แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่จะเป็นพระวิปัสนาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายในที่นี้ได้ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นการถวายความรู้ตามที่ผมเห็นว่าสมควรหรือจำเป็นก็ได้ ที่ควรจะทราบ ที่มันยังตกค้างอยู่ในพระไตรปิฎก คำว่าตกค้างนี้มันมีความหมายมากกว่าอย่างหนึ่ง คือว่าไม่มีใครสนใจก็ได้ หรือว่าสนใจแต่ไม่ ไม่อาจจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ได้ ก็ต้องเรียกว่าตกค้างอยู่เหมือนกัน แม้ที่สุดแต่การมองข้ามไปเสีย เนื่องจากไอ้ถ้อยคำมันสับสนกันก็มี เพราะเราไม่ได้สนใจที่จะแยกแยะกันให้จริง ๆ ฉะนั้นขอให้พยายามฟังดูให้ดี ๆ สำหรับหัวข้อของเรื่องนี้ หรือของคำบรรยายชุดนี้ ก็จะมีแต่เพียงสั้น ๆ ว่าเรื่องสมาธิภาวนา
สิ่งแรกที่สุดที่จะวินิจฉัยกัน ทำความเข้าใจกันก็คือคำว่าสมาธิภาวนานั้นเอง คำว่าสมาธิภาวนานะ นี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส หรือ ท่านใช้ แล้วเราก็ไม่ค่อยจะใช้ แล้วไปใช้คำอื่นที่คิดขึ้นใหม่ มันก็ทำให้เรื่องมากออกไป เดี๋ยวก็จะได้เข้าใจกันในข้อนี้
ที่มาของคำว่าสมาธิภาวนานี้ก็อยู่ในพระบาลี สูตรที่ ๑ ของ โรหิตัสสวรรค อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ที่อื่นก็ยังมี แต่ที่นี่เด่นชัดมาก เพราะพระพุทธองค์ท่านทรงประสงค์มุ่งหมายจะตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะ คำแรก ประโยคแรกก็มีว่า จตสฺโส อิมา ภิกฺขเว สมาธิภาวนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ อย่าง กล่าวนี้ กตมา จตสฺโส ๔ อย่างนั้นเป็นอย่างไรเล่า อตฺถิ ภิกฺขเว สมาธิภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย สํวตฺตติ ดูก่อนภิษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่เจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขใน ทิฏฺฐธมฺม นี้มีอยู่ อตฺถิ ภิกฺขเว สมาธิภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา ญาณทสฺสนปฺปฎิลาภาย สํวตฺตติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัศนะนี้มีอยู่ อตฺถิ ภิกฺขเว สมาธิภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา สติสมฺปชญฺญาย สํวตฺตติ สมาธิภาวนาอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะนี้มีอยู่ อตฺถิ ภิกฺขเว สมาธิภาวนา ภาวิตา พหุลีกตา อาสวานํ ขยาย สํวตฺตติ สมาธิภาวนาอันบุคคลกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะก็มีอยู่ นี่หัวข้อใหญ่ๆ มีอยู่ ๔ ประโยคอย่างนี้ ก็มีสมาธิภาวนาอยู่ ๔ ชนิด อย่างที่ ๑ เป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุข ที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่างที่ ๒ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัศนะ คือสมรรถภาพในการเห็นชนิดที่เป็นทิพย์เหนือธรรมชาติ ธรรมดา แล้วอย่างที่ ๓ ก็เพื่อจะได้สติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ อย่างที่ ๔ เพื่อจะสิ้นอาสวะ นี่ผมขอให้สนใจหมวดธรรมะหมวดนี้ ซึ่งเป็นพระพุทธวจนะโดยตรง เป็นที่มาแห่งคำว่า สมาธิภาวนา อยากจะอ่านพระสูตรโดยตรงก็ไปอ่านตอน จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นภาษาบาลีมันก็ที่บรรพ ๔๑ ที่เป็นฉบับแปลไทยนั้น ก็ไม่ทราบ ก็ต้องไปค้นดู แต่ค้นง่ายโดยที่ว่ามันมี โรหิตัสสวรรค อยู่ ไปพบวรรคนี้ แล้วสูตรที่ ๑ ของวรรคนี้ ก็คือเรื่องนี้ ทีนี้สำหรับวันนี้จะไม่พูดอย่างอื่น นอกจากจะวินิจฉัยกันเกี่ยวกับถ้อยคำ คำว่าสมาธิภาวนาคืออะไร นี่บางคนก็คงจะนึกไปในทำนองที่เคยเล่าเรียนมาแล้วว่า สมาธิภาวนาก็ต้องแปลว่าการเจริญสมาธิ เพราะคำว่าสมาธิก็แปลว่าสมาธิ ภาวนาก็แปลว่าการเจริญหรือทำให้เจริญ สมาธิภาวนาก็คือการเจริญสมาธิ ถ้าแปลอย่างนี้ จะเรียกว่าไม่ถูก หรือว่าถูกนิดเดียว เพราะว่าสมาธิภาวนา ๔ อย่างนี้มิใช่เพื่อเจริญสมาธิอย่างเดียว มันมีการกระทำให้สิ้นอาสวะด้วย ซึ่งได้แก่ การเห็นแจ้งโดยวิปัสสนา โดยญาณ จนเกิดอริยมรรค ตัดกิเลสอะไรได้ด้วย จึงจะเรียกว่าสิ้นอาสวะ การกระทำอย่างนั้นก็เรียกว่าสมาธิภาวนาด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราก็มาคิดดูสิว่า คำว่าสมาธิภาวนานั้นควรจะแปลว่าอย่างไร ถ้าแปลว่าการเจริญสมาธิก็ได้ผลอย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้ภาษาบาลีนี้ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะตั้งรูปของสมาสนี้อย่างไร ไอ้อย่างที่แล้วมาว่า การเจริญซึ่งสมาธินี้มันก็แคบนิดเดียว คือทำสมาธิเท่านั้น ทีนี้มันมีทางแปลคำว่าภาวนาให้ตรงจุดที่สุดก็แปลว่าการทำให้เจริญ หรือ จะแปลว่าความเจริญต่อไปก็ได้ แต่ไม่แปลว่าเจริญซึ่งสมาธินะ ก็แปลว่าเจริญด้วยสมาธิ สมาธิภาวนาก็เลยแปลว่า การทำให้มันเจริญด้วยสมาธิ ทีนี้ทำอะไรให้เจริญ มันก็ไม่มีอะไรนอกจากทำจิตให้เจริญ ให้เจริญไปตามวิถีทางของจิต มันก็ไปถึงความสิ้นอาสวะและอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าความเจริญของจิต การทำความเจริญคือความเจริญของจิต แล้วก็ด้วยสมาธิ คือด้วยอำนาจของสมาธิ ก็แปลว่าด้วยอำนาจของสมาธิเราสามารถทำจิตให้เจริญตั้งแต่ระดับต้นที่สุดจนไปถึงระดับสูงสุดคือความสิ้นอาสวะและประกอบด้วยคุณธรรมวิเศษอย่างอื่น ๆ อีกมาก ฉะนั้นขอให้มองเห็นความหมายของคำ ๆ นี้ ในลักษณะที่ว่า สมาธิภาวนานี้แปลว่าการทำความเจริญ หรือ ทำให้เจริญ โดยใช้สมาธิเป็นเครื่องมือ ถ้าพูดว่าเจริญสมาธิมันแคบ อย่างนี้ก็จะต้อง เอ้อ, นึกถึงหลักที่เราเคยผ่านกันมาตั้งแรกเรียนนักธรรมว่า