แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการถวายความรู้รอบตัวแก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายในครั้งนี้ ผมก็อยากจะกล่าวถึงถ้อยคำที่มีความกำกวมหรือเข้าใจได้ยากและเข้าใจผิดๆ กันอยู่ต่อไปอีกตามเคย ทั้งนี้ผมสังเกตเห็นว่าปัญหามันเหลืออยู่มาก เพราะว่าเราไม่เข้าใจอะไรจริง แม้แต่เรื่องที่เราคิดว่าเข้าใจแล้วเข้าใจเกินไปแล้ว มันก็ยังไม่ถูก หรือว่ามันถูกไม่หมด มันไม่ถูกถึงขนาดที่จะเป็นประโยชน์ได้ ยิ่งสังเกตแล้วจะยิ่งเห็นว่าในพระบาลีโดยเฉพาะนั้น พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสถึงคำธรรมดาๆ แต่ว่ามันมีความหมายมากกว่าธรรมดา เช่นตรัสคำว่า ตา,จักษุ,ดวงตานี้ มันมีความหมายมากกว่าดวงตาที่เรารู้จักกันหรือว่าที่เราพูดกัน ทีนี้พอเราได้ฟังพระพุทธภาษิตนั้น เราก็เข้าใจนิดเดียวคือเท่าที่เราคิดหรือเข้าใจว่าดวงตานี้มันคืออะไร
ผมได้สังเกตดูตลอดมา แล้วพยายามค้นคว้ารวบรวมดูตลอดมา คำชนิดนี้มันมีอยู่มาก แล้วก็เป็นคำธรรมดาที่สุดทั้งนั้น เช่น คำว่าตา ว่าหู ว่าจมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นต้น มันไม่มีความหมายเพียงเท่านั้นเท่าที่เราเข้าใจ มันมีความหมายมากถึงขนาดว่าไม่ต้องพูดเรื่องอื่นกันก็ได้ พูดกันแต่เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นก็พอ มันก็พอที่จะรู้และปฏิบัติให้ดับทุกข์สิ้นเชิงได้ ก็เลยคิดว่าจะพูดกันเรื่องนี้ในวันนี้
มีพระพุทธภาษิตอยู่ชัดในสังยุตตนิกายว่า จกฺขุí ภิกฺขเว สญฺโญชนีโย ธมฺโม ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจักษุเป็นธรรมอันเป็นที่ตั้งของสังโยชน์ ว่า โย ตตฺถ ฉนฺทราโค, ตํ สญฺโญชนํ ฉันทราคะที่มีในธรรมเป็นที่ตั้งของสังโยชน์นั้นคือสังโยชน์ มันก็มีเท่านั้นเอง ทีนี้ทรงจำแนกไปเป็น โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ วิญญาณะ เรื่อยไปจนครบทั้ง ๖ พูดเป็นภาษาง่ายๆ ว่า ตา เป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ สังโยชน์คือกิเลสเป็นเหตุให้ผูกพัน แล้วฉันทราคะในตานั้น คือตัวสังโยชน์ นี่มันผิดจากที่เราเคยเรียนเคยฟังเคยรู้กันมาว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ๑๐ อย่างนี้เป็นสังโยชน์ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันทราคะ ความกำหนัดหรือความพอใจ ที่แท้ก็คือความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย ในใจ นั้นเป็นสังโยชน์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ทีนี้ฉันทราคะในสิ่งนี้นั่นแหละคือตัวสังโยชน์ สังโยชน์ในลักษณะนี้มุ่งจะแสดงกิริยาโดยตรง จะไม่จำแนกชนิดอะไรมากมาย เพราะว่ามารวมอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ามันหมดการยึดถือหรือการผูกพันเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว สังโยชน์ไหนๆ มันก็เกิดไม่ได้
ทีนี้ปัญหามันก็มีอยู่ที่คำว่าตา นี่ เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เรียกว่าสังโยชนียธรรม เป็นไปเพื่อสังโยชน์หรือเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง แต่ละอย่างๆ เป็นธรรมหรือเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ถ้าเกิดมีความยินดีด้วยความพอใจในสิ่งนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นสังโยชน์ขึ้นมาเมื่อนั้น นี้มันแสดงว่าเราไม่ต้องรู้เรื่องอื่นก็ได้ ในการที่จะละสังโยชน์ทั้งหลายนั้น รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ให้พอก็แล้วกัน เพราะว่าถ้ามันไม่มีฉันทราคะในอายตนะทั้ง ๖ นี้แล้วสังโยชน์ที่ไหนมันก็เกิดไม่ได้ เพราะอันนี้มันเป็นตัวสังโยชน์ การที่จะเกิดสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้นมันมีต้นตอมาจากผัสสะทั้งนั้น เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้มากมายหลายแห่งว่าทิฏฐิทั้งหลายนี้เกิดมาจากผัสสะ นี้ก็แปลก บางทีจะค่อยพูดเรื่องนี้สักทีหนึ่ง มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายเกิดมาจากผัสสะ โดยเฉพาะมโนสัมผัส จึงเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมาในจิตใจ ทีนี้สังโยชน์ก็เหมือนกัน มันมาจากผัสสะ ผัสสะก็มาจากอายตนะ
เมื่อพูดถึงผัสสะ มันก็หมายถึงอายตนะ เพราะว่าผัสสะมันไม่มาจากอื่นได้นอกจากจะมาจากอายตนะ ทีนี้ถ้าพูดถึงอายตนะมันก็ต้องเลยไปถึงผัสสะ เพราะเพียงแค่อายตนะมันทำอะไรไม่ได้ และมีอายตนะนั้นก็มีเพื่อผัสสะ และในที่บางแห่งพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสผัสสะเป็นต้นตอหรือเป็นหลัก อะไรๆ ก็เกิดมากจากผัสสะแม้แต่กรรมก็เกิดจากผัสสะ กามนั้นก็เกิดจากผัสสะ ทิฏฐิความคิดเห็นต่างๆ ก็มาจากผัสสะ ผัสสะก็กระทบทางอายตนะ นั้นก็คืออายตนะฉะนั้นในที่นี้จึงตรัสระบุไปยังอายตนะ แต่มันประหลาดที่ว่าระบุอายตนะภายในฝ่ายเดียวข้างเดียว ทีนี้สังเกตหรือเปล่าว่าเมื่อจะตรัสสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ก็ตรัสเฉพาะอายตนะภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำไมไม่ตรัสไปถึงอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ด้วย ผมเห็นว่าของข้างนอกนั้น มันนานๆ จึงจะมา หรือว่ามันอยู่ข้างนอก ฉะนั้นของข้างในนี่มันสำคัญกว่า คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่สำคัญกว่า เพราะเรื่องมันเกิดที่ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้เกิดที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คิดดูสิ,เรื่องอะไรที่มันจะเกิดแก่เรา มันเกิดเป็นกิเลสอะไร มันเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส อายตนะข้างนอกนั้นมันเหมือนกับเหยื่อ มันอยู่ข้างนอกอยู่ฝ่ายข้างนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันอยู่ข้างใน มันเหมือนกับเบ็ด
ฉะนั้นเรื่องมันจึงสำคัญอยู่ที่ข้างใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้เหยื่อมาเมื่อไหร่มันก็มีเรื่องเมื่อนั้น ฉะนั้นจึงว่ามันเป็นที่ตั้งที่อาศัยหรือที่ทำหน้าที่ทำงานอะไรก็ตามใจที่เกี่ยวกับสังโยชน์ซึ่งแปลว่าการผูกมัด ผูดมัดหรือผูกรัด ทีนี้พอเกิดความพอใจที่ตา ที่หูเป็นต้น ที่มันได้เหยื่อแล้วนั่นแหละ นั้นคือตัวสังโยชน์ ตัวความพอใจนั้นคือตัวสังโยชน์ ฉะนั้นก็ควรจะเห็นให้ชัดลงไปว่าตอนนี้มันเกิดความผูกมัดแล้ว สังโยชน์แปลว่าผูกมัด ตอนนี้มันเกิดการผูกมัดแล้ว เกิดไปพอใจเข้าที่เหยื่อที่มากระทบตา ยกตัวอย่างทางตาอย่างเดียวก่อน ฉะนั้นเราอย่าไปมองหาสังโยชน์ให้มันลึกในสันดานในอะไรให้มากนักสิ มันจะหาไม่พบนั่น เพราะมัวแต่สอนกันว่าสังโยชน์นอนอยู่ในสันดานนั่น อาสวะอนุสัยนอนอยู่ในสันดาน เราเลยหาไม่พบ ไม่รู้สันดานมันอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำไป ในโรงเรียนสอนกันมาอย่างนั้น ครูบาอาจารย์สอนกันมาอย่างนั้น ว่าสังโยชน์ อนุสัย อาสวะนี้นอนนิ่งรอคอยอยู่ในสันดาน มันจะโผล่ขึ้นมารับอารมณ์ พูดอย่างนั้น ขอย้ำไว้ในที่นี้อีกทีว่ามันเป็นสัสสตทิฏฐิ สังโยชน์อาสวะกลายมันเป็นสิ่งที่เที่ยง มันไม่เป็นไปตามปัจจัย ถ้าเป็นไปตามปัจจัยมันก็ต้องเกิดดับๆ นี้ไปพูดว่ามันนอนรอคอยอยู่ที่สันดาน มันจะลุกขึ้นมาเป็นคราวๆ นี่มันกลายเป็นของเที่ยง นี่มันผิดหลักแล้ว
ทีนี้สังโยชน์หรืออนุสัยหรืออาสวะนี้มันเป็นความเคยชินของการเกิดแห่งกิเลส การเกิดแห่งกิเลสมีความเคยชินๆ ที่จะเกิด ก็หมายความว่ามันจะเกิดและดับเหมือนกัน แต่มันมีความเคยชินมาก เพราะมันเกิดไว เกิดขึ้นมารับอารมณ์ไวจนเราไม่รู้สึกว่ามันเพิ่งเกิด รู้สึกก็คือว่ามันเกิดอยู่แล้ว มันคอยอยู่แล้ว มันนอนรออยู่แล้ว เข้าใจสังโยชน์อย่างนี้ยังค่อยยังชั่วนะ ยังค่อยยังชั่วกว่าที่จะเข้าใจสังโยชน์หรืออนุสัยว่ามันนอน นอนรอ นอนคอยอยู่ในสันดานนี่ คือเข้าใจเสียขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่ามันเป็นเพียงความเคยชินของการที่จะโลภจะโกรธจะหลงอะไรก็ตามมาก เคยชินการที่จะเกิดเป็นกิเลสขึ้นมา ทีนี้ในพระพุทธภาษิตนี้ตรัสไว้ชัดว่า เมื่อเกิดฉันทราคะคือความกำหนัดยินดีพอใจที่ตา อันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดยินดีพอใจนั้นเรียกว่าสังโยชน์ คำมันซ้ำไปซ้ำมา ระวังอย่าให้ปนกันยุ่ง ตาได้เหยื่อคือรูป ถ้าไม่มีรูปมาที่ตา ตายังไม่มี นี่ภาษาธรรมะ เขาเรียกว่าภาษาปฏิจจสมุปบาท จะถือว่าอะไรๆ ยังไม่มี ร่างกายก็ยังไม่มี ใจก็ยังไม่มี ชีวิตก็ยังไม่มี กระทั่งว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ยังไม่มี จนกว่าสิ่งนั้นทำหน้าที่ จึงจะเรียกว่าสิ่งนั้นมี ฉะนั้นเราไม่ได้มีตาอยู่ตลอดเวลา เรามีตาเฉพาะเมื่อตากระทำหน้าที่รับเอาอารมณ์คือรูป คือตากำลังทำหน้าที่ของตาจึงจะเรียกว่าตา หรือมีตาขึ้นมา ถ้าไม่ได้ทำหน้าที่ นอกเวลาทำหน้าที่เรียกว่ายังไม่มีตา นี่ภาษาธรรมะเป็นอย่างนี้ ถ้ายังไม่รู้ก็จะงง จะฉงน ภาษาชาวบ้านก็ว่ากูมีตาอยู่ตลอดเวลานี่ เขาจึงเห็น ภาษาธรรมะโดยเฉพาะภาษาปฏิจจสมุปบาทนี่ ก็ว่า ต่อเมื่อทำหน้าที่จึงจะมี เช่นเบญจขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มิได้มีอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดมันเกิดทำหน้าที่ เมื่อนั้นขันธ์เกิดขึ้น เพราะว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่มีอุปาทานนี้ไม่เรียกว่าขันธ์ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ตามหน้าที่ของมัน เช่นรูปทำหน้าที่รูป เวทนาทำหน้าที่เวทนา ล้วนแต่เกิดมาจากการกระทบอารมณ์เพราะอวิชชาอุปาทานนั่นแหละ เมื่อนั้นเบญจขันธ์มีขึ้นมา และเดี๋ยวก็ดับไป ฉะนั้นจึงมีการเกิดขึ้นและดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์อยู่ตลอดเวลา คนไม่ต้องตาย นี้ชัดมาก ที่ตรัสไว้ตรงๆ อย่างนี้
ทีนี้เรื่องตา เรื่องหู จมูก ลิ้น กาย ก็เหมือนกัน เรามิได้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ตลอดเวลา เรามีตาเมื่อตาเห็นรูป เรามีหูเมื่อหูก็ได้ยินเสียง เรามีจมูกเมื่อจมูกได้กลิ่น นี่มันจะเป็นภาษาอะไรหรือว่าหลักเกณฑ์อะไรก็ลองคิดดูเอาเอง แต่มันมีหลักเกณฑ์อย่างนี้ ที่ว่าตาเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ก็หมายความว่าตาที่ทำหน้าที่เป็นตาขึ้นมาแล้ว คือว่ามีรูปมากระทบแล้ว นัยน์ตามันก็ได้รับเอารูปแล้ว ก็แปลว่านั่นเป็นที่ซึ่งเป็นที่ตั้ง ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสังโยชน์พร้อมแล้ว ถ้าไม่เกิดฉันทราคะในตานั้นหรือเนื่องด้วยตานั้น ก็เรียกว่ายังไม่มีตัวสังโยชน์ แต่ที่จะให้เกิดที่จะให้ปรุงเมื่อมันมีพร้อมแล้วคือตาที่รับอารมณ์แล้ว เพราะฉะนั้นสังโยชนียธรรมจะมีอยู่แทบจะตลอดเวลาแหละ คือตาที่เห็นรูป หูที่ฟังเสียง จมูกที่ได้กลิ่นนี้ มันยังเหลืออยู่แต่ว่าหลังจากนั้นมันจะมีอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ คือไม่มีสติสัมปชัญญะพอและอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าฉันทราคะ ความกำหนัดและความพอใจ กำหนัดด้วยใจแล้วก็จับฉวยเอาด้วยใจ และด้วยฉันทะคือด้วยความพอใจในตานั้น หรือที่ตานั้น หรือว่าด้วยตานั้น แล้วแต่จะใช้คำไหน แต่มันต้องที่ตานั้นแหละ จึงใช้คำว่า โย ตตฺถ ฉนฺทราโค ฉันทราคะใดในที่นั้นคือในตานั้น ตํ ตตฺถ สญฺโญชนํ นั้นคือสังโยชน์ ถ้าจะให้มันสะดวกแก่การศึกษาและการปฏิบัติ ขอให้คอยกำหนดสิ่งที่เรียกว่าสังโยชน์นี้ทุกคราวที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสอะไรนี่ จะพบสังโยชน์ พบสังโยชน์ตัวจริง เห็นอยู่ชัดๆ ไม่เหมือนกับถือหลักว่าสังโยชน์นอนอยู่ก้นบึ้งสันดาน,นู่น จะโผล่ขึ้นมาเป็นคราวๆ นี้มันยังเห็นยาก เมื่อตากระทบรูป ไม่มีสติสัมปชัญญะ อวิชชานั่นแหละคือตัวการ คืออนุสัยตัวสำคัญแหละที่มันนอนอยู่ในสันดาน ที่จริงมันก็ไม่ได้นอนอยู่ในสันดาน มันเพิ่งเกิด แต่มันเกิดเร็วเกินไปคล้ายๆ กับว่านอนรออยู่ในสันดาน ก็ทำหน้าที่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าฉันทราคะ ถ้าไม่มีอวิชชา ฉันทราคะเกิดไม่ได้ อวิชชาคือความไม่รู้ทำให้เกิดการปรุงแต่งนั่นนี่นู่นนี่ไปตามลำดับๆ จนมาอยู่ในรูปของฉันทราคะ คือมาอยู่ในรูปของอุปาทานก็ได้แล้วแต่จะเรียก เรื่องนี้ถ้าจะเอากันเป็นรายละเอียดเป็นชั้นๆ ก็ต้องไปดูเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่น เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าฉันทราคะ เล็งถึงตัณหา ที่เขาเรียกว่าฉันทราคะนี้ ถ้าไม่อยากเรียกอย่างนี้ก็เรียกว่าตัณหาก็ได้ ฉันทราคะในจักษุ ฉันทราคะในตาคือเห็นรูป ในหูได้ยินเสียง นั้นคือสังโยชน์
ทีนี้ก็ต้องศึกษาคำว่าสังโยชน์หรือสัญโญชน์ จะใช้คำไหนก็ได้ อย่าไปเถียงกันเรื่องนี้ ถ้าสังโยชน์จะใช้ตัว ง.งู เข้าไปแล้วใช้ ย.ยักษ์ สำหรับเป็นคำว่าโยชน์ ถ้าว่าสัญโญชน์ ก็ใช้ ญ. ผู้หญิง ทั้งสองตัว สังโยชน์แปลว่าผูกพร้อม ยุชหรือโยชน์นั้น มันแปลว่าผูก,ผูกพัน สัง มันแปลว่าพร้อม คือครบหมดบริบูรณ์ ถ้าจะเปรียบเหมือนการมัดแล้วก็คือมัดจนไม่มีทางกระดุกกระดิก เรียกว่าสังโยชน์ จงดูอาการอันนี้ให้พบที่นี่แหละ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ฟังเสียง จมูกได้กลิ่นนี่ อย่าไปค้นหาในสันดานเลย มันหายาก เราดูเมื่อมันขึ้นมาแล้วดีกว่า เมื่อมันขึ้นมาจากรูแล้วดีกว่า มันขึ้นมาทำอะไรงุ่มง่ามอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น นี่เห็นง่ายกว่า นี้คือตัวสังโยชน์เต็มๆ จริงๆ เกิดการผูกพันแล้ว ผูกพันจิตนั่นแหละ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเจ้าที่เจ้าการเจ้างานอะไรนอกไปจากจิต มันก็ผูกพันจิตเข้ากับอารมณ์คือรูป ตลอดถึงอะไรต่างๆ ที่มันเนื่องกันอยู่กับรูป ทีนี้จิตก็ถูกผูกพันคือเป็นทุกข์ คำว่ารูปก็เหมือนกันแหละ ไม่ใช่เพียงแต่ว่ารูปเฉยๆ มันต้องมีคุณสมบัติมีคุณค่ามีอิทธิพลมีรสมีอะไรอยู่ในนั้นเสร็จ มันจึงจะเป็นรูปที่ทำให้เกิดเรื่องได้ นี้เป็นกฎเกณฑ์ที่จะต้องจำไว้สำหรับใช้กับคำอื่นๆ ทุกคำ เช่นว่าตา กับ เช่นคำว่ารูปนี้ มิได้หมายความว่าดวงตาเฉยๆ หรือรูปเฉยๆ มันต้องหมายถึงหน้าที่การงานคุณสมบัติคุณลักษณะอัสสาทะอะไรอยู่ในนั้นเสร็จ แล้วก็สำคัญอย่างยิ่งก็อยู่ที่อัสสาทะ อัสสาทะของตาก็มี อัสสาทะของรูปก็มี อะไรที่ทำให้เรารักตาของเราเหลือเกินนั้น ตัวนั้นก็เรียกว่าอัสสาทะของตา อะไรที่ทำให้เราไปรักในรูปในอะไรเหลือเกินนั้นก็เรียกว่าอัสสาทะของรูป แปลเป็นภาษาไทยก็ยังไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี มันก็มีความหมายคล้ายๆ กับสังโยชน์,อัสสาทะนี้ เพราะว่าคำว่าอัสสาทะนี้มีชัดในบาลีว่าตรงกันข้ามกับวิราคะ อัสสาทะนี้มันตรงกันข้ามจากวิราคะ วิราคะคือคลายออก อัสสาทะมันหวดแน่นเข้าไป ทุกอย่างมีอัสสาทะ ฉะนั้นจึงพอใจในสิ่งนั้นๆ และที่ร้ายกาจมากก็ที่อัสสาทะของตา ของรูป ของหู ของเสียง ของจมูก ของกลิ่นนี่ คืออายตนะทั้ง ๖ ทั้งข้างนอกและข้างใน ล้วนแต่มีอัสสาทะ
อย่าเข้าใจว่าอัสสาทะจะต้องมีแต่ที่ข้างนอกเช่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเป็นต้น มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดว่าแม้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ก็มีอัสสาทะอยู่ในตัวมันเองส่วนหนึ่ง ฉะนั้นเราจึงได้รักหลงยึดมั่นในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ และยิ่งกว่าที่จะไปยึดมั่นของข้างนอก เพราะมันอยู่ข้างใน เพราะเราจะใช้สำหรับทำอะไรเมื่อไหร่ได้ตามใจ หรือว่าพูดอีกทีหนึ่งก็คือว่า ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นที่ถูกอกถูกใจได้ อะไรก็ไม่มีไปหมด ไม่มีเรื่องไม่มีราวไปหมด ก็แปลว่าหมดสนุก เดี๋ยวนี้คำว่าอัสสาทะเราแปลว่ารสอร่อยหรือเสน่ห์ของสิ่งนั้นแหละ อัสสาทะของอะไรก็คือเสน่ห์หรือรสอร่อยที่จะผูกพันจิตใจของสัตว์ให้หลงใหลในสิ่งนั้น นั้นเรียกว่าอัสสาทะ ตาก็มีอัสสาทะไปตามแบบของตา รูปก็มีอัสสาทะไปตามแบบของรูป แต่ว่าตาที่จะมีอัสสาทะขึ้นมาได้ต้องอาศัยรูปก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีตาอย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นคำว่าตามีรูป มีวิญญาณจักษุ มีจักษุวิญญาณ มีรูปอะไรรวมอยู่เสร็จ เรียกว่าตา เมื่อตาทำหน้าที่อย่างนี้เรารู้สึกอร่อยที่ตา เพราะฉะนั้นเราจึงรักตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องผิวหนัง สัมผัสผิวหนัง หรือว่ารู้สึกในใจก็เหมือนกันอีก เหมือนอย่างเดียวกัน โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน
ทีนี้คนธรรมดาหรือว่านักศึกษาที่ไม่เคยเห็นถ้อยคำเหล่านี้ ก็จะเหมาเอาง่ายๆ ว่ามันอยู่ข้างนอกไปหมด สวยหรืออร่อยอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปหมด อันนั้นเรียกว่ามันง่ายแต่มันยังไม่รู้อะไร ฉะนั้นฟังดูให้ดีๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่อายตนะภายในที่เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์และเป็นตัวสังโยชน์ขึ้นมาได้ นี้ก็แปลว่าเห็นลึกกว่า จึงสอนไว้อย่างนี้ เราจงมองให้เห็นข้อที่ว่ารูปเสียงกลิ่นรสนั้นมันของข้างนอก มันเป็นเรื่องไปๆ มาๆ ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ที่ตานี้มันพร้อมที่จะอะไรอยู่ข้างในเสมอ และมันจึงมีความร้ายกาจมากกว่า ด้วยเหตุนั้นมันจึงได้ชื่อที่น่ากลัวอีกชื่อหนึ่งว่าอินทรีย์ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ คำว่าอินทรีย์นี้คือสิ่งที่มันใหญ่หลวงหรือว่าร้ายกาจหรือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดนั่นแหละ แต่ไม่เคยเรียกรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้นว่าอินทรีย์ ไม่เรียกอายตนะภายนอกว่าอินทรีย์ แต่เรียกอายตนะภายในเท่านั้นว่าอินทรีย์ ระวังให้ดี นี่มันจะทำเรื่อง นี้เพียงแต่เรารู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้ดีขึ้นเท่านั้นแหละ การรู้ธรรมะหรือว่าบรรลุธรรมะนี้มันจะง่ายขึ้น แต่นี้เราไปติดพันแต่สิ่งที่ว่ามันไม่รู้ว่าอะไร ได้แต่เหมาๆ กันไปนี่ มันไม่ชัดแจ้ง โดยเฉพาะเรื่องสังโยชน์ พอตากระทบรูป เผลอสติสัมปชัญญะนิดเดียว อวิชชาวิ่งมาจากไหนไม่รู้เกิดขึ้นมาทันที คือเกิดมาจากระบบของความเคยชิน ระบบความเคยชินนี้เราเป็นผู้สะสมไว้เอง เช่นเราโลภหรือกำหนัดทีหนึ่ง มันก็สร้างความเคยชินไว้ครั้งหนึ่ง และโกรธทีหนึ่งก็สร้างความเคยชินที่จะโกรธไว้ทีหนึ่ง ทีนี้มันสร้างไว้มากทีๆ เข้า ส่วนที่ไม่โกรธหรือไม่โลภไม่สร้างเลย ทีนี้ความเคยชินมันก็มีแต่ที่จะโลภจะโกรธจะหลง นั่นแหละความเคยชิน ไม่ใช่เป็นสัสสตะคือเที่ยงแท้ตายตัวอะไร มันก็เป็นความเคยชินที่เกิดดับได้เหมือนกัน แต่ว่ามันเร็วนัก มันก็ดูคล้ายๆ กับว่ามันนอนรออยู่แล้ว นี้เรื่องหนึ่ง ที่ว่าตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ฉันทราคะในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่กำลังทำหน้าที่นั้นเป็นตัวสังโยชน์
ทีนี้สูตรถัดไปมันก็เป็นเรื่องที่ใช้ชื่อว่าอุปาทานเหมือนกันเลย เหมือนกันดิกๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ เรียกว่าอุปาทานียธรรม อุปาทานียธรรม ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ฉันทราคะในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ว่านี้คือตัวอุปาทาน เข้าใจเรื่องสังโยชน์ที่แล้วมาว่าอย่างไรก็เข้าใจเรื่องอุปาทานนี้อย่างนั้น ฉะนั้นอย่าไปดูหรือไปค้นอุปาทานที่อื่นหรือเวลาอื่น จงจับตัวอุปาทานให้ได้ทันทีที่ตาเป็นตา หูเป็นหู จมูกเป็นจมูก คือมันทำหน้าที่ของมันในรูปหรือเสียงหรือกลิ่น แล้วเกิดความรู้สึกพอใจด้วยอวิชชา พอใจด้วยอวิชชาจึงจะเรียกว่าฉันทราคะ นั้นแหละคือตัวอุปาทาน อุปาทานมีอยู่ที่นั่น จับตัวมันให้ได้เดี๋ยวนั้น เช่นเดียวกับเราจับตัวสังโยชน์ให้ได้ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น และสังโยชน์กับอุปาทานก็คล้ายกันมาก ตัวหนังสือก็ผิดกันจริง แต่ว่าความหมายคล้ายกันมาก หรือว่าผิดกันก็นิดหน่อย
ตัวหนังสือ สังโยชน์แปลว่าผูกมัด อุปาทานแปลว่าถือเอา แล้วคุณคิดดูสิ ผูกมัดกับถือเอา มันชักจะกลับกันอยู่หน่อยนะ แต่ว่าเนื้อแท้ของมันก็คือติด,คือติดตัน มันมาผูกมัดเรา หรือว่าเราไปจับฉวยเอามัน มันก็เหมือนกันแหละ คือติด อุปาทานแปลว่าถือเอา,เข้าไปถือเอา เราแปลเดี๋ยวนี้แปลเอาความว่ายึดมั่นถือมั่น มันมีหลักอยู่ว่าถ้าเราไม่รู้จักสังโยชน์ไม่รู้จักอุปาทานแล้วมันจะละได้อย่างไรเล่า นี่มันจะน่าหัวเราะ ปฏิบัติวิปัสสนาเสียเหงื่อแตกเหงื่อแตนเพื่อจะละอุปาทาน แล้วไม่รู้จักอุปาทาน นี่มันจะน่าหัวเราะนะ เมื่อรู้ว่าอุปาทานหรือสังโยชน์ก็ตามที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร ตั้งหน้าตั้งตาจับฉวยอันนี้กันให้ได้ก่อน มันจะง่ายขึ้นในการที่จะละเสียทำลายเสียซึ่งอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหนึ่งๆ เราจะต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิด เมื่อเห็นรูป เมื่อฟังเสียง เมื่อดมกลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อสัมผัสผิวหนัง
สำหรับพระเรานี้มันก็คงจะผิดจากชาวบ้านบ้าง แต่ว่ามันก็มีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ง่ายแก่การที่จะจับฉวยมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นเรื่องเห็น เห็นด้วยตานี่ เห็นวิสภาคารมณ์คืออารมณ์ที่ยั่วกิเลส มันก็มีอยู่แทบทุกวันและทุกหนทุกแห่ง แล้วคนอายุมากหน่อยก็จะเรื่องลิ้นนี้กระมัง เรื่องกินเรื่องอาหารนี่ ถ้าคนอายุมากหน่อย จะกินอาหารเข้าไปมันรู้สึกอย่างไรบ้าง นั่นแหละคอยจับให้ดีเถิด สังโยชน์หรืออุปาทานมันมีอยู่ที่นั่นแหละ แต่ถือเสียว่ามีได้ทั้ง ๖ แหละไม่ว่าพระหนุ่มพระแก่แหละ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ,รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่ว่าเรื่องทางใจนี้ถ้าเป็นคนคิดเก่งหรือเฉลียวฉลาดก็ยิ่งมีมากแหละ คนโง่ๆ จะมีน้อย รู้มากก็จะยิ่งยากนาน นี่มันก็เป็นได้เพราะเหตุนี้ ฉะนั้นก็ดูเอาเองก็แล้วกันว่าเรามีตัณหาทางไหนมาก ทางตามากหรือทางหูมาก ทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจทางไหนมาก ก็คอยเฝ้าดูจับดูที่ทางนั้น ก็จะเห็นตัวสังโยชน์ตัวอุปาทาน ถ้าไม่เห็นตัวจริงหรือจับตัวจริงๆ นี้ไม่ได้แล้ว ก็แย่แหละ มันเหลือแต่ความละเมอเพ้อฝันแหละ แม้ว่าจะทำวิปัสสนาทำปฏิบัติชั้นๆ ไหนมันก็เป็นเรื่องละเมอเพ้อฝัน เป็นเรื่องแบบ ตามแบบเสีย ก็เป็นเรื่องละเมอเพ้อฝัน ทีนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่จริง มีตัวจริง แล้วก็เอากันไปจริงๆ เป็น (factical)อย่างที่เขาเรียกกันภาษาใหม่ๆ นี้ พอจับตัวตัณหาอุปาทานสังโยชน์อะไรได้แล้ว ก็ไปพิจารณาดูโดยวิปัสสนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะถอนสิ่งที่เรียกว่าความเคยชินนั่นแหละ ความเคยชินต่อสิ่งนั้นที่จะรักจะโกรธจะเกลียด หรืออีกทางหนึ่งมันก็เพื่อจะถอนเสียซึ่งอัสสาทะคือทำลายอัสสาทะ เรามีติดรสติดอร่อยติดเสน่ห์ของรูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้นนี้ แล้วก็มาพิจารณาอยู่โดยวิปัสสนา เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งเหล่านั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น กำลังของอัสสาทะของสิ่งที่เรียกว่าอัสสาทะมันก็ถอยคือจาง ก็เป็นวิราคะชนิดหนึ่งระดับหนึ่ง เป็นคำกิริยาเรียกว่า วิราชิยํ ,เรียกว่า วิราชิยํ วิราชิยํ นี่ คือคลายออกๆ จางออกหรือละลายออกๆ ความกำหนัดยินดีฉันทราคะที่มันมีกำลังเข้มแข็งในอัสสาทะนั้นน่ะ มันจะค่อยๆ จางออกๆ ด้วยอำนาจของวิปัสสนาที่เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสังขารคือสิ่งเหล่านี้ หมายความว่าของสิ่งที่เป็นที่ตั้งของสังโยชน์ด้วยและของตัวสังโยชน์เองด้วย ความเห็นนี้เรียกว่าญาณหรือเรียกว่าทัสสนะหรือเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก มันละลาย มันทำการละลายสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นอนุสัยสังโยชน์ ก็คือความเคยชินที่จะเกิดเร็ว ที่จะเกิดโลภเกิดโกรธเกิดหลงเร็วๆ นั้น มันจะถูกทำลายให้จางไป มันจึงเกิดช้าขึ้นๆ หรือว่ากระทั่งว่ามันไม่เกิดอีก นี่กลไกของการที่กิเลสจะถูกทำลายหรือว่าจะไม่ถูกทำลาย มันก็อยู่ที่นี้ ก็ต้องเป็นเรื่องชัดแจ้งในสำนึก ไม่ต้องอยู่ใต้สำนึกหรอก เห็นชัดอยู่ในสำนึกว่าเป็นอย่างนี้ๆ อย่างนี้ๆ สติที่ตาเป็นตา หูเป็นหู จมูกเป็นจมูก ลิ้นเป็นลิ้น
นี้ยกตัวอย่างมาให้ฟัง ๒ สูตร คือสูตรหนึ่งแสดงไปโดยชื่อว่าสังโยชน์หรือสังโยชนียธรรม สูตรที่ ๒ แสดงโดยชื่อว่าอุปาทานหรืออุปาทานียธรรม แล้วแสดงไปที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ทั้งนั้นเลย และยังมีชื่ออื่นๆ อีก ไม่จำเป็นต้องพูดถึงก็ได้ มันมีวิธีเดียวกันหมด
ทีนี้มันก็มีปัญหาที่เนื่องกันต่อไปอีกนิดหนึ่งคือจากความหมายนี้ มันก็มีหลักที่จะพูดได้โดยพระพุทธภาษิตที่ว่าผมอยากให้จำให้แม่นนะ จกฺขุí ภิกฺขเว อนภิชานํ อปริชานํ อวิราชิยํ อปชหํ แล้วก็ อภพฺโพ แล้วก็ ทุกฺขกฺขยาย เท่านั้นแหละ จะทบทวนให้ ถ้าจดถูกแน่ก็คือว่า จกฺขุí ภิกฺขเว อนภิชานํ อปริชานํ อวิราชิยํ อปชหํ อภพฺโพ ทุกฺขกฺขยาย ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลไม่รู้เฉพาะอยู่ ไม่รู้รอบอยู่ ไม่คลายจากความผูกพันอยู่ แล้วก็ไม่ละอยู่ ซึ่งตา ก็เป็นการไม่สมควรหรือไม่อาจจะเป็นได้ ก็เป็นการที่ไม่อาจจะเป็นได้เพื่อจะสิ้นไปแห่งทุกข์ มีเท่านั้น อนภิชานํ ไม่รู้เฉพาะ ไม่รู้เฉพาะนี้มันก็ไม่รู้อย่างเฉพาะเจาะจงนี่ ทีนี้ อปริชานํ ไม่รู้รอบ,คือว่ารอบด้าน นี้มันเป็นแต่สำนวนบาลีเท่านั้นแหละ ไม่รู้อย่างเจาะจงและก็ไม่รู้อย่างรอบด้าน ก็หมายความว่าไม่รู้เฉพาะแง่หรือปมที่มีอยู่เป็นแง่เป็นปมเป็นประเด็น แล้วไม่รู้รอบด้านก็คือไม่รู้ทั้งหมดที่มันเนื่องกันอยู่ทุกๆ ปม ทุกๆแง่ ทุกๆ ประเด็น ไม่รู้ซึ่งตา ไม่รู้ซึ่งจักษุ ไม่รู้เฉพาะซึ่งจักษุ ไม่รอบรู้ซึ่งจักษุ แล้วก็ไม่คลายความยึดมั่นในจักษุ แล้วก็ไม่ละซึ่งจักษุ ก็เป็นผู้อาภัพเพื่อจะสิ้นทุกข์ เป็นผู้อาภัพต่อการสิ้นทุกข์
เราจะรู้จักเฉพาะเรื่องตาอย่างไร จะรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องตาอย่างไร ก็ทำสิ ก็เหมือนกับที่ว่าเมื่อตะกี้แหละ รูปมันก็มีอะไรมาก ตามันก็มีอะไรมาก พอมันได้เข้ามาเกี่ยวข้องกันมันก็ยิ่งมีอะไรมาก เราก็เลยไม่ค่อยรู้ ทีนี้เราเผลอก็มีอวิชชา เพราะฉะนั้นเราก็ จิตนะ คำว่าเรานี้ก็คือจิตนะ ก็เกิดอัสสาทะเกิดหลงเสน่ห์เกิดหลงความเอร็ดอร่อยของตา มันก็ไม่ อวิราชิยํ นี่ ตะกี้เขียนไปแล้วว่า อวิราชิยํ คือไม่คลายออก มีแต่จับยึดแน่นเข้า แล้วมันจะละได้อย่างไร ก็คือละไม่ได้ เมื่ออยู่ในสภาพอย่างนี้ก็เป็นปุถุชน ฉะนั้นยังเป็นผู้อาภัพต่อความสิ้นไปแห่งทุกข์
นี่เราพูดเรื่องอื่นกันมากนัก ไปดูอย่างอื่นกันมากนัก ไม่ดูเรื่องนี้ ไม่ดูเรื่องนี้ที่มีอยู่จริงๆ เป็นประจำวัน ใครพูดขะโหมงโฉงเฉงยกหูชูหางแต่เรื่องที่ไม่มันไม่เกี่ยวกันกับที่จะเป็นความจริงที่จะดับทุกข์ ฉะนั้นลองทำตามพระพุทธเจ้า คือสนใจแต่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ทุกวันทุกเรื่องที่มันเกิดขึ้น จนเรียกว่ารู้เฉพาะแล้วก็รอบรู้แล้วก็คลาย คลายความยึดมั่นแล้วก็ละปล่อยไปได้ แม้เป็นคราวๆ นี้ไม่ใช่เด็ดขาดนี่ก็ยังเป็นผู้ไม่อาภัพเพื่อจะสิ้นทุกข์ ถ้าพวกลูกเด็กๆ มันก็เป็นเรื่องกินเรื่องอร่อยเรื่องทางตาทางปากทางลิ้นนี้ แล้วคนแก่ๆ มันก็จะไปเรื่องทางธรรมารมณ์เกี่ยวกับทางจิตใจความปรารภปรารมภ์ ไปหยิบเอาสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งในอดีตหนหลังมาเป็นอารมณ์ แล้วจิตก็สร้างอาการอย่างที่ว่านี้ คือผูกพันบ้าง ยึดมั่นถือมั่นบ้าง มันเป็นเรื่องทางธรรมารมณ์เกี่ยวกับใจเสียมากกว่า ถ้าเป็นเรื่องคนหนุ่มคนสาวนั้นมันก็เป็นเรื่องทาง ๕ อย่างขั้นต้นเสียมากกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นพระเป็นเณรก็เถอะ มันก็เหมือนกันแหละ ถ้าเป็นเรื่องเด็กเล็กๆ มันก็จะเป็นเรื่องปากเรื่องอะไรมากกว่า เรื่องกินเรื่องอะไรทางปากทางท้องมากกว่า แต่แล้วมันมีกฎเกณฑ์อย่างเดียวกันไม่ว่าสำหรับเด็กหรือสำหรับหนุ่มสาวหรือสำหรับคนผู้ใหญ่หรือคนแก่คนเฒ่า แล้วก็ไม่ว่าบรรพชิตหรือว่าฆราวาส ฉะนั้นสูตรอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ระบุว่าบรรพชิตหรือฆราวาส จะตรัสเป็นกลางๆ ไว้เสมอกัน
ทีนี้สูตร ๒ สูตรนี้ สูตรแรกก็ระบุตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ,จกฺขุí โสตํ ฆานํ ชิวหา เมื่อไม่รู้ยิ่ง เมื่อไม่รู้รอบ เมื่อไม่คลายกำหนัด เมื่อไม่ละเสียได้ ซึ่งรูป ซึ่งเสียง ซึ่งกลิ่น ซึ่งรส ซึ่งโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สูตรที่ ๑ ซึ่งตา ซึ่งหู ซึ่งจมูก ซึ่งลิ้น ซึ่งกาย ซึ่งใจนี่ คืออายตนะภายใน แล้วก็สูตรที่ ๒ ซึ่งรูป ซึ่งเสียง ซึ่งกลิ่น ซึ่งรส ซึ่งโผฏฐัพพะ ซึ่งธรรมารมณ์ คืออายตนะภายนอก แยกออกกันไว้เป็น ๒ สูตร สูตรละ ๖ อย่างแล้วก็ตรัสทีละอย่างๆ นี่เป็นธรรมดาของพระบาลีพระพุทธภาษิต ๖ อย่างนี้ตรัสทีละอย่าง เหมือนกันทุกตัวอักษร เพราะท่านไม่ขี้เกียจพูดเหมือนพวกเรา เรามันขี้เกียจพูดขี้เกียจท่องเลยรวบหมด ลักษณะนี้ก็น่าจะสังเกตไว้ว่าการที่เราแยกพูดให้มันชัดทีละอย่างๆ ยอมเสียเวลากับมันมากๆ นี่มันคงจะมีผล คือทำให้ชัดแจ้งไป เหมือนกับนั่งแจกสูตรคูณอย่างนั้นแหละ อย่ารวบมัน ว่าไปทีละอย่างๆ แจก ก. ข. ก. กา กะ กา กิ กี กึ กือ นี่ ว่าไปทีละอย่าง
คำที่ว่าอาภัพต่อความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้มันไม่ใช่เล็กน้อย บาลีก็ว่า อภพฺโพ นั้นคืออาภัพ ทุกฺขกฺขยาย ต่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ เมื่อเขาไม่รู้เฉพาะเมื่อไม่รอบรู้หรือเมื่อไม่คลายไม่ถอย และเมื่อไม่ละเสียซึ่งรูป ก็เป็นผู้อาภัพต่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ ถ้าเราทำวิปัสสนาก็ต้องหมายความวิปัสสนานั้นมันได้ทำให้รู้ยิ่ง รู้รอบ ให้คลาย ให้ถอย ให้ละเสียซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือซึ่งอัสสาทะของสิ่งเหล่านั้น มันก็คลายความผูกพันคลายความยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับสูตรข้างบน นี่ถ้าเรามาเนื่องกันหมดเราก็ได้ความว่าตา พูดเรื่องตาอย่างเดียวก่อน ลูกตานี้เป็นที่ตั้งของสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยความพอใจในตานั้นเป็นตัวสังโยชน์ ตาเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ความกำหนัดพอใจในตานั้นเป็นตัวอุปาทาน เดี๋ยวนี้เรามารู้จักชัดอย่างนี้และรู้รอบทุกอย่างอย่างนี้ ใจก็คลายออก ถอยออก คือวางเสียได้หรือสละไปได้แม้ชั่วขณะหนึ่งซึ่งตาซึ่งดวงตา นี่ก็ว่าไปอย่างนี้จนเรื่องหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ครั้ง แล้วก็เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อีก ๖ ครั้ง รวมเป็น ๑๒ ครั้ง ๑๒ เที่ยวโดยบทบรรยายที่เหมือนกัน ผิดกันแต่ชื่อของเรื่อง ทั้งหมดนี้คือลักษณะที่เร้นลับหรือซ่อนเร้นอยู่ ที่เราไม่ค่อยจะสนใจกัน ด้วยคำพูดเพียงง่ายๆ ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่เชื่อก็ลองเอาไปคุยกับชาวบ้านดูสิ ชาวบ้านที่เขาเรียนมาเท่านั้นเพียงเท่านั้น เขาจะไม่เชื่อว่ามันสำคัญอยู่ที่แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ เขาจะไปคิดว่ามันสำคัญอยู่ที่อะไรก็ไม่รู้ที่ยังไม่รู้ แล้วจะค้นหาตัวสังโยชน์ตัวอุปาทานนี้ ก็จับ,ต้องคอยเฝ้าจับเมื่อตาเป็นตา เมื่อหูเป็นหู เมื่อจมูกเป็นจมูก ไปหาที่อื่นไม่พบ,ค้นไม่พบ ยิ่งพิจารณาว่าเอาเองแล้วก็ยิ่งไม่พบ มันต้องคอยจับเอาจริงๆ จากสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นจริง อันนี้เป็นหลักสำคัญอันหนึ่งซึ่งผมขอร้องให้สนใจกันทุกท่าน แล้วก็เอาไปใช้ด้วย คือคำว่าธรรมะ เรียนธรรมะต้องเรียนจากของจริง เรียนจากใจ อย่าเรียนจากหนังสืออย่าเรียนจากคำพูด ต้องเรียนจากตัวจริงคือเรียนจากใจ เช่นจะเรียนเรื่องสังโยชน์ต้องเรียนเมื่อมีตัวสังโยชน์เกิดขึ้นแก่ใจ จะเรียนเรื่องอุปาทานก็เรียนว่าอุปาทานมันได้เกิดขึ้นแก่ใจ อย่างที่ว่ามานี้นะ จะไปเรียนลับหลังกันในห้องเรียนมันไม่ได้ ในโรงเรียนมันไม่ช่วยได้ นั้นมันไปเรียนหนังสือ เรียนธรรมะเรียนจากหนังสือไม่ได้ ต้องเรียนจากตัวจริงหรือของจริง ที่เราเรียนจากหนังสือนั้นมันไม่ใช่ตัวธรรมะ มันเป็นเรื่องอะไรของธรรมะอีกชั้นหนึ่ง เป็นบันทึกหรือว่าเป็นอะไรของธรรมะอีกชั้นหนึ่ง ได้มาก็แต่สัญญา ..(เสียงไม่ชัด นาทีที่ 59:11)..มาได้อะไรบ้าง ไม่ใช่เห็นธรรมะจริงๆ ฉะนั้นเมื่อมีใครมาที่นี้ผมก็บอกว่านี่เป็นโอกาสแล้วที่จะเรียนธรรมะจากใจ จากใจจริงๆ หรือจากของจริง ถ้ามานั่งอยู่ตามโคนไม้มันสบายใจ มันเป็นความรู้สึกในใจ จะไปเอาจากหนังสืออย่างไรได้ ความรู้สึกอย่างนี้มันเขียนเป็นตัวหนังสือไม่ได้ เป็นพูดก็ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องมานั่งให้มันเกิดความรู้สึกอย่างนี้ก่อน เย็นสบาย โล่ง เบา บอกไม่ถูกนั่น นี่มันต้องมีอยู่ในใจ แล้วก็เอาอันนี้เป็นบทเรียน คือคุ้นมันดูก่อนก็ได้ อุตส่าห์นั่งชิมรสอร่อยนี้มันดูก่อนก็ได้ มันไม่เสียหายอะไรนัก แล้วจึงค่อยศึกษาว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้,ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะพบเองว่า เอ้า,ที่นี่ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา เราลืมไป ไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ชีวิตของเราแท้ๆ เรายังลืมไป ไม่ต้องพูดถึงทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองบุตรภรรยาสามี มันลืมไป แม้แต่ตัวเราเองก็ลืมไป
ความว่างจากการยึดมั่นถือมั่นหรือการผูกพันนั้นมันหมดไป จิตมันจึงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงเข้าใจคำว่าสังโยชน์หรือคำว่าอุปาทานหรือคำว่าวิราคะอะไรยิ่งกว่าเข้าใจ ก็เลยเป็นการเห็นแจ้ง เข้าใจนั้นอาจจะเข้าใจในโรงเรียนในห้องเรียนก็ได้เรื่องนี้ แต่ว่าความเห็นแจ้งความรู้ด้วยใจด้วยรู้สึกจริงๆ นี้มันไม่ได้ในห้องเรียน มันต้องในที่ๆ มันเกิดสิ่งนี้จริงๆ เมื่อตะกี้ผมพูดว่าเมื่อได้รับความสุขชนิดนี้ สบายใจบอกไม่ถูกอย่างนี้ ให้นั่งชิมมันพักหนึ่งก็ได้นี่ ผมหมายความว่ามันจะไม่ทำอันตราย มันจะไม่เป็นอันตราย เพราะว่ามันเกิดขึ้นมาตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันเป็นไปในทางว่าง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหาเหมือนกับความสุขที่เกิดมาจากอารมณ์ทางอายตนะอย่างอื่น คือพวกที่มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ ความสุขชนิดนี้มันสร้างขึ้นมาจากความไม่ยึดมั่นถือมั่นคือจิตกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นมันจึงปรากฏแก่จิตออกมา เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นเราจะนั่งชิมนั่งดื่มนั่งอะไรเพื่อชิมตัวอย่างนี้ให้นานสักหน่อยก็ยังได้เพื่อจะรู้จักมันดี มันจะไม่จับฉวยจิตใจผูกมัดจิตใจเหมือนกับพวกที่เป็นเกี่ยวกับกามารมณ์ แต่ว่ามันก็มิใช่จะไม่เป็นอย่างนั้นเสียเลย เมื่อนานเข้าๆ มันก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเวทนาชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่ว่าในครั้งแรกนี้มันไม่อาจจะเป็นเพราะมันมาจากความที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เลยถือโอกาสชิมรสของนิพพานชั่วคราวนิพพานตัวอย่างนิพพานชิมลองแล้วแต่จะเรียกนี่ เพื่อให้เป็นที่พอใจให้เกิดความพอใจในฝ่ายนี้เสียก่อน เมื่อจิตอยู่ในสภาพเป็นสุขแบบนี้มันเป็นนิรามิสสุข เขาเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขที่ว่าปราศจากเหยื่อ ก็เลยบอกเขาว่าเมื่อคุณกำลังสบายใจอยู่อย่างนี้ คุณลองนึกถึงบ้าน นึกถึงลูกเมียที่บ้าน นึกถึงทรัพย์สมบัติ นึกถึงเกียรติยศชื่อเสียง เขาก็บอกว่ามันนึกไม่ออกนึกไม่เข้า หรือว่าถึงนึกมันก็เฉย มันเฉยไป มันสู้อำนาจอันนี้ไม่ได้ นั่นมันเป็นถึงขนาดนั้น เมื่อเขาพอใจของใหม่อันนี้ขึ้นมาแล้วมันก็ง่ายแหละที่จะติดตามต่อไป คือทำให้มันเป็นสิ่งที่ได้กิน ไม่ใช่เพียงแต่ชิมลองดู
ฉะนั้นผมอยากจะแนะนำว่าที่ไหนก็ตาม สำนักไหนก็ตาม ควรจะมีสถานที่ตามธรรมชาติที่จัดไว้สำหรับเมื่อคนเข้าไปถึงที่นั้นแล้วมันจะว่างได้เองบ้าง เพื่อจะเป็นก.ขอ ก.กา เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาธรรมะด้วยใจจริงๆ อย่าให้มันเป็นแต่ศึกษาธรรมะในห้องเรียนหรือบนธรรมาสน์ไปเสียหมด พูดกันตั้งปีตั้งหลายปีมันก็สู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชนิดอย่างนั้นแวบเดียวไม่ได้ เพราะมันเข้าถึงตัวของธรรมะมากกว่า ฉะนั้นเราควรจะมีสถานที่ที่จัดขึ้นชนิดที่ว่าธรรมชาติมันช่วย พอคนผ่านเข้าไปที่นั่นมันหยุด ใจมันหยุดจากความยึดมั่นถือมั่น หรือมันลืมความยึดมั่นถือมั่น ถูกธรรมชาติครอบงำจิตใจไปในทางให้หยุดให้เย็นให้สงบให้ว่าง แล้วเขาก็พบรสใหม่อันนี้ แล้วก็มีการตั้งต้น มันคงจะเป็นเพราะนี้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงตรัสรู้ในป่า หรือว่าฤาษีโยคีมุนีทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่แรกเริ่มมามันก็ตั้งต้นการศึกษาค้นคว้าที่ในป่า เพราะว่าป่านั้นเป็นธรรมชาติที่ให้บทเรียนตั้งต้นดีที่สุด คือว่างโดยบังเอิญจากธรรมชาติที่แวดล้อม เมื่อพบความว่างแล้วพยายามที่จะติดตามความว่างให้ยิ่งขึ้นไป หรือแม้ที่สุดแต่ว่าเขาจะใช้จิตใจชนิดนั้นสำหรับเป็นพื้นฐานเพื่อค้นหาสิ่งอื่นแนวอื่นที่เขาต้องการ มันก็ยังดี ดีกว่าที่เขาไม่มีจิตใจชนิดนี้เป็นพื้นฐาน หรือว่าเมื่อเราจะคิดธรรมะหรือจะคิดอะไรที่มันยากๆ เราก็ต้องไปหาที่ชนิดนี้ ไปที่ชายทะเลก็ได้ ไปบนภูเขาก็ได้ หรืออยู่ในที่ๆ มันมีผลคล้ายๆ กันอย่างนี้ก็ได้ จิตใจนั้นก็ง่ายที่จะคิดจะนึกจะพิจารณา ถ้าไม่มีอะไรที่ไหนก็ทางเดินจงกรมนั้น จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ทางเดินจงกรมที่ทำไว้ให้ดีให้เหมาะแก่ธรรมชาตินี้มันจะช่วยทำให้มีอารมณ์อย่างนี้ได้ ดีกว่าในห้องในกุฏิหรือว่าในอะไรทำนองนั้นหรือในถ้ำ
สรุปความว่าวันนี้เราพูดกันด้วยเรื่องว่าการเรียนธรรมะต้องเรียนจากของจริง เรียนจากคำพูดจากหนังสือจากในห้องเรียนไม่ได้ ฉะนั้นการเรียนธรรมะต้องเรียนเข้าไปที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ของจริง แล้วอะไรๆ ที่มันเกิดอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ มันจึงจะเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นไปได้ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ท่านวางไว้ท่านบัญญัติไว้ นอกนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่เข้าใจทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด จับกิเลสที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้แหละ และจับทุกอย่างที่นั่นแหละ ความทุกข์ก็ดีอะไรก็ดีก็ต้องจับกันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะที่ตาเป็นตา หูเป็นหู จมูกเป็นจมูก ลิ้นเป็นลิ้นนั่น มันพบที่นั่น มันเลยกลายเป็นเรียนธรรมะจากธรรมะ คือธรรมะเรียนจากของจริง ของจริงที่ปรากฏอยู่กับใจแล้วก็ต้องในขณะนั้นด้วย จะเป็นขณะอื่นมันก็ไม่ได้มันก็ไม่มีอยู่แล้ว มันไม่มีเสียแล้วในใจนั้น ฉะนั้นเมื่อมันกำลังมีอยู่ในใจนั้นต้องจับตัวมันให้ได้
นี่มันมีทางเดียวๆ เท่านั้นแหละที่เราจะเป็นมนุษย์ที่นี้ก็คนธรรมดา นอกนั้นก็ไม่มีทาง ศึกษาธรรมะเพื่อความหลุดพ้นนี้ก็เพื่อว่ามันจะได้สิ่งที่มนุษย์ควรจะได้ที่มันดีกว่าที่จะปล่อยไปตามธรรมดา ฉะนั้นทำวิปัสสนาสอนวิปัสสนาอะไรก็อย่ามุ่งหมายอะไรให้มันไปมากกว่านี้เดี๋ยวมันจะเตลิดเปิดเปิง เอาเพียงให้รู้จักสิ่งนี้ ให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ก็คือให้พ้นจากสังโยชน์ พ้นจากอุปาทาน เป็นตรงกันข้าม สังโยชน์หรืออุปาทานมันก็ตรงกันข้ามจากวิราคะนะ อันหนึ่งมันจับฉวย อันหนึ่งมันปล่อยวาง อันหนึ่งมันผูกมัด อันหนึ่งมันคลายออก วิราคะแปลว่าคลายออก,จางออก อุปาทานอยู่กับอัสสาทะพวกหนึ่ง แล้วก็วิราคะอยู่กับนิพพิทานี่อีกพวกหนึ่ง ฉะนั้นอัสสาทะมันก็เป็นข้าศึกกับนิพพิทา อุปาทานมันก็เป็นข้าศึกต่อวิราคะ ไม่ต้องพูดถึงกิเลสตัวอื่นก็ได้ พูดถึงสังโยชน์หรืออุปาทานที่เกิดขึ้น เมื่อตาเป็นตา หูเป็นหู จมูกเป็นจมูก ไม่ต้องไปนึกถึงกิเลสที่อื่นให้มันยุ่งหัวก็ได้ เพราะว่ามันอยู่ในอันเดียวกันหมด มันเครือเดียวกันหมด มันรวมอยู่ในนั้นหมด ทีนี้เรามันไปพูดตัวหนังสือกันมากแล้วก็ มันก็สับสนได้ เพราะเข้าใจไม่ทั่วถึง ถ้าเข้าใจทั่วถึงมันจะไปรวมอยู่ได้หมดในคำใดคำหนึ่งแล้วแต่เราจะใช้คำไหนแหละ จะใช้คำว่าสังโยชน์ก็ได้ ใช้คำว่าอุปาทานก็ได้ ใช้คำว่าโลภะโทสะโมหะก็ได้ มันได้,ได้ด้วยกันทั้งนั้น ทีนี้หลักใหญ่ๆ ผมสังเกตเห็นว่าใช้คำว่าอุปาทานไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางว่างไป หลักใหญ่ๆ หรือที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสมากก็จะใช้คำว่าอุปาทาน ตรงกันข้ามก็คืออนุปาทาน มันเป็น สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ยกกิริยายึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเป็นหลัก แล้วก็ทำอย่างยึดมั่นถือมั่น หรือว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เบญขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นแหละ โดยสังเขปแล้วก็อันนี้แหละเป็นตัวทุกข์
ฉะนั้นเรื่องที่เขาพูดกันมากในประเทศอินเดียหรือว่าที่พูดกันมากระหว่างพระพุทธเจ้ากับผู้รับคำสั่งสอนที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องที่ใช้คำว่ายึดมั่นถือมั่นมากที่สุด นั้นเรื่องราวที่มันเหลืออยู่เป็นบันทึกในพระไตรปิฎกนี้มันจึงมีอย่างนี้ เอาล่ะ,ขอให้ดูจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น และในขณะที่มีความยึดมั่นถือมั่นได้เกิดขึ้นแล้วที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ชัดแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อประโยชน์และกิจการของวิปัสสนาในพระพุทธศาสนา ทุกๆ ท่านเทอญ เอาล่ะ,ขอยุติการบรรยายถวายความรู้เพียงเท่านี้