แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ 9 เอ่อครั้งที่ 11 นี้ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าปรมัตถธรรม ในฐานะเป็น ธรรมศาสตราเพื่อปัญหาทางวิญญาณ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ขอให้ทบทวน ถึงข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นลำดับ จึงจะเข้าใจด้วยดี สิ่งที่เรียกว่าปัญหานั่นคืออะไร คนเรามีปัญหาจึงแสวงหา เครื่องตัดปัญหานานาชนิด ทุกชนิด จึงได้ศึกษาและอบรมศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความหมายดังที่ได้กล่าว มาแล้ว ในการบรรยายครั้งต้นๆ ก็ศึกษาออกมาจากสิ่งที่เรียกว่าธรรม ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร และเราก็ได้แบ่งออกเป็นสี่ประเภท ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อสามารถทำได้ในเรื่องนี้ก็สามารถตัดปัญหาต่างๆได้ สำหรับสิ่งที่เรียกว่าปัญหานั้น ก็เคยกล่าวกันมาแล้วว่า เอาร่างกายเรา หรือตัวเราโดยสมมตินี่เป็นจุดศูนย์กลาง ก็มีปัญหาอยู่ในฐานะที่มันเป็นร่างกาย จะมีปัญหาอย่างไร ที่มองออกไปรอบนอกตัวเรา โดยรอบๆ ก็มีปัญหาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าปัญหาทางสังคม นี่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น รอบตัวเราหรือนอกตัวเราจะทำให้เกิดขึ้น ทีนี้มองย้อนกลับเข้าไปข้างใน คือในร่างกาย ก็มีปัญหาเรื่องจิต เรื่องวิญญาณอยู่อีกประเภทหนึ่ง ทีนี้ปัญหาทางร่างกาย ทางสังคมก็ดี รวมกันเรียกว่าเป็นปัญหาภายนอก หรือปัญหาทางกาย ส่วนปัญหาทางจิตทางวิญญาณข้างในนั้นเรียกว่าปัญหาข้างใน หรือภายใน จึงมีปัญหาทางกายและปัญหาทางวิญญาณทางกายก็เรียกว่าร่างกายของคนๆหนึ่งก็ได้ หรือกายทั้งหมดคือสังคม หรือทั้งโลกก็ได้ ทีนี้สำหรับปัญหาทางสังคมนั้น เราก็ได้พูดกันแล้วว่า ขอให้มองดูออกไปจากตัวเรา รอบๆตัวเรา ซึ่งขอให้ทุกคนจำไว้ให้ดี มันเหมือนกันทั้งหมดในตัวประเภทของปัญหา คือมองออกไปข้างหน้า คือปัญหา ที่เกี่ยวกับบิดามารดา มองไปข้างหลังเป็นปัญหาเกี่ยวกับบุตรภรรยา ถ้ามีโดยตรง หรือจะมีโดยอ้อม แม้เป็นบรรพชิตสมัยนี้ ก็ยังมีบุคคลที่ต้องเลี้ยงดู เช่นเดียวกับบิดามารดาเลี้ยงดูบุตรหรือคนในคุ้มครอง และข้างหน้ามีปัญหาเรื่องบิดามารดา ข้างหลังมีปัญหาเรื่องบุตรภรรยา ข้างขวามือมีปัญหาเกี่ยวกับ ครูบาอาจารย์ ซ้ายมือปัญหาเกี่ยวกับเพื่อนฝูงทั้งหลาย บนศรีษะขึ้นไปปัญหาเกี่ยวกับสมณพราหมณ์ คือพระเจ้า พระสงฆ์หรือทางศาสนา หรือข้างใต้ลงไป ทิศข้างใต้เรา ใต้ฝ่าเท้าลงไปก็มีปัญหาเกี่ยวกับคนใช้ ทาส กรรมกร พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ เราไม่ค่อยสนใจกัน ฉะนั้นทุกคนจะต้องรู้จักสิ่งทั้ง ๖ นี้ดี อย่างยิ่ง อย่างชัดเจนและก็ตลอดไปด้วย เรียกชื่อโดยภาษาบาลีว่าทิศทั้งหก คำว่าทิศ นี่ก็เป็นภาษาบาลี ว่าสิ่งที่เราต้องดู ต้องเห็น ต้องมอง นี่ก็เรียกว่า ทิศ มองไปข้างหน้า มองไปข้างหลัง มองไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างบน ข้างล่าง ถ้าใครทำให้ทั้ง 6 ทิศนี้ไม่มีปัญหาแล้วก็เขาเรียกว่า ไม่มีปัญหายุ่งยากที่เกี่ยวกับสังคม ไปศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติจากตำรับตำรานั้นๆโดยตรง เมื่อปฏิบัติได้ก็เรียกว่ามีศีลธรรมดี แม้ส่วนที่เกี่ยวกับสังคม สรุปความแล้วก็ว่า ไม่เห็นแก่ตัวนั่นแหละ ถ้ามีความไม่เห็นแก่ตัวอย่างเดียว ปัญหา แม้ปัญหาสังคมก็ไม่อาจจะเกิด เมื่อไม่เห็นแก่ตัว ก็เผื่อแผ่ หรือพยายามทำให้ถูกต้องที่สุด โดยเสียสละเรื่องส่วนตัว เมื่อมีการเผื่อแผ่ ก็ไม่มีการเอาเปรียบ ไม่มีการ กอบโกยประโยชน์ ที่เป็นการเอาเปรียบ ที่จะเรียกว่าไม่มีการกอบโกยเอาส่วนเกิน หรือปล้นเอาส่วนเกิน ของคนอื่นมา นี่ปัญหาสังคม มีอยู่อย่างนี้ แก้ได้ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ปัญหาทางกายของบุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะ ก็เหลือบมองไปให้เห็นที่เป็นคร่าวๆ เป็นหลักใหญ่ๆ ก็เราจะต้องมีร่างกายที่รอดอยู่ได้ อย่างที่เรียกว่ามีอนามัยดี คือมีร่างกายที่ใช้ประโยชน์ได้ ก็ศึกษาเรื่องวิชา อนามัยให้มันมีการกระทำที่ถูกต้อง
ทีนี้เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่เนื้อที่ตัวของคนๆนั้น เมื่อดูที่นอกกาย ดูที่ร่างกายน่ะ ไม่ได้ดูที่จิตใจ ก็จะสรุปได้ว่า มันมีการกระทำกิจกรรมที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ซึ่งผมก็อยากจะสรุป ว่ามันมีไม่กี่คำ มีการแสวงหา แสวงหาความรู้ หรือแสวงหาเงิน หรือก็สุดแท้ เมื่อได้มาก็ให้มันถูกต้อง แสวงหาถูกต้อง ได้มาถูกต้อง มีไว้อย่างถูกต้อง คือการสะสมต้องถูกต้อง พอเหมาะพอดีหรือว่าถูกต้อง แล้วก็ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ ใช้ความรู้หรือว่าใช้เงินก็สุดแท้ ให้มันเป็นประโยชน์ เพื่อช่วยให้คนอื่นให้ ถูกต้อง ให้เป็นประโยชน์ กระทั่งถึงทำบุญทำกุศล นั้นเป็นอยู่อย่างถูกต้อง นี่เรียกว่าปัญหาส่วนบุคคลนั้น ที่เกี่ยวกับร่างกายหรือนอกตัว
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่ลึก ที่มองไม่ค่อยเห็น ที่ลึกซึ้ง อยู่ในจิตใจ หรือยิ่งไปกว่าจิตใจ ไอ้ที่เรียกว่าจิตใจนี้ มันกำกวม ถ้ามันเป็นจิตใจพวกระบบประสาท นี่ก็เรื่องอยู่ที่ร่างกาย หรือว่าเป็นจิตล้วนๆ นี่ก็เป็นเพียงสิ่ง ที่ยังไม่ลึก ไอ้ที่ลึกนั้นมันคือความรู้สึกของจิตใจทีหนึ่ง ก็เลยมีคำเรียกขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่าทางวิญญาณ ดีกว่า ถ้าทางกายล้วนๆก็ไปหา การแก้ไขทางกายล้วนๆ ถ้าเป็นทางจิตก็ไปหาการแก้ไขทางจิต เช่นไปโรงพยาบาล โรคจิต แก้โรคทางจิต แต่นี่ไม่แก้ไขปัญหาทางวิญญาณ ไม่รักษาโรคทางวิญญาณ ถ้าเป็นโรคทางวิญญาณ ก็ต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนา นี้เคยพูดอย่างนี้ไว้เรื่อย ยังไม่เคยฟังก็พูดอีก ในทางวิญญาณ หมายความว่าลึกซึ้งอย่างนี้ ก็อาจจะรวมทางจิตบางส่วนที่มันเนื่องกับสติปัญญาเข้าไว้ด้วย ต้องมีอนามัยทางวิญญาณดี มีความสุขทางวิญญาณ หมายความว่าความรู้ทางสติปัญญานั้นถูกต้อง ไม่ทำ ปัญหาให้เกิดขึ้นในทางวิญญาณ ทางกายก็อย่างหนึ่ง ทางจิตก็อย่างหนึ่ง ทางวิญญาณก็อย่างหนึ่ง ล้วนแต่ต้องมีอนามัยดีทั้งนั้นจึงจะมีความสุข ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ ปัญหาของมนุษย์ โดยแท้จริงมีอยู่อย่างนี้ แต่ว่ามีไม่กี่คนที่จะสนใจไปถึงปัญหาทางจิต ทางวิญญาณ เพราะว่าสนใจอยู่แต่ ปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง อย่างนี้ก็เรียกว่ายังต่ำเกินไป คือเป็นปุถุชนที่มากเกินไป เรียกว่าปุถุชนไม่พอ ยังจะต้องเติมคำว่า อัน-ธะ-พา-ละ ปุถุชน อัน ธ พา ละ …นี่แปลว่าเป็นอันธพาล ความหมายเดิมก็มืด เป็นคนโง่อย่างมืดบอด พา-ละ แปลว่า อ่อนหรือโง่ อัน-ธะ แปลว่า มืดบอด เป็นคนโง่อย่างมืดบอด แล้วก็ทำอะไรอย่างคนโง่ อย่างที่เรียกว่ามืดบอด .ก็เห็นแต่ว่าเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเนื้อเรื่องหนัง และทำอะไรไปตามชอบใจก็เกิดเรื่องลำบากยุ่งยากขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น
ปัญหาทางกาย เอ่อ ปัญหาทางจิตใจนี่ มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นอันธพาลแล้วล่ะก็ มืดบอด ไม่มีแสงสว่างในทางจิตใจ ก็พลอยทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ให้ถ้วนทั่วไปหมด นี่ปัญหาทางจิต ก็ทำจิตให้มันใช้ประโยชน์ได้ดี มีอนามัยดี ถึงจะเป็นปุถุชน ยังไม่มีความรู้อะไรมาก ก็ยังปรกติได้ แต่ถ้ามีความรู้ ความประพฤติที่ถูกต้องทางวิญญาณ ที่เกี่ยวกับทางวิญญาณ ก็หมดปัญหา ฉะนั้นเราจะเห็นได้ทีหนึ่งว่าร่างกาย จิตใจ หรือวิญญาณนี่มันเนื่องกันโดยพฤตินัยหรือที่เป็นอยู่จริง ไม่อาจจะแยกกัน เดี๋ยวนี้เราพูด ยังสามารถจะแยกออกเป็นพวกๆ
เมื่อมีปัญหาอยู่ทั้งทางร่างกาย และทางสังคม และทางวิญญาณอย่างนี้ สิ่งที่จะแก้ หรือตัดปัญหานั้น มันก็ต้องมีให้ครบด้วยเหมือนกัน เราถึงได้พูดเรื่องศีลธรรม ที่จะตัดปัญหาทางกายหรือทางสังคมได้ ทีนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม ที่จะตัดปัญหาทางวิญญาณ หรือทางจิต ที่เกี่ยวกันอยู่กับทางวิญญาณได้ เกิดคำว่าศีลธรรม และคำว่าปรมัตถธรรมขึ้นมาเป็นคู่กัน ซึ่งก็ได้อธิบายไปแล้วในการบรรยายครั้งหนึ่ง คือ การบรรยายครั้งที่ ๙ เข้าใจว่าคงจะจำได้ดี เรื่องความแตกต่างกันระหว่างสองสิ่งนี้ นี้ครั้งต่อมาก็พูดถึงเรื่อง ศีลธรรม ที่จะเป็นการตัดปัญหาทางสังคม หรือทางกายได้ เฉพาะกายที่มันเกี่ยวกับสังคม
ที่วันนี้จึงพูดถึงเรื่องปัญหาทางวิญญาณที่จะต้องขจัดออกไปได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม คำว่าปรมัตถธรรม ก็เกิดเป็นหัวข้อที่จะพูดกันในวันนี้ และถือว่าเป็นศาสตราคืออาวุธที่มีคม และเรียก เต็มที่ว่าธรรมศาสตรา คือศาสตราโดยธรรม หรือคือธรรม จะใช้ตัดปัญหาในทางธรรมโดยเฉพาะ สำหรับปัญหาทางวิญญาณนี้จะต้องมองดูในข้อเท็จจริง ส่วนที่ว่ามันจะมีอยู่ได้อย่างไร ปัญหาของมนุษย์เรา มันเหลืออยู่เป็นอันสุดท้าย คือปัญหาทางวิญญาณ เมื่อปัญหาทางร่างกายหรือทางสังคมมันหมดไปแล้ว ซึ่งคนทั่วไปก็อาจทำให้หมดไปได้โดยไม่อยากนี่ ถ้าเขาเป็นคนดีตั้งใจจริง แต่ในที่สุดมันก็เหลือปัญหาทาง วิญญาณซึ่งมันลึกลับซับซ้อน ยังลึกลับ ก็ต้องแก้ไขด้วยบุคคลประเภทพระพุทธเจ้าก่อน แล้วก็สอนให้คนอื่น รู้จักวิธีแก้ไขนี้ด้วย คนในโลกนี้ก็แก้ปัญหาเรื่องกิน เรื่องมีกินมีใช้ เรื่องเป็นอยู่ให้ได้ แล้วก็มาแก้ไขปัญหา เรื่องมีเกียรติ ทำให้มีเกียรติตามที่ต้องการได้เป็นที่รู้จักหรือมีชื่อเสียง และก็ยังแก้ปัญหาทางสังคมได้ในที่สุด ก็คือว่ามีแต่คนรักและคนนับถือ พูดโดยสรุปว่ามีเงินแล้วไม่มีเกียรติก็มี มีแต่เงิน มันงกเงิน มันไม่มีเกียรติก็มี หรือว่ามีทั้งเงินและทั้งเกียรติแล้ว มีอำนาจวาสนาแล้ว แต่คนไม่รักก็มี ฉะนั้นต้องชนะ น้ำใจคนด้วย คือคนรักนับถือ หรือความรัก ไม่ใช่กลัวด้วยความจำเป็น เรียกว่าเมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้ว มีเกียรติยศชื่อเสียงแล้ว และมีความรัก ความไมตรีจากคนรอบด้านด้วย ก็หมดปัญหาทางภายนอก ทางสังคม
