แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
๑๙ เมษายน ๒๕๑๙ บรรยายธรรมะแก่พระของอาจารย์ขาวที่หินโค้ง
ท่านที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ผมขอแสดงความยินดีที่ได้มาพบกันอีกในลักษณะอย่างนี้ เหมือนอย่างที่เคยพบกันปีก่อนๆ ซึ่งมีความมุ่งหมายส่วนใหญ่ก็คือเป็นโอกาสที่จะได้พูดจาอะไรกันบ้างเท่าที่จะนึกได้ตลอดเวลาที่มันผ่านไปปีหนึ่งๆ ท่านที่เคยมาแล้วเมื่อปีก่อนๆ ก็คงจะยังนึกได้ว่าผมเคยพูดเรื่องอะไร สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมาก็จะขอบอกให้ทราบว่าพูดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่ค่อยจะซ้ำใครที่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายควรจะได้ทราบ สำหรับเรื่องวิชาการหรือหลักธรรมะโดยเฉพาะนั้นไม่ต้องพูด ไม่เคยคิดว่าจะพูด ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าได้รับการอบรมมาอย่างเพียงพอแล้ว เหลืออยู่แต่เรื่องที่อาจจะเรียกว่าเรื่องเบ็ดเตล็ดก็ได้ แต่มันก็มีความสำคัญจนถึงกับจะขาดเสียไม่ได้ หรือถ้าขาดเสียแล้วมันก็จะไม่มีรสไม่มีชาด ไม่ชวนให้ทำ เหมือนการกินอาหารที่มีการปรุงอาหารให้มีรสดี สิ่งที่ทำให้มีรสดีนั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายเหมือนกับสิ่งธรรมดาสามัญซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งที่มีรสดี แต่มันก็มีความสำคัญถึงกับว่ามันก็ขาดไม่ได้ ถ้ารสมันเลวเกินไปมันก็กินไม่ได้ ทุกอย่างดูจะเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นจึงเรียกว่ามันมีอะไรบางส่วนซึ่งยังเป็นเรื่องประกอบ หรือเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด แต่แล้วก็ขาดไม่ได้ คือเปรียบเหมือนกับว่าน้ำมันหล่อลื่นที่หยอดเครื่องจักร จริงๆ มันก็นิดเดียว แต่ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วมันหมุนไม่ได้ มันจะดีอย่างไรมันก็หมุนไม่ได้ แล้วมันจะร้อนถึงกับละลายหมด แต่คนก็มองข้ามความสำคัญของมัน ไปสนใจที่ตัวเครื่องจักรซึ่งมีราคามากมายวิจิตรพิสดาร แต่หารู้ไม่ว่าขาดน้ำมันเครื่องแล้วมันไปไม่ได้ มันหมุนไม่ได้ มันต้องทิ้ง ฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจต่อไปว่า วิชาความรู้ของคนเรานั้นนอกจากจะเป็นหลักโดยตรงแล้ว มันยังมีอะไรอีกบางอย่างซึ่งต้องมาช่วยกันด้วยให้มันเป็นไปได้ตามหลักนั้นๆ สิ่งเหล่านี้แหละคือสิ่งที่ผมจะพูดในฐานะที่เป็นธรรมะปฏิสันถารต้อนรับท่านทั้งหลายตามประสาคนเจ็บคนไข้จะทำได้ จะนึกอะไรลึกซึ้งก็ไม่ได้เพราะไม่สบาย จึงต้องเอาเท่าที่จะมองเห็นตามธรรมดาสามัญ
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อยากจะตั้งต้นแนะให้เห็น นับตั้งแต่ว่าเราเป็นพระวิปัสสนา เรารู้จักคำว่า วิปัสสนาว่ามันคืออะไร ถ้าท่านยิ่งรู้จักประวัติของคำว่าวิปัสสนาด้วยแล้วก็ยิ่งดี ตามหลักฐานในพระบาลีโดยเฉพาะในพระไตรปิฎกนั้นจะไม่มีคำนี้ใช้ด้วยซ้ำไปว่าพระวิปัสสนาหรือพระคันถธุระนั้น มันยังไม่เคยแยกกันถึงขนาดนั้น แต่พอเกิดแยกกันเข้ามันก็ทำให้มีความรู้สึกผิดปกติไปทีเดียว อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ เป็นพระบ้าน คันถธุระ ปริยัติ และเป็นพระป่า นักวิปัสสนา เป็นนักปรมัติ อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หรือการแยกกันอย่างนี้มันไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลเพราะไม่ปรากฏอยู่ในพระบาลี เว้นแต่ในอรรถกถารุ่นหลังนี้มันช่างมากเหลือเกิน มีการแบ่งแยกอย่างนี้ แล้วมีประวัติชนิดที่ทำให้เห็นว่ามันไม่สามัคคีกัน
ครั้งพุทธกาลอย่างจะมีก็มีแต่เพียงว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง เพราะว่าทุกองค์ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด จะต้องเรียนอย่างเดียวกัน ปฏิบัติอย่างเดียวกัน มันจึงเหลือแต่ว่ามันเอาจริงหรือไม่เอาจริง การออกไปอยู่ที่สงบสงัดนั้นเป็นหน้าที่ของภิกษุ และพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงขอร้องไม่จำกัดหมู่ไหน พวกไหน ทรงขอร้องทั้งหมด ว่านั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง จงประกอบความเพียร อย่าต้องเป็นผู้เสียใจในภายหลังว่าเราไม่ได้รับอะไร