แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
คณะสามเณร : เนื่องในคณะที่มานี้ ฝ่ายบรรพชิตเป็นสามเณรพัฒนาสมัยที่สองของจังหวัดภูเก็ต ได้ทำการบรรพชาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2512 มีกำหนดอบรมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม และก็ได้ทำการฝึกฝนอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภายในขอบเขตจังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 25 วัน ก็ได้ตกลงกันนำคณะสามเณรพัฒนามาเพื่อนมัสการพระบรมธาตุไชยาและมารับโอวาทจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสในครั้งนี้ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะอบรมเยาวชนให้มีคุณธรรมและให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบสมกับเป็นพุทธมามกะที่เคารพนับถือพุทธศาสนาอันแท้จริง นอกจากนี้ยังมีคณะเจ้าหน้าที่คือคณะครูตามโรงเรียนต่างๆ ที่ได้มาให้การอุปการะอุปถัมภ์คณะสามเณรพัฒนาชุดนี้ พร้อมด้วยญาติโยมพุทธบริษัทที่เป็นโยมของสามเณรและผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสติดตามมาเป็นจำนวนรวมทั้งหมด 85 ท่านด้วยกัน ทั้งคณะสามเณรพัฒนา ก็ใคร่ที่จะขอมาพักอาศัยร่มบารมีธรรมของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ ณ ที่นี้ เป็นเวลา 1 ราตรี คือในคืนวันนี้ เพื่อจะรับโอวาทและอบรมจากสำนักของพระเดชพระคุณ พร้อมทั้งจะได้ชมกิจกรรมโรงภาพยนตร์มหรสพทางวิญญาณอีกโสตหนึ่งด้วย ฉะนั้นบัดนี้คณะเกล้ากระผมทั้งหลายก็ได้มาพักอาศัยร่มโพธิสมภารของพระเดชพระคุณท่านแล้ว ก็ขอได้โปรดประทานโอวาทตามโอกาสและเวลาสืบต่อไป
ท่านพุทธทาส : รู้สึกยินดีที่สุดที่ได้ทราบเรื่องราวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และได้เห็นทุกๆ องค์สามเณร รวมทั้งทายก ทายิกา ตั้งใจมาจนถึงที่นี่ เรื่องที่ควรจะทราบเกี่ยวกับสวนโมกข์นี้มีอยู่บางอย่างซึ่งยัง ไม่ค่อยจะทราบ การจัดสวนโมกข์นี้จัดเพื่อให้สะดวกกับผู้ที่จะมีความใกล้ชิดธรรมชาติ ให้พระเณรได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ หรือ ผู้มาเที่ยวมาพักก็จะได้ใกล้ชิดธรรมชาติ จะได้ศึกษาธรรมะโดยตรงจากธรรมชาติ ธรรมะที่ศึกษาจากหนังสือหนังหาวาจาของมนุษย์ด้วยกันนั้นมันอีกแบบหนึ่ง ธรรมะที่เรียนจากธรรมชาติโดยตรงก็อีกแบบหนึ่ง ธรรมชาติโดยตรงในที่นี้หมายความว่าเรียนจากความรู้สึก ต้องเรียนจากความรู้สึกภายในใจจึงจะรู้ธรรมะที่แท้จริง ถ้าเรียนจากหนังสืออ่านหรือฟังนี่ก็เรียกว่าเรียนจากภายนอก มักจะเพียงแต่ว่าจำได้ เข้าใจ แล้วก็เลือนไป ถ้าเรียนจากภายในคือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจจริงๆ จึงจะอยู่นานและเข้าใจลึกซึ้ง หรือว่าเข้าใจแบบเด็ดขาด แบบสมุทเฉจหรือเด็ดขาดไปได้เลย จะยกตัวอย่างให้ฟัง เราเรียนเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรียนจากหนังสือ มันก็เข้าใจ แต่เดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าเรียนจากภายในโดยตรงจะไม่ลืม เหมือนกับว่ามาที่นี่ มาใกล้ชิดธรรมชาติ ต้นไม้ ก้อนดิน ก้อนกรวด ก้อนหิน แผ่นดินชนิดนี้ สิ่งแวดล้อมทุกๆ อย่างชนิดนี้ มันทำให้เราลืมความยึดมั่นถือมั่นเอง รู้สึกสบายใจอย่าง ไม่เคยได้รับมาแต่ก่อน สบายใจอย่างบอกไม่ถูก เราต้องเรียนจากความรู้สึกสบายใจ นี่ถ้าสมมติว่ามันสบายใจ เราต้องเรียนจากความรู้สึกในใจของเรา ก็รู้สึกสบายใจ ว่ามันมีรสชาติอย่างไร จึงจะรู้จักคำว่าความสุข ความสบายใจ หรือความสงบ หรือความเยือกเย็น ต้องเรียนจากความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ ทีนี้เราก็มาคิดดูเถอะว่าเหตุใดมันจึงสบายใจ ส่วนมากตอบไม่ได้ ส่วนมากคิดไม่ออกว่าเหตุใดจึงสบายใจ เพียงแต่รู้สึกว่าสบายใจ บอกไม่ถูก นี่ถ้ามีปัญญาหรือว่าจะมีใครช่วยพูดขึ้นก็ได้ ว่าในนี้มันไม่มีอะไรเป็นของเรา นี่ก็ฟังถูกทันที ในที่นี้ทั้งหมดมันไม่มีอะไรเป็นของเรา ถ้าอยู่ที่บ้านที่อื่น มันมักจะมีอะไรเป็นของเรา เวลานี้เรากำลังไม่อยากจะได้อะไร ไม่ต้องการอะไร และไม่มีอะไรเป็นของเรา ความที่ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่น มันเกิดขึ้นเอง ความยึดมั่นถือมั่นมันหลุดไปเอง ตรงนี้ไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นของเรา ก็เพราะเหตุนี้เอง ก็เหตุว่าไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าอะไรเป็นของเรา มันจึงสบายใจ ความรู้ที่เรียนจากภายในมันเป็นแบบนี้ ถ้ารู้จากหนังสือเดี๋ยวก็ลืม อ่านจากหนังสือเดี๋ยวก็ลืม มันก็พูดเรื่องเดียวๆ กันนี่แหละ แต่เดี๋ยวมันก็ลืม เพราะมันไม่ได้ชิมว่ารสชาติเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนจาก ของจริงจากธรรมชาติภายในจึงจะรู้จริง ดังนั้นเราจึงจัดสถานที่เช่นนี้ขึ้นมาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้ได้เสพธรรมชาติจนเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจ จึงได้ประโยชน์มากที่สุดด้วยการรู้ธรรมะที่แท้จริงในจิตใจ เป็นธรรมะจริงขึ้นมา จะเป็นผู้ที่อยู่ประจำที่นี้ก็ตาม จะเป็นผู้ที่มาชั่วคราวก็ตาม จะได้รับประโยชน์อันนี้ จึงจะเรียกว่าได้มากหรือได้สมกัน ได้คุ้มกับการที่มาสถานที่ชนิดนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียงเที่ยวทัศนาจรตามธรรมดา เหมือนกับที่เขาไปเที่ยวทัศนาจรเที่ยวดูเที่ยวมองหาความเพลิดเพลิน มันเป็นเรื่องที่ได้น้อย ได้ประโยชน์น้อย และไม่ลึกซึ้ง