แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายเป็นการถวายความรู้รอบตัวในวันนี้ ผมอยากจะกล่าวเรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับคำว่า ญาณ เป็นการถวายความรู้รอบตัวแก่ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่อย่างใกล้ชิด แล้วก็ได้ยินได้ฟังกันมาจนชินหู ญาณนั่นญาณนี่นับได้สิบๆ อย่างในพระคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานเช่นคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ก็ระบุชื่อญาณไว้ทั้งหมดถึง ๗๒ ชื่อ แล้วก็มี ๖ ชื่อที่มีแก่พระพุทธเจ้าประเภทเดียว นอกนั้นมีได้แก่พระสาวกอย่างนี้เป็นต้น ตั้ง ๗๒ นี้ไม่ใช่เล่น แต่อันนี้ก็เป็นภาษิตหรือคำกล่าวของพระมหาเถระคือพระสารีบุตรที่เชื่อกันอย่างนั้น ไม่ใช่พุทธภาษิต แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่รับรองกันได้ เห็นกันได้เข้าใจกันอยู่ว่า ญาณนี้มันมาก มากชื่อ
ทีนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองมันกลายเป็นมีเพียง ๒ ญาณ นี่น่าหัวเราะ, ๒ ญาณ ระบุไว้ว่าธรรมฐิติญาณ ๑แล้วก็นิพพานญาณ ๑ ก็เป็น ๒ เท่านั้น ผมสันนิษฐานเอาว่าคงจะไม่ค่อยทราบเรื่องนี้หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้กันเป็นส่วนมาก เพราะไม่ค่อยมีใครพูดกันเพียง ๒ ญาณอย่างนี้ พูดกันแต่มากๆ ๑๐-๒๐ ขึ้นไปทั้งนั้น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องยากลำบากแก่การเข้าใจและยากลำบากแก่การจดจำหรือแม้การสั่งสอนกันต่อๆ ไปด้วย นี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเราเห็นได้ชัดทีเดียวว่า คำว่าญาณ นี่ มีความหมายอะไรกว้างแคบลึกซึ้งซับซ้อนกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือญาณชื่อนั้นชื่อนี้ แต่เนื้อแท้มันหมายถึงหมวดแห่งญาณทั้งหลาย คือหลายๆ ญาณมารวมกันแล้วเรียกเป็นชื่อเดียวญาณเดียว ถ้าไม่ทราบข้อเท็จจริงข้อนี้แล้วก็จะยุ่งหัว เช่นพูดว่านิพพานญาณนี้ ก็จะเข้าใจไปว่าเป็นญาณในขณะของนิพพาน ที่จริงคำว่านิพพานญาณนั้นมันรวมเอาญาณหลายอย่างเข้าไว้ เช่นเดียวกับคำว่าธรรมฐิติญาณ ฉะนั้นผมจึงขอร้องให้เข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ซึ่งมันปิดบังซ่อนเร้นอยู่ และก็ขอร้องให้กำหนดในครั้งแรกกันเพียง ๒ ญาณดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นธรรมฐิติญาณพวกหนึ่ง และก็เป็นนิพพานญาณอีกพวกหนึ่ง เป็น ๒ พวก เรื่องนี้อยู่ในสูตรชื่อว่าสุสีมสูตร คือตรัสแก่บุคคลชื่อนั้น และในสังยุตตนิกาย พวกอภิสมยสังยุตต์ ไปเปิดดูสูตรชื่อนั้น เล่ม ๑๖ หน้า ๑๕๑ รายละเอียดจะดูได้ แต่ทีนี้เราจะพูดกันแต่ใจความสำคัญและก็จะกว้างออกไปถึงสูตรอื่นนอกจากสูตรนี้ด้วย
เอาล่ะ,ครั้งแรกก็จะต้องพูดกันถึงความแตกต่างระหว่าง ๒ ญาณนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าญาณมี ๒ ญาณนี่ ธรรมฐิติญาณนี้เป็นชื่อของหมวดมากกว่า และจะเป็นชื่อของตัวเองก็ได้เหมือนกัน ถ้าเป็นชื่อของตัวเองก็หมายความว่าญาณที่เห็นธรรมฐิติก็แล้วกัน พูดอย่างนี้มันพอแล้ว ถ้าเห็นธรรมฐิติแล้วก็ไม่ต้องมีอะไรอีก มันจะไปเป็นนิพพานญาณ นิพพานญาณก็คือญาณในนิพพานคือดับทุกข์ได้และก็รู้ว่ามันดับทุกข์ได้สิ้นเชิง พูดอย่างนั้นมันกลายเป็น ๒ ญาณ แต่ถ้าพูดให้หมดจดสิ้นเชิงก็ต้องดูกันว่าที่เรียกว่าธรรมฐิติญาณนั้นมันเป็นญาณอะไรบ้าง ถ้าจะกล่าวกันอย่างคร่าวๆ เป็นหลักใหญ่ๆ ทั่วไป ก็กล่าวได้ว่าทุกญาณตั้งแต่แรกเกิดเริ่มเกิดญาณ ทุกญาณขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งถึงโคตรภูญาณ จะมีกี่ญาณก็ตามใจ ตั้งแต่แรกไปถึงโคตรภูญาณแล้วก็ทั้งหมดนั้นเรียกธรรมฐิติญาณได้
ทีนี้โคตรภูญาณนี่ เขาก็พูดกันอธิบายกันเกร่อไปแล้วว่าเหมือนกับเหยียบเรือ ๒ แคม ข้างนู้นก็เหยียบข้างนี้ก็เหยียบ ซีกหนึ่งก็เป็นฝ่ายนี้ ซีกหนึ่งก็เป็นฝ่ายนี้ พอหลังจากโคตรภูญาณไปแล้วก็เป็นนิพพานญาณหมด จะชื่ออะไรก็ตามใจ มีกี่ญาณก็ตามใจ เป็นนิพพานญาณหมด ตรงนี้อยากจะทำความเข้าใจแทรกเป็นพิเศษหน่อยคือคำว่านิพพาน คือนิพพาน ๒ ชนิด สอุปาทิเสสะ กับ อนุปาทิเสสะ พวกหนึ่งอธิบายสอุปาทิเสสะ หมายถึงพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสะ หมายถึงพระอรหันต์ที่ดับลงไป อย่างนี้น่าหัวเราะมาก น่าหัวเราะที่สุดเลย และที่มาในบาลีก็ไม่มี มีแต่ในคำอธิบายที่สอนๆ กันอยู่ตามโรงร่ำโรงเรียน หรือถอดเอาใจความมาผิดๆ จากพระบาลีแม้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเองก็อธิบายนิพพาน ๒ นี้ไปในลักษณะอย่างที่ว่า คือสอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงพระอรหันต์เป็นๆ อนุปาทิเสสนิพพานหมายถึงพระอรหันต์ดับลงไป นี่ก็น่าหัวเราะมาก ว่าดับแล้วยังจะพูดให้บรรลุนิพพานนั่นนี่อีก
ที่จริงนิพพาน ๒ อย่างนี้ถ้าเอาตามที่มาในบาลีคือในอิติวุตตกะ กลับจะได้ความไปว่าพระอรหันต์แรกเป็นหยกๆ แรกเป็นพระอรหันต์หยกๆ ความเคยชินบางอย่างยังไม่หมดไป นั่นแหละเรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน ทีนี้ต่อมาอีกนานเท่าไหร่ก็ตามใจแล้วแต่บุคคล คือพระอรหันต์องค์นั้นแหละต่อมาเย็นสนิท ความเคยชินต่างๆ อะไรต่างๆ นี้มันหมดไปสิ้นเชิง เรียกว่าเย็นสนิท นี้คืออนุปาทิเสสนิพพาน ลองคิดดูเถิด คงจะไม่เคยได้ยินที่พูดที่สอนกันอยู่ คำนี้เปรียบไว้พอเป็นเครื่องกันความฟั่นเฝือ ว่าหม้อที่เผาสุกแล้วในเตาเผาหม้อ หม้อนั้นสุกถึงที่สุดแล้ว ทีนี้ก็มีเขี่ยออกมาจากเตาหรือใช้อะไรหยิบออกมาจากเตา มันก็เย็นลงคือดำ เป็นหม้อไม่เป็นลูกสีแดง เป็นหม้อสีดำ แต่ดำๆ นี้ร้อน อย่าไปจับมันนะ มือพองเหมือนกัน เพราะมันออกมาหยกๆ แล้วรอมาอีกหน่อยจนกว่าหม้อนี้ที่ดำแล้วนี่ มันเย็นสนิทไปลูบคลำได้นี่ มันอีกระยะหนึ่ง พระอรหันต์แรกเป็นก็เหมือนกับหม้อที่สุกดีแล้วเขี่ยออกมาจากเตาหม้อ ดำแล้วแต่ยังร้อนอยู่ ต้องรออีกหน่อยจึงจะเย็นสนิทเหมือนหม้อที่ทิ้งไว้นานจนเย็นสนิท มันต่างกันตรงที่ว่ากิเลสหมดแต่ความเคยชินยังเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจะรู้สึกในเวทนา ความเจ็บปวดกระวนกระวายเพราะเวทนา พระอรหันต์ใหม่,ขอใช้คำง่ายๆ ไม่ใช่จะจ้วงจาบพระอรหันต์อะไร จะเรียกขอเรียกว่าพระอรหันต์ใหม่ นี่เวทนาของท่านยังไม่เย็นสนิท มีกระทบเวทนาแล้วจะเจ็บปวดหรือว่าดิ้นรนเจ็บปวด จนเวลาล่วงมาถึงเย็นสนิท เวทนาทั้งหลายเป็นของเย็นสนิท ไม่รู้สึกเจ็บปวดเร่าร้อนกระวนกระวายอะไรอีก นี่เรียกว่าเหมือนกับหม้อที่ดำสนิทอย่างหลัง นี่นิพพาน ๒ ในบาลีอิติวุตตกะเป็นอย่างนี้ ใช้ชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ที่เรามาเรียนกันเวลานี้ ไม่เห็นมีที่อื่นนอกจากในอิติวุตตกะ แต่แล้วคำอธิบายไม่เหมือนกันกับในอิติวุตตกะ หมายความว่าในอิติวุตตกะแสดงว่าพระอรหันต์ยังเป็นๆ อยู่ทั้งนั้นแหละ ทั้ง ๒ พวกยังไม่ได้ตาย แต่องค์หนึ่งพระอรหันต์ใหม่ เวทนายังไม่เย็นสนิท พระอรหันต์เก่าเวทนาเย็นสนิท ที่เราสอนๆ เรียนๆ กันอยู่ อย่างแรกหมายถึงพระอรหันต์หมดกิเลส อย่างที่สอง หมายถึงพระอรหันต์ดับตายลงไป
ทีนี้มันยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า ในอังคุตตรนิกายกล่าวถึงบุคคลที่เป็นสอุปาทิเสสะ มีเชื้อเหลือนี้เป็นอย่างอื่นกล่าวไว้เป็น ๙ พวก คือพระโสดาบัน ๓ พวก พระสกิทาคามี ๑ พวก พระอนาคามี ๕ พวก รวมเป็น ๙ พวก ๙พวกนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสบุคคล พระอรหันต์พวกเดียวไม่รวมอยู่ในนี้คือเป็นอนุปาทิเสสบุคคล ไม่มีเชื้อเหลือ ถ้าถือตามหลักในอังคุตตรนิกายอย่างนี้แล้ว คำว่าสอุปาทิเสสนิพพานนี้มันลดลงมาถึงพระโสดาบันด้วย และพระสกิทาคามีด้วยพระอนาคามีด้วย แปลว่าพอเริ่มเข้าเขตโลกุตตระเป็นอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปแล้วก็เป็นการเข้าเขตนิพพาน ฉะนั้นสอุปาทิเสสะนี้จึงลดลงมาถึงพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอนาคามี นี่นิพพานนี้จะลงมาถึงนี่ ถ้าเราถือตามสูตรที่ว่านี้ คือสูตรชื่อสอุปาทิเสสบุคคล ๙ ในติกนิบาตร อังคุตตรนิกาย
ที่ผมพูดนี้ก็เพื่อให้เข้าใจว่า แม้แต่คำว่านิพพานนี้มันก็ยังดิ้นได้ กำกวม อธิบายต่างๆ กัน ฉะนั้นถ้าเราจะถือตามพระบาลีนี้ซึ่งเป็นพุทธภาษิตนี้ มันก็จะได้นิพพานลงมาถึงพระโสดาบัน เป็นนิพพานขั้นพระโสดาบัน คือกิเลสหรืออนุสัยสังโยชน์ของท่านดับไปเท่าไหร่ก็เป็นอันดับหมดนั้น ส่วนนั้นก็เป็นนิพพานที่มีเชื้อเหลือของท่าน ฉะนั้นญาณเกี่ยวกับพระโสดาบันขึ้นไปก็ต้องสงเคราะห์เป็นนิพพานญาณทั้งนั้นจนกระทั่งไปถึงพระอรหันต์ นี่เพื่อจะระบุขอบเขตของคำว่านิพพานญาณ และมันกินลงมาถึงมรรคผล เพราะว่าหลังจากโคตรภูญาณแล้วเราก็มีเรื่องพระโสดาบันขึ้นมาจนไปถึงพระอรหันต์ ฉะนั้นญาณอะไรเกี่ยวกับพระโสดาบันสกิทาคามีจะมีกี่ญาณก็สุดแท้ จะกี่ครั้งก็สุดแท้ มันรวมสรุปอยู่ในนิพพานญาณหมด ทีนี้ญาณทั้งหลายที่ก่อนหน้าโคตรภูญาณกระทั่งมาถึงโคตรภูญาณนี้ก็เรียกว่าธรรมฐิติญาณหมด อย่างที่เรารู้กันมากก็จะเริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณหรือว่านามรูปปริเฉทญาณอะไรก็ตาม นี้จะรวมอยู่ในคำว่าธรรมฐิติญาณทั้งนั้น ก็สูงขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับขั้น ญาณที่แจกชื่อไว้มากๆ เช่น วิปัสสนาญาณ ๙ นี้ ไม่พบพุทธภาษิต จะเป็นหนังสือรุ่นปฏิสัมภิทามรรคหรือรุ่นวิสุทธิมรรคนี่รวบรวมขึ้น แต่ชื่อญาณบางชื่อใน ๙ ญาณนั้นบางชื่อนั้นมีอยู่ในสุตตันตะเก่าหรือในรูปพุทธภาษิตบ้าง แต่จำนวนวิปัสสนาญาณ ๙ ทั้งชุดนี้ยังไม่เคยพบพระพุทธภาษิตเลย เป็นเรื่องในชั้นคัมภีร์วิสุทธิมรรค
แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด เพียงแต่เป็นเรื่องที่ขยายซอยให้ละเอียดลงไปเท่านั้น ทีนี้ชาวบ้านจำไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างชาวบ้านหรือที่ชาวบ้านจะจำไหวจะเข้าใจได้ จึงพูดว่า ๒ ญาณเท่านั้น คือธรรมฐิติญาณ พิจารณาให้เห็นธรรมฐิติ หลังจากนั้นก็ต้องเป็นนิพพานญาณ คือญาณที่มันดับทุกข์ได้เพราะเห็นธรรมฐิติ นี่พูดเป็นไทยๆ และก็พูดอย่างชาวบ้านทั่วไป ยายแก่ตาแก่จะรับเอาได้ ก็บอกว่ามี ๒ ญาณเท่านั้น ญาณแรกคือธรรมฐิติญาณ เห็นธรรมฐิติ ถัดไปจากนั้นก็นิพพานญาณ เพราะว่าเห็นธรรมฐิติจึงดับ ดับกิเลสดับเย็นได้เท่าไหร่ก็เรียกว่าเป็นนิพพานญาณ เป็นชั้นๆ ไป นี่เราได้ทั้ง ๒ ญาณ สั้นๆ อย่างนี้
ทีนี้ก็ดูให้ละเอียด สำหรับคำว่าธรรมฐิติญาณ มักจะรู้จักกันแต่เพียงว่าธรรมฐิตินั้นคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะธรรมนิยามสูตรระบุไว้แต่เพียงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ธรรมธาตุนั้นตั้งอยู่แล้วคือสังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานี่ เราได้ยินกันมาอย่างนี้ แต่มันมีสูตรที่สำคัญกว่านั้นที่แสดงถึงธรรมฐิติคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทหรือเรื่องอิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าก็ตรัสรูปเดียวกันกับในธรรมนิยามสูตรแต่ว่าละเอียดกว่าและก็ไม่ได้ระบุอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระบุปฏิจจสมุปบาทว่าเป็นธรรมฐิติ ก็เหมือนกับที่พระสวดเมื่อวันเสาร์ที่แล้วมานั่นแหละ สูตรนั้นเองที่เป็นสูตรรวมความไว้ได้หมด คือมีตรัสว่าพระตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม พระตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ฐิตา ว สา ธาตุ ธรรมธาตุนั้นตั้งอยู่แล้ว คือ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา อิทปฺปจฺจยตา อิทัปปัจจยตานั้นก็คือปฏิจจสมุปบาท แต่ว่าเรียกตามชื่ออิทัปปัจจยตา สะดวกกว่า มันกินความกว้าง อิทัปปัจจยตาว่าความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้นนี่ ช่วยจำไว้ให้ดีคำนี้จะมีประโยชน์มากต่อไปข้างหน้า อิทัปปัจจยตาความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จะเกิดขึ้น มีเท่านี้แหละ นี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาอย่างนี้หรือลักษณะอย่างนี้คือธรรมฐิติ เป็นการตั้งอยู่แห่งธรรมดา เป็นธรรมนิยาม เป็นกฎตายตัวของธรรมดา
ทีนี้พิจารณาดูก็จะเห็นว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันรวมอยู่ในอิทัปปัจจยตา เพราะเมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น มันไม่มีอัตตา และมันไม่เที่ยง และมันเป็นทุกข์ ที่เราเรียกว่าอนิจจังไม่เที่ยงนั้น เพราะว่ามีสิ่งนี้ๆ ปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น นั่นแหละมันจึงไม่เที่ยง และมันเอาตามใจเราไม่ได้ มันเป็นไปตามกฎนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นก็คืออิทัปปัจจยตา ถ้าเรียกอย่างอื่นก็เรียกว่าธรรมฐิติ เดี๋ยวนี้เรามีคำว่าธรรมฐิติญาณ ญาณเห็นธรรมฐิติ ก็คือญาณที่เห็นสามัญลักษณะ๓ นั้นก็ได้ แต่ว่าถ้าให้ครอบคลุมหมดแล้วพูดว่าเห็นอิทัปปัจจยตาดีกว่า นั่นคือเห็นธรรมฐิติหมดจดสิ้นเชิง
ทีนี้ก็ไปพิจารณาดูสิ นามรูปปริคคหญาณก็ดี สัมมสนญาณก็ดี อุทยัพพยญาณก็ดี ภังคญาณก็ดี ภยตุปัฏฐานญาณก็ดี เรื่อยขึ้นมาตามลำดับ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุจจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเปกขาญาณ สัจจานุโลมิกญาณ อะไรมันก็เป็นเรื่องอิทัปปัจจยตาทั้งนั้นแหละทุกอย่างเลย จะเห็นชัด เพราะว่านามรูปมันก็เป็นอิทัปปัจจยตาอยู่แล้ว ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตายิ่งขึ้นๆ ทุกญาณหรือในบางแง่บางมุมเรื่อยไป ฉะนั้นญาณทั้งหลายก่อนโคตรภูญาณจึงเป็นพวกเห็นอิทัปปัจจยตาทั้งนั้น จึงเรียกว่าธรรมฐิติญาณ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าธรรมฐิติญาณ มันรวมหมด เราไม่เคยใช้คำรวมหมด ฉะนั้นขอให้ทราบไว้ว่าคำรวมหมดมันมี รวบเอาญาณทั้งหลายเล็กใหญ่เท่าไหร่ก็ตามใจ ขึ้นมาถึงโคตรภูญาณเรียกว่าธรรมฐิติญาณ ญาณเห็นธรรมฐิติ และธรรมฐิตินี้ถ้าเรียกให้ดีก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ญาณเห็นอิทัปปัจจยตา หรือถ้าจะเรียกกันอย่างสั้นๆ อย่างให้มันน้อยคำก็กลายเป็นอย่างอื่นไป คือเรียกว่า ตถตา ความเป็นอย่างนั้น, อวิตถตา ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น,อนัญญถตา ความไม่เป็นอย่างอื่นจากความเป็นอย่างนี้เป็นต้น พวกตถตา,อวิตถตา,อนัญญถตานี้อันเดียวกันกับอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาอันเดียวกับธรรมฐิติและธรรมนิยาม และทั้งกลุ่มนี้พระพุทธเจ้าท่านได้เรียกสั้นๆ คำเดียวไว้ในที่นี้ว่าธรรมฐิติญาณ เป็นญาณชื่อเดียวแต่กินความหมดทุกญาณที่มีอยู่ก่อนโคตรภูญาณ
ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่าธรรมฐิติญาณ ก็ได้ยินเสียเดี๋ยวนี้ ผมเอามาเล่าเอามาพูดให้ฟังเป็นการถวายความรู้รอบตัวว่าในพระบาลีสูตรนี้ พระพุทธเจ้าท่านจัดญาณไว้เพียง ๒ ญาณอย่างนี้ แล้วหมดในพระพุทธศาสนา แม้มันจะมีตั้งหลายๆ สิบญาณ มันก็รวมอยู่ใน ๒ ญาณนี้ทั้งนั้น คือเราอาจจะสงเคราะห์ลงในญาณ ๒ ญาณนี้ทั้งนั้น ญาณก่อนการเกิดมรรคผลก็เรียกธรรมฐิติญาณ คือเห็นความจริงของสังขารทั้งหลาย แง่ใดแง่หนึ่ง ชั้นใดชั้นหนึ่ง ญาณนับตั้งแต่เกิดมรรคผลขึ้นมาแล้วเรียกว่านิพพานญาณทั้งนั้น จนกระทั่งสุดท้ายที่เรียกปัจจเวกขณญาณ,วิมุตติญาณอะไรก็ตามใจ มันรวมอยู่ในคำว่านิพพานญาณทั้งนั้น คือมันดับทุกข์ได้ แล้วไปทำบัญชีหางว่าวเอาเอง ร่างลงไปจากโคตรภูญาณมีกี่สิบญาณ ทำบัญชีรายละเอียดเอาเอง นี่เป็นธรรมฐิติญาณ เรียกชื่อสั้นๆ ว่าธรรมฐิติญาณ
ทีนี้หลังจากโคตรภูญาณขึ้นมาเป็นมรรคญาณ ผลญาณเรื่อยไปจนกระทั่งญาณในวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มันก็เป็นเรื่องนิพพานญาณทั้งนั้นแหละ คือมันเกี่ยวกับนิพพานหรือดับทุกข์ ซีกข้างต้นนั้นมันเพื่อจะดับทุกข์ ซีกข้างหลังนี้มันดับทุกข์ได้เท่านั้นเอง เป็นเรื่องดับทุกข์
นี่ญาณมีเพียง ๒ คืออย่างนี้ เป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้อย่างนี้ นี่ช่วยจำไว้ให้แม่นยำครั้งหนึ่งก่อนว่ามันมี ๒ญาณ คือธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณ และให้หลับตาเห็นว่าธรรมฐิติญาณนั้นก็คือญาณเห็นความจริงในสังขารทั้งปวง นิพพานญาณก็หมายความว่าเมื่อเห็นจริงแล้ว อะไรมันดับลงไปนี่
ทีนี้ก็มีข้อปลีกย่อยที่ควรจะชี้ให้เห็นว่าธรรมฐิติญาณนั่นแหละอาจจะเรียกชื่ออย่างอื่นบ้างก็ได้ แต่ก็หมายถึงธรรมฐิติญาณนั่นเอง เช่นคำว่านิพเพธิกญาณ คำนี้ควรจะจำไว้ด้วย นิพเพธิกญาณ ธิ ธ.ธง, นิพเพ เพ พ.พาน นิพเพธิกญาณ แปลว่าญาณเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เมื่อตะกี้บอกว่าญาณก่อนหน้าโคตรภูญาณเรียกว่าธรรมฐิติญาณ แต่เดี๋ยวนี้กำลังบอกว่าเรียกว่านิพเพธิกญาณก็ได้ เพราะว่าญาณเหล่านี้มันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส มุ่งหมายการเจาะแทงกิเลสทั้งนั้น เริ่มมาตั้งแต่สัมมสนญาณ มันก็เริ่มเจาะแทงกิเลส ถึงแทงไม่เข้าแทงไม่ทะลุอะไร มันก็ทำหน้าที่ที่จะแทงกิเลสแหละ รวมเรียกว่าอยู่ในกลุ่มนิพเพธิกญาณแหละ มันก็จะเจาะแทงเรื่อยมา เรื่อยมา เรื่อยมา จนมาถึงโคตรภูญาณ พอเลยนั้นมันก็เป็นการเจาะแทงได้สำเร็จจริง มีผลเป็นนิพพานญาณที่เป็นผลเกิดจากการเจาะแทงกิเลส ยกนิพพานเสียอย่างเดียวแล้วมันก็เป็นนิพเพธิกญาณหมด นับแต่เริ่มพยายามจะเจาะแทงและก็แทงได้ และก็แทงขึ้นมาตามลำดับจนเกิดนิพพานญาณ ซึ่งเมื่อตะกี้ก็ได้กราบเรียนถวายแล้วว่าให้ยืดลงไปจนถึงโสดาบัน ถึงโสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผลอยู่ในพวกนิพพานญาณอันที่เจาะแทงกิเลสได้ ถ้าคำว่านิพพานยืดลงไปถึงนั้น นิพเพธิกญาณมันก็อยู่หน้านั้นไปตามลำดับ ถ้าสมัครจะเอานิพพานแต่ชั้นพระอรหันต์ หน้านั้นมันก็เป็นนิพเพธิกญาณยืดขึ้นมาสูงถึงอรหัตมรรค-อรหัตผล คำพูดนี้ดิ้นได้อย่างนี้ นี่ที่ผมอุตส่าห์ไปสังเกตแล้วก็เอามาเล่าถวายเป็นความรู้รอบตัวนี้ก็เพราะเหตุอย่างเดียวคือคำพูดมันดิ้นได้ คำพูดว่าญาณว่าอะไรก็ตามใจมันยืดหยุ่นได้กำกวมได้ตามเหตุที่จะพูดหรือที่จะตรัส แต่ว่าที่ดีที่สุดแล้ว ๒ คำแรกนั่นแหละแน่นอน ธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณ
ทีนี้ผมจะขอย้อนกลับไปข้างต้นว่า ถ้าเราจะพูดกันกับชาวบ้านทั่วไป ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา แถมไม่รู้หนังสือด้วย แทบจะไม่รู้จักอะไรคำพูดอะไรสักอย่างเดียว ก็ให้นึกถึง ๒ ญาณนี้ ถ้าเราจะต้องสอนคนประเภทนั้น นี่ผมจะขอถวายความเห็นส่วนตัวตรงนี้ว่า พระวิปัสสนาจารย์เราจะไปสอนแต่คนที่เล่าเรียนมากแล้วมันไม่ได้ ต้องสอนตาแก่ ยายแก่ที่กระทั่งไม่รู้หนังสือหรือหง่อมแล้วก็ด้วย ทีนี้ถ้าพูดมากเรื่องมากราว ฟังไม่ได้ ฟังไม่ถูก ไม่เข้าใจหรอก มันยุ่ง ฉะนั้นชวนพูดกันแต่เรื่องญาณเพียง ๒ ญาณเท่านั้น ว่าธรรมฐิติญาณ เห็นความจริงของธรรมดานี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ รวบเอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาเป็นวัตถุของญาณนี้หมด ก็บอกให้ดูตั้งแต่เกิดมาจนเป็นคนแก่นี้มันเป็นอย่างไรบ้าง อะไรเป็นอย่างไรบ้าง มันเที่ยงไหมอะไรไหมนี่ ใช้คำพูดธรรมดาสามัญที่สุดแก่คนเหล่านี้ ให้ระลึกย้อนหลังว่าตั้งแต่เกิดมาจำความได้นี่ อะไรเป็นอย่างไร แกจะต้องนึกได้ ถึงจะเป็นชาวไร่ชาวนาอย่างไรก็ต้องนึกได้เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องนึกก็รู้ ก็รู้สึกได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นอย่างไร มันแจ่มแจ้งอยู่ในใจ ถ้าคุณยายหรือคุณตานี้ลองนึกถอยหลังไป เมื่อเป็นเด็กๆ เป็นอย่างไร เป็นหนุ่มสาวเป็นอย่างไร เป็นพ่อบ้านแม่เรือนเป็นอย่างไร เป็นคนแก่คนเฒ่าแก่หง่อมเป็นอย่างไร นึกเรื่อยไป และทีนี้ตรงไหนบ้างที่มันน่าชื่นใจหรือว่าตรงไหนบ้างที่มันแน่นอน ตรงไหนบ้างที่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นเรื่องสอนหลักในเรื่องธรรมฐิติญาณ มีอะไรบ้างที่น่ารักน่าเอาน่าเป็น เดี๋ยวนี้นะ แก่แล้วนะ มีอะไรบ้างที่น่าเอาน่ารักน่าเป็น เมื่อมันหนุ่มๆ สาวๆ มันก็ไม่แน่ แต่พอมาแก่เข้าแล้วมันเห็นย้อนหลังแล้ว โอ้ย,มันบ้าทั้งนั้นแหละ อย่างนี้ก็เป็นญาณ ไม่ใช่ไม่เป็นญาณ เป็นธรรมฐิติญาณ
ทีนี้ถามคนแก่นี้ๆ ดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นพ่อเขาหรือเป็นแม่เขามันสนุกไหม มันน่าเป็นไหม ถ้ามานึกย้อนหลังมันก็เสียวไส้ มันสั่นหัวไม่น่าเป็น นี้มันก็เป็นธรรมฐิติญาณ แต่ไม่ต้องเรียกชื่อหรอก ไม่ต้องไปเรียกชื่อแทนให้แกเวียนหัว แต่เราพูดถามไปจนมันเกิดธรรมฐิติญาณได้ และก็ไม่ต้องบอกแกว่านี้เรียกว่าธรรมฐิติญาณ เป็นภรรยาเขาน่าเป็นไหม คนแก่ๆ สั่นหัวทั้งนั้น เป็นสามีเขาน่าเป็นไหมคนแก่ๆ มันก็สั่นหัวทั้งนั้น แล้วก็ลองไล่ไปให้ดีเป็นลำดับๆ ไป เป็นลูกก็ไม่สนุก เป็นพ่อแม่ก็ไม่สนุก เป็นผัวเป็นเมียเป็นอะไรก็ไม่สนุก เป็นนายก็ไม่สนุก เป็นบ่าวก็ไม่สนุก เป็นเศรษฐีก็ยังไม่สนุก เป็นขอทานก็ยังไม่สนุก เป็นมนุษย์ก็ไม่สนุก เป็นเทวดาก็ไม่สนุก ถ้าเขาฉลาดพิจารณาสักหน่อยเทียบเคียงสักหน่อย เศรษฐีก็ไม่น่าสนุกหรอก แต่ถ้ายังโง่อยู่ก็อยากเป็นเศรษฐีหรืออยากเป็นเทวดา แต่เราอย่าไปดูถูกเขา คนเหล่านั้นแหละอาจจะเห็นว่าเป็นเศรษฐีก็ไม่น่าสนุก เป็นเทวดาก็ไม่น่าสนุก ถามว่าถ้าอย่างนั้นอยากเป็นอะไรล่ะ นี่มันคงจะจน คงจะนิ่งอึ้งว่าจะเป็นอะไร แต่เดี๋ยวมันก็อาจจะมีความคิดที่ถูกร่องรอยว่าโอ้,มันไม่ควรจะเป็นอะไร นี่มันไม่ควรจะเป็นอะไร ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าธรรมฐิติญาณนั้นมันเป็นไปถึงที่สุดก็ได้ ถ้าเกิดรู้สึกว่ามันไม่น่าเป็นทั้งนั้นแล้วก็ ก็เรียกว่าธรรมฐิติญาณมันเป็นถึงที่สุด
ฉะนั้นในธรรมฐิติญาณนี้ จะรวบญาณทั้งหลาย รายละเอียดต่างๆ ที่เราพูดเราสอนอะไรกันอยู่เอาไว้หมดได้โดยไม่ต้องแยกแยะ และมันก็มีอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้งจนถ้าว่าดูไม่ดี ดูไม่เป็นแล้วก็จะไม่เห็นด้วย ว่าความรู้สึกที่เป็นเบื่อหน่าย คลายกำหนัดอะไรเป็นต้นนั้นมันซ่อนอยู่ในนั้นอย่างไร ที่จริงมันมี ถ้าแกสั่นหัวว่าเป็นผัวเขาก็ไม่สนุก เป็นเมียเขาก็ไม่สนุก เป็นพ่อเขาก็ไม่สนุก เป็นแม่เขาก็ไม่สนุก เป็นอะไรก็ไม่สนุก นั่นแหละคือญาณทั้งหลาย แต่ฟังดูแล้วมันคล้ายกับพูดเล่น นี้มันไม่ใช่พูดเล่น และก็เป็นธรรมฐิติญาณ ญาณเห็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรมดา คือตัวธรรมดานี่แกได้เห็นแล้ว
ทีนี้ถ้าว่าเราเอามาประยุกต์กับคนที่เขาอาจจะรู้ได้มากขึ้นอีกหลายชื่อญาณก็ได้เหมือนกัน ถ้าไม่ทำให้เขาเวียนหัว คือคนที่มันมีการศึกษามีสติปัญญาหรืออยากจะเรียนอะไรให้ละเอียดลออ มันก็พูดได้ แยกออกไปได้ แต่ถ้าสำหรับชาวบ้านที่เขาไม่ประสีประตาต่อคำบาลีต่ออะไรต่างๆ แล้ว อย่าพูดดีกว่า มุ่งหมายแต่เพียงจะให้เห็นธรรมฐิติญาณอย่างเดียวคือเห็นธรรมดาว่าไม่ไหวทั้งนั้นแหละ ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็นทั้งนั้นแหละ แล้วมันก็ใช้ได้แต่คนที่ผ่านโลกมาแล้วพอสมควรเท่านั้น จะใช้กับเด็กๆ ไม่ได้ ต้องขอยกเว้นเป็นพิเศษ เหมือนที่กล่าวไว้ว่าเป็นพระอรหันต์กันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบนั้น จะมีสัก ๙ คน ๑๐ คนเท่านั้น นั้นเอามาเป็นประมาณไม่ได้ ต้องถือว่าคนทั่วไปเป็นพระอรหันต์นั้นคือคนที่ผ่านโลกมามาก ชัดเจนละเอียดลออแล้วจึงเป็นพระอรหันต์ได้โดยง่าย เพราะพอพูดขึ้นก็มองเห็นหมด
ทีนี้ข้อที่ว่าเด็กๆ อายุ ๑๕ ปี จะมองเห็นได้อย่างนี้ต้องเป็นเด็กพิเศษ มันจึงมีไม่กี่คน เอามาเป็นประมาณไม่ได้ เราผู้ที่ผ่านโลกมานานแล้วถึงขนาดที่เรียกว่าพอมองย้อนหลังแล้วเขาเห็นอะไรต่างๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ความไม่น่าเอาไม่น่าเป็นมันแจ่มแจ้งอยู่ในใจของคนแก่ๆ เหล่านั้น ทั้งหมดนั้นเรียกว่าธรรมฐิติญาณ สงเคราะห์เป็นญาณเครื่องเจาะแทงกิเลส หรือนิพเพธิกญาณได้โดยตรง
ทีนี้ขั้นต่อไปก็จะถึงพวกนิพพานญาณ คือคุณย่า คุณตา คุณยายเหล่านั้นแกก็มองเห็นเช่นนั้นแล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อจะไม่เป็นอะไร เพื่อจะหยุดกันที เพื่อจะพอกันที ไม่คิดไม่นึกที่จะเป็นอะไร ไม่อยากจะเป็นอะไรนี่ คือหยุดได้ หยุดอยากปรารถนา หยุดทะเยอทะยานอะไรได้นี้ มันก็เป็นพวกนิพพานญาณ ก็ไม่ต้องเรียกชื่ออีก ก็ว่าพอกันทีนะ ก็สบายนะ มันก็เท่านั้นเอง ความรู้สึกอย่างนั้นก็เป็นพวกนิพพานญาณ
นี่ผมยกตัวอย่างนะว่าเราจะอบรมสั่งสอนให้คนแก่ไร้การศึกษาเหล่านั้นมีความก้าวหน้าในการบรรลุธรรมนี่ แยกเป็น ๒ ขั้นว่า เอ้า,ดูสิ อะไรมันน่าเอาน่าเป็นบ้าง แกก็เห็น พอหลังจากนั้นก็เอาสิ,พอกันทีสิ อย่าไปนึกใฝ่ฝันอะไรกันอีกเลย นี่ไม่กี่นาทีก็พอจะเป็นรูปเป็นร่าง ก็เห็นธรรมฐิติ คือว่าไม่น่าเอาน่าเป็น แล้วก็เห็นนิพพานญาณคือว่าหยุดอยากเสียได้ด้วยคำพูดเพียง ๒ คำ ๒ ญาณเท่านั้น แต่แล้วก็อย่าลืมว่า ๒ ญาณนี้ เอาไปแจกรูปออกเป็นอีกกี่ ๑๐ ญาณก็ได้
นี่คือการถวายความคิดเห็นในบางแง่บางมุม เพราะยังจะต้องมีความระมัดระวังอีกมากเกี่ยวกับคำพูดซึ่งมันดิ้นได้หรือมันกำกวมหรือมันยืดหยุ่นได้ อย่าได้พูดอะไรยืนยันโผงผางเด็ดขาดตายตัวอะไร เดี๋ยวมันก็จะผิดเท่านั้นแหละไม่ใช่วิสัย ไม่ใช่หลักของพุทธบริษัทที่จะพูดอะไรยืนยันโผงผางโดยส่วนเดียว เพราะว่าทุกอย่างมันเนื่องกัน แม้ว่าที่เราแยกออกเป็น ๒ ญาณ คือธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณนี้ มันก็ยังอาจจะรวมเป็นอันกันเดียวได้ ก็ลองคิดดูว่ามันจะหมายถึงอะไร ธรรมฐิติญาณมันก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง ตัวธรรมฐิติมันเป็นสัจจะอันหนึ่ง ตัวนิพพานก็เป็นสัจจะอันหนึ่ง รวมกันเข้าก็เป็นสัจจะทั้ง ๒ อัน หรือว่าเห็นสัจจธรรม เห็นธรรมที่เป็นสัจจะแล้วก็ใช้ได้เหมือนกันหมด ๒ ญาณก็เลยจะเป็นญาณอันเดียวกันได้
มีพระบาลีอยู่อีกคำหนึ่งเรียกว่า อโมสะ อโมสะนั่นแหละคือสัจจะ อโมสะก็แปลว่าไม่เท็จ ไม่หลอกลวง ไม่มุสา น่าหัวเราะที่คำนี้มันเป็นคำเดียวกับคำว่ามุสาหรือพูดเท็จนั่นเอง แต่ถ้าในเรื่องศีลเรื่องวินัยนี้มันคนพูดเท็จเรียกว่ามุสา เดี๋ยวนี้สัจจธรรมหรือปรมัตถธรรมนั้นไม่มุสา ไม่มีใครพูดก็ไม่ต้องมีใครพูด คือตัวมันเองไม่แสดงความเท็จ ไม่เป็นความเท็จ ไม่เป็นมุสา อันนั้นเป็นสัจจะ อันนั้นคือนิพพาน นิพพานนี้ไม่มุสาคือเป็นสัจจะ เป็นสัจจะตรงที่ว่าดับทุกข์ได้ ฉะนั้นคำว่านิพพานก็เล็งถึงสัจจะคือเป็นของจริง นิพพานเป็นของจริงในฐานะที่เป็นของไม่มุสา ทีนี้ธรรมฐิติทั้งหลายก็เป็นของจริงและไม่มุสา ทั้งธรรมฐิติและทั้งนิพพานก็กลายเป็นของจริงไม่มุสา ญาณเห็นสิ่งที่ไม่มุสาด้วยกันทั้ง ๒ ญาณ คำนี้แปลกและก็เพิ่งพบกันเมื่อเร็วๆ นี้ คำว่าไม่มุสาคือนิพพานนี้ ถ้าไม่อธิบายฟังไม่ถูก ว่านิพพานคืออโมสะ อโมสะคือไม่มุสา ไม่มุสาคือนิพพาน แต่พอคิดดู พิจารณาดูก็เห็นได้ว่าเขาเล็งถึงความจริงไม่เท็จนั้นคือนิพพาน สัจจะทั้งหลายก็ไม่มุสา พูดภาษาธรรมดาๆ แท้ๆ ฉะนั้นญาณที่เห็นของจริงไม่มุสาอย่างเดียวก็พอ ให้เห็นของจริงในขั้นต้นคือว่าของจริงของสังขารธรรมทั้งหลายนี้แจ้งชัดตามที่เป็นจริง จิตมันก็เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเป็นไม่เอาด้วย นี้ก็เกิดเป็นนิพพาน คือว่าเป็นสัจจะอันหนึ่งขึ้นมาอีก ถ้าดับทุกข์จริงก็เรียกว่าเห็นสิ่งที่ไม่มุสา ก็พอแล้ว ในที่สุดไปบอกคุณย่าคุณยายว่าโอ้,เห็นแต่ของจริงก็แล้วกัน เห็นแต่ของจริงก็แล้วกัน คำเดียวเลย เหลือคำเดียวเลย ของจริงก็แล้วกันนี่ระวังให้ดีเถิด มันครอบจักรวาลครอบอะไรหมด และครอบที่มองเห็นและไม่มองเห็นครอบไปหมด เพราะฉะนั้นในบางคราวเราก็พูดกันแต่เพียงว่าเห็นของจริง ให้เห็นของจริง ให้ถึงสิ่งที่จริง ให้ได้พบสิ่งที่จริง ให้ได้บรรลุสิ่งที่จริง ในที่นี้หมายถึงนิพพานทั้งนั้น เพราะนิพพานคืออโมสะ อโมสธรรม ธรรมที่ไม่มุสานอกนั้นมันมุสาคือมันเล่นตลก มันทำให้เรารักมันแล้วทำให้เราเป็นทุกข์ มันทำให้เรายึดมั่นถือมั่นแล้วทำให้เราเป็นทุกข์อย่างนี้ พวกโกหกพวกมุสาอย่าไปเล่นกับมัน ก็หันไปหาของจริงไว้เรื่อย โดยมีนิพเพธิกญาณคือความรู้ที่จะเจาะแทงความหลอกลวงเข้าไปให้ได้ มันมีความหลวกลวงบังหน้าอยู่เหมือนกับม่านหรือว่ากำแพง ทีนี้ความรู้ประเภทที่มันพวกทะลวงอันนี้เข้าไปได้นี้เรียกว่านิพเพธิกญาณ ผู้ที่เห็นโลกมามากแล้วจะต้องมีญาณนี้ตามธรรมดาไม่มากก็น้อยเพราะมันเคยถูกหลอกมามากแล้ว ถูกคนหลอก,ถูกผีหลอก,ถูกกิเลสหลอก ถูกตัวเองหลอก แล้วมันเคยมามากแล้ว มันก็เลยเป็นผู้ที่ใกล้ของจริงเข้ามาทุกที อาจจะเจาะแทงของหลอกนั้นด้วยญาณนี้
ทีนี้ถึงตัวญาณที่เป็นเครื่องเจาะแทงของหลอกนี้มันก็ต้องเป็นของจริงนี่ ก็ต้องเอาของจริงมาเจาะของจริง และพบของจริง มันก็กลายเป็นเรื่องจริงไปหมด ธรรมฐิติแปลว่าของจริง มันก็จริงอย่างนี้ ของจริงที่ถูกอะไรปิดบังไว้ก็ต้องเอาของจริงมาเจาะแทงสิ่งที่ปิดบังไว้เพื่อให้เห็นของจริงนั้น
พุทธบริษัทบางพวกเขาอุปมาไว้อย่างน่าฟัง หรือว่ามันกันลืมได้ดีว่าต้องเอาเพชรมาเจาะเพชรนี่ มันต้องเอาของที่มีความแข็งความคมมากเหมือนกับเพชรนั่นแหละ นี่คือญาณ แล้วก็ไปเจาะหาเพชรที่มันถูกปิดถูกบังไว้ด้วยโมหะด้วยกิเลส เหมือนกับว่าเราเจาะภูเขาเข้าไปถึงแกนของภูเขาแล้วก็พบเพชรนี่ เครื่องมือที่แข็งนี้ต้องเหมือนกับเพชรเหมือนกันแหละ มันจึงจะเจาะกันได้ เลยพูดเปรียบว่าเหมือนกับเอาเพชรมาเจาะเพชร,ตัดเพชร ธรรมฐิติญาณก็เป็นเพชรที่จะเจาะคือเครื่องมืออะไรก็ตาม แล้วก็ได้เพชรเมื่อมีนิพพานญาณ
รวมความว่าทั้งหมดนี้เป็นการพูดสรุปให้มันสั้นเข้ามา ให้มันแคบเข้ามา ให้มันเหลือน้อยเข้ามา ถ้ามันจะพูดจากัน ผมว่าดี ดีกว่าขยายออกไปให้มันมากเรื่องๆ ละเอียดเป็นนักปราชญ์เป็นยอดอภิธรรมเป็นอะไรมันมากเรื่อง มันเกิดเป็นหลายสิบเรื่องหลายร้อยหลายพันเรื่อง ในที่สุดก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไรนอกจากคนมีเรื่องมากเท่านั้น ไม่ดับทุกข์ได้สำหรับคนมีเรื่องมาก คือว่าทำเรื่องมากๆ นั้นให้เหลือเป็นน้อยเข้าๆ จนเหลือแต่เรื่องเดียว นี่มันจะดับทุกข์ได้ เหลือเพียง ๒ ญาณ ว่าธรรมฐิติญาณ นิพพานญาณ แล้วก็เหลือเพียงเรื่องเดียวอีกทีหนึ่งว่าญาณไหนของจริง ไม่ทราบว่าจะเรียกอะไรดี จะเรียกว่าสัจจญาณหรืออะไรก็ตามใจ แต่โดยเนื้อแท้มันก็คือเห็นของจริงเห็นความจริงในทุกแง่ทุกมุมหมดกันเท่านั้นเอง เห็นของจริงเมื่อไหร่ก็หยุด แล้วก็พูดไม่ได้ คนโบราณพูดเอาไว้เป็นสิ่งที่ควรจดจำ ของจริงนิ่งเป็นใบ้ นี่ บังเอิญใครไปเกิดเห็นของจริงเข้าก็เลยกลายเป็นคนใบ้ เว้นแต่พระพุทธเจ้า ของจริงที่ว่านี้คือของจริงจริงๆ มันเห็นด้วยปัญญาด้วยญาณนั่น พอเห็นแล้วจะมาพูดเป็นคำพูด มันพูดไม่ถูก คำพูดของมนุษย์มีไม่พอที่จะเอามาพูดให้ความจริงนั้นถูกบรรยายถึงที่สุดได้ มันพูดได้แต่อ้อมค้อม วกไปวกมาอยู่ริมๆ ขอบๆ เท่านั้นแหละ ให้พูดกันสักเดือนสักปีสักกี่ปีมันก็ไม่ถึงตัวจริงได้นี่ เพราะมันเป็นของที่พูดไม่ได้ ที่ว่านิพพานคืออะไรนี้ ถ้าถึงเข้าจริงบรรลุเข้าจริงแล้วมันกลายเป็นพูดไม่ได้ ถึงพูดเท่าไหร่ๆ มันก็ไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้
ฉะนั้นเท่าที่เอามาพูดได้นั้นยังไม่จริง ถึงที่ผมกำลังพูดอยู่หรือใครกำลังพูดอยู่ก็ตาม มันยังไม่ถึงที่สุดของของจริงหรือตัวจริงหรือความจริง ตัวจริงนั้นเป็นสิ่งที่เอามาพูดด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือไม่ได้ ได้แต่ว่าเอ้า,ไปทำดูเอาเองและถึงเข้าเอง แล้วก็รู้จริงเองนี่ แล้วก็พูดไม่ได้อีกแหละ พอถึงของจริงแล้วเป็นใบ้หมดทุกคน ส่วนที่มาพูดได้นั้นไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของจริงตามนั้นและถึงที่สุด
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่เฉพาะแต่ในหมู่พุทธบริษัทเรา พวกอื่นก็มีพูดอย่างนี้ โดยเฉพาะลัทธิเต๋าของเหลาจื๊อ เหลาจื๊อเป็นคนพ้องสมัยกันกับพระพุทธเจ้า บรรทัดแรกของคัมภีร์ของเหลาจื๊อคือข้อความนี้ บรรทัดแรกนะ ว่าเต๋าที่เอามาบรรยายได้นั้นไม่ใช่เต๋า คำว่าเต๋านี้ แปลว่าธรรมะก็ได้ แปลว่าหนทางอะไรก็ได้ เรียกว่าเต๋า เหลาจื๊อเขาเรียกว่าเต๋า ฉะนั้นเต๋าที่เอามาพูดบรรยายให้ผู้อื่นฟังได้นั้นไม่ใช่เต๋า นี่คิดดู คนอื่นเขาก็พูดเป็น ว่าของจริงคือสิ่งที่ทำให้เป็นใบ้ ฉะนั้นญาณทั้งหลายก็เหมือนกัน มีลักษณะที่ว่าเราไม่สามารถจะบรรยายตามที่มีความรู้สึกจริงๆ ในญาณนั้นๆ ได้ เขาต้องไปทำเอาเองแล้วจึงจะรู้สึกเต็มตามนั้น เราพูดได้แต่เพียงคำแวดล้อม ล้อมๆ อยู่นั่นแหละ ล้อมอยู่รอบๆ นั่นแหละ มันจริงไม่ได้เพราะมันอยู่เหนือวิสัยที่จะพูดได้
ข้อนี้ก็เปรียบด้วยอุทาหรณ์กันง่ายๆ มานานแล้วว่าเหมือนกับน้ำตาล หรือเกลือหรือน้ำส้มหรือน้ำอะไรก็ตามถ้าคนมันไม่เคยกิน ไม่เคยชิมแล้ว เราไม่มีปัญญาที่จะพูดให้เขารู้จักน้ำตาลหรือน้ำส้มหรืออะไรได้โดยแท้จริงนี่ ลองไปพูดกับคนที่ไม่เคยกินน้ำตาลสิ แล้วบอกมันว่าน้ำตาลหวานอย่างไร พูดอย่างไร พูดให้มันฟังถูกสิ ให้พูดสักร้อยชั่วโมงมันก็ฟังไม่รู้สึกได้ว่าน้ำตาลหวานอย่างไร แต่เราก็พูดได้ว่าต้นตาลอย่างนั้น อ้อยอย่างนี้ อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ มดมันขึ้นรุมเต็มไปหมด มันพูดไปเถอะ แต่มันก็รู้ว่าหวานอย่างไรไม่ได้ นอกจากเขาจะไปเอาน้ำตาลมาใส่ปาก เอ้า,หวานมันอย่างนี้เอง แล้วก็นิ่งเป็นใบ้ไปอีกคนหนึ่ง ธรรมะทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นที่เอามาพูดได้นั้นมันเป็นเรื่องฝอยทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเราควรจะพูดให้น้อยลงบ้างใช่ไหม ยิ่งพูดมากเท่าไหร่มันก็ยิ่งมีฝอยเท่านั้นแหละ มีขี้กบมีขี้เลื่อยมีขี้ผงอะไรมากขึ้นทุกทีขืนพูดมากออกไป ก็เป็นเรื่องที่ว่าบอกกันแต่เพียงว่าต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ แล้วก็ไปทำดู มันจะเกิดอย่างนี้ขึ้นมา หรือว่าถ้าเขาทำไม่ได้จะให้เราเป็นผู้ต้อนเขาไปหา เราก็ใช้วิธีอย่างว่า ทำให้เขาเกิดธรรมฐิติญาณ นิพพานญาณโดยวิธีใดวิธีหนึ่งก็แล้วกัน เขาก็เกิดขึ้นในใจของเขา แล้วเขาก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เราไม่สามารถจะบรรยายให้เขารู้สึกสิ่งนั้นได้
ฉะนั้นวิปัสสนากรรมฐานของเราก็เป็นอย่างนั้น จงทำไปอย่างนั้นให้ถูกวิธี ก็ทำต่อไปอย่างนั้นให้ถูกวิธี และทำต่อๆ ไปอย่างนั้นให้ถูกวิธี จนถึงขั้นที่มันได้เกิดญาณ เป็นความรู้สึกของจิตในภายในโดยตรง คนอื่นไม่มีส่วนมารู้มาเห็นได้ นี่คือคำว่าญาณโดยแท้จริง อาการของนิพพานญาณนี้ ในชั้นหลังเราก็ชอบอธิบาย ชอบบัญญัติคำขึ้น ส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสไม่เห็นมีอะไร นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ, วิราคา วิมุจฺจติ, วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมีติ ญาณํ โหติ, ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ มันก็มีเท่านี้ นี่ก็รู้กันอยู่ทุกคน เกือบไม่ต้องอธิบายอะไร พอเห็นว่าอะไรเป็นอะไรนี่ เช่นเห็นว่าขันธ์ ๕ มีธรรมฐิติอย่างนั้นๆ มันก็เกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ ไม่ยึดมั่น นี่เรียกว่าวิราคะ วิราคะก็หลุด คือจิตมันหลุดมาจากความยึดมั่น รู้ว่าเอ้า,หลุดแล้ว พูดไม่ได้กับคนอื่น แต่ตัวเองรู้ว่ามันหลุดแล้ว รู้ว่าเอ้า,เรื่องต่างๆ ที่ต้องทำมันจบแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อหลุดกันอีกแล้ว,โว้ยนี่ มันก็อยู่ข้างในทั้งนั้น
ทีนี้ยังมีคำพูดอีกประเภทหนึ่งแสดงลักษณะเป็นเครื่องสังเกตว่า เมื่อไม่ยึดมั่น มันก็ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่วิ่งไปวิ่งมาเพื่อเสาะหาอย่างนี้เป็นต้นก็มีเหมือนกัน มันแสดงผล อาการที่เป็นผลให้พอรู้ว่ามันหลุดพ้นแล้ว ทีนี้ถ้ามันยังสะดุ้งอยู่ หวาดเสียวอยู่ วิ่งไปวิ่งมาหานั่นหานี่อยู่ มันก็ยังไม่หลุดพ้น ยังไม่มีนิพพานญาณที่แท้จริง แต่ว่าก็ใช้เป็นเครื่องสังเกตได้ว่าเดี๋ยวนี้เรายังสะดุ้งอยู่หรือเปล่า เมื่อมีอะไรเป็นเรื่องได้เรื่องเสียผ่านเข้ามา เรายังสะดุ้งอยู่หรือเปล่า เรื่องเสีย เช่นว่า พอมีอะไรเป็นนิมิตของความตายมา เราสะดุ้งหรือเปล่า ก่อนนี้มันต้องสะดุ้ง มันเคยสะดุ้ง สะดุ้งจนเป็นนิสัย อะไรกระโต๊กกระต๊ากมามันก็สะดุ้งเพราะมันเป็นนิมิตของความตายอย่างนี้เป็นต้น ถ้าเดี๋ยวนี้มันไม่สะดุ้ง มันก็เรียกว่าอันนั้นมันหมดไป
ทีนี้วิ่งไปวิ่งมาก็เหมือนกัน จิตมันวิ่งไปที่นั่น วิ่งมาที่นี่ คิดไปถึงเรื่องนั้น คิดไปถึงเรื่องนี้ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ เรียกว่ายังวิ่งไปวิ่งมาอยู่ เรื่องที่จิตวิ่งไปวิ่งมานี้มันพลอยทำให้ร่ายกายก็ต้องวิ่งไปวิ่งมา เดี๋ยวก็วิ่งไปกามภพ เดี๋ยวก็วิ่งไปรูปภพ เดี๋ยวก็วิ่งไปอรูปภพ เหมือนที่ได้กล่าวกันแล้วในวันก่อนนี้ว่า นั่งอยู่ที่นี่ เดี๋ยวก็จิตมันวิ่งไปนรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกาย มนุษย์ เทวดา มาร พรหมอะไร มันวิ่งไปที่นั่นไปที่นี่ตามเหตุปัจจัยและตามสังขารที่ปรุงแต่ง ถ้ายังมีวิ่งมาวิ่งไป วิ่งมาวิ่งไปอย่างนี้ ยังไม่ได้ ยังไม่หลุดพ้น ยังไม่ปล่อยวาง ยังไม่มีนิพพานญาณ ถ้ามันมีธรรมฐิติญาณเพียงพอมันก็บอกว่าไม่ไหวทั้งนั้น นรกก็ไม่ไหว เดรัจฉานก็ไม่ไหว เปรตก็ไม่ไหว อสุรกายก็ไม่ไหว มนุษย์ก็ไม่ไหว เทวดาก็ไม่ไหว พรหมก็ไม่ไหว มันเลยไม่ไหวหมด ก็เลยหยุด ไม่วิ่งไปไหน มันล้วนแต่ไม่ไหวหมดทั้งนั้น นี่มันจะเป็นเรื่องของนิพพาน ฉะนั้นก็มีมากพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาการที่เป็นผลเครื่องสังเกตไว้อย่างนี้ เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่สะดุ้ง หวั่นไหว หวาดเสียว เมื่อไม่สะดุ้งหวาดเสียวก็ไม่วิ่งไปวิ่งมา ไม่หนี ไม่สู้ ไม่อะไรต่างๆ นั่นแหละที่สุดแล้ว ที่สุดอยู่ตรงนั้นแหละ คือนิพพานญาณเป็นไปถึงที่สุด ก็เป็นที่สุดแห่งความทุกข์
นี่วันนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องคำว่าญาณที่มันกำกวม มันยืดหยุ่นได้มากถึงขนาดนี้ แล้วเราก็มักจะใช้กันอย่างสะเพร่าๆ หรือบางทีก็ใช้อย่างที่ฉลาดมากเกินไปจนเวียนหัวนี่ มันมากนัก มันก็เวียนหัว บางทีก็ใช้กันผิดเรื่อง ทำให้มันไม่สำเร็จประโยชน์ เรื่องไม่ลำบากกลายเป็นลำบาก เรื่องน้อยกลายเป็นเรื่องมาก มันก็ไม่เรียกว่าพุทธบริษัทหรอก ถ้าทำผิดอะไร ผิดธรรมชาติ ผิดความจริงนี้แล้วก็เรียกว่าไม่เป็นพุทธบริษัทผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเลย เพราะฉะนั้นในวันนี้ขอได้จดจำคำว่าญาณไว้อย่างนี้ว่ามันสรุปอยู่ที่คำเพียง ๒ คำ ว่าธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณ ปันกันอยู่เป็น ๒ตอน เอาโคตรภูญาณเป็นแบ่งเขตไว้ทางโน้นครึ่ง ทางนี้ครึ่ง นี้เรียกว่าญาณ มีอยู่อย่างนี้ ทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นความจริงไม่มุสา เลยเรียกว่าสัจจญาณ ในกรณีนี้นะ ไม่ใช่สัจจญาณในกรณีอื่น นี่ผมขอถวายความรู้รอบตัวเรื่องญาณในวันนี้เพียงเท่านี้ ขอยุติการบรรยาย