ทีนี้ปัญหาอะไรเหลืออยู่ นั่นคือปัญหาทางวิญญาณ เขาบังคับจิตใจไม่ได้ ต้องมีจิตใจหวั่นไหวสะเทือน ไปตามอารมณ์ที่มากระทบอยู่นั่นแหละ เมื่อก่อนนี้เขาก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่เพิ่งมี แต่แล้วปัญหานี้มันก็ยังเหลืออยู่ เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะบังคับจิตได้ ไม่รู้เรื่องจิตด้วยซ้ำไป มันก็ต้องเป็นไปตามที่อารมณ์ทั้งหลาย ที่มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูกนี้ ฉะนั้นคนที่เป็นใหญ่เป็นโตแล้วมันก็ยังปวดหัว นี่พูดกันตามภาษา ธรรมดาสามัญ ไม่มีความสุข ยิ่งมีมากยิ่งไม่มีความสุขก็มี นี่เรียกว่าปัญหาที่มันเหลืออยู่ มีความกลัว โดยเฉพาะกลัวอันตรายรอบด้านนี่ คนมั่งมีกลัวกว่าคนยากจน คนมีเรื่องมากก็มีเรื่องให้กลัวมาก พูดกันอย่างนี้ดีกว่า มันมีปัญหาเรื่องความกลัวเหลืออยู่ ยิ่งเป็นหมู่คณะ หรือเป็นประเทศชาติที่มีอำนาจ มีกำลังมหาศาลแล้ว มันยิ่งกลัวใหญ่ มันยิ่งกลัวความได้มากๆนั้นมันจะสูญหายไป ถ้าเรามีน้อย เราก็กลัวความที่ของน้อยๆนั้น จะสูญหายไปนี่มันไม่มาก เดี๋ยวนี้ก็จะเกิดกลัวไปทั้งโลก ยิ่งมีความวิตกกังวล มันยิ่งมีเรื่องมาก มันยิ่งคิดมาก วิตกกังวลมาก มีความยึดถือมากก็วิตกกังวลง่าย คนก็อยู่ด้วยความวิตกกังวล ไม่แจ่มใส ไม่เป็นสุข อย่างบุคคลผู้ที่ไม่มีวิตกกังวล มันมีความระแวงออกมา จากความวิตกกังวล ระแวงแม้ว่าอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว มีอะไรกินมีอะไรใช้แล้วก็ยังระแวงอยู่นั่นเอง ว่ามันจะต้องตายหรือต้องเป็นอันตราย เคยมีความกลัว มีความระแวง มีความวิตกกังวล นี่เป็นเจ้าเรือน เหมือนกับอายุของบุคคลที่ล่วงมา ถึงชีวิตสุนัขนอนไม่หลับ นี่ไปศึกษาได้จากภาพเขียนในโรงมหรสพทางวิญญาณ นี่เรียกว่าปัญหาอันหนึ่ง ที่เหลืออยู่เป็นปัญหาทางวิญญาณได้เหมือนกัน ถึงกับว่าพอตื่นนอนขึ้นมามันก็มีจิตใจที่ละเหี่ย อ่อนเพลีย หม่นหมอง ใครเคยเป็น อย่างนี้ได้เคยเป็นอย่างนี้ละก็ ให้สังเกตศึกษาให้ดี มันไม่มีเหตุผล มันเป็นความหม่นหมอง ความละเหี่ย ความถอยกำลัง อ่อนเพลีย เบื่อหน่ายในชีวิต อย่างไม่มีเหตุผล หนุ่มๆไม่ค่อยมีเพราะความหวังกำลังมีจัด แม้จะหวังวิมานในอากาศ มันก็ช่วยกลบเกลื่อนเรื่องนี้ได้ พออายุมากเข้า อายุมากเข้าจะยิ่งมี มันสะสม เรื่องราวหรือปัญหาต่างๆ ไว้ในจิตใต้สำนึก ที่เรียกว่านิสัยหรืออนุสัยสะสมไว้มาก พอที่จะว่าตื่นขึ้นมาก็อ่อนเพลียหรือว่า หม่นหมอง ส่วนคนหนุ่มก็มีความหวังจาก ใฝ่ฝันอยู่ในอะไรอย่างแก่กล้า สิ่งนั้นก็อยู้ใต้สำนึกเหมือนกัน ฉะนั้นพอตื่นนอนขึ้นมามันก็รู้สึก ความรู้สึกมันพุ่งไปยังสิ่งนั้น มันจึงไม่ค่อยจะอ่อนเพลีย หรือหม่นหมอง เว้นไว้แต่ว่ามันจะได้ไปทำอะไรผิดไว้มากๆ ถ้าใคร ใครอยากจะ พอตื่นขึ้นมา ก็แจ่มใส สดชื่นร่าเริงละก็ จะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่พอใจ ชื่นอกชื่นใจอยู่เป็นอารมณ์ เช่นว่าเมื่อจะนอน ก็นึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นึกถึงบุญกุศลนี่ มันก็มาอยู่ใต้ความสำนึก พอตื่นนอนขึ้นมาก็นึกถึง สิ่งนี้อีก หรือบางคนตื่นนอนขึ้นมาก็อยากจะลุกมา ไปไหว้พระสวดมนต์เสียเร็วๆ ก็เลยไปพอใจในสิ่งนั้น ในบุญกุศลต่างๆ ก็เลยไม่ต้องมีโอกาสที่ว่า พอตื่นนอนขึ้นมาจะอ่อนเพลีย ละเหี่ย หม่นหมอง เมื่อจะนอน ก็นอนให้ดี คือนึกถึงสิ่งที่เป็นที่พอใจ เป็นความดีที่จะทำให้นับถือตัวเองได้ แล้วก็นอนลงไป ตื่นนอนขึ้นมา จะไม่ละเหี่ย จะไม่หม่นหมอง ก็เปลี่ยนนิสัยเป็นคนแช่มชื่นเบิกบานไม่ขุ่นมัว นี่เดี๋ยวนี้เรามันก็มี ยังมีว่า ตื่นนอนขึ้นมา มันก็ยังงัวเงีย ละเหี่ย ไม่สดชื่น เรียกว่าปัญหาทางวิญญาณยังเหลืออยู่ จะต้องแก้ไขกันต่อไป นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาทางวิญญาณซึ่งมีอยู่อีกมาก ก็ยกตัวอย่างมาให้ดูสองสามอย่างเท่าที่จะมองเห็น
ทีนี้พอมันมีปัญหาทางวิญญาณ มันก็ต้องมีการแก้ในทางวิญญาณ คือต้องมีวิชชา หรือการศึกษา หรือการปฏิบัติเฉพาะส่วนนั้นขึ้นมา นี่คือเรียกว่าปรมัตถธรรม จะเรียกว่าปรมัตถธรรม ซึ่งไปกินความ รวมหมดทั้งการศึกษา ทั้งความรู้และการปฏิบัติ รวมกันด้วยทั้งสองสามอย่างนี้จึงจะเรียกว่า ปรมัตถธรรม เพราะคำว่า “ธรรม” นี้ ก็หมายถึงการศึกษาก็ได้ หมายถึงวิชชาความรู้ก็ได้ หมายถึงการปฏิบัติ และผลของการปฏิบัติก็ได้ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วเรื่อยๆ
