แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ประโยชน์ในทางที่ไม่คิดว่ามันจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม นี่คือคำพูดกันวันนี้ก็เพื่อจะให้ รู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์นี่ ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทีละนิดๆ
การบรรยายประจำวัน วันนี้ผมก็ยังอยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้นอีกสักครั้งหนึ่ง ก็พูดโดยหัวข้อว่า พรหมจรรย์ต้องการความมีระเบียบ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ สิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ของเรานั้น ต้องการสิ่งที่เรียกว่าระเบียบเป็นอุปกรณ์สำคัญ โดยที่หวังว่าผู้ที่บวชเข้ามานี้ต้องการจะได้รับผลจากพรหมจรรย์กันจริงๆ จึงได้พูดกันทุกแง่ทุกมุมให้เข้าใจไว้ จะได้แก้ไขบ้าง จะได้ป้องกันบ้าง จะได้กระทำให้มันมากขึ้นกว่า และแล้วแต่เรื่องนั้นๆ มันจะมีอยู่อย่างไรเกี่ยวกับพรหมจรรย์
ส่วนวันนี้ก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าอุปกรณ์ คือ ปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน แม้จะไม่เป็นเหตุโดยตรงก็ต้องเรียกว่ามันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ พรหมจรรย์ก็ต้องการระเบียบ สิ่งที่เรียกว่าระเบียบนี้เป็นอุปกรณ์ แม้แต่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องการระเบียบ นี่คุณช่วยจำกันไว้ให้ดีๆ เป็นพระอรหันต์แล้วก็มีการประพฤติพรหมจรรย์อยู่นั่นแหละ แต่ แต่ว่าไม่ได้ทำเพื่อสิ้นทุกข์ ดับทุกข์อะไรอีกแล้ว เพราะมันเป็นผู้ดับทุกข์เสร็จแล้ว แต่ก็ยังต้องเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์อยู่นั่นเอง นี่ก็สังเกตดูให้ดี คนเขาเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ฟังธรรมเทศนาแล้ว ยังเป็นฆราวาสอยู่ พอขอบวช พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า เอหิภิกขุพรหมจริยังจรัตถะ (นาทีที่ 3.45) อยู่นั่นแหละ ให้ฟังธรรมแล้วก็ยังมาประพฤติพรหมจรรย์ คือมาเป็นอยู่อย่างแบบพรหมจรรย์ที่ดีที่สุด แต่ไม่ต้องต่อท้ายด้วยคำว่า ทุกขัสสะอันตกิริยายะ (นาทีที่3.56) เพราะว่าเขาเป็นผู้ทำที่สุดแห่งความทุกข์ได้แล้ว คือเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ นี่ขอให้มองกันในข้อนี้ให้มาก จะได้ไม่ประมาท ว่าแม้แต่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องการระเบียบ คือต้องอยู่ในระเบียบ เพื่อว่ามันจะมีความสม่ำเสมอ เรียบร้อย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นความมั่นคง ที่จะให้คณะสงฆ์ตั้งอยู่ตลอดกาลนาน เป็นพระอรหันต์แล้วจึงมีระเบียบยอมรับระเบียบ ประพฤติตามระเบียบ เรื่องปาฏิโมกข์ คำว่าระเบียบในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เราเรียกกันว่าวินัย หรือปาฏิโมกข์ แล้วแต่จะใช้คำไหน มันใช้แทนกันอยู่ได้หลายคำ นี้เรียกเป็นภาษาไทยเสียง่ายๆ ก็คือว่า ระเบียบ การประพฤติพรหมจรรย์มีสิ่งที่เรียกว่าระเบียบเป็นอุปกรณ์อันสำคัญที่จะขาดไม่ได้ แม้ว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องการระเบียบอยู่นั่นเอง
ทีนี้เราก็มาพิจารณาดูกันถึงสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบ หรือที่เรียกในภาษบาลีว่า วินัย ระเบียบนี้ก็เป็นคำภาษาไทย ถ้าถือตามหลักภาษา คำว่าระเบียบ ก็มาจากคำว่าเรียบ คำว่าเรียบนี้บางทีก็เติมเข้าไปอีกพยางค์หนึ่งว่าร้อย เรียบร้อย คำว่าเรียบ กระจายออกไปเป็นระเบียบ ก็ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า วินัย คำนี้แปลว่า นำไปอย่างวิเศษ วิ แปลว่าวิเศษ นัยแปลว่า นำไป วินัยก็แปลว่า นำไปอย่างวิเศษ มันก็เป็นระเบียบ คือเรียบร้อย คือสงบ เมื่อพระอรหันต์ก็ยังต้องการระเบียบหรือวินัย นี้ก็ไม่ต้องพูดถึงพวกเราที่เพิ่งบวช หรือว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ นั้นขอให้เคารพระเบียบ เคารพวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็เคารพธรรมวินัยที่แสดงไว้เอง ท่านก็ยังเคารพ พระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ทั้งหลาย คือเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็ยังเคารพ นั้นเราซึ่งยังไม่เป็นพระอรหันต์นี้ก็ต้องเคารพถึงที่สุด อย่างที่เรียกว่า สำรวมในด้วยดีในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร นี่ถ้าคุณเคยลง ปาฏิโมกข์ ทีหนึ่งแล้ว ก็จะได้ยินคำสวดตอนท้าย ปาฏิโมกขสังวรสังวุทธาอาจรโคจรสัมปันนา (นาทีที่7.50) ให้เป็นผู้สังวรณ์ด้วยดีในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร รวมกันหมดนั้นเรียกว่าวินัยหรือระเบียบ มีอยู่เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่เป็นตัวบทสำคัญขาดไม่ได้นี้เรียกว่าปาฏิโมกข์ มรรยาทและโคจรนั้นเป็นเครื่องประกอบ จึงมีมรรยาทอันละเอียดอ่อนและก็ช่วยประกอบไว้อีกทีหนึ่ง และโคจรนั้นหมายความว่า ที่ๆ จะไปจะมา อย่าไปในที่ๆ ไม่สมควรที่บรรพชิตจะต้องไป เกิดถึงพร้อมด้วยโคจร ไม่ไปในสำนักของเพศตรงกันข้าม ไม่ไปในสำนักที่เขาสำมะเลเทเมา หรือสำนักที่ถือกันว่าน่ารังเกียจ เป็นที่ติเตียน ภิกษุไม่ควรเกี่ยวข้อง แม้ที่สุดจะไปนั่งที่ร้านกาแฟ นี้ก็เรียกว่าไม่มีโคจร ไม่มีมรรยาท เพราะว่าไม่ใช่ที่ๆ ควรจะไปนั่ง แล้วที่นั่นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปนั่ง
อย่าลืมถึงถ้อยคำที่พูดกันเมื่อวันอุปสมบทว่าจะรัก รักมี จะมีบรรพชาก็เว้นหมดไปหมด จากที่ที่ควรเว้น เว้นจากความเป็นฆราวาสโดยประการทั้งปวง แล้วก็เว้นจากไอ้สถานที่ หรือการกระทำที่บรรพชิตไม่ควรกระทำ ถึงแม้ว่าเราไม่เกิดทันครั้งพุทธกาล ไม่ได้เห็นด้วยตา ก็ขอให้พิจารณาโดยเหตุผลก็เชื่อได้ว่า พระพุทธเจ้าจะไม่แวะเข้าไปประทับนั่งในร้านอาหาร หรือร้านเครื่องดื่ม หรือร้านไอ้ทำนองอย่างนี้ นั้นเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นคนมักง่าย เป็นคนอวดดี ไม่มีจิตใจที่เหมาะสมสำหรับจะประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องมรรยาทและโคจรนี่เป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่อาบัติปาราชิก ไม่ใช่อาบัติสังฆาทิเสส แต่มันกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ พวกมรรยาททั้งหลาย กิริยาท่าทาง อิริยาบทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมแก่สมณะ แล้วก็สถานที่ ที่ไม่เหมาะสมแก่สมณะ ก็เว้นๆ กันเด็ดขาด นี่เรียกว่าวินัยส่วนประกอบ มีอยู่มาก ค่อยศึกษาไป ค่อยรู้ วินัยส่วนที่เป็นหลักนั้นก็คือปาฏิโมกข์ ตัวปาฏิโมกข์
นี้ก็บวชมาหลายวันแล้วก็ควรจะเอาปาฏิโมกข์ ที่เป็นไทย คือหนังสือนวโกวาท ตอนวินัย มาอ่านกันเสียบ้าง มาสวด มาสวดอย่างสวดมนต์เสียบ้างก็ยังดี มันจะได้ชินและจำได้ดีขึ้น แล้วก็พอที่จะทำให้ไปนั่งฟังสวดปาฏิโมกข์ ที่สวดเป็นภาษาบาลีเข้าใจได้บ้าง หรือเข้าใจได้มากทีเดียว ถ้าไม่เรียนรู้วินัยอย่างที่เป็นภาษาไทย แล้วก็ไปฟังวินัยที่สวดเป็นภาษาบาลีไม่รู้เรื่องเอาซะทีเดียว แต่มันจำเป็นที่ว่าเรายังต้องสวดโดยภาษาบาลี เพราะว่ามันเป็นระเบียบอีกเหมือนกันที่ต้องใช้ภาษาบาลี เพราะว่าถ้าแปลเป็นภาษาอื่นก็มีเพี้ยนไปนิดเพี้ยนไปหน่อย หลายยุคหลายสมัยก็เพี้ยนไปทางโน้นที เพี้ยนไปทางนี้ที จนมันเพี้ยนไป นั้นคงเป็นภาษาบาลีไว้ นั้นสังฆกรรมทั้งหลายที่ต้องสวดกัมมวาจาต่างๆ นี้ จะยังคงสวดเป็นภาษาบาลีอยู่เสมอ นี้เพื่อให้สำเร็จประโยชน์เราอุตสาห์ศึกษาภาษาไทย นั้นจึงขอแนะนำว่าต่อไปนี้ก็เอาปาฏิโมกข์ ไทย นวโกวาท นี่ มาสวดมาอ่านกันที่ตรงนี้บ้าง แล้วไปฟังปาฏิโมกข์ บาลีก็ฟังได้ดี เขาเรียกว่าฟังหัวข้อวินัยส่วนที่เป็นหลักหรือเป็นประธาน
คำว่าปาฏิโมกข์ นี่ เขาแปลว่า ที่เป็นหลักหรือเป็นประธาน ก็รู้ ก็ปฏิบัติ ดีที่สุด ส่วนที่เป็นของประกอบให้งดงามยิ่งขึ้นไป นี่เรียกมรรยาทและโคจรนี้อยู่นอกปาฏิโมกข์ เรียกว่าระเบียบวินัยเหมือนกัน แต่ว่าอยู่นอกปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ นี้ ต้องเอามาสวดกันทุกๆ ครึ่งเดือน นอกปาฏิโมกข์ นั้นไปเรียนเอาเอง ศึกษาเอาเอง ครูบาอาจารย์ตักเตือน อุปัชฌายะตักเตือน และถ้าว่ามันมีสันดานแห่งความเป็นผู้ดีมาบ้างนะ ไม่ทำเอง นี่ขออภัยนะใช้คำหยาบคายไปหน่อย ถ้ามีความเป็นสุภาพบุรุษ ระเบียบของสัตบุรุษสุภาพที่ดีมาแต่ความเป็นฆราวาสแล้ว มันก็เหมือนกันแหละ มันก็ตรงกันแหละ ว่าทำอะไรก็จะไม่ต้องหนักอกหนักใจที่จะถามว่าอะไรบ้าง พูดหยาบ พูดดัง เดินโยกตัวเวลานี้ มันก็ไม่ควรทำมาแล้วตั้งแต่ฆราวาส ทุกอย่างเลย ที่โรงเหล้า สถานโสเภณี หรืออะไรมันก็เป็นอโคจร ที่ฆราวาสที่ดีมันก็ไม่ไปอยู่แล้ว นั้นระเบียบวินัยส่วนที่เป็นเขาเรียกว่า อภิจาริยกาสิกขา คือทำให้มันน่าดูงดงามยิ่งขึ้นไปนี้ ไม่ยากไม่ลำบาก ไม่ต้องหนักใจ
