากความยึดมั่นด้วย เป็นเรื่องของเจ็บใจเพราะความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะให้จำได้ง่าย ลืมยากแล้วก็ คุณนึกถึงเรื่องที่เคยพูดบ่อยๆเรื่องลูกศรดอกที่สอง ย้ำคำว่าลูกศรดอกที่สอง เพราะเป็น(ไม่ชัดนาทีที่ 50.06)มันจะกันปนเป ลูกศรดอกที่หนึ่งคือเจ็บปวดหรือ Accident หรือด้วยตามธรรมชาติ นี่ไม่เจ็บปวด พอไปรับเอาความเจ็บนั้นมาเป็นของกูเข้าเท่านั้นแหละ มันจึงกลายเป็นลูกศรดอกที่สองมาอีก นี่ความเจ็บปวดแท้จริงก็เกิดขึ้น
ในเรื่องอริยสัจในเรื่องความทุกข์ในอริยสัจ หรือว่าบางคนจะลืมเสียแล้วดอกศรดอกที่หนึ่งเป็นดอกศรเล็กๆไม่มีอะไร ถ้ายิงมาถูกก็เจ็บทั้งนั้น ถ้าดึงออกเสียล้างออกเสียก็อาจจะหายเจ็บได้ก็ห้ามเลือดเสีย แต่ว่ามันมีลูกศรอีกดอกหนึ่งที่ตามมาเป็นลูกศรที่อาบยาพิษถ้าเสียบเข้าไปมันก็เจ็บเพราะยาพิษนั้นแล้วก็ตายเลย ความทุกข์ที่มันเกิดอยู่ตามธรรมชาติเป็นตัวธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอะไรก็ตาม ถ้าไม่ถูกยึดถือด้วยความโง่ ด้วยอวิชชามาเป็นอุปาทานแล้ว มันไม่เป็นความทุกข์ที่สมบูรณ์ได้ แม้เราจะทำอะไรบาดมือบาดเท้าบาด บาดแผล มันก็เจ็บอย่างนั้นตามธรรมชาติ แต่ถ้าว่าจิตมันไปรับว่าเป็นตัวกูของกู กูเจ็บ มันมากกว่า ในความเจ็บที่มากโดยสมบูรณ์
ทีนี้เราไม่ค่อยรู้สึกเราไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เพราะถ้าเราเจ็บขึ้นมา เรารับความเจ็บของกูที่เดียวเลย ไม่ได้แยกเราถูกศรทีเดียวพร้อมกันสองดอกเลย เพราะความเจ็บที่ยากที่เป็นทุกข์มากที่สุดก็คือลูกศรดอกที่สอง ที่รับออกมาเป็นตัวกูของกูเหมือนลูกศรที่อาบยาพิษคือเจ็บมาก งั้นความทุกข์ความเจ็บปวดของเราจะมีสองชั้น ที่แจกรายการละเอียดเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายตามธรรมชาตินั้นลูกศรดอกที่หนึ่งแต่แล้วมันแสดงชัดอยู่ในตัวบาลีนั้นว่ามันมีอุปาทานมาแล้ว และถ้ามีอุปาทานมาแล้วมันเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นต้นที่ถูกยึดเอาโดยอุปาทานโดยความเป็น ความเกิด ความเจ็บ ความแก่ ความตายของกู นี่เป็นลูกศรดอกที่สอง
นี่พระอรหันต์ท่านก็ยังเกิด แก่ เจ็บ ตายไปด้วยธรรมชาติหรือ Accident อยู่เสมอ แต่ท่านไม่เป็นทุกข์ พระอรหันต์ไม่มีทางที่จะถูกลูกศรดอกที่สอง คนถูกลูกศรดอกที่หนึ่งตามธรรมชาตินี้ก็ไม่เป็นไร ในจิตใจก็ไม่ได้หมายมั่นอะไรเป็นของตน มันก็เลยเหมือนกับว่าคนละคนหรือมันอยู่ข้างนอก แต่ถ้าเป็นปุถุชนแล้วพอปุ๊บปั๊บมันก็กลายเป็นลูกศรพร้อมกันสองดอกเสมอ ก็ยังมีทางที่เกิดกิเลสตัณหาปลายทาง ทันทีทันควัน ที่มันมีอะไรมาครอบงำหรือกระทบ นี่นะขอให้สังเกตโดยลักษณะอย่างนี้ เท่าที่จำกัดอยู่ในขอบเขตที่ควรจะรู้ควรจะเห็น ไม่ต้องการให้เฟ้อเลยขอบเขต นี่คือเรื่องปรัชญาหรือเป็นอภิธรรมไปเสีย นี่คงเป็นเรื่องธรรมตามธรรมดาที่จะดับทุกข์ได้โดยตรง ให้รู้ว่าความทุกข์นี้เพราะว่าถ้าดูกันในแง่ของศาสนาคือความเจ็บปวดในทางจิตทางวิญญาณ เพราะได้รับความทุกข์ข้างนอกตามธรรมดามาเป็นตัวกูของกู มันก็เหมือนกับไฟเผาในทางจิตทางวิญญาณ แต่ถ้าดูทางปรัชญามันก็ออกมาทางข้างนอก แม้แต่สิ่งที่ไม่มีความรู้สึกอะไรเลยมันก็มีอาการแห่งความทุกข์คือมันเปลี่ยนแปลง อาการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือว่ามันเป็นความทุกข์ทรมาน ดูแล้วน่าเกลียด ดูแล้วว่างใหญ่น่าเกลียด
นี่ปัญหาของความทุกข์ในเรื่องอริยสัจโดยเฉพาะนี้จะพูดกันแต่เรื่องของสัตว์ที่มีความรู้สึกสมบูรณ์คือ มนุษย์ปกติ ในความทุกข์ของเขาก็คืออาการที่ต้องทนทรมานในทางจิตทางวิญญาณ ในความทุกข์นี้ถ้าดูโดยอาการที่ปรากฎก็เช่นความแก่ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความทุกข์ ความโทมนัส เช่นทุกส่วน ถ้าดูโดยที่ตั้ง ที่งอก ที่รองรับของมันก็อยู่ที่เบญจขันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบญจขันธ์ ประเภทที่มีอุปาทานเข้าไปจับฉวยเอาคือความโง่ของคนเข้าไปจับฉวยเอานั้นโดยเป็นตัวกู ของกูเบญจขันธ์ ที่ประกอบไปด้วยอุปาทาน ไม่ใช่ว่ากันโดยความหมายอันแท้จริงมันมีความหมายอันแท้จริงอยู่ที่ความเจ็บทางวิญญาณทางจิตใจที่เกิดขึ้นเพราะความยึดถือนั้นเอง สมมติเรียกให้จำง่ายๆได้ว่าลูกศรดอกที่สอง นี่เรียกว่าความทุกข์ ในเรื่องของอริยสัจ เรียกสั้นๆว่าทุกข์เฉยๆ เรียกให้เต็มความหมายขึ้นไปอีกหน่อยว่าทุกขสัจ ทุกขสัจจะ บางทีก็เรียกว่า ทุกขอริยสัจ นี้ก็เรียกเต็มที่แล้ว ทุกขอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐเกี่ยวกับความทุกข์ ความจริงอันประเสริฐเรื่องความทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์ประเสริฐฟังดูดี ความจริงต่างหากมันประเสริฐ เพราะเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกเต็มๆว่า ทุกขอริยสัจ ภาษาบาลีบอกว่าทุกขัง อริยสัจจัง คือทุกขะ อริยะ สัจจะ เป็นสัจจะอันหนึ่งในสี่อย่าง เวลาในวันนี้ก็มีให้พูดได้เพียงทุกขอริยสัจเพราะว่าจำกัดเวลาอยู่ จะต้องไปบิณฑบาตรบ้านใครบ้านมัน วันนี้จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้