ถ้าเข้าใจข้อนี้คงจะบรรเทาความรู้สึกประเภทที่เป็นมานะทิฐิยกตัวหรือถึงกับยกหูชูหางได้มากทีเดียว อย่ามีแยกเป็น ๒ พวก แรกๆ ก็หันหลังให้กัน เดินไปคนละทาง ทำงานคนละอย่าง และนี่เป็นเรื่องงมงายที่สุด ถ้าเป็นอย่างครั้งพุทธกาลภิกษุจะต้องมุ่งหมายทำเหมือนกันหมด ไม่แยกว่าเป็นคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระได้ เพราะครั้งพุทธกาลนั้นไม่มีคันถะ คือ พระคัมภีร์ ไม่ได้เขียนสักตัวหนึ่ง เพราะว่าคันถะนั้นก็แปลว่า คัมภีร์ หรือสมุด หนังสือหนังหา ตำรับตำรา อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าคันถะ ผิดกันแต่เพียงแต่ว่าเขาเขียนลงไปในใบไม้ เช่น ใบลาน เป็นต้น ไม่ได้พิมพ์ด้วยโรงพิมพ์อย่างเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นคันถะมันจึงมีไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ยังสอนไม่ได้กี่เรื่องกี่สูตร ยังไม่พอที่จะจัดเป็นนิกายนั่น นิกายนี่ ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย เป็นต้น เพียงแต่รวมๆ ไว้ว่าท่านสอนว่าอะไร แล้วก็ช่วยจำกันไว้ แต่หลักสำหรับปฏิบัตินั้นเรียนจากบุคคลมากกว่า คือ ดูอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ แล้วก็ปฏิบัติตามไป มีปัญหาเกิดขึ้นก็ทูลถามพระพุทธเจ้า หรือว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ที่จะช่วยบอกให้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะแยกกันเป็นพระคันถธุระ วิปัสสนาธุระ มันก็จึงตัดหนทางที่จะคิดอิจฉาริษยาแข่งขันอะไรกันเป็นต้นเสีย ทีนี้เดี๋ยวนี้ถึงอย่างไรเราก็ต้องใช้คำนี้แล้ว เพราะหลีกไม่ได้ ใช้คำว่าวิปัสสนาธุระ แล้วก็เรียกผู้ปฏิบัติว่านักวิปัสสนา
ปัญหามันก็มีต่อไปอีกเป็นธรรมดาว่า วิปัสสนานั้นคือทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าวิปัสสนา เพราะเหตุที่ไม่รู้จักคำว่าวิปัสสนาคืออะไรนั่นน่ะ มันจึงเป็นบ้าเสียมากมายในหมู่นักวิปัสสนา เพราะมันทำผิดความหมายของคำว่าวิปัสสนานั่นเอง เพราะฉะนั้นเราควรจะแยกแยะดูให้เห็นชัดว่า วิปัสสนานี้คือทำอย่างไร ถ้าเป็นวิปัสสนาจริงแล้วไม่มีทางที่จะเป็นบ้า นักวิปัสสนาที่เป็นบ้านั่นเพราะทำผิดความหมายของคำว่าวิปัสสนา จึงทำสมาธิมุ่งที่จะมีฤทธิ์ มีเดช มีอะไรของสมาธิ ไม่ได้อย่างใจมันก็เป็นบ้า หรืออะไรแปลกออกมาสักนิดหนึ่งมันก็คิดว่า นี่แล้วๆ คือผลของไอ้วิปัสสนา มันไปยึดมั่นถือมั่นจนเป็นบ้า นี่มันไม่ใช่ความหมายของวิปัสสนา วิปัสสนามันแปลว่าเห็นแจ้ง วิ ว่าแจ้ง ปัสสนา แปลว่าเห็น ถ้าเห็นแจ้งคือเห็นอย่างถูกต้อง แจ่มแจ้ง แล้วจะเป็นบ้าได้อย่างไร แต่นี่มันไม่ได้เห็น มันหมายมั่นที่จะมีสมาธิ มีฌาณ มีฤทธิ์ มีเดช มีอะไรไปตามเรื่องของความต้องการประโยชน์ ทำวิปัสสนาด้วยกิเลสตัณหาที่จะมีผลเป็นสมาธิเป็นเครื่องมือสำหรับไปแสวงหาโอกาส หาลาภสักการะ หาอะไรต่างๆ ไม่มีความหมายของคำว่าวิปัสสนาเหลืออยู่สักนิดเดียวในการกระทำนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นบ้า สมน้ำหน้ามัน
ทีนี้ทำการเพ่งพิจารณา มันก็มีความหมายที่กำกวม วิปัสสนาไม่ได้แปลว่าเพ่ง คำว่าเพ่งหมายถึงคำว่า ฌานะ ฌานะที่แปลว่าเพ่ง เป็นฌายันโต เพ่งอยู่ เพ่งนี้มันมี ๒ เพ่ง เพ่งให้เป็นสมาธิ เพ่งไปที่อารมณ์หรือวัตถุที่เป็นอารมณ์ กำหนดอยู่ที่อารมณ์ นี้ก็ยังไม่รู้แจ้ง ไม่ใช่เรื่องรู้แจ้ง เพราะฉะนั้นการเป็นสมาธิ คือทำสมาธิได้เป็นฌาน เป็นสมาธิ มันก็ยังไม่ใช่วิปัสสนา เพราะยังไม่เห็นแจ้ง แต่ว่ามันเขยิบเข้ามาแล้ว ก็ต้องเพ่งอารมณ์ ต้องดูที่อารมณ์ มันก็จะมีการเห็นบ้าง แต่เห็นในลักษณะที่เป็นอารมณ์สำหรับจิตจะกำหนด มันยังไม่ใช่เห็นแจ้ง มันก็เป็นเพียงการเห็นบ้าง คือ เห็นอารมณ์ เพราะมันเพ่งอยู่ที่อารมณ์ แต่ว่าเราเดินมาฝ่ายทางที่จะถูกต้องและปลอดภัย
ทีนี้เมื่อมีความสำเร็จในการทำจิตให้เป็นสมาธิ เป็นจิตที่ฝึกดีแล้ว มีสมาธิดี เรียกว่าจิตนั้นอบรมดี มีความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ เป็นจิตที่ว่ามันตั้งมั่น และไวหรือพร้อมที่จะทำวิปัสสนา คือต้องการเห็น ถ้าฝึกจิตได้ขนาดนี้ก็สำเร็จในส่วนของสมาธิ ก็มาเพ่งอีกทีหนึ่ง ทีนี้ไม่ใช่เพ่งวัตถุหรือเพ่งอารมณ์แล้ว เพ่งที่ความจริง ความจริงแท้ของธรรมชาตินั้นๆ มีผลขึ้นมาก็คือว่าเห็นแจ้ง เห็นแจ้งหรือเห็นตามที่มันเป็นจริงอย่างไร พวกเราจึงบังคับให้เห็นไม่ได้ หรือจะคิดเพื่อให้เห็น มันก็ไม่ได้ มันได้แต่ดูๆ ๆ ๆ อยู่เรื่อยไปจนกว่าจะเห็น ตอนที่คิดด้วยเหตุผลนั้น ไม่ใช่วิปัสสนา และจะไม่เป็นไปเพื่อวิปัสสนาด้วย เพราะมันคิดเอามากเกินไป มันเป็นการใช้เหตุผลที่มากเกินไป มันก็ไปตามเหตุผล เหตุผลผิดมันก็ผิดกันใหญ่ นี่มันก็ยังไม่รับประกันได้ว่าจะเป็นวิปัสสนา ต่อเมื่อใดมาดูลงไปตามที่มันเป็นอยู่อย่างไร อย่าต้องไปคิดมัน อย่าไปน้อมนำความคิด อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น มันอาจจะเขวไกลออกไปเสียก็ได้ แต่ดูตามที่มันเป็นอยู่จริงอย่างไร แล้วพอเห็นตอนนี้จะเป็นวิปัสสนา
อย่างทำอานาปานสตินี่ ถ้าไปพิจารณามันก็ไม่มีทางหรอก มันมีแต่เพียงดูลงไป กำหนดเข้าไว้ มันมีแต่คำว่ากำหนดเป็นปฏิสัณจิตคติอย่างนี้ (นาทีที่ 19.20) หรือว่า เวที รู้อยู่ เห็นอยู่ ถ้าสมมุติว่าจะพิจารณาอนิจจัง มันก็เป็นเรื่องที่พิจารณาไปในทางคำณวนหรือว่าเอาเองเสียมากกว่า มันต้องดูลงไปที่ๆ ๆ สิ่งที่มันมีอยู่หรือมีให้ดู เช่น ดูว่าลมหายใจมันไม่เที่ยงอย่างนี้ ถ้าไปมัวคิดอยู่มันก็ไม่มีทางที่จะเห็นความไม่เที่ยง มันจะไปคิดว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง เหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าดูก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง ก็เดี๋ยวมันเข้า เดี๋ยวมันออก เดี๋ยวมันหยาบ เดี๋ยวมันละเอียด เดี๋ยวมันสั้น เดี๋ยวมันยาว ก็มันเนื่องอยู่ด้วยปัจจัยต่างๆ มันจึงไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นการเห็นว่าลมหายใจไม่เที่ยงนั้นน่ะ ไม่ใช่การคิด แต่ว่าเป็นการดู ดูลงไปด้วยตา คือ จิต
ทีนี้เรามีตาชนิดหนึ่ง เรียกว่า ตาธรรม ตาธรรมะ หรือ ธรรมจักษุ คือตาข้างใน ไม่ใช่ตาข้างนอกที่จะดูสิ่งข้างนอก มีตาข้างในสำหรับดูข้างใน แล้วก็ดูลงไปๆ มันจะเกิดอาการที่เรียกว่า วิ แล้วก็ ปัสสนา ปัสสนาแปลว่าเห็น วิแปลว่าอย่างแจ่มแจ้ง วิจิตรแปลกแตกต่างตามที่มันเป็นจริงอย่างไร เรียกว่าเห็นแจ้ง เพราะฉะนั้นจึงต้องดูทั้งนั้นแหละ ดูลมหายใจยาวก็ดูลงไปที่ลมหายใจยาว ให้เห็นลักษณะของลมหายใจยาว ให้เห็นหน้าที่ของมัน ให้เห็นอิทธิพลของมัน อย่าไปคิด ถ้าไปคิดมันมีทางที่จะไหลออกไปผิด แต่ดูอยู่ว่ายาวคืออย่างไร เพราะฉะนั้นเมื่อยาวแล้ว เมื่อลมหายใจยาวแล้ว เนื้อหนังร่างกายเป็นอย่างไร ความรู้สึกเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร เป็นเรื่องดูน่ะ อย่าไปคิด อย่าไปนำความคิด อย่าไปใช้เหตุผลจนเตลิดเปิดเปิงไป
ดูลมหายใจยาว ดูลมหายใจสั้น ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วก็ดูกายทั้งปวง กาย ลมหายใจ ร่างกายเนื้อหนังที่ว่าง ๒ กาย แล้วก็ดูว่ามันเป็นอย่างไร มันไม่มีเรื่องให้เราไปว่าเอาเอง หรือไปบังคับบัญชามัน หรือไปคิดให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ดูก็แล้วกัน ดูจนเห็นว่ากายลม ลมหายใจนี้ก็เรียกว่ากายชนิดหนึ่ง เรียกว่ากายลมนี้ปรุงแต่งไอ้กายเนื้อหนัง แต่ว่ากายลมมันหยาบ เนื้อหนังมันก็หยาบ กายลมมันละเอียด เนื้อหนังมันก็ละเอียด กายลมมันระงับ กายเนื้อหนังมันก็ระงับ อันนี้ดูเท่านั้นแหละ นั่งดูยังไม่ทำอะไร ดูยังไม่ต้องคิด หรือนำความคิดไปทางทิศไหน
กระทั่งถึงลำดับต่อไปว่าทำกายสังขารให้ระงับอยู่อย่างนี้ ก็ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงมาทุกที การที่มันปรุงแต่งกันระหว่างกายทั้ง ๒ มันก็ไม่เที่ยง ที่ถูกทำให้ระงับอยู่ เช่น กายลมระงับอยู่ มันก็คือความไม่เที่ยง ถ้ามันเที่ยงมันระงับไม่ได้ มันตายตัว ที่เราทำให้มันระงับได้ เพราะมันไม่เที่ยง เพราะมันก็จากความไม่ระงับไปสู่ความระงับ นี่ก็คือความไม่เที่ยง กระทั่งว่าจิตเป็นสมาธิก็ดูความไม่เที่ยงของจิตที่เดี๋ยวนี้ก็เป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิก็มีลักษณะที่ไม่เที่ยง มีเวทนาเกิดขึ้นจากความเป็นสมาธิ ก็ยิ่งเห็นว่าเวทนาไม่เที่ยง ปีติเกิดขึ้นก็ยิ่งเห็นว่าปีตินี่ก็ยิ่งไม่เที่ยง สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ปีติก็ไม่เที่ยง สองสิ่งนี้เป็นจิตสังขาร ปรุงแต่งจิตนี้มันก็ไม่เที่ยง แล้วจิตมันจะเที่ยงได้อย่างไร เมื่อสังขารของจิตมันก็ไม่เที่ยง จิตสังขารไม่เที่ยง แล้วจิตจะเที่ยงได้อย่างไร แล้วทำจิตสังขารให้ระงับอยู่ เวทนาหรือปีติและสุขก็ระงับอยู่ มันก็คือไม่เที่ยง เห็นอยู่แต่ไม่เที่ยงเท่านั้นแหละ คือว่าดูๆ เท่านั้น
แล้วไปถึงขั้นที่ว่าจิตมีลักษณะต่างๆ หมวดจิตตานุปัสสนา ก็เห็นว่านี่คือความไม่เที่ยง จิตจึงได้เป็นในลักษณะแปลกประหลาด อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นคู่ๆ ไปทีเดียว ถึงคราวที่จะทำจิตให้บันเทิงรื่นเริง อ้าว, มันก็ยิ่งเห็นความไม่เที่ยง ทำจิตให้ระงับก็เห็นความไม่เที่ยง ทำจิตให้ปล่อยอยู่ก็เห็นความไม่เที่ยง นี่แหละ อนิจจานุปัสสี การตามเห็นตามดูซึ่งความไม่เที่ยง ท่านใช้คำว่า อนิจจานุปัสสี ก็คืออนิจจัง และก็อนุปัสสี อนุแปลว่า ตาม ปัสสีก็ดู ตามดู ตามดูจนกระทั่งเห็น ก็เห็นความไม่เที่ยง นี่ก็คือวิปัสสนา คือ ดูแล้วก็เห็น ถ้ามัวไปคิดหาเหตุผลอยู่มันจะไม่เกิดการเห็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นผลของการคิดผิดก็ได้ ถูกก็ได้ ยิ่งคิดไม่เป็นก็ยิ่งผิด เหตุผลผิด มันก็ยิ่งผิด
เพราะฉะนั้นเราอาศัยหลักที่คำว่าวิปัสสนานั่นเอง พยายามที่จะดูให้เห็น ตามดูจนเห็น กำหนดก็กำหนดด้วยการดู อย่าไปกำหนดด้วยการใช้เหตุผล เดา คาดคะเน แล้วยิ่งไปกันใหญ่ แม้บางทีคำอธิบายจะใช้คำว่า พิจารณา ก็ให้เข้าใจแต่ว่าพิจารณานี้ก็คือ ดู ดูอย่างละเอียดลออ ไม่ได้ใช้เหตุผลตามวิธีของตรรกะ หรือวิธีของนัยยะ คือเป็นวิธีปรัชญาบ้าง วิธีตรรกวิทยาบ้าง อย่างนี้ไม่เห็นหรอก คือ ไม่เห็นอย่างวิปัสสนา จะไปเห็นอย่างอื่น วิธีของตรรกะ วิธีของนัยยะ ดังที่กล่าวไว้ในกาลามสูตรนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้สำหรับเรื่องของวิปัสสนา
ถ้าใครเคยคิดเก่งเกินไปแล้วก็หยุดคิดเสียบ้าง กลายเป็นผู้ดูเสียบ้าง เราเคยใช้คำพูดนี้ผิดกันมานาน ผมก็เคยใช้คำพูดนี้ผิด เคยใช้คำพูดว่า คิด นึก พิจารณา อย่างนี้ ตอนแรกๆ ก็ใช้คำกันผิดๆ ตอนหลังเมื่อรู้เรื่องนี้มากขึ้นก็จึงรู้ อ้าว, นี้มันใช้คำนี้ไม่ถูกแล้ว ควรจะใช้คำว่าดู ผลของการดูก็คือเห็น อนุปัสสีคือตามดู ตามดูก็ อนุปัสสนา คือว่าตามเห็น จนที่สุดเป็นวิปัสสนา คือ เห็นแจ้ง นี่ผมเห็นว่าหรือเรียกว่าเป็นความรู้เบ็ดเตล็ด เป็นความรู้ประกอบ แต่มันก็มีความสำคัญมาก คือทำให้วิปัสสนาเป็นวิปัสสนา และก็จะไม่งมงาย และก็จะไม่สักว่าทำตามแบบตามพิธีแล้วๆ ไป ถ้าเป็นวิปัสสนาพิธีก็แล้วๆ ไป มันจะเห็นแจ้งไม่ได้
ฉะนั้นขอให้ถือหลักสำหรับคำว่าวิปัสสนานี้ต้องแปลว่า ดูลงไป ดูแล้วดูอีกๆ เฝ้าดู ทำจิตให้ดีสำหรับจะดู แล้วก็ใช้จิตนี้ดู ดูมากเข้าๆ ๆ ก็ยิ่งเห็นมากเข้า ลึกเข้า เห็นตามที่เป็นจริงมากเข้า ตอนนั้นแหละเป็นการปฏิบัติธรรม ดูเรื่อยไปจนกว่าจะเห็นจริงคือตัวการปฏิบัติธรรม ธรรมะทั้งหลายจะอยู่ที่นั่น เพ่งดู ควบคุมให้ดูก็เป็นศีล กำหนดอารมณ์ก็เป็นสมาธิ เห็นแจ้งก็เป็นปัญญา มันก็มรรคมีองค์ ๘ ก็ครบอยู่ที่นั่น โพชฌงค์ก็ครบอยู่ที่นั่น มันก็เลยสำเร็จในการเห็น ฉะนั้นวิปัสสนาก็คือการเห็นแจ้ง ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาก็คือนักดูธรรมชาติทั้งหลายตามที่เป็นจริง ธรรมชาติในทีนี้หมายถึงรูปธรรม นามธรรม จะแยกเป็นอะไรก็ได้ เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ได้ หรือจะดูในฐานะที่เป็นขันธ์ เป็นธาตุ เป็นอายตนะ อะไรๆ ก็ได้ แล้วแต่มันกำลังทำหน้าที่อย่างไร
ขยันดูแล้วก็จะเห็น ขยันคิดโดยการใช้เหตุผลเราก็จะเตลิดเปิดเปิงไปทางไหนก็ไม่รู้ ไม่รับประกัน ดังนั้น เอาข้างดูไว้เรื่อยไปเพื่อให้เห็นตรงตามที่มันเป็นจริงอย่างไรอยู่เรื่อยไป คำมันปนๆ กันอยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ ที่จริงก็เป็นคำเดียวกันแหละ คือ ดูและก็เห็นอยู่ คำว่ารู้นี่ รู้เพราะดูให้มันรู้จัก ดูจนรู้จัก ใช้คำว่ารู้ ไม่ใช่รู้เพราะใช้เหตุผลตามวิธีของตรรกวิทยา หรือใช้วิธีของปรัชญา อย่างนั้นจะไม่เห็น ไม่เห็นธรรมะในแนวของพระพุทธศาสนา คือ เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด
นี่ผมพูดได้แต่หัวข้อหรือว่าหลักของถ้อยคำ จะต้องเอาไปทดสอบ สังเกตดูว่ามันเป็นอย่างนี้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปก็จะได้ขยันดู อย่าใช้ความคิดนำเรื่องให้มันมากมายนัก และก็ถ้าเคยเรียนนักธรรม เรียนบาลี อะไรมามากๆ แล้วมันก็ชินแต่ที่จะใช้ความคิดนำไปตามที่เคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้จำมา การดูลงไปจริงๆ ที่สิ่งนั้นไม่ค่อยจะมี มันก็จำได้แต่ตัวหนังสือ ไม่รู้ว่าไอ้ตัวขันธ์จริงๆ นั้นคืออะไร ตัวอายตนะจริงๆ นั้นคืออะไร และเมื่อไรมีขันธ์ เมื่อไรมีอายตนะ มันสอนกันจนเสียว่าเรามีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา นี่งมงายที่สุด เราไม่ได้มีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา เรามีขันธ์ใดขันธ์หนึ่งสลับกันไป ทยอยกันไป เรามีขันธ์เฉพาะเมื่อจิตมันทำหน้าที่รับอารมณ์ทางตา เป็นต้น และกำลังรู้สึกอยู่เป็นขันธ์นั้น เป็นขันธ์นี้ เวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร ก็มีขันธ์ทีละขันธ์ไล่กันไป แล้วก็เปลี่ยนเป็นชุดๆ ไป เดี๋ยวกลับ เราจะมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมกันในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าเราเรียนในโรงเรียนดูคล้ายๆ ว่ามันได้ ซึ่งหนักไปกว่านั้นอีกก็ถึงกับว่าแม้หลับอยู่ก็มีขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ก็มี
เมื่อไม่รู้จักตัวขันธ์ว่าคืออะไร อย่างไร เมื่อไร แล้วจะดูมันถูกหรือ ไม่รู้มันอยู่ที่ไหน ก็ดูไม่ถูกตัวขันธ์ แล้วจะเห็นว่าขันธ์ไม่เที่ยงนี้ก็ไม่ได้ จะเห็นขันธ์ว่าไม่เที่ยงไม่ได้ เพราะมันไม่รู้ว่าตัวขันธ์อยู่ที่ไหน มันไม่ดูถูกตัวขันธ์ อย่างดีก็จะถูกตัวธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเป็นกายอะไรอยู่อย่างนี้ มันยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างขันธ์สักที คือ ยังไม่ได้เป็นรูปขันธ์ เราจะไม่มีรูปขันธ์อยู่ตลอดเวลา แต่เรามีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นรูปธาตุ นี้ได้ จะเป็นรูปขันธ์ต่อเมื่อมันทำหน้าที่เป็นรูป ตามันทำหน้าที่ของมันขึ้นมาให้สำเร็จการเห็น ตัวรูปข้างนอกมันมาถึงเข้ากับตาที่ทำการเห็น ไอ้รูปขันธ์โดยสมบูรณ์มันจึงจะเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกเป็นผัสสะ เป็นเวทนา มันจึงมีเวทนาขันธ์เกิดขึ้น ถ้าเราอยากจะดูรูปขันธ์ก็ต้องรู้ว่ามันเกิดเมื่อไร แล้วก็ดูว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร ถ้าเราดูเวทนาขันธ์ก็ต้องดูว่ามันเกิดเมื่อไร มันเกิดอย่างไร แล้วก็ดูไปที่นั่น ก็รู้เวทนาขันธ์มันไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า ดูแล้วเห็น นี่คือวิปัสสนา ถ้าไม่อย่างนั้นต้องคำนวณว่ามันคงจะอย่างนั้น มันคงมีอยู่ที่นั่น เวลานั้น แล้วมันก็ไม่เที่ยงเพราะว่ามันคงจะเปลี่ยนแปลงเรื่อย อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นไปศึกษาเสียใหม่ว่า ขันธ์เกิดเมื่อไร อายตนะเกิดเมื่อไร แต่ละอย่างไม่เที่ยงอย่างไร ก็ดูๆ ๆ ๆ จนกว่าจะเห็นตามที่เป็นจริง แล้วก็เบื่อหน่าย นี่หัวใจของวิปัสสนา หรือจะเรียกว่าเคล็ดของวิปัสสนา หรือจะเรียกว่าอาการของวิปัสสนาก็ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้ามันเป็นการดูและเห็น ถ้าเป็นการคิดนำแล้วก็เป็นเรื่องของไอ้โมหะไม่ทันรู้ก็ได้
เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าท่านที่เป็นนักวิปัสสนา กระทั่งเป็นอาจารย์วิปัสสนา ควรจะสนใจเรื่องนี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้ปรับปรุงให้มันเป็นวิปัสสนายิ่งๆ ขึ้นไป จนขยับถึงที่สุดถึงกับเห็นแจ้งได้เพื่อสำเร็จประโยชน์ ให้เป็นผู้เห็นแจ้ง เรียกว่าวิปัสสโก แปลว่าผู้เห็นแจ้ง วิปัสสนาแปลว่าการเห็นแจ้ง วิปัสสี ผู้ตามดูอยู่เป็นปกติ นี่มาถึงตัววิปัสสนาแท้
เมื่อเป็นสมาธิ เมื่อฝึกให้เป็นสมาธินั้น ยังมิใช่เป็นวิปัสสนา เป็นแต่เพียงเตรียมวิปัสสนา เตรียมตัววิปัสสนา เตรียมจิตเพื่อวิปัสสนา เตรียมจิตเพื่อทำการดู เดี๋ยวนี้เราเอาบวกเข้าด้วยกันทั้งเรื่องของสมาธิและเรื่องของปัญญา นี่เรียกว่าเป็นวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนาจึงกินความรวมไปถึงการทำสมาธิก่อน แล้วก็ทำการดู อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีหลัง
ถ้าท่านผู้ใดเคยชินแต่เรื่องคิดไปตามความจำที่เรียนมาจากหนังสือ ก็ขอให้เลื่อนชั้นเสียที ที่ทำมาแล้วนั้นมันไม่ได้ผิดหรอก มันไม่ได้ผิด แต่มันอาจจะผิดต่อไปก็ได้ หรือมันจะไปตายได้ก็ได้ มันต้องเตรียมตัวเลื่อนชั้นกันเสียทีให้เข้ามาสู่สายสู่แนวของวิปัสสนา คือ มาสู่การตามดู ดูแล้วก็เห็น ถ้าเห็นตามที่เป็นจริงก็จะเบื่อหน่าย จะคลายกำหนัด แล้วจิตมันก็จะหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น ที่พูดนี้ไม่ใช่กระแหนะกระแหน กระทบกระเทียบ ไม่ใช่ แต่พูดด้วยหวังว่าจะได้ทดสอบดูการกระทำของตนๆ ว่า มันเข้ามาสู่ความหมายของคำว่าวิปัสสนาแล้วหรือยัง
ขอให้จำไว้สั้นๆ ว่ามันสำเร็จประโยชน์เพราะการเห็น เห็นแจ้ง ไม่ใช่สำเร็จประโยชน์เพราะการคิด เข้าใจ หรือว่าสำคัญมั่นหมาย เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สำเร็จที่เราจะมาท่องบ่น หรือว่าอธิษฐานจิตว่า ไม่เที่ยงๆ ๆ ๆ ตั้งกี่ร้อยครั้งพันครั้ง มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่เห็น มันไม่เป็นการดูที่เห็น มันเป็นการมั่นหมายว่ามันไม่เที่ยง มันก็ได้แต่ท่องมากเข้าๆ มันคงจะลาข้อไปเอง หรือมิเช่นนั้นก็เป็นบ้าเพราะวิปัสสนา เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้มันถูกว่าเราจะดูอะไร ต้องมีสิ่งนั้นมาจริงๆ แล้วก็ดูลงไปว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร
ถ้าจะดูเวทนาไม่เที่ยง ก็ให้มันมีเวทนาอยู่จริงๆ ในเวลานั้น เวทนาที่เจ็บป่วยก็ได้ ถ้าให้ดูความไม่เที่ยงได้เหมือนกัน เวทนาที่เป็นสุขธรรมดาสามัญอะไรก็ได้ จะเห็นความไม่เที่ยงได้เหมือนกัน แต่ไม่ดีเท่าเวทนาที่เราได้ทำให้มันเกิดขึ้น รู้สึกขึ้นเต็มรูปแบบ เช่น สุขที่เป็นองค์ของฌานอย่างนี้ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไอ้สุขที่เป็นองค์ของฌานนั้นให้มันมีขึ้นมาจริงๆ เอาสุขนั้นมาดู สุขเวทนามาดูจนถึงกับว่า อ้าว, ไม่เที่ยง จะเห็นความไม่เที่ยง แล้วก็จะเบื่อหน่ายต่อความสุข ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุข ก็รอดตัวไป
ถ้าจะดูปีติไม่เที่ยง ก็ต้องให้ปีติเกิดขึ้น แล้วก็เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็ไม่เที่ยง ไม่ใช้คำนวณว่าเวทนามันมีปัจจัยมันก็คงไม่เที่ยง ปีติมีปัจจัยมันก็คงไม่เที่ยง หรือคาดคะเนเอาได้มันต้องเปลี่ยนแปลง มันคือ มันไม่เที่ยง อย่างนี้มันผิวเผินเกินไป ไม่เป็นการดูอย่างที่เรียกว่าเห็นแจ้ง แม้ที่สุดถ้าจะดูธาตุดินว่าไม่เที่ยงก็ต้องมีดินจริงๆ มาดู ธาตุดินเป็นคุณสมบัติ เข้มแข็ง กินเนื้อที่ ก็ต้องรู้สึกรู้จักสิ่งนั้นๆ ก่อนแล้วจึงจะเห็นความไม่เที่ยง ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็เหมือนกัน ต้องมีจุดจริง (นาทีที่ 40.30) มาให้จิตที่เตรียมไว้ดีแล้วมันดู หรือจะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง ก็ต้องดูเมื่อตามันทำหน้าที่ตา หูมันทำหน้าที่หู จมูกมันทำหน้าที่จมูก จึงจะรู้ว่าตา หู จมูกนี้มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าจะเอาจมูกแหลมๆ นี่ดูมันไม่เที่ยง นี่อย่างนี้มันไม่ถูกความหมายของวิปัสสนา ต้องรู้หน้าที่ของจมูกว่าจมูกทำหน้าที่ ก็คือการดมกลิ่นนั่นแหละมันไม่เที่ยง ถ้าดูเนื้อหนังจมูกไม่เที่ยงนี้เป็นดูไอ้รูปธรรมอันหนึ่งตามธรรมดาสามัญว่ามันไม่เที่ยง คือเนื้อจมูกมันก็กลายเป็นธาตุดินไปเสีย มันก็ไม่มีจมูกที่จะให้ดูเสียอีก ฉะนั้นเราจะต้องกำหนดกันให้ดีๆ ให้ถูกต้องว่าเราจะดูอะไร มีสิ่งนั้นจึงมาดูให้จริงๆ ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง (นาทีที่ 41.25) แล้วก็จะได้ผลของวิปัสสนา
โดยส่วนใหญ่ในพระบาลีทั้งหลายก็ดูขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่แหละเป็นส่วนใหญ่มากกว่าอย่างอื่นหมด บางทีก็ไปใช้หมวดอายตนะก็มีเหมือนกัน ท่านพระพุทธเจ้าตรัสให้ดู ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในลักษณะที่ไม่เที่ยง อย่างนี้ก็มี แต่มันก็ไม่พ้นที่จะเป็นขันธ์ ๕ เพราะว่าเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น มันก็เกิดไอ้ขันธ์ประเภทรูปขันธ์ขึ้นมา พอผัสสะแล้วก็เกิดเวทนาจากการดูด้วยตานั้น มันก็เป็นเวทนาขันธ์ขึ้นมา มันมีเวทนาขันธ์มาจากทางตาที่ดูรูปหรือเห็นรูปนั่นเอง ถ้าไม่มีผัสสะแล้ว ไม่มีเวทนา มันก็เลยจะเห็นได้ว่ามันแยกกันไม่ได้หรอกที่เราจะเห็นขันธ์โดยไม่เห็นอายตนะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ก็เมื่ออายตนะมันทำหน้าที่ของมันอยู่ ไอ้สิ่งที่เรียกว่าขันธ์มันก็เกิดขึ้นหรือแสดงตัวออกมาในความหมายนั้น ตาเห็นรูปสวย สบายตา เป็นสุขเวทนา ส่วนหนึ่งก็เป็นอายตนะ ส่วนหนึ่งก็เป็นขันธ์ แล้วแต่ว่าจะดูกันที่ตรงไหน คือว่าถ้าเกิดไอ้ความโง่ ความหลง อวิชชา เข้าไปสร้างอุปาทานยึดมั่นในเวทนานั้นด้วย ก็เลยเห็นอุปาทานขึ้นมาอีกว่าเข้าไปยึดขันธ์นั้นแล้ว
ขันธ์ที่มีอุปาทานยึดแล้วนั้นเป็นอย่างไร ต้องดู ต้องดูจนเห็น ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่คำนวณเอา ฉะนั้นจึงจะเห็นว่าอุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ รูปูปาทานขันธ์ก็เป็นทุกข์ เวทนูปาทานขันธ์ก็เป็นทุกข์ ขันธ์ (นาทีที่ 43.42) ทั้ง ๕ ขันธ์มันก็เป็นทุกข์ เห็นขันธ์ด้วย เห็นอุปาทานด้วย เห็นอายตนะด้วย เห็นหลายๆ อย่างในเรื่องเดียว ในกรณีเดียว นี่ก็จะเห็นอนิจจังทั่วไปหมด พราวไปหมด แล้วเป็นของจริงด้วย ไม่ต้องเทียบเคียงด้วยเหตุผลเลย นี่คือวิปัสสนาโดยเนื้อแท้ของคำๆ นี้ โดยเนื้อแท้ของการกระทำสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนา คือ เห็นแจ้ง เมื่อจิตสงบดีเป็นสมาธิ การเห็นแจ้งมีได้ง่าย เพราะว่าไอ้ตา ดวงตาที่จะดูก็คืออำนาจของสมาธิ มันแรงเท่าไร ปัญญามันก็แรงเท่านั้น ปัญญาจักษุมันก็แรงเท่านั้น มีปัญญาโดยไม่มีสมาธินั้นเป็นไปไม่ได้ แม้จะมีปัญญาจักษุโดยไม่มีสมาธิยิ่งเป็นไปไม่ได้อีก แล้วเราจะมีสมาธิหรือมีปัญญาในขณะที่ไม่มีศีลมันก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีศีลมันก็ฟุ้งซ่านทางกาย ทางวาจา ระส่ำระสายเกี่ยวกับทางกายทางวาจากระทั่งไอ้..... (นาทีที่ 45.05) ในทางจิต สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี วิปัสสนาก็เลยมีไม่ได้
ดังนั้นขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ให้จนมองเห็นชัดว่าเราต้องดูให้เห็น ไม่ใช่เราคิดให้เข้าใจ ให้เราคิดให้เข้าใจนั้นเป็นเบื้องต้น อยู่ระดับต้นๆ เบื้องต้น ยังไม่สำเร็จประโยชน์ มันต้องดูให้เห็นว่ามันจริงเท่าที่เราเข้าใจหรือเปล่า เพราะเราเข้าใจผิดก็ได้ ต่อเมื่อเห็นลงไปที่ตัวจริงจนจริงเหมือนว่า เหมือนที่เราเข้าใจนั้นแหละ ก็ใช้ได้ เพียงแต่เข้าใจเพราะความคิดคำนวณนี้ใช้ไม่ได้ ไม่พอ วิปัสสนาเป็นการเห็นแจ้งแล้วเกิดญาณทั้งหลายขึ้นได้มากมาย และโดยหลักการอันนี้มุ่งหมายเฉพาะญาณประเภทที่ทำให้เห็นแจ้งตามที่เป็นจริงในสังขารทั้งหลายเท่านั้นแหละ ถ้าจะเอาความหมายของคำว่าวิปัสสนาก็จำกัดไอ้พวกญาณทั้งหลายอยู่ในขอบเขตว่าเป็นญาณที่จะเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงของสังขาร ก็คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไอ้ญาณทั้งหมดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันญาณก็ตามใจแบ่งได้เป็น ๒ พวกเท่านั้นแหละ คือ พวกธรรมฐิติญาณ ญาณนี้คือเห็นหรือรู้สิ่งที่เป็นจริงตามที่เป็นจริงของสังขารทั้งหลาย พอได้เห็นจริงถึงที่สุดในหน้าที่ของไอ้ญาณพวกนี้แล้ว ต่อไปก็จะเป็นพวกที่เรียกว่า นิพพานญาณ นี่มีมากเหมือนกัน ตั้งแต่มรรคญาณ ผลญาณ ขึ้นไป ปัจเวกขณญาณก็ตามใจ ที่มันเป็นผลของการได้เห็นในตามที่เป็นจริงในสังขารแล้ว แล้วนิพพานญาณก็คือ ญาณรู้รสรู้ผลที่ได้รับจากการเห็นไอ้ฝ่ายธรรมฐิติญาณ
ฉะนั้นหน้าที่ของวิปัสสนาก็ทำให้มีธรรมฐิติญาณให้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นภาวะตามที่เป็นจริงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ส่วนยถาภูตะญาณทัศนะก็เห็นตามที่เป็นจริง มีขั้นตอนมาก มีชื่อญาณมาก มีอะไรมาก แต่ว่าทั้งกลุ่มหมดนี้เรียกว่า ธรรมฐิติญาณ คือญาณที่เห็นธรรมะฐิติ อะไรคือธรรมะฐิติ คือกฎความจริงของธรรมชาติทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร พอญาณพวกนี้ถึงที่สุด ทีนี้ก็เป็นญาณพวกผลที่ได้รับ เป็นความเย็น มีความหมายแห่งนิพพานที่จะเย็นจิต เย็นกาย เย็นอก เย็นใจ เย็นอะไรไป.... (นาทีที่ 48.25) ได้รับผล นี้ก็เรียกว่าญาณเหมือนกัน เพราะรู้แจ้งเหมือนกัน เห็นแจ้งเหมือนกันว่ามีความสุข มีความเย็น แต่ไม่ใช่เห็นอย่างที่เรียกว่าเป็นความมุ่งหมายของวิปัสสนา ก็จะเห็นแจ้งในข้อที่ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้นพวกวิปัสสนาก็ทำให้แจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเถิด คือทำให้แจ้งในฝ่ายธรรมฐิติญาณ แล้วฝ่ายนิพพานญาณก็จะเป็นเอง จะมาเอง ที่ว่าเห็นแจ้งแล้วก็จะเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด คลายกำหนัดก็จะหลุดพ้น นี่พวกผลของธรรมฐิติญาณ ก็เรียกว่าฝ่ายนิพพานญาณ นี่เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้อย่างนี้ ธรรมฐิติญาณจะต้องมาก่อนเสมอ และต้องเห็นแจ้งตามที่เป็นจริงในสังขารทั้งปวงก่อนเสมอ ไอ้พวกนิพานญาณจะมาทีหลังเสมอ
เพราะฉะนั้นความมุ่งหมายของวิปัสสนาเราก็ทำให้แจ้งในฝ่ายธรรมฐิติญาณ มีขั้นตอนมาก มีชื่อเรียกมากหลาย หลายๆ อาการ หลายๆ ลักษณะ หลายๆ ระดับ เอาละ รวมความกันที (นาทีที่ 49.57) ว่าผมพูดวันนี้ทั้งหมดก็พูดเรื่องว่าขอให้ดูอย่างเดียวเท่านั้น อย่าใช้การคิดตามเหตุผลให้มันมากเรื่องมากราวไป จะใช้ได้บ้างก็เป็นในระดับขั้นต้นขั้นตระเตรียมเพื่อจะหาลู่ หาทาง หาแนวว่า เราจะเลือกธรรมะข้อไหนมาปฏิบัติ หรือควรทำอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร นี่มันก็ควรจะใช้เหตุผลบ้างแหละ แต่พอไปถึงไอ้ตัววิปัสสนาแล้วก็ดูๆ ๆ ๆ ๆ ตามดู เฝ้าดู มองดูอยู่ จ้องดูอะไรก็ แล้วก็จะเห็นๆ ๆ ๆ ๆ
นี่เวลาที่กำหนดไว้มันก็มีเท่านี้แหละ ก็ถวายความรู้เบ็ดเตล็ดความรู้พิเศษก็ได้เรื่องหนึ่งแล้ว ก็ขอให้นักวิปัสสนาทั้งหลายเป็นนักวิปัสสนาโดยแท้จริง คือดูจนเห็นแจ้ง อย่ามัวคิดนึกด้วยเหตุผลแล้วไม่มีทางจะเห็นแจ้ง พอกันที
ขอแสดงความยินดีในการที่ได้พบกันในลักษณะอย่างนี้ประจำปี และขอแสดงความยินดีว่าเดี๋ยวนี้เรามันกำลังมีอะไรที่พอสมควรจะใช้ถวายเป็นพระพุทธบูชา นึกออกไหมว่าผมหมายถึงอะไร เรามีอะไรสมควรที่ถวายเป็นพุทธบูชา นึกไม่ออกหรือนึกออกก็สุดแท้ผมระบุเลยว่า การที่นั่งกลางดินนี่ขอถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธเจ้าประสูตรกลางดิน ท่านก็รู้แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทะเจ้าก็ตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้านิพพานก็นิพพานกลางดิน พระพุทธเจ้าสอนพระธรรมที่ว่ากันตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์น่ะ เรียกว่าสอนกลางดินก็ได้เลย ก็ท่านนั่งสอนลงไปก็ได้ เดินสอนก็ได้ เดินทางอยู่ก็สอน พระธรรมศาลาก็กลางดิน ธรรมศาลาในครั้งพุทธกาลก็กลางดิน พระพุทธเจ้าท่านก็สอนกลางดิน ก็พระพุทธเจ้าท่านอยู่กลางดิน ไม่เชื่อไปดูกุฏิพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย ซากเหลืออยู่ พื้นดินทั้งนั้น พระพุทธเจ้าอยู่กุฏิพื้นดินทั้งนั้น ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน อะไร เรียกว่าเกิดกลางดิน ตายกลางดิน อยู่กลางดินตลอดเวลา พอมานั่งกลางดินเมื่อไรขอให้จิตใจนี้รู้สึกว่าเรากำลังนั่งในอาสนะอย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้เคยใช้ เคยทรงใช้
ก็หวังว่าสาวกทั้งหลายก็จะเดินตามอย่างท่านในลักษณะที่ว่ากลางดินกันนี่แหละให้มาก นี่คือสิ่งที่ผมว่ามีอะไรอย่างหนึ่งจะใช้เป็นพุทธบูชา ก็ได้มานั่งกลางดิน ฉะนั้นจงพยายามใช้อาสนะกลางดินในการสัมมนาก็ดี ในการเทศนาก็ดี หรืออะไรก็ดี พยายามใช้กลางดินกันเถิด อย่าชอบเก้าอี้กันนักเลย ก็เหมือนว่าเราได้มีอะไรพอจะภูมิใจว่าใช้เป็นพุทธบูชาในวันนี้
ในฐานะที่เราได้มาพบปะกัน กระผมได้ถวายความรู้บางอย่างเป็นธรรมปฏิสันถาร แล้วก็ชักชวนกันให้ทำพุทธบูชา ตอนนี้ก็ขอแสดงความรู้สึกอนุโมทนาและอำนวยพรท่านทั้งหลายตามความรู้สึกในจิตใจว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะสืบอายุพระศาสนาด้วยการปฏิบัติให้มีผลสมตามความมุ่งหมายของพระธรรมวินัย แล้วก็จะช่วยกันเผยแผ่สิ่งอันประเสริฐนี้ให้กว้างขวางไพศาลตลอดไป เพื่อความอยู่เป็นสุขเกษมพ้นจากทุกข์ของสรรพสัตว์ที่เราควรจะถือว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ตลอดกาลนานเทอญ