ปรมัตถธรรม ก็หมายถึงธรรมะส่วนสูงสุด ส่วนลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องการศึกษาและวิชชา คือความรู้ ขึ้นมาก่อน การปฏิบัติก็เพื่อให้ได้วิชชานั้นมา ถ้าจะพูดให้เป็นธรรมะมากขึ้น ที่เขาเรียกว่านักปรมัตถ์ นั่นนะ ก็แบ่งภาวะแห่งจิตใจของคนเราเป็น ๔ ชั้น คือชั้นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ บางคนก็เข้าใจแล้ว บางคนก็ยังไม่เข้าใจ แต่ก็ได้อธิบายซ้ำๆซากๆ อยู่หลายหน พยายามทำความเข้าใจเสีย จะยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือคนธรรมดาๆสามัญนี่ เกิดมาเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาวนี่ มีจิตใจอยู่ในชั้นกามาวจรภูมิ สิ่งที่ถูกใจที่สุด บูชาที่สุด ก็คือเรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์ ต่อมาเป็นคนผู้ใหญ่ขึ้นมา เรื่องกามารมณ์นี่ก็จางไป นี่ถ้าปล่อยเป็นธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้ แต่คนสมัยนี้ เขามีส่วน มีเครื่องมือที่จะกระตุ้นเรื่องทางกามารมณ์ไม่ให้รู้จักเบื่อ จนเข้าโลงไปยังได้ มันไม่เอา มันเป็นเรื่องผิดไปจากธรรมชาติ คนเราไปตามธรรมชาติ ความรู้สึกทางกามารมณ์ก็จะค่อยจางไป ในเมื่อร่างกายมันค่อยเปลี่ยนแปลงไป
ทีนี้ก็ไปติดอยู่ที่รูปธรรมทั้งหลาย คือไปรักทรัพย์สมบัติ รักตัวรูปธรรมทั้งหลายนี้มากกว่ากามารมณ์ นี่ก็เป็นมากอยู่ระยะหนึ่ง แม้จะสุดแต่ไปชอบเล่นของเล่น เล่นลายคราม เล่นบอล เล่นเป็นของเล่น แม้แต่นกเขา นี่ก็สงเคราะห์อยู่ในเรื่อง รูปาวจร ไปหลงใหลบูชาวัตถุแต่ไม่ต้องเกี่ยวกับกามารมณ์พักหนึ่ง หรือแม้แต่หลงใหลอยู่ในศิลปะการฝีมือ เส้นสีอะไรก็เหมือนกัน ถ้ามันจะเลื่อนไปอีก ก็เลื่อนไปยังนามธรรม คือเป็นอรูป เรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง เรื่องสิ่งที่ไม่มีรูป แม้แต่เรื่องที่เป็นบุญกุศล เป็นเรื่องสูงสุด ก็บูชาเรื่องนี้ ก็มีปัญหาเรื่องนี้ จนกว่าเมื่อไรมันจะไปถึงชั้นที่ ๔ ที่เรียกว่า โลกุตตรภูมิ พ้นออกไปหมดจากสิ่งเหล่านี้ โดยมาเห็นว่า เรื่องกามารมณ์นี้ ก็เรื่องทรมาน โดยลึกซึ้งซึ่งรูปล้วนๆ มันก็ยุ่งยาก เรื่องอรูปมันก็ยังไม่ใช่ดับความทุกข์สิ้นเชิงได้ ต้องอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นวิชาปรมัตถธรรม มันก็มีเข้ามา เมื่อผ่านกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิไปได้ ก็จะต้องผ่านปรมัตถธรรม ถึงจะเป็น โลกุตตรภูมิ พวกชาวบ้านก็ยุ่งยากลำบากไปตามประสาชาวบ้าน ออกไปเป็นฤาษีมุนี แสวงหาความสุขพิเศษ จากฌานสมาบัติที่เป็นพวกรูปฌานมันก็ดีกว่ามาก ทีนี้ฤาษีมุนีโยคีบางพวกไปไกลกว่านั้น ไปเป็นพวก อรูปฌาน อรูปสมาบัติ ก็ยังไปไกลกว่านั้น แล้วมันก็ไปจนแต้มกันอยู่ที่นั่น ยังมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ อย่างละเอียดอย่างลึกซึ้ง มันก็ต้องมีความหนักในการจะยึดถือตัวกู พระพุทธเจ้าท่านออกบวช ได้ไปศึกษาข้อนี้ชั้นสูงสุดกับอาจารย์บางคน ในที่สุดท่านก็สั่นศีรษะ คือไม่ไหว ไม่ไหว ลาไป ไปพบพวกโลกุตตรธรรม หรือการปฏิบัติเพื่อโลกุตตรภูมิ อันนี้เรียกว่าปรมัตถธรรมโดยตรงโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนา ก็แปลว่าหลังจากที่มันผ่าน กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร ไปแล้ว มันก็ต้องไปถึงส่วนที่จะเป็นปรมัตถธรรมแท้จริง คือเพื่อโลกุตตรภูมิ นี่ เขามีประวัติความเป็นมาของความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจของมนุษย์เรา ในลักษณะอย่างนี้ จึงเห็นได้ว่า ปรมัตถธรรมนี้มันอยู่ในขั้นสูงสุด จะเอาประวัติที่เป็นมาแต่หนหลังทั้งหมด ทั้งสิ้นทั้งโลกนี่ มันก็เป็นอย่างนี้
ทีนี้จะดูลักษณะแห่งบุคคลคนเดียว คนหนึ่งเท่านั้น มันก็เดินไปในลักษณะอย่างนี้ เกิดมาก็บูชา เรื่องกามารมณ์กันไปพักหนึ่งก่อน แล้วก็ไปบูชาวัตถุทรัพย์สมบัติสิ่งของล้วนๆ ไปบูชาเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งไม่มีรูปร่าง บุญกุศล เป็นต้น เมื่อยังไม่พ้นทุกข์ได้ ยังต้องร้องไห้อยู่ บุญกุศลมันก็หมดได้ มันก็ยังต้องร้องไห้ เพราะว่าบุญมันจะหมดไป จึงต้องไปหาสิ่งที่มันอยู่เหนือนี้ ก็เป็นเรื่องของโลกุตตรภูมิ
เพราะฉะนั้นในกาลต่อมา เมื่อมนุษย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น คือฉลาดมากขึ้น ได้รับคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าอย่างทั่วถึง ก็สามารถที่จะดึงเอาปรมัตถธรรม ในชั้นโลกุตตรนั้น มาใช้ แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน แม้แต่ที่อยู่ ยังอยู่ในขั้นหนุ่มสาว แม้ไม่ได้มาก ก็ได้ตามสัดส่วน พอถึงขั้น พ่อบ้านแม่เรือน ก็สามารถที่จะดึงเอาเรื่องปรมัตถธรรมเพื่อโลกุตตรภูมิมาใช้มากขึ้น มากขึ้น ก็จำเป็นที่จะ ต้องใช้มากขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะมีความทุกข์มากในการเป็นคน อยู่ด้วยกาม กามารมณ์ หรือว่าด้วยทรัพย์ สมบัติ หรือว่าด้วยเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม ก็อย่าให้กามารมณ์ หรือทรัพย์สมบัติหรือเกียรติยศชื่อเสียงนี้ มันทำความเจ็บปวดให้มากเกินไป ก็มีวิชาความรู้เรื่องปรมัตถธรรมนี้ เป็นเครื่องแก้ไข
ทีนี้หมายความว่าเมื่อมนุษย์ได้มีความคิดนึก เจริญก้าวหน้ามากแล้ว จึงอาจจะใช้ได้ จึงอาจจะเอามา ใช้ได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถจะเอามาใช้ได้ ครั้งแรกเขาก็ไม่รู้กัน เขาทำให้รู้ขึ้นมา เกิดพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สามารถสอนให้เอาศาสตราอันวิเศษนี้มาใช้แก้ปัญหา แม้ในการเป็นอยู่อย่างชาวบ้านตามธรรมดา คนหนุ่มสาวก็อาจจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยใช้ปรมัตถธรรม ฉะนั้นในเรื่องราวจึงมีอยู่ว่า บางคนก็เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร แม้ว่ามันน้อยมาก ก็ยังมี นี่เรียกว่าเพื่อให้มนุษย์ธรรมดาสามัญ คนธรรมดาสามัญนี้ เป็นพระอริยเจ้ามากขึ้น เร็วขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรม ในฐานะเป็นธรรมศาสตราอันสูงสุด คมเฉียบ จะตัดปัญหารุงรังต่างๆ ให้คนหลุดออกไปได้ ฆราวาสชั้นดี ชั้นเลิศ จึงถูกมอบหมายให้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า สุญญตัปปฏิสังยุตตาธรรม ปรมัตถธรรมชั้นเลิศ ชั้นสุด ไม่มีอะไรสูงสุดไปกว่าธรรมะเรื่องสุญญตา สุญญตาคือความว่างจากตัวกู ว่างจากของกู ในบรรดา ปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าเรื่องสุญญตา คือเรื่องหมดตัวตน เรื่องหมดของตน ก็มีคนไปทูล ถามพระพุทธเจ้าว่า ฆราวาสนี่ควรจะมีอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเกื้อกูลที่สุด ท่านตรัสเรื่อง สุญญตัปปฏิสังยุตตาธรรม คือธรรมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องสุญญตา เขาใช้คำว่าทุกเรื่องหรือมากนี่ เขาหมายความว่ามันมีอยู่หลายชั้น ฆราวาสชั้นดีเลิศก็จะใช้สุญญตานี้ได้มาก ชั้นที่ไม่สู้จะเลิศก็ใช้ได้น้อย แม้แต่ฆราวาสชั้นธรรมดาก็ต้องมีความรู้เรื่องสุญญตานี้ไปตามส่วน มิฉะนั้นเขาจะร้องไห้มากเกินไป จะฆ่าตัวตายในที่สุด หรือจะเป็นโรคเส้นประสาทมากเหมือนคนสมัยนี้เวลานี้ ฉะนั้นแม้แต่ฆราวาสก็ ต้องการอย่างนี้ นี่คือปรมัตถธรรมที่จะมาช่วยเกื้อกูลแก่ฆราวาส ให้มีประโยชน์ ให้มีความสุข ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ฆราวาสบางคนจะไม่เอาก็ตามใจ แต่ถ้าถามท่าน ท่านจะตรัสตอบอย่างนั้น ที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดที่สุดของท่าน หรือว่าถ้าเราเรียกกันอย่างในสมัยนี้ว่าคนโปรดปรานที่สุดของ พระพุทธเจ้า เช่น อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ท่านก็ยังแนะว่าอย่ามัวแต่ทำบุญเลี้ยงพระ บำรุงศาสนา แล้วก็พอใจแต่อย่างนั้นอย่างเดียว จงรู้จักทำสิ่งที่เรียกว่า “ปวิเวก” ให้เกิดขึ้นด้วย สุดความสามารถที่จะทำได้ หมายความว่าท่านมิได้ห้ามหรือว่าตรัสตำหนิว่า ทำบุญทำทานนี้น่ะ เป็นเรื่องผิดมันก็เป็นเรื่องถูก และ ควรทำ บำรุงศาสนาให้มีอยู่ สำหรับประโยชน์แก่คนต่อไป นี้เป็นเรื่องถูกเรื่องหนึ่ง แต่มันยังไม่ใช่ ปวิเวก ปวิเวก คือความสงบสงัดจริงๆ ไปแสวงหาปวิเวกด้วย ปวิเวก หรือ วิเวกเฉยๆ ก็เหมือนกัน คือความสงบสงัด ถ้าทางกายก็มีเวลาที่เราอยู่ในที่สงบสงัดไม่ถูกรบกวนในทางกายกันบ้าง แล้วมันจะสบาย อย่างไรก็ไปรู้เอาเอง และอันที่สองเรียกว่า จิตวิเวก คือจิตไม่ถูกนิวรณ์ กิเลสเป็นต้น รบกวน แล้วสบายยิ่งไปกว่านั้น เช่นรู้จักทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตนี้ก็ไม่ถูกนิวรณ์ เป็นต้นรบกวน ก็สบายยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งกว่า กายวิเวก ถ้าไปได้ถึงชั้นสูงสุดก็เรียกว่า อุปธิวิเวก คือหมดกิเลสสิ้นเชิง หมดกิเลสสิ้นเชิงคือหมดทั้งรากเหง้า ของกิเลส อนุสสัยของกิเลสแล้วมันก็เป็นอันว่าไม่มีกิเลสรบกวน โดยประการทั้งปวงคือถึงขั้นสูงสุด มีความสะอาดสว่างสงบถึงที่สุด อย่างนี้ก็วิเวกถึงที่สุด คำว่าวิเวกมันมีอยู่อย่างนี้ ให้สนใจวิเวก ทำวิเวกนี้ ให้เกิดขึ้นบ้าง นี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าแม้แต่ฆราวาส ก็ต้องสนใจเรื่องปรมัตถธรรม แม้ว่าจะทำบุญให้ทาน ได้รับความพอใจอยู่ มีปิติปราโมชอยู่ มันก็ยังเป็นคนละอันกับวิเวก คือการที่จิตมันหยุด มันสงบ มันว่าง ถ้าเราลุ่มหลงอยู่ด้วยความดีมันก็ไม่ว่าง จิตมันไม่ว่าง แม้ว่าเราจะมั่นหมายอยู่ในบุญกุศล ก็เรียกว่ามันไม่มี ความทุกข์จริง แต่มันก็ไม่ใช่เป็นความว่างหรือหยุด หรือสงบโดยแท้จริง บางเวลาก็ควรรู้จักว่าง สงบ วิเวกกันเสียบ้างจากทุกสิ่ง ทีนี้มันก็จะเลื่อนมาหาสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรม มองเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นที่ตั้ง แห่งความยึดมั่นถือมั่น และไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ไม่ควรจะมีความยึดมั่นถือมั่นขึ้นเลยเรียกว่า ปวิเวก อย่าให้เสียทีที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราบัญญัติโลกุตตรให้เป็นทรัพย์สมบัติของคนทั้งปวง ก็มีพวกพราหมณ์ไปทูลถามท่านว่า ในเมื่อพวกพราหมณ์ หรือฝ่ายพราหมณ์น่ะ เขาบัญญัติให้ อาวุธ ธนู ศร เป็นทรัพย์ของกษัตริย์ บัญญัติยัญญกรรม วิธีการให้เป็นทรัพย์ของพวกพราหมณ์ บัญญัติกสิกรรม เกษตรกรรม เป็นต้นให้เป็นทรัพย์ของพวกแพศย์ หรือไวศยะ บัญญติเคียวหรือไม้คานให้เป็นสมบัติของ วรรณะศูตร คือพวกกรรมกร และพระพุทธเจ้า พระสมนโคดมของเราบัญญัติทรัพย์อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสคำดียวว่า บัญญัติโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์สมบัติแก่คนทั้งปวง แก่คนนะ นี่ก็เป็นความหวัง หรือควรจะถือว่าเป็นความหวังของพระพุทธเจ้า แก่พวกเราทั้งหลาย เพราะอย่างนั้น ปรมัตถธรรมจึงยังมีความจำเป็น เพราะมันเป็นเครื่องที่ให้ได้มาซึ่งโลกุตตร หรือโลกุตตรทรัพย์
