แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การพูดกันวันนี้ได้ตกลงกันแล้วว่า จะพูดเรื่อง การใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์ นี้เป็นหัวข้อที่จะพูด และจะต้องพูดเรื่อย ๆ ไป โดยหัวข้อเดียวนี้ สำหรับในวันแรกนี้ ก็อยากจะเล่าเรื่องบางอย่างที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องการใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์นี้ได้ดีขึ้น
สิบกว่าปีมาแล้วที่ได้พูดเรื่องจิตว่างขึ้นเป็นครั้งแรก จนกระทั่งบัดนี้ก็นับว่ามีผลบ้างไม่เสียหลาย แต่ก็นับว่ายังเป็นผลที่ยังน้อย ไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อกล่าวโดยทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าจะกล่าวว่า โดยเหตุที่เรื่องนี้มันเป็น เรื่องยาก เรื่องลึก เรื่องเข้าใจยาก แล้วทำกันชั่วเวลาเท่านี้ ได้ผลเพียงขนาดนี้ ก็ต้องได้รับ ก็ต้องกล่าวได้เหมือนกันว่า มันได้ผลมากทีเดียว ที่ได้ผลเร็วเพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจกันเลย
ทีนี้ก็จะบอกให้ทราบว่า ทำไมถึงได้เอาเรื่องนี้มาพูด อยู่ ๆ ก็จู่ขึ้นมาเอาเรื่องนี้มาพูด เป็นเรื่องที่ประหลาด เป็นคำที่ประหลาดที่คำว่า จิตว่าง จนเกิดเรื่อง คือผู้ที่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย ก็ไม่ยอมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีในพุทธศาสนา อย่างนี้ก็มี
แล้วบางพวกก็ยิ่งไปกว่านั้น คือคงจะเห็นว่า เราเป็นผู้ที่พูดอะไรไม่เป็นเรื่องไม่เป็นราว หรือจะถึงกับมองก็เห็นไปว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ก็ได้ ก็มีพวกหนึ่งหรือจำนวนหนึ่ง ก็มีการต่อต้าน คัดค้าน เรื่องที่เกี่ยวกับจิตว่าง แล้วเอาไปล้อเล่น ล้อเล่นอย่างไม่มีมรรยาทก็มี
นักเขียนบางคน บางเล่ม ของหนังสือพิมพ์บางฉบับ ก็เขียนล้อเล่นอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่าล้อกันอย่างสุดเหวี่ยง อย่างนี้ก็มี บางพุ บางพวกหรือบางคนก็หาว่า นี้เอาเรื่องมหายานมาสอนแล้ว มันไม่ใช่เรื่องพุทธศาสนาอย่างเถรวาท แล้วก็จัดให้สวนโมกข์เป็นสำนักสอนมหายานไป อย่างนี้ก็มี ก็มีมากมาย โดยรายละเอียดแล้วก็ไม่ต้องพูดก็ได้
จะสรุปความแต่เพียงว่า มีคนจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจ เนื่องจากไม่เข้าใจก็ไม่เห็นด้วย แล้วก็เนื่องจากไม่เห็นด้วยนั้น บางพวกก็ บางคนก็ถึงกับต่อต้าน หรืออีกทางหนึ่ง พวกที่เข้าใจหรือพอจะเข้าใจได้ก็มี คนนี้ก็เลยเอาไปสนใจเอาไปติดตามค้นหาเรื่องนี้ ในพระคัมภีร์พระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทนี้ก็มี นี้เป็นการบอกให้ทราบว่า ชั่วสิบกว่าปีนี้มันก็มีผลอย่างนี้
ทีนี้ย้อนกลับไปถึงข้อที่ว่า ทำไมจึงเอาเรื่องนี้มาพูดอย่างที่เรียกว่า เขาไม่เคยคิดเคยฝันกันว่าจะมีเรื่องอย่างนี้ นี้มันก็เป็นเรื่องของตัวเองที่มองเห็นอยู่ แล้วก็รู้ รู้สึกอยู่ บาง บางอย่างบางประการ อย่างแรกก็เพราะเนื่องจากมองเห็นว่า ไอ้เรื่องความว่างนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจิตว่างนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือมันเป็นเรื่องของนิพพานนั่นเอง
นิพพานนี้ ถ้า ถ้าพูดโดยผล มันก็คือเย็น ถ้าว่าพูดโดยลักษณะ มันก็คือว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูนี้ จนมีคำกล่าวขึ้นมาเป็นหลักที่รับรองกันแล้วว่า นิพพานนั้นคือว่างอย่างยิ่ง ถ้าจิตถึงนิพพาน มันก็คือจิตที่ว่างอย่างยิ่งนั่นเอง
นี้เรียกว่ามันเป็นเรื่องหัวใจเพียงอย่างเดียวของพุทธศาสนา แล้วทำไมเราจะไม่เอามาพูดกันให้รู้เรื่อง หรือว่าให้พุทธบริษัทรู้เรื่องที่เป็นหัวใจพุทธศาสนานี่อย่างหนึ่ง ก็เลยเอาเรื่องนี้ พยายามที่จะพูดเรื่องนี้ ทีนี้อีกทีหนึ่งหรืออีกทางหนึ่งนั้นมันมีอยู่ว่า
วิธีที่จะปฏิบัติให้ลัดให้เร็ว จะต้องมีวิธีลัดขึ้นมาสำหรับว่า มันไม่ต้องมีพิธีรีตรองอะไรมาก มันเป็นเรื่องรวบหัวรวบหาง อย่างที่เราเรียกว่า ถ้าเรามีเคล็ดหรือมีอะไรที่ทำให้มัน ง่ายเข้า เร็วเข้า ประหยัดเข้านี่ ก็ดีกว่าที่จะทำไปตามอย่างคนอื่นปรกติ ถ้าเรามีทางลัดเดินเราก็ถึงก่อน ถึงจะเดินทางใหญ่
เดี๋ยวนี้การสั่งสอนและการปฏิบัติพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้มันก็ยังอืดอาด ในการศึกษาเล่าเรียนสั่งสอนก็จับหัวใจไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ถ้าในการปฏิบัตินั้นก็พร่าหรือกว้างออกไป หลายเรื่องหลายราว หลายแบบหลายแผน จนคล้ายกับว่ามันมีมากเรื่อง ไม่รู้เลย ก็ยังไม่รู้เลยว่า มันอยู่ที่คำว่า ว่าง นี่คำเดียว เป็นเอาว่าการศึกษามันก็พร่า การปฏิบัติมันก็พร่า
ถ้ายังไงเราก็จะชี้ให้เห็นไอ้หัวใจของมัน หรือทางลัดที่ไปถึงจุดนั้นโดยเร็ว นี้ก็มีประโยชน์มาก นี้ก็เลยตั้งใจหรือว่าตัดสินใจว่า จะใช้เรื่องนี้พูด จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด จะใช้เรื่องนี้เป็นการช่วยเหลือพุทธบริษัทในประเทศเรา ให้ศึกษาเข้าถึงพุทธศาสนาโดยง่ายโดยเร็ว ทั้งโดยการศึกษาและโดยการปฏิบัติ
จึงได้คิดหาไอ้วิธีที่จะทำความเข้าใจโดยใช้หัวข้อนี้ เพื่อประหยัดเวลาของเพื่อนพุทธบริษัทในทางการศึกษาและทางการปฏิบัติ จึงเอาเรื่อง เรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องสำหรับ สำหรับเสนอหรือว่ายืนยันให้สนใจ ก็ได้เริ่มทำมาลักษณะที่เรียกว่า เป็นการชิมลองชิมลางอะไรมาตั้งสิบกว่าปีแล้ว สิบห้าปีเห็นจะได้ มันเป็นการยากที่จะพูดจูงตามออกไป มันก็จะยิ่งฟังไม่ถูก ก็เลยต้องพูดให้เพื่อมองเห็นขึ้นเรื่อย ๆ ลาง ๆ เรื่อย ๆ
