แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการถวายความรู้รอบตัวแก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายในวันนี้ ผมก็ยังอยากที่จะกล่าวถึงคำพูดบางคำที่ทำความยุ่งยากหรือว่าที่ทำให้เราเข้าใจธรรมะไม่ตรงจุดไม่สมบูรณ์อะไรทำนองนี้ต่อไปอีก ทั้งนี้เพราะสังเกตเห็นว่าปัญหานี้ยังเป็นปัญหาที่มีอยู่มากในหมู่ทายกทายิกากระทั่งในหมู่ภิกษุสามเณรเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ผมอยากจะพูดถึงคำว่าธรรม ที่เป็นบาลีว่า ธมฺโม นั่นแหละ
เมื่อพูดถึงคำว่าเห็นธรรมๆ อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มีความรู้สึกกันน้อยไปสำหรับคำว่าเห็นธรรม และการทำวิปัสสนาก็มิใช่เพื่ออะไรอื่นนอกจากเพื่อเห็นธรรม แต่บางคนเกิดสงสัยขึ้นมาว่าเห็นธรรมกับบรรลุธรรมนี้มันต่างกันหรือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าผู้ใดเข้าใจคำพูด ๒ ชนิด คือว่าภาษาคนกับภาษาธรรมมาแล้ว ก็อาจจะเข้าใจได้เองว่า ๒ คำนี้มันเป็นอย่างไร เมื่อพูดว่าเห็นธรรม มันก็คล้ายๆ กับว่าเห็นด้วยตา เมื่อว่าบรรลุธรรมมันก็หมายความคล้ายๆ กับว่าเดินไปถึง มันก็เลยเกิดแยกความหมายกันไปคนละทาง พูดว่าถึงธรรมหรือบรรลุธรรมนี้มันพูดอย่างภาษาธรรมดาภาษาวัตถุเหมือนกับเราเดินไปถึง และการปฏิบัติธรรมมันก็มีความหมายอย่างเดียวกับการเดิน คำว่าปฏิปทานี้มันแปลว่าเดินไป ถ้าเดินไปมันก็ถึงเท่านั้นเอง ผลของมัน ทีนี้เด็กๆ แม้แต่เด็กๆ ก็จะถามว่าเดินอย่างไร เดินไปจนบรรลุถึงธรรมเดินอย่างไร มันก็หมายถึงการปฏิบัติ เรื่องการปฏิบัตินี้มันก็ยังเป็นเรื่องทางร่างกาย ทางแข้งขาอะไรอยู่ มือเท้าอยู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นจึงแยกออกไปเสียเป็นฝ่ายภาษาคนพูดอย่างวัตถุ
ทีนี้ถ้าพูดว่าเห็นธรรม มันก็เป็นภาษาของลูกตา ทีนี้เอาลูกตาไหนมาเห็นธรรม เด็กๆ ก็จะถามอย่างนั้นอีก ลูกตาของใครที่จะเห็นธรรม มันก็เป็นเรื่องต้องพูดคล้ายๆ กันอีกว่ามันเป็นเรื่องลูกตาที่เขาเรียกว่าปัญญาเห็นธรรม มันก็เลยมีคำว่าธรรมจักษุเกิดขึ้นคือดวงตาสำหรับเห็นธรรม ทีนี้การที่เห็นธรรมด้วยดวงตากับการบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติหรือการเดินไปนี้มันเหมือนกันหรือเปล่า นักเรียนมักจะเข้าใจไปว่าเราศึกษาเข้าใจธรรมะในโรงเรียนนั้นคือการเห็นธรรมแล้วก็เอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็จะบรรลุธรรม อาจจะเข้าใจอย่างนี้ก็ได้ มันก็ถูกเหมือนกันที่เขาจะคิดกันอย่างนั้น แต่นั่นมันเป็นเพียงการศึกษาทางปริยัติ เข้าใจธรรมะอย่างปริยัติ ไม่ใช่เห็นธรรมด้วยธรรมจักษุ ถ้าเป็นเรื่องเห็นธรรมด้วยธรรมจักษุกันจริงๆ มันก็อันเดียวกันกับการบรรลุธรรม เช่นการเห็นธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาบันเห็นด้วยธรรมจักษุ นี้ก็คือการบรรลุธรรมในขั้นที่เป็นพระโสดาบัน ข้อนี้เป็นการชี้คือมีความตั้งใจอยากจะชี้ให้เห็นว่า ภาษาที่จะใช้พูดกันในหมู่พระวิปัสสนาจารย์นั้นไม่ควรจะเป็นปัญหาชนิดนี้เลย ปัญหาทางคำพูดทางตัวหนังสือหรือทางลอจิก(Logic) ของภาษา มันไม่ควรจะเข้ามายุ่งกับการเห็นธรรมของผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนามันก็แปลว่าเห็นอยู่แล้ว และคำว่าเห็นนั่นแหละคือการบรรลุ แล้วแต่จะใช้คำไหน แต่ความหมายมันก็อาจจะไปตามตัวหนังสือ แต่ว่าความหมายที่แท้จริงนั้นมันอย่างเดียวกัน คือการที่จิตใจได้รู้สึกต่อธรรมจนรู้รสของธรรม นี่เรียกว่าบรรลุธรรม นี้ก็เป็นตัวอย่างที่ว่าเป็นปัญหาหยุมหยิมจุบจิบไป เสียเวลาเปล่าๆ ในการที่จะต้องมาเถียงกันหรือบางทีก็ถึงวิวาทกันด้วยจิตด้วยใจคอที่ไม่ปกติ นี้เป็นตัวอย่างเท่านั้น มันมีอีกหลายคำอีกมากคำ แต่ถ้าเข้าใจในตัวอย่างนี้แล้วก็จะเข้าใจในทุกคำที่มันมีลักษณะคล้ายกันอย่างนี้ ยิ่งเดี๋ยวนี้เรามีสำนักวิปัสสนามากๆ ต่างระดับกันมากอะไรกันมากแล้วก็น่ากลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นวัตถุสำหรับการเถียงกัน เป็นที่ตั้งแห่งการเถียงกันวินิจฉัยกันให้เสียเวลา และเมื่อเห็นไม่ตรงกันมันก็นำไปสู่ความเกลียดชังหรือดูหมิ่นกันได้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
แต่คำว่าเห็นธรรมหรือบรรลุธรรมนี้มันยังไม่ใช่คำที่ผมตั้งใจจะพูด ผมตั้งใจจะพูดถึงคำว่าธรรมโดยตรงเพียงคำเดียวดังที่กล่าวมาแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเข้าใจคำว่าธรรมนี้ถูกต้อง มันจะช่วยประหยัดอะไรได้มาก ในการศึกษาก็ดีในการปฏิบัติก็ดีหรือว่าพิจารณาอะไรต่างๆ มันจะช่วยประหยัดได้มากถ้าเข้าใจคำว่าธรรมอย่างถูกต้อง คือเดี๋ยวนี้เรามักจะเข้าใจคำว่าธรรมในลักษณะที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นเสียหมด นั่นเป็นอันตรายที่ร้ายกาจที่สุดที่ผิดพระพุทธประสงค์แล้วก็ทรงพยายามที่จะทำให้สาวกเข้าใจเงื่อนงำอันนี้หรือปมอันนี้ แล้วมันมีธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือไปเสียหมดเพราะมันไปเข้าใจคำว่าธรรมนั้นมันผิดไป ที่จริงคำว่าธรรมนี้จะต้องเข้าใจเป็นคำว่าธรรมชาติหรือธรรมดาเป็นต้นเสมอไปทีเดียว แม้ว่าตัวหนังสือแท้ๆ มันจะมีแต่คำว่าธรรมเท่านั้นแหละ แต่จงรู้เถิดว่าคำนั้นมันหมายถึงธรรมชาติและธรรมดาทุกแห่งไปเลย พอมองเห็นความหมายที่เป็นธรรมชาติธรรมดา ธรรมนั้นจะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้พอเราพูดว่าบรรลุธรรมสำเร็จการบรรลุธรรมอย่างนี้ ความหมายมันเป็นไปในทางที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราบรรลุธรรมที่เราอยากที่เราต้องการที่เราจะได้ดีได้เด่นขึ้นไปเป็นมรรคผลนิพพาน ก็ถูกยึดถือ ฉะนั้นนิพพานก็ถูกยึดถือ อะไรๆ ก็ถูกยึดถือไปหมด นับตั้งแต่ขี้ฝุ่น ธาตุดิน เป็นขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งขึ้นไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพาน เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ในสูตรทั้งหลายพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสอย่างนี้ทั้งนั้น ยึดถือดินโดยความเป็นดิน ยึดถืออะไรก็โดยความเป็นนั่น ยึดถือนิพพานโดยความเป็นนิพพาน เพื่อว่าเป็นของเราหรือเป็นของเขา ไม่เป็นธรรมชาติเลย ถึงแม้คำที่เราพูดกันอยู่ติดปากที่สุด มันก็มักจะมีความรู้สึกไปในทางที่เป็นธรรมสำหรับยึดมั่นถือมั่นไปเสียทั้งนั้น ฉะนั้นก็ขอให้ระลึกนึกถึงคำว่าธรรมที่มีความหมายสำคัญเป็นหลักไว้ เช่นคำว่า ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ธรรมฐิติ ก็แปลว่าความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามแปลว่ากฎตายตัวของธรรม คำว่าธรรมในกรณีอย่างนี้หมายถึงธรรมชาติทั้งนั้น การตั้งอยู่แห่งธรรมนั้นมันต้องธรรมชาติ หรือเรียกอีกทีหนึ่งก็ว่าธรรมธาตุ,ธมฺมธาตุ หรือธรรมธาตุ คำเดียวกันกับคำว่าธรรมชาติ ธรรมธาตุก็ว่าธาตุแห่งธรรม ธรรมชาติก็ว่าชาติแห่งธรรม ใครเข้าใจความหมายของคำว่าธรรมชาติแล้วก็ช่วยได้มากทีเดียวที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมหรือว่าในทุกความหมายเลย
ธรรมชาตินี้ มันไม่ใช่คำเดียวกับคำว่าชาติธรรม ธรรมะ-ชา-ติ กับ ชา-ติ-ธรรมะ นี้มันไม่ใช่คำเดียวกันนะ ชาติธมฺโม นี้มันเป็นเรื่องที่ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดานั่น ทีนี้ธรรมชาติมันไม่ได้หมายความอย่างนั้น มันเหมือนกับพูดเป็นภาษาไทยธรรมดาๆ ว่ามันเป็นชาติแห่งธรรมดา,มันเป็นชาติแห่งธรรมดา ทีนี้ความหมายไกลกว่ากันลิบก็ว่าชาติธมฺโม เรามีการเกิดกันเป็นธรรมดา ถึงแม้เราจะดูในบาลีเองในอรรถกถาเองก็ไม่เห็นคำอธิบายที่ชัดเจนพอ เข้าใจว่าคงจะเป็นคำที่รู้ประจักษ์กันดี ใช้ปนเปกันไปกับคำว่าธรรมเฉยๆ แล้วส่วนมากที่สุดใช้คำว่าธรรมแทนที่จะใช้คำว่าธรรมชาติหรือคำว่าธรรมธาตุ แต่ในสูตรที่เป็นหลักสำคัญ เช่น ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เหล่านี้ ใช้คำว่าธรรมเฉยๆ แต่ตัวมันหมายถึงธรรมชาติ ฉะนั้นคำว่าธรรมฐิติ ก็การตั้งอยู่แห่งธรรมชาติหรือธรรมดาหรือธรรมธาตุ ฉะนั้นธรรมนิยามก็แปลว่าบทนิยาม คือกฎอันตายตัวของธรรมชาติหรือธรรมธาตุหรือธรรมดานั่นแหละ
หวังว่าคงจะได้เขยิบความหมายของคำว่าธรรมออกไปให้เป็นธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คือเป็นไปในทางที่จะไม่เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น มันไม่เหมือนกับพูดว่าบรรลุธรรมแล้ว,โว้ย นี่ธรรมนี้มันกลายเป็น วัตถุแห่งความยึดมั่นถือมั่น ถ้าจะพูดว่าบรรลุธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุแล้ว,โว้ย มันก็ไม่ค่อยมีความหมายอะไร แล้วฟังไม่ถูกก็ได้ แต่ถ้าว่าบรรลุธรรม ก็หมายถึงบรรลุมรรคผลหรือบรรลุอะไรที่ปรารถนากันนักนั่นแหละ แต่ความจริงมันไขว้เขวกันอยู่ในตัว ยิ่งไปปรารถนายิ่งไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันยิ่งไม่บรรลุ ขอให้จำหลักเกณฑ์หรือว่าอะไรก็ตามความจริงความลับความสำคัญอันนี้ไว้ด้วยว่า ยิ่งอยากจะบรรลุแล้วยิ่งไม่มีทางจะบรรลุสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพราะพออยากจะบรรลุแล้วมันจะวิ่งไปหาธรรมประเภทที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นเสมอ มันจะไม่วิ่งไปหาธรรมประเภทธรรมชาติธรรมดาหรือธรรมธาตุ ซึ่งไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น
ฉะนั้นก็ขอให้พวกเราระวังความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจให้ดีๆ ที่เมื่อมันอยากจะบรรลุธรรมนั่นแหละระวังให้ดี มันจะวิ่งไปหาประเภทที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันไม่ได้อะไรหรอก ยิ่งอยากจะบรรลุแล้วมันยิ่งไม่ได้ ยิ่งจะเอานั่นแหละจะยิ่งไม่ได้ เพราะมันไม่เห็นเป็นธรรมชาติธรรมดาธรรมธาตุอะไร มันจะเอาเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขาไปเสียเรื่อย ฉะนั้นคำว่าธรรมในที่นี้มี ๒ แพร่งอยู่อย่างนี้ แพร่งหนึ่งมันพาไปไกลเลย พาออกไปไกลจากการที่จะบรรลุสิ่งที่ควรจะบรรลุ แพร่งหนึ่งมันจะทำให้ถึงโดยอัตโนมัติ ขอให้ระวังคำพูดที่เราพูดกันอยู่ บรรลุธรรมบ้าง ถึงธรรมบ้าง ถึงทับซึ่งธรรมบ้าง ทำให้เห็นแจ้งซึ่งธรรมบ้าง อู้,หลายคำ ปนกันยุ่งไปหมด แต่คำว่าทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั่นแหละค่อยยังชั่วหรือปลอดภัย ถ้าว่าถึงหรือได้หรือบรรลุแล้วมันมีส่วนที่เหลือไว้สำหรับความยึดมั่นถือมั่น
พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสคำว่า สจฺฉิกาตพฺพ,สจฺฉิกตฺวา นั่นแหละมาก แล้วแต่จะว่าเป็นกิริยาประเภทไหน นี้คือว่าทำให้แจ้งทั้งนั้นแหละ นิพพานเป็นสิ่งที่ต้องทำให้แจ้ง อย่างนี้มากที่สุด ถึงแม้ในอริยสัจ ๔ คำว่านิโรธ นิโรธอริยสัจนั้นจะมีคำกิริยาว่าทำให้แจ้ง สจฺฉิกาตพฺพํ แล้วก็ สจฺฉิกตํ นี้ เมื่อใช้คำว่าทำให้แจ้ง มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยากจะเอา อยากจะได้ อยากจะรวบรัดยึดถือ มันเพียงทำให้แจ้ง ตรงนี้ก็อยากจะให้นึกถึงคำที่เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ กันให้ดีๆ อีกสักหน่อยหนึ่งว่า ทุกข์นั้นต้องรู้นะ ปริญฺเญยฺยํ ต้องรู้ ควรรู้ สมุทัยนั้นควรละ นิโรธนั้นควรทำให้แจ้ง มรรคนั้นควรทำให้เจริญ ทั้ง ๔ ลักษณะนี้มันไม่เป็นไปในทางยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นภาษาธรรมะแท้ภาษาธรรมะที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้เรากำลังพูดกันถึงธรรมประเภทที่เป็นผลคือนิพพานหรือนิโรธ ก็ควรจะใช้คำว่าทำให้แจ้งนั้นเป็นหลัก ปลอดภัยกว่าคำอื่น,ธรรมที่ทำให้แจ้ง เพราะฉะนั้นเราก็ใช้คำว่าทำให้แจ้งซึ่งธรรมได้แล้ว มันชัดเจนทั้งทางคำพูด ชัดเจนทั้งทางความหมาย คือทั้งโดยอรรถะทั้งโดยพยัญชนะ
คำว่าบรรลุนั้น ภาษาบาลีว่า ปตฺต หรือ สมฺปตฺต แปลว่าบรรลุ มีความหมายเท่าๆ กับเดินไปถึงเหมือนกัน แล้วสิ่งที่บรรลุหรือเดินไปถึงนั้นมันคืออะไร แต่ว่าทำให้แจ้งนี้มันคืออะไร สิ่งที่ทำให้แจ้งมาได้นั้นคืออะไร กิริยามันไม่เหมือนกัน แต่ความจริงเหมือนกัน แล้วแต่ใครจะพูดโดยสมมติบัญญัติอันไหน ธรรมะนี้จะต้องทำให้แจ้ง,นี่พูด จะเป็นธรรมฐิติธรรมนิยามหรือว่าธรรมชาติธรรมธาตุอะไรก็สุดแท้ ต้องทำให้แจ้งปรากฏออกมา เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ เราไปทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว เราจะไปจัดการกับธรรมชาติตามใจเรานั้นทำไม่ได้ แต่เราทำให้แจ้งได้ เพื่อว่าเราจะไม่เกิดความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมชาตินั้น เดี๋ยวนี้ย้อนไปดูความทุกข์ทั้งหลายหรือปัญหาทั้งหลายมันรวมอยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งนั้นแหละ ในธรรมชาติแต่เรียกว่าในธรรม อย่างพระพุทธภาษิตที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ ทีนี้ท่านใช้คำว่าธรรมใช้แทนสิ่งทั้งสิ้น มันก็หมายถึงธรรมชาติ นับตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อารมณ์เหล่านี้มันก็ธรรมชาติ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ มันก็ธรรมที่เป็นปริยัติ ธรรมที่เป็นปฏิบัติ ธรรมที่เป็นปฏิเวธ กระทั่งมรรคผลนิพพาน ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้วมันไม่เป็นอะไรได้เลย มันไม่เป็นมรรคผลนิพพานได้เลย มรรคผลนิพพานนี้มันเป็นความที่ยึดมั่นถือมั่นน้อยลง น้อยลง น้อยลงจนไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรในธรรมใดนี่ ไม่ยึดมั่นในธรรมใดๆ นี่ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มองอีกทีหนึ่ง ธรรมทั้งปวงนั้นคือเป็นเพียงธรรมชาติหรือธรรมธาตุ เป็นชาติแห่งธรรมหรือเป็นธาตุแห่งธรรม ซึ่งเป็นตัวธรรม ธรรมชาติเองเป็นธรรมดาเอง ถ้าท่านผู้ใดมองเห็นทุกอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดาหรือธรรมธาตุแล้วก็หมดปัญหาแหละ
ทีนี้มันยังมีส่วนที่กันไว้สำหรับไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะยึดมั่นถือมั่นเอาตามใจของเรานี่ มันยังมีส่วนนี้เหลืออยู่ แล้วก็ยังต้องมีอะไรเหลืออยู่สำหรับเป็นทุกข์สำหรับเกิดปัญหาวุ่นวาย เพราะว่าปัญหาทั้งหมดมันเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์ทั้งหมดปัญหาทั้งหมดอะไรที่ไม่พึงปรารถนาทั้งหมดมันมาจากความยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็หมดปัญหาหรือหมดทุกข์หรือหมดเรื่อง ทีนี้ธรรมชาติทั้งปวงมันก็มีตัวมันที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น แต่เราไม่รู้ เราก็ไปยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เลยไปถึงว่าเราจะบรรลุธรรมอะไรที่มันเป็นผลดีแก่เราตามความต้องการของเราให้เราได้ดี นี้มันเลยยึดตัวเราขึ้นมาใหม่หนักยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม กระทั่งของเราที่จะได้มาใหม่ก็หนักยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม มันก็ผิดธรรมชาติ ผิดตัวธรรมชาติ ผิดตัวธรรมธาตุหรือธรรมดา มันไปเป็นธรรมที่มายาหลอกลวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นไปหมด ธรรมที่ไม่จริงที่เรายึดมั่นถือมั่นขึ้นมานี้ เป็นธรรมมายาเป็นธรรมหลอกลวง ที่จริงก็มิได้มีอยู่ แต่เพราะความยึดมั่นถือมั่นว่าอย่างไร มันก็คล้ายๆ กับว่ามันมีอยู่อย่างนั้น ทีนี้ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุ พวกนี้มันไม่เข้าใครออกใคร มันเป็นอยู่อย่างนั้นเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไปยึดมั่นเข้ามันก็โง่เอง เป็นทุกข์เอง ถ้าทำให้แจ้งประจักษ์ในความจริงแก่สิ่งเหล่านี้แล้วมันก็ไม่มีปัญหาเหลืออยู่ ฉะนั้นพยายามเข้าใจคำว่าธรรมคำเดียวนี้ให้ดีที่สุดให้ถูกต้องที่สุด ผลของวิปัสสนาจะเกิดขึ้นอย่างดีที่สุด เพราะว่าผลของการทำวิปัสสนาก็คือการเห็นแจ้งว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ประโยคนั้นเป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนา แต่เราเพียงแต่ได้ยินได้ฟังคำพูด จนกว่าเมื่อไหร่สติปัญญาจิตใจ และก็ทางใจแล้วแต่จะเรียกนี่ มันเข้าถึงความจริงอันนี้ แล้วก็มันไม่รู้จะยึดมั่นอะไร เหลียวไปทางไหนก็ไม่มีอะไรที่จะควรยึดมั่นถือมั่นหรือยึดได้
นี้คือผลของวิปัสสนา อย่าไปเข้าใจว่ามันจะมีอะไรมากไปกว่านี้ มรรคผลนิพพานอะไรก็อยู่ที่นี่ อยู่ที่ภาวะแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่จริง ถ้าละเมอๆ ไปเป็นอย่างอื่น จะเอาผลเป็นประโยชน์อย่างอื่นกระทั่งย้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ตัวแก่อายตนะ เป็นความสุขทางอายตนะแล้วก็เรียกว่า ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร คือฉิบหายหมด หลอกลวงที่สุดบ้าบอที่สุด ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร ฉะนั้นระวังให้ดีๆ ว่าการทำวิปัสสนามาตามลำดับๆ มีญาณเกิดขึ้นตามลำดับๆ นี้มันจะถูกหรือไม่ มันก็ไปทดสอบดูได้ที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าเข้าใจธรรม รู้สึกธรรม บรรลุธรรม รู้สึกต่อธรรมในลักษณะไหน คือเป็นธรรมชาติ ธรรมธาตุ ธรรมดาที่ไม่มีทางจะยึดมั่น หรือว่ายังกระหยิ่มอยู่ว่าจะยึดมั่น จะได้นิพพาน จะได้อะไรที่จะเอาจะได้ จะเป็นความกะลิ้มกะเหลี่ยกระหยิ่มอะไรที่จะได้อยู่นั่นแหละ มันผิดหนักเข้าทุกที ความรู้สึกชนิดนี้จะต้องน้อยลงไปทุกที น้อยลงไปทุกทีจนไม่มีเหลือ
นี้ทำให้เรานึกได้ย้อนหลังไปถึงครั้งพุทธกาลว่าเขาไม่ได้พูดอะไรกันมากมาย นอกจากคำว่าธรรมเพียงคำเดียวนี่ เมื่อใช้คำว่าธรรมเพียงคำเดียวเขาเข้าใจกันทันทีหรือตรงหรือถูกต้องคือธรรมชาติ เพราะว่าคำว่าธรรมนี้มันมาจากคำว่าธรรมชาติ ช่วยจดจำสมมติฐานอันนี้ไว้ให้ทีว่าผมขอเสนอว่าคำว่าธรรมนี้มันมาจากธรรมชาติหรือคำว่าธรรมชาติ แล้วก็ไปคิดเอง คิดเพื่อจะแย้งหรือเพื่อจะเห็นด้วย คิดให้ถึงที่สุดเลย ว่าธรรมนี้มันคือคำว่าธรรมชาติ คือมนุษย์,มนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์,แต่ดึกดำบรรพ์ มันรู้จักธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง มันก็มีคำพูดตามภาษาของเขาแหละ ซึ่งจะมีความหมายว่ามันธรรมชาติตามธรรมชาติตามที่เราเห็นๆ อยู่นี้ นี่มนุษย์สมัยที่ยังไม่เป็นมนุษย์นั่นแหละ เป็นเพียงครึ่งมนุษย์ แต่มันก็มีความรู้สึก ต่อมามันเป็นมนุษย์ แรกๆ มันก็มีความรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวงรอบด้านนี่ แล้วมันฉลาดขึ้นๆ มันก็รู้จักสิ่งทั้งปวงรอบด้านนั่นแหละ เพราะมันต้องมีคำพูดในหมู่มนุษย์นั้นอยู่คำหนึ่งแน่นอน คือสิ่งทั้งปวงที่เป็นอยู่เองตามธรรมชาติรอบด้าน เพราะนี่คือธรรมชาติ แล้วคำนี้มันมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ มา เหลืออยู่เป็นคำว่าธรรมในภาษาที่ใช้สำหรับพระพุทธศาสนาคือประเทศอินเดียสมัยนั้นจนกระทั่งมาถึงพระพุทธเจ้า มาเกิดพุทธศาสนาก็ยังใช้คำๆ นี้อยู่ กระทั่งมาเป็นคำว่าพระธรรม,เอาสิ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ คำว่าพระธรรมที่เป็นรัตนะอันหนึ่งนี้ ก็ไม่มีความหมายอื่นนอกไปจากคำว่าธรรมชาติ ธรรมธาตุ ธรรมดาไปได้ เพียงแต่ว่าแยกเอามาเฉพาะส่วนที่มันลึกที่สุดหรือสูงที่สุดที่จะต้องรู้แล้วก็ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ถ้าเรารู้ธรรมชาติอันสูงสุดระดับนี้แล้วมันก็จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง นี้คือพระธรรม มาอยู่ในรูปของคำพูดคือปริยัตินี้บ้าง แล้วก็มาอยู่ในรูปของการปฏิบัติตามหลักนั้นๆ บ้าง ตามหลักปริยัตินั้นบ้าง แล้วก็ได้ผลออกมาตามนั้นบ้าง มันก็จะเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าใครจะมองเห็นได้ว่าแม้ปริยัติก็เป็นธรรมชาติ ปฏิบัติก็เป็นธรรมชาติ ปฏิเวธก็เป็นธรรมชาติ นี้ก็เรียกว่ารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมอย่างพอตัวทีเดียว สิ่งต่างๆ จะง่ายขึ้น คือจะไม่ยึดมั่นถือมั่นปริยัติปฏิบัติปฏิเวธอะไร จะไม่รู้สึกในฐานะเป็นธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น
เดี๋ยวนี้เรามันยึดมั่นถือมั่นกันเกินไป เราเรียนนักธรรมเรียนบาลี ก็อยากจะดี อยากจะเด่น อยากจะเป็นเจ้าคุณ อยากจะเป็นสมเด็จ บางทีบางคนอาจจะอยากเป็นพระสังฆราชก็ได้ นี่ด้วยเหตุเพียงปริยัติเท่านั้น มันก็ยึดมั่นเตลิดเปิดเปิงไปอย่างนี้ ธรรมะในส่วนปริยัติถูกยึดมั่นถึงขนาดนี้ ทีนี้ธรรมะในส่วนปฏิบัติก็ดูจะยิ่งไปกว่า มันเดินคนละทางนี่ อยากจะเป็นพระอริยเจ้า อยากจะเป็นอะไรพิเศษวิเศษกว่าธรรมดาทั้งนั้นแหละจึงมาปฏิบัติธรรม อุตส่าห์ปฏิบัติก็เพื่อจะเป็นอะไรผิดกว่าธรรมดาไปในทางยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ถอนความยึดมั่นถือมั่น เช่นเดียวกับที่ผู้หลงปริยัติก็หลงในทางจะยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ว่าจะใช้ปริยัติเป็นเครื่องมือสำหรับไปทำการปฏิบัติ ทีนี้มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องสังเกตดูว่าการปฏิบัติที่ถูกยึดมั่นถือมั่น หรือว่ามันใช้ไปในทางยึดมั่นถือมั่นนี้มันผิดแน่คือมันไม่ใช่ธรรมในความหมายธรรมชาติ แต่ถ้ามันเกิดมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง นั่นแหละมันจะนำไปสู่ความรู้ที่ถูกต้องว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นปฏิเวธคือการรู้แจ้งแทงตลอด เป็นมรรคผลขึ้นมาหรือเป็นมรรคผลจริง มรรคผลของผู้ปฏิบัติโดยความยึดมั่นถือมั่นมันมีไม่ได้หรือแม้คิดว่ามี มันก็เป็นของไม่จริง นี่ธรรมะมันเล่นตลกอย่างนี้ ถ้าเผลอไปในทางของความยึดมั่นถือมั่นก็เป็นธรรมะหลอกลวง เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เรียกว่าธรรมนั่นแหละ มันเรียกอย่างอื่นไม่ได้ แต่มันไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริง ไม่ใช่ธรรมดาที่แท้จริง ไม่ใช่ธรรมธาตุที่แท้จริง คนมันเข้าใจผิดเอาเอง มันว่าเอาเอง ก็เรียกว่าเป็นธรรมชาติที่หลอกคนให้หลง ทีนี้ก็ทำลายความหลงนั้นเสีย ก็จะรู้ความจริงหรือธรรมชาติตัวจริง ธรรมธาตุตัวจริง ธรรมดาตัวจริง อะไรขึ้นมา
ผมเคยได้ยินเขานั่งเถียงกันทะเลาะกันตั้งหลายวันด้วยปัญหานิดเดียวว่า ธรรมชาติกับธรรมดานี้มันเป็นสิ่งเดียวกันหรือเปล่า คนหนึ่งว่าเป็นสิ่งเดียวกัน อีกองค์หนึ่งว่าไม่ใช่ มันก็เถียงกันได้ตั้งอาทิตย์ มันก็ไม่ตกลงกันได้ นั่นมันเป็นเพราะไปยึดในแง่ของภาษา อย่างนี้มันก็ลำบากแน่ ถ้าแปลเอาความหมายหรือเล็งไปถึงตัวจริงกันแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะผิดกันได้ ธรรมชาติก็จะเล็งถึงตัววัตถุ ธรรมดาก็จะหมายถึงภาวะ แต่มันก็อยู่ที่นั่นด้วยกัน มันแยกกันไม่ได้ ตามความรู้สึกของผม จะไม่แยกความหมายให้มันต่างกันในระหว่าง ๓ คำนี้ คือธรรมธาตุ ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมดานั้นทราบไหมว่ามันแปลว่าอย่างไร เราชินมาแต่เล็กจนเราไม่แปลกันแล้วใช่ไหม ธรรมะก็คือธรรมชาตินั่นแหละ และตา,ดานั้นก็แปลว่าความ,ความหรือภาวะ มันเป็นปัจจัยทางไวยากรณ์ตัวหนึ่ง ปัจจัยตัวนี้มีความหมายว่า ความหรือภาวะ คือความในภาษาไทย ธรรมะก็คือธรรมะหรือธรรมชาติ ธมฺมตาก็คือว่าความที่มันเป็นธรรมชาติ เรียกว่าธรรมดา,ธมฺมตา ฉะนั้นไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมดา ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมธาตุ,ธมฺมธาตุ และทั้งหมดนี้รวมเรียกด้วยคำสั้นๆ ว่า ธรรม ถ้าเห็นคำว่าธรรมในความหมายนี้ ความยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางเกิด ธรรมนั้นมันก็เป็นธรรมจริงอยู่เรื่อย คือไม่เป็นที่ตั้งความยึดมั่นถือมั่น พอเราไม่เข้าใจความหมายเหล่านี้ กิเลสหรืออนุสัยมันก็เข้ามาทำหน้าที่ คืออยากจะเลือกยึดมั่นเอาส่วนที่มันตรงกับกิเลสหรืออนุสัยหรืออวิชชา เพราะว่าเราเกิดมามันก็สร้างกิเลสมากขึ้นจนเป็นอนุสัยเป็นสังโยชน์เป็นอาสวะ อันนี้รอคอยอยู่เรื่อย ความเคยชินอันนี้มันรอคอยอยู่เรื่อย ฉะนั้นมันไปจับฉวยอะไร มันก็จะจับฉวยในแง่ที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น มันแยกเสียออกมาจากธรรมชาติธรรมดาเอามาเป็นของเรา เอามาเป็นสิ่งที่เราจะกินจะใช้จะดื่มจะอะไรที่ตามความพอใจของเรา เรียกว่ายึดครองธรรมชาติ อย่างที่เรียกว่าอะไรล่ะโง่ก็โง่ที่สุด อันธพาลก็อันธพาลที่สุด ไม่เป็นธรรมที่สุด ข่มเหงธรรมชาติที่สุด เพราะธรรมชาติมันก็ตบหน้าหรือว่ายิ่งกว่าตบหน้า ทำให้บุคคลนั้นมันเป็นคนบ้าไปเลย ก็คือมีปัญหามีความทุกข์ ฉะนั้นผมว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติดีกว่า คือทำความเข้าใจกันให้ดีๆ เราอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างนี้ อย่างนั่งอยู่ที่นี่ก็มีส่วนใกล้ชิดธรรมชาติ ให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไรง่ายขึ้น เราก็ค่อยๆ เขยิบเข้าไปให้รู้จักธรรมชาติให้มากขึ้นๆ มากขึ้นๆ ก็คือเห็นธรรมดา เห็นธรรมธาตุอะไรมากขึ้น จนเห็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม เห็นตถตา เห็นอวิตถตา อนัญญถตา อิทัปปัจจยตาในที่สุดมากขึ้นๆ มากขึ้นๆ จนเห็นถึงที่สุดจริงๆ ก็เลยหมดเรื่อง
นี่ตัวแท้ของวิปัสสนาก็ต้องเห็นอย่างนี้ และผลของการเห็นนี้ก็คือเฉยต่อสิ่งทั้งปวงในทางจิตใจ มันจะเฉยต่อสิ่งทั้งปวง เขาเรียกว่าอุเบกขาของพระอรหันต์ ไม่ใช่เฉยของคนที่ว่ามันเสียสติ มันเฉยเพราะเห็นธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุ อิทัปปัจจยตานี้มันถึงที่สุด ก็คือเห็นธรรม ทำให้แจ้งซึ่งธรรม ในอันดับแรกก็เป็นโสดาบัน นี่เรียกว่าเห็นธรรมเหมือนกัน ธรรมจักษุได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระอัญญาโกญฑัญญะ คำนี้ก็หมายถึงการเห็นธรรม ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุในอันดับแรก พอที่จะจัดว่าเป็นผู้มาอยู่ในฝ่ายที่ไม่หลงธรรมชาติอีกต่อไปนี่ ก็เรียกว่าจะเหนือโลกแล้ว เริ่มเหนือโลกแล้ว และความเห็นอันนี้มันปรับปรุงเรื่อยขึ้นไปตามลำดับ มันก็จนเห็นถึงที่สุด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในขั้นแรกนั้นก็ทำเพื่อให้เห็นธรรมชาติ ธรรมดา หรือธรรมธาตุนี่ ฉะนั้นวิปัสสนาในขั้นเริ่มแรก ก.ข. มันก็เรื่องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ถึงขนาด มันก็ต้องพยายามให้เห็นๆ เห็นๆ จนถึงขนาด ก็เป็นพระโสดาบันเพราะการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้จะเร่งให้ไปถึงสกิทาคามี อนาคามี มันก็เร่งการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้มากขึ้นไปอีก แล้วก็มาเร่งการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้มากขึ้นไปอีก มันก็ถึงขั้นที่เรียกว่าพระอรหันต์ มันไม่มีเรื่องอื่น มันมีแต่ที่เรื่องพยายามให้เห็นธรรมชาติ ธรรมธาตุ ธรรมดา ตถตา อิทัปปัจจยตา อย่างเดียวเท่านั้น แล้วแต่เราจะใช้คำไหนสะดวก แต่จะพูดถึงผลของมัน มันก็ใช้คำว่าเริ่มทำความไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นสูงขึ้นมาตามลำดับๆ จนเป็นพระโสดาบันจนเป็นพระอรหันต์ในที่สุดก็หมดความยึดมั่นถือมั่นเลย ทำไมมันจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เพราะมันเห็นธรรมดา เห็นธรรมชาติเห็นธรรมธาตุในรูปของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือบางทีรวมกันเรียกสุญญตาก็ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเอามาใส่ครกตำให้เป็นอันเดียวกันกลายเป็นสุญญตาก็ได้ ไม่ต้องมี ๓ อย่าง ทุกข์มันก็ว่างเหลือประมาณ ว่างอย่างน่าเกลียด อนิจจังมันก็ไม่มีส่วนไหนที่มันจะเป็นตัวเป็นตนได้ อนัตตามันก็มีความหมายที่ไม่มีตัวตนเต็มที่ ชัดอยู่แล้ว
ฉะนั้นการเห็นสิ่งนี้คือการเห็นธรรมชาติจริง ไม่รู้จะยึดมั่นอะไร ในหลักปฏิบัติก็มีตรัสสอนให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่างก่อน โลกชนิดไหนก็ตาม ให้เห็นตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุ โลกนี้เป็นของว่าง ว่างจากตัวตนนั่นแหละคือเป็นธรรมชาติ ธรรมดา เท่านั้นพอแล้ว ก็คิดดูสิว่า พอมันเห็นอย่างนี้แล้ว แล้วจิตมันจะไปยึดมั่นอะไรได้ล่ะ มันเห็นเป็นน้ำเหลวไปหมด มันไม่รู้จะไปยึดอะไรได้ นี่เห็นธรรมในลักษณะที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ก็เรียกว่าเป็นเป้าหมายของวิปัสสนา คือการเห็นทุกสิ่งโดยความเป็นของว่าง เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง เห็นทุกสิ่งโดยความเป็นของไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และมันก็เป็นเพียงธรรมชาติหรือธรรมดาที่ไม่หยุดหย่อน ที่ว่าธรรมชาติธรรมดานี้หมายความมันไม่ได้หยุดหย่อนคือว่ามันเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติธรรมดา รูปธรรมนามธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมดา รูปธรรมนามธรรมนั่นแหละที่เรียกในภาษาปฏิจจสมุปบาทว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ในวงวิปัสสนาของเราเรียกว่ารูปนามนั่นแหละ ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ในบาลีสังยุตตนิกายเต็มไปหมด แล้วอาการของรูปนามที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอนี้ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นถ้าเห็นรูปนามกันจริงๆ ต้องเห็นความเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรมของมัน และเห็นอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทของมัน,ของรูปนาม เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ก็มีคำพูดไว้ชัดเลยว่าเห็น เห็นธรรมฐิติ เห็นธรรมนิยาม เห็นตถตา เห็นอวิตถตา เห็นอนัญญถตา เห็นอิทัปปัจจยตา กระทั่งคำอื่นๆ ซึ่งเครือเดียวกัน เช่น เห็นสุญญตา
ฉะนั้นใครถนัดคำไหนก็ใช้คำนั้นก็ได้ คือธรรมชาติก็ได้ ธรรมดาก็ได้ ธรรมธาตุก็ได้ ธรรมธาตุนี้มีอยู่ ตั้งอยู่แล้ว ตถาคตจะเกิดก็ตามไม่เกิดก็ตาม ธรรมธาตุนี้ตั้งอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว นั่นแหละคือตัวธรรมชาติ ทีนี้ตถาคตเกิดขึ้นก็ได้ตรัสรู้ ได้เข้าถึงได้รู้แจ้งแทงตลอดอันนี้ ครั้นรู้แจ้งแล้วเข้าถึงแล้ว ก็บอก ก็กล่าว ก็สอน ก็บัญญัติ ก็เปิดเผย ก็ให้แก่คนอื่นด้วยเรื่องนี้ เรียกว่าประกาศ ประกาศธรรม ประกาศธรรมชาติ ประกาศธรรมธาตุ ประกาศธรรมดา ให้คนที่มีสติปัญญาพอจะรู้ได้นี้จะได้รู้ คนที่มันไม่มีสติปัญญาถึงขนาด มันก็รู้ไม่ได้ ก็เชื่อพระพุทธเจ้าไปก่อนก็ได้ เมื่อใฝ่ธรรมให้มันรู้ทีหลัง เมื่อใดเห็นธรรมในลักษณะนี้ เมื่อนั้นก็หมดปัญหาเหมือนที่ว่า ไม่มีความทุกข์โดยประการใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทุกข์ที่รบกวนจิตใจบุคคลอยู่ทั้งหลับและตื่น ลองทายทีว่าผมจะพูดว่าอะไร ความทุกข์ที่รบกวนมากที่สุดแก่บุคคลทั้งหลับและตื่นนั้น
เมื่อพูดถึงความทุกข์ เราก็คิดไปถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาส นี้ผมว่าไม่รวมอยู่ในคำที่ผมจะพูด แต่มันก็คือสิ่งเดียวกันนั่นแหละ เพราะจะไปเล็งถึงคำว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เบญจขันธ์ที่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ข้อนี้นะแสดงลักษณะออกมาเป็นความกลัว แต่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา เบญจขันธ์ที่มีความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ เป็นประมวลทั้งหมดแห่งความทุกข์ แต่รูปที่แสดงแท้ๆ อยู่ในใจของคนเรามากที่สุดนั้นมันอยู่ในรูปของความกลัว แต่มันไม่ใช่กลัวผี กลัวเสือ กลัวอะไร มันเป็นความกลัวเกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ มันเป็นธรรมะที่ละเอียดที่เห็นได้ยาก ตลอดเวลาที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์มันก็ต้องมีความกลัวอันนี้ เดี๋ยวนี้ที่กลัวกันเห็นชัดๆ ก็กลัวว่าจะไม่ได้อะไร หรือใครไม่กลัว ที่นั่งอยู่ที่นี่ คือกลัวว่าจะไม่ได้อะไรที่ควรจะได้ นี่มันกลัวอยู่ทั้งหลับและตื่นแหละ คนที่รักธรรมะก็กลัวว่าจะไม่ได้ธรรมะ คนที่มันยึดมั่นถือมั่นในธรรมะมันก็กลัวว่าจะไม่ได้ธรรมะ อันนี้จะรบกวนอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนทั้งหลับและตื่น ว่าเราเดี๋ยวนี้ก็อายุมากแล้ว มันยังไม่ได้ธรรมะอย่างที่เราต้องการ นี้มันก็มีความกลัว นี้มันไม่ใช่กลัวเจ็บกลัวไข้หรือกลัวตาย มันอยู่สบายๆ นี่ แต่มันกลัว กลัวอะไรก็ไม่รู้แหละ กลัวว่าเราจะไม่เป็นมนุษย์ที่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ นี่มันจะกลัวอยู่ตลอดเวลา เป็นใต้สำนึกบ้าง ออกมาสู่สำนึกบ้าง นอนอยู่คนเดียวมันก็รำพึงได้ นี่ความกลัวอันนี้ สมมติว่าเขาไม่มีเรื่องที่จะต้องกลัวอื่นๆ แล้ว เขาก็ยังกลัวว่าเขายังไม่ได้ จะไม่ได้สิ่งที่มันหวังไว้ที่ควรจะได้ แต่คนโดยมากก็เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องข้าวเรื่องของ เรื่องลูกเรื่องเมีย เรื่องทรัพย์สมสินเกียรติยศชื่อเสียง นั่นมันไปอย่างนั้น แต่ทีนี้ว่าพวกเราอย่างนี้มันก็ไม่มีเรื่องชนิดนั้น แต่มันก็ยังมีความรู้สึกว่าเรายังไม่ได้อะไรที่เราควรจะได้ แล้วเรากลัวว่าจะไม่ได้ เรากลัวว่าเราจะไม่ได้สิ่งที่เราควรจะได้ เช่นทำวิปัสสนานี้ยังไม่สำเร็จ นี่มันก็กลัวว่าจะไม่ได้ จะไม่ได้ความสำเร็จ นี้มันอยู่ในรูปของความกลัว มันจะรบกวนจิตใจอยู่เสมอ นี้มันเป็นความทุกข์ที่ละเอียดสุขุมซ่อนเร้นที่สุด ไม่มีความสุขกันก็เพราะข้อนี้ ถ้าเลิกกลัวข้อนี้เสียได้มันก็มีความสุข หรืออย่ากลัวให้มันมากจนเป็นความทุกข์เกินไปนี่
สมมติว่าเป็นนักเรียนที่แท้จริง มันก็คงจะกลัวเรื่องสอบไล่ไม่ได้นี่ มันจะกลัวอยู่ใต้สำนึกหรือเต็มสำนึก ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็กลัวจะไม่ได้อะไรที่มันอยากจะได้นั่นแหละ อยู่ใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลา แล้วบางทีมันก็ออกมานอกสำนึก พ่อบ้านแม่เรือนก็กลัวทุกอย่างที่มันต้องรับผิดชอบนั่นแหละ
ทีนี้เป็นพระเป็นเณรเป็นอาจารย์วิปัสสนามานั่งอยู่ที่นี้แล้วกลัวอะไร มันมีอะไรที่เหลืออยู่ไว้สำหรับกลัว มันก็กลัวที่ว่าจะไม่ได้อะไรที่ควรจะได้ก่อนแต่จะตายนี่ นี่ถ้าเป็นพระวิปัสสนาจริงๆ นะ ถ้าเป็นวิปัสสนาไม่จริง ก็กลัวว่าจะไม่ได้อะไรไปสำหรับหลอกชาวบ้านให้เขาแตกตื่นนับถือ มันก็ต้องกลัว มันก็กลัวอยู่ตลอดเวลา จะเป็นวิปัสสนาจริง หรือไม่เป็นวิปัสสนาจริงมันก็มีเรื่องที่ต้องกลัวอยู่ตลอดเวลา กลัวว่าที่ทำไว้จะไม่เสร็จ ที่ทำไว้จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ มันจะเอาความกลัวนี้พกติดไปเข้าโลงไปด้วยก็ได้ อย่าทำเล่นกับมัน
เพราะฉะนั้นความกลัวเป็นสิ่งที่ทรมาน ทายกทายิกาผู้เป็นมุทุปสันนา มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสบริสุทธิ์ ก็ยังกลัวว่าจะไม่ได้นิพพานอยู่นั่นแหละ แม้เชื่อว่าอาจจะได้สวรรค์ ทีนี้คนที่มันไม่ถึงขนาดนั้นมันก็กลัวว่าจะไม่ได้สวรรค์หรือไม่ได้อะไรอย่างที่ตั้งใจกันว่าจะได้ นี่มันร้ายกาจมาก มันเป็นอันตรายทางจิตใจมาก เพราะว่าไม่เห็นธรรมชาติ ไม่เห็นธรรมดา ไม่เห็นธรรมธาตุ ตัวเดียวเท่านั้นแหละมันจึงกลัวนี่ ฉะนั้นก็รีบๆ รีบๆ รีบเห็นธรรมชาติ ธรรมดาเท่านั้นเอง อย่าไปนอนกลัวอยู่สิ และเดี๋ยวก็ฝันก็กลัว ตื่นก็กลัว
ทีนี้ว่ามีคาถาวิเศษอยู่คาถาหนึ่งบอกให้อีกเอาไหม,ให้จด สุทฺธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ/สุทฺธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ แล้วก็ สุทฺธํ สงฺขารสนฺตตึ สุทฺธํ บริสุทธิ์น่ะ แล้วก็ สงฺขารสนฺตตึ แล้วมาบาทที่ ๓ ปสฺสนฺตสฺส ยถาภูตํ/ ปสฺสนฺตสฺส บทหนึ่ง ยถาภูตํ รวมเป็นบาทหนึ่ง ภยํ น โหติ คามณิ/ ภยํ น โหติ คามณิ ภยํ แล้วก็ น แล้วก็ โหติ แล้วก็ คามณิ
ก็ทานดูใหม่ว่า สุทฺธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ, สุทฺธํ สงฺขารสนฺตตึ ปสฺสนฺตสฺส ยถาภูตํ ภยํ น โหติ คามณิ ฯ คามณิ ดูก่อนคามณิ, ปสฺสนฺตสฺส เมื่อบุคคลเห็นอยู่, ยถาภูตํ ตามที่เป็นจริง, สุทฺธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ ว่ามันเป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ, ว่ามันเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ หรือแห่งธรรมดาล้วนๆ แห่งธรรมธาตุล้วนๆ ก็เหมือนกัน, สุทฺธํ สงฺขารสนฺตตึ ว่ามันเป็นเพียงการสืบต่อของสังขารล้วนๆ, ภยํ อันว่าภัย, น โหติ ย่อมไม่มี, ความกลัวย่อมไม่มี
ทีนี้จะแปลกลับ เอาอันนี้ขึ้นต้นเป็นประธานก็ได้ว่า ดูกรคามณิ ความกลัวไม่มีแก่บุคคลที่เห็นอยู่ตามเป็นจริงว่ามันเป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ มันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ เหมือนกันแหละ ก็แปลว่าให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดทั้งปวง มันเป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ ตามแบบของธรรมชาติ ตามวิธีของธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่จะเป็นอะไรมากนอกไปจากนั้นได้ คือไม่เป็นตัวตนหรือของตน ให้เห็นว่ามันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งการเกิดของสังขารล้วนๆ การเกิดขึ้นแห่งธรรมชาตินั้นแหละมันมีการสืบต่อปรุงแต่ง ฉะนั้นจึงต้องเห็นการสืบต่อนี้อีกทีหนึ่ง บาทที่ ๒ มันจึงระบุว่าเห็นการสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ สุทฺธํ ตัวนี้แปลว่าล้วนๆ นะ จำให้ดีนะ ไม่ใช่แปลว่าบริสุทธิ์
ผมสังเกตดูแล้วเกือบทุกภาษา คำว่าบริสุทธิ์นี้จะมีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่าล้วนๆ ภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรหลายภาษา ล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือนั่นแหละคือบริสุทธิ์ บริสุทธิ์นั่นแหละคือล้วนๆ ล่ะ ฉะนั้นคำว่าบริสุทธิ์หรือสุทธะนี้แปลว่าล้วนๆ ก็ได้ แปลว่าบริสุทธิ์ก็ได้ บริสุทธิ์ก็คือล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ เห็นว่าเป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ ให้มันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ความกลัวไม่รู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ว่ากลัวเมื่อตะกี้ กลัวทุกอย่าง กลัวจะไม่ได้อะไรทันกับเวลาตายนี้มันไม่กลัว เพราะมันไม่ได้อะไร มันไม่ได้ต้องการอะไร มันไม่ต้องการอะไร มันไม่อยากได้อะไร แล้วมันจะเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำไม ทีนี้มันไปยึดมั่นธรรมะในฐานะเป็นของยึดมั่น ยึดถือนิพพานยึดมั่นนิพพานในฐานะเป็นของที่จะได้ มันก็กลัวว่าจะไม่ได้นิพพาน นี่มันไม่รู้จักทำให้เป็นธรรมชาติล้วนๆ เป็นสังขารสืบต่อล้วนๆ ไปนอนนึกถึงแง่นี้สิ มันจะหยุดความต้องการ แล้วมันก็หยุดความกลัวว่าจะไม่ได้ มันก็หมดเท่านั้นแหละ มันเป็นวิปัสสนาที่ลัดที่สุดที่สั้นที่สุด ไปเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติ ธรรมธาตุ ธรรมดาล้วนๆ แล้วแกจะเอาอะไร แกจะบ้าเอาอะไรอีกล่ะ มันไม่มีอะไรที่จะเอาหรือจะต้องเอาหรือว่าควรจะเอา ความกลัวมันก็ไม่มีว่าเรายังไม่ได้ เราจะตายเสียก่อนนี้มันก็ไม่มี
นี่คาถาในคัมภีร์เถรคาถา มีดีๆ อย่างนี้อยู่มาก ฉะนั้นขอให้สังเกตให้เห็นคำว่าธรรม เกิดขึ้นแห่งธรรมล้วนๆ นี่ ธรรมนี้ไม่ใช่ปริยัติธรรม ไม่ใช่อะไรธรรม คือธรรมชาติ ธรรมดาล้วนๆ การเกิดขึ้นนี้มันสืบต่อปรุงแต่งกันเรียกว่า สังขาร ฉะนั้นจึงว่าการสืบต่อแห่งสังขารธรรมล้วนๆ มองดูไปยังสิ่งต่างๆ ที่เห็นอยู่นี่ หรือว่าจะทุกอย่าง ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง ได้ดม ได้ลิ้มรสอะไรก็ตาม มันก็ถ้ารู้สึกขึ้นมาทันทีว่า สุทฺธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ แล้วก็รอดตัว ธรรมชาติล้วนๆ เกิดขึ้น ทีนี้ความคิดความนึกความเปลี่ยนแปลงอะไรในจิตนี้ก็เป็นเพียงการสืบต่อของสังขาร ซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาล้วนๆ อีกแหละ ไม่ใช่ตัวกู เดี๋ยวนี้มันเอาตัวกูไว้เรื่อย ตัวกูมันก็ต้องการนั่นต้องการนี่แล้วก็รู้สึกว่ายังไม่ได้ มันก็กลัว มันก็กลัวทั้งหลับทั้งตื่น
คำว่าธรรมนี้สำคัญมาก พอแล้ว,เห็นธรรมอย่างเดียวพอแล้ว มันหยุดอะไรหมด หยุดความกลัว หยุดอะไรหมด แต่ต้องเป็นธรรมในความหมายที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมที่มีความหมายไปในทางธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมดา เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม เป็นตถตา เป็นอวิตถตา เป็นอนัญญถตา เป็นสุญญตา เป็นอนัตตา เป็นธาตุปัจจยตาอะไรก็แล้วแต่ ล้วนแต่ไม่มีตัวตนทั้งนั้น นี่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรนำมาถวายเป็นความรู้รอบตัวแก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายอีกคำหนึ่ง คือความหมายของคำว่าธรรม ขอให้พิจารณาดูให้ดีๆ จะช่วยประหยัดเวลาในการปฏิบัติเพื่อให้มันสั้นเข้า เอาล่ะ,ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้สำหรับวันนี้/