ทีนี้ก็อยากจะชี้ให้เห็นในสิ่งที่เรียกว่าปรมัตถธรรมเรื่อยๆขึ้นไป ปรมัตถธรรมนั้นไม่ใช่คำภีร์อภิธรรม ที่ชาวบ้านมักจะเรียกกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านแถวนี้ ผมก็ได้ยินเองแหละว่าพระปรมัตถ์น่ะ ท่านใช้คำว่าปรมัตถ์ แก่พระคัมภีร์หมวดพระวินัยพระปรมัตถ์ ชาวบ้านเขา เรียงลำดับกัน อย่างนี้ พระไตรปิฎกคือพระสูตร พระวินัย แล้วพระปรมัตถ์ ที่เรียกว่าพระปรมัตถ์นั่นหนะ คือคัมภีร์อภิธรรม ถ้าเป็นอย่างที่ถูกต้องตามแบบฉบับ หรือในตัวพระไตรปิฎกเอง จะเรียงพระวินัยไว้ก่อน เรียกว่าวินัยปิฎก แล้วก็สุตตันตะคือพระสูตร สุตตันตปิฎก แล้วก็อภิธรรม อภิธรรมปิฎก มีอยู่อย่างนี้ แต่ชาวบ้านเขาไปเรียกพระอภิธรรมปิฎกว่าปรมัตถ์ ก็ถูกเหมือนกันแหละ แต่ไม่ใช่ปรมัตถ์ที่ผมกำลังพูด อภิธรรม คัมภีร์อภิธรรม ก็เป็นปรมัตถ์ที่เฟ้อ คือเป็นคำสอนที่เฟ้อไปในเรื่องปรมัตถ์ส่วนที่เกิน ถ้าต้องการ ที่จะศึกษาเรื่องสุญญตาอย่างละเอียดลออ มันกลับไปหาได้ในสุตตันตปิฎก และไปหาได้ในส่วนที่เกินที่เฟ้อ จนเวียนหัวในอภิธรรม ก็เป็นตัวหนังสือ เป็นคำพูดไปหมด ไม่แสดงสุญญตาโดยวิธีปฏิบัติชัดเจนลึกซึ้ง เหมือนในสุตตันตปิฎกนั่น ถ้าจะดูข้อปฏิบัติเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปฏิบัติ สมถวิปัสสนาอย่างละเอียด อย่างดี อย่างสูง อย่างประณีต ก็จะหาพบในสุตตันตปิฎก แม้ที่สุดใน อานาปานสติภาวนา ในอุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย นี้ก็ สุตตันตปิฎก ซึ่งในอภิธรรมหาไม่พบ มันมีแต่ ตัวหนังสือที่เฟ้อละเอียดลึกซึ้งเป็นนักปราชญ์สำหรับคิด สำหรับพูดอย่างนี้เป็นต้น ที่จริงมาบอกให้รู้ว่า ที่เรียกว่าปรมัตถธรรมในที่ผมกำลังกล่าวนี้ ไม่ใช่คัมภีร์พระอภิธรรมในพระไตรปิฎก แต่เป็นปรมัตถธรรม สูงสุด ที่พบได้มากที่สุดในสุตตันตปิฎก
ทีนี้เพื่อจะไม่ให้…ไม่ให้ก้าวก่ายเหยียบย่ำดูหมิ่น ดูถูกกันละก็ ขอระบุไปยังเรื่องสุญญตา นี่คุณไปหาพบที่ไหนได้ก็ตามใจเถอะ ให้ถือว่าปรมัตถธรรมที่สูงสุดนี่ก็คือเรื่องสุญญตา คือความว่างจาก ตัวตน ว่างจากของตน ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ว่าแบกมหากุศลอยู่อย่างพวก อภิธรรมตามศาลาวัด นี่พูดอย่างนี้ค่อยดูถูกคนอื่น หรือด่าคนอื่น แต่ผมไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น เพื่อจะชี้ให้เห็นชัด ให้มันเร็วๆเข้า คือถ้าเป็นปรมัตถธรรมจริง ต้องไม่แบกอะไร มันจึงเป็นเรื่องสุญญตา ว่างจากตัวกู ว่างจากของกู ถ้ายังต้องแบกอยู่ แม้แบกมหากุศล แบกอะไรก็ตาม ก็ยังไม่ใช่ปรมัตถธรรมสูงสุด ถ้าอยากจะใช้คำว่า อภิธรรม ก็ต้องเป็นอภิธรรมเป็นธรรมะอย่างยิ่ง ไม่ใช่ธรรมะเกิน นี่เรียกว่าปรมัตถธรรมที่จะมาแก้ปัญหา ทางวิญญาณได้ ต้องเป็นเรื่องสุญญตา คือว่างจากตัวกูของกู อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแก่อุบาสก พวกนั้นที่ไปถามว่า อะไรดีที่สุด สูงสุดสำหรับฆราวาส ท่านก็ตรัสว่า ธรรมะทั้งหลายที่เนื่องด้วยเรื่อง สุญญตา มันคือว่าตามคำของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน ว่าเรื่องสุญญตา ความว่างนั้นน่ะเป็นสูงสุด แม้สำหรับ ฆราวาส
ทีนี้คำว่า “ว่าง” นี่ ก็พูดอธิบายในที่อื่นมากแล้ว หรือจะพูดอีกครั้งหนึ่งก็ในโอกาสต่อไป แต่ขอสรุป ใจความสั้นๆ ประกันความฟั่นเฝือว่า ว่าง นี่นะมันว่างจากความรู้สึกคิดนึกประเภทที่ว่าเป็นตัวกู ของกู คือจิตไม่ไปจับฉวยอะไรเป็นตัวกูของกู เรียกว่า จิตว่าง หรือความว่าง คือว่างจากการจับฉวยอะไรเป็นตัวกู ของกู ของจิตนั่นเอง โดยถือว่าให้มองเห็นชัดลงไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันไม่ใช่ตัวตนที่ควรยึดถือ ทั้งหมด ทั้งโลก ทั้งสากลจักรวาล ไม่มีส่วนไหน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วควรยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือของตน พอจิตรู้สึก หรือเห็นอยู่อย่างนี้มันก็ไม่ได้ยึดอะไรไว้โดยความเป็นตัวตนของตน แต่แล้วจิตนั้นก็รู้อะไรได้ ทำการทำงานได้ บังคับร่างกายให้ทำการทำงานได้ หากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ หาชื่อเสียงก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ไม่เป็นทุกข์เลย เพราะไม่ได้เอาอะไรมาแบกมาถือไว้ โดยความเป็นตัวเป็นตนของตน