สิกขามีอยู่ ๓ อย่าง คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา สมาธิสิกขาบางทีก็เรียกว่าจิตสิกขา นั่นก็คือสมาธิสิกขานั่นแหละ ศีลสิกขา ศึกษาในส่วนศีล จิตสิกขาหรือสมาธิสิกขา ศึกษาในส่วนจิตหรือส่วนสมาธิ ปัญญาสิกขาก็ศึกษาในส่วนปัญญา จิตสิกขา สมาธิสิกขานั้นคือการทำสมาธิ การฝึกฝนในสมาธิ ที่เรียกว่าสมถะภาวนา หรือปัญญาสิกขาก็คือทำปัญญาทำวิปัสสนา ที่เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา มันมีสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอยู่ และเราก็ไม่ได้เคยใช้คำว่าสมาธิภาวนา ใช้แต่ว่าสมถะภาวนาไปเสีย หรือ ปัญญาภาวนาไปเสีย ส่วนศีลนั้นไม่เคยใช้คำว่าภาวนา เพราะถือว่าเป็นเรื่อง เอ้อ, ที่ไม่ใช่จิตโดยตรง เป็นเรื่องกาย วาจา ทีนี้ถ้าใครจะไปถือเอาความหมายของคำว่าสมาธิภาวนาว่าการเจริญสมาธิแล้ว มันก็จะได้เพียง จิตสิกขาหรือปัญญาสิกขา สิกขาเดียวเท่านั้น อ้า, จิตสิกขาหรือสมาธิสิกขาเพียงสิกขาเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าจะเอาตามนี้ ตามหลักการหรือโครง รูปโครงของเรื่องที่เราเห็น ๆ อยู่ในพระพุทธภาษิตนี้แล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้น สมาธิภาวนาจะต้องหมายหมดที่เป็นเรื่องของความเจริญทุกอย่าง แม้กระทั่ง กาย วาจา ใจ ก็ต้องเจริญ แล้วก็เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ฉะนั้นคำว่าสมาธิภาวนานั้นจะครอบคลุมความหมายของสิกขาทั้ง ๓ ไว้หมด นี้ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ ว่าถ้าเราทำไปในรูปของสมาธิภาวนาที่ถูกต้องแล้วมันจะควบคุม ครอบคลุมสิกขาทั้ง ๓ คือ ทั้งศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขาไว้ทั้งหมด สำหรับ เอ้อ, ปัญญาสิกขานั้นก็มีอยู่อย่างที่นี่ว่า เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะนะ คือ ปัญญาสิกขา ส่วนเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุข นี้ก็มีลักษณะเป็นสมาธิสิกขา ส่วนเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์นี้ก็เป็นสมาธิสิกขา ส่วนที่เป็นไปเพื่อญาณทัศนะนั้นก็ปัญญาสิกขา นี้ก็แปลว่าเล็งถึงไอ้ ๒ สิกขาข้างปลาย คือ สมาธิสิกขาและปัญญาสิกขาไว้เต็มที่ ทีนี้ศีลสิกขาละ จะมาอยู่ในคำว่าสมาธิภาวนาได้อย่างไร ข้อนี้มีข้อความกล่าวไว้ชัด ในคัมภีร์ ปฏิสัมภิทามรรค ว่าเมื่อบุคคลตั้งใจ ตั้งเจตนา สำรวมระวังจิตเพื่อให้เป็นสมาธิ หรือ เพื่อให้เกิดปัญญาก็ตาม ความตั้งใจ ควบคุมสิ่งเหล่านี้ก็เรียกได้ว่า ศีลสิกขา ไม่ใช่ว่าเพราะว่าในขณะนั้น มัน มันไม่ไปล่วงศีลสิกขาบทที่ไหน เพียงเท่านั้นก็หามิได้ แต่ว่าในที่นั้น จะต้องมีเจตนา มีความสังวร มีความตั้งใจ ซึ่งเป็นหลักการของศีลสิกขาอยู่อย่างเต็มที่ ขอให้นึกถึงคำว่าสังวร หมายถึงเจตนามุ่งมั่นที่จะกระทำ การควบคุมให้ทุกสิ่งมันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของภาวนา อันนี้ถูกจัดเป็นศีลสิกขา โดยเหตุนี้ด้วยคำว่า สมาธิภาวนาในสูตรนี้ เพียงคำเดียวเท่านั้นแหละ ก็ครอบคลุมสิกขาทั้ง ๓ หมด นั่นคือศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา
ทีนี้มันจะได้ผลอย่างไรที่แนะให้สังเกตในข้อนี้ ที่แนะให้สังเกตในข้อนี้มันก็คือว่า มันจะได้ถูกต้องตามพระพุทธภาษิตกันเสียที การที่แบ่งสิกขาเป็น ๓ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขานี้ ก็เราไม่ค่อยได้พบหลักโดยตรง ที่เป็นรูปของพระพุทธภาษิตเหมือนกับสูตร เช่น สูตรอย่างนี้เป็นต้น มันทำให้เราเห็นว่า แม้แต่เพียงการที่ตรัสว่า สมาธิภาวนาก็รวบรวมเอาสิกขาทั้ง ๓ เข้าไว้ แล้วทีนี้มันยังมีประโยชน์มากตรงที่ว่ามันง่ายดาย ในการที่ประพฤติกระทำเพียงอย่างเดียว เรียกชื่ออย่างเดียวนี้นะ มันก็ครบถ้วนไปทั้ง ๓ อย่าง เช่นว่า เมื่อพิจารณา การเกิดขึ้น การดับไปแห่งนามรูปอย่างนี้ มันเป็นหมดทั้ง ๓ สิกขา การที่พิจารณานามรูป ด้วยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปัญญาสิกขา ทีนี้การเพ่งนั้นมันต้องเพ่งด้วยสมาธิ มันจึงเป็นสมาธิสิกขา แล้วเราก็ต้องมีการตั้งใจ ต้องรวมทุกอย่างทางกาย ทางวาจาด้วย ให้มันมีการเพ่งให้สำเร็จให้จนได้ ส่วนนั้นมันเป็นศีลสิกขา ฉะนั้นการเพ่งพิจารณานามรูปอยู่โดยลักษณะใด ก็เป็นสิกขาทั้ง ๓
ทีนี้ผมคิดว่าบางคนคงจะฉงน เพราะว่าเมื่อเราเรียนนักธรรม เราไม่ได้รับคำอธิบายอย่างนี้ แต่เราได้รับคำอธิบายไปทางแยกออกจากกันเป็นอย่าง เป็นอย่าง เป็นอย่างไป แต่แล้วในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคอธิบายไว้อย่างนี้ คล้าย ๆ กับจะปลอบว่าไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ต้องกลัว คุณก็ลงมือพยายามพิจารณานามรูปให้เต็มที่ มันก็จะเป็นทั้ง ๓ สิกขา โดยสมสัดสมส่วนกันที่เรียกว่า สมังคี
เอ้า, ตรงนี้ก็อยากจะขอพูดถึงคำว่า สมังคี กันเสียหน่อย มันแปลว่ามีส่วนประกอบเสมอกัน คำว่า สมังคี สม อังคะ แล้วก็ อี มีอังคะเสมอกัน คือ มีส่วนประกอบเสมอกัน คำนี้สำคัญมาก ถ้าเราทำอะไรไม่สมส่วนกันแล้ว มันใช้ไม่ได้ พวกแม่ครัวเขารู้ดี ถ้าเขาใส่เกลือ ใส่กะปิ ใส่อะไรลงไป ถ้ามันผิดส่วนกันแล้วมันจะกินไม่ได้ มันต้องถูกส่วน นี้แม้แต่ทำกับข้าว ทีนี้ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน ต้องสมส่วน เช่น สิกขา ๓ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญานี้ต้องพอเหมาะส่วนทั้งนั้น ถ้าอันใดเกินส่วนอันนั้นก็จะทำให้อันอื่นยุ่ง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสว่า อัฏฐังคิกมรรค คือ มรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ต้องเป็นสมังคีเสมอ ต้องมีส่วนแห่งองค์ประกอบ ๘ องค์นั้น สมสัดส่วนตามหน้าที่แห่งตน แล้วมารวมเป็นอันเดียวกัน เป็นเพียงมรรคเดียว ไม่ใช่ ๘ มรรค เพราะมรรคต้องเดียว แต่ว่าพอประกอบด้วยส่วน ๘ ส่วน แล้วส่วนนั้นต้องเสมอกัน จึงจะเข้ากันได้เป็นรส ที่มุ่งหมายคือ วิมุตติรส ถ้าอันใดมันมากไป อันนั้นมันก็ทำเกะกะเท่านั้นแหละ แม้ศีล สมาธิ ปัญญานี้มันก็คือ อัฏฐังคิกมรรคนั้นเอง เมื่อเรียนนักธรรม แม้แต่นักธรรมตรี ก็รู้แล้วว่า มรรคมีองค์ ๘ นะ ย่นให้มันเหลือ ๓ สิกขาอย่างไร หรือว่า ๓ สิกขา ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ขยายออกไปเป็นมรรค มีองค์ ๘ อย่างไร
เมื่อคำว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นสิ่งที่ต้องเป็นสมังคี คือ มีส่วนประกอบเสมอกลมกลืนกันดี สิกขาก็อย่างนั้นแหละ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ปัญญาก็ต้องสม่ำเสมอด้วยส่วนที่ต้องการพอดี จึงจะกลมกลืนกันได้ ฉะนั้นถ้าไปทำมากในส่วนใด ไอ้ส่วนที่เกินไปแล้วมันจะเกะกะ มันจะทำความเกะกะให้แก่การที่จะกลมกลืนกันเป็นเรื่องเดียวกันคือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะกลมกลืนกันเป็นสมาธิภาวนาเพียงคำเดียวนี้จะเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีศีลเท่าส่วนที่ต้องการ มีสมาธิเท่าส่วนที่ต้องการ มีปัญญาเท่าส่วนที่ต้องการ แล้วประพฤติกระทำไป อย่างว่าพิจารณานามรูปนี้ ก็ต้อง ต้อง ด้วยร่างกายนี้ที่พอเหมาะ ด้วยการเป็นอยู่ที่พอเหมาะ ด้วยสมาธิที่พอเหมาะ ด้วยปัญญาที่พอเหมาะ ที่มันกลมกลืนกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา แล้วการกระทำนั้นก็จะชื่อว่าสมาธิภาวนา คือ การทำให้เกิดความเจริญแก่ กาย วาจา ใจ ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ
ทีนี้ขอให้เข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ มัน ซึ่งเป็นรากฐาน ไม่เพียงแต่ทางถ้อยคำสำหรับพูด แต่เป็นรากฐานสำหรับการปฏิบัติและการบรรลุถึงมรรคผลขั้นสุดท้ายด้วย มันเกี่ยวเนื่องกันไปหมด ความรู้ การปฏิบัติและผลของการปฏิบัตินี้ เป็นสิ่งที่จะต้องถูกต้องพร้อมกันไปด้วยกัน ถ้าเกี่ยวเนื่องกันไปจนถึงที่สุด
ฉะนั้นอย่าลืมว่าคำว่า สมังคี นี้สำคัญ ถ้ามันเกิดผิดส่วน แล้วส่วนที่เกินนั้นละ จะทำความเกะกะ อย่างที่เราเห็นกันอยู่นี้ จะขอยกตัวอย่าง บางคนมันก็บ้า อวดเคร่งในทางศีลอยู่นั่นแหละ จนมันเกินไป จนไม่ได้มีจิตใจสงบได้นี้ บางคนมันก็บ้า ทำสมาธิให้มันวิเศษวิโสไปในทางที่จะมีอิทธิปาฏิหาริย์ มีอำนาจจิตบังคับคนอื่น หรือว่าตาทิพย์หูทิพย์ไป มันก็เกินไปจนเกะกะ แล้วยังที่จะเป็นไอ้อุปกิเลส เครื่องขัดขวางของปัญญาด้วย นี่สมาธิมันเกินไป ที่ว่าปัญญา ถ้าเกินไป มันก็ฟุ้งซ่าน ถ้ามันเกินไป มันจะฟุ้งซ่าน แต่นี้มันเกินไม่ค่อยได้นะ ถ้ามันเป็นปัญญาจริง ถ้ามันเกินได้มันก็ไม่ใช่ปัญญา แต่แล้วก็อาจจะเป็นไปได้สำหรับบุคคลที่ว่ามันเป็นไอ้คนบ้าปัญญา หรือ พวกพุทธิจริตทั้งหลายเหล่านี้ มันก็อาจจะทำให้ปัญญาเกินได้ ฉะนั้น ๓ อย่างนี้มันเกินไม่ได้ ถ้าเกินแล้วมันจะเกะกะ ขัดขวางกันทีเดียว เหมือนกับว่าจะทำขนมด้วยการใส่แป้ง ใส่น้ำตาล ใส่น้ำมัน ๓ อย่างนี้ มันก็ต้องพอดีตามที่แบบฉบับเขามีอยู่ละ ถ้าอันใดเกินออกไป อันนั้นจะทำให้เสียหมด กินไม่ได้ หรือว่ากินไม่อร่อย นี่คือความเป็นสมังคี มีส่วนประกอบ ส่วนผสมของมันพอดีเท่านั้น
ทีนี้ถ้าเราประพฤติ ศีล สมาธิ ปัญญา กลมกลืนกันพอดี ส่วนเกินให้มันร่วงลงไปเสียก็แล้วกัน มันก็เหลือแต่ส่วนที่ต้องการเท่าที่จำเป็น มันก็เรียบร้อยดี หมอก็บอกว่าวิตามินที่จำเป็นแก่ร่างกายนั้นนะ เรากินเข้าไปเถอะ ถ้ามันเกิน มัน มัน มันถ่ายปัสสาวะออกเสีย ไม่มีค่าอะไร ไม่มีประโยชน์อะไร ร่างกายมันจะเก็บเอาไว้แต่ปริมาณเท่าที่มันต้องการนี้ ฉะนั้นเขาจึงทำมาสำหรับกินวันละเม็ดเท่านั้นแหละ หรือว่าถ้ากิน ๒-๓ อย่าง ก็อย่างละเม็ด หรืออย่างละครึ่งเม็ด หรือตามที่เขากำหนด ถึงใครจะกินเข้าไปสักกอบ สักกำ มันก็ถ่ายออกมาหมด ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันเกิน นี่ส่วนเกินมันเป็นอย่างนี้ คือมันไม่ได้ประโยชน์อะไร เกะกะด้วย เปลืองด้วย
ฉะนั้นขอให้เข้าใจคำว่าสมาธิภาวนานี้ ไม่ใช่มุ่งหมายแต่การเจริญสมาธิ แต่มุ่งหมายไปยังการกระทำทุกอย่างให้เจริญ คือทั้ง กาย วาจา ใจ ให้มันเจริญ แล้วมีสมาธิเป็นเครื่องมือทำความเจริญ หรือจะพูดอย่างไอ้กำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่าทำศีลให้เจริญก็ด้วยอำนาจสมาธิ ทำสมาธิให้เจริญก็ด้วยอำนาจสมาธิ ทำปัญญาให้เจริญก็ด้วยอำนาจสมาธิ ก็เลยเป็นว่า ทำกาย วาจา ใจ ให้เจริญด้วยอำนาจสมาธิ นี้เป็นคำที่เป็นหลักสำคัญ
ทีนี้ก็อยากจะขอ คือให้สังเกตสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เพราะว่าเราจะพูดกันติดปากกันทีเดียวว่า อ้าว,เจริญสมาธิสิ นั้นหมายความว่าอย่างไร เจริญสมาธิ ที่เราได้รับคำสั่งสอน หรือเราก็สอนคนอื่นให้ทำ มันก็ไปนั่งกำหนดสมาธิ ประเภทสมถะ นับลมอยู่บ้าง อ้า, ภาวนาอะไรอยู่บ้าง เจริญสมาธิ ก็คือทำสมาธิ ทำให้เป็นสมาธิ แล้วจิตก็สงบลงไป แล้วก็สบายเท่านั้นเอง นั่นก็คือเจริญสมาธิ ถ้าเจริญสมาธิอย่างนี้แล้วไม่อยู่ในคำนี้ คำว่าสมาธิภาวนานี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงประสงค์ให้มันกว้างไปหมดถึง ๔ ความหมาย แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะต้องการอะไร ถ้าต้องการจะมีความสุขอย่างยิ่ง เป็นนิรามิสสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็เจริญสมาธิภาวนาที่ทำให้เกิดรูปฌานทั้ง ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ทั้ง ๔ อย่าง หรือสูงสุดถึงชั้นที่ ๔ นี้เรียกว่าสมาธิภาวนาเพื่อจะเอาความสุขชนิดนิรามิสกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทัน ทันตามความต้องการ แต่ยังไม่ถึงกับเป็นนิพพาน แม้ว่าสิ่งที่เรียกว่าจตุตถฌาน มีคนเคยหลงเอาว่าเป็นนิพพานมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลโน้น ก็ตามใจเขาสิ เขาเคยหลงว่าเป็นนิพพาน เพราะเขาเห็น เขาไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น ที่เขาเคยหลงเอาว่าจตุตถฌานเป็นนิพพานนี้ มันก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ไอ้รสชาติของจตุตถฌานนี้มันสงบเย็น เป็นสุข เป็นนิรามิสสุข อย่างบอกไม่ถูก อย่างไม่เคยคาด ไม่เคยฝัน ฉะนั้นคนที่ทำได้ทีแรกจึงเข้าใจว่าเป็นนิพพาน เพราะมันมีรสชาติ เอ้อ, เป็นที่พอใจมาก เดี๋ยวนี้พระพุทธองค์ทรงแนะว่า ไอ้ทิฏฐธัมมสุขที่ทำกันได้เดี๋ยวนี้ ที่นี่เดี๋ยวนี้นะ ก็คือ ปฐมฌาน หรือ ทุติยฌาน หรือ ตติยฌาน หรือ จตุตถฌาน ก็เจริญให้ฌานเหล่านี้เกิดขึ้นมา นี้เป็นเรื่องสมาธิ แต่ว่าเพื่อความสุข ไม่หยุดอยู่เพียงแค่สมาธิ
อย่างที่ ๒ สมาธิภาวนาเพื่อ ญาณทัศนะปฏิลาภายะ เพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัศนะ นี้หมายความว่า ผมจะต้องกล่าวไปตามลำดับที่มีอยู่ในพระบาลี มันจะสับสนกันอยู่ว่า กล่าวถึงความสุข แล้วกล่าวถึงการได้ญาณทัศนะ แล้วกล่าวการได้สติ สัมปชัญญะ แล้วกล่าวไปการสิ้นอาสวะ ท่าน ท่าน ท่านวางลำดับไว้อย่างนั้นในพระพุทธภาษิต คล้าย ๆ กับว่าพูดถึงความสุข แล้วก็พูดถึงญาณทัศนะซึ่งเป็นปัญญา แล้วไปพูดถึงสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสมาธิ แล้วไปพูดถึงความสิ้นอาสวะซึ่งเป็นปัญญา หรือ ผลของปัญญา แต่ถ้าเราจะพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่านี่นะคือการแสดงลำดับที่ถูกต้อง เดี๋ยวก็จะได้พิจารณากันบ้าง พูดถึงอย่างที่ ๒ ต่อไปให้เข้าใจกันเสียก่อนว่า การได้เฉพาะซึ่งญาณทัศนะนี่ ท่านแสดงไว้ในลักษณะที่ว่าเป็นการเห็นพิเศษเกินธรรมชาติ คือว่าเห็นชัดจนไม่มีกลางวัน หรือ กลางคืน กลางคืนอย่างไรกลางวันก็อย่างนั้น กลางวันอย่างไรกลางคืนก็อย่างนั้น จนไม่มีความหมายเป็นกลางวัน หรือ เป็นกลางคืน ถ้าจะอธิบายกันไปในแง่ของวัตถุ ก็หมายความว่าผู้นั้นเจริญสมาธิภาวนาจนสามารถมีจักษุอีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้น สามารถเห็นสิ่งที่มีอยู่ในกลางคืนได้ชัดแจ้ง เหมือนที่เห็นอยู่ในกลางวัน หรือว่า กลางวันเห็นได้ชัดแจ้งอย่างไร กลางคืนก็ยังเห็นชัดแจ้งอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านเรียกว่าเจริญ อาโลกสัญญา หรือ ทิวาสัญญา นี้เราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ในโรงเรียนก็ไม่ค่อยได้สอน สำนักวิปัสสนาต่าง ๆ ก็ไม่ได้สอนโดยเฉพาะหัวข้อนี้
ขอให้สรุปความกันไว้ทีก่อนว่า ด้วยอำนาจของการเจริญสมาธินะ จะทำให้เกิดผลถึงกับมีญาณทัศนะชนิดที่ทำให้ไม่มีกลางคืน และ ไม่มีกลางวัน ทางวัตถุ แต่ถ้าว่าจะพูดกันทางนามธรรมหรือทาง ที่เรียกว่าทางจิตใจโดยเฉพาะแล้วก็ มันก็จะเล็งถึงไอ้การรู้ธรรมะมากกว่า ถ้าเรารู้ธรรมะจริงแล้วเราถึงที่สุดจริง ๆ แล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามีกลางวัน หรือ กลางคืน เราถูกหลอกให้เห็นเป็นกลางวัน กลางคืน เพราะเอาไอ้สิ่งที่เห็นด้วยตาธรรมดานี้เป็นหลัก แต่ถ้าเราเอาปัญญาจักษุเป็นหลักแล้วมันก็ไม่มีกลางวัน และ ไม่มีกลางคืน อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้นไอ้คำว่า ญาณทัศนะ ในที่นี้ อาจจะมีคำอธิบายได้ทั้งทางฝ่ายวัตถุ คือ ตาเนื้อนี้ ถ้าอบรมดีแล้วก็จะเห็นได้ ไม่มีกลางวันกลางคืน ไอ้ส่วนปัญญาจักษุนั้นมันก็ไม่มีกลางวันและกลางคืนอยู่แล้ว ฉะนั้นสมาธิภาวนานี้ จะช่วยให้เกิดการได้เฉพาะซึ่งญาณทัศนะทำนองนี้
ทีนี้อย่างที่ ๓ ก็เรียกว่า เพื่อสติสัมปชัญญายะ เพื่อจะ เพื่อเป็นไป เพื่อสติและสัมปชัญญะ ข้อนี้เคยได้ยินได้ฟังกันมาก แล้วก็จะทำให้ปนเปกันอยู่ พระบาลีนี้เพียงแต่ว่า สติสัมปชัญญายะสังวัตตะติ เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ แต่เมื่อไปดูนิเทศ คือคำอธิบายที่ท่านได้ตรัสไว้เอง มันก็กลายเป็นเรื่องสติสัมปชัญญะชั้นสูง คือมีสติ มีสัมปชัญญะทุกครั้งที่มี เกิด มีการเปลี่ยนแปลงในทางนามกาย คือทางเจตสิกธรรม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ทางเวทนาก็ดี ทางสัญญาก็ดี ทางวิตกก็ดี ใน ๓ อย่างนี้ ให้มีสติสัมปชัญญะเต็มที่ เวทนาเกิดขึ้น เวทนาตั้งอยู่ เวทนาดับไป สัญญาเกิดขึ้น สัญญาตั้งอยู่ สัญญาดับไป วิตกเกิดขึ้น วิตกตั้งอยู่ วิตกดับไป มันมีสติสัมปชัญญะรู้ คือติดตาม ไม่ขาดระยะ ซึ่งเรามันทำไม่ค่อยได้ ในชั้นสูงสุดเป็นอย่างนี้นะ เราก็ทำไม่ค่อยได้ หรือ ทำไม่ได้ แม้ในขั้นต่ำ ๆ เตี้ย ๆ ที่ว่า จะก้าวหนอ ยุบหนอ พองหนอ อันนี้ก็ตาม เราก็ยังทำไม่ค่อยได้ ซึ่งนั่นมันเป็นเรื่องทางวัตถุ ทางรูปธรรม ทางรูปกาย ส่วนทางนามกาย หรือสัญญา เวทนา วิตก ๓ อย่างนี้ มันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันก็ยิ่งทำยาก แต่ว่าถ้าเจริญภาวนาแบบที่เรียกว่า เพื่อสติสัมปชัญญะ มันก็ค่อยได้ ค่อย ๆ ได้ขึ้นมา หรือว่าถ้าจะให้ได้สมบูรณ์ เราต้องแยกออกเป็นอย่าง ๆ ไอ้ทางรูปกายอย่างนี้ก็ทำ ซึ่งมีสอนอยู่ทั่ว ๆ ไป ทีนี้ทางนามกาย ก็รู้การกำหนดเวทนา สัญญา และ วิตก มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันคล้าย ๆ กับว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เวทนา ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ของไอ้สัญญา หรือของวิตกก็ตาม มันเป็นส่วนนามกาย ฉะนั้นเราต้องศึกษาจนเรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนาเกิดเมื่อไร สัญญาเกิดเมื่อไร สังขารเกิดเมื่อไร กันเสียก่อน มันจึงจะรู้ความที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หรือ จะปรับเข้าไปกับไอ้พวกรูปธรรม ร่างกายส่วนไหนให้มันพิจาณาพร้อม ๆ กันไป ก็มีทางที่จะทำได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน แต่ในที่นี้ เอ้อ, พระพุทธองค์แสดง โดยทรงยกเอานามกาย คือ สัญญา เวทนา และ วิตกมาเป็นอารมณ์ หรือ เป็นบทเรียนสำหรับจะฝึกฝน เราจะได้พูดกันวันหลังถึงข้อที่ว่า เวทนาเกิดเมื่อไร สัญญาเกิดเมื่อไร วิตกเกิดเมื่อไร ที่แท้มันก็คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ๓ อย่างนั่นแหละ ในบรรดาขันธ์ ๕ อย่างนี่ เอามา ๓ อย่างนี้ แต่คอยพิจารณา คอยกำหนดมันอยู่เสมอ อย่างนี้ก็เรียกว่าสมาธิภาวนานั้น เป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ มันต้องมีสมาธิมากที่จะคอยกำหนด ต้องมีสมาธิที่พอดีหรือเพียงพอนะ ที่จะกำหนดเวทนา สัญญา วิตก ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป คือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้ง ๓ นี้ ด้วยอำนาจของจิตที่เป็นสมาธิ ฝึกฝนดีแล้ว ถ้าฝึกฝนดีแล้ว ถ้าฝึกฝนไม่ดี ไม่ถูก ไม่พอ ก็ไม่สามารถจะกำหนดการเกิดขึ้น หรือตั้งอยู่ หรือดับไปแห่ง เวทนา สัญญา และวิตก
ที่นี้อัน อย่างที่ ๔ สุดท้ายก็ว่า อาสะวานัง ทะยายะ สังวัตตะติ ทรงใช้คำอย่างเดียวกันหมดว่า สมาธิภาวนา เป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ไม่ได้เพิ่มอะไรขึ้น สำหรับคำที่เรียก แต่ความหมายมันเปลี่ยน ถ้าจะทำเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ นี้ก็คือเป็นผู้มีสมาธิเพียงพอสำหรับการที่จะรู้แจ้งเบญจขันธ์ คือขันธ์ทั้ง ๕ ที่รู้จักกันดีแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ เมื่อ เมื่อไรให้มันมี เป็นขันธ์เกิดขึ้น แล้วเมื่อไรกลายเป็น ปัญจุ เป็นอุปาทานขันธ์ ถ้าศึกษามาในลักษณะที่เรียกว่าขันธ์ ก็คือ อุปาทานขันธ์ อย่างนี้มัน เลอะเทอะหมด ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ หรือ ปฏิบัติได้ เพราะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้ เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ ถ้าเกิดขึ้นแล้วหรือว่าตั้งแต่แรกเกิดมามีอวิชชาเข้าไปเกี่ยวข้องนี้ มันก็กลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์ล้วน ๆ ไม่ประกอบด้วยปาทาน อุปาทานขันธ์ ขันธ์ประกอบด้วยอุปาทาน ที่พระพุทธองค์ทรงระบุไว้ชัดว่า ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้เห็นอยู่เป็นปรกติซึ่งการตั้งขึ้นและเปลี่ยนไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ ที่เห็นชัดอยู่ว่า นี้เกิดขึ้นแห่งรูปนี้ ตั้งอยู่แห่งรูปนี้ ดับไปแห่งรูปนี้ เวทนานี้ เกิดขึ้นแห่งเวทนานี้ ดับไปแห่งเวทนานี้ เกิด นี้สัญญา นี้เกิดขึ้นแห่งสัญญา นี้ดับไปแห่งสัญญานี้ นี้สังขาร นี้เกิดขึ้นแห่งสังขาร นี้ดับไปแห่งสังขาร แล้วก็วิญญาณก็เหมือนกัน นี้วิญญาณอย่างนี้ เกิดขึ้น การเกิดขึ้น การเกิดขึ้น เหตุเกิดขึ้นที่เรียกว่า สมุทัยแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ แล้วก็ดับไปคือตั้งอยู่ไม่ได้ สลายไป แห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ แต่ทรงหมายถึง ปัญจุปาทานขันธ์ ที่ไม่ใช่ขันธ์ล้วน ๆ
ฉะนั้นเราต้อง ต้องศึกษาให้มีความรู้แตกฉานพอถึงกับรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์นั้นนะ เกิดอย่างไร เกิดเมื่อไร แล้วกำลังเป็นขันธ์อะไร เราได้รับคำสั่งสอนมาผิด ๆ ผิดอย่างที่ไม่รู้ว่าจะรียกว่าผิดอย่างไรละ คือสอนให้เข้าใจไปว่าขันธ์ทั้ง ๕ มันเกิดอยู่พร้อมกัน ทั้ง ๕ ขันธ์เกิดอยู่พร้อมกัน รวมกันเป็นคนๆหนึ่ง อย่างนี้มันว่าเอาเองรู้ไหม จะด้วยอะไรก็ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสว่าบุรุษนี้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ มีแต่จะตรัสว่าบุรุษนี้ประกอบไปด้วยธาตุ ๖ ตัวเราอาจจะมีธาตุทั้ง ๖ พร้อมกันในคราวเดียวกัน รวมกันเป็นสิ่งที่เรียกว่าตัวเราอยู่ได้ แต่สำหรับขันธ์ ๕ แล้วไม่มีทางที่จะทำอย่างนั้น ไอ้รูปธาตุมันก็ยังรูปธาตุอยู่ จนกว่าว่าไอ้ธาตุตากับธาตุรูปมากระทบกัน อาศัยกันจึงจะเกิดวิญญาณขึ้นมานี้ วิญญาณขันธ์จึงจะเกิดขึ้นมา วิญญาณขันธ์ด้วย ไอ้ตาด้วย รูปด้วย ๓ อย่างรวมกันนี้เรียกว่าผัสสะ คือสังขารขันธ์ส่วนอุปภาค ส่วนน้อย ผัสสะนี้เกิดเวทนา เกิดเวทนาขันธ์ หมายความว่าอันนั้นต้องดับไปก่อนแล้วจึงเกิดอันนี้ เวทนาเกิดแล้วจึงจะมีสัญญาสำคัญมั่นหมายในเวทนานั้นว่าเป็นอย่างไร จึงจะเกิดสัญญาขันธ์ เกิดสัญญาขันธ์สำคัญในเวทนาเป็นต้นนั้นว่าอย่างไรแล้ว ก็เกิดสังขารขันธ์ คือ คิด นึก ประเภทมโนกรรม กระทั่งออกมาเป็น วจีกรรม กายกรรมขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นสังขารขันธ์ คือความคิด นึก สืบต่อมาจากสัญญานั้น ทีนี้ถ้าเวทนาหรือสัญญาก็ตามเป็นอารมณ์ของจิตอีกทีหนึ่ง มันก็เป็นวิญญาณขันธ์อันสุดท้ายที่สมบูรณ์ การเกิดแห่งขันธ์ทั้ง ๕ จะต้องเกิดอย่างนี้ ไม่สามารถจะเกิดพร้อมกันได้ ทั้งที่ขันธ์นี้ยังเป็นเพียงขันธ์ ยังไม่ใช่อุปาทานขันธ์ เพราะฉะนั้นเราจึงมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ได้แทบตลอดเวลานี้ ที่นั่งอยู่ตรงนี้ เหลียวตาไปทางไหนมันก็จะต้องเกิดได้ นี่ถ้าพูดกันโดยละเอียด นี้เรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับอวิชชา เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีอุปาทาน ทีนี้มันเผลอสติ มันมี ให้อวิชชาได้เข้ามาปนทำหน้าที่ ตาเห็นรูปด้วยอวิชชา สัมผัสนั้นกลายเป็นสัมผัส เป็นอวิชชา เวทนาจึงเกิดขึ้นจากสัมผัสอวิชชา ก็กลายเป็นเวทนาที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เรียกว่า สาสวาอุปาทานิยา เพราะมันมีอวิชชาเข้าไปเจือ มันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉะนั้นเวทนานั้นก็ทำให้เกิดตัณหาละทีนี้ ตัณหา อุปาทานนั้น เป็นตัวสังขาร เพราะว่ามันได้สำคัญในเวทนานั้นด้วยอวิชชา มันจึงเป็นสัญญาที่ผิด ก็เกิดสังขารผิด ๆ มันก็กลายเป็นไอ้อุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ เป็นทุกข์ ตามนัยยะแห่งปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละคือ ปัญจุปาทานขันธ์ แม้อย่างนั้นมันก็ไม่เกิดทีเดียวพร้อมกันได้ทั้ง ๕ อุปาทานขันธ์ ต้องเกิดขึ้นมาแต่ละอย่างแล้วดับไป แล้วเกิดขึ้นมาแต่ละอย่างแล้วดับไปนี้ พระพุทธองค์ทรงระบุไว้ชัดว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปรกติตามเห็นอยู่ซึ่งการตั้งขึ้นและการเปลี่ยนไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ ว่ารูปเป็นอย่างนี้ สมุทัยแห่งรูปเป็นอย่างนี้ อัตถังธรรมะคืออัสดงแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เรื่อยไปทั้ง ๕ ขันธ์ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิภาวนา ที่จะเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ยิ่งทำไปก็ยิ่งเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในอุปาทานขันธ์ที่เคยยึดมั่นเป็นของเรา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคำอธิบายมาก เพราะเราต้องพูดกันอย่างละเอียด ไว้พูดกันเมื่อถึงคราว เมื่อเรื่องนั้นถึงคราววันหลัง
ในวันนี้ต้องการแต่ ได้ทราบว่าสมาธิภาวนาคำเดียวเท่านั้นพอ จะเรียกว่าพระวิปัสสนาจารย์ พระวิปัสสนาจารย์ หรืออะไรก็ได้ แต่ก็ทรงเรียกได้ว่า สอนสมาธิภาวนา สอนสมาธิภาวนาอย่างเดียว แต่เป็นสอนหมดทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา เพราะสมาธิภาวนาคำเดียวนี้ มันแยกออกไปได้เป็นว่า เพื่อความมีสุขอย่างนิรามิสที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็ได้ เพื่อได้ญาณทัศนะเฉพาะก็ได้ เพื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้ หรือ สิ้นไปแห่งอาสวะก็ได้ ทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ การเจริญภาวนาด้วยความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ๆ นี้เป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้อย่างนี้ ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้กล่าวให้เพี้ยนไปอย่างหนังสือวิสุทธิมรรค หรือ คัมภีร์ที่ดึง ที่แต่งไปตามวิสุทธิมรรค ว่าจงเจริญสมาธิสิ แล้วก็จะได้อานิสงส์ ๔ อย่างที่ว่านี้ ความมันต่างกันมากนะ ว่าเจริญสมาธิสิแล้วก็จะได้อานิสงส์ ๔ อย่าง อย่างที่ว่านี้ มันจะถูกได้ก็โดย โดยทางตัด หรือ โดยละอีก ก็เจริญสมาธิแล้วก็จะได้ความสุข คิดจะทำนี้จะได้ ก็จะได้ญาณทัศนะ จะได้สติสัมปชัญญะ แล้วก็จะได้ความสิ้นอาสวะ อย่างนี้มันเหมือนกับไม่ได้ ไม่ได้แนะอะไร เพราะเจริญสมาธิภาวนาสิ ก็ไม่รู้ว่าเจริญอย่างไร แล้วก็บอกอานิสงส์เสีย ๔ อย่าง เลิศลอยไปหมด แต่พระพุทธเจ้าท่านจะตรัสไว้เฉพาะว่า เมื่อต้องการไอ้สุขในทิฏฐธรรมนี้จะต้องเจริญรูปฌาน ๔ จึงจะทันอกทันใจ และต้องการจะได้เฉพาะซึ่งญาณทัศนะแล้ว ก็ต้องเจริญทิวาสัญญา อาโลกสัญญา แล้วก็ถ้าอยากจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ควบคุมการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแห่งสัญญา เวทนา และวิตก ระบุไว้ชัดอย่างนี้ ถ้าต้องการจะสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้มีปรกติอยู่โดยการเห็นตามอยู่ซึ่ง อุทยะ คือ การตั้งขึ้น วยะ คือ การเสื่อมไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย คือ ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วย อุปาทานขันธ์แล้ว มีความยึดมั่นซึ่งขันธ์ ๕ นั้น ๆ ตามนัยแห่งสักกายทิฏฐิ เป็นรูปโดยความเป็นรูป เห็นรูปมีในเรา เห็นเราในรูป เห็นรูปในเรานี้ มันก็เป็นอุปาทานขันธ์ เรียกว่า รูปูปาทานขันธ์ ถ้ารูปขันธ์เฉย ๆ ไม่มีไอ้อุปาทานอย่างนี้ ซึ่งเกิดอยู่ได้เป็นปกติ ฉะนั้นเราจึงไม่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อมันมีอุปาทานยึดครองด้วยอำนาจของอวิชชาเข้ามาประสม ไอ้ทีแรกมันจึงเป็นอุปาทานขันธ์และเป็นทุกข์ทันที นี้เรียกว่ามีโครงการ มีหลักการ มีวิธีการ หรือ มีเทคนิคอะไรเฉพาะโดยตรงเลย ที่จะต้องเจริญสมาธิภาวนานี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ ไม่พูดถึงไอ้เรื่องที่จะมีฌานแล้วเป็นสุข ไม่พูดถึงไอ้เรื่องญาณทัศนะ หูเป็นทิพย์ ตาเป็นทิพย์ แล้วก็ไม่พูดถึง ไม่สนใจ ฉะนั้นสติสัมปชัญญะนั้นก็ไม่ได้พูดถึง แต่ว่าถ้าเมื่อทำอย่างนี้ได้มันก็มีอยู่ในตัวที่เพียงพอ ฉะนั้นเราจึงมุ่งหมายแต่ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ กิเลส สำนักวิปัสสนาไหนก็จะมุ่งหมายที่จะสอนวิธีปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งนั้น ถ้าสอนเพื่ออะไรนอกไปกว่านั้นมันก็ได้เหมือนกัน ไม่ได้ผิด ๓ อย่างข้างต้นนั้นไม่ได้ผิด แต่คงจะทำความเนิ่นช้าให้แก่ผู้ที่ต้องการจะสิ้นอาสวะเร็ว ๆ หรือบางทีก็จะเสียเวลาเปล่า ๆ คือทำไม่สำเร็จ เพราะว่าบุคคลบางคนนั้นไม่มีอุปนิสัยพอที่จะทำให้ฌานทั้ง ๔ เกิดขึ้นได้ หรือว่า ให้ทำให้ญาณทัศนะที่เป็นทิพย์เกิดขึ้นได้ มันก็เสียเวลาเปล่า ๆ แต่ถ้าว่ามุ่งไปทางสิ้น ไปทำให้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ ไม่มีการเสียเวลา จะต้องได้ผลไม่มากก็น้อย เพราะมันเป็นเรื่องอยู่ในวิสัยที่จะต้องทำ และทำได้ และมันมีอยู่จริง ๆ คืออุปาทานขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งอาสวะ คือ อวิชชา นี้มันมีอยู่จริง ๆ แต่เรายังไม่รู้จัก ในโรงเรียนก็ไม่ได้สอน แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าสำนักวิปัสสนาไหนจะสอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือ บอกให้รู้ว่าขันธ์ ๕ เกิดเมื่อไร มีอย่างไร แล้วเมื่อ ในกรณีอย่างไรมันจึงจะกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ แล้วก็จะเป็นตัวทุกข์ที่จะต้องแก้ไขกัน ได้ยินแต่สอนกันผิด ๆ อุบาสก อุบาสิกา มาเสนอตัวว่าผมมีขันธ์ ๕ ทั้ง ๕ พร้อมอยู่ในตัวผม ในเวลานี้ เดียวกันอย่างนี้ อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เมื่อไม่มีพระบาลีไหนที่จะรับรองอย่างนั้นได้ มันต้องมาตามลำดับ ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ตาอาศัยรูป นี่ก็คือรูปขันธ์ทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็เกิดจากสื่อวิญญาณ ช่วยท่องบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ไว้ด้วย ถ้าใครต้องการก็จดไปได้ จักขุงจะ ปฏิจะ รูเป อุปัชชติ วิญญาณัง ตากับรูปอาศัยการเกิดจากสื่อวิญญาณ ติณณัง ธัมมานัง สังฆาฏิผัสโส การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั้นเรียกว่าผัสสะ ผัสสะ ปัจจะยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัยก็เกิดเวทนา เวทนา ปัจจะยา ตัณหา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหา ปัจจะยา อุปาทานัง ตัณหาเป็นปัจจัยก็เกิดอุปาทาน อุปาทานัง ปัจะจยา ภโว อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภวะ ปัจจะยา ชาติ ภพปัจจัยทำให้เกิดชาติ นี่คือปัญจุปาทานขันธ์ที่สมบูรณ์เป็นชาติ เป็นตัวตน เป็นอหังการเป็นมมังการขึ้นในขณะที่เรียกว่าชาติ ก็ถือเอาความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของกู ความอะไรของกูมาเป็นทุกข์หมด ทุกข์ทั้งปวงก็เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ นี่คือลักษณะที่เกิดขึ้นแห่งปัญจุปาทานขันธ์ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าได้ ท่องได้ จำได้อย่างนี้ จะต้องเป็นอนุปัสสี คือการมองเห็นชัดอยู่ว่ากำลังเกิดอยู่ในใจเป็นลำดับอย่างนั้น ๆ ๆ ๆ ๆ เมื่อไรเป็นผัสสะ เมื่อไรเป็นเวทนา เมื่อไรเป็นตัณหา เมื่อไรเป็นอุปาทาน เมื่อไรเป็นภพ เพราะมันต้องดับอันนี้ไปก่อน แล้วจึงเกิดอันนี้ ดับอันนี้ไปก่อนแล้วจึงเกิดอันนี้ ถ้าเราจะพูดในแง่ของขันธ์ ๕ มันก็ต้องเกิดรูปขันธ์ก่อน คือตากับรูป แล้วเกิดจักษุวิญญาณนี้ คือวิญญาณขันธ์ ๓ ประการนั้นเรียกว่าผัสสะ สังขารขันธ์อันดับแรก บางทีก็ไม่แน่ ไอ้ผัสสะนี้ทรงแจกเป็นลักษณะเวทนาก็มี ผัสสะที่พึงปรารถนา ไม่พึงปรารถนา หรือว่าเป็น ตอบไม่ได้ว่า ปรารถนา หรือ ไม่ปรารถนาอย่างนี้ก็มี นี้ก็คือสังขารขันธ์หรือเวทนาขันธ์ ก็ไม่แน่ แต่ถือกันว่าเป็นสังขารขันธ์ก็ได้ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา นี้คือเวทนาขันธ์ เกิดขึ้นแล้วมันก็ตรงนี้แหละ ถ้าว่าไอ้ผัสสะนั้นมันเผลอสติไป อาสวะ อวิชชาเข้าครอบงำมันก็เป็นอวิชชาสัมผัส เวทนาที่เกิดขึ้นก็ต้องจะเป็นไปเพื่อเป็นเหยื่อของอุปาทานขันธ์ ทำให้รูปนั้นกลายเป็นถูกยึดถือ เวทนานั้นถูกยึดถือ สัญญาถูกยึดถือ สังขารถูกยึดถือ วิญญาณถูกยึดถือ ก็กลายเป็นปัญจุปาทานักขันธาทุกขา คืออะไรบ้าง คือ รูปูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ ทีนี้จำไว้ให้ดีว่ามันมีคำว่าอุปาทานักขันธ์ให้เติมเข้าไป ถ้ารูปขันโธ เวทนาขันโธ สัญญาขันโธ อย่างที่ไปสวดศพนั้น อย่างนั้นไม่ได้หมายถึงอุปาทาน จนจบก็ไม่ได้หมายถึงอุปาทาน ถ้าจะหมายถึงอุปาทานอย่างในบาลีอภิธรรมนี้ต้องมีคำว่า สาสโว หรืออสาสโว หรือสาสวา เติมเข้าไป อุปาทานิโย หรืออุปาทานิยา ตามเข้าไป เติมเข้าไป ต่อท้ายนั้นอีกทีหนึ่งจึงจะเรียกว่า เป็นอุปาทานขันธ์ ถ้ารูปขันโธ ก็ต้องสาสโวอุปาทานิโย ถ้าเว อ้า, ถ้า ถ้าเวทนาก็ต้องเป็นเรื่อง สาสวา อุปาทานิยา ถ้าเป็นสัญญาก็เป็น สาสวา อุปาทานิยา ถ้าเป็นสังขาร มันก็เป็น สังขาโร สังขาระ ถ้าหากว่าเป็นพหูพจน์ เป็นสังขารา ก็เป็น สาสวา อุปาทานิยา ถ้าเป็นวิญญาณก็เป็น วิญญาณัง มันเป็น ......สาสวัง อุปาทานิยัง(นาทีที่ 51.12 เป็นภาษาบาลีฟังไม่ชัด)ตามรูปศัพท์บาลีและ ..... (นาทีที่ 51.21ฟังไม่ชัด) อันไหน ถ้ามีไอ้ ๒ คำนี้ต่อท้าย แล้วมันจึงจะอยู่ในกลุ่มของปัญจุปาทานขันธ์ ฉะนั้นที่เราไปสวดให้คนฟังนั้นสวดกันแต่เรื่องขันธ์ ไม่ได้เกี่ยวกับอุปาทาน รูป อดีต อนาคต ปัจจุบันนี้ รูปหยาบ รูปละเอียด รูปอะไร รูปอะไร รูปอะไร ก็สุดท้ายแล้วก็มันจบอันนี้เรียกว่า รูปขันธ์ อย่างนี้มันก็ยังไม่ใช่รูปูปาทานักขันโธ เพราะมันต้องมีอีกเรื่องหนึ่ง เอาวิชาเติมเข้าไป ฉะนั้นถ้าเมื่อใดเราเข้าใจความต่างกันลิบระหว่างคำว่า รูปขันธ์ กับคำว่า รูปูปาทานขันธ์ เมื่อนั้นเราจะสามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาข้อที่ ๔ นี้ ซึ่งเมื่อกระทำอยู่มันก็ไม่มีความล้มเหลวและจะทำได้ทุกคนตามมากตามน้อย หรือ ทำได้ถึงที่สุดจนสิ้นอาสวะก็ได้ นี่ย้ำอีกทีหนึ่งว่าไม่เหมือนกับการเจริญรูปฌาน เป็นต้น ซึ่งบางคนไม่อาจจะทำได้ แต่การทำให้สิ้นอาสวะนี้ ธรรมชาติ คล้าย ๆ กับธรรมชาติ มีไว้สำหรับทุกคน ทุกคนต้องทำได้ตามมาก ตามน้อย ขอแต่ให้เข้าใจ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ และ อุปาทานขันธ์ แล้วก็จะเข้าใจถึงว่ามันเกิด มันคืออะไร มันมีสมุทัยอย่างไร มันมีอัฏฐังคิกมรรคอย่างไร แล้วก็ดูอยู่ ๓ อย่างนี้เรื่อยไป จิตก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด
เอาเป็นว่าในวันนี้ผมมุ่งหมายเพียงแต่จะอธิบายความหมายถึงคำเพียงคำเดียวเท่านั้น คือคำว่า สมาธิภาวนา ต้องถอดรูปสมาสอันนี้ออกไปว่า การทำให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ ไม่ใช่การเจริญสมาธิลุ่น ๆ การทำให้เจริญ ทำอะไรให้เจริญละ ทำจิตให้เจริญ ทำกายวาจาให้เจริญ ทำอะไรให้เจริญ หรือว่าทำการปฏิบัติให้เจริญก็ตามใจ จะทำมรรคผลให้เจริญก็ได้ เพราะเครื่องมือนั้น คือ สมาธิ สมาธิในที่นี้ก็หมายถึงจิตที่ฝึกดีแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วในแง่ของสมาธิ มีความหมายแสดงไว้เป็นหลักใหญ่ ๓ ประการคือว่า จิตนั้นเป็นสมาหิตะ คือว่า ตั้งมั่น จิตนั้นปริสุทธะ คือ บริสุทธ์ จิตนั้นเป็นกัมมนียะ คือ คล่องแคล่วว่องไวต่อหน้าที่ที่จิตจะต้องทำ ถ้าได้ ๓ อย่างนี้แล้วก็เรียกว่าจิตนั้นเป็นสมาธิ และจิตที่เป็นสมาธิดีนั้นเอามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำความเจริญ ให้แก่ร่างกายก็ได้ ให้แก่กายก็ได้ ให้แก่วาจาก็ได้ ให้แก่ใจเองก็ได้ จิตเองก็ได้ เราต้องการให้อะไรเจริญ เราก็ใช้อำนาจของสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินี้ ทำ สร้างความเจริญ ถึงจะพูดว่าจะไปนิพพานได้ด้วยสมาธิภาวนานี้ถูกอย่างยิ่ง ถ้ามีความหมายอย่างนี้ แต่ถ้าคำว่าสมาธิหมายถึงสมาธิเฉย ๆแล้วมันก็ผิดอย่างยิ่งได้เหมือนกัน ลำพังสมาธิล้วน ๆ เช่นรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ จะเป็นนิพพานไม่ได้ แต่ถ้าสมาธิภาวนานี้ หมายถึงอย่างที่ว่านี้ ในอย่างที่ ๔ กำหนดความตั้งขึ้นและเปลี่ยนไปของปัญจุปทานขันธ์ อยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ไปนิพพานเองทีละนิด ๆ ๆ คือจะใกล้ความ ใกล้ความเป็นนิพพานเข้าไป ก็จะมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดทีละนิด ๆ ๆ ออกไป ๆ ๆ เป็นอันว่าถ้าการจะอธิบายความหมายของคำเพียงคำเดียว คือคำว่า สมาธิภาวนา แต่ก็ต้องการให้เห็นต่อไปว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังมีปัญหา พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะถ้อยคำที่เราใช้พูดกันอยู่นั่นแหละ เราไม่มีความหมายที่ตรงกัน หรือที่ถูกต้อง หรือที่สมบูรณ์ ยกตัวอย่าง เช่น คำว่าสมาธิภาวนานี้ เป็นต้น เมื่อพูดออกไปคนหนึ่งเข้าใจอย่าง คนหนึ่งเข้าใจอย่าง ผมเข้าใจว่าน้อยคนที่สุดที่จะเข้าใจคำว่าสมาธิภาวนานี้แปลว่า การทำความเจริญให้แก่ กาย วาจา ใจ ด้วยอำนาจของสมาธิ กลัวว่าจะไปพูดกันลุ่น ๆ ว่าการเจริญสมาธิหรือสมาธิภาวนา เพราะมันไปคล้ายกันมากกับคำว่า สมถะภาวนา หรือ วิปัสสนาภาวนา ในบาลีพบแต่คำว่า สมโถ จ วิปสฺสนา จ ไม่มีคำว่าภาวนาเติมท้าย ไอ้ที่มีภาวนาเติมท้ายนั่นคือหนังสือชั้นหลัง มาจาก นอก ออกนอก นอกพระไตรปิฎก หรือ หนังสือชั้นหลังก็เติมคำว่าภาวนาเข้าไป เป็นสมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา แต่ที่เป็นพุทธภาษิตในพระบาลีจะพบแต่คำว่า สมโถ จ วิปสฺสนา จ แต่ก็เป็นอันว่าภาวนาละ เพราะมันต้องทำให้มันเจริญขึ้นมา จึงจะมีสมถะและมีวิปัสสนา ฉะนั้นสมถะภาวนาก็แปลว่าเจริญสมถะ วิปัสสนาภาวนาก็เจริญวิปัสสนา แต่ทั้ง ๒ เจริญนี้มันมาถูกรวบด้วยคำว่า สมาธิภาวนา การทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ อย่างที่เรียกว่า ทำเพียงอย่างเดียวก็ได้เป็น ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อย่างที่กล่าวแล้ว
ฉะนั้นขอสรุปความเตือนซ้ำย้ำทีหนึ่งว่า ถ้าพูดว่าสมาธิภาวนาแล้ว ก็ขอให้ถือว่ามีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญารวมอยู่ในนั้นเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งถึงผลสุดท้าย คือ ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
นี่วันนี้เราก็พูดกันได้ ไอ้, เรื่องหนึ่ง ในฐานะเป็นเรื่องแรก คือ ความหมายอันลึกซึ้งของคำเพียงคำเดียวว่าสมาธิภาวนา แล้วก็มีอยู่ ๔ อย่าง แล้วแต่ใครจะเลือกเอาอย่าไหน แล้วก็จะได้ผลตามสมควรแก่การปฏิบัติอย่างนั้น และอย่างที่ ๔ คือสิ้นอาสวะนี้ เป็นสมาธิภาวนาที่ควรสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับท่านที่จะเป็นพระวิปัสสนาจารย์ คือว่า จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันโดยอาศัยไอ้สิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนา หรือ วิปัสสนาธุระ แล้วแต่จะเรียก และให้พึงทราบด้วยว่าธุระทั้งหมดนั้นมันรวมอยู่ในคำว่าสมาธิภาวนาตามความหมายในพระบาลีนี้ ในพระสูตรนี้ โดยเฉพาะ ที่อื่นอาจจะไม่ใช่อย่างนี้ เพราะว่ามันไม่ อ้า,มันไม่ได้กล่าวตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเสมอไป หรือ จะกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้ว ผมยืนยันให้ไปเปิดดูเอง พระสูตรที่ ๑ แห่งโรหิตัสสวรรค จตุกนิบาต อังคุตตรนิกาย จะพบคำว่าอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสมาธิภาวนาที่เราจะต้องสนใจ แล้ววันหลังเราค่อยว่ากันทีละอย่างโดยละเอียดถึงความรู้ประกอบสำหรับท่านที่จะเป็นพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย กระผมขอยุติคำบรรยายส่วนนี้วันนี้เพียงเท่านี้