แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายในวันธรรมปาฏิโมกข์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูโดยตรงทุกครั้งตามที่ได้ทราบอยู่แล้ว วันนี้เผอิญมีคณะพระวิปัสสนาจารย์มาร่วมด้วย ก็ขอให้ถือว่าเป็นการบรรยายร่วมกันไปทั้งสองพวก ก็เป็นการถวายความรู้รอบตัวตามเคย แต่สำหรับพระที่อยู่ประจำ ก็เป็นเรื่องธรรมปาฏิโมกข์ตามเคย
ทีนี้ท่านพระวิปัสสนาอาจารย์ทั้งหลายอาจจะไม่ทราบว่า ธรรมปาฏิโมกข์นั้นคืออะไร ก็เลยอยากจะบอกกล่าวสักเล็กน้อยว่าพวกเราที่อยู่กันที่นี่ มีการบรรยายทุกวันธัมมัสสวนะสำหรับพระที่อยู่ประจำวัดด้วยหัวข้อธรรมะที่สำคัญถึงขนาดต้องพูดกันซ้ำๆ ซากๆ เหมือนลงปาฏิโมกข์ นี้ก็เกิดเป็นปาฏิโมกข์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ ลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์นั้นก็เป็นวินัยปาฏิโมกข์ ส่วนการบรรยายธรรมชุดนี้เรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ ด้วยความมุ่งหมายว่าจะให้เป็นธรรมหรือหลักธรรมที่จะฟังซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่ต้องเบื่อเหมือนที่เราฟังปาฏิโมกข์ทุกวันปาฏิโมกข์ ถ้าพูดกันถึงความน่าเบื่อแล้ว วินัยปาฏิโมกข์ที่สวดทุกวันปาฏิโมกข์นั้นก็จะต้องน่าเบื่อกว่า เพราะว่าเป็นภาษาบาลีฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็สวดกันเหมือนกันทุกตัวอักษรทุกครั้งที่สวด
ส่วนธรรมปาฏิโมกข์นี้ พูดซ้ำๆ ซากๆ เรื่องตัวกูของกู แต่มันไม่ซ้ำกันได้ทุกตัวอักษร เพราะว่าวันหนึ่งก็พูดไปในแง่หนึ่ง วันหนึ่งก็พูดไปในอีกแง่หนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวกูของกูอยู่นั่นแหละ ทำไมถึงเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์ เพราะว่าเรื่องตัวกูของกูนี้มันเป็นเรื่องทั้งหมดของธรรมะ นี้เป็นความรู้สึกของผมเป็นส่วนตัวว่าธรรมะในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ถ้าจะสมมติว่ามี ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ก็เนื่องด้วยตัวกูของกูทั้งนั้น ทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ บางประเภทก็แสดงถึงลักษณะตัวกูของกูคือกิเลสโดยตรง แล้วก็บางประเภทก็แสดงถึงความทุกข์ที่เป็นผลมาจากกิเลส แล้วมันก็เกิดแก่ตัวกูของกูนั่นแหละ ถึงแม้อภิธรรมปิฎกมันก็แจกเรื่องฝอยละเอียดเกี่ยวกับตัวกูของกูในทุกแง่ทุกมุม นี่จะเป็นเรื่องนรกสวรรค์อะไรที่ไหนมันก็เกี่ยวกะตัวกูของกูทั้งนั้น จะเป็นนรกบนฟ้าสวรรค์ใต้ดิน หรือว่านรกที่อายตนะ สวรรค์ที่อายตนะ มันก็เป็นเรื่องตัวกูของกูอยู่นั่นเอง ถึงแม้พระวินัยปิฎกทั้งหมดบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทแล้วก็แยกรายละเอียด มันก็เกี่ยวกับตัวกูของกู ถ้าตัวกูของกูไม่ทำพิษแล้ว วินัยไม่ต้องบัญญัติแม้แต่สักข้อเดียว ที่ภิกษุล่วงปาฏิโมกข์เป็นอาบัติข้อใดข้อหนึ่งนั้นมันเป็นเรื่องตัวกูของกูทำพิษทั้งนั้น ตามมากตามน้อย ตามที่น่าดูไม่น่าดูอะไรก็ตามใจ เพราะฉะนั้นเรียกว่าหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาทั้งส่วนวินัยและสุตตันตะและอภิธรรม มันมีความเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่เราสมมติเรียกกันว่าตัวกูของกูทั้งนั้น ฉะนั้นเรื่องตัวกูของกูจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันทุกวันเหมือนกับเราลงปาฏิโมกข์ทุกวัน หากแต่ยักเรียกเสียว่าธรรมปาฏิโมกข์ เรื่องตัวกูของกูเป็นปาฏิโมกข์ คือเป็นเรื่องที่เป็นประธานในทางฝ่ายธรรมะ ที่เป็นตัวความทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความดับทุกข์ เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ คือเรื่องอริยสัจ ๔ นี่เราเรียกกันว่าธรรมปาฏิโมกข์ที่นี่ มันก็ไม่มีอะไรแปลกวิเศษวิโสหรือว่าอุตริวิตถารอะไรที่ไหน นอกจากจะเรียกให้มันสะดุดใจ หรือเป็นที่สนใจหน่อยเท่านั้น นี่เป็นอันว่าเราเข้าใจเรื่องความหมายของคำว่าธรรมปาฏิโมกข์กันแล้ว สำหรับท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายคงจะได้ถือว่าเป็นความรู้รอบตัวอีกนิดหนึ่ง สำหรับคำว่าธรรมปาฏิโมกข์ที่ใช้อยู่ที่นี่