นั้นขอให้นึกไม่ประมาทอยู่เสมอก็แล้วกัน ความรู้สึกในสามัญสำนึกมันจะบอกให้เอง เช่น ไม่ไปนั่งร้านกาแฟ นี่ไม่ต้องมีใครมาบอก มันก็นึกได้เอง ถ้ามีสันดานแห่งความเป็นผู้ดีติดมาบ้าง อันนี้มันไม่สมควรแก่ภิกษุ สามเณรเลย ตัวแดงๆ จะไปนั่งที่ร้านกาแฟ ร้านเหล้า หรือว่าร้านอะไรที่มันไม่ใช่เรื่องของพระยิ่งไปกว่านั้นอีก นักบวชที่แท้จริงแม้แต่ที่บ้านของตัวก็ไม่ไป เพราะว่าได้สละเหย้าเรือน บวชสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละญาติ สละแม้แต่ปลงผมและหนวดนี่ ก็สละเหมือนกัน บวชสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน นี่ก็เป็นคนที่ไม่ประมาท มีน้ำใจละเอียดอ่อน ไม่กระด้าง ไม่มักง่าย มันก็รู้สึกได้เอง อันนี้ไม่ต้องใครมาสอน รู้เดี๋ยวนี้ไม่ควรทำแน่ ถึงแม้ว่าในวินัย ในระเบียบวินัยที่เป็นชั้นหลัก ชั้นปาฏิโมกข์ นี่ก็มีอยู่มากข้อ ที่ถ้าเราเอาระเบียบของสุภาพบุรุษหรือความเป็นผู้ดีเข้ามาเป็นหลักแล้ว มันก็ไม่ทำเอง ทั้งที่ไม่รู้วินัยก็ไม่ทำเอง เช่น ด่าเขาเป็นปาจิตตีย์ อย่างนี้ มันก็ไม่ทำเอง ตีเขาเป็นปาจิตตีย์ เงื้อมมือจะตีเป็นปาจิตตีย์ อย่างนี้ก็ไม่ทำอยู่แล้ว มันก็ไม่ทำอยู่แล้ว อย่าเข้าใจว่าไอ้สิกขาบทมันมากจริง ปฏิบัติไม่ไหว ที่แท้มันก็มีส่วนที่ว่าถ้าเป็นสุภาพบุรุษอยู่แล้ว ก็ยกเว้นได้มากขึ้นเอง มันจะเป็นอยู่แล้วเอง ไม่ได้เพิ่มอะไรขึ้นมา ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ความเป็นระเบียบต่างๆ นี้ มันมีอยู่ในระเบียบของชาวบ้านที่อยู่ที่บ้านเรือนอยู่มาก
ทีนี้เราพูดกันถึงคำว่าวินัย ระเบียบโดยหลักทั่วๆ ไปเกี่ยวกับความเป็นนักบวช เรื่องที่ทำไม่ได้ทันทีบอกกันในวันอุโบ เอ่อ วันอุปสมบท ที่เรียกว่า ปาราชิก ๔ ทำไม่ได้ทันทีต้องรีบบอก แต่ว่าตามที่จริงแล้ว ถ้าว่าได้รับการอบรมมาดี ก็พอจะนึกได้เอง อันนี้ไม่ได้แน่ ไม่ได้แน่ แต่เขาเห็นว่าระเบียบนี้ต้องตั้งขึ้นไว้ให้บอก ไม่ประกอบใน สถุนธรรม (นาทีที่ 18.56) ไม่ขโมย ไม่ฆ่ามนุษย์ ไม่อวด ไม่อวดความดีของตัวที่มี เป็นระเบียบใหญ่ๆ นี่ก็ยังมีระเบียบต่างๆ ที่มาศึกษาตอนหลังนี่อีก ระเบียบเหล่านี้เกิดขึ้นทีละอย่าง ละอย่าง บัญญัติ ทรงบัญญัติขึ้นทีละอย่าง ละอย่าง เมื่อตอนแรกๆไม่มีเลย ระเบียบและหรือวินัยนี้ไม่มีเลย เพราะคนที่เข้ามาบวช เขาตั้งใจจริงจะประพฤติพรหมจรรย์ ดับทุกข์ถึงที่สุด ทุกข์เป็นจริง แล้วทำไมต้องไปทำอย่างนั้นอยู่เล่า วินัยนี้ก็ยังไม่ได้บัญญัติ ไอ้เรื่องปาราชิก๔ ที่เรารีบบอกกันวันๆ บวชนั้นน่ะ ครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าท่านไม่ยังไม่ได้บัญญัติไอ้ตอนแรกๆ แล้วไม่ได้บอก เพราว่าคนมันดีอยู่ ออกบวชมาด้วยเจตนาดีจะดับทุกข์ ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องที่เลวมากอย่างนั้นน่ะ นี้ก็มีคนบวชเข้ามาเรื่อย แล้วเป็นพระอรหันต์แต่ก่อนบวชก็โดยมาก ก็เป็นพระโสดาบัน มีดวงตาเห็นธรรมแต่ก่อนบวชโดยมาก วินัยมันก็เลยไม่ได้บัญญัติ คือระเบียบยังไม่ได้แต่งตั้งขึ้น เข้าใจว่าหลายปี อย่างน้อยก็สัก ๒-๓ ปี จึงจะเกิดมีปัญหาขึ้นบ้าง ที่เกี่ยวกับภิกษุบวชใหม่นี่ สักแต่ว่าอยากบวช แล้วก็ได้บวชนี่มันมากขึ้นทุกที พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงอนุญาตให้พระเถระรับบวชได้ลับหลังท่านหรือแทนท่าน นี่มี มีผู้บวชอย่างนี้มากขึ้นทุกที มันก็เลยมีคนที่ไม่สมประกอบ ก็คือ ไม่ๆ ถึงขนาดที่จะรู้อะไรได้เองมากขึ้น ติดๆ เข้ามาในกลุ่มนี้มากขึ้น จึงทรงบัญญัติระเบียบ แล้วระเบียบทีแรกก็ไม่ได้พูดถึง ปาราชิก๔ อะไรนี้ มันพูดถึงไอ้สิ่งที่จำเป็นก่อน ที่มาถึงเข้าก่อน นั้นจึงไปดูในวินัยปิฎก จะพบว่าไอ้ระเบียบตอนแรกๆ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นระเบียบเรื่องเชื่อฟังครูบาอาจารย์ เป็นวัตรปฏิบัติที่จะปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ก่อน ภิกษุบวชใหม่เหล่านั้นไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์อย่างไร ทีนี้ก็เลยไปถึงปฏิบัติต่อเพื่อนฝูงกันอย่างไร ปฏิบัติต่อสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอย กระทั่งจีวรนี้อย่างไรเป็นต้น ต่อมาอีกหลายปีแม้ว่าไม่ได้เขียนไว้ชัดว่ากี่ปี สันนิษฐานได้ว่าหลายปี จึงจะมีเรื่องภิกษุประกอบเมถุนธรรม ในภรรยาเก่า โดยคิดว่าจะไปมีบุตรสืบสกุล พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบท
นี่เห็นได้ว่าวินัยหรือระเบียบนี้ ทรงบัญญัติขึ้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามลำดับ แล้วต่อมามันก็เลยมีความจำเป็นมากขึ้น แล้วคนที่บวชด้วยสักว่าอยากบวชนี้มันมากขึ้น หรือที่เรียกว่าบวชตามๆ นี้มันมีมากขึ้น วินัยมันจึงมีมากขึ้นๆ สำหรับคนที่ไม่จริงเหล่านั้น เพราะวินัยนี้มันตั้งขึ้นสำหรับคนเลว นั้นพวกคุณอย่าเป็นคนเลวมันก็หมดเรื่อง โดยสัญชาติญาณมันก็จะรู้ได้ แม้แต่กฎหมายมันตั้งขึ้นสำหรับคนเลว ไม่ได้ตั้งสำหรับคนดี นี้เมื่อเราอธิษฐานจิตที่จะเป็นคนดี เป็นคนไม่มักง่าย มีสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว มันก็จะถูกต้องโดยวินัยอยู่โดยไม่รู้สึกตัวล่ะ ขอให้ภาวนาไว้อย่างนี้ ในบัญญัตินั้นบัญญัติสำหรับคนเลว เราไม่ใช่คนเลว เราจะตั้งตัวเป็นคนดี มันก็จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ห้ามเหล่านั้น ทีนี้มันยังมีเหลืออยู่บางหมวดบางประเภท คือความเผอเรอ ไม่เจตนา นี้ก็มีสติสัมปชัญญะให้มากขึ้น เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์ว่าให้ภิกษุสาวกทั้งหลายนี่เป็นคนไม่สับเพร่า ไอ้เรื่องสับเพร่านี้ไม่ใช่เรื่องอะไรนักหนา แต่ชาวบ้านเขาไม่คิดว่าเรื่องอะไรนักหนา แต่ในธรรมวินัยนี้ก็ถือว่านักหนา เป็นเรื่องนักหนา เรื่องสับเพร่า เรื่องขี้ลืม เพราะนั้นไปอ่านวินัยเรื่องให้ไม่รักษาจีวรให้อยู่ในความดูแลอย่างเคร่งครัด แม้คืนเดียวนี้ ก็ให้เป็นอาบัตินิสสัคคีย์ นี้เป็นต้น ลืมนั่น ลืมนี่ มีอะไรตั้งหลายอย่าง นี่เป็นเรื่องสุดท้ายแล้ว ว่า สำหรับผู้ที่ขี้มักสับเพร่า ขอย้ำอีกหน่อยว่าพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติระเบียบวินัยไว้ เพื่อๆๆ จะใช้แก่คนเลว ถึงอย่างนั้นก็ท่านได้บัญญัติไว้อย่างสำหรับผู้ดี ฟังให้ดีๆ เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ คือๆไม่ใช้อาชญาลงโทษ เฆี่ยน ตี จำขัง อะไรทำนองนั้น มีระเบียบให้ลงปาฏิโมกข์ แล้วก็อ่าน ว่าสิกขาบท เป็นลำดับไป ก็ใครนึกถึงข้อที่ตัวเองได้ทำผิดไป ตรงกันเข้ากับที่กำลังสวดปาฏิโมกข์ อยู่ก็ให้แสดงตัวขึ้นมา ถ้าไม่แสดงตัวขึ้นมา เอาเพิ่มอาบัติอีกอันหนึ่ง คือว่าโกหก สัมปะชามุสาวาทะ (นาทีที่ 26.47) เพราะว่าเขาถามว่าท่านรับรองว่าท่านไม่ต้องสิกขาบท ไม่ต้องอาบัติโดยสิกขาบทเหล่านี้นะ เหล่านี้นะ ถึง ๓ ครั้ง ตัวเองรู้ว่าต้อง แล้วก็ยังนิ่งอยู่ ก็เลยแปลว่าเป็นอาบัติเพิ่มขึ้นในขณะนั้น คือเป็นผู้มุสาวาทโดยการนิ่ง เมื่อช่วย แล้วทรงบัญญัติให้ช่วยกัน ตักเตือนซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้แหละศาสนาของพระองค์ยืนยาวมาถึง ๒,๐๐๐ กว่าปี ไม่มีคุก ไม่มีตะราง ไม่มีจับเฆี่ยนไม่มีมัด เฆี่ยนหลังลงโทษอะไร นั้นเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้สำหรับผู้ดี แต่ตัวสิกขาบทนั้นระบุผู้เลว เมื่อไม่มีผู้เลว มันก็มีแต่ผู้ดี มันก็รักษากันมาได้ตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปี ไม่สูญหายไปไหน ก็ตรงความหมายของคำว่าวินัย ก็นำไปอย่างวิเศษ หรือระเบียบให้เกิดความเรียบร้อย
ทีนี้ความมุ่งหมายมันจึงมาอยู่ที่ตรงนี้ คือให้หมู่คณะเรียบร้อย เพื่ออายุศาสนาจะยืนยาวไปด้วย แล้วตัวบุคคลแต่ละคนเมื่ออยู่ในหมู่ที่เรียบร้อย ก็มีความเรียบร้อย มีร่างกาย วาจา ใจ ที่เหมาะสมที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้ดับทุกข์ได้ในที่สุด สำหรับผู้ที่ยังไม่ดับทุกข์ ส่วนผู้ที่ดับทุกข์ได้แล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็อยู่ในระเบียบเรียบร้อยที่เสมอไปหมด มันก็เลยเกิดความงดงามขึ้นมา เป็นพรหมจรรย์ทั้งกลุ่มทั้งหมด นี่เรียกว่าวินัยมีประโยชน์อย่างนี้ เรียกเป็นไทยๆ ก็ว่าระเบียบ ที่เลวมากก็เรียกว่ากฎหมายสำหรับใช้ลงโทษ ระเบียบนี้ไม่ๆ ลงโทษขนาดอาชญาแบบนั้น ลงโทษให้คนนั้นเปิดเผย แล้วลงโทษให้คนนั้นนึกดูว่าถ้าเราไม่ควรจะอยู่ในหมู่สงฆ์นี้แล้ว ก็ละไปเสีย เมื่อรู้ว่าต้องอาบัติชนิดที่บัญญัติไว้ว่าไม่เป็นภิกษุอีกต่อไป ก็ไปเสีย ดูความเป็นระเบียบที่จะมีความมุ่งหมาย ที่เป็นตัวความมุ่งหมายของวินัย เหตุผลมันมีอยู่ที่ว่าอนุญาตให้ผู้ที่มีความปกติ มีปกติภาวะตามมนุษย์ที่ควรจะมี ที่มนุษย์ควรจะมีแล้วก็ให้บวชได้ เช่น ไม่บ้าบอ ไม่เป็นโรคติดต่อ ไม่เป็นอะไรที่น่ารังเกียจ มีความเป็นมนุษย์ปกติ แล้วให้บวชได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ มนุษย์ไม่ได้เหมือนกัน มาจากวงศ์สกุลที่ต่างกัน เช่นมาจากวงศ์สกุลชั้นสูง ชั้นเจ้านายก็มี รองลงมาก็มี ชั้นพ่อค้า ประชาชนก็มี ชั้นบ่าวไพร่ กรรมกรก็มี ทีนี้ก็มีอะไรติดตัวมาต่างๆ กัน โดยเฉพาะมรรยาท มรรยาทหยาบ มรรยาทกระด้าง