เมื่อก่อนนี้เขาก็ได้ยินคำว่า สุญญตาหรือความว่าง มาแล้วเหมือนกัน แล้วก็ไปถือเอาใจความผิดว่า สูญเปล่า แล้วพูดกันอยู่อย่างนั้นมานานแล้ว หมายความว่า ปู่ย่าตายายของเราเคยพูดถึงคำว่า สุญญตาหรือสุญญ ที่แปลว่าว่าง แต่ว่าถือเอาความหมายผิดจากความประสงค์เดิมของพระพุทธเจ้า
มาให้ความหมายในภาษาไทยว่า สูญเปล่า มันก็ผิดอย่างนี้เรื่อย ๆ มา เรื่อย ๆ มา จนแม้แต่บุคคลชั้นนักปราชญ์แต่เป็นคนสะเพร่าบางคน เขาแปลคำว่าสุญญตานี้ว่าสูญเปล่า แม้ในวันนี้ ดังนั้นจึงเข้าใจเรื่องสุญญตาไม่ได้ ถ้าจะเน้นความหมายของคำว่าว่างนี้ไม่ได้ เพราะไปแปลเสียว่า สูญเปล่า
นี้เราไม่รีบร้อน เราจะพูดกันอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจคำนี้ เพราะเราตั้งใจจะพูดกันหลายเวลา นี้ขอให้ลองคิดดูว่า สุญญหรือสุญญตา ก็ตามใจ ตัวหนังสือแท้ ๆ นั้นมันแปลว่า ว่าง แล้วทำไมมาเกิดเป็นสูญเปล่า คำว่า สูญ นี้เขาก็ทับศัพท์ลงไป ทับศัพท์บาลีลงไปว่ามัน สุญญ นี่ก็แปล แปลว่า สูญ แต่ไอ้เปล่านี่ไม่ ไม่รู้เอามาจากไหน ถ้าแปลว่า สูญ ทิ้งไว้เฉย ๆ ว่า สูญ ให้มีความหมายไปทางว่าง ก็ถูก แต่นี้ใช้คำว่าสูญ แต่วกมาหา เปล่า สูญเปล่า ไม่มีประโยชน์อะไร ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไรนี้ ความหมายก็มันคนละทิศคนละทาง ว่างกับสูญเปล่า
พวกที่ถือว่าสูญเปล่าก็เลยอธิบายกันมาอย่างความรู้สึกของตัวว่า ร่างกายนี้ก็สูญเปล่า อะไรก็สูญเปล่า ทรัพย์สมบัติก็สูญเปล่า ความงามความดีอะไรก็สูญเปล่า บุญบาปก็สูญเปล่า นั่นมันอธิบายไปอย่างนั้น เป็นเรื่องสูญเปล่า ถ้าอย่างนี้มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้าย
ถ้าใครเคยคิดอย่างนี้หรือได้ฟังอย่างนี้ แล้วรับเอาไว้เป็นความรู้ว่า สุญญตา แปลว่า ความสูญเปล่านี้ ก็รีบเปลี่ยนเป็นเรื่องของจิต จะผิดเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องผิดอย่างอันตราย คือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า สุญญ ก็แปลว่า ว่าง
เอ้า, ทีนี้ปัญหามันก็มีในภาษาไทยอีกน่ะ คำว่า ว่าง ในภาษาไทย มันตีความได้หลายอย่าง ตีไปในทางต่ำก็มี ทางสูงก็มี ในทางที่มีประโยชน์ก็มี ไม่มีประโยชน์ก็มี ดังนั้นเราก็ต้องรู้จักไอ้ที่ว่าว่าง มันคือว่างอย่างไรบ้าง แล้วเราจึงจะรู้ว่า ไอ้ว่างในพุทธศาสนาชั้นสูงนี้มันหมายถึงว่างอะไร
เรื่องนี้เราเอามาพูดกันก่อนก็ได้ แต่โดยย่อ ๆ โดยหัวข้อ เพราะว่าตั้งใจจะพูดไอ้เรื่องปรารภนี้มากกว่า นี้มันก็เกี่ยวข้องกันก็ต้องพูดด้วย คำว่า ว่าง ในภาษาไทย มันมีความหมายหลายอย่าง ถ้าเกี่ยวกับวัตถุ ทางวัตถุ ทางไอ้ฟิสิกส์ ทาง Matter Material นี้ก็คือไม่มีอะไรนั่นแหละ แล้วก็จะเป็นเอามากถึงขนาดที่เรียกว่า สูญญากาศ หรือ Vacuum
คำ Vacuum นี้มันใช้เฉพาะไอ้เรื่องวัตถุ เรื่องสสาร เรื่องวัตถุ ถ้า สุญญ ว่าง ถ้าอย่างนี้คือ คือไม่มีอะไร ไม่ ๆ ไม่มีใครรับรองได้ว่า คำนี้ต้องใช้คำว่า สุญญ โดยภาษาบาลีมาแต่เดิม แต่เขาก็ได้เอาคำว่า สุญญ มาใช้แล้ว ใช้ไอ้คำว่า Vacuum
เมื่อว่างจากวัตถุ คือไม่มีอะไรเลย เท่าที่มนุษย์จะนึกเห็นว่ามันว่าง มันไม่มีอะไรเลย นี้ก็ใช้คำว่าว่าง นั้นน่ะคือสุญญ เป็น Vacuum สูญญากาศ ก็แปล เอ้า, แปลว่า อากาศว่างหรือว่างอากาศ แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่าจะไม่มีอะไรเลย แต่ใน Vacuum นั่นต้องมีอะไรที่ยังเหลืออยู่ในนั้น ทั้งที่อากาศมันว่างเสียแล้ว มันก็เหลือ Ether เหลืออะไรก็ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่พวกที่เรียนวิทยาศาสตร์มาคงไม่ยอมรับว่า ไม่มีอะไรเลยนะใน Vacuum นั้น ก็ต้องมีอะไรเหลืออยู่อีก นี้มันก็เอาแน่นอนไม่ได้ก็ได้นะ และแม้แต่จะใช้คำว่าว่างทางวัตถุนี้
เอาละ, คำว่าทางวัตถุ เป็นอันว่าเอาความไม่มีอะไร ไม่มีวัตถุอะไรปรากฏ ที่เรียกว่าว่างทางวัตถุ นี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่คำว่า สุญญหรือสุญญตา ในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส มันเป็นเรื่องว่างของวัตถุ
นี้สูงขึ้นมา ว่างทางระบบความรู้สึก ทาง Mentality คือทางจิตหรือประสาทที่รู้สึก เขาก็เลยถือเอาความหมายไปว่า จิตที่ไม่รู้สึกอันใด ไม่คิดอะไร มันสลบหรือมันครึ่งตายไป หรือมันยังอยู่แต่มันไม่คิดอะไร หรือคิดอะไรไม่ได้ ทุพพลภาพ อะไรต่าง ๆ นั้นคือจิตว่าง คือความว่างของระบบจิตเป็นอย่างนั้น
นี้ก็เป็นอย่างนั้นก็ได้ พูดอย่างนั้นก็ได้ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างหนึ่ง แต่มันไม่ใช่คำว่า ความว่างหรือจิตว่าง ใน ในทางพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ไอ้ว่างอย่างนั้นมันก็เป็นของพวกอื่น ซึ่งเขาอาจจะ เขาอาจจะเข้าใจเอาว่า มันเป็นความว่างที่ทำให้ มีความสุข มีประโยชน์ทางจิต ด้วยเหมือนกัน
ทางพุทธศาสนาแล้ว ไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เกี่ยวกับวัตถุ ไม่เกี่ยวกับจิต แต่มันไปเกี่ยวกับไอ้ความรู้สึก คิดนึก สติปัญญา ทางสติปัญญา นั่นน่ะอันที่สามนี่ จิตจึงคิดนึกอะไรได้ รู้สึกอะไรได้ ตาหูจมูกลิ้นกายรู้สึกอะไรได้ คิดนึกได้ ให้อยู่แต่ว่างจากอะไร มันว่างจากไอ้ความโง่เขลาหรือว่างจากกิเลส คือสรุปแล้วมันว่างจากความหมายมั่น ว่าตัวเรา ว่าของเรา พูดเป็นภาษาธรรมดาก็ว่า จิตนี้มันไม่มีความรู้สึกประเภทหมายมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู เหลืออยู่เลยในขณะนั้น นั้นน่ะคือ จิตว่างหรือความว่างของจิต ตามหลักของพุทธศาสนา