แล้วทีนี้ต่อไป ก็คือว่าเรื่องของตัวกูของกูนี้ บรรยายกันอย่างไรไม่รู้จักจบจักสิ้นมาหลายปีแล้ว แล้วก็ทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มันก็เพราะเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วว่า ไม่ว่าอะไรมันเป็นไปตามอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานคือตัวกูของกู อุปาทานคือตัวกูของกู ตัวกูของกูก็คืออุปาทาน ถ้าไม่เกิดความรู้สึกอันนี้ คืออุปาทานว่าตัวกูของกูนี้ เรื่องมันไม่มี การกระทำก็มิได้เป็นกรรม มันเป็นกิริยาธรรมดาสามัญไปหมด แม้ไม่ใช่อย่างพระอรหันต์ มันก็อย่างธรรมดาสามัญ เป็นกิริยาอย่างสามัญเพราะไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้เจตนาอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ทอดตาไปเห็นภาพเป็นปฏิฆสัมผัสเฉยๆอย่างนี้ ไม่เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน เรื่องมันก็ไม่มี แล้วก็ลืมตาอยู่อย่างนี้ มันก็เห็นสิ่งทั้งหลายทั่วไปนี้อยู่ตลอดเวลา นี่ เพราะตัวกูของกูไม่ได้เกิด เรื่องมันจึงไม่มี พอตัวกูของกูมันเกิดด้วยเหตุอย่างใดก็ตาม เมื่อนั้นเรื่องมี คือต้องมีเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้ คิดนึกด้วยเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้ มีการปรุงแต่งไปในทางที่จะเป็นปฏิจจสมุปบาท แล้วก็เกิดความทุกข์จนกว่ามันจะดับไป
นี่ขอให้เข้าใจความสำคัญพิเศษอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าตัวกูของกู คนโดยมากหรือคนที่แรกได้ยิน ก็เข้าใจไปว่าเป็นคำพูดเล่นสนุกๆ เป็นคำพูดเล่นลิ้น หรือว่าเป็นคำพูดอุตริวิตถารสร้างขึ้นเอง ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรืออัตตนียา อัตตาคือตัวกู อัตตนียาคือของกู นั่นแหละคือเรื่องทั้งหมดในพระไตรปิฎก เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ดับไปก็ไม่มีทุกข์ จะในรูปไหนก็แล้วแต่จะเรียก แต่ตัวจริงของมันคืออัตตาหรืออัตตนียา อย่างอนัตตลักขณสูตรนี้แสดงอนัตตาเพื่อจะกำจัดเสียซึ่งอัตตาหรืออัตตนียา ซึ่งมันต้องเนื่องกัน มีอัตตาที่ไหน ก็ต้องมีอัตตนียาติดท้ายพ่วงมาที่นั่น ฉะนั้นจึงว่ามีตัวกูที่ไหนก็มีของกูพ่วงท้ายมาที่นั่น คล้ายกับว่าคนกับเงาติดไปด้วยกัน มีแสงแดดก็เห็นชัด ไม่มีแสงแดดก็ไม่เห็น มันซ่อนอยู่ในนั้น ทีนี้เราก็มีแง่ที่จะพูดได้มากเท่ากับแง่มุมของพระไตรปิฎกที่ว่ามี ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จะเอาจุดไหนมาพูดก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ทุกวันพระ แล้วก็ไม่กี่ร้อยครั้งที่พูดมาแล้ว ยังไม่ถึงหมื่นเลย อาจจะพูดได้ถึง ๘๔,๐๐๐ ครั้ง
ทีนี้สำหรับในวันนี้ ก็พูดไปในแง่รวม เพราะว่าส่วนใหญ่นี้ไม่เคยฟัง ถือเอาตามบาลีเป็นหลักก็ว่า เมื่อใดมันมีความรู้สึกว่า เอตํ มม นั่นของเรา, เอโสหมสฺมิ นั่นเป็นเรา, เอโส เม อตฺตา นั่นอัตตาของเรา ความรู้สึกนั้นคือความรู้สึกที่เป็นตัวกูและของกู อัตตาของเรานี้มันเป็นของกู นั่นของเรานั่นเป็นของกู นั่นเป็นเรานั่นคือตัวกู ทีนี้ฝ่ายตรงข้าม มันก็ว่า เนตํ มม นั่นมิใช่ของเรา,เนโสหมสฺมิ นั่นไม่ใช่เรา, น เม โส อตฺตา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา นี่คือฝ่ายที่ตรงกันข้าม คือไม่มีตัวกูของกู
ทีนี้ก็ดูให้ดีว่า คนเราถ้าไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เราไม่มีความรู้สึกว่านั่นของเรา หรือนั่นตัวเรา หรือนั่นอัตตาของเราเลยนี่ หมา แมว สุนัข กา ไก่ มันก็มิได้มีความรู้สึก เพราะมันยังไม่มีเรื่องอะไรมาทำให้รู้สึก มันจึงยังไม่มีความทุกข์ ทีนี้มนุษย์ก็เหมือนกัน อยู่ตามปกติไม่ได้มีทำอะไรให้เกิดความรู้สึกเป็นนั่นของเรา นั่นตัวเรา นั่นอัตตาของเรา นี่อยู่อย่างนี้เป็นส่วนมากของเวลา ฉะนั้นมันจึงไม่ทรมานมากเกินไปจนเป็นบ้าหรือตาย แต่ถ้ามีอารมณ์มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง และอารมณ์นั้นแรงพอที่จะให้เกิดการปรุงแต่งด้วยอวิชชา คือปรุงปฏิฆสัมผัสแล้วมันยังเลยไปถึงเวทนา แล้วก็มีอธิวจนสัมผัสในเวทนานั้นด้วยอำนาจของอวิชชา จึงเรียกว่าอวิชชาสัมผัส หรือเรียกว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา พอมีอวิชชาสัมผัสสชาเวทนามันก็เป็นอันว่ามีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติตามปฏิจจสมุปบาท มันก็เป็นทุกข์คราวหนึ่ง เรียกว่าตัวกูของกูเกิดคราวหนึ่ง หรือปฏิจจสมุปบาทเดินไปรอบหนึ่ง ก็เป็นทุกข์ครั้งหนึ่ง
ทีนี้ก็ดูให้ดี วันหนึ่งๆ เราจะมีกันกี่รอบ มากเกินไปก็ไม่ได้ มันคงเป็นบ้าตาย เช่นว่าเราตาเห็นรูปอย่างนี้ มันก็ไม่ได้เห็นแล้วเกิดอวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้องเกิดตัณหาอุปาทานเป็นตัวกูของกูไปเสียหมด มันบางครั้งเท่านั้น คือเมื่อของนั้นมันเป็นที่ต้องใจ ตรงกับความต้องการของกิเลสที่เคยชินอยู่ในใจนี่ ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมาเพราะเหตุนั้นแล้ว ก็เรียกว่าไม่เป็นตัวกูของกูหรอก จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะได้ชิมอะไร ได้กินอะไร มันมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดที่ไปจนถึงเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่คือเกิดตัวกูของกู ชนิดที่มันไปตามปกติไม่เกิด มันก็ไม่เกิด ที่ไม่เกิดเลยตามปกติ เช่นว่า ตื่นขึ้นก็ล้างหน้าถูฟันอะไร อย่างนี้มันก็ไม่เกิดเลย แต่ถ้าในการล้างหน้านั้นมันมีอะไรมาผสม มีเรื่องอื่นมาผสม หรือว่าการแปรงฟันนั้นมีเรื่องอื่นมาผสม นั่นน่ะมันก็เกิดได้ เช่นความคิดมันนึกไปในทำนองอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น เรื่องเกี่ยวกับน้ำล้างหน้า เกี่ยวกับอะไรก็ตามใจ หรือว่าถูฟัน สำหรับฟันที่มันเสียมันเจ็บมันปวดมันผุนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับฟันเกี่ยวกับอัตภาพร่างกาย มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ มันก็เกิดจากการถูฟันนั่นแหละ เป็นตัวตน เป็นความทุกข์ เป็นความกลัว เป็นความเศร้าอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นประเภทโมหะ นี่เรื่องตื่นขึ้นล้างหน้าถูฟันมันก็ยังมีได้อย่างนี้
ทีนี้ถ้าเรื่องที่มันเป็นอารมณ์มากกว่านั้น เช่น เรื่องฉันอาหารอย่างนี้ มันก็เป็นง่ายขึ้นไปอีก แต่ให้เห็นให้สังเกตเห็นไว้ว่า ตามธรรมดาเราฉันอาหารนั้น ถ้าฉันตามระเบียบวินัยของบรรพชิต มีการพิจารณาอย่างยิ่งเป็นประจำ อยู่แล้ว มันเป็นการกลัวล่วงหน้าระวังล่วงหน้าอยู่แล้ว มันก็ไม่ค่อยเกิด เว้นแต่ว่าจะเผลอ เผลอมากเกินไปนี่ หรืออาหารมันถูกปากถูกกิเลสอะไร มันเกิดน้อมจิตไปแวบหนึ่ง มันก็เป็นประเภทตัวกูของกูได้ คืออร่อยจนเกิดความยึดมั่นถือมั่นในความอร่อยนั้น หรือว่ามันทำให้เกิดน้อมนึกไปถึงความรู้สึกที่เป็นบาปเป็นอกุศลอย่างอื่นๆ เพราะการเคี้ยวอาหารนั้นอยู่ก็ได้ มันก็เป็นได้เหมือนกัน แล้วบางทีมันก็เป็นมาก บางทีมันก็เป็นน้อย คือเป็นอารมณ์ใหญ่หรืออารมณ์น้อย เช่นว่าเดินไป เหม็น เหมือนกับเหม็นศพ อย่างนี้มันก็ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูน้อยๆ ได้เหมือนกัน เกลียดอึดอัดขัดใจ หรือบางคนก็กลัว หรือบางคนก็นึกเตลิดเปิดเปิงไปตามความโง่ว่าเป็นลางร้ายเสียแล้ว เป็นอะไรเสียแล้วนี้ มันมีได้หลายๆ ชั้นหลายๆ ชนิดอย่างนี้ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง นานบ้าง ไม่นานบ้าง เกิดเป็นตัวกูขึ้นมาได้ ตามตัวอย่างนี้ขอให้ถือว่าอายตนะภายนอกภายใน ๖ นี่กระทบกันแล้วนี้ เกิดตัวกูก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ แล้วแต่เหตุการณ์ เรียกว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วส่วนมากมิได้เกิด ถ้าเกิดทุกเรื่องไปเราก็บ้าแล้ว เพราะว่าตาของเราจะต้องเห็นภาพอยู่เสมอ หูของเราจะได้ยินเสียงอยู่เสมอ จมูกก็ได้กลิ่นอยู่เสมอ ถ้ากลิ่นมันมี เรานั่งอยู่ที่นี่ เราได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้ แม้แต่เสียงนก แต่แล้วมันไม่ได้ปรุงไปในทำนองที่เป็นตัวกูของกู ได้ยินแล้วมันก็หายกันเลิกกัน มันไม่ใช่นักต่อนก ถ้าเราเป็นนักต่อนก แล้วกำลังมานั่งต่อนกแล้วได้ยินเสียงนก อย่างนี้มันก็เกิดตัวกูของกูเหลือประมาณ เดี๋ยวนี้เรามานั่งเล่นสบายๆ นี้ มันก็ได้ยินไปตามธรรมดา ตาก็เห็นไปตามธรรมดา ถ้ามีดอกไม้มันก็ได้กลิ่นไปตามธรรมดา มิได้เกิดตัวกูของกู เว้นแต่มันเป็นกรณีพิเศษอย่างที่ว่า
แต่ทีนี้ มันมีแง่ที่จะต้องคิดหรือจะต้องพิจารณาเทียบเคียงดู แม้ว่ามันจะเกิดตัวกูของกูน้อยครั้ง การสัมผัสทางอายตนะนั่น แม้จะเกิดตัวกูของกูเพียงน้อยครั้ง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาสักครั้งหนึ่งแล้วมันเท่าภูเขาเหล่ากานั่น ฉะนั้นเกิดเพียงไม่กี่ครั้งมันก็แย่แล้ววันหนึ่งๆ ส่วนที่มันไม่เกิดนั่น นับเป็นร้อยครั้งพันครั้งหมื่นครั้งก็ไม่แน่ เพราะตามันเห็นอยู่เสมอ หูมันได้ยินอยู่เสมอ เดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่ ยิ่งนอนอยู่ข้างนาฬิกาแล้วก็จะได้ยินทุกแต๊กไปเลย แล้วมันก็ไม่ได้เกิดตัวกูของกูอะไร เว้นไว้แต่มีกรณีพิเศษอีกนั่นแหละ มันจะคิดวิตกกังวลไปเรื่องเกี่ยวกับนาฬิกานั้น มันก็เกิดได้เหมือนกัน แต่ธรรมดามันมิได้เกิด
