แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวัน เราได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ กันมาพอสมควรแล้ว แล้วก็เริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมในภาษาไทย หรือว่าธรรมะในภาษาบาลี การที่เริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ก่อน ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่เรากำลังจะต้องประพฤติ โดยเฉพาะพวกที่พึ่งจะบวชใหม่ มีความเหมาสมอย่างยิ่งที่จะรีบรู้จักสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ เพราะว่าเราจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ให้ทันแก่เวลาที่จำกัด นั้นขอให้สนใจในเรื่องนั้น พยายามปฏิบัติให้ได้อย่างน้อยที่สุดก็โดยนัยยะ ลักษณะ หลักเกณฑ์อะไรต่างๆ อย่างที่ได้พูดมาแล้ว
แล้วทีนี้ก็จะได้อธิบายต่อไป เพื่อเห็นชัด เนื่องกันไป ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์นั้น เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้อย่างไร สิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ ในบางทีก็เรียกว่า ธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ก็คือประพฤติธรรมนั่นเอง ไปประกาศพรหมจรรย์ก็คือไปประกาศธรรม แต่ด้วยเหตุที่ว่าคำว่า ธรรม นี้กว้าง อย่างที่ได้กล่าวให้ฟังมาแล้วในครั้งที่แล้วมานี่เอง ก็อยากให้เข้าใจต่อไป ในสิ่งที่เรียกว่าธรรม ที่มันกว้างขวางไม่ยกเว้นอะไร จะได้เข้าใจสิ่งนี้ไปจนตลอดชีวิตด้วย เกี่ยวกับภาษาที่ทำให้ลำบากถ้าจะไปโทษใครก็ไม่ได้มันเป็นอย่างนั้นเอง คำว่าธรรม หมายทุกสิ่ง แล้วมันก็รวมสิ่งที่สูงสุดหรือน่ากลัวที่สุด เฉียบขาดตายตัวที่สุด อย่างที่เรียกว่า พระเจ้า หรือพระเป็นเจ้านั้นแล้วไว้ในความหมายคำๆ นี้ ความหมายในภาษาไทย ความหมายในภาษาบาลีหรือภาษาอื่นๆ มันไม่ค่อยจะตรงกัน ไม่ค่อยจะไปตามลำดับเดียวกัน เดี๋ยวนี้เราเป็นคนไทยรู้คำว่าธรรมในภาษาไทย เดี๋ยวนี้เราเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ก็จะต้องรู้ คำว่า ธรรม ในพุทธศาสนา นอกจากจะรู้สำหรับปฏิบัติตามหน้าที่ ก็ยังจะต้องรู้ให้ครบต่อไป ตามความหมายทุกความหมายของคำว่า ธรรม คำนี้
เท่าที่พูดมาแล้วก็พอจะสังเกตได้เองว่า ไอ้คำๆ นี้มันยืดหยุ่นได้ มีความหมายที่กว้าง แคบ ตื้น ลึก ตามกรณี และยังเป็นคำกลางที่สุด ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ หรือดีชั่วก็ได้ อย่างกุศลธรรมนี่ก็ธรรมะฝ่ายดี อกุศลธรรมะก็ธรรมะฝ่ายดี เอ้อ, ฝ่ายไม่ดี อัพยากฤตธรรม คือธรรมะที่ไม่มีใครอาจจะกล่าวได้ว่าดีหรือไม่ดี ก็รวมความว่าเป็นธรรมชาติ แล้วแต่จะบัญญัติกัน ธรรมชาติอย่างนั้นลักษณะอย่างนั้นบัญญัติว่าดีหรือเป็นกุศล อย่างนี้เรียกไม่ดี เป็นอกุศล และบางอย่างก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี เลยต้องเรียกว่าไม่ได้บัญญัติไว้ว่าดีหรือไม่ดี สิ่งทั้งปวงมันมีอยู่อย่างนี้คุณเข้าใจเรื่อยๆ ไปตามลำดับ ให้รู้ว่าคำว่าธรรม นี้หมายถึง สิ่งที่ไม่ดีก็ได้ แล้วหมายถึงสิ่งที่กล่าวไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีก็ได้ ที่พูดนี้ก็กลัวว่าจะเคยได้ยิน แต่คำว่าธรรม แล้วก็ต้องดี นั่นมันธรรมในความหมายที่แคบ บัญญัติไว้เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นี้ก็จะเกิดฉงนตรงคำว่าอธรรมเข้ามาอีก อธรรมก็แปลว่าไม่ใช่ธรรม ตรงกันข้ามกับธรรมคือเป็นธรรม นี้เป็นธรรม นี้เป็นอธรรม แต่แล้วก็ให้รู้ว่าในภาษาบาลีเดิมนั้น อธรรม นั้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งเหมือนกัน คือธรรมที่มันไม่ใช่ธรรมในความหมายโน้น ตามปกติก็หมายถึงธรรมดำ ธรรมเฉยๆ ในกรณีอย่างนี้ก็หมายถึงธรรมขาว ธรรมะขาว อธรรมนี่หมายถึงธรรมะดำ จะมีธรรมะหรือสิ่งอะไรที่มันบัญญัติไม่ได้ว่าขาวหรือดำ ก็ต้องเรียกว่าธรรมอีกเหมือนกัน ธรรมที่ไม่ดำไม่ขาว เช่นเดียวกับกุศล อกุศล และอัพยากฤต แต่เรามักจะได้ยินกันแต่ว่าอธรรม อธรรม อันนี้เป็นอธรรม ก็มีแต่เข้าใจว่านี้ไม่ใช่ธรรม ถูกแล้ว ไม่ใช่ธรรมในการบัญญัติเกี่ยวกับศีลธรรม แต่มันก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งในบรรดาธรรมชาติทั้งหลาย คำว่าธรรมในความหมายที่เล็งถึงธรรมชาติทั้งหลายนี้นะกว้างไม่ยกเว้นอะไร
ทีนี้ก็จะเลยถือโอกาสพูดกันในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมชาติ แม้จะพูดว่าธรรมคือธรรมชาติทั้งหลายนี้ก็ยังไม่หมด ยังมีอะไรเหลืออยู่ นอกจากนั้นไปอีก ก็ลองตั้งใจฟังดูให้ดี ก็โดยอาศัยหลักธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักตามธรรมชาติ ได้เคยบอกให้ฟังแล้วคราวก่อนว่า คำว่าธรรม นี้แปลว่า ธรรมชาติก็ได้ แปลว่าธรรมดาก็ได้ ธรรมะเฉยๆ แปลว่าธรรมดาก็ได้ แปลว่าธรรมชาติก็ได้ แปลว่าธรรมะธาตุ ธรรมะทาสนั้นก็ได้อีกหลายๆ คำ ค่อยๆ รู้ไปตามลำดับ