ถ้าเป็นภาวะอันนั้นก็เรียก ถ้าเป็นภาวะของจิตนั้นก็เรียกว่า สุญญตาหรือความว่าง ถ้าจิตที่มีภาวะอย่างนั้นก็เรียกว่า จิตว่าง จิตที่มีสุญญตา ก็คือจิตที่มันว่างจากความรู้สึกหมายมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู
ดังนั้นจิตที่ว่างในลักษณะนี้ มันก็ เดินได้ กินได้ อะไรได้ ทำได้ทุกอย่าง คิดนึกรู้สึกอะไรได้ทุกอย่าง ขออย่างเดียวแต่ว่าว่างจากความหมายของคำ ว่าตัวกู ว่าของกู แล้วก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติด้วย ไอ้ว่างชนิดนี้ไม่ต้องไปขวนขวายอะไรกันนัก ว่างอย่างทำให้ไม่มีอะไรเลย กวาดวัตถุทิ้งไปหมดนี่ อุ๊ย, ลำบาก ทำไม่ได้ แล้วเป็นไปไม่ได้ที่ว่า โลกนี้จะไม่มีอะไรเลย ทำไม่ได้
นี้ว่างจากความคิดนึกต่าง ๆ ใจจิตคิดนึก ไม่คิดอะไรเลย นี้มันทำไม่ได้ กระทั่งว่าไอ้ความรู้สึกของสติปัญญา ที่มันจะว่างจากไอ้ความมุ่งหมายหรือความหมายมั่น เป็นตัวกู-ของกู นี้มันมีได้และก็มีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้ามีเด็ดขาดก็เรียกว่า เขามันถึงธรรมะนี้เด็ดขาด ถ้ามีตามธรรมชาติ กลับไปกลับมา ก็ ก็เรียกว่า มันก็กลับไปกลับมา
เรียกว่าขอให้ดูที่จิตนั่นเอง เพราะว่า ว่าจิตของเรานั่น ตามปรกติแล้วมันว่างจากไอ้ความหมายมั่น เป็นตัวกู เป็นของกู ต่อเมื่อมีอะไรเข้ามากระทบ ทางตา ทางหู เป็นต้น แล้วมันโง่ไปหรือมันเผลอสติไป มันจะเกิดความรู้สึกมีความหมาย เป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมา เมื่อนั้นมันไม่ว่างแล้ว
ฉะนั้นจิตว่างตามหลักพุทธศาสนานี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ได้ตามธรรมชาติ เป็นพื้นฐานตามธรรมชาติ มันจะอยู่ด้วยความว่าง ดังนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นทำให้มันไม่ว่างไปเป็นคราว ๆ พัก ๆ สิ่งเหล่านั้นคือกิเลสทั้งหลาย แล้วก็กิเลสนี้มีมาก แต่ถ้าสรุปให้เป็นอย่างเดียวแล้วก็คือ อวิชชา เป็นต้นตอของกิเลสทั้งหลาย ทำให้เกิดอุปาทาน เกิดความมั่นหมาย เป็นตัวกู เป็นของกู
นี้เราได้คำว่าความว่างเป็นสามชนิดแล้ว อย่างหนึ่งทางไอ้ Material หรือ Physical นี้ ก็เรียกว่าวัตถุว่าง ไม่มีวัตถุ ทางที่สอง ระบบจิตตามธรรมดาที่ต้องมีความรู้สึกอยู่ตามธรรมชาตินั้น ถ้ามันเกิดไม่รู้สึกขึ้นมา คือไม่คิดนึกอะไรกันเลย นี้ก็เรียกว่าว่างเหมือนกัน ระบบประสาท ระบบ Mentality
ทีนี้ระบบที่สาม มันเป็นเรื่องทาง Spiritual เป็นอะไร เป็น Faculty อีกอันหนึ่งต่างหาก คือทาง Spiritual คือสติปัญญาความรู้สึกคิดนึก จะไม่เป็นไปในทางมี ตัวกู-ของกู นั้นน่ะคือว่างในระดับสูงสุด ที่เดี๋ยวนี้ไม่รู้จะเรียกว่า คำเรียก ไม่รู้จะเรียกด้วยคำอะไรดี ก็ ก็เลยเรียกด้วยคำว่าไอ้ Spiritual นี้ไว้ก่อน
Physical เกี่ยวกับวัตถุ Mental เกี่ยวกับระบบจิต ระบบประสาท ที่อยู่ระหว่างกลางวัตถุกับไอ้เรื่องสูงสุดคือ Spiritual ในเรื่องพระพุทธศาสนา มันเป็นเรื่องทาง Spiritual ทั้งนั้น เพียงทำให้จิตหยุด เป็นสมาธิ เป็นอะไรเงียบไป นี่ยังไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา คือไม่เกี่ยวกับปัญญาที่จะรู้เรื่อง อนัตตา สุญญตา เลย นั่นก็เพราะว่าไอ้คนก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็ทำ ทำเป็นกันมาแล้ว เช่น รูปฌาน อรูปฌาน นิ่งเป็นยิ่งกว่าก้อนหินเสียอีก นี้เขาทำเป็นกันมาแล้ว
อย่างนั้นไม่ใช่ว่างในพุทธศาสนา เป็นว่างในระบบ Mental มันหยุดความรู้สึกนึก ส่วนว่างที่เรียกว่าสุญญตาในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงสติปัญญาความรู้สึกทั้งหลายนี้มันไม่เจืออยู่ด้วย ตัวกู-ของกู ตัวกู-ของกูนี้ ก็ไม่ใช่ก้อนนุ่นเนื้อหาสาระอะไร เป็นเพียงความ เห็นผิด คิดผิด เข้าใจผิด รู้สึกขึ้นมาผิด ๆ ปรุงขึ้นมาผิด ๆ น่ะ ว่างจากอันนั้นเรื่อย ๆ ก็เรียกว่าว่างในพุทธ อย่างพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ ๆ ๆ ให้รู้จักสิ่งนี้และให้อยู่กับสิ่งนี้ ถ้าว่า นิพพาน คือ ว่างอย่างยิ่ง ก็คือมันว่างจากสิ่งนี้อย่างยิ่ง
ถ้าเป็นบาลีเขาเรียกอุปาทาน ถ้าจิตหมายมั่นมั่นหมาย ว่าฉัน ว่าตัวฉัน ว่าของฉัน นั้นน่ะคือ คือที่กำลังเรียก คือสิ่งที่กำลังเรียกว่าตัวกูอยู่ในเวลานั้น นั้นไม่ใช่ของจริงที่มีอยู่ตลอดกาล เป็นของที่ปรุงขึ้นมา ตามวิถีทางของจิตด้วยความโง่ คืออุปาทาน คืออวิชชา
ถ้าอย่าง อย่างภาษาจิตวิทยา ก็มาเรียก Concept อันหนึ่งถูกปรุงขึ้นมา แล้วก็อัน Concept อันนี้มันผิด มันโง่ มันเป็นหมายมั่นไป เป็นตัวกู เป็นของกู ที่เรียกกันว่า Ego หรือ Egoism หรือ Egotistic Concept ภาษาจิต จิตวิทยาขั้นลึก ๆ ก็มีคำเหล่านี้ใช้
ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเราชอบใช้คำว่า ไอ้ Conceptual Thought Thought ความคิด ไอ้ Conceptual ที่เป็น ๆ ๆ ฝ่าย Concept เกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้เนื่องมาจากการปรุงแต่ง เพราะการ ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง ได้อะไรต่าง ๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ Conceptual Thought มันเป็นไปใน ฝ่ายผิด ฝ่ายโง่ ฝ่ายอวิชชา มันก็จะเกิดเป็น Concept หรือ Thought มาในทางเป็น Egoism มีตัวกู นั่นเรียกว่า Self ก็มี ภาษาธรรมดาเรียกว่า Self ความรู้สึกที่เป็น Self ที่เป็นตัวตนเกิดขึ้นแล้ว
บางพวกเขาไปบัญญัติไปทางอื่นว่ามันเกิดอยู่ตลอดกาลก็มี แต่โดยแท้จริงแล้วความรู้สึกเป็น Egoism นี้ มันเกิดเป็นคราว ๆ คราวที่เรา เผลอไป โง่ไป มันมีอะไร มากระตุ้น มาปรุงแต่ง นี้ขอให้เข้าใจคำว่าตัวกู ทางความรู้สึกของเรามันเพิ่งเกิด ไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดกาล
ถ้าธรรมดามันว่างอยู่ เมื่อไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวกู คือไม่มี Concept อันนี้ มันมีอย่างอื่นก็ตามใจมัน แต่ถ้ามันมี Concept อันนี้ ก็เรียกว่าไม่ว่างแล้ว มี ตัวกู-ของกู แล้ว เขาก็จะมีความทุกข์ทันที จะร้อนตามวิถีทางของ ราคะ ความโลภ ก็ได้ จะร้อนตามวิถีทางของ โทสะ ความโกรธ ก็ได้ จะร้อนตามวีถีทางของ ความโง่ ความหลง ความพะวงสงสัย ความวิตกกังวลต่าง ๆ นี้ก็ได้ นี่ก็เรียกว่ามันร้อนเท่านี้นะ
ความโลภก็ร้อน ความโกรธก็ร้อน ความหลงก็ร้อน นั่นน่ะคืออาการของไอ้ที่ ตัวกู-ของกู ที่มันได้เกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำจิตให้ไม่ว่าง ดังนั้นถ้าไม่มีอันนี้ ไม่มี ตัวกู-ของกู ในความหมายใด อย่างนี้ก็เรียกว่า เรียกว่าจิตว่าง ดังนั้นเราควรจะรู้เรื่องไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู นี้กันให้ ให้ชัดเจนเพียงพอ จึงจะเข้าใจเรื่องว่าง ให้ว่างจากตัวกู
เมื่อเราไม่โกรธ เรารู้สึกเป็นคนละคนกับเมื่อเราโกรธ ความรู้สึกที่ ถ้าให้เรามีตัวกู เราไม่ยอมนี่ มันพลุ่งขึ้นมาเหมือนกับมันถูกปรุงขึ้นมา อันต้องไปนึกถึงเมื่อเราโกรธ เมื่อเราไม่โกรธมันก็เป็นอย่าง พอเราโกรธขึ้นมา อะไรมันเกิดขึ้น ความรู้สึกที่เป็นตัวกูมันได้เกิดขึ้น แล้วมันก็รุนแรง ๆ ๆ จนขนาดว่า ตายก็ไม่กลัวนี่
เหมือนที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อเขาต่อสู้กันเมื่อสองสามวันนี้ ที่ว่ามีบางคนแอ่นอกให้อีกฝ่ายหนี่งยิงเลยนี่ มันด้วยอำนาจของอะไร มันไม่ใช่ของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไรนักหรอก มันความรู้สึกของตัวกูนี้ มันเดือดขึ้นมา มันเดือดจัดขึ้นมา มันก็บ้าเลือดขึ้นมา นี้มันหมายความว่า มันแรงเกินไปนี้ ก็เป็นเรื่องบ้าเลือดขึ้นมา นั่นแหละตัวกูที่เห็นได้ง่าย ๆ แต่ถ้ามันอยู่ลักษณะที่ละเอียดนิ่มนวล มันเห็นยาก ถ้ามันก็มีเหมือนกันในรูปที่มันเป็นความนิ่มนวล
ควรจะจำคำที่เขาได้ใช้กันอยู่ ในพระคัมภีร์ ในพระบาลี แต่ก่อนโน้น ไว้บ้างก็จะดี เช่น คำว่า อัตตา แปลว่า ตัวตน อัตตนียา แปลว่า ของตน อัตตนียา ตามศัพท์แท้ ๆ แปลว่า เนื่องกันอยู่กับตน อัตตา นี้คือตน อัตตนียา คือ เนื่องกันอยู่กับตน นั่นแหละของตน เป็นความหมายที่ ๆ ลึกมาก
มันมีทางที่จะอธิบายกันหลาย ๆ ทาง ตามแต่ความคิดเห็นความเชื่อของคนในสมัยนั้นอย่างไร แต่ว่าในพุทธศาสนานี้แล้วก็หมายความว่า มันมี ความโง่ ความหลง ปรุงให้ ปรุงให้เกิดไอ้ความคิดอันนี้ขึ้นมาในจิต จิตกำลังประกอบอยู่ด้วยความคิด ว่าตัวตน ว่า ๆ ของตน และเป็นจิตที่ไม่ว่าง พอความคิดว่า ตัวตน ของตน ไม่มีมันก็ว่าง ก็ทำอะไรได้
ทีนี้อีกคู่หนึ่งก็ใช้เรียกกันกว้าง ไว้ในทั้งในพุทธศาสนา ทั้งนอกพุทธศาสนา ก็คือคำว่า อหังการ มมังการ อหังการ แล้วทำความรู้สึก ว่ากู ว่าฉัน มมังการ ทำความรู้สึกว่า ของกูหรือของฉัน อันนี้ในศาสนาอื่นก็มีใช้ แล้วก็เป็น ยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดกันทั้งนั้น เช่น ฝ่ายฮินดูก็ถือว่า อหังการ มมังการ นี้ผิด แต่นี้ฝ่ายฮินดูบางแขนงเขาไม่ถือว่า อัตตาหรืออัตตนียา นี้เป็นของผิด เพราะเขามีอัตตา ไอ้ตัวตนอะไรชนิดที่แท้ที่จริงอะไรขึ้นมาอีก มันยุ่งไปตามแบบของเขา
แต่ในพุทธศาสนาเราไม่มี ที่จะมีอัตตาที่ถูกหรืออะไรนั้นที เพราะไม่ต้องการให้ยึดว่าอัตตา ต้องการให้ยึดว่าเป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง แม้ว่าธรรมะนี้ จะบริสุทธิ์ จะเที่ยงแท้ จะอะไรก็ไม่ให้ ไม่ให้ยึดว่าอัตตา ให้ ๆ ยึดว่าธรรมะหรือธรรมชาติอย่างนั้นเอง ดังนั้นคำว่า อัตตาหรืออัตตนียา ในพุทธศาสนาต้องเป็นของผิด เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
อัตตา คือ ตัวตน อัตตนียา คือ ของตน ความรู้สึกอันนี้ถ้ามันจัดขึ้นมา ในภาษาไทยเราจะต้องเรียก ว่าตัวกู ว่าของกู จะไม่เรียกว่าตัวเราหรือของเราอยู่ได้ เพราะมันเดือดจัด มันโกรธจัด ดังนั้นเมื่อเราจะอธิบายอะไรต่าง ๆ ให้มันรวบรัด ให้มันกินเวลาสั้นน้อย จึงใช้คำว่าตัวกู ว่าของกู
ก็มีคำบรรยายชุดหนึ่งที่ได้บรรยายเสร็จไปแล้ว แล้วก็พิมพ์ไปอ่านกัน มากแล้ว หลายปีแล้ว หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า ตัวกู ว่าของกู คำว่า ตัวกู-ของกู นี้คือคำว่า อัตตาหรืออัตตนียาที่มันเดือด ถ้าในระดับปรกติมันก็เนือย ๆ เป็นเรา เป็นของเรา คนของฉันหรือของฉัน แล้วก็ชักจะเข้มข้นนะ พอว่า ของกู ตัวกู นั้นจังหวะเดือดจัดแล้ว นั้นก็คือ ไอ้ความคิดชนิดนี้ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของความไม่รู้อะไรนี้ นี้เรียกว่า ตัวกู ว่าของกู ทำให้ไม่ว่าง ทำให้จิตนี้ไม่ว่าง ตามความหมายในทางพุทธศาสนา
ดังนั้นควรจะพอเข้าใจได้แล้วว่า ไอ้จิตที่ว่างนี้ มันไม่ต้องหลับหรือมันไม่ต้อง หยุดคิด หยุดนึก หรือว่าไม่ต้องมีอะไรเลย หรือว่าต้องไม่มีอะไรเลย มันมีได้ คิดได้ นึกได้ อะไรได้ ขออย่างเดียวแต่อย่ามีความคิดชนิดที่มันเดือดอยู่ในความหมาย ว่าเป็นตัวกู ว่าเป็นของกู
ทีนี้ภาษาฝรั่ง ถ้าเป็นคำ Technical Term หน่อยก็จะใช้คำว่า Ego บ้าง Egoism บ้าง Egoistic Concept บ้าง ภาษาธรรมดา ๆ ใช้คำว่า Self คำว่า Self นี่ใช้คำว่าตนก็ได้ ใช้กับ Attachment ในความหมายว่าตนเองก็ได้ ใช้คำว่าของตนก็ได้ เกี่ยวกับตนก็ได้ พุทธศาสนาไม่มีไอ้สิ่งที่เรียกว่า Self หรือตน ปฏิเสธไว้ด้วยคำว่า อนัตตา ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ Self ไม่มีไอ้สิ่งที่ควรเรียกว่า Self ไม่สิ่งที่ควรเรียกว่าอัตตาในพุทธศาสนา
นี้ถ้าว่าชอบคำภาษาอังกฤษที่มันคุ้นหูกัน มันก็คือคำว่า Self นี้คำแรก นี้ถ้าเป็นของตนมันก็ Selfish เข้ามาแล้ว เห็นแก่ตน เกี่ยวกับตน เนื่องด้วยตน ก็เป็น Selfish อีกนะ ถ้าเป็น Selfishness นั้นก็คือความขึ้นมาแล้ว ความที่มีตน มีของตน เกี่ยวกับตนนี้ แต่ในภาษาพูดธรรมดา ไอ้ Selfishness นี้ เขาก็ว่าความเห็นแก่ตน Selfish ซึ่งเห็นแก่ตน Self นั้นคือตน
นี่ใคร ๆ ก็เกลียด เกลียดกันทั้งโลก ไอ้ Selfish หรือ Selfishness นี้ เพราะมันมีความหมายอย่างเดียวกับที่เรียก ว่าตัวกู ว่าของกู ในภาษาไทย รวมความว่านั้นเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายทำให้เกิดความทุกข์ ฝ่ายที่น่ารังเกียจ รวมไว้เสียฝ่ายหนึ่งว่า ตัวกู-ของกู พอเกิดขึ้นในจิตแล้ว ทำจิตให้วุ่น ให้ไม่ว่าง ให้ไม่สงบ ให้ไม่สะอาด ให้ไม่บริสุทธิ์ แล้วแต่จะเรียก แต่อันนี้เราเรียกว่า ไม่ว่าง จิตวุ่นเสียแล้ว ไม่ว่าง
นี้เกี่ยวกับถ้อยคำมันเป็นอย่างนี้ ขอรวบรัดสรุปอีกทีหนึ่งว่า มันมีอยู่สามว่าง ว่างทางวัตถุ คือไม่มีอะไรเลย ว่างทางระบบ Mental นี่ คือไม่คิดไม่นึกอะไรเลย ว่างระบบ Spiritual มันคิดนึกอะไรได้ทุกอย่าง ขออย่างเดียวแต่อย่ามีไอ้ความคิดหรือ Concept ว่าตัวกู ว่าของกู นี่ สามว่างอยู่อย่างนี้
แล้วเราก็มุ่งหมายจะสอนไอ้ว่างอันที่สามนี้ ซึ่งเป็นหลักพุทธศาสนา ที่คนฟังมันไม่รู้ มันมาเอาเป็นไอ้สองว่างทางล่าง ที่โง่มากก็ถือว่า ว่างแล้วไม่มีอะไร ที่โง่น้อยหน่อยก็ ว่างคือไม่คิดนึกอะไร เหมือนกับคนสลบ คนหลับ ซึ่งก็ไม่ถูก ไม่ เราไม่ได้พูดในสองว่างนี้
พูดว่างในทางสติปัญญา ทางระบบ Spiritual ไม่มี Concept คิดนึกปรุงแต่งให้เป็น ตัวกู-ของกู สำหรับจะ เห็นแก่ตัวกู เห็นแก่ของกู ขึ้นมา แล้วก็ทำผิดทำชั่ว หรือไม่ไปทำผิดไม่ไปทำชั่วอะไรกับใครที่ไหน มันก็ผิดชั่วอยู่ในตัวเอง คือร้อนเป็นไฟ เป็นทุกข์
ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่นนั้น เป็นตัวทุกข์ เป็นบทสูตร เป็น Formular ที่ว่าพระเณรเขาสวดอยู่ทุกวันตอนเช้า ๆ ฟังดู สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา มันจะมีประโยคนี้อยู่ประโยคหนึ่งในบทสวดตอนเช้าทุกวัน กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ ที่ประกอบไปด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ถูกยึดมั่นเป็น ตัวกู-ของกู นั้นเป็นตัวทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่มีทุกข์ ดังนั้นภาษาบาลีฟังยาก ถ้าไม่เรียนก็ไม่ ๆ ๆ เข้าใจ แต่แล้วก็คืออย่างที่ว่านี้ อะไร ๆ ก็ตามถ้าเราไม่มีความหมายมั่นเป็น ตัวกู-ของกู แล้ว มันจะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจ
นี้ก็มาถึงไอ้เรื่องที่ละเอียด ที่ท่าจะยากและปฏิบัติยาก เพราะว่าเราจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ขึ้นมาทุกคราวที่เราโง่หรือว่าเผลอแล้วก็โง่ ไอ้โง่นี้มันต้องเผลอ ถ้าไม่เผลอมันไม่โง่ มันรู้แล้วมันก็ยังเผลอจนโง่ ดังนั้นเรามาศึกษาไอ้คำว่า ยึดมั่นถือมั่น คำนี้กันดีกว่า เพราะว่ามันเป็นตัวทำให้ไม่ว่าง
ไอ้ยึดมั่นถือมั่นนี้เรียกว่า อุปาทาน ในภาษาบาลี แต่ว่าในภาษาไทยนี้ คำนี้ไม่ได้มีความหมายเหมือนในภาษาบาลี ก็หมายเป็นอุปาทาน หมายไปถึงไอ้ระ โรคเส้นประสาทอะไรชนิดหนึ่ง ซึ่งยึดถือเข้าใจอะไรผิดความจริงเกินกว่าเหตุไปเสียอย่างนั้น เช่นโรคฮิสทีเรียก็เรียกว่าเพราะอุ อุปาทาน อย่างนี้เป็นต้น
ความหมายนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เต็ม เพราะอุปาทานในภาษาบาลีนั้น ต้องเป็นความโง่ ความหลง จนไปหมายมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ว่าเป็นตัวกูก็มี ว่าเป็นของกูก็มี ถ้าบางทีเรายึดไอ้ตัวจิตที่คิดนึกได้นั้นน่ะว่า นั่นแหละว่าตัวตน ว่าตัวกูคนนี้ อะไรที่มันเป็นของจิตก็เรียกว่าของตน นี่โดยมากเป็นอย่างนี้
ถ้ามันไม่มีจิตที่คิดนึกได้ ความคิดความนึกว่าตัวตนมันก็เกิดไม่ได้นี่ หรือถ้าจิตมันคิดนึกได้ มันก็คิดนึก ๆ ถ้ามันคิดนึกไปในทางที่มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตน เป็นของตน มันก็เกิดไอ้ เกิดสิ่งที่คิดว่าเป็น ตัวตน ของตน ขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ยิ่งคิดเก่ง ไอ้ตัวตน ของตน มันก็ยิ่ง ยิ่งใหญ่โตขึ้น ยิ่งลึกซึ้งมันก็มี ละเอียดก็มี เหนียวแน่นก็มี อะไรมี ตัวตนมันก็มีอย่างนี้
ทีนี้ความยากลำบากมันก็มามีอีกทางหนึ่งที่ว่า ไอ้ความรู้สึกอันนี้มันมีเองได้โดยสัญชาตญาณ แต่ว่าถ้ามันเป็นขนาดสัญชาตญาณ มันก็ยังไม่มากมาย มันยังบริสุทธิ์อยู่ มันเพียงแต่ว่าไม่อยากตาย มันเพียงแต่ว่าอยากจะอยู่เท่านั้น ถ้ามันอยู่เพียงเท่านี้ก็ไม่เป็นไร แม้ว่าไอ้ความรู้สึกอันนี้ก็เป็นความรู้สึก ประเภทตัวตนเหมือนกัน มันอยากจะอยู่นี่ มันก็มีตัวตนอยู่ แต่ไม่ถึงกับเป็นกิเลสมากมาย เป็น โลภะ โทสะ โมหะ มากมาย เพียงแค่ต่อสู้ดิ้นรนจะอยู่ อันนี้ก็พอ นี้สัญชาตญาณนี้มันไม่ทำผิดทำร้ายอะไรมากนัก
พอมันเปลี่ยนรูปมาเป็นไอ้พวกประเภท ความคิด ความนึก ความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่สัญชาตญาณแล้ว มันก็มีอำนาจมาก มันเป็นกิเลสแท้ ๆ เขาเรียกว่ากิเลสที่ร้ายแรงร้ายกาจเสียแล้ว เช่น เราต้องการกินอาหารตามธรรมดา จะเรียกว่าความอยากหรือกิเลสก็ไม่ได้ แต่ถ้าเราอยาก ให้ดี ให้อร่อย ให้มาก ให้สมใจ ให้อะไรต่ออะไร นี้มันก็เป็นอยากเกินกว่าสัญชาตญาณแล้ว เป็นกิเลสแท้ ๆ วิ่งไปในทางหนึ่งแล้ว เรื่องตัวตนนี้มันก็เป็นอย่างนี้ มันมีเพียงว่ามันอยากจะอยู่ แล้วมันถูกอบรมแวดล้อมให้ยิ่งกว่านั้น ซึ่งจะเป็นตัวตน เป็นตัวกูอยู่ ตัวกูมี ตัวกูได้
แต่ตามเรื่องของไอ้วิวัฒนาการสำหรับไอ้สิ่งที่จะมาเป็นคนเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นมา ในฐานะเป็นปฏิกิริยาต่อวิวัฒนาการของจิตที่มัน มาแรงอย่างนี้ มาเร็วอย่างนี้ เพียงแต่คิดเท่านั้นก็เป็นทุกข์แล้วน่ะ คิดว่าตัวกู คิดว่าของกู อย่างนี้มันก็ร้อนเป็นไฟอยู่แล้ว ตามธรรมดามันไม่ต้องคิดถึงขนาดนั้น มีแต่เพียงความรู้สึกที่อยากทรงมีชี ทรงตัวอยู่ ทรงมีชีวิตอยู่นั้นก็พอ
เราดูได้ที่สุนัข แมวอะไรที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันมีความรู้สึกต่อสู้เพื่ออยู่เหมือนกัน แต่เรื่องตัวตน ตัวกู-ของกู มันไม่มากเหมือนคน นี้เราไปดูความรู้สึกของไอ้สิ่งที่มีชีวิตที่ต่ำลงไปอีก เช่นต้นไม้ เช่นพืชพรรณต่าง ๆ ที่มันมีชีวิตนี้ มันอยู่ด้วยความรู้สึกอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่ามันเกือบจะไม่ เกือบจะไม่เหลือความรู้สึก แต่ก็เป็นความรู้สึกนั่นแหละ ที่มันเกิดอยากจะอยู่
ก็จะเห็นว่าต้นไม้มีการต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตรอดอยู่เหมือนกัน มันกินอาหาร มันต้องการนั่นต้องการนี่ ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการต่อสู้ เราเอามีดไปฟันเข้าสักแผลหนึ่ง มันจะพยายามงอกปิด มันจะออกไปหาไอ้ชีวิตส่วนที่มีแสงแดด หรือจะรากชอนไชไปทางที่มันมีน้ำ มัน มันมีความรู้สึกในระดับหนึ่งเพื่ออยู่รอด เพื่อชีวิตรอด นี่เป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ก็มีระดับหนึ่ง สัตว์ก็มีอีกระดับหนึ่ง มนุษย์ ไอ้พืชพรรณต้นไม้ก็มีระดับหนึ่ง
ถ้าเราจะเชื่ออย่างวิทยาศาสตร์ก็ว่า มันเกิดสัตว์ก่อน เกิดพืชพรรณต้นไม้นี้ก่อน แล้วจึงเกิดสัตว์ แล้วจึงเกิดคนนี้ ก็จะเป็นแม้มันเรื่องเดียว จนมาตามลำดับ ไอ้เซลอันแรกที่มันจะเกิดเป็นเซลมีชีวิตขึ้นมานั้น มันก็มีต้องมีเป็นเรื่องของความรู้สึก แล้วมันก็รู้สึกเรื่อยมา สูงขึ้นมา ๆ จนเป็นความรู้สึกระดับคน
สัญชาตญาณอันนี้ต้องเป็นเรื่องตัวตน แต่ไม่ใช่ตัวตนอย่างกิเลส เป็นเพียงสัญชาตญาณ แต่ว่ามันไม่หยุดอยู่แค่นั้น มันถูกกระทำ ถูกปรุงแต่ง ถูกทำให้เปลี่ยนไป ในความรู้สึกว่ามันรุนแรงมาก พอ ๆ ๆ เลยระดับที่ควรจะเป็น มันก็ไม่ใช่สัญชาตญาณ ก็กลายเป็นไอ้ ความนึก ความคิด ความรู้อะไรก็ตาม ที่มันเกินกว่าระดับธรรมชาติ มันก็คิดได้มาก สำหรับที่จะอยากให้มาก ถ้าโกรธก็จะโกรธให้มาก อะไรก็จะอะไร ๆ ให้มันมาก ๆ ไปกว่าธรรมดา นี้คือมนุษย์เรา มีปัญหาอย่างนี้มา
แล้วพอมนุษย์นี้เจริญมากขึ้น ไอ้ ไอ้ความต้องการอย่าง ตัวกู-ของกู นี้ก็มากขึ้น ถ้าเราไปศึกษาดูเรื่องมนุษย์ในระยะแรกที่ อายุที่เรียกกันว่า ครึ่งคนครึ่งลิง ไอ้ความยึดมั่นตัวตน ตัวกู-ของกู มันน้อยกว่า มันไม่คิด มันคิดไม่เป็น พอมันเป็นมากขึ้น ๆ มันก็เริ่มมีไอ้ ตัวกู-ของกู มากขึ้นตามที่มันรู้จัก ทำอะไรให้มันมากขึ้น ให้ดีมากขึ้น ให้อร่อยมากขึ้น ให้สนุกสนานมากขึ้น ให้สบายมากขึ้น
นี้คือวิวัฒนาการของมนุษย์ เป็นส่วนร่างกาย ความรู้สึกภายนอก ภายในที่จะยึดเป็น ตัวกู-ของกู ก็มากขึ้น ๆ ตามนั้น จนถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่มี ตัวกู-ของกู มากจนบังคับไว้ไม่ได้ จนทำตัวเองให้ร้อนเป็นไฟแล้วก็จะฆ่า แล้วจะล้างผลาญผู้อื่นให้หมดทั้งโลก มันก็ทำได้ นี่รู้เรื่องตัวกูตามธรรมชาติกันอย่างนี้ได้ ก็จะเข้าใจถึงจิตที่มันว่างจาก ตัวกู-ของกู ได้ทีหลัง
เอ้า, ทีนี้เราเอาเรื่องปัจจุบันกันดีกว่า อย่างพอนั่งอยู่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มีตัวกูหรือไม่มี ถ้าว่าจิตกำลังตั้งใจจะฟัง มันก็ทำหน้าที่ฟัง คิดนึก ถ้าเรียกว่าฟังด้วยดี คือมีแต่ฟังอย่างดีอยู่เรื่อยนี้ ไม่มีทางจะเกิดตัวกู คือถ้าฟังไม่ดีเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่น มันอาจจะเกิดตัวกูได้ในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่นอยากจะแย้งจะค้านขึ้นมา มันก็จะเริ่มมีตัวกูในแง่ใดแง่หนึ่ง แล้วมันก็หวนคิดเป็นทางอื่นที่ไม่ได้ฟัง ไปคิดถึงบ้านถึงอะไร เป็นห่วงวิตกกังวลอะไร มันก็มีได้
เดี๋ยวนี้เอาเป็นว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันแวดล้อมจิต ให้หยุด ให้พักผ่อน ให้หยุด และนี้ก็มีการพูดเรื่องที่อยากจะฟัง กำลังพูดอยู่ ก็จิตกำลังสนใจอยากจะฟังให้เข้าใจ อย่างนี้ยังไม่เป็น ตัวกู-ของกู เว้นไว้แต่มันจะเปลี่ยนกระแส ก็คือจะคิดไปในทางที่เป็นความยึดมันถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในความรู้ หรือในความเชื่อ หรือในความไม่อยากจะเชื่อ หรือในทางที่จะต่อต้านอะไรต่าง ๆ อาจจะเกิดได้
ก็รู้เอาเอง ในจิตของใครกำลังเป็นอย่างไร กำลังมีตัวกูหรือไม่ มีมากหรือมีน้อย ในบางเวลาเราไม่ได้มานั่งพูดนั่งฟังกันอย่างนี้ แล้วก็มานั่งอยู่ที่ตรงนี้ ผ่านมานั่งอยู่ตรงนี้ สบายดี หยุดพักผ่อนนี้ มันก็ไปดื่มกินไอ้ความเยือกเย็น เพราะว่างจากตัวกูเสียแล้ว ก็เลยไม่เกิดไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกู สุขสบายจริง ทำไมจึงสบาย บอกไม่ถูกก็สบายเพราะเหตุอะไร นั่งอยู่ที่นี่ อย่างนี้มันว่างจากตัวกู แล้วก็เย็น เป็นนิพพานชนิดหนึ่ง ทีนี้จิตมันก็ไปดื่มรสอันนั้นอยู่ เลยลืม ลืมคิดปรุงแต่งเป็น ตัวกู-ของกู