นี่เรียกว่าการปฏิบัติ เรื่องสุญญตาเป็นอย่างนี้ ชาวไร่ชาวนาทั้งหลายก็ทำงานไปโดยที่ไม่ต้องมีจิตหมายมั่นอะไรเป็นตัวตนของตน ก็ทำไปซิ ยังจะสนุกสนานกว่า ไม่ทุกข์ไม่ร้อนก็ทำไป ก็ได้กินได้ใช้ ก็เกิดผลขึ้นตามสมควรแก่การกระทำ ชั่วว่าอย่าให้มีทุกข์ ถ้าไปมีทุกข์มันก็ต้องวิตกกังวล มัววิตกกังวลล่วงหน้า จนเป็นทุกข์เสียเปล่าๆ เรื่องบุตรภรรยาสามีอะไรก็ตาม ก็มี เป็นก็ทำ โดยไม่ต้องมั่นหมายให้เป็นตัวกูเป็นของกู จิตใจอย่างนี้ เขาเรียกว่าจิตที่ว่าง จากความมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวกูของกู ก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ทำอะไรได้ ใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าสุญญตามันมีอยู่อย่างนี้ ก็เป็นปรมัตถธรรมสูงสุดอย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้เอง ก็เป็นอันว่ามันสามารถจะดับทุกข์ได้ ตั้งแต่ของพวกฆราวาสขึ้นไป จนเป็นปุถุชนชั้นดี จนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า เป็นยอดสุดของพระอริยเจ้าคือเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น ปรมัตถธรรม ไม่ใช่คัมภีร์ที่ว่าด้วยจิตวิทยา ปรัชญา ตรรกวิทยา อันละเอียด อันมากด้วยตัวอักษร อย่างที่เรียกว่าคัมภีร์อภิธรรม แต่ว่ามันจะอยู่ในวินัยก็ได้ ในสุตตันตะก็ได้ ในคัมภีร์อภิธรรมก็ได้ ขอให้มันเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยสุญญตาก็แล้วกัน
ทีนี้จะได้กล่าวความรู้เรื่องสุญญตาไว้อย่างเป็นกลุ่ม เป็นก้อน ชัดเจนละเอียดลออนี้จะพบได้ใน สุตตันตปิฎก ขอให้ถือว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นไม่ได้มีแยกเป็นวินัย หรือเป็นพระสูตร หรือเป็นอภิธรรม เขาเรียกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด สรุปรวมลงแล้ว มันไปอยู่ในประโยคที่ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ นั่นน่ะ คือยอดของปรมัตถธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือไม่ควรไปมั่นหมายเข้าว่ามันเป็นตัวกูหรือเป็นของกู
อภิธรรม ซึ่งเป็นชื่อของคัมภีร์นั้น อย่าได้เข้าใจไปว่าเป็นปรมัตถธรรมที่มีความมุ่งหมายในที่นี้ ปรมัตถธรรมที่มีความมุ่งหมายในที่นี้ คือการปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งใดโดยความเป็นตัวกู ของกู หรือจะเรียกอย่างที่เราต้องการเอาเป็นประโยชน์ว่า การปฏิบัติที่สามารถดับทุกข์ในส่วนลึกซึ้ง ทั้งหมดได้โดยตรง สามารถดับทุกข์ได้ ตัวธรรมบางอันมันไม่สามารถนะ หรือมันไม่ดับทุกข์ก็มี แต่ว่ามัน ตรงกันข้าม บางอันไม่สามารถที่จะดับความทุกข์ที่เป็นส่วนลึก มันดับได้แต่ส่วนตื้นๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้า ท่านจึงตักเตือน อนาถปิณฑิก ว่า นอกจากทำบุญเลี้ยงพระบำรุงศาสนาแล้ว ขอให้สนใจเรื่องปวิเวกด้วย แล้วมันอยู่ในส่วนลึก มันจะดับทุกข์ได้ โดยตรงไปยังความทุกข์ส่วนที่มันลึก จะขยายความเรื่องนี้อีกหน่อยก็ได้ปฏิบัติ ดับทุกข์ ในส่วนลึกทั้งหมด และโดยตรง ความทุกข์ที่ส่วนลึกมีอยู่อย่างที่ มีเงิน หรือชื่อเสียงหรืออำนาจวาสนาก็ดับให้ไม่ได้ นี่ก็ส่วนลึกและก็มีอยู่มาก ต้องดับความทุกข์นั้นโดยตรง นี่คือการที่มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง คือมีจิตประกอบอยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นจิตที่ทำให้ชีวิตนี้ มันถูกต้อง มีการเป็นอยู่อย่างถูกต้อง สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ ถูกต้อง และตามหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำ เราอยู่ทุกวันนี้ มันก็มีหน้าที่นี้แหละ คือต้องมีหน้าที่ การทำ การพูด การคิด แล้วก็ให้มันถูกต้อง ไปตามหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำ ที่ว่าถูกต้องนั้น ก็คือปราศจากความหมายมั่น และรู้สึกสิ่งใดด้วยความโง่ ความหลงว่าเป็นตัวกูบ้าง ว่าเป็นของกูบ้าง เพราะว่าเรามันโง่เรื่องนี้กันมา ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่อ้อนแต่ออก จนจะเข้าโลงอยู่แล้ว มันก็ยิ่งโง่มากขึ้น มากขึ้น ที่จะมั่นหมายอะไรว่าเป็นตัวกู เป็นของกูนี่มันจะตายเปล่า คือตอนสุดท้ายนี่จะต้องรู้จักความจริง แล้วก็ให้มันสลายไป ให้ความหมายมั่นว่า เป็นตัวกูของกูนี่มันสลายไป มันจะพบกับความว่างคือพระนิพพาน แล้วไม่มีความทุกข์ ปราศจากกิเลสทั้งหลาย ที่มาจากอวิชชา เพราะมันปราศจากอวิชชา ซึ่งเป็นต้นตอแห่งกิเลสทั้งหลาย อวิชชาก็คือ ความไม่รู้ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ไม่ควรยึดมั่นว่าตัวกูของกูนั่นแหละ คือตัวอวิชชา