ในวันนี้พูดเฉพาะถึงเกี่ยวกับธรรมชาติ สำหรับคำว่าธรรมชาตินั้น มันหมายถึง เป็นอยู่เอง ธรรม-มะ-ชา-ติ เกิดอยู่เป็นธรรมดา ก็เป็นสิ่งที่เป็นอยู่เอง และก็กำลังเป็นไปเอง คือเปลี่ยนแปลง ด้วย คำว่าเป็นอยู่เอง นี่หมายถึง มันเปลี่ยนแปลงไปด้วยก็เรียกว่าเป็นอยู่เอง ไอ้การเปลี่ยนแปลงนี้แหละคือ การเป็นอยู่ของมัน มันเป็นอยู่เองก็หมายความว่ามันเปลี่ยนแปลงเอง ตามกฎที่มันต้องเปลี่ยนแปลง นี่ก็เรียกว่าธรรมชาติหรือสิ่งที่เกิดอยู่เป็นธรรมดา เกิดอยู่เอง ที่มันมีแง่ หลายแง่ที่เราจะมองดูจากสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติหรือว่าที่มันเกี่ยวกันอยู่กับธรรมชาติ ผมได้สังเกตมานักหนาแล้วค้นมานักหนา จากพระบาลีต่างๆ ที่เป็นหลัก ตลอดถึงวิชาความรู้ที่มันนอกพุทธศาสนาออกไปเป็นหลักแม้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ในที่สุดก็พบว่า สำหรับความหมายของคำว่า ธรรม เพียงคำเดียว ถ้าเราจะดูกันในเค้าใหญ่ๆ หรือประเภทใหญ่ๆ ควรจะแยกออกเป็น ๔ ประเภท และจะมีประโยชน์ที่สุดในการที่จะใช้หลักเกณฑ์อย่างนี้ จะใช้ได้ทั่วไปหมดทั้งในทางศาสนาหรือไม่เกี่ยวกับศาสนา แล้วก็ลองพยายามทำความเข้าใจจากที่ผมจะพูดให้ฟัง แล้วก็จำไว้ให้ดีๆ จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ตลอดชีวิตก็ได้ ในทุกอย่างทุกหน้าที่การงาน
คำว่า ธรรม ในความหมายที่ ๑ ที่เราเล็งถึงไอ้ตัวธรรมชาตินั่นเอง คือธรรมที่เกิดอยู่เองเป็นอยู่เอง ๑ คือ ตัวธรรมชาตินั่นเอง ถ้าจะเรียกให้เป็นภาษาในพุทธศาสนายิ่งขึ้นไปอีกก็เรียกว่า สภาวธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นอยู่เอง นี่หมายถึงทุกสิ่งที่เราจะรู้จักมันได้หรือยังไม่รู้จักก็ตามใจ แต่มันเป็นสิ่งที่มีปรากฏการณ์ มีลักษณะ มีอะไรอยู่ เรียกว่า ตัวธรรมชาติทั้งหลาย
ที่นี้อันที่ ๒ ก็คือ กฎของธรรมชาติ ที่มีประจำอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ก็นึกหาคำอื่นที่ดีกว่า คำว่า สัจธรรมนี้ไม่ได้ ก็เลยเอาคำว่า สัจธรรม ธรรมะคือ สัจจะหรือความจริงที่เป็นกฎ มาเป็นชื่อของกฎธรรมชาติ นี่หมายถึงกฎธรรมชาติทั่วไปที่มันจะต้องมีอยู่ในสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ
อันที่ ๓ ต่อไปอีกก็คือว่า หน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติ ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ นี้ก็เรียกว่าธรรมเหมือนกัน หน้าที่ ตัวหน้าที่ นั่นก็เรียกว่าธรรม หน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ อย่างนี้ก็จะเรียกว่า ประติปฏิธรรม ธรรมะคือการปฏิบัติ
อย่างสุดท้ายที่ ๔ ก็คือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ย่อมมีผลเกิดขึ้นโดยสมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่เสมอ นี้เรียกว่าวิปากธรรม วิ-ปา-กะ-ธรรม หรือวิบากธรรม แล้วแต่จะใช้คำไหน คือธรรมะที่มันเป็นผลออกมา วิปากะ นั้นแปลว่าสุก เหมือนหุงข้าวให้สุก หรือผลไม้อะไรก็ตามทำให้สุกนี่ก็เรียกก็ว่าวิปากะ ปริปากะ(นาทีที่16.12) แล้วแต่จะเรียกคือมันสุกออกมา เรียกว่าวิปากธรรม
ถ้าดูในแง่ของธรรมชาติ ก็จะพบว่า ๑ คือตัวธรรมชาติ ๒ คือตัวกฎของธรรมชาติ ๓ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ๓ คือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าดูที่ตัวคำว่าธรรมก็จะได้เป็นว่า ๑ คือสภาวธรรมเป็นอยู่เอง ๒ สัจจะธรรม ธรรมที่เป็นสัจจะคือกฎ ๓ ปฏิธรรม ธรรมคือการปฏิบัติ ๔ วิปากธรรม คือ ธรรมที่เป็นผลออกมาจากการปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติโดยตรง มันจึงกว้างขวางจะเกี่ยวกับศาสนาก็ได้ ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ นี่เราจะมาดูกันให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุด แล้วเรื่องต่างๆ ต่อไปมันจะง่าย ดูความสัมพันธ์กันก่อน เจ้าตัวธรรมชาตินี่คือ ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่มีลักษณะปรากฏ ในปรากฏอย่างโดยตรง ปรากฏอย่างโดยอ้อม ปรากฏอย่างเห็น ปรากฏอย่างไม่เห็น ตัวธรรมชาติ นี้ในธรรมชาติทั้งหลายมันต้องมีกฎของมัน มันจึงได้เป็นไปตามกฎนั้น เช่นว่า สิ่งที่เห็นกันอยู่ง่ายๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ท้องฟ้า อากาศ ลม ไฟ อะไรก็ตาม เรียกว่าเป็นธรรมชาติ และในตัวธรรมชาตินั้นมีกฎเกณฑ์ที่มันจะต้องเป็นอย่างนั้น กฎนั้นจะมาจากไหนก็สุดแท้ แต่มันมาบังคับอยู่ที่สิ่งเหล่านั้นต้องถือว่าในสิ่งเหล่านั้นมีกฎที่มันจะต้องเป็นไปตามกฎนั้นๆ ในกฎทั้งหลายนั้นมันก็มีความลึกลับ ถ้าจะไปศึกษากฎเหล่านี้มาจากไหน มันก็เป็นเรื่องปรัชญาไปเลยหรือมากไป เอาแต่เพียงว่าในธรรมชาติทั้งหลายมันมีกฎที่ต้องเป็นไปตามนั้น ในตัวธรรมชาติ กับกฎของธรรมชาติ ก็เป็นของที่เนื่องกัน มันแยกกันไม่ได้ เป็นเนื้อหนังร่างกายเราเป็นธรรมชาติ แล้วกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้มันมีความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียน มันมีอันกฎหนึ่งบังคับอยู่ แล้วมันเป็นส่วนกฎของธรรมชาติ ทีนี้เพราะมันมีกฎอย่างนี้ตายตัวอย่างนี้ไม่มีใครต่อสู้ได้ ต้านทานมันได้ มันเป็นกฎเหมือนกับพระเจ้า ก็เลยเกิดหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎ เกิดหน้าที่ขึ้นมาว่าจะต้องปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเรียกว่าหน้าที่ก็แล้วกัน ใครอยากจะปฏิบัติอย่างไรก็ลองดู ....(นาทีที่20.01)
กฎของธรรมชาติ มัน มันทำให้เกิดหน้าที่ขึ้นแก่สิ่งที่มีชีวิต คือสิ่งที่มีความรู้สึก รู้สึกขนาดเป็นคนก็ได้ รู้สึกขนาดเป็นต้นไม้ พืชพันธุ์นี่ก็ได้ ถ้ามันมีอะไรอีก เล็กไปกว่าจะนั้นเป็นเซลล์ เซลล์หนึ่งที่ประกอบกันเป็นเนื้อหนังของสัตว์ของคนของต้นไม้ ในบรรดาสิ่งที่เรียกได้ว่ามีชีวิต แม้แต่เป็นเซลล์เดียวมันก็ มันต้องมีหน้าที่ที่มันจะต้องทำให้ถูกตามกฎ มิฉะนั้นมันจะต้องตาย ถึงแม้ว่ามันทำถูกตามกฎที่ทำให้ไม่ต้องตายนั้นแล้ว มันยังมีกฎอะไรบางอย่างเหลืออยู่อีก เช่นว่า ต้องไม่เป็นทุกข์อีก ต้องไม่มีความทุกข์อีก นี้คือการปฏิบัติธรรม อันนี้เองคือ การปฏิบัติธรรมอันที่เป็นความมุ่งหมายในศาสนา ส่วนปฏิบัติให้ถูกตามกฎเพื่อที่จะให้มีชีวิตรอดอยู่ทางเนื้อหนังร่างกายนี้ มันก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งสัตว์มันก็ต้องรู้ ไม่รู้มันก็ตาย จะต้องหาอาหารกิน ต้องทำต่างๆ ที่ให้รอดชีวิตอยู่ได้ จะรอดชีวิตอยู่ได้แล้วยังมีปัญหาคือความทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติในไอ้ส่วนนี้อีกทีหนึ่ง เพื่อให้รอดจากความทุกข์อีกทีหนึ่ง ปฏิบัติธรรมในขั้นนี้ก็เป็นตัวศาสนาโดยตรง ส่วนปฏิบัติธรรมเพียงให้ชีวิตรอดอยู่ได้ ของคน ของสัตว์เดรัจฉาน ของต้นไม้ของอะไร มันก็ต้องมีการต่อสู้โดยการปฏิบัติ ก็เรียกว่าของธรรมชาติ ไปตามหน้าที่ที่ธรรมชาติมันบังคับโดยตรง ถึงแม้ว่าเราทำมากไปกว่าที่ธรรมชาติชนิดนั้นบังคับ ก็หมายความว่ามันเลื่อนมาสู่ธรรมชาติชั้นสูง คือธรรมะชั้นละเอียด ชั้นจิต ชั้นวิญญาณ มันบังคับอยู่เราก็ต้องทำอีกเหมือนกัน ต้องปฏิบัติอีกเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่แต่มีปัญหามาก คือมีความทุกข์ทางจิต ทางวิญญาณ อันนี้ก็หน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่เรียกว่าปฏิบัติ ติ ธรรม หน้าที่นี้คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เพราะมันเนื่องกันมาเลย เพราะมีกฎของธรรมชาติ จึงมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ที่นี้พอปฏิบัติหน้าที่แล้วก็มาถึงอันที่ ๔ ที่เรียกว่าจะเกิดผลจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะการปฏิบัตินั้นมันจึงมีผลเกิดขึ้น ส่วนนี้เรียกว่าผลที่ได้รับ หรือวิปากธรรม การปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วผลก็ย่อมเกิดขึ้น ตามสมควรแก่การปฏิบัตินั้น นี่เรียกว่าธรรมอีกเหมือนกัน ธรรมที่เป็นผล ถ้าปฏิบัติผิดก็ได้ผลสมแก่การปฏิบัติผิด ถ้าปฏิบัติถูกก็ได้ผลสมแก่การปฏิบัติถูก ถ้าถามว่าผิดถูกนั้นคืออย่างไร นี้มันเป็นเรื่องของมนุษย์บัญญัติ มนุษย์บัญญัติกันว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก ก็ย่างนั้นแหละคือผิด คือถูก ก็ตัวธรรมชาติเองนั้นมันไม่มีผิดมีถูก มันเพียงแต่ถ้าทำลงไปอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าทำลงไปอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ โดยสมควรแก่การกระทำเสมอ นั่นเรียกว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติมันไม่มีความรู้สึกผิดถูกหรืออะไร
ที่ว่าผิดว่าถูกนี้เราบัญญัติกัน ในหมู่มนุษย์ แล้วยิ่งละเอียดปราณีตในการบัญญัติ คือถือเอาคนฉลาดหรือผู้รู้ หรือวิญญูชนนี้เป็นหลักทีแรกนะ ว่าผู้นี้เขาเคยมีความรู้มากเห็นโลกมานานรู้อะไรเป็นอย่างไร ในที่สุดก็แบ่งแยกว่าเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ถ้าไปเกิดถามว่าประโยชน์คืออะไรโทษคืออะไร นี่ก็ค่อยง่ายขึ้นไปอีกนิด ไอ้ประโยชน์คือว่าทุกๆ คนก็ชอบตามธรรมชาติ โทษนั้นมัน มันลำบากเป็นอันตราย เป็นทุกข์ ทุกคนก็ไม่ชอบ นั้นไอ้ความผิดถูกนี้ควรจะเอาไอ้ตรงนี้เป็นหลัก ถ้ามันไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็เรียกว่าถูก ถ้าทำให้คนเดือดร้อน ตัวเองก็ตามผู้อื่นก็ตาม เรียกว่าไม่ถูก ดีชั่วในชั้นนี้ก็บัญญัติกันอย่างนี้ นี่เรียกว่าบัญญัติโดยคนโดยมนุษย์ บัญญัติว่าดีชั่ว ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ไม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว ที่ว่าดีหรือชั่วนี่ ไม่จำเป็นจะต้องมาตั้งปัญหาทางปรัชญาให้ยุ่งยากลำบาก ว่าดีแน่หรือ ชั่วแน่หรือ อะไรนี้มันไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องปรัชญาเพ้อเจ้อ ปรัชญาชชนิดที่ว่าเพื่อปรัชญา เอาตามความรู้สึกของมนุษย์ ถ้าทำให้ไม่มีใครเป็นทุกข์ เราก็ไม่เป็นทุกข์เขาก็ไม่เป็นทุกข์ ก็ต้องเรียกว่าดี ดี คือไม่เบียดเบียนกัน จนกระทั่งไม่เป็นทุกข์กันจริงๆ เรียกว่าพ้นดีพ้นชั่วนั่นไปอีก เดี๋ยวนี้เอากันว่าอยู่ในสังคมในโลกนี้ถ้าไม่เป็นทุกข์ด้วยกันทุกฝ่ายก็เรียกว่านี้ถูก หรือดี หรือเป็นกุศล แต่ถ้ามันทำให้ใครเป็นทุกข์เข้า ก็เรียกว่าชั่ว หรือบาป หรือ ชั้นโลกๆ บัญญัติกันอย่างนี้ แต่ถ้าสูงขึ้นไปอีกก็จะไม่ไม่บัญญัติว่าดีหรือชั่ว จะบัญญัติว่าเหนือดีเหนือชั่ว คนเขามองเห็นสูงขึ้นไป จะไม่มีจิตใจมามัวดีมัวชั่ว มาพะวงกับเรื่องดีเรื่องชั่ว จิตใจอย่างนี้อยู่เหนือดีเหนือชั่ว ก็เรียกว่านอกโลกไปเสียเลย
คำว่า นอกโลก หรือโลกุตระ หมาย พ้นการบัญญัติว่าดีว่าชั่ว ทีนี้ในฝ่ายในโลกหรือที่ว่าโลกียะ คืออยู่ในวิสัยโลกนี้จะมีการบัญญัติว่าดีบ้างว่าชั่วบ้าง ไม่บัญญัติได้ว่าดีหรือชั่วบ้างก็มีเหมือนกัน แต่ถ้าเหนือโลกแล้วไม่บัญญัติได้ว่าดีหรือชั่วอย่างเดียว เพราะมันสูงขึ้นไปจากที่บัญญัติว่าดีว่าชั่วอีกทีหนึ่ง จะไปถึงหรือไม่ถึงก็ตามใจเถอะ แต่รู้ไว้ก็ได้ เรื่องดีเรื่องชั่วนี้อยู่กันในโลกนี้ อย่างนี้บัญญัติกันว่าดี ใครทำเข้ามันก็ดีไม่มีปัญหา เขาบัญญัติไว้แล้วว่า อย่างนี้เรียกว่าดี ดีคือทำอย่างนี้ พอไปทำเข้ามันก็ต้องดีทั้งนั้น อย่างนี้บัญญัติกันไว้เองแล้วว่านี้ชั่ว ชั่ว พอไปทำเข้ามันก็ชั่วไม่ต้องรอว่าจะได้ดีหรือได้ชั่วต่อที่ไหนเมื่อไรอีก ไม่ ไม่ต้อง นั่นมันพูดโง่ๆ เขลาๆ เป็นเหตุให้ไม่เข้าใจได้ว่า ทำดี ดีทำชั่ว ชั่วเพราะเขาไปเอาเงินเอาชื่อเสียงเอาอะไรโน่นว่าเป็นดี หรือเป็นชั่ว เพราะไม่ได้เงิน ไม่ได้อะไรต่างๆ
เมื่อทุกคนมันก็ยอมรับว่าทำอย่างนี้เรียกว่าชั่วว่าผิด พอทำลงไปมันก็เป็นคนชั่วและคนผิด ไม่ต้องรอแม้แต่อึดใจเดียว พอทำเสร็จก็ชื่อว่าเสร็จ ดีเสร็จ การตัดสินวิบาก ผลกระทำของการกระทำนี่ต้องตัดสินอย่างนี้ ส่วนที่ว่าจะเป็นเหตุให้ได้เงินหรือได้ชื่อเสียงหรือไม่นั้น อีกเรื่องต่างหาก เรื่องที่หลัง เรื่องมันไปเกี่ยวกับสังคม ไปเกี่ยวกับอะไรต่างๆ แล้วมาทีหลัง แล้วไม่แน่ ทำดีก็ดีเสร็จแล้ว ทำชั่วก็ชั่วเสร็จแล้ว ทันทีทันควันเลย จะได้เงินหรือไม่ได้เงินได้เกียรติหรือไม่ได้เกียรตินั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง มันไปเกี่ยวข้องกับสังคม เกี่ยวข้องอะไรกันยุ่งไปหมด แล้วเอาแน่ไม่ได้ เพราะว่าทำดี ดีเสร็จแล้วนี่ได้เงินก็มีไม่ได้ก็มี ทำชั่ว ชั่วเสร็จแล้วนี่กลับได้เงินก็มี กลับไม่ได้เงินก็มี ไม่ได้เกียรติก็มี ได้เกียรติก็มี ทั้งทำดีและทำชั่วนั้นเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนมากมันก็เกี่ยวกับข้างนอกออกไปจากจิตใจหรือไปเกี่ยวไปถึงสังคม คนชั่วมันได้เงินก็มี ได้เกียรติก็มี แล้วก็ไม่ได้ก็มีเหมือนกัน คนดีมันก็ได้เงินก็มี ได้เกียรติก็มี แล้วไม่ได้ก็มีเหมือนกัน มันแล้วแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องแวดล้อมกันอยู่ แต่ว่าโดยหลักทั่วไปแล้วมันก็ต้องเป็นไปในทางที่เรียกว่า ทำดีแล้วก็ต้องได้ดีแล้วก็จะต้องได้เงินได้ของที่ควรปรารถนาด้วย ทำชั่วก็เหมือนกันมันก็ได้ชั่วแล้ว มันก็จะต้องได้สิ่งที่ไม่ควรปรารถนาด้วย แม้ว่าได้เงินมาก็เป็นเงินเลว เงินชั่ว เงินทุจริต เงินที่มาทำให้คนนั้นมันเลวยิ่งขึ้นไปอีก อย่าเข้าใจว่าเงิน เงินแล้วมันจะดีเหมือนกันไปหมด คนที่ได้เงินเลวมากินมาใช้บ่อยๆ นิสัยใจคอมันก็เลวลงๆ แล้วก็เลวจนวินาศ คนดีได้เงินดีมากินมาใช้อยู่ มันก็ไม่เป็นไร เพราะมันมีนิสัยดีทำแต่ดีก็ไม่วินาศ แล้วก็อย่าไปเชื่อว่ามันจะต้องได้ทุกทีไป มันได้ก็มี ไม่ได้ก็มี ทั้งเงินทั้งเกียรติ
นี่เรื่องของวิบากธรรมมีหลักง่ายๆ อย่างนี้ เว้นไว้จิตใจมันจะสูงไปถึงว่า ดีก็ไม่เอาชั่วก็ไม่เอา มันจะพ้นวิบาก พ้นวิบากทั้งหลายทั้งหมด อยู่เหนือวิบาก เป็นโลกุตระเป็นเรื่องของการบรรลุมรรค ผลนิพพาน นั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาปอะไร เรื่องได้เรื่องเสียอะไรปล่อยไปหมด เดี๋ยวนี้เรียกว่าอยู่ในโลกนี้ก็ยังมีเรื่องดีชั่ว แล้วก็ผลดีผลชั่ว ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าวิปากธรรม ถ้าตามธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีดี มีชั่ว ดีชั่วนี้มนุษย์บัญญัติ แต่มันก็ต้องต่างกันแหละ ที่เรามาบัญญัติว่าดีว่าชั่วแยกกันนี่เพราะมันต่างกัน อย่างหนึ่งมันทนไม่ค่อยไหว ก็ว่าชั่ว ไอ้อย่างหนึ่งมันสนุกดี ก็เรียกว่าดี
นี้ขอให้เข้าใจให้ดีเพียง ๔ คำนี้ ตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง รวมเป็น ๔ อย่าง ทั้ง ๔ อย่างนี้ เรียกว่า ธรรม เสมอกันหมด เป็นสามัญนามว่า ธรรมเสมอกันหมด แล้วก็มีคุณนามมาประกอบเข้าเรียกว่าสภาวธรรมบ้าง สัจจะธรรมบ้าง ปฏิบัติติธรรมบ้าง วิปากะธรรมบ้าง ชื่อเหล่านี้ยังมีชื่ออื่นเรียกอีกผมไม่เอามาทำให้มันรุงรังแก่การจดจำของคุณ เอาไอ้ที่เขาใช้กันอยู่โดยมากมาเพียง ๔ คำ ตัวธรรมชาติ เรียกว่าสภาวธรรม ตัวกฎธรรมชาติ เรียกว่า สัจจะธรรม ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ เรียกว่า ปฏิบัติติธรรม ผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ก็เรียกว่าวิปากธรรม คำที่จะต้องจำเป็นไทยๆ ก็ ตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ตัวผลที่จะเกิดจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ถ้าชอบภาษาบาลีก็สภาวะธรรม สัจธรรม ปฏิบัติติธรรม วิปากธรรม เพียงเท่านี้ก็จะค่อยเห็นได้รางๆ ว่า ไอ้ตัวธรรมชาตินี้ก็เรียกว่าธรรม
คำว่า ธรรม แปลว่า ธรรมชาติ นั้นทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นธรรมชาติ หรือเกี่ยวกับธรรมชาติหมด ขอให้มองเห็นไกลออกไปลึกลงไป ไอ้เรื่องธรรมะเรื่องศาสนาเรื่องไอ้ที่บัญญัติต่างๆ นี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ตรัสรู้เรื่องธรรมชาติ ตรัสรู้เรื่องสภาวธรรม เรื่องสัจจะธรรม เรื่องปฏิบัติติธรรม เรื่องวิปากธรรม หรือมีชื่ออย่างอื่นอีกก็ได้ รู้ธรรมชาติ เพราะว่าท่านไปบังคับธรรมชาติไม่ได้ นั้นต้องรู้เรื่องของธรรมชาตินั่นเอง รู้ว่าในแง่ไหน มุมไหน วิธีไหน วิธีใดเราจะได้ธรรมชาติที่ไม่เป็นความทุกข์ ธรรมชาติที่เราทนไหวหรือว่าที่เรารู้สึกว่าเป็นสุข แล้วก็มีความรู้ในส่วนนี้ให้มันพอ กระทั่งว่าให้มันหมดปัญหาไปเลย ไม่มีปัญหาเรื่องสุขเรื่องทุกข์กันไปเลย บรรลุมรรค ผล นิพพาน
พุทธศาสนาจึงเป็นหลักวิชาที่เป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว แล้วมันก็ไม่ผิดทางหลักของตรรกะ หรือ logic หรืออะไรต่างๆ เพราะมันไปตามกฎของธรรมชาติ นี่มันจึงได้เปรียบศาสนาอื่น ที่เขาจะพูดโดยถ้อยคำที่ไม่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่นพูดเป็นพระเจ้า เป็นอะไรขึ้นมา ต้องแปลความอีกทีหนึ่ง แปลไม่ถูกก็เลยเถียงกันใหญ่ ทะเลาะวิวาทกัน เดี๋ยวนี้ศาสนาที่เขามีพระเจ้ากัน เขาเคร่งกันถึงขนาดไม่ยอมให้เราพูดว่าไอ้ที่คุณเรียกว่าพระเจ้านั้นคือกฎธรรมชาติ อย่างนี้เขาก็ไม่ยอม เขาจะเป็นพระเจ้าเป็นคนเป็นอะไรขึ้นมา ก็น่าหัวมากขึ้น คนก็ไม่เชื่อก็เกิดปัญหาปั่นป่วนขึ้น เป็นศาสนาที่ลำบากมากที่จะอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์หรือนักธรรมชาติวิทยาอย่างลึกซึ้ง ส่วนพุทธศาสนานี้ไม่ต้องรับความลำบากอันนี้เพราะตั้งรากฐานลงไปบนธรรมชาติ บนกฎของธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งอยู่กับธรรมชาติ คุณควรจะจำหลักอันใหญ่นี้ไว้ เพราะว่าจะต้องไปพบปะกับไอ้พวกเพื่อนฝูงหรือว่าเพื่อนมนุษย์ในโลกที่เขามีศาสนาอย่างอื่น ถ้าเราจะช่วยเขาให้เข้าใจพุทธศาสนาได้ก็ต้องเข้าใจหลักอย่างนี้ ถ้าเราไม่เรียกสมมติเป็นพระเจ้าเป็นบุคลอย่างนั้นอย่างนี้ เราปล่อยไปตามธรรมชาติ เรียกว่า ธรรมชาติ เพียงแต่ว่าไอ้คำบาลีมันใช้คำว่าธรรม ธรรม คือ ธรรมชาติ ในความหมายนั้นในความหมายนั้น ในความหมายนั้นเป็นอย่างนั้น ในที่สุดมันก็พอซะเพียงเท่านี้เอง เพราะเรารู้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างไร แล้วเราได้รับผลของมันไม่เป็นทุกข์ เรื่องมันก็จบกันแค่เท่านั้น จะต้องไปพูดอะไรกันอีกว่ามันเป็นคนหรือไม่ใช่คน เป็นตัวตนหรือมิใช่ตัวตน ไม่ต้องไปพูดให้มันเสียเวลา ไม่ต้องรู้ไอ้สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ แต่ว่าจะต้องรู้สิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ คือ รู้ว่าอย่างที่เรามีชีวิตจิตใจอย่างที่นี้ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ เราจะต้องรู้อะไรบ้าง เพื่อไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว และก็ไม่ต้องไปถามว่าธาตุดินมาจากไหน ธาตุลมมาจากไหน วิญญาณมาจากไหน ไม่ต้องไปถาม เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันรู้อยู่แล้วว่าเรามันมีร่างกายอย่างนี้คิดนึกได้อะไรอย่างนี้
ถ้าเราจะคิดนึกอย่างไรปฏิบัติอย่างไร เราจะไม่มีความทุกข์เลยนั่นก็เอาที่นั่น ถ้าเลยนั้นไป มันก็เป็นเรื่องทำให้มืดหนักเข้าทุกทีๆ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรด้วย ไอ้ที่เราเป็นทุกข์เพราะอะไรก็ค้นดูจากไอ้ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติ แล้วปฏิบัติให้ถูกตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ก็ได้รับผลเป็นที่พอใจ ทำไมเราจะต้องไปหาอาหารกิน เพราะมันเป็นหน้าที่ ที่ธรรมชาติมันมีอยู่อย่างตายตัวว่า ไอ้ชีวิตนี่มันต้องมีอาหารที่หล่อเลี้ยง เป็นชีวิตร่างกายก็หล่อเลี้ยงกันไปตามแบบร่างกาย เป็นชีวิตจิตใจก็หล่อเลี้ยงกันไปตามแบบจิตใจ หรือว่าละเอียดปราณีต เป็นเรื่องวิญญาณ เป็นเรื่องทิฏฐิความคิด ความเห็น ก็ต้องหล่อเลี้ยงไปให้ถูกตามเรื่องของธรรมชาติส่วนนั้น แล้วก็สบายทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ทั้งสติปัญญาความคิดความเห็น เมื่อได้อย่างนี้ก็นับว่าพอสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ แล้วมันก็พอสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่เท่านี้ มันจะพอเรียนไหว ปฏิบัติไหว หรือว่าพอสำหรับคุณจะบวช ๓ เดือนก็เรียน มันก็พอจะเรียนไหว จะเรียนธรรมะอะไรกี่ร้อยเรื่อง ๘๔,๐๐๐ ข้อ ๘๔,๐๐๐ เรื่อง มันจะมารวมอยู่ใน ๔ ข้อนี้ทั้งนั้น ธรรมะชื่อนี้ข้อนี้ เป็นพวกไอ้ทำตัวธรรมชาติ ธรรมะชื่อนี้ ชื่อนี้ มันเป็นอยู่ในกฎ กฎของธรรมชาติ ธรรมะชื่อนั้น ชื่อนี้มารวมอยู่ในคำว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะชื่อนั้น ชื่อนี้ คือ ผลที่ได้รับออกมา ยกตัวอย่างให้ฟังเช่นว่าคำว่ารูป ว่านาม ว่ากาย ว่าจิต ว่าวิญญาณ ว่าอายตนะ นี้มันเป็นตัวธรรมชาติ ที่ประกอบกันอยู่เป็นคนนี้ หรือเป็นสัตว์ก็ได้ เป็นต้นไม้ก็ได้ แล้วกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเป็นไปได้หรือทรงอยู่ได้นี้ ก็เรียกว่ากฎมันมีอยู่ในนั้น ถ้ามันอยู่ที่อื่นแล้วจะมีผลอะไรเล่า กฎธรรมชาติส่วนใด เพื่อธรรมชาติส่วนใดมันก็ต้องมีอยู่ในนั้นมันจึงจะทรงตัวอยู่ได้ เรียกว่าเป็นกฎรวมเป็นต้นตอของกฎทั้งหลาย มาจากไหน นั่นมันไป ไป ไกลไปยังไม่ต้องศึกษาก็ได้ ถ้าศึกษาก็เรียกว่ามันเป็นกฎของธรรมชาติทั้งหมด ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้นมันเป็นกฎที่ว่าอย่างนั้นมากหมายหลายซับหลายซ้อน เป็นสัจจะของธรรมชาติ คำว่าสัจจะนี้คือจริงแท้ ไอ้จริงแท้นี้ต้องไปตามกฎของธรรมชาติ ถ้าจริงอย่างคนว่านี้เปลี่ยนแปลงได้ ก็เลยแยกไอ้จริงนี้เป็นสองชนิด จริงอย่างสมมติ จริงอย่างคนว่า จริงอย่างคนยอมรับกันนี้มันบัญญัติอย่างนี้มันก็จริงอย่าง เรียกว่าสมมติ ถ้าจริงตามกฎธรรมชาติไม่มีเปลี่ยนแปลง เรารู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ แม้ว่าพระพุทธเจ้าท่านจะรู้ทั้งปวง รู้สิ่งทั้งปวง ก็รู้ทั้งปวงเท่าที่ควรจะรู้ ที่ไม่ต้องรู้ก็ไม่ต้องรู้ ก็ได้ ก็ทั้งปวงที่ควรจะรู้แล้วเผื่อสำหรับจะสอนผู้อื่นด้วย ตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เพราะว่าไอ้นอกนั้นจะรู้ไปทำไมมันไม่มีประโยชน์อะไร ไอ้นามรูปนี้เป็นตัวธรรมชาติที่ปรากฏที่ท่านรู้จัก เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานก็ไปเรียกไปอ่านไปศึกษาเอา แม้ที่ตรงกันข้ามกับอันนี้ที่มองไม่ค่อยเห็น มองไม่เห็นเลยก็ ก็เรียกว่าธรรมชาติเหมือนกัน ส่วนที่มันเป็น อสังขต หรือเป็นอะไรมองไม่เห็น
ทีนี้กฎของธรรมชาติ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตามันเป็นกฎว่า มันต้องเปลี่ยนแปลง มันต้องทนทรมาน มันเป็นกฎว่าถือเอาเป็นอัตตาไม่ได้ หรือว่าความที่ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องอะไรต่างๆ ความที่ต้องเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่า กฎมีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้นๆ ถ้าไม่นั้นมันก็ไม่แก่สิ เกิดมาแล้วมันก็ไม่แก่สิ แต่นี่มันมีกฎธรรมชาติที่ทำให้ต้องแก่มันบังคับอยู่ในตัวธรรมชาตินี้ ธรรมชาตินี้ก็เปลี่ยนไป สู่ความแก่ สู่ความดับ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อำนาจอันนี้เขาเรียกว่ากฎ มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น ฉะนั้นธรรมชาตินั้นจึงต้องเปลี่ยนไปตามกฎ
มาถึงปฏิบัติติธรรม หน้าที่ก็ต้องปฏิบัติก็อย่างเช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อย่างเช่น กุศลกรรมบท อกุศลกรรมบทนี่คุณไปเรียนเอาเองได้ กระทั่งที่สรุปที่สุดก็คือ พรหมจรรย์นั้นแหละ ที่พูดกันมาตั้ง ๑๐ ครั้งด้วยคำว่า พรหมจรรย์ นั้นก็คือตัวการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ แยกเป็น มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ จะแยกเป็นศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้ แล้วมีธรรมะประกอบอื่นๆ เพื่อช่วยให้ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นไปด้วยดีอย่างนี้ก็ยังมี คำว่าศีล สมาธิ ปัญญานี้ดีที่สุด ในฐานะเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
เรื่องสุดท้ายที่เรียกว่า วิปากธรรม ตัวอย่างเช่น มรรคผล นิพพาน เลยดีกว่า ผลอะไรที่มันเกิดขึ้นมาเป็นที่น่าพอใจเราก็เรียกกันว่ามรรคผลอยู่แล้ว ทำนาปีนี้มันเป็นมรรคเป็นผล ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์นะ คือทำนาได้ข้าวมาก มักเรียกทำนาปีนี้เป็นมรรคเป็นผล หรือทำอะไรมันไม่เป็นมรรคเป็นผลเสียเลย ก็หมายความ มันไม่สำเร็จ มันล้มละลายหมด สำหรับวิปากธรรมแล้วก็ที่ควรปรารถนา ก็คือมรรค ผล นิพพาน ที่ทำผิดไป ไม่ควรปรารถนาคือความทุกข์ ความทุกข์ทั้งปวง ก็ตกนรกหรือว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่จะบัญญัติตามความหมายหนึ่งๆ ของไอ้สิ่งที่มันเป็นทุกข์ เขาว่ามันเป็นสุขหลอกๆ เป็นสวรรค์เป็นอะไรไป ถ้ามันเป็นสุขจริงเป็นมรรคผลนิพพานไป ไม่อยากจะให้คิดนึกอะไรให้มันมากเรื่องในวันนี้ ให้นึกแต่เพียง ๔ เรื่องให้เข้าใจให้ดีที่สุด คือตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง ให้มันเข้าใจแจ่มแจ้งเห็นทะลุปรุโปร่ง กระทั้งไปนอนแล้วฝันก็เห็นทะลุปรุโปร่งไปอย่างนี้ก็ใช้ได้ ทีต่อไปนี้ก็พยายามสังเกต ศึกษาแยกแยะดู ส่วนไหนเรียกว่าธรรมชาติ ส่วนไหนเรียกว่ากฎธรรมชาติ ส่วนไหนเรียกว่าปฏิบัติหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ส่วนไหนเรียกว่าผลที่ได้รับ ตั้งต้นมาจากสิ่งที่มีชีวิตน้อยๆ ชีวิตต่ำๆ เช่นต้นไม้ต้นหญ้า เช่นตะไคร่น้ำอะไรก็ตามใจ มันต้องมาตามกฎนี้ กระทั่งมาถึงสัตว์เดรัจฉาน มาถึงคน เทวดา นรก ถ้ามันมีมันก็คือกฎก็ต้องไปตามกฎนี้เหมือนกัน แต่มันหมายถึงจิตใจของคนมากกว่า
แล้วนี่คือรู้ธรรม ผู้รู้ธรรมที่ควรจะรู้ คือรู้อย่างนี้ และไม่ใช่ท่องจำ ต้องมองเห็นชัดเจนลงไปที่อันนี้ที่ว่าธรรมชาติที่มีความรู้สึกที่ทนอยู่ไม่ได้ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเหล่านี้ ทีนี้ถ้าธรรมชาติที่ไม่มีความรู้สึกมันก็ไม่มีเจตนาที่จะปฏิบัติอะไรได้ แต่แล้วมันก็ต้องเป็นไปตามกฎนี้ เช่น เม็ดทรายนี้ มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มีสภาพเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง มันมีกฎของมันที่ทำให้มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป และตามเรื่องของมันนี้มันก็เป็นกฎแล้วมันก็เป็นไปตามนั้น แล้วด้วยเหตุที่มันไม่มีความรู้สึกมันก็ไม่เกิดหน้าที่แก่เม็ดทรายอันนี้ ฉะนั้นหน้าที่เกิดแก่สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก นั้นสิ่งที่ไม่มีความรู้สึกมันก็มาได้เพียงว่าเป็นตัวธรรมชาติ เป็นตัวที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เพราะมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่ในนั้น พอเกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกขึ้นมามันเพิ่มเข้ามาอีกสองอย่าง คือปฏิบัติติธรรมกับวิปากธรรม แสดงให้เห็น นี้ก็ต้องมาถึงว่าตะไคร่น้ำสำหรับเราจะดูกันง่ายๆ อย่าไปเรียนวิทยาศาสตร์ถึงเซลล์ ไอ้สัตว์เซลล์เดียวสองเซลล์มันเกินไป ตะไคร่น้ำก็เป็นตัวธรรมชาติ มีกฎธรรมชาติ มาปฏิบัติหน้าที่ของมันตามความรู้สึกของมัน มันก็มีผลคือว่างอกงามไปตามเรื่อง หรือถ้ามันผิดธรรมชาติมันต่อสู้ไม่ได้มันก็ตายไป ต้นไม้โต โตขึ้นมาก็เหมือนกันอีก สัตว์เดรัจฉานนับตั้งแต่มด แมลงนี่มันก็ต้องไปตามกฎนี้ แม้กระทั่งเป็นสัตว์เป็นโตๆ ขึ้นมา เป็นปลา เป็นนก เป็นทุกอย่างสัตว์เดรัจฉานไปตามกฎนี้ แต่ไปได้ในระดับที่ว่าเปะปะๆ พอมาถึงคนก็ดี ดีขึ้นเป็นคนที่ฉลาดก็เป็นได้ดีที่สุด ฉะนั้นจึงต้องเรียกให้เกียรติยศเขาหน่อยว่ามันเป็นพุทธะ มันเป็นรู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้กฎอันนี้ ปฏิบัติตามกฎอันนี้ แล้วก็มาจบกันแค่พุทธะ ที่เบิกบาน
ที่อยากจะพูดอีกหน่อยหนึ่งว่า มักจะเถียงกัน เรานี่เอาชนะธรรมชาติได้หรือไม่ คือเอาชนะกฎได้หรือไม่ ฟังดูแล้วมันหลับตาพูด แล้วก็เป็นธรรมชาติเล็กๆ น้อยๆ ธรรมชาติในทางวัตถุเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างดูคล้ายกับว่าเอาชนะธรรมชาติได้ มันจะเป็นความคิดของเด็กอมมือมากกว่า เช่น เดี๋ยวนี้เรามีไฟฟ้าติดอยู่หลายดวงนี่ ธรรมชาติที่มันมืดมันเอาชนะเราไม่ได้ เรามีไฟฟ้านี่เราเอาชนะธรรมชาติที่มันมืดนั้นได้ อย่างนี้เรียกว่าเอาชนะธรรมชาติหรือ นั่นถ้ามองกันภาษาลูกเด็กๆ ก็อาจจะเป็นได้ ว่าเก่งทำแสงสว่างขึ้นมาชนะความมืดที่นี่ได้ ชนะอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรียกว่าชนะธรรมชาติ ที่แท้เราต้องไปง้อกฎธรรมชาติอย่างอื่นๆโน่น ไปรู้กฎธรรมชาติอย่างอื่นๆ นั้นจึงง้อกฎเหล่านั้น ทำตามกฎเหล่านั้นเราจึงได้ดวงไฟฟ้านี้มา นี่เราก็แพ้มันแล้ว แล้วการที่เราได้มาเราก็ต้องลงทุนเราต้องเป็นผู้ฝ่ายอยาก ฝ่ายต้องการ เป็นฝ่ายเสนอ เป็นฝ่ายขอ แพ้อยู่ตลอดเวลาเราต้องเป็นทาสมันจึงได้มันมา อย่างนี้เขาเรียกว่าแพ้ เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราเอาแต่เพียงว่า เพราะเราต้องไปทำให้ถูกตามกฎธรรมชาติ เราจึงได้อันนั้นมา ไม่ใช่ชนะธรรมชาติ ต้องยอมแพ้มันทำให้ถูกตามกฎของมันมากมายทีเดียวเราจึงได้ดวงไฟฟ้ามาติดอยู่ที่นี่ นี่เรื่องเล็กๆ เรื่องอื่นๆ ที่ว่ามันจะไป ไปโลกพระจันทร์นี่ก็เรียกว่าแพ้ธรรมชาติหรือชนะธรรมชาติฟังดูให้ดีๆ มันจะเป็นแพ้อย่างลึกซึ้ง แพ้อย่างลำบากเอาชีวิตเข้าแลกด้วยความอยาก ด้วยความต้องการ มันก็แพ้แก่ธรรมชาติอยู่เรื่อย แต่ด้วยเหตุที่เราเอาประโยชน์ได้จากธรรมชาตินั้นๆ คือเราไปทำให้ถูกตามกฎของมัน ไปเปลี่ยนกฎของมันไม่ได้ ทำให้ถูกตามกฎของมันแล้วเราจึงได้ไอ้สิ่งที่เราต้องการบ้างมา นั้นเราจึงทำเรือยนต์ ทำรถไฟ ทำเรือบิน ทำอะไรต่างๆ ได้ เพราะว่าเราทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติมันอ่อนข้อให้กับเรายอมให้เราตั้งกฎเอาเอง
นั้นถ้าพูดอย่างลึกซึ้งอย่างปรมัตถ์ แล้วเราไม่มีทางที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ แต่ถ้าพูดอย่างหลับตาพูดแล้วเรามีทางเรามีความสามารถชนะธรรมชาติได้ น้ำมันอยู่ในดินลึกเป็นร้อยวาพันวาเราก็เอาขึ้นมาได้ อย่างนี้เราพูดว่าเราชนะธรรมชาติ ที่จริงนะมันคือแพ้ธรรมชาติในรูปหนึ่ง แม้ว่าเราจะเอาธรรมชาติทั้งหลายมาใช้เสียให้หมด แร่ธาตุต่างๆ เอามาใช้เสียให้หมด ก็ไม่ใช่ว่าธรรมชาติมันแพ้ ไอ้เรานี่มันแพ้มันตลอดเวลา แต่แพ้อย่างนี้ก็หมายความว่าเพื่อจะเอาประโยชน์ตามที่ควรจะเอา มันก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าโง่กว่านั้นมันจะฉิบหายหมด คือทำลายธรรมชาติเสียหมด แล้วตัวเองก็เดือดร้อน จนสัตว์เหล่านี้จะต้องตายไปเองในที่สุด ไปทำให้มันผิดธรรมชาติ ธรรมชาติก็ตอบสนองขึ้นมาก็สาสมกันทีเดียว แล้วถ้าผิดไปในทางทำลาย ก็ทำลายหมด หรือว่าโลกนี้มันจะเปลี่ยนไปตามกฎของธรรมชาติส่วนนั้นเราก็แก้ไขไม่ได้อยู่แล้ว ใครจะไปรู้ล่ะว่ามันจะเปลี่ยนไปๆ จนยุคหนึ่ง กัลป์หนึ่ง มันก็เกิดไม่มีโลกนี้อีกด้วยเหตุใดก็ตาม เช่นว่าโลกเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ทีละนิดทีละนิดนิดโดยไม่รู้สึก หลายล้านปีหลายร้อยล้านปีมันก็ไปใกล้ดวงอาทิตย์จนไหม้หมดก็ได้ นี่ก็เรียกว่ามันก็ไปตามกฎของธรรมชาติ ก็เดี๋ยวนี้ที่ว่าเราไปทำลายอะไรต่างๆ ในในโลกนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้ถูกธรรมชาติลงโทษอย่างสาสม ไม่เท่าไรก็จะไม่มีอย่างนั้นไม่มีอย่างนี้ กระทั่งไม่มีน้ำในโลกนี้มันก็ต้องตายอยู่ดี เพราะไม่มีทางจะเอาชนะธรรมชาติหรือพระเจ้านี้ได้เลย มีทางเดียวที่ว่าทำให้ถูกตามกฎ กฎของพระเจ้าคือกฎของธรรมชาติแล้วเราได้รับไอ้สิ่งบางสิ่งที่เราต้องการในขอบเขตอันจำกัดแล้วก็โดยเวลาอันสมควร มันได้เท่านั้นเอง นี่เรียกว่าปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ อย่าไปกล้า กล้าอวดว่าเอาชนะธรรมชาติได้ ไว้ให้คนโง่พูด
ทีนี้เราพูดถึงไอ้กฎของธรรมชาติเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็อย่าไปคิดหรือว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้คือเปลี่ยนกฎนั้นได้ แต่ว่าเราจะสามารถทำจิตใจไม่ให้มีความทุกข์ เพราะไอ้ที่ว่าสังขารมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติจนไม่มีความทุกข์ แม้ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา นี่คือ ความรู้อันประเสริฐที่สุดในพุทธศาสนา ที่ทำให้เราทุกคนไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะกฎของธรรมชาติอันนั้น ที่ว่าถ้าทำไม่ถูกแล้วจะต้องเป็นทุกข์ ถ้าทำถูกแล้วไม่มีความทุกข์ แต่อย่าไปพูดว่าเราไปเปลี่ยนกฎธรรมชาติได้ หรือว่าชนะธรรมชาติได้ พระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนไม่ได้ ท่านก็ยอมรับว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้มันเป็นธรรมชาติ เป็นตัวธรรมธาตุอยู่อย่างนั้น ตถาคตจะเกิดหรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้นในโลกนี้มันก็เป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่มีทางจะไปเปลี่ยนมันได้ แต่ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านรู้ว่าเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อเราต้องอยู่ในโลกที่มันมีลักษณะอย่างนั้น ก็อย่าเอาไปเป็นทุกข์ จะได้ไม่เป็นทุกข์ นั่นแหละมันประเสริฐอยู่ที่นั้น เขาเรียกว่าต่อสู้ธรรมชาติก็ได้เหมือนกันแต่ไม่ใช่ไปชกไปต่อยไปกัดไปทำลายกันแบบนั้น มันเป็นการต่อสู้ด้วยสติปัญญา อย่าให้ความร้ายกาจของธรรมชาตินั้นมากระทบกระทั่งเรา จนวินาทีสุดท้าย คือจนตายไปไม่มีความทุกข์ นี้คือข้อที่สอนให้รู้ว่า รูปไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนาไม่เที่ยง เวทนาเป็นอนัตตา อย่างที่ท่องๆ กันอยู่เป็นประจำวัน แล้วเราจะต้องทำให้ถูกอีกทีหนึ่ง แล้วสิ่งที่เป็นอนัตตาเหล่านั้น ก็จะไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้ นี่หมายถึงรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมะ โดยเฉพาะพุทธบริษัทก็ว่าไม่เสียที่ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา เราจะไม่พูดถึงเรื่องแพ้หรือชนะธรรมชาติดีกว่า เราพูดแต่เพียงว่าเราจะรู้จักทำไม่ให้มันมีความทุกข์ขึ้นมาได้ก็แล้วกัน ที่เรียกว่าสมมติว่าแพ้หรือชนะนั่นเป็นเรื่องสมมติ เราไม่ได้ เราเรียกว่าเราแพ้ เราได้เราเรียกว่าเราชนะ ที่จริงก็ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น โดยแท้จริง แต่ว่าโดยสมมติก็พูดอย่างนั้นได้ หรือโดยที่ให้เกิดกำลังใจแก่บุคคลผู้ไม่รู้ก็อิโหน่อิเหน่ก็พูดอย่างนี้ได้ เอาชนะความตายได้ อ้าวก็ดูท่ามันจะดี ท่าจะสนุกดีเอาชนะความตายได้ ทำอย่างไร เอ้าทำอย่างนี้ทำอย่างนี้ชนะความตายได้ ก็เป็นเรื่องสมมติ
เราไม่มีความทุกข์ เพราะว่า เราปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราก็ต้องยอมรับยอมเชื่อฟังไอ้กฎของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ความตายเป็นตามกฎของธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ก็ไม่ ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ จึงเรียกความตายไม่มี เพราะจิตมันไม่ยอมรับเอาเป็นความตาย ความตายก็เท่ากับไม่มี เป็นอมตะไปเลย นี้ก็เป็นเรื่องสมมติคำพูดที่ชั้นลึกซึ้ง ถ้าว่ามันไม่มีตัวตนได้ก็พอละ มันก็ไม่มีอะไรเกิดไม่มีอะไรตาย ผู้ที่เห็นธรรมชาติแท้จริงแล้วจะไม่รู้สึกว่ามีตัวมีตน ก็กลายเป็นธรรมชาติไป ที่นี้ไม่ ไม่ ไม่ มองเห็นเอาตามความรู้สึกข้างในมันรู้สึกอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ก็รู้สึกว่ามีตัวกู มีของกู นั่นแหละมันจะเป็นทางให้เกิดความตาย มันมีตัวกู เดี๋ยวก็มีตัวกูเกิดมา ตัวกูจะตาย มันไม่ได้มองเห็นว่ามันเป็นสักว่าธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่มันมีความรู้สึกถ้าใจถูกต้องมันก็ไม่มีตัวกู ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องกู หรือของกู ก็คือไม่มีความทุกข์ ที่เนื้อหนังร่างกายแขนขานี้ก็เคลื่อนไหวไปตามความรู้สึกที่ถูกต้อง ว่ามันควรจะทำอย่างไรชีวิตร่างกายนี้จะอยู่ได้ก็ทำไป ถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังไปบิณฑบาทฉัน นั้นส่วนของร่างกายที่มันจะรู้สึกอย่างนั้นก็ไปบิณฑบาทฉัน ร่างกายเป็นธรรมชาติ กฎมันบังคับอยู่ ร่างกายต้องกินอาหาร ฉะนั้นร่างกายก็ไป ไปหาอาหารกิน อย่าให้เป็นตัวกูของกูขึ้นมา เผื่อมันไม่ได้มันจะได้ตายไปโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าได้มามันก็ไม่ต้องยินดีไม่ต้องลิงโลดอะไรยินดี นี่คือเราจะแพ้หรือจะชนะธรรมชาติระวังให้ดีๆ พูดกันอย่างสมมติหรือพูดกันอย่างแท้จริง ที่ว่าเราเหาะไปได้ด้วยเรือบินเรียกว่าเราเอาชนะธรรมชาติได้ พูดอย่างภาษาสมมติ บางทีเป็นภาษาลูกเด็กๆ มากกว่า ถ้าเราจะเอาชนะธรรมชาติจริงๆ ก็คืออย่าให้มีความทุกข์ เพราะธรรมชาตินั้น ก็เรียกว่าเราเอาชนะธรรมชาติได้ แต่ถ้าเราต้องไปทำอะไรที่ลำบากมากกว่าเดิมแล้ว เรียกว่ามันแพ้มากกว่า เป็นการสับปลับของภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในโลกนี้ คนก็ไม่รู้เรื่องนี้ก็ไม่เข้าใจไม่ได้ก็เวียนหัวเอง เรียนธรรมะก็ไม่รู้เรื่องเพราะมันถูกหลอกโดยภาษาที่คนใช้พูดกันแม้แต่เรื่องแพ้เรื่องชนะ แพ้อยู่แท้ๆ ก็พูดเป็นชนะได้ ทำอย่าให้เป็นทุกข์ได้ ถึงควร ควรเรียกว่าชนะ ทีนี้พอยิ่งทำเข้ายิ่งมีความทุกข์มาก เช่นว่า สมมติจะไปโลกพระจันทร์ โลกอังคารโลกอันใด ได้หมดเลย แล้วมันยิ่งมีความทุกข์มากขึ้นจะเรียกว่าแพ้หรือเรียกว่าชนะล่ะ ไม่เป็นไปเพื่อสันติภาพของมนุษย์ก็ต้องถือว่าแพ้ ธรรมชาติทำให้มีความทุกข์ ถ้ามนุษย์ไม่ต้องมีความทุกข์นั่นล่ะ เรียกว่าชนะได้ แล้วก็โดยสมมติ โดยสมมติ ที่ว่าเพราะว่าที่ถูกคือเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น ไม่เกี่ยวกับแพ้หรือชนะ เอาละขอให้ทบทวนให้ดีๆ เอาตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่ได้รับจากหน้าที่นั้นๆ นี่จะเป็นเรื่องที่ใช้ได้ทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องที่ไม่ใช่ศาสนา ใช้ได้ในทุกแขนงของวิชา ที่มันเป็นไอ้ สบหลักวิทยาศาสตร์ทุกแขนง นี่ความหมายของคำว่า ธรรม เพียงคำเดียวมันมีอยู่อย่างนี้ คือหมายถึงสิ่งทั้งปวงในทุกๆ แง่ทุกๆ มุม เราให้ความสนใจกับสิ่งนี้ เฉพาะส่วนที่มันจะแก้ปัญหาเรื่องความทุกข์ได้ก็พอ รู้หมดก็ไม่รู้จะรู้ไปทำไม แล้วก็ไม่อาจจะเอาอะไรมารู้ให้หมดได้ แต่ว่าส่วนใดที่จำเป็นที่จะต้องรู้ก็ส่วนนี้ ขอให้พยายามรู้ให้หมด ให้ดับทุกข์ได้จริงจะเรียกว่าเป็นผู้รู้ธรรม ปฏิบัติธรรมหรือว่าทรงธรรมะไว้ แต่ละผลจากการที่มีธรรมะนั้น ก็เป็นอันว่าหลักเกี่ยวคำว่า ธรรม เพียงคำเดียวมีอยู่อย่างนี้
เวลาหมดแล้ว ยุติการบรรยายวันนี้ไว้เท่านี้ทีก่อน