แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการบรรยายครั้งที่ ๑๐ นี้ ผมจะได้กล่าวด้วยหัวข้อว่า ศีลธรรมในฐานะเป็นธรรมศาสตราแห่งปัญหาสังคม ในที่นี้ต้องทบทวนถึงข้อความในครั้งที่แล้วมาสักเล็กน้อยก็จะชัดเจน ในครั้งที่แล้วเราพูดกันถึงความแตกต่างกันระหว่างศีลธรรมกับปรมัตถธรรม มีความมุ่งหมายคนละอย่างแล้วก็อยู่กันคนละระดับ แล้วก็มีลักษณะราวกับว่าจะคัดค้านกัน แต่ไม่จำเป็นจะต้องคัดค้านกัน คือมันช่วยกันทำหน้าที่คนละระดับ ดังนั้นทั้งสองอย่างก็เป็นธรรมศาสตราคือจะช่วยตัดปัญหาสังคมได้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าปัญหาของสังคมมันก็มีอยู่กัน ๒ ระดับ เมื่อปัญหามีอยู่ ๒ ระดับ หรือ ๒ ประเภทนี้ จะต้องให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งไว้เสมอ เมื่อพูดในรูปของอุปมา ผมก็เคยพูดแล้วพูดเล่า ว่าชีวิตนี้ต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว หรือวัว ๒ ตัว หรือม้า ๒ ตัว แล้วแต่จะเรียก ตัวหนึ่งเป็นเรื่องทางร่างกาย ตัวหนึ่งเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ แม้ว่าร่างกายมันจะต้องเกี่ยวข้องกันอยู่กับจิต แต่ปัญหามันต่างกัน ปัญหาของจิตล้วนๆ นั้นมันต่างกันกับปัญหาของร่างกาย แม้ที่ว่ามันเกี่ยวข้องกันอยู่ก็จริง ทีนี้ปัญหามันยังขยายตัวออกไปได้ทั่วทั้งร่างกายนี่ มันยังขยายตัวไปได้ถึงทางสังคมอีกส่วนหนึ่ง คุณลองทำในใจอย่างนี้ดูก็แล้วกันว่า เราเอาร่างกายนี้เป็นหน่วยตั้งขึ้นทีแรก แล้วทีนี้เราลองมองออกไปข้างหน้า ข้างนอกออกไปจากร่างกาย มันไปถึงอะไร มันก็ไปถึงร่างกายคนอื่นๆ ที่เราเรียกว่า สังคม ที่ได้มองออกไปข้างนอกจากร่างกายแล้วไปเจอสังคม ที่ถ้ามองเข้ามาในร่างกายในส่วนลึก ส่วนลึกๆ ของร่างกายนี้มันก็ไปเจอไอ้เรื่องจิตหรือเรื่องวิญญาณในจิตใจ ที่ท่านเรียกว่าเรื่องทางวิญญาณเมื่อปีก่อน คือจะเป็นช่วงที่จะมีปัญหาตรงที่เป็นร่างกายทั้งหลาย ทาง Physical แล้วก็มองรอบออกไปออกจากร่างกายรอบๆ ตัวออกไปนั้นก็มีเรื่องสังคม เรื่อง Social เรียกว่ามองลึกเข้าไปในศูนย์กลางของร่างกายก็เกิดพวก Spiritual ทั้งหลาย อย่างนี้คุณจะเรียกว่ามัน ๒ ชั้นหรือ ๓ ชั้น อย่างผมชอบเรียกว่า ๒ ชั้น เรียกว่าทางร่างกายหรือทางฝ่ายวัตถุนั้นอย่างหนึ่ง ทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณอีกอย่างหนึ่ง ตอนแรกมันแยกออกเป็น ๓ ฝ่าย คือปัญหาทางสังคมอยู่ข้างนอก และปัญหาที่ร่างกายโดยเฉพาะอยู่ตรงกลาง และปัญหาในลึกสุดคือปัญหาทางจิตทางวิญญาณ ทีนี้ปัญหาทั้ง ๓ อย่างนี้จะแก้ด้วยอะไร จะตัดออกไปได้ด้วยอะไร ก็พอจะมองเห็นกันได้ทุกคนว่า ปัญหาทางสังคมหรือทางร่างกายนี่มันเป็นเรื่องน่าจะแก้ได้ด้วย ศีลธรรม จะต้องใช้คำว่า ทั้งหลาย เมื่อศีลธรรมมีมาก จึงต้องใช้คำว่า ทั้งหลาย เช่นนี้เราจึงถือว่า ศีลธรรมตั้งอยู่ในฐานะเป็นศาสตราแห่งปัญหาสังคม นี่เป็นส่วนใหญ่ เราจึงนับเอาร่างกายเราคนหนึ่งก็เข้าไปผนวกเข้าในสังคมทั้งสิ้น เป็นเรื่องของสังคมโลก ที่เหลือก็เป็นเรื่องจิตใจล้วน ในหัวข้อในวันนี้จึงมีว่า ศีลธรรมในฐานะเป็นธรรมศาสตราที่ขจัดเสียซึ่งปัญหาแห่งสังคม ธรรมศาตราหรือธรรมศาสตร์จึงเกิดเป็นชั้นศีลธรรมหรือปรมัตถธรรมขึ้นมา เป็นคู่ อันหนึ่งเป็นศาสนาทางสังคม อันหนึ่งเป็นศาสนาในส่วนลึกของปัจเจกชน ทีนี้เราจะพูดถึงในสิ่งที่ควรจะทราบ ว่าไปตามลำดับ ธรรมศาสตราในชั้นศีลธรรมก็คือศีลธรรมที่ใช้เป็นธรรมศาสตรา นี่มันคืออะไร นี่มันตั้งต้นกันเมื่อไร มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เมื่อตรวจดูในหนังสือที่เกี่ยวกับศีลธรรมหรือจริยธรรมก็ตาม มันมีเขียนไว้ชัดเลยว่าไม่มีใครรู้ คือไม่มีใครจะกล่าวได้ลงไปว่า ศีลธรรมนี่มันตั้งต้นเมื่อไหร่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ซะอีก แต่ถ้าเราจะพูดอย่าง Logic มันก็จะต้องพูดได้ โดยอาศัย Logic ประกอบทั้งภาพกับเรื่องทางชีวิตวิทยาและประวัติศาสตร์ มันก็พอจะพูดได้ว่าศีลธรรมมันตั้งขึ้นเมื่อไหร่ คือมันเมื่อเกิดปัญหาที่ต้องแก้ด้วยศีลธรรม ดังในพระบาลีพระไตรปิฎกโดยมีข้อความกล่าวไว้ พอจะเห็นได้ชัดว่าศีลธรรมมันตั้งต้นขึ้นมา เมื่อมนุษย์มันเริ่มเอาเปรียบผู้อื่นด้วยความเห็นแก่ตัว มนุษย์จะเป็นมนุษย์สมัยหินหรือก่อนสมัยหิน มันเริ่มจะเกิดปัญหาทางศีลธรรมขึ้นมา เมื่อมันเริ่มมีความเห็นแก่ตัว เราจะพูดได้เลยว่าศีลธรรมที่เป็นศาสตราตัดปัญหานี่ ต้องมีมาแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยมนู มนูนี่มันจะเป็นบุคคลสมมติหรือบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ก็แทบจะไม่มีใครรู้ว่าปีไหน เมื่อไร ที่ว่ายอมรับกันมาเรื่อยๆ มา ในอินเดียแล้วก็มาถึงเมืองไทยว่าเป็นผู้เขียนตำรับธรรมศาสตร์ ในหนังสือกฎหมายทั้งหลายเขาจะเอ่ยถึงมนู ว่ามนูธรรมศาสตร์ในแผนกคำนำและเนื้อเรื่อง สมมติกันว่าเป็นผู้แตกฉานในธรรมศาสตร์ คือระเบียบศีลธรรมที่อยู่ในรูปของกฎหมาย และมีการปรารภ ข้อความนั้นมีการปรารภทางศีลธรรมก่อน เริ่มเกิดปัญหาทางศีลธรรมขึ้น จึงถือว่ามันต้อง ศีลธรรมนี่มันจะต้องเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ก่อนสมัยพระมนู พระมนูเพียงแต่ร้อยกรองให้มันเป็นระเบียบ เป็นชุด เช่น อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นออกมา แล้วก็มีลักษณะเป็น สิ่งที่ร้อยกรองขึ้นมามีลักษณะเป็นกฎหมายที่ใช้แก่สังคมในที่สุด ถ้าเราจะรวบรวมดูจากเรื่องที่กล่าว เรื่องต่างๆ ที่กล่าวถึงศีลธรรมนี้ ซึ่งพวกนักจริยธรรมเขารวบรวมมาประกอบการพิจารณา พอจะได้ใจความเอามาลำดับกันเองว่า เราเอามาลำดับเอาเองว่า ในชั้นแรกมันก็มี ระบบศีลธรรมของคนที่ยังไม่เจริญ คือคนป่า เรียกว่าคนป่า ไม่รู้จักสังเกตอะไรต่างๆ ก็เลยมีกฎเกณฑ์ระเบียบที่ตั้งขึ้นมาในลักษณะที่เรียกว่า ศักดิ์สิทธิ์ ในคนที่เขายังอยู่ในแผ่นดินที่ไม่มีความเจริญไม่มีวิชาความรู้ด้วยเหตุผลนี่ รู้ไว้ด้วยว่าเขาอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องควบคุม นี่เป็นหลักที่จะถือกัน ครั้นจะออกคำสั่งอะไรมาก็ต้องออกมาในรูปที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ต้องอธิบาย อธิบายไม่ได้ เป็นกฎระเบียบว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งในเรื่องความประพฤติ เรื่องอนามัย เรื่องการปฏิบัติต่อกันและกันนี้ มีคำๆ หนึ่งไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร เรียกว่า ตาบู ตาบู ใช่ หมายถึงระเบียบต่างๆ ที่คนในสมัยนู้นถือปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งก็มันคล้ายๆ กับคำว่า บาป บาป อะไรทำนองนี้ สมัยนี้ อย่างนี้ทำไม่ได้ อย่างนั้นทำไม่ได้ อันนั้นกินไม่ได้ อันนั้นนอนไม่ได้ จะนอนตรงนี้ก็ไม่ได้ รู้ว่าจะต้องทำตามที่เขาสั่ง เขาแนะ เขาถือกันมา ถ้าไม่ทำก็ต้องตาย ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นอย่างนี้กันอยู่พักหนึ่งในหมู่มนุษย์ ทีแรกก่อเกิดด้วยความเป็นมนุษย์ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นศีลธรรมหรือกฎหมายโดยตรง แต่มันเป็นการเริ่มต้น เราก็ต้องทราบด้วยว่าสมัยนั้นมนุษย์ไม่ได้ประกอบการทำมาหากินคือการผลิต ไม่มีการผลิต ถ้าเรียกว่าผลิตมันก็ไปเก็บเอามาจากในป่า มันแค่หามาจากในป่า สิ่งที่เกิดอยู่เอง เช่นข้าวสาลี เช่นอะไรก็ตาม มันเกิดอยู่เองในป่าก็ไปเก็บเอามา เพราะฉะนั้นจึงมีการเก็บเอามากินวันหนึ่งๆ กินเข้าไปเท่าที่ต้องการ ปัญหามันก็ไม่มี กฎหมายก็ยังไม่ต้องมี เพราะไม่มีใครยึดครองสิ่งเหล่านี้ ป่านี้ก็ไม่เป็นสมบัติของใคร สิทธิครอบครองอะไรก็ไม่มี ยุ้งฉางก็ไม่มี บ้านเรือนก็ไม่มี มันก็ยังไม่มีปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายหรือศีลธรรม ทีนี้ความเปลี่ยนแปลงหรือความเจริญในลักษณะการมันไม่ได้หยุดอยู่กับที่ มันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป จนกระทั่งเกิดคนที่รู้จักเอาเปรียบ ไปเก็บของที่มีอยู่เองในป่ามาไว้มากๆ มาใส่ยุ้งฉางไว้ เกิดการสร้างบ้านเรือนขึ้น มีการยึดครองนั่นนี่ ทีนี้คนที่มีปัญญาหรือว่าเอาเปรียบอย่างนี้มันก็มีมาก ไอ้คนที่โง่ก็มีน้อย นี่มันคือการตั้งต้นของความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางกฎหมายทางศีลธรรม กระทั่งการเมืองอันใหญ่หลวงในสมัยนี้ ซึ่งคุณก็พอจะเข้าใจได้ดี ระบบนายทุน ระบบกรรมกรนี้ มีมูลมาจากการเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป แต่ก่อนนี้มันไม่มี ถ้าจะดูถึงข้อที่สัตว์ทั้งหลาย เป็นนก เป็นต้น ไม่มีตัวไหนเอามากกว่าตัวไหน ไม่มีใครจนหรือไม่มีใครมั่งมีอย่างนี้ ปัญหาก็ไม่มี ทีนี้มันเกิดเจริญไปเป็นคน เป็นคนเลยรู้จักเอาเปรียบ ก็เกิดปัญหาขึ้นมาเป็นความเหลื่อมล้ำ จากความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดปัญหากันขึ้นหนักขึ้นๆ ยุ่งยากกันหมดกระทั่งวันนี้ นี่เรียกว่ามูลเหตุแห่งกฎหมายและศีลธรรมมันอยู่ที่ตรงนี้ คือมาร้อยกรองเป็นศีลธรรม ก็เป็นในรูปของศาสนา มาร้อยกรองเป็นกฎเกณฑ์ใช้บังคับด้วยอำนาจ มันก็เป็นรูปของกฎหมาย นี่ศีลธรรมมันก็แยกทางเดินกันได้อย่างนี้ ข้อความฝ่ายของพวกพราหมณ์กับฝ่ายคัมภีร์ของพุทธเราในพระไตรปิฎกมีพูดถึงเรื่องพระเจ้าสมมติราชตรงกัน ว่าพอมันเกิดมนุษย์เอาเปรียบ ไปเอามาจากในป่ามากจนเพื่อนลำบาก พอรู้จักปลูกฝังแล้วมันก็ขโมยอย่างนี้เป็นต้น ก็มีความลำบากเกิดขึ้น จำเป็นต้องคิดค้นหาหนทางว่าทำอย่างไรกันดี มนุษย์เกิดเห็นพ้องกันว่าต้องสมมติให้คนๆ หนึ่งที่จะเป็นผู้ชนะคนอื่นได้ ในทางสติปัญญา เฉลียวฉลาด ร่างกายแข็งแรง รูปร่างงดงาม สมมติคนนี้ให้เป็นผู้ที่ใช้อำนาจเพื่อจะทำตามคำสั่งของคนๆ นี้ในการที่จะลงโทษใครหรืออะไร ก็เกิดบุคคลที่เรียกว่าสมมติราช ที่เรียกภายหลังว่าสมมติราชขึ้นมา ทางโลกจะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบ ในบาลีอธิบายไว้ชัดว่า ราชะๆ นี่ มาจากคำว่า ยินดีๆ ในเมื่อบุคคลคนนี้เขาทำหน้าที่ของเขาแล้ว ความสงบเรียบร้อยในสังคมนั้นจะเกิดขึ้น ก็ลงโทษคนที่ควรลงโทษ ยกย่องคนที่ควรยกย่อง บัญชาสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในการประกอบกิจการงาน มันอยู่กันเป็นสุข มันก็เกิดพ่นก็เกิดโพล่งออกมาทางปากว่า พอใจๆ คำว่า พอใจ นั้นคือคำว่า ราชา ราชามาจาก ราชะ มาจาก รัชชะ แปลว่าพอใจหรือยินดี นี้พวกพราหมณ์เขาชอบอ้างว่ากษัตริย์บางวงศ์สืบต่อมาโดยตรงจากพระเจ้าสมมติราชองค์นี้ก็มี เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องวินิจฉัย จนได้เกิดบุคคลชนิดนี้ขึ้นมาที่จะใช้อำนาจปกครองก็ต้องมีผู้ที่ช่วยเหลือที่จะร่างกฎหมายระเบียบต่างๆ นี่จึงเกิดบุคคลที่เรียกว่ามนูธรรมศาสตร์อะไรขึ้นมา ผู้เป็นเจ้าตำรับกฎหมาย นี่ศีลธรรมมันตั้งต้นเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักเอาเปรียบแก่กันและกัน ปัญหาทางศีลธรรมมันเริ่มตั้งต้นเมื่อมนุษย์รู้จักเอาเปรียบแก่กันและกัน นานมาก พวกนักศีลธรรมหรือนักจริยธรรมเขาเขียนไว้ว่าไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไร ไอ้เราก็ตอบได้อย่างกำปั้นทุบดินว่าเมื่อมันเริ่มรู้จักเอาเปรียบ ตามข้อความในบาลี ศีลธรรมก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมาอยู่ในรูปของศีลธรรมปัจจุบันนี้ ก็เกิดขยายตัวไปเรื่องปรัชญาทางศีลธรรม เดี๋ยวนี้เขาใช้คำว่า ธรรมศาสตร์ เป็นคำแปลงคำว่า Ethics ซึ่งคำนี้แปลว่าปรัชญาของศีลธรรม ศีลธรรม หรือ Morality หรือ Moral เฉยๆ นักศีลธรรมเขาเรียก Moralist ถ้านักจริยธรรมเขาเรียก Ethicist คือนักปรัชญาของศีลธรรม ไม่ใช่นักศีลธรรมโดยตรง ไอ้พวกนี้ทำยุ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักศีลธรรมหรือ Moralist มันคิดแต่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรให้ไปถึงข้างหน้า ให้ไปถึงพระเจ้า หรือให้ไปถึงตรงโน้น มันเป็นหน้าที่ของศีลธรรม แต่พอถึงพวก Ethicist คือนักปรัชญาของศีลธรรมนี่มันตั้งปัญหานอกเรื่องเรื่อย ว่าทำไม เพราะเหตุไร จะวางกฎเกณฑ์อย่างไร ที่เรียกว่าดีต้องวางกฎเกณฑ์อย่างไร ที่เรียกว่าชั่ววางกฎเกณฑ์อย่างไร ผิดคืออย่างไร ถูกคืออย่างไร มันก็เป็นปรัชญาทางศีลธรรมขึ้นมาเรียนรู้ไว้ แต่ถึงอย่างไรเขาก็ได้รวบรวมไว้เป็นหลักพอที่จะเอามาศึกษามาวินิจฉัยได้ ไม่ไร้ประโยชน์ เราตั้งปัญหามากเกินไปจนเวียนหัว ทีนี้ผมรู้สึกว่าแท้ที่จริง แท้จริงนี้ ศีลธรรมนี้ควรจะแยกออกเป็น ๒ ชนิด อีกทีหนึ่ง พวกศีลธรรมเพื่อประโยชน์แก่ศาสนา กับ ศีลธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคม ต้องฟังให้เข้าใจกันหน่อย พวกศีลธรรมที่ใช้เดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา ก็แยกออกไปได้ก็ใช้รวมกันทุกคนไม่ว่าศาสนาไหน ศีลธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ศาสนานั้น หมายถึงการส่งเสริมในการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าในทางศาสนา ทางศาสนานั้นเขาเอาจุดหมายปลายทางกันที่สิ่งสูงสุด ซึ่งในพุทธศาสนาก็คือนิพพาน ในศาสนาอื่นทั้งหลายก็คือพระเจ้าหรือปรมาตมันหรือไกวัลย์หรือพระพรหมอะไรก็สุดแท้ มันเป็นจุดปลายทางของศาสนา นักศีลธรรมกลุ่มหนึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของการปฏิบัติทางศาสนาไปสู่จุดปลายทางของศาสนา ศีลธรรมในรูปนี้พวกนักจริยธรรมคือพวก Ethicist ไม่ได้สนใจ จึงไม่ค่อยอยู่ในเรื่องของจริยธรรมสากลในโลก ทีนี้ศีลธรรมอีกพวกหนึ่งมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยตรง เพราะเขาเพ่งเล็งที่ความเดือดร้อนของสังคม ฉะนั้นก็จะต้องแก้ปัญหาของสังคม มันจึงมีศีลธรรมที่มุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม คือศีลธรรมเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมสันติภาพในสังคม เมื่อเรามองให้ดีจะเห็นว่าศีลธรรมนี่มันมีอยู่ในสองความหมายในเวลานี้ อันหนึ่งมันส่งเสริมเพื่อไปทางศาสนา ไปถึงเรื่องที่สุดส่วนหนึ่งมันมุ่งหวังเพียงสันติภาพในสังคม ถ้าเป็นส่วนใหญ่ในโลกทั้งหมดนี่มันก็ต้องเพ่งเล็งไปในทางสันติภาพของสังคม ยกเรื่องศาสนาไว้เป็นเรื่องเฉพาะคนหรือเฉพาะศาสนาซึ่งมีหลายศาสนานัก ก็เลยไม่เอามา ถือเป็นเรื่องทำความลำบากจะกระทบกระทั่งกัน นักศีลธรรมชนิดนี้หรือนักจริยธรรมก็ตามเขาก็เลยเอาเรื่องศีลธรรมไปในทางที่เกี่ยวกับบุคคลในสังคม ถ้าเป็นศีลธรรมทางศาสนาก็ยกให้ศาสนาไปเสียเลย ไม่เอามาพูด ให้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาไปเสียเลย สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมในปัจจุบันนี้มองเห็นเป็น ๒ รูปร่าง และก็มุ่งหมายแต่เพียงรูปเดียวคือ แก้ปัญหาทางสังคม ก็อยากจะพูดถึงศีลธรรมที่มันทำความยุ่งยากให้ความหมายบางอย่างต่อไปอีก มันมีสิ่งหนึ่งซึ่งผมชอบเรียกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับโดยถ่ายทอดมาจากคำว่า summum bonum ซึ่งเป็นภาษาละตินก็แปลว่าสิ่งที่ดีที่สุด summum bonum แปลว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ที่เคยตั้งปัญหากันขึ้นมาหรือไม่ตั้งมันก็เกิดเอง มนุษย์จะสงสัยขึ้นมาเองว่าอะไรดีที่สุดสำหรับมนุษย์ นักศีลธรรมตามแบบฉบับหรือศีลธรรมล้วนๆ สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ก็คือพระเจ้า หรือสิ่งที่แทนพระพุทธเจ้าหรือในพระพุทธศาสนาจะเรียกว่านิพพาน ก็สุดแท้แล้วแต่จะเรียก เพราะว่าสิ่งสูงสุดที่มนุษย์จะเข้าไปถึง แล้วก็อยู่บนจุดสูงสุด ศีลธรรมมันมุ่งหมายอย่างนี้ ไปตามรูปของศาสนาอย่างนี้ ทีนี้พวกนักจริยธรรมทั้งหลายซึ่งเมื่อเขามาเพ่งเล็งสภาพปัจจุบันในโลก บุคคลในโลกในสภาพปัจจุบันนี้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เขาก็ไม่เล็งถึงพระเจ้า ไม่เล็งถึงนิพพาน เพราะไม่มองเห็นหรือรู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วเอามาพูดกันแต่บุคคลทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ตรงที่คว้าถึงนี่ พวกนักจริยธรรมซึ่งบัญญัติ summum bonum นี้ลงไปที่สิ่ง๔สิ่ง ใช้คำว่า Happiness ความสุขนี่สิ่งหนึ่ง ใช้คำว่า Perfect Perfection ความเต็มในสติปัญญาหรือความเป็นมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง duty for duty benefit หน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อหน้าที่หรือทำงานเพื่องานอีกอย่างหนึ่ง และก็ universal love ความรักที่เป็นสากล อย่างนี้เรียกว่า summum bonum นี่พวก Ethicist พูดคือพวกนักจริยธรรมพูด พูดในฐานะเป็นปรัชญาของศีลธรรม ความทุกข์อย่างหนึ่ง ความเต็มแห่งสติปัญญาอย่างหนึ่ง ทำงานเพื่องานอย่างหนึ่ง ความรักสากลไม่มีขอบเขต ไม่มีเรามีเขาอย่างหนึ่ง แต่ถ้าพวกนักศีลธรรม คือ Moralist แล้วก็พระเจ้า นิพพานอย่างนี้มันมากกว่า แต่เอามาพูดกับเขาไม่ได้หรอกเพราะมันแบ่งเป็นศาสนาๆ ไป แล้วอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ นักจริยธรรมหรือพวกนักปรัชญาแห่งศีลธรรมในสมัยปัจจุบันนี้ก็เอากันที่ตรงนี้ดีกว่า คือความสงบสุขหรือความเต็มเปี่ยมของสติปัญญา และก็เป็นบุคคลที่ทำงานเกินงาน นี่ก็เพื่อให้มันซื่อตรง เพื่อให้มันสะอาดบริสุทธิ์ อย่าทำงานเพื่อเงิน และก็รักคนอื่นด้วย อย่ารักแต่ตัวเอง นี่คือสิ่งที่เรียกว่าดีที่สุด หลักง่ายๆ ของศีลธรรม แต่ถ้าหลักง่ายๆ ของจริยธรรมก็กลายเป็นอย่างที่ว่า คือว่าปรัชญาแห่งศีลธรรม หรือว่าศีลธรรมสำหรับที่อื่นในโลกนี้สังคมนี้ ถ้าจะดูอีกทีหนึ่งมันจะเข้าใจได้ต่างกัน เพราะนี่คือหลักเกณฑ์ที่จะเอามาตัดสินว่าผิดหรือถูก ว่าดีหรือชั่ว ตามทางศาสนาหรือศีลธรรมตามทางศาสนา ดีหรือชั่วนี่ ผิดหรือถูกนี่ มันก็หมายถึงว่าไปตามพระเจ้ามันก็ถูกแหละ ไปตามหลักศาสนาแล้วก็ถูก หรือจะถือเอาหลักโบราณๆ ว่าไม่เบียดเบียนนั่นแหละถูก ถ้าเบียดเบียนก็เรียกว่ามันผิด เบียดเบียนตัวเองก็ดี เบียดเบียนผู้อื่นก็ดี นี่เรียกว่าเบียดเบียนก็ผิด มีผลถึงการเดือดร้อน ทั้งเขาทั้งเราก็ผิด ถ้าไม่มีใครเดือดร้อนละก็ถูก นี่มันง่ายๆ อย่างนี้ หลักที่จะถือว่าผิดหรือถูก ก็เพราะว่าเขาเอากันที่ตรงนี้ หรือมิฉะนั้นก็ใช้ความเชื่อเอาตามหลักที่เป็นบทบัญญัติไว้ในพระคัมภีร์เสียเลย ที่นี้พวกนักจริยธรรม หรือพวกนักปรัชญาฝ่ายศีล นักปรัชญาของศีลธรรมเขาไม่เอาอย่างนั้น เขาต้องเอาเหตุผลที่นี่ เอาไอ้เรื่องอย่างที่เรียกว่าการศึกษาในปัจจุบันนี้ ใช้กับบุคคลชนิดนี้ มันเลยกลายเป็นว่ามันขึ้นอยู่กับบุคคลทั้งหลายในปัจจุบันนี้เป็นหลัก เช่น ประชาธิปไตย นี้เป็นต้น แต่ว่าเขาบัญญัติไว้ชัดเจนหรือรัดกุม ที่จะเรียกว่ามันถูก ควรจะถือเป็นหลัก ฉะนั้นจึงมีหลักว่า เป็นที่ยอมรับได้ทั้งหมดสำหรับมนุษย์ หรือที่เรียก(ไม่ชัดนาทีที่ 35.15) การที่ยอมรับกันได้ทั้งหมดในระหว่างมนุษย์ ของอย่างนี้ถึงจะถือว่าถูก นึกเสียว่ามีเหตุผลเพียงพอ เรียกว่า rationalism, sufficient reason มีเหตุผลที่เพียงพอ ความมีเหตุผลที่เพียงพอเขาเรียกในภาษานี้ว่า Rationalism ถ้าบอกให้แสดงเหตุผล แล้วก็มีแสดงอย่างเพียงพอจึงจะเรียกว่าถูก นี่มันยุ่งอย่างนี้ คุณๆ สังเกตดูให้ดี ก็ยังดีว่ามันพอจะเข้าใจได้ทันที intuition, intuition เขาน่าจะเติม –ition เข้าไป intuition นี่ความที่เข้าใจได้ทันที ที่ตรงนี้ เมื่อครบ ๓ อย่างนี้จึงเรียกว่า ถูก หรือดี ให้ถือเอาเป็นหลักแล้วก็ทุกคนยอมรับและปฏิบัติตาม ไม่เอาพระเจ้าไม่เอาพระคัมภีร์ไม่เอา หรือถ้าเอาพระคัมภีร์มาให้ก็ต้องถูกพิสูจน์ด้วย ๓ ข้อนี้ และมนุษย์ทั้งหลายยอมรับได้ไหม กลืนลงไหม มีเหตุผลทุกแง่ทุกมุมนะ ทีนี้มันก็พูดกันไม่ได้มาก เพราะว่าเหตุผลนี่ใครๆ มันก็อ้างได้ อ้างทางนั้น อ้างทางนี้ เดี๋ยวมันก็ไม่พอทีนี้ นี่เป็นเรื่องที่คาราคาซังไปกันใหญ่ โซซัดโซเซ มันจึงไม่มีศีลธรรมขึ้นมาในโลก ทั้งที่มีนักจริยธรรมเต็มโลก หรือมากเอาการอยู่ มันก็ไม่ทำให้โลกนี้มีศีลธรรมได้ คือมันมัวแต่จะเอาเหตุผลกันอย่างนี้ นี่ถ้าทุกคนยอมเชื่อพระเจ้าเชื่อพระคัมภีร์เอาเป็นหลักเพียงว่าไม่เอาเปรียบผู้อื่นไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างนี้ก็เรียกว่าถูก ทีนี้มันก็จะมีได้แล้วล่ะ ศีลธรรมในโลกนี้ ยอมรับได้ทุกคนมันรู้ประชาธิปไตย แล้วมันจะไม่มีสักคนสองคนแหละที่มันจะไม่ยอมรับ มันขัดขวางเขาไปหมด เหตุผลเพียงพอก็เหมือนกับว่าสิ่งที่เรียกว่าเหตุผลนี่มันแน่นอนอยู่แล้ว มันไม่ใช่เหตุผลเอามาเป็นเหตุผลจนได้ ไม่มีเหตุผลบิดเบี้ยว ไม่มีก็พิสูจน์กันได้ ผมศึกษาดูแล้วรู้สึกว่านี่มันคงจะไม่มีหวังหรอกถ้าจะใช้หลักอันนี้ มันเป็นจริยธรรมสำหรับพูดสำหรับอธิบายในมหาวิทยาลัยมากกว่า มันไม่อาจจะมาใช้กับมนุษย์สมัยปัจจุบัน ที่พร้อมที่จะคดโกงยิ่งขึ้น ที่จะเอาเปรียบยิ่งขึ้น มันเห็นชัดอยู่ที่ อย่างว่า เดี๋ยวนี้เขาเรียนกฎหมายกันเพื่อจะช่วยให้ไม่ผิดกฎหมายต่างหากล่ะ ไม่ใช่ว่าเมื่อทำผิดแล้วไม่ต้องถูกลงโทษ เรียนกฎหมายเพื่อจะช่วยผู้ที่ทำผิดแล้วไม่ต้องถูกลงโทษ มักจะเรียนกฎหมายเพื่อที่ว่าอย่าได้ไปทำผิด เรื่องจริยธรรมมันก็พลอยเป็นเสียอย่างนี้ นี่เราจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมให้มากขึ้น ให้ลึกๆ ลงไปโดยหลักเกณฑ์อย่างนี้ และในเวลาที่เหลืออยู่นี้ก็อยากจะพูดเฉพาะในพุทธศาสนากันดีกว่า ศีลธรรมในพุทธศาสนา ก็ถือเอาตามพระคัมภีร์ มันจะได้ไม่มีปัญหามาก เราเพียงแค่เอามาพิสูจน์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าปฏิบัติตามลงไปแล้วจะได้รับผลอย่างสันติภาพในสังคมหรือในบุคคลนั้นหรือไม่ ตามหลักกาลามสูตรที่เราจะพูดกันสักวันหนึ่ง ถ้าพูดไว้อย่างไรอย่าเพิ่งเชื่อ คราวนี้มาพิสูจน์ เมื่อมันทนได้ต่อการพิสูจน์ จะเห็นชัดอยู่แล้วว่าทำแล้วมันได้ผลอย่างนั้นจริง นั่นก็ถือว่าถูกแล้วก็รับเอา ทีนี้เมื่อถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้ว่าตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนานั้น มันทนได้ทั้งนั้นแหละ มันอยู่ในรูปที่ถูกต้องทั้งนั้น เราจะวินิจฉัยพิสูจน์ยังไงว่าถูกต้อง แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าอย่าเพิ่งเชื่อคัมภีร์ ให้พิจารณาพิสูจน์ดูก่อน ที่เราไม่อาจจะพูดกันโดยรายละเอียดน่ะ เราจะพูดโดยท้าวความ จะพูดโดยหลักใหญ่ๆ ว่าศีลธรรมในพุทธศาสนานี่ ถ้าในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว ความเป็นอยู่ในครอบครัว ในสังคม ครอบครัว บุตร ภรรยา สามี นี่ก็กล่าวไว้เพียงพอ หรือคุณจะเข้าใจว่ามีอยู่ไม่กี่คำ ถ้าเราไปเปิดดูในคัมภีร์อัลกุรอานของอิสลามโดยเฉพาะ มากเหลือเกินบทบัญญัติที่กล่าวไว้ ในรูปของบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัวมันมีมาก เหมือนกับกฎหมายผัวเมียทั้งๆ ฉบับเอาลงไปอยู่ในนั้น ถ้าในพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกของเรา ไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องสติเสียโดยมาก แต่ถึงอย่างนั้นในพระไตรปิฎกนั้นน่ะก็พบเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวอย่างเพียงพอ แต่ไม่ได้กล่าวไว้โดยละเอียด เหมือนกับเขียนเป็นกฎหมายรวมอยู่ กล่าวไว้โดยหลักๆ ว่าผัวจะต้องทำอย่างไร เมียจะต้องทำอย่างไร ผัวที่ดีเมียที่ดีต้องทำอย่างไร พอ ก็แปลว่าพอที่จะใช้เป็นหลักประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวด้วยเหมือนกัน ก็เรียกว่าไม่แพ้ศาสนาอื่น อย่างในคัมภีร์ของคริสเตียนถ้าตัวคัมภีร์จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยมี มีอยู่ในคำสอนของสาวกรุ่นหลังเป็นขั้นตอน เป็นต้น ก็มากเหมือนกันเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ถ้าศีลธรรมของครอบครัวนี่มีความสำคัญ เพราะมันเป็นหน่วยแรกที่เป็นรากฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมันดีมันถูกต้อง มันอยู่กันเป็นผาสุก ในสังคมก็ต้องเป็นผาสุก ทีนี้ปัญหาทางครอบครัวจะมากขึ้นๆ เพราะไม่มีศีลธรรม แต่งงานกันตามชอบใจของกิเลส คนหนุ่มสาวเดี๋ยวนี้เลือกคู่แต่งงานกันตามชอบใจของกิเลส ไม่ใช่ของบิดามารดา พ่อแม่อย่ามายุ่ง เอาตามอำนาจของกิเลส แล้วเดี๋ยวมันก็หย่ากัน เดี๋ยวมันก็มีชู้ เดี๋ยวมันก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้อีก จะต้องมากขึ้น นี่เพราะว่ามันไม่มีความถูกต้องที่สมบูรณ์ในศีลธรรมของครอบครัว นี่โดยรายละเอียดเราพูดไม่ได้ แต่โดยหลักมันมีอย่างนี้เราไปค้นเอาเองได้ มันมีอยู่ที่ว่าไม่มีการบังคับตัวเอง ซึ่งเป็นหลักอันสำคัญที่สุด ถ้าว่าบังคับตัวเองนี่ คุณอย่ามาทำเล่นกับมัน คือมันเป็นรากฐานทั้งหมดเลย การที่เราแต่งงานตามอำนาจของกิเลสก็เพราะมันไม่บังคับตัวเอง ทีนี้การศึกษาไม่ค่อยเน้นในข้อนี้ เห็นปล่อยตามอารมณ์ ตามความพอใจ ไม่ต้องบังคับตัวเอง ให้นักเรียนล้อครูเล่นกันได้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ให้อภัย ทีนี้พอเกิดการว้าเหว่ขึ้นมาก็ไปทำชู้ เพราะไม่บังคับตัวเอง อะไรๆ มันจะรวมอยู่ที่การบังคับตัวเอง นี่เป็นรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ถ้าเราไม่ยอมบังคับ ไม่ยอมอดกลั้นไม่ยอมอดทน ก็ทำไปตามกิเลส ก็ได้ทำชั่วทั้งนั้นแหละ ปัญหาทางครอบครัวก็เลยมากขึ้น การบังคับตัวเองนี่มันก็เนื่องไปถึงธรรมะบางอย่าง ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือความละอายและความกลัว ที่ปรารภธรรมะนะ หิริ แปลว่า ความละอาย ปรารภธรรมะ ไม่ใช่คนเห็นแล้วจะละอาย ถึงคนไม่เห็นก็ละอาย อย่างนี้ก็เรียกว่า หิริ ความละอายแก่ใจ ทีนี้ กลัว ที่ไม่เห็นก็กลัว กลัวความชั่ว ไม่ได้กลัวติดคุกติดตะราง หรือไม่ได้กลัวเขาจะจับไปลงโทษ แต่ว่ากลัวความชั่ว กลัวบาป หรือเรียกว่า โอตตัปปะ คราวนี้ก็จะพอ ถ้าว่าคนมีหิริโอตตัปปะ ตั้งตนอยู่ด้วยการบังคับตัวเอง ศีลธรรมจะดีหมด ฉะนั้นหลักในพุทธศาสนาก็ได้พูดไว้ ๔ คำ เพราะไม่ได้แจงบทแจงข้อเหมือนกับสูตรคูณ แต่เอาไว้เป็นหลักหัวข้อ มีความจริงใจ บังคับตัวเอง มีความละอาย และมีความกลัว รู้จักเข็ดหลาบ หรือเสียใจที่ทำผิด ทีนี้ถ้าเราจะมองกันในรูปสังคม ก็ไปศึกษาเรื่องทิศ ๖ ในหนังสือนวโกวาท ที่เอามาจากสิงคาลกสูตรหนังสือพระไตรปิฎก ถ้าในทางสังคมเป็น ๖ ส่วนที่เรียกว่า ทิศ ๖ นี่ ข้างหน้า มองไปข้างหน้านี่ พ่อแม่ มองเข้าไปข้างหลัง ลูกหลาน ไปข้างขวานี่ ครูบาอาจารย์ ไปข้างซ้ายนี่ เพื่อน ถ้าไปข้างบน พระเจ้า พระสงฆ์ ถ้ามองไปข้างล่าง คนใช้ หรือทาส กรรมกร มันเป็นหลักที่จำง่ายและฟังง่ายทีเดียว ทั้งหมดนี้คือสังคม ถ้าปฏิบัติถูกต่อทั้งหกนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติถูกต่อสังคม ไปหารายละเอียดดู ช่วยจำไว้ให้แม่นๆ ด้วยว่า อย่าให้มันลืมซะ อย่าให้มันอยู่ในหนังสือ ให้มันอยู่ในใจเรา ข้างหน้านี้พ่อแม่ เป็นเบื้องหน้าเลย ชีวิตก็มอบให้ได้ ข้างหลังก็ลูกเมีย ข้างขวาก็ครูบาอาจารย์ ข้างซ้ายก็เพื่อน ข้างบนก็พระเจ้า พระสงฆ์ ข้างล่างก็ลูกจ้าง กรรมกร ทาส เพราะฉะนั้นเรายกให้เป็นสถาบันที่ต้องรับรู้ แม้แต่ทาส แม้แต่คนใช้ แม้แต่ทาส ยกมันขึ้นมาเป็นสถาบัน ที่เราจะต้องรับรู้ จะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง เราไม่ควรใช้คำว่า มัน ผมนี่พูดลืมไป โดยเป็นสิ่งที่ต้องเคารพนับถือ ในฐานะที่เป็นสังคมหนึ่งๆ เป็นสถาบันหนึ่งๆ อย่างนี้แล้วมันไม่มีทางที่จะผิดได้ มันผิดไม่ได้ มันก็เลยมีความสงบสุขในสังคมนั้น ไปหารายละเอียดอ่านเอาเอง ที่ว่ามันเกี่ยวกับตัวเองคนเดียว การประพฤติปฏิบัติก็มีความถูกต้อง หรือความถูกต้อง ความเป็นที่ถูกต้องในหลักที่พอจะเข้าใจได้ คือในการแสวงหาให้มันถูกต้อง ในการได้มาให้ถูกต้อง ในการสะสมไว้ให้มันถูกต้อง ในการบริโภคให้มันถูกต้อง ในการแบ่งปันแจกเจือจานผู้อื่น ทำบุญทำทานให้มันถูกต้อง ไม่แสวงหามันก็ผิดแล้ว แสวงหาผิดมันก็ผิดอีกเหมือนกัน ฉะนั้นมันต้องถูกต้องในการแสวงหา ในการได้มา ในการบริโภค ในการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นให้มันถูกต้องไปหมด นี่ที่เรียกว่าศีลธรรม คือความถูกต้อง นี่เป็นหลักที่ประเสริฐที่สุด รวมอยู่ที่ความไม่เห็นแก่ตัว เมื่อตะกี้ก็ได้พูดกันมากแล้วเรื่องความเห็นแก่ตัว เป็นจุดตั้งต้นของความไม่มีศีลธรรม คือเป็นจุดตั้งต้นของความยุ่งยากที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ ทีแรกคนป่าอยู่กันอย่างเสมอภาค ไม่มีใครเอาส่วนเกิน แต่คนเห็นแก่ตัวเอาส่วนเกิน วิกฤตการณ์ก็ตั้งต้น จนต้องมีนั่นมีนี่ มีกฎหมาย ต้องลงโทษ ต้องอะไรกันขึ้นมา ฉะนั้นความไม่เห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นรากฐานทั้งหมด คือว่าความไม่เห็นแก่ตัวจะทำให้เกิดความถูกต้องทั้งหมด ได้ทุกแง่ทุกมุมของสังคม พอเกิดเห็นแก่ตัวก็ผิด ความเห็นแก่ตัวเป็นจุดตั้งต้นของปัญหา เพราะมันเอาส่วนเกิน ถ้าคนเราไม่เห็นแก่ตัวมันก็เอาเท่าที่มันจะเอานั่นแหละ เหมือนนกตัวหนึ่งก็กินอาหารพอกระเพาะหนึ่ง ไม่มีตัวไหนเอาส่วนเกิน พอมาถึงคนมันก็เอาส่วนเกิน มากเท่าไหร่ยิ่งดี เขาเรียกว่ามีการกอบโกยส่วนเกิน ถ้ามีศีลธรรมก็ต้องไม่มีการกอบโกยส่วนเกิน อย่าหาว่าผมมาพูดการเมือง หรือว่ามาสอนการเงิน แต่เพราะว่าโลกมันกำลังยุ่งยากลำบากเพราะมันมีการกอบโกยส่วนเกิน ปัญหาการเมืองทั้งหมดมันขึ้นอยู่ที่การกอบโกยส่วนเกิน เพราะฉะนั้นอย่ากอบโกยส่วนเกิน ทุกคนอยู่อย่างพอดีเหมาะสมแก่ฐานะ แล้วโลกนี้ก็จะเป็นสุข ถ้าใครมีส่วนเกินคนนั้นก็ต้องสละส่วนเกินให้แก่สังคม อย่ามีส่วนเกิน เช่นว่า คุณเป็นพระ คุณมีได้แค่จีวร ๓ ผืนกับบาตรใบหนึ่ง พอจีวรผืนที่ ๔ มา วินัยบัญญัติให้ยึดกลับ ถ้าคุณได้บาตรใบที่ ๒ มาต้องเลือกเอาแต่ใบเดียว จะทำกุฏิอยู่ช่วง ๗ คืบ ๑๒ คืบ ทุกอย่างมันจะมีส่วนเกินไม่ได้สำหรับภิกษุสงฆ์ แต่ถ้าพวกอุบาสกอุบาสิกาต้องเชื่อพระพุทธเจ้าก็จะเอาส่วนเกินไม่ได้ คือโลภมากไม่ได้ ก็มีหลักอยู่ว่า อติโลโก หิปาปโก โลภเกินนั้นลามก ทีนี้พวกเศรษฐีพุทธบริษัทก็ช่วยกัน ก็แข่งขันกันสร้างโรงทาน สร้างวัดวาอาราม ที่เรียกเศรษฐีในครั้งพุทธกาลน่ะใคร คือคนที่มีส่วนเกินมากแล้วก็สร้างโรงทาน ช่วยสังคม สร้างวัดสร้างวาเพื่อศาสนา เศรษฐีในช่วงพุทธกาลไม่ได้เป็นเหมือนพวกนายทุนในสมัยนี้ คือเป็นพวกที่ใช้ส่วนเกินเพื่อทำประโยชน์ทางสังคม มีบ่าวไพร่ ทาส กรรมกรมากมาย ช่วยกันผลิตช่วยกันทำให้เป็นส่วนเกินขึ้นมาแล้วเอาไปให้สังคม การกินอยู่ความเป็นแต่พอเหมาะพอสมนี่มันก็ไม่มีปัญหา ถ้ามีส่วนเกินเกิดขึ้น เทให้สังคม ตามหลักพุทธบริษัททางพุทธศาสนา ศีลธรรมต้องเป็นอย่างนี้ การให้สังคมนี้ให้ทางไหนก็ได้ เทลงไปที่สังคมโดยตรงก็ได้ หรือผ่านไปทางศาสนาก็ได้ เพราะศาสนาทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เศรษฐีจะช่วยกันสร้างวัดสร้างวาแข่งกัน สร้างโรงทานแข่งกัน สร้างโรงพยาบาลแข่งกันมันก็เป็นเรื่องเทส่วนเกินไปสู่สังคม มันเป็นสังคมนิยม พูดแล้วมันเป็นการเมือง เดี๋ยวจะถูกจับว่าส่งเสริมคอมมิวนิสต์ แต่มันคนละแบบ ลองคิดดูสิ มันคนละแบบ ซึ่งคอมมิวนิสต์ก็ไม่ทำอย่างนี้ หรือถ้าทำอยู่อย่างนี้คอมมิวนิสต์เกิดขึ้นในโลกไม่ได้ เพราะเราไม่ถือหลักศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามหลักพุทธศาสนาเนี่ย คอมมิวนิสต์จึงเกิดขึ้นจนขยายออกไปๆ จนจะเต็มโลกอยู่แล้ว ถ้าใครฉลาดก็ต้องต้านทานคอมมิวนิสต์ ในระบบที่เรียกว่า จุดไฟบ้าน รับไฟป่า นี่ปู่ย่าตายายของเราพูด ไม่ใช่ผมเป็นคนพูดเดี๋ยวนี้ ปู่ย่าตายายหลายชั่วบรรพบุรุษเขาพูดไว้อย่างนี้ การที่ต้องจุดไฟบ้านรับไฟป่าที่มันกำลังจะลามมาเต็มป่าเลย ชาวบ้านก็คงจะถูกไฟไหม้ ก็คงต้องจุดไฟบ้านไว้รอบๆ บ้าน ให้เตียนไว้ก่อน ไฟป่าจะทำอันตรายไม่ได้ ถ้าเรามีสังคมนิยมที่ดีกว่า สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ทำอันตรายอะไรไม่ได้ ศีลธรรมที่แท้จริงจะต้องเป็นอย่างนี้ จะคุ้มครองให้รอดถึงขนาดนี้ งั้นพยายามเจียดของให้เป็นส่วนเกินเพื่อช่วยสังคม ไม่ว่าใครก็ตาม แม้แต่เด็กนักเรียนคนหนึ่งก็ตาม เพียงแต่เจียด ๕ สตางค์จากหนึ่งบาทที่พ่อแม่ให้มากินขนมวันนี้ เอาไปให้เพื่อนเสีย เพื่อนที่ขาดแคลน หรือช่วยสังคมยังไงก็ได้ นี่มันเป็นวิธีต่อต้านที่ดี ที่วินิจฉัยช่วยสังคม ไม่เอาส่วนเกิน ก็พยายามทำให้มันเป็นส่วนเกินออกมา ถ้าคุณมีเงินใช้วันละ ๑๐ บาทนี่ บาทหนึ่งก็เจียดเอาไปให้มันเป็นส่วนเกิน เอาไปช่วยคนที่มันไม่มี มันก็เกิดลัทธิที่ไม่มีใครเอาส่วนเกิน เพียงแต่พยายามเจียดให้มันเป็นส่วนเกิน แล้วเอาไปช่วยคนอื่น แล้วโลกนี้มันก็จะสงบสุข เพราะฉะนั้นจึงถือว่าศีลธรรมในพระพุทธศาสนานี่คือ ไม่กอบโกยส่วนเกินเพราะว่าไม่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นพยายามจะทำให้มันเป็นส่วนเกินช่วยคนอื่น อย่างพระโพธิสัตว์นี้อาจจะเชือดเนื้อห่านให้แมวกินให้เสือกินก็ได้ ว่าไม่มีอะไรล่ะ มันก็มีอยู่จนได้ มันเจียดออกมาให้มันเป็นส่วนเกินที่ไม่กินเองเอาไปให้ผู้อื่นกิน นี่ถือว่ามันเป็นการต่อต้านสังคมนิยมแบบอะไรก็ไม่ทราบที่มันกำลังกลัวกันนักในโลกเวลานี้ นี่มันทำผิดข้อนี้ นี่ในพุทธศาสนาช่วยได้แก้ไขได้ ศีลธรรมในพระพุทธศาสนาแก้ไขได้ ป้องกันได้ ช่วยได้แบบจุดไฟบ้านรับไฟป่า อย่างเดียวกับที่เราเอาพิษงูฉีดเข้าไปเพื่อแก้พิษงู นี่เป็นวิธีการที่ใหม่เอี่ยมเลยนะ เมื่อเร็วๆ นี้ล่ะ ไม่ว่าจะแก้โรคอะไรก็ตามเขาจะเอาพิษอันนั้นน่ะมาทำเซรั่ม ก็ฉีดเข้าไปในคนเพื่อแก้พิษนั้น มันก็เข้าหลักที่ว่าจุดไฟบ้านรับไฟป่า พวกคุณก็ฉีดวัคซีนอหิวาต์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้มันป้องกันส่วนที่มันอันตราย นี่คือศีลธรรมที่มีหลักการในการที่ไม่เห็นแก่ตัว นี่คือพุทธศาสนา มีหิริมีโอตตัปปะกลัวบาปกลัวความชั่ว และพร้อมที่จะบริจาคส่วนเกิน จะพูดว่าไม่มีส่วนเกินไม่ได้ แม้เด็กเล็กๆ แม่ให้สตางค์ไปโรงเรียน ๕๐ สตางค์ต่อวัน เขาควรจะเจียดออกไป ๕ สตางค์ให้เพื่อน ให้เพื่อนที่ควรจะให้ ก็จะเป็นผู้ที่วางรกรากศีลธรรมในพุทธศาสนาที่ดีที่สุดลงไปในสันดาน คือไม่เห็นแก่ตัว แล้วก็ไม่กอบโกยส่วนเกิน เจียดส่วนเกินไปให้ผู้อื่นบ้าง นี่เขาเรียกว่าธรรมศาสตราที่จะตัดปัญหาสังคมคือศีลธรรมในพระพุทธศาสนามันมีอยู่อย่างนี้ ยังไม่ทันจะหมดเวลาแต่ฝนบังคับให้ปิดประชุมแล้ว ฉะนั้นก็คงจะพอกันที.