ในหมู่ชนพวกหนึ่งก็มาบวช ทีนี้ผู้ที่มาจากสกุลที่ดี มีมรรยาทอันละเอียดสุขุมก็มี แล้วมันจะเหมือนกันได้อย่างไร จึงต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความสม่ำเสมอถือตรงกันหมด ต้องมีประพฤติระเบียบทางกายนี่ตรงกันหมด ทางวาจาก็ตรงกันหมด ก็เลยเหมือนกันได้ ที่ยังต่ำไปหรือเลวไป ก็ยกตัวขึ้นมาให้อยู่ในระเบียบเส้นบรรทัดอันนี้ ส่วนพวกที่ดีอยู่แล้วมันก็ไปตามเส้นบรรทัดอันนั้น ที่ดีเกินไป ก็ไม่เป็นไร แต่ในที่สุดมันก็มาสู่ไอ้ระเบียบเส้นบรรทัดอันนี้อีกเหมือนกันโดยอัตโนมัติ ก็ทุกคนก็ไม่คิดอะไรที่จะแบ่งแยกว่าเราควรจะได้สิทธิพิเศษ สำหรับกินอย่างนั้น สำหรับนอนอย่างนี้ เพราะว่าเราเป็นคนพิเศษมาจากตระกูลนั้น ตระกูลอย่างนี้ หรือเราเคยทำมาเป็นประจำ อย่างนั้นอย่างนี้ นี่ต้องเลิกกันหมด มาสู่บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องมีระเบียบอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นต้องไปสู่บรรพชาอุปสมบทในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่น ซึ่งไม่ใช่คณะสงฆ์ในพุทธศาสนา นั้นถ้าสมมติว่าใครสักคนหนึ่งเขาจะประพฤติละกิเลสดับทุกข์ เหมือนกับพุทธศาสนาเรานี้ทุกกระเบียดนิ้ว แต่เขาไม่อยากมาอยู่ในหมู่นี้ ซึ่งต้องรักษาวินัยอะไรตามระเบียบนี้ เขาก็ทำได้ เขาก็ไปเป็นผู้ปฏิบัติส่วนตัวอยู่ที่ไหนก็ตามใจเขา แต่จะมารวมกับคณะสงฆ์หมู่นี้ด้วยสิทธิด้วยหน้าที่เสมอกันนี้ไม่มี ทำไม่ได้เพราะมีระเบียบอย่างนี้อยู่
ระเบียบสำหรับคณะสงฆ์นี่มีอยู่อย่างนี้ และก็ต้องทำอย่างนี้ จึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ชอบอย่างนี้ก็สึกไป ไม่มีใครห้าม ไม่มีใครหวง ไม่ได้สัญญากันว่าสึกไม่ได้ ถ้ายังอยู่ก็ต้องยอมที่จะปฏิบัติอย่างนี้ ตามระเบียบอย่างนี้ เพื่อเกิดความเสมอภาคกันในคณะสงฆ์นี้ ระเบียบนั้นจะรักษาคณะสงฆ์นี้ ให้ตั้งอยู่ได้ยืนยาวไปอีกกี่พันปีก็ได้ บางทีหมื่นปี แสนปีก็ได้ ถ้าโลกมันยังไม่ลุกเป็นไฟด้วยเหตุอย่างอื่น ระเบียบเท่านี้ จะทำให้คณะสงฆ์อยู่ได้อีกกี่พันปีก็ได้ นั้นขอให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนจะต้องมีระเบียบ เพื่อพรหมจรรย์นี้จะอยู่ได้ พรหมจรรย์ส่วนตัวเราก็อยู่ได้ พรหมจรรย์ส่วนรวมของพระศาสนาทั้งหมดมันก็อยู่ได้ แม้จะเป็นพระอรหันต์แล้วก็กลมกลืนกันอยู่ ไม่มีอะไรแสดงความแตกแยก นี่คือความจำเป็นที่จะต้องมีวินัย นั้นขอให้รักวินัย ขอให้เคารพวินัย ขอให้ถือเอาเป็นที่พึ่ง อย่าไปคิดว่าวินัยนี้ทำให้เราลำบาก ทำให้เราเหนื่อย หรือทำให้เราไม่ได้รับความพักผ่อนที่เราต้องการ ถ้าเราต้องการแต่จะดับทุกข์ทางธรรมะล้วนๆ ไม่อยากถือวินัย ก็ไปบวชอย่างอื่น ไปบวชในนิกายอื่น ไปบวชอย่างอื่น คงจะได้มีผลไปอย่างอื่น หมู่ชนที่เขาไม่ชอบการบังคับตัวเอง จึงยากที่จะมาบวชในพระศาสนาอย่างแบบนี้ แบบที่เราเรียกกันว่าเถรวาทนี้ เมื่อผมยังแรกๆ บวช คือว่าหลายสิบปีมาแล้ว ผมถามพวกฝรั่งที่บวชบางคน บวชเป็นอย่างมหายาน ฝรั่งเพิ่งมาบวชแบบเถรวาทมากนี้เมื่อ เมื่อไม่นานมานี้เอง ก่อนนี้เขาชอบบวชอย่างมหายาน พอแต่งตัวคล้ายๆ อย่างเถรวาท ถามว่าทำไม เขาบอกว่าเขาไม่สามารถจะปฏิบัติวินัยที่เคร่งครัดอย่างเถรวาท หรือว่าอย่างไหนก็ตามใจเถอะ ไอ้การปฏิบัติวินัยเคร่งครัดมากมายนี้เขาไม่ชอบ เขาชอบแต่จะศึกษาธรรมะ อย่างนี้แทบทั้งนั้น แล้วก็ผมสังเกตดูต่อมา ต่อมา มันก็เหลวหมดน่ะ เพราะว่ามันไม่สมัครที่จะมีรากฐานที่ดี กล่าวคือ การบังคับตัวเองอย่างมีระเบียบมีวินัย ไอ้ความรู้ที่เรารู้น่ะมันๆไม่แก้กิเลสได้ เราต้องปฏิบัติจึงจะช่วยแก้กิเลสได้ เราจะรู้ จะท่องจำอะไร มันก็ไม่ ไม่แก้กิเลส คือไม่เปลี่ยนแปลงจิตใจของคนเราได้ ต้องปฏิบัติลงไปอีกทีหนึ่ง มันจะเกิดผลแก่จิตใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย สันดานอะไรได้ นั้นก็อย่าได้ไปหลงตามความนิยมสมัยนี้ ที่เขาไปหลงในสิ่งที่เรียกว่าปรัชญากันนัก ปรัชญา นั้นมันจะสูงสุดอย่างไรมันก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ แม้ความรู้นั้นถูกต้อง แต่คนนั้นก็บังคับจิตให้เป็นตามนั้นไม่ได้ ก็เป็นนักปรัชญาอยู่นั้น ดีแต่พูด ความรู้ที่ถูกต้องนั้นไม่ได้รับการปฏิบัติ ไม่ได้แปลงรูปมาเป็นการปฏิบัติ นั้นมันก็เปลี่ยนนิสัยอะไรไม่ได้ นี่ปรัชญา เป็นอย่างนี้ นั้นอภิธรรม ก็มักจะเป็นไปอย่างนี้ นั้นเราจะต้องสมัครปฏิบัติวินัย ไม่ต้องรู้ปรัชญา อะไรให้มันเวียนหัว ศึกษาเอาจากระเบียบที่ท่านวางไว้ดีแล้วนี้ก็ได้ หรือจะด้วยเรื่องเฉพาะหน้าว่า ถ้าเรามันทำลงไปอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ มันเลว มันชั่ว มันเป็นทุกข์เห็นอยู่ชัดๆ นี่ เราก็ไม่ทำ เราก็เปลี่ยน ตรงกันข้าม มันก็มีวินัยขึ้นมา ไม่ต้องไปพึ่งปรัชญาที่ไหน ถ้าไปพึ่งปรัชญา ก็มัวตั้งปัญหาอยู่ว่ามันมีจริงไหม นิพพานมีไหม หรือว่าการปฏิบัตินี้เรียกว่าดี นี้มันดียังไง ดีแน่แล้วหรือ ไปเถียงกันอยู่แต่อย่างนั้น ไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไม่มีวินัย ไม่มีระเบียบอะไรต่างๆ
เดี๋ยวนี้ก็บวชเข้ามาหลายวันแล้ว ควรจะสนใจสิ่งที่เรียกว่าระเบียบวินัยกันให้จริงจังได้แล้ว แปลแล้วอ่าน (นาทีที่ 39.58)ส่วนที่จะอ่านได้ แล้วก็ปฏิบัติส่วนที่จะต้องปฏิบัติในปาฏิโมกข์นั้นทุกข้อ เพราะมีอยู่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนนอกปาฏิโมกข์ นั้นก็ขวนขวายไปตามสมควร มันมีอยู่ในพระคัมภีร์ แต่ไม่ได้เอามาสวดทุกกึ่งเดือน มันจึงไม่มาปรากฏแพร่หลายนัก ที่เป็นปาฏิโมกข์นี้ก็ส่วนเสขิยวัตรนั้นก็เป็นของๆ ที่เพิ่มเข้าใหม่ แต่เห็นว่าจำเป็น เป็นส่วนมรรยาทเหมือนกันส่วนนี้ แต่มรรยาทส่วนที่จำเป็นก่อน ก็เอามาก่อน ไม่งั้นภิกษุนี้จะมีมรรยาทไม่น่าดู นั้นอย่าเข้าใจว่าเป็นเพียงมรรยาท หรือเป็นของเพิ่มๆ เข้าทีหลัง ก็ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะว่าพระ อาจารย์ที่เป็นบัณฑิตมีสติปัญญา เขามองเห็นอันนี้แล้วว่า เสขิยวัตร นั้นต้องมาด้วย มาอยู่ในปาฏิโมกข์ด้วย ก็ไปดูเอาเอง เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องขบ เรื่องฉัน เรื่องเดิน เรื่องยืน เรื่องเข้าบ้าน เรื่องมรรยาทเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหลาย แล้วก็อย่าหัวเราะเยาะวินัยหรือว่าอภิสมาจารย์ มรรยาทเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่งเลย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ประณีตงดงามสุขุมอย่างยิ่ง เพราะเราไม่ต้องการหยาบกันแล้ว ต่อไปนี้เราไม่ต้องการหยาบกันอีกแล้ว สำคัญแต่ให้ละเอียดประณีตสุขุมยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าไม่อย่างนั้นคุณจะมาบวชทำไม อยู่ที่บ้านก็ได้ พอจะอ่านเอาได้ หรือว่าทำไปอย่างที่พอจะอยู่กันไปได้ในหมู่ฆราวาส เดี๋ยวนี้มาประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นละเอียดกว่านั้น ก็ต้องประพฤติ แม้จะสึกกลับออกไปมันก็ได้อุปนิสัยอันใหม่ คือความเป็นผู้ละเอียดลออสุขุมไม่ประมาท ไม่สับเพร่า เนื่องด้วยเคยรู้ความจริงที่สูงสุดว่า เมื่อคนเราประพฤติปฏิบัติอย่างสุขุมอย่างละเอียดนี่แหมมันมีจิตใจชนิดนั้น อย่างนั้น เมื่อคราวเราบวช ซึ่งเรายังจำได้อยู่ เราไม่ลืม เพราะอันนี้มันก็จะเตือนสติได้ดีแม้เมื่อสึกออกไปแล้ว แล้วมันก็จะไม่มีๆ โอกาสที่พลัดตกออกไปสู่ความตกต่ำ ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงได้
นั้นจึงขอร้องว่าแม้จะบวชเพียง ๓ เดือนนี้ ก็ต้องให้สุดความสามารถ อย่าไปเห็นแก่ปาก แก่ท้อง แก่ความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องของคนโง่ นี่ไปเห็นแก่ของเล็กๆ น้อยๆ แม้จะสนุกสนาน เอร็ดอร่อยเล็กน้อย เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่คุ้มกับเรื่องส่วนใหญ่ที่จะต้องเสียไป ว่าที่แท้แล้วไอ้พรหมจรรย์นี้หรือบรรพชานี้ ก็ต้องการจะละสิ่งเหล่านั้น นิสัยที่เห็นแต่จะกิน นิสัยที่เห็นแต่จะนอน แต่จะสะดวกสบายโดยไม่ต้องคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้เอาตามสะดวกของตนเรื่อย นั่นคือสิ่งที่พรหมจรรย์นี้ต้องการจะละ เป็น เป็นระดับแรก เป็นพื้นฐาน เป็นการตระเตรียมเพื่อความดีที่สูงไปกว่านั้น รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องวินัยนี้ เราไปศึกษาเอาจากวินัยโดยตรง หรือจะพูดให้ฟังก็มีในวันหลัง แต่ไปพยายามไปสังเกตดูให้พบ ให้ค้นให้พบว่าพระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติไว้อย่างดีที่สุด อย่างดีที่สุดที่มนุษย์จะบัญญัติได้ สำหรับให้คนเรานี่มันดี ส่วนที่เลวนี่ต้องออกไปให้หมด ถ้าใครทำเลวขึ้นมาเห็นว่าไม่เหมาะ ท่านก็บัญญัติสิกขาบทนั้นขึ้นทันที ท่านก็กันไอ้ความเลวออกไปเสียให้หมด ทีนี้ก็เหลืออยู่ก็ให้มันประณีตละเอียดสุขุมลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อความดีที่สุด แต่แล้วใครทำกันอย่างสุภาพ เรียกว่าอย่างดี อย่างผู้ดี อย่ามีการเอะอะตึงตังอะไรกันขึ้นมา เช่นวินัยไม่ให้ด่าตอบ ไม่ให้เกิดต่อสู้อะไรกันขึ้นมา ให้สงบ ให้หลบหลีก รวมความแล้วก็คือ เรียบร้อย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย นั้นคนที่จะมาจากสกุลที่ต่างๆ กันอย่างไร ถ้าทุกคนสมัครใจถือระเบียบวินัยแล้วก็จะสม่ำเสมอกันไปได้ กลมกลืนกันไปได้ ทำให้หมู่นี้คณะนี้มันงดงาม ในบาลีอรรถกถาเขาเปรียบว่า เหมือนกับเส้นด้ายร้อยดอกไม้ให้เป็นระเบียบ แล้วมันก็น่าดู ดอกไม้ที่ไม่ได้ถูกยึดไว้ด้วยเส้นด้ายหรือการร้อยนี้ มันก็กระจัดกระจายไม่น่าดู นี่ก็เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน ความงดงามน่าดู นี่เป็นความจำเป็น เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง แล้วความที่มันเหมาะสมสำหรับจะเป็นการละกิเลสยิ่งๆ ขึ้นไป นี่มันเป็นตัวเรื่อง เป็นประเด็นของเรื่อง แต่ความงดงามน่าดูนี้ก็ต้องการ เพราะว่าไอ้ความไม่งดงาม ความเกะกะเก้งก้าง กระด้างกระเดื่องนี้ มันก็เป็นเรื่องขัดขวางการประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปในระดับสูงอยู่แล้ว
นั้นในชั้นนี้จึงทำให้เรียบให้งามดีกว่า และงามกันไปทั้งหมู่ทั้งคณะ ทีนี้ก็ตั้งหน้าแข่งกันกระทำในส่วนจิตใจ ใครจะได้ไปไกลก่อนใคร ไปไกลกว่าใคร ใครจะบรรลุพระอรหันต์ก่อนใคร นั้นก็เป็นเรื่องต่อไปข้างหน้า มันจะต้องแยกกันแล้ว แต่ว่าในชั้นต้นนี้มันจะต้องเอาความสม่ำเสมอกันทีก่อน นั้นขอให้เอาวินัยเป็นหลัก อย่าต้องให้ใครมาบังคับให้มันลำบาก การเป็นอยู่ประจำวัน การกิน การนอน การใช้สอยเสนาสนะ การสังคมซึ่งกันและกัน ทุกอย่างให้เป็นระเบียบงดงาม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บวชเข้ามาจริงในพระศาสนานี้ มาประพฤติพรหมจรรย์จริง จึงต้องขอร้องให้เสียสละ ให้อดทน ไม่ได้เจ็บปวดมากเท่าไหร่ในทางการประพฤติพรหมจรรย์ นี่ก็ต้องทน ทนได้ เพื่อประโยชน์แก่การ การได้อานิสงค์ ๓ ประการ ที่เคยตักเตือนอยู่เสมอ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งพูดกันแล้วในวันที่บวชวันนั้น ให้ได้อานิสงค์เพื่อตัวผู้บวชเอง ให้ได้อานิสงค์เพื่อญาติทั้งหลาย มีบิดา มารดา เป็นต้น ให้ได้อานิสงค์แก่สัตว์โลกทั้งหลายเป็นส่วนรวม รวมทั้งได้แก่พระศาสนาด้วย อย่าลืมเสีย เพราะว่าถ้าคิดถึงข้อนี้อยู่มันจะอดทนได้ต่อระเบียบ ทนต่อความหิวก็ได้ ถ้ามันเกิดหิวขึ้นมา หรือว่ามันอะไรที่เราไม่รู้สึกว่ามันเจ็บปวดนี้ ก็จะทนได้ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปๆ จนในที่สุดมันก็ไม่หิวหรือไม่อะไร เพราะว่าถ้าหิวเหลือเกิน มันก็อนุญาตไว้สำหรับแก้ไขได้ โดยวิธีที่ถูกที่ควร เช่นว่าภิกษุจะไม่ฉันอาหารไอ้ที่เกินจำเป็น คือหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว นี่เรียกเกินๆ จำเป็นไม่ต้องฉันก็ได้
ถ้ามันมีกรณีพิเศษเกิดจะหิวขึ้นมาก็อนุญาตในสิ่งที่จะพอบรรเทาความหิว เช่น เภสัช ๕ อย่าง น้ำมัน น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อย่างนี้ไม่เรียกว่าอาหาร เรียกเครื่องบำบัดความกระวนกระวาย ในลักษณะที่เป็นยาชนิดหนึ่ง นี่ถ้าเกิดไม่มีมาขึ้นมาอีก ก็ควรจะหัวเราะเยาะไอ้ความหิวความกระวนกระวายนี้ได้ ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง นี่เรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เป็น สมณศากยบุตริยะ คือนับเนื่องในพระสมณศากยบุตร คือพระพุทธเจ้า สมณศากยบุตริยะนี่ ก็ผู้ที่นับเนื่องไปในสมณศากยบุตร เมื่อพระพุทธเจ้าท่านออกบวชใหม่ๆ ก็มีปัญหาเรื่องนี้มากเหมือนกัน แต่ท่านไม่เคยยอมแพ้ ท่านก้าวหน้าไปข้างหน้าเรื่อย แล้วก็เกิดความไม่ต้องพ่ายแพ้ ระเบียบบัญญัติอะไรที่พวกนักบวชในศาสนาอื่นเขามีกันอยู่ก่อน ท่านก็ให้ในคณะสงฆ์พุทธศาสนานี้ทำได้เหมือนกัน ไม่ให้น้อยหน้า ไม่ให้มีปมด้อยขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา นั้นเราจึงมีเครื่องนุ่งห่มอย่างนี้ หรือว่ามีการโกนศีรษะอย่างนี้ ตลอดถึงไอ้การเป็นอย่างอื่นอีกหลายๆ อย่าง ในส่วนที่ว่าพวกบรรพชิตเขากระทำกัน แม้บรรพชิตก่อนพุทธศาสนาอย่างนี้ไม่ใช่เรียกงมงายไปทำตามๆ เขา เพราะไปมอง ไปมองดูแล้ว อ้าว,เห็นว่ามันจำเป็นแก่ชีวิตประเภทบรรพชิต ก็เลยต้องถือเสมอเหมือนกันหมด ที่เขาถือกันมากก็เรื่องไม่กระทบกระทั่งผู้อื่นนั่นล่ะ และไม่กระทบกระทั่งแม้สัตว์เดรัจฉาน และไม่กระทบกระทั่งแม้แต่ต้นไม้ พืช ชีวิตประเภทพืชพันธุ์ งั้นการที่ไม่ให้ภิกษุขุดดินก็ดี ไม่ให้ภิกษุทำอันตรายแก่ต้นไม้นี่ มันเป็นระเบียบวินัย เพื่อความละเอียดอ่อนสำหรับบุคคลผู้เป็นบรรพชิตไม่ว่าในศาสนาไหน มักถือตรงๆ กันทั้งนั้น นี่ก็ให้รู้ไว้ว่ามันเป็นเครื่องทำให้เกิดความละเอียดอ่อนขึ้นในจิตใจ ในสันดานของบรรพชิตทั้งหลาย บรรพชิตในพุทธศาสนาก็ต้องไม่น้อยหน้าใคร นั้นก็ต้องทำเหมือนกัน ทีนี้ก็ยังมีวินัยอย่างอื่นอีก ทีจะให้บรรพชิตในพุทธศาสนาไป ก้าวหน้าไปตามความมุ่งหมายของตน
นั้นขอให้ถือว่าสิ่งที่บรรพชิตควรจะถือ แล้วก็ควรจะถือ แล้วก็ถือเอาไว้ด้วยหลักที่เรียกว่าเปรียบเทียบกันดู ถ้าสิ่งนี้เกิดเป็นปัญหาขึ้นใหม่ ก็เปรียบเทียบกันดูกับว่ามันเข้ากันได้กับสิ่งที่เคยทรงห้ามไว้ หรือมันเข้ากันได้กับสิ่งที่เคยทรงอนุญาตไว้ เปรียบเทียบกันดู อย่างน้อยมันก็มีหลักใหญ่ๆ ซึ่งจะทำให้เราเปรียบเทียบได้ อย่างจะไปนั่งที่ร้านกาแฟนี้ ก็ไม่มีวินัยที่ไหนห้ามไว้ แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกันกับไอ้หลักอื่นๆ แล้ว เห็นว่ามันสงเคราะห์รวมอยู่ในพวกที่ห้าม หรือว่าถ้าว่าเกิดอยากจะขี่รถจักรยาน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นมา มันก็คิดดูว่ามันจะควรกระทำหรือไม่ มันจะเป็นการสงเคราะห์เข้าไปในพวกที่ห้ามหรือพวกที่อนุญาต เดี๋ยวก็พบเอง เช่นความไม่จำเป็น ความอะไรต่างๆ ก็รู้ได้เอง ว่าภิกษุเราไม่ควรจะขี่รถจักรยาน ไม่ควรจะขี่รถมอเตอร์ไซค์ อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้น มันมีอื่นๆ อีกมาก นั้นการที่จะเอาอะไรมากินมาใช้มาเกี่ยวข้องด้วยนี้ ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์อย่างนี้ ในที่สุดมันก็ไปเข้าเป็นรูปเดียวกันหมด เรียกว่าวินัยหรือระเบียบที่มันสม่ำเสมอกันดี นี้ก็เรียกว่าระเบียบที่เราจะต้องตัดสินเอาเองในภายหลัง ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เพราะมันไม่ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ในพระคัมภีร์ได้กล่าวไว้แต่เพียงหลัก จับหลักดูเพื่อสงเคราะห์สิ่งนั้นเข้าไปตามหลัก พบว่าควรหรือไม่ควร
นี้ผมพูดได้แต่เพียงใจความคร่าวๆ แต่ก็เพื่อเป็นหลักสำหรับสิ่งที่เรียกว่าระเบียบหรือวินัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์อันสำคัญสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเกิดทิ้งวินัยหรือลบหลู่วินัยกันแล้ว พรหมจรรย์นั้นก็วินาศลงทันที มันเหมือนกับว่าต้นไม้ที่ไม่มีแผ่นดินจะหยั่งราก แล้วมันจะอยู่ได้อย่างไร นั้นเราจะต้องทำระเบียบวินัยนี้ให้มันเหมือนกับว่าแผ่นดิน แล้วเราจะเป็นราก สำหรับจะเป็นที่หย่อนรากของต้นไม้ คือพรหมจรรย์ นั้นขอให้นึกถึงที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อะนุมัตเตสุ วัตเชสุ พยพัตถาวี (นาทีที่ 57.13) เป็นต้น ว่าอย่าประมาทเลย ให้เห็นเป็นของที่มีอันตรายใหญ่หลวงแม้ในโทษที่มีประมาณน้อย อาบัติตัวนิดๆ หรือว่าโทษที่มีประมาณน้อยอะไรก็ตาม อย่าได้ถือว่ามันเล็กเลย อย่าถือว่ามันเล็กน้อย ให้ถือว่าเป็นอันตรายทั้งนั้น เห็นเป็นภัยเป็นอันตรายแม้ในโทษที่มีประมาณน้อย นี่คืออาบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะมองข้ามกันไปเสีย เกือบจะไม่ต้องบอกกันแล้วว่าไอ้ของใหญ่มันก็มาจากของน้อย ของน้อยมันขยายตัวออกเป็นของใหญ่ เมื่อมันได้โอกาสได้ปัจจัย อย่าไปดูหมิ่นในของน้อย อย่าให้มีขึ้นมา แม้ความผิดเป็นของน้อย มันจะค่อยกลายเป็นของใหญ่ มันค่อยๆ ประมาทมากขึ้น มันก็ค่อยเสียนิสัยเพิ่มขึ้น เดี๋ยวมันก็เลยลามปามขึ้นไปถึงไอ้ของใหญ่ๆ ถ้าไม่ถือวินัยตัวน้อยๆ ไม่เท่าไหร่ก็ไม่ถือวินัยขนาดกลาง ไม่ถือวินัยขนาดกลาง ไม่เท่าไหร่ก็ไม่ถือวินัยขนาดใหญ่ที่สุด เป็นอย่างนี้เรียกว่าประมาท นั้นจึงมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสๆไว้ ในลักษณะที่พิจารณาดูเป็นเรื่องขอร้องก็ได้ เป็นเรื่องบังคับก็ได้ เป็นเรื่องขู่ไว้ก็ได้ เป็นเรื่องอ้อนวอนก็ได้ ผมๆ พยายามจะศึกษาไอ้สำนวนโวหารเหล่านี้เสมอ ว่าถ้าพูด พูดอย่างในภาษาไทยนี่จะมีสำนวนอย่างไร แล้วบางคราวพระพุทธเจ้าท่านมีสำนวนเหมือนกับอ้อนวอน ขอวิงวอนอย่าได้ไปเห็นว่าเป็นของเล็กน้อย ให้เห็นมันเป็นภัยเป็นอันตรายแม้ในสิ่งที่มีโทษเล็กน้อย ถึงแม้ที่สุดจะให้ทำประโยชน์ผู้อื่นในคราวส่งภิกษุไปประกาศพระศาสนา เอามาพิจารณาดูให้ทุกตัวอักษร ให้ลึกซึ้งถึงความหมายว่าเป็นเรื่องอ้อนวอนมากกว่า เป็นการต่อรองด้วยว่าไม่ใช่ไปแต่พวกเธอ แม้ฉันก็ไปเหมือนกันอย่างนี้เป็นต้น นั้นสำนวนภาษาบาลีนี่ยัง ยังมีปัญหาอยู่ ถ้าเรียนรู้ไม่ค่อยจะทั่วถึงอาจจะได้ความหมายไม่ถูกต้อง เป็นต้นว่า ขอร้องอ้อนวอนไป ก็กลายเป็นสำนวนอย่างอื่นไปก็ได้ เห็นเป็นไม่สำคัญไปเสียก็ได้
เอาล่ะเป็นอันว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ดีที่สุดเลย ท่านไม่วางระเบียบอะไรมาอย่างหยาบคาย อย่างที่เรียกว่าข่มเหงน้ำใจกันอะไรกัน เพื่อว่าให้สาวกของท่านมีลักษณะเป็นผู้ดี ไม่ต้องใช้ไอ้เรื่องหยาบคาย เพราะว่าถ้ายังหยาบคายถึงขนาดนั้นแล้ว มันก็คงประพฤติพรหมจรรย์ไปไม่ได้ นี้คือสิ่งที่เรียกว่าระเบียบหรือวินัยที่เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดสำหรับสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นในวันนี้ผมจึงพูดในหัวข้อพรหมจรรย์ มีระเบียบมีสิ่งที่เรียกว่าระเบียบคือวินัยนี่เป็นอุปกรณ์อันสำคัญอย่างนี้ จึงหวังว่าทุกๆ องค์จะไม่ทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่าวินัยเป็นอันขาด
เวลาสำหรับการบรรยายก็หมดพอดี ก็ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้