แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ 12 นี้ ผมจะได้กล่าวในหัวข้อว่า พุทธปรัชญา นี่คือธรรมะศาสตรา เพื่อปัญหาที่เฟ้อหรือเกิน ทว่ากันตามที่จริงแล้ว วันนี้ก็จะไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เป็นสารประโยชน์อะไร ที่จำเป็น แต่ด้วยเหตุที่คำว่า ปรัชญา นี้มันเป็นคำที่พูดกันมากขึ้นทุกวัน มีคนสนใจมาก ยิ่งขึ้นทุกวัน ก็ชอบใช้คำนี้กันจนแพร่หลาย ก็เลยอยากจะให้ได้ทราบเรื่องของคำๆ นี้กันซะบ้าง คือสิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา นั่น มันมีได้แม้ในพระพุทธศาสนา หรือมีได้ในทุกสิ่ง ที่ถ้าใครเอาไปคิดให้มันมากขึ้นไปกว่าที่ธรรมดา หรือที่ตามองเห็น หรือว่าคิด เพื่อการคิดเท่านั้น มันจะคิดเพื่อประโยชน์ คิดเพื่อให้มันคิดมากไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันรักที่จะคิด เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นศาสตราที่ มีสำหรับตัดปัญหาที่เฟ้อ หรือที่เกิน ถ้าเราไม่ตั้งปัญหาให้มันเฟ้อหรือเกิน มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา แต่อย่างไรก็ดี ก็อยากจะทบทวน เรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อให้มันเชื่อมความกัน
เพราะคนมีปัญหา แล้วหาเครื่องตัด จึงศึกษาอบรม ธรรมศาสตรา หรือธรรมศาสตร์ จากธรรม แล้วก็ตัดได้ตามสมควร ที่เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า เรื่องศีลธรรมรู้และปฏิบัติแล้ว ก็ตัดปัญหา สังคม ที่เกี่ยวกับเป็นสังคมส่วนใหญ่ ที่เป็นศีลธรรมอย่างสากล หรือว่าศีลธรรมอย่างของศาสนาใด ศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ มันก็ตัดปัญหาทางสังคม แต่ถ้าจะตัดปัญหาส่วนบุคคลเพราะว่าเป็นปัญหาที่ยังว่าจะอยู่ในโลกนี้ อย่างไร อยู่กันมาก ๆ เข้า มันก็เป็นสังคม เป็นปัญหาเรื่องที่เนื่องไปด้วยสังคม แต่ถ้ามาเป็นความรู้ ในชั้นปรมัตถธรรม การศึกษาแล้วปฏิบัติได้ มันก็เป็นเรื่องตัดปัญหา ในทางจิตทางวิญญาณ ในส่วนลึกของปัจเจกชน มันมุ่งหมายประโยชน์โดยตรงแก่คนคนหนึ่ง ในเรื่องทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้ง นี่ก็เพื่อว่าคนจะได้เป็นอริยะกันมากขึ้น เพราะอาศัยเรื่องปรมัตถธรรม ส่วนเรื่องทางศีลธรรมนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น มันไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น นี่ก็ได้พูดมาแล้ว พูดทบทวนเพื่อประกันความปนกันยุ่ง หรือฝั่นเฝือ ถ้าจะเอามาให้เนื่องกันเราก็กล่าวได้ว่า ปรมัตถธรรม มันจะช่วยตัดปัญหาหรือดับทุกข์ ในกรณีที่ศีลธรรม ช่วยดับให้ไม่ได้ มันเหลือวิสัยของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม หมายความว่าเรามีศีลธรรมดีกันทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็ยังมีปัญหาอย่างหนึ่งเหลืออยู่ เรื่องปัญหาทางจิตทางวิญญาณที่ลึกขึ้นไป มันจะต้องตัดด้วยความรู้ชั้นปรมัตถธรรม ไม่ต้องเป็นทุกข์ ในกรณีที่คนธรรมดาเขาเป็นทุกข์กัน หรือที่อำนาจของศีลธรรมมันช่วยไม่ได้แล้ว ก็ต้องหันมาหาสิ่งที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม เราจึงได้เป็นสองอย่างคือ ศีลธรรมเป็นธรรมศาสตรา ตัดปัญหาสังคม ปรมัตถธรรมก็เป็นธรรมศาสตรา ที่ตัดปัญหาในส่วนลึกของบุคคล ปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ
ทีนี้ก็มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมันไม่ใช่สองเรื่องนั้น ซึ่งเรียกว่า ปรัชญา ถ้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาก็เรียกว่า พุทธปรัชญา นี่เป็นธรรมศาสตรา เพื่อตัดปัญหาส่วนที่เฟ้อ หรือส่วนที่มันเกินจำเป็น เคยเป็นเรื่องที่ปรามขึ้นมาฟังให้ดี อย่าปนเสื่อมเสีย ถ้าปนกันแล้วจะยุ่งจนไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะพวกคุณเป็นนักศึกษา โดยที่เขาจัดเป็นนักศึกษา อยู่ในฐานะเป็นนักศึกษา มีภูมิของนักศึกษา มันก็ต้องรู้เรื่องที่มันสมกับไอ้ฐานะของนักศึกษา นั้น ผมจึงพูดเรื่องนี้ คือเรื่อง พุทธปรัชญา ซึ่งมันต้องเนื่องไปถึง ปรัชญาอื่น ๆ และก็ให้คำจำกัดความสำหรับข้อนี้ว่ามันเป็นเครื่องสำหรับตัดปัญหา เป็นธรรมศาสตราด้วย ยอมเรียกว่าธรรมศาตราด้วยเหมือนกัน แต่มันเพื่อปัญหาที่มันเฟ้อ หรือมันเกิน ที่นี้เรื่องของมันก็จะต้อง พูดถึงคำ พูดถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา กันนั่นแหละให้เป็นที่เข้าใจเสียก่อน แล้วก็จะรู้ว่ามันเป็นธรรมศาสตราอย่างไร และมันเป็นธรรมศาสตรา เฉพาะปัญหาที่เฟ้อ หรือเกินความจำเป็นเท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าพุทธปรัชญานี้ ทำอย่างไรเสียก็ต้องจัดว่าเป็นพวกปรมัตถธรรม ในพุทธศาสนาได้เหมือนกัน แต่มันเป็นส่วนปรัชญาที่มันเฟ้อ ปรมัตถธรรมที่แท้จริง ที่เป็นตัวศาสนาแท้ ๆ นั้น จำเป็นไม่เฟ้อ เพราะฉะนั้นในข้อนี้ขอให้รู้จักความแตกต่างกันเสียก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นไม่ใช่ปรัชญา สิ่งที่เรียกว่าปรัชญานั้น มันไม่ใช่ศาสนา
แต่ว่าในสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้น เราจะเอามาทำกันในรูปปรัชญาก็ได้ สิ่งที่เป็นศาสนามันเป็นตัวศาสนา มันมีทั้งศีลธรรมและปรมัตถธรรม แล้วมันเป็นตัวศาสนา แต่ทีนี้ถ้าหากว่าใครมันอยาก หรือมันอุตริ ก็ตามใจ จะเอามามองกัน ทำให้มันมอง เอามาทำกันใหม่ให้มองกันไปในรูปของปรัชญา จนเกิดเป็นพุทธปรัชญาอย่างนี้ก็ได้ แล้วก็มีคนเคยเรียกใช้คำนี้อยู่ ถึงกับพิมพ์หนังสือขึ้นมาเป็นเล่ม ๆ ด้วยซ้ำไป คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจก็คิดว่าไอ้ พุทธปรัชญา นี้คงจะวิเศษ หรือเป็นปรมัตถธรรม ที่ดีที่สุด ที่ถูกต้อง ที่จะดับทุกข์ได้ ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งที่เรียกว่าปรัชญา นี้จะต้องเป็นไปเพื่อความเฟ้อ เกินจำเป็นเสมอ เดี๋ยวจะได้พูดกัน แม้เขาจะเอาปัญหาทางวิญญาณ ทางปรมัตถ์ มาพูด ก็พูดไปในแง่เฟ้อ คำว่าเกิน หรือคำว่าเฟ้อ นี้ก็เอาใจความกันตรงที่ว่ามันไม่จำเป็น คำว่าไม่จำเป็นนี่ควรจะเข้าใจกันได้ เช่นในบ้านเรือนของคน โดยเฉพาะคนสมัยนี้ ไปดูอีกทีก็จะเห็นว่า มีสิ่งที่เฟ้อ หรือไม่จำเป็นมากขึ้น บ้านเรือนของคนสมัยก่อน เขาไม่สู้จะมีสิ่งที่เกินจำเป็น เดี๋ยวนี้ยิ่งมีเกินจำเป็นมาก เพราะมันมีวัตถุสวยงามมาก มีการประดิษฐ์ให้คนหลงใหลมาก ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็นมากขึ้นเหมือนกัน นี่เราเรียกว่าเกินหรือเฟ้อ หมายความว่าถ้าเราไม่มีสิ่งนี้เราก็อยู่ได้ นอกจากจะไม่ตายแล้วยังสบาย คือมันไม่ต้องยุ่งมากเกินไป ยกตัวอย่างว่าถ้าเรามีบ้านเรือนที่อยู่ มันใหญ่โตเกินไปหลายเท่าแล้ว เราจะต้องลำบากเปล่า ๆ เพราะการจัด การรักษาความสะอาดอะไรต่าง ๆ นั่นมันเป็นส่วนที่เฟ้อ หรือมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นมากขึ้นไอ้ธรรมะก็เหมือนกัน ปัญหาที่แท้จริงเราไม่ค่อยชอบ ไปชอบปัญหาเฟ้อ ผมอยู่ที่นี่มีคนมาถามปัญหา เสมอ ๆ มากมาย ผมสังเกตดูเห็นว่ามีปัญหาเฟ้ออยู่มาก ถามเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องถาม ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ อย่างนี้ก็จัดเป็นพวกปัญหาเฟ้อ คือเขาไม่ถามว่าเดี๋ยวนี้ผมจะทำอย่างไร ที่จะแก้ปัญหาในอกในใจอย่างนี้ออกไปเสียได้ ไปมัวถามว่าตายแล้วเกิด หรือไม่เกิด ถ้าเกิดอะไรไป เกิด ๆ อย่างไร หอบหิ้วกันไปอย่างไร นี่ก็เรียกว่ามันยังไม่จำเป็น นี่เป็นตัวอย่าง นี้ส่วนเกินเรื่องความรู้ส่วนเกินนี่ มันจะไปอยู่ในรูปของไอ้สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งปัญหาขึ้นมาว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าปรัชญานั้นคืออะไร เพียงข้อนี้บางทีพวกคุณบางคนคงจะไม่ทราบ ว่ามันไปเกิดคำว่า ปรัชญา ขึ้นมาในภาษาไทย ในเมืองไทยเรานี่เมื่อไหร่ แล้วทำไมมันจึงเกิดขึ้น มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นผลตามมาอีกหลายประการ ข้อนี้ก็มีเรื่องว่าเมื่อเขาว่า Philosophy ของพวกฝรั่ง มันแพร่หลายมากเข้า มากเข้า ก็เข้ามาในประเทศไทยเราในนามของ Philosophy ทีแรกก็เรียกกันไปอย่างนั้นก่อนตามภาษาต่างประเทศ เป็น Philosophy ของพวก กรีก โดยเฉพาะซึ่งมีมากที่สุด เพระคำนี้มันก็เป็นภาษาที่พวก กรีก เขาตั้งขึ้น แปลว่าความรักที่จะรู้ Philosophy นี่แปลว่าความรักที่จะรู้ ตัวหนังสือมันแปลว่าอย่างนั้น แต่ที่นี้เนื่องแต่ว่ามันเป็นเรื่องลึกซึ้ง ต้องใช้สติปัญญามากเป็นพิเศษ จะมาแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี มายุคนั้นเกิดแปลกันขึ้นว่า ปรัชญา มีคนเสนอคำว่าปรัชญา แล้วใช้คำว่า ปรัชญา เพื่อเป็นคำแปลของคำว่า Philosophy ก็ Philosophy นั้นตัวคนแปลแต่เพียงว่า รักจะเรียน หรือรักจะรู้ ส่วนปรัชญานี้มันแปลว่ารอบรู้ มันคนละเรื่องก็ได้ คำว่าปรัชญา ก็คำเดียวกับ ปัญญา ในภาษาบาลี คำว่าปรัชญาเป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับคำว่าปัญญาในภาษาบาลี ญา แปลว่ารู้ ปะ นี่มันแปลว่าทั่วถึง การรู้อย่างทั่วถึง เราเรียกว่าปัญญาหรือจะเรียกว่า ปรัชญา แล้วแต่จะใช้ภาษาไหน นี่ผู้จัดการที่ทรงอำนาจของรัฐบาลเรารับเอาข้อเสนอนี้ ผมไม่ขอระบุชื่อบุคคลนั้น บุคคลนี้ คุณอยากรู้ไปถามเอาเองก็รู้ได้ มันก็เลยใช้ไอ้คำว่า ปรัชญานี่ สำหรับคำว่า Philosophy
ก็มีนักศึกษาชั้นนักปราชญ์คนหนึ่งเป็นชาวอินเดีย ก็พูดกับผมเองว่ามันแย่แล้ว ใช้คำว่าอย่างนี้ ปรัชญา หรือปัญญา หมายถึงรู้แล้ว รู้จริงแล้ว รอบรู้แล้ว แล้วเอาไปใช้กับคำว่า Philosophy ซึ่งหมายถึงกำลังค้น กำลังอยากจะรู้ แล้วก็ค้นกันอย่างไม่ ไม่มีทิศทาง ค้นไปได้ทุกทิศทุกทาง ทีนี้เจ้าของภาษาอินเดียผู้นี้ก็เลยแนะว่าถ้าจะใช้ภาษาอินเดีย แล้วคำว่า ทัศนะ นั่นมันถูกต้องที่สุด ที่จะตรงกับคำว่า ปรัชญาได้ ดีกว่าคำว่าที่จะใช้ Philosophy ได้ดีกว่า ปรัชญา นี่เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง มันเป็นประวัติ ที่มันจะเกิดคำว่าปรัชญาขึ้นใช้ในภาษาไทยเรา คือเรื่องมันก็ผิดกันแล้ว พอตั้งต้นขึ้นมามันก็ผิดซะแล้ว Philosophy มันไม่ใช่รู้แล้ว หรือรู้จริง หรือรู้ทั่วถึง มันกำลังง่วน อยู่กับไอ้การค้นเพื่อให้รู้ รู้ไปทุกทิศทุกทาง เพราะฉะนั้นคุณจะจำไอ้คำอย่างนี้ไว้ก็ได้ว่า ปรัชญา ที่แท้ไม่มีความหมายตรงกับคำว่า Philosophy แต่ในภาษาไทยของเรามันก็ได้ใช้ซะแล้วนี่ อยู่ในปทานุกรม เสร็จแล้ว ก็เป็นอันว่าส่วนนี้แก้ไขไม่ได้ ก็เลยรู้ว่า รู้ว่ามันว่ามันใช้กันอย่างไรดีกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อจะศึกษา สิ่งที่เรียกว่าปรัชญา หรือใช้คำนี้ก็ตาม ให้ไปนึกคำว่า Philosophy อยู่เรื่อยไป ความรักที่จะรู้
นี่เราจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Philosophy ตามความหมายเดิมเขาก่อน ถ้าเป็น Philosophy หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า ปรัชญา ตามคำบัญญัติที่เขาบัญญัติขึ้นคำหนึ่งว่า การค้นหาความจริงเพื่อความจริง ฟังดูซิ ค้นหาความจริงเพื่อความจริง ไม่ใช่ค้นหาความจริงเพื่อประโยชน์ ที่จำเป็นแก่เรา เดี๋ยวก็จะเข้าใจ ปรัชญา มันคือการค้นหา ความจริง เพื่อความจริง ปรัชญา Philosophy นะอย่างงง อย่าหลงนะ ปรัชญาที่ถอดออกมาจากคำว่า Philosophy นี่ คือค้นหาความจริง เพื่อความจริง มีสิ่งที่มันเกินขอบเขตของการค้นหาของคนธรรมดา มันเป็นคนบ้าความจริง รักวิชา เป็นบ้าวิชา เป็นคนบ้าความจริง เพราะฉะนั้นการค้นตามแบบของ Philosophy นั้น จะไปค้นที่วัตถุก็ได้ ที่นามธรรมก็ได้ หรือที่มันเนื่องกันทั้งวัตถุกับจิตใจก็ได้ จึงพูดได้ว่าไอ้หลักการปรัชญานี้ เอาไปค้นที่อะไรก็ได้ทั้งนั้น เพื่อจะหาความจริงของสิ่งนั้น แต่เป็นความจริงเพื่อความจริง ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่คนธรรมดาค้นไปได้ เขาเขียนไว้ในหนังสือ บางเล่มคล้าย ๆกับเยาะเย้ย ไปในตัวว่าพอพูดถึงคำว่า Philosophy Philosopher คือนักปรัชญา ก็ทำให้หลับตามองเห็นคนแก่ หนวดยาวขาว ผมยาวขาว นั่งหลับตาเอาไม้เท้ายันคางคิดอยู่เรื่อย นี่ละนักปรัชญา กระทั่งชาวนาก็เป็นได้ถ้าเขาขยันคิดแบบนั้นเป็นนักปรัชญาได้ แล้วมันบ้าวิชา บ้าความจริง ความคิดมันรำพึงไปแต่ว่าที่จริงกว่านี้คืออะไร ที่จริงไปยิ่งกว่าตาเราเห็นนี่ มันคืออย่างไร ไม่ได้เพ่งถึงว่าประโยชน์ของมนุษย์นี่มันคืออะไร หรือประโยชน์ที่จำเป็นคืออะไร ข้อนี้ไม่ฝันถึงเลย ฝันถึงแต่ที่จริงกว่านั้นคืออะไร ที่จริงกว่านั้นคืออะไรอีก ที่จริงกว่านั้นคืออะไรอีก มันไป ๆ อย่างนี้ นี่วิธีคิดอย่างปรัชญา ประโยชน์อย่างอื่นไม่ต้องการ ต้องการแต่จะรู้มันจริงอย่างไร และจริงขึ้นไปอีกอย่างไร และจริงยิ่งขึ้นไปอีกอย่างไร ก็เรียกว่าคนมันบ้า ความจริง ที่แรกก็คิดไปจากสิ่งที่ตามองเห็น เป็นต้นไม้ต้นนี้พอเห็น ก็คิดลงไปว่ามันมีอะไร ที่ยังมองไม่เห็น ที่มันลึกไปใต้ดิน หรือว่ามันเป็นอย่างอื่น แล้วแต่เขาจะเอาไปคิดอะไร ก็คิดชนิดที่เรียกว่า ธรรมดา ไม่ได้มองกัน หรือมองไม่เห็น มันลอดลึกลงไปเรื่อยไป จนไปลิบ จนไปถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ยังไม่หมด จะเรียกอีกทีหนึ่งก็ว่าเขาไม่ได้คิดเพื่อแก้ปัญหา ที่จำเป็นของมนุษย์ นี่คุณจำข้อนี้ให้ดีเถอะ จะไม่ตกบ่อ Philosophy เขาไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาที่จำเป็นของมนุษย์ คิดแต่เพื่อประโยชน์แต่ความจริง ฟังดูแล้วมันก็น่าหัว (เราะ) อย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์แก่ความจริง ไม่ได้เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ก็เลยคิดกันไปทิศทางไหนก็สุดแท้ คิดเรื่อยไป นี่เรียกว่าเฟ้อหรือเกิน เพราะเหตุนี้นักคิดพวกนี้ก็เรียกว่านักปรัชญา Philosopher อย่าลืมว่าคำว่า ปรัชญา ยืมของเขามาใช้ผิดนะ ปรัชญาคือปัญญา คือรอบรู้แท้จริง และถูกต้อง นะ ยืมของเขาไปใช้ผิดถ้ายังไม่รู้ ก็รู้ไว้ซะเดี๋ยวนี้ เมื่อพูดต้องพูดตามเขา ให้รู้ไว้ว่าไอ้คำนี้มันไปเป็นความหมาย ไอ้คำว่า ปรัชญานี้ มันไปเป็น คำที่ใช้สำหรับคำว่า Philosophy ในภาษาต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ถ้าว่าคนมันคิดมาก คิดในเรื่องเดียวนี่ คิดหลายแง่ หลายสิบแง่ หลายร้อยแง่ หลายร้อยมุม มันก็คงมีสักมุมหนึ่งแหละที่เอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ โดยที่เขาไม่ได้มุ่งให้มันเป็นประโยชน์ แต่เราไปดึงเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นพวกที่เขาได้ศึกษาส่วนนี้มามากพอ แล้วมีจิตใจไม่ลำเอียง เขาก็ยอมรับว่า ไอ้ปรัชญาที่เกินหรือเฟ้อนั้นนะ บางอย่างก็เอามาใช้ให้มีประโยชน์ได้ โดยเฉพาะเช่นปรัชญาของ โสเครติส ของ พลาโต้ อริสโตเติล พวกนี้ เอามาใช้เป็นประโยชน์ในเรื่องทางการศึกษาก็มี การเมืองก็มี เรื่องเสรีภาพเรื่องอะไรนี้ก็คิดไว้จนเฟ้อจนล้น ไปทุกสิ่งทุกอย่าง เอาบางแง่มาใช้ได้ เป็นต้น แต่นี้มันก็น่าสงสัย ว่าความคิดข้อนั้น มันเป็นในรูปปรัชญาจริงหรือเปล่า หรือว่านักคิด ที่เอาชื่อมานี่เขาเป็นนักปรัชญาล้วน ๆ หรือว่าเขาเป็นนักอะไร บางอื่นบางอย่างที่มันพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน เอาละเป็นอันว่ายอมรับว่าไอ้ความรู้ที่เฟ้อ ของนักปรัชญานี้ เมื่อมันมีมากมายหลายสิบหลาย ร้อยแง่ ร้อยมุม พันเก้า มันก็มีสักอย่างหนึ่ง ที่มาใช้เป็นประโยชน์ได้ เพราะเป็นประโยชน์อยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ การเมืองการศึกษา มีปรัชญา ที่เขาคิดไว้มาก ก็มีข้อหนึ่งหรือแนวหนึ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ ส่วนอีกหลายสิบข้อหลายร้อยข้อ มันก็คงเป็นของเฟ้อต่อไป ไปตามเดิม นี้ข้อที่น่าสงสัย ที่ควรจะตั้งเป็นปัญหาขึ้นมาก็คือว่า ทำไมเขาไม่ไปหยิบเอาเรื่องที่ที่มันน่าคิดมาคิด หรือแม้เขาจะไปหยิบเอาเรื่องที่น่าคิดมาคิด เขาก็คิดไปในทางที่มันเฟ้อ คิดไปในทางที่ไม่จำเป็นจะต้องคิด ไอ้เรื่องความทุกข์ของมนุษย์นี่มันก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด จำเป็นที่สุด เขาก็ไม่คิด ตรงลงไปที่เรื่องความทุกข์ของมนุษย์ ไปใช้หัวข้อเป็นเรื่อง การศึกษาก็มี เป็นเรื่องการเมืองก็มี เรื่องเสรีภาพอะไรก็มี มากมาย ซึ่งไม่ได้ตั้งปัญหาลงไปตรง ๆ บนสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ มันก็อาจจะมองไม่เห็นหรือไม่รู้สึก ว่าความทุกข์นี่เป็นปัญหาของมนุษย์ บางทีก็ไม่มองเห็นด้วยซ้ำไปว่า กำลังมีความทุกข์อยู่ เขาไม่ถือว่าเรากำลังมีความทุกข์อยู่ ก็ตัวเขาเองก็ไม่มีความทุกข์อยู่ มนุษย์ไม่ได้มีความทุกข์อยู่ จึงไปคิดเรื่องที่เขาตั้งหัวข้อ ไว้มันหรูหรา สวยงาม แสดงความเป็นนักปราชญ์ ในทางความคิด นี่เป็นสิ่งที่ มันก็น่าสงสัยอยู่อย่างเหมือนกัน ทำไมไม่เอาเรื่องที่น่าคิด มาคิด แม้จะคิดในรูปของปรัชญา ทีนี้มัวมาคิดแต่เรื่องเสรีภาพคืออะไร นี่ก็คิดกันจนตาย มันก็ได้มากแต่เรื่องเสรีภาพทั้งนั้น อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น จนไม่ได้ตอบปัญหาเรื่องความทุกข์ของมนุษย์ ที่กำลังทุกข์ เป็นทุกข์อยู่จริง คือสมมติว่าจะคิดเรื่องการศึกษา ในรูปของปรัชญาก็คิดไปมากแง่มากมุม หลายสิบหลายร้อยแง่ ก็เป็นเรื่องการศึกษา ที่เป็นเรื่องของความคิด คิดที่จะวางหลัก วางโครงการอะไรต่าง ๆ ยังไม่เกิดการศึกษาที่จะดับ ตัดปัญหาของสังคมได้ด้วยซ้ำไป นั่น คิดดูให้ดี แต่เราต้องยอมว่าเขาเก่งที่สุดในการคิด คิดได้มากที่สุด น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งนี่คือปรัชญา
เพื่อจะให้เข้าใจ สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา Philosophy นี้
ยิ่งขึ้นไปอีกนิดหนึ่งก็โดยการเทียบกันดูกับสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับปรัชญา มันต่างกันที่ว่าวิทยาศาสตร์ นะคว้ามาแล้วก็พิสูจน์ทดลองอย่างที่เอาความรู้สึกของผู้นั้นจริง ๆ เป็นเกณฑ์ เอาวัตถุนั้นจริง ๆ เป็นเกณฑ์ มันจึงไม่ใช่การคิดชนิดที่เรียกว่าพิศไปอย่างรูปของปรัชญา ปรัชญามันคว้ามาแล้วก็มีการคำนวณ ไม่ใช่การทดลองมันเป็นการคำนวณเป็น Speculation อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น เรื่อยไป ตามทางคณิตศาสตร์ก็ได้ ทาง logic ก็ได้ กระทั่งทางวิธีคิด ยิ่งกว่า logic ไปอีกก็ได้ มันจึงมีผลเป็นความคิดแค่นั้นแหละไม่เป็นวัตถุมาได้ และก็ไม่มีทางที่จะทดลอง คือไม่มีการพิสูจน์ทดลอง เหมือนกับทดลองวัตถุ ของพวกวิทยาศาสตร์ Experiment นี่ Experiment มันมีไม่ได้ในทางของปรัชญา มันมีได้แต่ทางวิทยาศาสตร์ นี่วิทยาศาสตร์ จึงไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาจึงไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แม้แต่เกณฑ์ให้ปรัชญาเป็นวิทยาสาสตร์ทางจิตมันก็เป็นไม่ได้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่พิสูจน์ทดลองนั้นได้ จึงเป็นเรื่องทางจิต สำหรับคิดแล้วก็คิดด้วยวิธีคำนวณ แบบนั้น แบบนี้ แล้วแต่ปรัชญาแขนงไหน จะตั้งรากฐานอยู่บนคณิตศาสตร์ หรือว่าจะตั้งรากฐานอยู่บน Logic หรือวิธีคิดอย่างอื่น ๆ อีก งั้นเราจึงไม่พบผลเป็นวัตถุจาก ปรัชญา อย่างที่พบได้จากวิทยาศาสตร์ ที่นี้ถ้าจะเอามาเปรียบกับพุทธศาสนา ก็ใช้วิธีของ Philosophy หรือปรัชญานั้นมาคิดเกี่ยวกับหลักธรรมะในพุทธศาสนา ก็เป็นได้ นี้ก็เพิ่งมีทีหลัง มีใหม่หยก ๆ ที่จะคิดกันในรูปของปรัชญาอย่างตะวันตก ถ้าจะคิดกันในไปเพียงแง่ตรรกะวิทยาหรือจิตวิทยา ก็เคยคิดกันมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาลเหมือนกัน คือในสมัยพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาลเล็กน้อยคนเริ่มคิดอย่างวิธี ปรัชญาเนี่ย คิดเป็นกันแล้ว แต่พุทธศาสนา ไม่ได้เกิดมาในรูปนั้น มันเกิดขึ้นมาในรูปของศาสนา ที่เอาความทุกข์เป็นตัวปัญหา เมื่อค้นก็จะดับความทุกข์นั้นลงไปให้ได้ ออกพ้นมาเป็นความดับทุกข์ได้แล้วก็เรียกว่าศาสนา ทีนี้พวกที่เป็นนักปรัชญา ชอบจะคิดให้ลึกกว่าที่มันเป็นเอา คำนั้นคำนี้แต่ละคำ ๆ มาคิด มาพิสูจน์อะไรก็ไม่รู้ลงไป ขยายความลึกลงไป เกิดคัมภีร์ที่เรียกว่าอภิธรรมขึ้นมา คัมภีร์อภิธรรมมันอยู่ในรูปของปรัชญา แม้ไม่ถึงขนาดแต่มันมาในแนวของปรัชญา ที่อาศัยรากฐานเป็นจิตวิทยาบ้าง เป็น Logic บ้างนี่ คุณไปอ่านดู คัมภีร์อภิธรรมทั้งหมดเองก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า พุทธปรัชญา ก็เพิ่งมีเมื่อพวกฝรั่งเขาเกิดมาสนใจพุทธศาสนา แล้วก็เอาวิธีการอย่างปรัชญามาใช้คิดมาใช้ศึกษา พุทธปรัชญาที่เขียนเป็นรูปเล่มหนังสือกันอยู่เดี๋ยวนี้มันเป็นไปในรูปอย่างนี้ มันจึงไม่เหมือนกับไอ้สิ่งที่เรียกว่าอภิธรรม หรือคัมภีร์อภิธรรม ที่มีมาแล้วตั้งแต่ตอน ตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ใกล้ ๆ พุทธกาล เพราะว่ามันมีวิธีคิดอย่างนั้นอยู่ก่อนแล้ว แม้ในศาสนาอื่น ที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักศาสนา นี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เป็นนักปรัชญา ถึงพวกฝรั่งหรือว่าใครก็ตามจะมาพูด มาเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้า เป็นนักปรัชญาเนี่ยมันผิด ผมเองก็เคยเข้าใจผิด ในเมื่อยังไม่รู้จักไอ้คำเหล่านี้ดี เห็นว่าคำนี้มันอัศจรรย์ดี ก็ได้ยินแต่ว่า ปรัชญา ปรัชญา เป็นปัญญาอย่างยิ่ง โดยที่ไม่รู้ว่าคำนี้เขาแปล เขาใช้เพื่อจะให้ตรงกับคำว่า Philosophy พอไปรู้เรื่อง Philosophy ก็เห็นชัดว่า พระพุทธเจ้าไม่มีทางไม่มีทางที่จะเป็นนักปรัชญา ท่านเป็นนักศาสนา ท่านเป็นนักดับความทุกข์ลงไปโดยตรงที่นี่และเดี๋ยวนี้อย่างนี้ไม่ใช่ปรัชญา ถ้าเป็นปรัชญาต้องค้นหาความจริง เพื่อความจริง ไม่ใช่หาความจริงเพื่อดับทุกข์ ฉะนั้นสัจจะทั้งหลายมีมากมายแต่มันไม่ได้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ มันมีอยู่สัจจะเดียวคืออริยสัจอย่างในพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ปรัชญานี้ค้นหาความจริงเพื่อความจริง เพื่ออุดมคติหรือแม้แต่พวกวิธีการอื่น ๆ แปลก ๆ เผื่อ ๆ ไว้เท่านั้นเอง เพราะความคิดมันพาไป แต่ถ้าเป็นเรื่องของศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนานี้แล้ว มันไม่ได้คิดเผื่อ ๆ มันไม่ได้คิดเพื่อความจริงของความจริง คิดเพื่อจะดับความทุกข์ เพราะว่าเรามีปัญหาที่ตัวความทุกข์ แล้วเป็นตัวการปฏิบัติ ลงไปบนความทุกข์นั้นเอง ไม่ได้คิดเผื่อ ๆ ไว้ มีความทุกข์ ที่ไหน เมื่อไร ก็แก้ปัญหาหรือตีปัญหาลงไปบนความทุกข์นั้น เพื่อพบข้อเดียวเท่านั้นที่เราจะดับความทุกข์ข้อนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ต้องการจะรู้ความจริง ที่มากมายที่ไม่จำเป็น แม้ความจริงเรื่องกิเลสหรือเรื่องความทุกข์มันยังมีอีกมาก ที่ยังไม่ต้องคิด หรือไม่ต้องรู้ก็ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ที่เราตรัสรู้แล้วมาบอกพวกเธอนั่นเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่เราไม่บอกไม่มาพูดให้เสียเวลา นั้น มันเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า มันมีสูตรอยู่สูตรหนึ่งซึ่งมีความหมายอย่างนี้ นั่นก็เป็นสูตรที่ตรัสกับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ในขณะที่เดินทางไปในป่าแห่งหนึ่ง ไม้สีสะปาวะ ไม้สีละปา แปลกันว่าไม้สีเสียด หรือไม้อะไรก็ไม่แน่นอน แต่ไม้นั้นมีชื่อในบาลีว่าไม้สีสะปา เป็นดงใหญ่ของไม้สีสะปา มันก็มีใบไม้นี้หล่นอยู่ที่กลางดินบ้าง ทรงหยิบขึ้นมา กำหนึ่งแล้วก็ถามภิกษุให้เกิดความสำนึกว่า ใบไม้ในกำมือนี้กับใบไม้หมดทั้งป่า นี่มันมากน้อยกว่ากันอย่างไร นี้ใคร ๆ ก็รู้ว่าเปรียบกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสข้อนี้ ข้อที่ได้ตรัสรู้หรือสัจจะทั้งหลายที่ได้ตรัสรู้ มันมากเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว เพราะเหตุใดจึงไม่สอนไม่มาสอนมาบอกหมดทั้งหมดนั้น ก็เพราะมันไม่จำเป็นเท่านั้นเอง มันไม่เป็นมันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มันไม่เป็นเงื่อนต้นของการประพฤติปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ สัจจะเหล่านั้นนะ ไม่ได้เป็นความจริงอยู่เห็นอยู่รู้อยู่ แต่มันไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใด แก่มนุษย์ นอกจากเป็นความรู้หรือว่าความจริงตามกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นเงื่อนต้น ของการประพฤติพรหมจรรย์ จนขยายความออกไปว่า น นิพฺพิทานาย น วิราคาย น วิโรธาย น อุปสมาย นิพฺพานาย มันไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อนิโรธเพื่อสงบเพื่อนิพพาน ดังนั้นจึงไม่เอามาพูด พูดแต่ใบไม้กำมือเดียวประมาณ เพราะมันดับทุกข์โดยตรง นี้เรียกว่าส่วนที่เป็นศาสนา หรือพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เราเอาความประพฤติอย่างสูงสุด ประเสริฐที่สุดคือมันดับทุกข์ได้ ถ้าไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ก็ไม่เอามาพูดให้ป่วยการ นี่คือข้อที่คำสัตย์คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยู่ในรูปปรัชญา แต่อยู่ในรูปของศาสนา ก็จะดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ รู้ความจริงเพื่อจะดับทุกข์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ มิได้รู้ความจริงเพื่อความจริง อันมากมายนับไม่ไหวเหมือนใบไม้หมดทั้งป่า เมื่อคนคนหนึ่งเขาคิดว่าอะไรจริงก็เป็นความจริงของคน ๆ หนึ่ง อย่างที่มันผิดก็ได้ หรือมันยังไม่ถึงขนาดถูกถึงที่สุดก็ได้ คือมันถูกครึ่งหนึ่ง ถูกนิดหนึ่ง หรือไม่ถึงครึ่ง ก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง ๆ ด้วยเหมือนกัน หรือว่ามันจะเป็นสัจจะอย่างอื่น ถ้ามันไม่ดับทุกข์ ก็เก็บไว้ก่อนก็ได้ สัจจะบางอย่างยังไม่จำเป็นอย่างนี้ นี้ในเรื่องที่เป็นปรัชญาแม้ว่าศาสนาอื่นลัทธิอื่น เขาจะถือว่าสำคัญเขาบัญญัติพร้อมกันไป ในพุทธศาสนานี้ไม่สอนไม่อยากให้แตะต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่น เรื่อง อันตคาหิกทิฐิ ๑๐ ประการ ที่มีมากทั่วไปในอินเดียในสมัยนั้นที่คนเขาอยากจะรู้ ว่าโลกนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด จิตใจก็อันนั้น ร่างกายก็อันนั้น หรือ หรือว่าจิตใจอันอื่น ร่างกายก็อันอื่น นี่ หลังจากตายแล้วมีอีก หรือหลังจากตายแล้ว ไม่มีอีก หรือว่าหลังจากตายแล้วมีด้วยไม่มีด้วย หรือว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่สิบข้อนี้เขาเรียกว่า อันตคาหิกทิฐิ การจะไปตั้งปัญหาตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ก็คือข้อหนึ่งในสิบข้อนี้ ถ้าใครไปทูลถามอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านนิ่งท่านไม่ตอบ ท่านชวนพูดเรื่องสัจจะที่เป็นประโยชน์ดับทุกข์เดี๋ยวนี้คือ เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ สัจจะที่ประเสริฐคือดับทุกข์ได้ สำหรับคำถามเหล่านั้นไม่เป็น เงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่รู่ว่าเป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อหน่ายคลายกำหนัดเพื่อนิพพาน มันมีสูตรอยู่ในบาลีหรือไตรปิฎกนั้นแล้ว ภิกษุบางรูปคาดคั้นให้พระพุทธเจ้าท่านตอบ คำถามเหล่านี้ท่านก็ไม่ตอบ ภิกษุนั้นใช้คำว่าจะขู่หรือท้าว่าถ้าไม่ตอบก็จะสึกไปจากศาสนานี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าสึกก็สึกสิเพราะไม่ได้สัญญาว่ามาสู่ศาสนานี้ แล้วจะตอบคำถามเหล่านี้ให้มีแต่สัญญาว่าถ้าใคร มาสู่ศาสนานี้แล้ว ก็จะบอกเรื่องอริยสัจที่จะดับทุกข์ได้ทันที ไม่ได้สัญญากันว่าจะตอบคำถาม ๑๐ ข้อนี้ เช่นว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ทีนี้ท่านก็เลยทรงอธิบายเหตุผลที่ไม่ตอบ เพราะบางทีมันไม่มีประโยชน์ ก็เหมือนอย่างที่เราเคยพูดกันบ่อย ๆ ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด มันไม่จำเป็นอะไรที่ต้องรู้ แต่ว่าอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ จะต้องทำอะไรนี่ มันจำเป็นที่จะต้องรู้ ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดพูดไป มันก็ได้แต่เชื่อคนพูดป่วยการอย่างนี้ ไม่ใช่หลักการของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าความทุกข์มันมีอยู่ เดี๋ยวนี้มันเห็นอยู่ จะดับมันอย่างไร ถ้าบอกให้ก็มองเห็น ชัดเลย แล้วก็ดับได้ด้วย นี่คือสิ่งที่จะพูด คือสัจจะเพื่อประโยชน์แก่การดับทุกข์ ไม่ใช่สัจจะเพื่อสัจจะที่เพ้อเจ้อ หรือยังไม่จำเป็น ท่านก็เลยเปรียบว่าเหมือนกับคนถูกยิงด้วยศรนอนแบอยู่ จะตายอยู่แล้ว เขาเอาแพทย์มาจะผ่าลูกศรออก มันบอกว่ายังไม่ต้อง ต้องบอกเขาเสียก่อนว่าใครยิงเขา ยิงเขาทำไม ยิงเขาด้วยลูกศรอะไร ด้วยยาพิษอะไร ก็ต้องไปถึงว่าคันธนู คันศร เขาทำด้วยไม้อะไร สายศรเขาทำด้วยเชือกอะไร เรื่อยไปอย่างนี้ มันก็บ้าเกิน มันก็ตายเปล่า มันตั้งคำถามออกไปได้เรื่อย เพราะฉะนั้นทางที่ดีเขาควรจะ เอ้า ผ่าลูกศรออกเดี๋ยวนี้สิ เอายาใส่สิ มันจะได้หาย ถ้าอย่างนี้ก็เป็นเรื่องศาสนาโดยตรง เป็นพรหมจรรย์ ถ้ามัวไปตั้งปัญหาว่าเขายิงทำไม เขายิงด้วยอะไร กระทั่งออกไปว่าสายศรทำด้วยอะไร หรือว่าจะไปหามาจากป่าไหน มันงอกเมื่อไร ก็เลยเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น ฉะนั้นจึงไม่ตอบ มันไม่เป็นประโยชน์อะไรจะตอบแต่ว่าเดี๋ยวนี้จะเอาลูกศรออกอย่างไร จะทำให้หายได้อย่างไร นี่คือข้อที่แตกต่างกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา กับ ปรัชญา ซึ่งขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า ปรัชญาก็ความจริง เพื่อความจริง ถ้าศาสนาความจริงเพื่อประโยชน์ ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทันที ดับทุกข์ได้ ความจริงเพื่อความจริงอันไม่รู้จบ นั้น น่ะคือ ปรัชญา
ถ้าเอาไอ้หลักปรัชญาค้นหากันในรูปนี้ ก็เกิดเป็นพุทธปรัชญาขึ้นมา เช่นในคัมภีร์อภิธรรม เป็นต้น จะยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นเรื่องศาสนา เราก็มีความทุกข์ เช่นทนไม่ได้ เพราะปัญหาของความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ความโทมนัส ความ พบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ พลัดพรากจากสิ่งที่ถูกใจ กระทั่งว่าต้องการอย่างไร มันไม่ได้อย่างนั้น แล้วมันทนทรมานใจ นี่คือตัวทุกข์ มันมีที่นี่ เดี๋ยวนี้แล้ว ทีนี้มันมาจากอะไร จะบอกว่ามาจากความยึดมั่นเป็นตัวกู ของกู กูจะเอาให้ได้อย่างนั้น กูจะเอาให้ได้อย่างนี้ จะต้องมาเป็นของกู อย่างนั้น อย่างนี้ นี้มันก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหา หรืออุปาทาน หรือว่ามาจากความโง่ของคนนั้นเอง นี้การที่จะดับความทุกข์ ก็คือต้องดับไอ้ต้นเหตุ ของความทุกข์นี้เสีย วิธีดับก็คือทำให้มันเกิดความถูกต้อง ทุก ๆ ประการในชีวิตนี้ มีความถูกต้อง ๘ ประการ ที่เรียกว่า อริยมรรค ที่ผมได้อธิบายแล้วในการอธิบายในครั้งก่อนที่แล้วมา เท่านี้ก็พอแล้ว เมื่อทำอยู่อย่างนี้ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ที่นี้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่มันก็หายไป นี้เรียกว่าเป็นเรื่องพรหมจรรย์ หรือเป็นเรื่องศาสนาโดยตรง ไม่เป็นปรัชญา นี้ถ้าว่าจะให้เป็นปรัชญาก็ลอง ตั้งปัญหามันมาให้คนนั้นสิ รู้ว่ามันมีความทุกข์อยู่ก็ไม่ดับทุกข์ ต้องการจะแจกความทุกข์ บรรยายสาธยายกันแต่เรื่องความทุกข์ หรือถ้าให้จะหาเหตุของความทุกข์ มันก็หาไปในรูปที่ไม่จำเป็น ในลักษณะที่ไม่จะเป็น เพราะฉะนั้นไอ้ความจริงนั้นมันก็เตลิดเปิดเปิงไปเรื่อย แล้วยิ่งในชั้นหลังนี้แม้ในคัมภีร์อภิธรรมนี้ก็แจกแต่ความทุกข์ โดยตัวหนังสือ โดยตัวอักษรนี่ มากออกไป แจกสิ่งที่เกี่ยวข้องกันด้วย มากออกไป คำพูดคำเดียว ก็แจกให้มันมีแขนงมากออกไป มากออกไป มากออกไป ก็เลยกลายเป็นเรื่องคำพูด เรื่องตัวหนังสือ เรื่องปัญหาทางคำพูดทางตัวหนังสือไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นถ้าเอาสิ่งที่เรียกว่า Philosophy มาใส่เข้าที่ตรงไหนหรือส่วนไหน ในพุทธศาสนาแล้วมันก็เกิดพุทธปรัชญา ที่ไม่รู้จบขึ้นมา มันจึงเป็นเรื่องสำหรับคิดเพื่อเป็นนักปราชญ์ อย่างดีที่สุดมันได้แค่นั้น แล้วก็ไม่ดับทุกข์ได้ จะเป็นผู้ร่ำรวยไปด้วยความรู้ ที่เกี่ยวกับความจริง อย่างนั้น จริงอย่างนี้ จริงอย่างโน้น งั้นคุณคงพอจะเข้าใจได้มั๊งว่า นักปรัชญา กับนักศาสนานั้น ไม่ใช่คนเดียวกัน แต่อาจจะเป็นได้ว่าในคนหนึ่งเป็นได้ทั้งสองอย่างก็ได้ นักปรัชญาก็มุ่งไปเรื่องจริงของความจริงเพื่อความจริงจริง ๆ ไป ไอ้นักศาสนานี้ เราต้องรู้แต่ว่าทำอย่างนี้มันดับทุกข์ได้ เท่านี้ก็เป็นนักศาสนาได้ ทีนี้ไอ้นักศาสนาคนนั้น เป็นนักศาสนาแท้จริง เขาอาจจะเป็นนักปรัชญาก็ได้ ถ้าเขาต้องการแต่เขาก็ไม่ต้องการซะอีก ครั้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่อยากเรียนอภิธรรมอย่างนี้เป็นต้น ความต่างกันจึงอยู่ที่นักปรัชญา ก็คือ Philosopher ตัวหนังสือมันก็บอกว่า รักรู้ ผู้รักที่จะรู้ รักในความรู้ เป็นนักศาสนาหรือ Religious man นี่ก็คือผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ให้ตรงตามกฎเกณฑ์ของการดับทุกข์ นักศาสนากับนักปรัชญาก็ต่างกันอยู่อย่างนี้ ถ้าใครไปถามว่าพระพุทธองค์ ทรงเป็นนักปรัชญาด้วยหรือคุณลองคิดดูเองซิมันเป็นคำถามที่บ้าบอที่สุด คือท่านไม่ยอมพูดมากไปกว่าใบไม้กำมือเดียว แต่ถ้าเอาส่วนที่ท่านรู้ว่าใบไม้ทั้งป่า ไปเกณฑ์ให้ท่านเป็นนักปรัชญาก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความประสงค์ท่านที่จะรู้อย่างรู้ใบไม้หมดทั้งป่า เมื่อออกผนวชท่านก็มุ่งหมายที่จะรู้ว่าอะไรมันจะดับทุกข์เท่านั้นแหละ หากแต่ว่าไอ้การตรัสรู้นี่มันนอกจากจะรู้ว่าตัวปัญหาจริง คือความดับทุกข์แล้ว มันรู้สิ่งข้างเคียงทั่วไปหมดด้วย เป็นเหตุที่ให้พระองค์ตรัสว่า ไอ้ที่ไม่เอามาพูดนี่เท่ากับใบไม้ทั้งป่า ที่เอามาพูดนี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักปรัชญาหรือก็ควรที่จะตอบว่าไม่เป็น ท่านเป็นนักศาสนา เป็นพระศาสดาผู้สอนวิธีดับความทุกข์ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ มันอยู่ที่นี่คืออริยมรรคมีองค์แปด
นี่ส่วนปรัชญาก็เลยเป็นอันว่าแยกออกไปได้ส่วนหนึ่งคือความรู้ที่รู้เกี่ยวกับสัจจะว่างั้น แต่มันมาก แล้วก็สัจจะเพื่อสัจจะ ที่คุณก็จะตอบได้เองว่า มันจำเป็นหรือว่าที่จะต้องมีความรู้เรื่องปรัชญามันไม่จำเป็น ถ้าใครรู้มันก็ไม่เป็นไร นอกจากว่ามันจะเสียเวลา ถ้าเขารู้เรื่องที่จำเป็น รู้เสร็จแล้ว ปฏิบัติเสร็จแล้ว เขาอยากจะรู้เรื่องปรัชญาบ้างก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่จบ เรียกว่ามันเป็นส่วนที่เฟ้อหรือเกิน ที่นี้ถ้าจะถามว่าคนเรามันมีปัญหาส่วนที่เฟ้อหรือส่วนที่เกินด้วยหรือ ที่นี้มันก็ทำความลำบากในการที่จะตอบ เพราะว่าคนสมัยนี้มันชอบแต่เรื่องปัญหาเฟ้อ และปัญหาเกิน ไม่ชอบปัญหาที่จำเป็น มันจึงตั้งปัญหาเกินทั้งนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยเราเนี่ยไปนิยมฝรั่งซึ่งเป็นพวกที่นิยมปรัชญา เราก็พลอยเป็นนักปรัชญาหรือนักปรัชญาสมัครเล่น หรือเป็นนักปรัชญาตามก้นฝรั่งไปเลยนี่ มันก็เลยต้องเกิดปัญหาเฟ้อ หรือเกินขึ้นมาจริง ๆ ช่วยไม่ได้ ฉะนั้นไปพิจารณาดูให้ดี ที่พูดกันอยู่ที่ถียงกันอยู่ ในเรื่องอะไรก็ดี แม้จะเรื่องไม่ใช่ศาสนาก็ดี มันก็เลยเป็นเรื่องปรัชญา ในแง่ปรัชญาไปหมด มันตั้งปัญหาได้มากแล้วสนุกด้วย น่าทึ่งหรือชวนความสนใจด้วย แล้วก็ไม่ค่อยจะน่าเบื่อระอา สำหรับคนสมัยนี้ ซึ่งไม่ชอบการปฏิบัติเพื่อจะทำลายกิเลส เพราะเขารู้สึกว่าไอ้ทำลายกิเลส มันไม่สนุกนี่ มันสูญเสียความสนุกสนานความเอร็ดอร่อยไปเสีย ก็เลยหันไปทางที่ไม่ทำลายกิเลส ไม่ดับทุกข์หรือดับกิเลส ไปชอบเรื่องที่คิดแล้วมันสนุก แล้วมันได้มีชื่อเสียง ได้เป็นนักปราชญ์ เรียกว่าเป็นนักปราชญ์ ดีกว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นนักปราชญ์มันสนุกมันมีชื่อเสียง มันอยู่ในโลกด้วยความสวยงาม ถ้าเป็นพระอรหันต์มันก็หมดกิเลส หมดอะไร เขาก็รู้สึกว่ามันจืดชืดไป นี่เป็นเหตุให้คนสมัยนี้มีปัญหาเฟ้อ ก็ต้องไปหาธรรมศาสตราที่เฟ้อมา เพื่อจะตัดปัญหาเฟ้อคือปรัชญา หัวข้อของเราจึงมีว่า ปรัชญาคือธรรมศาสตราเพื่อจะตัดปัญหาที่เฟ้อหรือเกินอย่าไปสร้างปัญหาเฟ้อหรือเกินขึ้น ปรัชญาก็ไม่จำเป็น
โน้นมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งไปกันใหญ่คือ อภิปรัชญาที่เขามุ่งหมายจะให้เป็นคำแปลของคำว่า Metaphysic แค่คำว่า ปรัชญา กับ Philosophy นี่มันก็ผิดขนาดหนักแล้ว มันเป็นคนละเรื่องกันแล้ว นี่ไปอภิปรัชญา มันเลยไปต่ออีกไกลไปอีก ไปจากตัวหนังสือ โดยตัวหนังสือมันยิ่งผิดไกลไปอีก ว่าอภิปรัชญา มันจะกลายเป็นตรงกันข้ามซะด้วยซ้ำไป ข้อความที่เป็นปรัชญา เป็นอภิปรัชญา เต็มไปในอภิธรรมปิฎก ส่วนในวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก นี่มันเป็นเรื่องศาสนา แม้จะเปิดแง่ให้อธิบายกว้างไปบ้างมันก็ยังอยู่ในขอบเขต ของศาสนา ฉะนั้นถ้าอยากจะเป็นนักปราชญ์ก็ไปศึกษาเอาที่ธรรมปิฎก อยากจะเป็นพระอรหันต์ก็รีบปฏิบัติตามที่มันกล่าวอยู่ไว้ กล่าวไว้แล้วในวินัยปิฎก และสุตตันตปิฎก ก็ไม่มัวมาตั้งปัญหาอย่างที่เรียกว่า อันตคาหิกทิฐิ อันตคาหิกทิฐิ นี่ความหมายดีมาก คือ ทิฐิ ที่มันกระโดดออกไปจับ ฉวยเอาสุดโต่งข้างโน้น ข้างนี้ ข้างนั้น ข้างใดข้างหนึ่ง เขาเรียกว่า อันตคาหิกทิฐิ เช่นพวกที่หนึ่งก็จับ กระโดดไปจับเอาสุดโต่งของโลกเที่ยง ว่าสัตว์โลกเที่ยง ก็สุดตรงโน้นก็ได้ นั้นแหละ ข้างเที่ยง ที่นี้อีกพวกหนึ่งก็โดดไปข้างไม่เที่ยง มันก็เป็นสุดโต่งข้างไม่เที่ยง แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนา มันก็ออกมาในรูปว่า อิทัปปัจจยตา มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น หรือไม่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ก็ดับลง มันไม่อาจจะพูดว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไอ้คำว่าอนิจจัง สังขารไม่เที่ยง มันมีความหมายอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่ความหมายในที่นี้ที่ว่าโลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง เขาหมายถึงสุดโต่ง โลกมีที่สุด กับโลกไม่ทีที่สุด แต่พุทธศาสนาก็ยังอยู่ที่ว่า อิทัปปัจจยตา ที่เราพูดกันแล้ว พูดกันอีก โดยจะต้องไปตามเหตุตามปัจจัยโดยเฉพาะของมัน อย่าไปพูดว่ามีที่สุดหรือไม่มีที่สุด อย่าพูดว่าอันนี้หรืออันอื่น อิทัปปัจจยตา มันไม่ใช่อันนี้ มันไม่ใช่อันอื่น อย่าพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด มันมีตัวตนที่แน่นอน แล้วพูดว่าเกิดก็สุดโต่ง พูดว่าไม่เกิดก็สุดโต่ง ก็ต้องพูดว่า อิทัปปัจจยตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โดยเฉพาะของมัน หรือจะไปพูดที่กำกวมก็ไม่ถูก
ที่อยากจะให้จำคำไว้คำหนึ่งคำว่า สัจจะ นี่ สัจจะแปลว่าจริง ที่ว่าสัจจะเพื่อสัจจะ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา ยิ่งสัจจะมันมีมากแล้วมันก็สัจจะเพื่อสัจจะมันไม่รู้จบ หรือแม้จะพูดว่า ปัจเจกสัจจะ สัจจะเฉพาะคนหนึ่ง ๆ ไอ้คนนั้นมันก็สุดโต่ง ข้างใดข้างหนึ่ง เป็นพวกที่ถือว่าโลกเที่ยง หรือพวกที่ถือว่าโลกไม่เที่ยง นี่เขาเรียกว่า พวก ปัจเจกสัจจะ อันหนึ่ง คนนั้นมันไม่อาจจะถอนหรือเปลี่ยนความคิดได้ บางทีก็เรียกว่า สัจจาภินิเวส มันฝังตัวเข้าไปในความยึดมั่นถือมั่น ว่าอย่างนี้จริง อย่างอื่นไม่จริง อิทัง สัจจฺง โมขมฺนยฺง นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่าไม่จริง วิปัจจ....(1:01.55) ถึงคนที่รู้ผิดเป็นมิจฉาทิฐิ มันก็พูดอย่างนั้น ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้พูดอย่างนั้น ท่านขอร้องหรือท่านห้ามว่าพุทธบริษัทจะไม่พูดว่าอย่างนั้นอันนี้จริงอื่นไม่จริง ไม่ให้พูด วันนี้ดับทุกข์หรือไม่ดับทุกข์ เราก็พูดกันแต่ว่าจะดับทุกข์อย่างไร ไอ้นั่นนะคือจริงแล้วก็จริงอย่างเปิด ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครมามัวถามว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด หรือมันแยกไอ้ความเกิดต่าง ๆ มากออกไปอีก มากออกไปอีกอย่างที่ชอบถามกันนัก ก็รู้ไว้เถอะนั่นมันไม่ใช่ของจำเป็นมันของเฟ้อ เป็นปรัชญาออกไป ๆ แล้วก็เฟ้อ พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้ เนื้อหานั้น เป็นศาสนา ไม่ได้เป็นปรัชญา ที่นี้พวกคนบ้าปรัชญา มันไปหยิบเอาพุทธศาสนามาพูดมาอธิบายในแง่ปรัชญา มันจึงเกิดเป็นพุทธปรัชญาขึ้นมา หนังสือที่ฝรั่งแต่งพิมพ์ขึ้นมาในโลกจึงมีเป็นจำนวนมากที่ใช้ว่า พุทธปรัชญา Philosophy of Buddhism นี้มันมีมากก็เป็นเรื่องอภิธรรม เรื่องปรัชญาไป ไม่ดับทุกข์ ไปอ่านพวกนั้นสักหอบหนึ่งก็ไม่ดับทุกข์ เพราะเขาไม่ชี้ลงไปที่ความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง ซึ่งจะต้องเรียนจากจิตใจ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ที่ผมพูดนี้มันคงจะแปลกจากที่พวกคุณเคยได้ยินได้ฟัง แล้วมันจะไปค้านเปะ ๆ ปะ ๆ กันกับคนอื่นหรือครูบาอาจารย์คนอื่นเขาพูด หรือแม้นักปราชญ์คนอื่นเขาพูด แต่ผมไม่ใช่นักปราชญ์ อย่าเอาผมไปเปรียบ ในฐานะเป็นนักปราชญ์ ผมพูดไปตามที่สังเกตเห็น มันเป็นอย่างนี้ และในประเทศไทยเรา ที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ จะมีคนพูดอย่างอื่น ซึ่งไม่ตรงกับอย่างนี้ เช่นพูดว่า พุทธศาสนาเป็นปรัชญา อย่างนี้เป็นต้น มันมีปัญหาลำบากตรงที่ภาษาต่างประเทศ ถ้าเป็นศาสนามันก็ตรงกับคำว่า Religion ที่นี้บางคนเขาไม่ยอมให้พุทธศาสนาเป็น Religion เพราะว่า Religion ต้องมีพระเจ้า ปัญหาก็ไปอยู่ที่คำว่าพระเจ้านั้นคืออะไร ถ้าพูดอย่าง บุคลาธิษฐาน เหมือนรูปภาพเขียน อย่างนั้นในพุทธศาสนาก็ไม่มีพระเจ้าจริง ๆ เหมือนกัน แต่นั่นเป็นเพียงกฎที่ตายตัว ที่ทำให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องความทุกข์ กับความดับทุกข์ อย่างนี้ กฎนี้ก็มีในพุทธศาสนาในฐานะเหมือนกับพระเจ้า เพราะที่ถูกนั้นต้องว่าเอาเอง ถึงพวกที่เขาเรียกตัวเขาว่า Religion คือศาสนา คือเขาเรียกตัวเขาว่า Religion หรือศาสนาที่เป็นเจ้าของภาษานี้ เขาสงวนไว้ไม่ให้เอาคำนั้นมาใช้กับพุทธศาสนา หรือว่าอย่างผิด ๆ คำว่า Religion ไปดูให้ดี ตัวหนังสือมันก็แปลว่าการปฏิบัติที่ทำให้เกิดความผูกพันกับพระเจ้า หมายถึงภาวะที่ไม่มีความทุกข์ เพราะการปฏิบัติที่ทำให้เกิดความผูกพันกัน ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุด คือพระเป็นเจ้า ที่นี้เราก็จะเอาสิ่งสูงสุด นั้นไม่ใช่เป็นพระเจ้าหนวดขาวถือไม้เท้า หมายถึงความดับทุกข์ได้ ความที่มนุษย์ขึ้นสู่สภาพสูงสุด ไม่มีความทุกข์เลย ให้มนุษย์ผูกพันกับสิ่งนั้นได้ จะเรียกว่านิพพาน หรือว่าอะไรก็สุดแท้ เมื่อมันมีการปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ถึงสิ่งนั้นการปฏิบัตินั้นก็เรียกว่า Religion ได้ ถ้างั้นพุทธศาสนาก็เป็น Religion ได้ และก็ถูกกว่าที่จะเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นปรัชญา คือ Philosophy นี่ถ้าคุณเข้าใจคำที่ผมพูดเหล่านี้คงจะมีประโยชน์ เพราะต่อไปจะต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ โดยทางคำพูดก็ตาม โดยทางหลักธรรมะก็ตาม ทีนี้ถ้าใครมีโชคดีได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ในอนาคต ก็ยิ่งแน่นอน ที่จะต้องเผชิญหน้ากับพวกฝรั่ง ที่เขายึดมั่นในคำพูดบ้าง ในหลักอะไรบ้าง ก็ตีกันยุ่งไปหมดแหละ แต่เพื่อจะสางปัญหาเหล่านี้ ก็ต้องถือตามอย่างที่ว่านี้ ปรัชญาหรือ Philosophy ก็สัจจะเพื่อสัจจะทั้งหลายเลย สัจจะมันมากเพื่อประโยชน์กับสัจจะ ถ้าเป็นศาสนาก็สัจจะเพื่อประโยชน์แก่ความดับทุกข์ของมนุษย์ แล้วมีข้อเดียวเท่านั้น งั้น Philosophy มันจึงเป็นเรื่องเฟ้อ สำหรับคิดกันอย่างเฟ้อ ๆ แล้วเกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นปัญหาเฟ้อ มันก็ต้องตัดด้วยสิ่งที่เฟ้อด้วยกัน นี่หัวข้อในวันนี้จึงมีพูดว่า พุทธปรัชญา ธรรมศาสตราเพื่อปัญหาที่เฟ้อหรือเกิน นี่ใช้คำว่าพุทธปรัชญา ซะเลยดีกว่าจะใช้คำว่า ปรัชญาเฉย ๆ ถ้าใช้คำว่า ปรัชญาเฉย ๆ ทิ้งค้างไว้แล้วคนเขาก็จะเข้าใจไปว่า พุทธปรัชญานี้ไม่เฟ้อ แต่นี่เขากำลังยืนยันว่าแม้พุทธปรัชญาก็เป็นเรื่องที่เฟ้อ หรือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอภิธรรมปิฎก นี่ คือความรู้ที่เฟ้อหรือเกิน คิดว่าบุคคลเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่ยอมเรียน เพราะมันเกินความจำเป็น เอาละวันนี้เอาพูดกันถึงเรื่องที่มันไม่เป็นสาระใช่ไหม ผมบอกตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเรื่องที่มันเพ้อเจ้อ ไม่ค่อยมีสาระอะไร แต่มันจะมีประโยชน์สำหรับการที่จะต้องเผชิญหน้ากัน ถกเถียงกัน เกี่ยวกับปัญหาที่มันเนื่องด้วยคำพูด เพราะฉะนั้นถ้าเราจะศึกษาศาสนาก็ศึกษาไปในรูปของศาสนา ถ้าจะศึกษาปรัชญา ก็ศึกษาไปในรูปของปรัชญา เพราะสิ่งที่เรียกว่าปรัชญานั้นเอาไปใช้ศึกษาอะไรได้ทั้งนั้น แล้วมันจะเกินทั้งนั้น เช่นว่าเราจะต้องกินอาหาร ถ้าเราศึกษากันในแง่ของวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ในแง่ของศาสนา นี่เราก็จะกินอย่างไรให้มันดีที่สุด แต่ถ้าปรัชญาแล้วมันก็เฟ้อไปละเอียดไปออกไปไปจนไม่ได้กิน จนไม่ได้ทำนากิน ก็เป็นอันว่า ไอ้สิ่งที่มันจะสำเร็จประโยชน์ได้คือการประพฤติปฏิบัติ ที่เรียกว่า พรหมจรรย์ หรือที่เรียกว่าศาสนา อันนี้ไม่ใช่ปรัชญา แต่ว่าอาจจะเอามาศึกษาอย่างปรัชญาก็ได้ คือผู้ที่ชอบคิดให้ลอดลงไปลึก ๆ จากที่ตาธรรมดาเห็น ให้ละเอียดไปทุกแง่ทุกมุม จนกระทั่งเฟ้อ คือไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่เรียกว่าปรัชญาจะเป็นอย่างนั้น แล้วพอกันที่สำหรับวันนี้