แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายประจำวันที่แล้วมา เราได้พูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์ มาพอสมควรแล้ว สำหรับการที่จะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์นั้นคืออะไร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่บวชใหม่ ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นผู้เข้ามาขอบรรพชา อุปสมบทเพื่อประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ นี่สำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ ก็ต้องมีคำว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อกระทำที่สุดแห่งความทุกข์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ก่อนบวชก็มาประพฤติพรหมจรรย์เฉยๆ มาเป็นอยู่อย่างประเสริฐ อย่างดีเลิศ ไม่มีความทุกข์ นั้นการบวชนี้เป็นเรื่องการบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ แม้ว่าจะบวชเพียงไม่กี่วัน ก็ต้องเป็นเรื่องเดียวกันนี้ คือ บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ชั้นเลิศ คือชั้นของภิกษุ แต่เมื่อจะกลับไปเป็นฆราวาสก็ประพฤติพรหมจรรย์อย่างฆราวาสอีกระดับหนึ่ง นี่ก็ตามที่ได้ชี้ให้เห็นมาในทุกแง่ทุกมุมว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องประพฤติกันทุกคน แม้แต่ลูกเด็กๆ ก็มีพรหมจรรย์อย่างลูกเด็กๆ แล้วก็สูงขึ้นมาสูงขึ้นมา นั่นก็หมายถึงการปฏิบัติโดยตรง ไม่ใช่การเล่าเรียน แล้วก็มีความหมายสำคัญในข้อที่ว่าต้องบังคับตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวด เพราะนั้นจึงต้องทน จึงไม่ประสบความสำเร็จในหมู่คนที่ไม่ต้องการจะทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกฝรั่งที่มาประพฤติพรหมจรรย์ คือบวชในพุทธศาสนานี้ เขามันมีนิสัยหรือความพอใจมาแต่เดิมในเรื่องที่ไม่ชอบความอดทน นั้นจึงถือศีลบางชนิด หรือถือธุดงค์โดยทั่วๆ ไปไม่ค่อยจะได้ ในที่สุดก็เลิกรากันไป หรือสมัครถือแต่หลวมๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดแยกเป็นนิกาย ที่ไม่ค่อยจะสมานสามัคคีกันเพราะเหตุนี้ นี่เพราะไม่อุทิศแก่พรหมจรรย์มีความอดกลั้น อดทนอย่างเคร่งครัด นี่คือเรื่องพรหมจรรย์ เป็นที่เข้าใจกันพอสมควรแล้ว เพราะได้บรรยายมาถึง ๑๐ ครั้งแล้ว ด้วยหัวข้อว่าพรหมจรรย์นั่นมันคืออะไร
ทีนี้มาถึงวันนี้ ก็คือพูดถึงสิ่งที่เนื่องกันต่อไป คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั่นเอง และก็จะพูดโดยหัวข้อว่า ระบบของธรรมะนั้นก็คือระบบของสิ่งปวง นี่มันเนื่องจาก ผมมีความเห็นว่าพวกคุณเคยได้ยินคำว่า ธรรมะ กันมามากแต่แล้วก็ไม่สามารถจะจับเอาใจความของคำว่าธรรมะได้โดยถูกต้อง หรือว่าโดยชัดเจน โดยกระจ่าง อยู่ในความรู้สึกว่าธรรมะนั้นคืออะไร ไอ้เรื่องนี้ก็น่าเห็นใจ ที่จะไม่ตำหนิกันในข้อที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม มันออกจะยากหน่อย แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าธรรมะ โดยตัวหนังสือ โดยคำพูดทั่วๆ ไป ไม่ใช่ความหมายพิเศษนี่ เราก็ยังรู้ไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้สอนกันมาในรูปที่ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะคืออะไร ให้เพียงพอกันเสียก่อน เดี๋ยวก็พูดธรรมะข้อนั้น เดี๋ยวก็พูดธรรมะข้อนี้ กระทั่งพูดเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม คือธรรมะที่ดี ธรรมะที่ไม่ดี ก็เลยยุ่งกันใหญ่ จนไม่รู้ว่าธรรมะนี่มันดีหรือไม่ดี นั้น เราจะเคยได้ยินว่ากุศละ กุศลาธรรมา ธรรมะที่ดี อกุศลธรรมา ธรรมะที่ไม่ดี อพยากตธรรมา ธรรมะที่กล่าวไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี นี่เพราะเหตุว่า คำว่า ธรรมะนี้มันเป็นคำพิเศษอย่างยิ่ง น่าประหลาดอย่างยิ่ง ที่มันเกิดขึ้นมาในโลกได้อย่างไร แล้วก็มีความเป็นมาอย่างไร จนบัดนี้มันสรุปความได้ว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนี้คือ ทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร เดี๋ยวก็จะว่าให้ฟัง และประหลาดจนถึงกับว่า ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่น จะแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไรทำนองนี้ ยิ่งไม่ได้ ยิ่งลำบาก เพราะมันหมายถึงสิ่งทุกสิ่งจนไม่มีคำในภาษานั้นๆ นอกจากจะใช้คำว่าสิ่งเฉยๆ ถ้าแปลว่า สิ่ง เฉยๆ ก็ไม่มีใครเข้าใจอีก ไปดูในที่เขา ในหนังสือ ในเรื่องราว แม้แต่ในปทานุกรมที่เขาแปลคำว่า ธรรมะกัน เป็นภาษาอังกฤษนี้ มีตั้ง ๒๐-๓๐ คำ มันก็ยังไม่หมด เพราะมันหมายถึงทุกสิ่ง แต่นี่เราเอามาพูดนี่ หรือว่าใช้กันโดยทั่วไปนี่ ไม่ได้หมายถึงทุกสิ่ง เช่นว่า ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะไม่ได้หมายถึงทุกสิ่ง ถ้าพูดถึงว่าระบบของธรรมะ ก็หมายความว่าเราจะดู สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้นก้าวเดียวหมด จึงต้องใช้คำว่าระบบ ที่จัดให้เป็นระบบ เพื่อจะครอบคลุมหมดถึงทุกสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แม้แต่การออกเสียงนี้ก็ยังลำบากยุ่งยาก ถ้าออกเสียงจากคำเดิมในภาษาอินเดีย สันสกฤตหรือบาลีก็ตาม ก็ออกเสียงเป็นธรรมะ หรือธรรมมะโดยมีสระอะอยู่ท้าย พอมาเป็นภาษาไทยเราก็ไม่นิยมออกเสียงสระอะกันพักหนึ่ง ออกเสียงแต่ธรรมเฉยๆ เป็นพระธรรม เพราะออกเสียงว่าพระธรรมะนี้มันลำบากยุ่งยาก เลยออกเสียว่าธรรมเฉยๆ แต่แล้วในบางกรณีเราก็ยังคงออกเสียงว่าธรรมะก็มี เพื่อให้มันแปลกออกมาหน่อย ถ้าเราพูดว่าธรรมเฉยๆ มันกว้าง พอธรรมะมันก็แคบมาหน่อย คือการปฏิบัติที่ดีที่รัดกุมที่เฉพาะเจาะจง ก็เลยทำให้ยุ่งออกไปอีกแขนงหนึ่งอีก คือจากของเดิมเขาถึงใช้คำว่าธรรมะเรื่อยไป ธัมโม ก็สิ่งธรรมะเดียว ธรรมมา ก็ธรรมะหลายสิ่ง
ตัวธรรมะนี่เอากันตามตัวหนังสือแท้ๆ ก็แปลว่าดำรงหรือทรงอยู่ คุณต้องจำอันนี้ไว้ทีก่อน เพื่อมันจะได้ง่ายแก่การจะศึกษาต่อไป คำว่าธรรมะหรือ ธา-ระ-มะในภาษาสันสกฤต ตัวศัพท์แท้ๆ คือเขาเรียกว่า ธาตุของศัพท์ หรือรากของศัพท์ มันแปลว่า ทรงหรือดำรง ทรงอยู่ ดำรงอยู่ ถึงแม้ว่าทรงอยู่นี่ เขาก็มีความหมายที่เดินไปได้หลายทาง เช่น ทรงตัวมันเองก็ได้ แล้วก็ทรงผู้อื่น ทรงสิ่งอื่นก็ได้ หรือทรงผู้ปฏิบัติไว้ก็ได้ นั่นมันเริ่มทำยุ่งแล้ว แม้แต่เราจะเอาแต่ใจความของศัพท์นั้น มันก็ยังมีทางที่จะพูดได้หลายอย่าง แต่ว่าอย่างที่ถูกต้องใกล้ชิดที่สุด ก็คือทรงตัวมันเอง พูดอย่างนี้มันก็ ออกจะเลยขอบเขตของเรื่องการปฏิบัติ แต่ก็ควรจะรู้ไว้บ้าง มันเป็นเรื่องอักษรศาสตร์ เป็นเรื่องทางภาษาศาสตร์ แต่ถ้าได้ความในทางอักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ก็มาปรับเป็นความรู้ทางการปฏิบัติได้สะดวก ที่ว่าทรงตัวมันเอง กับทรงผู้ปฏิบัติมันต่างกันอยู่ดูให้ดี ถ้าทรงตัวมันเอง ก็หมายความว่า สิ่งใดมีการทรงตัวมันเองอยู่ได้สิ่งนั้นเรียกว่าธรรมะ แต่ถ้าผู้ใดไปปฏิบัติเข้า มันทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน ในความหมายของคำว่าธรรมะเหมือนกัน นี่เรารู้จักไอ้สิ่งที่ทรงตัวมันเองก่อน ลักษณะหรือภาวะที่ทรงตัวมันเอง ทรงตัวมันเองอยู่โดยธรรมชาติ หรือว่าตามธรรมดา ตามกฏของธรรมดา ยิ่งไปกันใหญ่ ไอ้คำว่าธรรมชาตินั้นถ้าเป็นภาษาบาลีก็ธรรม ธรรมะเฉยๆ ที่ว่าธรรมดา ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ธรรมเฉยๆ คำว่าธรรมนี้แปลว่าธรรมชาติก็ได้ แปลว่าธรรมดาก็ได้ แปลว่าธรรม พระธรรมก็ได้ นี่ก็มีการทรงตัวมันเองอยู่โดยธรรมชาติ หรือตามกฎของธรรมดาคือตามตัวมันเองทั้งนั้นแหล่ะ ตัวมันเอง โดยตัวมันเอง ตามกฎของตัวมันเอง นี่สิ่งนี่สิ่งที่เรียกว่าธรรมลักษณะนี้ หมายถึงไอ้สิ่งทุกสิ่งที่มันมากจนนับไม่ไหว หลายหมื่นหลายแสนหลายล้านจนนับไม่ไหวแหล่ะ จนมาแบ่งแยกกันเป็นสองประเภท คือว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลง กับสิ่งที่ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง เห็นไหม นี่วิธีธรรมะที่เขาพูดกันอย่างนี้ ที่เขาแบ่งกันอย่างนี้ ที่เปลี่ยนแปลงก็เพราะมันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง พอพูดเท่านี้ก็มองเห็นสภาพของการเปลี่ยนแปลง ก็ปัจจัยมันปรุงแต่ง มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการปรุงแต่งนี้ เปลี่ยนแปลง มันก็ไหลเรื่อย เรียกว่าธรรมะหรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ที่นี้อีกพวกหนึ่ง ตรงกันข้ามหมดเลย ไม่มีอะไรปรุงแต่ง จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอยู่ในสภาพที่ตายตัว เหมือนกับความว่าง เป็นสภาพที่ตายตัว แต่ก็ในความหมายหลายๆชั้น มองว่าบางทีก็คงจะมีผู้ถามว่าทำไมไอ้ที่มันเปลี่ยนแปลงมันทรงอยู่ได้ ก็บอกว่าไอ้การที่เปลี่ยนแปลงนั่นแหล่ะ คือการทรงอยู่ของมัน สิ่งใดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง เป็นการทรงตัวของมันอยู่ มันจึงได้แก่ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง คือตัวธรรมะประเภทนี้ ประเภทที่ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเรื่อย ถ้าธรรมะใด หรือสิ่งใดที่มันไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็มีตัวความที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นตัวมันเอง เราจึงได้เป็นสองสิ่งแล้วทั้งสองสิ่งก็มีการทรงตัวมันเอง การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้หยุด มันยังมีเหตุปัจจัยก็เปลี่ยนไปเรื่อย นั้นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นคือตัวมันเอง ของสิ่งๆ นี้ คือสิ่งประเภทนี้ที่เรียกว่าสิ่งที่มีการปรุงแต่ง แล้วถ้ามันปรุงแต่ง ปรุงแต่งๆ ไปจนหยุดปรุงแต่ง หยุดเปลี่ยนแปลง มันก็กลายเป็นชนิดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือเป็นธรรมะพิเศษอันหนึ่ง ซึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เป็นพวกเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนไปเรื่อย นานเท่าไรบอกไม่ได้ แต่ว่ามันมีความสิ้นสุดลง เพราะเหตุปัจจัยมันหมดลง มันก็หยุดเปลี่ยนแปลง ถือว่ามีสองพวกพอแล้ว พวกที่เปลี่ยนแปลงเพราะเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็มีเหตุปัจจัย เพราะไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งไม่ได้ ก็ได้ความหมายว่ามันทรงเท่านั้น ทรงตัวเองอยู่ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพวกหนึ่ง ทรงตัวเองอยู่อย่างแท้จริง ถาวร เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนี่อย่างหนึ่ง นี้ความหมายของตัวหนังสือ คำนี้คือคำว่า ธรรม นี่ลองคิดดูเองบ้างเป็นไรว่าถ้าอะไรอยู่ในพวกไหน อะไรอยู่ในพวกไหน จะเข้าใจได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น เป็นการช่วยให้มันเร็วขึ้นในการเข้าใจ นี้ที่นี้ก็จำไว้ทีก่อนว่า พวกที่เปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าธรรมะที่เปลี่ยนแปลง พวกที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าธรรมะที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเรียกเป็นบาลีก็เรียกว่าสังคตธรรม อสังคตธรรม คือธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง กับธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้ใช้คำว่าปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งไม่ได้ ก็ได้เหมือนกัน มันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกัน เพียงเท่านี้คุณก็ควรจะมีความเข้าใจมองเห็นกว้างขวางทั่วไปหมด คำว่าทั่วไปหมด เราไม่มีคำพูดจะพูดหรือจะวัด เพราะมันยิ่งกว่าสากลจักรวาล คือมันออกไปจนไม่รู้ว่ากี่ร้อยกี่หมื่นจักรวาล หรือเท่าไรจักรวาลซึ่งเราก็ยังไม่รู้ ยังไม่รู้ว่ามีเท่าไร แต่พูดว่าทั้งหมดก็แล้วกัน ไม่ยกเว้นอะไร นี่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง แล้วสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นคำพูดเพียงคำเดียว แต่หมายหมดไม่มียกเว้นอะไร ที่ว่าไม่ยกเว้นอะไรก็ดูกันให้ละเอียดต่อไป ที่เป็นวัตถุปรากฏในความรู้สึก ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่ก็มีเรียกว่าวัตถุ ที่ที่เป็นนามไม่เป็นวัตถุ รู้สึกได้แต่โดยจิตใจอย่างเดียวนี้ก็มี หมดหรือยัง ยังมีอีก มี คือยังมีสิ่งที่ไม่อาจจะจัดว่าเป็นรูปวัตถุหรือเป็นนาม นี่ก็ยิ่ง ยิ่งไกลออกไป แม้จะยังไม่รู้จัก ก็ให้ได้ยินไว้ก่อนว่ายังมี สิ่งที่ไม่ใช่รูปและไม่ใช่นาม และก็ยังมีอยู่ สิ่งที่เป็นรูปนี่คือวัตถุทั้งหลาย สิ่งที่เป็นนาม นี่คือสิ่งที่เป็นวิสัยของความรู้สึกด้วยใจ ตัวใจเองก็ได้ ความคิดนึกของใจก็ได้ รู้จักคำว่ารูปธรรม กับนามธรรมเสียด้วย ธรรมที่เป็นรูป ธรรมที่เป็นนาม แล้วธรรมที่ไม่กล่าวว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม แม้จะเป็นของแปลกของใหม่สำหรับคุณบางคนนี้ก็ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่เรายังไม่รู้จริง แต่เรารู้โดยการคำนวณ ไม่ว่าอะไรมันจะต้องรวมอยู่ในเพียง ๓ อย่างนี้ ก็เรียกว่าธรรม หรือในภาษาบาลีเรียกว่าธรรมะ เสมอกันทุกสิ่ง
ที่นี่ก็จะให้แนะให้สังเกตสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในแง่อื่นต่อไปอีก เช่น ในแง่ความเป็นเหตุและเป็นผล ในขณะหนึ่งมันเป็นเหตุ สิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะหนึ่งมันเป็นเหตุ ในฐานะที่จะทำให้เกิดสิ่งอื่น แล้วต่อมามันเปลี่ยนเป็นผล คือเป็นผลที่เกิดมาจากเหตุ ไอ้เหตุนี่ก็เรียกว่าธรรม เรียกว่าธรรมะ ไอ้ผลนี่ก็เรียกว่าธรรม คือสิ่งที่เป็นเหตุและสิ่งที่เป็นผล กิริยาอาการที่มันเนื่องกันนี่ก็เรียกว่าธรรมะ คือกิริยาอาการหรืออาการที่เป็นธรรมะ หรือธรรมะที่เป็นกิริยาอาการ ของการที่มันเกี่ยวเนื่องกัน ของการที่มันปรุงแต่งกัน แล้วก็ยังมีสิ่งซึ่งไม่อาจจะจัดว่าเป็นเหตุหรือเป็นผล เช่น ความว่างหรือนิพพาน ไม่จัดว่าเป็นเหตุไม่จัดว่าเป็นผล แม้จะทำให้ปรากฏออกมาในการปฏิบัติ ก็ไม่เรียกว่าผล อย่างที่มันคู่กับเหตุ เดี๋ยวนี้เราก็ได้ว่าเหตุพวกหนึ่ง ผลก็พวกหนึ่ง และอยู่เหนือความเป็นเหตุหรือความเป็นผลนี่ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง ๓ คำนี้ถ้าคุณเข้าใจก็แปลว่าคุณจะรู้จักทุกอย่างที่ในสากลจักรวาล ในทั้งหมดแห่งจักรวาล คำว่าธรรมมันมีมากอย่างนี้ คือหมายถึงทุกสิ่ง นี่เราก็เอามาใช้แต่บางสิ่ง หรือบางอย่าง หรือบางแง่ของความหมายตามความจำเป็น มีการจำกัดความเฉพาะขึ้นมาเป็นคำๆ ไป และเมื่อคำว่าธรรมมันหมายถึงทุกสิ่ง แม้แต่ธรรมที่เป็นเพียงคำพูด หรือตัวหนังสือ หรือเรื่องราว หรือความหมาย ที่อาศัยอยู่ในคำพูดหรือตัวหนังสือนี้ก็เรียกว่าธรรมเหมือนกัน ธรรมคือสิ่งที่สำหรับพูด หรือเป็นคำพูด หรือเป็นการพูด เป็นความรู้ ความหมายที่มันมีอยู่ในคำพูด ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าธรรมที่เรียกว่าปริยัติธรรม เรียกว่า ศาสนธรรมประเภทที่เป็นคำสอน เรียกว่าคำพูดที่มีความหมาย แล้วก็ใช้สั่งสอนกัน เพื่อจะได้จำได้ จำง่าย เพื่อจะได้เข้าใจนี่ก็เรียกว่าปริยัติธรรมหรือว่า ศาสนธรรม คือธรรมส่วนที่เป็นคำสอนสำหรับเรียน นี่เราดึงออกมาใช้เฉพาะอย่างนี้อย่างหนึ่งก่อน แล้วก็มีคำว่าธรรมในความหมายของการปฏิบัติที่เรียกว่าประติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ใช้ความหมายเหมือนกันทั้งนั้น อันนี้หมายถึงกิริยาอาการที่กระทำลงไปด้วยความตั้งใจ เพื่อผลอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่าการกระทำ ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่คำสอน มันอยู่ในรูปของการกระทำ คือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่าปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น นับตั้งแต่การทำมาหากินอะไรขึ้นมา จนกระทั่งมาบวช จนกระทั่งปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุมรรคผล การปฏิบัตินี้เรียกว่าธรรม แล้วก็ไปเรียกว่า ประติปฏิบัติธรรม ธรรมคือการปฏิบัติ มันฟังง่ายขึ้น คือตัวพรหมจรรย์ อย่างที่พูดมาแล้วตั้งมากมายหลายแง่หลายมุมนั่น คือสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติ หรือปฏิบัติธรรม นี่มันเกิดผลอะไรขึ้นมา มันเป็นมรรคผลนิพพานก็ตาม หรือเกิดผลอย่างโลกๆ ก็ตาม ก็เรียกว่าผล ธรรม ธรรมที่เป็นผล ธรรมที่เป็นผลนี้บางทีก็เรียกว่า วิปากธรรม คำว่า วิปากะ หรือวิบากนี้ แปลว่าผล อันสุดท้าย บางทีก็เรียกว่า ปฎิเวธธรรม คือผลที่รู้สึกอยู่ในใจของเรา เรียกว่า ปฎิเวธธรรม สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติก็เรียกว่าธรรม
สรุปอีกทีหนึ่ง ที่คุณก็มองเห็นได้ทันทีว่า ไอ้ความรู้หรือทฤษฏีทั้งหลายนี้ก็เรียกว่าธรรม การปฏิบัติลงไปจริงๆ นี้ก็เรียกว่าธรรม ได้ผลมาตามสมควรแก่การปฏิบัตินั้น ก็เรียกว่าธรรม มันจึงเกิดเป็นหลักใหญ่ๆ เกิดขึ้นในวงการทั่วไป ในพุทธศาสนานี้ก็ตาม ธรรมคือความรู้หรือหลักวิชานี่อย่างหนึ่ง ธรรมคือการปฏิบัติตามหลักวิชานั้นอย่างหนึ่ง ธรรมคือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติตามหลักวิชานั้นอีกอัน อีกชั้นหนึ่ง เลยมีอยู่เป็น ๓ ชั้น อย่างคุณนั่งฟังผมพูดอยู่นี่มันก็เกี่ยวกับปริยัติธรรม คือธรรมสำหรับพูด และเอาไปปฏิบัติ ก็เป็นประติปฏิบัติธรรม ด้วยการอดกลั้น อดทน ด้วยการบังคับตัวเอง ถ้ามีผลอะไรเกิดขึ้น เป็นความสุขเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็เรียกว่า วิปากธรรมหรือปฎิเวธธรรมที่รู้สึกอยู่ในจิตใจ นี่จำกัดแคบเข้ามาแล้ว เราเอาคำว่า ธรรม มาใช้ในความหมายกลับแคบเข้ามาตามความประสงค์ของเรา ไม่ต้องหมายถึงทุกสิ่ง แล้วเราก็ได้ยินกันแต่คำเหล่านี้ ศึกษาธรรม พระธรรมเหล่านี้ ปฏิบัติธรรมคือธรรมเหล่านี้ ได้บรรลุธรรมก็คือธรรมเหล่านี้ ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม บรรลุธรรม ถ้าพูดที่บ้าน เรื่องโน้นก็เรียกว่า ศึกษาหลักวิชาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วเกิดผลได้ขึ้นมา ถ้าถูกก็เป็นผลดี ถ้าผิดก็เป็นผลเสีย ทั้งหมดนั้นก็เรียกว่าธรรม
ที่ที่มันเป็นปัญหา ที่เราจะมองเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่โดยทั่วๆ ไป ก็จะมีสักสองคำ คือความทุกข์คำหนึ่ง กับความดับสนิทแห่งความทุกข์อีกคำหนึ่ง นี่เป็นปัญหา ความทุกข์เป็นปัญหา เพราะมันขบกัดเรา เราทนไม่ได้ ความดับทุกข์ให้สิ้นเชิงนี่ก็เป็นปัญหาที่เราจะต้องทำให้ได้ ที่จะต้องเอามาให้ได้ เพราะว่าเราทนต่อความทุกข์ไม่ได้ เราก็ต้องมีการปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์นั้นเสีย นั้นเรื่องที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือความทุกข์ เรื่องความดับทุกข์เสียให้ได้นี่เรื่องหนึ่ง ตัวความทุกข์นั้นก็เรียกว่าธรรม เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แม้จะเรียกว่าทุกขธรรม เฉยๆ อย่างนี้ก็ยังได้ ไม่ผิด แต่เราจะเรียกกันสั้นๆ ว่าความทุกข์ ธรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ต้องการ เป็นความดับทุกข์ ก็มีชื่อเรียกอย่างอื่นเช่น นิพพาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่เรียกว่าธรรมได้ทั้งนั้น นี้ถ้าจะขยายออกไปเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อันนั้นก็เรียกว่าธรรม งั้นกิเลสก็คือธรรม ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความทุกข์ก็เป็นธรรม คือตัวความทุกข์ นี้ความดับทุกข์ก็คือธรรม ก็คือธรรมที่เป็นความดับทุกข์ และการปฏิบัติเพื่อให้รู้ถึงความดับทุกข์นี้ก็เรียกว่าธรรม คือปฏิบัติธรรมที่เรากำลังปฏิบัติ ถ้าเราอยากให้มีเป็น ๔ เรื่อง ตามจำนวนอริยสัจ มันก็มีทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ มีการปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้ถ้าพูดให้สั้นเข้ามาอีก ให้เหลือแต่ ๒ เรื่อง ก็คือเรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น ไม่รู้มีใครถาม ท่านตรัสว่า แต่ก่อนก็ดี ปุพเพจาหังภิกขเว เอตะระหิจะ (นาทีที่ 31.30) เดี๋ยวนี้ก็ดี ทุกขัง เจวะ ปัญญาเทมิ ทุกขสัจจะนิโรธัง (นาทีที่ 31.42) เราบัญญัติแต่เรื่องทุกข์ และเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เท่านั้น
นี้ก็ควรจะจำไว้ หรือควรจะเข้าใจไว้ เผื่อมันมีใครถามว่าพระพุทธเจ้าของคุณสอนเรื่องอะไร ถ้าคนต่างศาสนา ต่างประเทศเขาถาม เราจะได้ตอบอย่างไม่เสียหลัก ว่าท่านจะไม่ยอมพูดเรื่องอะไรนอกจากเรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ นอกนั้นถือเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ นี่ก็เรียกว่า ธรรมนี่เหลือแต่ ๒ แล้ว ทุกข์กับความดับทุกข์ ถ้าแยกเป็น ๔ ทุกข์ก็ขยายถึงตัวเหตุของมันด้วย ความดับทุกข์ก็ขยายออกไปถึงวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์นั้นด้วยก็เป็น ๔ ก็เลยเป็นหัวใจในพุทธศาสนาในเรื่องนี้ คือเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์โดยตรง พูดเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องดับทุกข์กับเรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่ามีธรรมะ ๔ ข้อ คือ ๔ พวก แล้วแต่จะเรียกระบบของธรรมะ จะเป็นระบบ ระบบไปอย่างนี้ โดยที่เราจะพูดกันในความมุ่งหมายไหนก็ได้ พอมาถึงตอนนี้คุณก็จะเห็นได้เองแล้วว่า เป็นคำประหลาด คำว่าธรรมะนี่เป็นคำประหลาด มันหมายถึงทุกสิ่งทั้งที่เรารู้จักแล้วและเรายังไม่รู้จัก นั้นจึงไม่อาจจะแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้ อย่างที่เรียกว่าในภาษาไทยนี้เราก็แปลไม่ได้ เพราะถ้าจะแปลออกมามันจะเป็นคำแปลตั้งหลาย ๑๐ คำ ทนไม่ไหว ก็เลยเรียกว่าธรรมหรือธรรมะเฉยๆ ไปตามเดิม ตามภาษาเดิม พวกที่พยายามจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษานั่นนี้ พยายามกันอยู่พักหนึ่ง ไม่กี่ปีก็ยอมแพ้ ไม่แปล ใช้เรียกว่าธรรมะไปตามเดิม คำว่าธรรมะหรือคำว่าธารมิกกะ ไปมีอยู่ในดิกชั่นนารีภาษาอังกฤษแล้ว เช่นเดียวกับในภาษาไทยเรา มันแปลไม่ได้
อ้าว,ที่นี้เมื่อจะดูกันถึงระบบที่จัดเป็นพวกๆ ก็จะซ้อมไอ้ความจำ หรือสรุปคำที่พูดไปแล้วนั้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รู้ความหมายของคำว่า สิ่งทุกสิ่ง ชัดเจนยิ่งขึ้นไป จำคำว่าสิ่งทุกสิ่งไว้ก่อนสิ เพราะสติปัญญาของคุณเท่าที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ คุณจะอธิบายได้ถึงไหนที่ว่าสิ่งทุกสิ่ง จะมองเห็นแคบๆ จะเห็นด้วยตานี้ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น ไอ้หลักเกณฑ์ที่เราจะใช้ดูสิ่งทุกสิ่ง ให้เห็นว่ามัน ทุกสิ่งจริงๆ ก็อย่างที่ได้ว่ามาบ้างแล้วนั้น เดี๋ยวนี้ก็จะสรุปให้ชัดขึ้นว่า รูปกับนาม และมิใช่รูปมิใช่นาม นี่จำไว้ให้แม่นๆ รูปที่หนึ่งเรียกว่ารูป ที่สองเรียกว่านาม ที่สามไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม รูปคือวัตถุ จะเป็นตัววัตถุนั่นเอง ก็ได้ เช่น ก้อนหินก้อนนี้ ไอ้ตัวเนื้อหินนี่เป็นวัตถุ ก็เรียกว่ารูปธรรม มันมีเป็นรูป และมันยังมีไอ้รูปอีกชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่ที่ก้อนหินก้อนนี้เป็นความยาว ความกลม สีดำ หรือความสวย ความไม่สวย อาการ แสดงอาการอะไรต่างๆ ได้ นี้เขาก็เรียกว่ารูปเหมือนกัน เป็นอุปทายรูป คือรูปประเภทที่อาศัยอยู่ในรูปที่เป็นตัวเนื้อ ตัวก้อนของมัน รูปจริงๆ รูปธรรมจริงๆ ก็คือตัวเนื้อของวัตถุนั้นๆ ก็เล็งไปถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่ประกอบกันอยู่เป็นอะไรดุ้นหนึ่ง ก้อนหินก้อนนี้คุณจะว่าเป็นธาตุอะไร ถ้าถือตามหลักธรรมะนี้ ก้อนหินก้อนนี้มันก็เป็นครบทั้ง ๔ ธาตุ คือ คุณสมบัติที่แข็งเป๊กกินเนื้อที่ นี้เรียกว่าธาตุดิน คุณสมบัติธาตุน้ำ คือคุณสมบัติที่เกาะตัวไม่ยอมแยก ที่อณูหรือส่วนประกอบที่มันจะเกาะกันไว้ มันไม่ยอมแยก คุณสมบัติอันนั้นเรียกว่าธาตุน้ำ แต่ถึงแม้คุณจะเอาอะไรมาบีบน้ำให้ออกมาก็มีนะ ก้อนหินนี้ แต่ความหมายแท้จริง ไอ้ลักษณะของธาตุน้ำก็คือความเกาะตัวกันไว้ไม่ยอมแยกจากกันของอณูทั้งหลาย เรียก cohesion ที่มันจะดึงเข้ามาศูนย์กลางเกาะตัวกันไว้ คือ ธาตุน้ำ คุณสมบัติอันนี้ก็มีในก้อนหินอันนี้ ธาตุไฟก็มีอุณหภูมิระดับหนึ่งอยู่ในก้อนหินอันนี้ นั่นคือธาตุไฟของก้อนหินก้อนนี้ นี่ธาตุลมกิริยาที่ระเหยได้ลอยได้ ก็มีคุณสมบัติอันนั้นอยู่ในก้อนหินอันนี้ ก้อนนี้ คือมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่มันระเหยได้ ลอยได้ กร่อนไป สิ้นไป แต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้เป็นตัววัตถุธาตุ เรียกว่ารูปธรรม เรียกว่ารูปธาตุหรือรูปธรรม ที่นี้มันมีรูปที่อาศัย รูปมันยาว รูปมันเป็นเหลี่ยม รูปมันคล้ายๆ กับหมู ภาวะอย่างนี้ก็เรียกว่ารูปเหมือนกัน รูปธรรม รูปภาพที่อาศัยอยู่ในรูปอันนั้นอีกที
ดูที่คนกันดีกว่า คนเราประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หลายธาตุ แต่เอาที่เป็นดิน น้ำ ไฟ ลมนี้ก็เรียกว่ารูป เป็นเนื้อหนัง ที่เนื้อหนังมันก็มี มีรูปอันอื่นที่แสดงว่ารูปสูง รูปต่ำ รูปสั้น รูปยาว รูปสวย รูปไม่สวย รูปผู้หญิง หรือภาวะผู้หญิง หรือภาวะผู้ชายที่มันมีอยู่ที่รูปนี้ เป็นต้น นี่ก็เรียกว่ารูป รวมกันทั้งสองอย่างนี้ก็เรียกว่ารูปโดยสมบูรณ์ นี่คือรูปในภาษาธรรม ในภาษาศาสนา ที่นี้พอมาถึงนาม คำว่านามนี่ ก็คือไม่ใช่รูป เป็นเรื่องของจิต ของสิ่งที่เกี่ยวกับจิต เป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่ใช่รูปจึงเรียกว่าอรูป นั่นคือนาม เป็นธาตุอันหนึ่งที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ เมื่อได้เหตุปัจจัย ได้ที่ตั้ง ที่อาศัยดีแล้ว มันก็ทำงานตามหน้าที่ของมัน เช่น จิตคิดนึกได้ หรือความรู้สึกคิดนึกของจิต พวกเหล่านี้ เรียกว่านาม ที่เป็นส่วนใหญ่ๆ ที่เราเกี่ยวข้องกันอยู่ทุกวันก็ เวทนา ความรู้สบายดีหรือไม่สบาย ความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์นี่เวทนามีมาก นี่สัญญาความรู้สึกสำคัญมั่นหมายอะไรว่าเป็นอะไร จำได้หรือจำไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไรนี้ก็เรียกว่านาม แล้วก็สังขารคือความคิดนึกที่กำลังคิดอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ แล้วก็วิญญาณ ก็ความรู้แจ้งทางตา ทางหู ทางจมูก ตัววิญญาณนั้น คือ ตัวจิตที่เรียกว่าจิต ที่เรียกว่าความรู้สึก ตัวทำความรู้แจ้ง ไม่ใช่ตัวตา หู จมูก ลิ้น แต่มันอาศัยตา หู จมูก ลิ้น ทำความรู้แจ้งเกิดขึ้นถึงนั่น อันนี้ก็เรียกว่านาม นั้นสิ่งที่เรียกว่านามก็คือมิใช่รูป หรือที่เรามักจะเรียกกันเสียรวมๆ ว่าเรื่องฝ่ายจิต ทางฝ่ายจิตเรียกว่านาม นี่เป็นเรื่องที่ ๒ เรื่องที่ ๑ คือรูป เรื่องที่ ๒ คือนาม เรื่องที่ ๓ คือมันไม่ใช่นามมันไม่ใช่รูป เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเหตุ ปัจจัย ที่เรียกว่ารูป ที่เรียกว่านามนี้เกี่ยวอยู่กับเหตุปัจจัยนั่น นี่ ปรุงแต่งได้
ถ้ามีภาวะอันใดอีกอันหนึ่งเกิดขึ้น ปรากฏขึ้นหรือก็ตาม มันไม่มีคำจะเรียกนะ ผมไม่มีคำจะเรียก ถึงในคัมภีร์ก็ไม่มีคำจะเรียก เพราะเราไม่อาจจะใช้คำว่าเกิดหรือใช้คำว่ามี หรือใช้อะไรกับสิ่งสิ่งนั้น คือสิ่งที่มิใช่นามและมิใช่รูป คำว่าเกิดขึ้น ดับไป มีอยู่ อันนี้ใช้ได้แต่กับ พวกนาม พวกรูปนี้ทั้งนั้น ถ้ามันพ้นจากความเป็นนามจากรูป คำพูดหมดเลย ไม่มีใช้ นี้ก็เรียกว่ามันพ้นโลกไป พ้นภาษาชาวโลกชาวบ้านไป นี้ก็ขอให้เรียกว่าสิ่งที่มิใช่รูป มิใช่นามไว้ทีก่อน มิใช่เป็นความนั่นความนี่ มิใช่เป็นกิริยาอาการนั่น นี่ ถ้ามันเป็นกิริยาอาการนั่นนี่ หรือภาวะอย่างนั้นอย่างนี้มันอยู่ที่รูปที่นามทั้งนั้น นี้มันจะเลยเถิดเป็นเรื่องปรัชญา เรื่องอะไรไป เอาไว้เท่านี้ทีก่อน คือมีรูปกับมีนาม แล้วก็มีที่มิใช่รูปมิใช่นาม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถจะใช้ครอบคลุมทุกสิ่งบรรดาที่มนุษย์จะรู้จักได้ หรือไม่อาจจะรู้จักได้ รู้จักแล้วหรือยังไม่รู้จักก็ตาม คือรูปคำหนึ่ง นามคำหนึ่ง และมิใช่รูปมิใช่นาม อีกคำหนึ่ง นี้ถ้าว่าจะใช้คำที่กว้างกว่านี้ เขาใช้เพียงสองคำ เรียกว่า สังคตะ มันมีปัจจัยปรุงแต่ง อสังคตะ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คำนี้คงจะแปลกหูสำหรับพวกคุณ แต่พวกที่อยู่ที่วัดก็จะไม่เรียกว่าแปลกหู มันชิน แต่พวกที่ไม่เคยมาอยู่วัดจะแปลกหู สังคตะ แปลว่า มีปัจจัยปรุงแต่ง อสังคตะ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็คือนามและรูป ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็คือสิ่งที่มิใช่นาม มิใช่รูป ที่แท้ก็คือสงเคราะห์ รูป นาม มิใช่นาม มิใช่รูป นั้นให้เหลือ ๒ คือสังคตะและอสังคตะ นี่ก็คือสิ่งที่ได้พูดมาบ้างแล้วทีแรกว่าถ้าเป็นสังคตะก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เพราะนั้นมันเป็นตัวมันเองไม่ได้ เพราะมันมีอะไรคอยปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงเรื่อย แต่มีกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวมันเอง นี่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นได้ง่ายที่สิ่งสิ่งนี้ คือมีปัจจัยปรุงแต่งให้ไปตามอำนาจของเหตุปัจจัยอยู่เรื่อย
ทีนี้อีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าอสังคตะนี้ยากที่จะรู้ในเวลานี้ ก็รู้ได้แต่เพียงว่าตรงกันข้ามจากสิ่งที่เรียกว่าสังคตะ เอาคำว่าไม่ ไม่ ไม่ ไม่ไปใส่เข้าข้างหน้า เอาคำว่าไม่ ไม่ ไม่นี่ไปใส่เข้าพวกหน้า หน้า หน้าพวกสังคตะ มันก็จะกลายเป็นพวกอสังคตะ อสังคตะนี้ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นอย่างไรหมด นี้รู้ยาก จะรู้ก็ต่อเมื่อมีสติปัญญาสูงพอ เพราะว่ารู้ในที่นี้ หมายถึงรู้ด้วยปรากฏแก่ใจจริง นั้นถ้าใจของเรายังถูกปรุงแต่งด้วยความคิดนึก รู้สึกอะไรอยู่ ก็ไม่ ไม่ ยังไม่รู้ แต่ว่าจิตนี่มันพ้นจากความปรุงแต่งแล้วมันจึงจะมารู้จักไอ้สิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่งนั้น นั้นก็เก็บไว้ทีก่อน สำหรับตัวจริงของมัน แต่รู้โดยหลักสำหรับพูด
ทีนี้ก็อยากจะให้คุณที่เคยเรียนหนังสือหนังหามาอย่างสมัยปัจจุบันนี้ คือคำว่า positive คำว่า negative กับคำว่าไม่ใช่ positive ไม่ใช่ negative คือเป็นนิวตรอนหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่สุดแท้แต่จะเรียก ไอ้ ไอ้สิ่งทั้งหลายที่เราจับได้เป็น negative นี้ก็เรียกว่าธรรม positive ก็ธรรม negative ก็ธรรม ที่เป็น neutrality ไม่ใช่ positive ไม่ใช่ negative ก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม คือใช้ภาษาอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจคำเหล่านี้ดี เราก็รู้ว่ามันหมดแล้ว มันไม่มีอะไรเหลือแล้ว เพราะการที่มนุษย์จัดเดี๋ยวนี้ก็จัดได้เพียง positive กับ negative หรือนิวตรอน เป็นทุกอันมันเป็น เป็นธรรม เรียกว่า ธรรม ส่วนคำว่า neutron นี้จะหมายถึง neutronโดยเด็ดขาด หรือว่าโดยไม่เด็ดขาด ถ้ามันเป็นโดยเด็ดขาดไอ้สิ่งที่เรียกว่าอสังคตะก็จะมารวมอยู่ที่นี่ได้ ถ้าเป็นนิวตรอนไม่จริง ที่กลับไปกลับมาได้นี้ก็ยังไม่ใช่ คำแต่ละคำจะมีสองซับสองซ้อนอย่างนี้
เมื่อตะกี้ได้พูดถึงเหตุและผล แล้วก็ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล นี่ก็อธิบายแล้วพูดขึ้นเพียงให้นึกได้ สิ่งที่เป็นเหตุปรุงแต่งสิ่งอื่น สิ่งที่เป็นผลเกิดมาจากการปรุงแต่งของสิ่งอื่น สิ่งที่นอกจากความเป็นเหตุและเป็นผล ก็มีแต่พวกว่าง พวกนิพพาน ที่อยากจะแนะถึงสิ่งที่เรียกว่าอาการ มันมีตัวธรรมะประเภทที่เป็นรูปเป็นนาม นี่ประเภทที่เป็นอาการนั้น เราหมายถึง ลักษณะของความเปลี่ยนแปลง แม้แต่อาการนั้นก็เรียกว่าธรรม ธรรมะชนิดที่เป็นอาการ เป็นภาวะ เป็นลักษณะ เป็นอาการ อาการที่มันเกิดขึ้นมาก็เรียกว่าธรรม อาการที่มันตั้งอยู่ชั่วขณะนิดเดียวนี่ก็เรียกว่าธรรม อาการที่มันดับไปอีกก็เรียกว่าธรรม จากการที่มันวนเป็นวงกลม เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป นี้ก็เรียกว่าธรรม อาการที่มันคล้องกันเป็นสายเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็เรียกว่าธรรม มันเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอันหนึ่ง แล้วมันก็มีขณะที่เร็วมากที่กำหนดไม่ได้ เรียกว่าขณะที่มันตั้งอยู่หรือกว่าที่มันจะดับไป ที่ว่าดับไปแล้วเหตุปัจจัยยังไม่หมด มันก็มีเกิดอีก ตั้งอยู่ดับไปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป ตลอดเวลาที่เหตุปัจจัยยังไม่หมด นี่เขาเรียกว่าวัฎสงสาร แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าวัฎสงสารนี้ก็เรียกว่าธรรม ตัวกิริยาอาการที่หมุนไปนั่นก็เรียกว่าธรรม คล้องกันไปเป็นวง นั่นก็เรียกว่าธรรม วัฎสงสารก็คือธรรม ธรรมชาติตามธรรมดาอันหนึ่งเรียกว่าวัฏสงสาร ที่ตรงกันข้ามจากวัฎสงสารก็คือนิพพาน คืออาการที่มันไม่เป็นอย่างนั้นโดยเด็ดขาด ก็เรียกว่านิพพาน นิพพานก็เรียกว่าธรรม วัฏสงสารก็เรียกว่าธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่เรียกว่าธรรม
ในที่สุด มันก็คำว่าธรรมคำเดียวใช้แก่ทุกสิ่งอย่างนี้ ที่เขาพูดอย่าง เขาเรียกว่าจะพูดกันอย่างปรมัตถ์ เขาจะพูดแต่เรื่องของคน แล้วก็แบ่งเป็น ๔ หัวข้อ หรือจะเรียกว่า ๓ หัวข้อก็ได้ รูปคือร่างกาย เกี่ยวกับร่างกายส่วนหนึ่ง แล้วนามคือจิตกับเจตสิก แล้วความดับสิ้นสุดของทั้งสามอย่างนี้เรียกว่านิพพาน คนเรานี้มันมีร่างกายเรียกว่ารูป จิตคือสิ่งที่มีหน้าที่คิดนึก ปรุงแต่ง ทีนี้ไอ้ความรู้สึก หรือคุณสมบัติอันหนึ่งที่มันจะทำให้จิตคิดนึกได้ เขาเรียกว่าเจตสิก จิตนั่นตัวการที่มันจะคิด เจตสิกคือส่วนประกอบหรือปัจจัยที่จะทำให้จิตคิดได้ แต่มันแสดงออกมาเป็นจิตเลย ไม่อาจจะแยกกันอยู่อย่างนี้ เช่น เรามีความโกรธอย่างนี้ จิตโกรธ เจตสิกที่ชื่อโกรธมันผสมอยู่แล้ว เสร็จมาพร้อมที่ปรากฏเป็นความโกรธของจิตออกมา ตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้สึกโกรธ ก็เป็นจิต ตัวความโกรธที่ผสมให้จิตเป็นจิตที่โกรธนี่ก็เรียกว่าเจตสิก ภาษาธรรมดาเขาไม่แยกกัน เขาเรียกว่าความโกรธ รวมทั้งจิตที่มันโกรธ แต่ภาษาธรรมะอันละเอียดเขาจะแยกจิตขึ้นเป็นอันหนึ่ง เจตสิกอีกอันหนึ่ง รวมกันก็คือจิตชนิดหนึ่ง จิตที่กำลังรัก จิตที่กำลังโกรธ จิตที่กำลังโลภ จิตที่กำลังหลง หรือจิตที่กำลังฉลาด จิตที่กำลังมีสติ จิตที่กำลังมีสัมปชัญญะ ทุกอย่างเลย มันมีได้ เป็นจิตและเป็นเจตสิก ถ้ามันยังมีปัจจัย มันก็ปรุงแต่งกันไปเรื่อย อาศัยรูปร่างกาย จิตก็ที่ทำหน้าที่ปรุงแต่ง คิดนึกไปเรื่อย มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจไปเรื่อย ก็ออกมาเป็นเรื่องของรูปและของจิตเรื่อยไป ทางกายนี่ก็เรียกว่ารูป ถ้าทางวาจาก็เรียกว่ารูป ถ้าทางจิตก็เรียกว่าจิต ถ้ามันดับชั่วขณะก็เรียกว่านิโรธชั่วขณะ ถ้ามันดับถึงที่สุด ไม่มีการปรุงแต่งอย่างนี้อีก ก็เรียกว่านิโรธแท้จริงหรือนิพพาน
ทั้งหมดนี้เรียกว่าธรรม รูปไอ้ที่เรียกว่ารูปก็แจกไปได้หลายสิบหลายร้อยชนิดก็ได้ ที่ว่าจิตก็แจกไปได้ ได้หลายสิบหลายร้อยชนิด แต่ที่เขานิยมแจกกันเพียง ๘๙ ชนิด หรือ ๑๒๑ ชนิด ตามพวกอภิธรรมเขาเรียนกัน ที่ว่าเจตสิกเขาก็นิยมแจกเป็นเพียง ๕๒ ชนิด แต่ผมว่ามากกว่านั้นก็ได้ แต่พูดไปเถียงกันเปล่าๆ ส่วนนิพพานคือความดับลงของไอ้ทั้งหมดนั้น สิ้นสุดกันที แล้วก็อย่าไปดูที่ไหน ตัวใครก็ดูในตัวคนนั้น มันมีจิต มีเจตสิก มีรูป คือร่างกาย หรือมีการดับชั่วขณะ ดับชั่วขณะอย่างดับแป๊ปๆๆๆ อย่างนี้ เขาเรียกว่าพังคะ เกิดดับ เกิดดับ อุปปาทะเกิดขึ้น ฐิติ ตั้งอยู่ชั่วขณะ แล้วก็พังคะสลายลง ถ้าดับนานกว่านั้นก็เรียกว่า อัฎฐังคมัค ถ้าว่าดับจริง จึงจะเรียกว่านิโรธหรือนิพพาน ดับนี้ก็มีอยู่หลายดับ นอกนั้นจะเป็นอะไรก็เรียกว่าธรรมในภาษาบาลี รูปก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม เจตสิกก็เป็นธรรม ความดับชนิดไหนกี่ ก็เรียกว่าเป็นธรรม แต่ละอย่าง ละอย่างแจกได้เป็นหลายๆ สิบอย่าง หลายๆ ร้อยอย่าง แต่ละอย่างก็เรียกว่า ธรรม
แต่วันนี้เราไม่พูดอะไรที่เป็นเนื้อหนัง เพียงแต่พูดให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นคืออะไร รู้จักระบบของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ น่าสนใจหรือไม่ น่าอัศจรรย์หรือไม่ ก็เอาไปคิดดูเอง แต่ในที่สุดจะพบว่าในบรรดาธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไอ้ธรรมที่เป็นความดับทุกข์จะเป็นที่น่ารัก น่าพอใจน่าสนที่สุด ค่อยๆ รู้กันทีหลัง เดี๋ยวนี้รู้อย่างที่เรียกว่า อย่างวิชชา ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติ รู้อย่างหลักวิชา ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรม นั้นคืออะไร ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วเราจึงค่อยเฉพาะเจาะจงไปรู้ เอาธรรมที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือการปฏิบัติที่จะดับทุกข์ได้
สำหรับวันนี้ก็พูดให้ทราบเพื่อจะกันไอ้ความฉงนเกี่ยวกับภาษา ภาษาบาลี คำว่าธรรมหมายถึงทุกสิ่ง ในภาษาอังกฤษก็ไม่มีใช้คำนี้ต้องแปล แปลไม่ได้ต้องเอาคำนี้ไปใช้ ผมเคยแนะให้ใช้ คำว่า สิ่ง เหมือนในภาษาไทย เขาบอกไม่ได้ เขาไม่อาจจะเข้าใจได้ เพราะว่าในภาษาไทยเราก็ยากที่จะเข้าใจ และคำว่าธรรมนี้ คือแปลว่าสิ่ง เพราะว่าคำว่าสิ่งในภาษาไทยมันก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตเสียอีก เป็นสิ่งของไปเสีย ไม่ได้หมายถึงสิ่งในความหมายที่กลางที่สุด แต่ที่แท้มันเป็นความหมายที่กลางที่สุด เรียกว่าสิ่งก็ได้เหมือนกัน แม้แต่นิพพานก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ความทุกข์ก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ร่างกายก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง จิตก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ความคิดก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ถ้าใช้สิ่งเหล่านี้แหล่ะก็ได้ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สิ่ง นั่นคือความหมายของคำว่าธรรม แต่แล้วมันก็มีธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะพูดกันวันอื่น วันนี้สรุปความแต่เพียงว่า ระบบธรรม ก็คือระบบของสิ่งทั้งปวง ไม่ยกเว้นอะไร
เวลาก็หมดแล้วก็ยุติการบรรยายเฉพาะวันนี้ไว้เท่านี้ก่อน