ทีนี้เมื่อมันปราศจากสิ่งที่หม่นหมองมืดมัวมหาศาลนี้แล้ว มันก็เป็นจิตใจที่สว่างไสว จึงมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาอยู่เต็ม มีสติระลึกได้ มีสัมปชัญญะคือความรู้ที่ระลึกได้นั้น อยู่ตลอดเวลา ถ้ามี ปัญญาถูกต้องตามที่เป็นจริง คือไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นในการที่เป็น อยู่ในโลกนี้ แม้เป็นฆราวาสก็ต้องเป็นอยู่ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ และด้วยปัญญา นี่ ไปศึกษาโดยรายละเอียดกันเอาเอง ก็เห็นได้ว่ามันอยู่โดยปราศจากความหิวทะเยอทะยานที่เรียกว่าเป็นเปรต หิวทะเยอทะยานเมื่อไหร่ ก็เป็นเปรตเมื่อนั้น อย่าอยู่ด้วยความหิวทะเยอทะยานอย่างนั้น ปราศจากความทุกข์ทั้งปวงโดยแน่นอน สิ่งที่ทนได้ยากก็เรียกว่าความทุกข์ มืดมนในจิตใจก็เรียกว่าความทุกข์ หนักอึ้งอยู่ด้วยภาระทางจิตใจ ก็เรียกว่าความทุกข์ วุ่นวายอยู่เร่าร้อนอยู่ ก็เรียกว่าความทุกข์ แม้ว่าได้เจ็บปวดอยู่ก็เรียกว่าความทุกข์ ต้องมีอุบายอันหนึ่งที่ว่าขจัดความทุกข์เหล่านี้ออกไปได้ ด้วยธรรมที่เรียกว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือปรมัตถธรรม อย่ารับเอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น นี้มาเป็นของตน แม้มันจะมี ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่ตามธรรมชาติ จิตมันก็เก่งมาก เข้มแข็งมาก ถึงกับสลัดออก ไปจากความยึดมั่นเป็นตัวกูของกู มันก็รู้สึกเป็นทุกข์น้อย กระทั่งว่าไม่เป็นทุกข์เลย เจ็บปวดแต่ที่ร่างกาย แต่ไม่เจ็บปวดที่จิตใจ หรือที่วิญญาณ และเป็นสุขตลอดเวลา เวลาทำงานก็เป็นสุข เวลาบริโภคผลงาน ก็เป็นสุข เวลาพักผ่อนก็เป็นสุข นี่เรียกว่าปฏิบัติถูกต้อง ในทางหนึ่งปฏิบัติชั้นลึกซึ้ง ชั้นสูงสุด ก็จะพูดกัน ให้มันเป็นเรื่องสรุปความก็เรียกว่า รักษาจิตที่มันไม่รู้จักเป็นทุกข์ ไม่มีกิเลสนี้ไว้ให้ได้ ตามธรรมดาจิตนี้ เป็นประภัสสร นี้เป็นพระพุทธภาษิตโดยตรงว่า ปภัสสรมิทัง ภิกขเว จิตตัง (ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ) จิตนี้ประภัสสร รุ่งเรืองสว่างไสว แต่แล้วเศร้าหมองเพราะกิเลสจรมาครอบงำเป็นคราวๆ นี้การปฏิบัติปรมัตถ์สูงสุดก็คือ ปฏิบัติให้ฉลาด อย่าให้กิเลสเกิดขึ้น ครอบงำจิตประภัสสร นั้นก็คงประภัสสรไปเรื่อยๆจนตายตัว จนไม่มีการเศร้าหมองได้ เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้นครอบงำจิตประภัสสรได้ มันก็เจริญไปในทางที่รู้ จนสะอาด สว่าง สงบ ตายตัวลง ไปได้เหมือนกัน หรือถ้าจะเรียกอย่างในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เป็นคำกล่าวของ พระสารีบุตร หรือใครก็ไม่ทราบ แต่ก็มีในพระไตรปิฎกคือ ปฏิสัมภิทามรรค ที่ว่า ปกติปริสุทธ มิทัง ภิกขเว จิตตัง (ปกติปริสุทฺธมิทํ ภิกขเว จิตตํ) พูดที่มีสำนวนพระพุทธเจ้า พูด ตรัส จิตนี้มีความบริสุทธิ์อยู่เป็นปรกติ ความก็เหมือนกัน ขยายความเป็นประภัสสร หรือความเป็นบริสุทธิ์ออกไป ออกไป ออกไป ออกไป ให้มันยาวออกไป ยาวออกไป ระยะที่กิเลสจะเข้ามาครอบงำให้มันน้อยเข้า สั้นเข้า จนไม่มี จะเรียกว่าขยายเวลาประภัสสร ให้ออกไปให้มันยาว เวลาที่มันเศร้าหมองนี่มันน้อยเข้า สั้นเข้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ควบคุมไว้ ให้ความเป็นประภัสสรนั้นมันคงอยู่ ความปรกติบริสุทธิ์นี้ยังคงอยู่ นี่แหละคือการปฏิบัติในส่วนที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม มันมีความแจ่มแจ้งอยู่ด้วยความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น มันถึงจะสกัดกั้น ต้นเหตุแห่งความเศร้าหมองหรือกิเลส ทำลายต้นเหตุคือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสเสียได้ รู้เรื่องความจริง ทั้งปวงของสิ่งทั้งปวง เช่นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เห็นอยู่เป็นประจำ มีสติควบคุมการเผลอเรอ ที่จะเกิดอวิชชาขึ้นในจิตใจ นี่เรียกว่ารู้วิธีป้องกันและแก้ไข ในที่สุดก็ไปอยู่ในรูปเรื่องของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ รู้เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางถึงการดับทุกข์ เป็นเรื่องที่ละเอียดลออที่ต้องพูดกัน คราวอื่น
เป็นอันว่าเรื่องปรมัตถธรรมนี่คือ สิ่งที่จะเป็นศาสตรา หรือธรรมศาสตราอย่างสูงสุด เพื่อจะแก้ ปัญหาเรื่องทางจิตทางวิญญาณโดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ แม้แก่คนชาวบ้าน ซึ่งจะใช้ไปตามส่วน และถ้าเรารู้จักสอนลูกเด็กๆให้มันมีความรู้เรื่องนี้บ้าง มันจะไม่เป็นอันธพาลอย่างที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ มันจะร้องไห้ น้อยเข้า หรือไม่ร้องไห้เลย มันจะไม่ฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุที่บิดามารดาไม่ได้ตามใจเขา จะมีประโยชน์ลึกซึ้ง แม้แก่ลูกเด็กๆ ฉะนั้นขอให้ถือว่า ความรู้นี้จะต้องทำให้ก้าวหน้าต่อไป จนใช้เป็น ประโยชน์แก่ลูกเด็กๆได้ ไม่ต้องพูดถึงคนหนุ่มคนสาวอย่างพวกคุณที่บวชระหว่างปิดภาค นี่มันโตพอแล้ว ที่จะรู้จักสิ่งนี้ ขอให้ใช้เวลาในระหว่างที่อยู่ที่นี่ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ให้มากที่สุด
เวลาสำหรับบรรยายในวันนี้ ก็สิ้นสุดลงแล้ว ขอยุติการบรรยายวันนี้ ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน