แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : …เมื่อวานก็ฟัง เรื่องนั้นก็อธิบายแล้วเมื่อคราวก่อนๆ นู้น มันยืดยาว ถ้าว่าเขาพิมพ์ขึ้นเมื่อไหร่ก็อ่านเอาโดยละเอียด คือว่าอิทัปปัจจยตา มันไม่กล่าวอย่างอื่นนอกจากกล่าวว่า เมื่อมีสิ่งนี้ๆ ปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น อย่างนั้นเรื่อยไป ฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวว่าไม่มีอะไร และก็ไม่ได้กล่าวว่ามีอะไรได้โดยส่วนเดียว ไม่ได้กล่าวว่าไม่มีอะไรโดยส่วนเดียว ไม่ได้กล่าวว่ามีอะไรโดยส่วนเดียว เหมือนที่กล่าวว่าไม่มีอะไรโดยส่วนเดียวนั้น คือไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าพูดว่ามี มันก็เป็นสัสสตทิฏฐิ ถ้าพูดว่าไม่มี มันก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิ ทีนี้ตามแบบของอิทัปปัจจยตานั้นก็บอกว่ามีของที่อาศัยกันเกิดขึ้นชั่วคราวๆ อย่างสมมติก็เรียกว่ามี เป็นตัวตน อย่างไม่สมมติก็เรียกว่ามันมีชั่วเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือมีแต่ความเปลี่ยนแปลง อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าพูดว่าอนัตตานั้นไม่มีอะไรเลย นั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ อนัตตานี้มีแต่สิ่งที่เป็นอิทัปปัจจยตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย อาศัยกันเกิดขึ้นชั่วคราว ใจความมันมีเท่านี้ กลัวว่าคนเขาจะเข้าใจอนัตตาว่าไม่มีอะไรเลย ที่จริงมันก็มีขันธ์ มีธาตุ มีอายตนะ มีอะไรปรุงแต่งไปตามเรื่องของมันในลักษณะที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เรียกว่าอัตตาก็ไม่ได้ เรียกว่าไม่มีอะไรเลยก็ไม่ได้ //
คุณเป็งฮั้ว : นั่นแหละจึงเอาอิทัปปัจจยตา เป็นแกนกลางเครื่องเทียบใช่ไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : นี่เป็นหลักกลางๆ ให้สำหรับพูดไม่ให้ผิด ไม่มีอะไรที่เป็นไปอย่างที่สมมติหรือมั่นหมายกัน มีแต่ว่าอาศัยเหตุปัจจัยชั่วคราวเป็นไป เรียกว่าอิทัปปัจจยตา มันยังแปลกอยู่ ต่อไปก็คงเป็นคำที่เข้าใจกันได้เอง พูดกันรู้เรื่องเหมือนกับคำอื่นๆ เกิดขึ้นเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย อิทะแปลว่านี้ ปัจจยตาแปลว่าความมีปัจจัย,ความเป็นปัจจัย ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย หรือเพราะความเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนี้ พูดธรรมดาๆ หน่อย ก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เป็นไปตามปัจจัย ถ้าพูดว่าไม่มีเลย ก็ผิด พูดว่ามีจริงจัง ก็ผิด ฉะนั้นจึงว่ามีแต่ในฐานะที่เป็นอิทัปปัจจยตา//
คุณเป็งฮั้ว : ขอประทานโทษครับ ขอเรียนถามอาจารย์ เมื่อตะกี้นี้พอดีได้ฟังเขาสวดมนต์แปล ท่านสีกาสวดมนต์แปลไว้ว่า สัตว์ที่มีขันธ์ ๕ ก็มี ขันธ์ ๔ ก็มี ขันธ์ ๑ ก็มี แต่ทีนี้เรื่องขันธ์ ๕ นั้นมันเป็นคนธรรมดาเรานี้นะ แต่ขันธ์ ๔ กับ ขันธ์ ๑ นี้ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายเสียทีนะครับ จะได้หมดข้อข้องใจกันเสียทีหนึ่ง ว่าทำไมจึงมีขันธ์ ๔ มีขันธ์ ๑ และสัตว์พวกนี้รูปร่างมันเป็นอย่างไร มันจะน่ากลัวหรือไม่ หรือเราจะไปพบปะสังสรรค์กับพวกขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ นี้ได้หรือไม่ เพราะว่าถ้าลองเอามาเป็นคำสวดมนต์แล้ว ย่อมต้องมีจริงนะครับ/ ฉะนั้นการที่จะมีจริงโดยที่เราจะเข้าใจไม่ค่อยจะละเอียดอย่างนั้น มันจะเป็นการกังขาต่อไป ฉะนั้นก็ขอให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายเสียที จะได้หมดข้อสงสัยกันเสียที เป็นความกรุณาอย่างยิ่ง//
ท่านพุทธทาส : ทำไมไม่ถามอาจารย์ที่กรุงเทพฯ อยู่ใกล้ตำรา//
คุณเป็งฮั้ว : อาจารย์กรุงเทพฯ เขาบอกว่าไม่มีหรอกครับ เรื่องขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ ปฏิเสธกันหมด//
ท่านพุทธทาส : มันมีในคัมภีร์อภิธรรมนั้น ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ นี้ มีแต่ในพวกคัมภีร์อภิธรรม ๗ คัมภีร์ ในสุตตันตะในพุทธภาษิตก็ไม่มี ทีนี้พอได้ยินว่า ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ คนคิดเอาเองว่า เป็นสัตว์ที่มีขันธ์อย่างนั้น คุณเป็งฮั้วก็เลยคิดว่ารูปร่างมันคงแปลกประหลาด นี่เรียกว่าพูดภาษาคน เข้าใจเอาโดยภาษาคนก็เป็นสัตว์แปลกประหลาด ทีนี้เข้าใจโดยภาษาธรรม มันก็คนนี้แหละ บางเวลาเขาไม่มีความรู้สึกทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นอย่างนี้จะว่าเรียกว่าเขายังเหลือกี่ขันธ์ล่ะ เขาเข้าฌาน เข้าสมาบัติ เข้าอะไรก็ตาม ดับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีความรู้สึก
คุณเป็งฮั้ว : เหลือขันธ์เดียว //
ท่านพุทธทาส : อ้า,เหลือขันธ์เดียว ทีนี้บางเวลา เขาไม่สนใจในรูปขันธ์ ก็มีจิตที่เกลียดชังรูปร่างกายนี้ สนใจอยู่แต่เพียงฝ่ายจิตใจ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คนประเภทนี้ก็เรียกว่าเขามี ๔ ขันธ์ มันเป็นพวกฤาษี มุนี โยคี หรือใครที่ไหนก็ได้ที่เขาเกลียดรูป เขาเกลียดรูป เขาไม่ยอมรับรูปว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขา เขาจะเอาแต่นามหรือจิตใจ ทีนี้ถ้าว่ามันมีจิตใจมันก็มี ๔ ขันธ์ ฉะนั้นรูปร่างมันไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ก็เป็นคนอยู่ตามเดิมนั่นแหละ บางเวลามันดับความรู้สึกที่เป็นจิตใจเสียหมด เหลือแต่รูปขันธ์ ขันธ์เดียว ทีนี้บางเวลา แต่ว่าบางคนบางพวกเท่านั้นนะ ไม่ใช่ทุกคน เขาเพิกถอนความพอใจความยินดีหรือว่าความรับว่ามีว่าของเรานี้ออกเสีย ในส่วนรูปร่างกายนี้ พอใจแต่นาม คนประเภทนั้นมันมี ๔ ขันธ์ นี่สรุปความอีกทีว่า คนที่ปล่อยไปตามเรื่องธรรมดาสามัญนั้นมันมี ๕ ขันธ์ ทีนี้คนที่มันเกลียดรูป ไม่ยอมรับเอารูป คนนั้นมันก็มี ๔ ขันธ์ คนที่มันเกลียดนาม ไม่ยอมรับเอานาม มันก็เหลือแต่รูป เพราะฉะนั้นก็มี ๑ ขันธ์ เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้//