ทีนี้ระยะต่อมา มันอาจจะเปลี่ยนไปทางโน้นทางนี้ เช่น มันอาจจะเปลี่ยนมาทางว่า แหม, กูอยากได้อย่างนี้เว้ย แล้วมันจะหายไปเสียซะแล้วเว้ย ก็กลัวว่าไอ้ความรู้สึกอย่างนี้มันจะหายไปแล้ว และนี้ก็มีตัวกูแล้ว เกิดขึ้นในลักษณะหนึ่งแล้ว อยากจะสงวนเอาความรู้สึกหรือเวทนาอันนี้ไว้เป็นของกูเรื่อยไป จากนี้ก็เรียกว่ามี ตัวกู-ของกู แล้ว เราจะเริ่มมีความวุ่นวายในใจพอความรู้สึกสบายอย่างนี้จะหายไปเสีย เราจะรู้สึกมากไปทางอื่นก็ได้
นี้บอกเป็นตัวอย่างไว้ ขอร้องให้ทุกคนพยายามเข้าใจตัวอย่างอันนี้ แล้วก็เอาไปใช้สำหรับศึกษาทดสอบตัวเองด้วย ว่ามีตัวกูหรือไม่ ว่ามีมากน้อยเท่าไร ก็เป็นไปในทางที่จะทำคนอื่นให้เดือดร้อนหรือไม่ ที่เรียกว่าชั่ว ถ้าเป็นไป ๆ ในทาง ๆ คนอื่นมีความสุขก็เรียกว่าดี ก็เป็นตัวกูอย่างดีก็มี เป็นตัวกูอย่างชั่วก็มี
ตัวกูอย่างดี ก็หมายความว่า มันโง่หลงไปในทางที่จะเอาดี จะยึดทางดีก็มีความทุกข์ไปตามแบบดี แบบตัวกูที่ดี มันไม่ว่างจากตัวกูเสียเสียเลย ทำให้ไม่เอา เป็นตัวกูในทางชั่ว มีความทุกข์ไปตามแบบชั่วนั้น ก็ยิ่งไม่ว่างหนักขึ้นไปอีก
ถ้าเป็นจิตว่าง แล้วก็กำลังว่างเท่านั้น ทาง ๆ ๆ เอ้า, คือว่างจากทั้งดีและทั้ง ๆ ชั่ว ว่างจากตัวกูที่ดี ว่างจากตัวกูที่ชั่ว นั่นแหละมันมีสติปัญญาสมบูรณ์ ตอนมันไปหลงเรื่องดีมันก็โง่แบบหนึ่ง ถ้าไปหลงเรื่องชั่วมันก็โง่อีกแบบหนึ่ง เพราะมันทำให้เกิดความหนักอึ้งหรือความเป็นทุกข์
เขาก็มีคำพูดกันอยู่แล้ว เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ไอ้คนบ้าดี เดี๋ยวมันคือคนบ้าชนิดหนึ่ง แล้วคนไปฆ่าตัวตาย มีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความดีหรืออยากดีนั้นก็มีอยู่มาก บางคนมันยิงตัวตายง่าย ๆ เพราะว่ากลัวว่าจะถูกหาว่าไม่ดี ก็จะเสียชื่อว่าเป็นคนไม่ดี นี่เพราะมันยึดมั่นในความดีมากเกินไป นี่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร หรือเผอิญมันมีอะไรมาแจ่ว มาแวดล้อมให้ทุกคนประนามเขาเป็นคนผิด นี้เขายังยึดมั่นในความดี เขาก็เลยชิงฆ่าตัวตายไปก่อน
อย่างนี้ก็มีอยู่ทั่วไป ก็เรียกว่ายึดมั่นในความดี เป็นตัวกูที่ดีมันก็มีความทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง มันหนักไปอีกแบบ ๆ หนึ่ง เพราะถ้าแบกหามแล้วมันหนัก เขาจะแบกก้อนหินแบกอุจจาระมันก็หนัก หรือจะแบกเพชรพลอย เงินทองเพชรพลอยแต่ว่ามันก็หนัก สู้ไม่แบกไม่ได้
เมื่อไม่แบกนั้นจึงจะเรียกว่า จิตนั้นมันว่าง คือไม่แบก แล้วเมื่อไม่แบกไม่ใช่ว่าเราจะต้องตาย แล้วก็ทำอะไรได้ดีกว่า นี้คำว่าจิตว่างมันลึก อยู่สูง ตามความหมายในทางพุทธศาสนา ไม่ใช่จิตว่างแบบอันธพาลที่คนเขาชอบเอามาล้อ ถ้าจิตว่างแล้วก็ทำอะไรเลว ๆ ได้ตามชอบใจ ทำอะไรตามกิเลสอย่างนั้นไม่ใช่จิตว่าง คนพูดมันพูดไปตามไอ้ความรู้สึกของมันเอง เป็นจิตว่างอันธพาลทั้งนั้น จิตว่างตามแบบพระพุทธเจ้านี้ มันไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มันจะมีแต่การกระทำชนิดที่ไม่มีความทุกข์แก่ผู้ใด
เราต้องการให้เขารู้จักสิ่งนี้ ก็พูดกันมาเรื่อย ๆ เป็นสิบกว่าปี ก็มีคนรู้บ้างราง ๆ หรือว่ามีคนสนใจขึ้นมาบ้าง และคนที่ยังไม่เข้าใจก็ยังมีอยู่ ดังนั้นคนที่เข้าใจได้เท่าไรก็นับว่าเป็น ๆ ๆ การดี เป็นการได้ผลที่ดี นี้หัวข้อของเราสำหรับจะพูดมันมีว่า เราจะใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์ ถ้าเรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตว่างเสียก่อน เราจึงจะรู้จักใช้ให้มันเป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่รู้จัก เราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ดังนั้นจึงพูดกันซึ่งให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตว่าง
อย่างที่ได้พูดมาแล้วพอเป็นเค้าเงื่อนว่า จิตว่างในทางพุทธศาสนานั้นคืออย่างไร ทีนี้ก็อยากจะกำชับสักหน่อยหนึ่งว่า ถ้าจะรู้จักจิตว่างเข้าใจจิตว่างนี้ ต้องทำตามวิถีทางของธรรมชาติ หรือว่าในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง อย่าใช้ปรัชญา อย่าใช้ Logic อย่าใช้การคำนึงคำนวณ ทางเหตุผล ทาง Logic ทางปรัชญา มันจะเป็นเรื่องความโง่เตลิดเปิดเปิงไปในเรื่องของไอ้ตัวตน
ต้องทำอย่างวิทยาศาสตร์ คือทำอย่างที่เรียกว่า รู้สึกอยู่ เห็นอยู่ แม้ว่าจะเป็นเรื่องทางจิตที่เป็นนามธรรมไม่มีวัตถุตัวตน มันก็ต้องรู้สึกอยู่ เช่นเดี๋ยวนี้เรารู้สึกอย่างไรกัน เอาความรู้สึกนั้นมาเป็นเรื่องสำหรับศึกษา แล้วเรารู้สึกอยู่ อย่างนี้เป็นไปในรูปของวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเป็นเรื่องทางจิตใจ
ถ้าใช้คำนึงคำนวนว่า มันคงจะเป็นอย่างนั้นเพราะมีเหตุผลอย่างนั้น แต่มันก็มีเหตุผลอย่างนี้ว่าคงเป็น อันนั้นมันเป็นเรื่อง Logic บ้าง เป็นเรื่องปรัชญาไป ไม่ ใช้กันไม่ได้ มันไม่ ๆ เกี่ยวกันกับเรื่องปรัชญา ถ้าจะใช้ปรัชญาบ้างก็คงจะคำนวนแต่เพียงว่า ไอ้เรื่องนี้มันคงจะมีประโยชน์แน่เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอน หรือว่าเพราะว่าคนแต่ก่อนเขาได้ค้นพบมันคงจะมีประโยชน์บ้าง
ถ้าใช้ปรัชญาก็ใช้เพียงเท่านี้ ใช้ Logic เพียงเท่านี้ แล้วก็มาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ในจิตใจ เวลารู้สึกอยู่ในจิตใจอย่างไร ถ้ามันเป็นความทุกข์ อย่างไรไม่ทุกข์ อย่างไรมีความเดือดพล่านแห่ง ตัวกู-ของกู อย่างไรไม่มีความเดือดพล่านแห่ง ตัวกู-ของกู พยายามตั้งจิตให้ดี มองดูข้างในให้อย่างละเอียด ให้รู้จักสิ่งเหล่านี้
นี่เรียกว่าเป็นการศึกษาให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า จิตว่างหรือไม่ว่าง ก็เป็นไปตามวิธีการอย่างที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องผีสางเทวดาอะไรไป แล้วก็ไม่ใช่เรื่อง Logic เหตุผลเพ้อเจ้อ เป็น Philosophy อะไรไป ต่อไปนี้เราก็ตั้งใจที่จะมองดูข้างใน มองดูจิต รู้จักจิต รู้จักสิ่งที่เกิดกับจิต ความคิดนึกทั้งหลาย ถ้ามันมีความหมายเป็น Self เป็น Egoism เป็นอะไรพวกนี้ขึ้นมาแล้วก็ นั่นน่ะคือจิตที่ไม่ว่างแล้ว มีตัวตน
ถ้าถามว่าไม่ว่างจากอะไร ก็ไม่ว่างจากตัวตน ถ้ามีตัวตน ไม่ แล้วมันก็มีตัวตน คือมันไม่ว่างจากตัวตน ถ้ามันว่างจากตัวตนหรือของตน ก็จะไม่ให้เรียกว่าว่างยังไง เพราะมันไม่มีอะไรเป็นตัวตนและของตน มันจะมีความคิดนึกรู้สึกอะไรต่าง ๆ ก็ได้ แต่มันไม่มีตัวตนและของตนแล้ว มันก็คือไม่มีอะไรเป็นของใคร ดังนั้นก็จึงควรเรียกว่าว่าง เรียกว่าจิตว่าง
ตามทางพุทธศาสนาจึงวางหลักไว้ว่า ว่างจากความรู้สึก ว่าตัวตน ว่าของตน แต่ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นสองชั้นสองทีอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงทั้งหลายทั้งปวง เป็นเรื่องร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี คือรูปก็ดี นามก็ดี มันไม่ ๆ มีส่วนที่เป็นตัวตน ไม่มีส่วนที่ควรถือว่าเป็นตัวตน คือทุกอย่างนี้มันว่างจากตัวตนก่อน ว่างจากของตนก่อน นี้พอจิตไปมองเห็นไอ้ความจริงอันนั้นเข้า จิตก็เลยพลอยไม่รู้จะไปจับอะไร มันก็เลยเป็นจิตที่อยู่ว่าง คือไม่ได้จับ มาฉวยอะไรมายึดมั่นอะไรเข้าไปอีก อย่างนี้เรียกว่าจิตว่าง
เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีความหมายแห่งตัวตนที่จะให้จิตไปจับฉวยเอา ดังนั้นจิตเลยไม่มีการจับฉวยก็เลยเป็นจิตที่ว่าง แต่มันเป็นจิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้ว่า นั่นไม่มีตัวตน นั่นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นจิตนั้นจึงประกอบอยู่ด้วยปัญญาสูงสุด ดังนั้นจิตว่างมันคือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาสูงสุด เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ ๆ มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน คำว่าจิตว่างจึงเป็นจิตที่มีปัญญาสูงสุด ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นอะไร
ถ้าเมื่อใดเราไปยึดมั่นเข้าก็เป็นความรักบ้าง เป็นความโกรธบ้าง ความเกลียดบ้าง ความกลัวบ้าง ความอะไรยุ่งไปหมดนะ นี่ยังไม่ว่าง มันก็มีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าว่างมันก็ไม่ยึดมั่นอะไร แล้วก็รู้ว่าอะไรควรทำอย่างไรก็ทำไป เช่นอย่างรู้ควรจะกินข้าวก็ไปกินข้าว หรือควรจะอาบน้ำก็ไปอาบน้ำ นี้เราควรจะทำอะไรก็ไปทำอันนั้น โดยไม่ต้องมีความยึดมั่นให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา กินก็กินโดยไม่ต้องยึดมั่น อร่อยมันก็ไม่ต้องหลงใหล ไม่อร่อยมันก็ต้องไม่โกรธเคือง มันเป็นอย่างนั้น มันปรกติ
ดังนั้นประโยชน์ของส่วนสูงสุดของจิตว่าง ก็คือทำให้ไม่เกิดความทุกข์ ที่เราพูดกันเป็นหัวข้อว่า จะใช้ประโยชน์จากจิตว่างหรือใช้จิตว่างให้เป็นประโยชน์นี้ ก็คือไม่ให้มีความทุกข์อย่างนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการรู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์ ให้มนุษย์ไม่มีความทุกข์ นี้ประโยชน์ของเรื่องรู้จักทำจิตให้ว่างจาก ตัวกู-ของกู คือเป็นเรื่องที่จะช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องมีความทุกข์ อยู่ในโลกโดยไม่ต้องมีความทุกข์ ก็ดีที่สุดเพียงเท่านั้น มันจะยิ่ง จะเป็นสันติยิ่งกว่าสันติ ไม่มีความทุกข์เลย
นี้เราเรียนแต่เรื่องที่จะให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ให้สังเกตสักหน่อย เรื่องที่กำลังเรียนอยู่ใน มหาวิทยาลัยอะไรต่าง ๆ นี้ ให้รู้จักอาชีพเท่านั้น ไม่ต้องพูดอะไรแล้ว และก็จะยึดมั่นในอาชีพ ยึดมั่นในเงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจวาสนา ที่จะได้มาจากการประกอบอาชีพ แล้วจะนอนหลับสนิทหรือไม่ก็ไปสังเกตดูเอง
ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะต้องมีความทุกข์ จนนอนไม่หลับ หรือนอนไม่หลับสนิท หรือไม่เท่าไรก็จะเป็นโรคเส้นประสาทนะ ถ้าทำจิตให้ถูกต้อง ไม่ยึดมั่นอะไรจริง ๆ เป็นจิตว่างอยู่ ก็ยิ่งกว่านอนหลับสนิท แม้ไม่ต้องนอนมันก็เป็นการพักผ่อน เพราะมันไม่เคยจับฉวยอะไร ดังนั้นมันจึงมีความสุขสูงสุดตามที่มนุษย์จะเป็นได้ บุคคลเช่นนี้เขาเรียกว่าพระอรหันต์ ที่อยู่เหนือความทุกข์ไอ้ทุกชนิดด้วยประการทั้งปวง เพราะมันไม่มีจิตที่ไปมั่นหมายอะไร เป็นตัวกู เป็นของกู เป็นตัวตน ของตน
นี่เค้าเรื่องคร่าว ๆ มันมีอยู่อย่างนี้ สำหรับที่เราจะรู้กันว่า เป็นการเริ่มเรื่องของการที่จะใช้จิตว่างให้ เป็นประโยชน์ในการเป็นอยู่ของมนุษย์เราในโลกนี้ นี้ขอให้เข้าใจไอ้ทิวทัศน์ของเรื่องจิตว่างหรือว่าความว่าง ในพระพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างนี้ สำหรับจะได้ตั้งต้นศึกษาต่อไปในการพูดกันวันหลัง ๆ ให้มันใช้ประโยชน์ ให้ได้จริง เอ้า, วันนี้พอกันที