แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวัน กำลังพิจารณากันถึง สิ่งสำคัญหรือคำที่สำคัญ คำหนึ่งคือคำว่า ธรรม ต่อมาจากคำว่า พรหมจรรย์ ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว สำหรับสิ่งที่เรียกว่าธรรม หมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ดังนั้นมันจึงมีเรื่องมาก แต่ถ้าเราจะจัดให้เป็นประเภทใหญ่ๆ ก็มีเพียง ๔ ประเภท ดังที่ได้กล่าวกันแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมา
ที่นี้ในวันนี้ ก็จะได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรม นั้น ในลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง คือความเป็นอนัตตา ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งปวง ดังนั้นในวันนี้จึงจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมทั้งปวงนั้น ใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ประโยคนี้เป็นประโยคที่มีความสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา คือได้กล่าวถึง ลักษณะของสิ่งทั้งปวง ของธรรมทั้งปวง ไม่ยกเว้นธรรมอะไรหรือสิ่งอะไร หรือจะไม่เรียกว่า ไม่สำคัญอย่างไรได้ ดังนั้นจึงเป็นหัวใจของพุทธศาสนา อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ความรู้ว่าธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตา เพราะว่ามันเป็นอนัตตา นี่แหละคือหัวใจของพุทธศาสนา
ถ้าศึกษาเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วก็ปฏิบัติจนถึงที่สุด จนเกิดความเห็นแจ้งแทงตลอด ไปตามนั้นจริงๆ จิตก็จะเห็นแจ้งในธรรมทั้งหลายทั้งปวงจนไม่ได้ยึดถือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้โดยความเป็นของตน หรือเป็นตัวตน เดี๋ยวนี้มันก็ยึดถือ เป็นตัวตนของตนโดยไม่รู้สึกตัวและควบคุมไม่ได้ แม้ว่าเราจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แล้วก็สักแต่ว่าได้ยินมันไม่เข้าใจด้วยซ้ำไป แต่แล้วก็จะเห็นแจ้งแทงตลอดไม่ได้ การทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันบ้าง ก็เป็นการดี เพื่อให้เกิดหนทางในการเห็นแจ้งแทงตลอด สำหรับพวกที่จะต้องตอบคำถามแก่ชนเหล่าอื่น โดยเฉพาะพวกต่างศาสนา ถ้ามาพบพร้อมๆ หน้ากันหลายศาสนา แล้วต่างคนต่างก็ถามว่าศาสนาของท่านสอนอะไร หรือว่าเป็นศาสนาอะไร เขาก็จะต้องตอบกันไปตามความรู้สึก หรือว่าตามหลักการของศาสนานั้นๆ ส่วนพุทธศาสนานี้ ถ้าจะตอบให้ถูกต้องที่สุด ก็ต้องตอบว่าพุทธศาสนา คือศาสนาแห่งความไม่มีคน ศาสนาแห่งความไม่มีคน ลองฟังดู religion of no man ลงไปเฉยๆ อย่างนี้ ภาษาเด็กๆ อย่างนี้ ศาสนาแห่งความไม่มีคน ก็งงไปเท่านั้นเอง ก็ต้องอาศัยการอธิบายกันเรื่อยๆ ไป จนเขาเข้าใจได้ว่าพุทธศาสนานี้ เป็นศาสนาอะไร ทำไมจึงเป็นว่า เป็นศาสนาที่สอนเรื่องความไม่คน ถ้าพูดให้ดีกว่านี้ก็ต้องพูดว่า แห่งความไม่มีตัวตน ถ้าจะมีคนก็มีโดยสมมติ พูดโดยสมมติเพราะว่า ไอ้คนที่เรียกว่าคน คน มันไม่ใช่คนจริงๆ คือไม่ใช่ตัวตนที่เป็นคน นี่ก็ต้องเลือกคำพูดให้ดีๆ ศาสนาแห่งความไม่มีคน แห่งความไม่มีตัวตน ไม่มีตัวเราของเรา หรือพูดให้มันโผงผางว่า ไม่มีตัวกู ของกู นี้เป็นคำที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องจำไว้ว่า ศาสนาแห่งความไม่มีตัวตน แล้วก็จะได้เข้าใจว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนแต่โดยง่าย นี่คือความมุ่งหมายที่จะพูดกันวันนี้ คือบอกให้ทราบว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่ใช่ตัวตน มันก็ไม่มีของตน หรืออีกประโยคหนึ่งที่เป็นบาลีว่า สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ นี้ขยายความชัดออกไปอีกหน่อย ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ประโยคหลังนี้สำคัญตรงที่ว่ามีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า ให้ตรัสใจความของศาสนา ว่าพุทธศาสนาทั้งหมด ท่านก็ตรัสในประโยคอย่างนี้เราจึงควรถือเอา ไอ้หลักอย่างนี้ขึ้นมาเป็นหลักสำหรับการศึกษาต่อไป ที่นี้ก็อยากจะให้ทบทวนถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นคืออะไร ธรรมทั้งหลายทั้งปวงในที่นี้ มิได้หมายความอย่างแคบๆ หรือว่าเท่าที่พูดๆ กันอยู่ ต้องให้หมายความหมดทั้ง ๔ ประเภท หรือว่า ๔ ความหมาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในครั้งที่แล้วมา ว่าธรรมที่ปรากฏอยู่ที่เรียกว่า ธรรมชาตินั้นก็ดี ไม่ว่าอย่าง อย่างไหนหมด ธรรมชาติทั้งหมดนั้น ก็เป็นอนัตตา กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ในที่ทุกหนทุกแห่ง แม้สิ่งที่เรียกว่า กฎ หรือสัจจะอันนี้ก็มิใช่ตัวตน ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็เรียกอนัตตาเหมือนกัน หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎ นี้ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามันเป็นหน้าที่ที่คนปฏิบัติ ธรรมะที่เอามาปฏิบัติก็ตาม การปฏิบัติก็ตาม ก็เรียกว่าเป็นอนัตตา อันสุดท้ายที่ได้ผลมาอย่างไร แม้แต่จะเป็นมรรคผลนิพพานในที่สุด นี้ก็เรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ตนนั่นแหละ
เมื่อจะเข้าใจคำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงให้หมดจด ก็จะต้องไปศึกษา ๔ ความหมายนั้น ให้หมดจด เอาไปพิจารณาดูเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ในธรรมะ ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติที่เรียกว่า สภาวธรรม ตัวกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า สัจธรรม ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติที่เรียกว่า ปฏิปัตติธรรม และผลที่เกิดขึ้นตามการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ที่เรียกว่า วิปากธรรม นั้น ๔ อย่างก็จริง แต่ถ้าแยกให้เป็นละเอียดเป็นอย่างๆ อย่างๆ นับไม่ไหว ไม่รู้กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนอย่าง แล้วก็แบ่งออกมาเป็นประเภทๆ ได้ ๔ ประเภท เข้าเป็น ๔ กลุ่ม ทุกๆ อย่างในทุกๆ กลุ่มนั้นก็เป็นอนัตตา เรียกว่าไม่มีอะไรเหลือที่จะเหลืออยู่สำหรับเป็นอัตตา นี่ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความอย่างนี้ เมื่อเป็นอนัตตาก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเป็นตน หรือว่าเพราะมันไม่อาจ ไม่ควร ที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนได้นั่นเอง จึงได้เรียกว่ามันเป็นอนัตตา นี้เป็นใจความสั้นๆ สำคัญที่สุด ในพระพุทธศาสนาที่บอกว่า ทุกอย่างนี้เป็นอนัตตา หรือว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นั้นจึงเข้าใจได้ง่ายว่า พุทธศาสนา คือศาสนาแห่งความไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลโดยแท้จริง ถ้าจะมีคน ก็เรียกว่าสมมติ ทีนี้มันคงจะลำบากบ้าง ถ้าเขาขอให้เราอธิบายให้เห็นชัดลงไปว่า ทำไมเราจึงรู้สึกว่าเราเป็นคน หรือเราเป็นตัวเป็นตน นี้ต้องอาศัยการศึกษาที่เพียงพอที่เฉลียวฉลาดจึงจะอธิบายได้ โดยเฉพาะสำหรับคนสมัยนี้ แต่ที่ท่านอธิบายไว้ในแบบฉบับต่างๆ นั้น ก็มีมากเหมือนกันเช่นว่า เพราะมันไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ถึงแม้มันจะไม่เที่ยง และถึงแม้มันจะเที่ยงและไม่เป็นทุกข์ มันยังไม่ควรจะเรียกว่าตัวตน แล้วถ้าว่ามันเป็นตัวตน มันก็ควรจะตั้งอยู่ได้ด้วย ตัวมันเอง ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น หรือว่ามันจะต้องเป็นไปได้ ตามที่มันต้องการที่ตัวตนต้องการหรือที่บุคคลต้องการ เดี๋ยวนี้มันไม่มีอะไรจะเป็นไปตามที่ เป็นไปตรงตามที่บุคคลหรือตัวตนนั้นมันต้องการ มันไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเสีย ถ้ามันเกิดมาจากเหตุจากปัจจัยจึงถือว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่กระแสแห่งเหตุและปัจจัยปรุงแต่งกันไป จนกระทั่งเกิดความคิดว่าตัวตนขึ้นมาอย่างโง่เขลา
ถ้าพูดอีกทีหนึ่งก็พูดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ทีนี้เหตุและผลนั้นไม่ใช่ตัวตน ทั้งเหตุและทั้งผลไม่ใช่ตัวตน มีแต่การปรุงแต่งกัน ให้เป็นเหตุและเป็นผลทยอยกันไปเรื่อยเป็นสายไป กระแสแห่งและผลนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนมันเป็นเหตุผล ธรรมที่เป็นเหตุผล สังขารที่เป็นเหตุผล นี้เขาก็จะสงสัยว่าทำไมมันคิดได้ว่าฉันเป็นอย่างนั้น ฉันเป็นอย่างนี้ ฉันทำชั่ว ฉันทำดี ฉันจะไปเกิดในสวรรค์ หรือว่า จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน มันมีฉันอยู่ทั้งนั้น นี่คือความยากลำบาก แม้ว่ามันจะไม่เป็นไปตามที่ฉันต้องการ แต่จิตนี้ก็มี รู้สึกอยู่ว่าฉัน คิดอยู่ว่าฉัน ควรจะมีฉันซึ่งเป็นตัวตนบ้าง จะต้องอธิบายด้วยกระแสแห่งเหตุผลโดยละเอียด จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าฉัน ว่าของฉันอะไรได้ ทางฝ่ายตะวันตกพวกฝรั่งก็ร้อยกว่าปีมานี้ ก็มีคนเสนอหลักขึ้นมาว่า เพราะฉันคิดได้ ฉันก็ต้องมีอยู่ เดดกา (นาทีที่ 18.54) นักปรัชญา ชั้นระดับโลกด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไปเทียบดูกับเรื่องในอินเดียแล้ว ไอ้เรื่องอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้ เขาคิดกันมาแล้ว เขารู้สึกกันมาแล้ว เขาเถียงกันมาจนเลิกไปหมดแล้ว นี้จะมาเสนอขึ้นมาอีกว่าฉันคิดได้ ฉันจึงมีอยู่ ถ้าเราศึกษาเข้าใจ เราจะรู้ได้ว่า ไอ้ที่คิดได้หรือสิ่งที่คิดได้นั้นน่ะ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นตัวฉัน หรือเป็นตัวอัตตาของฉันเพราะสิ่งที่คิดได้ นั้นมันก็เป็น ธรรมชาติอย่างหนึ่ง รวมอยู่ในกลุ่มของสภาวธรรม แล้วก็สิ่งที่มีชีวิตต้องมีความรู้สึก รวมทั้งความคิดนึกได้ นี่มันทำไมไปคิดนึกว่าฉันล่ะ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ ของสิ่งที่มีชีวิต ถึงจะต้องมีความคิดว่าฉัน และจะได้รักษาฉันนี้ไว้ให้รอด สัญชาตญาณแห่งการรักษาฉัน รักษาตัวไว้ให้รอดนี้มันมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต นี้เราต้องไปศึกษากัน เรื่องสิ่งที่เรียกว่าสัณชาตญาณหรือ instinct หรืออะไรทำนองนั้น ชีวิตทั้งหลายมันอยู่ได้ มันเป็นขึ้นมาได้ หรือวิวัฒนาการขึ้นมาได้ ก็เพราะว่ามันมีธาตุจิตใจ ซึ่งเป็นธาตุตามธรรมชาติด้วยเหมือนกัน แต่ว่าธาตุจิตใจมันต้องรู้สึกได้ คิดนึกได้ ว่าด้วยเหตุปัจจัยพร้อม บริบูรณ์แล้วมีเหตุผล ครบถ้วนแล้วมันก็สำเร็จเป็นสิ่งที่ รู้สึกคิดนึกได้ ก็รู้สึกคิดนึกไปในทางที่ให้ตัวฉันอยู่รอดเป็นสัณชาตญาณแห่งการพยายามเพื่อความอยู่รอด จึงกินอาหารบ้าง จึงสืบพันธุ์บ้าง จึงหนีอันตราย ป้องกันอันตรายทั้งหลายบ้าง กี่อย่าง กี่อย่าง ก็เป็นไปเพื่ออยู่รอด สิ่งที่รู้สึกคิดนึกได้ มันต้องรู้สึกคิดนึกอย่างนั้น ถ้าไม่รู้สึกคิดนึกอย่างนั้น มันก็ตายแล้ว มันก็ตายหมดแล้ว ไม่เหลือพืชพันธุ์มาจนถึงบัดนี้ หรือว่าเพราะมันเหลือพืชพันธุ์มาจนถึงบัดนี้ ก็เหลืออยู่แต่แขนงที่มันรู้สึกคิดนึกได้เพื่อความอยู่รอดแห่งตัวตน แขนงอื่นก็ตายไปหมดแล้ว สูญหายไปหมดแล้วก็อาจจะมากมายด้วย ถ้าแขนงไหนมันบังเอิญ เรียกว่า ฟลุคก็ได้ มาสู่วิวัฒนาการของความคิดนึกได้ จนมันรู้จักกินอาหาร รู้จักงอกงามเจริญ รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักต่อต้านอันตราย นับตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวขึ้นมา ไปศึกษาเรื่องชีวิทยา (นาทีที่ 22.34) กันก็พอจะรู้ได้ จึงมีความรู้สึกอยู่ในนั้นเสร็จ ว่าฉันรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ฉันต้องการ ความต้องการนั้นก็เพื่ออยู่รอด
นี่คือข้อที่จะต้องไปศึกษาให้เข้าใจว่า ไอ้ตัวฉันไม่ต้องเป็นของจริง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิต รู้สึกรุนแรงขึ้นตามที่ไอ้ชีวิตนั้นมันดีขึ้น ดีขึ้น มีวิวัฒนาการมากขึ้น มากขึ้น มันเป็นชีวิตสัตว์ เป็นชีวิตคนที่เฉลียวฉลาด สัณชาตญาณที่จะให้เกิดวามรู้สึกได้โดยอัตโนมัติ ในการกระทำหรือต่อสู้ทุกอย่างเพื่อชีวิตรอดอยู่นี้ คือ สัณชาตญาณที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวฉันอยู่ และสิ่งนี้เขาเรียกกันว่า ตัวตน ในภาษาไทย หรือในภาษาบาลี ก็เรียกว่าอัตตา ในภาษาสันสฤตก็เรียกว่าอาตมัน คำเดียวกับคำว่าอัตตา แต่เป็นภาษาที่ไพเราะกว่าสูงกว่า เขาเรียกว่าอาตมัน พวกที่เชื่อว่าอันนี้เป็นอัตตา ก็คิดนึกหาคำอธิบายที่เรียกเป็น คำอธิบายที่ดีที่ฉลาดยิ่งขึ้น ไปตามแบบของอัตตา ก็จะมีอัตตาอีกจนได้ จึงวิวัฒนาการไปเป็นศาสนาที่สอนเรื่องมีอัตตาก็มีการประพฤติ อบรมให้อัตตานี้เจริญสูงสุดจนไปเป็นอัตตาที่ถาวร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป แล้วก็มีอยู่กลุ่มหนึ่ง ศาสนาชนิดนั้น ในอินเดียด้วยเหมือนกัน แล้วพุทธศาสนามาอีกกลุ่ม ไม่ยอมรับอัตตาชนิดนั้น เห็นว่าไอ้ความรู้สึกว่าอัตตา การคิดว่าอัตตา ความประจักษ์ชัดเจนอยู่ในใจ ว่าอัตตานั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตและก็ด้วยความไม่รู้ ยังไม่รู้ และยังไม่อาจจะรู้ ยังเข้าใจเอาเองตามนั้นว่าเป็นอัตตาหรือตัวตน ก็มีชื่อเรียกหลายชื่อ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือตัวตน ก็มีชีโว เป็นตัวชีวิตจริง เป็นเจตภูติ เป็นตัวจิตจริงๆ เป็นตัวเจต เป็นภูตที่มีจิตจริงๆ และยังมีคำอื่นๆ อีกมากบางทีก็เรียกว่าวิญญาณเฉยๆ ก็มี แต่ความสำคัญมันมารวมอยู่ที่ความหมายคำว่าตัวตน ก็มีตัวตนอย่างนั้น ศาสนาว่าไอ้ตัวตนนี้ มิได้มีอยู่จริงเป็นแต่เพียงความรู้สึกไปตามความไม่รู้ว่ามันมี มีตัวฉันหรือมีตัวตน ถ้าจะรู้เรื่องนี้โดยละเอียดก็ต้องไปศึกษาเรื่องที่ละเอียดหรือลำบากแก่การศึกษาเป็นเรื่อง ปฎิจจสมุปบาท เป็นต้น ไปหาอ่านดู
ในที่นี้จะบอกแต่เค้าเงื่อน ว่าบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายย่อมมีอวัยวะ จะไม่เรียกว่าอวัยวะ จะเรียกว่าอายตนะดีกว่า ก็มีอายตนะ คืออวัยวะสำหรับรับอารมณ์ภายนอกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เรียกว่า อายตนะ แล้วก็มีจิตใจ มีใจ มีจิต มีมโนนี้ก็อีกอันหนึ่ง รวมเป็น ๖ รับข้างนอกโดยตรงก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ตาเฉยๆ หูเฉยๆ ในนั้นมันมี ไอ้สิ่งที่ทำความรู้สึกได้คือ ประสาททั้งหลายรวมใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย กายคือผิวหนังทั่วๆ ไป ที่รับภายในล้วน ก็คือเป็นใจ หรือ มโน นี่อันที่ ๖ แยกตัวไปเป็นเรื่องใจอยู่ข้างในเป็นมโน ไอ้เรื่องที่ส่งไปจากข้างนอก จากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็ส่งไปข้างในคือ มโน แต่เมื่อมันมีมากเข้า มันมีมากเข้ามันสะสมไว้มากเข้า ก็เป็นสิ่งที่ใจจะเอาไปคิดนึกได้เป็นอารมณ์ของใจ โดยไม่ต้องมีเรื่องข้างนอกอย่างนี้ก็ได้ นี่เกิดเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ชุดหนึ่งและก็ใจอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งที่มีชีวิตต้องมีอวัยวะ อย่างนี้ จะครบทั้ง ๖ หรือไม่ ๖ ก็สุดแท้ แล้วแต่ว่ามันวัฒนาการมาได้ถึงไหน อย่างที่เขากล่าวไว้ในวิชาที่ว่าด้วยวัตถุด้วยชีวิตนี้ก็มีละเอียด สัตว์บางระดับก็มีอวัยวะเพียง ๑ เพียง ๒ เพียง ๓ เพียง ๔ แต่ว่าในทางธรรมะนี้ เราเล็งแต่มนุษย์ เป็นถึงแต่มนุษย์ เพราะปัญหามันเกิดแต่มนุษย์ก็เลยมี ๖ จัดตามแบบของทางศาสนา มี ๖ สำหรับรับอารมณ์ข้างนอก ๕ แล้วส่งไปข้างใน ข้างในนั้นยังมีคลังเก็บไว้เป็นของตัวเองสำหรับรู้ได้ในบางเวลา รู้สึกได้ในบางเวลาโดยไม่ต้องอาศัยจากข้างนอกโดยตรง นี้ก็เรียกว่ามันธรรมชาติ หรือสภาวธรรมล้วนๆ เป็นธรรมะบทที่ ๑ ธรรมชาติล้วนๆ สภาวธรรมล้วนๆ ตามีสำหรับรับรูป หูมีสำหรับรับเสียง จมูกมีสำหรับรับกลิ่น ต่างมีคู่ด้วยกันทั้งนั้น ทั้ง ๖ เป็น ๖ คู่ นี้เมื่อตามันได้รับรูป มันก็เกิดความรู้สึกทางตา ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ การที่ตา รูป วิญญาณ เนื่องถึงกันนี่เขาเรียกว่า ผัสสะ การกระทบทางฝ่าย mentality ข้างใน และจากผัสสะนี้ก็จะเกิด เวทนา ซึ่งมีรส ตามแต่ที่ว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะให้ เกิดรสขึ้นมาอย่างไร ที่เกิดรสถูกใจก็เรียกว่าสุขเวทนา เกิดรสไม่ถูกใจเรียกทุกขเวทนา แล้วที่เป็นกลางๆ ก็เรียก อทุกขมสุขเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกข์ พอเกิดเวทนา สมมติว่าสุขเวทนา ความรู้สึกของจิตมันก็อยากไปตามความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนา คือมันอร่อยขึ้นมา มันก็มีความอยากในรสที่อร่อย
นั้นจึงมีหลักที่ว่าเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาคือความอยาก พอเราอร่อยขึ้นมาเราก็อยาก นี่บางทีจะเข้าใจไม่ได้ เพราะว่าพูดกันคนละชั้น คนชาวบ้านอาจจะพูดว่าอยากแล้วจึงกินเข้าไปเข้าไปแล้วจึงอร่อย นี่มันเรื่องชาวบ้าน เป็นวัตถุเกินไป ไอ้เรื่องธรรมะนี้ได้รับเวทนาทางตา แล้วสบายแก่ตา อร่อยแก่ตา แล้วจึงเกิดความอยากที่จะมี อยากจะครอง อยากจะได้ ซึ่งเวทนานั้นไว้เป็นการถาวร ความอยากเป็นเพียงความอยาก เป็นเพียงปฏิกิริยาที่ออกมาจากเวทนาปรุงแต่ง เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดตามธรรมชาติ เป็นความรู้สึกอยาก นี่เรียกว่าตัณหา ความอยากคือตัณหา พอเกิดตัณหาแห่งความอยากแล้ว ไอ้ความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นผู้อยากนี้จึงค่อยเกิดตามมาเองอีก นี่คือข้อที่จะเข้าใจกันไม่ได้ในระหว่างการศึกษาทางพุทธศาสนากับพวกชาวบ้าน หรือชาวโลกหรือนักศึกษาแขนงอื่น นักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นจะไม่ยอมรับ หรือเข้าใจไม่ได้ แต่ถ้าเราจะพยายามให้เขาศึกษาให้ดี สนใจเป็นพิเศษ อย่างนักวิทยาศาสตร์กันจริงๆ เขาจะยอมรับ ยอมรับอย่างไม่มีทางเถียง แล้วก็ไม่แยกไว้เป็นข้อแม้ใดๆ เลย เป็นเรื่องจิตล้วนๆ
เพราะอร่อยก็เกิดความรู้สึกเป็นอยาก อยากมีไว้ อยากมีอย่างนั้นตลอดไป เรียกว่าตัณหา แล้วจึงเกิดความรู้สึกชนิดที่เรียกว่า อุปาทาน หรือผู้อยาก ฉันเป็นผู้อยาก ฉันเป็นผู้อร่อย ฉันเป็นผู้ต้องการ ฉันเป็นผู้ยึดครอง ฉันเป็นผู้ได้มา ฉันกำลังเสวยสิ่งเหล่านี้อยู่ ความรู้สึกว่าฉัน หรือ egoisms นี้เพิ่งเกิดกันตอนนี้เอง ไม่ได้เกิดอยู่ก่อน และไม่ได้เกิดอยู่เป็นสิ่งเดียวสำหรับทุกเรื่อง มันจะเกิดเฉพาะเรื่องและเฉพาะเวลา ตัวฉันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ นี่เราก็ยอมรับว่า ไอ้ความรู้สึกว่าตัวฉันมันก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่พุทธศาสนาไม่ยอมรับว่า ไอ้ความรู้สึกอันนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดออกมาจากตัณหาคือความอยาก ซึ่งออกมาจากเวทนาหรือรส ที่มีรสอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวฉันจึงเกิดขึ้นมาเป็นความรู้สึกอยู่ในจิตใจ ไอ้ตัวฉันอย่างนี่ พอมันโง่ไป เป็นยึดมั่นถือมั่นแล้วก็มีความทุกข์ เพราะแน่นอนล่ะพอรู้สึกว่าเป็นฉัน มันก็คือยึดมั่นถือมั่น ก็มีความหนัก หรือความทุกข์ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง รู้สึกตัวก็ได้ ไม่รู้สึกตัวก็ได้ เปิดเผยก็ได้ เร้นลับก็ได้ มากก็ได้ น้อยก็ได้ แต่ถ้าว่าพอมี egoism เกิดขึ้นในจิต จิตนั้นจะรู้สึกเหมือนกับแบกอะไรไว้ เหมือนกับทนรับภาระหนักอันหนึ่งอยู่ นี้เขาเรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตนได้เกิดขึ้นแล้ว ความยึดมั่นว่าของตน มันก็เกิดอยู่ด้วยกัน นี่ตัวตนมันเพิ่งเกิดอย่างนี้ เราถือว่าไอ้สิ่งที่เขาเรียกกันว่าตัวตนนั้น มิใช่ตัวตนจริง ตัวตนแต่ตามที่เขาเรียกกัน ก็เลยถือว่าสมมติเท่านั้น โดยแท้จริงแล้วมิได้มี มีแต่สภาวธรรม ที่ปรุงแต่งขึ้นมาตามกฎแห่งเหตุผล จนเกิดความรู้สึกอย่างนี้อยู่ในใจว่าตัวกู ว่าของกู นั้นตัวกู ของกู หรือตัวตนของตน นี่ก็เป็นเพียง สิ่งที่เกิดอยู่ชั่วคราวจากเหตุจากปัจจัย เป็นสภาวธรรมประเภทที่ปรุงแต่งกันขึ้นมาชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนเป็น เรื่องทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวหนังบ้าง กระทั่งไม่มีอะไรจริงก็ทางใจล้วนๆ เราเอาความรู้สึกที่จำได้ รู้สึกได้ ในอดีตที่สะสมไว้มาก มาคิด มารู้สึก เช่นว่าคิดถึงของรัก ของชอบใจที่บ้าน ตาก็ไม่ได้เห็น อะไรก็ไม่ได้ส่ง หากแต่คิด มันมี มันเคยมีความเกี่ยวข้องกัน รู้สึกดีอยู่ พอมาคิด ไอ้สิ่งนั้นก็เป็นอารมณ์ของใจ ใจก็คิด ก็เรียกว่า ใจกับธรรมารมณ์ พบกันเข้าก็เกิดมโนวิญญาณ ๓ อย่างนั้นทำงานร่วมกัน เรียกว่าผัสสะ ผัสสะก็เกิดเวทนา สมมติว่าเรื่องที่บ้านที่เอามาคิดเวลานี้เป็นเรื่องสบายแก่ใจ อร่อยแก่ใจ เป็นเรื่องของรักของพอใจ ก็เกิดสุขเวทนา เวทนาก็เกิดความอยากให้เป็นอย่างนั้น คือตัณหา เกิดความอยากอย่างนั้นแล้วก็เกิดความรู้สึกทับลงไปว่าฉัน ฉัน ฉันมีความอยาก ฉันมีความรู้สึก ฉันได้ ฉันยึดครอง ฉันอะไรต่างๆ นี่ก็ตัวฉันเกิด เช่นเดียวกับการเกิดทางตาเหมือนกัน นี่เป็นทางใจล้วนๆ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนังมันอย่างเดียวกันหมด แม้แต่ทางใจมันก็ยังอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีรูปร่างที่เป็นก้อนแข็งเท่านั้นเป็นเรื่องในใจ เรื่องนี้ละเอียดมาก เราไว้พูดกันเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว
ในที่นี้ก็ต้องการจะให้เข้าใจว่า ไอ้ตัวตน หรือตัวกู หรืออัตตา หรืออาตมัน เป็นความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ ที่มันจะต้องเกิดขึ้นในใจ ในเมื่อมีเหตุ มีปัจจัยเพียงพอมาแวดล้อมกันเข้ามาปรุงกันเข้าตามลำดับ อย่างที่ว่ามานี้ คืออายตนะกระทบกันเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา กระทั่งเกิดอุปาทาน ว่าตัวกู ว่าของกู ถ้าไม่เกิดกูของกู ก็ยังไม่เป็นทุกข์ พอเกิดเป็นกู ของกูก็เป็นทุกข์ ในบางกรณี มันไม่มีแรงพอ ที่จะเกิดกู ของกู มันก็สลายไปก็ได้ แต่ว่าในกรณีพิเศษ คือพระอริยะเจ้าผู้มีสติปัญญา สัมปะชัญญะสมบูรณ์นั้นน่ะมันไม่เกิดได้ มันเกิดได้แก่คนธรรมดา ปุถุชน คือยังไม่เป็นพระอรหันต์ แล้วก็เผลอสติ นั้นตัวตนจึงเป็นเพียงมายาอะไรชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง เราจึงถือว่ามิได้มีคนอยู่จริง นั้นจึงยืนยันว่าพุทธศาสนานี้คือ ศาสนาแห่งความไม่มีบุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกสั้นๆ ว่า ศาสนาแห่งความไม่มีคน ศาสนาแห่งความว่างจากคนไม่มีคน
นี่พูดเสียยืดยาวเพราะให้รู้ว่าไอ้คำว่า ตน หรือ คน เกิดได้อย่างนี้ มันไม่ใช่ของจริง ทีนี้ทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกอันนี้ ก็ไม่ใช่ตนหรือคนอะไรจริงๆ ไปด้วย สภาวธรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งกันอย่างไร ก็มิใช่ตน เอาล่ะ ถ้าสมมติว่านะ คุณฟังให้ดีว่า ถ้าสมมติว่านะ ไม่ได้ยืนยันนะ ว่าถ้ามันมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าวิญญาณ แล้วมันตายแล้ว พอร่างกายตายแล้วมันไปเกิดอีก ถ้าสิ่งนี้มีจริง สิ่งนี้ก็มิใช่ตน เพราะไปตามเหตุตามปัจจัยเช่นเดียวกับสิ่งอื่น ที่นี้พวกอื่น ศาสนาอื่น ลิทธิอื่นเขาว่านั่นเป็นตัวตน แต่เดี๋ยวนี้พุทธศาสนาเราก็มิได้สอนว่า พอคนตายลง ร่างกายตายลง แล้วมันมีไอ้ตัวตน หรือวิญญาณไปเกิดในภพอื่น ไม่ได้พูดไว้อย่างนั้น เว้นไว้แต่ว่ามันจะเป็นเรื่องทางศีลธรรม จึงได้พูดอย่างนั้น ไม่ไช่เป็นเรื่อง ปรมัตถะธรรม คือไม่ได้พูดกันอย่างแท้จริง ไม่ได้พูดเรื่องจริง หรือความจริงอันสูงสุด พูดตามๆ ที่เขาพูดกันอยู่ก่อนพุทธศาสนา ให้คนเขากลัวบาปทำบุญ เพราะมันดีกว่าที่ไปคิดว่า ไม่มีตัวตนหรือไม่เกิด สำหรับคนที่ยังเป็นปุถุชน ถ้ามีตัวตน เขาจะได้รักตน เขาจะได้ทำดี และได้รับผลดี แต่ทีนี้มาถึงชั้นที่สุด ชั้นตอนปลาย ถึงที่สุดนี่แล้วก็รู้ว่า ไอ้ทั้งกาย ทั้งจิต ทั้งวิญญาณ ทั้งความดี ทั้งกุศล ทั้งบุญ ทั้งบาป ทั้งอะไรทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ไม่ควรจะเรียกว่าตัวตนเลย นี่คือประโยคที่ว่า สัพเพธัมมา อนัตตา สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ เขามีใจความอย่างนี้ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นหรือถือมั่น หรือมั่นหมายว่า ตัวตน
พูดเพียงเท่านี้คุณก็จะมองเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย สำหรับคนที่ยังไม่อาจจะรู้ก็ให้เขามีตัวตนไปก่อนดีกว่า เขาจะได้รักดี ทำดี อะไร ดี ดี ดี ไป และเป็นประโยชน์ในทางที่จะได้ดี แต่ถ้าไปเป็นชั้นลึก ชั้นสูงสุดแล้วแม้แต่ดีนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไอ้คนที่ทำนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน มันไปเป็นเรื่องตามธรรมชาติ นั้นจิตอย่าไปยึดถือว่าตัวตน จิตนี้ก็จะได้หลุดพ้นจากการครอบงำของตัวตน หลุดพ้นจากการครอบงำของอำนาจของความดี ความชั่ว ของนรก ของสวรรค์ อะไรต่างๆ นั้นจะไม่มาครอบงำจิตใจชนิดนี้ได้ คือมันไม่มีตัวตน ถ้าเป็นเรื่องให้มีตัวตนก็แปลว่าเรายอมรับว่าเอาไอ้มติ หรือความคิดหรือประเพณี ที่ให้คนเชื่อมีตัวตน ให้รักตน ให้ทำดี ให้สงวนตน อย่าได้เอามาปนกันมันจะยุ่ง เพราะว่าในคัมภีร์พุทธศาสนานี้ ทางหนึ่งก็สอนว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วก็ไปตามกรรมนั้น อย่างนี้เป็นต้น คล้ายกับว่ามีตัวตน หรือว่ายอมรับว่ามีตัวตน แต่อีกทางหนึ่ง ซึ่งพอมันเห็นจริงว่า เห็นถูกเห็นจริงยิ่งกว่านั้นว่า อ้าว, ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมชาติ ที่เป็นตามกฏของธรรมชาติ ส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติ ปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องมีตัวตนเพื่อมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าพอรู้สึกว่าไม่มีตัวตน แล้วก็เฉย ไม่ทำอะไร ให้มันไม่มีกิน แล้วให้มันตาย นี้ก็ไม่ใช่เหมือนกัน พระอรหันต์ท่านก็ยังไปบิณฑบาตฉัน ถ้าเจ็บไข้ก็เยียวยาไปตามสมควร นี้หมายความว่าไอ้ที่ไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ มันต้องการ แล้วมันก็เดินไปบิณฑบาต หรือทำนาทำไร่กิน มันก็เป็นเรื่องของ ตา หู จมูก ลิ้น กายที่ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นเรื่องของเวทนา ของตัณหา สำหรับชาวบ้านที่ยังมีตัณหา ถ้าเป็นเรื่องของพระอริยเจ้ามันก็มีปัญญา ที่เกิดมาจากเวทนานั้นว่าต้องทำอย่างนั้น เช่นเจ็บขึ้นมาก็ลุกไปเยียวยา ลุกขึ้นไปเยียวยาอย่างนี้
สรุปความว่า มันทำไปได้โดยที่ไม่ต้องมีตัวตนอันแท้จริง มันมีแต่รู้สึกที่เป็นไปตามอำนาจของความโง่ก็ได้ ของปัญญาก็ได้ หรือของวิชาก็ได้ ของอวิชชาก็ได้ ทั้งวิชา ทั้งอวิชชานั้นก็มิใช่ตนอยู่แล้ว บังคับให้ร่างกายนี้ทำอะไรไปได้ รู้สึกคิดนึกอะไรได้ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วสักว่าเป็นธรรมชาติแท้ๆ ธรรมชาติล้วนๆ นี่คือสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าสิ่งไหน ไม่ว่าส่วนไหนล้วนแต่เป็นธรรมชาติ ไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกฎเกณฑ์ ตามกิริยาอาการที่มันจะปรุงแต่งกัน เรียกว่าไม่ใช่ตัวตน และเมื่อไม่ใช่ตัวตน ไอ้สิ่งต่างๆ ก็ไม่ใช่ของตน นี่ปฏิเสธอย่างนี้แก่ทุกสิ่ง แก่ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีตัวตนอันแท้จริง แต่สำหรับความรู้สึก เรารู้สึกไปตามที่จะโง่หรือจะฉลาด ถ้าว่ายังไม่ฉลาดพอ ก็รู้สึกตัวตนไปก่อน ถ้ารู้สึกเป็นตัวเป็นตนก็ทำดีไปก่อนก็แล้วกัน จนกว่าจะถึงขนาดหนึ่งซึ่งรู้ว่าไอ้นี่มันก็ยังมีความทุกข์ เพราะว่าการยึดมั่นในความดีเป็นต้น เมื่อต้องการจะไม่มีความทุกข์เลยก็เอาออกไปเสีย มันจะดีจะชั่วนี่เพราะว่าตนต้องการ ถ้าไม่มีแล้วมันก็ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ตนให้ความหมายเป็นความดี ให้ความหมายเป็นความชั่ว ให้ความหมายเป็นการได้ เป็นการเสีย เป็นการแพ้ การชนะนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่าตน พอความรู้สึกว่าตนหมดไปสิ่งนั้นก็หมดไปเอง นี่เขาเรียกว่าจิตมันหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่เป็นคู่ๆ คู่ๆ เพราะว่ามันเห็น เพราะว่าจิตนั้น มันมาเกิดความสว่างไสว แจ่มแจ้งว่าไม่มีตัวตน เพราะว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวตน เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรหมายมั่นว่าเป็นตัวตน นี่คือหัวใจของพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับคำเพียงคำเดียวว่า ธรรม หรือสิ่ง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างนี้
ถ้าประพฤติธรรมก็ประพฤติเพื่อให้เข้าถึงความจริงอันนี้ ให้จิตมันสลัดความยึดถือทั้งหลายออกไป ถ้าได้ผลมาก็ได้ผลของความสงบ เป็นความรอดพ้น หลุดพ้นออกไปได้จากความยึดมั่นอันนี้ แล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติมีอยู่อย่างไร ทำอย่างนี้ต้องเกิดกิเลส แล้วเกิดอย่างนั้น เกิด ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่เป็นเรื่องกฎธรรมชาติ นี้สิ่งรองรับทั้งหลายนั้นเป็นสภาวธรรม คือตัวธรรมชาติ เป็นร่างกายนี้ก็ได้ เป็นธาตุจิตใจ เป็นจิตใจที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งก็ได้ กิริยาอาการที่ปรุงแต่งกันระหว่างร่างกายหรือวัตถุหรือจิตใจนึกได้ จึงเห็นว่ามีแต่ธรรมเท่านั้นไม่มีอะไร มีแต่ธรรมคือมีแต่ธรรมชาติเท่านั้นไม่มีอะไร ก็เลยไม่มีตัวตนกัน นี่คำว่าธรรม คำเดียวอธิบายในแง่ไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้เรากำลังอธิบายในแง่ที่จะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าเราจับหัวใจได้มันง่าย เมื่อจับไอ้นิวเคลียสศูนย์กลางได้ อย่างอื่นมันก็เป็นอันว่าจับได้หมด รู้หัวใจจุดศูนย์กลางของธรรมะของพุทธศาสนาตอนนี้ก็คือ รู้เรื่องไม่มีอัตตา อนัตตา เหมือนกับบุคคลถอนสายบัว หรือสายอะไรที่มันมีมากๆ รอบด้าน เขาก็จับที่หัวของมันที่กกของมัน แล้วก็ดึงขึ้นมามันก็ติดมาทุกสาย บางคนจะเคยถอนสายบัวมาแล้วก็จะรู้สึกอัศจรรย์ มันให้เราเห็นใบเดียวเท่านั้น แล้วคลำไปตามก้านใบเดียวไปถึงหัวแล้วดึงหัวขึ้นมา มันมีก้านใบมากมาย ทางทิศทางอื่นก็พลอยติดมาด้วย มากมายเป็นกอใหญ่ นี่จับหัวใจมันได้มันก็มาหมดทั้งกอ
เดี๋ยวนี้เราก็รู้จักธรรม ร้อยอย่าง พันอย่าง หมื่นอย่าง แสนอย่าง ก็มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อนัตตา ที่ดีกว่านั้นคือว่าการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นการปฏิบัติพรหมจรรย์อย่างที่เราพูดกันมาแล้วยืดยาว การปฏิบัตินั้นก็เพื่อจะทำลายเสียซึ่งความยึดมั่น ถือมั่นว่าตัว แม้แต่ศีล ก็เพื่อจะทำลาย ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวในลักษณะหนึ่ง จะเป็นชั้นตระเตรียมมาก ถ้าคุณไม่รักษาศีล ก็ทำลายตัวแล้วก็ป่วยการ ไม่รักษาศีล ไม่ทำลายความยึดถือว่าตัวตน ทำสมาธิก็เหมือนกันถ้าไม่ทำเพื่อประโยชน์ แก่การทำลายเสียซึ่งตัวตน หรือว่าระงับเสียซึ่งตัวตน ก็ป่วยการเหมือนกัน แล้วเจริญปัญญาวิปัสสนานี่ มันเจริญเพื่อขุดราก ตัดราก เผาผลาญไปในสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ถ้าต่ำกว่านี้อีก เช่นการให้ทานบำเพ็ญทาน นี่ก็ต้องเรียกว่าเพื่อจะทำลายตัวตน หรือความเห็นแก่ตน จะเป็นสละเงิน สละของ สละเวลา สละเรี่ยวแรง อย่างที่วัดนี้เราถือหลักกันว่า ถ้าว่ามันมีการเสียสละถึงกับเหงื่อออกแล้วก็ เหงื่อนั้นแหละคือตัวตนถูกล้างออกไปด้วยเหงื่อ จริงไม่จริงไปคิดดู ถ้าตอนเย็นๆ คุณทำงานอาจจะเหงื่อออก เหงื่อนั้นจะล้างความเห็นแก่ตัวออกไปไม่มากก็น้อย นี่มาจากการบำเพ็ญทานเพื่อทำลายตัวตน การมานับถือพุทธศาสนานี้ก็เพื่อจะทำลายตัวตนซึ่งเป็นข้าศึกอย่างสูงสุด แต่เราไม่ค่อยรู้กันไม่ค่อยสอนกัน เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความไม่มีตน ความไม่มีคน
ถ้าพูดถึงการปฏิบัติเป็นศาสนาแห่งการทำลายความรู้สึกว่าตน นั้นถ้าไม่รู้เรื่องนี้จะเลือนกันหมด ศีลก็เลอะเลือน สมาธิก็เลอะเลือน ปัญญาก็เลอะเลือน อย่างที่เรียกว่าธรรมะมันเลอะเลือน วินัยก็เลอะเลือน วินัยก็เลอะเลือน ธรรมะก็เลอะเลือน เพราะมันไม่รู้ว่าจะไปจุดจบกันที่ไหน แต่ถ้ารู้ว่ามีจุดจบที่จะทำลายตน ทำลายความเห็นแก่ตน มันก็ไม่มีอะไรเลอะเลือนมีแต่แน่วแน่ ชัดกระจ่างแจ้งไปหมด ทั้งศรัทธา ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งสมาธิทั้งปัญญามันก็มุ่งไปทำลายตัวตนพร้อมๆ กัน เกิดเป็นมรรคผลนิพพานขึ้นมา นั่นคือความหมดไปแห่งตัวตนในระดับใดระดับหนึ่ง หรือว่าหมดโดยสิ้นเชิง เป็นระดับสูงสุดก็ได้ นี่หัวใจพุทธศาสนาพูดได้ด้วยคำพูดไม่กี่คำอย่างนี้ รายละเอียดมันก็มาก ส่วนการปฏิบัติมันยากกว่าพูด พูดให้จบได้ แต่ปฏิบัติให้จบมันยาก นี่คือการที่จะต้องการความไม่ประมาทเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ต้องการความไม่ประมาทอย่างยิ่ง นี่จึงขอให้พวกคุณทั้งหลายที่เพิ่งบวชใหม่ นี้อย่าได้อวดดี เพราะอวดดีล่ะคือความประมาท ถึงว่าสนใจอย่างโน้น สนใจอย่างนี้ เห็นแก่ปาก แก่ท้อง เห็นแก่หลับ แก่นอน ให้เห็นด้วยความเข้าใจผิดย่างใดอย่างหนึ่งก็เรียกว่าประมาททั้งนั้น ขอให้จับไอ้ความเป็นอยู่ประจำวันในวันหนึ่งๆ นี้ ให้มันถูกต้องทุกอย่าง ให้ถูกต้องทุกอย่าง หมายความจะเป็นไปเพื่อทำลายความยึดมั่นว่าตัวตน อยากจะขอร้องให้ที่บวชใหม่นี้ไปล้างส้วมกันเสียบ้าง จะทำลายตัวตนในบางแขนง ตอนเย็นๆ ทำงานอะไรก็ได้ให้เหงื่อมันออกเสียบ้าง ไม่ใช่เพื่ออนามัยของคุณอย่างเดียวนะ ก็เพื่อทำลายตัวตนตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้าด้วย ถ้าเราเห็นแก่ตนเราก็นอนสบายไม่เคยทำอะไรเหงื่อออกเลย ทีมาถึงเรื่องกิน เรื่องฉัน เรื่องอะไรต่างๆ ให้ควบคุมตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวแล้วในคำบรรยายเรื่องภิกษุบวชใหม่ ขอให้เอามาอ่านเป็นประจำวัน หลังจากทำวัตรเย็นแล้วนี้จะดีมาก เพราะว่าในการอบรมนั้นได้พูดเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องอะไรไว้ดีแล้ว พูดอีกมันก็จะเสียเวลาซ้ำกัน ที่นี้ก็ศึกษาหนังสือหนังหาก็จัดให้มันดี อย่าไปอ่านหนังสือที่มันไม่ช่วยให้เกิดการทำลายตัวตนอัตตา นี่จะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้มันมุ่ง ระดมไปยังจุดเดียวกัน คือทำลายความยึดมั่นว่าตัวตน จะพูดจะจาจะปรึกษาหารือกันให้เป็นอย่างนั้น อย่าให้เกิด อย่าให้ทำไปในทางที่ตรงกันข้ามแล้วเกิดผลตรงกันข้าม คือมันไปส่งเสริมไอ้ตัวตนเข้า เดี๋ยวก็ได้ยกหูชูหาง เดี๋ยวได้ทะเลาะวิวาทกัน เดี๋ยวได้ทุ่มเถียงกันด้วยเรื่องที่ไม่จำเป็นเลยอย่างนี้เป็นต้น เวลามันจะไม่พอสำหรับการบวชทั้ง ๓-๔ เดือน
เอาละเป็นอันว่าวันนี้ผมได้พูดถึง คำว่า ธรรม เพียงคำเดียว แต่ในความหมายทุกความหมายที่ได้เคยพูดไปแล้ว ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นอนัตตา คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ทุกสิ่ง แม้ความคิดว่าตัวกู ความคิดว่าของกู นั้นก็ไม่ใช่อัตตา ให้เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ความคิดว่าตัวกูนั้นก็ไม่ใช่อัตตา ความคิดว่าอัตตานั้นก็ไม่ใช่อัตตา จึงเห็นว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ อันใครๆ ไม่ควรมั่นหมายว่าเป็นตัวตน อย่าไปหมายมั่นปั้นมือด้วยความโง่ด้วยอวิชชาว่านั่นเป็นตัวตน นี่เป็นตัวตน หรือว่านั่นเป็นของตน อย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีเลย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา หมายความว่าอย่างนี้ นี่เรารู้เรื่องคำว่า ธรรม ในความหมายอันลึกซึ้งอย่างนี้ เอาล่ะพอกันทีสำหรับวันนี้