คุณเป็งฮั้ว : แต่นี้ต่อไปก็เลยบอกว่า ส่วนบุญที่เราได้ทำกันมาแล้วนี้ ทีนี้จะบอกกับสัตว์อีกจำพวกหนึ่ง
ก็ไปบอกไม่ได้ ทีนี้ก็ต้องวานเทวดาไปบอกว่า เวลานี้เราจะเอาส่วนบุญอันนี้ให้กับสัตว์ชนิดนี้ ทำไมต้องไป
วานเทวดาอีกล่ะครับ ทำไมสัตว์ชนิดนี้มันเป็นอย่างไร เพราะว่าต้องเทวดาถึงจะรู้จัก หรือคนเราๆ นี้คงจะพบปะกัน
ไม่ได้ หรือจะพูดกันไม่รู้เรื่อง//
ท่านพุทธทาส : แล้วคุณคุณเป็งฮั้วรู้จักเทวดาดีแล้วหรือ เทวดาคืออะไร//
คุณเป็งฮั้ว : ก็ยังไม่เคยได้พบ//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ถ้ายังไม่เคยพบ ก็ยังไม่ต้องพูด ก็เอาเทวดามาดูกันก่อนสิ//
คุณเป็งฮั้ว : ท่านก็ลองอธิบายเรื่องเทวดาให้ฟังบ้าง//
ท่านพุทธทาส : ก็คงจะหมายถึงสิ่งที่มันพิเศษเหนือคนธรรมดา อะไรก็ได้ที่มันพิเศษที่คนธรรมดามันทำ
ไม่ได้ ก็อาศัยสิ่งนั้น เทวดา ก็แปลว่าทิพย์ คำว่าทิพย์ ก็แปลว่าไม่ใช่ธรรมดา เขาเชื่อกันในสมัยนั้นว่า ชีวิตที่
มันเป็นทิพย์ ที่มันเร็วมาก หรือมันไปได้ทุกหนทุกแห่งเหมือนกับวิทยุอย่างนี้ มันก็มีชีวิตชนิดนั้น เขาวานมัน แต่ว่า
ความจริง มันไม่ได้อยู่ที่วาน ไม่วานอย่างนี้ มันอยู่ที่ว่าเรานี้ตั้งใจถึงขนาดนั้น ถ้าว่ามันไม่ได้รู้ วานใครช่วยบอกทีเถอะ นี่คิดมาก มันเมตตามาก แม้เขาไม่รู้ เราก็ยังพยายามที่ว่าให้ใครช่วยทำให้มันรู้ทีเถอะ คือคนนั้นมันเก่งกว่าคนธรรมดา ก็เรียกมันว่าเป็นเทวดาก็แล้วกัน มันอาจจะทำให้รู้ได้ เป็นธรรมเนียมแต่โบราณ คนเขามีเมตตากรุณามาก คือพยายามทุกอย่างทุกทางที่จะให้คนอื่นได้รับส่วนบุญ ก็ตั้งใจอย่างนั้น เพียงแต่ตั้งใจอย่างนั้นก็พอแล้ว//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าเป็นบทสวมมนต์นะครับ มันจะต้องเป็นจริง//
ท่านพุทธทาส : เป็นบทกรวดน้ำ นี่เขาแต่งขึ้นโดยอาศัยหลักเมตตา ผู้ที่มีเมตตาก็จะตั้งความปรารถนาอย่างนั้นแหละให้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ให้รู้แล้วให้อนุโมทนา ถ้ายังไม่รู้ ใครสามารถไปบอกให้รู้ได้ คนนั้นช่วยไปบอกที ก็ต้องพูดอย่างนี้ เพราะว่าเขายังมีความตั้งใจมาก ตั้งใจจะให้สัตว์ทั้งหลายได้รู้และได้อนุโมทนา เรียกว่าพูดอย่างปุคคลาธิษฐานก็ได้ ว่าเราจะให้ทุกคนมันรู้ว่าเราตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้ ขอให้ช่วยบอกต่อๆ ไปเถิด ใครมีโทรศัพท์ ใครมีวิทยุช่วยบอกต่อๆ แค่นี้ก็พอแล้ว//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้มีปัญหาอีก ๓-๔ ข้อ ที่เราฟังกันที่กรุงเทพฯ ฟังกันจนช่ำชอง แต่ทีนี้ที่เราฟังมาช่ำชองนั้นมันอาจจะผิดพลาดไปมาก เช่นอย่าง สังโยชน์ ๓ ที่โสดาบันละได้นั้น พูดกันอย่างคล้ายๆ กับว่า น้ำไหลไฟดับไปหมด บางทีมันก็อาจจะเข้าใจผิด ฉะนั้นอยากจะฟังท่านอาจารย์อธิบายเรื่องโสดาบันที่ละสังโยชน์ ๓ นี้ ว่าที่แท้จริงมันเป็นอย่างไรครับ อยากจะทราบถึงที่แท้จริงๆ นะ ที่โสดาบันท่านละได้นั้น มันมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง ขอความกรุณา//
ท่านพุทธทาส : เอาล่ะ,ทีนี้ที่คุณฟังมาแล้ว เข้าใจอยู่แล้ว ๓ อย่างมีอะไรบ้าง//
คุณเป็งฮั้ว : ก็สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา แล้วก็ สีลัพพตปรามาส//
ท่านพุทธทาส : และที่ฟังมาแล้ว สักกายทิฏฐิคืออะไร//
คุณเป็งฮั้ว : สักกายทิฏฐิ เขาก็บอกว่า เข้าใจผิด,ความเห็นผิด//
ท่านพุทธทาส : เห็นผิดว่าอะไร เห็นผิดว่าอย่างไร//
คุณเป็งฮั้ว : เห็นผิดในตัวตนที่เป็นทุกข์ ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง//
ท่านพุทธทาส : แล้ว วิจิกิจฉา ล่ะ//
คุณเป็งฮั้ว : วิจิกิจฉา คือหมายความว่า ไม่ไปเชื่ออาจารย์เขา//
ท่านพุทธทาส : วิจิกิจฉานั้น คือความลังเล//
คุณเป็งฮั้ว : วิจิกิจฉานั้นมันความลังเลในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือในพระไตรปิฎก หรือไม่เข้าใจอริยสัจ ๔ หรือไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าอาจารย์ในกรุงเทพฯที่บรรยาย ไม่ใช่เป็นเช่นนี้ ฉะนั้นอยากจะให้อาจารย์...//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,เขาว่าอย่างไรก็ว่ามาสิ เขาอธิบายว่าอย่างไร วิจิกิจฉา เขาอธิบายว่าอย่างไร//
คุณเป็งฮั้ว : วิจิกิจฉา ไม่ได้บรรยายถึงว่า ไม่เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่รับรองข้อนี้//
ท่านพุทธทาส : เขาอธิบายว่าอย่างไรบ้าง//
คุณเป็งฮั้ว : พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นอย่างในพระไตรปิฎกนี้//
ท่านพุทธทาส : ทั้งสามอย่างนี้ ทราบมาแล้วว่าอย่างไร//
ผู้ถาม : สักกายทิฏฐิในที่นี้ ที่เขากำลังอธิบายอยู่ หมายความว่าความเห็นผิดในเรื่องตัวตนที่เป็นทุกข์,สักกายทิฏฐิ//
ท่านพุทธทาส : เห็นผิดว่าอย่างไร//
ผู้ถาม : ความเห็นผิดในเรื่องตัวตนที่เป็นทุกข์//
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ เห็นผิดว่าอะไร ว่าอย่างไร/ เห็นผิดว่าเป็นตัวตน//
ผู้ถาม : ครับ,เห็นผิดว่าเป็นตัวตน//
ท่านพุทธทาส : แล้วอย่างไร ที่เป็นทุกข์อย่างไร//
ผู้ถาม : ที่เป็นทุกข์หมายความว่า ไปยึดในตัวตนนั้น ทำให้เกิดทุกข์//
ท่านพุทธทาส : แล้ววิจิกิจฉา ล่ะ//
ผู้ถาม : วิจิกิจฉา คือลังเลสงสัย สงสัยในทุกข์//
ท่านพุทธทาส : ลังเลในทุกข์ ลังเลว่าอย่างไร//
ผู้ถาม : ลังเลว่า...//
ท่านพุทธทาส : ว่ามันยังสุขอยู่หรือ//
ผู้ถาม : ครับ
ท่านพุทธทาส : ต้องให้แน่ๆ สิ ฟังมาว่าอย่างไร//
ผู้ถาม : สักกายทิฏฐิ หมายถึงว่าละความเห็นผิดในตัวตนที่เป็นทุกข์ เพราะตอนแรกนั้นเข้าใจว่า เกิดชีวิตเป็นทุกข์ และเกิดวิญญาณเป็นทุกข์ เห็นว่าเกิดกิเลสเป็นทุกข์ ละความเห็นผิดทั้งสองอย่างนั้นแล้วมาเห็นถูกทางนี้//
ท่านพุทธทาส : เห็นผิดว่าอย่างไร ช่วยพูดให้ชัด เห็นผิดว่าอย่างไร/ ละนั้น มันไม่ผิด ละนั้นมันถูก สิ่งที่ว่าละนั้นคืออย่างไร ตัวสักกายทิฏฐินั้นคือเห็นว่าอย่างไร//
ผู้ถาม : คือของเดิมจะเชื่อว่า เกิดชีวิตเป็นทุกข์ และเกิดวิญญาณเป็นทุกข์ แล้วก็ละความเห็นผิดอันนั้นเสีย มาเห็นถูกว่าเกิดกิเลสเป็นทุกข์//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้สีลัพพตปรามาสนั้น เขาบอกว่า การที่ไปไหว้พระพุทธเจ้าที่เป็นปฏิมากรนั้น นี้เขาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส เขาว่าแต่ก่อนนี้เขาเคยไหว้พระอยู่ตลอดเวลา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไหว้แล้ว ถ้าขืนไหว้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส//
ท่านพุทธทาส : ไหน, ว่าใหม่ให้ชัดหน่อยสิ//
คุณเป็งฮั้ว : คือในลักษณะที่ไปเที่ยวไหว้พระที่โน่นที่นี่นั้น ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส//
ท่านพุทธทาส : และอย่างไรไม่เป็น//
คุณเป็งฮั้ว : ก็ไม่ไหว้ ครับ/ ไม่ไหว้พระนะครับ คือว่าการศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษามากๆ แล้วไม่ต้องไหว้พระ นี่มันเป็นสังโยชน์ เป็นการละ เป็นพระโสดาบันหรือเปล่า//
ท่านพุทธทาส : ไม่ไหว้พระ เป็นพระโสดาบันไม่ไหว้พระ อย่างนั้นหรือเปล่า//
คุณเป็งฮั้ว : ครับ เพราะว่าเราเคยถามอาจารย์ที่บรรยายนี้ว่า แต่ก่อนนี้เคยไหว้พระไหม ท่านก็บอกว่า แต่ก่อนนี้ฉันไหว้พระเรื่อย แต่เดี๋ยวนี้ฉันไม่ไหว้พระแล้ว เพราะว่าพระนั้นมันเข้าไปอยู่ในตัวฉันแล้ว จะไปไหว้อย่างไร ถ้าขืนไหว้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสไป/ ผมจึงสงสัยว่า สังโยชน์ ๓ นี้มันทำอย่างไรถึงได้เป็นโสดาบัน หรือโสดาบันนี้มันจะเป็นอย่างไรได้ ขอให้อาจารย์อธิบายโสดาบันที่มันเป็นได้จริงๆ นั้นมันเป็นอย่างไรครับ ที่ถูกต้องนะครับ ขอความกรุณา//
ท่านพุทธทาส : เอาล่ะ,พูดกันทีละอย่างสิ คนที่พูดว่ามีพระอยู่ในตัวหรือมีตัวเป็นพระเสร็จแล้วนั้น คนอย่างนี้จะยังมีสีลัพพตปรามาสได้อีกหรือ คนที่ดีถึงขนาดที่ว่าตัวเป็นพระหรือพระอยู่ในตัวเสร็จแล้วนั้น คนอย่างนี้จะกลับไปเป็นสีลัพพตปรามาสได้อีกหรือ มันดีขนาดนี้แล้ว มันจะเลวขนาดนั้นได้อีกหรือ//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่า...//
ท่านพุทธทาส : แต่ว่าอย่างไร//
คุณเป็งฮั้ว : พระโสดาบันนี้ ตกลงไม่ต้องไหว้พระแล้วนะครับ//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,แล้วกัน พระของคุณก็ยังไม่รู้ว่าอะไรนี่ พระอะไรก็ว่าให้แน่สิ ถ้าเป็นพระจริงก็ไหว้ได้ พระอรหันต์ก็ยังไหว้ เพื่อให้คนอื่นมันเอาเป็นตัวอย่าง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีพระอรหันต์ก็ยังปฏิบัติ ทั้งที่ท่านไม่จำเป็นคือว่าไม่มีกิเลสแล้วนั้นยังปฏิบัติเพื่อให้เป็นตัวอย่างให้มันสม่ำเสมอกัน ใครจะรู้ว่าคนไหนเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ นั้นมันรู้กันไม่ได้ ฉะนั้นที่เป็นพระอรหันต์ท่านจึงทำเหมือนกับที่เขาทำ ไหว้พระ สวดมนต์ ลงปาฏิโมกข์อะไรก็เหมือนกัน คนที่ไม่เป็นพระอรหันต์มันก็จะได้เอาเป็นตัวอย่างเพื่อเคร่งครัด นี้ถ้าว่าคนมันมีธรรมะสูงถึงกับเป็นพระด้วยตัวเองแล้ว ไปทำอะไรก็ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส จริงไหม ถ้ามันดีถึงขนาดที่ว่ามันเป็นพระเสียเอง มันจะไปทำอะไรให้ผิดอีกไม่ได้ เป็นสีลัพพตปรามาสอีกไม่ได้//
คุณเป็งฮั้ว : ท่านอาจารย์หมายความว่าที่เป็นพระเอง ก็เป็นพระพุทธเจ้าเองแล้วหรือ//
ท่านพุทธทาส : ก็แล้วแต่เขาหมายสิ เขาเป็นพระไปแล้ว จะไปไหว้พระอะไรอีกล่ะ เขาว่าอย่างนั้น//
คุณเป็งฮั้ว : ก็หมายความว่า ถ้าเราเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ก็ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส//
ท่านพุทธทาส : หมายถึงไปทำอะไรเข้าล่ะ//
คุณเป็งฮั้ว : ก็เป็นผู้สำเร็จมรรคผล//
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าแล้ว จะไปมีสีลัพพตปรามาสได้โดยวิธีไหนอีกล่ะ//
คุณเป็งฮั้ว : แน่นอนครับ//
ท่านพุทธทาส : อันนั้นแน่นอน เราก็พูดขัดกันอยู่ในตัว//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ว่าการที่เรากล่าวว่า เรามีพระอยู่ในตัวแล้วนี้ ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้เป็นอะไรเลย จะบาปไหม//
ท่านพุทธทาส : ถ้ามันโกหก มันก็บาปสิ//
คุณเป็งฮั้ว : ถ้าบาปแค่นี้จะตกนรกไหม//
ท่านพุทธทาส : ตกแน่ ขนาดโกหกแล้วก็ตกนรกแน่ โกหกด้วยเจตนา เป็นตกนรกแน่//
คุณเป็งฮั้ว : ก็เรื่องสักกายทิฏฐิล่ะครับ//
ท่านพุทธทาส : เอาล่ะ,ทีนี้ เราก็จะว่าเรื่องของเราบ้าง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทั้งสามคำนี้มีความหมายเฉพาะ แต่ว่ามันมีรายละเอียดกว้างขวางมากทั่วไปหมด สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ แปลว่าอะไร//
คุณเป็งฮั้ว : ความเห็น//
ท่านพุทธทาส : กายะ
คุณเป็งฮั้ว : กาย ครับ
ท่านพุทธทาส : สะ
คุณเป็งฮั้ว : เอ่อ, สะ ก็...
ท่านพุทธทาส : สักกายะ มันประกอบด้วย สะ แล้วก็ กายะ แล้วก็ ทิฏฐิ/ สะ นี้ แปลว่าอะไร//
คุณเป็งฮั้ว : เป็นขึ้นมา//
ท่านพุทธทาส : สะ นี้มันแปลได้สองอย่าง อย่างมากก็ได้สองอย่าง คือแปลว่าของตน ถ้า สะ มันมาจากคำว่า สักกะ สะนั้นแปลว่าของตน ถ้าคำว่าสะ นั้นมาจาก สัสสตะ คำว่า สะ นั้นแปลว่าเที่ยง สักกายะนี้แปลว่ากายเที่ยง หรือว่ากายของตน ทิฏฐิว่ากายเที่ยงหรือทิฏฐิว่ากายของตน นี้เป็นสักกายทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยงหรือเห็นว่าของตนนั้นมันอย่างเดียวกันนั่นแหละ เพราะมันเที่ยง มันจึงคิดว่าของตน คิดว่าของตนหมายความว่ามันเที่ยง มันยึดถือว่าเที่ยง คือเขาถือว่ากายของตนหรือว่ากายเที่ยงนี้อย่างโง่เขลา เขาเข้าใจอย่างโง่เขลาเรื่องว่ากายนี้ของตนของเรานั้นก็เที่ยง นี่ปุถุชนเขาเห็นอย่างนี้ แต่พระโสดาบันเริ่มละความเห็นอันนี้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่ามันจะละได้หมดสิ้นเชิง เพียงแต่ว่ามันเริ่มละ หรือมันจะต้องละได้แน่
คุณก็ไปสังเกตดูคนธรรมดา คนธรรมดานั้นมันของกู อะไรก็ของกูแน่ คนธรรมดานั้นตัวกูและของกูแน่ ทีนี้พระโสดาบันนั้นมันเริ่มคลอนแคลน คือว่าเริ่มไม่ไปในทางที่ว่าตัวกูว่าของกู แต่มันยังละไม่ได้หมด มันจะไปละตัวกู-ของกูหมดเมื่อเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นสักกายทิฏฐิ ก็แปลว่า เริ่มละทิฏฐิขั้นหยาบๆ เลวๆ เบื้องต้นว่ากายนี้เที่ยงหรือว่ากายนี้ของตน แต่ยังละไม่ได้หมดหรอก คำอธิบายในอภิธรรมมันทำให้ยุ่ง คือเขาไปอธิบายการละสักกายทิฏฐินี้เหมือนกันทุกตัวอักษรกับการละมานะ ละมานะที่แปลว่าหันละนั้น..(นาทีที่ 27:47) มานะ อุทธัจจะ วิจิกิจฉานั้น มันเหมือนกันทุกตัวหนังสือไม่มีผิด คือละความเห็นที่ว่าขันธ์เป็นตน ตนเป็นขันธ์ ขันธ์ในตน ตนในขันธ์ ละอย่างนั้นมันละหมด นี้ใครๆ ก็เข้าใจไม่ได้ พระอรหันต์ก็ละอย่างนั้น พระโสดาบันก็ละอย่างนั้น ใครก็เข้าใจไม่ได้ แต่ที่จริงมันเป็นอย่างนั้น มันคล้ายๆ จะเป็นอย่างนั้น คือมันเริ่มละความมั่นหมายว่าตัวตนเป็นอันดับแรก คือละได้ชนิดที่ปุถุชนมันละไม่ได้ ปุถุชนทั่วไปมันมีทิฏฐิคือเห็นว่าตัวตนของตนนี้มันเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้มันเริ่มละอย่างหยาบได้ ถ้าละได้หมดก็เป็นอันละมานะได้ คือเป็นพระอรหันต์ นี้มันละส่วนที่หยาบส่วนเบื้องต้น ก็หมายความว่าละความคิดเห็นว่าตัวตนอย่างที่คนโง่ที่สุดมันมีนั่นแหละ ที่ปุถุชนที่โง่เง่าที่สุดมันมี ความคิดว่าตัวตนนั้น อันนั้นมันละได้ แต่มิได้หมายความว่าหมดสิ้น ก็แปลว่าเริ่มละอัตตวาทุปาทานในชั้นหยาบๆ เลวๆ ได้ แต่ว่าชั้นสูงสุดยังละไม่ได้ เช่นอัสมิมานะนี้ละไม่ได้
ถ้าเราจะฟันกันว่า ละอัตตวาทุปาทานได้ มันก็ต้องแบ่งเป็นสองชั้น อัตตวาทุปาทานอย่างเลวๆ อย่างที่ปุถุชนมีมันละได้ แต่มันไม่หมดจนถึงกับว่ามันละอัสมิมานะได้ อัสมิมานะก็คือมานะว่าฉันมีอยู่ ทีนี้มันคงจะไปฉันไปอะไรที่ไหนอย่างละเอียด ก็แปลว่ามันเริ่มเข้าทาง พระโสดาบันนั้นมันแปลว่าเริ่มเข้าทาง เริ่มเข้ามาในหนทาง คุณจำหลักอันนี้ไว้จะอธิบายได้ง่าย คือว่าไม่ผิด
โสตา นั้น มันแปลว่ากระแสหรือแนวทาง แล้ว อาปันนะ มันแปลว่าถึง ถึงกระแสถึงแนวทางนี้ว่าเป็นคนเริ่มเข้าทาง แต่ไม่ใช่ถึงปลายทาง ปุถุชนนั้นมันไม่เข้ามาในหนทาง ไม่เข้ามาในโสตาเลย และไม่เข้ามาในหนทางเลย พอเริ่มเข้ามาในหนทางก็เรียกว่าโสตะ-อาปันนะ แปลว่าถึงกระแส แต่ยังไม่ถึงปลายทาง ฉะนั้นการถึงกระแสแล้วนี้มันก็ต้องไปต่อไปอีกจนถึงปลายทาง ปลายทางคือพระอรหันต์
ฉะนั้นสักกายทิฏฐินี้ ก็คือเห็นว่ากายเที่ยงแท้ถาวร ควรจะยึดถือว่าของตน ละความเห็นว่ากายนี้เที่ยงแท้ถาวร ควรจะยึดถือว่าของตนนี้เสียได้ เห็นว่ากายนี้มันไม่เที่ยง เห็นว่ากายนี้มันไม่ควรยึดถือเป็นของตน แต่มันจะไปตนที่อะไรเข้าอีกก็ไม่ทราบ นี่ละอัตตวาทุปาทานในขั้นเริ่มแรก ก็เรียกว่าละสักกายทิฏฐิได้ แต่ไม่ได้หมดสิ้นเชิงนะ กามราคะ ปฏิฆะอะไร ก็ยังเหลืออยู่นะ สำหรับพระโสดาบัน
ทีนี้ วิจิกิจฉา นั้น ให้แปลตามตัวเสียดีกว่า อย่าแปลว่าสงสัยเลย ให้แปลว่าลังเล ก็ลังเลในอะไร ลังเลในสิ่งที่ตัวจะถือเอาเป็นที่พึ่ง สิ่งที่ตัวจะถือเอาเป็นที่พึ่งแท้จริงนั้น มันลังเล เช่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความดี บุญกุศล ความผิด ความถูก คัมภีร์ตำราอะไรก็ตาม มันลังเล กระทั่งลังเลในความสามารถของเราว่าเราคงไปไม่รอดแน่ คำว่าลังเลนี้กว้าง มันลังเลในสิ่งที่ไม่ควรลังเล นี่เรียกว่าวิจิกิจฉา
ทีนี้พอเราหมดความลังเลชนิดนี้ นี่ก็เรียกว่าเริ่มเข้าทาง จะไม่ลังเลต่อพระพุทธ ไม่ลังเลต่อพระธรรม ไม่ลังเลต่อพระสงฆ์ ไม่ลังเลว่าพระพุทธเจ้านี้ดีแน่หรือ เป็นที่พึ่งได้หรือ พระธรรมนี้จะดับทุกข์ได้จริงหรือ พระสงฆ์นี้ดีแน่หรือ หรือว่ากรรมดีกรรมชั่วนี้มันจริงหรือ อะไรก็ตามที่ว่ามันจะเป็นหลักที่ถูกต้องนั้น ถ้ามันยังลังเลอยู่แล้วก็เรียกว่า วิจิกิจฉา ฉะนั้นต้องหยุดลังเล คือต้องพ้นจากการลังเล ละการลังเลได้ ร้อยแปดอย่างแหละ ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรอก อะไรก็แล้วแต่เขาจะรู้สึก ทีนี้เราก็สรุปเรียกอย่างเดียวดีกว่า คือสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงนั้นเขายังลังเลอยู่ มันรวมหมดแล้ว นี้เรียกว่าวิจิกิจฉา ความสงสัยมันมีคำบาลีอีกคำต่างหาก เขาแปลว่า สํสโย กงฺขา อะไรนั้นมันมี มันผิดกันนิดหนึ่ง สํสโย ก็คือความสงสัย วิจิกิจฉา คือลังเล กงฺขา ก็คือหวัง ฉงนหรือว่าสงสัยชนิดหนึ่ง//
ผู้ถาม : ทีนี้ปุถุชนธรรมดานั้น มักจะเอาเกิดชีวิตเป็นทุกข์ ทีนี้เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า อ้าว,มันไม่ใช่เกิดชีวิตแล้วที่เป็นทุกข์ มันเกิดกิเลสขึ้นกับชีวิตถึงจะเป็นทุกข์ คนๆ นั้นก็จับตัวเกิดอันนี้ได้ จะเข้าข่ายของโสดาบันไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : คุณจะเข้าข้อไหนล่ะ นั้นมันไปแยกเป็นรายละเอียดปลีกย่อย//
ผู้ถาม : สักกายทิฏฐิ ครับ//
ท่านพุทธทาส : อันนั้นมันละเอียดปลีกย่อย ตัวหนังสือเขาไม่มุ่งหมายอย่างนั้น/ และพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก พูดว่าความทุกข์ต้องจากความยึดมั่น มันมีหลักตายตัว ความยึดมั่นนั้นคือกิเลส ความเกิดนี้ถ้าไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์หรอก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าไม่ได้ยึดมั่นว่ามันของเราหรืออะไรนี้ ไม่เป็นทุกข์ แต่ทีนี้มันยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันจึงเป็นทุกข์ เพราะมันยึดมั่น ฉะนั้นต้องมีหลักชัดลงไปว่า อะไรก็ตามพอไปยึดมั่นเข้าก็เป็นทุกข์ โดยเฉพาะขันธ์ทั้ง ๕ เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานหรือยึดมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ มันทุกข์อยู่ที่ความยึดมั่น//
ผู้ถาม : ทีนี้ถ้าเขาเห็นถูกในทุกข์ว่าเกิดกิเลสเป็นทุกข์ คนๆ นี้เขาจะมีดวงตาเห็นธรรมหรือยังครับ, เข้าข่ายแห่งโสดาบันหรือยัง//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ก็คุณไม่อ่านนี่ โสตาปัตติยังคะ ที่พูดกันอยู่เสมอ ว่าองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน//
ผู้ถาม : อันนี้เขาชี้ว่า ...//
ท่านพุทธทาส : ก็ต้องหมายความว่า มันเห็นทุกข์ถูกต้อง เห็นทุกข์ถูกต้องมันก็มีผลตลอดไปถึงอย่างอื่นแหละ เช่นว่า มันหมดความสงสัยในเรื่องนี้ หรือว่ามันก็จะมั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้ามันเห็นทุกข์ถูกต้อง ฉะนั้นก็ต้องพูดว่าเห็นความทุกข์ถูกต้อง ก็หมายความว่าเห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นทางให้ถึงความดับทุกข์ด้วย ก็ไปเรื่องอริยสัจ/ การรู้อริยสัจที่ถูกต้องในระยะแรก ระยะแรกของความถูกต้องในการเห็นอริยสัจนี้เรียกว่า พระโสดาบัน ปุถุชนไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องอริยสัจเลย นี่เริ่มรู้เรื่องอริยสัจอย่างถูกต้องในขั้นเริ่มแรกก็เป็นพระโสดาบัน ทีนี้ต่อไปอีก อริยสัจนั่นแหละถูกต้องมากขึ้นไป ถูกต้องแรงขึ้นไป ถูกต้องถึงที่สุด ก็เป็นพระอรหันต์//
คุณเป็งฮั้ว : คือเขาว่ายังสงสัยอยู่เรื่องพระธรรม ว่าไม่ใช่เป็นคำของพระพุทธเจ้าตรัส แล้วอย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกข์หรือเปล่าครับ เห็นทุกข์ถูกต้องหรือเปล่า/ คือบุคคลจำพวกนี้ยังสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ออกจากพระโอษฐ์ เพราะว่า เอ่อ.....//
ท่านพุทธทาส : เอ๊ะ,พูดอย่างไรกัน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือ ไม่เข้าใจ/ ต้องว่าพระคัมภีร์สิ//
คุณเป็งฮั้ว : อันนั้นมันไม่ใช่คำที่ออกจากพระโอษฐ์ คล้ายๆ กับว่าตัวของเขาเองนั้นต้องได้ยินจากพระโอษฐ์ จึงจะเชื่อว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นพระธรรมในคัมภีร์นั้นยังสงสัยอยู่ในบุคคลจำพวกนี้//
ท่านพุทธทาส : เขาสงสัยในคัมภีร์ ไม่ใช่สงสัยในพระธรรม หมายความว่า เขาก็เชื่อว่าพระธรรมนี้ดับทุกข์ได้จริง แต่ทีนี้เขาสงสัยตำราในเล่มคัมภีร์นั้นว่าจะเป็นของที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงหรือไม่ อย่างนี้ไม่ได้สงสัยพระพุทธเจ้า ไม่ได้สงสัยพระธรรม ไม่ได้สงสัยพระสงฆ์ สงสัยคัมภีร์ที่คุณถืออยู่นี่//
คุณเป็งฮั้ว : แต่นี่สงสัยพระคัมภีร์ที่เราศึกษาอยู่นี้ เพราะว่าเวลานี้พระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปแล้ว เราก็มีอยู่อันเดียวก็คือคัมภีร์คำสอนนี้ เป็นที่พึ่งที่อาศัยอยู่ ทีนี้เรายังมาสงสัยอันนี้อยู่ แล้วเราจะเอาจากที่ไหน//
ท่านพุทธทาส : เขาสงสัยพระธรรม หรือว่าสงสัยคัมภีร์//
คุณเป็งฮั้ว : พระธรรมคำสอนที่อยู่ในคัมภีร์//
ท่านพุทธทาส : เขาสงสัยว่าอย่างไร//
คุณเป็งฮั้ว: สงสัยว่าเป็นคำไม่จริง ฉะนั้นเขาจะไม่รับ จะไม่ยอมไปอ่าน จะไม่ยอมไปศึกษา//
ท่านพุทธทาส : ถ้าไม่จริง ไม่ใช่พระธรรม มันต้องจริงต้องถูกจึงเป็นพระธรรม มันไปติดอยู่ในพระคัมภีร์ที่ไม่จริง มันก็ไม่ใช่พระธรรมสิ//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้บุคคลเรานี้ เวลานี้เราก็ไม่ได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะว่าท่านปรินิพพานไปนานแล้ว ก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่เราจะศึกษาพระธรรมคำสอนจากคัมภีร์เท่านั้นเอง ฉะนั้นคำว่าพระธรรมจริงๆ นั้นเราก็ไม่ได้พบ ฉะนั้นบุคคลที่บอกว่าเขานั้นเห็นทุกข์แล้วโดยที่เขาเข้าใจขึ้นมาเองว่านี่คือพระธรรม แล้วสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ในไตรปิฎกก็ดีหรือในคัมภีร์ก็ดีหรือในหนังสือหนังหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ดี ถือว่าเป็นการไม่ถูก สิ่งที่ถูกนั้นคือสิ่งที่ตัวอาจารย์แกคิดขึ้นมาเอง ถ้าอย่างนี้เราเรียกว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่พ้นทุกข์หรือเรียกว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ถึงธรรมของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่//
ท่านพุทธทาส : พูดให้มันเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่แล้ว เมื่อตะกี้พูดว่าเห็นทุกข์ใช่ไหม เขาเห็นทุกข์ใช่ไหม//
คุณเป็งฮั้ว : เขาบอกว่าเขาเห็นทุกข์//
ท่านพุทธทาส : แล้วเขาเห็นถูกจริงหรือเปล่า เขาเห็นถูกต้องหรือเปล่า//
คุณเป็งฮั้ว : ก็ความเชื่อของเขา เขาบอกว่าเขาเห็นถูกนะ แต่ว่ามาเรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าแบบนี้จะเป็นคนที่โมฆบุคคลหรือเปล่า//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ถ้าเขาเห็นทุกข์ถูกต้อง ก็เป็นคนดีสิ เป็นคนประเสริฐสิ ถ้าเขาเห็นความทุกข์อย่างถูกต้อง ก็ดีสิ ก็เป็นพระอริยเจ้า//
คุณเป็งฮั้ว : แต่นี้ถูกต้องแต่ปากนะ//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ก็ตามใจเขาสิ//
คุณเป็งฮั้ว : จะเป็นโมฆบุคคลหรือเปล่า//
ท่านพุทธทาส : เราพูดว่าถูกต้องต่างหากเล่า ทีนี้ถ้าเขาเห็นทุกข์ถูกต้องเห็นจริง มันก็จริงสิ,ใช่ไหม ถ้าเขาเห็นแต่ปาก เขาแกล้งว่า เขาก็โกหกสิ แล้วมันมีปัญหาอะไรล่ะ ถ้าเขาเห็นถูกต้องเห็นจริง มันก็ถูกต้อง//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้การพิสูจน์นะครับ อย่างเช่นเวลานี้มีคดีเกิดขึ้น เราจะไปถึงศาล ในความเข้าใจว่าฉันได้ทำอย่างนี้ ฉันมีความบริสุทธิ์ คนที่ไปเป็นจำเลยแล้วไม่มีใครบอกว่าไม่บริสุทธิ์สักคน จะพยายามบอกว่าข้าพเจ้านี้เป็นผู้บริสุทธิ์//
ท่านพุทธทาส : มันก็โกหก//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ทีนี้อยู่ที่ผู้พิพากษาจะพิสูจน์ข้อเท็จจริง และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านั้น ก็ได้จากหลักฐานหรือการสอบสวนต่างๆ ที่นำเอามาพิจารณา แต่ทีนี้ธรรมะต่างๆ ที่อาจารย์เขากำลังบรรยายอยู่นี้ ก็อยากได้พระคุณเจ้าให้ คล้ายๆ กับว่าให้ใช้วิธีสืบสวนสอบสวน เพื่อจะได้เป็นผู้พิพากษามาพิพากษาในคดีเรื่องว่าตัวของฉันนั้นเวลานี้เป็นผู้เห็นทุกข์แล้ว ถ้ามีบุคคลที่กำลังกล่าวว่าเห็นทุกข์อย่างนี้ พระคุณเจ้าจะเอาอะไรมาสอบสวนสืบสวนบุคคลนี้ เพื่อจะได้คล้ายๆ กับว่าเป็นหินที่มาทดลองทองแท่ง เขาเรียกว่าหินอะไร//
ท่านพุทธทาส : ถ้าพยานมันโกหก ผู้พิพากษามันก็โง่,ใช่ไหม มันถูกหรือ ถ้าพยานมันเท็จมันโกหก ผู้พิพากษามันก็โง่,ใช่ไหม การวินิจฉัยนะ ทีนี้คุณคุณเป็งฮั้วเป็นพยานเท็จหรือพยานจริง ที่มาพูดนี้//
ผู้ถาม : นี่หรือครับ ผมก็เป็นพยานจริงอยู่ตลอด//
ท่านพุทธทาส : เอ๊ย, นี่คุณจำมาผิดๆ บ้าง คุณมาพูดเอาเองบ้าง มันไม่ตรงกับที่เขาพูด คุณเป็นพยานเท็จ แต่ทำไมผู้พิพากษาโง่ นี้ไม่เอา/ ถ้าเขาเห็นทุกข์จริงๆ มันก็พอ แล้วมันก็จะตรงกับข้อความที่ถูกต้องในพระคัมภีร์ ถ้าข้อความนั้นมันไม่ตรงกับที่เขาเห็นจริง ข้อความนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง ถ้าตรงกันมันก็ถูกต้อง//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้อยากให้พระคุณเจ้าอธิบายถึงว่า ผู้เห็นทุกข์จริงๆ นั้นมีอาการอย่างไรบ้าง เช่นว่าการพูดจา หรือการปฏิบัติ หรือการที่จะแสดงออกนั้น มีอาการอย่างไร พอที่เราจะมองเห็น//
ท่านพุทธทาส : อันนี้ไม่พูดหรอก เพราะมันไม่เหมือนกัน มันพูดอะไรที่แน่นอนไม่ได้ คุณไปเห็นทุกข์เสียก่อนสิ เดี๋ยวก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าปัจจัตตัง เอามาพูดแทนคนอื่นไม่ได้ แม้คนที่เห็นทุกข์แล้ว มันก็ไม่ได้มีลักษณะอาการเหมือนกันทุกคน บางคนก็พูด บางคนก็ไม่พูด บางคนก็ไม่มีหน้าตาเปลี่ยนแปลง บางคนมันก็เปลี่ยนแปลง แล้วคนที่ไม่เห็นทุกข์มันก็มีหน้าตาเหมือนกับคนที่เห็นทุกข์ได้เหมือนกัน ฉะนั้นอย่าดีกว่า อย่าไปดูหน้าตาท่าทางเลย ทุกข์ของใคร ใครก็เห็น เห็นจริงด้วยตนเอง มันมีหน้าที่ที่ว่าจะไปพิจารณาเห็นทุกข์อย่างไร อย่าไปทดสอบเป็นพยานเท็จแบบนั้น มันตีหน้าไม่ได้//
คุณเป็งฮั้ว : ท่านลองว่าสิครับ คือหมายความว่า เวลานี้เราจะฝากเนื้อฝากตัวกับคนที่เขาสำเร็จ//
ท่านพุทธทาส : คุณไม่มีทางจะรู้ว่าใครสำเร็จหรอก//
คุณเป็งฮั้ว : เราจะฝากเนื้อฝากตัวกับคนที่ว่าเขากำลังเห็นทุกข์ ลักษณะที่เราจะฝากเนื้อฝากตัวกับคนที่เขาสำเร็จ//
ท่านพุทธทาส : ทำอย่างนั้น มันจะโง่เป็นครั้งที่สอง//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ,จะโง่อีกนะ//
ท่านพุทธทาส : จะต้องถามเขาว่า นี่ที่ว่าเห็นทุกข์นั้นคือทำอย่างไร บอกซิ วิธีจะเห็นทุกข์ทำอย่างไร แล้วฉันก็จะไปลองทำดู แล้วถ้าฉันจะรู้สึกเห็นทุกข์ ฉันจึงจะเชื่อว่าจริง ว่าพูดจริง อย่าไปฝากเนื้อฝากตัวให้เขาว่าอย่างไรแล้วเอาอย่างนั้น มันต้องถามเขาว่าทำอย่างไร พอเขาบอกให้ทำอย่างไร ก็ไปทำอย่างนั้น ถ้ามันเห็นทุกข์ มันก็จริง ถ้าไม่เห็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ ก็ไม่จริง หรือว่าเรายังทำไม่ถึงขนาด ก็ทำให้มันถึงขนาด นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ไม่เคยอ่านกาลามสูตร ไปอ่านเสียบ้างสิ ว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา นี้ก็อย่าถือเอาอย่างนั้น อย่าถือเอาว่าข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก นี่กาลามสูตร เพียงแต่ว่าอ่านดูในพระไตรปิฎก แล้วก็ไม่เชื่อต่อพระไตรปิฎก ต้องเอาข้อความนั้นมาศึกษา มาใคร่ครวญ มาปฏิบัติลองดู ถ้ามันดับทุกข์ได้จริง จึงจะพูดว่า เออ,ถือเอาได้ ถือเอาโดยเหตุผลที่ว่ามันแสดงแก่เราจริงๆ ไม่ใช่เหตุผลแต่เพียงว่ามันมีอยู่ในพระไตรปิฎก กาลามสูตรนั้นดีมาก คุณคุณเป็งฮั้วต้องเอาแล้วแหละ ไม่อย่างนั้นแย่แหละ ไปศึกษาทั้ง ๑๐ ข้อนั่นแหละ ภาษาจีนก็มี ถ้าไม่มีก็เอาภาษาไทย
๑๐ ข้อ ข้อที่สำคัญที่สุด ก็คือว่า อย่าถือเอาเพราะว่า, อย่าเชื่อ อย่ารับ อย่าถือเอา เพราะว่ามันมีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎก อย่าเชื่อ อย่ารับ อย่าถือเอา เพราะว่าคนนี้เป็นครูของเรา สมณะนี้เป็นครูของเรา นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปเชื่อด้วยเหตุที่ว่าสมณะนี้เป็นครูของฉัน ทีนี้เราจะถือแต่เพียงว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของเรา เราต้องเชื่อ อย่างนี้ไม่ถูกตามที่พระพุทธเจ้าท่านสั่ง เราต้องฟังแหละ สมณะนี้เป็นครูของเรา แล้วก็พูดๆ เราก็ฟังๆ ฟังแล้วก็มาทำตาม อ้าว,มันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ เพราะฉะนั้นก็ไม่เชื่อ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็เชื่อ ก็เรียกว่า มา สมโณ โน ครุ อย่าถือเอาเพราะเหตุว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา แล้วข้อที่ ๙ มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อเพราะว่ามันน่าเชื่อ ผู้พูดหรือคำพูดนี้มันน่าเชื่อ เรียกว่า ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อเพราะว่าคำพูดหรือผู้พูดมันน่าเชื่อ อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าอันนี้มันเข้ากันได้กับความเห็นของเรา หรือมันทนต่อการพิสูจน์ของเรา เพราะเมื่อเรามันโง่แล้ว เราก็พิสูจน์อย่างโง่ๆ มันก็ทนกับการพิสูจน์ อย่าเชื่อโดยเหตุว่ามันทนต่อการพิสูจน์ของเรา อย่าเชื่อโดยนัยยะแห่งปรัชญา อย่าเชื่อโดยตรรกะคือนัยยะแห่งตรรกวิทยา อย่าเชื่อเพราะว่ามันมีในพระไตรปิฎก อย่าเชื่อเพราะว่าคนเขาทำตามสืบๆ กันมาอย่างนี้ อย่าเชื่อเพราะเหตุว่าเขาเล่าลือกันทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างนี้ อย่าเชื่อเพราะว่าได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ มันมีอยู่ ๑๐ ข้อ ไปทำความเข้าใจให้ดี สำหรับที่ว่าเราจะไม่ได้ไปเชื่อสักว่าเชื่อตามบุคคลที่พูด หรือว่าเขาเป็นครูของเรา หรือเป็นอย่างนั้น อย่างมาพูดตามหลักนี้ ก็ต้องว่า อย่าเชื่อนะ ที่บอกนี้ คุณฟังไปแล้ว คุณก็เอาไปทำมันดูสิ ถ้ามันมีผลอย่างนั้นจริง จึงจะเชื่อ//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ผมก็ไม่ยอมเชื่อง่ายๆ แบบที่เรียกว่าเขากำลังเล่นปาหี่นั้น คือว่านักแสดงกลนี้ก็พยายามพูดในลักษณะที่ว่าที่แกทำนั้นมันจริง มันจริงทุกอย่าง แต่ในลักษณะที่คนถูกหลอกนั้นโดยมากถูกหลอกเช่นนี้เป็นต้นนะครับ/ แต่ลักษณะจริงๆ ของนักปาหี่นั้นจะต้องบอกว่าการแสดงกลของเรานี้เป็นการไม่จริง แล้วก็แสดงกลนั้นออกมา ที่ท่านมองเห็นว่าเป็นจริงนั้น ก็เพราะความมือไวของผม และความรวดเร็วของผมที่คุณมองไม่เห็น อย่างนั้นผมจึงบอกว่าเป็นนักปาหี่ที่ดี แต่เดี๋ยวนี้มีนักปาหี่นักแสดงกลนี้กลับมาบอกว่า กลของฉันนั้นเป็นเรื่องจริง การแสดงกลของฉันนั้นเป็นเรื่องจริง//
ท่านพุทธทาส : เรื่องจริงก็ไม่เรียกว่ากลหรอก//
คุณเป็งฮั้ว : ครับ, คือว่าคนเดี๋ยวนี้ถูกโฆษณาจนลืมไปหมด จนลืมตัวไปหมด เพราะว่าเอะอะตื่นเช้าขึ้นมาถึงยันค่ำยันเย็น ก็โฆษณากันตลอดเวลา การโฆษณานี้จะทำให้คนหลงใหลเชื่อ//
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ มันอยู่ในข้อหนึ่งที่ข้อห้าม ๑๐ ข้อ ลักษณะนั้นก็เป็นข้อหนึ่งใน ๑๐ ข้อ//
คุณเป็งฮั้ว : เช่น ข้อไหน//
ท่านพุทธทาส : ข้อที่เขาว่านั่นแหละ ข้อที่เขาว่านั้นแหละอย่าไปเชื่อเขา หรือว่าข้อที่คนอื่นเขาเชื่อกัน ทุกคนเขาเชื่อนั้น เราก็ไม่เชื่อเขา//
คุณเป็งฮั้ว : เช่นอย่างเขาบอกว่า เขาได้เห็นทุกข์นั้น อย่างนี้เราจะไปเชื่อง่ายๆ ไม่ได้//
ท่านพุทธทาส : เราไม่เชื่อ//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ ไม่เชื่อ//
ท่านพุทธทาส : ก็ย้อนถามว่า คุณมีวิธีทำอย่างไรจึงเห็นทุกข์/ อย่างคนนี้เขาบอกว่าเขาเห็นทุกข์ คุณก็ถามว่าคุณมีวิธีทำอย่างไรจึงเห็นทุกข์ ลองว่ามา แล้วเราก็เอาวิธีนั้นไปทำดู//
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, เอาล่ะครับ แหม,ข้อนี้แจ่มแจ้งดีมาก//
ท่านพุทธทาส : แจ่มแจ้งหมด ไม่ทันไรก็แจ่มแจ้งหมด คนบอกมาก็ถามอีก//
คุณเป็งฮั้ว : เขาบอกว่าเขานั้นเป็นคนเห็นทุกข์ แล้วเราก็ไปหลงเชื่อที่เขาบอกว่าเขาเห็นทุกข์จริงนั้น อย่างนี้แล้วถูกต้มแน่/ เอาล่ะ,ครับ ขอบพระคุณครับ/
ท่านพุทธทาส : อ้า,ถูกต้มแน่//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้ข้อต่อไปก็ สีลัพพตปรามาส//
ท่านพุทธทาส : อ้าว,ทำไม พูดให้จบเสียนี่/ สีลัพพตปรามาส สีละ ก็ศีล พตะ ก็พรต ปรามาส ก็ลูบคลำ คำว่าปรามาส แปลว่าลูบคลำ พตะนั้นก็พรต สีละก็ศีล ก็ลูบคลำศีลและพรต นี้ก็หมายความว่า มันคลำโง่ๆ มันไม่รู้จักสิ่งที่มันคลำอยู่ มันไม่รู้จัก มีไหม อาการอย่างนี้มีไหม//
คุณเป็งฮั้ว : มีครับ//
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ มันเอามาพลิกดู มาคลำดูอยู่นี่ มันก็ไม่รู้จักว่าอะไร มันโง่ นั่นแหละคือสีลัพพตปรามาส ถือศีลอยู่ก็ไม่รู้ว่าศีลนี้คืออะไร เพื่ออะไร วิธีอะไร มันก็ไม่รู้ ประพฤติพรตอยู่มันก็ไม่รู้ มันเหมือนกับคลำอยู่อย่างโง่ๆ เมื่อคนไหว้พระมันโง่ มันก็เป็นสีลัพพตปรามาส เมื่อคนไหว้พระมันไม่โง่ มันก็ไม่เป็น//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้ไหว้พระอย่างไรถึงจะไม่โง่//
ท่านพุทธทาส : เอ้า,ก็รู้อยู่ในใจว่าพระคืออะไร พระเป็นอย่างไร ไม่เอาเนื้อเอาตัวพระพุทธเจ้า แต่เอาคุณธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ,ไหว้พระพุทธเจ้า ก็ไปไหว้คุณธรรมของพระพุทธเจ้า//
ท่านพุทธทาส : ต้องถึงตัวพระพุทธเจ้า อย่าไปถึงรูปสัญลักษณ์ รูปแทน รูปอะไร//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, อย่างนั้นการที่อาจารย์ที่เขากำลังสอนอยู่ เขากล่าวว่า เวลานี้นั้นเขาไม่ต้องไหว้พระพุทธรูปแล้ว//
ท่านพุทธทาส : เขาไม่ต้องไหว้พระพุทธรูปนั้น ก็คงจะถูก แต่ที่ว่าเขาจะไม่ต้องไหว้พระพุทธเจ้าแล้วนั้น ดูมันจะบ้าแล้ว//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, เขาบอกว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ในตัวเขาแล้ว เวลานี้ไม่ต้องไหว้พระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ไม่ได้แน่//
ท่านพุทธทาส : คุณว่าเขาพูดโกหกหรือพูดจริง/ ถ้าเขาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะมีปัญหาอะไรกับการไหว้หรือไม่ไหว้ล่ะ/ ถ้าเขาเป็นพระพุทธเจ้าเสียแล้ว มันก็ไม่มีปัญหาที่จะไหว้หรือจะไม่ไหว้//
คุณเป็งฮั้ว : แต่ทีนี้ก็มีบุคคลโง่ๆ เขาคิดว่าตัวเขาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา อย่างนี้จะบาปไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : เขาหลอกตัวเอง//
คุณเป็งฮั้ว : ครับ, การหลอกตัวเองนี้จะบาปไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : บาปหลายซ้อน//
คุณเป็งฮั้ว : ตกนรกไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : ตกหลายนรก//
คุณเป็งฮั้ว : เอาล่ะ,ครับ ขอบพระคุณ เพราะว่าการที่สำนึกตัวว่าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเอง จะไม่ไหว้พระพุทธเจ้านี้ ผมว่าอย่างที่พระคุณเจ้าว่า ต้องตกนรกและนรกที่น่ากลัวมาก//
ท่านพุทธทาส : พระพุทธเจ้าก็เคารพพระธรรม ไม่เคยได้ยินหรือ พระพุทธเจ้าทุกองค์ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบัน ทุกองค์ล้วนแต่เคารพพระธรรม เย จ พุทฺธา อตีตา เย จ พุทฺธา อนาคตา ปจฺจุปฺปนฺนา จ เย พุทฺธา สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน ทุกองค์เคารพพระธรรม//
คุณเป็งฮั้ว : สาธุ//
ท่านพุทธทาส : พระธรรมคือพระพุทธเจ้าใช่ไหม//
คุณเป็งฮั้ว : ครับ//
ท่านพุทธทาส : พระธรรมนั้นคือพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม//
คุณเป็งฮั้ว : ตอนนี้เรื่องสังโยชน์ ๓ ที่เป็นโสดาบันก็หมดไปแล้วนะครับ ทีนี้ต่อไป...//
ท่านพุทธทาส : ยังไม่หมด/ คุณไม่เข้าใจ คุณยังไม่เข้าใจ ยังไม่หมด//
คุณเป็งฮั้ว : ท่านจะต่ออีกไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : เอ้า,ก็คุณยังไม่เข้าใจ คุณว่าเอาเอง/ ก็ลองว่าไปดูสิ มันยังไม่หมด ยังไม่เข้าใจ เร็วนัก มันไม่ทันจะเข้าใจ//
คุณเป็งฮั้ว : อ้อ, ยังมีอีกอันหนึ่งครับ เขาบอกว่าโสดาบันนี้ ถ้าเราเป็นแล้ว ต้องไปเกิดอีก ๗ ชาติ//
ท่านพุทธทาส : ไม่รู้ว่าชาติชนิดไหน มันต้องพูดกันให้แน่นอน ชาติชนิดไหน/ ชาติมีกิเลส ๗ หน หรือว่าชาติเข้าท้องแม่แล้วไปเกิดอีก ๗ หน//
คุณเป็งฮั้ว : สองอย่างนี้พระคุณเจ้าจะว่าอย่างไร//
ท่านพุทธทาส : ว่าอย่างมีกิเลสอีก ๗ หน ยังจะมีกิเลสตัวกูอีก ๗ หน//
คุณเป็งฮั้ว : อ๋อ, มีอีก ๗ หน//
ท่านพุทธทาส : ไม่ต้องตายแล้วไปเข้าท้องแม่อีก ๗ หน เขาจะเกิดเป็นตัวกูของกูอีก ๗ หน เป็นอย่างมาก ทีนี้ก็จะไม่เกิดอีก เพราะพูดกันไม่รู้เรื่องใช่ไหม มันถือเอาคนละอย่าง เขาก็ถืออย่างเกิดจากท้องแม่ เรียกว่าเกิด เราก็ถือเอาเกิดจากอวิชชาตัวกู เรียกว่าเกิด เกิดอวิชชาอีก ๗ หน ก็พอแล้ว จะเป็นพระอรหันต์แล้ว//
คุณเป็งฮั้ว : ถ้าสกิทาคามี//
ท่านพุทธทาส : เกิดอีกหนเดียว//
คุณเป็งฮั้ว : เกิดหนเดียว//
ท่านพุทธทาส : ใช่//
คุณเป็งฮั้ว : แล้วก็อนาคามี//
ท่านพุทธทาส : ก็ไม่เกิดอีก//
คุณเป็งฮั้ว : พระอรหันต์ ก็...//
ท่านพุทธทาส : ก็ไม่เกิดเหมือนกัน คือมันพ้นไปอีก พระอนาคามี ก็ไม่มาเกิดอีก ส่วนอรหันต์นั้นมันว่างไปเลย//
คุณเป็งฮั้ว : ก็เป็นอันหมด นะครับ//
ท่านพุทธทาส : อะไรหมด//
คุณเป็งฮั้ว : คือสังโยชน์ ๓ นี้ว่ากันหมดแล้ว//
ท่านพุทธทาส : อะไรหมด//
คุณเป็งฮั้ว : สังโยชน์ ๓//
ท่านพุทธทาส : อะไรหมด ของคุณหมดหรือ//
คุณเป็งฮั้ว : หมดสงสัย//
ท่านพุทธทาส : อ้าว, คิดว่าสังโยชน์ของคุณหมด//
คุณเป็งฮั้ว : ทีนี้ต่อไป มันก็มีปัญหาเรื่องสังขาร ๓ สังขารนี้มันมีกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ก็อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องสังขาร ๓ นี้ ว่าสิ่งที่ถูกต้องมันเป็นอย่างไร//
ท่านพุทธทาส : เรื่องสังโยชน์ ๓ ยังไม่ทันจบ ไม่ทันเข้าใจ ไม่ทันแจ่มแจ้ง ไปเรื่องอื่นแล้ว/ ไม่เอา อย่างนี้ไม่เอา เสียเวลาเปล่า//
คุณเป็งฮั้ว : เอาๆ ครับ ท่านลองว่าสังโยชน์ ๓ ต่อก็ได้//
ท่านพุทธทาส : มันเรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของอาตมา เรื่องของคุณ/ รู้จักสังโยชน์ ๓ ให้ถูกต้องสิ//
คุณเป็งฮั้ง : เอ้อ...//
*ท่านพุทธทาสกล่าวปฏิสันถารกับญาติโยมที่มาเยี่ยมวัด
ท่านพุทธทาส : เพิ่งมากันเดี๋ยวนี้หรือ มาจากกรุงเทพฯหรือ มีอะไรจึงมาถึงนี่ล่ะ มาดูวัดนี้หรือ/ เอ้า,เชิญเดินให้มันรอบวัด ไปที่นั่นก็ได้ ไปดูของในนั้น แล้วก็ออกจากนั้นก็เดินให้มันรอบภูเขา//
ท่านพุทธทาส : ก็อย่างนี้แหละ ก็คุยกันอย่างนี้แหละ/ มาจากไหนล่ะ//
ผู้มาเยี่ยมวัด : กระผมมาจากกรุงเทพฯครับ ผมเคยเจอพระคุณเจ้าไปเทศนาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ดูเหมือนราวๆ ปี ๒๕๐๕//
ท่านพุทธทาส : ก็หลายปีแล้วสิ ถ้าโรงพยาบาลสงฆ์ก็หลายปีแล้ว//
ผู้มาเยี่ยมวัด : พอดีกรมประชาสงเคราะห์เขาจัด ก็เลยมา//
ท่านพุทธทาส : ก็มาเที่ยว/ กรมประชาสงเคราะห์จัดใช่ไหม แล้วมากันกี่คน//
ผู้มาเยี่ยมวัด : ประมาณ ๔๐ กว่าคนครับ//
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวนี้มานี่หมดแล้ว//
ผู้มาเยี่ยมวัด : รถมีมา ๔ คันครับ ตามกันเข้ามา คงจะไปดูทางรอบๆ นี้//
ท่านพุทธทาส : ไปดูในจุดนี้ เรียกว่าโรงหนัง เพราะคนเขาชอบดูหนัง ก็เลยเรียกโรงหนัง โรงหนังทางวิญญาณ คือมันมีภาพที่ให้ดู แล้วถ้าเข้าใจก็จะเข้าใจธรรมะ ดูภาพแล้วเข้าใจธรรมะ รวบรวมเอาไว้ในตึกหลังนี้ ภาพแขก ภาพจีน ภาพญี่ปุ่น ส่วนมากก็เป็นภาพไทยจากสมุดข่อย ทีนี้ก็ดูภาพปั้นที่ติดอยู่รอบๆ หรือไปดูที่โรงปั้นเลยก็ยิ่งดี//
ผู้มาเยี่ยมวัด : วันนี้เวลามันน้อย คงจะไม่พอ ก็คงจะดูได้เท่าที่มีเวลา//
ท่านพุทธทาส : ทีนี้ก็ไปดูทั่วๆ ไป ดูสระนาฬิเกร์ อันนั้นเป็นตัวอย่างว่า บางทีเราก็ไม่เขียนเป็นภาพ คือสร้างขึ้นเลย สร้างสระใหญ่ๆ ขึ้น มีมะพร้าวอยู่กลางสระต้นหนึ่ง เป็นภาพที่ให้ไปนั่งพิจารณาเรื่องนิพพานอยู่ตรงกลางวัฏฏสงสาร เดี๋ยวนี้คนมันไปหากันคนละทิศ นิพพานอยู่ทิศหนึ่ง วัฏฏสงสารอยู่ทิศหนึ่ง มันไม่พบ ให้ไปนั่งพิจารณาดู นี่ก็มีอยู่ที่ตรงโน้น ว่าจะดูความดับทุกข์นั้น มันต้องดูที่ความทุกข์ คือให้ความทุกข์มันดับลง แล้วความดับทุกข์มันอยู่ที่ตรงนั้น ต้องดูตรงนั้นจึงจะเห็น นี่เอาไปไว้กันคนละมุมโลกอย่างนี้ มันก็ไม่พบ อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่สร้างขึ้นในวัดนี้ในที่นี้ เพื่อให้คนได้มานั่งเพ่งพิจารณา ไปนั่งริมสระนะ ไปพิจารณาข้อความนี้ อย่างนี้ก็มี บนยอดเขานี้มันเป็นโบราณสถานที่ทิ้งร้างอยู่ตั้งพันกว่าปี มันมีอิฐสมัยอยุธยายังเหลืออยู่ ก็ใช้เป็นที่เวียนเทียนที่บูชาอยู่บนยอดเขา พระอยู่หลังภูเขาห้าสิบหกสิบรูป แล้วก็อุบาสิกาอยู่ด้านโน้น หลังป่านั้นไป นี้ไม่มีใครอยู่แล้ว โรงครัว โรงฉัน โรงธรรม โรงติดต่อ อยู่ฝ่ายโน้น ทีนี้ฝ่ายโน้นเป็นลำธาร มีกุฏิพระบ้าง ทุกอย่างปล่อยไปตามธรรมชาติ//
คือว่าเราถือว่า ธรรมชาติมันสอนดีกว่าคนสอน ฉะนั้นจึงคงธรรมชาติไว้ ทีนี้คนต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับคำสอนจากธรรมชาติ คือทำจิตใจให้เหมาะๆ มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้เองโดยธรรมชาติแวดล้อม ก็รู้ความรู้สึกที่ถูกต้องได้เอง นั่งกันอย่างธรรมชาติเหมือนครั้งพุทธกาลนี้ นั่งกันตามธรรมชาติ ตรงนี้เป็นที่ประชุม เทศน์ อบรม ทำบุญเลี้ยงพระ ทุกอย่างอยู่ที่นี่ ประชุมราษฎรก็มี//
ผู้มาเยี่ยมวัด : ถ้าจะมาค้างพักที่วัดนี้ได้ไหมครับ//
ท่านพุทธทาส : ก็ได้เหมือนกัน ถ้าพักอย่างแบบวัดนี้ คือมันไม่มีอะไรที่หรูหรา พักอย่างธุดงค์คนธุดงค์ เวลานี้ก็มีหลายสิบคน เกือบร้อยคนที่พักอยู่ในนี้ ถ้าอย่าเป็นอย่างวันมาฆะหรือวิสาขะนี้ ที่พักว่าง พอถึงวันวิสาขะมาฆะที่พักไม่พอ ต้องพักที่โรงเรียนบ้าง ต้องพักที่ค่ายลูกเสือบ้าง ถ้ามาหลายร้อยคนต้องพักที่ค่ายลูกเสือ ต้องเป็นโอกาสที่ว่ามันไม่มีตรงกับวันสำคัญ ที่พักจะว่าง//
ผู้มาเยี่ยมวัด : ผมเคยไปหาท่านปัญญานันทภิกขุ ที่นนทบุรีอยู่บ่อยๆ //
ท่านพุทธทาส : มันก็ดี ไปแสวงหาโอกาส เพื่อจะได้ยินได้ฟัง//
ผู้มาเยี่ยมวัด : อย่างนั้น ก็ขอไปดูตามที่เขาดูกันครับ//
ท่านพุทธทาส : ไปดูสิ ในนี้เข้าไปก็จะมีพระคอยอธิบาย ที่ตรงโน้นก็มีพระไว้คอยอธิบาย ไปดูได้ หรือจะชวนพระองค์ไหนพาเป็นเพื่อนไปด้วยก็ได้