ไม่ประเสริฐอะไร แต่ถ้าจะมาให้ถึง สวนโมกข์ ให้เป็นสวนโมกข์ ให้ได้ประโยชน์จากสวนโมกข์ ต้องทำตามวิธีให้ได้ว่า คือให้ได้รู้จักอะไร สักอย่างหนึ่งภายในใจ รู้สึกสักอย่าง เข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นชนิดนั้น ดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วว่าได้รับความโล่งความว่าง ความเย็น ความเป็นสุข เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นไปชั่วขณะหนึ่ง เราลืมแม้แต่ชีวิตว่าเรามีอยู่ นี่เราลืมไปว่าเรามีชีวิตอยู่ นี่ก็เรียกว่าสละไปแม้กระทั่งตัวตนชีวิตของตน ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ยึดมั่นว่าตัวตน ไม่ยึดมั่นว่าของตน มันก็ว่าง ว่างที่สุด มันก็สบายที่สุด ให้ได้ชิมรสอันนี้กันจริงๆ แล้วจะไม่เสียหลาย คือมันจะฝังอยู่ในใจ กลับไปถึงบ้านมันก็จะติดอยู่ในใจ มันก็จะผิดกันกับเมื่อทีแรก แรกๆ ไปว่าขึ้นบ้านคนอื่นทำงานให้คนอื่น ไม่มีอะไรเป็นของเรา แต่ก็ทำได้ กินได้ ใช้ได้ นอนได้ ทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นของเรา โดยเปรียบเทียบว่าอยู่ตรงนี้ เวลานี้ มีความสบาย ถ้าจะทำอะไรมันทำได้ มันก็ทำได้ทุกอย่างคือมันทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะทำอะไรไม่ได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่มันกลับทำได้ดี จิตใจเป็นปกติดี มันไม่งุ่นง่าน มันไม่หงุดหงิด มันกลับทำได้ดี มีสติปัญญามาก ขอให้ได้สิ่งนี้กลับไปบ้านทุกๆ คน ทุกๆ องค์ ให้สมกับที่มาเยี่ยมสถานที่นี้ซึ่งจัดขึ้นโดยความมุ่งหมายอย่างนี้ เรียกว่าให้ได้ประโยชน์ให้ได้กำไรในการมาที่นี่ในทางธรรม นี่เรียกว่าสวน โมกขพลาราม แปลว่าอารามหรือหมู่ไม้ที่เป็นกำลังแก่ความหลุดพ้น ช่วยสนับสนุนความหลุดพ้นให้ ผู้มาเยี่ยมหรือผู้มาอยู่ก็ตาม ขอให้ตั้งอกตั้งใจกำหนดในข้อนี้ให้มาก อย่าพูดกันให้มาก อย่าหัวเราะกัน ให้มาก เหมือนทัศนาจรตามธรรมดา นิ่งๆ ฟังต้นไม้พูด ฟังก้อนหินพูด จะได้ยิน ถ้าเราตั้งใจฟัง ทำใจให้ดี สิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้จะแวดล้อมทำให้เกิดความคิดนึกขึ้นมาได้ว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือว่ามีความสุขที่สุดต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไร จะได้ยินจะได้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้นมาทีเดียว คนเราจะมีความสุขที่สุดต่อเมื่อเราไม่รู้สึกว่าเรามีอะไร ถ้ายังรู้สึกว่าเรามีอะไร เป็นอะไรแล้ว จะมีความเยือกเย็นหรือความสงบใจไม่ได้ ต้องเป็นเวลาที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไร แล้วก็อยู่ด้วยความรู้สึกรู้เท่ารู้ทันด้วยความว่าง มีสติปัญญาในเรื่องว่างและจะสบายที่สุด นี่มันกลับตรงกันข้ามกับที่เคยรู้สึกมาก่อนว่าต้องมีเงิน ต้องมีเกียรติ ต้องมีอำนาจ ต้องอะไร จึงจะมีความสุข อันนั้นมันก็เป็นความสุขอีกชนิดหนึ่ง เป็นความสุก ก.สะกด รู้สึกร้อนๆ เรื่องเงิน เรื่องเกียรติ เรื่องอำนาจวาสนา สุก ก.สะกด สุกร้อน เข้าใจกันดีแล้ว ถ้าสุขที่เย็นต้องเป็นเรื่องที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามีอะไรเลย แม้แต่ชีวิตเราก็ยังลืมไป เรารู้สึกแต่ความสุข เรื่องชีวิตเรื่องตัวเรานั้นลืมไป ลืมตัวกูลืมของกูหมดจึงจะเป็นความเย็นที่สุด ตรงกันข้ามกับความร้อน ขอให้เที่ยวไป ทั่วๆ ทั่ววัด แล้วก็ไปบนภูเขา ไปตามที่ที่มีความสงบสงัดตามธรรมชาติ จัดไว้สำหรับให้มันพูดได้ พอเราเหลือบไปเห็นจะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ แต่ว่ารวมความแล้วเกิดความรู้สึกไม่ยึดมั่นถือมั่น ลืมความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวกูเรื่องของกู ฉะนั้นเดินไปตรงไหนก็สบายใจไปหมด ไปเจอกับลำธาร ไปเจอสระน้ำ ไปเจอบนภูเขาก็ตาม มันก็สบายใจไปหมด แล้วก็เข้าไปในตึกหลังนี้เพื่อไปดูสิ่งที่แสดงไว้เพื่อให้เข้าใจธรรมะ ในตึกหลังนี้เรียกว่าโรงมหรสพทางวิญญาณ เรียกให้มันแปลกออกไปเพราะมันมีความมุ่งหมายแปลกออกไป เป็นโรงมหรสพ มหรสพแปลว่าสิ่งที่ให้ความสนุกสนาน บันเทิง ร่าเริง รื่นเริง เรียกมหรสพ มันมีสองอย่าง มีทางฝ่ายเนื้อหนังก็มี ทางฝ่ายวิญญาณก็มี เหมือนเราไปดูหนังดูละครตามธรรมดาเป็นมหรสพฝ่ายเนื้อหนัง เพลิดเพลินใจอย่างยิ่ง ถ้าเราบรรลุธรรมมีความถึงธรรมเข้าใจธรรมก็ได้รับความเพลิดเพลินใจอย่างยิ่งเหมือนกับมหรสพเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องทางวิญญาณ ทางจิตทางวิญญาณ จึงเรียกมหรสพทางวิญญาณ มีอยู่สองอย่าง ที่นี้เราจะต้องมองให้เห็นว่าธรรมะหรือพระธรรมเป็นตัวมหรสพ ขอให้ถึงพระธรรมจะมีความสบาย มีความพอใจบันเทิงรื่นเริงเหมือนกับมหรสพ เท่ากับมหรสพทางเนื้อหนัง แต่มันเป็นมหรสพทางวิญญาณ ธรรมะนั่นเองเป็นมหรสพ ทีนี้ตรงไหนเป็นที่ให้เข้าถึงธรรมะได้ ตรงนั้นเป็นโรงมหรสพ ฉะนั้นทั้งวัดเลยเป็นโรงมหรสพ ต้นไม้ ก้อนหิน อะไรก็ตามเป็นโรงมหรสพ เข้าไปนั่งจะได้รับมหรสพทางวิญญาณคือพระธรรม ตึกหลังนี้ก็เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณคือมันช่วยให้ความสะดวกอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งก้อนหินหรือต้นไม้ให้ไม่ได้ ในตึกนี้มีไว้เตรียมไว้คือภาพ รูปภาพ ส่วนมากเป็นรูปภาพ ถ้าดูรูปภาพเข้าใจจะได้รับความรู้ทางธรรมะทันที ความรู้ทางธรรมะจะลึกซึ้งและมีประโยชน์ในเวลาอันสั้น ไม่ใช้เวลามาก และก็สนุกด้วย ที่จริงธรรมะนี่ถ้าทำไม่รู้เรื่องแล้วจะไม่เข้าใจ ไม่สนุก น่าเบื่อ ง่วงนอน เรื่องธรรมะส่วนมากเป็นอย่างนั้น จึงต้องจัดกันเสียใหม่ให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ และเข้าใจได้ทันทีในเวลาอันสั้น เข้าใจได้ลึกซึ้งด้วย อย่างลึกทีเดียว เรียกว่าโรงมหรสพอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ภาพเป็นเครื่องมือ ถ้ามีเวลาพอต้องเข้าไปนั่งตรงหน้าภาพและพิจารณาให้รู้ก่อนว่าเป็นภาพอะไร ข้อที่หนึ่งให้รู้ว่าภาพอะไร บางทีเราไม่รู้ว่าภาพอะไร เส้นยุ่งๆ ไม่รู้ว่าภาพอะไรก็มี ข้อที่สองต้องพิจารณาให้รู้ว่ามันมีความหมายอย่างไร และข้อที่สามจะต้องดูอีกครั้งว่ามันได้กับตัวเราเองอย่างไร บางครั้งความล้อเลียนของภาพมันได้กับตัวเราอยู่เต็มตัวเลย แต่เราก่อนนี้ไม่รู้สึกแต่เวลานี้รู้สึก ถ้าเรารู้สึกได้อย่างนี้จะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากโรงมหรสพทางวิญญาณ ดูให้รู้ว่าเป็นภาพอะไร ดูให้รู้ว่าเป็นภาพอะไร และดูให้รู้ว่ามันได้กับตัวเราเองอย่างไร เป็นอันใช้ได้ และทุกๆ ภาพเลยจัดไว้อย่างนั้น ตัวอย่างเช่นภาพดอกไม้จัดคน จะหลอกคนจะด่าคนมากกว่าว่าคนนี้ช่างโง่ไม่รู้ว่าดอกไม้จัดคน คิดแต่ว่าคนจัดดอกไม้ ที่จริงดอกไม้มันจัดหัวใจคนให้คนไปซื้อดอกไม้มา ให้คนไปปลูกต้นไม้ดอกไม้ เอามานั่งร้อยนั่งอะไร ดอกไม้จัดหัวใจคนทั้งนั้น แต่คนกลับเข้าใจว่าเราจัดดอกไม้ และมันได้กับตัวเราเองอย่างไรก็ลองคิดเอาเอง นี่เป็นตัวอย่างภาพหนึ่งที่จะต้องดูกันในนี้ เมื่อข้างในตึกก็มี ข้างนอกทั่วไปทั้งวัดก็มี มีสิ่งที่จะสะกิดสะดุดอะไรให้เข้าถึงธรรมะ มีทั่วไปหมดและสนุกด้วย และรู้ธรรมะได้ลึกซึ้งกว่าการอ่านๆ พูดๆ ด้วย ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าโรงมหรสพทางวิญญาณ เป็นแผนกๆ ก้อนหิน ต้นไม้ ตามธรรมชาติก็เป็นโรงมหรสพทางวิญญาณแผนกหนึ่งเหมือนกัน ของที่สร้างขึ้นเช่น ตึก ภาพเขียน ภาพปั้น ก็เพื่อเป็นมหรสพทางวิญญาณอีกแผนกหนึ่ง ถ้าสนใจก็ไปดูให้ทั่วถึง ให้ได้รับประโยชน์จริงๆ ให้คุ้มค่าเหนื่อยที่อุตสาห์มา สำหรับสามเณรก็เหมือนกันถือเอาประโยชน์ให้ได้ตามความมุ่งหมาย ที่จัดแบบนี้ขึ้นเพื่อประหยัดเวลา เมื่อเธอมีเวลาน้อยไม่เกินเดือน ก็ต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ที่สุด ข้างในนั้นมีคนอธิบาย นี่แหละคือความมุ่งหมายของโรงมหรสพทางวิญญาณ เพื่อให้ คนเข้าถึงมหรสพ ตัวมหรสพคือพระธรรม เป็นความดับทุกข์ เป็นความเยือกเย็นอย่างยิ่ง ใจความสำคัญก็มีเท่านี้ ขอให้ทุกคนถือเอาประโยชน์ให้ได้ในเวลาอันสั้นในเวลาที่มีน้อยนี้ทุกๆ คน และก็ขอให้สำเร็จประโยชน์ตามต้องการ เวลานี้ก็พูดกันเท่านี้ก่อน เพราะยังเหนื่อยบ้าง ยังไม่ได้เห็นหรือยังไม่ได้เข้าใจ วัดนี้บ้าง ถ้ามีเวลาคืนนี้ค่อยพูดกันอีก ขอให้ไปเที่ยวกันตามต้องการ