สรุปความแล้วว่า ในชีวิตเราคนหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ นี้ มีการกระทบทางอายตนะนับไม่ไหว แต่แล้วเป็นอันไม่กระทบ มีค่าเท่ากับไม่กระทบ เพราะมันไม่ได้เกิดตัวกูของกู ในกรณีไหนมันกระทบแล้วเกิดตัวกูของกูนั่นแหละ นับได้ว่าเป็นกรณีหนึ่งแล้ว คือเป็นปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่งตามกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท อาศัยตากับรูป เกิดจักษุวิญญาณนี่ ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการนี้ ชื่อว่าผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรามรณะ โสกะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง นี่ปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสตามลักษณะของอารมณ์ มีความหมายอย่างเดียวกันกับปฏิจจสมุปบาทที่ตรัสว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ แต่ตัวหนังสือต่างกัน แต่เรื่อง เรื่องเดียวกัน ถ้าพูดอย่างวิชชาอย่างหลักวิชชาต้องพูดว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ อวิชชาความโง่ เข้าผสมโรงในขณะนั้น ในขณะที่มีการกระทบทางอายตนะ ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังขาร คือการปรุงแต่ง ชนิดที่ให้อะไรๆ ที่มันไม่ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมา คือจะลุกขึ้นมาเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเบญจขันธ์อะไรต่างๆ นั่นแหละคือสังขาร สังขารนี่ทำให้วิญญาณธาตุที่ไม่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ กลายเป็นวิญญาณที่ทำหน้าที่ที่เราเรียกว่าอาวัชชนวิญญาณหรืออาวัชชนจิตนี้มันลุกขึ้นมา แล้ววิญญาณนี้ก็ทำให้กายกับใจคือนามรูปนี้ ซึ่งหลับสลบอยู่นั้นแหละลุกขึ้นมา ตื่นขึ้นมา มาเป็นนามรูปที่ทำหน้าที่ มันจึงลุกขึ้นมาเป็นอายตนะ นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ถ้าภาษาสุตตันตะเขาว่าให้เกิดอายตนะ ๖ เลย เพราะมันพูดเป็นหลักวิชากว้างทั่วไปว่าให้เกิดอายตนะ ๖ เลย นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะคืออายตนะ ๖ แต่ถ้าพูดเป็นวิทยาศาสตร์เป็นอภิธรรมเป็นอะไรแท้ๆ จะระบุเพียงอายตนะเดียวเท่านั้น จึงใช้คำว่า อายตนํ ไม่ใช้คำว่า สฬายตนํ คือจะเป็นอายตนะทางตาก็ว่าไป ทางหูก็ว่าไป
ทีนี้อายตนะเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำให้เกิดผัสสะประเภทที่ว่านี้ อธิวจนสัมผัสนี้ ก็มาจากอวิชชาข้างต้น เป็นอวิชชาสัมผัส เป็นอธิวจนสัมผัส สัมผัสนี้ให้เกิดเวทนาประเภทที่เรียกว่าอวิชชาสัมผัสสชาเวทนา คือเวทนาที่มาจากอวิชชาสัมผัส แล้วมันก็เป็นที่แน่นอนว่าเวทนานี้จะปรุงให้เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เป็นรวดเดียวไปรอบหนึ่งเลย นี่พูดอย่างนี้ก็ได้ หรือจะพูดอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยมากที่สุดว่าอาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบแห่งธรรม ๓ ประการชื่อว่าผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหาเรื่อยไปจนถึงทุกข์เหมือนกัน ก็เป็นปฏิจจสมุปบาท ชี้ชัดเฉพาะระบุอายตนะในนั้นมีอวิชชาเจืออยู่ แม้ว่าไม่ได้ออกชื่ออวิชชา แต่เล็งเห็นได้ตรงที่ว่ามันให้เกิดตัณหาอุปาทาน ฉะนั้นจึงถือว่าในการกระทบอายตนะนั้น มีอวิชชาเข้าเกี่ยวข้องด้วย อย่างนี้เป็นต้น
นี่คือเหตุการณ์ประจำวันของทุกคนที่เป็นมนุษย์ ถ้ามันเป็นคนโง่ คนหลง คนเขลา เป็นปุถุชนเกินไป มันก็มีมากและรุนแรง ถ้ามีสติปัญญาอยู่มันก็น้อยลง ถ้าเป็นอริยสาวกมันก็ยิ่งน้อย น้อยเกือบจะไม่มี ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็หมดเลย ไม่มีเรื่องอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาททีหนึ่งก็คือตัวกูทีหนึ่งแหละ ถ้ามองเรื่องนี้เข้าใจแล้วก็จะเข้าใจธรรมะหมด หมดทั้งพระไตรปิฎกแหละ ถ้าไม่มองเห็นข้อเท็จจริงข้อนี้ที่เป็นอยู่จริงในชีวิตของตัวเองแล้วก็เป็นอันว่าไม่เข้าใจธรรมะเลย จำได้แต่ตัวหนังสือ แม้ว่าจะจำได้หมดทั้งพระไตรปิฎกก็ไม่เข้าใจธรรมะเลย
ทีนี้ตรงกันข้าม คนที่มันไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก ไม่รู้เรื่องพระไตรปิฎกหรือคำอะไรฏก แต่มันรู้เรื่องนี้ เรื่องที่กำลังว่านี้ คนนั้นแหละมันรู้พระไตรปิฎก เพราะเรื่องพระไตรปิฎกแท้ๆ มันมีอย่างนี้ทั้งนั้น ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะดับไปอย่างไร ฉะนั้นสมัยก่อนมีพระไตรปิฎก ในสมัยพระพุทธเจ้านั้น เขาก็พูดกันสองสามคำ ก็มีความรู้ความเข้าใจเท่ากับพระไตรปิฎกทั้งหมดได้ สิ่งที่เรียกว่าพระไตรปิฎกนี้มันเพิ่งเกิดหลายร้อยปี เกิดสมบูรณ์เมื่อหลายร้อยปีหลังจากพุทธปรินิพพาน เมื่อก่อนเขาก็ไม่พูดถึงปิฎกปิฎักหรอก พูดว่าความทุกข์ของผมมาอย่างนี้ ร้อนเต็มทีแล้ว มันทนไม่ได้แล้วจะเป็นบ้าแล้ว พระพุทธเจ้าก็ว่า อย่างไรๆ ว่ามาๆ ก็วินิจฉัยกันเฉพาะเรื่องนั้นจนมันยุติไปดับไปนี่ ก็เรียนเรื่องธรรมะจากจิตใจ ศึกษาธรรมะจากจิตใจ ดับทุกข์ที่จิตใจ ไม่เกี่ยวกับหนังสือ ธรรมะไม่เกี่ยวกับหนังสืออย่างนี้ ทีนี้หนังสือมันเกิดขึ้นเพื่อบันทึกธรรมะทีหลัง
ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเอามาพูดกันหรือว่ากรอกหูกันซ้ำๆ ซากๆ อย่างพระปาฏิโมกข์นั้น ก็คือเรื่องตัวกูของกูอย่างที่ว่ามาแล้ว มันจะทำอย่างไรได้เพราะว่ามันไม่มีทางอื่นนอกจากพูดกันอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่อ่านหนังสือให้ฟัง คือชี้ให้เห็น คุ้ยเขี่ยให้เห็น แยกแยะให้เห็น ให้เห็นที่ตัวของตัวเองอยู่เรื่อยไปจนกว่าวันหนึ่งมันจะเห็นชัดด้วยญาณด้วยทัสสนะ เดี๋ยวนี้มันก็รู้ด้วยการยินการฟัง รู้ด้วยการใคร่ครวญไปตามเหตุผล มันก็ไปตามเรื่องมันก่อน สักวันหนึ่งมันจะรู้ด้วยปัญญาอันเห็นถูกต้องแจ่มแจ้งตรงตามที่เป็นจริง มันก็จะมีผลของการเห็นธรรมะดับทุกข์ได้ สำหรับผมผู้พูดนี้มันเหมือนกับเครื่องจักร เพราะไม่ได้พูดกับใครโดยเฉพาะ พูดแก่ทุกคน ฉะนั้นก็ต้องพูดไว้เป็นกลางๆ อย่างนั้น มันมีหลักเกณฑ์อยู่อย่างไรในพระไตรปิฎก หรือว่าในขอบเขตที่ผมได้ประสบมาด้วยตนเองนี่ แล้วก็รู้สึกว่าควรจะพูดอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น แต่ว่าทุกครั้งจะต้องเกี่ยวกับเรื่องตัวกูของกู
ทีนี้เวลาวันนี้ ก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่มันเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของตัวกูของกู เมื่อถามว่าอะไรเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดตัวกูของกูนี้ มันก็ตอบยากที่สุด เพราะมันเป็นได้ทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นได้ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู หรือว่าเป็นตัวมันเองแล้วก็เกี่ยวกับตัวกูของกูนี้ ในสูตรที่สมบูรณ์พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ถึง ๒๔ อย่าง นับตั้งแต่ดิน น้ำ ลม ไฟเรื่อยขึ้นไปจนถึงนิพพาน นิพพานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะถูกยึดถือว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา นี่ก็หมายความว่านับตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งนี้ก็ไม่ควรจะยึดว่าเป็นมัน เป็นเรา เป็นเขา เป็นอะไร อย่าสำคัญมั่นหมายด้วยอุปาทานว่ามันเป็นนั่น ที่ว่าสำคัญด้วยอุปาทานนี่มันเกี่ยวกับจะมาเป็นของเรา หรือจะมาเกี่ยวกับเรา จะมาเป็นอันตรายแก่เรา หรือจะได้ผลดีแก่เรานี่ เรียกว่ามันเป็นมันขึ้นมาแล้ว มันเป็นมัน เป็นตัวสิ่งนั้นขึ้นมาแล้ว มันจะมีค่าขึ้นมาแล้ว มันจะกระทบกระเทือนเราไม่ทางได้ก็ทางเสียแล้วนี่ อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งเลยจนกระทั่งมาเป็นสิ่งของ เป็นวัวควาย ไร่นา เป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นทางวัตถุหมดแล้ว ก็มาถึงเรื่องทางจิตใจ เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอะไรไปตามเรื่อง กระทั่งว่ามันดีขึ้นมากว่านั้นก็เป็นความสุข กระทั่งความสุขในเรื่องปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เลื่อนถึงจนถึงสมาบัติจนถึงนิพพาน ผู้ที่เห็นธรรมะ มีปัญญา จะไม่ยึดถือทั้งหมดนี้โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของตน นิพพานก็นิพพาน,นิพพานก็นิพพาน จะเป็นตัวตนของนิพพาน หรือเป็นตัวตนของเราไม่ได้ ทีนี้คนก็จะยึดนิพพานเป็นตัวตนในฐานะของนิพพาน แล้วเราจะเอาให้ได้โดยตัวตนของเรานี่ มันเป็นตัวตนอย่างนี้แล้วก็มันก็หมายความว่าเหลวหมด มันจะเป็นผลขึ้นมาไม่ได้ ต่อเมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นทุกฝ่ายแล้วนั่นแหละ ก็จะมีสภาวะนิพพาน คือหยุด ดับ เย็นอะไรอยู่ในตัวเอง
ทีนี้เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้มันมีมาก ก็ต้องบัญญัติเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ตามชื่อที่จะกำหนดได้ เช่น จะบัญญัติเป็นอายตนะ ๖ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ได้ มันถูกต้องที่สุดแล้ว ในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอก นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่มากระทบมนุษย์ ไม่มีอะไร แต่บางทีพระพุทธเจ้าท่านคงจะทรงเห็นว่า เล็งไปให้ถึงต้นตอมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เช่นว่า รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้มันมาจากอะไร แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่มันเป็นคู่กันนั้นมันมาจากอะไร ถ้าอย่างนี้ก็จะตรัสไปในรูปของธาตุ,ธาตุ ๖ บุรุษนี้ประกอบด้วยธาตุ ๖ นี้ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ คือธาตุ ๖ ต้องใคร่ครวญให้ดีนะว่าถ้าพูดว่าธาตุ ๖ นี่ มันหมดไม่มีอะไรเหลือในบรรดาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ทีนี้ คนธรรมดาจะฟังไม่ออกว่าธาตุดิน มันเป็นดิน มันอยู่แต่ดิน มันจะมามีอำนาจทำอะไรเรานั่น มันมองไม่เห็นข้อที่ว่าทุกอย่างมันมีความหมาย มีคุณค่า เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็มีคุณค่าอย่างนั้น เช่นว่าบ้านเรือน เรือนทั้งหลัง ตีราคาแสนหนึ่ง แต่ว่าไม้ชิ้นหนึ่ง เหล็กชิ้นหนึ่ง กระเบื้องชิ้นหนึ่ง มันก็มีคุณค่า ไม่ใช่จะไม่มีคุณค่า นี่จึงแยกไปเป็นส่วนย่อยว่าธาตุดินก็มีคุณค่าอย่างนั้น ธาตุน้ำก็มีคุณค่าอย่างนั้น ธาตุไฟ ธาตุลมก็มีคุณค่าอย่างนั้น อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ มีคุณค่าอย่างนั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ฉะนั้นจึงเป็นการดีกว่าหรือเก่งกว่าหรือว่าสุขุมกว่าที่จะไปพิจารณาที่ตรงธาตุเลย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาสธาตุ วิญญาณธาตุนี่ มันจะหมดหรือเกลี้ยงเกลายิ่งไปกว่าที่จะพูดเพียงว่าที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ได้ แล้วมันลึกกว่า มันต้นตอกว่า นี้เราไปเข้าถึงต้นตอของมัน มันก็เรียกว่าเก่งกว่าหรือว่าลึกซึ้งกว่า
ทีแรกๆ ผมอ่านพระไตรปิฎก ถ้าพูดถึงเรื่องอย่างนี้แล้วผมไม่ค่อยสนใจเหมือนกัน เพราะว่าไปเกิดความคิดว่าทำไมจะต้องไปดูกันถึงธาตุถึงอะไรให้มันเสียเวลามากไป ธาตุมันก็ไม่มีชีวิตจิตใจอะไร ทำไมไม่มาดูกันที่คนนี่ พอต่อมานานเข้าๆ จึงค่อยมองเห็นว่าโอ้,มันเป็นเรื่องที่ลึกกว่า จริงกว่า แล้วก็จะหมดจดเกลี้ยงเกลากว่า เช่นว่า ถ้าจะไม่ยึดถือในธาตุทั้ง ๖ นี้แล้ว มันก็ไม่มีอะไรเหลือสำหรับจะยึดถือ ทุกอย่างและทุกระดับ และแต่ละอย่างๆ มันมีหลายระดับ แล้วมันเป็นของจริงกว่าคือว่ามันไม่พูดไปในทำนองว่าสุขหรือทุกข์หรืออทุกขมสุขอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว มันปล่อยไว้เป็นกลางหมดเลย จะเกิดสุขก็ได้ เกิดทุกข์ก็ได้ เกิดอทุกขมสุขก็ได้ ก็จากธาตุทั้งนั้น นี่คือข้อที่มันกว้างขวางกว่า ลึกซึ้งกว่า รวบไว้มากกว่า
ทีนี้ก็มีสูตรๆ หนึ่ง สูตรเรื่องความว่าง เรียกว่ามหาสุญญตาสูตร ก็มีข้อความอย่างนี้ หรือสูตรที่เรียกว่าธาตุวิภังคสูตร ยิ่งชัดเจน ยิ่งชัดเจนมาก ไปเปิดดู ธาตุวิภังคสูตรในมัชฌิมนิกายนั้น สูตรนี้ก็มีท้องเรื่องสนุก คือว่าปุกกุสาติ ไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไปพักบ้านช่างหม้อด้วยกัน คุยกันก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแสดงธาตุวิภังคสูตรจบแล้วมันจึงนึกได้ว่า เอ้า,คนนี้ไม่ใช่คนธรรมดาแล้วที่พูดได้ถึงอย่างนี้ จึงได้สอบถาม รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็อยากจะบวช ขอบวช ไปหาบาตรจีวรยังไม่ทันจะได้ วัวขวิดตาย นี่เป็นต้น ท้องเรื่องไม่สำคัญแต่ว่าเรื่องนั้นน่ะมันสำคัญ ในสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าบุรุษประกอบด้วยธาตุ ๖ หรือมีธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาสธาตุ วิญญาณธาตุนี่ ธาตุใดเห็นได้ที่อวัยวะของคนเราส่วนไหนก็ทรงระบุ เช่นว่า ธาตุดินจะเห็นได้ง่ายที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ธาตุน้ำจะเห็นได้ง่ายที่เลือด ที่หนอง ที่น้ำลาย น้ำหู น้ำตา เป็นต้น ธาตุไฟ ก็คือความร้อนในร่างกาย ธาตุลมก็คือไอระเหยที่เป็นแก๊สที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาอยู่ในร่างกาย เห็นได้ที่นั่นเป็นของง่ายนะ
ในพระบาลี ชี้ธาตุดินที่นั่นๆ เราอย่าเข้าใจว่าท่านหมายความว่านั้นเป็นธาตุดินล้วนคือโดยประการทั้งปวง แต่ว่าชี้ไปยังสิ่งนั้นก็เพราะว่านั่นมันเห็นง่าย เช่น ชี้ธาตุดินไปที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอย่างนี้ มันมีส่วนที่เป็นของแข็งกินเนื้อที่ นั่นแหละเห็นง่าย แต่อย่าลืมว่าในผม ขน เล็บ ฟัน หนังนั้น มันก็มีน้ำเจืออยู่อย่างละเอียด เป็นธาตุน้ำแต่มองไม่ค่อยจะเห็น มีอุณหภูมิเจืออยู่ในส่วนนั้น แต่มันน้อยจนไม่รู้สึก แล้วก็มีแก๊สมีลมอะไรเจืออยู่ในสิ่งนั้น แต่มันน้อยจนไม่รู้สึก เพราะฉะนั้นจึงถือว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก นี้เป็นธาตุดิน นี้ก็ควรจะเข้าใจไว้ด้วย นี้บุรุษประกอบด้วยธาตุ ๖ แล้วธาตุที่เกี่ยวข้องกันอยู่มากที่สุดก็คือ ๕ อย่างข้างต้น ดิน น้ำ ไฟ ลม กับอากาศคือที่ว่างนี่ เพราะว่าระหว่างของสองอย่าง ก็ต้องถือว่ามีที่ว่าง ก็เลยในร่างกายนี้มันมีส่วนที่ว่างเล็กว่างน้อยว่างน้อยมากอะไรอยู่ แทรกอยู่ด้วยเสมอ จึงเรียกว่าส่วนที่เป็นที่ว่าง มีธาตุที่เป็นประธานในร่างกายนี้ คือวิญญาณธาตุ คือจิต แล้วก็มีธาตุที่เป็นลูกน้อง เขาเรียกภาษาง่ายๆ ก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุว่างคือธาตุอากาศ นี่เป็นธาตุลูกน้อง เป็นลูกสมุน นายของมันคือวิญญาณธาตุ ทีนี้นายของมันนั่นแหละคือวิญญาณธาตุนี่ มันจะถูกปรับปรุงขึ้นมาเป็นตัวที่อวดว่ากูเป็นเจ้าของ มันก็โง่ดักดาน นี่คือว่าอวิชชาได้โอกาสเกิดขึ้นในวิญญาณธาตุ กลายเป็นจิตใจที่โง่ด้วยอวิชชา ยึดถือว่ากูเป็นเจ้าของดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ๕ อย่างนี้เป็นของกู นี่คือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ถ้าไม่มีอย่างนี้ ไม่มีการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี่พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้เป็นหลักว่าถ้าเมื่อใดบุคคลนั้นได้มีความรู้เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบ จะมีคำว่ารู้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบ คำมันจำกัดความอยู่นะ รู้ชัดแจ้งด้วย แล้วก็ด้วยปัญญาอันชอบด้วย สมฺมปฺปญฺญาย นั่นแหละ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย แล้วก็ ปชานาติ รู้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงนี่ คำตรัสไว้ไม่มีทางดิ้นได้ มันเติมไว้ชัดหมด ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ นี้ ว่า ดินสักว่าดิน น้ำสักว่าน้ำ ไฟสักว่าไฟ ลมสักว่าลม อากาศสักว่าอากาศ นั่น เนตํ มม ไม่ใช่ของเรา, เนโสหมสฺมิ ไม่ใช่เป็นเรา เนโส เม อตฺตา ไม่ใช่อัตตาของเรา ก็นั่นแหละเท่านั้นเอง มันเมื่อนั้น วิญญาณนายนั้นก็หายโง่ วิญญาณที่เป็นนายที่เป็นเจ้าของทุกอย่างนี้มันก็หายโง่ ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็ยังโง่อยู่เรื่อย เอตํ มม นี่ของกู, เอโสหมสฺมิ นี่เป็นกู, เอโส เม อตฺตา นี่อัตตาของกู นี่มันยังโง่อยู่เรื่อย แล้วมันโง่ขึ้นมาเป็นพักๆ ตามที่พูดแล้วว่าในขณะที่มีปฏิจจสมุปบาท นอกนั้นมันก็นอนหลับอยู่ พอตื่นขึ้นมาก็โง่ จนกว่ามันจะตื่นด้วย ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ ว่า เอ้า, เนตํ มม, เนโสหมสฺมิ, เนโส เม อตฺตา มันก็เป็นวิญญาณที่พ้นจากความเป็นวิญญาณ หรือว่าเป็นวิญญาณที่หลุดพ้นที่บริสุทธิ์
ตรงนี้มีพระบาลีชัดเจนว่า อถาปรํ วิญฺญาณํเยว อวสิสฺสติ ปริสุทฺธํ ปริโยทาตํ ลำดับนั้นวิญญาณนั้นจักเหลืออยู่ เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ขาวผ่อง ว่าอย่างนั้น ตัวหนังสือว่าอย่างนั้น คือเมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ปชานาติ แล้วนี่ เมื่อนั้นวิญญาณเท่านั้นจักเหลืออยู่ เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ขาวผ่อง ก็แปลว่าวิญญาณธาตุนั้นยังมิได้ดับไปหมด แต่ไม่อาจจะเป็นวิญญาณที่มืดที่ดำที่โง่ที่หลงเข้าไปยึดอะไรๆ จึงได้ใช้คำว่าเหลืออยู่ สิ่งที่เหลืออยู่ในเวลานั้น ก็เหลืออยู่แต่วิญญาณอัน ปริสุทฺธํ และปริโยทาตํ
ทีนี้ต่อมาอีกขณะหนึ่ง เมื่อรู้ถึงขนาดนี้แล้ว เวทนาอะไรเกิดขึ้น จักดับ คือจักกระเด็นกลับหรือจักดับ สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อทุกขมสุขเวทนาก็ตาม อาศัยอะไรอย่างที่ว่ามาแล้วแต่ต้นนั้นแหละ เกิดขึ้นแก่จิตชนิดนี้แล้วมันดับ มันไม่เป็นเวทนาที่ปรุงตัณหาอุปาทานอะไรได้ นี่ตลอดเวลาเลย เป็นอยู่อย่างนี้
ทีนี้พอมาถึงในขั้นนี้แล้วตรัสว่า ในเวลานี้นี่เหลืออยู่แต่อุเบกขาเท่านั้น เป็นอุเบกขาที่บริสุทธิ์ขาวผ่อง แต่ว่าไม่ใช่อุเบกขาอย่างก้อนหิน คือมันทำอะไรได้ ไม่ใช่อุเบกขาที่ทำอะไรไม่ได้นอนแข็งทื่อนั้น จึงมีคำตรัสว่า มุทุ จ มันเป็นอุเบกขาที่อ่อนโยนด้วย กมฺมญฺญา จ ว่องไวต่อหน้าที่การงานด้วย ปภสฺสรา จ มีรัศมีซ่านออกด้วย คำนี้ต้องถือเอาความหมายว่าเมื่อวิญญาณที่บริสุทธิ์ขาวผ่องเพราะไม่ยึดเรื่องตัวกูของกูแล้ว ยังเหลืออยู่คือคนยังไม่ตายนี้ ทีนี้เวทนาอะไรมากระทบเข้า มันไม่รับเอา มันก็ต้องดับเท่านั้นแหละ เหมือนกับขว้างไข่มากระทบหินอย่างนั้น มันก็ไม่มีความหมายอะไร ทีนี้วิญญาณนั้นมีอยู่แต่อุเบกขา นี่ที่เรียกว่าอุเบกขาของพระอรหันต์ อุเบกขานั้นถ้าดูลักษณะก็ ปริสุทฺธา บริสุทธิ์ ปริโยทาตา ขาวผ่อง ทีนี้เพื่อกันเสียซึ่งความเข้าใจผิดว่าทำอะไรไม่ได้ จึงมีคำตรัสว่า มุทุ จ อ่อนโยนด้วย กมฺมญฺญา จ ไวต่อการงานด้วย ปภสฺสรา จ ซ่านออกแห่งรัศมีด้วย คือมีปัญญา อุเบกขานั้นอ่อนโยน หมายความว่าไม่กระทบกระทั่งอะไรใคร แล้วก็ กมฺมญฺญา หรือ กมฺมนียา ว่องไวในหน้าที่ที่จะกระทำในฐานะที่เป็นสิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็แปลว่าด้วยจิตอุเบกขานั้น ท่านนั้นสามารถทำอะไรทุกอย่างที่ควรจะทำในวันหนึ่งๆ เช่นว่า พระพุทธเจ้าจะไปโปรดสัตว์ พระอรหันต์จะไปโปรดสัตว์นี้ก็ทำได้อย่างว่องไวทั้งที่จิตเป็นอุเบกขา และใช้คำว่า ปภสฺสรา ซ่านออกแห่งประภา นี่ก็เดี๋ยวจะเข้าใจว่าเป็นเทวดาเป็นอะไรไปเสีย ประภานี้ หมายถึงประภาของปัญญา แสงสว่างแห่งปัญญา ไม่ใช่แสงสว่างแห่งเทวดาที่เขียนให้เป็นแสงไฟออกมา ก็มีปัญญาด้วย มีความอ่อนโยนด้วย มีความว่องไวในหน้าที่ด้วย มีปัญญาด้วย นั่นแหละคือจบเรื่องแห่งตัวกูของกู เมื่อวิญญาณที่บริสุทธ์แล้วอย่างนั้นกระทบเวทนา เวทนานั้นจะดับ และมองเห็นความดับนั้นอยู่ด้วย เมื่อนั้นก็เหลืออยู่แต่อุเบกขาที่บริสุทธิ์ที่ขาวผ่อง แต่เป็นอุเบกขาที่อ่อนโยน ที่ควรแก่การงาน ที่ซ่านออกแห่งรัศมีของปัญญา ก็ยังคงเป็นวิญญาณธาตุอยู่นั่นเอง ที่มันถึงที่สุดของภาวะที่มันจะเป็นได้ มันจึงเป็นอย่างนี้ ทีแรกก็เป็นวิญญาณธาตุที่โง่ ที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชาและความโง่ ก็ปรุงกันไปในทางที่จะสกปรกเศร้าหมองมอมแมมไปเลย แต่เมื่อได้ผ่านไปอย่างนั้นมากเข้า คือเป็นตามกรรมมากเข้า เดี๋ยวกรรมดีกรรมชั่วกรรมอะไรก็ตามใจ ตกนรกขึ้นสวรรค์ เวียนว่ายไปในภพทั้งหลายภูมิทั้งหลายที่เป็นโลกิยะมากเข้าๆ นี่ มันก็ค่อยฉลาดขึ้นๆ หรือว่าโชคดีได้ฟังคำสั่งสอนของพระอริยเจ้า มันก็ฉลาดเร็วขึ้น ผลสุดท้ายก็เกิด ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญา จึงเห็นว่าธาตุก็สักว่าธาตุ ขันธ์ก็สักว่าขันธ์ อายตนะก็สักว่าอายตนะ อะไรมันก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ไม่ธาตุใดก็ธาตุหนึ่งใน ๖ ธาตุนั้น ก็เลยหมดความยึดถือในธาตุทั้งปวง นี่ใจความสำคัญของธาตุวิภังคสูตร ที่เกี่ยวกับตัวกูของกูหรือเกี่ยวกับความดับแห่งตัวกูของกู มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้เราก็พิจารณาน้อมนำเข้ามาสู่ตัว หมายความว่ามันกำลังเกิดอยู่อย่างไรหรือไม่เกิดอยู่อย่างไรในอัตภาพนี้ที่เราเรียกว่าตัวเราของเรานี้ เมื่อพูดตามสมมติตามภาษาชาวบ้าน ก็ต้องพูดว่าร่างกายนี้จิตใจนี้มันคือเรา ทีนี้ในเรานี้ กำลังมีกิเลสประเภทตัวกูของกูอย่างไรหรือไม่ ก็ขอให้รู้จักถ้ามันมี ถ้ามันทำได้จนมันไม่มีก็ให้มันรู้ หรือว่ามันยังไม่เกิดก็ให้มันรู้ หรือมันน้อยลงก็ให้มันรู้
นี้คือความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ทำวิปัสสนา มันเป็นเรื่องทดสอบที่แท้จริงว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผล ฉะนั้นศึกษาเรื่องตัวกูของกูให้แตกฉานแล้วก็เอาเป็นเครื่องวัด เพื่อจะวัดการกระทำวิปัสสนาว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผล ได้ผลหรือยัง ได้ผลมากหรือน้อย ถ้าตัวกูมันยังปกติอยู่เหมือนคนทั่วไปมันก็ยังไม่ได้ผล แต่สังเกตเห็นว่าอันนี้มันน้อยลง หรือมันห่างออกไป ห่างออกไปนานๆ ที นี้ก็เรียกว่าได้ผล ได้ผลบ้าง ได้ผลมากขึ้น กระทั่งได้ผลถึงที่สุด คือไม่มีความรู้สึกประเภทอัสมิมานะ หรือ อัตตวาทุปาทาน หรือที่เรียกว่าตะกี้นี้ เอโส มม, เอโสหมสฺมิ, เอโส เม อตฺตา ๓ ประโยคเท่านั้น ช่วยจำไว้ให้มันขึ้นใจ มันจะไม่ลำบาก คำภาษาบาลีมันดีหรือสะดวกกว่าภาษาไทย เอตํ มม นั่นของเรา, เอโสหมสฺมิ นั่นเป็นเรา, เอโส เม อตฺตา นั่นเป็นอัตตาของเรา พูดภาษาหยาบคายของผมก็ว่า นั่นของกู นั่นเป็นกู นั่นเป็นตัวของกูนี่ อย่างนี้มันฟังถนัด คนไทยฟังออก ถ้าว่าอัตตาของเรา ไม่รู้อะไรอยู่ที่ไหน มันลำบาก ผมมันเป็นโรคอย่างนี้อยู่เหมือนกัน คือว่าจะพูดอะไรก็พูดภาษาที่เด็กๆ ฟังถูก ชาวไร่ชาวนาฟังถูก ฉะนั้นคำว่าตัวกูของกู ความว่าง จิตว่างอะไรมันก็เกิดขึ้น เพื่อจะพูดกันง่ายๆ หรือประหยัดเวลาเร็วๆ นี่เลยกลายเป็นว่าที่นี่เป็นสำนักงานที่จะพูดเรื่องตัวกูของกูทุกวันพระ ๘ ค่ำ เลยเรียกว่าธรรมปาฏิโมกข์อย่างนี้คือวันนี้ พูดประจำวันประจำวัดก็พูด ก็ถวายความเห็นเป็นความรู้รอบตัวแก่ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายพร้อมกันไปด้วย เป็น ๒ ความมุ่งหมาย
นี่ขอให้เอาไปใคร่ครวญดู จะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ก็ใช้ไปเสียเร็วๆ ก่อนแต่ที่โอกาสมันจะหมด เพราะร่างกายมันทำลายลงไปหรือเพราะอะไรก็สุดแท้ อย่าประมาทเลย เราอาจจะล้มเจ็บเป็นอัมพาตทำอะไรไม่ได้ไปเสียก็ได้ หรือว่าจะตายไปเลยก็ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรประมาท รีบทำกิจที่เป็นหน้าที่นี้ให้ลุล่วงไปเร็วๆ จนกว่ามันจะหมดกิจ เอาล่ะ,ขอยุติคำบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้