แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมปาฏิโมกข์ของเราที่นี่ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูตามเคย ในวันนี้จะได้พูดต่อเนื่องจากครั้งที่แล้วมา ในครั้งที่แล้วมามีใจความสำคัญว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ฉะนั้นจึงมีตนเป็นที่พึ่งมีธรรมเป็นที่พึ่ง มันพอจะสรุปใจความได้ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน แล้วก็แยกออกเป็นว่าตนชนิดไหนจะเป็นที่พึ่งแก่ตนชนิดไหน เราจะต้องพิจารณาให้เห็นตนซึ่งเป็นแต่สักว่าคำพูดหรือเป็นสักว่าความสำคัญผิดเป็นเรื่องมายาให้เข้าใจชัดไว้เสมอ ผมก็เคยบอกหลายครั้งหลายหนมาแล้วว่าธรรมะโดยเฉพาะธรรมะชั้นสูงในพุทธศาสนานี้มันลำบากด้วยเรื่องภาษานั่นเอง แม้ที่บอกว่าลำบากเพราะภาษานี้มันก็หลายแง่หลายมุม เพราะภาษาไม่พอก็มี เพราะภาษามันหลอกเสียเองก็มี
ภาษาไม่พอหมายความว่าเราไม่มีคำที่จะใช้พูดกับมัน ต้องไปเอาคำที่มีใช้อยู่ก่อนแล้วมาใช้พูด เรียกสิ่งซึ่งมิได้หมายความเหมือนกับที่เขาหมายความกันอยู่ นี่เพราะภาษาไม่พอ ทีนี้เพราะภาษาไม่พอไปยืมมาใช้ในลักษณะอย่างนี้ ภาษานั่นแหละมันกลายเป็นเรื่องหลอกให้คนที่ไม่เข้าใจภาษาหรือไม่รู้จักความหมายของภาษาที่ใช้เป็นพิเศษเฉพาะกับเรื่องพิเศษนี้ ฉะนั้นภาษานั้นก็เลยกลายเป็นของหลอก เป็นของที่ทำให้เกิดความลำบากยุ่งยากขึ้นมา นี่ภาษาไม่พอมันเป็นอย่างนี้ นี่ขอให้สังเกตคำว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนี้ ภาษามันก็ดิ้นได้หลายอย่าง คนธรรมดาก็ไม่ยอมฟังเพราะว่ามันไม่มีเหตุผล พอพูดให้เป็นหลายตนขึ้นมามันก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่ ถ้าเป็นตนเดียวมันก็ไม่รู้ว่าจะแก้กันอย่างไรหรือว่าจะดับกันอย่างไร เพราะตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนี้มันเหมือนกับว่าใช้ตนนั้นไปฆ่าตนอีกทีหนึ่ง ถ้าตนมันมิได้มี มีแต่ขันธ์ ความจริงมันเป็นเพียงขันธ์ มันก็ใช้ขันธ์นั่นแหละไปฆ่าขันธ์อีกทีหนึ่ง คำพูดมันก็ดึงไปหาประโยคที่ว่าใช้ตนฆ่าตน ใช้ขันธ์ฆ่าขันธ์ มันก็ยิ่งฟังไม่ถูกสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเสียเลย นี่ภาษามันมีความดิ้นได้หรือความสับปลับหรือมีลอจิก(logic)ที่มันสับสน ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็หมายความว่าให้เอาตนหนึ่งไปทำลายตนหนึ่งให้หมดความหมายไปเหลือแต่ตนอีกอันหนึ่งซึ่งไม่เป็นทุกข์ มันก็เลยผิดหลักที่ว่าตนแล้วมันก็เป็นความยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่เข้าใจภาษาก็จะคิดอย่างนี้
ถ้าเรานึกถึงคำของศาสนาที่ว่าสละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิตนี้ ก็จะพบปัญหาอย่างเดียวกัน แล้วคนที่มันไม่เคยรู้เรื่องไม่เคยฟังมาก่อนว่าสละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิต มันฟังไม่ถูก มันเหมือนกับคำพูดบ้าๆ บอๆ แต่ว่าเรื่องจริงของเขานั้นมันคนละชีวิต ชีวิตคนละอย่าง แต่แล้วมันก็ไม่มีอะไรอื่นที่จะให้มาเรียกเป็นอย่างอื่น มันก็เรียกว่าชีวิตอยู่นั่นแหละ มันก็เลยมีชีวิตจริงชีวิตไม่จริงขึ้นมา ให้สละชีวิตไม่จริงเสียแล้วก็จะได้ชีวิตจริง นี่มันพอจะฟังถูกเพราะเหตุนี้
ทีนี้ตนก็เหมือนกันแหละ ถ้าสละตนที่ไม่จริงเสียก็จะได้ตนที่จริงขึ้นมา แต่แล้วมันพูดไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าในพุทธศาสนานี้ปฏิเสธทุกสิ่งว่ามิใช่ตน ฉะนั้นคำว่าตนที่แท้จริงมันต้องเป็นคำพูดที่สมมติอีกทีหนึ่ง มันทำความยุ่งยากลำบากกว่าคำพูดที่ว่าสละชีวิตเสียแล้วก็จะได้ชีวิต นี่เราพูดว่าสละตนเสียแล้วก็จะได้ตนนี้มันทำให้พุทธศาสนาผิดหลักความสำคัญที่ว่าไม่มีตนไป ฉะนั้นควรจะใช้คำอื่น แทนที่จะพูดว่าเอาตนมาฆ่าตนนี้ ก็จะพูดว่าเอาขันธ์มาฆ่าขันธ์ ยิ่งฟังยากต่อไปอีก แต่แล้วมันจะจริงขึ้นอีกกว่าสักหน่อย
นี้ต้องสังเกตดูให้ดี ที่เราพูดว่าเอาตนฆ่าตน เอาขันธ์ฆ่าขันธ์หรือตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนี้ เป็นคำพูดชนิดที่สมมติทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าสมมติลึก สมมติตื้น สมมติในวิธีไหน คือถือเป็นหลักได้ว่าถ้าไปเกิดพูดว่าตนขึ้นมาแล้วไม่ว่ากรณีไหนเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น นี่ส่วนนามศัพท์มันเป็นเรื่องสมมติอย่างนี้ ทีนี้ส่วนกิริยาศัพท์มันก็เป็นสมมติอีก ที่ว่าไปฆ่าตน ไปฆ่าตนนี้ คำว่าฆ่า กิริยาคำนี้ก็เป็นคำสมมติอีก แม้จะใช้คำว่าเป็นที่พึ่ง คำว่าเป็นที่พึ่งนี้ก็เป็นคำสมมติอีก ฉะนั้นเราต้องพูดด้วยคำสมมติของภาษาคนตามที่คนธรรมดามันพูด แต่เรื่องธรรมชาตินั้นมันไม่ควรจะพูดอย่างนั้น นั้นมันฟังไม่ถูก ฟังยากไปกว่าเสียอีก เลยต้องพูดภาษาคน พอพูดภาษาคนก็ถือความหมายไม่ถูก มันก็ยิ่งเวียนหัว
ทีนี้เราจะลองพูดไปในรูปที่ไม่สมมติกันบ้าง คือไม่สมมติยิ่งขึ้นทุกที ถ้าพูดว่าตนฆ่าตนมันสมมติเกินไป ไม่รู้ตนไหนจะฆ่าตนไหน ถ้าพูดว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ มันค่อยยังชั่วหน่อย มันไม่มีตนมันมีแต่ขันธ์ แล้วมันจะฆ่าขันธ์ได้อย่างไร มันจริงกว่าแต่ว่ามันฟังยากกว่า เพราะว่าถ้ามีการฆ่ามันต้องมีผู้ฆ่า มีตัวซึ่งเป็นผู้ฆ่า ขันธ์มันไม่เป็นตัวผู้อะไรได้ ก็ฟังยาก แต่ที่จริงอันนี้ถูกกว่า ถ้าพูดว่าตนฆ่าตน ต้องมีตนอันหนึ่งซึ่งเป็นผู้ฆ่าและก็มีตนซึ่งถูกฆ่า อันนี้ฟังง่ายแต่ว่าถือเอาใจความยาก สำหรับตนที่เกิดสติปัญญาเห็นความทุกข์นี่จะเป็นตนที่เป็นผู้ฆ่าตนที่มันโง่ อันนี้ฟังคล้ายๆ กับเป็นมีบุคคลเป็นสมมติ แต่ได้ความดี ตนที่เห็นสัจจะ๔ เรื่องความทุกข์นี้มันจะเป็นผู้ฆ่าหรือกำจัดตนที่โง่ให้หายไป แล้วคำพูดยังใช้คำว่าตนอยู่ทั้งสองฝ่าย ยุติเป็นอันว่า ตนอันหนึ่งมันมีลักษณะเป็นผู้รู้ และกำจัดตนชนิดที่ไม่ใช่ผู้รู้ไม่เป็นผู้รู้เสีย มันก็มีปัญหาต่อไปว่าเมื่อไหร่เรียกว่ามีความรู้หรือไม่มีความรู้
ดูตามธรรมดาสามัญ หลักทั่วไปก็จะเห็นว่า ในขณะไหนเบญจขันธ์ประกอบอยู่ด้วยตัณหาอุปาทาน ในขณะนั้นเบญจขันธ์นั้นปราศจากความรู้หรือญาณ ทีนี้เบญจขันธ์ที่กำลังประกอบด้วยอุปาทานที่เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์นี้คือตนที่ไม่รู้แล้วก็เป็นความทุกข์อยู่ในตัวมันเอง ทีนี้ในขณะไหนเบญจขันธ์มิได้ประกอบอยู่ด้วยตัณหาและอุปาทาน แต่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา เป็นเบญจขันธ์ที่มีส่วนของปัญญาประกอบอยู่ในส่วนที่เรียกว่าสังขารขันธ์ก็ได้ ถ้ามันมีสติปัญญา มีสติหรือปัญญาหรือสัมปชัญญะหรือญาณทัสสนะอะไรประกอบอยู่ในขันธ์ส่วนนั้น เบญจขันธ์นั้นก็ไม่ประกอบด้วยอุปาทาน ฉะนั้นนอกจากมันจะเป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์แล้ว มันยังเป็นเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือญาณด้วย ทีนี้เบญจขันธ์ที่ไม่มีตัณหาอุปาทานนี่มันจะเป็นเบญจขันธ์ที่ได้รับสมมติว่าเป็นผู้ฆ่า และมันก็ฆ่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
นี้พูดเพื่อจะวางหลักว่าเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์นี้จะฆ่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ก็พอจะสรุปได้ว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ ทีนี้พูดว่าขันธ์ฆ่าขันธ์นี้มันเป็นคำสมมติ อย่าไปฟังเหมือนกับว่ามันเป็นมีตัวผู้ มีตัวบุคคลที่เป็นผู้ฆ่า เพราะเขาต้องยืมภาษาชนิดนั้นมาพูดเพื่อให้มันเป็นภาษาสำหรับคนพูด แต่ที่แท้มันก็มิได้เป็นตัวผู้ แล้วก็เป็นตัวผู้ฆ่า หรือเป็นตัวผู้ถูกฆ่า แต่เราต้องพูดอย่างนั้น ใจความจริงๆ ของมันก็มีว่าพอเบญจขันธ์มันประกอบอยู่ด้วยญาณด้วยปัญญานี้ เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยตัณหาอุปาทานมันเกิดไม่ได้ หรือถ้ามันเกิดอยู่มันก็ถูกทำลายไป สมมติว่าเวลานี้เรากำลังมีตัณหาอุปาทานยึดมั่นในรูปเป็นต้น เพลินอยู่พอใจอยู่ในเวทนาที่เกิดจากรูป มีความหมายเป็นตัวกู ว่ากูมีอยู่ กูได้สิ่งที่อร่อยหรือเป็นสุขที่เนื่องมาจากเวทนาที่เกิดจากรูป เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าตัวกูเกิดอยู่
ทีนี้ถ้าเผอิญในบางกรณีสติสัมปชัญญะมา เกิดแทรกขึ้นมา เพราะว่าเราเคยเป็นผู้ศึกษามาเคยปฏิบัติมาเคยละกิเลสได้ในบางครั้ง ทีนี้ความได้อย่างนี้เผอิญมันกลับมาเกิดขึ้นทันใดนั้น สติสัมปชัญญะมันก็ทำหน้าที่ เอ้า,ออกมาอย่างนี้ มันก็นึกได้สำนึกได้ ความโง่ความหลงความยึดมั่นถือมั่นในทันใดนั้นก็สลายไปทันทีหรือหายไปทันที นี่มันมีอาการเหมือนกับฆ่า เหมือนกับว่าสติปัญญานั้นมาฆ่ากิเลส ฉะนั้นโดยทางปรากฏมันก็เหมือนกับว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยปัญญานี้เป็นผู้ทำลายเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลสตัณหา โดยที่แท้แล้วมันก็เกิดคนละที แต่มันเพราะเหตุว่าด้วยอำนาจของอันที่มาทีหลังนั่นแหละ อันที่มีอยู่ก่อนมันถูกทำลายไป มันจึงมีลักษณะเหมือนกับว่าฆ่าหรือกำจัด
นี่ภาษาทั่วๆ ไปในทางธรรมะก็ใช้ภาษาสมมติอย่างนี้ทั้งนั้น ฆ่ากิเลสบ้าง ข่มขี่กิเลสบ้าง แล้วก็บรรลุถึงนิพพานบ้าง นี่เป็นคำสมมติทั้งนั้น นิพพานเป็นสิ่งที่ถึงไม่ได้ด้วยการไป แล้วมันก็ไม่ใช่ไปถึง มันเป็นแต่เพียงปรากฏออกมา ไม่ได้ไปถึง แต่เราก็พูดกันตามธรรมดาว่าไป ไปนิพพาน ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน หรือไปสู่นิพพาน ใครๆ ก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น ผมก็พูด ใครๆ ก็พูด เราพูดกันเสียจนชินในการใช้ภาษาชาวบ้านภาษาสมมตินี้กับสิ่งที่มิใช่สมมติ
ทีนี้ดูกันใหม่อีกทีหนึ่ง ดูซ้ำอีกทีหนึ่งว่ากำลังเกิดตัณหาอุปาทานอยู่ เป็นตัวตนที่เป็นชนิดที่เป็นตัวตนฝ่ายความทุกข์คือเป็นตัวกูของกู กำลังเดือดอยู่ด้วยอุปาทานตัณหาว่าตัวกูของกู นี่คือตนหนึ่งแล้ว นี่ตนมายาที่สุด ตนสมมติเหลวๆ ที่สุด ไม่ควรจะเรียกว่าตนที่สุด แต่ความรู้สึกมันว่าตนนี่ ว่ากูนี่ กูมันได้นี่ นี้เรียกว่าตนที่เป็นยักษ์เป็นมาร ทีนี้กำลังโง่อยู่อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวสติสัมปชัญญะเผอิญได้โอกาสโผล่เข้ามา เอ้า,ว่าเราเคยรู้แจ้ง เคยพิจารณาเห็น เคยนึก แล้วก็นึกไปถึงที่มันเคยเห็นแจ้งคราวนั้น สติมันก็มาอย่างนี้ ตนโง่นั้นก็หายไปทันที ทีนี้ตนธรรมะมันก็มา คือสติสัมปชัญญะปัญญาญาณทัสสนะมันมา นี้เราก็เรียกว่าตนอันใหม่ เป็นตนธรรมะเป็นตนจริง ถ้าจะสมมติก็ต้องสมมติว่าเป็นตนจริง ตนยักษ์ตนมารตนปลอมดับไป ตนจริงตนแท้นี่โดยสมมติอีกแหละก็เข้ามา ฉะนั้นทั้ง ๒ ตนนี้ต้องถือว่าเป็นสมมติเพราะภาษาชาวบ้านพูด อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ยืมภาษาชาวบ้านมาพูดว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ใครอื่นจะมาเป็นที่พึ่งได้เล่า หรือว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา นี่ จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ก็ไม่มีตนอื่นนอกจากว่า ๒ ตนนี้ เมื่อไหร่มีตนกิเลสตัณหาก็เป็นตนที่ควรจะถูกฆ่า แล้วเมื่อไหร่มีตนของปัญญาของธรรมะเข้ามา ก็มีส่วนที่จะถูกสมมติว่าเป็นผู้ฆ่า นี้เรียกว่าตนฆ่าตน
ทีนี้โดยเหตุที่คำว่าตนมันยังสมมติมากนัก เราจะให้สมมติน้อยหน่อย ก็เปลี่ยนเป็นว่าขันธ์,ขันธ์ฆ่าขันธ์ มันก็เข้ารูปอย่างตะกี้ว่า เบญจขันธ์ที่กำลังกลุ้มอยู่ด้วยอุปาทานเป็นปัญจุปาทานขันธ์นั้นเป็นขันธ์ที่ควรจะถูกฆ่า จนพอมีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ก็เกิดขันธ์อันใหม่ที่ไม่มีตัณหาอุปาทาน หมายความว่าพอปัญญาหรือญาณอะไรมันเกิดขึ้น มันขจัดส่วนที่เป็นตัณหาอุปาทานออกไปเสีย มันก็เกิดขึ้นแทน มันคล้ายๆ กับอยู่ครองเบญจขันธ์นั้นแทน เป็นเบญจขันธ์บริสุทธิ์ มีอยู่ด้วยสติปัญญา เราก็เห็นได้ว่ามันไม่ได้ฆ่าโดยในความหมายของคำว่าฆ่า แต่มันเป็นการฆ่าโดยสมมติ ว่าเพราะเบญจขันธ์อย่างนี้เกิดขึ้น เบญจขันธ์เหล่านั้นมันถูกทำลายไปมันหายไป ทีนี้ความที่กิเลสหายไปดับไปนี้ เราเรียกว่านิพพาน ฉะนั้นนิพพานมันไม่ถึงได้ด้วยการไป มันเพียงแต่ปรากฏออกมาเมื่อกิเลสมันถูกทำลาย
มันมีคำที่พบใหม่ เรียกความสิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ ว่าปริญญา นี่เพิ่งพบใหม่เมื่อมหาวิจิตรเอามาให้ดู ว่าคำว่าปริญญาซึ่งแปลว่าความรอบรู้นั้นพระพุทธจ้าหมายถึงความสิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะ ฉะนั้นขอให้รู้เถิดว่าในขณะที่มีการสิ้นไปแห่งราคะโทสะโมหะนี้ ขณะนั้นมีปริญญาหรือเป็นปริญญาคือความรู้ ส่วนสิ่งที่ควรรู้หรือที่เรียกว่าปริญเญยยธรรมนั้นก็คือเบญจขันธ์นั่นเองหรือกิเลสที่มีอยู่ในเบญจขันธ์นั่นเอง ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าในขณะนั้น จะมีทั้งการฆ่า ฆ่าตัวตนด้วยตน หรือมีการฆ่าขันธ์ด้วยขันธ์ มันมีการฆ่ากิเลสด้วยญาณด้วยปริญญานั่นเอง พูดเหมือนกับมีผู้ฆ่าไปหมด ตนฆ่าตน ขันธ์ฆ่าขันธ์ ปริญญาฆ่าโลภะโทสะโมหะ ทีนี้ความที่ราคะโทสะโมหะดับไป จะโดยชั่วขณะหรือว่าดับไปตลอดกาลก็ตาม นี้เราเรียกว่านิพพาน นิพพานชั่วขณะ เป็นสามายิกนิพพานหรือว่านิพพานแท้จริงก็ตามใจ มันต้องเป็นความดับไปของกิเลสนั้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ฉะนั้นจึงไม่ควรจะพูดว่าไปนิพพานถึงนิพพาน ซึ่งทำให้มันดูไกล อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ต้องตามไปต้องเที่ยวหาเที่ยวตามหานี่
ฉะนั้นนิพพานก็คือการที่กลับหน้ามือเป็นหลังมือ จากความมีกิเลสเป็นความไม่มีกิเลส จากเบญจขันธ์ที่เต็มอยู่ด้วยอุปาทานเป็นเบญจขันธ์ที่มันว่างจากอุปาทาน แล้วในขณะนั้นจะต้องมีความรู้แน่นอน มีความรู้ชนิดที่เรียกว่าปริญญาคือรอบรู้ ฉะนั้นการพูดว่านิพพานคือความรู้ หรือในขณะแห่งนิพพานเป็นความรู้นี้เป็นคำพูดที่ถูกต้องอย่างยิ่ง แต่เรามักจะไม่พูดกันอย่างนั้น จะพูดว่ารู้ รู้แล้วปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วสิ้นกิเลส สิ้นกิเลสแล้วจึงนิพพาน อย่างนี้มันยืดยาด แต่ถ้าเกิดถามขึ้นว่าในขณะที่สิ้นกิเลสนั่นมีความรู้หรือเปล่า ทุกคนจะต้องตอบว่ามีความรู้ มีความรู้สึกว่ามันสิ้นกิเลส มีความรู้ในผลของการสิ้นกิเลส นั่นแหละคือตัวปริญญาอันสมบูรณ์
ฉะนั้นความรู้ที่สมบูรณ์จริงๆ มันมีในขณะที่สิ้นกิเลสหรือดับกิเลสคือนิพพาน ความรู้นอกนั้นไม่ใช่ความรู้จริงหรอก ความรู้ในขั้นตระเตรียมหรือกำลังมาโดยลำดับ รู้ปริยัติ รู้ปฏิบัติ รู้พิจารณา จนเกิดญาณนั่นญาณนี่ญาณนั้นก็ยังไม่ใช่ปริญญา ปริญญาที่แท้จริงต้องมีในขณะที่ราคะโทสะโมหะสิ้นไปสมตามพระบาลีนี้ว่าปริญญาคือความสิ้นไปแห่งราคะโทสะโมหะ
ทีนี้ดูในขณะนั้นจะเห็นภาพพจน์ สมมติว่าเป็นภาพ ตนฆ่าตน ขันธ์ฆ่าขันธ์ ปริญญาฆ่ากิเลส นี้อาการที่ชัดเจนละเอียดลึกซึ้งของคำว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน พอตนนี้เข้ามาตนนั้นต้องออกไป พอขันธ์นี้เกิดขึ้นขันธ์นั้นต้องหายไป พอความรู้เกิดขึ้นความมืดหรืออวิชชาต้องหายไป ดูให้ดีจนมองเห็นว่าไม่ต้องมีบุคคลผู้ฆ่าหรือผู้ถูกฆ่า ไม่ต้องมีตนหรือขันธ์ซึ่งเป็นผู้ฆ่าและมีตนหรือขันธ์ซึ่งถูกฆ่า มันเป็นการเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาที่ว่าเมื่อมีเหตุอย่างนี้ๆ ผลอย่างนี้ๆ มันก็เกิดขึ้น ทีนี้เหตุมันมีมากมาย เหตุในหนหลัง เหตุในปัจจุบัน หรือว่าเหตุด้านนั้นด้านนี้ด้านโน้น มันมีมาก แล้วมันจึงสามารถที่จะเกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาได้แม้ในขณะที่จิตกำลังมีตัณหามีอุปาทาน
เราเคยพบปฏิจจสมุปบาทในที่หลายแห่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่อยไป พอถึงเกิดตัณหา พอเกิดตัณหาแล้วก็เกิดสติสัมปชัญญะดับตัณหาเสีย ไม่เลยไปถึงอุปาทาน ไม่เป็นตัวตนเลยไม่เป็นทุกข์ มันกำลังเยื้องท่าจะเป็นทุกข์ พอเกิดตัณหาขึ้นมาแล้ว วกกลับเป็นการดับตัณหานั้นเสียได้ อย่างนี้ไม่มีในอภิธรรมที่สอนกันอยู่ตามศาลาวัด อภิธรรมที่สอนกันอยู่ตามศาลาวัดจะถือว่าต้องเตลิดไปจนถึงเป็นทุกข์ นั่นเขาเผลอไป ไปพูดถึงปฏิจจสมุปบาทชนิดที่มันตลอดสายและเป็นทุกข์ ไม่พบในบาลีที่กล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทที่มันไปชะงักกลางคัน ที่มันไปชะงักกลางคันนั้นคือให้รู้เถิดว่าสติสัมปชัญญะมันเข้ามาแทรก แล้วตัณหาก็ดับลง เพราะตัณหาดับ อุปาทานภพชาติก็เกิดไม่ได้ อาการอย่างนี้ตรงกับคำที่ว่าขันธ์ฆ่าขันธ์ หรือว่าตนฆ่าตน หรือว่าปริญญามันเข้ามาฆ่ากิเลส และก็เห็นได้ชัดว่าที่ว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตนนี้มันก็เป็นไปในขณะจิตเท่านั้นเอง ถ้าจะพูดไปในรูปสมมติ รูปวัตถุ ทางวัตถุมากๆ เช่นว่า อุตส่าห์ทำงานหาเงินให้มากๆ ตนจะมีความสุขสบายตนเป็นที่พึ่งแก่ตน อย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องนี้นะ ไม่ใช่เรื่องที่กำลังพูดนะ ตัวหนังสือมันอาจจะเหมือนกันก็ได้ นั้นมันเป็นเรื่องสอนศีลธรรมว่าให้ตนช่วยตน ให้ตนประพฤติตนดี ทำการงานให้ดี สะสมทรัพย์สะสมอะไรต่างๆ ตนก็จะไม่มีความทุกข์ เหมือนที่ชาวบ้านเขาทำกันอยู่เกี่ยวกับทำมาหากินนั้น
แต่ประโยคนี้ คำพูดประโยคนี้คือว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี้ ไม่ควรจะใช้ในลักษณะอย่างนั้นอย่างเดียว หรือเกือบจะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงมุ่งหมายอย่างนั้น ท่านทรงมุ่งหมายที่จะเอาชนะกิเลส ชนะกิเลสด้วยตน ด้วยพยายามของตน หรือว่าไปนิพพานบรรลุนิพพานหรือได้นิพพานอะไรก็ตามด้วยความพยายามของตน แล้วก็มีปัญหาว่าตนไหนๆ ตนชนิดไหนอยู่หลายๆ ชั้น จนกระทั่งมาถึงตนชนิดที่ว่านี้ คือธรรมะเป็นตน มันมีหลักว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา นั้นคือ ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา
ทีนี้หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ มันก็มีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ คือว่าอุตส่าห์ทำความเคยชิน ทำให้มาก ทำให้ชำนาญ ทำให้เคยชินอย่างที่เรียกว่าภาวิตา,พหุลีกตา นี้เรื่อยไป มันมีความเคยชินในการที่จะเกิดสติสัมปชัญญะ ฉะนั้นหลักปฏิบัติจึงมีการกระทำสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาที่เรียกว่าสติปัฏฐานก็ดี อานาปานสติก็ดี หรืออะไรก็ดี มันจะต้องมีตัวแท้ตัวจริงเป็นเรื่องทำสติอยู่ตลอดเวลา มันก็เลยเปลี่ยนนิสัยเป็นว่าสิ่งที่เรียกว่าสตินี้จะเป็นความเคยชินของผู้นั้น คุ้นเคยของผู้นั้นหรือว่าของจิตนั้น ทีนี้จิตมันมีอาการของเสวนะ คือเสพคบอยู่กันแต่กับสติสัมปชัญญะหรือญาณ มันเลยเป็นของถนัดมือคุ้นเคยคล่องมือเหมือนกับว่าบุคคลนี้มีอาวุธที่คู่มือครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ ทีนี้โอกาสหนึ่งมันเผลอไปทางตาทางหูเป็นต้น โจรเข้ามาเกิดเป็นตัวกูของกู เป็นโจรเข้ามาก็เล่นงานเอา แต่พอถึงทีที่จะตาย พอถึงระดับที่จะต้องตายนี่ สติสัมปชัญญะมันมาก็หมายความว่าคนนี้มันก็รู้สึกตัวจับฉวยอาวุธคู่มือที่คุ้นมือออกมาฆ่าโจรตายเสียก่อนที่ว่าโจรมันจะฆ่าคนนั้นตาย
อุปมานี้ก็เหมือนกับว่าภิกษุทำให้มากทำให้ชำนาญอยู่เสมอในสติปัฏฐานนี้ แล้วก็เป็นโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่สุดที่ว่าเขาจะเกิดสติได้ง่ายในทุกกรณี ทีนี้เผลอไปนิดเดียวมันก็เกิดได้ ถ้ามันเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเผลอเลย คือกิเลสเกิดไม่ได้มันก็เป็นพระอรหันต์ไป เดี๋ยวนี้มันยังไม่เป็นพระอรหันต์ บางโอกาสมันยังเกิดได้แต่มันก็ไม่พอมือของญาณหรือของสติ ญาณหรือสติมันก็กำจัดไปได้ทันท่วงทีทุกทีไป ฉะนั้นอาการที่ว่าตนฆ่าตนนี้เป็นไปในขณะจิต หรือว่าขันธ์ฆ่าขันธ์นี้ก็เป็นไปในขณะจิต หรือว่าปริญญามันฆ่าโลภะโทสะโมหะนี้มันก็เป็นไปในขณะจิต นี่คือตนฆ่าตน และตนก็ได้เป็นที่พึ่งแก่ตนเพราะว่าทำเอาเอง
นี้คือหลักใหญ่หรือว่าหลักสำคัญที่สุดที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาที่มันเกี่ยวกับเรื่องตนๆ ตนๆ มันมีคำพูดหลายแบบหลายกระแส พูดว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมิใช่ตน พูดไปในกระแสนี้แล้วก็เลยงง จะงงในเมื่อจะต้องอธิบายว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน เพราะว่าได้ปฏิเสธเสียหมดแล้วว่าทุกสิ่งมิใช่ตนและทุกสิ่งไม่ควรยึดถือว่าตน ฉะนั้นเราถือว่าหลักที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นั้นเป็นหลักอันหนึ่งซึ่งเป็นแกนกลางเป็นหัวใจเป็นแกนกลาง ทีนี้หลักที่มันออกมาจากนั้น ดึงออกมาเป็นส่วนหนึ่งมาพูดด้วยภาษาอื่นภาษาสมมติภาษาชาวบ้านภาษาอะไรนี้มันทำยุ่ง คือมันดึงเอาสิ่งที่ว่ามิใช่ตนเอามาเป็นตน เอามาเป็นตนสองตนที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตน นั้นก็เป็นความจริงเหมือนกัน เป็นความจริงที่ใช้คำพูดสมมติ
ถ้าเรามีสติว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพียงพออยู่เป็นปกติ อะไรเกิดขึ้นเป็นกิเลสไปบ้างแล้ว ถ้าสติอันนี้กลับมา ความรู้สึกที่เป็นกิเลสมันก็หายไปทันที และ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ซึ่งเป็นตัวญาณหรือเป็นตัวปัญญานี้มันก็ฆ่าความโง่ความหลงคือกิเลสโดยไม่ต้องเรียกว่าตนก็ได้ ปัญญามันฆ่ากิเลสฆ่าอวิชชาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ อวิชชาเพิ่งเกิด ให้ถือว่ากิเลสอวิชชาอะไรก็ตามมันเพิ่งเกิด สังสารวัฏฏ์ก็เพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้มันเกิดเมื่อไหร่ก็จำเป็นจะต้องมีสติหรือปัญญานั้นแหละตามมาล้างผลาญเมื่อนั้น เกิดขึ้นล้างผลาญเมื่อนั้น ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไป เอาตนฆ่าตนอย่างนี้เรื่อยๆ ไป นานเข้าๆ มันก็ชำนาญ มันชำนาญขึ้นมา มาฆ่าทันท่วงทีอย่างรวดเร็วว่องไวทันท่วงทีจนไม่อาจจะเกิด จนไม่เหลืออยู่สำหรับจะเกิด เรื่องก็จบกัน
ฉะนั้นถ้าเขาพูดอย่างสมมติ ก็อย่าไปขัดคอเขา ถ้าเขาพูดอย่างปรมัตถ์ก็อย่าไปคัดค้านเขา เพราะว่าเรามันไม่รู้ทั้งสองแง่นั่นแหละ ในเวลานี้ก็ต้องพยายามจะทำให้มันรู้เสียสิ ว่าพูดสมมติพูดอย่างนี้ ถ้าพูดไม่สมมติคือพูดอย่างนี้ๆ ทีนี้ในพระบาลีในพระไตรปิฎกนั้นมันมีคำพูดทั้ง ๒ ชนิด คือพูดทั้งอย่างสมมติและอย่างไม่สมมติ ทีนี้คนอ่านพระไตรปิฎกเอาไปปนกันยุ่งให้มันตีกันยุ่ง แต่มันก็ยากเหมือนกัน ผมก็เคยประสบมาด้วยตนเองแล้วในการที่จะวินิจฉัยว่าคำตรัสประโยคนี้เป็นคำตรัสอย่างสมมติหรืออย่างไม่สมมติ บางประโยคเข้าใจได้ง่ายเห็นได้ทันทีเลยว่าตรัสอย่างสมมติหรือว่าตรัสอย่างไม่สมมติ แต่บางประโยคเข้าใจยาก เพราะว่ามองไปในแง่สมมติก็ได้ มองไปในแง่ไม่สมมติก็ได้ นี้ก็มีอยู่ ฉะนั้นสำหรับพวกคุณที่ไม่คุ้นกันกับพระไตรปิฎกนั่น มันก็ลำบากแน่ ลำบากมากกว่าผมซึ่งคุ้นเคยกับกันพระไตรปิฎกมาเรื่อยๆ ฉะนั้นคุณจะต้องฟังให้ดี จะต้องศึกษาไต่ถามสอบสวนให้ดีๆ มันจึงจะไม่เกิดความเข้าใจผิด
นี่เราพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกู เกี่ยวกับตัวตนของตนมาเรื่อยๆ สำหรับการนั่งพูดที่ตรงนี้หลายสิบครั้งมาแล้ว ผมก็คิดว่าคงจะเข้าใจบ้าง คงจะเข้าใจกันได้บ้าง เพราะว่าพูดมาหลายสิบครั้งแล้ว พูดกันทุกแง่ทุกมุมยิ่งขึ้นทุกที ฉะนั้นคงจะเข้าใจได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่ได้ฟังมาหลายปีแล้ว ส่วนผู้ที่เพิ่งมาใหม่เมื่อวานนี้อะไรนี้มันก็ลำบากเหมือนกัน คงจะฟังลำบาก
เอาล่ะ,เป็นอันว่าเราพูดเรื่องตนเป็นที่พึ่งแก่ตน หรือว่าจะต้องใช้ตนให้ฆ่าตน แล้วตนจะได้รอดอย่างนี้ ติดต่อกันมาในการพูดครั้งที่แล้วมากับในการพูดครั้งนี้ เพื่อจะอธิบายหัวข้อเดียวกันนั่นแหละ หลักหรือพระบาลีส่วนที่ไม่สมมติมีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตานี่ นี้พวกไม่สมมติ พวกพูดอย่างตรงๆ นี้ เหมือนกับว่าเอาขวานสับลงไปบนหินอย่างนี้ ไม่มีสมมติอะไร ทีนี้พวกหนึ่งมันก็เป็นพวกสมมติ เช่นว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จงพยายามช่วยตนถอนตนนี่ จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนคุณฌอนถอนตัวขึ้นจากเลนอะไรอย่างนี้เป็นต้น มันมีมากเหมือนกัน นี่พวกสมมติแหละ
ทีนี้เราเอามาทำให้มันเข้ากันได้อย่างไร วิธีของมันก็คือว่านี้มันเป็นเรื่องพูดสมมติเพื่อคนธรรมดาฟัง เพื่อคนธรรมดาที่เขารู้แต่ภาษาคนนี้ฟัง แล้วค่อยๆ เกิดความเข้าใจไปทีละน้อย ทีละน้อย ทีละน้อย รุกเข้าไปหาความจริงที่ไม่สมมติแล้วรู้ในที่สุด มันจำเป็นที่ว่าในบางครั้งพระพุทธเจ้าท่านจะต้องตรัสโดยภาษาสมมติกับบุคคลที่มันยังเป็นชาวบ้านธรรมดาเกินไป กระทั่งว่าตายแล้วเกิดไปรับผลของกรรมที่ได้ทำไว้ที่นี่ บางทีพระพุทธเจ้าท่านก็ต้องตรัสอย่างนี้ ทั้งที่ตรัสอยู่เป็นหลักว่าทั้งหมดเป็นอนัตตา
ทีนี้ผมอยากจะย้ำหรืออยากจะเตือนซ้ำๆ ว่า ถ้าไปอ่านพบในพระคัมภีร์ในพระไตรปิฎกในอะไรก็ตามที่มันเกิดขัดกันอยู่อย่างนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตีความเอาเองอย่างผลุนผลัน ถึงกับว่าข้างหนึ่งผิดข้างหนึ่งถูก ถ้าตัวมันชอบเกิดอีก มันก็จะหันมาเอาข้างเกิดอีก มีตัวตนแล้วว่าข้างอนัตตานั้นผิดไปเลย หรือถ้ามันไปยึดถือข้างอนัตตามาก มันก็จะว่านี้ผิด ของปลอมของใหม่ของศาสนาอื่นเข้ามาอย่างนี้ไปเลย ผมก็เคยเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า อู๊ย,มันมีปัญหาซับซ้อนอยู่มาก ปัญหาแรกคือพระพุทธเจ้าต้องตรัส ๒ ภาษา ที่ทำให้เกิดข้อความที่แย้งกัน แล้วปัญหาต่อมาก็คือว่าบางทีพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ แต่พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองผู้รักษาพระไตรปิฎกนี้เห็นว่ามันจะต้องเติมเข้าไป เพื่อให้พุทธศาสนามีครบทั้งสำหรับคนโง่ที่สุด และคนกลางๆ และคนที่มีปัญญา จึงต้องมีสิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามันเติมเข้าไปส่วนหนึ่งสำหรับคนที่จะยึดถือว่ามีตัวตนและจะได้ทำความดี ทั้งที่แกนของเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องไม่มีตัวตนให้ปล่อยปละละวาง เรื่องอย่างนี้จะพบต่อไปข้างหน้าอีกมาก เช่น เรื่องการระลึกชาติที่เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นต้น จะมีอยู่เป็นตอนๆ ตอนที่มันไม่เป็นตัวตนตอนแรกๆ และตอนที่มันย้ำให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาทีหลัง เพื่อว่าคนทั่วไปจะได้เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าตรัสรู้ทุกอย่าง แล้วคนก็จะได้มั่นในคำสอนที่ตรงตามชั้นของตนๆ
พวกที่ยังมีตัวตนยึดมั่นก็จะได้ยึดมั่นเพื่อจะปฏิบัติตามเท่านั้นแหละ แล้วส่วนหนึ่งสำหรับผู้จะไม่มีตัวตนก็ไม่ต้องยึดมั่นไม่ต้องสนใจกับส่วนนั้น เพราะมันเลยขึ้นไปแล้ว มันจะกลับลงมาที่โคนไม่ได้ ถ้าสติปัญญามันเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เลยขึ้นไปแล้ว แม้จะมีคำพูดว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าทำบุญได้บุญ ตายแล้วรับผลบุญนี้ คนนั้นมันก็จะปฏิเสธได้เองว่านี้เขาพูดไว้สำหรับคนอีกพวกหนึ่ง ไม่ใช่พูดสำหรับคนที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ทีนี้เรื่องก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยกันหรือผู้ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาร่วมกันก็ไม่ต้องทะเลาะกัน และโดยเฉพาะผู้ที่รู้แล้วนั่นแหละจะไม่ทำความทะเลาะ ผู้ที่ยังไม่รู้ผู้เข้ามาใหม่นี้แหละจะทำความทะเลาะ เพราะว่าเขามันไม่รู้หรือรู้น้อยหรือรู้แต่ในแง่ของสมมติแล้วจะทำการทะเลาะ สำหรับผู้ที่รู้จริงถึงที่สุดแล้ว มันรู้จนถึงกับไม่อาจจะทะเลาะ เพราะมันไปเห็นส่วนโน้นพอ เหมือนกับคนที่มันขึ้นต้นไม้ไปถึงยอดแล้วมันไม่มีปัญหา คนที่อยู่ที่โคนที่จะขึ้นนี่มันจะมีปัญหา
ฉะนั้นถ้าใครเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาแล้วก็สำนึกไว้ทีก่อนว่าเรายังไม่เข้าใจอะไรบางอย่าง เราจะต้องพยายามให้เข้าใจไปตามลำดับ แล้วปัญหานี้มันจะหมดไป สมมติว่าเดี๋ยวนี้ชาวบ้านสักคนหนึ่งเขาจะยึดหลักว่าตนเป็นที่พึ่งแก่ตน อุตส่าห์ทำความดีจะได้รับผลของความดีไปทุกๆ ชาติอย่างนี้ ก็ขอให้เขาทำอย่างนั้นไปสิ อย่าไปห้ามอย่าไปขัดคอ แล้วเขาก็ทำอย่างนั้นไปโดยที่ไม่ต้องมาคัดค้านพวกที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงยึดมั่นไม่ได้ แล้วมันจะไปพบกันได้เมื่อไหร่ ๒ คนนี้ คนที่อุตส่าห์ทำความดีเพื่อให้ตนได้รับผลของความดีต่อไปในอนาคต มันก็ทำไปๆ มันก็ได้รับผลดี เพราะมันปฏิบัติดีมันก็ได้รับผลดี ก็เสวยผลของความดีเสวยอารมณ์เป็นสุขของความดี พอหนักเข้าๆ บอกว่าไม่ไหว ความดีนี้ไม่ไหว เป็นเรื่องแบกเรื่องหามเรื่องหนักเรื่องหลอกลวงในที่สุด เอ้า,ก็เลยหันไปหาที่ว่าเป็นอนัตตา มันไปของมันได้เองตามลำดับอย่างนั้น จะกระโดดข้ามไปทีเดียวนั้นมันต้องเฉพาะบุคคลผู้มีอุปนิสัย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงเลือกว่าคนนี้ควรจะได้ฟังอนุปุพพิกถาหรือไม่นี่ ถ้ามันยังโง่นัก ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ตรัสหรอก จะตรัสเฉพาะคนที่ฟังแล้วรู้มาทันทีตามลำดับทั้งห้า คือจะสลัดสวรรค์สลัดอะไรออกไปได้ในขณะนั้น จึงจะตรัสอนุปุพพิกถาอย่างนี้เป็นต้น ส่วนคนที่มันยังจะต้องอยู่ในขึ้นหนึ่งขั้นสองขั้นอะไร ทำดีไปก่อนเพื่อสวรรค์ไปก่อนก็ทำไปก็แล้วกัน ยังไม่ตรัสอนุปุพพิกถา นี่เรียกว่าชาวบ้านประชาชนส่วนใหญ่ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ คืออยู่ในจำพวกที่ยังไม่ควรจะฟังอนุปุพพิกถา ถ้าเขามันผ่านอะไรมาพอสมควร ควรฟังก็ตรัส หรือว่าคนนี้มันมีความฉลาดมาก พูดออกไปเดี๋ยวนี้มันจะเข้าได้ก็ตรัสเหมือนกัน มันก็ไม่มีอะไรนอกจากว่าอริยสัจ ๔ คือทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์ ดับทุกข์กับทางดับทุกข์ ไม่ต้องไปมัวเถียงกันว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด มีแต่ว่าให้ทำอย่างนี้แล้วก็ไม่มีความทุกข์ ปัญหามันก็หมด เพราะเราต้องการจะดับทุกข์เท่านั้น เพราะว่าแม้ว่าเราจะเกิดอีกมันก็ยังต้องดับทุกข์อยู่นั่นแหละ เราอยู่ที่นี่ก็เพื่อจะดับทุกข์ ตายแล้วไปเกิดใหม่ก็ต้องเพื่อดับทุกข์ ฉะนั้นไม่ต้องรอว่าเวลาไหน เวลานี้ที่นี่จงพยายามทำความดับทุกข์ คือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งซึ่งมาหลอกให้ยึดมั่นถือมั่น คืออารมณ์ ๖ ที่น่ารักน่าพอใจ
มีคำบาลีอยู่ ๓ คำ ว่าไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่มัวเมาไม่สยบมัวเมา ๓ คำนี้คืออาการของไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญและมัวเมา นี้คือยึดมั่นถือมั่น อะไรถูกใจก็เพลิน แล้วปาก ปากนี้หรือปากข้างในก็ตามมันจะพูดยกย่อง อร่อยจริง สวยจริง สบายจริงอะไรจริง ปากนอกนี้ก็ได้ปากในก็ได้ มันพูดอย่างนั้น ปากในคือใจพูด ปากนอกคือปากนี้พูด แล้วก็อชฺโฌสติ ก็คือเมา มึนเมาหรือว่าหัวมันโงไม่ขึ้น มันจมอยู่ในอารมณ์นั้น รวมกัน ๓ อย่างคือเพลิน แล้วก็สรรเสริญ แล้วก็เมา นี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ทุกแห่งที่จะตรัสถึงเรื่องความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นอนุสัยเป็นสังโยชน์นี่ ถ้าต้องการจะช่วยตัวเองจะป้องกันตัวเองไม่ให้จมลงไปในกองทุกข์ มันต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะไม่เผลอถึงขนาดเพลิน แล้วก็สรรเสริญ แล้วก็มัวเมาในสิ่งนั้นๆ นี้เรียกว่าถึงขั้นที่จะเอาตัวรอด
ทีนี้ชาวบ้านทั่วไปธรรมดาสามัญเขาก็จะต้องเพลินต้องพร่ำสรรเสริญต้องมัวเมา ถ้าไม่อย่างนั้นมันเป็นชาวบ้านไปไม่ได้ นี้เรียกว่าปุถุชน มันไม่ใช่อยู่แต่ที่บ้าน อยู่ที่วัดมันก็เป็นชาวบ้าน พระเณรก็เป็นชาวบ้าน ถ้ามันมีจิตใจในระดับนี้ พระเณรที่มีจิตใจในระดับนี้ก็ต้องเรียกว่าชาวบ้านอยู่นั่นแหละ คือเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญมัวเมาเหมือนกับชาวบ้านในอารมณ์ที่ได้รับแล้วก็ติดอกติดใจนี่ พูดแล้วมันก็เหมือนกับว่าด่าหรือกระทบกระทั่ง ฉะนั้นไปรู้เอาเองก็แล้วกันว่าทั้งพระทั้งเณรนี้มันก็มีอาการอย่างนี้เหมือนกับชาวบ้านที่บ้าน อย่างนี้เขาเรียกว่ามันยังไม่โงหัว ยังไม่ชะเง้อหาฝั่ง ยังไม่ได้คิดจะช่วยตนด้วยตน ตามแบบฝ่ายธรรมะฝ่ายภาษาธรรมหรือฝ่ายโลกุตตระนี่ มันยังไปคิดช่วยตนอยู่แต่ตามแบบโลกิยะที่จมกาม เป็นพระเป็นเณรก็ดี เป็นชาวบ้านก็ดี อุตส่าห์ขวนขวายหาเงินหาชื่อเสียงหาเกียรติยศที่จะให้ได้มาซึ่งเงินซึ่งชื่อเสียง เป็นพระก็ลงทุนค้าขายเอานั่นเอานี่ไปเที่ยวแสวงหาที่นั่นที่นี่ แลกเปลี่ยนกับคนนั้นคนนี้ เพื่อให้ได้เงินมาเอาไปกินไปใช้ตามแบบของฆราวาส นี่ขอให้เข้าใจอย่างนี้ มันก็เลยยุ่งไปหมด
ถ้าว่าจะให้ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนตามแบบของบรรพชิต มันก็ต้องละสิ่งเหล่านั้น จะเลื่อนชั้นขึ้นมาจากชาวบ้าน มามีสติสัมปชัญญะอย่างยิ่งอยู่ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวตนแบบยักษ์แบบมารแบบภูตผีปีศาจเกิดขึ้นมา ให้ตัวตนที่เป็นที่พึ่งได้คือเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา นี่เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา ก็เรียกว่ามันเป็นที่พึ่งแก่ตนในชั้นฝ่ายนี้ และตนนี้จะฆ่าตนได้ในที่สุด หรือว่าขันธ์ก็ฆ่าขันธ์ได้ในที่สุด หรือว่าปริญญาหรือญาณนี้ก็จะฆ่าโลภะโทสะโมหะได้ในที่สุด นี้คือการขยายความของการพูดในครั้งที่แล้วมา ก็เป็นอันว่าหมดกันทีสำหรับข้อนี้ ยุติคำพูดวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน